มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอเสนอ รายการทีทรรศน์ท้องถิ่นในรูปบทความจากโทรทัศน์ ตอน "นักวิชาการเครื่องซักผ้า" โดยวิทยากร อ.ศรีศักร วัลลิโภดม, อ.ฉลาดชาย รมิตานนท์, อ.ชัยพันธุ์ ประภาสะวัต, คุณไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ, ดำเนินรายการโดย อ.ประมวล เพ็งจันทร์ ความรู้ของนักวิชาการเป็นสิ่งที่สังคมให้การยอมรับ
ในเวลาเดียวกันนั้น
นักวิชาการส่วนหนึ่ง
ก็ได้เอาประโยชน์ที่สังคมให้ความไว้วางใจดังกล่าว
ไปใช้กับผลประโยชน์ของตนเอง
โดยการประพฤติปฏิบัติที่ออกมาในรูปของ
นักวิชาการเครื่องซักผ้า. สนใจโปรดคลิกไปอ่านได้ที่แบนเนอร์ midnight's article ในหัวข้อที่ 35
|
|
1. ความนำ นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา ได้ปรากฏขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในซีกโลกตะวันตก ขบวนการเคลื่อนไหวที่เผยตัวออกให้เห็นนี้เป็นการเคลื่อนไหวที่มีวัตถุประสงค์แตกต่างกันออกไป และครอบคลุมประเด็นที่กว้างขวาง เช่นขบวนการเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรี ขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มชนพื้นเมือง(indigenous people) ขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มรักร่วมเพศ ฯลฯ โดยรวมๆ สามารถเรียกการเคลื่อนไหวที่ปรากฏขึ้นเหล่านี้ว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ (ดูรายละเอียดใน ไชยรัตน์ 2542) การปรากฏตัวของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่(new social movement)ได้นำมาสู่การค้นหาคำตอบใหม่ๆ ในวงวิชาการ อันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนี้มีความแตกต่างไปจากรูปแบบการเคลื่อนไหว ของกลุ่มประชาชนอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต ทั้งในด้านเป้าหมาย กลุ่มคนที่เข้าร่วม ประเด็นของการเรียกร้อง ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ได้สร้างรูปแบบของ การเมือง ที่มีความแตกต่างไปจากการเคลื่อนไหวของการเมืองในรูปแบบซึ่งเป็นที่คุ้นเคยกันในประเทศเสรีประชาธิปไตย ความสำคัญประการหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ก็คือ การปฏิเสธต่อระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน(representative democracy) การเคลื่อนของขบวนการเหล่านี้จึงไม่ให้ความสำคัญต่อพรรคการเมือง นักการเมืองระบบรัฐสภา และไม่เชื่อในเรื่องความสามารถในการเป็นตัวแทนของระบบที่ดำรงอยู่ การเคลื่อนไหวจึงเป็นการกระทำการด้วยตนเอง ด้วยวิธีการที่นอกเหนือจากสิทธิที่ได้รับตามระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง การอภิปรายไม่ไว้วางใจของนักการเมืองฝ่ายค้าน เป็นต้น รูปแบบการเคลื่อนไหวที่สำคัญประการหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ ที่ถูกนำมาใช้อยู่อย่างสม่ำเสมอและกล่าวได้ว่าเป็นวิธีการที่ปรากฏอยู่อย่างแพร่หลายในการเคลื่อนไหวก็คือ การดื้อแพ่งของประชาชน(civil disobedience) กล่าวโดยรวมการดื้อแพ่งของประชาชนเป็นรูปแบบในการแสดงความคิดเห็น/คัดค้าน/ประท้วง ต่อกฎหมายหรือนโยบายบางด้านของรัฐ ในการกระทำดังกล่าวบุคคลหรือองค์กรผู้กระทำจะเลือกใช้วิธีการที่อาจเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น การกีดขวางทางจราจร การปิดกั้นทางสาธารณะรวมถึงเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิของปัจเจกชนอื่นๆ อันทำให้การใช้สิทธิของบุคคลอื่นไม่อาจกระทำได้ดังในภาวะปกติ เช่น การใช้สิทธิในการสัญจรบนท้องถนน การใช้พื้นที่สาธารณะ เป็นต้น การดื้อแพ่งของประชาชนจึงเป็นรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ในด้านหนึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น การเมืองบนท้องถนน มิใช่การเมืองที่ผ่านหีบบัตรเลือกตั้ง อันเป็นถ้อยคำที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจ/ไม่ให้ความสำคัญกับระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน และการไม่เชื่อในความสามารถของระบบต่อการแก้ไขปัญหาของประชาชนว่า จะดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยระบบรัฐสภา หากกลับต้องเป็นการกระทำด้วยตนเองโดยการสร้างพื้นที่ทางการเมืองในรูปแบบใหม่ๆให้เกิดขึ้น รูปแบบการเคลื่อนไหวที่เรียกว่าการดื้อแพ่งของประชาชน ได้สร้างความยุ่งยากต่อการทำความเข้าใจและการอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว เพราะในเบื้องต้นหากอาศัยบรรทัดฐานทางกฎหมายเป็นตัวชี้วัด การรกระทำที่เรียกว่าการดื้อแพ่งของประชาชน ย่อมจัดว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายเนื่องจากเป็นการกระทำที่ต้องไปละเมิดต่อกฎหมาย อย่างไรก็ตามแม้จะถูกจัดว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่ปรากฏว่ามีบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งได้ใช้วิธีการดื้อแพ่งต่อกฎหมายกลับได้รับความยกย่องในฐานะบุคคลที่เป็นผู้ทำคุณประโยชน์แก่สังคมอย่างมาก เช่น มหาตมา คานธี, มาร์ติน ลูเธอร์คิง, เฮนรี เดวิด ธอโร เป็นต้น ระหว่างการกระทำและผลซึ่งดูราวกับจะมีความไม่สมเหตุสมผลอยู่เช่นนี้ ย่อมเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ลำพังเพียงบรรทัดฐานทางกฎหมาย ไม่สามารถจะให้คำอธิบายต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวได้อย่างเพียงพอ การทำความเข้าใจต่อการดื้อแพ่งของประชาชน มีผลเชื่อมโยงโดยตรงกับชบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ในฐานะที่เป็นแนวทางการเคลื่อนไหวที่สำคัญ หากยังปราศจากการสร้างคำอธิบายหรือความเข้าใจที่มีต่อการดื้อแพ่งโดยยังปล่อยให้อย ู่ภายใต้การชี้วัดจากบรรทัดฐานทางกฎหมายแต่เพียงประการเดียวในชี้ความถูก/ผิด ก็ย่อมจะทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ต้องประสบกับอุปสรรคอย่างมาก ในการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิต่างๆ อย่างไรก็ตามได้มีความพยายามในการให้คำอธิบายต่อรูปแบบการดื้อแพ่งของประชาชนว่า เป็นสิ่งที่แตกต่างไปจากการกระทำที่มีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายในรูปแบบอื่นๆ เป็นสิ่งที่อาจจะกระทำได้ในบางสถานการณ์ บางเงื่อนไข แม้ว่าการกระทำนี้อาจละเมิดหรือฝ่าฝืนต่อกฎหมายก็ตาม การให้คำอธิบายต่อการดื้อแพ่งของประชาชน จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ณ ห้วงเวลาที่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนได้ปรากฏอย่างแพร่หลายในปัจจบัน 2. รากฐานทางความคิดของการดื้อแพ่งต่อกฎหมาย Dworkin (1978 :206) ให้คำนิยามการดื้อแพ่งของประชาชนว่าหมายถึง การกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายโดยสันติวิธี เป็นการกระทำในเชิงศีลธรรมซึ่งเป็นการประท้วง/คัดค้านคำสั่งของผู้ปกครองที่อยุติธรรม หรือเป็นการต่อต้านการกระทำของรัฐบาลที่ประชาชนเห็นว่าไม่ถูกต้อง ฉะนั้นในเบื้องต้น เมื่อกล่าวถึงการดื้อแพ่งของประชาชนจึงเป็นการกระทำที่มิได้ดำเนินไปตามกรอบของกฎหมาย หากจะเป็นการละเมิดต่อกฎหมายโดยมีเป้าหมายเพื่อประท้วง คัดค้านคำสั่งหรือการกระทำของผู้ปกครอง แนวความคิดเช่นนี้แตกต่างไปจากความเข้าใจต่อกฎหมายซึ่งมีอยู่อย่างแพร่หลายว่า เราทุกคนที่อยู่ในสังคมควรจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะเกิดความวุ่นวาย ความไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้น อันเป็นสภาพที่จินตนาการถึงได้ไม่ยากตามความเข้าใจของคนทั่วไป เมื่อการกระทำที่มีลักษณะเป็นการละเมิดต่อกฎหมายอาจเป็นการกระทำที่นำไปสู่ความวุ่นวายของสังคมส่วนรวมได้ คำถามที่สำคัญเบื้องต้นก็คือถ้าเช่นนั้นแล้วจะสามารถอธิบายถึงสิทธิในการไม่เชื่อฟังกฎหมายที่เรียกว่า การดื้อแพ่งของประชาชนนี้ได้อย่างไร การเริ่มต้นพิจารณาถึงความหมายของสิ่งที่เรียกว่า สิทธิ ในปัจจุบัน อาจแยกแยะได้ 2 ประเภท ประเภทแรก หมายถึงสิทธิที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย(legal rights) ตามนัยของสิทธิประเภทนี้ถือว่าสิ่งที่จะถูกจัดว่าเป็นสิทธิโดยถูกต้องจำเป็นต้องได้รับการรับรองโดยกฎหมาย และมีแต่สิทธิประเภทนี้เท่านั้นซึ่งจะเป็นหลักของการอ้างอิงรวมถึงการได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง สิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน ซึ่งจะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ทั้งในด้านของการมีสิทธิและการใช้สิทธิ. สิทธิประเภทที่สอง อธิบายว่านอกจากสิทธิที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายแล้ว มนุษย์ยังมีกฎเกณฑ์บางประการที่ผูกพันให้ต้องปฏิบัติตามและด้วยการอ้างอิงสิทธินี้ จึงอาจนำไปสู่การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ถูกบัญญัติขึ้นโดยรัฐ/ผู้ปกครอง สิทธิประเภทนี้จึงอาจเป็นการกระทำที่แตกต่างไปจากสิทธิประเภทแรกซึ่งอ้างอิงกับกฎหมายที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร การดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชนแม้จะเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อคำสั่งของรัฐ/ผู้ปกครอง แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งเป็นการกระทำของบุคคลที่ทำตามความเชื่อของตนว่ามีสิ่งที่ถูกต้องและยุติธรรมกว่าให้ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งการอ้างถึงแหล่งความชอบธรรมต่อการละเมิดคำสั่งของรัฐอาจผันแปรไปได้ตามแต่ละช่วงเวลา การปฏิเสธต่อคำสั่งของผู้ปกครองที่ถูกบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในอดีต ปรากฏขึ้นเมื่อหมอตำแยชาวฮิบรูขัดคำสั่งของฟาโรห์(Faroah) กษัตริย์แห่งอียิปต์โบราณซึ่งมีคำสั่งให้นำทารกแรกเกิดไปฆ่าทิ้ง (Leiser 1979 :344) ด้วยการให้เหตุผลว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการล่วงละเมิดต่อกฎของพระเจ้าที่ถือว่า เป็นสิ่งที่มีผลผูกพันกว่าบัญชาของฟาโรห์ แนวความคิดของการดื้อแพ่งต่อกฎหมายที่เกิดขึ้นในอดีต จึงเป็นการกระทำที่ผูกพันกับการอ้างอิงถึงกฎเกณฑ์อีกประเภทหนึ่งนอกเหนือไปจากกฎหมายหรือคำสั่งของผู้ปกครอง โดยลำดับชั้นของกฎเกณฑ์ประเภทนี้อาจผันแปรไปตามยุคสมัย เช่น ในยุคกลาง(Middle Age) กฎซึ่งถูกอธิบายว่ามีผลบังคับสูงสุด คือกฎที่มาจากพระผู้เป็นเจ้า(God) สำหรับกฎเกณฑ์ ของมนุษย์หากบัญญัติขึ้นแล้วมีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับกฎของพระเจ้าก็ถือว่ากฎของมนุษย์ปราจากผลบังคับ แนวความคิดเช่นนี้เป็นแนวความคิดของทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติ(Natural Law School)ในยุคกลาง ซึ่งถือความเหนือกว่าของกฎหมายธรรมชาติ(ที่มาจากพระเจ้า)อย่างเด็ดขาด(จรัญ 2532:118) แน่นอนคาดเดาได้โดยไม่ยากว่าแนวความคิดในลักษณะดังกล่าวถูกอธิบายและตีความโดยนักบ วชในคริสตศาสนาในยุคสมัยดังกล่าว (ตัวอย่างคำสอนของ St. Thomas Aquinas, St.Augustine ที่ถือว่ากฎของพระเจ้าเป็นสิ่งที่มีสถานะสูงสุดเหนือกว่ากฎเกณฑ์ทั้งปวง) แต่ภายหลังจากศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา แหล่งที่มาของการอ้างอิงถึงสิทธิในการปฏิเสธไม่เชื่อฟังคำสั่งของผู้ปกครอง มิใช่เป็นเพราะกฎของพระเจ้าเหมือนดังที่เคยเป็นมาในอดีต การกระทำที่เกิดขึ้นด้วยการอ้างถึงมโนธรรมภายในของแต่ละบุคคลซึ่งได้พิจารณาไตร่ตรอง โดยการใช้ปัญญาและเหตุผลต่อความไม่ชอบธรรมในคำสั่ง/กฎหมายของรัฐ การอ้างอิงโดยอาศัยเหตุผลของมนุษย์ในการนำไปสู่การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย นับได้ว่าเป็นความแตกต่างจากคำอธิบายที่เกิดขึ้นในยุคกลางของยุโรปอย่างมาก และเป็นการให้ความสำคัญกับมนุษย์ในฐานะแหล่งที่มาของการตัดสินถึงความถูกผิดในปรากฏการณ์ต่างๆ นอกจากนี้นับจากศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา แนวความคิดที่ปรากฏออกมาในการดื้อแพ่งของประชาชนในกฎหมาย/นโยบายของรัฐ ซึ่งถูกตัดสินว่าไม่มีความชอบธรรมหรือก่อให้เกิดความยุติธรรม จะเห็นว่ากฎหมาย/คำสั่งประเภทนี้ไม่ถึงกับสิ้นผลบังคับไปเลยทีเดียว เพียงไม่อาจนับเป็นกฎหมายอันสมบูรณ์และปราศจากพันธะทางศีลธรรมให้ต้องปฏิบัติตามเพราะฉะนั้น รากฐานแนวความคิดของการดื้อแพ่งต่อกฎหมายจึงมาจากการให้คำอธิบายต่อแหล่งที่มาของความถูกต้องชอบธรรมว่า มิใช่เป็นเพียงกฎเกณฑ์ที่ถูกบัญญัติขึ้นโดยผู้ปกครองเท่านั้น แหล่งอ้างอิงความชอบธรรมยังสามารถมาจากที่อื่นๆ ได้ และประเด็นสำคัญถือว่าการดื้อแพ่งของประชาชนเป็นการแสดงออกโดยตรงต่อกฎเกณฑ์ของรัฐว่า ไม่มีความชอบธรรมที่จะผูกพันให้ปัจเจกบุคคลต้องปฏิบัติตาม จากแนวความคิดพื้นฐานดังกล่าวจึงทำให้สามารถจำแนกการดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชน ออกจากการกระทำความผิดที่มีลักษณะเป็นอาชญากรรม(crime) ได้ แม้ว่าการกระทำทั้ง 2 ประเภทในเบื้องต้นต่างก็เป็นการกระทำซึ่งฝ่าฝืนต่อกฎหมายเช่นเดียวกัน. ความแตกต่างของการกระทำทั้ง 2 ประเภท สามารถพิจารณาได้ในประเด็นดังต่อไปนี้ 1. การดื้อแพ่งของประชาชนกระทำไปบนพื้นฐานของมโนธรรมสำนึกว่า กฎหมายหรือคำสั่งที่ตราขึ้นนั้นปราศจากความยุติธรรม และหากตนเองกระทำตามกฎหมายดังกล่าวนอกจากจะเป็นการฝ่าฝืนต่อมโนธรรมส่วนตัวแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดความอยุติธรรมดังการให้คำจำกัดความถึงการดื้อแพ่งต่อกฎหมายของ Leiser (1979: 351) ว่าหมายถึง การฝ่าฝืนต่อกฎหมายซึ่งผู้กระทำเชื่อว่ากฎหมายดังกล่าว ไม่ยุติธรรมหรือไม่สอดคล้องกับศีลธรรม ไม่ว่าผู้กระทำนั้นจะยอมรับความมีผลบังคับใช้หรือปฏิเสธการมีผลบังคับใช้ของกฎหมายดังกล่าว การดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชนจึงเป็นการปฏิเสธภาระผูกพันต่อกฎหมายที่บุคคลนั้น เห็นว่าไม่ยุติธรรมจึงไม่ควรปฏิบัติตาม การกระทำนี้จึงมีพื้นฐานมาจากแรงจูงใจที่ดีแตกต่างไปจากผู้ซึ่งละเมิดต่อกฎหมาย ที่กระทำโดยความโลภส่วนตัวที่อาจยอมรับความชอบธรรมในเนื้อหาของกฎหมายที่ตนเองฝ่าฝืน ตัวอย่างเช่น การคัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ปรากฏอยู่อย่างแพร่หลาย เนื่องจากเห็นว่าโครงการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อทั้งทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมาก การคัดค้านนโยบายดังกล่าวจึงเป็นการปฏิเสธในตัวเนื้อหาสาระของโครงการว่าปราศจากความชอบธรรม แตกต่างไปจากการละเมิดต่อกฎหมายในลักษณะอาชญากรรม เช่นการฆ่าผู้อื่น ซึ่งผู้กระทำอาจยอมรับถึงหลักความชอบธรรมของกฎเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว แต่กระทำไปด้วยเหตุผลส่วนตัวบางประการ อาทิ ความเกลียดชัง การแก้แค้น 2. การดื้อแพ่งต่อกฎหมายกระทำขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข กฎหมาย หรือคำสั่งของผู้ปกครองให้เป็นไปในทิศทางที่ผู้กระทำเชื่อว่าสอดคล้องกับมโนธรรมและความถูกต้อง เมื่อเปรียบเทียบการดื้อแพ่งของประชาชนกับการกระทำความผิดอันเป็นอาชญากรรม จะพบเห็นความแตกต่างของการกระทำทั้งสองได้ โดยการดื้อแพ่งเป็นการกระทำซึ่งผู้กระทำได้กระทำลงด้วยการพิจารณาว่า กฎหมายหรือนโยบายของรัฐเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความยุติธรรม การฝ่าฝืนจึงได้บังเกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง หรืออย่างน้อยที่สุดก็อาจเป็นการระงับกฎหมายดังกล่าวไว้ไม่ให้มีผลบังคับ ขณะที่การกระทำอาชญากรรมผู้กระทำเมื่อได้กระทำไปก็มิได้มีการคาดหวังจะให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ต่อเนื้อหาของกฎหมาย อีกทั้งผู้กระทำก็อาจจะยอมรับความชอบธรรมในเนื้อหาของกฎหมายนั้นๆ โดยไม่ได้โต้แย้ง หรือมีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นเพียงเพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น 3. เงื่อนไขและลักษณะของการดื้อแพ่งต่อกฎหมาย แม้ว่าจะมีความแตกต่างโดยพื้นฐานระหว่างการดื้อแพ่งของประชาชนกับความผิดอันเป็นอาชญากรรม นอกจากความแตกต่างดังกล่าวแล้วยังมีรูปแบบของการกระทำซึ่งจัดได้ว่าเป็นลักษณะเฉพาะ ของการดื้อแพ่งต่อกฎหมายโดยเฉพาะ ทั้งนี้การฝ่าฝืนหรือละเมิดต่อกฎหมายของรัฐมิได้ปรากฏเพียงการดื้อแพ่งต่อกฎหมายเพียงอย่างเดียว ยังปรากฏการกระทำในลักษณะอื่นเกิดขึ้นด้วย เช่น การต่อต้านด้วยการใช้กำลัง การก่อวินาศกรรม การกระทำกบฎ ดังนั้นนอกจากลักษณะภายนอกของการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเหมือนกันแล้ว นักทฤษฎีหลายคนที่ได้ศึกษาถึงเรื่องการดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชน ได้พยายามวางกรอบเพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เรียกว่าการดื้อแพ่งของประชาชน กับการกระทำในลักษณะอื่นๆ ดังนี้ (ลักษณะของการดื้อแพ่งต่อกฎหมายที่นำมาอธิบายนี้เป็นการรวบรวมจากแนวความคิดของผู้ที่สนใจศึกษาเรื่อง civil disobedience คือ Dworkin 1978, Leiser 1979) ประการแรก การดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชนต้องเป็นการกระทำในพื้นที่สาธารณะ(public act) การดื้อแพ่งต้องดำเนินไปโดยเปิดเผย ทั้งนี้เนื่องมาจากเหตุผลสำคัญคือ การดื้อแพ่งเป็นการแสดงความเห็นโต้แย้งของผู้อยู่ใต้บังคับแห่งกฎหมายว่ากฎเกณฑ์ดังกล่าวปราศจากความยุติธรรม การโต้แย้งของประชาชนต้องดำเนินไปเพื่อนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นจำเป็นที่การกระทำนี้ต้องเป็นการกระทำต่อสาธารณะเพื่อให้เกิดการสนับสนุนจากสังคมขึ้น เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์(Bertrand Russell) ให้ความเห็นสนับสนุนการดื้อแพ่งของประชาชนอังกฤษที่มีต่อนโยบายนิวเคลียร์ของรัฐบาลว่า การดื้อแพ่งต่อกฎหมายจะมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามต่อนโยบายที่รัฐบาลพยายามปฏิเสธ ซึ่งจะทำให้การให้ข้อมูลอย่างผิดหรือการหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลโดยรัฐบาลเป็นเรื่องที่ไม่อาจกระทำได้อีกต่อไป ถึงแม้ว่าท้ายที่สุดรัฐบาลจะยังคงดำเนินนโยบายดังกล่าวต่อไปได้ก็ตาม(Singer 1978 : 367) จากตัวอย่างนี้ทำให้เห็นว่าการดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชน นอกจากจะเป็นการนำเสนอประเด็นปัญหาความขัดแย้งต่อสาธารณะแล้ว ยังมีความมุ่งหวังที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในระดับใดระดับหนึ่ง เช่น กระตุ้นให้คนส่วนใหญ่ทบทวนการพิจารณาต่อการกระทำบางอย่าง ผลที่เกิดจากการดื้อแพ่งเพียงการวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบการกระทำซึ่งได้ตัดสินใจไปแล้วก็สามารถถือได้ว่าเป็นผลอย่างน้อยที่สุดที่ควรจะได้รับจากการดื้อแพ่ง ประการที่สอง การดื้อแพ่งต่อกฎหมายต้องเป็นปฏิบัติการที่หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง (non violence) การดื้อแพ่งต่อกฎหมายมีลักษณะแตกต่างอย่างชัดเจนกับการละเมิดต่อกฎหมายในรูปแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านด้วยกำลัง การต่อต้านแบบกองโจร ก็เพราะการดื้อแพ่งมีลักษณะที่ไม่ใช้ความรุนแรง(Rawls 1978:367) แม้ว่าการดื้อแพ่งต่อกฎหมายเป็นการกระทำที่มีพื้นฐานของการปฏิเสธความไม่ชอบธรรมของกฎหมาย /นโยบาย/คำสั่งของรัฐ แต่โดยที่ยังยอมรับสิทธิของบุคคลอื่น เช่นสิทธิในร่างกาย สิทธิในทรัพย์สินการใช้ความรุนแรงจึงเป็นการกระทำซึ่งคุกคามสิทธิของบุคคลอื่นโดยตรง ในแง่หนึ่งการดื้อแพ่งต่อกฎหมายเป็นการกระทำที่เป็นเสียงเรียกร้องของมโนธรรมสำนึกไม่ใช่การข่มขู่ ฉะนั้น การใช้ความรุนแรงจึงไม่อาจไปกันได้กับการดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชน นอกจากนี้การใช้ความรุนแรงก็ยังอาจสร้างผลเสียติดตามมา เพราะการดื้อแพ่งมุ่งที่การปฏิเสธความชอบธรรมของกฎหมายหรือต้องการเปิดเผยข้อเท็จจริงบางประการ ดังนั้นธรรมชาติของการดื้อแพ่งต่อกฎหมายจึงไม่ใช่การใช้กำลังข่มขู่แต่เป็นการชี้แจงด้วยเหตุผล การแสดงให้เห็นถึงลักษณะดังกล่าวจะทำให้สาธารณะมองเห็นข้อเรียกร้องและเหตุผลอย่างชัดเจน แต่ถ้าการดื้อแพ่งเป็นการใช้ความรุนแรงก็จะทำให้เกิดความเข้าใจที่เบี่ยงเบนออกไปจากเหตุผล แต่เป็นการข่มขู่หรือการใช้กำลังกับสังคมส่วนใหญ่แทน ประการที่สาม การดื้อแพ่งของประชาชนไม่จำเป็นกระทำต่อกฎหมายที่มุ่งคัดค้านโดยตรง แม้ว่าโดยทั่วไปการดื้อแพ่งต่อกฎหมายจะเป็นการกระทำโดยตรงต่อกฎหมายที่ประชาชนเห็นว่าไม่ยุติธรรม เช่น การปฏิเสธเข้าร่วมเป็นทหารในสงครามเวียดนามของชาวอเมริกันจำนวนมาก เพราะเห็นว่าทางฝ่ายสหรัฐใช้วิธีการและอาวุธที่ละเมิดต่อศีลธรรม การกระทำเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการดื้อแพ่งโดยตรง(direct civil disobedience) แต่ในหลายกรณีก็ปรากฏการดื้อแพ่งต่อกฎหมายอื่นๆ เพื่อเป็นการแสดงการคัดค้านต่อกฎหมายหรือนโยบายอีกอย่าง ซึ่งอาจสืบเนื่องมาจากประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมาย/นโยบายนั้นๆไม่อาจกระทำการดื้อแพ่งได้โดยตรง ดังในเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของรัฐบาล (Rawls 1978: 365) หรือกรณีที่บทลงโทษของกฎหมายที่ประชาชนต้องการคัดค้านนั้นมีความรุนแรง ประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว ก็อาจหันไปใช้การดื้อแพ่งต่อกฎหมายฉบับอื่นเพื่อเป็นการแสดงออกถึงการคัดค้านของตนเองก็ได้ เช่น การประท้วงในที่สาธารณะด้วยการกีดขวางทางจราจร, การนั่งประท้วง, นอนประท้วงในที่หวงห้าม ฯลฯ การกระทำเหล่านี้สามารถเรียกได้ว่าเป็นการดื้อแพ่งต่อกฎหมายโดยอ้อมของประชาชน(indirect civil disobedience) แม้ว่าการดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชนจะมีลักษณะและเงื่อนไขที่แตกต่างไปจากการฝ่าฝืนกฎหมาย ในรูปแบบอื่นๆ ตามที่ได้หยิบยกขึ้นมาอภิปรายแล้ว ลักษณะอีกประการหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญของการดื้อแพ่งต่อกฎหมายก็คือ การดื้อแพ่งของประชาชนจะยังคงวางอยู่บนพื้นฐานของการเคารพต่อรัฐบาลและระบบกฎหมายโดยรวม โดยไม่ได้มุ่งที่จะเปลี่ยนแปลงระบบหรือโครงสร้างทั้งหมดเพียงต้องการให้มีการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายเป็นบางส่วนเท่านั้น(Leiser 1979: 351) ขอบเขตของการดื้อแพ่งที่จำกัดวัตถุประสงค์ของการกระทำไว้ในลักษณะดังกล่าว เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ที่การเคลื่อนไหวดำเนินไป โดยมิได้ต้องการให้มีการยึดหรือล้มอำนาจรัฐ หากเป็นการกระทำเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือกฎหมายบางด้านเท่านั้น(ไชยรัตน์ 2542: 64) อันเป็นลักษณะที่มีความแตกต่างอย่างมากจากขบวนการเคลื่อนไหวที่เคยปรากฏขึ้นในอดีต ที่เป้าหมายสำคัญของการเคลื่อนไหวคือการยึดอำนาจรัฐ ดังปรากฏอยู่ในแนวทางของขบวนการสังคมนิยมซึ่งมีเจตนาจะยึดกุมอำนาจรัฐ และนำเอามาใช้เป็นเครื่องมือในการสลายชนชั้นให้หมดไป ท่าทีซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการให้ความสำคัญต่อรัฐด้วยน้ำหนักแตกต่างกัน ขบวนการเคลื่อนไหวในอดีตให้ความสำคัญกับรัฐในฐานะองค์กรที่มีอำนาจความสามารถต่อการแก้ไข/จัดการ ปัญหาความยุ่งยากต่างๆในขณะที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่หรือขบวนการประชาสังคมมองว่า รัฐในปัจจุบันมีน้ำหนักน้อยต่อการแก้ไขความยุ่งยากที่บังเกิดขึ้น จนมีคำกล่าวว่ารัฐในปัจจุบันเล็กเกินไปสำหรับปัญหาใหญ่ๆ และก็ใหญ่เกินไปสำหรับปัญหาเล็กๆ เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าไปยึดกุมรัฐที่ไม่มีพลังเช่นนี้ ย่อมไม่นำไปสู่หนทางใหม่ในการเผชิญกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ. รอลส์ เป็นบุคคลหนึ่งที่สนับสนุนการดื้อแพ่งของประชาชนในสังคมที่ยังคงวางอยู่บนพื้นฐานของ การเคารพระบบกฎหมายโดยรวมให้ความเห็นว่าสิทธิในการดื้อแพ่งของประชาชน จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการกระทำละเมิดอย่างรุนแรงในหลักการดังต่อไปนี้(Rawls 1978:362) หลักความเสมอภาคของเสรีภาพ(principle of equal liberty) และหลักเสมอภาคแห่งโอกาสอันชอบธรรม(principle of fair equality of opportunity) แต่สิทธิแห่งการดื้อแพ่งของประชาชน จะต้องเป็นไปภายหลังจากที่ได้ดำเนินการในวิถีทางอื่นๆ เพื่อพยายามแก้ไขปรับปรุงกฎหมายนั้นแล้วแต่ไม่ประสบผลสำเร็จการดื้อแพ่งของประชาชนจึงเป็นวิถีทางสุดท้าย หลังจากที่ได้ดำเนินการตามกระบวนการทางการเมืองที่มีอยู่แล้ว แต่การกำหนดหลักการพื้นฐานที่หากเกิดการละเมิดโดยกฎหมายหรือนโยบายของรัฐแล้ว จะก่อให้เกิดสิทธิการดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชนขึ้นมานั้น มิได้เป็นหลักการที่จะนำมาปรับใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างง่ายดาย กฎหมายบางฉบับอาจปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น แต่ในหลายกรณีเนื้อหาของกฎหมายหรือผลอันเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจนว่าจะทำให้เกิดผลกระทบอย่างไรติดตามมา ประเด็นนี้นับเป็นประเด็นที่มีความสำคัญเนื่องจากประชาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ในการปรับใช้หลักการที่เป็นนามธรรมกับปรากฏการณ์ที่บังเกิดขึ้นเป็นกรณีๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเหตุการณ์ซึ่งเป็นเหตุการณ์ใหม่ที่ยังไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน อันจะทำให้ปราศจากบรรทัดฐานที่จะเป็นเครื่องมือช่วยในการชี้วัดความถูกต้อง โรนัลด์ ดอร์กิ้น(Ronald Dworkin) ให้ความเห็นต่อกรณีที่กฎหมายหรือนโยบายของรัฐมีความคลุมเครือว่า มีแนวทางปฏิบัติในกรณีดังกล่าวได้ 3 ประการ คือ(Dworkin 1978: 210) 1. ถ้ากฎหมายยังเป็นที่สงสัยและไม่ชัดเจนว่ากฎหมายนั้นอนุญาตให้บุคคลกระทำการบางอย่างได้หรือไม่ เขาควรกระทำบนข้อสมมุติฐานว่ากฎหมายนั้นไม่อนุญาต และควรปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐแม้จะเชื่อว่ากฎหมายหรือคำสั่งเหล่านั้นไม่ถูกต้อง ทั้งการเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าวให้ใช้กระบวนการทางการเมืองผ่านองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ 2. ถ้ากฎหมายนั้นยังเป็นที่สงสัย บุคคลควรปฏิบัติตามวิจารณญาณของตน(own judgment) จนกว่าองค์กรซึ่งมีอำนาจอย่างเป็นทางการ เช่น ศาลจะได้ทำการวินิจฉัยไปในทิศทางอื่น บุคคลควรปฏิบัติตามการตัดสินใจเช่นนั้นแม้เขาจะยังคงคิดว่าเป็นการวินิจฉัยที่เกิดขึ้นไม่ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากการวินิจฉัยของศาลประกอบไปด้วยศาลในระดับที่ต่างกัน ในกรณีเช่นนี้รอลส์เห็นว่าปัจเจกบุคคลควรปฏิบัติตามความเห็นของตนเองจนกว่าจะมีคำตัดสินซึ่งพิจารณา โดยศาลที่มีอำนาจสูงสุดภายในของแต่ละประเทศ 3. ถ้ากฎหมายเป็นสิ่งที่ถูกตั้งข้อสงสัยถึงความชอบธรรม บุคคลควรปฏิบัติตามวิจารณญาณของตน แม้ภายหลังจะมีคำตัดสินซึ่งแตกต่างกับความเห็นของตนโดยศาลที่มีอำนาจสูงสุด แต่ทั้งนี้ต้องนำเอาคำวินิจฉัยของศาลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาด้วยตนเอง สำหรับแนวทางปฏิบัติของประชาชนต่อกฎหมายซึ่งยังเป็นที่สงสัยตามแนวทางประการแรกอาจก่อให้เกิดผลเสียขึ้น ถ้ากฎหมายที่ไม่ได้ถูกพิจารณาโดยศาลเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม(unjust) ก็จะเกิดความเสียหายแก่ระบบกฎหมายและประชาชนเพราะจะเป็นการล่วงละเมิดต่อหลักแห่งอิสระภาพ หลักแห่งความเท่าเทียม ซึ่งจะทำให้สังคมและกฎหมายมีสภาพที่เลวลง สำหรับแนวทางที่สองก็ได้มีกรณีปัญหาเกิดขึ้นในสหรัฐ เมื่อ 1940 ศาลได้ตัดสินให้กฎหมายของเวอร์จิเนียตะวันตก(West Virginia) ซึ่งกำหนดให้นักเรียนต้องทำความเคารพธงชาติมีผลสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ แต่ต่อมาในปี 1943 ศาลได้กลับคำพิพากษาและตัดสินว่าการบังคับเช่นนั้นเป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ(Dworkin 1978:214) ซึ่งก็เป็นปัญหาแก่บุคคลว่าควรปฏิบัติเช่นไรในปี 1941 และ 1942 ถ้าหากบุคคลนั้นเชื่อว่าคำพิพากษาของศาลในปี 1940 เป็นคำตัดสินที่ผิดพลาด เพราะฉะนั้นบุคคลควรยืนยันในวิจารณญาณของตน เฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เป็นเรื่องกระทบกระเทือนถึงสิทธิขั้นพื้นฐานส่วนบุคคลหรือสิทธิทางการเมือง การสนับสนุนการดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชน ในกรณีที่กฎหมายนั้นมีความไม่ชอบธรรมอย่างชัดแจ้งหรือกรณีเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาคลุมเครือ(doubtful law) ได้ก่อให้เกิดประเด็นปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งคือ บุคคลผู้กระทำความผิดต่อกฎหมายในฐานะของการดื้อแพ่งควรได้รับการลงโทษตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือไม่ ในกรณีที่ศาลมีความเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดต่อกฎหมาย และถ้าเป็นเช่นนั้นการลงโทษบุคคลผู้กระทำการดื้อแพ่งควรมีความแตกต่างไปจากผู้กระทำความผิดทั่วไปหรือไม่ เบื้องต้นดูจะเป็นที่ยอมรับว่ากันโดยทั่วไปว่า การดื้อแพ่งของประชาชนในฐานะสิทธิอันชอบธรรมต่อการฝ่าฝืนกฎหมายจะไม่เป็นหลักประกันว่า บุคคลผู้กระทำการดื้อแพ่งในลักษณะเช่นนี้จะไม่ถูกดำเนินคดีฟ้องร้องหรือถูกตัดสินลงโทษ (King 1969: 215-216) โดยทั้งนี้เหตุผลประการสำคัญเนื่องจากการดื้อแพ่งของประชาชนต่อกฎหมายบางฉบับ หรือนโยบายบางประการของรัฐ ยังคงวางอยู่บนพื้นฐานของการเคารพต่อกฎหมายทั้งระบบ ฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ว่าบุคคลผู้กระทำการดื้อแพ่งอาจต้องเผชิญกับการตัดสินลงโทษจากสถาบันตุลาการก็เป็นได้ Martin Luther King บุคคลผู้มีชื่อเสียงในการดื้อแพ่งต่อกฎหมายเห็นว่า การยอมรับการลงโทษของบุคคลผู้ทำการฝ่าฝืนกฎหมาย นอกจากจะเป็นการกระตุ้นมโนธรรมของสังคมให้บังเกิดขึ้นแล้ว ก็ยังเป็นการแสดงความรู้สึกที่แท้จริงต่อการเคารพกฎหมายอย่างสูง(King 1969:78) แต่ทั้งนี้การพร้อมที่จะยอมรับโทษทัณฑ์ทางกฎหมาย มิได้หมายความว่าบุคคลผู้ทำการดื้อแพ่งต้องยอมรับการลงโทษโดยไม่มีการต่อสู้ตามกระบวนการพิจารณาคดีแต่อย่างใด มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ซึ่งพร้อมจะยอมรับผลในทางกฎหมายเมื่ออยู่ในกระบวนพิจารณาคดีของศาลสูงสุดแห่งสหรัฐ ก็อุทธรณ์ให้กลับคำพิพากษาที่ศาลได้สั่งให้ลงโทษเขา(จรัญ 2532: 328) ข้อสรุปของหลักการยอมรับผลทางกฎหมายจากการดื้อแพ่ง จึงยังเป็นไปโดยยังคงอาศัยการโต้แย้งตามกระบวนการของกฎหมายจนกว่าจะสิ้นสุดกลไกทางกฎหมายในการต่อสู้คดี สำหรับปัญหาเรื่องการลงโทษบุคคลผู้กระทำการดื้อแพ่งต่อกฎหมายนั้น นอกจากการพิจารณาจากด้านบุคคลซึ่งเป็นผู้กระทำการแล้ว ดอร์กิน(Dworkin 1978:206-207) เห็นว่ารัฐไม่ควรลงโทษบุคคลเหล่านี้ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ ประการแรก สังคมอาจสูญเสียบุคคลที่มีค่าไปถ้ามีการลงโทษบุคคลนั้น ประการที่สอง บุคคลเหล่านี้เป็นผู้ที่มีความเคารพต่อกฎหมายอย่างสูงแต่กระทำการลงไปด้วยแรงจูงใจทางด้านมโนธรรมส่วนตัว นอกจากนี้ในสหรัฐ อัยการก็มีอำนาจในกรณีพิเศษที่จะไม่ดำเนินคดีแก่ผู้ฝ่าฝืนกฎหมายซึ่งเป็นเยาวชน, เป็นผู้ไม่มีประสบการณ์เพียงพอ, เป็นผู้ทำมาหาเลี้ยงครอบครัว, กรณีที่กฎหมายไม่อาจปฏิบัติได้หรือเป็นกฎหมายซึ่งถูกฝ่าฝืนโดยทั่วไป(generally disobeyed) หรือด้วยเหตุผลอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งการใช้ดุลพินิจ(discretion) เช่นนี้มิใช่เป็นการอนุญาตให้บุคคลสามารถกระทำความผิดได้ เพราะฉะนั้น อัยการจึงอาจใช้ดุลพินิจในการดำเนินคดีแก่ผู้ทำการดื้อแพ่งต่อกฎหมาย อย่างไรก็ตามการใช้ดุลพินิจของอัยการในด้านที่เป็นคุณแก่บุคคลเหล่านี้ ต้องคำนึงถึงโอกาสที่จะทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องภายในสังคมนั้นด้วย โดยรอลส์ก็เห็นด้วยในแง่ที่ว่าสถาบันตุลาการควรให้การรับฟังต่อเหตุผลเหล่านี้ในการวินิจฉัยคดี นอกจากนี้ จอห์น รอลส์ ยังมีความเห็นว่าสำหรับการดื้อแพ่งซึ่งยังคงแสดงถึงหลักการทางการเมือง ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย(democratic regime) และเป็นการแสดงซึ่งเคารพต่อระบบกฎหมาย ควรมีการกำหนดรูปแบบทางกฎหมายสำหรับการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ซึ่งมิได้มีจุดมุ่งหมายทำลายรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย (Rawls 1978 : 387) โดยทั้งนี้การกำหนดแนวทางของการดื้อแพ่งต่อกฎหมาย จะช่วยแก้ปัญหา 2 ประการ คือ ประการแรก เป็นทางเลือกให้แก่ปัจเจกบุคคลในการประสานความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นระหว่างมโนธรรมสำนึก ของแต่ละบุคคลกับภาระหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ประการที่สอง เป็นการค้นหาหลักการซึ่งมีเหตุผลสำหรับการปฏิบัติในสถานการณ์ที่เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น ดังนั้น ถ้าอนุญาตให้มีการกระทำทางการเมือง ซึ่งมีเหตุผลเป็นการกระทำเชิงคัดค้านต่อกรณีที่เกิดการละเมิดต่อเสรีภาพพื้นฐานขึ้น เมื่อผ่านไปช่วงระยะเวลาหนึ่งประชาชนก็จะหันมาใช้วิธีการดื้อแพ่งต่อกฎหมาย เพราะฉะนั้นจึงควรรับการดื้อแพ่งของประชาชนที่เป็นธรรมซึ่งเกิดขึ้นภายในขอบเขตความเคารพต่อกฎหมาย(within limit of fidelity to law) ก็จะเป็นรูปแบบหนึ่งที่จะธำรงความมั่นคงของรัฐธรรมนูญที่เป็นธรรม แม้ว่าการดื้อแพ่งจะเป็นการกระทำที่ต้องละเมิดต่อกฎหมายก็ตาม ข้อเสนอแนะของรอลส์เป็นการแสวงหาทางออกให้แก่การดื้อแพ่งของประชาชนซึ่งกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายบางส่วน โดยการพยายามอธิบายให้เห็นถึงความแตกต่างของการดื้อแพ่ง กับการกระทำความผิดต่อกฎหมายโดยทั่วไป ด้วยการพยายามชี้ให้เห็นผลด้านที่เป็นประโยชน์ของการดื้อแพ่งต่อสังคมโดยรวม แต่อย่างไรก็ตาม การแปรแนวคิดดังกล่าวจากลักษณะนามธรรมให้มาสู่รูปธรรมที่ชัดเจนก็ยังคงประสบปัญหายุ่งยากมิใช่น้อย อันเนื่องจากแนวความคิดที่สนับสนุนให้ประชาชนต้องกระทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ยังคงมีอิทธิพลอย่างมากต่อประชาชนในสังคม 4. คำถามและปมปัญหาเกี่ยวกับการดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชน แม้จะมีความพยายามสร้างคำอธิบายให้กับการดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชนในแง่มุมที่แตกต่างไปจากเดิม ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น โดยเฉพาะในโลกตะวันตกในช่วงหลังทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา แต่ก็ยังปรากฏประเด็นปัญหาบางประการในตัวคำอธิบายเรื่องการดื้อแพ่งต่อกฏหมายอยู่ ดังจะหยิบยกบางประเด็นที่มีความสำคัญขึ้นมาอภิปรายในที่นี้ ประการแรก เนื่องจากการดื้อแพ่งต่อกฎหมายเป็นการกระทำที่ปฏิเสธต่อคำสั่ง/กฎหมายของรัฐด้วยการอ้างอิงถึงสิทธิอื่นๆ ที่ผูกพันหรือกระตุ้นให้บุคคลนั้นกระทำตาม ไม่ว่าแหล่งอ้างอิงของกฎเกณฑ์นี้จะมีที่มาจากกฎของพระเจ้าหรือเป็นมโนธรรมสำนึกส่วนบุคคลก็ตาม คำถามพื้นฐานต่อการอ้างอิงถึงสิทธินี้ก็คือ สิทธิต่างๆเหล่านี้มีเนื้อหาอย่างไรและจะพิสูจน์ให้เห็นถึงสิทธินี้ด้วยกระบวนการอย่างไร ความคลุมเครือของสิทธิประเภทนี้เป็นปมปัญหาสำคัญของแนวความคิดสำนักกฎหมายธรรมชาติ(Natural Law School) ที่ดำรงอยู่มาจนกระทั่งปัจจุบัน Edmund Burke ถึงกับกล่าวว่าสิทธิธรรมชาติเป็นเพียงนวนิยายเล่มใหญ่ การไม่อาจพิสูจน์ได้ถึง่เนื้อหาของสิทธินี้ย่อมนำไปสู่ความยุ่งยากได้ หากในกรณีที่ปรากฏการโต้แย้งนโยบายของรัฐโดยประชาชน 2 กลุ่ม ซึ่งมีความเห็นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แล้วจะสามารถมีคำอธิบายต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร ประการที่สอง การเลือกใช้วิธีการการดื้อแพ่งต่อกฎหมายนอกจากจะเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายของรัฐแล้ว การกระทำดังกล่าวยังกระทบหรือละเมิดสิทธิของปัจเจกบุคคลอื่นด้วย เช่น การปิดกั้นทางสาธารณะ การกระทำนี้ไม่เพียงแต่ผิดต่อกฎหมายเท่านั้นหากยังทำให้บุคคลอื่นที่มีสิทธิในการสัญจรในทางสาธารณะ ต้องถูกกระทบไปด้วย ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิของตนได้ตามปกติ เมื่อพิจารณาในกรอบการมองเรื่องการดื้อแพ่งต่อกฎหมายผ่านกรอบการอธิบายเรื่องสิทธิตามแนวเสรีนิยม(the liberal theory) ก็ยังประสบปัญหาไม่สามารถอธิบายได้ว่าการใช้สิทธิของบุคคลหนึ่งที่ไปกระทบสิทธิของบุคคลอื่น ทำไมจึงควรเป็นที่ยอมรับได้(ไชยรัตน์ 2542: 79) หรือความพยายามที่จะอธิบายสิทธิการดื้อแพ่งต่อกฎหมายผ่านทฤษฎีประชาธิปไตย ด้วยการให้คำอธิบายว่าระบบประชาธิปไตยมีความหมายมากกว่าระบบกฎหมาย การมองเฉพาะความถูกต้องในระบบกฎหมายจะทำให้เกิดความแข็งทื่อ ไม่ยืดหยุ่น เนื่องจากการดื้อแพ่งต่อกฎหมายเป็นไปเพื่อการเรียกร้องหรือสร้างรูปแบบสิทธิใหม่ๆ(ไชยรัตน์ 2542:79) ดังตัวอย่างการเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำ สิทธิชนพื้นเมืองสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของคนท้องถิ่น ที่มีจุดเริ่มต้นจากการเคลื่อนไหวในรูปแบบของการดื้อแพ่งต่อกฎหมายในหลายๆ แห่ง แต่ทั้งนี้คำอธิบายข้างต้นทั้งหมดก็ยังคงมุ่งในคำอธิบายที่ให้คำความชอบธรรม กับการกระทำที่เรียกว่าการดื้อแพ่งต่อกฎหมาย โดยยังละเลยต่อคำถามว่าการใช้สิทธิของบุคคลหนึ่งที่กระทบต่อบุคคลอื่นนั้นทำไมจึงเป็นการกระทำที่ควรจะยอมรับได้ สำหรับผู้เขียนมีความเห็นว่าควรจะต้องแยกแยะเพื่อแสดงให้เห็นว่าแม้บุคคลทั่วไป จะถูกละเมิดสิทธิของตนจากการดื้อแพ่งต่อกฎหมาย แต่สิทธิที่ถูกละเมิดนี้มิใช่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของปัจเจกบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป คือ สิทธิในชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สินแต่สิทธิที่จะถูกละเมิดเป็นสิทธิของปัจเจกบุคคลในการได้รับบริการสาธารณูปฏโภคต่างๆ จากรัฐ เช่น ถนน ทางสาธารณะ ฯลฯ และอีกทั้งการละเมิดสิทธิในลักษณะดังกล่าวก็เป็นการกระทำเพียงชั่วคราว มิได้เป็นการเพิกถอนสิทธิต่างๆ ของปัจเจกบุคคลแต่อย่างใด แม้ว่าการจำแนกสิทธิต่างๆ เหล่านี้ในเบื้องต้นยังไม่อาจขีดเส้นแบ่งได้อย่างชัดเจน แต่อย่างน้อยก็จะเป็นการสร้างเงื่อนไขต่อการยอมรับการละเมิดสิทธิของปัจเจกบุคคลบางประเภทได้ โดยเฉพาะสิทธิที่บังเกิดขึ้นจากกการให้บริการโดยตรงจากรัฐ ดังเช่นสิทธิในการใช้สาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งควรถือว่าเป็นสิทธิที่ประชาชนได้มาจากภายหลังที่สังคมมีระบบการปกครองที่เป็นธรรมและยุติธรรม หากเกิดสภาวะความอยุติธรรมขึ้นก็ควรจะเป็นพื้นฐานของประชาชนในการกระทำต่างๆ อันเป็นการคัดค้าน/โต้แย้งรูปแบบการปกครองที่ดำเนินอยู่ในขณะนั้น ประการที่สาม การจำกัดขอบเขตของการดื้อแพ่งต่อกฎหมายไว้เฉพาะกับการกระทำที่เป็นการคัดค้านกฎหมาย หรือนโยบายบางประการของรัฐ โดยยังคงวางอยู่บนพื้นฐานของการเคารพต่อรัฐบาล และระบบกฎหมายโดยมิได้มุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงระบบทั้งหมด การจำกัดขอบเขตของการดื้อแพ่งต่อกฎหมายในลักษณะนี้ อาจจะเป็นละเลยต่อข้อเท็จจริงซึ่งในหลายครั้งได้ปรากฏเหตุการณ์ดื้อแพ่งต่อกฎหมายที่ในบั้นปลาย มิได้เพียงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกนโยบายบางด้านของรัฐ แต่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งกับคณะรัฐบาลหรือกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายพื้นฐานของประเทศ (ดูตัวอย่างของการดื้อแพ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและระบบกฎหมายได้ใน ยีน ชาร์ป 2529:131-135) การจำกัดกรอบการทำความเข้าใจกับการดื้อแพ่งไว้เพียงการคัดค้านกฎหมายบางส่วนที่ยังเคารพระบบกฎหมายโดยรวม จึงอาจไม่ได้ให้คำอธิบายว่าถ้าเข่นนั้นแล้ว การดื้อแพ่งต่อกฎหมายที่มีลักษณะของการกระทำที่ไม่แตกต่างไปจากการดื้อแพ่งในลักษณะอื่นๆ เพียงแต่ก่อให้เกิดผลในลักษณะที่ต่างกันนี้ควรจะถูกจัดวางหรือได้รับการยอมรับในลักษณะใด นอกจากนี้ในสังคมที่มีรูปแบบการปกครองในลักษณะเผด็จการมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง การจำกัดขอบเขตของการดื้อแพ่งต่อกฎหมายว่าต้องเป็นการกระทำที่ยังคงเคารพต่อระบบกฎหมายโดยรวม ย่อมเท่ากับเป็นการสนับสนุนให้ระบบการปกครองที่อยุติธรรมดำเนินต่อไปได้. รอลส์ ซึ่งให้คำอธิบายค่อการดื้อแพ่งของประชาชนว่าขอบเขตของการดื้อแพ่งว่า ต้องเป็นไปเพื่อการเปลี่ยนแปลงกฎหมายบางฉบับเท่านั้น ก็จำกัดการพิจารณาการดื้อแพ่งตามแนวความคิดของตนไว้เพียงสำหรับสังคมที่มีรูปแบบการปกครอง ซึ่งมีความเป็นธรรมหรือในสังคมที่มีการปกครองระบบรัฐธรรมนูญ(Constitutional System)เท่านั้น(Rawls 1978: 384) การจำกัดขอบเขตของการละเมิดเอาไว้ว่าจะกระทำได้ภายในเงื่อนไขบางประการเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ในด้านหนึ่งก็จากถูกพิจารณาได้ว่าเป็นกฎเกณฑ์อีกชุดหนึ่งโดยอาจไม่ตระหนักรู้ การพยายามสร้างคำอธิบายในลักษณะนี้ก็เท่ากับว่าเป็นการดื้อแพ่งต่อกฎหมายเองก็อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ถูกกำหนดไว้ อันจะทำให้ถึงที่สุดแล้วการดื้อแพ่งต่อกฎหมายที่เกิดขึ้นต้องเป็นการดื้อแพ่งต่อกฎหมายที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย เท่านั้น การเสนอแนวความคิดเรื่องการดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชน เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างคำอธิบายที่เป็นการรื้อ และให้ความหมายใหม่กับปรากฎการณ์ทางสังคมจากมุมมองและความเข้าใจซึ่งแตกต่างไปจากเดิม แม้ว่าในตัวคำอธิบายเกี่ยวกับการดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชนจะยังคงปรากฎความขัดแย้ง ความคลุมเครือ ที่ยังไม่อาจจะให้คำอธิบายได้อย่างชัดเจนในทุกแง่มุม แต่อย่างน้อยในการเสนอแนวคิดเรื่อง การดื้อแพ่งต่อกฎหมาย ก็คงให้ความเข้าใจที่มีต่อเรื่องสิทธิได้เกิดแง่มุมที่หลากหลาย และตระหนักถึงว่าการพิจารณาถึงสิทธิของประชาชนในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จำเป็นที่จะต้องขบคิดถึงบริบททางสังคมที่ต่างไปจากเดิมด้วย บรรณานุกรม 1. จรัญ โฆษณานันท์. นิติปรัชญา. พิมพ์ครั้งที่สอง. กรุงเทพ:มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2532 2. ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร,ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ และนัยยะเชิงทฤษฎีต่อการพัฒนาประชาธิปไตย (น. 63-92) ขบวนการประชาสังคมไทย: ความเคลื่อนไหวภาคพลเมือง. อนุชาติ พวงสำลีและกฤตยา อาชวนิจกุล บรรณาธิการ. นครปฐม: โครงการวิจัยและพัฒนาประชาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, 2542 3. ยีน ชาร์ป. อำนาจและยุทธวิธีไร้ความรุนแรง. แปลโดยชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และคมสันต์ หุตะแพทย์ พิมพ์ครั้งแรก กรุงเทพ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2529 4. Dworkin, Ronald. Taking Rights Seriously. Massachusette: Harvard University Press, 1978 5. King, Martin Luther. Letter from Birmingham City Jail, Civil and Disobedience: Theory and Practice. New York : Macmillan Publishing,1979 6. Leiser, Bruton M. Liberty, Justice and Moral. New York: Macmillan Publishing, 1979 7. Rawls, John. A Theory of Justice. London: Oxford University Press. 1978 8. Singer, Peter. Democracy & Disobedience. New York and London: Oxford University Press, 1974 |