โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๙๕ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๐๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๐ (November, 01, 11, 2007) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

แนวคิดเรื่องการผลิตเอทานอลเพื่อทดแทนน้ำมันในบราซิลเริ่มต้นขึ้น เมื่อประเทศบราซิลประสบปัญหาภาระการนำเข้าน้ำมันที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ก่อนที่จะประสบปัญหาราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำในปีถัดมา. แนวคิดเรื่องการผลิตเอทานอลจึงเป็นเสมือนการหา "คำตอบ" หรือ "ทางออก" ต่อทั้งสองโจทย์ ซึ่งก็คือ การลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน (รวมถึงการลดปัญหาอันเนื่องมาจากความผันผวนของตลาดน้ำมัน) ขณะเดียวกัน ก็ลดปัญหาอันเนื่องมาจากความผันผวนของตลาดสินค้าเกษตรโลกไปด้วยในตัว (คัดจากบทความ)
01-11-2550

Energy Crisis
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.


จากหนังสือเรื่อง: พลังงาน งานที่มีพลัง
น้ำมัน น้ำตา น้ำตาล: วิกฤตการณ์พลังงานและปัญหาสุขภาพ
เดชรัต สุขกำเนิด : เขียน
ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

บทความต่อไปนี้ กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
ซึ่งเป็นการรวบรวมงานเขียนทางวิชาการ เพื่อความยั่งยืนของระบบพลังงานไทย
ในชื่อ: พลังงาน งานที่มีพลัง อันเป็นคำที่ยืมมาจากชื่อของชั้นเรียนหนึ่งของ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕
สำหรับบนหน้าเว็บเพจนี้ ประกอบด้วยงานเขียนที่เคยตีพิมพ์แล้ว ๓ เรื่อง คือ

๑. หมดยุคน้ำมันราคาถูก: ความจริงที่กำลังจะมาถึง
๒. บทเรียนจากบราซิล: ๓๐ ปีแห่งความพยายามในการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ
๓. พลังงานสกปรก: ภัยคุกคามสุขภาพชาวอเมริกัน
โดยเรื่องแรกสะท้อนปัญหาวิกฤตน้ำมัน ซึ่งเกิดขึ้นในหลายปีมานี้ ผู้เขียนได้บอกกับเราถึง
สาเหตุที่นักธรณีฟิสิกส์ได้คาดการณ์มานานแล้วอย่างค่อนข้างแม่นยำ
ส่วนเรื่องถัดมาเป็นตัวอย่างของการใช้พลังงานทดแทน หรือเอทานอลในประเทศบราซิล
และในเรื่องสุดท้าย เป็นวิกฤตสุขภาพในสังคมอเมริกัน อันมีสาเหตุมาจากพลังงาน

midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๙๕
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๐๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๒ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

จากหนังสือเรื่อง: พลังงาน งานที่มีพลัง
น้ำมัน น้ำตา น้ำตาล: วิกฤตการณ์พลังงานและปัญหาสุขภาพ
เดชรัต สุขกำเนิด : เขียน
ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

1. หมดยุคน้ำมันราคาถูก: ความจริงที่กำลังจะมาถึง
(ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารโลกสีเขียว กรกฎาคม-สิงหาคม 2547)

"พ่อของฉันขี่อูฐ ฉันขับรถยนต์ ลูกของฉันขับเครื่องบินไอพ่น
แต่หลานของฉันคงจะต้องกลับมาขี่อูฐอีกครั้ง"
คำกล่าวของชาวซาอุดิอาระเบีย

เมื่อครั้งที่ผมยังเด็ก ผมมักได้ยินผู้ใหญ่พูดกันว่า "อีกไม่นานน้ำมันจะหมดจากโลก" และยังเถียงกันด้วยว่า "เมื่อไหร่น้ำมันจะหมดไปจากโลก" ต่อมา เมื่อผมเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ ผมจึงได้ทราบว่า คำถามนี้มิใช่คำถามที่ถูกต้อง เพราะว่า โลกของเราคงไม่ต้องรอให้น้ำมันหมดโลก เพียงแค่เราหาน้ำมันได้ยากขึ้น และหาได้ไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ เศรษฐกิจของโลกและวิถีชีวิตของพวกเราที่พึ่งพาน้ำมันเป็นพลังงานหลัก ก็คงต้องสั่นคลอนกันแล้ว… คำถามจึงไม่ใช่ "เมื่อไหร่น้ำมันจะหมดโลก" แต่เป็น "เมื่อไหร่น้ำมันจะไม่พอใช้" และแน่นอนว่า เมื่อถึงเวลานั้น ราคาน้ำมันก็จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างถาวร มิใช่สูงขึ้นเพราะการปั่นราคาของผู้ผลิตและผู้ค้าน้ำมัน ดังเช่นที่ผ่านมาในบางช่วงเวลา

ต่อมา เมื่อผมศึกษาเรื่องพลังงาน ผมจึงทราบว่า จุดหรือช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นช่วงเวลาที่ปริมาณการผลิตน้ำมันของโลกจะเพิ่มจนถึงจุดสูงสุด และไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตได้อีก (แม้ว่าน้ำมันจะยังไม่หมดไปจากโลกก็ตามที) เมื่อถึงจุดนั้น การผลิตน้ำมันก็จะไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้อีกแล้ว และวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางการเมืองก็จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และเมื่อผมศึกษาเรื่องพลังงานลึกซึ้งขึ้น ผมจึงทราบว่า ช่วงเวลาดังกล่าวมิได้อยู่ในอนาคตที่ห่างไกล แต่ "จุดสูงสุดของการผลิตน้ำมัน" กำลังจะมาถึงในเร็ววันนี้ และนี่ก็อาจเป็นคำอธิบายที่ดีถึงราคาน้ำมันดิบที่พุ่งสูงขึ้นกว่า 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และความวุ่นวายทางการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลาง และกำลังลุกลามเป็นวิฤตการณ์ทางการเมืองของโลก (วันที่บทความชิ้นนี้เผยแพร่ ราคาน้ำมันดิบสูงถึงเกือบ 100 ดอลล่าร์) คอลัมน์ "พลังงานน่ารู้" ฉบับนี้จึงขอนำการวิเคราะห์เรื่อง "จุดสูงสุดของการผลิตน้ำมัน" มาเล่าให้ผู้อ่านโลกสีเขียวได้ทราบและตระหนักไว้ ในช่วงเวลาที่งบประมาณของรัฐบาลไทย ในการชดเชยราคาน้ำมันได้พุ่งขึ้นเกือบหนึ่งหมื่นล้านบาทแล้ว (ณ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2547)

แนวคิดเรื่องจุดสูงสุดในการผลิตน้ำมัน
แนวคิดเรื่องจุดสูงสุดในการผลิตน้ำมันได้มีการกล่าวถึงไว้โดยนักวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ ค.ศ. 1920 (หรือประมาณ 80 ปีมาแล้ว) แต่การค้นพบแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ในเท็กซัส และอ่าวเปอร์เซีย ในอีกสิบปีต่อมา ได้ทำให้คำเตือนดังกล่าวกลายเป็นเรื่องน่าขัน (ในยุคนั้น). ต่อมา แนวคิดดังกล่าวได้มีการประกาศเป็นทางการอย่างจริงจังในปี ค.ศ.1949 โดยนักธรณีฟิสิกส์ชาวอเมริกันที่ชื่อว่า Dr. Marion King Hubbert

Dr. Hubbert เกิดในรัฐเท็กซัส ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการผลิตน้ำมันของโลกในช่วงนั้น และได้เรียนจบปริญญาเอกรวมถึงทำการสอนด้านธรณีฟิสิกส์ในหลายมหาวิทยาลัย รวมถึงทำงานในบริษัทน้ำมันหลายบริษัท (เช่น บริษัทเชลล์) และยังร่วมงานกับองค์การสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา. ตลอดช่วงเวลาการทำงานกว่า 50 ปี Dr. Hubbert ได้ค้นพบหลักการทางธรณีฟิสิกส์หลายประการ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการขุดเจาะน้ำมัน แต่การค้นพบที่โด่งดังที่สุดก็คือ การคาดการณ์ถึงจุดสูงสุดของการผลิตน้ำมัน ที่มักเรียกกันต่อมาว่า Hubbert's Peak (หรือจุดสูงสุดของ Hubbert)

คำอธิบายถึงหลักการของ Hubbert แบบง่ายๆ ก็คือ แบบแผนของการผลิตน้ำมันในแต่ละแหล่ง มิได้เริ่มต้นจากศูนย์ และเพิ่มขึ้นจนถึงจุดหนึ่ง และมีปริมาณการผลิตที่คงที่ ณ จุดนั้นเป็นระยะเวลานาน ก่อนที่จะลดลง และหมดไปในที่สุด แต่ปริมาณการผลิตน้ำมันในแต่ละแหล่งมีแนวโน้มที่กระจายตัวเป็นแบบระฆังคว่ำ (Bell-shaved curve) กล่าวคือ ปริมาณการผลิตจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงต้น ก่อนจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง และถึงจุดสูงสุดในที่สุด ต่อจากนั้นก็จะลดลง จนหมดไป. และหากมองในภาพรวมก็จะพบว่า น้ำมันที่นำมาใช้ก็มักจะมาจากแหล่งที่ขุดพบได้ง่ายก่อน ต่อจากนั้นจึงมาจากแหล่งที่ขุดพบยากขึ้น ยากขึ้นทุกที ดังนั้น เมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง ปริมาณการผลิตก็จะเริ่มลดลง แม้ว่าจะมีความพยายามในการเพิ่มหลุมเจาะมากขึ้นก็ตามที

ในทางการคำนวณ หากปริมาณการผลิตน้ำมันมีการกระจายตัวแบบระฆังคว่ำจริงดังที่ Hubbert ได้ทำการสังเกตและค้นพบไว้ จุดสูงสุดของการผลิตน้ำมันก็จะเป็นจุดที่ปริมาณการผลิตสะสม (หรือปริมาณการผลิตโดยรวมตั้งแต่ที่เราเริ่มขุดเจาะน้ำมันเป็นต้นมา) เท่ากับ ครึ่งหนึ่งของปริมาณน้ำมันทั้งหมดที่มีอยู่ในโลก หรือก็คือ จุดกึ่งกลางของรูประฆังคว่ำนั่นเอง. ในเบื้องต้น Hubbert ได้พยากรณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันสูงสุดของสหรัฐฯ ไว้ว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐจะถึงจุดสูงสุดในปี ค.ศ. 1966 (หากปริมาณน้ำมันทั้งหมดของสหรัฐฯ เท่ากับ150,000 ล้านบาร์เรล) หรือในปี ค.ศ. 1972 (หากปริมาณน้ำมันทั้งหมดเท่ากับ 200,000 ล้านบาร์เรล). ความเป็นจริงปรากฏว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันสหรัฐฯ ได้ขึ้นถึงจุดสูงสุดในปี ค.ศ. 1970 และมีแนวโน้มการผลิตที่ลดลงเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน

ด้วยวิธีการเดียวกัน Hubbert ได้พยากรณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันสูงสุดของโลก ไว้ว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันของโลกจะถึงจุดสูงสุดในปี ค.ศ. 1990 (หากปริมาณน้ำมันทั้งหมดของโลก เท่ากับ1.3 ล้านล้านบาร์เรล) หรือในปี ค.ศ. 2000 (หากปริมาณน้ำมันทั้งหมดเท่ากับ 2.1 ล้านล้านบาร์เรล). ถึงแม้ว่า ในภายหลัง นักวิชาการรุ่นต่อๆ มาจะมีการใช้ข้อมูลใหม่ๆ และวิธีการคำนวณที่เหมาะสมขึ้น แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็แตกต่างไปจากจุดที่ Hubbert คาดการณ์ไว้ไม่เกินหนึ่งทศวรรษเท่านั้น. ดังนั้น แม้ว่าผลลัพธ์ของการคาดการณ์ของ Hubber จะดูมองโลกในแง่ร้ายไปสักนิด แต่ก็ถือว่าเป็นคำเตือนที่มาจากสายตาที่มองการณ์ไกล และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคมโลก หากพวกเราจะ "ตั้งใจฟัง" (Dr. Hubbert เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1989 ก่อนที่เขาจะได้เห็นจุดสูงสุดของการผลิตน้ำมัน แต่ความคิดที่เขาได้บุกเบิกมายังได้รับการสานต่อ ดังที่จะได้เล่าให้ฟังต่อไป)

การคาดการณ์ในยุคต่อมา
นักวิชาการคนสำคัญที่ได้ทำการคำนวณต่อจาก Dr. Hubbert คือ Dr. Colin Campbell ซึ่งได้เขียนบทความเรื่อง "The End of Cheap Oil" ในนิตยสาร Scientific American เมื่อปี ค.ศ. 1998. ในบทความดังกล่าว Dr. Campbell ได้นำแนวทางการพยากรณ์ของ Dr. Hubbert มาปรับใช้ ร่วมกับข้อมูลใหม่ๆ และวิธีการคำนวณแบบต่างๆ ซึ่งทำให้ได้บทสรุปว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันของโลกจะถึงจุดสูงสุดก่อนปี ค.ศ. 2010 (หรือไม่เกิน 6 ปีนับจากนี้) (รูปที่ 1)

Dr. Kenneth S. Deffeyes ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Hubbert's Peak: The Impending World Oil Shortage ก็เป็นอีกท่านหนึ่งซึ่งทำการศึกษาในเรื่องนี้ โดย Dr. Deffeyes ยืนยันตรงกันว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันของโลกจะถึงจุดสูงสุดในช่วงปีค.ศ. 2004 ถึง 2009. ปัญหาสำคัญในการพยากรณ์จุดสูงสุดของการผลิตน้ำมันคือ ประเทศผู้ผลิตน้ำมันต่างๆ มักรายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบไว้สูงกว่าความเป็นจริง เช่น Dr. Cambell พบว่า ปริมาณสำรองน้ำมันดิบตามรายงานของประเทศเหล่านั้นมิได้ลดลงเลย แม้ว่าจะมีการผลิตน้ำมันมากขึ้นก็ตาม ซึ่งนั้นก็แปลว่า ประเทศเหล่านั้นจะต้องค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่ๆ เท่ากับปริมาณน้ำมันที่ผลิตได้ในแต่ละปี

แต่ข้อมูลของ Dr. Cambell ได้ชี้ให้เห็นว่า ยุคทองของการสำรวจน้ำมันได้ผ่านไปนานแล้ว โดยการค้นพบน้ำมันได้ถึงจุดสูงสุดตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1960 (หรือกว่า 40 ปีมาแล้ว) ปัจจุบันนี้ เราค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่ได้เพียงหนึ่งในสี่ของน้ำมันที่เราผลิต ในแต่ละปี และช่องว่างดังกล่าวก็มีแนวโน้มที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ. ส่วนมูลเหตุจูงใจที่ทำให้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายงานปริมาณน้ำมันสำรองให้สูงไว้ เพราะ การจัดสรรโควต้าการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศโอเปคจะแบ่งตามสัดส่วนของปริมาณน้ำมันสำรอง ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ผู้ที่สามารถอ้างว่า ตนเองมีน้ำมันเหลืออยู่มากก็จะได้สิทธิในการผลิตน้ำมันมากขึ้นตามไปด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจมากอีกประเด็นหนึ่งจากการศึกษาของ Dr. Cambell ก็คือ หากไม่นับภูมิภาคตะวันออกกลางแล้ว โลกของเราได้ผ่านจุดสูงสุดของการผลิตน้ำมันไปแล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997 (หรือเมื่อ 7 ปีที่แล้ว) นี่ก็คือเหตุผลว่า ทำไมภูมิภาคตะวันออกกลางถึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ของเศรษฐศาสตร์การเมืองของโลก ในยุคปัจจุบัน และหากวิเคราะห์ให้ลึกลงไปเป็นรายประเทศ เราก็จะพบว่า ภายในเวลา 5 ปีนับจากนี้ โลกของเราจะเหลือเพียง 4 ประเทศเท่านั้นที่ปริมาณการผลิตน้ำมันจะยังไม่ถึงจุดสูงสุด ประเทศทั้งสี่ได้แก่ คูเวต (เหลือเวลาอีก 22 ปี จึงจะถึงจุดสูงสุด) ซาอุดิอาระเบีย (25 ปี) อิรัก (30 ปี) และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (31 ปี) (ดูรูปที่ 2)

ท่านผู้อ่านหลายท่านคงหายสงสัยว่า ทำไมประเทศอภิมหาอำนาจบางประเทศ ซึ่งได้ผ่านจุดสูงสุดของการผลิตน้ำมัน และไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันของตนได้อีกแล้ว จึงต้องการที่จะครอบครอง และคุกคามภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะโดยชอบธรรมหรือไม่ก็ตาม

ผลต่อเนื่องที่จะตามมา
สามัญสำนึกและหลักการทางเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นสามารถบอกเราได้ว่า หากโลกกำลังจะเข้าสู่จุดสูงสุดของการผลิตน้ำมันจริง นั่นก็แปลว่า โลกก็กำลังจะสิ้นยุคน้ำมันราคาถูก. การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่องในรอบปีที่ผ่านมา (ดูรูปที่ 3) อาจเป็นสัญญาณเตือนภัยบางอย่าง หากเราจะไม่ด่วนสรุปเพื่อปลอบใจตัวเองว่า นั่นเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดชั่วครู่ชั่วยาม นับต่อจากนี้ ราคาน้ำมันในโลกก็จะมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ตามความหายากของมัน เนื่องจาก ในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันได้เพิ่มขึ้น ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นอีกแล้ว

นั่นก็ยังแปลว่า ในอนาคต ปรากฏการณ์การขาดแคลนน้ำมันก็อาจจะเกิดขึ้นด้วย หากเราไม่สามารถปรับลดความต้องการของเรา หรือปรับเปลี่ยนไปสู่แหล่งพลังงานอื่นๆ ได้อย่างทันการณ์ แน่นอนที่สุด ความวุ่นวายทางสังคม ทางเศรษฐกิจ และทางการเมืองก็จะตามมา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตราบใดที่เรายังไม่สามารถหลุดพ้นจากการยึดติดกับวิถีชีวิต และระบบพลังงานที่พึ่งพาน้ำมันเป็นหลัก ซึ่งเรายึดถือ (หรืออาจเรียกได้ว่า "เสพติด") กันมากว่าหนึ่งศตวรรษ. แน่นอนที่สุดว่า ทางออกที่เราต้องการย่อมต้องเป็น"ทางออกเชิงวิสัยทัศน์ใหม่" ที่จะนำพาโลกของเราและประเทศของเราเข้าสู่วิถีใหม่ของระบบพลังงานที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้เพราะว่า ตราบใดที่ประเทศอภิมหาอำนาจยังต้องการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยการมุ่งครอบครองหรือแผ่อิทธิพลในภูมิภาคที่มีแหล่งน้ำมันที่เหลืออยู่ ตราบนั้น ความฝันที่จะเห็นสันติภาพในภูมิภาคตะวันออกกลาง และในโลกของเรา ก็คงเป็นฝันที่ต้องรอต่อไป ทั้งนี้เพราะว่า ตราบใดที่เรายังหวังจะให้รัฐบาลเข้ามาชดเชย เพื่อให้ราคาน้ำมันที่เราใช้ถูกลง ตราบนั้น ประเทศของเราก็จะต้องเป็นหนี้เป็นสินมากขึ้น โดยไม่มีวันจบสิ้น (เพราะในระยะยาวราคาน้ำมันจะไม่ลดลง)

เพียงแค่สี่เดือนที่รัฐบาลทักษิณชดเชยราคาน้ำมัน รัฐบาลได้ใช้จ่ายเงินไปแล้วกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท และแม้ว่ารัฐบาลจะชดเชยราคาน้ำมันไปแล้วกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเราก็ยังถูกกระทบ (อัตราการเติบโตมีแนวโน้มว่าจะลดลงจากร้อยละ 8 ตามที่คาดการณ์ไว้เดิม เหลือร้อยละ 6-7) อัตราเงินเฟ้อก็เริ่มมีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นหมายความว่า ความยากลำบากกำลังรอพวกเราอยู่เบื้องหน้า

ทางออกของเรา
สามัญสำนึกบอกเราว่า หากจุดสูงสุดของการผลิตน้ำมันกำลังจะมาถึง หากยุคของน้ำมันราคาถูกกำลังจะสิ้นสุดลง หากน้ำมันกำลังจะมีราคาแพงขึ้น ทางออกที่ดีที่สุดของเราคือ "เราต้องไปพ้นจากมันให้เร็วที่สุด" การยึดยื้อเอาไว้ เช่น การชดเชยราคาน้ำมัน ด้วยหวังว่า ราคาน้ำมันจะกลับมาถูกลง นอกจากจะเป็นการเสียเงินมหาศาลแล้ว ยังทำให้เรา "เสียเวลา" ที่จะช่วยกันค้นหาทางออกกันอย่างจริงจังอีกด้วย. ขอย้ำคำว่า "ช่วยกันหาทางออก" เพราะในสภาพที่ระบบเศรษฐกิจและสังคมของเรา "เสพติด" น้ำมันและพลังงานราคาถูกอย่างงอมแงม การหลุดพ้นจากการเสพติดดังกล่าวย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น ทุกคนในสังคมของเราต้องช่วยกัน มิใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น

การอนุรักษ์พลังงานอย่างจริงจัง การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่ใช้พลังงานกันอย่างฟุ่มเฟือย การปรับระบบการคมนาคมขนส่ง การสนับสนุนการผลิตสินค้าในท้องถิ่น และการพัฒนาพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ล้วนแต่เป็นส่วนสำคัญของทางออก และล้วนแต่มีการดำเนินการกันอยู่แล้วทั้งสิ้น เพียงแต่สังคมไทยจะเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด ด้วยฐานความคิดระดับใด (ระดับขอไปที ระดับสมัยนิยม หรือระดับวิสัยทัศน์) และด้วยการสนับสนุนเช่นไรจากรัฐบาล

เงินหนึ่งหมื่นล้านบาทเป็นเงินที่มีความหมายมาก สำหรับการเริ่มต้นและการขยายผลกิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น หรืออีกนัยหนึ่งสำหรับการพัฒนาระบบพลังงานใหม่ ที่ "เป็นไท" และ "ยั่งยืน" หรือว่า เราจะยื้อกันไว้ต่อไป และเราจะยอมเสียเงินเท่าไรดี ในการยึดยื้อความเป็นจริงที่กำลังจะมาถึง และเมื่อไรที่เราจะก้มหน้ายอมรับความเป็นจริง และมุ่งหน้าค้นหาสิ่งที่ดีกว่า

รัฐบาลที่อ้างว่าเปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์ จะต้องส่งสัญญาณที่ถูกต้องให้กับสังคมไทย (โดยไม่ต้องรอให้การเลือกตั้งใหม่ผ่านพ้นไปเสียก่อน)
หมายเหตุ ข้อมูลจากหนังสือเรื่อง "The Party's Over" โดยคุณ Richard Heinberg และจาก www.hubbertpeak.com

รูปที่ 1 การคาดการณ์จุดสูงสุดในการผลิตน้ำมันของ Dr. Cambell ในสถานการณ์สมมติต่างๆ
ที่มา http://www.hubbertpeak.com/summary.htm

รูปที่ 2 ระยะเวลาที่เหลืออยู่ ก่อนที่จะถึงจุดสูงสุดของการผลิตน้ำมันของแต่ละประเทศ
หมายเหตุ กราฟแท่งทางด้านซ้ายหมายความว่า จำนวนปีที่ประเทศนั้นได้ผ่านจุดสูงสุดในการผลิตน้ำมันมาแล้ว
ที่มา http://www.hubbertpeak.com/summary.htm

รูปที่ 3 การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันดิบ (Brent Crude Oil) ในรอบหนึ่งปี
ที่มา:http://newsvote.bbc.co.uk/1/shared/fds/hi/business/market_data/commodities/28696/twelve_month.stm

2. บทเรียนจากบราซิล: 30 ปีแห่งความพยายามในการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ
(ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารโลกสีเขียว ฉบับกรกฎาคม-สิงหาคม 2550)

ในขณะที่ผมเขียนต้นฉบับนี้โลกสีเขียวอยู่นี้ ราคาน้ำมันเบนซิน 95 ของเราก็ขึ้นไปแตะ 30 บาท/ลิตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และก็ยังไม่มีใครทราบว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นนี้จะไปหยุดในระดับราคาใด หากจะว่ากันไป เราเริ่มจับอาการแนวโน้มราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2547 ตอนที่ราคาน้ำมันกำลังจะแตะ 20 บาท/ลิตร แล้วเราก็เฝ้าดูมันจนมันแตะ 30 บาท/ลิตรไปเรียบร้อยแล้ว

4 ปีผ่านไป เราทำอะไรกันบ้าง ช่างเป็นคำถามที่น่าคิดเอามากๆ ความพยายามในการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพดูจะยึกยักไปมา ก่อนนี้รัฐบาลตั้งเป้าจะเลิกใช้น้ำมันเบนซิน 95 ในต้นปีที่ผ่านมา แต่ขณะนี้ก็เลื่อนไปไม่มีกำหนด. ขณะเดียวกัน ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพเอทานอลก็ดูจะประสบปัญหาไม่น้อย ปีกลายราคาวัตถุดิบ (คือกากน้ำตาล) เพิ่มสูงขึ้น จนโรงงานเอทานอลหลายโรงไม่สามารถผลิตต่อได้ จนกลายเป็นปัญหาการขาดแคลนเอทานอล แต่ปีนี้กลับตรงกันข้าม โรงงานเอทานอลกำลังประสบปัญหาเอทานอลล้นสต๊อค จนต้องเร่งให้รัฐบาลเปิดตลาดให้มากขึ้น

พลังงานน่ารู้ในโลกสีเขียวฉบับนี้ จึงขอนำเสนอบทเรียน 30 ปีแห่งการพัฒนาเอทานอลในบราซิล ซึ่งถือเป็นแผนงานการพัฒนาพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีมา เผื่อว่าจะเป็นแนวทางให้กับการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพในประเทศไทยได้บ้างตามสมควร

อรุณรุ่งแห่งเอทานอล
แนวคิดเรื่องการผลิตเอทานอลเพื่อทดแทนน้ำมันในบราซิลเริ่มต้นขึ้น เมื่อประเทศบราซิลประสบปัญหาภาระการนำเข้าน้ำมันที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันในปี พ.ศ. 2516 ก่อนที่จะประสบปัญหาราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำในปีถัดมา. แนวคิดเรื่องการผลิตเอทานอลจึงเป็นเสมือนการหา "คำตอบ" หรือ "ทางออก" ต่อทั้งสองโจทย์ ซึ่งก็คือ การลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน (รวมถึงการลดปัญหาอันเนื่องมาจากความผันผวนของตลาดน้ำมัน) ขณะเดียวกัน ก็ลดปัญหาอันเนื่องมาจากความผันผวนของตลาดสินค้าเกษตรโลกไปด้วยในตัว

แนวคิดดังกล่าวได้แปลงมาเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ. 2518 ในนามของแผนงานแห่งชาติว่าด้วยเอทานอล หรือที่เรียกย่อๆ ว่า Proalcool แผนงานดังกล่าวได้กำหนดรูปธรรมในการสนับสนุนการผลิตเอทานอล เพื่อทดแทนน้ำมันไว้หลายประการได้แก่

- การกำหนดปริมาณขั้นต่ำในการผสมเอทานอลในน้ำมัน (ซึ่งในบ้านเราเรียกว่า แก๊สโซฮอล์ นั่นเอง)
โดยเริ่มต้นจาก 4.5% ก่อนที่จะเขยิบขึ้นเป็น 10-11% ในปี พ.ศ. 2519-2520 และขยับเป็น 18-23% ในปี พ.ศ. 2521
- การประกันราคารับซื้อเอทานอลที่จูงใจสำหรับผู้ผลิตเอทานอล
- การกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินให้สูงไว้ เพื่อให้เอทานอลสามารถแข่งขันได้ในตลาดน้ำมัน
- การจัดหาสินเชื้อดอกเบี้ยต่ำ และการค้ำประกันสำหรับผู้ผลิตเอทานอล
- การกำหนดให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติ ลงทุนในระบบการกระจายและจัดจำหน่ายเอทานอลทั่วประเทศ
- การจัดรณรงค์ทางการตลาด

ผลลัพธ์ของการกำหนดมาตรการที่จูงใจเป็นอย่างมาก และครอบคลุมตั้งแต่การลงทุนจนถึงการตลาด ทำให้การผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กล่าวคือ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2518-2522 ผลผลิตเอทานอลในบราซิลได้เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า ในเวลาเพียง 5 ปี. การเติบโตอย่างรวดเร็วดังกล่าวทำให้บริษัทรถยนต์ในบราซิล ก็เริ่มประกอบรถยนต์ที่ใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิง 100% (หรือที่เรียกว่า Hydrous ethanol) ออกสู่ตลาด การเติบโตของเอทานอลในบราซิลยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ผลผลิตเอทานอลในปี พ.ศ. 2528 เพิ่มขึ้นจากปีพ.ศ. 2522 ถึง 3 เท่า

จากรุ่งเป็นร่วง
เค้าลางแห่งปัญหาของอุตสาหกรรมเอทานอลในบราซิล เริ่มก่อตัวขึ้นในปี พ.ศ. 2528 เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกเกิดตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ประเทศบราซิลก็ประสบกับปัญหาเงินเฟ้อ จนต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจ ทำให้มีการตัดเงินสนับสนุนจากภาครัฐในด้านต่างๆ ลง รวมถึงงบประมาณสนับสนุนการผลิตเอทานอล ทำให้ส่วนต่างระหว่างราคาเอทานอลกับราคาน้ำเบนซินหายไป รวมถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่เคยมีก็หดหายไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงปี พ.ศ. 2528-2530 ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกก็เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการในบราซิลลดการผลิตเอทานอลไปทำการผลิตน้ำตาลทรายแทน

ผลลัพธ์จากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้ปริมาณการผลิตเอทานอลลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ในทางตรงกันข้าม รถยนต์ใหม่ในบราซิลกลับกลายเป็นรถยนต์ที่ใช้เอทานอลเกือบทั้งหมด (อันเป็นผลมาจากมาตรการจูงใจที่ผ่านมา) ดังนั้นในปี พ.ศ. 2533 จึงเกิดภาวะขาดแคลนเอทานอล จนกระทั่งต้องมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ช่วงเวลานี้เองจึงเป็นช่วงเวลาที่ลำบากสำหรับอุตสาหกรรมเอทานอลในบราซิล แรงสนับสนุนทางนโยบายที่เคยมีในช่วงต้นก็เหือดหายไปกับราคาน้ำมันที่ต่ำมาก และการปฏิรูปทางเศรษฐกิจที่จะต้องเข้มงวดกับการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ และการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ บริษัทรถยนต์ก็หันกลับไปทำรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินแทน

ถึงแม้ว่า มาตรการสนับสนุนหลายๆ ประการจะหายไป แต่มาตราการที่ยังคงอยู่คือ

ก) การกำหนดอัตราส่วนผสมเอทานอลขั้นต่ำไว้ที่ 20%
ข) ระบบการกระจายสินค้าที่ครอบคลุมไปทั่วประเทศ และ
ค) การวิจัยและพัฒนาที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
(ซึ่งทั้งสามสิ่งนี้เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมเอทานอลของบราซิลฟื้นกลับมาอีกครั้งในยุคปัจจุบัน)

เมื่อลมพัดหวน: นวัตกรรมแห่งความยืดหยุ่น
อุตสาหกรรรมเอทานอลในบราซิลเริ่มฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2543 เมื่อบริษัทรถยนต์เริ่มให้ความสนใจในการประกอบรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงแบบยืดหยุ่น (Flexible Fuel Vehicles หรือเรียกย่อๆ ว่า FFV) ซึ่งสามารถเดินเครื่องโดยใช้เชื้อเพลิงที่มีสัดส่วนของเอทานอลได้ทุกรูปแบบ (ตั้งแต่ 0 จนถึง 100%) และมีการพูดคุยกับรัฐบาลบราซิล จนมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่รถยนต์ FFV ดังกล่าว

การพัฒนารถยนต์แบบ FFV กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยปิดจุดอ่อนของรถยนต์แบบที่ใช้เอทานอลในอดีตที่ผ่านมา ด้วยการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ช่วยให้ผู้บริโภคมีความยืดหยุ่นในการตัดสินใจ เมื่อสถานการณ์ราคาน้ำมันและราคาเอทานอลเปลี่ยนแปลงไป (จากช่วงเวลาที่ตัดสินใจซื้อรถยนต์) นอกเหนือจากการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับผู้บริโภค การผลิตรถยนต์แบบ FFV ยังช่วยให้ผู้ประกอบรถยนต์ในบราซิลสามารถรวบสายการผลิต 2 สาย (คือผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันกับใช้เอทานอล) ให้เป็นสายการผลิตเดียว ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตและความยุ่งยากทางการตลาดลงได้ด้วย

รถยนต์แบบ FFV คันแรกเริ่มเข้าสู่ตลาดในปี พ.ศ. 2545 โดยบริษัทฟอร์ด ก่อนที่บริษัทโฟลค์สวาเกนจะตามมาในปีถัดมา ส่วนแบ่งการตลาดของรถยนต์แบบ FFV เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ. 2547 ส่วนแบ่งการตลาดของรถยนต์แบบ FFV เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ก่อนที่จะขยายเป็นร้อยละ 70 ของตลาดรถใหม่ในบราซิลในปัจจุบัน. แน่นอนว่า ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเอทานอลและรถยนต์ FFV ขยายตัวอีกครั้งหนึ่งคือ ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 และราคายังรักษาระดับอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน

นอกเหนือจากแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เป็นใจแล้ว รัฐบาลบราซิลก็ยังคงให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่เอทานอล ทำให้ส่วนต่างของราคาเอทานอลเมื่อเปรียบเทียบกับราคาน้ำมันเบนซินแล้วเป็นที่จูงใจเป็นอย่างยิ่ง ในปี พ.ศ. 2548 ราคาขายปลีกเอทานอลในบราซิลเมื่อเทียบเป็นเงินไทยแล้วเท่ากับ 18.87 บาท/ลิตร ในขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินกลับสูงถึง 36.75 บาท/ลิตร เลยทีเดียว

อุตสาหกรรมเอทานอลในปัจจุบัน
ปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2548) ปริมาณการผลิตเอทานอลในบราซิลเท่ากับ 15,600 ล้านลิตรต่อปี หรือเทียบเป็นร้อยละ 40 ของน้ำมันเชื้อเพลิงใช้ในรถยนต์ โดยในจำนวนนี้ ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นเอทานอลแบบแอนไฮดรัส ที่ใช้ในการผสมกับน้ำมันเบนซิน ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นไฮดรัสเอทานอล ซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยตรง

ปริมาณการผลิตเอทานอลของบราซิลในแต่ละปี จะผันแปรไปตามราคาน้ำตาลในตลาดโลก เนื่องจากการผลิตเอทานอลในบราซิลใช้น้ำอ้อยเป็นวัตถุดิบในการผลิตเช่นเดียวกับน้ำตาลทราย (โดยน้ำอ้อยหีบแรกๆ จะใช้ในการผลิตน้ำตาลทราย และหีบหลังๆ จะใช้ในการผลิตเอทานอล) ต่างจากประเทศไทยที่ใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบในการผลิต ดังนั้น หากราคาน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำอ้อยที่จะนำไปใช้ในการผลิตเอทานอลก็จะลดลง เพราะส่วนหนึ่งถูกนำไปใช้ในการผลิตน้ำตาลทรายแทน. อนึ่ง โดยเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตอ้อยที่ใช้ในการผลิตเอทานอลมีประมาณร้อยละ 52 ของผลผลิตอ้อยทั้งหมด ส่วนอีกร้อยละ 48 ถูกนำไปใช้ในการผลิตน้ำตาล

ในกรณีที่ราคาน้ำตาลทรายเพิ่มสูงขึ้น เช่นในปี พ.ศ. 2549 ที่ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ รัฐบาลบราซิลก็จะปรับลดอัตราส่วนผสมขั้นต่ำของเอทานอลลงจากร้อยละ 25 เหลือร้อยละ 20 เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณผลผลิตหรืออุปทานเอทานอลที่ลดลง. ดังนั้น ความยืดหยุ่นทั้งทางอุปสงค์ (รถยนต์ FFV และอัตราส่วนผสมขั้นต่ำ) และทางอุปทาน (การปรับสัดส่วนการผลิตน้ำตาลและเอทานอล) จึงกลายเป็นกลไกสำคัญในการปรับสมดุลระหว่างความผันผวนของราคาน้ำมันและราคาน้ำตาลในตลาดโลก. แน่นอนว่า กลไกดังกล่าวจึงเอื้อประโยชน์ต่อทั้งเกษตรกรผู้ผลิตอ้อยและผู้บริโภคในบราซิล ขณะเดียวกัน ก็ช่วยรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของบราซิลอีกด้วย

ผลลัพธ์ของการวิจัยและพัฒนา
ปัจจุบัน ต้นทุนการผลิตเอทานอลในบราซิลถือว่าต่ำที่สุดในโลก คือมีต้นทุนเพียง 0.20 เหรียญสหรัฐต่อลิตร หรือประมาณ 7-8 บาทต่อลิตรเท่านั้น ต้นทุนดังกล่าวถูกกว่าต้นทุนการผลิตเอทานอลในสหรัฐและยุโรปกว่าครึ่งหนึ่ง แน่นอนว่าปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องคือ การมีค่าจ้างแรงงานราคาถูก แต่หัวใจที่สำคัญในการลดต้นทุนคือ การเพิ่มผลิตภาพการผลิตอ้อย เพราะต้นทุนค่าวัตถุดิบคิดเป็นร้อยละ 60-70 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด

นับจากการเริ่มต้นแผนงานนี้มา บราซิลก็มีการปรับปรุงพันธุ์อ้อย และการปฏิบัติในฟาร์มอย่างต่อเนื่อง (เช่นการลดสัดส่วนอ้อยไฟไหม้ โดยใช้เครื่องเก็บเกี่ยวแทนแรงงานคน) ทำให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของอ้อยในบราซิลได้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี จนปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2548) ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของบราซิลได้เพิ่มขึ้นเป็น 11.7 ตันต่อไร่ ในบางรัฐผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ เช่น รัฐเซาเปาโลนั้นสูงถึง 16-17 ตันต่อไร่

หากจะเปรียบเทียบกับผลิตภาพการผลิตอ้อยในประเทศไทยตลอดระยะเวลา 30 ปี (ระหว่างปี พ.ศ. 2518-2548) จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของบราซิลเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ในขณะที่ของประเทศไทยกลับเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น

นอกจากการเพิ่มผลิตภาพการผลิต การปรับปรุงประสิทธิภาพในการแปรรูปยังมีส่วนช่วยให้ต้นทุนการผลิตเอทานอลลดลงเป็นอย่างมาก เมื่อรวมทั้งการเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่และประสิทธิภาพในการแปรรูปเข้าด้วยกันแล้ว จะเห็นได้ว่า อัตราผลผลิตเอทานอลต่อพื้นที่เพาะปลูกหนึ่งไร่ ได้เพิ่มขึ้นจาก 624 ลิตร/ไร่/ปี ในช่วงปี พ.ศ. 2523-2525, เป็น 900 ลิตร/ไร่/ปี ในช่วงปี พ.ศ. 2533-2535 และปัจจุบันในหน่วยที่มีประสิทธิภาพสูงสุด อัตราผลผลิตเอทานอลต่อพื้นที่เพาะปลูกหนึ่งไร่จะสูงถึง 1,200-1,600 ลิตร/ไร่/ปี

เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม ค่าจ้างแรงงานราคาถูก โครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ และการเพิ่มผลผลิตอ้อยและประสิทธิภาพในการแปรรูปอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี ทำให้บราซิลมีความได้เปรียบในการแข่งขัน และกลายเป็นผู้นำการส่งออกเอทานอลในตลาดโลก ปัจจุบันบราซิลมีส่วนถือครองในตลาดโลกถึงประมาณร้อยละ 50

บทสรุปของความพยายาม
จากความพยายามที่ต่อเนื่องกันกว่า 30 ปีของรัฐบาลบราซิล ทำให้ทุกวันนี้ อุตสาหกรรมเอทานอลกลายเป็นกลไกหรือเป็นอาวุธสำคัญของบราซิลในการรับมือกับความผันผวนในตลาดโลก ทั้งในตลาดน้ำมันและตลาดน้ำตาล หรืออาจจะกล่าวได้ว่า บราซิลได้มี "ภูมิคุ้มกัน" ในการรับมือกับความไม่แน่นอนในโลกปัจจุบันเป็นอย่างดี

ยิ่งไปกว่านั้น อุตสาหกรรมเอทานอลก็ได้เติบโตขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานเกือบ 2 ล้านคนในปัจจุบัน และเป็นอุตสาหกรรมที่มีความได้เปรียบในการแข่งขัน จนกลายเป็นผู้นำในตลาดโลก ซึ่งจะช่วยในการส่งออก ทั้งในด้านผลผลิตเอทานอลและด้านเทคโนโลยีในการผลิตเอทานอลเอง

ด้วยความเพียรพยายามในการพัฒนาอุตสาหกรรมเอทานอล ประกอบกับการค้นพบและพัฒนาแหล่งน้ำมันดิบในประเทศบราซิลหลังช่วงปี พ.ศ. 2520 ทำให้บราซิลลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศลงได้เป็นอย่างมาก จากเดิมที่เคยพึ่งพาน้ำมันดิบถึงร้อยละ 60 ในช่วงปี พ.ศ. 2533 ปัจจุบัน บราซิลกำลังจะเป็นประเทศที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเต็มที่ โดยไม่จำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศอีกต่อไป

ความมุ่งมั่นทางนโยบายของรัฐบาลคือ บทเรียนสำคัญสำหรับประเทศไทย ขณะเดียวกัน นวัตกรรมในการสร้างความยืดหยุ่นในการตัดสินใจทั้งสำหรับผู้ผลิตและผู้บริโภค ก็กลายเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้บราซิลมีอำนาจต่อรองมากขึ้นในตลาดโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน …นี่คือ เศรษฐกิจพอเพียงภาคปฏิบัติที่เราเรียนรู้ได้ และต้องเรียนรู้ด้วยความตั้งใจจริง…

ข้อมูลจาก +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

1) IEA, 2006. World Energy Outlook.
2) David Sandalow, 2006. Ethanol: Lessons from Brazil.
3) Gordon Feller, 2006. "An Overview of Ethanol and Biodiesel Production in Brazil"
in Ethanol Producer Magazine, November 2006.

3. พลังงานสกปรก: ภัยคุกคามสุขภาพชาวอเมริกัน
(ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารโลกสีเขียว ฉบับมกราคม-กุมภาพันธ์ 2549)

แน่นอนว่าพลังงานเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสุขภาพของมนุษย์
พลังงานในเชิงชีวภาพ (จากอาหารที่เราบริโภค) ทำให้ร่างกายมนุษย์ดำเนินไปอย่างเป็นปกติ และมีเรี่ยวแรงที่จะทำงานต่างๆ ตามที่ต้องการ พลังงานในเชิงกายภาพ ไม่ว่าในรูปความร้อน ไฟฟ้า หรือพลังงานกล ช่วยให้มนุษย์สามารถดำรงอยู่ในภาวะแวดล้อมที่สุขสบายขึ้น และสามารถทำงานต่างๆ ได้มากขึ้นและสะดวกสบายขึ้น ยิ่งมนุษย์มีความสะดวกสบายมากขึ้นเท่าไร มนุษย์ยิ่งต้องใช้พลังงานมากขึ้นเท่านั้น (และเกือบทั้งหมดเป็นพลังงานเชิงกายภาพ)

มนุษย์ในยุคปัจจุบันจึงบริโภคพลังงานมากกว่าบรรพบุรุษดั้งเดิมของเราถึง 100 เท่า
แต่การได้มาซึ่งพลังงานก็ก่อให้เกิดผลกระทบใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อม การผลิตและการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ได้มีส่วนในการปล่อยกำมะถัน (หรือซัลเฟอร์) ถึงร้อยละ 85 ของการปล่อยกำมะถันที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ทั้งหมด และมีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (อันเป็นต้นเหตุหลักของภาวะโลกร้อน) ถึงร้อยละ 75 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมด. นอกจากนี้ การผลิตและการใช้พลังงานยังมีส่วนในการปล่อยตะกั่วสู่บรรยากาศถึงร้อยละ 41 มีส่วนในการปล่อยน้ำมันลงสู่ทะเลถึงร้อยละ 44 มีส่วนในการปล่อยฝุ่นขนาดเล็กสู่บรรยากาศถึงร้อยละ 35 มีส่วนในการปล่อยไนโตรเจนถึงร้อยละ 30 และมีส่วนในการปล่อยปรอทสู่ชั้นบรรยากาศถึงร้อยละ 20

เนื่องจากมลสารเหล่านี้ส่งผลร้ายต่อสุขภาพของมนุษย์ (ดังที่จะกล่าวถึงต่อไปในบทความ) พลังงานจึงมีผลให้สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์เลวร้ายลงไปในเวลาเดียวกันด้วย. "พลังงานน่ารู้" จึงนำเสนอข้อมูล และประสบการณ์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่บริโภคพลังงานมากที่สุดในโลก และการผลิตพลังงานเหล่านั้นกำลังก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของชาวอเมริกัน เผื่อว่าสังคมไทยจะได้ช่วยกันคิด และหลีกเลี่ยงภัยร้ายจากพลังงานสกปรกดังกล่าว โดยจะเน้นที่ผลกระทบจากการผลิตไฟฟ้าเป็นสำคัญ

ยักษ์ใหญ่กำลังป่วย
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีการบริโภคพลังงานมากที่สุดในโลก สหรัฐฯจึงเป็นประเทศที่มีการปลดปล่อยมลพิษจากการผลิตพลังงานมากที่สุดในโลกไปพร้อมกันด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อร้อยละ 54 ของพลังงานไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกามาจากถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่สร้างผลกระทบต่อมลภาวะทางอากาศมากที่สุด ชาวอเมริกันจึงต้องเสี่ยงกับผลกระทบต่อสุขภาพที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้. ปัจจุบัน การผลิตไฟฟ้ามีส่วนในการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ถึงร้อยละ 63 ของการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา และยังมีส่วนในการปล่อยไนโตรเจนออกไซด์ถึงร้อยละ 22 และมีส่วนในการปล่อยปรอทสู่ชั้นบรรยากาศถึงร้อยละ 37

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีการศึกษาทางการแพทย์และทางสาธารณสุข เพื่อเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างมลภาวะทางอากาศ กับผลกระทบทางลบต่อสุขภาพ ซึ่งความก้าวหน้าในการศึกษาได้ช่วยทำให้เราเข้าใจถึงความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น ระหว่างมลภาวะทางอากาศกับสุขภาพ. ในอดีต การศึกษาส่วนใหญ่จะเน้นที่ผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ เช่นซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์ที่มีต่อระบบทางเดินหายใจ การเกิดโรคหืดหอบ การเข้ารักษาในโรงพยาบาล การเกิดหัวใจวาย และการตายก่อนเวลาอันควร จนพบว่ามลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพอย่างชัดเจน

ต่อมาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการศึกษาเพิ่มเติมถึงผลกระทบจากอนุภาคขนาดเล็กมาก (เส้นผ่าศูนย์กลางขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือเล็กกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมเราประมาณ 100 เท่า) ซึ่งบางส่วนเกิดจากการปล่อยมลสารของโรงไฟฟ้าโดยตรง แต่ส่วนใหญ่เกิดจากการรวมตัวกันในอากาศของซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์ที่ปล่อยจากโรงไฟฟ้าอีกต่อหนึ่ง. อนุภาคขนาดเล็กมากเหล่านี้สามารถเดินทางในอากาศได้นับเป็นร้อยๆ ไมล์ และสามารถอยู่ในอากาศได้เป็นหลายๆ วันหรือแม้กระทั่งเป็นปี และเนื่องจากมันมีขนาดเล็กมากๆ เมื่อเราหายใจรับมันเข้าไป มันจึงผ่านเข้าไปในปอดของเราได้ลึกมาก จนสามารถถูกดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือด หรือสามารถผ่านระบบป้องกันตามธรรมชาติในปอดของมนุษย์

จากการศึกษาล่าสุดพบว่า การได้รับอนุภาคขนาดเล็กแม้เพียงระยะสั้น ก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ และยังมีผลกระทบต่อหัวใจ ตั้งแต่ผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจ การเป็นโรคหัวใจ ไปจนถึงการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหัวใจวายอีกด้วย และหากได้รับอนุภาคเหล่านี้สะสมในระยะยาว ก็เพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ และโรคมะเร็งปอด ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่อยู่ในเมืองที่เป็นที่ตั้งหรือใกล้โรงไฟฟ้า ย่อมมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากกว่าผู้ที่อยู่ไกลออกไป

ที่สำคัญก็คือ การศึกษาพบว่า การได้รับอนุภาคขนาดเล็กเหล่านี้ แม้ในความเข้มข้นที่ต่ำ แต่ได้รับในระยะเวลานาน ก็มีผลให้เกิดการตายก่อนเวลาอันควรเช่นกัน จากการศึกษาล่าสุดโดย Abt Associates พบว่า อนุภาคขนาดเล็กจากโรงไฟฟ้า

- มีผลทำให้ชาวอเมริกันเกือบ 24,000 คน เสียชีวิตก่อนวัยอันควรในแต่ละปี โดยเฉลี่ยแล้ว คนเหล่านี้เสียชีวิตก่อนเวลาอันควรถึง 14 ปี!!!
- นอกจากนี้ ในแต่ละปี การได้รับอนุภาคขนาดเล็กจากโรงไฟฟ้ายังมีผลให้ผู้คนกว่า 38,000 คนต้องเผชิญกับภาวะหัวใจวายที่ไม่ถึงชีวิต
และกว่า 550,000 คนต้องเผชิญกับโรคหอบหืด และอีก 26,000 คนต้องเข้ารับการรักษาฉุกเฉินจากโรคหอบหืด!!!
(ในจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้เจ็บป่วยเหล่านี้ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ เป็นผู้ที่ความเสี่ยง ในการเผชิญกับโรคร้ายเหล่านี้มากที่สุด)

เด็กในวันนี้=ผู้ป่วยในวันหน้า
เด็กๆ จะได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากสาเหตุหลายประการด้วยกัน ประการแรก เด็กๆ มีอัตราการหายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่. สอง เด็กๆ มีพื้นที่ผิวของปอดมากกว่าผู้ใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำหนักตัว ซึ่งหมายความว่า การหายใจเข้าของเด็กๆ จะได้รับอากาศมากกว่าผู้ใหญ่ และได้รับมลพิษมากกว่าด้วย. สาม เด็กๆ มักใช้เวลาเล่นกลางแจ้งมากกว่าผู้ใหญ่ด้วย และประการสุดท้าย ระบบภูมิคุ้มกันของเด็กๆ ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ ทำให้ร่างกายมีโอกาสประสบกับความเจ็บป่วยจากมลพิษมากขึ้น

จริงๆ แล้ว อนุภาคขนาดเล็กเหล่านี้มีผลกระทบกับเด็กๆ ตั้งแต่ยังไม่คลอดเสียอีก การได้รับอนุภาคขนาดเล็กในช่วงตั้งครรภ์ มีผลต่อน้ำหนักตัวแรกคลอดของทารก และการคลอดก่อนกำหนด. นอกจากนี้ มลสารจากโรงไฟฟ้ายังมีผลกระทบต่อการพัฒนาของระบบประสาทและสมองของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมลพิษจากสารปรอท อันเป็นองค์ประกอบของถ่านหินตามธรรมชาติ และเมื่อมีการเผาไหม้ถ่านหิน โรงไฟฟ้าในสหรัฐฯ ก็จะปล่อยสารปรอทประมาณ 50 ตันขึ้นสู่บรรยากาศในแต่ละปี

มลพิษจากสารปรอทแตกต่างจากมลพิษจากอนุภาคขนาดเล็ก ตรงที่ผลกระทบจากปรอทโดยส่วนใหญ่มิได้เกิดขึ้นจากการหายใจโดยตรง แต่เกิดขึ้นจากการบริโภคปลาที่มีสารปรอทสะสมอยู่. สารปรอทที่ถูกปล่อยสู่อากาศในที่สุดก็จะตกลงสู่แหล่งน้ำและผืนดิน (ซึ่งก็อาจถูกชะล้างลงสู่แหล่งน้ำอีกทอดหนึ่ง) จุลินทรีย์บางชนิดก็จะเปลี่ยนสารปรอทให้เป็น Methylmercury ซึ่งมีความเป็นพิษสูง และสะสมขึ้นเรื่อยๆ ในปลาและสัตว์ที่กินปลา หรือสะสมเพิ่มขึ้นในห่วงโซ่อาหาร (หรือที่เรียกว่า Bioaccumulation) เพราะฉะนั้นสัตว์ที่อยู่ปลายของห่วงโซ่อาหาร (เช่น ปลาฉลาม ปลาทูน่า) ก็จะมีการสะสมของสารพิษมากกว่าสัตว์น้ำอื่นๆ. และเมื่อมนุษย์นำสัตว์น้ำเหล่านี้มารับประทานต่ออีกทอดหนึ่ง สารปรอทเหล่านี้ก็จะมาสะสมในตัวมนุษย์

ปัจจุบัน ปรอทกำลังสร้างผลกระทบให้กับทะเลสาบ พื้นที่ชุ่มน้ำ และพื้นที่ปากแม่น้ำในสหรัฐอเมริกากว่า 5.6 ล้านเอเคอร์ และสร้างผลกระทบต่อลำธาร แม่น้ำ และชายฝั่งคิดเป็นความยาวกว่า 43,500 ไมล์. โดยทั่วไปสารปรอทมีผลกระทบต่อสมอง หัวใจ ไต ปอด และระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ แต่ผลกระทบที่สำคัญที่สุดคือ ผลกระทบต่อการพัฒนาทางสมองและระบบประสาทของทารกในครรภ์ และเด็กเล็ก ซึ่งจะมีผลทางลบต่อการเรียนรู้ การเคลื่อนไหว (รวมถึงการวาดภาพ) และความจำของเด็กๆ ด้วย

ทารกในครรภ์และเด็กเล็กมีความอ่อนไหวต่อสารปรอท เพราะระบบสมองและประสาทของเด็กกำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนา (จนกระทั่งอายุ 14 ปี) แต่ระยะวิกฤตจะอยู่ในช่วงสัปดาห์แรกๆ ของการตั้งครรภ์ และผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจไม่ปรากฏในช่วงแรกคลอด แต่จะแสดงอาการเด่นชัดขึ้นในช่วงหลัง และอาจจำเป็นต้องจัดการศึกษาแบบพิเศษสำหรับเด็กๆ เหล่านี้. ดังนั้น องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ จึงมีคำแนะนำให้สตรีมีครรภ์ สตรีในวัยเจริญพันธุ์ แม่ที่กำลังให้นมบุตร และเด็กเล็กหลีกเลี่ยงการบริโภคปลาบางชนิดเช่น ปลาดาบเงิน ปลาฉลาม ปลา King Mackeral เนื่องจากมีสารปรอทสะสมในสัดส่วนที่สูง

อย่างไรก็ดี การสำรวจล่าสุดพบว่า ร้อยละ 10 ของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ในสหรัฐอเมริกา (หรือประมาณ 6 ล้านคน) มีสารปรอทในเลือดเกินกว่าระดับที่ถือว่าปลอดภัย!!! ซึ่งนั้นเท่ากับว่า ทารกเกิดใหม่เกือบ 400,000 รายในแต่ละปี กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบประสาทและสมอง อันเนื่องมาจากการได้รับสารปรอทผ่านทางมารดา!!!

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
นอกเหนือจากผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรงแล้ว พลังงานสกปรกยังทำให้ชาวอเมริกันต้องเสี่ยงกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย. ผลกระทบทางสุขภาพจากภาวะโลกร้อนอาจเกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะด้วยกัน เช่น การเพิ่มความชุกของโรคติดต่อ เนื่องจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น (รวมถึงโรคติดต่อที่เดิมอาจพบเฉพาะในเขตร้อน) การเพิ่มภาวะความเครียดจากความร้อนและการเจ็บป่วยที่ตามมา ขณะเดียวกัน อุณหภูมิที่อุ่นขึ้นก็มีผลให้ทำให้ความเข้มข้นของหมอกควันโอโซนเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งก็ย่อมส่งผลกระทบทางสุขภาพต่ออีกทอดหนึ่ง. นอกจากนี้ ภาวะโลกร้อนยังมีผลให้ภูมิอากาศของโลกแปรปรวน และมีภัยธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น ทั้งพายุหมุน น้ำท่วม และไฟไหม้ป่า (เนื่องจากความแห้งแล้ง) ซึ่งย่อมเป็นผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของชาวอเมริกัน ดังที่ได้เห็นในกรณีพายุเฮอริเคนแคทรีน่า

ทางออกของชาวอเมริกัน
ปัจจุบัน ปัญหาสุขภาพจากพลังงานสกปรกก็เป็นที่ถกเถียงกันมากในสหรัฐอเมริกา แม้ว่า ในระดับโลก สหรัฐฯ จะปฏิเสธที่จะเข้าร่วมพิธีสารเกียวโต อันเป็นพันธะสัญญาร่วมกันของประเทศต่างๆ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เมื่อเดือนมีนาคม 2548 ที่ผ่านมา องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกาได้ประกาศใช้กฏที่จะควบคุมการปล่อยสารปรอทของโรงไฟฟ้า โดยตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อยสารปรอทลงให้ได้ 33 ตันต่อปี (จากปัจจุบัน 50 ตัน/ปี). ส่วนการควบคุมผลกระทบจากอนุภาคขนาดเล็กนั้น สามารถทำได้โดยการควบคุมการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ โดยมีการกำหนดปริมาณมวลสารสูงสุดที่จะปล่อยได้ในแต่ละปี (หรือโควต้านั่นเอง) แต่เท่าที่ทราบก็ยังมีการถกเถียงเรื่องปริมาณสูงสุดที่ควรจะให้ปล่อยได้ นอกจากนั้น ยังถกเถียงเรื่องการกำหนดโควต้าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (เพื่อลดภาวะโลกร้อน) อีกด้วย

แน่นอนที่สุดว่า ประธานาธิบดี บุช ผู้ปฏิเสธการเข้าร่วมพิธีสารเกียวโต ย่อมไม่เสนอให้รวมการกำหนดโควต้าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไว้ในกฏหมาย ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดี บุช ก็เสนอให้โรงไฟฟ้าสามารถปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้มากกว่าข้อเสนอขององค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ กว่า 2 เท่าอีกด้วย. องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเสนอว่า วิธีการที่ดีและได้ผลที่สุดในการลดผลกระทบจากการผลิตไฟฟ้า คือ การลดผลกระทบในลักษณะบูรณาการ คือ การลดมลสารหลายตัวไปพร้อมๆ กัน (เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น) เพราะจะช่วยลดผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมหลายๆ อย่างไปในตัว

นอกจากนั้น ยังมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในสหรัฐฯ คือ การเปิดให้สาธารณชนเข้าถึงข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโรงไฟฟ้าแต่ละโรง แบบ on-line ดังนั้น ประชาชนจึงสามารถติดตามและรับทราบข้อมูลของโรงไฟฟ้าที่สร้าง (หรืออาจ) สร้างผลกระทบกับตนเอง ได้อย่างทันท่วงทีมากขึ้น

บทเรียนจากสหรัฐอเมริกาคงชี้ให้เห็นว่า พลังงานสกปรกได้สร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อชาวอเมริกัน
ซึ่งเคยเชื่อกันว่าเป็นประเทศที่มีคุณภาพชีวิตดีที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

สนใจข้อมูลเพิ่มเติม ค้นคว้าได้ที่++++++++++++++++++++++++++++++++

Clear the Air, www.cleartheair.org/dirtypower/
US Environmental Protection Agency, www.epa.gov/mercury/



++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

คิดต่างในเชิงสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าและเสรีภาพ
01 November 2007