โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๙๑ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (October, 28, 10, 2007) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ประเด็นข้างต้น ทำให้หลายสำนักต่างเห็นตรงกันว่า แท้จริงแล้ว "การจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ" หรือ IWRM นั้น หาได้พัฒนาขึ้นมาจากข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ไม่ หากแต่เป็นไสยศาสตร์ เป็นการเมืองของทั้งกลุ่มอำนาจเก่าและกลุ่มอำนาจใหม่ ที่พยายามจะแย่งชิงอำนาจการนำ ผ่านปฏิบัติการทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดประชุมนานาชาติ การให้ทุนขององค์กรการเงินระหว่างประเทศ การศึกษาวิจัย เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อที่จะเข้าควบคุมการจัดการทรัพยากรน้ำให้ทันกับยุคสมัยของสังคม เฉกเช่น "การพัฒนาที่ยั่งยืน" ซึ่งเป็นโวหารอันโด่งดัง
28-10-2550

IWRM
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.


ข้อโต้แย้งและความสำเร็จที่ยังมีคำถามเกี่ยวกับการจัดการน้ำ
จัดการลุ่มน้ำแบบบูรณการ: ความรู้ที่สับสน ข้อวิพากษ์ กับคำถามการวิจัย
วีรบูรณ์ วิสารทสกุล : เขียน
ภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


บทความวิชาการต่อไปนี้ กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
ซึ่งเป็นเรื่องการทบทวนความรู้และแนวคิดการจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ
หรือ Integrated Water Resource Management - IWRM
เนื้อหาของบทความ จะครอบคลุมในประเด็นแนวคิด (concept) และข้อถกเถียง,
องค์ประกอบหลักของของแนวคิด, แนวทางปฏิบัติ (approaches) บทเรียน และ
ประสบการณ์ในการจัดการตามแนวทาง IWRM และประเด็นช่องว่างความรู้ที่ต้องการ
การศึกษาวิจัยและปฏิบัติการเพิ่มเติม

ประเด็นหลักของการโต้แย้ง แนวคิดและแนวทางของการจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ หรือ IWRM ก็คือ
ความเดียงสาของแนวคิดที่มองข้ามความสำคัญอันเป็นแก่นแกนของสังคมในแต่ละแห่ง โดยเฉพาะกับสิ่งที่เรียกว่า
"สถาบันและการเมือง" ซึ่งมีความสลับซับซ้อนและแตกต่างกันไปตามสังคมต่างๆ และความกำกวมและลื่นไหล
ของความหมายของคำว่า "บูรณาการ" ซึ่งที่จริงก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะบูรณาการอะไรกับอะไร?
ประเด็นข้างต้น ทำให้หลายสำนักความคิดเห็นตรงกันว่า แท้จริงแล้ว "การจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ"
หาได้พัฒนาขึ้นมาจากข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ไม่ หากแต่เป็นไสยศาสตร์ เป็นการเมืองของทั้งกลุ่ม
อำนาจเก่า และกลุ่มอำนาจใหม่ ที่พยายามจะแย่งชิงอำนาจการนำผ่านปฏิบัติการทางสังคมต่างๆ

midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๙๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๓๐ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ข้อโต้แย้งและความสำเร็จที่ยังมีคำถามเกี่ยวกับการจัดการน้ำ
จัดการลุ่มน้ำแบบบูรณการ: ความรู้ที่สับสน ข้อวิพากษ์ กับคำถามการวิจัย
วีรบูรณ์ วิสารทสกุล : เขียน
ภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

เอกสารฉบับนี้ ทำหน้าที่ทบทวนความรู้ที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ หรือที่ในภาษาฝรั่งใช้กันโดยทั่วไปว่า Integrated Water Resource Management - IWRM เนื้อหาของบทความ จะครอบคลุมในประเด็นแนวคิด (concept) และข้อถกเถียง, องค์ประกอบหลักของของแนวคิด, แนวทางปฏิบัติ (approaches) บทเรียนและประสบการณ์ในการจัดการตามแนวทาง IWRM และประเด็นช่องว่างความรู้ที่ต้องการการศึกษาวิจัยและปฏิบัติการเพิ่มเติม

ประเด็นหลักของการโต้แย้ง แนวคิดและแนวทางของการจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ หรือ IWRM ก็คือ ความเดียงสาของแนวคิดที่มองข้ามความสำคัญอันเป็นแก่นแกนของสังคมในแต่ละแห่ง โดยเฉพาะกับสิ่งที่เรียกว่า "สถาบันและการเมือง" ซึ่งมีความสลับซับซ้อนและแตกต่างกันไปตามสังคมต่างๆ และไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึง ความกำกวมและลื่นไหลของความหมายของคำว่า "บูรณาการ" ซึ่งอันที่จริงก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะบูรณาการอะไรกับอะไร เพราะมีประเด็นที่มีการรวบรวมไว้ว่าจะต้องบูรณาการถึง 35 คู่ประเด็น และที่สำคัญความรู้ที่ว่าจะบูรณาการอย่างไรนั้น ก็ยังมีคำถามอยู่มากมาย (หรือยังไม่รู้นั่นเอง)

ประเด็นข้างต้น ทำให้หลายสำนักต่างเห็นตรงกันว่า แท้จริงแล้ว "การจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ" หรือ IWRM นั้น หาได้พัฒนาขึ้นมาจากข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ไม่ หากแต่เป็นไสยศาสตร์ เป็นการเมืองของทั้งกลุ่มอำนาจเก่าและกลุ่มอำนาจใหม่ ที่พยายามจะแย่งชิงอำนาจการนำ ผ่านปฏิบัติการทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดประชุมนานาชาติ การให้ทุนขององค์กรการเงินระหว่างประเทศ การศึกษาวิจัย เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อที่จะเข้าควบคุมการจัดการทรัพยากรน้ำให้ทันกับยุคสมัยของสังคม เฉกเช่น "การพัฒนาที่ยั่งยืน" ซึ่งเป็นโวหารอันโด่งดังของยุคสมัยที่ผ่านมา นั่นเอง

1. คำนำ
ยุคสมัยของการจัดการน้ำ (ในประเทศพัฒนาแล้ว) ในช่วง 2 ศตวรรษที่ผ่านมานั้น ได้เคลื่อนผ่านยุคสมัยของความรู้ในการจัดการมาแล้วอย่างน้อย 5 ยุค ซึ่ง Allan (2003) ได้แบ่งความรู้ออกตามช่วงเวลาต่างๆ ดังรูปข้างล่าง

รูปที่ 1 ยุคสมัยของการจัดการน้ำในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา

จากยุคที่เน้นการจัดการเพื่อตอบสนองความต้องการเป็นหลัก (demand oriented) มาสู่ยุคการจัดการที่มองปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด (supply oriented) แต่ก็เป็นการมองน้ำที่แยกขาดออกจากบริบทและทรัพยากรอื่นๆ จนมาสู่ยุค multi-functional adaptive framework (Jeffrey and Geary, 2004 p.2) ที่มอง "น้ำ"อย่างเป็น องค์รวม (holistic) และ บูรณาการ (integrated) โดยมองอย่างเห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่าง"น้ำ" กับ "คน" และ "ระบบนิเวศวิทยา" (Wallace et al., 2003) และ IWRM คือ แนวคิดที่สะท้อนให้เห็นถึง ลักษณะของแนวทางการจัดการน้ำในยุคปัจจุบันที่เน้นการบูรณาการได้เป็นอย่างดี

แต่ควรกล่าวไว้ด้วยว่า การเปลี่ยนผ่านความรู้ในการจัดการทรัพยากรน้ำในประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยนั้น ยังคงได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากความรู้ในด้านอุทกศาสตร์ (จากรูปที่ 1 จะเห็นว่าแนวคิดนี้มีอิทธิพลยาวนานนับ 100 ปี) ซึ่งส่งผลให้แนวทางการจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ โดยส่วนใหญ่จะยังคงอยู่บนฐานของแนวทางและเครื่องมือแนวอุทกศาสตร์เป็นสำคัญ ในขณะที่แนวทางและเครื่องมือการจัดการเชิงสถาบันและการเมือง ยังมีพัฒนาการไม่มากนัก

2. การจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ (IWRM) : การแย่งชิงความหมาย
ปี ค.ศ. 2002 ในการประชุมสิ่งแวดล้อมโลกที่ Johannesburg, คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านเทคนิคขององค์กรพันธมิตรน้ำโลก (the Technical Advisory Committee of Global Water Partnership ; GWP-TAC) ได้ให้นิยาม IWRM ว่า เป็นกระบวนการที่ส่งเสริมให้เกิดการประสานความร่วมมือการพัฒนาและการจัดการน้ำ ที่ดิน และทรัพยากรที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านเศรษฐกิจ และความเท่าเทียมกันในด้านสวัสดิการสังคม โดยอยู่บนฐานความยั่งยืนของระบบนิเวศวิทยา. ที่สำคัญ น้ำ ควรได้รับการจัดการภายใต้ขอบเขตความเป็นลุ่มน้ำ ภายใต้หลักการธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมของสาธารณะ (GWP-TAC, 2000)

อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์จะพบว่า แนวคิดเรื่อง IWRM ได้มีการอ้างถึงในการประชุมเรื่องน้ำขององค์การสหประชาชาติ(UN) ที่เมือง Mar del Plata (Argentina) มาตั้งแต่ปี 1977 ซึ่งเสนอไว้ว่า การจัดการน้ำควรจะต้องประสานการแข่งขันและความขัดแย้งอันหลากหลายเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรน้ำเข้าด้วยกัน(incorporate the multiple competing and conflicting uses of water resources) แต่กว่าที่เรื่องการจัดการน้ำ จะกลายเป็นประเด็นสำคัญระดับนานาชาติ ก็ต้องรอนานกว่า 10 ปี กล่าวคือหลังจาก ปี 1992 ซึ่งมีการประชุมเรื่องน้ำและสิ่งแวดล้อม(International Conference on Water and Environment) ที่เมือง Dublin ผลจากการประชุมได้มีอิทธิพลอย่างมากต่อการทำให้ประเด็น IWRM กลับมามีชีวิตอีกครั้งในเวทีระหว่างประเทศ

แนวคิด IWRM หรือ การจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ ขององค์กรพันธมิตรน้ำโลก(Global Water Partnership-GWP) ข้างต้น ได้รับการยอมรับและได้รับการผลักดันให้มีการนำไปใช้อย่างกว้างขวางในเวทีองค์กรระหว่างประเทศ ทั้งจาก The World Water Council (WWC), Global Water Partnership (GWP), the World Bank (WB), Asian Development Bank (ADB) และแหล่งทุนระหว่างประเทศหลายองค์กร. โดยองค์กรเหล่านี้อาจไม่ได้ตระหนักถึงข้อจำกัด หรือความไม่สมบูรณ์ของแนวคิดดังกล่าว จนถูกมองว่าเป็น "the only sustainable solution" (Durham et al., 2002, p333)

แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีเอกสารหลักฐานที่ดีที่ชี้ให้เห็นว่าแนวคิด IWRM ของ GWP นั้นมีจุดอ่อน (European Commission, 2006) ที่ต้องได้รับการตรวจสอบให้มากขึ้น หนึ่งในข้อวิจารณ์เหล่านั้นก็คือ แนวคิด IWRM เป็นเรื่องยาก - หรือ อาจจะเป็นไปไม่ได้เลยในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะตัวอย่างในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ที่พบว่ามีการจัดการน้ำที่มีความสำเร็จอยู่ไม่น้อย แต่ไม่มีกรณีใดเลยที่เป็นไปตามแนวทาง IWRM (Biswas ,2004 และ Biswas et al., 2005) (2) ขณะเดียวกัน Allan (2003) และ Gyawali (2003) พบว่า แนวคิด IWRM นั้น ไม่ได้ช่วยให้ผู้ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำ มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงเหตุผลถึงความยุ่งยากซับซ้อนของการดำเนินการตามแนวคิดนี้เลย

ในประเด็นของการนำแนวคิดไปสู่การปฏิบัตินั้น Jonker (2002 p.719) ชี้ให้เห็นว่า เนื่องจาก IWRM พยายามที่จะจัดการกับปัญหาที่มีความยุ่งยากและซับซ้อน (complex and complicated) อย่างมาก นั่นคือ การพัฒนาที่ยั่งยืน และการวางแผนข้ามสาขา ซึ่งทำให้นำไปปฏิบัติได้ยาก เพราะ สิ่งที่ IWRM บอกให้จัดการนั้น เป็นการจัดการ "สิ่ง" ที่ไม่สามารถจัดการได้ เช่น กระบวนการธรรมชาติ

Jonker เสนอว่า การจะนำแนวคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน(sustainable development) เข้าไปผนวกกับการจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ (IWRM) ในระดับกลาง (meso-level) อาจเป็นไปได้ในระดับเล็กของปฏิบัติการ (micro -level) นั้น ต้องจัดการในระดับกิจกรรมของมนุษย์ ดังนั้น แนวคิด IWRM ที่เหมาะสมตามแนวคิดของ Jonker ควรเป็น 'การจัดการกิจกรรมต่างๆ ของผู้คนในลักษณะที่ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน(ปรับปรุงชีวิตโดยไม่เข้าไปรบกวนวงจรน้ำ) [managing people's activities in a manner that promotes sustainable development (improving livelihoods without disrupting the water cycle)] '

อย่างไรก็ดี คำว่า "การจัดการ" ภายใต้แนวคิด IWRM ของ GWP เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า คำว่า ควรเข้าใจในความหมายที่กว้างขวางที่สุด และเน้นว่า IWRM เป็นเรื่องของกระบวนการ ไม่ใช่เป้าหมายในตัวมันเอง และยังเป็นกระบวนการของการจัดความสมดุลและแลกเปลี่ยนระหว่างมุมมองและเป้าหมายที่แตกต่างหลากหลายของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่ง Grigg (1999) เห็นว่า ประเด็นนี้ คือประเด็นสำคัญที่ทำให้การจัดการแบบบูรณาการ แตกต่างไปจากการจัดการในแบบอื่นๆ ในขณะที่ Pahl-Wostl และคนอื่นๆ (2004) กลับเห็นว่า คำอธิบายใน แนวคิด IWRM นั้น เป็นคำอธิบายที่มีลักษณะของการเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนอยู่แล้ว และสิ่งที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว คือ แนวทางแบบ adaptive management หรือ การจัดการแบบปรับดัดแปลงให้เหมาะสม

Grigg (1999) เห็นว่า ปัญหาการแย่งชิงการนำของกระบวนทัศน์เรื่อง "การจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ" ก็คือ ชุดความคิดเหล่านี้ เน้นที่จะจัดการกับความหลากหลายของข้อเท็จจริง ซึ่งเขาเชื่อว่า ประโยชน์หลักของการใช้การจัดการน้ำมีแบบบูรณาการในฐานะกระบวนทัศน์ ก็คือ การที่เป็น ' กรอบคิดสำหรับ การวางแผน การจัดการ และการควบคุมระบบทรัพยากรน้ำให้กับกลุ่มต่างๆ อย่างเท่าเทียมและเป็นไปตามเป้าหมายการใช้ประโยชน์ ซึ่งได้รวมมิติ 2 ด้านที่มีความสัมพันธ์ต่อกัน นั่นคือ มิติทางสังคม และมิติทางนิเวศวิทยา'

นอกจาก แนวคิด IWRM แล้ว ยังมี แนวคิดอื่นๆ ที่มีพื้นฐานความคิดใกล้เคียงกับ IWRM ได้แก่ เช่น 'Integrated Water Resources Planning and Management' (IWRPM), 'Integrated Catchment Management' (ICM), 'Integrated Watershed Management' (IWM) และ Integrated River Basin Management (IRBM) ซึ่งมีการให้ความหมายหรือแนวคิดที่แตกต่างกัน โดยบางแนวคิดเห็นว่า ICM, IRBM และ IWM นั้น เป็น ส่วนหนึ่งของ IWRM (Tim Jones et al, 2006 และ Jonch-Clausen and Fugl, 2001) เพราะเห็นว่าสิ่งที่ IWRM สนใจด้วย คือการจัดการในระดับชาติ และข้ามชาติ

นอกจากนี้ แม้จะมี เอกสารบางชิ้น เช่น Tiffen and Gichuki (2000) ที่ชี้ให้ความแตกต่างอย่างชัดเจน ระหว่างความหมายของคำว่า "catchment" และ "watershed" ก็ตาม แต่เอกสารโดยส่วนใหญ่ที่ได้ทบทวน จะใช้คำ 2 คำนี้ในลักษณะของความหมายเดียวกัน เช่น งานของ Bruneau, R. (2005)

และเมื่อกล่าวถึงคำว่า การจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการ ประเด็นที่ต้องถามถึงกันอยู่บ่อยๆ ก็คือ อะไรควรจะบูรณาการกับอะไร ? Biswas (2004) ได้รวบรวม ประเด็นและมิติที่มีการกล่าวอ้างว่า ควรจะต้องบูรณาการภายใต้แนวคิด IWRM ซึ่งมีจำนวนถึง 35 ประเด็น จำนวนดังกล่าวนี้ คือ สิ่งที่สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า มีความเข้าใจที่หลากหลายต่อแนวคิด IWRM ในขณะที่ยังมีประเด็นคำถามรากฐานสำคัญ ที่มักไม่ค่อยถูกตั้งเป็นคำถาม ก็คือ

- ประเด็นต่างๆ เหล่านี้จะบูรณาการอย่างไร?
- ใครควรจะเป็นผู้บูรณาการ และทำไม ?
- ควรใช้กระบวนการอะไรในการบูรณาการ ?
- การบูรณาการจะนำมาซึ่งประโยชน์ดังที่อ้างถึงหรือไม่ ?

โดยสรุป น่าจะกล่าวได้ว่า ความหมายของการจัดการน้ำอย่างบูรณาการนั้น ยังคงมีความหมายที่หลากหลาย ไม่ได้มีความเห็นที่ชัดเจนเป็นหนึ่งเดียว อีกทั้งยังไม่เคยมีการตั้งคำถามว่าอย่างจริงจังว่า จะนำแนวคิด IWRM ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร (Odendaal, 2002) และนอกจากคำถามรากฐานข้างต้นแล้ว ยังมีคำถามอื่นๆ ที่ต้องการการตรวจสอบในอนาคต เช่น

- แนวคิด IWRM ของ GWP มีความเหมาะสม ทั้งกับประเทศที่พัฒนาแล้ว พอๆ กับประเทศที่กำลังพัฒนาหรือไม่ ?
-ท ความหมายของ IWRM ไม่สามารถทำให้ชัดเจนได้ เพราะว่า IWRM เป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไปใช่หรือไม่ ?
- อะไรคือสิ่งที่ต้องบูรณาการ ?
- หลักการสำคัญของ IWRM สามารถแปลงไปสู่การปฏิบัติได้หรือไม่ ถ้าได้ ทำอย่างไร ?

และเมื่อเร็วๆ นี้ European Commission (2006) ได้ตีพิมพ์รายงานของ คณะผู้เชี่ยวชาญอิสระ ซึ่งได้ทบทวนโครงการวิจัยด้าน IWRM ที่ EU ให้การสนับสนุนตั้งแต่ปี 1994-2006 จำนวน 67 โครงการ คณะผู้เชี่ยวชาญได้มีข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ต่อ EU 4 ประการ หนึ่งในข้อเสนอที่น่าสนใจ คือ การเสนอให้ EU ใช้กรอบแนวคิดที่เรียกว่า การจัดการและจัดสรรทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการอย่างส่งเสริมสร้างสรรค์ (Constructively Engage Integrated Water Resources Allocation and Management) เป็นกรอบในการสนับสนุนงานวิจัย เนื่องจากมีข้อค้นพบว่า มีช่องว่างความเข้าใจในเรื่องการจัดการน้ำ (วางแผนและการตัดสินใจ) ระหว่าง"สิ่งที่งานวิชาการให้ความสำคัญ" กับ "การรับรู้ของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม" ซึ่งต่างมีกรอบการรับรู้ตามประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของตนเองที่แตกต่างกัน

ดังนั้นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนก็คือ การต้องทำให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ (Constructive engagement) ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในการจัดการและจัดสรรน้ำ ข้อสรุปนี้ สอดคล้องกับที่ Allan (2003) เสนอไว้ว่า IWRM นั้น ควรที่จะเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น integrated water resources allocation and management (IWRAM) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ยอมรับว่า ทั้ง "การบูรณาการ" (integration) และ "การจัดการ" (m
anagement) เป็น "ประเด็นทางการเมือง" (political)



รูปที่ 2 แสดงให้เห็น วิถีโค้งของการจัดการน้ำ ที่ถูกกำหนดโดยสังคม (ส่วนบนของเส้นโค้ง) และ
ที่ถูกระบุโดยนักวิทยาศาสตร์ด้านระบบนิเวศ และนักเศรษฐศาสตร์ ( ส่วนล่างของเส้นโค้ง)
การมาบรรจบกันของ คือความสำเร็จที่จะต้องนำวิทยาศาสตร์เข้าสู่กระบวนการทางการเมือง
(political process) ซึ่งกำหนดโดย การใช้น้ำและนโยบาย

ที่มา : European Commission (2006) p.2


3. องค์ประกอบหลักของ IWRM

องค์ประกอบสำคัญสำหรับ การทำงาน หรือการทำความเข้าใจต่อเรื่อง การจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการ มีอยู่ 3 องค์ประกอบ ได้แก่

- ยอมรับว่า river-basin หรือ catchment หรือ watershed เป็นหน่วยการจัดการทรัพยากรน้ำ
และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ที่เหมาะสม
- ยอมรับว่าจำเป็นต้องใช้แนวทางบูรณาการ แนวทางนิเวศวิทยา แนวทางองค์รวม ในการจัดการ
- ยอมรับหลักการ การมีส่วนร่วม

1) ขอบเขตลุ่มน้ำ และ ประเด็นเรื่องขอบเขต
การยอมรับให้ "ลุ่มน้ำ" เป็นกรอบแนวทางที่ใช้การจัดการทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรอื่นๆ รวมถึง คุณภาพชีวิตของผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานในลุ่มน้ำนั้น ได้ถูกใช้เป็นวาทกรรมหลักมาแล้วกว่า 20 ปี การเคลื่อนตัวไปสู่การจัดการโดยใช้ขอบเขตลุ่มน้ำนั้น สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับว่า การจัดการทรัพยากรน้ำ ควรดำเนินการภายใต้ระบบนิเวศวิทยา และยอมรับว่าขอบเขตการปกครองที่ถูกกำหนดโดยวิถีทางการเมือง ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับกระบวนการทางระบบนิเวศวิทยา (Heathcote,1998)

แต่ ขอบเขตทางภูมิศาสตร์ของลุ่มน้ำเอง ก็แทบจะไม่ได้เป็นพื้นที่ที่มีความหมายในทางสังคม เพราะ ขอบเขตอำนาจทางศาล หรือการอ้างสิทธิในที่ดิน ที่ตั้งขององค์กรทางสังคมในที่ต่างๆ ตั้งแต่องค์กรปกครอง ไปจนถึงองค์กรทางศาสนา ก็มีความสัมพันธ์ที่น้อยมากกับลุ่มน้ำ ดังนั้น การจัดการลุ่มน้ำจึงต้องการการสร้างความหมายใหม่บนฐานของความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่ง Vernooy (1999) ใช้คำว่า การสร้างความหมายทางสังคมของลุ่มน้ำ (social construction of watershed)

Richard Bruneau (2005) ได้ทบทวนโครงการ ที่ IDRC (International Development Research Centre)(Canada) ให้การสนับสนุนทั้งในประเทศเอเชียและลาตินอเมริกา ถึงกับระบุว่า โครงการจำนวนมากล้มเหลว เพราะไม่ได้ให้ความสำคัญกับลุ่มน้ำ ในฐานะที่เป็นขอบเขตทางภูมิศาสตร์และขอบเขตของการปฏิสัมพันธ์และปฏิบัติการทางสังคม

ปัจจุบันแนวทางการมองขอบเขตลุ่มน้ำในลักษณะ multi-scale เริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้น และเป็นที่ชัดเจนว่า มีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญเกิดขึ้นในระดับพื้นที่ต่างๆ (scale) กัน ภายใต้ความเป็น"ชีวกายภาพ" และ "กระบวนการเศรษฐกิจและสังคม" ซึ่ง Lovelace and Rambo (1991:81) ได้สรุปถึงสภาพของความขัดแย้งและนัยยะของสภาพการเช่นนี้ ต่อการจัดการลุ่มน้ำไว้ในทำนองที่ว่า

" ...กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ระดับต่างๆ ในลุ่มน้ำนั้น สัมพันธ์กับการทำลายทรัพยากรและการใช้ที่ดิน ซึ่งก็ขึ้นกับเงื่อนไขทางสังคม (เช่น การเมือง วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศาสนา และชาติพันธุ์)ในพื้นที่ต่างๆ และอาจกล่าวได้ว่า เป็นเพียงความสัมพันธ์ทางอ้อมและบางส่วนเท่านั้น ผลพวงที่เป็นปัญหาจำนวนมาก ที่นักวางแผนลุ่มน้ำและ ผู้จัดการลุ่มน้ำ จะต้องให้ ความสำคัญอย่างมากก็คือ ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง"ธรรมชาติ" กับ"เงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรม" ซึ่งต้องเข้าใจทั้ง 2 ด้าน จึงจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

2) แนวทางบูรณาการ แนวทางนิเวศวิทยาและแนวทางองค์รวม
เป็นที่ยอมรับกันว่า การจัดการทรัพยากรน้ำต้องคำนึงถึงการบูรณาการ"ธรรมชาติของน้ำ" เข้ากับ"กระบวนการทางนิเวศวิทยาในลุ่มน้ำ" ซึ่งขึ้นอยู่กับการปฏิรูปทางนโยบายและการจัดการเชิงสถาบัน. แนวคิดการจัดการทรัพยากรอย่างบูรณาการ ได้กลายมาเป็นแนวคิดยอดนิยมสำหรับโครงการจัดการน้ำจำนวนมาก (Jewitt 2002; Matondo 2002) และการดำเนินนโยบายการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการ อาจมองได้ว่าเป็นแนวทางที่จะเอาชนะการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และน้ำที่จัดการอย่างแยกส่วนอย่างที่เป็นอยู่

อย่างไรก็ดี บทเรียนเรื่องแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งตื่นตัวอย่างมากในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา แต่ ปฏิบัติการต่างๆ ของการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็ยังเป็นเพียงการเพิ่มสีสันเท่านั้น เช่นเดียวกับแนวคิดการจัดการน้ำอย่างบูรณาการเอง ก็อาจตกอยู่ในสภาพเดียวกัน คือ ถูกทำให้มีความหมายที่แตกต่างกันไปสำหรับแต่ละคน และสุดท้ายก็จะกลับคืนเข้าสู่สภาวะปกติ และจะกลายไปเป็นคำพูดโดยทั่วไปของกรอบการปฏิบัติการ ซึ่งได้รับการส่งเสริมโดยรัฐบาลและองค์กรทุน (Biswas 2004)

การบูรณการสำหรับการจัดการทรัพยากรต่างๆ นั้น มีนัยยะที่กล่าวถึงกันโดยทั่วไป 2 ระดับ

ระดับแรก คือ ระดับของการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน กระทรวง ระหว่างกรมที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแลทรัพยากรที่แตกต่างกัน ให้มาดำเนินการจัดทำแผนและปฏิบัติการจัดการทรัพยากรร่วมกัน

งานศึกษาของ Manfred Pope (2004 p.73) ที่ทำการวิเคราะห์ระบบการวางแผนทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติในประเทศเขมร ลาว เวียดนามและไทย พบว่าทั้ง 4 ประเทศ ระบบการวางแผนยังเป็นแบบแยกส่วน ไม่มียุทธศาสตร์ และมุ่งที่การทำกิจกรรมมากกว่าจะเป็นการประสานความหลากหลายของความจำเป็น และความต้องการในขอบเขตพื้นที่เฉพาะ (spatial or territorial orientation) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรมกองที่เกี่ยวข้องกับการจัดการลุ่มน้ำ ไม่ว่าจะเป็น ที่ดิน น้ำ ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม ต่างก็พัฒนากระบวนการและวิธีการวางแผนของตนเอง เพื่อแย่งชิงงบประมาณประจำปี

งานศึกษาชิ้นนี้ยังได้เสนอถึงระดับที่น่าจะเหมาะแก่การวางแผนแบบบูรณาการสำหรับประเทศไทย คือ ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด อย่างไรก็ดีสำหรับกรณีของประเทศไทย เป็นที่น่าเสียดายว่า งานศึกษาชิ้นนี้กลับมิได้กล่าวถึง การดำรงอยู่ของเครือข่ายลุ่มน้ำภาคประชาชน ที่มีกระบวนการทำแผนและปฏิบัติการแยกออกจากระบบราชการ

ระดับที่สอง คือ ระดับของการบูรณาการตัวทรัพยากร ระหว่างทรัพยากรน้ำกับทรัพยากรอื่นๆ ในลุ่มน้ำ มีตั้งแต่ข้อเสนอที่เป็นการบูรณาการทรัพยากรรายชนิด เช่น น้ำในแม่น้ำ น้ำใต้ดิน และชายฝั่ง / บูรณาการน้ำ ที่ดินและทรัพยากรอื่นๆ เป็นต้น ไปจนถึง ข้อเสนอที่เป็นแบบ ecosystem base management ซึ่งล่าสุด ในแวดวงชุมนุมนักวิทยาศาสตร์ยุโรป ได้นำเสนอ แนวทางการจัดการลุ่มน้ำ โดยใช้แนวคิด Eco-hydrology and Phytotechnology ซึ่งพัฒนาร่วมกันระหว่าง UNESCO และ UNEP(*) ซึ่งมีคู่มือที่เผยแพร่ทั่วไปเมื่อปี 2004 (สามารถ download ได้ที่ http://www.unep.or.jp/ietc/publications/freshwater/watershed_manual/)
(*)United Nations Environment Programme (UNEP)

ประเด็นสุดท้ายสำหรับการบูรณาการ คือ แนวทางที่พยายามเสนอความเป็นองค์รวมที่มากขึ้น งานศึกษาในแนวนี้ได้แก่ งานศึกษาที่พยายามจะบูรณาการ ความเป็นวิทยาสตร์เข้าสู่กระบวนการสาธารณะ เช่น งานของ Bruce L. Rhoads และคนอื่นๆ (1999) งานของ John Gutrich และคนอื่นๆ (2005) เรื่อง Science in the public process of ecosystem management งานของ David Brunckhorst, Phillip Coop, Ian Reeve (2006) เรื่อง Eco-civic optimization

ขณะที่ข้อวิจารณ์ที่สำคัญก็คือ ข้อวิจารณ์ที่ว่าด้วยความเป็น วิทยาศาสตร์และ ความเป็นองค์รวม ของ IWRM เนื่องจาก IWRM ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นแนวทางการจัดการทรัพยากรน้ำ ที่มีพัฒนาการมาจากแรงผลักดันทางการเมือง (political agenda) (Muhammad Misanur Rahaman and Olli Varis, 2005 ; Claudia Pahl-Wostl and Jan Sendzimir , 2005) มากกว่า เป็นความสำเร็จที่เกิดจากการมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการพัฒนามาดีแล้ว

ในสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้มีความแตกต่างกันในทางปฏิบัติ และยังควรตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า ในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนนี้ (ประกอบกับการไม่มีความรู้แบบบูรณาการหรืองค์รวมที่ดีพอ) จะมีวิธีการรับมืออย่างไร ซึ่งประเด็นนี้ยังเป็นประเด็นที่ไม่มีการกล่าวถึงในแนวทาง IWRM ที่เป็นอยู่. เพราะหากสังเกต ความหมายของ IWRM จะยังคงมีลักษณะเป็นทฤษฎี ที่เป็นกฎเกณฑ์ - เป็นเค้าโครงที่กำหนดขึ้นมาจากการสังเกตปรากฏการณ์ และยังคงให้ความสำคัญกับคำถามที่ว่า ควรทำสิ่งนั้นอย่างไร? ทั้งที่เป็นแนวคิดที่เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง. แต่ IWRM ยังคงพูดวนเวียนเกี่ยวกับ (1) ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง (2) เหตุผลที่นำมาสนับสนุน (3) ชุดของหลักการที่ดีที่สุด สำหรับการจัดการทรัพยากรน้ำ (Jeffrey and Geary, 2004)

ขณะที่ หลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็นประโยชน์ของ IWRM กลับมีรายงานอยู่น้อยมาก ซึ่งทำให้ไม่มีกฎ ไม่มีสูตร ไม่มีพิมพ์เขียวใดๆ และที่สำคัญก็คือ การแปลงทฤษฎีไปสู่การปฏิบัตินั้นก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า ซึ่งก็มิได้หมายความว่าการแปลงทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ ต้องการรูปแบบที่สำเร็จรูปมาเป็นตัวอย่าง แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การที่จะต้องทำให้เห็นว่า วิทยาศาสตร์ชนิดใดที่มีส่วนในการนำมาใช้สร้างความสำเร็จในการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการ

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับความเป็นองค์รวม (holistic approach) ของ IWRM ซึ่งมีข้อดี คือ เปิดโอกาสให้มีการใช้ประโยชน์จากมุมมองของทั้งผู้ใช้ประโยชน์ นักวางแผน นักวิทยาศาสตร์และผู้กำกับนโยบาย (Grigg. 1999; Jeffrey and Geary, 2004) แต่องค์รวมในมิติเช่นนี้ ก็มีข้อวิจารณ์ว่า มีลักษณะที่เป็นแบบพวกหลังสมัยใหม่ (post-modernism) ที่การผลักดันให้ "การจัดการ" มาจากการเน้นที่กระบวนการภายในสังคม การมีส่วนร่วมที่กว้างขวางทั้งในการวางแผนและการตัดสินใจ มีการปรับตัว การสะท้อนกลับ ซึ่งอาจจัดให้อยู่ในกระบวนทัศน์แบบ predict and prepare มากกว่า ที่จะยอมรับการใช้กรอบคิดแบบ adaptive management ที่ยอมรับและให้ความสำคัญระบบธรรมชาติ ที่ไม่มีความไม่แน่นอน คาดการณ์ไม่ได้ และซับซ้อนเกินกว่าจะเข้าใจ

หรืออาจกล่าวว่า IWRM นั้น ล้มเหลวที่จะนำเอาแนวทางนิเวศวิทยาไปใช้ประโยชน์ ซึ่งก็เน้นเรื่ององค์รวมเช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ องค์รวมใน IWRM คือ การสนับสนุนให้ หน่วยงานรัฐด้านน้ำ 1 หน่วย รับผิดชอบต่อมิติด้านทรัพยากรในทุกมิติ

อย่างไรก็ดี ข้อแก้ต่างสำคัญ ที่ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของความคลุมเครือก็คือ ในระบบนิเวศที่ซับซ้อน และการที่จะต้องจัดการกับระดับที่หลากหลายของความไม่แน่นอนนั้น ต้องการความรู้ในลักษณะสหวิทยาการ(multidisciplinary) ซึ่งหมายถึง การต้องการชนิดของความรู้ที่หลากหลายประเภทและความเข้าใจเชิงเหตุผลอย่างเป็นระบบ (scientific) ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับการใช้ความรู้จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ไม่เฉพาะจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมักถือเอาว่าวิธีทางที่ตนยึด เป็นสิ่งที่ถูกต้องสูงสุด (scientism) ขณะเดียวกันก็มักจะปฏิเสธความรู้และกระบวนทัศน์ที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ (science) เช่น ความรู้จากชาวบ้าน. ในข้อดีนี้ย่อมช่วยลดความตรึงเครียดในการจัดการลุ่มน้ำระหว่างนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ กับชุมชนลงได้

3. การมีส่วนของสาธารณะ / ชุมชน / ประชาสังคม / ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
องค์ประกอบส่วนที่สามของการจัดการลุ่มน้ำ คือ หลักเรื่อง inclusive and participatory โครงการการจัดการลุ่มน้ำที่ยึดหลักการมีส่วนร่วม จะมีประสิทธิภาพ มากกว่าโครงการที่มีการรวมศูนย์ตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลาง. มีงานวิชาการจำนวนมากอ้างว่า การดำเนินการจัดการอย่างมีส่วนร่วม จะช่วยเชื่อมต่อความสัมพันธ์ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำ และหน่วยงานที่ทำหน้าที่สนับสนุนให้ดีขึ้นได้ (Bruns and Meinzen-Dick 1997; Van der Lee 2002)

กลไกสำหรับการมีส่วนร่วมถูกระบุว่า จะเป็นเครื่องมือหรือแนวทางที่จะเอาชนะระบบราชการ และการตัดสินใจที่รวมศูนย์, อีกทั้งยังช่วยทำให้มีความชอบธรรมในด้านการจัดองค์กร (Duda and El-Ashry 2000) การแสดงความเป็นเจ้าของในการตัดสินใจ และการเปิดโอกาสให้กับกลุ่มต่างๆ ที่มีความสนใจที่แตกต่างกัน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ จะช่วยหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในเรื่องทรัพยากร ด้วยการสร้างความเชื่อใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

มีกรณีศึกษาที่ชี้ว่า การปรึกษาหารือและการมีส่วนร่วมที่ได้รับการบูรณาการเข้าไปสู่การสร้างองค์กรการจัดการน้ำอย่างบูรณาการ นั้นสามารถนำไปสู่การจัดการน้ำได้เป็นอย่างดี เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาชุมชนภายใต้โครงการการจัดการของ Murray-Darling Basin ในประเทศออสเตรเลีย (Blackmore 1995)

ขณะที่ องค์ประกอบของคณะอนุกรรมการลุ่มน้ำของประเทศไทย ซึ่งมีภาคส่วนที่ไม่ใช่ราชการอยู่ครึ่งหนึ่งนั้น อาจกล่าวได้ว่า การจัดการลุ่มน้ำของไทยได้เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างสูง แต่เมื่อพิจารณากันในรายละเอียด ก็จะพบว่า คนเหล่านี้แทบจะไม่ได้มีเครือข่ายความสัมพันธ์กับ (ผู้นำ) ชุมชนเลย. และในอีกหลายกรณี แผนงานการมีส่วนร่วมในระดับลุ่มน้ำ ก็มักจะเกิดขึ้นหลังจากที่ได้กันผู้ที่มีส่วนได้เสียออกตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก ที่มีการกำหนดทิศทางการจัดการงานทั้งหมด และมักจะเป็นการปรึกษาหารือในระยะเวลาสั้นๆ ที่สำคัญคือ ขาดกลไกที่จะทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมในระหว่างกระบวนการทำงาน

นอกจากนี้ Cooke and Kothari's (2001) ยังตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้ว่า การมีส่วนร่วมที่เป็นอยู่นั้น มักเป็นการใช้ "อำนาจ" ของคำว่า "การมีส่วนร่วม" ("new tyranny" of participation) เสียมากกว่า และนี่ก็เป็นประเด็นที่ท้าทายสำหรับงานพัฒนาที่จะต้องระมัดระวังมากขึ้นว่า การมีส่วนร่วมที่เป็นอยู่ ได้สร้างความชอบธรรมให้ผู้มีอำนาจมีอำนาจมากขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อมีงานวิชาการจำนวนมากพบว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง การรับเอาแนวทางการมีส่วนร่วมมาใช้นั้น ส่วนใหญ่ใช้เพียงแค่เป็น "โวหาร" ทั้งในการวางแผนและการจัดการเท่านั้น (Dube and Swatuk 2002; Van der Lee 2002; Jane Adams et al 2005)

ดังเช่นที่ มนตรี จันทวงศ์ (Montree Chantawong 2002) ได้แสดงให้เห็นสภาพเช่นนี้ในบริบทของสังคมไทย ผ่านการใช้คำว่า "การเข้าร่วมของภาคประชาสังคม" (civil society involvement) ในการ พัฒนานโยบายน้ำแห่งชาติ โดยรัฐบาลไทยและการสนับสนุนของ ADB "การปรึกษาหารือกับผู้ที่มีส่วนได้เสียที่หลากหลาย" (multi-stakeholder consultation) ในการพัฒนาแผนบูรณาการเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำแม่ปิง โดยกรมทรัพยากรน้ำ และ "การจัดการชลประทานอย่างมีส่วนร่วม" (Participatory irrigation management) ในการพัฒนาแผนการใช้น้ำระดับไร่นาเพื่อเพิ่มผลผลิต ภายใต้แผนงานปรับโครงสร้างภาคการเกษตร (ASPL) โดยกรมชลประทาน เป็นต้น

ทั้งหมดเป็นเพียงการใช้คำดังกล่าว เพื่อยังคงไว้ซึ่งความคิดแบบเดิม โครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์กับกลุ่มเดิมๆ เท่านั้น เพราะโดยแท้จริง ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้เข้าไปมีส่วนร่วม เมื่อทิศทางการพัฒนาได้ถูกกำหนดไว้แล้วโดยผู้เชี่ยวชาญทั้งสิ้น ซึ่งทำให้มีคำถามเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมว่าในทางปฏิบัติ เช่น ในการวางแผนการจัดการลุ่มน้ำ ว่า

1) จะสร้างสรรค์กระบวนการอย่างไร ที่สามารถตอบสนองความต้องการและเป้าหมายของนักวางแผน ผู้ได้รับผลกระทบ
และสาธารณะทั่วไป และได้ผลที่สามารถนำไปปฏิบัติได้และได้นโยบายที่มีความคุ้มค่า

2) จะใช้เทคนิคการมีส่วนร่วมที่ดีที่สุดชนิดใด ที่เหมาะกับจุดมุ่งหมาย

งานศึกษาของ Thomas Webler and Seth Tuler (2001) ชี้ให้เห็นว่า ความเข้าใจที่ว่า how best to involve the public in watershed planning emerged? นั้น มีคำตอบอยู่ใน 4 มุมมองของผู้ที่เคยร่วมอยู่ในกระบวนการวางแผน ซึ่งผู้ที่มีส่วนในการออกแบบกระบวนการและจัดกระบวนการ ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่

มุมมองที่ 1 มองว่า กระบวนการที่ดี คือสิ่งที่เชื่อถือได้และชอบธรรม ซึ่งหล่อเลี้ยงความเชื่อถือของสังคมต่อผลที่เกิดขึ้น
มุมมองที่ 2 มองว่า กระบวนการที่ดี เป็นเหมือนสิ่งที่จะผลิตผลลัพธ์ที่มีคุณสมบัติเป็นที่ยอมรับได้ในทางเทคนิค
มุมมองที่ 3 มองว่า กระบวนการที่ดี ต้องเน้นที่ความยุติธรรม - ความถูกต้อง ของกระบวนการ
มุมมองที่ 4 มองว่า กระบวนการที่ดี ต้องเน้นที่การให้การศึกษาประชาชน และการส่งเสริมให้เกิดการพูดคุย สนทนาในทางสร้างสรรค์

อีกทั้งในกระบวนการมีส่วนร่วม "ความขัดแย้ง" ก็มักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอ ทั้งในระดับเป้าหมาย (goals) ของกระบวนการวางแผน และในระดับของปฏิบัติการ ซึ่งเป็นความแตกต่างตามระดับของความเชื่อและการให้คุณค่าต่อการมีส่วนร่วม หากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในกระบวนการทำงาน โดยไม่ได้รับการพิจารณา เช่น การขาดโอกาสที่จะเสนอความคิดเห็น หรือมีการใช้ข้อมูลเชิงเทคนิคในการตัดสินใจเพียงด้านเดียว นั่นจะทำให้ความตรึงเครียดที่มีอยู่ รุนแรงมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังควรตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ด้วยว่า แบบแผนการมีส่วนร่วมอย่างที่กล่าวมานั้น มักจะมีลักษณะที่เกิดขึ้นจากการที่หน่วยงานรัฐ เป็นฝ่ายเปิดโอกาสให้กับสาธารณะได้เข้าไปมีส่วนร่วม เช่น ที่เกิดขึ้นในกระบวนการวางแผนการจัดการลุ่มน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ของไทย

กล่าวสำหรับสังคมไทย ยังมีมิติการมีส่วนร่วมอีกแบบหนึ่งที่แม้จะมีอยู่ไม่มากและยังไม่เข้มแข็ง แต่ก็มีอยู่จริง คือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในฐานะที่เป็นสิทธิชุมชนที่หล่อหลอมขึ้นจากเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ที่ชุมชนจะสร้างกลุ่มและเครือข่ายของตนเองขึ้นมาบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเอง บทบาทในทำนองนี้ถูกเพิ่มน้ำหนักด้วยทิศทางการกระจายอำนาจการปกครองตนเอง และการเติบโตของกระแสพลเมือง ทำให้เครือข่ายของภาคประชาชนในการดูแลจัดการทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ในระดับชุมชนพื้นที่ต้นน้ำ ขยายเข้าสู่ชุมชนในเมืองด้วย

ในบริบทชุมชนต้นน้ำภาคเหนือ กับชุมชนในพื้นที่ภาคอื่นๆ ก็ยังมีความแตกต่างในวิธีคิดเรื่องสิทธิชุมชนด้วย โดยชุมชนต้นน้ำทางภาคเหนือ สิทธิชุมชนมีฐานหรือขอบเขตผูกอยู่ติดกับ "หน่วยของสิทธิ" ในขณะที่ภาคอื่นๆ การมีส่วนร่วมจะถูกผูกโยงติดกับ "หน่วยของพื้นที่" (territory) เดียวกัน (มนตรี จันทรวงศ์ พรทิพย์ บุญครอบและกฤษฎา บุญชัย, 2005)

ขณะที่ภาพรวมของสังคมไทย ยังปรากฏความขัดแย้ง ระหว่างทิศทางการกระจายอำนาจ ที่จะช่วยเพิ่มระดับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจลงสู่ชุมชนท้องถิ่น กับ การพัฒนาขึ้นมาของโครงสร้างเชิงสถาบันและองค์กรการจัดการทรัพยากรน้ำ ที่พยายามจะวางแผนแบบบูรณาการและองค์รวมจากส่วนกลาง (Fiona Miller and Phillip Hirsch, 2003 p.8) ไม่ว่าจะเป็น การเรียกร้องให้มีการจัดตั้ง กระทรวงทรัพยากรน้ำ หรือการมีอยู่ของกรมทรัพยากรน้ำ และคณะอนุกรรมการลุ่มน้ำ

สุดท้ายควรได้กล่าวถึง การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งถือเป็นแรงผลักดันจากองค์กรระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลก และ ADB ที่มีแนวคิดสนับสนุนให้แยกงานที่รัฐควรทำ เช่น การควบคุมกติกา, การออกกฎหมาย, ระเบียบปฏิบัติ, เป็นต้น ออกจากงานที่ให้เอกชนทำ ซึ่งคาดว่าจะทำได้ดีกว่า เช่น การให้บริการ เนื่องเพราะที่ผ่านๆ มา การบริหารและจัดการน้ำที่อยู่ในมือของภาครัฐนั้น ซึ่งขาดประสิทธิภาพ

ประเด็นข้างต้นตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ต่างกัน

- ด้านหนึ่งมองว่า น้ำเป็นสมบัติสาธารณะและเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน ที่ควรถูกควบคุมโดยรัฐ
- ในขณะที่อีกด้านหนึ่งเห็นว่า น้ำเป็นสินค้าทางเศรษฐกิจ หากต้องการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในการบริหารจัดการ
จำเป็นต้องจัดการผ่านกลไกการตลาด (Bakker 2003)

ข้ออ้างในประการหลังที่ว่า ภาคเอกชนจะจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพดีกว่านั้น น่าจะอยู่บนความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง (misconceptions) เพราะมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชี้ว่า ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของภาคเอกชนจำนวนมาก ยังเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามให้มาก (McIntosh and Yniguez 2002 ; Budds and McGranahan 2003) และประโยชน์ในทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแปรรูปนั้น ก็เป็นการกล่าวอ้างเกินจริง และมีการใช้ตัวอย่างที่ผิด หรือไม่ก็คำนวณผิด (Walker and Walker 2000) ดังนั้นข้อสนับสนุนเรื่องการแปรรูปการจัดการทรัพยากรน้ำนั้น จึงตั้งอยู่บนอุดมคติมากกว่าหลักฐานข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ แต่ข้อสนับสนุนนี้ก็ยังคงถูกผลักดันให้นำไปใช้ในประเทศต่างๆ ด้วย (Walker and Walker 2000)

4. แนวทางปฏิบัติของ IWRM (Approach)
มักจะมีความสับสนในแนวทางที่การจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ (IWRM) ใช้ กับแนวทางการจัดการน้ำแบบอื่นๆ เช่น river basin management, water demand management และ ecosystem approach แม้ว่าแนวคิด IWRM จะมีความใกล้เคียงกับแนวทางเหล่านี้ แต่ก็มีจุดเน้นที่ต่างกัน เช่น river basin management เน้นที่การใช้ขอบเขตลุ่มน้ำเป็นหน่วยในการจัดการ ในขณะที่ IWRM มีขอบเขตการมองที่กว้างกว่า (Jonch-Clausen, T. and Fugl, J., 2001) ซึ่งแม้ว่า IWRM จะให้ความสำคัญกับขอบเขตลุ่มน้ำ แต่ขณะเดียวกัน IWRM ก็ต้องการจัดการปัญหาในระดับชาติและนานาชาติด้วย เป็นต้น นั่นหมายถึงแนวคิดอื่นๆ นั้น มีส่วนช่วยเสริมแนวคิด IWRM และเป็นส่วนหนึ่งของความซับซ้อนของ IWRM

และดูเหมือน Global Water Partnership (GWP) ก็จะรับรู้ถึงความสับสนของการนำเอาแนวคิด IWRM ไปปฏิบัติ. ในปี 2004 GWP จึงได้ตีพิมพ์เอกสารทางวิชาการหมายเลข 10 (GWP-TAC 2004, TAC Background Paper 10) เพื่ออธิบายถึง หลักการเหตุผล ความเข้าใจและแนวทางการจัดการตามแนวคิด IWRM เพื่อใช้เป็นพิมพ์เขียวให้แก่ประเทศต่างๆ ซึ่งอยู่ภายใต้แนวทางหลัก 3 ประการ ได้แก่

1) สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เช่น การมีแนวนโยบายที่เหมาะสม ยุทธศาสตร์ และ กฎระเบียบที่เกี่ยวเนื่อง
กับการจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
2) การมี Institutional Framework ที่ทำให้นโยบาย ยุทธศาสตร์ และกฎระเบียบมีผลในทางปฏิบัติ
3) การมี management instruments ที่เอื้อให้ Institutions สามารถทำงานได้

นอกจากนี้ควรกล่าวไว้ด้วยว่า ภายใต้แนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำนั้น (approach) ได้มีการนำกรอบแนวคิดต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการจัดการอยู่มากพอสมควร (แต่กรอบแนวคิดเหล่านี้ให้ความสำคัญกับเรื่องเครื่องมือ การจัดการโครงการเพียงด้านเดียว โดยขาดมิติการมองเรื่อง "สถาบัน" และ "สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสถาบัน" ซึ่งอันนี้คือข้อต่างประการหนึ่งของแนวทาง IWRM กับ แนวทางอื่นๆ

ชุดเครื่องมือ
ในระหว่างปี 2001-2004 GWP ได้พัฒนา ชุดเครื่องมือ (Tool Box) สำหรับ IWRM ซึ่งมีทั้งหมด 17 หมวด (theme) ที่สอดคล้องกับ 3 แนวทางหลักข้างต้น ซึ่งประกอบด้วย เครื่องมือที่มีความเฉพาะเจาะจง และกรณีตัวอย่างของ IWRM ที่ประสบความสำเร็จ (Heidi Christiansen Barlebo, 2006)
นอกจากนี้ เมื่อกล่าวถึงเรื่องเครื่องมือ NeWater Project โดย Heidi Christiansen Barlebo (2006) ได้ทำการรวบรวมเครื่องมือที่ใช้สำหรับแนวทางการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการ โดยจำแนกเครื่องมือเป็น 3 ระดับ ตามระดับการใช้งาน ได้แก่

- ระดับ 1 เครื่องมือ / แนวทาง นโยบาย - (ระดับกลาง - meso level)
- ระดับ 2 เครื่องมือที่เป็นกิจกรรม - (กระบวนการ)
- ระดับ 3 เครื่องมือเฉพาะ (วิธีการ)

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า เครื่องมือเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการที่มีการรวบรวมไว้นั้น จะเน้นไปที่เครื่องมือเพื่อการจัดการ "ทรัพยากร" กับ "งานในลักษณะวงจรการวางแผนโครงการ" แต่กลับแทบไม่ได้มีการกล่าวถึง เครื่องมือเพื่อการจัดการ "คน" "เครือข่าย" "สถาบัน" ไว้เลย ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ John Cobourn (2001) ให้ความสำคัญว่าเป็นเครื่องมือที่จะช่วยทำให้งานบูรณาการสำเร็จได้ และเขาเรียกว่า "4 C" ซึ่งได้แก่ communication, cooperation, coordination and collaboration

การจัดสภาพแวดล้อมและการจัดการเชิงสถาบัน
แนวทางด้านการจัดสภาพแวดล้อมและการจัดการเชิงสถาบันนั้น เป็นแนวทาง ที่ GWP เสนอขึ้นมา เพื่อให้สามารถดำเนินการจัดการทรัพยากรน้ำภายใต้หลักการการบูรณาการ ใน 2 ระดับ คือ ระดับลุ่มน้ำ และระดับชาติ

และแม้ว่า GWP (GWP - TAC 2003) จะตระหนักดีว่า การนำเอาแนวทางดังกล่าวเข้าไปในสังคมใดๆ จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ในสิ่งที่มีอยู่ในสังคม เช่น นโยบาย กฎหมาย สถาบันหรือองค์กรการจัดการ ภาคประชาสังคม พฤติกรรมของปัจเจก โดยเฉพาะการจะสนับสนุนให้เกิดธรรมาภิบาลในการจัดการน้ำ สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนกลไก หรือโครงสร้างพื้นฐานที่จะสร้างความสัมพันธ์ รวมถึง ความร่วมมือระหว่างรัฐและภาคสังคม

องค์ประกอบสำคัญสำหรับธรรมาภิบาลในเรื่องน้ำ อาทิ การเชื่อมต่อระหว่างน้ำและกฎหมาย ซึ่งสำคัญพอๆ กับ มิติทางสังคมที่มีความซับซ้อน ตั้งแต่มิติด้านวัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อ คุณค่าความสวยงาม เป็นต้น (Wallace, J.S., Acreman, M.C. and Sullivan, C.A., 2003) ซึ่งนั่นหมายถึงการต้องใช้ระยะเวลาที่จะสร้างการเปลี่ยนผ่านให้ได้ด้วย

อย่างไรก็ดีในทางปฏิบัติ การนำแนวทางของ IWRM ไปใช้ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ไม่ได้ให้ความสนใจที่จะทำให้แนวคิด IWRM เข้าไปสู่กระบวนการทางสังคม ที่ต้องเชื่อมเข้าสู่กระบวนการทางนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และระบบธรรมาภิบาล นโยบายการกระจายอำนาจ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนและการจัดการน้ำ การมีเจตนารมณ์ทางการเมืองที่แน่นอนซึ่งต้องการจะบูรณาการการทำแผนระหว่างหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น หรืออาจกล่าวได้ว่า ศักยภาพในการนำเรื่องเหล่านี้ไปปฏิบัตินั้น เป็นปัญหาดังที่ White (1998) ได้กล่าวว่า "ปัญหาของความถูกต้องในการวิเคราะห์ เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานต่างๆ และเกี่ยวกับการบรรลุการปฏิรูปเชิงสถาบันในกระบวนการวางแผน ล้วนแต่เป็นเรื่องยาก มันควรเป็นเรื่องที่ต้องน้อมรับเสียแต่แรกๆ ซึ่งจะต้องเตรียมรับมือ และจดจ่อกับเรื่องเหล่านี้"

การดำเนินการผลักดัน IWRM ในเมืองไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อยู่ในมือของกลุ่มคนจำนวนเล็กๆ ภายใต้สมาคมทรัพยากรน้ำซึ่งทำหน้าที่เหมือนกับตัวแทนประเทศไทย ที่ไปร่วมทำงานกับ GWP และพยายามนำเอา IWRM มาใช้ภายใต้ขอบเขตที่การรับรู้ของสังคมที่จำกัดมาก นั่นทำให้กว่าทศวรรษที่ผ่านมา แนวคิดของ IWRM จึงมีความก้าวหน้าน้อยมาก (3) (Bandaragoda D.J., 2006 a)

ความล่าช้าในการปฏิรูปเชิงสถาบัน (นโยบาย กฎหมาย และองค์กร) ดังกล่าว เกิดขึ้นทั่วไปในเอเชีย ซึ่งสถาบันการจัดการน้ำนานาชาติ (IWMI) พบว่ามาจาก

(1) ขาดข้อมูลน่าเชื่อถือที่สามารถใช้ได้เกี่ยวกับการดึงน้ำจากลุ่มน้ำต่างๆ
(non-availability of reliable data related to extraction of water from river basins)
(2) มีการวางแผนไม่เพียงพอ (inadequate planning)
(3) การขาดเสียซึ่งนิยามความหมายเกี่ยวกับสิทธิน้ำ (absence of well-defined water rights) และ (4) ขาดกลไกที่จะทำหน้าที่บูรณาการ การพัฒนาและการจัดการทรัพยากรน้ำ (Bandaragoda D.J., 2006 a p.13)

นอกจากนั้นยังพบว่า การปฏิรูปการจัดการทรัพยากรน้ำที่เป็นไปตามแรงผลักดันจากภายนอก เช่นจากองค์กรทุนอย่าง ธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาแห่งเอเซีย (donor-driven institutional change) แม้จะทำให้เกิดรูปธรรมบางอย่างจริง แต่ก็ไม่สามารถสร้างผลการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อการจัดการทรัพยากรน้ำได้ เช่น กรณีประเทศไทย มีนโยบายทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มีร่างกฎหมาย มีองค์กรการจัดการน้ำแห่งชาติ และมีคณะอนุกรรมการลุ่มน้ำ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากกระบวนการภายในสังคม นั่นทำให้ผลผลิตเหล่านี้ไม่สามารถแสดงศักยภาพในเชิงสถาบัน เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง (Bandaragoda D.J., 2006 b p.19)

ข้อเสนอล่าสุดเกี่ยวกับการพัฒนา หรือการจัดการสถาบันในการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการ ก็คือ การเสนอให้ประเทศในแถบเอเชีย พัฒนาความเป็นสถาบันการจัดการทรัพยากรน้ำ ขึ้นมาจากเนื้อในขององค์กรต่างๆ ของแต่ละสังคมเอง (institutional adaptation) (Bandaragoda D.J., 2006 b p.14)

5. ประเด็นช่องว่างความรู้
แม้ว่า บทบาทของ IWRM ขึ้นอยู่กับระดับของการพัฒนาประเทศ ประเทศกำลังพัฒนาจะมองการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ในฐานะที่จะเป็นองค์ประกอบสำคัญของการจัดการปัญหาความยากจน ความหิวโหย สุขภาพและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ประเทศที่กำลังเปลี่ยนผ่านนั้น อาจพิจารณา IWRM ด้วยมุมมองที่เป็นเหตุผลมากขึ้น เช่น เพื่อเพิ่มระดับประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากร ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วอาจใช้ IWRM เป็นเหมือนบันไดขั้นต้น เพื่อที่จะเริ่มต้นและพัฒนาแนวทางของตนเอง เช่น กรณีของ EU ที่พัฒนา Water framework Directive เพื่อใช้เป็นกรอบการทำงานเรื่องทรัพยากรในประเทศสมาชิก (GWP-TAC 2000)

แต่ถึงอย่างไร IWRM ก็ได้กลายเป็นกระแสแนวคิดที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก จากการสำรวจเมื่อการประชุมที่เมือง Johannesberg (อัฟริกาใต้) ปี 2005 พบว่ามีถึง 108 ประเทศที่ประกาศว่าได้ใช้แนวทาง IWRM ในการบริหารจัดการ โดยสามารถทำได้อยู่ในเกณฑ์ดี 14 ประเทศ, ทำได้บ้าง 51 ประเทศ, และ เพิ่งเริ่มต้น 43 ประเทศ

ปัจจุบันประเด็นที่ยังเป็นความท้าทายของ IWRM คือ สิ่งที่ Jeffrey and Geary (2004) ได้เน้นย้ำว่า หลักฐานเชิงประจักษ์ที่จะแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของ IWRM นั้น ยังเป็นสิ่งที่หาได้ยาก และ UNEP (IWA/UNEP, 2002) เองก็ชี้ให้เห็นว่า การแปลงแนวคิดของ IWRM ไปสู่การปฏิบัตินั้นเป็นภารกิจที่ยังไม่เสร็จสิ้น นั่นยิ่งทำให้คนที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักว่า มีเรื่องที่ท้าทายและมีช่องว่างความรู้ซึ่งยังต้องหาคำตอบอยู่อีกมาก

กรณีประเทศไทย
จากการทบทวนเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พอจะสรุปประเด็นที่ยังเป็นความท้าทายและที่ควรทำการศึกษาวิจัย ดังนี้

การจัดการสถาบัน (Institutional arrangement)
แนวคำถามในมิติด้านการพัฒนาสถาบัน ควรมุ่งทำความเข้าใจกระบวนการจัดการความเป็นสถาบัน มากกว่า โครงสร้างและหน้าที่ โดยมุ่งทำความเข้าใจเรื่องการปรับตัวของสถาบัน (institutional adaptation) ซึ่งเป็นการปรับตัวของสถาบันเดิมที่มีอยู่ในสังคม ให้เหมาะสมกับแนวคิดและแนวทาง IWRM และ IRBM. ความเข้าใจนี้ อาจนำไปสู่การปรับตัวของ คณะอนุกรรมการลุ่มน้ำ ที่ปัจจุบันยังขาดประสิทธิภาพในการทำงาน

1) กระบวนการเกิดขึ้น การทำงาน และการปรับตัวของสถาบันเป็นอย่างไร ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับ
การเป็นสถาบันที่ดี เมื่อเปรียบเทียบกับประสบการณ์ในต่างประเทศ

2) การจัดการข้ามสถาบัน-หน่วยงาน เช่น สถาบันปกครองตามขอบเขตการปกครอง / สถาบันระดับชุมชน - สิทธิชุมชน / จะทำอย่างไร

3) การจัดการ (การทำความร่วมมือ) ข้ามลุ่มน้ำ ข้ามสถาบันการจัดการน้ำจะเป็นอย่างไร สถาบันการจัดการน้ำ ควรยึดประโยชน์ลุ่มน้ำตัวเอง หรือประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ

4) จะพัฒนาความสามารถในการเชื่อมต่อ (scale-up) สถาบันในระดับชุมชนท้องถิ่นทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ (กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ เหมืองฝาย เครือข่ายป่าชุมชน เป็นต้น) ให้เข้ากับสถาบันที่เป็นแบบ top-down (คณะอนุกรรมการลุ่มน้ำ เป็นต้น) ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ ได้อย่างไร

5) อะไรคือ บทบาทสำคัญในการจัดการน้ำของสถาบันที่ไม่เป็นทางการ

6) อะไรคือ บทบาทหน้าที่สำคัญขององค์กรการจัดการลุ่มน้ำ บทบาทด้านการสร้างกรอบกติกาการใช้น้ำ จัดสรรน้ำเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ยั่งยืน เป็นธรรม หรือ มีบทบาทด้านการสร้าง การพัฒนาโครงสร้างใหม่ๆ

การมีส่วนร่วม ความร่วมมือ

1) platform ที่เหมาะสมสำหรับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้-เสียที่หลากหลาย คืออะไร
2) ทำไมผู้มีส่วนได้-เสีย จึงเข้ามีส่วนร่วมมากน้อยไม่เท่ากัน (ลุ่มน้ำที่เป็นเมือง - ลุ่มน้ำที่เป็นชนบท) อะไรคือ เหตุผล สำคัญ
3) สิทธิการใช้น้ำของผู้มีส่วนได้-เสีย ควรวางอยู่บนหลักการอะไร
4) ขนาดของขอบเขตของลุ่มน้ำ มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้-เสีย ในการดูแลจัดการทรัพยากรน้ำหรือไม่อย่างไร
5) การจัดความสัมพันธ์ระหว่าง วิทยาศาสตร์ และ สังคม
6) รูปแบบ - ชนิดของการมีส่วนร่วมแบบใด ที่มีความเป็นไปได้และทำงานได้ดีที่สุดในพื้นที่ระดับลุ่มน้ำ

การจัดการ / การวางแผน / การบูรณาการ

1) จะทำให้เกิดการวางแผน และการตัดสินใจอย่างมีส่วนร่วมได้อย่างไร
2) จะผสานความรู้เชิง ecosystem และ public ได้อย่างไร ในกระบวนการวางแผน
3) ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้วางแผนกับผู้เข้าร่วม เป็นอย่างไร
4) อะไรคือตัวชี้วัด ที่จะใช้ติดตามและสามารถชี้ให้เห็นได้ว่า ระบบทรัพยากรน้ำได้ทำหน้าที่อย่างบูรณาการแล้ว
(การเปลี่ยนจาก สถานะที่ไม่บูรณาการ สู่ สถานะที่บูรณาการแล้วคืออะไร)

ประเด็นเรื่องขอบเขต

1) ขนาดลุ่มน้ำที่เหมาะสม หรือระดับที่เหมาะสมที่ต่ำที่สุด (the lowest appropriate level)
สำหรับประเภทการจัดการต่างๆ คืออะไร

2) ความสัมพันธ์ระหว่างขอบเขตการจัดการต่างๆ ได้แก่ ขอบเขตลุ่มน้ำ / ขอบเขตของการปกครอง ตำบล อำเภอ จังหวัด / ขอบเขตทางสังคมวัฒนธรรม ในมิติของการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร อำนาจ

3) อิทธิพลของขนาดของขอบเขต (ที่สลับซับซ้อนและทับซ้อนกันอยู่ของขอบเขตทางนิเวศวิทยา ขอบเขตทางการปกครอง ขอบเขตทางสังคม วัฒนธรรม) มีผลต่อการจัดการเชิงสถาบันอย่างไร

จะเห็นได้ว่า แนวทางการจัดการลุ่มน้ำแบบบูรณาการนั้น ยังเป็น แนวทางที่ผู้คนที่มีความสนใจ ควรจะต้องให้ความใส่ใจมากยิ่งขึ้น เนื่องจากโดยตัวมันเองยังเป็นแนวคิดที่เปิดโอกาสให้มีการเสนอเพื่อแย่งชิงความหมาย คำนิยาม คำจำกัดความ ในขณะที่ในการปฏิบัตินั้น ก็ยังต้องการหารูปธรรมการจัดการ การวางแผน การเชื่อมโยงสถาบันต่างๆ ในลุ่มน้ำ รวมถึงความพยายามที่จะต้องผลักดันให้แนวคิด IWRM ค่อยๆ แทรกตัวผ่านกระบวนการทางสังคมในระดับต่างๆ ในสังคมไทย

ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อจะพิสูจน์ว่า ตัวแบบ IWRM นั้น สามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ในสังคมไทย ไม่ว่าการเกิดขึ้นนั้นจะมาจากแรงผลักขององค์กรทุนระหว่างประเทศ (Donor driven) หรือ เกิดขึ้นเพราะเป็นกระบวนการที่เติบโตจากเนื้อในสังคมเองก็ตาม

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) วีรบูรณ์ วิสารทสกุล ภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

(2) ข้อสังเกตนี้ เป็นประสบการณ์จากเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง European Commission (2006) เห็นว่า อาจเป็นไปได้ในประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมใหม่ (neo-liberal democracy)

(3) จากเหตุผลดังกล่าว เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549 จึงได้มีการประชุมเพื่อปฏิรูประบบและแนวทางการผลักดันงาน IWRM ในสังคมไทยเสียใหม่ โดยมีความพยายามที่จะดึงเอาความหลากหลายของภาคส่วนในสังคม เข้ามาร่วมรับรู้และผลักดันงานร่วมกัน ภายใต้ชื่อ องค์กรเสมือนเพื่อการบริหารจัดการน้ำเชิงบูรณาการ โดยการผลักดันของ กัมปนาท ภักดีกุล, เลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ และบุษบงก์ ชาวกัญหา

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เอกสารอ้างอิง

Allan, J.A., (2003) "IWRM/IWRAM : a new sanctioned discourse?" Occasional Paper 50, SOAS Waters Issue Study Group, Available at www.soas.ac.uk/water issues as an Occasional Paper 50.

Arnstein, S. R., (1969) "A Ladder of Citizen Participation," JAIP, 35(4):216-24.

Bakker, K. (2003). "Archipelagos and networks: urbanization and water privatization in the South." The Geographical Journal 169(4): 328-342.

Ballweber, Jefferey A., (1995) "Prospects for Comprehensive, Integrated Watershed Management under Existing Law." Water Resources Update 100:19-23

Bandaragoda D.J., ( 2006 a) "Status of Institutional Reforms for Integrated Water Resources management in Asia: Indicators from Policy Reviews in Five Countries." Working Paper 108. Colombo, Sri Lanka: International Water Management Institute(IWMI). 31p.

Bandaragoda D.J., ( 2006 b) "Institutional adaptation for integrated water resources management: An effective strategy for managing Asian river basins." Working Paper 107. Colombo, Sri Lanka:International Water Management Institute (IWMI). 44p.

Beak International (2001) "A review of Watershed Management Experience." Research Paper 11 . BEAK Ref. 22037.1

Biswas, A.K, (2004) "Integrated Water Resources Management: A Reassessment: A Water Forum Contribution." Water International, 29(2), pp. 248-256.

Biswas, A.K, O. Varis and C. Tortajada (eds.), (2005) Integrated water resources management in South and South-East Asia. Water Resources Management Series, Delhi: Oxford University Press

Blackmore, D. J. (1995). "Murray-Darling Basin Commission: a case study in integrated catchment management." Water Science and Technology 32(5-6): 15-25.

Brent M. Swallow, Dennis P. Garrity, and Meine van Noordwijk (2001) "The Effects of Scales, Flows and Filters on Property Rights and Collective Action in Watershed Management." CAPRi WORKING PAPER NO. 16 CGIAR Systemwide Program on Collective Action and Property Rights

Bruce Hooper (2006) "Integrated Water Resources Management: Governance, Best Practice, and Research Challenges." Journal of Contemporary Water Research & Education, Issue 135, Pages 1-7 December 2006 Universities Council on Water Resources

Bruce L. Rhoads et al (1999) "Interaction Between Scientists and Nonscientists in Community-Based Watershed Management : Emergence of the Concept of Stream Naturalization." Environment Management Vol.24 No 3. pp.297-308

Bruce Mitchell (2006) "IWRM In Practice: Lessons From Canadian Experiences." Journal of Contemporary Water Research & Education. Issue 135, Pages 51-55, December 2006.
Universities Council on Water Resources

Bruneau, R. (2005) "Watershed Management Research: A Review of IDRC Projects in Asia and Latin America" Working Paper 18, Rural Poverty and the Environment Working Paper Series. Ottawa: International Development Research Centre.

Bruns and Meinsen-Dick (1997) "Renegotiating Water Rights: Directions for Improving Public Participation in South and Southeast Asia, Participation in Turbulent Times," Conference of the International Association for Public Participation, Toronto, Canada.

Budds, J. and G. McGranahan (2003). "Are the debates on water privatization missing the point? Experiences from Africa, Asia and Latin America." Environment &Urbanization 15(2): 87.

Claudia Pahl-Wostl and Jan Sendzimir (2005) "The relationship between IWRM and Adaptive Water Management." NeWater Working Paper No 3
Cooke and Kothari's (2001) Participation: the New Tyranny? London: Zed Books, 2001. 207 pp

David Brunckhorst, Phillip Coop and Ian Reeve (2006) "'Eco-civic' optimisation: A nested framework for planning and managing landscapes" Landscape and Urban Planning, Volume 75, Issues 3-4, 15 March 2006, Pages 265-281

Delia Catacutan and Caroline Duque (2006) "Challenges and opportunities in managing Philippine Watersheds: The case of Manupali watershed in the southern Philippines." Paper presented to the Conference on Watershed Management in the Philippines, Don Mariano Marcos Memorial University, La Union, Philippines, 16-18 May 2006.

Duda, A. and El-Ashry, M (2000) "Addressing the Global Water and Environmental Crises through Integrated Approaches to the management of Land, Water and Ecological Resources". Water International 25(1): 115-126.

Durham, B., Rinck-Pfeiffer, S. and Guendert, D. (2002). Integrated Water Resource Management through reuse and aquifer recharge. Desal., 152, 333-338.

European Commission (2006) EU-INCO water research from FP4 to FR6 (1994-2006) : A Critical Review. EUR 22017

Everard, M. and Powell, A. (2002) "Rivers as living systems." Aquatic Conservation: Marine and Freshwater Ecosystems, 12, pp. 329-337.

Fiona Miller & Philip Hirsch (2003) "Civil Society and Internationalized River Basin Management." WORKING PAPER SERIES Working Paper No. 7 Australian Mekong Resource Centre University of Sydney

Grigg, N.S.(1999) "Integrated Water Resources Management: Who should lead, who should pay?" Journal of American Water Resources Association, 35(3), pp. 527-534.

GWP-TAC (Global Water Partnership - Technical Advisory Committee) (2000) "Integrated Water Resources Management." TAC Background Paper No. 4, Stockholm: GWP.

GWP-TAC (Global Water Partnership - Technical Advisory Committee) (2003) "Integrated Water Resources Management." TAC Background Paper No. 7, Stockholm: GWP.

GWP-TAC (Global Water Partnership - Technical Advisory Committee) (2004) "...Integrated Water Resources Management (IWRM) and Water Efficiency Plans by 2005"..Why, What and How?" Resources Management." TAC Background Paper No. 10, Stockholm: GWP.

Gyawali, D. (2003) Rivers, Technology and Society. London: Zed Books.

Heathcote, Isobel W. (1998) Integrated Watershed Management: Principles and Practice. New York: John Wiley and Sons, Inc;

Herminia A. Francisco and Agnes C. Rola (2004) "Realities of Watershed Management in the Philippines: Synthesis of Case Studies." DISCUSSION PAPER SERIES NO. 2004-24
Philippine Institute for Development Studies. www.pids.gov.ph

Heidi Christiansen Barlebo (ed.) (2006) "State-of-the-art report with users' requirements for new IWRM tools." NeWater Report Series No.15, Report of the NeWater project -New
Approaches to Adaptive Water Management under Uncertainty available on www.newater.info

IWA, 2002. Industry as a partner for sustainable development: Water Management. IWA/
UNEP. Beacon Press, London.

Jane Adams et al (2005) "Watershed planning: Pseudo-democracy and its alternatives - the case of the Cache River Watershed, Illinois." Agriculture and Human Values (2005) 22: 327-338

Jeffrey, P. and Geary, M. (2004) "Integrated Water Resources Management: lost on the road from ambition to realization?" In WATERMAX Conference, Beijing, November 2004.

Jewitt, G. (2002) "Can Integrated Water Resources Management sustain the provision of ecosystem goods and services?" Physics and Chemistry of the Earth, Parts A/B/C, 27(11-22), pp. 887- 895.

Jonch-Clausen, T. and Fugl, J., (2001) "Firming up the conceptual basis of Integrated Water Resources Management." International Journal of Water Resources Development, 17(4), pp.501-511

John Cobourn (2001) "Why Integrated Watershed Management" in MANAGING WATERSHEDS IN THE NEW CENTURY PROCEEDINGS OF THE EIGHTH BIENNIAL WATERSHED MANAGEMENT COUNCIL CONFERENCE. Asilomar Conference Center, Pacific Grove, CA

John Gutrich et al (2005) "Science in the public process of ecosystem management: lessons from Hawaii, Southeast Asia, Africa and the US Mainland" Journal of Environmental Management, Volume 76, Issue 3, August 2005, Pages 197-209

Jonker, L.(2002) "Integrated water resources management: theory, practice, cases." Physics and Chemistry of the Earth, 27, pp. 719-720.

Keen, M. (2003) "Integrated water management in the South Pacific: policy, institutional and socio-cultural dimensions." Water Policy, 5, pp. 147-164.

Lovelace, George W. and Rambo, Terry A. (1991) "Behavioral and Social Dimensions" in Easter, K. William Dixon John A. Hufschmidt Maynard M., Editors. Watershed Resources Management - Studies from Asia and the Pacific. Singapore and Honolulu: Institute of Southeast Asian Studies and East-West Center; 1991; pp. 81-90.

Le Huu Ti and Thierry Facon (2001) From Vision to Action : A Synthesis of Experiences in Southeast Asia. The FAO-ESCAP Pilot Project on National Water Visions

Maaren, H. and Dent, M. (1995) "Broadening participation in integrated catchment management for sustainable water resources development " Water Science and Technology 35(5): 161

Manfred Poppe (2004) "Integrated Watershed Management Planning in the Lower Mekong Basin A Comparative Analysis of National and Local Planning Systems in Cambodia, Lao PDR, Thailand and Viet Nam." Working Paper 11. MRC-GTZ Cooperation Programme Agriculture, Irrigation and Forestry Programme Watershed Management Component

McIntosh, A. C. and C. E. Yniguez (2002). Privatization of Water Supplies in Ten Asian Cities. Manilla, Asian Development Bank.

Matondo, J.I.,(2002) "A comparison between conventional and integrated water resources
planning and management." Physics and Chemistry of the Earth, 27, pp. 831-838.

Montree Chantawong (2002) "Civil society participation in river basin planning : a new blueprint?" Mekong Update & Dialogue Vol. 5 No. 2 April-June 2002 p2-3

Muhammad Misanur Rahaman and Olli Varis (2005) "Integrated water resources management : evolution, prospects and future challenges." Sustainability: Science, Practice, & Policy. Spring 2005 V1(1) (http://ejournal.nbil.org)

Odendaal, P.E., (2002) "Integrated Water Resources Management (IWRM), with special reference to sustainable Urban Water Management." In: CEMSA 2002 Conference, Johannesburg, South Africa.

Ohlson, D.W., 1999. Exploring the application of adaptive management and decision analysis to integrated watershed management. http://www.scarp.ubc.ca/thesis/ohlson/

Pahl-Wostl et al (2004) "Transitions to Adaptive Water Management: The NeWater Project." NeWater Working Paper 1 Report of the NeWater project -New Approaches to Adaptive Water Management under Uncertainty available on www.newater.info

Radif, Adil Al, (1999) "Integrated water resources management (IWRM): an approach to face the challenges of the next century and to avert future crises" Desalination, 124, pp. 145-153.

Rahaman, M.M., Varis, O., Kajander, T. (2004) "EU Water Framework Directive vs. Integrated Water Resources Management: The Seven Mismatches." International Journal of Water Resources Development, 20(4), pp. 565-576.

Randall J.F.Bruins and Matthew T.Heberling (eds.) (2005) Economic and Ecological Risk Assessment : application to watershed management. CRC Press

Richard D. Margerum (1995) "Integrated Watershed Management : Comparing Selected
Experiences in the U.S. and Australia." Water Resources Update,Universities Council on
Water Resources Issue No. 100: Spring, 1995

Thomas, J. and Durham, B. (2003) "Integrated Water Resource Management: looking at the whole picture" Desalination, 156(1-3), pp. 21-28.

Thomas Webler and Seth Tuler (2001) "Public Participation in Watershed Management Planning: Views on Process from People in the Field." Human Ecology Review, Vol. 8, No. 2, 2001 P. 29-39

Tiffen and Gichuki (2000) "People, property and profit in catchment management: examples from Kenya and elsewhere." In Integrated watershed management in the global ecosystem, ed., Rattan Lal. Boca Raton, FL: CRC Press, pp. 305-325.

Tim Jones, Peter Newborne and Bill Phillips (2006) Applying the principles of integrated water resource and river basin management - an introduction. WWF-UK

United Nation (2006) The 2nd UN World March 2006Water Development Report: 'Water, a shared responsibility' available at www.unesco.org/water/wwap/wwdr2/table_contents.shtml

Van der Lee, J. (2002). "An Integrated Learning Approach to River Basin Management." Resources Policy 8(1): 11-13.

Vernooy, R. (1999) Mapping, analysis and monitoring of the natural resource base in micro-watersheds: experiences from Nicaragua. International Development Research Centre, Ottawa, Canada. 10 pp.

Wallace, J.S., Acreman, M.C. and Sullivan, C.A., (2003) "The sharing of water between society and ecosystems: from conflict to catchment-based co-management." Philosophical transactions of the Royal Society of London, Series B, Biological sciences, 358(1440), pp. 2011-2026.

Walker, B. and B. C. Walker (2000). Privatisation: Sell off or sell out? The Australian experience. Sydney, ABC Books.

Wietske Medema and P. Jeffrey (2005) "IWRM and Adaptive Management: Synergy or Conflict?" NwWater Report Series No.3 Report of the NeWater project - New Approaches to Adaptive Water Management under Uncertainty available on www.newater.info

William Blomquist, Ariel Dinar and Karin Kemper (2005) "Comparison of Institutional Arrangements for River Basin Management In Eight Basins." World Bank Policy Research Working Paper 3636,

White, G.,(1998) "Reflections on the 50-year International Search for Integrated Water Management." Water policy 1, No. 1: 21.27.

มนตรี จันทรวงศ์ พรทิพย์ บุญครอบและกฤษฎา บุญชัย (บก.) (2005) ชุมชนลุ่มน้ำวาง วิถีแห่งการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กรุงเทพฯ



++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

28 October 2007