โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 09 May 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๔๓ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (May, 09, 05,.2007)
R

การเมืองภาคพลเมือง การเมืองเรื่องของชุมชน
That is not call politics: การเมืองในชื่อเรียกอื่น
วีรบูรณ์ วิสารทสกุล : แปล
ภาควิชาพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสาตร์ ท่าพระจันทร์

บทความแปลนี้ กอง บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้รับมาจากผู้แปล เดิมชื่อ
การเมืองในชื่ออื่น แปลจาก บทที่ 7 Politics : That Is Not Called Politics
จากหนังสือ Politics for People เขียนโดย David Mathews

โดยเนื้อหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองทางตรง โดยไม่ผ่านผู้แทน
เป็นการเมืองภาคพลเมือง ชุมชนรวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาส่วนรวม โดยมีโครงเรื่องดังนี้
๑. การเมืองที่ไม่เรียกว่า "การเมือง"
๒. ลักษณะของการเมืองภาคพลเมือง
๓. แรงผลักเบื้องหลังการเมืองภาคประชาชน
๔. ชุมชนและการแก้ปัญหา
๕. ทำไมประชาชนต้องมีส่วนรวม
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๔๓
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๕.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

การเมืองภาคพลเมือง การเมืองเรื่องของชุมชน
That is not call politics: การเมืองในชื่อเรียกอื่น

วีรบูรณ์ วิสารทสกุล : แปล

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คนกลุ่มเล็กๆ ที่ครุ่นคิดไตร่ตรอง และพลเมืองที่มีความมุ่งมั่น สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้
และแท้จริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาก็เกิดด้วยเงื่อนไขนี้

(มากาเร็ต มี้ด)

การเมืองในชื่ออื่น (1)
1. การเมืองที่ไม่เรียกว่า "การเมือง"
เมื่อพลเมืองพบว่าตนเองนั้นเบื่อหน่ายจากการเมืองแบบปกติ บ่อยครั้งที่พวกเขาหันกลับไปทำเรื่องที่สำคัญด้วยตนเอง อาจพูดได้ว่า เป็นสิ่งที่เขาสามารถทำได้โดยตัวเอง เขากำลังฝึกหัดการทำการเมืองภาคพลเมือง การถกเถียงที่เกิดขึ้นทั่วประเทศพบว่า ผู้คนจำนวนมากซึ่งปฏิเสธที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองปกติ ได้เล่าเรื่องที่เขาเข้าไปมีส่วนร่วมในงานสาธารณะต่างๆ (2) ชายคนหนึ่งจาก Des Moines อธิบายว่า เขาได้เข้าไปช่วยจัดการแผนงานดูแลชุมชน (neighborhood watch program) อีกคนจาก Dallas บอกว่า เขาเข้าร่วมทำกิจกรรมกับสมาคมแถวๆ ละแวกบ้าน และอีกคนหนึ่งจาก Des Moines รายงานว่า "ฉันเคยเข้าร่วมกับโรงเรียน ในฐานะคณะกรรมการผู้ปกครอง"

ในขณะที่อีกคนหนึ่งจาก Seattle เล่าว่า พวกคนในเมืองช่วยกันทำงานเพื่อที่จะทำให้เมืองยังคงมีพื้นที่เปิดโล่ง ส่วนคนที่นั่งถัดไปในวงสัมภาษณ์กลุ่ม ก็กล่าวถึง การที่มีกลุ่มพลเมืองเข้าไปช่วยดูแลรักษาสวนสาธารณะ พวกเขาต่างอธิบายสิ่งที่ตนเองได้เข้าไปสนับสนุน องค์กรช่วยเหลือเด็กสำหรับชุมชนผู้มีรายได้น้อย, กลุ่มรักษาสิ่งแวดล้อม, การพัฒนาชุมชนและกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มสมาคมเอกชน (3)

เมื่อพวกเขาเห็นความเป็นไปได้ในงานที่ทำร่วมกับคนอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาที่เขาเห็นว่ามีความสำคัญ ชาวอเมริกันจำนวนมาก - ซึ่งเป็นพวกเบื่อการเมืองในระบบ - ได้มาเป็นอาสาสมัครในกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์ที่หลากหลาย และการสนับสนุนเพื่อแก้ปัญหาชุมชน. แม้ว่าในทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนผู้ที่มาลงคะแนนเสียงจะลดลงก็ตาม แต่งานอาสาสมัครกลับมีจำนวนมากขึ้น จำนวนอาสามัครที่เป็นปัจเจกบุคคลที่ทำงานเพื่อคนอื่นมีเท่าไร และจำนวนเท่าไรที่เป็นงานทางการเมือง ก็ยังไม่ชัดเจนนัก

แม้ว่า ปฏิบัติการทางสังคมส่วนใหญ่ จะเป็นมิติหนึ่งของเรื่องทางการเมือง แต่พลเมืองจะไม่เรียกสิ่งที่พวกเขาทำเพื่อส่วนรวมว่า "การเมือง" แต่ถ้าเป็นการผ่านกฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรม หรือเรื่องปัญหาคุณภาพน้ำแล้วล่ะก็ จะเป็นเรื่องทางการเมือง มันยากที่จะพูดว่า การที่พลเมืองพยายามทำให้ อาชญากรรมในชุมชนหมดไป หรือ ทำให้น้ำสะอาดดื่มนั้น ไม่ใช่เรื่องการเมือง

ชาวอเมริกันปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงที่จะเรียกกิจกรรมเหล่านี้ว่าเป็นเรื่องทางการเมือง เพราะว่า คำว่า "การเมือง" (politics) นี้สัมพันธ์กับสิ่งที่นักการเมือง หรือที่รัฐบาลทำ. แต่การเมืองภาคพลเมืองเป็นการเมืองเสียยิ่งกว่า เพราะคำว่า "การเมือง" (politics) มีรากศัพท์มาจากคำว่า polis, ซึ่งในกรีกโบราณ คำนี้แปลว่า เมือง ตัวอย่างเช่น กรุงเอเธน เป็นเมือง (polis) การเมือง คือ กิจกรรมที่ทำกันในเมืองเพื่อทำให้เกิดสิ่งที่ดีสำหรับชีวิตส่วนร่วม และแน่นอนว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ที่การคิดถึงเรื่องการเมืองจะครอบคลุมถึงการทำที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อแก้ไขปัญหาของสาธารณะและการมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

การที่ กลุ่ม สมาคมต่างๆ ในชุมชนพยายามที่จะฟื้นฟูชุมชนให้ดีขึ้นเป็นเรื่องการเมือง เครือข่ายพลเมืองที่ทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีก็เป็นการเมือง คณะกรรมการบริหารโรงเรียนตัดสินใจเรื่องการใช้งบประมาณ ก็เป็นการเมือง และประโยชน์ทั้งหลายที่เป็นไปเพื่อประเทศ หรือชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ ล้วนแต่เป็นเรื่องประโยชน์ทางการเมืองทั้งสิ้น การเมืองจึงเป็นกิจกรรมธรรมชาติเพื่อมนุษยชาติ รัฐบาลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเมืองเท่านั้น

การเมืองมิใช่มีไว้สำหรับนักการเมือง อริสโตเติลได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า "โดยธรรมชาติแล้วพวกเราล้วนแต่เป็นผู้สร้างการเมือง" การเมืองเริ่มเป็นประเด็นถกเถียงในตลาดของชาวเอเธเนียน และในสภาประชาชนมายาวนาน ก่อนที่จะเป็นเครื่องมือของรัฐบาล. จอห์น มาเวลริกค์ นั้น ปฏิบัติการทางการเมืองในที่ประชุมเมือง ก่อนที่จะเป็นเรื่องของนายกเทศมนตรีของ Dorchester

ดังนั้นโดยแท้จริงแล้วในอเมริกา จึงมีปฏิบัติการทางการเมืองอยู่ 2 ประเภท :

ประเภทแรก คือ การเมืองแบบเลือกตั้ง (รัฐบาล) และ
ประเภทที่สอง เป็นการเมืองภาคพลเมือง

แบบแรกนั้นถูกควบคุมโดยนักการเมือง นักล๊อบบี้ และข้าราชการ. ส่วนแบบหลัง คือการเมืองที่ประชาชนไม่อยากจะเรียกว่า "การเมือง". เราจะเห็นการเมืองในแบบแรกในการรณรงค์หาเสียง หีบบัตรเลือกตั้ง และ วาทะทางการเมืองของนายกเทศมนตรี และจะพบการเมืองในลักษณะที่สองในรูปของสมาคม, กลุ่มต่างๆ ในชุมชน, การประชุมสาธารณะ, และองค์กรเพื่อสาธารณะประโยชน์

การเมืองทั้งสองรูปแบบ ไม่เหมือนกันและไม่สามารถทดแทนกันได้ ความพยายามของประชาชนที่จะเปลี่ยนไปสู่การเมืองที่ไม่เป็นทางการ ไม่ได้เป็นการโต้ตอบอำนาจที่เป็นอันตรายที่ผลักประชาชนให้ออกห่างจากคูหาลงคะแนน และที่ทำให้เขาถูกเยาะเย้ยเกี่ยวกับรัฐบาลที่เขาเลือก. การเมืองทั้ง 2 รูปแบบก็มิใช่การโต้ตอบทางจริยธรรมต่อกัน การเมืองของนักการเมืองและรัฐบาล ไม่ได้เป็นการเมืองที่เลว แม้ว่าประชาชนจะไม่สามารถเข้าถึง และ การเมืองภาคพลเมือง ก็มิใช่ชนิดของการเมืองที่ดี แม้ว่าประชาชนจำนวนมากจะใช้มันอย่างคุ้นเคย การเมืองทั้ง 2 รูปแบบนี้ต่างก็มีการคอรัปชั่นและสร้างรูปแบบการทำลายตัวเองด้วย

เมื่อชาวอเมริกันปฏิบัติการทางการเมืองในทุกๆ วัน พวกเขาทำกันอย่างเปิดเผย และดำเนินการด้วยกันเพื่อทำให้โรงเรียนปลอดยาเสพติด, ปกป้องอากาศที่หายใจให้บริสุทธิ์, และช่วยให้เยาวชนมีการศึกษาที่ดี. แต่ก็ไม่แปลกใจที่คนส่วนใหญ่ไม่คิดว่า รูปแบบของกิจกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องทางการเมือง หรือแม้แต่เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นพลเมือง

ตามหลักแห่งเหตุและผลแล้ว ถ้าการเมืองเป็นเรื่องของนักการเมืองและรัฐบาลแล้ว พลเมืองก็เป็นแค่ผู้หย่อนบัตรเลือกตั้งและทำตามกฎหมาย พวกคุณมีนายกเทศมนตรี หรือข้าราชการบางส่วนที่เกี่ยวข้องที่ทำกิจกรรมที่เรียกกว่าการเมืองอยู่แล้ว ด้วยการคิดแบบนี้ การที่ประชาชนทำอะไรร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน จึงไม่เป็นเรื่องทางการเมือง

ในความเป็นจริง ชาวอเมริกันจำนวนมากเชื่อว่า พลเมืองมีหน้าที่ที่จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมือง ที่หมายถึงการช่วยเหลือคนอื่นและทำบางอย่างในชุมชน (4) ไม่ว่านี่จะเป็นความคิดปกติในการทำหน้าที่ของพลเมือง หรือเป็น การทำงานอาสาสมัครที่มากกว่าการเป็นพลเมืองที่ดี ก็มิใช่ประเด็นสำคัญ เพราะกิจกรรมเหล่านี้เป็นมากกว่าการหย่อนบัตรหรือการเชื่อฟังกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องของส่วนรวมและเป็นเรื่องทางการเมือง ประเด็นสำคัญก็คือ ประชาชนจำนวนมากได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการเมืองในความหมายกว้าง และมิได้เป็นไปในลักษณะแบ่งแยกด้วย แม้ว่าทุกอย่างจะไม่ใช่เรื่องทางการเมือง แต่มิติที่เป็นเรื่องทางการเมืองมาก ก็เป็นมากกว่าสิ่งที่เราทำกันอยู่

พวกเราอาจเรียนรู้สิ่งที่ยิ่งใหญ่จากการเมืองภาคพลเมือง เกี่ยวกับแนวทางการจะแก้ปัญหาความเหินห่างระหว่าง อเมริกันชนกับการเมืองของรัฐบาล. กลยุทธโดยทั่วไปที่จะนำประชาชนเข้าสู่การเมือง อาจจะนำไปสู่ปัญหาในภายหลัง หากประชาชนได้ผูกพันกับการเมืองชนิดใดแล้ว ความท้าทายจึงไม่ได้อยู่ที่การดึงประชาชนออกจากความเบื่อหน่ายการเมืองแบบที่คุ้นเคย แต่หากอยู่ที่การเชื่อมต่อการเมืองแบบที่เขาคุ้นเคย (การเมืองแบบที่หนึ่ง) เข้ากับการเมืองที่เขาได้ปฏิบัติอยู่แล้ว (การเมืองภาคพลเมือง)

ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ก็จะพบว่าธรรมชาติของการเมืองภาคพลเมือง เป็นกิจกรรมชนิดที่ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ มากไปกว่านั้นการเมืองที่ประชาชนจะไม่เรียกว่าการเมืองนั้น เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า อย่างเช่น การให้โอกาสประชาชนที่จะได้เรียนรู้ว่า ความหมายที่แท้จริงของพลเมืองคืออะไร ซึ่งมิใช่หมายถึง ผู้บริโภค, การให้บริการ, หรือการวิพากษ์วิจารณ์ข้าราชการ และบางทีระบบการเมือง ซึ่งควรจะต้องตั้งคำถามกับคุณภาพของการเมืองภาคพลเมืองด้วยเช่นกัน

2. ลักษณะของการเมืองภาคพลเมือง
ความรู้แบบเก่า ไม่ได้ตระหนักถึงการเมืองภาคพลเมือง เนื่องเพราะเราไม่สามารถพบเห็นการเมืองภาคพลเมืองได้ในสถานที่ที่เรามองหา"การเมือง"แบบเดิม อีกทั้งการเมืองภาคพลเมืองก็ไม่ได้มีลักษณะที่การทำความเข้าใจในการเมืองแบบเดิมจะเข้าใจได้. พลเมืองที่มีความมุ่งมั่นในการทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวมนั้น ไม่สามารถประเมินได้ในแบบเดียวกับที่เราใช้ในการประเมินคำมั่นสัญญาทางการเมืองในวันเลือกตั้ง ดังนั้น พวกเราจึงไม่สามารถพบการเมืองภาคพลเมืองที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในหอประชุมเมือง เท่ากับที่เราพบในโบสถ์, ห้องนั่งเล่น, และร้านอาหารท้องถิ่น, บางทีสถานที่เหล่านี้เราอาจเรียกได้ว่าเป็น"พื้นที่สาธารณะ"(public space) เพราะว่ามันถูกสร้างขึ้นมาโดยพลเมือง

ประชาชนได้แยกชัดเจนระหว่าง "กิจกรรมเพื่อส่วนรวม" จาก "การเมือง" เพราะว่า เขาไม่ได้มีความรู้สึกถึงเรื่องการเมือง การเมืองสำหรับพวกเรานั้น เป็นสิ่งสกปรก ยุ่งเหยิง เป็นราชการ และเป็นเรื่องของมืออาชีพ สิ่งเหล่านี้ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เขาทำในกิจกรรมเพื่อส่วนรวม

"การเมืองเป็นเรื่องของหลักการ, ระเบียบ, กฎหมาย, และนโยบาย" ผู้หญิงคนหนึ่งอธิบายว่า "มันไม่มีอะไรที่ให้ฉันทำ นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมฉันจึงต้องเข้าร่วมทำงานในชุมชนของฉัน" การเมืองถูกมองอย่างแคบๆ และถูกกำหนดทิศทางโดยบางคนเท่านั้น ประชาชนจะพบเพียงบางอย่างหรือก็ไม่พบอะไรเลย ในสถานที่เช่นนี้ไม่มีสถานที่ที่เขาจะริเริ่มและลงมือทำงาน

ในอีกด้านหนึ่ง กิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์หนุนให้ปัจเจกชนสามารถริเริ่มและปฏิบัติการได้ และพวกเขายังระบุถึงบางอย่างที่มีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งเชื่อว่าปัญหาของสาธารณะนั้น สามารถแก้ได้โดยการทำงานร่วมกันของประชาชน ในขณะที่ ปัญหาทางการเมืองไม่สามารถทำได้ พลเมืองคนหนึ่งกล่าวอย่างสรุปว่า "การมีส่วนร่วมของชุมชนนั้นนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง แต่การเมืองนั้นไม่สามารถทำได้"

บางคนก็หวังว่า การเมืองที่เราคุ้นเคยจะสามารถทำให้มีลักษณะเหมือนงานสาธารณะได้ เขาบอกว่า "มันควรจะถูกพิจารณาว่าเป็นการเมือง แต่ก็ทำไม่ได้" เมื่อเปรียบเทียบการเมืองภาคพลเมือง กับการเมืองที่เราคุ้นเคยกัน บางคนแนะนำไปไกลกระทั่งว่า "มันเป็นการเมืองในเส้นทางที่เป็นจริง ที่ประชาชนจัดการเพื่อทำให้ดีขึ้น และนี่คือการเมืองที่แท้"

2.1 การเมืองภาคพลเมือง เป็นแค่การเมืองท้องถิ่น หรือเปล่า
เพราะว่า มันง่ายที่จะเห็นการเมืองภาคพลเมืองจากการมีส่วนร่วมของชุมชน บางคนเลยเข้าใจผิดไปว่า การเมืองภาคพลเมืองเกิดขึ้นเฉพาะในระดับที่ประชาชนสามารถทำงานร่วมกับเพื่อนๆ และชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ การเมืองภาคพลเมืองเป็นแบบจำลองของประชาธิปไตยทางตรง ซึ่งไม่เคยถูกยอมรับว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับรัฐบาลแบบตัวแทน

อย่างไรก็ตาม กรณีศึกษาเกี่ยวกับการแก้ปัญหาสาธารณะ ได้ท้าทายวิธีคิดที่ผิดๆ นี้ ประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจในระดับท้องถิ่นนั้น สามารถมีนัยยะได้ทั้งระดับประเทศและระหว่างประเทศ เช่น ประเด็นการปกป้องสิ่งแวดล้อม มากไปกว่านั้นการมีส่วนร่วมของพลเมืองในโครงการสาธารณะที่ไม่ได้คิดว่าเป็นประชาธิปไตยแบบทางตรงนั้นแหละคือคำตอบ ซึ่งพวกเขามีความต้องการอย่างมากที่จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นกับรัฐบาลระดับชาติ พวกเขาจะทำงานกับผู้คนเฉพาะกลุ่มที่เขารู้จักและมีลักษณะคล้ายเขา นอกจากนี้พวกเขาจะสร้างความร่วมมือกับประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องมีลักษณะคล้ายๆ พวกเขาด้วย

ภารกิจของพลเมืองในการแก้ไขปัญหาในชุมชน เป็นเหมือนภารกิจของพลเมืองที่เผชิญอยู่กับการให้ความหมายของประโยชน์สาธารณะในระดับชาติ เพื่อแก้ปัญหาบางอย่าง สิ่งแรกที่พลเมืองทำ คือ การทำความเข้าใจปัญหาและแบ่งปันความรู้สึกถึงประโยชน์และเป้าหมายร่วมกัน ว่าคืออะไร? จากนั้นพวกเขาจะต้องทำทางเลือกที่เกี่ยวข้องกับทิศทางที่จะเคลื่อนต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาถึงคุณค่า ซึ่งอยู่ในกิจกรรมต่างๆ ที่พวกเขาจะทำ การตัดสินใจทางเลือกต่างๆ ร่วมกันและทำงานร่วมกันนั้น ต้องการการพิจารณาไตร่ตรองที่ถี่ถ้วน จริงจัง ซึ่งทำให้เกิดเป็นความต้องการนโยบายในระดับชาติ

เหตุที่ ผู้คนหันกลับมาสนใจการเมืองภาคพลเมืองและเข้าร่วมในการแก้ไขปัญหาของส่วนรวม เพราะว่า มันเป็นเรื่องความสะดวก ไม่มีเรื่องที่ต้องโต้เถียงกันมากนัก และเป็นเรื่องง่ายๆ พวกเขาถูกผลักเข้าสู่การเมืองในรูปแบบนี้ โดยแรงบีบบังคับให้พวกเขาต้องทำในสิ่งที่ดีกว่า

3. แรงผลักเบื้องหลังการเมืองภาคประชาชน
มีแรงผลักที่อยู่เบื้องหลังซึ่งเกี่ยวข้องอยู่หลายแรง

- แรงแรก คือ ความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ที่จะควบคุมความไม่แน่นอนในอนาคต

- อีกแรงหนึ่งคือ แรงผลักที่จะทำบางสิ่งให้ดีขึ้นด้วยการแก้ไขปัญหา ซึ่งรัฐบาลและการเมืองในแบบที่เราคุ้นเคย ไม่เคยแก้ไขหรือไม่สามารถแก้ไขได้

- อีกแรงหนึ่งคือความต้องการเยียวยาความสัมพันธ์ที่อ่อนแรงของชุมชน และความเสื่อมถอยของความสามัคคีทางการเมือง (ซึ่งเป็นความสามารถในการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิผล)

3.1 การแก้ปัญหาเพื่อนำไปสู่การควบคุมอนาคต
ชาวอเมริกันจำนวนมาก กังวลเกี่ยวกับอนาคตของพวกเขา (ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งย่าน ละแวก เมือง หรือรัฐ) ว่าจะไม่ดีพอ และอนาคตที่ไม่มั่นคง ไม่เป็นตามความคาดหวัง พวกเขาต้องการทำให้มันดียิ่งขึ้น (5) แม้ว่าประชาชนจะมีความเห็นที่หลากหลายว่าอะไรคือหนทางที่ดีกว่า แต่ความหลากหลายนี้ก็ไม่ได้ทำให้การสืบค้นลดน้อยถอยลง แต่กลับกระตุ้นให้เกิดการค้นหามากขึ้น

ประชาชนบอกอย่างมีอารมณ์ - เกี่ยวกับความปรารถนาที่เขาอยากทำให้เกิดขึ้นในชุมชน ผู้ชายคนหนึ่งจาก Dallas ถูกถามว่า ทำไมเขาจึงเข้าร่วมในโครงการที่เกี่ยวกับชุมชน เขาเป็นอาสาสมัครซึ่งก็เหมือนกับที่หลายคนทำ คำตอบคือ "ฉันต้องการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง" ประชาชนต้องการแก้ไขปัญหาที่มีผลต่อชีวิตของพวกเขา หรืออาจทำให้อนาคตของพวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยง

ความรู้สึกที่ว่าอนาคตตกอยู่ในความไม่แน่นอน กระตุ้นให้เกิดพลังที่จะแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ชาวอเมริกันทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับส่วนรวม ต่างมีประสบการณ์ต่อความสูญเสียการควบคุมและถูกคุกคามโดยปัญหาขนาดใหญ่ โดยส่วนตัวแล้ว ประชาชนรู้สึกว่าเขามีอำนาจในการควบคุมชีวิตตัวเองได้น้อยลง ตัวอย่างเช่น มีอเมริกันชนจำนวนน้อยที่เชื่อว่า งานหนักนำไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งต่างจากในช่วงเวลาที่ผ่านๆ มา (6) ประชาชนในหลายเมือง ต่างก็กังวลเกี่ยวกับอนาคตที่เขาควบคุมได้น้อยลง ด้วยรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปทางธุรกิจ เขากังวลว่าเขากำลังสูญเสียความสามารถในการควบคุมเศรษฐกิจ ซึ่งมักจะตัดสินใจมาจากห้องประชุมที่อยู่ไกลออกไป

Naugatuck Valley ในฝั่งตะวันตกของคอนเนคติกัท เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่คนในชุมชนกลัวที่จะต้องสูญเสียความสามารถในการควบคุมทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ความรู้สึกสะสมต่อเนื่องมาในช่วงหลายปี จากการที่โรงงานถูกปิด หรือ ถูกขายออกไป เขากังวลเกี่ยวกับอนาคตทางเศรษฐกิจที่กำลังถูกตัดสินใจจากเมืองที่อยู่ไกลออกไป. Tim Benson ประธานโครงการ Naugatuck Valley อธิบายว่า "เมื่อบางคนในลอนดอน หรือในลาส เวกัสเป็นเจ้าของโรงสีข้าวใน Valley คุณจะรู้สึกแย่ หมดหนทางและเสียการควบคุม" (7)

ชุมชนอื่นๆ ก็มีประสบการณ์ในทำนองเดียวกัน เมื่อเจ้าของธนาคารเข้ามามีอำนาจมากขึ้น และซื้อกิจการของท้องถิ่น การเปลี่ยนแปลงในการควบคุมทางเศรษฐกิจนำมาซึ่งผลสะเทือนทางการเมืองอย่างมาก เกิดอาการงงงวย และความขุ่นเคือง คือปฏิกิริยาตอบสนอง เมื่อบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ใน Shreveport ที่หลุยส์เซียนา ถูกฮุบกิจการโดยคู่แข่งนอกรัฐ. บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอธิบายความรู้สึกของชาวเมืองว่า "ชั่วขณะที่คุณตื่นขึ้นมา ก็สบถว่า ฉิบหายแล้ว เราไม่ได้เป็นเจ้าของเมืองเราอีกต่อไป มันเกิดขึ้นเมื่อไรกัน" (8)

ชาวอเมริกันยังคงต้องการแก้ปัญหา เพราะว่าปัญหาที่รุนแรงบางปัญหายังไม่ดีขึ้น ทั้งๆ ที่พวกเขาได้พยายามอย่างที่สุดแล้ว นี่เป็นปัญหาที่สะท้อนถึงความรู้สึกที่ว่าความเป็นชุมชนกำลังหดหายไป และในอนาคตชุมชนก็จะสูญเสียแรงยึดเหนียวต่อกัน. "อาชญากรรม" คือตัวอย่างที่ดี ที่นักอาชญาวิทยาจะใช้เป็นสัญญาณ ชี้บอกว่ากำลังความเป็นชุมชนกำลังอ่อนแรง (เศษขยะเกลื่อนกราด ขี้เมาตามท้องถนน และหน้าต่างบ้านร้างที่แตก) ได้สร้างสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดอาชญากรรมที่รุนแรง เช่น การลักขโมย การค้ายาเสพติด และแม้แต่การฆาตกรรม (9). เหมือนกับที่ จอห์น การ์ดเนอร์ บันทึกว่า ชุมชนที่พังทลายกำลังมีปัญหาที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมของปัจเจก:

พวกเราสังเกตถึงผลที่ตามมาจากการสูญเสียความเป็นตัวตนและสังคมที่กำลังล่มสลาย จำนวนผู้บาดเจ็บที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับศาลเยาวชน และเจ้าหน้าที่ด้านโรคจิต และคลีนิคบำบัดผู้เสพยา. มีการพูดกันมากถึงครอบครัวเดี่ยวที่ไม่ได้ทำหน้าที่เลี้ยงดูเด็กๆ พวกเราต้องคอยเตือนตัวเองว่า ในอดีตการดูแลเด็ก มิได้จากครอบครัวเดี่ยวเพียงอย่างเดียว แต่มาจากเครือญาติและชุมชนด้วย ซึ่งทำให้เด็กๆ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่คนอื่นๆ คำนึงถึงอนาคตของพวกเขา แต่ปัจจุบันเขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีใครสักคนสนใจ แม้ว่าเขาจะทำผิดกฎหมาย (10)

อาชญากรรมและปัญหาอื่นในชุมชน และความไม่สามารถที่จะสู้กับปัญหาเหล่านี้บอกเราว่า เราอยู่ในภาวะเสี่ยง โดยความโน้มเอียงของสังคม ซึ่งเกิดขึ้นกับประเทศเรา "แรงของปัจเจกชนที่เป็นแรงย่อยๆ แบบรวมหมู่ที่ไร้ทิศทาง ไม่มีความเชื่อมโยงหรือความรับผิดชอบต่อกัน" แรงทางสังคมที่มีก็เป็นสังคมที่แตกเป็นส่วนๆ จริยธรรมในการทำงานก็ถูกกัดกร่อน ทำให้เศรษฐกิจไม่มีการแข่งขัน และประชาชนก็ไม่ให้ความร่วมมือกัน และไม่สามารถจัดการกับความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองที่แยกขั้ว

ความรู้สึกเช่นนี้ถูกทำให้สูงค่าด้วยวิธีคิดที่ว่า ประเทศอยู่ในการแข่งขันกับประเทศที่ประชาชนทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิด (12) ดังที่ เบนจามิน บาร์เบอร์ เขียนไว้ว่า "พวกเรากังวลว่า การคอร์รับชั่นมีความสัมพันธ์กับแอลกอฮอล์และยาเสพติด, ความใจเย็นและไม่เอาใจใส่, การแบ่งแยก กีดกัน และดันทุรัง, และความรุนแรงและความแตกแยกคือ ความป่วยไข้ของชุมชน ทั้งการคอร์รับชั่น การบาดหมาง การแตกแยก สุดท้ายนำไปสู่การทำลายและไม่มีตัวตน" (13)

3.2 สร้าง ความรู้สึกถึงความเป็นชุมชน ให้เข้มแข็ง
ถ้าไม่มีความรู้สึกถึงความเป็นชุมชน ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เกิดการแก้ปัญหาสาธารณะ. การเมืองในมิติที่เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุด ก็ไม่เพียงพอจะแก้ปัญหาสาธารณะได้. ประชาชนในชุมชนมีจิตวิญญาณสาธารณะและความรู้สึกถึงความสัมพันธ์ พวกเขาต้องการที่จะมีความผูกพันที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่เพียงแค่เข้าไปทำความรู้จักกับคนอื่นๆ เท่านั้น ปัญหานั้นสามารถแบ่งแยกประชาชนได้ ดังนั้นถ้าพวกเขาไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ให้เข้มแข็งก่อนที่จะเริ่มเผชิญอุปสรรค ก็มีทางเป็นไปได้น้อยมาก ที่ความรู้สึกถึงความเป็นชุมชนที่เข้มแข็งจะถูกสร้างขึ้นได้ในท่ามกลางการเผชิญหน้ากับอุปสรรค

แรงผลักดันที่สร้างความเป็นเจ้าของ และการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน คือแรงผลักดันของมนุษยชาติที่เก่าแก่และลึกซึ้งที่สุด (14) โดยข้อเท็จจริงความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในครอบครัวและชุมชนทางการเมือง เป็นส่วนหนึ่งของความหมายของการเป็นมนุษย์ พวกเราต่างเห็นแรงกระตุ้นอยู่รอบๆ ตัวเราทุกวัน

ลองดูที่ หนังสือนามสงเคราะห์ของหอการค้าในท้องถิ่น และดูที่จำนวนองค์กรที่มีความรู้สึกถึงความเป็นชุมชน ทั้งกลุ่มสาธารณะ สมาคม และองค์กรศาสนา ประชาชนต่างระบุว่าเราเป็นใคร โดยเชื่อมโยงว่าสัมพันธ์กับองค์กรเหล่านี้ เช่น "ผมเป็นโรตาเรี่ยน", "ผมเป็นแบบติชส์", "ผมเป็นสมาชิกของกลุ่มสวน", เราระบุคนอื่นด้วยการระบุถึงชุมชนของเขา

"ผมเป็นคนเบอร์ลินคนหนึ่ง" เป็นคำพูดที่ประธานาธิบดีเคนเนดี กล่าวกับคนเยอรมันตะวันตกในระหว่างที่มีความขัดแย้งอย่างสูงในเรื่องกำแพงเบอร์ลิน

เพราะว่าคำว่า "ชุมชน" โดยทั่วไปมีความหมายในทางบวก ประชาชนรู้สึกเสียใจที่สูญเสียความรู้สึกถึงความเป็นชุมชนไป มีพลเมืองที่มีชีวิตอย่างแตกกระจาย พวกเขาต่างกังวลว่าประชาชนจะมีความห่างเหินจากคนอื่นๆ และจากชุมชนมากขึ้น "พวกเราไม่มีเพื่อนบ้าน" ผู้หญิงคนหนึ่งจาก ริชมอนด์ กล่าวอย่างเศร้าๆ "คุณสามารถ กล่าวสวัสดีคนอื่น แต่ไม่รู้จักพวกเขาจริงๆ" เราต่างสูญเสียทั้งการแบ่งปันและการเข้าถึงซึ่งกันและกัน ผู้ชายคนหนึ่งจาก ฟิลลาเดอเฟีย ให้เหตุผลว่า "พวกเราต่างเคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลา เมื่อสามเดือนที่แล้ว บ้านสามหลังในล็อคที่ 3 ถูกขายไป" เมื่อเพื่อนบ้านเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง พอมืดลงก็ปิดประตูเข้าบ้านกันหมด พวกเขากลัว และยังไม่มีอะไรต้องสนใจในคนอื่นๆ

การขาดซึ่งความเป็นชุมชน เป็นการทำลายล้างทางการเมือง การแก้ปัญหาชุมชนที่มีประสิทธิผล ต้องการสถานที่ที่พลเมืองจะสามารถมาร่วม และจัดการกิจกรรมร่วมกัน เหมือนกับที่ชายคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า "หนทางที่มีอิทธิพล คือ การรวมกลุ่มด้วยกัน" แต่เขาก็สรุปอย่างเศร้าๆ ว่า "พวกเราขาดความรู้สึกถึงความเป็นชุมชน พวกเรายุ่งมากไปกับชีวิตข้างนอก และพวกเราไม่เคยรวมกลุ่มทำงานร่วมกัน พวกเรามีปัญหาที่ใหญ่" นักวิชาการพูดภาษาที่แตกต่างออกไป แต่ในความหมายเดียวกันว่า "ความผูกพันกับชุมชน คือ สาระสำคัญของการปกครองดูแลกันเอง เพราะว่า มันผูกพลเมืองให้มีวิถีชีวิตร่วมกัน มากกว่าการทำงานส่วนตัว" และเพราะว่ามันบ่มเพาะ "นิสัยของการเข้าร่วมเรื่องส่วนรวม" (15)

ทั้งที่ความกังวลเกี่ยวกับการสูญเสียความเป็นชุมชน เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย พลเมืองบางคนกำลังค้นพบความสำเร็จของการทำงานร่วมกันในประเด็นสาธารณะ ในข้อเท็จจริงก็คือ ประชาชนจำนวนมากที่กังวลเกี่ยวกับชุมชนที่กำลังล่มสลาย ต่างเป็นพยานถึงการมีส่วนร่วมในงานในชุมชนของเขาเอง

4. ชุมชนและการแก้ปัญหา
ใช่หรือไม่ว่า มันเป็นเพียงนิยายเพ้อฝันถึงการมีอยู่ของชุมชนที่ปรองดองสามัคคี เป็นพวกเดียวกัน ซึ่งไม่เคยมีอยู่จริงในสังคมที่หลากหลายกลุ่มหลายพวก และสังคมที่แข่งขัน เมื่อประชาชนพูดถึงความต้องการที่จะสร้างความเข้มแข็งในความรู้สึกถึงความเป็นชุมชน พวกเขาหมายถึงการย้อนยุคกลับไปยังสถานที่เฉพาะหนึ่งๆ ทางกายภาพหรือเปล่า แน่นอนย่อมมีคนพูดอย่างนั้นแน่

บางคนแย้งว่า ทางเดียวที่จะทำให้เมืองทำงานได้คือ ต้องทำให้มีรัฐบาลของชุมชนขนาดเล็ก เล็กพอที่เราจะสามารถตัดสินใจในประเด็นสำคัญที่สุดด้วยการออกเสียงโดยตรง ประวัติศาสตร์แสดงให้เราเห็นแล้วว่า เล็กๆ นั้นสวยงาม (small is beautiful) (16)

สำหรับบางคน "ชุมชน" มีความหมายแตกต่างออกไปเล็กน้อย การเป็นชุมชนไม่ได้หมายถึง การอยู่อย่างโดดเดียวคนเดียว แต่ต้องสัมพันธ์กับคนอื่นๆ สิ่งที่ประชาชนต้องการมิใช่ความเข้ากันได้เป็นเนื้อเดียว หรือควรมีความแตกต่าง แต่เป็นเรื่องของการมีความเอาใจใส่และเข้าใจกันและกัน พวกเราชอบความสัมพันธ์แบบรวมหมู่ เพราะว่า การติดต่อสื่อสารระหว่างพวกเรานั้นเป็นแบบเห็นหน้าเห็นตากัน และเป็นส่วนตัว ไม่ใช่เป็นไปรูปแบบราชการที่อยู่ในรูปของสถาบัน

บางคนก็มีปฏิกิริยาทางลบกับ "ชุมชน". ชุมชนคือเมืองเล็กๆ ซึ่งเติบโตใหญ่ขึ้น และมีการอพยพออกไป, หรือไม่ก็ว่า ชุมชนเป็นเรื่องหลอกลวงที่เข้ามายื้อแย่งเสรีภาพของปัจเจก, หรือไม่ก็ ชุมชนอาจหมายถึง กลุ่มคนที่มีลักษณะเหมือนๆ กัน และปฏิบัติคล้ายๆ กัน. ชุมชนอาจหมายถึงเรื่องที่แคบระดับตำบล. ในความเห็นของ ดาเนียล บูนี อเมริกันชนบางคนเป็นปัจเจกนิยม พวกเขาต้องการอยู่คนเดียวเพื่อตามหาสิ่งที่พวกเขาสนใจ พวกเขาเป็นคนที่น่านับถือ และชุมชนไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญของพวกเขา

จริงๆ แล้ว ความรู้สึกเป็นชุมชนไม่ได้เป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ในทางการเมือง บางชุมชนรวมตัวกันเป็นหนึ่งเพื่อต่อต้านการรุกรานจากภายนอก ทุกๆ วันเราอ่านข่าวสารเกี่ยวกับชุมชน ที่พวกเขาพบความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวจากการร่วมกันต่อสู้ทั้งในเรื่องที่กลบฝังขยะ หรือ คุก ลักษณะเช่นนี้เป็นปฏิบัติการของชุมชนที่เรียกว่า ปฏิบัติการแบบคุ้มครอง ในความรู้สึกเช่นนี้ ชุมชนมีขนาดเล็ก มีการบริการตัวเอง และมีการป้องกันตัว

แน่นอนว่า ชุมชนมีกลุ่มผลประโยชน์ที่จะลำเอียง เฉพาะเรื่องที่จะมีผลกระทบต่อสมาชิก หรือมีประโยชน์ตามสายตาของพวกเขา ชุมชนสามารถหมายถึง ผม และของผม ที่เป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องพวกเรา จาก คุณ และพวกของคุณ

พวกเราส่วนใหญ่อาจมีประสบการณ์เกี่ยวกับชุมชน ซึ่งมีทั้งเรื่องอยากที่จะหลีกเลี่ยง และเรื่องอยากที่จะเข้าร่วม เราไม่เลือกอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง และนี่แหละอเมริกันชนที่ภูมิใจในความเป็นปัจเจกชน นอกจากนี้พวกเขายังชอบที่จะเป็นเจ้าของบางอย่างที่ใหญ่กว่าเขา แต่มิใช่เพื่อการปกป้องเขาจากภายนอก ความรู้สึกของชุมชนที่สร้างสรรค์อย่างที่สุดของพวกเรา ดูเหมือนจะเป็นหนทางเฉพาะที่จะสัมพันธ์กับคนอื่น มิใช่เกิดเฉพาะเมืองใดเมืองหนึ่ง

บ่อยครั้งนี่เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ดังนั้นที่ตั้งของ "ชุมชน" จึงเป็นพื้นที่ที่พวกเราไปพูดคุยกันถึงปัญหาร่วมกัน (17) มีชนิดของสมาคมที่หลากหลาย และในความสัมพันธ์ที่เรามีนั้นเป็นเรื่องทางการเมือง (เรื่องของส่วนรวม) มากกว่าเรื่องส่วนตัว ซึ่งนั่นหมายถึงเรากำลังพูดถึงชุมชนในทางการเมือง

สมาคมของพลเมือง ก็คือการที่พลเมืองเข้าร่วมแก้ปัญหาของส่วนรวม ซึ่งเป็นชุมชนทางการเมืองรูปแบบหนึ่ง และก็ไม่เหมือนเสียทีเดียวกับสิ่งที่ Edmund Burke ว่า เป็นหมวดทหารเล็กของครอบครัวและของละแวกชุมชน ขณะเดียวกันก็ไม่ได้เป็นกลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะเรื่อง แต่ประกอบด้วยประชาชน ซึ่งมีมุมมองที่หลากหลายที่ต้องการให้ชีวิตของชุมชนดีขึ้น สมาคมเหล่านี้มีชื่อคล้ายกับ "ชุมชนคน St. Louis", "เปลี่ยนแปลงเป็นหนึ่งเดียว" และ "มิสซิสซิบปี้ต้องมาก่อน".

พวกเขาอยู่ในชุมชนที่มีประวัติศาสตร์และกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นย่าน, ละแวก, เมือง, รัฐ หรือประเทศ และข้อเท็จจริงก็คือ เมืองและรัฐของเราที่เข้มแข็ง ดูเหมือนจะประกอบด้วยเครือข่ายของสมาคม ซึ่งเครือข่ายเหล่านี้ได้สร้างระบบการแผ่ซ่านของการเมืองภาคพลเมือง

5. ทำไมประชาชนต้องมีส่วนรวม
แน่นอนว่าคำถามสำคัญ ย่อมไม่ใช่การถามหาความหมายทั้งหมดของชุมชมว่า คืออะไร? หากแต่ คือ การถามว่า ทำไมประชาชนต้องเข้าร่วมในการเมืองภาคพลเมืองเพื่อการแก้ไขปัญหาสาธารณะ ในเมื่อพวกเขาเบื่อหน่ายและพยายามหลีกเลี่ยงการเมืองของรัฐบาล? ผู้เข้าร่วมในการเมืองภาคพลเมืองค่อนข้างชัดเจนในเหตุผลของตัวเอง เขากล่าวว่า "เมื่อผมเข้าไปมีส่วนร่วม อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง" ดังรายงานที่กล่าวถึง ความรู้สึกถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ไม่ได้มีมากไปกว่า ความรู้สึกว่ามีโอกาสที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

5.1 พลังของสิ่งที่อาจเป็นไปได้
มีสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในการเมืองภาคพลเมือง เพราะว่าประชาชนสามารถทำได้มากกว่าการเป็นผู้สังเกตการณ์ของระบบการเมือง พลเมืองต้องการมีพันธะทางการเมือง พวกเขาต้องการมีส่วนในการระบุประเด็นที่มีผลต่อชีวิต และต้องการได้ยินสิ่งที่คนอื่นคิดเกี่ยวกับในประเด็นนี้ พวกเขาต้องการนั่งคุยอย่างใกล้ชิดกับคนเหล่านี้ พวกเขาต้องการทำมากไปกว่าการเขียนจดหมาย การสำรวจ หรือการลงคะแนนเสียงในวันเลือกตั้ง

ความรู้สึกถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้น ได้พัฒนาประเด็นที่จะปลุกเร้า ซึ่งมีความหมายต่อการดำเนินชีวิตในทุกๆ วัน ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่ประชาชนมีส่วนได้ส่วนเสีย บางครั้งประเด็นทางนโยบายก็พูดอย่างมั่วๆ ด้วยภาษาทางเทคนิค หรือวลีแบบราชการ ซึ่งประชาชนต้องแปลภาษาเหล่านี้ให้อยู่ในภาษาที่จะเข้าใจได้ เพื่อที่จะหาว่ามันมีคุณค่าอย่างไรต่อพวกเขา ถ้าพวกเขาสามารถทำได้ พวกเขาก็จะเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น

ประชาชนเห็นถึงสิ่งที่อาจเป็นไปได้เช่นกัน เมื่อพวกเขาเชื่อว่าเขามีสิทธิมีเสียง แม้ว่าอเมริกันชนจะเห็นโอกาสเพียงเล็กน้อยของการมีสิทธิมีเสียงในการเมืองรูปแบบปกติ. ในการทำ focus group ของ Hardwood หลายคนกล่าวว่า พวกเขาเลือกที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาชุมชน เพราะว่าสิ่งที่พวกพูดมีน้ำหนักและมีคุณค่า

ประชาชนยังเห็นสิ่งที่อาจเป็นไปได้ในทางการเมือง เมื่อพวกเขาได้สัมผัสกับปัญหาอย่างแท้จริง พวกเขาไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เฉพาะเรื่องการออกเสียงเลือกตั้ง ที่ทำให้เขากังวลว่าจะไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น หรือต้องส่งจดหมายร้องเรียน เมื่อกลัวว่าไม่มีใครเอาจริงเอาจังกับปัญหาที่เกิดขึ้น. ประชาชนสามารถลงมือทำได้โดยตรง พวกเขาสามารถสร้างแผนงานการเรียนรู้เพื่อช่วยโรงเรียน พวกเขาสร้างและจัดการทีมเบสบอลเพื่อเยาวชนที่ต้องการให้ผู้ใหญ่ชื่นชม พวกเขาสามารถทำโครงการถังเก็บขยะที่จะนำมาใช้ใหม่ พวกเขาสามารถขยายอิทธิพลส่วนตัว ด้วยการดึงคนอื่นเข้ามาร่วมทำงานในโครงการเพื่อส่วนรวม

เมื่อพวกเขายื่นมือเข้ามาในการเมือง ก็จะยิ่งเพิ่มความรู้สึกถึงการควบคุมได้ พวกเราต่างมีความเชื่อว่า พวกเราสามารถสร้างผลกระทบได้ ถ้าเราสามารถเข้าถึงปัญหาที่กระทบเราได้. อะไรคือสิ่งที่มีมากขึ้น เมื่อมือเราสัมผัสกับปัญหาที่นำเราให้เข้าไปใกล้มันมากขึ้น เหมือนกับที่พลเมืองท่านหนึ่งกล่าวว่า "มองที่ประสิทธิผลในงานของพวกเรา ในขณะที่พวกเราทำมัน" นี่คือสิ่งที่บอกถึงความรู้สึกว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปได้

5.2 การเมืองด้วยความเข้มแข็งที่หลากหลาย
ท้ายที่สุด ความรู้สึกถึงความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลง (สังคมให้ดีขึ้น) ได้เติบโตขึ้นท่ามกลางการทำงานร่วมกัน ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ทางการเมืองของพลเมือง การเป็นสมาคม และมีข้อผูกพันทำให้คนทั่วไป รู้สึกว่า พวกเขาสามารถจัดการกับปัญหานั้นได้ คนที่รู้สึกว่าโดดเดี่ยว จะรู้สึกไม่มีความหวัง การเมืองภาคพลเมืองเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างสำหรับการปฏิบัติการร่วมกัน และรู้สึกว่าการปฏิบัติการร่วมกันนั้นเกิดประสิทธิผล

เหมือนกับที่คนๆ หนึ่ง กล่าวว่า "ผมรู้สึกว่าการทำอะไรแบบต่างคนต่างทำนั้น จะไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรได้" และเขาก็เพิ่มเติมอีกว่า "การรวมกลุ่มนั้น ทำให้พวกเรามีเสียง". การทำงานที่ร่วมไม้ร่วมมือกับคนอื่นๆ นั้นจะช่วยกระตุ้นคนทั่วๆ ไปด้วย เมื่อถูกถามว่า ทำไมพวกเขาจึงเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการที่เป็นสาธารณะ เขาจะตอบเช่น "ผมมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น", "ผมทำกิจกรรมร่วมกับบางคน", "คุณจะรู้สึกว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของสรรพสิ่ง"

ข้างต้นคือความพยายามจะเชื่อมโยงประเด็นระหว่าง ความรู้สึกถึงความเป็นไปได้, ความรู้สึกถึงการเป็นชุมชน, และกิจกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหา. การได้แก้ไขปัญหาร่วมกันจะทำให้เกิดความรู้สึกถึงการเป็นชุมชน แม้ว่าคนทั่วไป ที่พวกเราทำงานด้วย จะไม่ใช่คนในละแวกบ้านก็ตาม พวกเราอาจจะไม่มีความรู้สึกว่าเป็นหนึ่งเดียวกันทางสังคม แต่พวกเราสามารถมีความรู้สึกของความเป็นเอกภาพทางการเมือง เริ่มจากสิ่งที่สามารถทำได้ก่อน การได้ลงแรง ลงทุน ในการแก้ไขปัญหาชุมชน จะช่วยสร้างผู้ประกอบการในการสร้างชุมชนขึ้นเอง

+++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) แปลจาก บทที่ 7 Politics : That Is Not Called Politics จากหนังสือ Politics for People เขียนโดย David Mathews

(2) The Hardwood Group. Citizen and Politic : A View from Main Street America. Dayton: Kettering Foundation, 1991 p. 41-50

(3) ตามการสำรวจของ Gallup-Independent Sector ซึ่งทำในปี 1989 ประมาณว่ามี อาสาสมัครชาวอเมริกัน 98.4 ล้านคน ทำงานเฉลี่ย 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และเพิ่มขึ้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก 23 เปอร์เซนต์ในช่วง 3 ปี ในการทำงานอาสาสมัคร 11 รูปแบบ ซึ่งรวมถึง กลุ่มองค์กรศาสนา กลุ่มการศึกษา กลุ่มการเมือง ดู ใน Quigley, Charles N.,ed., Civitas : A Framework for Civic Education., Calabasas: Center for Civic Education 1991 p.76-78 (หมายเหตุ : ท่านที่สนใจ การสำรวจเรื่องอาสาสมัครล่าสุดของอเมริกา ปี 2007 ซึ่งใช้ ตัวชี้วัดที่เรียกว่า Civic Life Index โปรดดู http://www.nationalservice.gov/about/volunteering/index.asp - ผู้แปล)

(4) Conover, Pamela J., Ivor M.Crewe, and Donald M.Searing, "The Nature of Citizenship in the United States and Great Britain: Empirical Comments on Theoretical Themes," Journal of Politics 53 (August1991): p.800-832

(5) Moore, Carl M. A Working Paper on Community. Fairfax : National Conference on Peacemaking and Conflict Resolution, 1991 p.5

(6) Oreskes, "Alienation from Government Grows, Poll Finds."

(7) Brecher, Jeremy and Tim Costello, eds., Building Bridge : The Emerging Grassroots Coalition of Labor and Community. New York : Monthly Review Press, 1990 p.94.

(8) Gurwitt, Rob. "The Rule of the Absentocracy : The Eclipse of Hometown Leadership and How Some Places Are Coping with It," Governing 4 (September 1991): p.52-58

(9) Rappetto, Thomas A. "About Crime; with Order Come Safety," Newsday June 5, 1990 p.58.

(10) Gardner, "Building Community," Kettering Review (Fall 1989) p.73-81

(11) Leo, John. "Community and Personal Duty," U.S. News and World Report. January 28,1991 p.17.

(12) Yankelovich, New Rules : Searching for Self-Fulfillment in a World Turned Upside Down. New York: Random House, 1981 p.121-22

(13) Barber, Benjamin R. "The Civic Mission of the University," Kettering Review (Fall 1989) : p.62-72

(14) Yankelovich, Daniel. New Rules : Searching for Self-Fulfillment in a World Turned Upside Down. New York: Random House, 1981 p.118-9

(15) Sandal, Michael J. "Democrats and Community : A Public Philosophy for American Liberalism" New Republic, February 22, 1988 p.20

(16) See Bryan and McClaughry, The Vermont Papers : Recreating Democracy on a Human Scale. Chelsea: Chelsea Green Publishing Co.,1989.

(17) McKnight, John "DO No Harm : Policy Options That Meet Human Need" Social Policy 20 (summer 1989) 5-15


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

แรงผลักดันที่สร้างความเป็นเจ้าของ และการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน คือแรงผลักดันของ มนุษยชาติที่เก่าแก่และลึกซึ้งที่สุด โดยข้อเท็จจริงความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในครอบครัวและชุมชนทางการเมือง เป็นส่วนหนึ่งของความหมายของการเป็นมนุษย์ พวกเราต่างเห็นแรงกระตุ้นอยู่รอบๆ ตัวเราทุกวัน. ลองดูที่ หนังสือนามสงเคราะห์ของหอการค้าในท้องถิ่น และดูที่จำนวนองค์กรที่มีความรู้สึกถึงความเป็นชุมชน ประชาชนต่างระบุว่าเราเป็นใคร โดยเชื่อมโยงว่าสัมพันธ์กับองค์กรเหล่านี้ เช่น "ผมเป็นโรตาเรี่ยน", "ผมเป็นแบบติชส์" (คัดมาจากบทความ)
09-05-2550

Politics for People
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.