บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
Annales School
Midnight University
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับงานเขียนประวัติศาสตร์
Annales School
The Annales School: การปฏิวัติงานเขียนประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส
อธิป
จิตตฤกษ์: เขียน
นักวิชาการอิสระ สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความวิชาการต่อไปนี้
กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
ซึ่งเก็บความมาจากสารานุกรมวิกีพีเดีย และโดยเฉพาะงานของ Peter Burke เรื่อง
The French Historical Revolution: The Annales School, ๑๙๒๙-๘๙
โดยสาระสำคัญของงานชิ้นนี้ เป็นการปูพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับงานเขียน
ประวัติศาสตร์ซึ่งเน้นการผนวกรวมกับศาสตร์อื่นๆ อาทิ ภูมิศาสตร์, สังคมวิทยา,
จิตวิทยา,เศรษฐศาสตร์, ภาษาศาสตร์, มานุษยวิทยา ฯลฯ เข้ากับงานประวัติศาสตร์
และยังสนใจแนวทาง Problem-Oriented History เข้ามาแทนที่งานเขียน
ประวัติศาสตร์ที่บรรยายเหตุการณ์สำคัญต่างๆ แบบ narrative
สาระสำคัญของบทความชิ้นนี้ประกอบด้วยหัวข้อดังต่อไปนี้
- ทำความเข้าใจ The Annales School
- คนรุ่นแรก: ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒
- คนรุ่นที่สอง: หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ถึงพฤษภาคม ๑๙๖๘
- คนรุ่นที่สาม: หลังพฤษภาคม 1968
- Annales School ในบริบทโลก
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๓๙๐
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๙.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับงานเขียนประวัติศาสตร์
Annales School
The Annales School: การปฏิวัติงานเขียนประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส
อธิป
จิตตฤกษ์: เขียน
นักวิชาการอิสระ สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
"In fact, the use of contemporary French thought could be utilized from many areas, especially history Why do Thai studies experts ignore the work of European history? In fact, the works of French historians could be useful as well, probably much more so than Foucault which is often incomprehensible "
( ธเนศ วงศ์ยานนาวา)
ความนำ
บทความนี้เขียนมาเพื่อเป็นรากฐานให้นักสังคมศาสตร์ไทยรุ่นใหม่ๆ นั้นหันมาสนใจและใช้ประโยชน์จากงานประวัติศาสตร์สังคม/
วัฒนธรรม ของยุโรปมากขึ้น ทั้งนี้ผู้เขียนเล็งเห็นประโยชน์ของงานประวัติศาสตร์เหล่านี้จากข้อเสนอของ
ธเนศ วงศ์ยานนาวา -ทั้งจากข้อเขียนและคำบรรยาย- ในขณะเดียวกันผู้เขียนก็พบว่า
Annales School นั้นเป็นพื้นที่อันมืดดำที่นักสังคมศาสตร์ไทยรุ่นใหม่จำนวนมากไม่เยื้องย่างเข้ามา
ด้วยเหตุของการปราศจากข้อมูลเบื้องต้นที่เพียงพอ งานชิ้นนี้จึงพยายามจะเป็นแสงอันริปหรี่ที่จะส่องนำคลำทางให้นักสังคมศาสตร์ไทยรุ่นใหม่ให้รู้ทิศทางและภาพรวมๆ
ของอาณาจักรของ Annales School เพื่อที่จะได้ตั้งหลักศึกษางานในสายนี้ และนำไปประยุกต์ใช้กับงานทางสังคมศาสตร์ต่อไป
ทั้งนี้ตัวผู้เขียนเองนั้นเป็นนักสังคมศาสตร์ที่ไม่เคยได้รับการฝึกฝนมาทางประวัติศาสตร์
ดังนั้นจึงเขียนสิ่งเหล่านี้จากมุมมองของนักสังคมศาสตร์ ที่พยายามจะใช้งานประวัติศาสตร์เพื่อความเจริญงอกงามทางวิชาการโดยทั่วไป
หากมีสิ่งผิดพลาดไปในมาตรฐานทางวิชาการของประวัติศาสตร์โดยเฉพาะ ผู้เขียนต้องขออภัยมา
ณ ที่นี้ด้วย
ทำความเข้าใจ The Annales
School
The Annales School (1) หากจะกล่าวโดยสังเขป คงเรียกได้ว่าเป็น ประวัติศาสตร์นิพนธ์
(Historiography) สกุลหนึ่งที่มีอิทธิพลมากในคริสตศตวรรษที่ 20 โดยที่จุดเด่นของประวัติศาสตร์นิพนธ์ในสกุลนี้คือ
1. การแทนที่ประวัติศาสตร์แบบเล่าเหตุการณ์สำคัญไปเรื่อยๆ (Narrative of Events)
ด้วยประวัติศาสตร์ที่ปรับสู่ปัญหาและเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง (Problem-Oriented History)
2. การแทนที่ประวัติศาสตร์การเมืองด้วยประวัติศาสตร์ของกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์
3. การผนวกศาสตร์อื่นๆ อาทิ ภูมิศาสตร์, สังคมวิทยา, จิตวิทยา, เศรษฐศาสตร์, ภาษาศาสตร์, มานุษยวิทยาสังคม ฯลฯ
เข้าไปกับงานประวัติศาสตร์
ลักษณะเหล่านี้ของ Annales School นั้นส่งผลให้เกิดประวัติศาสตร์นิพนธ์ในรูปแบบใหม่ที่สามารถเปิดมุมมองต่ออดีตที่ต่างออกไปขึ้นมาได้ ซึ่งแนวทางดังกล่าวมีอิทธิพลต่องานในสายประวัติศาสตร์สังคม / วัฒนธรรม ในเวลาต่อมาเป็นอย่างสูง
อย่างไรก็ดี นั่นไม่ได้หมายความว่า Annales School นั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นของการหันกลับมาศึกษาสังคมและวัฒนธรรมในวงการประวัติศาสตร์ อันที่จริงแล้ว ความเป็นมาของการสนใจประวัติศาสตร์ในแบบอื่นๆ นอกจากประวัติศาสตร์การเมือง (ที่ว่าด้วยเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ในประวัติศาสตร์) นั้นเป็นสิ่งที่เริ่มขึ้นอย่างชัดเจนแล้วในคริสตศตวรรษที่ 19 (งานของ Jules Michelet และ Jakob Burckhardt นั้นเป็นตัวอย่างที่ดี) ในช่วงกลางๆ คริสตศตวรรษที่ 19 มีการโจมตีประวัติศาสตร์การเมืองอย่างหนักหน่วง และหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงครึ่งหลังของคริสตศตวรรษที่ 19 สิ่งที่คนเรียกร้องให้มาแทนประวัติศาสตร์การเมืองก็คือ ประวัติศาสตร์ที่ให้ภาพชีวิตของคนจำนวนมาก (อันไม่ใช่ "มหาบุรุษ" ผู้ขบับเคลื่อนประวัติศาสตร์) ที่มีชีวิตอยู่ในอดีตไปจนถึงมิติอื่นๆ ของสังคมในอดีต
ซึ่งสิ่งที่มาตอบตรงนี้คือ ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ และประวัติศาสตร์สังคม งานเหล่านี้ได้ปรากฏตัวขึ้นมามากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดครึ่งหลังคริสตศตวรรษที่ 19 อาจเรียกได้ว่า วงการประวัติศาสตร์นั้นมีกระแสความต้องการ "ประวัติศาสตร์แบบใหม่" อย่างชัดเจนแล้วเมื่อก้าวเข้าสู่คริสตศตวรรษที่ 20
The First Generation:
Before The Second World War
คนรุ่นแรก: ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒
Lucien Febvre และ Marc Bloch ซึ่งเป็นสองผู้ก่อตั้ง (Founding Fathers) ของ
Annales School ได้รับการศึกษามาในบรรยากาศทางภูมิปัญญาแบบนี้ คนทั้งสองเป็นผลผลิตของ
Ecole Normale Superieure โดยที่ Febvre แก่กว่า Bloch ราว 8 ปี
Febvre นั้นเข้าศึกษาใน Ecole Normale Superieure ในปี 1897 บรรดาอาจารย์ของเขาที่ทรงอิทธิพลทางความคิดของเขาได้แก่ Paul Vidal de la Blache นักภูมิศาสตร์ที่สนใจในการร่วมมือกับศาสตร์อื่นๆ อย่างสังคมวิทยาและประวัติศาสตร์, Lucien Levy Bruhl นักปรัชญาและนักมานุษยวิทยาที่สนใจรูปแบบการคิดของกลุ่มชนดั้งเดิม (Primitive Mentality) , Emile Male นักประวัติศาสตร์ศิลปะที่สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของภาพที่ปรากฏ (Image), Antoine Meillet นักภาษาศาสตร์ที่สนใจมิติทางด้านสังคมของภาษา (เกร็ดที่น่าสนใจคือ Febvre ไม่ชอบ Henri Bergson มากๆ) ในขณะเดียวกัน Bloch นั้นแม้ว่าจะมีอาจารย์ร่วมกับ Febvre บางคน แต่คนที่มีอิทธิพลทางความคิดกับเขาที่สุดกลับเป็น Emile Durkheim นักสังคมวิทยาคนสำคัญ
เมื่อทั้งสองจบการศึกษาจาก Ecole Normale Superieure แล้วต่อมาก็ได้มาประจำที่ Strasbourge อันเป็นมหาวิทยาลัยเปิดใหม่ ในช่วงเวลาระหว่างปี 1920 -1933 ที่ทั้งคู่ประจำอยู่ที่นี่นั้น เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากๆ ของ Annales School ถึงแม้ว่าทั้งสองนั้นจะไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในประวัติศาสตร์ยุคเดียวกัน (Febvre นั้นเชี่ยวชาญคริสตศตวรรษที่ 16 ส่วน Bloch นั้นเชี่ยวชาญยุคกลาง) แต่ความสนในการพยายามสร้างงานประวัติศาสตร์ในแบบใหม่นี้ ก็ได้กระตุ้นให้ทั้งสองมาแลกเปลี่ยนความรู้กันอย่างจริงจัง นอกจากนั้นแล้ว ทั้งสองยังได้แลกเปลี่ยนกับนักวิชาการในสาขาอื่นๆ ที่ประจำอยู่ที่ Strasbourge อีกด้วย
ที่สุดทั้งสองก็ได้ผลิตวารสาร Annales d'histoire Economique et sociale ออกมาในปี 1929 ซึ่งจัดเป็นกระบอกเสียงสำคัญของนักประวัติศาสตร์พันธุ์ใหม่ ในฉบับแรกๆ วารสารเน้นประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ต่อมาไม่นานในปี 1930 ทางวารสารก็ได้ประกาศชัดเจนว่าจะทำการเน้นประวัติศาสตร์สังคมเป็นหลัก
วารสารนี้สร้างอิทธิพลทางปัญญากว้างขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งก็สร้างชื่อให้ Febvre และ Bloch มากจนทั้งคู่ได้ตำแห่งที่ดีขึ้น. Febvre นั้นได้ตำแหน่งที่ College de France ในปี 1933 ส่วน Bloch นั้นย้ายไปที่ Sorbonne ในปี 1936 ซึ่งในระดับหนึ่งแล้วในทางกลับกัน อันนี้ได้เป็นการแสดงถึงการได้รับการยอมรับของ Annales ในวงวิชาการในฝรั่งเศส
ในช่วงทศวรรษที่ 30's ทั้ง Bloch และ Febvre ได้มีการสร้างลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมากที่จะสืบทอดเจตนารมณ์ของพวกเขา Febvre เองนั้นนอกจากจะทำการสนับสนุน"ประวัติศาสตร์ใหม่"แล้ว เขายังได้โจมตีประวัติศาสตร์แบบเก่าและศัตรูทางวิชาการอื่นๆ ของเขาอย่างหนักหน่วงด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เห็นได้จากงานเขียนของ Febvre ในช่วงทศวรรษที่ 30's-40's. ทางด้าน Bloch นั้นได้จบชีวิตไปในช่วงสงคราวโลกครั้งที่ 2 ในช่วงที่เยอรมันบุกเข้ายึดฝรั่งเศส Bloch ถูกพวกเยอรมันจับได้และถูกยิง ซึ่งนี่ก็อาจเป็นเพราะความผิดของเขามีถึง 2 กระทงด้วยกันคือ เขาเป็นทั้ง"ยิว" และ"ฝ่ายต่อต้าน"
สำหรับงานชิ้นสำคัญของทั้งสองนั้นอาจกล่าวคร่าวๆ
ได้ดังนี้
ช่วงแรก
Febvre ได้เขียนงานชิ้นสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์พ่วงภูมิศาสตร์ คือ
A Geographical Introduction to History (1922/1925) (2) งานชิ้นนี้แสดงจุดยืนของ
Febvre ในการปฏิเสธแนวคิดนิยัตินิยมทางภูมิศาสตร์ (Geographical Determinism)
อย่างชัดเจน Febvre ไม่เชื่อว่ามนุษย์นั้นง่อยเปลี้ยอยู่ในกรงขังของภูมิศาสตร์อย่างไร้ทางต่อต้าน
เขาเห็นว่าคนต่างหากที่จะกำหนดว่า ลักษณะทางภูมิศาสตร์ต่างๆ จะนำไปสู่อะไร ตัวอย่างที่เขาชอบยกที่สุด
ได้แก่ ตัวอย่างเรื่องแม่น้ำ เขาตั้งข้อสังเกตว่า สังคมหนึ่งอาจเห็นว่ามันเป็นสิ่งกีดขวาง
ในขณะที่อีกสังคมอาจเห็นว่ามันเป็นเส้นทางคมนาคมก็ได้
ส่วน Bloch นั้นในช่วงแรก งานสำคัญของเขาคือ The Royal Touch (1924/1973) ซึ่งเป็นการศึกษา ความเชื่อที่ว่า กษัตริย์ในยุคกลางนั้นสามารถรักษาวัณโรคต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ (Scrofula) ได้ด้วยการสัมผัส. งานชิ้นนี้พยายามจะลงไปศึกษาความคิดของผู้คนที่ไปให้กษัตริย์รักษาด้วยการสัมผัส มีการกล่าวกันว่า งานชิ้นนี้เป็นงานประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของคริสตศตวรรษที่ 20. จุดเด่นของงานชิ้นนี้มี 3 ประการด้วยกัน
ประการแรก งานชิ้นนี้เป็นงานศึกษาประวัติศาสตร์ในแบบระยะยาว (Long-Term หรือ Longue Duree) ซึ่งจริงๆ แล้วขอบเขตการอธิบายของงานไม่ได้อยู่ในยุคกลางเท่านั้น เพราะ "สัมผัสของเจ้า" นั้น ได้เหลือรอดมาอย่างต่ำก็ถึงคริสตศตวรรษที่ 17
ประการที่สอง งานชิ้นนี้เข้มข้นไปด้วยการวิเคราะห์ในเชิงจิตวิทยาและสังคมวิทยา เกี่ยวกับความเชื่อในเรื่อง "สัมผัสของเจ้า" ซึ่งก็เป็นการวิเคราะห์ในแบบที่แหวกแนวมากๆ สำหรับวงการประวัติศาสตร์ในสมัยนั้น
ประการที่สาม งานชิ้นนี้จัดอยู่ในงานประเภท "ประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ" (Comparative History) (ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส) ซึ่งในยุคดังกล่าว ถือว่าเป็นสิ่งที่ใหม่มากเช่นกันในการศึกษาประวัติศาสตร์เชิงเปรียบเทียบนี้
ช่วงหลัง
ผลงานหลังๆ ที่สำคัญของ Febvre ได้แก่ งาน The Problem of Unbelief in the Sixteenth
Century (1942/1983) ที่เขาพยายามจะโต้แย้งแนวคิดที่ว่านักเขียนในคริสตศตวรรษที่
16 อย่าง Francois Rabelais นั้นเป็นพวกไม่เชื่อในพระเจ้า (Atheist) Febvre แย้งว่าจริงๆ
แล้ว Rabelais นั้นเป็นคริสเตียนที่เดียดฉันท์โบสถ์ (Church) และรูปแบบที่แสดงออกต่างๆ
ของศาสนา แต่ยังเชื่อในแก่นของศาสนา ยิ่งไปกว่านั้น Febvre ยังขยายความต่อไปว่า
ในยุคสมัยนั้นการไม่เชื่อ (Unbelief) นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะมันอยู่นอกเหนือกรอบคิดของคนในยุคดังกล่าว
ส่วนทางด้าน Bloch มีงานชิ้นสำคัญในช่วงหลังสองชิ้นคือ
- French Rural History (1931/1966) และ
- Feudal Society (1939-40/1961)
งานชิ้นแรกเป็นการพยายามศึกษาประวัติศาสตร์ "วัฒนธรรมชนบท" (Rural Culture) ของฝรั่งเศส ด้วยข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งเป้าหมายการศึกษาในประเด็นนี้ เป็นสิ่งที่แปลกในยุคสมัยที่งานประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสมัยนั้นมีแต่เรื่องเกษตรกรรม, ไพร่ติดที่ดิน หรือทรัพย์สินที่ดิน นอกจากนี้แล้วงานชิ้นดังกล่าวยังโดดเด่นในการ "อ่านประวัติศาสตร์ถอยหลัง" (Read History Backwards) อีกด้วย (แม้ว่า Bloch จะไม่ใช่คนที่ริเริ่มเทคนิคแบบนี้)
ส่วนงานชิ้นที่สองนั้น เป็นงานชิ้นใหญ่ที่พยายามศึกษาสังคมฟิวดัล(ศักดินา)โดยรวม หรือ พยายามจะศึกษา"วัฒนธรรมฟิวดัล"(The Culture of Feudalism) งานชิ้นนี้ของ Bloch ได้รับอิทธิพลแบบ Durkheim มาอย่างล้นหลาม ทั้งในระดับมโนทัศน์ที่หยิบยืม Durkhiem มาอย่างชัดเจนและทิศทางการวิเคราะห์ที่เน้นความเป็นปึกแผ่น ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคมในแบบ Durkheim งานชิ้นนี้มีความเป็นสังคมวิทยานำงานประวัติศาสตร์ร่วมรุ่นไปอย่างไกลโพ้น อย่างไรก็ดี ความเป็นสังคมวิทยาที่เข้มข้นของงานชิ้นนี้ กลับทำให้ Febvre นั้นเห็นว่างานชิ้นดักงล่าวเป็นสังคมวิทยามากเกินไป
อันที่จริงแล้ว Bloch นั้นเขียนมีงานอีกชิ้นในช่วงสุดท้ายชีวิตเขา ซึ่งไม่ใช่งานประวัติศาสตร์แต่เป็นประวัติศาสตร์นิพนธ์ (Historiography) อย่างไรก็ตาม เขาได้เสียชีวิตลงก่อนที่จะเขียนเสร็จ งานชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ออกมาในชื่อ The Historian's Craft (1949/1954) และในที่สุดงานที่ยังไม่เสร็จสิ้นชิ้นดังกล่าว ก็ได้รับการกล่าวขวัญในเวลาต่อมาว่า เป็นงานด้านประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่ดีที่สุดชิ้นหนึ่งในคริสตศตวรรษที่ 20
The Second Generation:
Post-WW II to May 1968
คนรุ่นที่สอง: หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงพฤษภาคม 1968
โดยทั่วๆ ไปแล้วการนับรุ่นของ Annales นั้นจะนับคร่าวๆ ว่ารุ่นที่สองจะเริ่มหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ส่วนรุ่นที่สามจะเริ่มตั้งแต่หลังเหตุการณ์ พฤษภาคม 1968 (*) แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคนในแต่ละรุ่นนั้นจะไม่ได้ผลิตงานในช่วงเวลาอื่นๆ
รุ่นสองบางคนก็ผลิตงานออกมาหลังปี 1968 , รุ่นสามบางคนก็ผลิตงานมาตั้งแต่ก่อนปี
1968 เป็นต้น อย่างไรก็ดีการนับรุ่นนั้นในส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับแนวทางการทำงาน
และช่วงเวลาที่คนเหล่านี้เข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นหลัก
(*) May 1968 is the name given to a series of protests
and a general strike that caused the eventual collapse of the De Gaulle government
in France. The vast majority of the protesters espoused left-wing causes,
but the established leftist political institutions and labor unions distanced
themselves from the movement. Many saw the events as an opportunity to shake
up the "old society" in many social aspects and traditional morality,
focusing especially on the education system and employment.
Annales ในรุ่นแรกนั้นคือ Febvre กับ Bloch อย่างไม่ต้องสงสัย. สำหรับรุ่นที่สองคนคือ Fernand Braudel ซึ่งก็นับว่าเป็นคนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดใน Annales และในช่วงเวลาของเขานี่เอง ที่เกิดเหตุการณ์สำคัญมากมายที่ทำให้ Annales ขยายตัว. ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง Febvre นั้นมีชื่อเสียงที่เขาสั่งสมมา ทำให้เขาได้รับตำแหน่งจากสถาบันต่างๆ จนทำให้เขาแทบไม่มีเวลาผลิตงานวิชาการ อย่างไรก็ดีสิ่งสำคัญ ที่สุดที่เขาได้สร้างไว้ก็คือการตั้งภาคที่หก (Sixth Section) ของ Ecole Pratique des Hautes Etudes ขึ้นมาในปี 1947 ซึ่งที่นี่จัดเป็น "ฐานทัพทางวิชาการ" ของ Annales School เลยทีเดียว Febvre นั้นแต่งตั้งบรรดามิตรและลูกศิษย์ของเขาเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ของภาคที่หก ซึ่งในบรรดาตำแหน่งที่สำคัญเหล่านั้น มีคนอย่าง Fernand Braudel อยู่ด้วย
Braudel นั้นจบการศึกษามาจาก Sorbonne เขาพบกับ Febvre ราวครึ่งหลังของทศวรรษที่ 30 ในขณะที่เขากำลังทำวิทยานิพนธ์อยู่ ซึ่ง Febvre รู้สึกถูกใจ Braudel มากขนาดรับเป็น "บุตรในทางวิชาการ" เลยทีเดียว. Braudel เขียนวิทยานิพนธ์ของเขาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในขณะที่เขาอยู่ในค่ายนักโทษสงคราม และในช่วงหลังสงครามงาน The Mediterranean and the Mediterranean World in the Age of Philip II (1949/1972-3) (3) ซึ่งนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า The Mediterranean เฉยๆ ก็เสร็จสิ้น. งานชิ้นนี้เป็นวิทยานิพนธ์ชิ้นมโหฬาร (ความยาว 600,000 คำ) ที่ว่าด้วยโลกเมอร์ดิเตอร์เรเนียนที่ Braudel นั้นหลงใหล. The Mediterranean ได้รับตีพิมพ์ออกมาในปี 1949 และมีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อทิศทางการทำงานประวัติศาสตร์ ดังนั้นเราจะลงไปในรายละเอียดของงานชิ้นนี้
The Mediterranean นั้นแบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ซึ่งประวัติศาสตร์ในแต่ละส่วนจะมี "ความเร็วในการเปลี่ยนแปลง" ที่ต่างกัน
- ส่วนแรก เป็นประวัติศาสตร์ภูมิประเทศ (Geo-History) ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงช้าที่สุด ไปจนถึงไม่เปลี่ยนแปลงเลย
- ส่วนที่สอง เป็นประวัติศาสตร์ที่หมุนไปช้าๆ ของโครงสร้างทางสังคม, เศรษฐกิจ, รัฐ และอารยธรรม
- ส่วนสุดท้าย เป็นประวัติศาสตร์การเมืองในแบบมาตรฐาน ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่สุด
จุดเด่นของงานชิ้นนี้ คือ การให้ความสำคัญแก่พื้นที่ (Space) อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในงานประวัติศาสตร์ เช่น การที่เขาใช้ทะเลเป็นตัวเอกของมหากาพย์ชิ้นนี้ แทนที่จะเป็นบุคคล, การพูดถึงเวลา (Time) ของ Braudel นั้นก็มีเอกลักษณ์มากๆ เขาแบ่งเวลาเป็น เวลาทางภูมิศาสตร์ (Geographical Time), เวลาทางสังคม (Social Time) และ เวลาของปัจเจก (Individual Time) นอกจากนี้แล้วเขายังเน้นแนวคิดที่จะกลายมาเป็นแนวคิดอันโด่งดังในนาม la longue duree (โดยคร่าวๆ คือ แนวคิดในการมองการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ และต่อเนื่องในระยะยาว) อีกด้วย. สุดท้ายสิ่งที่โดดเด่นคือ การขยายความเข้าใจในงานของเขาไปในภาพที่ใหญ่ (Totality/ Whole) ซึ่งก็เป็นจิตวิญญานที่สำคัญ ซึ่งเขาเห็นว่าตัวเขามีร่วมกับ Febvre และนักมานุษยวิทยาอย่าง Marcel Mauss (ซึ่งมีอิทธิพลสำคัญต่อเขา) อีกด้วย
งานชิ้นนี้ทรงอิทธิพลมาก ถึงขนาดที่ Braudel เองก็บ่นเปรยๆ ในฉบับพิมพ์ครั้งที่สองของหนังสือเล่มนี้ว่า เขาถูกชมอย่างเดียว แทบไม่ถูกวิจารณ์เลย อย่างไรก็ดีงานชิ้นนี้ก็ไม่ได้ปราศจากคำวิจารณ์แต่อย่างใด คำวิจารณ์ที่สำคัญก็เช่น
1. การที่เขาแทบไม่พูดถึงประเด็นเกี่ยวกับทัศนคติ (Attitude) หรือ คุณค่า (Value) อย่างเช่น เกียรติ, ความละอาย, และความเป็นชาย เลย ซึ่งนักประวัติศาสตร์หลายคนเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่สำคัญในโลกเมอร์ดิเตอร์เรเนียน การปราศจากสิ่งเหล่านี้ทำให้งานของเขาต่างจากงานของ Febvre อย่างชัดเจนด้วย
2. การไม่เอาปัญหาที่เฉพาะเจาะจงมาเป็นศูนย์กลางของงาน (Problem-Oriented) ซึ่งสิ่งนี้เขาตอบโต้การวิจารณ์ในลักษณะนี้ อย่างไม่ลังเลว่า ปัญหาของเขาคือ เขาต้องการแสดงให้เห็นว่า เวลาในแต่ละช่วงนั้นเคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่ต่างกัน
3. การที่ Braudel มีความคิดในแนวทางแบบนิยัตินิยม (Determinism) ตรงนี้ทำให้เขาต่างจาก Febvre มากเช่นกัน. Braudel นั้นแทบจะไม่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพของมนุษย์เลย Braudel เห็นมนุษย์เป็น "นักโทษ" ของสิ่งแวดล้อมของเขา และกรอบความคิดของเขาเอง. อย่างไรก็ดี Braudel ก็ไม่ได้มีแนวคิดแบบนิยัตินิยมแบบทื่อๆ เพราะ เขายืนยันว่าเราควรจะอธิบายสิ่งเหล่านี้อย่างซับซ้อน
Braudel ได้ตำแหน่งศาสตราจารย์ที่ College de France ในปี 1949 ซึ่งเป็นเวลาที่หนังสือเรื่อง The Merditerranian ของเขาได้รับการตีพิมพ์พอดี. ต่อมาในปี 1956 เขาก็ได้บริหารวารสาร Annales และภาคที่หก แทน Lucien Febvre ที่ได้ถึงแก่กรรมไปในปีนั้น. ในปี 1962 บุตรทางปัญญาของ Febvre อีกคนอย่าง Robert Mondrou ก็หลีกทางให้เขาโดยการลาออกจากตำแหน่งเลขานุการวารสาร. เมื่อถึงปี 1963 Braudel ก็ได้ทำการย้ายภาคที่หกมาที่ 54 Boulevard Raspail ซึ่งทำให้การแลกเปลี่ยน (ไม่ว่าจะเป็นแบบนอกรอบด้วยการจิบกาแฟพูดคุยกัน หรือเป็นทางการแบบสัมมนา) กับนักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยาอย่าง Claude Levi-Strauss และ Pierre Bourdieu นั้นเป็นไปได้สะดวกยิ่งขึ้น. ต่อมาหลังจากเดือนพฤษภาคม1968, Annales ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่โดยมีนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ๆ อย่าง Jacques Le Goff, Emmanuel le Roy Ladurie และ Marc Ferro เข้ามาร่วมสังฆกรรมด้วย, ซึ่ง le Roy Ladurie จัดได้ว่าเป็นศิษย์เอกของเขาที่รับช่วงต่อมาในหลายๆ ด้าน เช่นเดียวกับที่ Braudel รับช่วงมาจาก Febvre อีกทีหนึ่ง
ในช่วงเวลาที่ Braudel อยู่ในตำแหน่งต่างๆ นับแต่ช่วงปี 1949 ไปจนถึงเวลาที่เขาเกษียณในปี 1972 นั้น เขามีอิทธิพลมากทั้งในด้านความคิดและเงินทุนวิจัยต่างๆ ที่เขาปันส่วนไปให้งานประวัติศาสตร์แขนงใหม่ เขามีอิทธิพลมากต่อทิศทางในการทำงานของนักประวัติศาสตร์หลายคน ซึ่งจะเห็นได้จากอิทธิพลเกี่ยวกับคำแนะนำของเขาต่อวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน
อย่างไรก็ดีอิทธิพลที่สำคัญต่อ Annales School ในช่วงทศวรรษที่ 50's - 70's นั้นไม่ได้มีแต่เพียงแนวทางการทำงานของ Braudel. งานอีกสายที่รุ่งเรื่องขึ้นมาในยุคสมัยของ Braudel คือ ประวัติศาสตร์เชิงปริมาณ (Quantitative History) งานที่มีอิทธิพลมากๆ ต่องานสายนี้ ได้แก่งานของ Ernest Labrousse ที่พอจะเรียกเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Sketch of the Movement of Prices and Revenues in 18th-Century France (1933) และ The Crisis of French Economy (1944)
งานศึกษาเศรษฐกิจฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 ของ Labrousse ทั้ง 2 ชิ้นนี้ เต็มไปด้วยกราฟและตารางซึ่งยกขึ้นมาเพื่อทำการศึกษาแนวโน้มในระยะยาวและวัฎจักรในระยะสั้น งานทั้ง 2 ชิ้นนี้เป็นตัวแบบที่สำคัญในการศึกษาข้อมูลชุดเดียวกัน ต่อเนื่องเป็นระยะยาว ซึ่งเป็นแนวทางที่สำคัญมากในกระแสประวัติศาสตร์เชิงปริมาณ. แม้ว่า Labrousse จะแทบไม่พิมพ์งานออกมาหลังจากนั้น แต่เขาก็มีอิทธิพลที่สำคัญในการควบคุมทิศทางวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน. นอกจากนั้นแล้ว สิ่งที่เขานำพ่วงกับวิธีการเชิงปริมาณเข้ามาใน Annales ก็คือลัทธิมาร์กซิสม์ (Marxism) อย่างไรก็ดีความสัมพันธ์ของมาร์กซิสต์ในฝรังเศสกับ Annales ก็ไม่ได้แนบแน่นเท่าไร ซึ่งนั่นคงจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Labrousse จัดว่าเป็น "คนชายขอบ" ของ Annales
คนต่อมาที่มีความสำคัญในกระแสนี้ได้แก่ Pierre Chaunu กับวิทยานิพนธ์ประวัติศาสตร์ที่อาจยาวที่สุดในโลกของเขา ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Seville and the Atlantic (1955-60) ที่ทำการศึกษาการค้าทางทะเลในศตวรรษที่ 15 และ 16 ซึ่งงานชิ้นนี้ถือเป็นผลงานชิ้นแรกที่มีมโนทัศน์สำคัญมาก ของ Annales รุ่นสองอย่าง Structures (4) และ Conjoncture (circumstance - the economic climate, the economic situation) ปรากฏออกมา. กล่าวอย่างสั้นๆ แล้ว Structures ก็คือเป้าหมายของวิธีการทางภูมิประวัติศาสตร์แบบ Braudel ในการหาโครงสร้างพื้นฐานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเชื่องช้าถึงไม่เปลี่ยนแปลง, ส่วน Conjoncture ก็คือ เป้าหมายวิธีการเชิงปริมาณของ Labrousse ซึ่งเป้าหมายคือการหาแนวโน้มในเวลาช่วงหนึ่งๆ นั่นเอง. อีกนัยหนึ่งก็คือ แนวคิดทั้งสองนั้นมีขึ้นเพื่อแยกการศึกษาแนวโน้มในระยะกลาง กับสภาวะที่ดำรงอยู่ในระยะยาวออกจากกัน ซึ่งสิ่งที่อยู่นอกกรอบแบบนี้ก็คือ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระยะสั้น อันเป็นพื้นฐานของประวัติศาสตร์แบบการเล่าเรื่องเหตุการณ์สำคัญแบบเก่านั่นเอง
งานประวัติศาสตร์ในแบบมาตรฐานของสาย Annales ในช่วงทศวรรษที่ 60's-70's นั้นส่วนใหญ่จะเป็นการศึกษาท้องถิ่นหนึ่งๆ ด้วยวิธีการสมัยใหม่โดยโครงสร้างงานแบบ Structures และ Conjoncture เป็นหลัก ซึ่งเนื้อในของงานชนิดนี้คือ แนวคิดภูมิประวัติศาสตร์แบบ Braudel พ่วงกับประวัติศาสตร์เชิงปริมาณที่เน้นศึกษาแนวโน้มในช่วงเวลาที่ยาวโดยผ่านข้อมูลเชิงปริมาณอย่างต่อเนื่อง (บางทีวิธีการนี้ได้รับการเรียกว่า "ประวัติศาสตร์ต่อเนื่อง" หรือ "Serial History") และผู้ที่อยู่เบื้องหลังงานเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็คือ Braudel กับ Labrousse นั่นเอง
อย่างไรก็ดี คนที่ทำงานซึ่งโดดเด่นและฉีกแนวออกมาในช่วงนั้น กลับไม่ใช่ใครอื่นแต่เป็น Emmanuel le Roy Ladurie ศิษย์เอกของ Braudel. งาน The Peasants of Languedoc (1966/1974) นั้นเป็นวิทยานิพนธ์ของ Le Roy Ladurie ที่ศึกษาชีวิตของชาวนาใน Languedoc ในช่วงปี ค.ศ. 1500-1700 งานชิ้นนี้เป็นงานที่ฉีกออกจากงานในช่วงนั้น ด้วยการไม่วางโครงสร้างงานตามแบบ Structures และ Conjoncture แต่แบ่งเป็น 3 ส่วนตามลำดับเวลาที่เกิดวัฏจักรการขึ้นลงของประชากรและเศรษฐกิจ ถึงแม้งานชิ้นนี้ในหลายๆ ส่วนจะยืนอยู่บนวิธีการเชิงปริมาณเช่นเดียวกับงานชิ้นอื่นๆ แต่งานชิ้นดังกล่าวได้ขยายขอบเขตไปเน้นประสบการณ์ในชีวิตประจำวันเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งเข้าได้ดึงหลักฐานมาจากการกบฏย่อยๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเข้มข้น. งานชิ้นนี้มีความโดดเด่นมากๆ ในการเห็นขีดจำกัดของแนวทางการทำงานของคนรุ่นที่สอง และทำการปรับปรุงมันต่อ ซึ่งนี่รวมกับความสามารถในการผนวกหลายๆ มิติเข้ามาในงานอย่างยอดเยี่ยมของ Le Roy Ladurie ซึ่งทำให้มันได้รับการตอบรับและสร้างชื่อเสียงให้กับ Le Roy Ladurie อย่างมาก
The Third Generation:
After May 1968
คนรุ่นที่สาม: หลังพฤษภาคม 1968
โดยคร่าวๆ แล้วจะเริ่มนับ Annales รุ่นที่สามตั้งแต่เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 1968
อย่างไรก็ดีการขึ้นสู่อำนาจของรุ่นที่สามนั้น จะเริ่มตั้งแต่ราวๆ ที่ Braudel
เกษียณไปในปี 1972 ซึ่งตำแหน่งหัวหน้าภาคที่หก ได้ตกไปอยู่ในมือของ Jacques Le
Goff. ต่อมาในปี 1975 ภาคที่หกก็เกิดใหม่เป็น Ecole des Hautes Etudes en Sciences
Sociales (*)
(*)"School for Advanced Studies in the Social Sciences"; EHESS)
is a French institution for research and higher education, a Grand Etablissement.
Its mission is research and research training in the social sciences, including
the relationship these latter maintain with the natural and life sciences.
The EHESS is located in central Paris (6th arrondissement), although some
of its research centers and teams are based in Marseille, Lyon and Toulouse.
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะลงไปในรายละเอียดของรุ่นที่สามนั้น ขอกล่าวถึงงานชิ้นสำคัญชิ้นหลังของ Braudel ที่ออกมาในช่วงของการขึ้นมาของรุ่นที่สาม งานดังกล่าวได้แก่ งานไตรภาคที่ชื่อว่า Civilization And Capitalism (1979 (5) / 1981, 1982, 1983) ซึ่งศึกษาพัฒนาการของทุนนิยมในช่วงปี ค.ศ. 1400-1800 ในระดับโลก. จริงๆ แล้วงานนี้เริ่มจากการชักชวนของ Febvre แต่เขาได้ถึงแก่กรรมก่อนที่จะเขียนมันออกมา อย่างไรก็ดี Braudel เองนั้นได้ผลิตงานชิ้นมโหฬารชุดนี้ออกมาในช่วงปี ค.ศ.1967-1979
งานไตรภาคชิ้นนี้แบ่งเป็น 3 ส่วนเช่นเดียวกับ The Mediteranian
- ส่วนแรก The Structures of Everyday Life พูดถึงพื้นฐานที่สุดของทุนนิยมในระดับชีวิตประจำวัน
- ส่วนที่สอง The Wheel of Commerce พูดถึงกระบวนการค้าขายต่างๆ อันเป็นกระบวนการของทุนนิยม
- ส่วนที่สาม The Perspective of The World นั้นทำการเน้นถึงการพัฒนาและขยายตัวของทุนนิยม
คำวิจารณ์ที่สำคัญต่องานชิ้นนี้
(นอกเหนือไปจากข้อผิดพลาดในรายละเอียดที่เพิ่มขึ้นตามขนาดของงาน) ก็คือ การละเลยมิติด้านระบบคุณค่าและความรู้สึกนึกคิด
กล่าวคือ Braudel เน้นในการพูดถึงการดำรงอยู่ของวัตถุต่างๆ นอกจากนั้นแล้ว Braudel
ยังละเลยที่จะไม่พูดถึงคุณค่าที่สำคัญของทุนนิยม (เช่น การประหยัด, แนวคิดด้านอุตสาหกรรม,
การประกอบการ, และการมีวินัย เป็นต้น) ไปจนถึงการพูดถึงมิติทางด้านวัฒนธรรมที่เอื้อให้ทุนนิยมเติบโตในที่ต่างๆ
แตกต่างกันอีกด้วย
สำหรับคนรุ่นที่สาม จุดเด่นที่สำคัญของรุ่นนี้คือ ความหลากหลายทางวิชาการทั้งในเรื่องประเด็นและวิธีศึกษา.
ในเชิงประเด็นนั้น พรมแดนทางประวัติศาสตร์ได้ขยายไปถึงประวัติศาสตร์ของวัยเด็ก,
ความฝัน, ร่างกาย, หรือแม้กระทั่งกลิ่น นอกจากนี้แล้วสมาชิกบางส่วนยังได้หวนกลับไปหาประวัติศาสตร์การเมืองอีก.
ส่วนด้านวิธีศึกษานั้น, หลายคนยังคงยืนอยู่บนวิธีการเชิงปริมาณแต่หลายคนได้เปิดพรมแดนประวัติศาสตร์ด้วยวิธีการและหลักฐานที่หลากหลายขึ้น
ในรุ่นนี้เราแทบไม่อาจบอกได้ว่าใครเป็นศูนย์กลางของ Annales เพราะน้ำหนักทั้งในเชิงประเด็นและวิธีการก็ไม่ได้ไปลงที่คนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างชัดเจน
นอกจากนี้แล้วประเด็นที่น่าจะถูกอกถูกใจนักสตรีนิยมก็คือ การที่มีนักประวัติศาสตร์หญิงจำนวนมากเป็นส่วนหนึ่งของคนรุ่นนี้ด้วย
ซึ่งก็ทำให้ประวัติศาสตร์ในมิติของผู้หญิงนั้นได้ปรากฏตัวออกมามากขึ้น (อย่างไรก็ดีนี่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีนักประวัติศาสตร์ชายในรุ่นที่สาม
ซึ่งสนใจประเด็นเกียวกับผู้หญิง) แนวโน้มของคนรุ่นที่สามนั้น สามารถแบ่งได้ใหญ่ๆ
3 ชนิดด้วยกัน
- แนวโน้มแรก ที่สำคัญของคนรุ่นที่สาม ได้แก่ การหันหลังให้การศึกษาโครงสร้างส่วนล่างทางเศรษฐกิจ แล้วมาศึกษาโครงสร้างส่วนบนแทน ดังมีคำเปรียบเปรยว่า "จากห้องใต้ดินสู่ห้องใต้หลังคา" (From The Cellar To The Attic) อย่างไรก็ดี คนที่กรุยทางให้งานในสายนี้เป็นคนในรุ่น Braudel อย่าง Philippe Aries จริงๆ แล้ว Aries นั้นทำงานอยู่ที่ศูนย์วิจัยผลไม้เขตร้อน เขาทำงานประวัติศาสตร์เป็นงานอดิเรก (เขาเรียกตัวเองว่า "นักประวัติศาสตร์วันอาทิตย์" หรือ un historien de dimanche - A historian Sunday) อย่างไรก็ดี เขาผลิตงานชิ้นสำคัญขึ้นมาในปี 1960 ชื่อว่า Centuries of Childhood (1960/1965)
ซึ่งข้อเสนอใหญ่คือ แนวคิดเรื่อง "วัยเด็ก" ที่เรามีอยู่ทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ได้ปรากฏในยุคกลาง และสำหรับในฝรั่งเศสเอง แนวคิดนี้เพิ่งจะปรากฏตัวขึ้นคริสตศตวรรษที่ 17 งานชิ้นนี้ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางในหลายๆ แง่ โดยเฉพาะทางด้านการใช้หลักฐานและการตีความ อย่างไรก็ดีความสำเร็จของงานชิ้นนี้ก็คือ การบรรจุวัยเด็กเข้าไปเป็นหนึ่งในประเด็นทางประวัติศาสตร์ ซึ่งถือเป็นแรงบันดาลใจให้งานอีกจำนวนมากตามมา งานชิ้นสำคัญชิ้นหลังที่เขาทุ่มเทในช่วงท้ายของชีวิตในการผลิตก็คือ The Hour of Our Death (1977/1981) ที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงทัศนคติเกี่ยวกับความตายตั้งแต่ยุคกลางจนถึงปัจจุบัน. นอกจากนี้แล้วงานของ Aries นั้นยังก่อให้เกิดกระแสการศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเพศ, ครอบครัว หรือกระทั่งความรักออกมา ซึ่งในมิติเหล่านี้ มีคนสำคัญอย่าง Jean-Louis Flandrin ที่มีงานสำคัญอย่าง Families in Former Times (1976/1979)
จริงๆ แล้วความสนใจประวัติศาสตร์วัฒนธรรมนั้น เป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่คนรุ่นที่สองแล้ว อย่างเช่น Alphonse Dupront และคนอย่าง Robert Mondrou เป็นคนที่เน้นในมิติทางด้านจิตวิทยาและความรู้สึกนึกคิด (Psychology และ Mentality) อย่างไรก็ดี มิติเหล่านี้ถูกกดทับลงไปในยุคสมัยของ Braudel (กล่าวคือ Mondrou พ่ายแพ้แก่ Braudel ในการพยายามดึง Annales ไปในมิติทางจิตวิทยาและความรู้สึกนึกคิดตามแบบของรุ่นแรก) ก่อนที่มันจะกลับมาเบ่งบานอีกครั้งในยุคสมัยของคนรุ่นที่สาม
ในงานของคนอย่าง Jean Delumeau, Alain Besancon และ Emmanuel Le Roy Ladurie มีการเปิดบทสนทนากับจิตวิเคราะห์ อย่างไรก็ดีงานสำคัญในแง่ประวัติศาสตร์ความรู้สึกนึกคิด (History of Metalities) ที่จัดเป็นผู้นำกระแส ได้แก่ งานของผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ยุคกลางอย่าง Jacques Le Goff และ Georges Duby ซึ่งรายแรกผลิตงาน The Birth of Purgatory (1981/1984) ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของภาพชีวิตหลังความตาย ส่วนรายที่สองผลิตงาน The Three Orders (1978/1980) ที่ศึกษาตัวแทนรวมหมู่ของสังคมที่แบ่งสังคมเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ พระ, อัศวิน, และชาวนา.
- แนวโน้มที่สอง เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์เชิงปริมาณและประวัติศาสตร์ต่อเนื่องอย่างเข้มข้น
ดังมีชื่อเรียกว่า ประวัติศาสตร์ต่อเนื่องขั้นสาม (The Third Level of Serial
History). โดยสังเขป กระแสนี้คือการศึกษาความเปลี่ยนแปลงผ่านการศึกษาเอกสารชุดเดียวกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
งานในสายนี้ที่เด่นๆ ได้แก่ งานของ Michel Vovelle ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า
Baroque Piety and Dechristianization (1973) ที่ทำการศึกษาความเปลี่ยนแปลงในทัศนคติเกี่ยวกับความตาย
ผ่านการศึกษาพินัยกรรมราว 30,000 ชิ้น หรือการศึกษาทรัพย์สินของคนตาย เพื่อย้อนกลับมาสร้างภาพชีวิตประจำวันในงาน
The People of Paris (1981/1987) ของ Danial Roche
นอกจากนั้นแล้วนักประวัติศาสตร์ต่อเนื่องขั้นสามนั้นยังมีอิทธิพลมาก ต่องานในสาย
"ประวัติศาสตร์หนังสือ" (History of The Book) ซึ่งศึกษาแนวโน้มการผลิตหนังสือและนิสัยการอ่านหนังสือของกลุ่มต่างๆ
ในสังคม งานในสายนี้ ได้แก่ งานศึกษาหลังสือราคาถูกของ Robert Mandrou หรือ การศึกษาการผลิตหนังสือและการอ่านในคริสตศตวรรษที่
17 ของ Henri-Jean Martin เป็นอาทิ
- แนวโน้มที่สาม ในด้านหนึ่ง เป็นปฏิกิริยาโต้กลับสิ่งที่ Annales เป็น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ความพยายามจะขุดประเด็นที่ Annales ละเลยขึ้นมาใหม่ ซึ่งปฏิกิริยาดังกล่าวสามารถแบ่งย่อยได้อีก 3 ชนิดด้วยกัน
1. การหันมาใช้แนวคิดทางมานุษยวิทยา
2. การกลับมาสนใจประเด็นเกี่ยวกับการเมือง
3. การกลับมาสนใจเหตุการณ์สำคัญ
แนวโน้มย่อยแรก เป็นปฏิกิริยาตอบโต้วิธีการเชิงปริมาณที่เป็นที่นิยมมาตั้งแต่คนรุ่นที่สอง โดยแนวโน้มนี้หันมาหาแนวทางการวิเคราะห์แบบมานุษยวิทยาและแนวคิดในการวิเคราะห์หาความหมาย แนวคิดของ Erving Goffman, Victor Turner, Piere Bourdieu และ Michel De Certeau นั้นมีอิทธิพลต่อแนวทางแบบนี้มาก งานที่เด่นที่สุดก็คือ Montaillou (1975/1978) ของ Emmanuel Le Roy Ladurie ที่ทำการศึกษาหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ผ่านบันทึกคำไต่สวนของพระที่มีต่อคนในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสต้นคริสตศตวรรษที่ 14. แนวคิดพื้นฐานของงานชิ้นนี้คือ การมองคำไต่สวนของพระในฐานะคำสัมภาษณ์ เช่นเดียวกับที่นักมานุษยวิทยาสัมภาษณ์ชนพื้นเมือง และสร้างภาพของหมู่บ้านแห่งนี้ขึ้นมาจากข้อมูลเหล่านั้น งานชิ้นนี้มีชื่อเสียงและมีการอ่านกันอย่างกว้างขวางมาก จนถึงขั้นที่ได้เป็นหนังสือขายดีในหมวดที่ไม่ใช่นิยาย (Non-Fiction Best-Seller) ในทางวิชาการ งานชิ้นนี้ได้เปิดมิติใหม่เพราะมันเป็นงานชิ้นแรกๆ ที่ใช้หลักฐานอย่างเช่นคำไต่สวนของพระ เพื่อกลับไปสร้างภาพชีวิตประจำวันของชาวบ้านขึ้นมา
อีกคนที่โดดเด่นในแนวโน้มนี้คือ นักประวัติศาสตร์ Roger Chartier ซึ่งกล่าวถึงการเปลี่ยนแนวคิดพื้นฐานในการศึกษาจาก "ประวัติศาสตร์สังคมของวัฒนธรรม สู่ ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของสังคม" ("From The Social History of Culture to The Cultural History of The Society") คือการเปลี่ยนมุมมองที่ว่า สังคมนั้นดำรงอยู่อย่างเป็นวัตถุวิสัยไปเป็นการมองสังคมในฐานะของสิ่งประกอบสร้างทางวัฒนธรรม. งานของ Chartier นั้นยังกลับมาโจมตีงานของ Mandrou ที่วิเคราะห์หนังสือราคาถูกด้วยสมมติฐานว่าชาวนาเป็นคนอ่านด้วย เขาเสนอว่าก่อนปี ค.ศ.1660 นั้นคนอ่านหนังสือพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวปารีสด้วยซ้ำ ประเด็นใหญ่ที่ Chartier ยืนยันก็คือ เราไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นนอนตายตัวระหว่างรูปแบบวัฒนธรรมกับกลุ่มทางสังคม ซึ่งแนวคิดนี้เป็นการบ่อนเซาะวิธีการเชิงปริมาณอย่างรุนแรงมาก
แนวโน้มย่อยที่สองและสาม นั้นมีความต่อเนื่องกัน กล่าวคือ เป็นแนวคิดที่ปฏิเสธรากฐานที่ Annales เป็นมาแต่แรก คือ การกลับไปหามิติด้านการเมืองและเหตุการณ์ย่อยๆ ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ ที่ถูกละเลยไปโดยสิ้นเชิงในงานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของพวกรุ่นที่สอง (อย่างไรก็ดี จะเป็นการง่ายเกินไปที่จะบอกว่า Annales ทั้งหมดมืดบอดต่อประเด็นเหล่านี้ เพราะงานของหลายคนที่ได้กล่าวมาแล้วต่างมีมิติเหล่านี้ ดังนั้นโดยภาพรวมของ Annales "ไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญ" กับการเมืองและเหตุการณ์เท่าใดนัก)
คนสำคัญสุดของ Annales
ในมิติการกลับไปหาการเมือง ได้แก่ Maurice Agulhon งานสำคัญของเขาได้แก่ The
Republic in the Village(1970/1982) ที่ทำการศึกษาพฤติกรรมทางการเมืองของชาวบ้านธรรมดาในชนบทฝรั่งเศส
ในช่วงหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสถึงราวๆ คริสตศตวรรษที่ 19. งานอีกชิ้นที่สำคัญของเขา
ได้แก่ Marianne into Battle (1979/1981) ที่ทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงภาพของ
Marianne (ซึ่งเป็นภาพตัวแทนของสาธารณรัฐ)(*) ทั้งในวัฒนธรรมชาวบ้านและชนชั้นสูง
(*) Marianne, a national emblem of France, is a personification
of Liberty and Reason. She is displayed in many places in France and holds
a place of honour in town halls and law courts. She symbolises the "Triumph
of the Republic", a bronze sculpture overlooking the Place de la Nation
in Paris. Her profile stands out on the official seal of the country, is engraved
on French euro coins and appears on French postage stamps; it also was featured
on the former franc currency. Marianne is one of the most prominent symbols
of the French Republic. The origins of Marianne, depicted by artist Honor?
Daumier, in 1848, as a mother nursing two children, Romulus and Remus, or
by sculptor Fran?ois Rude, during the July Monarchy, as an angry warrior voicing
the Marseillaise on the Arc de Triomphe, are uncertain. (ดูภาพประกอบใน
http://en.wikipedia.org/wiki/Marianne)
"La Libert? guidant
le peuple", oil painting (width 325 cm x height 260 cm) of the Romanticism.
Created in 1833 / Eugene Delacroix (1798 - 1863)
Copyright expired as Eugene Delacroix is more than 70 years dead.
สำหรับแนวโน้มย่อยที่สาม เป็นสิ่งที่ปรากฏแทรกเข้ามาในงานต่างๆ ของคนรุ่นที่สาม ที่เริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ต่างๆ (ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเหตุการณ์ทางการเมือง) ในฐานะที่เป็นจุดหักเหที่สำคัญของโครงสร้าง และกลับมาทำการวิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นงานของ Emmanuel Le Roy Ladurie, Georges Duby หรือ Francois Furet ซึ่งมิติเหล่านี้เป็นสิ่งที่โครงสร้างงานแบบ Structure และ Conjoncture แบบรุ่นที่สองนั้นไม่มีโดยสิ้นเชิง
นอกจากแนวโน้มเหล่านี้แล้ว สิ่งที่สำคัญและควรกล่าวถึงสำหรับช่วงเวลาของคนรุ่นที่สามก็คือ ในยุคสมัยของคนรุ่นนี้เองที่ประวัติศาสตร์แบบใหม่ได้เป็นที่นิยมในฝรั่งเศสในวงกว้าง ในช่วงแรกงานของ Bloch และ Febvre ก็ไม่ได้ขายดีเท่าใดนัก งานที่โดดเด่นชิ้นแรกของ Braudel อย่าง The Mediterranean นั้นกว่าจะเป็นหนังสือขายดีก็ล่วงเข้าไปปี 1985 ด้วยยอดขาย 8,500 เล่ม ในขณะที่ Civilization and Capitalism ในปี 1979 ของเขาก็ได้รับการตอบรับในวงกว้างเป็นอย่างดีนับจากเริ่มต้น. ส่วนงานของ Le Roy Ladurie อย่าง Montaillou ในปี 1975 นั้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าเป็นหนังสือขายดีมาก. ในช่วงนี้สื่อต่างๆ ได้ให้ความสนใจ Annales มาก สมาชิกส่วนหนึ่งนั้นไปปรากฏตัวในรายการวิทยุและโทรทัศน์ (บางคนเป็นผู้อำนวยการสร้างรายการต่างๆ ด้วย) ในขณะที่สมาชิกอีกจำนวนมากเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์และนิตยสารอย่างสม่ำเสมอ นับว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ Annales เป็นที่นิยมในวงกว้างอย่างแท้จริง
Annales in Global Context
Annales ในบริบทโลก
ชื่อเสียงและอิทธิพลของ Annales นอกประเทศฝรั่งเศสเริ่มมีอย่างชัดเจนในช่วงคนรุ่นที่สอง
กล่าวคือ
- ในอิตาลีนั้นนักประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งยินดีต้อนรับงานและแนวคิดของ Braudel เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับในโปแลนด์ที่ Annales ก็เป็นที่ต้อนรับเป็นอย่างดีเช่นกัน ทั้งๆ ที่มาร์กซิสต์นั้นเป็นแนวคิดนำ
- งานในโปแลนด์ที่สำคัญมากๆ ที่ได้รับอิทธิพลจาก Annales ได้แก่ Economic Theory of Feudal System (1962/1976) ของ Witold Kula ซึ่งได้ทำการศึกษาพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของเจ้าที่ดินโปแลนด์ในคริสตศตวรรษที่ 17 และ 18 ซึ่งขัดกับคำอธิบายของเศรษฐศาสตร์คลาสสิค กล่าวคือ เมื่อข้าวไรย์ราคาขึ้น เจ้าที่ดินเหล่านี้กลับผลิตน้อยลง ในขณะที่เมื่อข้าวไรย์ราคาลง เจ้าที่ดินเหล่านี้กลับผลิตมากขึ้น. Kula นั้นให้คำอธิบายในเชิงวัฒนธรรมว่า เป้าหมายสำคัญของเจ้าที่ดินเหล่านี้ไม่ใช่กำไร แต่เป็นการธำรงชีวิตอยู่อย่างที่คุ้นเคย. เจ้าที่ดินเหล่านี้จึงเปลี่ยนอัตราการผลิตเพื่อที่จะมีรายได้ที่สม่ำเสมอ- ในกรณีของเยอรมัน ความสนใจของนักประวัติศาสตร์รุ่นที่ผ่านสงครามโลกมานั้น วนเวียนอยู่ที่สงครามโลกและเรื่องการเมือง ซึ่งกว่าวงการประวัติศาสตร์เยอรมันจะหันมาสนใจในประเด็นของ Annales เวลาก็ล่วงเข้ามาในช่วงทศวรรษที่ 70's แล้ว
- สำหรับในอังกฤษ มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจหลายอย่างเกิดขึ้น ประการแรกที่เห็นได้ก็คือ ความต่อเนื่องของ "ความหมั่นไส้ทางวิชาการ" ที่อังกฤษมีต่อฝรั่งเศสมาเป็นเวลายาวนาน แนวทางแบบประจักษ์นิยมและวิธีวิทยาที่เน้นปัจเจกบุคคลของอังกฤษ ถือเป็นไม้เบื่อไม้เมากับแนวทางที่เน้นทฤษฎีและความเป็นองค์รวมของฝรั่งเศสมานานแล้ว ในระนาบเดิมๆ ของความขัดแย้งงานของ Annales นั้นก็ไม่ได้เป็นที่ต้อนรับในวงการประวัติศาสตร์ในอังกฤษเท่าที่ควร การวิจารณ์งานของ Annales ก็ดูจะเป็นไปอย่างสาดเสียเทเสียมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีว่าการเขียนแบบ Annales ที่น่ารำคาญ ไปจนถึงการกล่าวว่า ศัพท์แสงต่างๆ ที่พวก Annales ใช้นั้น คงเอาไว้สื่อสารกันเองเท่านั้น อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจคือนักประวัติศาสตร์ในอังกฤษที่เริ่มต้อนรับ Annales นั้น กลับเป็นพวกมาร์กซิสต์อย่าง Eric Hobsbawm และ Rodney Hilton
- สำหรับในเอเชีย การรับ Annales ของแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกัน ในกรณีของอินเดียนั้นเริ่มมีนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ สนใจ Annales แต่ส่วนใหญ่ก็ดูจะนิยมในมาร์กซิสต์มากกว่า
- ทางด้านญี่ปุ่นนั้นมีนักประวัติศาสตร์จำนวนมากที่ได้มาเรียนที่ฝรั่งเศส และรับเอาแนวคิดแบบ Annales ไป ทว่าพวกนี้ก็ทำงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุโรปเป็นหลัก. ส่วนในประเทศอื่นๆ ในเอเชียนั้น โดยภาพรวมแล้วความสนใจที่มีต่อ Annales นั้นต่ำมาก เช่นเดียวกับอิทธิพลของ Annales ในแอฟริกาซึ่งแทบจะไม่พบเลย
- ทางด้านอเมริกาเหนือ มีการรับอิทธิพลของ Annales ต่ำมาก การหันมาใช้แนวคิดทางมานุษยวิทยาในการศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงอาณานิคม เกิดขึ้นโดยไม่เกี่ยวกับอิทธิพลของ Annales แต่อย่างใด. ในขณะเดียวกันในอเมริกาใต้นั้นกลับมีนักวิชาการที่สนใจแนวคิดแบบ Annales อย่างเป็นกอบเป็นกำทีเดียว ในจำนวนนี้มีงานที่สำคัญและโดดเด่นมากๆ คืองานของ Nathan Wachtel คือ The Vision of the Vanquished (1971/1977) ที่ศึกษายุคเริ่มแรกของอาณานิคมเปรู จากมุมมองของอินเดียนด้วยลีลาที่แบบ Annales ที่ครบเครื่องและรอบด้าน
เมื่อย้อนกลับมาในฝรั่งเศส ข้อสังเกตที่สำคัญคือแนวคิดแบบ Annales นั้นมีอิทธิพลหลักๆ กับการศึกษาประวัติศาสตร์เฉพาะยุโรปในช่วงยุคกลางและสมัยใหม่ช่วงต้น (Early Modern) เท่านั้น อย่างไรก็ดี นักประวัติศาสตร์ที่สนใจเรื่องราวยุคโบราณอย่าง Jean-Pierre Vernant และ Paul Veyne นั้น ทำการศึกษาประวัติศาสตร์ของกรีกและโรม ด้วยการหยิบยืมแนวคิดจากจิตวิทยา, สังคมวิทยา, และมานุษยวิทยามาใช้ในการวิเคราะห์ในทำนองเดียวกับ Annales เช่นกัน
จุดบอดของ Annales ในเชิงมาตรฐานนั้น คงจะเป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัย (ในฝรั่งเศสเริ่มนับตั้งแต่หลังปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789) ที่ยากจะปฏิเสธความสำคัญของบุคคลและเหตุการณ์ได้ อย่างไรก็ดี สิ่งเหล่านี้ได้รับการคลี่คลายไปมากแล้วในกรณีของคนรุ่นที่สาม สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการคลี่คลายซึ่งเชื่อมโยงกับการคลี่คลายแนวคิดภูมิศาสตร์กำหนดของ Braudel และเศรษฐกิจกำหนดของ Labrousse ซึ่งทำให้ภาพของมนุษย์ที่เป็นผู้กำหนดชะตากรรมตนเองเผยออกมา
Peter Burke มีความเห็นว่า Annales ไม่ว่าจะเป็นในฐานะกลุ่มหรือขบวนการ (Movement) นั้น ถือว่าได้จบลงไปเรียบร้อยแล้ว พร้อมๆ กับอิทธิพลที่กระจัดกระจายไปอย่างล้นหลาม. อย่างไรก็ตาม เขาก็ได้ยกย่อง Annales ว่า "A remarkable amount of the most innovative, the most memorable and the most significant historical writing of the twentieth century has been produced in France."
เก็บความและเรียงเรียงใหม่จาก
The French Historical Revolution: The Annales School, 1929-89 ของ Peter Burke
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ
(1) Annales School เป็นชื่อที่ "คนนอก" รู้จักนักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่ง ส่วนบรรดา "คนใน" จำนวนมากปฏิเสธการดำรงอยู่ของมัน และเน้นย้ำถึงความแตกต่างหลากหลายซึ่งถูกเรียกรวมๆ ภายใต้ร่มเงาคำว่า Annales School. Peter Burke เสนอว่าเราควรจะเข้าใจมันในฐานะ Annales "Movement" มากกว่าที่จะเป็น Annales School(2) การพูดถึงงานเขียนในงานชิ้นนี้ จะเป็นการเรียกชื่องานฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ ตัวเลขปี ค.ศ.ซึ่งอยู่ในวงเล็บ ตัวแรกจะเป็นปีที่พิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศส ส่วนตัวที่สองนั้นจะเป็นปีที่พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ
(3) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ที่ใหญ่ขึ้นของหนังสือเล่มนี้ พิมพ์ออกมาเป็นภาษาฝรั่งเศสในปี 1966
(4) Structure นี้กับ Structuralism แม้มีกำเนิดมาจากฝรั่งเศสในช่วงไล่เลี่ยกัน แต่ทั้งสองเป็นมโนทัศน์ที่เกิดมาจากรากฐานทางความคิดที่แตกต่างกัน
(5) งานชิ้นนี้ จริงๆ แล้วมีฉบับพิมพ์ครั้งแรกออกมาในปี 1967 อย่างไรก็ดี ฉบับพิมพ์สมบูรณ์ทั้ง 3 เล่ม ออกมาในปี 1979
++++++++++++++++++++++++++++++++++
ข้อมูลอ้างอิง: จากสารานุกรมวิกีพีเดีย
http://en.wikipedia.org/wiki/Philippe_Aries
http://en.wikipedia.org/wiki/Marc_Bloch
http://en.wikipedia.org/wiki/Fernand_Braudel
http://en.wikipedia.org/wiki/Georges_Duby
http://en.wikipedia.org/wiki/Lucien_Febvre
http://en.wikipedia.org/wiki/Marc_Ferro
http://en.wikipedia.org/wiki/Francois_Furet
http://en.wikipedia.org/wiki/Ernest_Labrousse
http://en.wikipedia.org/wiki/Jacques_Le_Goff
http://en.wikipedia.org/wiki/Emmanuel_Le_Roy_Ladurie
http://en.wikipedia.org/wiki/Henri-Jean_Martin
http://en.wikipedia.org/wiki/Pierre_Nora
http://en.wikipedia.org/wiki/Daniel_Roche
http://en.wikipedia.org/wiki/Annales_School
http://en.wikipedia.org/wiki/Longue_duree
http://en.wikipedia.org/wiki/Ecole_Pratique_des_Hautes_Etudes
http://en.wikipedia.org/wiki/Ecole_des_Hautes_Etudes_en_Sciences_Sociales
http://en.wikipedia.org/wiki/History_from_below
http://en.wikipedia.org/wiki/Cultural_History
http://en.wikipedia.org/wiki/History_of_mentalities
The Annales School โดยสังเขปจากสารานุกรมวิกีพีเดีย
The Annales School (Annales is pronounced /a(n)'nal(e)/ in French) is a school
of historical writing named after the French scholarly journal Annales d'histoire
economique et sociale (later called Annales. Economies, societes, civilisations,
then renamed in 1994 as Annales. Histoire, Sciences Sociales) where it was
first expounded. Annales school history is best known for incorporating social
scientific methods into history.
The Annales was founded and edited by Marc Bloch and Lucien Febvre in 1929, while they were teaching at the University of Strasbourg. These authors quickly became associated with the distinctive Annales approach, which combined geography, history, and the sociological approaches of the Annee Sociologique (many members of which were their colleagues at Strasbourg) to produce an approach which rejected the predominant emphasis on politics, diplomacy and war of many 19th century historians. Instead, they pioneered an approach to a study of long-term historical structures (la longue duree) over events. Geography, material culture, and what later Annalistes called mentalites, or the psychology of the epoch, are also characteristic areas of study. An eminent member of this school, Georges Duby, wrote in the forward of his book Le dimanche de Bouvines that the history he taught "relegated the sensational to the sidelines and was reluctant to give a simple accounting of events, but strived on the contrary to pose and solve problems and, neglecting surface disturbances, to observe the long and medium-term evolution of economy, society and civilisation."
http://en.wikipedia.org/wiki/Annales_School
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73