โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๗๕ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (October, 12, 10, 2007) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

พูดกันตามความจริง แม้หลังการปฏิรูปการเมืองโดยผ่านรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๔๐ องค์ประกอบของรัฐสภาไทยก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางกระจายที่นั่งให้กับชนชั้นล่างๆ มากขึ้น และเช่นเดียวกับปัญหาการกระจายรายได้ อาจจะต้องถือว่าสถานการณ์เลวลงกว่าเดิม ดังเราจะเห็นได้ว่าสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งปี ๒๕๔๔ มีสมาชิกที่เป็นนักธุรกิจ อดีตข้าราชการ นักกฎหมายและนักการเมืองอาชีพรวมกันได้ถึง ๔๕๓ คนจาก ๕๐๐ คน ซึ่งหมายถึงว่า สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นชนชั้นนำจากวงการต่างๆ คิดเป็นร้อยละ ๙๐.๒๐
12-10-2550

Democracy in Thailand
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

ประเทศไทยบนเส้นทางประชาธิปไตย: บทสำรวจปัญหาและทางออก
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล: ปาฐกถาประชาธิปไตย ๑๔ ตุลา ๒๕๔๖
ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล : ปาฐก
ปาฐกถาเนื่องในโอกาสครบรอบ ๓๐ ปีของการต่อสู้ ๑๔ ตุลา ๑๖
๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๖

บทความวิชาการนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รวบรวมขึ้น
เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา และเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา
ที่ใกล้จะมาบรรจบอีกครั้งในปี ๒๕๕๐ โดยได้คัดเลือกบทปาฐกถาของ
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล มานำเสนอ ทั้งนี้เพื่อสะท้อนปัญหาความเป็นประชาธิปไตย
ในสังคมไทยที่ยังไม่คืบหน้า โดยมีสาระสำคัญเนื่องมาจาก
๑. แนวทางพัฒนาประเทศที่ไม่สมดุล
๒. ความไม่พอเพียงของระบอบรัฐสภา
๓. ผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัตน์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นท้ายสุด เกี่ยวกับโลกาภิวัตน์
ที่มาพร้อมกับแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้า
ซึ่งได้เข้ามามีส่วนกำกับรัฐไทย และเปลี่ยนทุนไทยขนาดใหญ่ให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบดังกล่าว
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๗๕
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๕.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ประเทศไทยบนเส้นทางประชาธิปไตย: บทสำรวจปัญหาและทางออก
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล: ปาฐกถาประชาธิปไตย ๑๔ ตุลา ๒๕๔๖
ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล : ปาฐก
ปาฐกถาเนื่องในโอกาสครบรอบ ๓๐ ปีของการต่อสู้ ๑๔ ตุลา ๑๖
๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๖

คำกล่าวรายงานและแนะนำองค์ปาฐก
โดย นายบัณฑร อ่อนดำ
ประธานคณะอนุกรรมการสรรหาองค์ปาฐก ๑๔ ตุลา ประจำปี ๒๕๔๖

กราบเรียน อาจารย์หมอเสม พริ้งพวงแก้ว, อาจารย์เสน่ห์ จามริก,
ญาติวีรชนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ วีรชนผู้เสียสละ และผู้มีเกียรติทุกท่าน

วันนี้ถือเป็นวาระโอกาสพิเศษอย่างยิ่งสำหรับพวกเราที่ได้มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นี้ เพราะไม่เพียงแต่อาคารอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เปิดใช้งานมาครบ 2 ปีเต็มเท่านั้น แต่ยังเป็นวันครบรอบ 30 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทยที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างทั่วด้าน และยากที่จะมีใครปฏิเสธผลพวงของการเปลี่ยนแปลงหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ในปีนี้อีกเช่นกัน ที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงกับกำหนดให้เป็นวันสำคัญของชาติ โดยใช้ชื่อว่า "วัน 14 ตุลาประชาธิปไตย"

ปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2546 จัดขึ้นเป็นปีที่สอง โดยมูลนิธิ 14 ตุลาตระหนักถึงวาระโอกาสสำคัญหลายประการที่มาบรรจบสอดคล้องกันในปีนี้ วัตถุประสงค์หลักของการจัดปาฐกถานั้นมิได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักจากปีที่ผ่านมา กล่าวคือยังคงมุ่งเน้นนำเสนอมุมมอง กรอบคิด และแนวทางแก้ไขปัญหาที่มีความสำคัญต่อสังคมไทย เพื่อสร้างผลสะเทือนให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้หลากหลายกว้างขวางและต่อเนื่อง แต่ความพิเศษในปีนี้ อยู่ที่การคัดเลือกบุคคลผู้มาเป็นองค์ปาฐกประจำปี เนื่องจากคณะอนุกรรมการสรรหาองค์ปาฐกฯ ซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยคณะกรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา เห็นว่า ในวาระครบรอบ 30 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา สมควรคัดเลือกทาบทามบุคคลที่เสมือนเป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์เข้ามาเป็นข้อพิจารณาอีกองค์ประกอบหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ มิใช่เพื่อการยกย่องเชิดชูวีรชนเอกชนแต่ประการใด หากต้องการให้องค์ปาฐกในปีนี้เป็นสัญลักษณ์ที่มีนัยสำคัญ เชื่อมโยงจิตสำนึกอดีตมาสู่ปัจจุบัน ผ่านทางเนื้อหาในการปาฐกถาครั้งนี้อย่างมีความหมาย จากหลักการที่มีความเห็นสอดคล้องกันของคณะอนุกรรมการสรรหาองค์ปาฐกฯ ดังกล่าว นำมาสู่กระบวนการทาบทามองค์ปาฐก 14 ตุลาประจำปี 2546 และท่านได้ตอบรับด้วยความยินดี ซึ่งขณะนี้ได้มาอยู่ในที่ประชุมแห่งนี้แล้ว
นั่นคือ ดร. เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

อาจารย์เสกสรรค์เป็นผู้ชายหลายมิติ ท่านเป็นทั้งนักเคลื่อนไหว นักคิด นักเขียน นักพูด นักวิชาการ สามัญชนผู้รักธรรมชาติ และนักเลงในความหมายโบราณดั้งเดิม ทว่าในบรรดาสถานภาพต่างๆ ทั้งหลาย ตัวตนธาตุแท้ของท่านกลับมีเพียงหนึ่งเดียว นั่นคือ ปัจเจกบุคคลผู้เอาการเอางานและเอาธุระต่อความเดือดร้อนของผู้ยากไร้เป็นโอกาสความเดือดร้อนของตน รู้สึกเจ็บปวดต่อความไม่ถูกต้องเป็นธรรมที่เพื่อนมนุษย์กระทำต่อกัน ทนไม่ได้ต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน ทั้งในระดับรัฐที่กระทำต่อประชาสังคม หรืออำนาจอิทธิพลที่บุคคล กลุ่มบุคคลกระทำต่อผู้ด้อยโอกาส

อาจารย์เสกสรรค์เกิดเมื่อปีพุทธศักราช 2492 ในหมู่บ้านชาวประมง ปากอ่าวแม่น้ำบางปะกง เรียนจบปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทและเอกจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา. ในวัยหนุ่ม ขณะศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านเป็นผู้หนึ่งในบรรดาคนหนุ่มสาวนักแสวงหาในยุคนั้น ที่ปฏิเสธค่านิยมกระแสหลักของสังคม กระทั่งชะตาชีวิตลิขิตให้มามีฐานะบทบาทเป็นผู้นำขบวนนักเรียน-นักศึกษา-ประชาชน ต่อต้านโค่นล้มระบอบเผด็จการในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นับจากนั้นเป็นต้นมา ในชะตากรรมของประเทศชาติจึงผูกพันเกี่ยวโยงกับความทุกข์โศก ความปลื้มปิติ หรือแม้แต่การเผชิญความเป็นความตายที่มีต่อชีวิตของท่านอย่างแนบแน่น ตราบจนกระทั่งความขัดแย้งแหลมคมทางความคิดของผู้คนในสังคมเริ่มคลี่คลาย ประสบการณ์การต่อสู้ทั้งในเมืองและการเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในป่าเขา จึงกลายเป็นมหาวิทยาลัยชีวิตที่ท่านใช้เวลาอีกร่วมทศวรรษในการทบทวน ครุ่นคิด และสรุปบทเรียน

อาจารย์เสกสรรค์มีวิถีชีวิตและกติกาการใช้ชีวิตตามแบบฉบับของตน บนพื้นฐานของการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า และมุ่งค้นหาชีวิตที่ถูกต้อง มีความหมาย และเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง. ในปี 2544 ประวัติชีวิตและการต่อสู้ของท่านถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ "14 ตุลา สงครามประชาชน" หรือชื่อเดิม "คนล่าจันทร์" ซึ่งต่อมาได้รับการตัดสินให้ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปีของสองสถาบัน คือ สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย และชมรมวิจารณ์บันเทิง บทภาพยนตร์เรื่องนี้เขียนโดยอาจารย์เสกสรรค์และตรวจแก้โดยผู้กำกับ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ก็ได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปีจากทั้งสองสถาบันเช่นกัน

จากฤดูกาลที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปล่วงเข้าสู่วัย 54 ในปีนี้ อาจารย์เสกสรรค์ยังคงสถานภาพของนักคิดนักแสวงหาและนักต่อสู้อย่างไม่รู้จบสิ้น ด้วยความเชื่อที่ว่า โลกจะเปลี่ยนได้ต้องมีผู้กล้าเข้าเปลี่ยนแปลงโลก ดังนั้น ในแง่หนึ่งท่านคือนักเดินทางผู้สันโดษ ด้วยสองเท้าที่ย่ำผ่านทางทากและสายน้ำเชี่ยว จากผืนดินถิ่นที่ราบจนถึงการเหยียบเลียบเลาะชายคาโลก จากกลางท้องทะเลยามเร่ร่อนหาปลา ถึงในดงดอยยามเดินป่าเสาะหาตัวตน ก็เพื่อมุ่งค้นหาความหมายของชีวิตคนในระดับลงลึกถึงจิตวิญญาณ

แต่ในอีกแง่หนึ่งนั้น หัวใจของท่านยังคงห่วงใยกังวลต่อชะตากรรมของบ้านเมือง และไม่เคยละเลยที่จะพยายามค้นหาหนทางปลดปล่อยเพื่อนร่วมชาติออกจากพันธนาการทั้งปวง เนื่องจากท่านเล็งเห็นถึงสภาวะเสื่อมทรุดทางจิตใจของคนไทยจำนวนมาก และการเสื่อมสลายของสายใยความสัมพันธ์ที่คนไทยเคยมีให้กัน อันเป็นผลมาจากการแผ่ขยายของลัทธิบริโภคนิยมแบบสุดขั้ว และกระแสทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่กำลังพัดแรง กล่าวในแง่นี้ก็ต้องยอมรับว่าบทบาทและความคิดของอาจารย์เสกสรรค์ หาใช่สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์ไม่ และย่อมไม่มีวันสูญพันธุ์ไปจากขบวนการต่อสู้ของภาคประชาชน

การแนะนำอาจารย์เสกสรรค์นั้นมิใช่เรื่องง่าย เหตุหนึ่งเป็นเพราะผู้คนส่วนใหญ่รู้จักท่านเป็นอย่างดีอยู่แล้วในหลายแง่มุม ผ่านทางตัวตนและผลงานที่ปรากฏสู่สาธารณะอย่างสม่ำเสมอ หากกล่าวซ้ำซากก็ออกจะเป็นเรื่องไม่น่าสนใจ อีกเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะการจะกล่าวถึงบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งได้ใช้ความคิดและเรี่ยวแรงพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมมาไม่น้อยกว่า 30 ปี ภายในเวลาเพียงสั้นๆ นั้น นับเป็นเรื่องเกินกว่าวิสัยที่เหมาะหรือควรจะเป็น

แต่สิ่งที่กระผมกล่าวมาทั้งหมด คงเพียงพอที่จะทำให้ท่านผู้มีเกียรติ ณ ที่นี้ ได้มองเห็นถึงบทบาทอันสำคัญของอาจารย์เสกสรรค์ที่มีต่อสังคมไทย และความเหมาะสมต่อฐานะองค์ปาฐก 14 ตุลา ประจำปีนี้. บัดนี้ เป็นเวลาอันสมควรแล้ว กระผมขอเรียนเชิญ ดร. เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ขึ้นกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "ประเทศไทยบนเส้นทางประชาธิปไตย: บทสำรวจปัญหาและทางออก" ได้ ณ บัดนี้


ประเทศไทยบนเส้นทางประชาธิปไตย: บทสำรวจปัญหาและทางออก
ปาฐกถาเนื่องในโอกาสครบรอบ ๓๐ ปีของการต่อสู้ ๑๔ ตุลาคม
โดย ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล


มิตรสหายและท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย
วันนี้เป็นวันครบรอบ 30 ปีของการต่อสู้ 14 ตุลาคม จึงนับเป็นโอกาสอันควรที่พวกเราจะมาประชุมกันเพื่อตรวจสอบทบทวนสถานะของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย แต่ก่อนที่ผมจะแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว คงต้องขอน้อมคารวะวีรกรรมของผู้พลีชีพในการต่อสู้ครั้งนั้น และขอขอบคุณทุกท่านที่กรุณาให้เกียรติเชิญผมมาเป็นองค์ปาฐกในห้วงยามที่มีความหมายยิ่ง

ที่ผ่านมา….ผมพบว่าการประเมินคุณค่าและความหมายของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 นั้น
มักมีความโน้มเอียงสุดขั้วไปในสองทิศทางคือ..

ทิศทางแรก มองการต่อสู้ 14 ตุลาคมว่า เป็นเหตุการณ์ที่ให้กำเนิดระบอบประชาธิปไตยที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้จึงประเมินการต่อสู้ดังกล่าวไว้อย่างยิ่งใหญ่ และแยกออกจากเหตุการณ์อื่นๆ ทั้งปวง กระทั่งถือเอาระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน และถือเอาสถาบันประชาธิปไตยที่เป็นทางการเป็นจุดสิ้นสุดของวิวัฒนาการทางการเมือง

ทิศทางที่สอง นั้น เนื่องจากเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยที่เกิดตามหลังการต่อสู้ 14 ตุลาคม และสถาบันรัฐสภาที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นแค่เวทีการเมืองของชนส่วนน้อย จึงหวนไปประเมินการต่อสู้ของนักศึกษา ประชาชน เมื่อ30 ปีก่อนว่าเต็มไปด้วยจุดอ่อนข้อบกพร่อง กระทั่งเป็นแค่เครื่องมือของชนชั้นนำจากภาคธุรกิจ ในการก้าวขึ้นมากุมอำนาจแทนชนชั้นนำจากระบบราชการ

ในความเห็นของผม การประเมินอย่างสุดขั้วทั้งสองแบบนั้นอาจบรรจุความจริงไว้บางส่วน แต่จะด้วยฉันทาคติหรืออคติก็ตาม ในบางด้านก็หลุดลอยไปจากความถูกต้องและความจริงเช่นกัน

หากพิจารณาเฉพาะการลุกขึ้นสู้กับระบอบเผด็จการของนักศึกษาประชาชนในเดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าจะวัดด้วยมาตรฐานใด เราคงต้องยอมรับว่ามันเป็นการต่อสู้อันยิ่งใหญ่ในระดับที่ไม่เคยมีมา…และยังไม่เคยมีอีก...ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของประเทศไทย ความยิ่งใหญ่ของการต่อสู้ 14 ตุลาคมมิเพียงอยู่ที่การเข้าร่วมของมวลชนเรือนแสนเรือนล้าน หากยังอยู่ที่จิตวิญญาณอันหาญกล้าของผู้เข้าร่วม ที่ผูกผนึกกันไว้ราวพี่น้องร่วมสายโลหิต เบื้องหน้าภัยอันตรายที่คุกคามคร่าชีวิต ปวงมหาประชาชนกลับเคลื่อนเข้าหากันโดยสมัครใจเพื่อสำแดงพลังและสำแดงเจตนารมณ์ที่จะไม่ยอมอยู่ภายใต้แอกอำนาจนิยมอีกต่อไป

ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ หากไม่นับเป็นปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่แล้ว ในโลกคงหาเรื่องยิ่งใหญ่มาเล่าขานสู่กันฟังได้ยากเต็มที อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพลังนำในการต่อสู้ 14 ตุลาคมเป็นเพียงเยาวชนคนหนุ่มสาวจากรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งอ่อนด้อยทั้งวุฒิภาวะและประสบการณ์ทางการเมือง หลังจากผลักดันให้ระบอบเผด็จการพังพินาศลงแล้ว พวกเขาจึงไม่สามารถเข้าไปมีส่วนสถาปนาระบอบประชาธิปไตยได้โดยตรง

ในสถานการณ์หลัง 14 ตุลาคม สังคมไทยยังประกอบด้วยพลังทางการเมืองอีกหลายหมู่เหล่า และโดยธรรมชาติของความสัมพันธ์ทางอำนาจ เมื่อใดก็ตามที่ศูนย์อำนาจเดิมล่มสลายลง การแข่งขันช่วงชิงอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ และการยืนยันตนเองของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ย่อมเกิดขึ้น ซึ่งในสภาวะเช่นนี้ อย่าว่าแต่นิสิตนักศึกษาเท่านั้นที่คุมสถานการณ์ไม่ได้ แม้แต่พลังทางสังคมอื่นๆ ที่มีวุฒิภาวะมากกว่าก็ยังไม่สามารถกำหนดทิศทางการเมืองของไทยให้คลี่คลายไปสู่สภาวะที่สมดุลได้

พูดกันตามความจริง ขบวนนักศึกษาที่เติบใหญ่อย่างก้าวกระโดดจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ใช่ว่าจะมองไม่เห็นการเคลื่อนตัวเข้ายึดครองเวทีประชาธิปไตยโดยชนชั้นนำที่มาจากภาคธุรกิจ ตรงกันข้าม…พวกเขามองเห็นแนวโน้มเช่นนี้มาตั้งแต่แรก จึงผนึกพลังของตนเองเข้ากับชนชั้นผู้เสียเปรียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมกรผู้ใช้แรงงาน และชาวนาที่ทุกข์ยากอยู่ในชนบท ทั้งนี้โดยหวังว่าระบอบประชาธิปไตยจะเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ประชาชนในระดับรากหญ้าด้วย

แต่ก็แน่ละ การเคลื่อนไหวของเยาวชนคนหนุ่มสาวสมัยนั้น มิได้ถูกต้องสอดคล้องกับความจริงไปทั้งหมด บ่อยครั้งพวกเขาอาศัยความบริสุทธิ์ทางจิตใจ และความเร่าร้อนทางอุดมคติมาแทนที่การวิเคราะห์ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ในเมื่อสะสมความผิดพลาดถึงจุดหนึ่งขบวนก็อ่อนพลังลง ในบรรดาข้ออ่อนทั้งปวงของขบวนนักศึกษาสมัยหลัง 14 ตุลาคม สิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นความผิดพลาดชี้ขาดอย่างหนึ่ง คือพวกเขาประเมินพลังประชาธิปไตยไว้สูงเกินไป อันที่จริงกระแสหลักของชนชั้นนายทุนและคนชั้นกลางไทยในเวลานั้น ยังไม่ได้มีความภักดีแน่นหนาต่อระบอบประชาธิปไตย และพร้อมที่จะกลับไปหาระบอบอำนาจนิยมเมื่อรู้สึกว่าผลประโยชน์ของตนถูกคุกคาม นี่คือที่มาทางสังคมของกรณีสังหารหมู่ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

เพราะฉะนั้น สรุปในชั้นนี้ก็คือ การลุกขึ้นสู้กับระบอบเผด็จการของนักศึกษาประชาชนในปี 2516 นั้น เป็นปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่ควรค่าแก่การคารวะและจดจำ อีกทั้งยังเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของปวงชนชาวไทยในขอบเขตกว้างขวางที่สุด ที่จะเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพและสังคมมีความเป็นธรรม ทว่าทั้งหลายทั้งปวงนี้ เราต้องถือเป็นคนละประเด็นกันกับเส้นทางเดินของประชาธิปไตยไทยในระยะ 30 ปีที่ผ่านมา กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือว่า สถานะของประชาธิปไตยไทยในปัจจุบันไม่ได้ถูกกำหนดโดยเหตุการณ์ 14 ตุลาคมอย่างเดียว หากยังมีเหตุการณ์อื่นและปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างเข้ามาปรุงแต่งให้มันเป็นอย่างที่เป็นอยู่

มิตรสหายและท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายครับ ถ้าเราเอาเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นหลักบอกระยะทางที่สำคัญของประวัติศาสตร์ไทย แล้วถามว่า 30 ปีผ่านไป บ้านเมืองของเราดีขึ้นแค่ไหน ระบอบการเมืองการปกครองเป็นประชาธิปไตยพอแล้วหรือยัง? คำตอบในเรื่องนี้คงจะพูดแบบขาวล้วนดำล้วนไม่ได้ เพราะในความเป็นจริงมันมีทั้งด้านที่ดีขึ้นและเลวลง

กล่าวสำหรับในเรื่องของระบอบประชาธิปไตย เราคงต้องยอมรับว่าด้านที่ดีขึ้นนั้นมีอยู่ อย่างน้อยเมื่อเทียบกับระบอบเผด็จการในช่วงก่อน 14 ตุลาคม ประชาชนไทยในปัจจุบันก็มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น การจัดตั้งรัฐบาลโดยผ่านการเลือกตั้งเป็นไปโดยสม่ำเสมอมากขึ้น และการข่มเหงคนโดยผู้กุมอำนาจก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจทำได้ตามอำเภอใจ อย่างไรก็ตาม การที่เรามาถึงวันนี้ได้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากเกิดจากการต่อสู้อย่างต่อเนื่องของพลังฝ่ายประชาชน ดังเราจะเห็นได้ว่าเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ไม่สามารถชะลอประชาธิปไตยได้ตามความหวังของชนชั้นปกครองจากระบบราชการ และต้องหวนคืนสู่เส้นทางประชาธิปไตยอีกในปี พ.ศ.2521

การต่อสู้ของด้วยกำลังอาวุธของขบวนนักศึกษา ที่เข้าไปสมทบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้มีบทบาทอย่างสูงในการกดดันและถ่วงดุลให้รัฐไทยยอมปรับกระบวนทัศน์ แม้ว่าในที่สุดแล้วการต่อสู้ดังกล่าวจะสลายลงด้วยความผันผวนของสถานการณ์สากล ตลอดจนความผิดพลาดบกพร่องของขบวนปฏิวัติเอง แต่คุณูปการในการกดดันโดยอ้อมให้รัฐไทยยอมปรับตัวเข้าหาประชาธิปไตยก็เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ และต้องถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่กำหนดเส้นทางเดินของสังคมไทยให้เป็นไปอย่างที่เป็นมา

การฟื้นตัวของระบอบอำนาจนิยมในปีพุทธศักราช 2534 และการต่อต้านของฝ่ายประชาชนในปี 2535 ก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ส่งผลสะเทือนถึงสภาพปัจจุบัน ทั้งนี้ยังมิพักต้องเอ่ยถึงบทบาทของการเมืองภาคประชาชน ที่ดำเนินมาโดยกลุ่มประชาชนในระดับรากหญ้าและองค์กรพัฒนาเอกชนบางส่วน การแสดงความคิดเห็นของปัญญาชนสาธารณะ ที่คอยเตือนสติผู้กุมอำนาจ ตลอดจนการทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของสื่อมวลชน … เหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่คอยขับเคลื่อนให้สังคมไทยคลี่คลายไปบนเส้นทางประชาธิปไตย

ถามว่าแล้วเรายังมีปัญหาอันใดอีกหรือ จึงต้องหยิบยกเอาระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาเป็นหัวข้อในการพินิจพิจารณา? คำตอบคือ เป็นเพราะที่ผ่านมาระบอบประชาธิปไตยไทยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่สำคัญๆ หลายอย่างให้กับประเทศไทยได้ โดยเฉพาะปัญหาความยากจน ปัญหาความเป็นธรรมทางสังคม และปัญหาระบบการศึกษาซึ่งไม่มีจุดหมายทางปัญญาอย่างแท้จริง

ในทัศนะของผม การที่ระบอบประชาธิปไตยไทยไร้ความสามารถในการดูแลสังคมถึงขนาดนี้ เป็นผลเนื่องมาจากปัจจัยหลัก 3 ประการคือ

1. แนวทางพัฒนาประเทศที่ไม่สมดุล
2. ความไม่พอเพียงของระบอบรัฐสภา
3. ผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัตน์

อันที่จริงปัจจัยทั้งสามอย่างล้วนเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด แต่ผมจะขออนุญาตขยายความทีละข้อเพื่อให้เกิดความเข้าใจชัดเจน

1. แนวทางพัฒนาประเทศที่ไม่สมดุล
เมื่อกล่าวถึงแนวทางพัฒนาประเทศ เราคงต้องยอมรับกันว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ว่าชุดไหน ล้วนแล้วแต่ยึดถือในแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ออกแบบโดยส่วนกลาง ตลอดจนรวมศูนย์อำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรไว้ที่ส่วนกลาง แนวทางพัฒนาดังกล่าว จะว่าไปก็คือการสืบทอดเสริมขยายแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมทุนนิยมที่กำหนดขึ้นมาโดยรัฐเผด็จการนั่นเอง ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2504 จนถึงปัจจุบัน การพัฒนาประเทศในทิศทางนี้ได้ดำเนินมากว่า 40 ปี และได้สร้างความแตกต่างเหลื่อมล้ำให้กับผู้คนในสังคมไทย ราวกับว่าพวกเขาไม่ได้สังกัดประเทศเดียวกัน

ทุกวันนี้แม้เราจะกำหนดเส้นแบ่งความยากจนด้วยรายได้ต่อหัวต่อเดือนเพียง 800 กว่าบาท (2546) แต่ผู้อยู่ใต้เส้นแบ่งดังกล่าวก็ยังมีถึงประมาณ 10 ล้านคน ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าเราคงไม่อาจนับประชาชนที่มีรายได้มากกว่านั้นเล็กน้อย ไว้ในฐานะผู้มีอันจะกิน และคงต้องยอมรับว่าแนวทางพัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เน้นการเติบโตของสังคมเมือง ได้ทิ้งประชาชนไทยให้จมปลักอยู่กับความยากจนไม่ต่ำกว่าครึ่งประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยนับวันก็ยิ่งถ่างห่างออกไป ดังจะเห็นได้จากงานวิจัยล่าสุดของนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งระบุผลว่า คนจนในปัจจุบันมีส่วนแบ่งในรายได้รวมน้อยลงกว่าเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน ขณะที่ส่วนแบ่งของคนรวยยิ่งมากขึ้นกว่าเดิม

- กล่าวอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ กลุ่มประชาชนไทยร้อยละ 20 ที่มีรายได้ต่ำสุด เคยมีส่วนแบ่งจากรายได้รวมของชาติร้อยละ 6 ในปี 2518/2519 ปัจจุบันส่วนแบ่งดังกล่าวได้ลดลงเหลือร้อยละ 3.9 ขณะที่ประชาชนส่วนที่มีรายได้สูงสุด 20 เปอร์เซนต์แรก กลับมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 49.2 เป็น 57.8 ของรายได้รวม

- จากข้อมูลเดียวกันนี้ เมื่อคิดออกมาเป็นอัตราของความเหลื่อมล้ำต่ำสูงแล้ว ก็จะพบว่าช่องว่างระหว่างกลุ่มคนรวยสุดกับจนสุดได้เพิ่มจาก 8.1 เท่าเป็น 14.9 เท่า และถ้าแบ่งกลุ่มประชากรให้เล็กลงเหลือ 10 เปอร์เซนต์แรกที่ร่ำรวยกับ 10 เปอร์เซนต์หลังที่ยากไร้ ก็จะพบว่าพวกเขามีรายได้ต่างกันถึง 27 เท่า (ปราณี ทินกร 2545)

กระนั้นก็ตาม ตัวเลขเหล่านี้ยังสะท้อนความจริงออกมาไม่ได้ทั้งหมด เนื่องจากในการจัดกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูง 10 หรือ 20 เปอร์เซนต์แรกนั้น แท้จริงแล้วเท่ากับนับรวมอภิมหาเศรษฐีกับคนชั้นกลางธรรมดาไว้ในแถวเดียวกัน ในรายละเอียดของข้อเท็จจริง ช่องว่างระหว่างรายได้ของคนไทยอาจจะห่างไกลกันอย่างเหลือเชื่อยิ่งกว่านี้หลายเท่า ยกตัวอย่างเช่นถ้าเราดูที่บัญชีเงินฝากในธนาคารทั้งหมด ซึ่งมีอยู่กว่า 40 ล้านบัญชี ก็จะพบว่าประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าเงินฝากทั้งหมดอยู่ใน 5 แสนบัญชีแรกเท่านั้นเอง (ปXป สิงหาคม 2545) ซึ่งแม้เราจะคิดหยาบๆ โดยถือว่าหนึ่งคนมีหนึ่งบัญชี ข้อสรุปก็ยังน่าตกใจยิ่ง เพราะ 70 เปอร์เซนต์ของเงินที่อยู่ในธนาคาร เป็นของคนจำนวนไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซนต์ในประเทศไทย คงไม่ต้องสงสัยเลยว่าประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้จะตกอยู่สภาพเช่นใด…

แน่นอน ความยากจนของคนๆ หนึ่งอาจจะไม่ใช่ความผิดของสังคมเสมอไป แต่ความยากไร้ของคนจำนวนครึ่งค่อนประเทศย่อมไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และไม่ใช่ปัญหาของปัจเจกบุคคลเท่านั้น นอกจากนี้แล้วมันยังเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อระบอบการเมืองการปกครอง

การที่ระบบการเมืองแบบผู้แทนถูกสถาปนาขึ้นมาในสังคมที่คนส่วนใหญ่ยากจนและด้อยโอกาสนั้น แน่นอนที่สุดในอันดับแรกย่อมหมายถึงการแข่งขันทางการเมืองที่กระจุกตัวแคบอยู่ในหมู่ชนชั้นนำ ซึ่งมีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจมากพอที่จะขึ้นสู่เวทีอำนาจได้ ส่วนประชาชนชั้นล่างเป็นได้อย่างมากที่สุดคือฐานความชอบธรรม (Legitimacy) ของกระบวนการเลือกตั้ง พ้นจากนี้แล้วถ้าต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้นบ้าง ก็อาจเอาตนเองไปผูกโยงกับเครือข่ายอุปถัมภ์ต่างๆ ซึ่งไม่ได้มีที่ว่างสำหรับทุกคน และยิ่งไม่ได้สะท้อนภาพระบอบการเมืองที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน

สมมุติว่าเรายอมรับว่าอำนาจการเมืองกับชนชั้นนำนั้นเป็นสิ่งแยกออกจากกันไม่ได้ และการแข่งขันกันอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมในหมู่สมาชิกชนชั้นนำ ก็อาจจะช่วยคัดสรรคนดีมีคุณภาพมาปกครองบ้านเมือง ทว่าในสภาพที่เป็นจริง เหตุการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป สิ่งเลวร้ายที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยไทยคือ การที่นักการเมืองจำนวนไม่น้อยซึ่งมาจากจากชนชั้นมั่งคั่ง แต่ไร้คุณธรรมและวัฒนธรรม ตลอดจนขาดความรู้ในศาสตร์ศิลป์ของการปกครอง ได้ฉวยโอกาสหาประโยชน์จากความยากไร้ของประชาชน โดยหว่านซื้อสิทธิเสียงของพวกเขาด้วยอามิสสินจ้าง และแปรระบอบประชาธิปไตยที่เราเคยเอาเลือดแลกในปี 2516 ให้กลายเป็นแค่สนามประมูลอำนาจของคนมีเงิน

สภาพดังกล่าวได้ดำเนินมาตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2521 จนถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองในปี พ.ศ. 2540 ดังนั้นเราจึงสรุปได้ว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีเต็มของ 30 ปีที่ผ่านมา ระบอบประชาธิปไตยไทย เป็นเพียงเวทีการเมืองของคนไม่มีกี่พันคนที่แย่งกันครอบงำประชาชน. แน่ละ นักการเมืองไม่ได้เป็นคนที่น่ารังเกียจไปหมด กระทั่งหลายท่านเป็นคนดีมีความสามารถควรค่าแก่การเคารพนับถือ แต่เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เวทีเลือกตั้งนั้นไม่ใช่พื้นที่สำหรับประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ 'ตลาดเสรี'ทางการเมืองเหมือนดังที่ชอบอ้างกัน

หลายปีที่ผ่านมา รัฐสภาไทยเต็มไปด้วยสมาชิกที่มาจากชนชั้นที่ได้เปรียบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจและนักการเมืองอาชีพที่โยงใยใกล้ชิดอยู่กับพวกเขา ยกตัวอย่างเช่นองค์ประกอบของสภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ.2539 สมาชิกสภาฯที่เป็นนักธุรกิจและนักการเมืองอาชีพ มีจำนวนมากถึงร้อยละ 87 ของสมาชิกทั้งหมด ในขณะที่ผู้แทนจากภาคเกษตรกรรมมีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นเอง (สถิติทางการ)

พูดกันตามความจริง แม้หลังการปฏิรูปการเมืองโดยผ่านรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 องค์ประกอบของรัฐสภาไทยก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางกระจายที่นั่งให้กับชนชั้นล่างๆ มากขึ้น และเช่นเดียวกับปัญหาการกระจายรายได้ อาจจะต้องถือว่าสถานการณ์เลวลงกว่าเดิม ดังเราจะเห็นได้ว่าสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งปี 2544 มีสมาชิกที่เป็นนักธุรกิจ อดีตข้าราชการ นักกฎหมายและนักการเมืองอาชีพรวมกันได้ถึง 453 คนจาก 500 คน (สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง) ซึ่งหมายถึงว่า สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นชนชั้นนำจากวงการต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 90.20 ของสมาชิกทั้งหมด โดยสมาชิกสภาฯ ที่เป็นเกษตรกรนั้นมีอยู่ร้อยละ 3.20 และเป็นผู้ประกอบอาชีพรับจ้างเพียงร้อยละ 2.80 ของจำนวนรวม

ทั้งหมดนี้ยังไม่ต้องเอ่ยถึงวุฒิสภาซึ่งแม้ในปัจจุบันจะมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็มีการกำหนดคุณสมบัติที่เอื้ออำนวยต่อชนชั้นนำมากกว่าชนชั้นล่าง ดังจะเห็นได้ว่าองค์ประกอบที่มาจากภาคราชการ ภาคธุรกิจ และผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูงสาขาต่างๆ รวมกันแล้วมีสัดส่วนถึงร้อยละ 90 ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด โดยมีผู้ที่มาจากภาคเกษตรกรรมแค่ร้อยละ 4 คล้ายสัดส่วนในสภาผู้แทนราษฎร (สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง)

สรุปรวมความแล้วก็คือการเมืองแบบตัวแทน หรือการเมืองแบบเลือกตั้งนั้น ไม่ใช่พื้นที่สำหรับคนส่วนใหญ่ที่ยากจนและด้อยโอกาสอย่างแน่นอน

2. ความไม่พอเพียงของระบอบรัฐสภา
นอกเหนือไปจากแนวทางพัฒนาที่ไม่สมดุล ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่ถูกคัดออกไปจากเวทีแข่งขันทางการเมืองโดยอัตโนมัติ และไม่สามารถส่งผลกำหนดนโยบายใดๆ ของรัฐ ตัวระบอบรัฐสภาเองก็มีความจำกัดในการตอบสนองความต้องการของประชาชน ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น สาเหตุที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือ

30 สิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ล้วนแล้วแต่ใช้อำนาจบัญชาสังคมโดยผ่านระบบราชการอันมีมาแต่เดิม ซึ่งหมายถึงว่าการเปิดเสรีทางการเมือง เป็นเรื่องที่จำกัดขอบเขตอยู่กับการสรรหาผู้ปกครองประเทศเท่านั้น ส่วนกระบวนการปกครองบ้านเมืองยังคงมีลักษณะเป็นรัฐราชการ และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมยังคงเป็นความสัมพันธ์แบบอำนาจนิยม

เป็นที่ทราบกันดีว่าระบบรวมศูนย์อำนาจเข้าส่วนกลาง โดยผ่านกลไกราชการนั้น ถูกสร้างขึ้นเพื่อสนองอำนาจสัมบูรณ์ของรัฐบาลในอดีต มันเป็นสถาบันที่เกิดก่อนประชาธิปไตย เป็นระบบอำนาจซึ่งถูกออกแบบไว้เพื่อควบคุมกำกับสังคม มากกว่าตอบสนองความเรียกร้องต้องการของประชาชนหมู่เหล่าต่างๆ แม้ว่าทุกวันนี้เนื่องจากการเติบโตของอารยะสังคม เจ้าหน้าที่ของรัฐจะมีท่าทีเคารพประชาชนมากขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่ แต่โดยพื้นฐานแล้วความสัมพันธ์ทางอำนาจดังกล่าวก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง มันเป็นอำนาจแบบสั่งการจากเบื้องบนลงมา เป็นอำนาจที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมและตรวจสอบไม่ได้

แน่นอน โดยตัวของมันเองแล้ว ระบอบประชาธิปไตยก็นับว่าเข้ากันไม่ค่อยได้กับการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจและบังคับบัญชาสังคม ทั้งนี้เนื่องจากมันทำให้กระบวนการตอบสนองสังคมเป็นไปอย่างเชื่องช้ากระทั่งถูกกั้นขวางโดยกลไกของรัฐเอง เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวกันโดยตรรกะและความถูกต้องของเหตุผลแล้ว นักการเมืองจากระบอบประชาธิปไตย ควรจะรีบปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินมาตั้งแต่ต้น เพื่อรื้อถอนกำแพงกั้นระหว่างพวกเขากับประชาชน เพื่อเปิดพื้นที่เพิ่มให้กับการทำงานของระบบผู้แทนราษฎร

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงส่วนใหญ่ของระยะ 30 ปีที่ผ่านมา นักการเมืองที่ผลัดเวียนกันไปจัดตั้งรัฐบาล ไม่เพียงรักษาระบบบริหารราชการแผ่นดินแบบรวมศูนย์นี้ไว้เท่านั้น หากยังใช้มันอำนวยผลประโยชน์ต่างๆ ให้กับเครือข่ายอุปถัมภ์ของตน ระบบบริหารราชการแผ่นดินกลายเป็นแหล่งที่มาของผลประโยชน์มหาศาล ที่นักการเมืองสามารถเข้าไปขี่ควบ ทั้งนี้เนื่องจากระบบดังกล่าวมีอำนาจตั้งแต่ควบคุม จัดสรร และจัดการทรัพยากรของชาติ ไปจนถึงบริหารงบประมาณแผ่นดินปีละหลายแสนล้านบาท ยังไม่ต้องเอ่ยถึงอำนาจในการออกกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งให้คุณให้โทษต่อชีวิตของผู้คน

ดังที่ผมกล่าวไว้แล้วข้างต้น โดยรากฐานทางเศรษฐกิจและสังคมระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาก็สะท้อนความได้เปรียบของคนส่วนน้อยอยู่แล้ว ยิ่งมาสวมครอบกลไกอำนาจที่มีมาแต่เดิม ก็ยิ่งไม่สามารถตอบสนองประชาชนส่วนใหญ่ได้ และยิ่งหลุดลอยไปจากการตรวจสอบควบคุมของสังคม เพราะฉะนั้นมันจึงไม่แปลกที่การชุมนุมประท้วงของประชาชนหมู่เหล่าต่างๆ ได้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากและต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่โดยทฤษฎีแล้วประชาชนทั้งประเทศล้วนมีผู้แทนของตนอยู่ในศูนย์อำนาจ ยกตัวอย่างเช่นในปี 2533 มีการชุมนุมประท้วงของประชาชน 170 ครั้ง และเพิ่มเป็น 754 ครั้งในปี 2538 (ประภาส ปิ่นตบแต่ง 2541)

ตลอดช่วงหลัง 2521 มาจนถึงก่อนการเลือกตั้งตามกติกาของรัฐธรรมนูญ 2540 เรื่องราวของการทุจริตโกงกินบ้านเมือง โดยผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะมักกลายเป็นข่าวฉาวโฉ่อย่างต่อเนื่อง ไม่แพ้เรื่องการซื้อเสียง พฤติการณ์ทุจริตในสนามเลือกตั้ง จนนักวิชาการทั่วโลกที่เฝ้าดูเมืองไทยต่างขนานนามประชาธิปไตยของเราว่า เป็นระบบ 'Money Politics' (Ruth McVey 2000) ซึ่งหมายถึงระบบที่ใช้เงินซื้ออำนาจ กับใช้อำนาจไปหาเงิน. สภาพเหล่านี้เป็นต้นเหตุที่มาของเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง ซึ่งดังขึ้นเรื่อยๆ หลังเหตุการณ์พฤษภาคมทมิฬในปี 2535 และปรากฏผลพวงในรูปของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน. ถามว่าการปฏิรูปการเมืองตามแนวทางรัฐธรรมนูญ 2540 จะช่วยทำให้ระบบรัฐสภาไทยพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน? ต่อเรื่องนี้ผมคิดว่าเรายังคงอยู่ห่างไกลจุดหมายที่จะเพิ่มอำนาจแท้จริงให้กับประชาชน

ก็ถูก…ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีส่วนทำให้กระบวนการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา มีความบริสุทธิ์สะอาดมากขึ้น และการมีอยู่ของศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นประโยชน์ในการตรวจสอบคุณสมบัติและการทำงานของผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะ แต่เราคงต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มุ่งกลั่นกรองตัวบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง มากกว่ามุ่งกระจายโอกาสทางการเมืองให้กับประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกชั้นชน ดังจะเห็นได้จากตัวเลขสัดส่วนของชนชั้นนำในรัฐสภา ที่ยังคงอยู่ในฐานะครอบงำ ซึ่งผมได้ยกมาแสดงไว้แล้วข้างต้น

พูดกันตามความจริง จากการที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้ที่การศึกษาระดับปริญญาตรี ย่อมเท่ากับเป็นการปิดตลาดแข่งขันทางการเมืองไว้ให้ชนชั้นนำอย่างสิ้นเชิง เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยมีโอกาสได้เรียนหนังสือในระดับนี้ ยิ่งไปกว่านั้น จากการค้นคว้าวิจัยของนักวิชาการที่น่าเชื่อถือ (รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ 2545) ยังพบว่ารัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองมีฉันทาคติลำเอียงไปทางพรรคการเมืองขนาดใหญ่และระบบน้อยพรรคอย่างจงใจ ซึ่งทำให้ทางเลือกทางด้านแนวคิดในระบบรัฐสภายิ่งลดน้อยลง ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าแนวนโยบายของรัฐในการดูแลสังคม ก็ถูกกำหนดไว้แล้วอย่างตายตัวโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเช่นกัน

สำหรับสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน งานวิจัยชิ้นเดียวกันก็ชี้ให้เห็นว่า มันเป็นสิทธิที่ประชาชนต้องแบกรับต้นทุนมากเกินไป ทำให้ปฏิบัติได้ยากในความเป็นจริง โดยเฉพาะในกรณีลงชื่อ 5 หมื่นชื่อเพื่อเสนอกฎหมายหรือเสนอให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง. พูดก็พูดเถอะ ทุกวันนี้นอกจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งเอาธุระในเรื่องที่ประชาชนถูกละเมิดล่วงเกินแล้ว เราจะพบว่าองค์กรอิสระส่วนใหญ่ที่ถูกออกแบบมาถ่วงดุลนักการเมือง ยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างแท้จริง กระทั่งอาจจะถูกแทรกแซงแย่งยึดโดยนักการเมืองเสียเอง กฎหมายที่จะเพิ่มอำนาจให้กับประชาชนอย่างกฎหมายประชาพิจารณ์ หรือกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิชุมชนก็ยังไม่มี ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอายุเกิน 5 ปีแล้ว

เพราะฉะนั้น หากถามว่าการปฏิรูปการเมืองแบบที่ผ่านมา ได้เพิ่มอำนาจและเพิ่มโอกาสในการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายให้กับประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่ คำตอบสั้นๆ ก็คือ ไม่ กระทั่งอาจจะมีส่วนร่วมลดลงเนื่องจากการก่อรูปของระบบพรรคการเมืองใหญ่ และการมีอำนาจเพิ่มขึ้นของฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม… ปัญหาการไม่มีอำนาจจริงของประชาชนไทยภายใต้ระบบรัฐสภานั้น ถึงวันนี้กลับปรากฏว่าไม่ใช่เป็นเพราะเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ และโครงสร้างการเมืองการปกครองภายในอย่างเดียว หากยังมีปัจจัยภายนอกเลื่อนไหลเข้ามาอย่างรุนแรงและท่วมท้น ซึ่งเมื่อบวกกับปัจจัยภายในแล้วก็ยิ่งเพิ่มเติมความเสียเปรียบทางการเมืองให้กับฝ่ายประชาชน โดยทั่วไปเราเรียกสิ่งนี้ว่ากระแสโลกาภิวัตน์และมันคือปัจจัยหลักที่สามซึ่งผมจำเป็นต้องกล่าวถึง

3. ผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัตน์
ถามว่าโลกาภิวัตน์คืออะไร? หลายท่านอาจจะเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า มันเป็นการเคลื่อนเข้าหากันของมนุษยชาติโดยปราศจากพรมแดนระหว่างประเทศ หรืออุดมการณ์การเมืองเป็นกำแพงกั้นขวาง มันเป็นยุคสมัยที่ผู้คนเปิดใจกว้างในทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม และมองเห็นโลกทั้งโลกเป็นพื้นที่ในการใช้ชีวิต

แน่ละ จินตนาการเช่นนี้เป็นเรื่องงดงาม และโดยผ่านทางเทคโลยีการสื่อสารตลอดจนสัมพันธภาพไร้พรมแดนระหว่างประชาชนประเทศต่างๆ ด้านสว่างของโลกาภิวัตน์ก็มีให้เห็นอยู่จริง เครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างประชาชนหลายสัญชาติหลากเผ่าพันธุ์ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาโรคระบาด ปัญหาสงครามและสันติภาพ ปัญหาสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมทางสังคม ฯลฯ ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นว่าในปัจจุบันมนุษย์เรามีสำนึกเรื่องชะตากรรมร่วมมากขึ้น

แต่ก็อีกนั่นแหละ เราคงต้องยอมรับว่าในอีกมิติหนึ่ง พลังขับเคลื่อนที่ใหญ่โตที่สุดของกระแสโลกาภิวัตน์คือ "ระบบทุนนิยมโลก" ซึ่งมีกลุ่มทุนข้ามชาติและอภิมหาอำนาจตะวันตก ตลอดจนองค์กรทุนนิยมสากล อย่างธนาคารโลก(World Bank) องค์กรการค้าโลก (WTO) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นแกนกลาง พลังดังกล่าว มีทั้งด้านที่รุกรานรุนแรงและด้านที่ซึมลึกกัดเซาะ ซึ่งไม่ว่าจะเคลื่อนไหวในรูปใดก็ตาม ล้วนมีจุดหมายอยู่ที่การเปลี่ยนโลกทั้งโลกให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของตลาดเสรี

กล่าวเช่นนี้แล้ว เราจะเห็นได้ว่าโลกาภิวัตน์ไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว ในห้วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 กระแสล่าอาณานิคมของประเทศทุนนิยมตะวันตก ก็เคยส่งผลดัดแปลงโลกอย่างใหญ่หลวงมาแล้วรอบหนึ่ง โดยชูธง 'การค้าเสรี' คล้ายในยุคปัจจุบัน ปฏิกิริยาตอบสนองของประชาชนโลกที่ถูกรุกรานในครั้งนั้น คือการเร่งรวมตัวกันเป็นรัฐชาติแบบตะวันตก และอาศัยกรอบอำนาจของรัฐชาติ สร้างเศรษฐกิจทุนนิยมขึ้นในประเทศของตน

การพัฒนาทุนนิยมและสะสมทุนในกรอบของรัฐชาติได้ดำเนินมาเป็นเวลายาวนานหลายทศวรรษ จนกระทั่งคนจำนวนมากอาจจะลืมไปว่า โดยเนื้อแท้แล้วระบบทุนนิยมเป็นระบบไร้พรมแดนมาตั้งแต่ต้น แต่การที่กลุ่มทุนเก่าในโลกตะวันตกยอมรับ 'ระบบทุนนิยมแห่งชาติ' ก็เพราะด้านหนึ่งพวกเขาเองก็ยังคงอาศัยกรอบของรัฐชาติมาปกป้องตลาดที่ตนมีฐานะครอบงำ ส่วนในอีกด้านหนึ่งการดำรงอยู่ของสงครามเย็นในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ก็ทำให้ต้องผ่อนปรนกับระบบทุนที่ไม่สมประกอบในบรรดาประเทศเล็กๆ ทั้งหลาย เพื่อผลดีทางการเมืองและชัยชนะในการแข่งขันทางด้านอุดมการณ์

นี่เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่ว่าทำไมกระแสทุนโลกาภิวัตน์ จึงพัดมาแรงอีกครั้งหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง การพังทลายของค่ายสังคมนิยม ทำให้ตลาดโลกสำหรับการค้าและการลงทุนขยายตัวอย่างรวดเร็ว บรรดาบรรษัทข้ามชาติค้นพบว่า การจำกัดตัวอยู่กับเมืองแม่หรือพื้นที่คุ้นเคยไม่อาจทำกำไรสูงสุดได้อีกต่อไป และเมื่อมีความต้องการที่จะขยายตัวเข้าสู่ประเทศต่างๆ ก็พบว่ากรอบกติกาแบบรัฐชาติ หรือ 'ระบบทุนนิยมแห่งชาติ' ที่มีรัฐเป็นผู้คุ้มครองกลายอุปสรรคสำคัญ

ประเทศไทยกับทุนโลกาภิวัตน์
ในกรณีของประเทศไทย การเข้ามาของทุนโลกาภิวัตน์นั้นได้ส่งผลกระทบที่หนักหน่วงมากต่อสัมพันธภาพทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมอันมีมาแต่เดิม ซึ่งอาจจำแนกได้เป็น 3 ปัญหาใหญ่ด้วยกัน

ปัญหาที่หนึ่ง คือความเสื่อมทรุดของอุดมคติและอุดมการณ์เรื่องชาติ ซึ่งโดยพื้นฐานก็ไม่เคยครบถ้วนสมบูรณ์อยู่แล้ว ยิ่งมาได้รับอิทธิพลจากแนวคิดและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบไร้พรมแดน สำนึกที่จะยึดถือประเทศชาติเป็นหน่วยผลประโยชน์ที่ทุกคนถือสังกัด… เป็นแผ่นดินแม่อันศักดิ์สิทธิ์… นับวันก็ยิ่งจางหายและปราศจากความเป็นจริงรองรับ

ถามว่าทำไมจินตนาการเรื่องชาติของเราจึงเสื่อมได้อย่างรวดเร็วขนาดนี้? คำตอบมีอยู่ง่ายๆ คือ เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยรักกันจริง แต่ถ้าจะให้อธิบายเป็นระบบมากกว่านั้นก็คงต้องบอกว่าความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางสังคมอย่างสุดขั้วเป็นต้นเหตุสำคัญ เราจะผนึกรวมกันแน่นเหนียวเพื่อต้านต่างชาติได้อย่างไร ในเมื่อสิ่งที่เรียกว่าผลประโยชน์ของชาตินั้น แท้จริงแล้วตกอยู่ในมือของคนส่วนน้อย ขณะที่คนส่วนใหญ่ถูกทิ้งให้จมปลักอยู่กับความยากไร้นิรันดร

ด้วยเหตุนี้ การปลุกระดมลัทธิชาตินิยมใหม่หลังวิกฤตฟองสบู่ปี 2540 จึงล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ไม่มีผู้เสียเปรียบคนใดที่สะเทือนใจกับความล่มจมของเศรษฐี ชาวชนบทผู้ต่ำต้อยน้อยหน้า ก็ไม่เคยรู้สึกว่าสวรรค์ที่หายไปของบรรดานักธุรกิจและคนชั้นกลาง เป็นสวรรค์ของพวกเขา ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่มีใครสามารถแน่ใจได้เลยว่ากลุ่มธุรกิจไทยและคนชั้นกลางไทย ที่ผูกพ่วงอยู่ด้วยกันคือพลังรักชาติที่แท้จริง ทั้งนี้เพราะว่าพวกเขาคือผู้เปิดประตูรับการเข้ามาของทุนข้ามชาติตั้งแต่แรก และนำประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจฟองสบู่ จากฐานะที่ได้เปรียบทางเศรษฐกิจ พวกเขาจึงเป็นผู้นำเข้าวัฒนธรรมต่างประเทศมากกว่าชนกลุ่มอื่น ตลอดจนสามารถขานรับลัทธิบริโภคสากลได้อย่างรวดเร็ว จนกระทั่งโดยรูปการจิตสำนึก ก็ได้กลายเป็นกลุ่มชนแรกๆ ที่ถอนตัวออกจากสังกัดชาติ….กลายเป็นคนไร้ราก ไร้ความผูกพันกับผู้ใด

ในเมื่อผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนาที่ดำเนินมาในนามชาติ ไม่รู้สึกผูกพันกับชาติเสียแล้ว มันก็เป็นเรื่องยากที่จะบอกคนที่เหลือให้มายอมรับการเสียสละ หรือพันธกิจต่างๆ เพื่อความเจริญเติบโตของชาติอีกต่อไป. พูดกันตามความจริง การเสื่อมทรุดในเรื่องอุดมคติและอุดมการณ์เกี่ยวกับชาตินั้น มิได้เป็นแค่ปัญหาวัฒนธรรม หรือรูปการจิตสำนึก หากเป็นปัญหาใหญ่เกี่ยวข้องกับความชอบธรรมของรัฐและระบอบการเมืองเลยทีเดียว

ที่ผ่านมาการพัฒนาประเทศโดยรัฐเป็นผู้วางแผนนั้น ได้กระทำไปบนสมมุติฐานที่ว่ามีหน่วยส่วนรวมใหญ่ที่เรียกว่าชาติดำรงอยู่ และรัฐคือผู้ดูแลหน่วยส่วนรวมดังกล่าว ต่อมาหลังจากผ่านพัฒนาแบบวางแผนโดยศูนย์อำนาจส่วนกลางมา 40 ปี ผลพวงที่เราได้รับคือ การแบ่งประเทศไทยออกเป็น 2 สังคม ที่แตกต่างเหลื่อมล้ำกันในทุกขอบเขตทุกปริมณฑล ยิ่งสังคมของผู้ได้เปรียบเชื่อมตัวเองเข้ากับเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมแบบไร้พรมแดน วาทกรรมเรื่องผลประโยชน์แห่งชาตินับวันก็ยิ่งว่างเปล่า ขาดความชอบธรรมในความรู้สึกนึกคิดของสังคมส่วนที่เสียเปรียบและถูกทอดทิ้ง

เพราะฉะนั้นมันจึงไม่แปลกเลยว่าทำไมในระยะหลังๆ บรรดาชุมชนท้องถิ่นที่ถูกโครงการของรัฐ หรือบริษัทเอกชนเข้าไปเบียดยึดทรัพยากรที่พวกเขาอาศัยยังชีพ จึงไม่อาจก้มยอมน้อมรับข้ออ้างเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติต่อไป การชุมนุมประท้วงขืนต้านนโยบายรัฐโดยกลุ่มชนเล็กๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ในชั้นล่างของสังคม กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไป และกำลังสั่งสมเป็นแรงกดดันทางการเมืองที่แผ่กว้างมากขึ้นทุกที

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะเห็นได้ว่าจารีตการอ้างชาติเป็นแหล่งที่มาของความชอบธรรมในการใช้อำนาจ กำลังตกอยู่ในสภาพวิกฤตอย่างยิ่ง ไม่เพียงผู้ได้เปรียบเท่านั้นที่รู้สึกว่ากรอบคิดผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสิ่งแคบเกินไป ในการสนองผลประโยชน์และจริตของพวกเขา แม้บรรดาผู้เสียเปรียบเองก็รู้สึกว่าชาติเป็นสัญญาประชาคมที่ถูกผู้ปกครองและผู้ได้เปรียบฉีกทิ้งเสียเอง

ปัญหาที่สอง นอกเหนือจากการเข้ามากัดกร่อนเสริมขยายรอยร้าวในมิติของความเป็นชาติแล้ว กระแสทุนโลภาภิวัตน์ยังเข้ามาผลักดันช่องว่างระหว่างชนชั้นในประเทศไทย ให้ถ่างกว้างออกไปอีก ข้อนี้นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะในสภาพดั้งเดิมเราก็มีปัญหาอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทุนโลกาภิวัตน์ผลักดันให้เลวลงคือ การตัดหนทางแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งทำให้ในระยะยาวแล้วอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองและสังคม. ถามว่าทำไมผมจึงมองโลกในแง่ร้ายเช่นนี้ เรียนตรงๆ ว่านี่ไม่ใช่อคติที่ผมมีต่อระบบทุนนิยม และถ้าหากจะมีใครอยากเห็นสังคมไทยอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ก็คงจะต้องมีผมรวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน

แต่ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่ากระแสทุนโลกาภิวัตน์นั้น เมื่อเข้าครอบงำดินแดนใด ก็ล้วนแล้วแต่นำไปสู่ปัญหาทั้งสิ้น มันทำให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างประชากรโลกกลายเป็นระเบิดเวลาที่น่าสะพึงกลัวอย่างยิ่ง อีกทั้งระเบิดเวลาดังกล่าวอาจจะเป็นระเบิดปรมาณูมากกว่าระเบิดธรรมดา

ทุกวันนี้ ระบบทุนโลกาภิวัตน์ได้ทำให้รายได้รวมของประชากรโลกร้อยละ 82.7 ตกอยู่ในมือของคนรวย 20 เปอร์เซนต์แรก ขณะที่พลเมืองโลก 20 เปอร์เซนต์ซึ่งอยู่ล่างสุดมีส่วนแบ่งในรายได้โลกเพียงแค่ร้อยละ 1.4 เท่านั้นเอง (David Held & Anthony McGrew 2002) เพราะฉะนั้น ผมจึงมีเหตุผลอย่างยิ่งที่จะวิตกกังวล. สาเหตุที่ผมคิดว่ากระแสทุนโลกาภิวัตน์จะผลักดันให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยขยายตัวมากขึ้น ไม่ได้มาจากการเข้ามาลงทุนหรือเก็งกำไรของทุนข้ามชาติเท่านั้น หากที่สำคัญคือพวกเขามีเจตจำนงแน่วแน่ที่จะจัดระเบียบสังคมไทยทั้งหมดให้มาอยู่ภายใต้กติกาของตลาดเสรี หรือพูดอีกแบบหนึ่งก็คือให้มาอยู่ภายใต้ระบบการแข่งขันแบบทุนนิยม

แนวคิดของทุนโลกาภิวัตน์มาจากอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ ซึ่งต้องการเห็นโลกทั้งโลกถูกบริหารจัดการโดยธุรกิจเอกชน ทั้งนี้โดยให้รัฐทำหน้าที่เพียงเป็นผู้กำกับดูแลกติกา รัฐจะไม่มีหน้าที่เข้ามาจัดสรรทรัพยากรหรือสิ่งมีค่าในสังคม หากปล่อยให้ทั้งหมดเป็นเรื่องของกลไกการตลาดล้วนๆ ซึ่งแนวคิดนี้เชื่อว่าจะช่วยสร้างทั้งประสิทธิภาพในการผลิต และความเป็นธรรมในการแบ่งสรรผลประโยชน์

ในยุคหลังสงครามเย็น กลุ่มทุนโลกาภิวัตน์โดยผ่านทางองค์กรทุนนิยมสากลอย่าง IMF, WTO และธนาคารโลก ได้พยายามกดดันให้ประเทศต่างๆ ยอมรับแนวทางดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในระดับของรัฐชาติแล้ว มันหมายถึงเปิดพรมแดนเสรีในทุกด้าน เปิดเสรีทางการค้า, เปิดเสรีทางการเงิน, เปิดเสรีทางการลงทุนระหว่างประเทศ, เปิดเสรีทางด้านแรงงาน, ยกเลิกรัฐวิสาหกิจ, ตลอดจนยกเลิกกฎระเบียบเดิมทั้งปวงที่เป็นอุปสรรคกั้นขวางการแสวงหากำไรสูงสุดของผู้ลงทุน

ในกรณีของประเทศไทย แนวคิดเสรีนิยมใหม่นับว่ามีเสน่ห์ดึงดูดชนชั้นนำในภาคธุรกิจบางส่วน เพราะที่ผ่านมารัฐไทยได้ปกป้องคุ้มครองกลุ่มทุนใหญ่บางกลุ่ม บางตระกูล จนอาจกล่าวได้ว่าการแข่งขันเสรีไม่มีจริง ยิ่งไปกว่านั้น แนวคิดของทุนโลกาภิวัตน์ยังผูกพ่วงมาด้วยแนวทางปฏิรูปการเมืองในบางด้าน เช่นเรื่องของความโปร่งใสทางการเมือง, เรื่องของธรรมาภิบาล (Good Governance), และการสร้างประชาสังคม (Civil Society) เป็นต้น ความคิดเหล่านี้เข้ามาโดนใจคนชั้นสูงและคนชั้นกลางที่มีการศึกษาจำนวนไม่น้อย เพราะที่ผ่านมาหลายท่านต่างก็ชิงชังรังเกียจการใช้อำนาจการเมืองไปในทางทุจริต หรือเกื้อหนุนธุรกิจส่วนตัว

อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวสำหรับแก่นแท้ของแนวทางพัฒนาแบบโลกาภิวัตน์ ทุกอย่างก็ยังล้อมรอบกฎเหล็กที่ว่า ให้ตลาดเป็นผู้ตัดสิน และเมื่อกฎกติกาดังกล่าวถูกนำมาใช้กับสังคมที่ประชาชนมีช่องว่างระหว่างอำนาจซื้อและการถือครองทุนอย่างมหาศาล ก็คงจะคาดเดาได้ว่าความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้วจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง

ในระบบที่เปิดเสรีอย่างทั่วด้าน และใช้กลไกตลาดโลกมาตัดสินทุกอย่างเช่นนี้ อย่าว่าแต่ชนชั้นผู้ใช้แรงงานรับจ้างจะหมดอำนาจต่อรอง หรือคนยากจนในชนบทจะพ่ายแพ้เท่านั้น แม้แต่ธุรกิจของนายทุนพื้นเมืองและคนชั้นกลางบางส่วน ก็ไม่มีหลักประกันว่าจะอยู่รอดเช่นกัน. อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อไฟฟ้า น้ำประปา หรือแม้แต่น้ำที่ใช้ในการทำนาจะกลายเป็นสินค้าที่มีราคาขึ้นลงตามกลไกตลาด, อะไรจะเกิดขึ้นถ้าการศึกษาระดับสูง และการรักษาพยาบาลจะกลายเป็นธุรกิจไปทั้งหมด, อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อตลาดแรงงานทั้งไร้ฝีมือและมีฝีมือ ทั้งที่ใช้ร่างกายและใช้สมอง ล้วนเปิดโล่งให้กับคนทุกสัญชาติ, และอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อที่ดินและทรัพยากรอื่นๆ ของไทยล้วนกลายเป็นสินค้าในตลาดเสรีระดับโลก ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อชีวิตคนไทยในอนาคตอาจจะถูกตัดสินคุณค่าด้วยเงินตราเพียงอย่างเดียว?

เป็นไปได้ว่าถึงตอนนั้น ความหมายในการดำรงอยู่ของคนไทยคงจะถูกย่อให้เหลือแค่กิจกรรมในตลาดสินค้าและบริการ ไม่ว่าในฐานะผู้บริโภคหรือผู้ลงทุนก็ตาม ซึ่งสภาพดังกล่าวจะว่าไปก็ไม่ใช่อะไรอื่น หากคือการรื้อทำลายรากฐานทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของชีวิตนั่นเอง

ปัญหาที่สาม นอกเหนือไปจากปัญหาความชอบธรรมทางการเมืองที่อาศัยการดำรงอยู่ของชาติเป็นแหล่งที่มา และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่จะถูกกระหน่ำซ้ำเติมโดยระบบตลาดเสรีแล้ว สิ่งที่ทุนโลกาภิวัตน์ได้ส่งผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยไทยโดยตรง คืออิสรภาพในการกำหนดนโยบายของรัฐ และการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของฝ่ายประชาชน

แน่ละ สภาพที่ผันแปรไปอย่างรวดเร็วในโลกทำให้เราอาจจะยังสรุปไม่ได้เต็มที่ว่า กระบวนการครอบงำเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ โดยกลุ่มทุนข้ามชาติเป็นเรื่องของการสูญเสียอธิปไตยในความหมายทางการเมืองหรือไม่ บางทีนี่อาจจะเป็นจินตภาพใหม่เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของรัฐชาติ ที่เข้าสู่ระบบ 'โลกาธิปไตย' ด้วยความสมัครใจ หรือเข้าสู่ความร่วมมือกับรัฐอื่นในภูมิภาคเดียวกัน

แต่ที่แน่ๆ ก็คือการวางกฎเกณฑ์พื้นฐานทางเศรษฐกิจไว้อย่างตายตัวโดยองค์กรที่ทรงอิทธิพลอย่าง IMF, WTO และธนาคารโลก และการออกกฎหมายรองรับแนวทางดังกล่าวของรัฐไทย เท่ากับเป็นการปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายของชั้นชนต่างๆ ในสังคมไทยให้สอดคล้องกับสภาพความจริง และสอดคล้องกับปัญหาอันมีลักษณะเฉพาะของกลุ่มตน

ในความเห็นของผมเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะมันไม่เพียงบังคับให้คนไข้ที่ป่วยด้วยโรคต่างกันต้องกินยาชนิดเดียวกันเท่านั้น หากถ้าพิจารณาจากมุมมองของระบอบประชาธิปไตย ยังเท่ากับว่าอำนาจหลายส่วนได้ถูกย้ายออกจากมือของปวงชนไปเรียบร้อยแล้ว เรื่องใหญ่ๆ ของประเทศถูกกำหนดโดยสถาบันและพลังนอกประเทศ ขณะที่ประชาชนในประเทศกลับกำหนดชะตากรรมของตนเองได้น้อยลงทุกที

โดยหลักการที่ยอมรับกันมาตั้งแต่แรก ระบอบประชาธิปไตยแตกต่างจากระบอบอำนาจนิยมในรูปแบบต่างๆ ตรงที่ถิ่นสถิตย์ของอำนาจเริ่มต้นที่ประชาชน จากนั้นอาจจะมอบหมายให้บุคคลบางคณะไปใช้อำนาจแทน แต่ก็เป็นการมอบหมายเพียงชั่วคราว โดยมีเงื่อนไขว่าการใช้อำนาจดังกล่าวจะไม่หวนมาละเมิดล่วงเกินหรือทำร้ายทำลายประชาชนเสียเอง รวมทั้งไม่ได้ตัดสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล หรือมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบายที่ส่งผลกระทบถึงตน

กล่าวเช่นนี้แล้วเราจะเห็นว่าการรุกเข้ามาของระบบทุนโลกาภิวัตน์และการขานรับของรัฐไทย ได้ทำให้ระบอบประชาธิปไตยของเราแทบจะกลายเป็นเรื่องว่างเปล่าไปโดยฉับพลัน แม้เรายังคงมีสิทธิเลือกตั้งคณะบุคคลมาดำรงตำแหน่งในสถาบันการเมืองต่างๆ ทว่าพ้นจากนั้นแล้ว อย่าว่าแต่ประชาชนจะกำหนดอะไรไม่ได้ แม้แต่ผู้ปกครองเองก็ไม่แน่ว่าจะมีอิสรภาพเต็มที่ ในการกำหนดนโยบายที่แตกต่างจากความประสงค์ของกลุ่มอิทธิพลภายนอก

แน่ละ หากพูดเฉพาะปริมณฑลของการควบคุมกำกับสังคมไทย ก็คงต้องยอมรับว่ารัฐยังคงมีอำนาจเต็มเปี่ยมในการบังคับใช้กฎหมาย และให้คุณให้โทษแก่ผู้คนในประเทศ แต่สถานการณ์เช่นนี้ก็ยิ่งทำให้ชวนสงสัยว่า รัฐไทยในปัจจุบันกำลังใช้อำนาจภายในประเทศ บัญชาสังคมไทยให้เป็นไปตามนโยบายของกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ หรือกำลังอาศัยระบบทุนโลกาภิวัตน์เข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาไทย พูดกันตามความจริง ยิ่งนานวันเราก็ยิ่งพบว่า 'ผลประโยชน์ไทย' ที่รัฐเป็นผู้ปกป้องดูแล ไม่เพียงเป็นผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยในประเทศเท่านั้น หากยังเปลี่ยนมือไปเป็นผลประโยชน์ของบรรดาบรรษัทข้ามชาติมากขึ้นทุกที

ในระยะแรก วงการธุรกิจไทยเคยคิดจะใช้ระบบเสรีทางการเงินของทุนโลกาภิวัตน์มาเก็งกำไรในระยะสั้น โดยไม่ได้คิดจะลงเรี่ยวลงแรงในการขยายฐานการผลิตและฐานความรู้ทางด้านเทคโนโลยีเท่าที่ควร นอกจากนี้เงินที่เข้ามาจำนวนมากยังถูกใช้ไปในการบริโภคที่หรูหราฟุ่มเฟือย ดังที่เคยมีผู้ค้นคว้าระบุไว้ เฉพาะในปี 2538 ปีเดียว คนไทยซื้อนาฬิกาและเครื่องประดับถึง 7,000 ล้านบาท หมดเงินไปกับการเดินทางออกนอกประเทศถึง 80,000 ล้านบาท และเสียค่าใช้จ่ายในการส่งลูกหลานไปเรียนต่อต่างประเทศถึง 10,000 ล้านบาท (วอลเดน เบลโลและคณะ 2542)

ด้วยเหตุนี้ การโหมกู้เงินจากต่างประเทศในช่วงทศวรรษ 2530 จึงก่อให้เกิดการเติบโตลวงที่เรียกกันว่าเศรษฐกิจฟองสบู่ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจเงินกู้มากกว่าตั้งอยู่บนฐานของการผลิตจริง ภายในปี 2539 ประเทศไทยมีหนี้สินทั้งในประเทศและนอกประเทศรวมกันถึง 355.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเท่ากับ 197.9 เปอร์เซนต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (วิทยากร เชียงกูลและคณะ 2541) นอกจากนี้ยังส่อแนวโน้มว่าจะไม่สามารถใช้หนี้ได้ จนกระทั่งสูญเสียความน่าเชื่อถือในตลาดเงินทุน และในที่สุดก็นำมาสู่วิกฤตค่าเงินบาทในเดือนกรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องร้ายๆ อีกหลายอย่างที่ตามหลังมา

สภาพดังกล่าวพิสูจน์ให้เห็นว่า เจตนาของชนชั้นนายทุนไทยที่จะเก็บเกี่ยวประโยชน์ทั้งจากกระแสทุนโลกาภิวัตน์ และอาศัยการคุ้มครองของรัฐไทยแบบเดิมๆ ไปพร้อมกัน นับเป็นเรื่องเพ้อฝันโดยสิ้นเชิง

วิกฤตฟองสบู่แห่งปี 2540 ได้เปิดโอกาสให้สถาบันทุนนิยมโลกอย่าง IMF รุกคืบหน้าได้อย่างเต็มที่ด้วยการเรียกร้องให้ประเทศไทยออกกฎหมายหลายฉบับ มาสนองแนวทางเสรีนิยมใหม่ ทั้งนี้เพื่อแลกกับเงินกู้ซึ่งรัฐบาลไทยจำเป็นต้องนำมาใช้แก้สถานการณ์ของประเทศที่กำลังย่อยยับอับจน หลังจากนั้นบรรดากลุ่มทุนข้ามชาติก็เข้ามากว้านซื้อธุรกิจและทรัพย์สินต่างๆ ในประเทศไทยได้อย่างเสรี จนกระทั่งวันนี้เราแทบจะจำแนกไม่ออกแล้วว่าทรัพย์สินของชาตินั้น หมายถึงทรัพย์สินของใคร และสิ่งที่เรียกกันว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ซึ่งวัดกันในรูปการเพิ่มขึ้นของ GDP (gross domestic product) แท้จริงแล้วมันหมายถึงความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นของคนประเทศไหน

ท่านผู้มีเกียรติและมิตรสหายทั้งหลาย ผมต้องขออภัยที่พาท่านเดินทางมาเสียไกลในการสำรวจระบอบประชาธิปไตยไทย แต่ถ้าไม่ทำเช่นนี้เราก็อาจมองข้ามปัญหาอันเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง และคิดว่าประเทศไทยมีแต่ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งแค่ทำให้มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นแล้วทุกอย่างก็จะดีเอง

สิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมดอาจจะสรุปได้เพียงประโยคเดียว คือระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่เราใช้กันอยู่นั้นยังไม่พอเพียง สำหรับการดูแลสังคมโดยองค์รวม และยิ่งไม่พอเพียงสำหรับการกอบกู้ประเทศไทยออกจากวิกฤตทั้งหลายทั้งปวง. ผมเลือกใช้คำว่า 'ไม่พอเพียง' แทนคำอื่นๆ ที่มีความหมายติดลบมากกว่า ก็เพราะยังเห็นด้านดีของระบอบรัฐสภา ยังเห็นความสำคัญของการเลือกตั้งตำแหน่งสาธารณะต่างๆ เห็นคุณค่าของสิทธิเสรีภาพที่เรามีอยู่ อีกทั้งยังเห็นความตั้งใจดีของนักการเมืองบางส่วนตลอดจนสมาชิกของชนชั้นนำจำนวนไม่น้อย

แต่คำว่า"ไม่พอเพียง" เป็นสิ่งที่ผมจะต้องยืนยัน ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาทั้งหลายที่ผมได้กล่าวถึงมาตั้งแต่ต้น ในสภาพที่เรากำลังพบเผชิญ ผมไม่คิดว่าลำพังกระบวนการทางการเมืองในสภาต่างๆ เพียงอย่างเดียวจะสามารถขจัดปัดเป่าทุกข์ร้อนที่มีอยู่ในประเทศไทยให้หมดไป หากเราจำเป็นต้องขยายกรอบประชาธิปไตยให้กว้างขึ้น ไม่ให้จำกัดขอบเขตอยู่แค่การเลือกตั้งคนมากุมอำนาจ และปล่อยให้ประชาชนรอรับการดูแลอย่างเฉื่อยเนือย แน่นอน ในการมุ่งไปสู่ทิศทางนี้ แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยของเราก็จำเป็นจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน

อันดับแรก เราจะต้องย้ายฐานคิดเรื่องความชอบธรรมในกระบวนการใช้อำนาจ จากการอ้างถึงชาติอย่างเป็นนามธรรมมาเป็นฉันทามติที่เป็นรูปธรรมของประชาชน อันนี้หมายถึงว่าจะต้องนิยามผลประโยชน์ส่วนรวมกันใหม่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงเบื้องหน้า. ในเมื่อทรัพย์สินของชาติถูกแบ่งสรรอย่างเหลื่อมล้ำมาตลอด และปัจจุบันก็ถูกครอบครองโดยต่างชาติในสัดส่วนที่ไม่น้อย การใช้วาทกรรมเรื่องชาติมาสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการและนโยบายต่างๆ ของรัฐ อาจจะยิ่งส่งเสริมความไม่เป็นธรรมในสังคมไทยให้หนักหน่วงยิ่งขึ้น ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าอาจเป็นการปิดบังอำพรางผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยในนามของส่วนรวม

นอกจากนี้ เรายังต้องยอมรับว่าในยุคสมัยปัจจุบัน ผลประโยชน์ของประชาชนมีความแตกต่างหลากหลายจนนับไม่ถ้วน กระทั่งในบางกรณีก็มีความขัดแย้งกันเอง เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเอ่ยถึงผลประโยชน์ส่วนรวมขึ้นมาอย่างเลื่อนลอย แม้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่มีสิทธิที่จะนิยามเรื่องส่วนรวมขึ้นมาตามใจชอบ หากจะต้องพิจารณาความต้องการของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม พูดกันตามความจริง ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของประเทศไทยนั้น การอ้างชาติลอยๆ มักจะเป็นวาทกรรมของระบอบอำนาจนิยมมากกว่าระบอบประชาธิปไตย

ความคิดที่จะต้องปรับเปลี่ยนในเรื่องนี้ก็คือ ผู้กุมอำนาจจะต้องเลิกใช้ชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นฐานความชอบธรรมในการตัดสินใจทุกเรื่อง หากจะต้องสันทัดในการสร้างฉันทามติ (Consensus) อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นความชอบธรรมในกระบวนการใช้อำนาจ ในเรื่องใหญ่ๆ ที่ส่งผลกระทบถึงประชาชนบางหมู่เหล่า ผู้กุมอำนาจจะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้อง และค้นหาจุดสมดุลออกมาให้ได้ กระทั่งบางทีอาจจะต้องยอมถอนถอยจากมติดั้งเดิมของตน ในกรณีที่มีเสียงคัดค้านมากพอ

ฉันทานุมัติและความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับฉันทานุมัติและความชอบธรรมในกระบวนการใช้อำนาจ ถึงรัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งก็อาจกระทำความผิดพลาดได้ ถ้าไม่ปรึกษาหารือหรือขอความเห็นจากประชาชน กล่าวเช่นนี้แล้ว ผมคงต้องขอเสนอว่าภารกิจหลักอย่างหนึ่งของผู้นำในระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่แค่สั่งการจากเบื้องบนลงมา แต่จะต้องสันทัดในการจุดประเด็นให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในประชาสังคม แล้วสังเคราะห์ความเห็นสาธารณะทั้งหลายมาประกอบการตัดสินใจของตน

อันดับต่อมา นอกเหนือไปจากการปรับแนวคิดเรื่องความชอบธรรมและฉันทานุมัติในกระบวนการใช้อำนาจแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องรีบปรับเปลี่ยนโดยด่วน คือการขยายประชาธิปไตยลงสู่ประชาชนในระดับรากหญ้า เพื่อให้พวกเขามีส่วนร่วมโดยตรงในการแก้ปัญหาการทำมาหากิน และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของตนเอง. ประเด็นนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเร่งสร้างสถาบันตัวแทนขึ้นในทุกหย่อมหญ้า ลงไปถึงระดับหมู่บ้านและตำบล แม้ว่าการขยายประชาธิปไตยในเชิงโครงสร้างเช่นนั้นอาจจะจำเป็น และช่วยแก้ปัญหาในบางระดับ แต่มันยังไม่ใช่เส้นทางหลักที่จะทำให้ประชาชนมีอำนาจอย่างแท้จริง

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราคงต้องยอมรับว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทนหรือกระบวนการเลือกตั้งคนมาดำรงตำแหน่งสาธารณะนั้น เป็นประชาธิปไตยของชนชั้นนำเสียโดยพื้นฐาน ต่อให้เราขยายการเลือกตั้งลงสู่ท้องถิ่น ชนชั้นนำในท้องถิ่นก็จะเข้ามากุมสถาบันที่สร้างขึ้นมากกว่ามวลชนชั้นล่างทั่วไป ในสภาพเช่นนี้ประชาชนผู้ยากไร้ทำได้อย่างมากก็แค่รอรับการอุปถัมภ์ค้ำจุนทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายอุปถัมภ์ที่ครอบงำระบอบประชาธิปไตยไทยมานานเนิ่นทุกระดับนั้น ได้พิสูจน์แล้วว่า ไม่อาจนำพาผู้คนออกจากความแร้นแค้นอับจนได้ เพราะยิ่งเพิ่มความอ่อนแอและการเสพย์ติดความคิดหวังพึ่งให้กับพวกเขา ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าแบบแผนความสัมพันธ์ดังกล่าวจะไม่มีวันทำให้ประชาชนระดับรากหญ้าลุกขึ้นยืนได้อย่างมีศักดิ์ศรี และมีอิสรภาพในฐานะที่เกิดมาเป็นคน

ด้วยเหตุนี้เมื่อพูดถึงประชาธิปไตยในระดับรากหญ้า ความหมายของมันจึงไม่ใช่การขยายสถาบันเลือกตั้งไปสู่ทุกขอบเขตทุกปริมณฑล หากหมายถึงการขยายสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองของประชาชน หมายถึง"ประชาธิปไตยทางตรง" ซึ่งประชาชนใช้อำนาจบางด้านได้โดยไม่ต้องผ่านตัวแทน. ผู้ยากไร้ทั้งหลายไม่ได้ต้องการดำรงตำแหน่งสาธารณะ ไม่ได้ต้องการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาชิงอำนาจในรัฐสภา หากต้องการสิทธิในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิในการพิทักษ์รักษาวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสิทธิอื่นๆ อันเกี่ยวข้องกับการมีชีวิตอยู่โดยไม่ถูกรุกล้ำล่วงเกิน เกี่ยวข้องกับความสามารถในการพึ่งตนเองของชุมชนของตน

อันที่จริงเราพูดเรื่องเหล่านี้กันมามาก แต่ถึงเวลาที่จะต้องระบุชัดลงไปเสียทีว่า นี่เป็นหนทางเดียวที่เราอาจต้านการรุกคืบหน้าของกระแสทุนโลกาภิวัตน์ได้ ในเวลานี้เราอย่าลืมว่ากลุ่มทุนข้ามชาติไม่เพียงดึงกลุ่มชนบางส่วนของสังคมไทยไปผูกโยงกับพวกเขาเรียบร้อยแล้ว หากยังมีเป้าหมายที่จะเดินหน้าไปสู่การยึดครองฐานทรัพยากรในประเทศไทยด้วย โดยนำสิ่งล้ำค่าเหล่านั้นมาขึ้นต่อกลไกตลาดโลก หรือไม่ก็แปรรูปไปสู่การผลิตขนาดใหญ่แบบทุนนิยม แล้วใครเล่าที่มีประเพณียังชีพโยงใยอยู่กับฐานทรัพยากรเหล่านั้นหากไม่ใช่ชุมชนท้องถิ่นในเขตชนบทต่างๆ ใครเล่าจะหวงแหนวิถีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้เท่ากับพวกเขา?

ดังนั้นการขยายสิทธิประชาธิปไตยไปสู่มวลชนในระดับรากหญ้า จึงไม่เพียงช่วยสร้างเงื่อนไขในการกอบกู้ชีวิตของผู้ยากไร้และเสียเปรียบ หากยังเป็นการพิทักษ์สินทรัพย์ของชาติให้ดำรงคงอยู่ต่อไป หากเรายอมรับที่จะนิยามคำว่าชาติกันใหม่… ไม่ใช่ชาติที่เลื่อนลอยเป็นนามธรรม แต่คือชาติในความหมายที่เป็น 'ชุมชนของชุมชน'

อันดับสุดท้าย แนวคิดที่จะต้องปรับเปลี่ยนอีกข้อหนึ่ง คือการออกแบบเศรษฐกิจทั้งประเทศให้มีเพียงเส้นทางเดียว หรือกล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ การใช้อำนาจรัฐแบบรวมศูนย์กำหนดแนวทางพัฒนาประเทศโดยไม่เหลือพื้นที่ให้กับทางเลือกที่แตกต่างหลากหลายในสังคม

เท่าที่ผ่านมา สถิติ ตัวเลขและข้อเท็จจริงทั้งปวงก็ชี้ให้เห็นหมดแล้วว่า กระบวนการใช้อำนาจของรัฐในเรื่องดังกล่าวได้นำไปสู่การพัฒนาที่ไม่สมดุลเพียงใด นำไปสู่การกระจุกตัวของรายได้และทรัพย์สินขนาดไหน สภาพเช่นนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หากยังคุกคามความอยู่รอดและปิดโอกาสในการมีชีวิตที่ดีของคนจำนวนมหาศาล. ทุกวันนี้ไม่เพียงแต่เงินทุนเท่านั้นที่อยู่ในมือของคนส่วนน้อย แม้แต่ปัจจัยการผลิตพื้นฐานอย่างที่ดิน ส่วนใหญ่ที่สุดก็อยู่ในการถือครองของคนแค่ 10 เปอร์เซนต์ ซึ่งมักไม่ค่อยได้ใช้ที่ดินเหล่านั้นไปในการผลิตแต่อย่างใด ขณะที่เกษตรกรราว 1,500,000 ครอบครัว ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคนยังคงไม่มีที่ดินทำกินหรือมีไม่พอทำกิน (ปXป สิงหาคม 2545)

ในความเห็นของผม ประเด็นหลักของการพัฒนาที่ไม่สมดุลไม่ได้อยู่ที่ความผิดพลาดในการวางแผนเท่านั้น หากอยู่ที่การผูกขาดอำนาจในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งสืบทอดกันมาตั้งแต่ระบอบอำนาจนิยมถึงระบอบประชาธิปไตย ถึงตอนนี้ ในเมื่อประเทศของเราตกอยู่ในสภาพหนึ่งรัฐสองสังคมแล้ว การยืนยันแนวทางพัฒนาแบบรวมศูนย์อำนาจ และการเปิดประตูโล่งให้ทุนโลกาภิวัตน์เข้ามาครอบงำ ก็จะยิ่งกระหน่ำซ้ำเติมประชาชนไทยส่วนที่เสียเปรียบให้เสื่อมทรุดลงอีก จนถึงขั้นกอบกู้ไม่ได้

ผมคิดว่าบางที…ทางออกที่เป็นไปได้สำหรับการหลีกเลี่ยงหายนะดังกล่าว อาจจะเหลือเพียงอย่างเดียว คือเร่งเปิดทางเลือกในการพัฒนาขึ้นมาให้หลากหลายมากขึ้น โดยไม่ยอมขึ้นต่อบรรทัดฐานและกลไกของทุนนิยมอย่างเดียว กล่าวเช่นนี้ มิได้หมายความว่าผมกำลังเสนอให้ลุกขึ้นต่อต้านหรือปฏิเสธทุนโลกาภิวัตน์โดยสิ้นเชิง และในความเป็นจริงผมยังไม่เห็นว่าทางเลือกเช่นนั้นดำรงอยู่ การมีระบบเศรษฐกิจที่โดดเดี่ยวนั้นเป็นไปไม่ได้แล้ว ไม่ว่าสำหรับประเทศใดก็ตาม

สิ่งที่ผมต้องการเสนอคือนโยบายการพัฒนาที่มากกว่ากระแสหลักเพียงกระแสเดียว ซึ่งมีความหลากหลายเพียงพอที่จะตอบสนองความแตกต่างเหลื่อมล้ำของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ… หลากหลายเพียงพอที่ให้ผู้คนสามารถมีความสุขกับชีวิตได้ตามบรรทัดฐานที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน. สำหรับคนที่มีศักยภาพเพียงพอ การแข่งขันเสรีอาจจะมีส่วนกระตุ้นจินตนาการสร้างสรรค์และพลังความสามารถในการผลิต ตลอดจนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตที่ถูกต้องเป็นธรรม

แต่การจับคนที่อ่อนแอและเสียเปรียบมาเข้าร่วมการแข่งขันภายใต้กติกาเดียวกันกับผู้ที่แข็งแรงกว่านั้น ไม่ใช่เรื่องของความเป็นธรรมอย่างแน่นอน หากเป็นเรื่องของความอยุติธรรมที่อาศัยวาทกรรมของความถูกต้องดีงามมาอำพราง ยิ่งเป็นการแข่งขันในด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วยแล้ว เราจะต้องยอมรับว่ามันต่างจากการแข่งขันกีฬามากมาย เพราะไม่มีรางวัลใดๆ สำหรับผู้แพ้ ไม่มีแม้แต่การดูแลผู้บาดเจ็บบอบช้ำที่ถูกคัดออกมา

จริงอยู่ เราอาจจะไม่สามารถสร้างสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันในการถือครองทรัพย์สินขึ้นมาได้ แต่อย่างน้อยเราก็ไม่ควรทอดทิ้งความหวังในการสร้างสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันในความเป็นคน และพูดก็พูดเถอะ ทรัพย์สินภายนอกไม่ใช่เรื่องสำคัญเสมอไป พ้นไปจากเงื่อนไขเบื้องต้นที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้กินอิ่มนอนอุ่นแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่าการสะสมกำไรคือความสงบผาสุกในการอยู่ร่วมกันในสังคม ความเจริญงอกงามในมิติทางวัฒนธรรม ตลอดจนความลึกซึ้งทางด้านจิตวิญญาณ และความเข้าใจในคุณค่าความหมายของการอยู่บนโลกนี้เพียงชั่วคราว

แน่ละ ความหลากหลายที่ผมเอ่ยถึง ย่อมมีนัยยะขัดแย้งกับการตัดสินทุกอย่างด้วยกลไกการตลาด มีนัยยะกั้นขวางการเลื่อนไหลและการสะสมกำไรของทุนอยู่พอสมควร เพราะมันหมายถึงว่าในบางพื้นที่ของประเทศนี้นักลงทุนจะเข้าไปแย่งชิงทรัพยากรไม่ได้ และในบางแห่งคนไทยอาจจะไม่ใช้วิถีชีวิตแบบแข่งขันเสรี หากเป็นวิถีแห่งความร่วมมือแบ่งปัน

ทางเลือกและความหลากหลายในการพัฒนาเช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าเราไม่ยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบถึงชุมชนของพวกเขา ยอมรับภูมิปัญญาชาวบ้านในการฟื้นฟูกู้ชีวิตของตนเอง ยอมรับการกระจายอำนาจในการกำหนดแนวทางพัฒนาเท่าๆ กับการกระจายอำนาจทางการเมือง และเห็นด้วยกับการจำกัดขอบเขตการใช้อำนาจของรัฐ และตลอดจนจำกัดขอบเขตการครอบงำของทุน

ท่านผู้เกียรติทั้งหลาย มิตรสหายทั้งหลาย, 30 ปีก่อนเมื่อเราลุกขึ้นสู้กับระบอบอำนาจนิยมนั้น ความใฝ่ฝันของผู้คนจำนวนมหาศาล แม้จะบวกรวมความปรารถนาเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ปกครองประเทศ แต่จินตนาการของเราก็ไม่ได้จบอยู่แค่นั้น หากความจำของผมทำงานอย่างถูกต้อง ก็คงต้องขอยืนยันว่า เราฝันถึงความเป็นธรรมและสันติสุขในสังคมด้วย โดยถือว่าจุดหมายดังกล่าวจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย

ถึงวันนี้แม้หลายๆ อย่างจะยังไม่ปรากฏเป็นจริง แต่ผมยังคงมั่นใจว่าเจตนารมณ์ของการต่อสู้ 14 ตุลาคมไม่ใช่เรื่องล้าสมัย ตรงกันข้ามมันเป็นความฝันที่ต่อเนื่องของมวลมนุษย์มานานเนิ่นแล้ว ที่จะสามารถเกิดมาดูโลกได้โดยไม่ถูกข่มเหงรังแก มีเงื่อนไขครองชีพที่เพียงพอสำหรับการรักษาความเป็นคนให้ครบถ้วน และไม่ถูกปิดกั้นโอกาสในการค้นหาคุณค่าความหมายของชีวิตตน

การที่สังคมไทยยังไปไม่ถึงจุดนั้น ผมไม่ได้ถือว่าเป็นความผิดเฉพาะของผู้ใดหรือชนกลุ่มไหน หากถือว่าเป็นเพราะสรรพสิ่งคลี่คลายมาตามเหตุปัจจัยอันปรากฏอยู่ในความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม นั่นมิใช่ข้อแก้ตัวที่อนุญาตให้เรามองข้ามทุกข์ร้อนที่ดำรงอยู่ได้ และผมคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะต้องร่วมมือกันกอบกู้และสรรค์สร้างสังคมนี้ต่อไป ข้อสรุปรวบยอดของผมในวันนี้ก็คือ "ระบอบประชาธิปไตยของเรายังคงมีปัญหา" แต่หนทางแก้ไขปัญหาก็ยังคงอยู่บนเส้นทางของประชาธิปไตย

ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ให้เกียรติ ขอบพระคุณทุกท่านที่กรุณารับฟัง
เจตนารมณ์ 14 ตุลาคมจงเจริญ

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


เอกสารอ้างอิง

- ปราณี ทินกร, "ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ในช่วงสี่ทศวรรษของการพัฒนาประเทศ 2504-2544" ใน ห้าทศวรรษภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทย (เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2545 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) น.4-1 ถึง4-70

- ประภาส ปิ่นตบแต่ง, การเมืองบนท้องถนน / 99 วันสมัชชาคนจนและประวัติศาสตร์การเดินขบวนชุมนุมประท้วงของสังคมไทย (มหาวิทยาลัยเกริก 2541)

- Ruth McVey ed., Money & Power in Provincial Thailand (Chiengmai: Silkworm Books, 2000)

- รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ / บทวิเคราะห์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540
(รายงานวิจัยเสนอต่อ สกว. 2545)

- David held & Anthony McGrew, Globalization/ Anti-Globalization (Cambridge: Polity Press, 2002)

- วอลเดน เบลโลและคณะ, สุรนุช ธงศิลา แปล, โศกนาฏกรรมสยาม / การพัฒนาและการแตกสลายของสังคมไทยสมัยใหม่
(มูลนิธิโกมลคีมทอง 2542)

- วิทยากร เชียงกูลและคณะ, วิกฤตเศรษฐกิจไทย / ผลกระทบจากการรับเงื่อนไข IMF และทางออกสำหรับประชาชน
(ประพันธ์สาส์น 2541)

- จุลสาร ปXป สิงหาคม 2545

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ภาคผนวก
ประวัติย่อของ ดร. เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

กำเนิด
เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2492 ในหมู่บ้านคนหาปลา แถวปากอ่าวแม่น้ำบางปะกง ฉะเชิงเทรา เป็นบุตรคนที่สามของครอบครัวผู้ยากไร้ที่มีลูก 6 คน บิดาเป็นช่างเครื่องเรือประมง มารดาขายผักผลไม้ในตลาด ในวัยเยาว์เคยใช้ชีวิตหลายปีเป็นเด็กวัด เคยเป็นเด็กด้อยโอกาสถึงขั้นต้องประกาศหาผู้อุปการะทางหน้าหนังสือพิมพ์

การศึกษา
เรียนจบชั้นประถมและมัธยมต้นที่ตำบลบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา จบมัธยมศึกษาตอนปลายที่จังหวัดชลบุรี ได้ทุน AFS ไปเรียนมัธยมในสหรัฐอเมริกาหนึ่งปี ก่อนที่จะมาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุดท้ายสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท และปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

อาชีพการงาน
เขียนหนังสือและมีผลงานรวมเล่มมาตั้งแต่ยังเรียนไม่จบมหาวิทยาลัย เคยเป็นนักเขียนประจำกองบรรณาธิการหนังสือ วิทยาสาร ช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ภายหลังเมื่อเป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ก็ยังเป็นคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ รวมทั้งผลิตงานสารคดีอย่างต่อเนื่อง เคยดำรงตำแหน่งบริหารในมหาวิทยาลัย ตำแหน่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วง พ.ศ. 2536 ถึง 2538 รวมทั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยในระยะเดียวกัน

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคม
เคยเป็นผู้นำนักศึกษาในขบวนต่อสู้ 14 ตุลาคม 2516 โดยทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการขบวนที่เดินประท้วงรัฐบาลไปตามถนนราชดำเนิน เคยเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในชนบท ที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นเวลาหลายปี ก่อนที่จะผิดหวังในด้านแนวคิด แนวทาง และถอนตัวออกมา เคยเป็นเลขาธิการคนแรกของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และประธานกลุ่มประชาธิปไตยเพื่อประชาชน (ปxป) ซึ่งมีคำขวัญของกลุ่มว่า "เพื่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน"

รางวัลและการยอมรับ
เคยได้รับเลือกให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลวิจัยปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2545 จากมูลนิธิ 50 ปีธนาคารแห่งประเทศไทย และได้รับรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2546 พร้อมกับธีรยุทธ บุญมี จากคณะกรรมการกองทุนศรีบูรพา ก่อนที่จะได้รับเลือกเป็นองค์ปาฐก ในงานปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2546 จากมูลนิธิ 14 ตุลา



+++++++++++++++++++++++++++++++++++

สำหรับผู้สนใจเรื่องเกี่ยวกับเรื่องเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖
สามารถคลิกไปดูหัวข้อเพิ่มเติมได้ที่

October 1973 (2516) - เหตุการณ์ เดือนตุลาคม (05)


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com





1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ความเสื่อทรุดของอุดมการณ์เรื่องชาติ
ปัญหาที่หนึ่ง คือความเสื่อมทรุดของอุดมคติและอุดมการณ์เรื่องชาติ ซึ่งโดยพื้นฐานก็ไม่เคยครบถ้วนสมบูรณ์อยู่แล้ว ยิ่งมาได้รับอิทธิพลจากแนวคิดและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบไร้พรมแดน สำนึกที่จะยึดถือประเทศชาติเป็นหน่วยผลประโยชน์ที่ทุกคนถือสังกัด… เป็นแผ่นดินแม่อันศักดิ์สิทธิ์…
นับวันก็ยิ่งจางหายและปราศจากความเป็นจริงรองรับ

ถามว่าทำไมจินตนาการเรื่องชาติของเราจึงเสื่อมได้อย่างรวดเร็วขนาดนี้? คำตอบมีอยู่ง่ายๆ คือ เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยรักกันจริง แต่ถ้าจะให้อธิบายเป็นระบบมากกว่านั้นก็คงต้องบอกว่า ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางสังคมอย่างสุดขั้วเป็นต้นเหตุสำคัญ เราจะผนึกรวมกันแน่นเหนียวเพื่อต้านต่างชาติได้อย่างไร ในเมื่อสิ่งที่เรียกว่าผลประโยชน์ของชาตินั้น แท้จริงแล้วตกอยู่ในมือของคนส่วนน้อย ขณะที่คนส่วนใหญ่ถูกทิ้งให้จมปลักอยู่กับความยากไร้นิรันดร

ด้วยเหตุนี้ การปลุกระดมลัทธิชาตินิยมใหม่หลังวิกฤตฟองสบู่ปี ๒๕๔๐ จึงล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ไม่มีผู้เสียเปรียบคนใดที่สะเทือนใจกับความล่มจมของเศรษฐี ชาวชนบทผู้ต่ำต้อยน้อยหน้า ก็ไม่เคยรู้สึกว่าสวรรค์ที่หายไปของบรรดานักธุรกิจและคนชั้นกลาง เป็นสวรรค์ของพวกเขา ....................................................................................