โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 11 September 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้ขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคมเพื่อเป็นสมบัติสาธารณะ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๕๔ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๐ (September, 11, 09,.2007) ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

พระพุทธศาสนาเพื่อสังคมปัจจุบันเป็นขบวนการสากลที่อยู่เหนือการสังกัดนิกาย โดยมุ่งตอบสนองปัญหาของโลกทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เป็นรูปแบบของขบวนการปลดปล่อยทางสังคมและการเมือง ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงโลกแวดล้อมและการปลดเปลื้องทุกข์ของมนุษย์ โดยประยุกต์ใช้หลักคำสอนเรื่องความเมตตากรุณา ปัญญา ปฏิจจสมุปบาท และศูนยตา เพื่อแก้ปัญหาสังคม รวมทั้งการใช้วิธีการปฏิบัติกรรมฐาน ยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา เมตตากรุณาเชิงสังคม และการสร้างเครือข่ายระดับรากหญ้า เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมกับสังคม…
11-09-2550

Neo-Buddhism
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

แนวคิดและขบวนการพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม
การปฎิวัติพุทธศาสนามาแก้ปัญหาสังคมหลังสมัยใหม่ (ตอนที่ ๓)
พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร : เขียน
อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บทความวิชาการพุทธศาสนาเพื่อสังคมชิ้นนี้ กองบรรณาธิการได้รับมาจากผู้เขียน
เดิมชื่อ: แนวคิดและขบวนการพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม
ซึ่งมีความยาวกว่า ๗๐ หน้ากระดาษ A4 ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการนำเสนอเป็นตอนๆ
เพื่อเหมาะสมกับรูปแบบการนำเสนอบนเว็บเพจแห่งนี้
สำหรับสาระสำคัญของบทความขนาดยาวนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสำรวจถึงความเป็นมา
ในเชิงพัฒนาการของพระพุทธศาสนาในแนวรับใช้สังคมในสถานการณ์ปัจจุบัน
โดยพยายามที่จะตอบคำถามที่ว่า (๑) กลุ่มนักคิดและนักวิชาการได้ถกเถียงประเด็น
ปัญหาเกี่ยวกับแนวคิดเชิงสังคมในพระพุทธศาสนาอย่างไร และ (๒) การอธิบายศีล ๕
ตามแนวจารีตประเพณีแบบเดิมมีปัญหาในการตอบปัญหาสังคมยุคใหม่อย่างไร
และเครือข่ายนี้ได้เสนอทางออกด้วยการตีความศีล ๕ แบบใหม่อย่างไร?
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๕๓
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๒ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++

แนวคิดและขบวนการพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม
การปฎิวัติพระพุทธศาสนามาแก้ปัญหาสังคมหลังสมัยใหม่ (ตอนที่ ๓)
พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร : เขียน
อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


๓. การตีความศีล ๕ ของเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติ
แนวคิดในการตีความศีล ๕ แนวใหม่ของเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติ ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของบุคคลสำคัญอย่างน้อย ๒ ท่านด้วยกัน คือ แนวคิดเรื่อง "อริยวินัย" ที่พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) เสนอไว้ในบทความเรื่องศีลกับเจตนารมณ์ทางสังคมดังได้กล่าวมาแล้ว และแนวคิดของพระติช นัท ฮันห์ เกี่ยวกับการตีความศีล ๕ แนวใหม่ ดังนั้น ในส่วนที่ ๓ นี้ นอกจากจะอภิปรายในประเด็นการตีความศีล ๕ ของเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติแล้ว ผู้เขียนยังจะเสนอแนวคิดเรื่อง "อริยวินัย" และหลักการสทานศีล ๕ ของพระติช นัท ฮันห์ ควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดทั้งสองนี้กับแนวคิดในการตีความศีล ๕ ของเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติ

๓.๑ เครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติ
เครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติ (พ.พ.ส.) (International Network of Engaged Buddhists-INEB) ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยการริเริ่มของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ โดยมีบุคคลสำคัญที่รับเป็นองค์อุปถัมภ์ เช่น องค์ทะไล ลามะ, สมเด็จพระมหาโฆษนันทะ (กัมพูชา), พระติช นัท ฮันห์, พุทธทาสภิกขุ, มีสมาชิกจากประเทศต่าง ๆ มากกว่า ๕๐๐ คน (1) สุลักษณ์ได้กล่าวถึงจุดยืนในการตั้งองค์กรว่า

INEB หรือพุทธศาสนิกเพื่อสังคม มีจุดยืนตรงที่ช่วยให้ชาวพุทธร่วมสมัยเห็นความทุกข์ยากต่างๆ โดยเอียงข้างอยู่ฝ่ายผู้ยากไร้และคนปลายอ้อปลายแขมที่ถูกเอาเปรียบ หากไม่สอนให้เกลียดผู้ที่ข่มเหงคะเนงร้ายเรา โดยหาทางเข้าถึงโครงสร้างอันอยุติธรรมทางสังคม แล้วหาทางออกจากทุกขสัจทางสังคม ตามแนวทางของพระอริยมรรคอย่างสันติ (2)

สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งองค์กรมี ๔ ประการ คือ

๑) มุ่งพัฒนาแนวความคิดพุทธศาสนาเพื่อสังคม (Socially engaged Buddhism) ที่มีฐานอยู่บนความมีสติ ปัญญา และกรุณา

๒) จัดอบรมระดับพื้นฐานในเอเชียเพื่อส่งเสริมความเข้าใจ การวิเคราะห์ และการสร้างพลังอำนาจเพื่อนำไปสู่ความสามัคคีและความยุติธรรมในโลก ให้แก่ปัจเจกบุคคล ชุมชน และสังคม (ในรูปแบบของการจัดประชุมปฏิบัติการ การจัดสัมมนา และการศึกษาดูงาน)

๓) สร้างเครือข่ายที่กว้างขวาง และการทำงานร่วมกันในหมู่ชาวพุทธและกลุ่มที่ทำงานเพื่อสังคมอื่นๆ

๔) ส่งเสริมความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างชาวพุทธ และระหว่างศาสนาต่างๆ

โครงการอริยวินัย
นอกจากนั้น "โครงการอริยวินัย" ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติ ก่อตั้งโดยสุลักษณ์ ศิวรักษ์ และ ดร. วีระ สมบูรณ์ จุดมุ่งหมายของโครงการนี้ คือ ต้องการฟื้นฟูพุทธธรรมในส่วนของศีลหรือวินัย ให้กลับมามีบทบาทและมีพลังในการอธิบายปัญหาของสังคมโลกยุคใหม่ โครงการนี้มีผู้เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกทั้งที่เป็นชาวพุทธและศาสนิกในศาสนาอื่นๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มีการจัดประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาคำตอบออกจากปัญหาความรุนแรงในสังคมหลายๆ ด้าน เช่น ปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (Structural Violence) ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม (Cultural Violence) ปัญหาวัฒนธรรมบริโภคนิยม ผู้ที่เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกของโครงการนี้มีทั้งจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา (3)

โครงการอริยวินัย เกิดจากการขยายแนวคิดเรื่อง "อริยวินัย" ที่พระธรรมปิฎกเขียนไว้ในหนังสือพุทธธรรม (4) วีระ สมบูรณ์ ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งโครงการ ได้ให้ความหมายของคำว่า "อริยวินัย" ในฐานะเป็นองค์ประกอบส่วนนอกสุดของระบบพุทธธรรม เป็นเรื่องของการนำเอาหลักอริยธรรมมาประยุกต์ใช้ โดยกำหนดออกมาเป็นแบบแผน กฎเกณฑ์ และข้อบัญญัติต่างๆ เพื่อจะนำมนุษย์ไปตามเส้นทางของอริยธรรมและก็เข้าสู่อริยสัจในที่สุด

วินัยหรือตัวแบบแผนการปฏิบัติต่างๆ ที่อยู่รอบนอกนี้ จะต้องแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เปลี่ยนไปตามกลุ่มชน แปรเปลี่ยนไปตามสภาพต่างๆ ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิต ระบบความสัมพันธ์ ตลอดจนองค์ความรู้ต่างๆ ของแต่ละยุคสมัย ดังนั้น อริยวินัยต้องเป็นส่วนที่มีความยืดหยุ่น เป็นส่วนที่ควรมีการประยุกต์ปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา สถานที่ ชุมชน และเงื่อนไขปัจจัยอื่นๆ แต่ทั้งนี้ก็ย่อมต้องอยู่ในขอบข่ายที่จะเอื้อให้มนุษย์ได้เข้าสู่เส้นทางของอริยธรรม (5)

นอกจากนั้น พระไพศาล วิสาโล ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติ ได้ให้ความหมายของอริยวินัยเพิ่มเติมว่า อริยวินัย หมายถึงระบบความสัมพันธ์และระบบการฝึกฝนอบรมที่นำมนุษย์เข้าสู่อริยธรรม เพื่อเข้าถึงอริยสัจในที่สุด อีกนัยหนึ่ง อริยวินัย หมายถึงแบบแผนที่สร้างอารยวัฒิให้แก่หมู่คนในสังคม ได้แก่ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา กล่าวคือ

(๑) ศรัทธา คือความเชื่อมั่นคุณธรรมและความดีงาม ยิ่งกว่าจะเอาความเชื่อฝากไว้กับวัตถุ ศรัทธาดังกล่าวรวมไปถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ว่า จะสามารถประจักษ์แจ้งในสัจธรรมจนจิตเป็นอิสระและเข้าถึงความดีงามสูงสุดได้

(๒) ศีล คือความประพฤติด้วยความเอื้ออาทรต่อกัน มีน้ำใจและไม่ละเมิดผู้อื่น ตระหนักถึงหน้าที่ที่พึงมีต่อสังคม และกระทำโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม

(๓) สุตะ คือการสดับความรู้ที่ช่วยให้ดำเนินชีวิตในทางที่ดีงาม การรวมกลุ่มช่วยเหลือกันและเรียนรู้ร่วมกัน การสร้างองค์ความรู้ที่ส่งเสริมการพัฒนาตนอย่างเป็นองค์รวม ช่วยให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม

(๔) จาคะ คือการเสียสละแบ่งปัน ทั้งนี้ด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น จนพร้อมที่จะเสียสละและช่วยเหลือกัน ยิ่งบำเพ็ญสมาธิภาวนาจนความเห็นแก่ตัวลดลง ก็ยิ่งช่วยเหลือผู้อื่นได้มากขึ้นเท่านั้น

(๕) ปัญญา คือ กระบวนการเรียนรู้ในชุมชน และการพัฒนาองค์ความรู้ที่ช่วยให้เห็นความเป็นจริงอย่างเป็นองค์รวม (6)

๓.๒ เหตุผลที่ต้องตีความศีล ๕ แบบใหม่
สังคมอินเดียโบราณอันเป็นบริบทแวดล้อมแห่งการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา เป็นสังคมแบบเกษตรกรรม สภาพของปัญหาและความซับซ้อนของปัญหาไม่อาจจะเทียบได้กับปัญหาของสังคมปัจจุบัน แน่นอนว่าศีล ๕ ซึ่งเป็นหลักพุทธจริยธรรมที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาสังคม จึงถูกออกแบบมาให้สอดคล้องกับปัญหาจริยธรรมในสังคมเกษตรกรรม สามารถใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางศีลธรรมที่เป็นความผิดตรงไปตรงมาเท่านั้น เช่น ศีลข้อปาณาติบาต พระอรรกถาจารย์ได้สร้างเกณฑ์ตัดสินไว้ว่า (๑) สัตว์มีชีวิต (๒) รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต (๓) มีจิตคิดจะฆ่า (๔) พยายามฆ่า (๕) สัตว์ตายด้วยความพยายามฆ่านั้น (7) ถ้าครบองค์ประกอบทั้ง ๕ ประการนี้จึงถือว่าละเมิดศีลข้อนี้ เกณฑ์วินิจฉัยเหล่านี้สามารถอธิบายปัญหาทาง จริยธรรมในสังคมเกษตรกรรมซึ่งเป็นปัญหาแบบง่ายๆ ตรงไปตรงมาได้

แต่เมื่อสังคมเริ่มเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมโบราณ มาเป็นสังคมแบบใหม่ที่ค่อยๆ ทวีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จึงมีคำถามตามว่า การฆ่าในศีลข้อนี้มีความหมายแค่ไหน มีความหมายตรงๆ ตามตัวอักษรเท่านั้น (คือลงมือฆ่าด้วยอาวุธ ยาพิษ หรืออุปกรณ์ล้างผลาญอื่นๆ) หรือว่าการฆ่าอาจครอบคลุมมาถึงการปล่อยให้ตายอย่างที่เรียกกันในปัจจุบันว่า การุณฆาตแบบลบ (negative euthanasia) หรืออาจรวมถึงการปล่อยสารพิษจากโรงงานแล้วสร้างมลพิษที่บั่นทอนสุขภาพของผู้คน แม้การุณฆาตแบบบวก (positive euthanasia) อันได้แก่การทำให้ตายเพราะความเมตตา ก็อาจก่อให้เกิดคำถามได้ว่าผิดศีลข้อปาณาติบาตหรือไม่ (8) นี่คือส่วนหนึ่งของปัญหาท้าทายในสังคมยุคใหม่ ที่ทำให้ชาวพุทธหลายท่านให้ความสนใจกับการตีความศีล ๕ แนวใหม่ เพื่อให้สามารถตอบประเด็นปัญหาทางจริยธรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ ดังคำกล่าวของพระติช นัท ฮันห์ ที่ว่า "ศีล ๕ เป็นของเก่าแก่มาก ซึ่งย้อนกลับไปได้ถึงสมัยพุทธกาล พวกเรารู้สึกว่ามันควรได้รับการพูดเสียใหม่ ควรได้รับการพูดถึงอีกครั้งในความหมายที่เข้าใจได้ง่ายขึ้นสำหรับคนในยุคปัจจุบัน" (9)

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มองว่า การอธิบายความหมายและขอบเขตของศีล ๕ อย่างที่ชาวพุทธส่วนใหญ่เข้าใจอยู่เดิมนั้น ยังไม่ครอบคลุมสภาพปัญหาของสังคมปัจจุบัน แท้จริงแล้วศีล ๕ เป็นหลักปฏิบัติสำหรับฆราวาสชาวพุทธ ให้มีส่วนร่วมในการช่วยกันลดปัญหาของสังคมปัจจุบัน จึงจำเป็นที่จะต้องอธิบายขยายความหมายของศีล ๕ ในแต่ละข้อ ให้ครอบคลุมกับสภาพปัญหาสังคมปัจจุบัน (10)

วีระ สมบูรณ์ (11) มองความหมายของศีลในเชิงพลวัตรว่า สภาพสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา รูปแบบของปัญหาทางศีลธรรมไม่ว่าจะเป็นการฆ่า การลักทรัพย์ การขโมย เป็นต้น ก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ขอบเขตในการตีความศีล ๕ นั้น เราไม่สามารถที่จะกำหนดตายตัวได้แน่นอนว่าอะไรแค่ไหนจึงจะเหมาะสม ขึ้นอยู่กับว่าในช่วงเวลานั้นอะไรเป็นปัญหา อะไรเป็นประเด็นของสังคม แล้วเราก็เอาศีลไปจับแล้วหาคำตอบให้แก่สังคมว่า อะไรแค่ไหนถือว่าก้าวล่วงขอบเขตศีลธรรม นอกจากนั้น ต้องทำให้คนเปลี่ยนทัศนคติต่อศีล ๕ ในเชิงลบ (negative) มาเป็นเชิงบวก (positive) คือ แทนที่จะมองว่า ศีลเป็นข้อห้ามหรือข้อบังคับ ก็เปลี่ยนมามองถึงประโยชน์จากการรักษาศีลที่เกิดแก่ตนเองและสังคมทั้งหมด รวมทั้งผลเสียที่เกิดจากการประพฤติผิดศีลที่จะกระทบต่อตนเอง สังคม และคนรอบข้าง นั่นคือ ต้องมองให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงถึงกันหมด

ประชา หุตานุวัตร (12) มองว่า การตีความศีล ๕ แนวใหม่ เป็นการประยุกต์สาระของศีลมาอธิบายให้เหมาะสมกับยุคสมัย เพราะการตีความศีลแบบเดิมไม่สามารถครอบคลุมปัญหาใหม่ๆ ของสังคมได้ ปัญหาการละเมิดศีลได้เปลี่ยนรูปแบบไปแล้ว การตีความศีล ๕ ในพระไตรปิฎกนั้น เป็นการตีความตามสภาพสังคมเกษตรกรรมที่ไม่มีความสลับซับซ้อนอะไรมากนัก เน้นปัญหาระหว่างบุคคลกับบุคคลเป็นหลัก. การตีความศีล ๕ แนวใหม่เป็นความพยายามที่จะทำให้ศีลเหมาะสมกับสังคมอุตสาหกรรมและสังคมข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมีโครงสร้างทางสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น ถามว่าระบบธนาคารปัจจุบันเป็นระบบอทินนาทานหรือเปล่า เพราะเป็นการขโมยผลได้จากการนำน้ำพักน้ำแรงของคนจำนวนมากไปไว้กับคนจำนวนน้อย ธนาคารหลายแห่งมีการนำเงินฝากของประชาชนไปลงทุนในบริษัทที่ผลิตหรือค้าอาวุธ เป็นต้น ดังนั้น การยังยึดอยู่ในกรอบของศีลแบบเดิมๆ มีแต่จะทำให้พระพุทธศาสนากลายเป็นเรื่องของคนแก่ และเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลจำนวนน้อยเท่านั้น

โจเซฟ จอห์นเซน (Joseph Johnsen) มองปัญหาศีลธรรมในเชิงความรุนแรงเชิงโครงสร้างว่า ศีล ๕ จำเป็นต้องได้รับการอธิบายให้สมสมัย ให้สามารถอธิบายโครงสร้างและปรากฏการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง สังคมปัจจุบันมีปัญหาความรุนแรง (Violence) แฝงอยู่ในสังคมมากมาย ทั้งการดำรงชีวิตและการเสพบริโภคล้วนมีความรุนแรงที่เจือปนอยู่ ดังนั้น ศีลควรจะเป็นตัวช่วยให้ความรุนแรงลดลง และควรทำให้พ้นออกไปจากความเป็นปัจเจกชนสู่สังคม (13)

อธิษฐาน คงทรัพย์ มองปัญหาการละเมิดศีลปัจจุบันโดยโยงไปถึงความสัมพันธ์ทางสังคมว่า ปัญหาสังคมปัจจุบันมีความเชื่อมโยงถึงกันหมด ปัญหาหนึ่งๆ เชื่อมโยงเกี่ยวพันกับอีกหลายสาเหตุ เช่น การกินอาหารจานด่วน(fast-food) ก็เชื่อมไปถึงการเสพอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อตัวเอง การกินที่เบียดเบียนสัตว์ การตีความศีล ๕ ก็เช่นเดียวกัน เราไม่สามารถที่ตีความศีลข้อใดข้อหนึ่งอย่างโดดๆ ต้องตีความหมายให้กว้างถึงสังคม ไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องของส่วนตัวที่ใครอยากปฏิบัติก็ปฏิบัติไป แต่ควรจะมองว่าเป็นเรื่องของสังคมที่จะต้องรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน (14)

โดยรวมแล้ว เหตุผลหลักๆ ที่กลุ่มเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมฯ เสนอให้มีการตีความศีล ๔ แบบใหม่ คือ

(๑) ศีล ๕ ในความหมายเดิมออกแบบมาเพื่อให้คอดคล้องกับสภาพปัญหาของสังคมเกษตรกรรม เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป ความหมายของศีล ๕ ก็สมควรได้รับการตีความใหม่ด้วย

(๒) ปัญหาทางศีลธรรมในสังคมปัจจุบัน มีความซับซ้อนเกินกว่าที่จะอธิบายได้ด้วยความหมายของศีล ๕ แบบเดิม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องตีความศีล ๕ แบบใหม่เพื่อให้ทันกับความซับซ้อนของปัญหา

(๓) การตีความศีล ๕ แบบเดิมเน้นความหมายในเชิงลบ (negative) คือมองว่าการรักษาศีล ๕ คือการงดเว้นไม่ได้เบียดเบียนคนอื่นอย่างเดียว ทำให้ละเลยความหมายของศีล ๕ ในเชิงบวก (positive) คือ ความกระตือรือร้นล้นในการเข้าร่วมหรือขัดขวางไม่ให้บุคคลอื่นละเมิดศีลธรรม

(๔) การตีความศีล ๕ แบบเดิมในเน้นความหมายในเชิงปัจเจกมากกว่าความหมายในเชิงสังคม คือ เน้นความหมายในแง่ที่ว่า การรักษาศีล ๕ เป็นความดีส่วนตัวของใครของมัน แทนที่จะมองเป็นเรื่องของสังคม เป็นเรื่องของการจัดโครงสร้างทางสังคม การจัดองค์กร หรือสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์เพื่อเป็นรากฐานของศีลธรรม

๓.๓ การตีความศีล ๕ แบบใหม่
๓.๓.๑ การตีความศีลข้อปาณาติบาต :
พระติช นัท ฮันห์ ได้เสนอหลักการสมาทานศีลข้อที่ ๑ ว่า "ด้วยความตระหนักรู้ถึงความทุกข์ทรมานอันเกิดจากการทำลายชีวิต ฉันขอตั้งสัตย์ปฏิญาณว่าจะบ่มเพาะความกรุณา และเรียนรู้วิธีที่จะปกป้องชีวิตของผู้คน สรรพสัตว์ พืช และแร่ธาตุ ฉันตั้งจิตมั่นที่จะไม่ทำลายชีวิต ไม่ยอมให้ผู้อื่นทำลายชีวิต และจะไม่มองข้ามการทำลายชีวิตโลกนี้ ในมโนสำนึกและวิถีชีวิตของฉัน" (15) จะเห็นว่า ขอบเขตของศีลข้อนี้ให้ครอบคลุมมิติทั้ง ๔ ด้าน (๑) จิตใจที่ตระหนักรู้ถึงความทุกข์ของสัตว์ที่จะได้รับจากการถูกฆ่าหรือถูกเบียดเบียน (๒) การงดเว้นไม่เบียดสัตว์ (๓) การปกป้องสัตว์ไม่ให้ได้รับการเบียดเบียน และ (๔) การขัดขวางมิให้ผู้อื่นฆ่าหรือเบียดเบียนสัตว์

นอกจากนั้น ความเมตตากรุณาถือว่าเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้รักษาศีลได้อย่างยั้งยืน ดังคำกล่าวของหลายท่านที่ว่า
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มองว่า ศีลข้อนี้นอกจากจะหมายถึงการไม่ฆ่าสัตว์แล้ว ยังขยายความไปถึงความขัดแย้งทั้งภายในและภายนอก ที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงหรือขบวนการที่สนับสนุนความรุนแรงในสังคม เช่น การผลิตอาวุธสงคราม และอาวุธทุกอย่างที่นำไปสู่การคุกคามสิ่งมีชีวิต (16)

วีระ สมบูรณ์ มองว่า ปัจจุบันการฆ่าไม่ใช่เพียงแค่การลงมือฆ่าด้วยตนเอง แต่ยังโยงไปถึงระบบอำนาจที่สนับสนุนการฆ่าของรัฐ โครงสร้างทางอำนาจที่ก่อให้เกิดการฆ่า โดยเฉพาะการทำสงคราม ถือว่าเป็นรูปแบบการฆ่าที่เป็นระบบ มีการจัดการ เป็นการฆ่าที่เป็นกระบวนอย่างใหญ่โตและคนส่วนมากก็มองว่าเป็นความธรรมชอบที่จะทำสงคราม (17) ดังนั้น ถ้าเรายึดความหมายเพียงแค่การฆ่าสัตว์แบบตรงๆ จะไม่สามารถอธิบายหรือให้คำตอบแก่ระบบสังคมที่มีการเอารัดเอาเปรียบกัน เช่น การค้าอาวุธ การใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม การกดขี่ข่มเหงของนายจ้าง เป็นต้น นอกจากนั้น การบริโภคผลิตภัณฑ์สินค้าที่เกิดจากการเบียดสัตว์หรือเพื่อนมนุษย์ ก็เป็นสิ่งที่ชาวพุทธควรจะตระหนักรู้ สินค้าที่ผลิตมาจาการกดขี่ข่มเหง การใช้แรงงานไม่เป็นธรรม ก็ถือว่าอยู่ในขอบข่ายของศีลข้อที่ ๑ เช่นเดียวกัน (18)

การฆ่าในความหมายของศีลข้อที่ ๑ จะต้องครอบคลุมทั้งการฆ่าแบบตรงและฆ่าแบบแอบแฝง ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรกรรมแบบใช้สารเคมี การปล่อยสารพิษสู่อากาศ การทำลายสิ่งแวดล้อม ก็ถือว่าเป็นการฆ่าแบบแอบแฝง รวมถึงการค้าอาวุธ ก็เป็นการฆ่าทางอ้อมเช่นเดียวกัน ดังนั้น เราต้องตระหนักรู้ถึงโครงสร้างสังคมที่ก่อให้เกิดการฆ่า เช่น การทำสงคราม ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาคัดค้าน ปล่อยให้เกิดการฆ่า ก็หมายความว่า ชาวพุทธเห็นด้วยกับการฆ่า ดังนั้น ศีลข้อนี้ หากไม่มีการมอง หรือขยายความหมายออกไปให้กว้าง ชาวพุทธก็ไม่เข้าใจทุกข์ของสังคม นอกจากเราจะไม่ฆ่าแล้ว ยังรวมไปถึงการไม่อนุญาตให้เกิดฆ่า ดังการประท้วงสงครามก็เป็นการพยายามที่ขัดขวางการฆ่าโดยสันติวิธี (19)

กล่าวโดยสรุป กลุ่มเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติได้ตีความศีลข้อว่าด้วยการฆ่าสัตว์ (ปาณาติบาต) ให้ครอบคลุมปัญหาทางจริยธรรมในสังคมสมัยใหม่ ดังนี้

๑) ปาณาติบาตในรูปของการฆ่าโดยตรง : หมายถึง การลงมือฆ่าสัตว์อื่นหรือบุคคลอื่นแบบตรงไปตรงมา ซึ่งปาณาติบาตในความหมายนี้ กลุ่มเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมฯ มองว่า เป็นความหมายของศีลข้อที่ ๑ แบบเดิมหรือแบบที่ยึดถือตามจารีตประเพณีในสังคมไทย ซึ่งเป็นความหมายที่แคบและไม่สามารถอธิบายสภาพปัญหาของสังคมปัจจุบันได้ทั้งหมด

๒) ปาณาติบาตในเชิงโครงสร้างที่ส่งเสริมความรุนแรง : หมายถึง โครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ ระบบราชการ วัฒนธรรม เป็นต้น ที่ขาดความยุติธรรมและส่งเสริมการใช้ความรุนแรงในสังคม เช่น ระบบเศรษฐกิจแบบแข่งขันแบบแพ้คัดออก หรือผู้ที่แข็งแรงที่สุดถึงจะอยู่รอด เป็นต้น ล้วนเป็นเหตุนำมาซึ่งความรุนแรงและผิดศีลข้อที่ ๑ ได้ทั้งสิ้น

๓) ปาณาติบาตในรูปของสินค้าที่ส่งเสริมความรุนแรง : หมายถึง การผลิตสินค้าหรือขายสินค้าที่ส่งเสริมความรุนแรง เช่น การผลิตอาวุธสงคราม การผลิตสารเคมีที่เป็นพิษ การผลิตยาฆ่าแมลง การผลิตเสื้อผ้าจากหนังหรือขนสัตว์ เป็นต้น ในความหมายนี้ ผู้ผลิตหรือผู้ขายอาจจะไม่ได้ฆ่าสัตว์โดยตรง แต่การผลิตหรือการขายสินค้าที่นำไปสู่ความรุนแรงนี้ ก็ถือว่าอยู่ในข่ายของการละเมินศีลข้อที่ ๑ เช่นเดียวกัน

๔) ปาณาติบาตในรูปของการลดบริโภคสินค้าที่ส่งเสริมความรุนแรง : หมายถึง ผู้เสพหรือผู้ใช้สินค้าที่ส่งเสริมความรุนแรง เช่น การซื้ออาวุธส่งคราม การใช้ยาฆ่าแมลง การใช้เครื่องนุ่งห่มที่ผลิตจากหนังหรือขนสัตว์ หรือการบริโภคสินค้าที่เกิดจากเอาเปรียบแรงงานเด็ก ผู้หญิง หรือคนยากจน ล้วนเป็นรูปแบบของการส่งเสริมการใช้ความรุนแรงทั้งสิ้น

๕) ปาณาติบาตในรูปของการใช้แรงงาน : หมายถึง การใช้แรงงานเด็กหรือผู้หญิงแบบกดขี่ทารุณและเอารัดเอาเปรียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม ถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้ความรุนแรงที่อยู่ในข่ายของศีลข้อที่ ๑

๖) ปาณาติบาตในรูปของการสนับสนุนความรุนแรง : หมายถึง การสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลหรือของประเทศมหาอำนาจที่ชอบใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา เช่น การทำสงครามเป็นต้น การสนับสนุนนี้ถือว่าเป็นการส่งเสริมให้รัฐหรือผู้มีอำนาจ มีความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงถือว่าอยู่ในข่ายของการผิดศีลข้อที่ ๑

๗) ปาณาติบาตในรูปของโรงงานอุตสาหกรรม : หมายถึง โรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยของเสียหรือสารพิษที่เป็นอันตรายต่อ คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมทั้งหมด เช่น ทำให้น้ำเสีย ทำให้อากาศเป็นพิษ เป็นต้น ถือว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการผิดศีลข้อที่ ๑ เช่นเดียวกัน

๓.๓.๒ การตีความศีลข้ออทินนาทาน :
พระติช นัท ฮันห์ ได้เสนอหลักการสมาทานศีลข้อที่ ๒ ว่า "ด้วยการตระหนักถึงความทุกข์ทรมานอันเกิดจากการขูดรีด การลักขโมย และการกดขี่ ฉันตั้งสัตย์ปฏิญาณว่าจะบ่มเพาะความรักความเมตตา และเรียนรู้วิธีที่จะทำให้ผู้คน สรรพสัตว์ พืช และแร่ธาตุ ฉันตั้งสัตย์ปฏิญาณที่จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่โดยการแบ่งเวลา พลังงาน และวัตถุให้แก่ผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ ฉันตั้งจิตมั่นที่จะไม่ลักขโมยและไม่ครอบครองสิ่งที่ควรเป็นของผู้อื่น ฉันจะเคารพในทรัพย์สมบัติของผู้อื่น และจะป้องกันไม่ให้ผู้อื่นหาประโยชน์จากความทุกข์ทรมานของเพื่อนมนุษย์ หรือความทุกข์ทรมานของสรรพสิ่งต่างๆ ในโลกนี้" (20) จะเห็นว่า ขอบเขตของศีลข้อที่ ๒ ตามทัศนะของพระติช นัท ฮันห์ ครอบคลุมถึงมิติถึง ๔ ด้าน (๑) ด้านจิตสำนึกที่ตระหนักถึงความทุกข์ทรมานของสัตว์ที่จะได้รับจากการถูกลักขโมย (๒) ด้านการแบ่งปันเวลา พลังงาน และสิ่งของให้แก่ผู้จำเป็นต้องใช้ (๓) ด้านการงดเว้นจากการขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น (๔) ด้านการป้องกันไม่ให้ผู้อื่นหาผลประโยชน์จากความทุกข์ทรมานของเพื่อนมนุษย์

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ตีความโดยโยงไปถึงอทินนาทานด้านความอยุติธรรมทางเศรษฐกิจและการกอบโกยทรัพยากรของประเทศว่า ศีลข้อ ๒ นอกจากไม่ลักทรัพย์แล้ว จะต้องขยายความไปถึงการมีสัมมาอาชีวะ และความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ การทำธุรกิจที่เอาเปรียบประชาชน การกอบโกยทรัพยากรของประเทศ หรือการไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายและความรุนแรงที่มีสาเหตุมาจากการทำธุรกิจของตน ก็ถือว่าเป็นการลักทรัพย์เช่นเดียวกัน (21)

วีระ สมบูรณ์ เสนอการตีความโดยโยงไปการละเมิดทรัพย์แบบใหม่ในสังคมปัจจุบัน เขามองว่า ปัจจุบันรูปแบบของทรัพย์สินเปลี่ยนแปลงไป ทรัพย์สินไม่ใช่สิ่งที่สามารถที่จับต้องได้ทันที การขโมยทรัพย์สินก็เปลี่ยนแปลงไป ดังที่เรียกว่า ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ การนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใส่ไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา โดยที่เราไม่ได้รับอนุญาต ก็ถือว่าได้เราได้ละเมิดทรัพย์ของผู้อื่น หรือการขโมยข่าวสารข้อมูลของนักล้วงข้อมูลที่เรียกว่า "แฮคเกอร์" (Hacker) หรือการก้าวก่ายสิทธิส่วนบุคคล ก็เป็นการขโมยอีกชนิดหนึ่งในสังคมสมัยใหม่ การปั่นราคาหุ้นหรือการแสวงหากำไรจากการปั่นราคาหุ้น ก็เป็นการแสวงหาผลประโยชน์บนข้อมูลที่ได้เปรียบคนอื่น ความจริงแล้ว การเล่นหุ้นก็ไม่ได้มีความเสียหายอะไร แต่ที่ก่อความเสียหายเกิดจากการปกปิดข้อมูล และการได้เปรียบในเชิงข้อมูลแล้วแสวงหาผลประโยชน์จากความได้เปรียบนั้น (22)

ยงยุทธ บูรณเจริญกิจ ตีความโดยโยงอทินนาทานไปถึงเรื่องตลาดหุ้น และการปล่อยเงินกู้ของธนาคารว่า มิติของศีลข้อนี้ควรขยายออกไปสู่สังคมให้ครอบคลุมถึงการเก็งกำไรจากตลาดหุ้น การปั่นหุ้น การโยกย้ายทรัพยากรหรือหาเงินโดยที่ไม่ได้ลงแรง แต่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่คนเป็นจำนวนมาก แม้การฝากเงินกับธนาคาร ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา เพราะธนาคารได้นำเงินที่ผู้คนไปฝากแล้วไปให้บริษัทค้าอาวุธกู้ เพื่อไปทำการผลิตอาวุธ การที่นำเงินไปขูดรีดประชาชน ให้ประชาชนกู้ยืมอย่างไม่เป็นธรรม การแสวงหาผลกำไรจากดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม ก็ถือว่าอยู่ในภายในขอบเขตของศีลข้อนี้ด้วย (23)

กล่าวโดยสรุป กลุ่มเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติได้ตีความศีลข้อที่ว่าด้วยการลักทรัพย์ (อทินนาทาน) ให้ครอบคลุมปัญหาทางจริยธรรมของสังคมสมัยใหม่ ดังนี้

๑) อทินนาทานรูปของการขโมยโดยตรง : ได้แก่ การขโมยหรือการละเมิดทรัพย์ของคนอื่นโดยตรง เฉพาะทรัพย์สินประเภทที่จับต้องได้หรือเคลื่อนย้ายได้ นี้เป็นความหมายของศีลข้ออทินนาทานแบบเดิม ซึ่งเหมาะสำหรับอธิบายปัญหาจริยธรรมในสังคมที่ไม่ซับซ้อนอย่างสังคมเกษตรกรรม เป็นต้น

๒) อทินนาทานในรูปของทรัพย์สินทางปัญหา : ได้แก่ อทินนาทานอันเกิดจากการละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญาของคนอื่น สมัยปัจจุบันถือว่าเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งซึ่งไม่มีในสมัยโบราณ เช่น การคัดลอกทรัพย์สินที่บรรจุในแผ่นซีดี-รอม ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ดนตรี เพลง หนัง หรือข้อมูลทางวิชาการอื่นๆ เช่น ความรู้ ภูมิปัญญา หรือการค้นพบใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์ (ข้อนี้ควรพิจารณาให้รอบคอบ เนื่องจากทรัพย์สินทางปัญญาอาจเป็นเรื่องของการค้ากำไรเกินควร ซึ่งเข้าข่ายอทินนาทาน ส่วนการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งอ้างว่าเป็นการต่อต้านการค้ากำไรเกินควรด้วยวิธีการขโมย ก็ผิดในแง่ที่เป็นเรื่องของอทินนาทานเช่นกัน ดังนั้นทางออกของปัญหานี้ควรมีการอภิปรายเพิ่มเติม - กอง บก. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

๓) อทินนาทานในรูปของการเล่นหุ้น : ได้แก่ อทินนาทานอันเกิดจากการเล่นหุ้นแบบเอาเปรียบคนอื่น เช่น การปั่นราคาหุ้น การปล่อยข่าวลือเพื่อให้ราคาหุ้นขึ้นหรือตก รวมทั้งการโจมตีค่าเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งกำไรจากการค้าเงิน พฤติกรรมเหล่านี้ถือว่าเป็นการลักทรัพย์และผิดศีลข้อที่ ๒ ด้วย

๔) อทินนาทานในรูปของการล้วงข้อมูล : ได้แก่ อทินนาทานอันเกิดจากการขโมยหรือการล้วงข้อมูลลับของคนอื่นทางอินเทอร์เนท เช่น พวกแฮคเกอร์(Hacker) ที่เจาะเข้าไปในเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อล้วงข้อมูลลับของคนอื่น

๕) อทินนาทานในรูปของความไม่ยุติธรรมทางเศรษฐกิจ : ได้แก่ อทินนาทานอันเกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ไม่กระจายรายได้แก่ประชาชนอย่างยุติธรรม เช่น การเอื้อประโยชน์แก่คนรวยจำนวนน้อย หรือการพัฒนาที่ดึงเอาทรัพยากรท้องถิ่นเข้าส่วนกลาง โดยที่คนในท้องได้ไม่ได้รับประโยชน์จากทรัพยากรนั้น กรณีนี้ถือว่าเป็นการละเมิดทรัพย์ของประชาชนส่วนรวม หรือแม้แต่การทำธุรกิจที่เอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน ก็ถือว่าเป็นการละเมิดผลประโยชน์ที่พวกเขาควรจะได้เช่นเดียวกัน

๖) อทินนาทานในรูปของการครอบครองทรัพยากรของประเทศ : ได้แก่ อทินนาทานอ้นเกิดจากครอบครองทรัพยากรส่วนร่วมของประเทศ เช่น นักการเมือง นักธุรกิจ หรือผู้มีอิทธิพลเข้าบุกรุกพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ แม่น้ำลำธาร ภูเขา ทะเล แล้วกอบโดยผลประโยชน์จากพื้นที่นั้นแต่ผู้เดียว กรณีดังกล่าวถือว่าเป็นการลักทรัพย์ของสาธารณะ และถือว่าเป็นการละเมิดศีลข้อที่ ๒ ด้วย

๗) อทินนาทานในรูปของการปล่อยเงินกู้ : ได้แก่ อทินนาทานอันเกิดจากการที่ธนาคารปล่อยเงินกู้แล้วเก็บดอกเบี้ยสูงอย่างไม่ยุติธรรม รวมทั้งการนำเงินฝากของประชาชนไปปล่อยกู้แก่ธุรกิจที่ผิดศีลธรรม เช่น ปล่อยกู้ให้แก่บริษัทค้าอาวุธสงคราม บริษัทผลผลิตสิ่งเสพติดเป็นต้น ถือว่าจัดอยู่ในข่ายของการผิดศีลข้อที่ ๒ เช่นเดียวกัน

๓.๓.๓ การตีความศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร :
พระติช นัท ฮันห์ ได้เสนอหลักการสมาทานศีลข้อที่ ๓ ว่า "ด้วยการตระหนักรู้ถึงความทุกข์ทรมานอันเกิดจากการประพฤติผิดในกาม ฉันตั้งสัตย์ปฏิญาณว่าจะมีความรับผิดชอบและเรียนรู้วิธีที่จะคุ้มครองป้องกันความปลอดภัยและเกียรติยศของปัจเจกบุคคลคู่สมรส ครอบครัว และสังคม ฉันตั้งใจที่จะไม่มีเพศสัมพันธ์โดยปราศจากความรักและพันธสัญญาที่ยาวนาน เพื่อที่จะปกปักรักษาความสุขของตนเองและผู้อื่น ฉันตั้งจิตมั่นที่จะเคารพในพันธสัญญาของฉันและผู้อื่น จะทำทุกอย่างตามกำลังความสามารถในอันที่จะป้องกันเด็กๆ จากการถูกทารุณกรรมทางเพศ และป้องกันไม่ให้คู่สมรสและครอบครัวแตกแยกเนื่องจากการประพฤติผิดทางเพศ" (24)

จะเห็นว่า หลักการสมาทานนี้ ได้แบ่งมิติของศีลข้อกาเมสุมิจฉาจารเป็น ๔ ด้าน คือ (๑) ด้านความตระหนักรู้ถึงความทุกข์ทรมานอันเกิดจากการประพฤติผิดในกาม (๒) ด้านการตั้งปฏิญาณที่จะรับผิดชอบและปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยและเกียรติยศของปัจเจกบุคคล คู่สมรส ครอบครัว และสังคม (๓) ด้านความเคารพในพันธสัญญาของตนเองและคนอื่น (๔) ด้านการป้องกันเด็กๆ จากการถูกทารุณกรรมทางเพศ (๕) ด้านการป้องกันคู่สมรสไม่ให้แตกแยกจากการประพฤติผิดทางเพศ

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มองว่า ศีลข้อ ๓ นอกจากไม่ประพฤติผิดในกามแล้ว จะต้องขยายความไปถึงการคุกคามทางเพศ การกีดกั้นสิทธิสตรี การยกย่องเพศชายให้เหนือกว่าเพศหญิงอย่างงมงายจนถึงกับฆ่าทารกหญิงที่อยู่ในครรภ์ การค้าประเวณีที่นำผู้หญิงที่มีฐานะทางเศรษฐกิจยากจนมาขายตัว ก็ถือว่าเป็นการประพฤติผิดในกามด้วยเหมือนกัน (25). ส่วนวีระ สมบูรณ์ ตีความว่า ปัญหาที่สำคัญของศีลข้อนี้ในสังคมปัจจุบัน คือปัญหาโสเภณี โดยเฉพาะปัญหาโสเภณีเด็กที่มีการทำเป็นขบวนการใหญ่โต การไปเที่ยวโสเภณีก็เป็นการส่งเสริมให้การค้ามนุษย์ดำเนินต่อไป การละเมิดศีลข้อนี้นำไปสู่การทำลายสังคม การทำลายครอบครัว แม้แต่การมี "กิ๊ก" ก็เป็นประเด็นทางสังคมที่นำไปสู่การผิดข้อ ๓ ด้วย เพราะมันมีการโกหกและพูดปด

ยงยุทธ บูรณเจริญกิจ มองว่า การดูภาพลามกอนาจารที่ยั่วยุกามารมณ์น่าจะอยู่ในข่ายผิดศีลข้อ ๓ นี้ด้วย เพราะการดูภาพลามกอนาจาร ถ้ามองให้ลึกอย่างเป็นองค์รวมขึ้นไป เราจะพบว่า มันเป็นการเบียดเบียนผู้อื่น เป็นการส่งเสริมค้าประเวณีไปในตัวด้วย นอกจากนั้น หากการดูภาพเหล่านี้ยังเป็นการส่งเสริมการล่อลวงผู้หญิงและเด็กมาถ่ายภาพด้วย และการดูภาพเหล่านี้ยังเป็นสนับสนุนให้กิจกรรมการละเมิดชีวิตผู้อื่นดำเนินต่อไปได้ เพราะไม่ใช่แค่เราดูภาพคนเดียวแล้วปัญหามันจบ การไปซื้อหนังสือโป๊หรือว่าสินค้าเหล่านี้ ก็ถือว่าส่งเสริมให้มีการผลิตต่อไป ซึ่งในฐานะชาวพุทธเราควรจะมองให้ลึกซึ้งถึงความเกี่ยวพันเชื่อมโยงของปัญหาทั้งหมด ซึ่งถ้าเราไม่ไปสนับสนุนสินค้าเหล่านี้ พวกนี้ก็อยู่ไม่ได้ (26)

ลภาพรรณ ศุภมันตา มองว่า ศีลข้อ ๓ นอกจากจะหมายถึงการไม่ล่วงละเมิดภรรยา ลูกคนอื่นแล้ว ยังหมายถึงการค้าประเวณี การซื้อบริการโสเภณี แหล่งบันเทิงเริงรมย์ สื่อมวลชนที่ทำให้คนหลงมัวเมาในกาม สอดคล้องกับทัศนะของโจเซฟ จอห์นเซน ที่ว่า ศีลข้อ ๓ ควรครอบคลุมถึงปัญหาโสเภณี แม้บางประเทศจะอนุญาตให้เป็นอาชีพที่ถูกต้อง แต่ก็เป็นอาชีพที่สร้างความทุกข์ความเจ็บปวดแก่ผู้หญิง นอกจากนั้น การดูภาพลามกอนาจรที่สื่อไปในทางเพศก็ถือว่าละเมิดศีลข้อนี้ด้วย เพราะภาพเหล่านี้จะทำให้คนขาดสติและสมาธิยับยั้งตน ทำให้ขาดปัญญาไตร่ตรองพิจารณา และจะนำไปสู่การประกอบอาชญากรรมต่อไป (27)

โดยสรุปแล้ว การตีความศีลข้อว่าด้วยการประพฤติผิดในกาม (กาเมสุมิจฉาจาร) กลุ่มเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติ ครอบคลุมประเด็นดังต่อไปนี้

๑) กาเมสุมิจฉาจารโดยตรง : ได้แก่ การไปมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเจ้าของอยู่แล้ว กล่าวคือ ภรรยาและสามีคนอื่น หรือเด็กชายหญิงที่ยังอยู่ในปกครองของคนอื่น นี้คือการตีความศีลข้อ ๓ ตามที่ยึดถือกันมาตามจารีตประเพณี

๒) กาเมสุมิจฉาจารในรูปของการค้าประเวณี : ได้แก่ กาเมสุมิจฉาจารอันเกี่ยวกับการทำธุรกิจให้บริการทางเพศทั้งโสเภณีผู้ให้บริการ ผู้ซื้อบริการ เจ้าของธุรกิจบริการทางเพศ การล่อลวงเด็กและผู้หญิงมาขายบริการทางเพศ เป็นต้น ล้วนอยู่ในขบวนการของการละเมิดศีลข้อดังกล่าวทั้งสิ้น

๓) กาเมสุมิจฉาจารในรูปของการกดขี่ทางเพศ : ได้แก่ กาเมสุมิจฉาจารอันเกี่ยวกับการกีดกั้นทางเพศ การกดขี่สตรี การละเมิดสิทธิสตรี ค่านิยมที่ยกย่องผู้ขายเป็นใหญ่ เป็นต้น

๔) กาเมสุมิจฉาจารในรูปของารผลิต / การเสพสื่อลามกอนาจาร : ได้แก่ กาเมสุมิจฉาจารอันเกี่ยวกับสื่อที่เผยแพร่ภาพลามกอนาจาร เช่น หนังสือโป๊ หนังโป๊ ภาพโป๊ทางอินเทอร์เนท ภาพโป๊ทางหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นต้น และการเสพสื่อลามกอนาจาร ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้เสพ ล้วนอยู่ในข่ายของการผิดศีลข้อ ๓ ทั้งสิ้น เพราะเป็นการยั่วยุให้เกิดกามารมณ์อันอาจจะนำไปสู่การละเมิดทางเพศได้

๕) กาเมสุมิจฉาจารในรูปของการเปิดสถานบันเทิงเริงรมย์ : ได้แก่ กาเมสุมิจฉาจารอันเกี่ยวกับสถานบันเทิงที่ยั่วยวนกามารมณ์ เช่น บาร์, คลับ, อาบ อบ นวด, เป็นต้น สถานที่เหล่านี้ล้วนเป็นแหล่งยั่วยุทางกามารมณ์ อันจะเป็นสาเหตุของการล่วงละเมิดทางเพศ

๖) กาเมสุมิจฉาจารในรูปของการมีเพศสัมพันธ์ด้วยความละโมบ : ได้แก่ กาเมสุมิจฉาจารอันเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์เพื่อบำรุงบำเรอตนด้วยความโลภในกาม มีเพศสัมพันธ์แบบไม่รับผิดชอบและไม่มีพันธะต่อกัน โดยเอาเรื่องเพศเป็นเป้าหมายและลดคุณค่าของมนุษย์ให้เหลือเพียงแค่วัตถุ ถือว่าอยู่ในข่ายของการละเมิดศีลข้อที่ ๓ เช่นเดียวกัน

๓.๓.๔ การตีความศีลข้อมุสาวาท :
พระติช นัท ฮันห์ ได้เสนอหลักการสมาทานศีลข้อนี้ว่า "ด้วยการตระหนักรู้ถึงความทุกข์จากการกล่าวถ้อยคำที่ขาดความยั้งคิดและระคายหูผู้อื่น ฉันตั้งสัตย์ปฏิญาณว่า จะกล่าววาจาที่ไพเราะและฟังอย่างตั้งใจเพื่อที่จะนำมาซึ่งความสดชื่นรื่นเริงและความสุขของผู้อื่น และบรรเทาความทุกข์ทรมานของพวกเขาด้วยการรู้ว่า ถ้อยคำนั้นสามารถสร้างสรรค์ได้ทั้งความสุขหรือความทุกข์ทรมาน ฉันตั้งสัตย์ปฏิญาณที่จะเรียนรู้การพูดความจริงด้วยถ้อยคำที่บันดาลให้เกิดความมั่นใจในตนเอง ความสดชื่นรื่นเริงและความหวัง ฉันตั้งจิตมั่นที่จะไม่กระจายข่าวที่ฉันไม่รู้จริง และไม่วิพากษ์วิจารณ์หรือตำหนิติเตียนในสิ่งที่ฉันไม่แน่ใจ ฉันจะละเว้นจากการพูดจาซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดความแตกแยก หรือความขัดแย้งหรือทำให้ครอบครัวหรือชุมชนแตกสลาย ฉันจะพยายามทุกวิธีทางที่จะประนีประนอม และแก้ไขความขัดแย้งต่างๆ ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กเพียงใด" (28)

หลักการสมาทานนี้ แยกได้เป็น ๔ ด้าน คือ (๑) ด้านจิตสำนึกที่ตระรู้ถึงความทุกข์ทรมานของสัตว์อันเกิดจากการพูดปด และการพูดที่ระคายโสตคนอื่น (๒) ด้านการตั้งสัตย์ปฏิญาณที่จะกล่าวถ้อยคำไพเราะ และฟังคนอื่นพูดด้วยความตั้งใจ (๓) ด้านการละเว้นจาการกระจายข่าวที่ตนไม่รู้จริง จากการวิพากษ์วิจารณ์และการตำหนิติเตียน จากการพูดจาส่อเสียดใส่ร้ายป้ายสีให้เกิดความขัดแย้งและแตกแยก (๔) ด้านความพยายามที่จะหาทางประนีประนอมและแก้ไขความขัดแย้งต่างๆ

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มองว่า ศีลข้อ ๔ นอกจากไม่พูดมุสาแล้ว จะต้องขยายความไปถึงการพูดความจริง การไม่บิดเบือนความเป็นจริงของข่าวเพื่อเป็นการเข้าข้างเชื้อชาติและประเทศของตน แม้แต่การโฆษณาที่ไม่เป็นความจริง แต่เป็นการลวงให้คนเข้าใจผิดหรือสร้างค่านิยมที่ผิดๆ เพื่อให้ผู้คนจ่ายสตางค์เพื่อกำไรทางการค้าของตน เช่น การโฆษณาเครื่องดื่มที่บอกว่า ดื่มแล้วทำให้เป็นคนทันสมัยหรือก้าวหน้า (29)

ส่วนวีระ สมบูรณ์ มองว่า การโกหกในสังคมสมัยใหม่มีรูปแบบที่เปลี่ยนไป คือ การไม่พูดความจริง หรือทำให้อีกฝ่ายได้รับความจริงไม่หมด ซึ่งทำให้ตัวเองได้รับผลประโยชน์จากการปกปิดข้อมูลนั้น เช่น การโฆษณาสินค้าเกินจริงทางโทรทัศน์ อาชีพนักการเมืองที่ปกปิดข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์ของตัวเองและพรรคพวก หรืออาชีพทนายความที่บิดเบือน ปกปิดความจริง ถือว่าเป็นประเด็นที่ชาวพุทธน่าจะตระหนักให้มาก แต่บางอย่าง เช่น ข้อมูลที่จำเป็นต่อความปลอดภัย การไม่บอก ไม่เปิดเผย ก็เป็นสิ่งที่ทำได้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม แต่โดยพื้นฐานแล้ว ความโปร่งใส ความไม่มีเจตนาที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย ก็น่าจะเป็นบรรทัดฐานในการรักษาศีลข้อนี้ (30)

โจเซฟ จอห์นเซน มองว่า พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานได้พัฒนาศีลข้อนี้ไปไกลมาก ในสัทธรรมปุณฑริกสูตร ถือว่าการพูดไม่จริงที่ประกอบด้วยปัญญาและมีเจตนาดีก็ไม่ได้เสียหายอะไร หากการพูดนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น เช่น กรณีพ่อหลอกลูกให้ออกมาจากบ้านที่กำลังไฟไหม้อยู่ หรือกรณีของหมอ โดยพื้นฐานต้องตั้งอยู่บนความจริง หมอต้องชี้แจงความจริงแก่คนไข้ว่า ความจริงของชีวิตมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ให้คนไข้ตระหนักรู้ถึงความจริงของชีวิต แต่หมอไม่จำเป็นต้องบอกความจริงบางอย่างที่อาจกระทบกระเตือนจิตใจของคนไข้ เพราะการเลี่ยงไม่พูด ก็ไม่ถือว่าพูดปด ถ้าสิ่งที่ทำลงไปไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง (31)

๑) มุสาวาทในรูปของการพูดเท็จโดยตรง : ได้แก่ มุสาวาทจากพูดเท็จตรง ๆ ซึ่งเป็นความหมายของศีลข้อนี้ตามที่รับรู้กันตามจารีต

๒) มุสาวาทในรูปของการปกปิดความจริง : ได้แก่ มุสาวาทอันเกิดจากการไม่นำเสนอความจริงต่อประชาชนอย่างครบถ้วนหรือทุกแง่มุม เช่น การโฆษณาสินค้าหรือการหาเสียงของนักการเมือง ที่ไม่นำความจริงด้านที่เป็นข้อเสียหรือจุดบกพร่องของสินค้าหรือนโยบายมาบอกให้ประชาชนรับทราบ ทำให้เกิดความผิดพลาดในการตัดสินใจของประชาชน

๓) มุสาวาทในรูปของการโฆษณาเกินจริง : ได้แก่ มุสาวาทอันเกิดจากการโฆษณา การพูด หรือการประชาสัมพันธ์เกินกว่าความจริงที่มีอยู่ คือ ดีน้อยทำให้ดีมาก จริงน้อยทำให้จริงมาก หรือไม่จริงเลยแต่สร้างความจริงลวงขึ้นมา เช่น ดื่มเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อนี้แล้วจะให้เป็นลูกผู้ชายตัวจริง หรือใช้เครื่องสำอางยี่ห้อนี้แล้วจะทำให้ผิวดำกลายเป็นผิวขาว เป็นต้น

๓.๓.๕ การตีความศีลข้อสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน :
พระติช นัท ฮันห์ ได้เสนอหลักการสมาทานศีลข้อนี้ว่า "ด้วยการตระหนักรู้ถึงความทุกข์อันเกิดจากการบริโภคที่ขาดสติ ฉันตั้งสัตย์ปฏิญาณที่จะรักษาสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจเพื่อตัวฉันเอง ครอบครัวและสังคมของฉันโดยการกิน ดื่ม และบริโภคอย่างมีสติ ฉันตั้งสัตย์ปฏิญาณที่จะบริโภคแต่สิ่งที่ถนอมรักษาศานติ ความมีสุขภาพดีและความสดชื่นรื่นเริงในร่างกายและจิตสำนึกของฉันและในร่างกายและจิตสำนึกของครอบครัวและสังคม ฉันตั้งจิตมั่นที่จะไม่ดื่มเหล้า หรือเครื่องดองของเมาอื่นใด หรือเสพรับอาหารหรือสิ่งอื่นๆ ที่มีพิษภัย เช่น รายการโทรทัศน์ นิตยสาร หนังสือ ภาพยนตร์ และการสนทนา ฉันตระหนักว่าการบั่นทอนทำลายร่างกาย หรือจิตสำนึกของฉันด้วยพิษภัยเหล่านี้เป็นการไม่ซื่อสัตย์ต่อบรรพบุรุษ พ่อแม่ สังคมของฉัน รวมทั้งคนรุ่นต่อไปด้วย ฉันจะทำการเปลี่ยนแปลงความรุนแรง ความหวาดกลัว ความโกรธ และความสับสนในตัวฉันและในสังคม ด้วยการฝึกการบริโภคเพื่อตัวฉันและสังคม ฉันตระหนักว่าอาการที่ถูกต้องเหมาะสมนั้น เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคม" (32)

มิติของศีลข้อนี้ในทัศนะของพระติช นัท ฮันห์ มี ๔ ด้าน คือ (๑) ด้านความตระหนักรู้ถึงความทุกข์อันเกิดจากการบริโภคที่ขาดสติ (๒) ด้านการตั้งสัตย์ปฏิญาณที่จะรักษาสุขภาพกายและจิตใจของตัวเอง ครอบครัวและสังคม โดยการกิน ดื่ม และบริโภคอย่างมีสติ (๓) ด้านการตั้งสัตย์ปฏิญาณที่จะบริโภคแต่สิ่งที่ทำให้ร่างกายและจิตใจของตน ครอบครัว และสังคม มีสุขภาพดีและร่าเริงแจ่มใส (๔) ด้านการตั้งจิตมั่นที่จะไม่ดื่มเหล้า เครื่องดองของเมา อาหาร หรือสิ่งอื่นๆ ที่มีพิษภัย เช่น รายการโทรทัศน์ นิตยสาร หนังสือ ภาพยนตร์ และการสนทนา (๕) ด้านการตระหนักว่า การบั่นทอนทำลายร่างกายหรือจิตวิญญาณของตนด้วยพิษภัยเหล่านี้ เป็นการไม่ซื่อสัตย์ต่อบรรพบุรุษ พ่อแม่ และสังคม รวมทั้งคนรุ่นต่อไป (๖) ด้านความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงความรุนแรง ความหวาดกลัว ความโกรธ และความสับสนในตัวเองและสังคม ด้วยการฝึกการบริโภค

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มองว่า ศีลข้อ ๕ นอกจากไม่ดื่มสุราและเมรัยแล้ว จะต้องขยายความไปถึงขบวนการส่งเสริมสิ่งเสพติดทุกรูปแบบ ไม่ว่าการปลูกพืชเสพติด เช่น ฝิ่น เฮโรอิน ใบยาสูบ หรือแม้แต่อุตสาหกรรมด้านสิ่งเสพติด เช่น โรงงานผลิตและขายสิ่งมึนเมา (33) ส่วนวีระ สมบูรณ์ มองว่า สิ่งที่ทำให้เกิดความมัวเมา ลุ่มหลง ยึดติด และสูญเสียสติสัมปชัญญะก็น่าจะจัดเข้าข่ายของศีลข้อนี้ด้วย แม้แต่สื่อบันเทิง เช่น ละครที่มอมเมาทำให้คนหลงติด ก็สมควรจะเข้าข่ายการละเมิดศีลข้อนี้ด้วย (34)

ยงยุทธ บูรณเจริญกิจ มองว่า ศีลข้อ ๕ นี้นอกจากจะหมายถึงการดื่มสุราและเมรัยที่ทำให้เกิดความมึนเมาเสียสติแล้ว ยังหมายถึงความมอมเมาที่เกิดจากการครอบงำของสื่อด้วย ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาสินค้าที่ทำให้คนหลงมัวเมา หรือยึดติดในค่านิยมบางอย่าง เช่น ค่านิยมที่ว่าผู้หญิงสวยจะต้องขาวและผอมบางเท่านั้น ซึ่งทำให้ผู้หญิงอ้วนและดำรู้สึกมีปมด้อย และเป็นที่ดูหมิ่นของสังคม (35) เช่นเดียวกับแนวคิดของ ลภาพรรณ ศุภมันตา ที่ว่า ศีลข้อ ๕ นี้ไม่ใช่เรื่องของการเสพของมึนเมาเท่านั้น แต่โยงไปถึงความลุ่มหลงในสิ่งบันเทิง แฟชั่น เครื่องสำอาง รวมถึงการศึกษาที่มอมเมาคน ทำให้คนหลงติด การศึกษาที่ล้างสมองเด็กให้แข่งขัน การศึกษาเพื่อตักตวง เพื่อตนเอง เพื่อให้รู้ช่องทางที่จะหาประโยชน์จากคนอื่น และการศึกษาที่ส่งเสริมโลภจริต (36)

๑) การเสพสุราและเมรัยโดยตรง : ได้แก่ การผิดศีลข้อ ๕ เพราะดื่มสุราและเมรัยโดยตรง เป็นความหมายของศีลแบบจารีตประเพณีที่เน้นการผิดศีลเป็นรายบุคคลเป็นสำคัญ ความหมายนี้กลุ่มเครือพุทธศาสนิกเพื่อสังคมให้การยอมรับ แต่ถ้าจำกัดความหมายเพียงแค่นี้จะไม่สามารถอธิบายปัญหาศีลธรรมที่เกี่ยวกับสิ่งมึนเมาในสังคมปัจจุบันทั้งหมดได้

๒) ธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งมึนเมา : ได้แก่ การผิดศีลข้อ ๕ ในรูปของการทำธุรกิจสิ่งมึนเมา ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้านักธุรกิจ ที่ผลิตหรือขายสิ่งมึนเมาทั้งที่ถูกกฏหมายและผิดกฏหมาย เช่น ยาบ้า ยาอี เฮโรอีน กัญชา เหล้า เบียร์ บุหรี่ เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น ผู้ที่อยู่ในขบวนการธุรกิจเหล่านี้ถือว่าผิดศีลข้อนี้ทั้งหมด เพราะมีส่วนร่วมในการสร้างความมึนเมาให้ประชาชน

๓) สื่อที่มอมเมาประชาชน : รูปแบบของสิ่งมึนเมาในสังคมปัจจุบันไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปของเครื่องดื่มหรือเสพเข้าสู่ร่างกาย แม้แต่สื่อต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนมัวเมา เช่น สื่อบันเทิงประเภทละครน้ำเน่า หนัง เพลง หรือสื่อโฆษณาที่ทำให้ประชาชนหลงใหลในค่านิยมที่ผิดๆ เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว แม้กลุ่มชาวพุทธเพื่อสังคมจะให้ความหมายศีล ๕ แตกต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่มีความเห็นร่วมกันอย่างหนึ่งว่า ศีล ๕ มีส่วนประกอบ ๒ อย่าง คือ ส่วนที่เป็นเจตนารมณ์ดั้งเดิมของศีล และส่วนที่เป็นคำอธิบายหรือคำนิยามของศีล

- ส่วนที่เป็นเจตนารมณ์ของศีล คือ ความมีสติ ความรักความสงสาร (กรุณา) ปรารถนาที่จะให้มนุษย์และสรรพสัตว์อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน หรือถ้าพูดอย่างรวบรัด เจตนารมณ์ของศีลก็คือเรื่องของสังคมนั่นเอง ส่วนที่เป็นเจตนารมณ์นี้จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้

- ส่วนคำนิยามของศีล หมายถึงการนิยามความหมายของศีลแต่ละข้อให้สอดคล้องกับปัญหาสังคมแต่ละยุคสมัย ชาวพุทธกลุ่มนี้มองว่า ในอดีตความหมายของศีล ๕ ได้รับการนิยามให้เหมาะสมกับสังคมแบบเกษตรกรรมที่มีปัญหาไม่สลับซับซ้อนมากนัก แต่ปัญหาสังคมยุคใหม่มีความสลับซับซ้อนมาก การฆ่า การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การโกหกหลอกลวง และสิ่งมอมเมาประชาชน ก็มีรูปแบบที่ซับซ้อนแนบเนียนจนแทบจะดูไม่ออกว่าผิดศีลหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ ความหมายของศีล ๕ ในสังคมปัจจุบันจะต้องได้รับการนิยามใหม่เพื่อให้สามารถตอบปัญหาสังคมร่วมสมัยได้

+++++++++++++++++++++++++++++++++ (คลิกไปอ่านบทความต่อเนื่อง ตอนที่ ๔)

เชิงอรรถ

(1) "คำถวายรายงานสมเด็จพระสังฆราช", เสขิยธรรม ๕ (เมษายน - มิถุนายน ๒๕๓๘) : ๖๕.

(2) ส. ศิวรักษ์, "ประชุมพุทธศาสนาเพื่อสังคมที่เกาหลี," เสขิยธรรม ๕๘ (ตุลาคม-ธันวาคม, ๒๕๔๖) : ๑๑.
(3) " ประชุม 'อริยวินัย' คืบหน้า จัดตั้งองค์กรเยาวชนชาวพุทธนานาชาติ," ธรรมานุรักษ์ ๒ (กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔), หน้า ๑.
(4) พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ, หน้า ๔๕๒.

(5) วีระ สมบูรณ์, อริยวินัยกับศาสตร์สำหรับคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ (กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๔๕), หน้า ๑๔-๑๕.
(6) พระไพศาล วิสาโล, พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต, หน้า ๔๓๗-๔๓๘.
(7) ขุ.ขุ.อ.(บาลี) ๒๒-๒๓.

(8) สมภาร พรมทา, พุทธปรัชญา มนุษย์ สังคม และปัญหาจริยธรรม ธรรม (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๒), หน้า ๓๕๐-๓๕๑.

(9) "พุทธศาสนาสำหรับสังคมสมัยใหม่ สนทนากับติช นัท ฮันห์," เสขิยธรรม ๔๗ (มกราคม-มีนาคม, ๒๕๔๔) : ๒๖.

(10) อ้างใน Kenneth Kraft, ed., Inner Peace, Inner World : Assays on Buddhism and Non-violence (New York: State University of New York Press), p. 127-133.

(11) วีระ สมบูรณ์, บทสัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๗, คณะรัฐศาสตร์ ภาคความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงณ์มหาวิทยาลัย .

(12) ประชา หุตานุวัตร, บทสัมภาษณ์ผ่านอีเมล เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๗.

(13) โจเซฟ จอห์นเซน, ผู้ช่วยโครงการอริยวินัย, บทสัมภาษณ์เมื่อ ๔ มีนาคม ๒๕๔๗, สถาบันสวนเงินมีมา เจริญนคร กรุงเทพ ฯ.

(14) อธิษฐาน คงทรัพย์, บทสัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗, อาศรมสนิทวงศ์ จังหวัดนครนายก

(15) ติช นัท ฮันห์ เขียน, ศานติในเรือนใจ, แปลโดย ธีรเดช อุทัยวิทยารัตน์ (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๔๓), หน้า ๘๘-๑๐๓.

(16) อ้างใน Kenneth Kraft, ed., Inner Peace, Inner World : Assays on Buddhism and Non-violence, p. 127-133.

(17) วีระ สมบูรณ์, บทสัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๗.
(18) ยงยุทธ บูรณเจริญกิจ, บทสัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๗.
(19) ลภาวรรณ ศุภมันตา, บทสัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๗.
(20) ติช นัท ฮันห์ เขียน, ศานติในเรือนใจ, หน้า ๘๘-๑๐๓.
(21) อ้างใน Kenneth Kraft, ed., Inner Peace, Inner World : Assays on Buddhism and Non-violence, p. 127-133.

(22) Ibid., p. 127-133.
(23) วีระ สมบูรณ์, บทสัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๗.
(24) ติช นัท ฮันห์ เขียน, ศานติในเรือนใจ, หน้า ๘๘-๑๐๓.
(25) อ้างใน Kenneth Kraft, ed., Inner Peace, Inner World : Assays on Buddhism and Non-violence, p. 127-133.

(26) ยงยุทธ บูรณเจริญกิจ, บทสัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๗.
(27) โจเซฟ จอห์นเซน, บทสัมภาษณ์เมื่อ ๔ มีนาคม ๒๕๔๗.
(28) ติช นัท ฮันห์ เขียน, ศานติในเรือนใจ, หน้า ๘๘-๑๐๓.
(29) อ้างใน Kenneth Kraft, ed., Inner Peace, Inner World : Assays on Buddhism and Non-violence, p. 127-133.

(30) วีระ สมบูรณ์, บทสัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๗.
(31) โจเซฟ จอห์นเซน, บทสัมภาษณ์เมื่อ ๔ มีนาคม ๒๕๔๗,
(32) ติช นัท ฮันห์ เขียน, ศานติในเรือนใจ, หน้า ๘๘-๑๐๓.
(33) Kenneth Kratf ed., Inner Peace, Inner World : Essay s on Buddhism and Non-violence (Now York : State University of New York press), pp. ๑๒๗-๑๓๓.

(34) วีระ สมบูรณ์, บทสัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๗.
(35) ยงยุทธ บูรณเจริญกิจ, บทสัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๗.
(36) ลภาวรรณ ศุภมันตา, บทสัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๗.

 


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1300 เรื่อง หนากว่า 25000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 




1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Thich Nhat Hanh (pronounced Tick-Naught-Han) is a Vietnamese Buddhist monk. During the war in Vietnam, he worked tirelessly for reconciliation between North and South Vietnam. His lifelong efforts to generate peace moved Martin Luther King, Jr. to nominate him for the Nobel Peace Prize in 1967. He lives in exile in a small community in France where he teaches, writes, gardens, and works to help refugees worldwide. He has conducted many mindfulness retreats in Europe and North America helping veterans, children, environmentalists, psychotherapists, artists and many thousands of individuals seeking peace in their hearts, and in their world.