โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 18 August 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๓๗ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (August, 18, 08,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

หนึ่งเดือนก่อนหน้านี้ ทักษิณได้พบหารือกับพลเอกสนธิฯ ผู้บัญชาการทหารบก 1 ครั้งที่ห้องทำงานของนายกรัฐมนตรี ทักษิณทราบดีว่า เบื้องหลังของการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้ ยังมีชนชั้นหนึ่งที่มีบารมีและไม่มีใครสามารถสั่นคลอนได้ ซึ่งนั่นก็คือกองทัพ ที่จะสามารถแสดงบทบาทพลิกสถานการณ์ในยามคับขัน บรรดานายทหารที่ถือกระบอกปืนเหล่านี้ ดูเผินๆ เหมือนจะอยู่ในตำแหน่งที่เป็นอิสระเหนือรัฐบาล แต่ที่แท้จริงแล้วแค่เพียงกระดิกนิ้วหัวแม่มือเพียงนิ้วเดียว ก็สามารถที่จะขับเขาให้ตกจากที่นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้
18-08-2550

Thaksin's 24 Hours
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

บันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับการรัฐประหาร ๑๙ กันยา
Thaksin's 24 Hours After the Coup:
บทที่ ๒ ข่าวลือกลายเป็นความจริง

กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : เรียบเรียง
ต้นฉบับแปลจากภาษาจีนทั้งเล่ม ได้รับมาจากเพื่อนสื่อมวลชนเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน

บันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับนายกฯ ทักษิณ และการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ นี้
แปลมาจากต้นฉบับภาษาจีน (โดยผู้แปลไม่เปิดเผยนาม) กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้นำมาเรียบเรียง
และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติม เพื่อสะดวกแก่การค้นคว้าในเรื่องประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย
โดยในบทที่ ๒ นี้ มีชื่อบทว่า "ข่าวลือกลายเป็นความจริง" ดังมีลำดับหัวข้อที่น่าสนใจต่อไปนี้
- จิตวิญญานพุทธศาสนาที่ปกคลุมเจ้าพระยา
- ทักษิณถูกหลอก : กองทัพ ผู้กำหนดชะตาบ้านเมือง
- คำเตือนของหมอดู ศัตรูกำลังคิดร้าย
- ประเทศไทยมีกองทัพไว้ทำรัฐประหาร ไม่ได้มีไว้เพื่อทำสงคราม
- วัฒนธรรมขงจื้อของเอเชียตะวันออก: หน้าที่และคุณธรรม
- อุปนิสัยของคนไทยภายใต้กรอบศาสนาพุทธ
- เหตุการณ์พฤษภา บนถนนราชดำเนิน
- กษัตริย์ผู้มีพระนามว่า พระรามาธิบดีองค์ที่ 9
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๓๗
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๒.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทที่ 2 ข่าวลือกลายเป็นความจริง

ตอนที่ 1

จิตวิญญานพุทธศาสนาที่ปกคลุมเจ้าพระยา
ในยามพลบค่ำ ณ กรุงเทพมหานครที่ฟ้ายังคงสว่างอยู่ ขณะนั้นเป็นเดือนกันยายนซึ่งตรงกับฤดูฝนพอดี ในอากาศจึงเต็มไปด้วยกรุ่นไอของความชื้น ประจวบกับเป็นช่วงการจราจรคับคั่งที่สุดของวัน รถเล็กใหญ่ที่ดูราวฝูงมดที่ออกจากรังต่างเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ กลางถนนสายแคบซึ่งขนาบด้วยตึกระฟ้าทั้งสองข้างทาง รถไฟลอยฟ้าได้ทอดตัวผ่านอากาศอันอบอุ่นแห่งเขตร้อนชื้น-กระแสแรงผลักดันของทุนนิยมอันมีพลัง หากปราศจากพระราชวังและวัดที่มียอดสีทองและสีแดงซึ่งกระจายตัวอยู่ในหมู่สิ่งก่อสร้างสถาปัตยกรรมสไตล์ตะวันตกแล้ว มองดูเผินๆ จากภายนอก กรุงเทพ (City of Angel) อันเป็นประเทศแห่งพุทธศาสนาในแดนตะวันออกแห่งนี้ ก็ไม่ได้แตกต่างจากเมืองคอนกรีตและเหล็กของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายสักเท่าไร เนื่องจากผู้คนในเมืองนี้ต่างลุ่มหลงอยู่ในยุคของวัตถุนิยมกันทั่วหน้า

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาอย่างละเอียด ก็ยังสามารถสัมผัสถึงสิ่งที่นครแห่งนี้ต่างจากเมืองอื่นได้อย่างง่ายดาย กล่าวคือ ตามถนนและตรอกซอยต่างๆ ในกรุงเทพฯ เราจะเห็นพระสงฆ์ในจีวรสีเหลืองในทุกหนทุกแห่ง ในกรุงเทพฯ มีวัดอยู่จำนวน 300 แห่ง พระสงฆ์ 6 หมื่นกว่ารูป ไม่ว่าฤดูกาลจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร บรรดาพระสงฆ์ก็มักจะเดินเท้าเปล่าไปตามท้องถนนอันวุ่นวาย ด้วยอากัปกิริยาที่สงบและสายตาที่มีสมาธิ ซึ่งแทบจะมองไม่ออกเลยว่าท่านมีความรู้สึกอย่างไรต่อเหตุการณ์ร้อยแปดที่เกิดขึ้นรอบข้าง อารมณ์ที่มาจากจิตวิญญาณทางพุทธศาสนาในส่วนลึกเป็นเสมือนหมอกที่ปกคลุมบนแม่น้ำเจ้าพระยา และได้นำความเย็นสบายมาให้กับเมืองพุทธศานาแห่งนี้

ข่าวลือเรื่องการรัฐประหารและความเป็นจริง
ทว่า เมื่อเร็วๆมานี้ แม้แต่พระสงฆ์ที่ได้ตัดขาดกับทางโลกแล้วก็ยังรู้สึกได้ถึงความไม่ปกติที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ มีผู้คนพากันซุบซิบและลือถึงข่าวที่น่ากังวลกันตามท้องถนน ลานและสวนสาธารณะต่างๆ และหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้ อยู่ดีๆ ก็มีรถถังปรากฎขึ้นมาบนท้องถนน. วิทยุ จส. ร้อย ได้รับโทรศัพท์แจ้งสถานการณ์ดังกล่าวจำนวนสิบกว่ารายในทันที ผู้เห็นเหตุการณ์ผู้หนึ่งได้โทรมาด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า "ตายแล้ว..คงไม่เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกหรอกนะ" ผู้สื่อข่าวได้รีบโทรไปถามฝ่ายทหาร โดยได้คำตอบดังนี้ "หลังจากที่กองทัพฝึกซ้อมเสร็จก็จะกลับค่าย ไม่ต้องตกใจไป" อย่างไรก็ตาม คำตอบนี้ก็ไม่ทำให้ประชาชนคายจากความแคลงใจและความสงสัยได้

ในช่วง 9 เดือนกว่าที่ผ่านมา วิกฤตทางการเมืองเลวร้ายลงทำให้กองทัพ ตำรวจ พระราชวัง และรัฐบาลต่างเริ่มกังวลมากขึ้นทุกวัน เมื่อพิจารณาจากเค้าลางต่างๆ ก็พอจะทราบว่าเรื่องราวคงไม่สามารถแก้ไขโดยแนวทางที่ปกติได้ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ทักษิณได้ประกาศจะนำพรรคไทยรักไทยลงเลือกตั้งครั้งต่อไปในฐานะผู้นำพรรคไทยรักไทย หลังจากนั้น 2 วัน ก็ได้เกิดเหตุการณ์ "ระเบิดรถยนต์" อันสะเทือนขวัญขึ้น บรรยากาศในกรุงเทพฯ ตึงเครียดมาก แม้กระทั่งประชาชนธรรมดายังรู้สึกถึงสายอัสนีที่ซ้อนเร้นอยู่ในชั้นเมฆ

สองสามเดือนมานี้ ข่าวลือที่ว่ากำลังจะเกิดการรัฐประหารก็เริ่มหนาหนูมากขึ้น ข่าวลือที่ว่าเริ่มมีการวางแผนก่อการรัฐประหารเพื่อโค้นล้มอำนาจทางการเมืองของทักษิณนั้น มีมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2549 และต่อมาหลังจากที่ทักษิณได้กลับเข้ามากุมอำนาจทางการเมืองในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรีในเดือนพฤษภาคม ข่าวลือเรื่องการก่อรัฐประหารก็แพร่สะพัดขึ้นอีกครั้ง และในเดือนมิถุนายน พลเอกเปรม ติลสูลานนท์ วัย 86 ปี ที่ปรึกษาหมายเลขหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประธานองคมนตรีและอดีตผู้บัญชาการทหารบก ได้สวมชุดทหารเก่าออกมาขอให้นักเรียนโรงเรียนนายทหาร "ทำงานสนองและรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิใช่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง" พร้อมท่าทางที่ปลุกเร้าความฮึกเหิม

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม นายทวีวุฒิ จุลวัจนะ ผู้เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยท่านหนึ่งของไทย ได้ลงจดหมายเปิดผนึกในเว็บไซต์การเมืองที่มีชื่อเสียงเว็บหนึ่ง โดยอ้างถึงข่าวจากฝ่ายทหารว่ากองทัพกำลังดำเนินการวางแผนก่อการรัฐประหารอย่างลับๆ พร้อมกับเตรียมขับไล่ทักษิณออกจากประเทศ หลังจากนั้น ในวันที่ 20 กรกฎาคม นายทหารบกระดับกลางที่สนับสนุนทักษิณจำนวน 129 นาย ได้ถูกสั่งให้ย้ายออกจากกรุงเทพฯ ซึ่งหลายคนได้มองว่าเป็นการโหมโรงก่อนการรัฐประหารจริง

อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารก็ยังไม่ได้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพรรคไทยรักไทยของทักษิณหรือพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ต่างก็วุ่นอยู่กับการหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ขณะที่ ทุกคนต่างก็ยังพะว้าพะวงใจอยู่กับข่าวลือที่ยังไม่ปรากฎความจริง จนสุดท้ายก็ทำให้เกิด ความเข้าใจผิดว่าสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นในวันนี้ ก็คงไม่มีวันเกิดขึ้นในอนาคต

วันที่ 19 กันยายน 2549
แต่แล้วในวันที่ 19 กันยายน เวลา 8.00 น. (ซึ่งตรงกับวันที่ 18 กันยายน เวลา 20.00 น. ณ กรุงนิวยอร์ก) สิ่งที่เป็นห่วงนั้นได้มาถึงแล้วจริงๆ ขณะที่ทักษิณซึ่งอยู่ไกลถึงสหรัฐฯ กำลังประชุมทางไกลผ่านระบบ Tele-Conference บรรดาสมาชิกคณะรัฐมนตรีที่เป็นฝ่ายทหาร ซึ่งรวมถึงผู้บัญชาการทหารสามเหล่าทัพ ทหารเรือ บกและอากาศต่างก็ไม่ได้เข้าร่วมการประชุม. พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกได้ชี้แจงว่า เป็นเพราะประกาศเรียกประชุมมาค่อนข้างกระทันหัน จึงเข้าประชุมไม่ทัน หลังจากนั้น ข่าวลือเรื่องก็ก่อรัฐประหารก็แพร่กระจายอย่างรวดร็วไปทุกหนทุกแห่งในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกซอกทุกมุมในตลาดหุ้น

ในตอนบ่ายวันเดียวกันก่อนที่พายุไต้ฝุ่นจะเข้า (การก่อรัฐประหาร) ก็ได้มีข่าวลับจากฝ่ายทหารหลุดออกมาว่าพลเอกสนธิ ผู้บัญชาการทหารบก ได้มีคำสั่งให้นายทหารบางส่วนอยู่ประจำกองกำลังเพื่อรอประกาศสำคัญ ต่อมาก็มีข่าวลืออีกว่าหลังจากกองกำลังรถหุ้มเกราะตอบโต้เร็วภายใต้กองทัพภาคที่ 2 และ 3 รวมถึงกองกำลังหน่วยรบพิเศษที่อยู่รอบเขตกรุงเทพฯ ฝึกซ้อมเสร็จในตอนเช้าแล้วมิได้กลับไปค่ายของตนตามปกติ

ผู้ที่เป็นหูเป็นตาซึ่งมีความรวดเร็วของทักษิณนั่งไม่ติดตั้งแต่ต้นแล้วจึงรีบรายงานให้พจมาน ดามาพงศ์ ภรรยาของทักษิณทราบในทันที เนื่องจากทักษิณอยู่ที่นิวยอร์ก มีเพียงภรรยาและญาติที่สนิทสองสามคนที่รู้ทางติดต่อกับทักษิณได้ พจมานเป็นผู้หญิงประเภทที่หากเกิดเรื่องฉุกเฉินขึ้นมากลางดึก ก็จะเป็นคนแรกที่โดดลุกจากเตียงและยกปืนขึ้นมาเพื่อส่องสอดดู ความปลอดภัย หล่อนถูกมองว่าเป็นมันสมองที่แท้จริงและเป็นกุนซือผู้อยู่เบื้องหลังของทักษิณมาโดยตลอด จากลางสังหรณ์ของผู้หญิง หล่อนได้ล่วงรู้ถึงความน่ากลัวของสิ่งที่กำลังก้าวเข้ามาตั้งแต่ต้นแล้ว และเป็นคนแรกที่โทรศัพท์ถึงสามีที่กำลังนอนหลับสนิทอยู่อีกซีกโลกหนึ่งเพื่อแจ้งข่าวอันน่าสะพรึงกลัวนี้

ตอนที่ 2
ทักษิณถูกหลอก : กองทัพ ผู้กำหนดชะตาบ้านเมือง
ทักษิณนั่งอยู่บนขอบเตียงโดยรู้สึกว่าสมองโล่งเปล่าสักสองสามวินาที ท่ามกลางความตกใจอย่างสุดขีด บางคราวก็รู้สึกชาและมึนงงเสมือนว่ากำลังอยู่ในห้วงแห่งความฝันที่ไม่สามารถควบคุมอะไรได้ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไปและไม่คิดว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป - การหลบหนี… ความทุกข์ทั้งมวลในจิตใต้สำนึกนั้นเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์เพื่อปกป้องตนเองในการรับมือกับเหตุฉุกเฉิน เขานั่งอยู่อย่างนิ่งเงียบเหมือนท่อนไม้โดยไม่ได้เปิดไฟ ห้องอันมืดสนิทปกคลุมไปด้วยความหนาวเหน็บราวกับเรือที่จมอยู่ใต้มหาสมุทร สำหรับการเจรจาเมื่อหนึ่งเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นลางสังหรณ์ถึงพายุระลอกนี้ มาถึงตอนนี้ราวกับว่าคลื่นน้ำระลอกใหญ่ได้พัดผ่านโขดหินแล้ว ภาพเรื่องราวต่างๆ ได้ประติดประต่อและปรากฎตัวอย่างชัดเจนในหัวสมองของเขา ทันใดนั้นเขาก็พบว่าตนเองได้ถูกหลอกแล้ว

หนึ่งเดือนก่อนหน้านี้ ทักษิณได้พบหารือกับพลเอกสนธิฯ ผู้บัญชาการทหารบกหนึ่งครั้ง ที่ห้องทำงานของนายกรัฐมนตรี ทักษิณทราบดีว่าเบื้องหลังของการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้ ยังมี ชนชั้นหนึ่งที่มีบารมีและไม่มีใครสามารถสั่นคลอนได้ ซึ่งนั่นก็คือ กองทัพ ที่จะสามารถแสดงบทบาทพลิกสถานการณ์ในยามคับขัน บรรดานายทหารที่ถือกระบอกปืนเหล่านี้ ดูเผินๆ เหมือนจะอยู่ในตำแหน่งที่เป็นอิสระเหนือรัฐบาล แต่ที่แท้จริงแล้วแค่เพียงกระดิกนิ้วหัวแม่มือเพียงนิ้วเดียวก็สามารถที่จะขับเขาให้ตกจากที่นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ สิ่งที่เขากังวลไม่ใช่พรรคฝ่ายค้านซึ่งก็เหมือนกับเขาที่ล้วนแต่เป็นส่วนประกอบที่ขับความเด่นให้แก่ผู้มีอำนาจสูงสุด ซึ่งไม่แสดงตัวออกมา แต่ที่สิ่งที่เขากังวลกลับเป็นท่าทีของฝ่ายทหาร-ฝ่ายทหารเคยชินกับการใช้วิธีการรัฐประหารโดยขับไล่นายกรัฐมนตรีที่พวกเขาไม่ถูกใจออกไป

การหารือในครั้งนี้เป็นเหตุมาจากการพิจารณารายชื่อการแต่งตั้งนายทหาร นับตั้งแต่มีข่าวว่าออกมาว่าฝ่ายทหารอาจจะเข้ามายุ่งเกี่ยวในวิกฤตการเมืองครั้งนี้ ทักษิณก็ได้มองเห็นล่วงหน้าแล้วว่า สุดท้ายสถานการณ์คงต้องพัฒนาไปเป็นการแย่งชิงอำนาจโดยมีกองทัพเป็นผู้บัญชาการ ใครที่สามารถควบคุมกองทัพได้ก็จะเป็นผู้ชนะ ตามจากข่าวลือซึ่งยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่สื่อออกข่าวกันอย่างกว้างขวางนั้น ทำให้ในเดือนกันยายน ทักษิณได้ใช้สิทธิพิเศษของนายกรัฐมนตรีเสนอชื่อนายทหารที่ฝึกอบรมในโรงเรียนนายทหาร ซึ่งสนับสนุนตนจำนวนร้อยกว่าคนให้ขึ้นดำรงตำแหน่งที่สำคัญในกองพลที่หนึ่ง

(ทักษิณยังได้พยายามที่จะเลื่อนตำแหน่งให้พลตรีพฤณฑ์ สุวรรณทัต ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่หนึ่ง ที่ดูแลความสงบในเขตกรุงเทพฯและต้องการให้ พลตรีดาวพงษ์ รัตนสุวรรณ ซึ่งเป็นพันธมิตรมารับผิดชอบในกองพลทหารราบที่หนึ่งด้วย โดยแต่เดิมนั้น พลเอก พรชัย กรานเลิศ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกก็เป็นคนของเขา ดังนั้นหากสามารถเปลี่ยนนายทหารระดับกลางและระดับสูงภายในกองทัพบกให้เป็นพวกตนได้ ก็สามารถมีอำนาจในการบังคับบัญชากองทัพที่ดูแลความสงบในกรุงเทพฯได้อย่างมั่นคง มีการพูดกันว่า เพราะเรื่องนี้เองที่ทำให้ทักษิณมีเรื่องที่ผิดใจกันกับฝ่ายทหารและทำเนียบองคมนตรี) (1)
(1) Hawn W Crispin <Asia Times Online> วันที่ 21 กันยายน

ห้องทำงานของนายกรัฐมนตรีปูด้วยพรมที่ค่อนข้างหนาจึงทำให้ไม่ได้ยินเสียงฝีเท้า บนโต๊ะทำงานสีน้ำตาลแดงตัวใหญ่มีเอกสารวางอยู่จำนวนหนึ่ง เครื่องคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง และเครื่องพรินเตอร์เลเซอร์ 1 เครื่อง โดยโต๊ะได้หันหน้าไปทางพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งแขวนอยู่ เครื่องปรับอากาศกำลังทำงานอยู่ อากาศอันร้อนระอุของพระอาทิตย์ได้ถูกกั้นไว้ภายนอกห้องกระจก ภายในห้องอันเย็นสบายและสงบเงียบ ทั้งสองนั่งเผชิญหน้ากัน พลเอกสนธิซึ่งอยู่ในชุดทหารนิ่งเงียบอย่างสุขุม



พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้มาจากครอบครัวมุสลิม บรรพบุรุษ
เคยดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีคนแรกของไทย


พลเอกสนธิมีอายุมากกว่าทักษิณ 4 ปี เกิดในครอบครัวมุสลิมบริเวณใกล้ๆ กับกรุงเทพฯ โดยบรรพบุรุษได้เคยดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีคนแรกของไทย ตัวพลเอกสนธิเองจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เหล่าทหารราบ ซึ่งเป็นโรงเรียนนายทหารที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย หลังจากเข้าร่วมในสงครามเวียดนามก็ได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยเป็นผู้บัญชาการกองกำลังทหารราบสงครามพิเศษ โดยได้รับการแต่งตั้งจากทักษิณให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในวันที่ 1 ตุลาคม 2548 ซึ่งทำให้บุคคลมากมายต่างพากันตกใจ เนื่องจากบรรดาทหารในกองทัพไทยส่วนใหญ่จะเป็นชาวพุทธ พลเอกสนธินับเป็นผู้บัญชาการทหารบกคนแรกที่เป็นชาวมุสลิม

นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า เหตุผลหลักที่ทำให้ทักษิณเลือกพลเอกสนธิเนื่องจากต้องการใช้ประโยชน์จากประสบการณ์การรบในสนามรบที่ช่ำชอง และลัทธิ ความเชื่อของมุสลิมเพื่อแก้ปัญหาชาวมุสลิมที่ก่อความไม่สงบในภาคใต้ของไทย ซึ่งยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน ดูจากภายนอกแล้ว พลเอกสนธิดูไม่เหมือนผู้ที่จะวางแผนทรยศโดยลุกขึ้นมาก่อการรัฐประหาร ทั้งภาพลักษณ์และการพูดจาของนายทหารระดับมืออาชีพท่านนี้ ล้วนแต่แสดงออกถึงบุคลิกที่สุภาพอ่อนโยน แม้ตอนถอดชุดทหารแล้วก็กลับดูเหมือนศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย

"คุณคิดจะก่อรัฐประหารโค่นล้มผมหรือเปล่า" ทักษิณถามอย่างตรงไปตรงมา
"จะเป็นไปได้อย่างไร ผมไม่มีทางทำอย่างนั้นหรอก" พลเอกสนธิตอบด้วยเสียงเบาๆ ตามปกติ ระหว่างที่เขาพูดนั้น สายตาเขามักจะมองก้มลงโดยไม่รู้ตัว และกวาดตามองเป็นครั้งคราว เหมือนกับแมลงปอบินระน้ำ น้ำเสียงก็ค่อนข้างแผ่วเบา น้ำเสียงอยู่ในโทนเดียวตลอด คำพูดที่ออกมาจากปากเขาไม่ว่าจะเป็นคำพูดที่แสดงถึงความสนิทคุ้นเคย หรือคำพูดที่น่ากลัว ก็ล้วนแต่พูดออกมาอย่างช้าๆ ไม่รีบร้อน

นี่ไม่ใช่ผู้ที่กระหายในเลือด เมื่อเขาได้รับภารกิจให้แก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ของไทย เขาได้กล่าวว่า "แม้จะต้องมีการปะทะกันทางวาจาระหว่างเจรจา ก็จะไม่ใช้กำลังอาวุธมาสงบสถานการณ์" สำหรับข่าวลือเรื่องการก่อรัฐประหารที่แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วนั้น เขาได้เปิดเผยท่าทีว่า "ฝ่ายทหารจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง การก่อรัฐประหารเป็นสิ่งที่ล้าสมัยอย่างมาก" แต่เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองแย่ลง เขาก็ได้เคยกล่าวอย่างอ้อมๆ ว่า "ในฐานะที่เป็นนักรบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พวกเราอยากที่จะช่วยพระองค์ในการขจัดความกังวลและ ความทุกข์ยากทั้งปวง ฝ่ายทหารจะปฏิบัติตามพระราชประสงค์ของพระองค์อย่างเคร่งครัด"

ทักษิณถอนหายใจ เขาไม่สามารถจะแน่ใจได้ว่า คำสัญญาของพลเอกสนธินั้นเชื่อถือได้เพียงใด "คุณต้องจำไว้ว่า ผมเป็นคนที่แต่งตั้งคุณเป็นผู้บัญชาการทหารบก ผมสนับสนุนคุณ ก็เพราะหวังให้คุณทุ่มเทกำลังในการแก้ปัญหาภาคใต้ คุณอย่าเข้ามายุ่งเรื่องการเมือง ขอให้สัญญากับผมด้วยความเป็นสุภาพบุรุษของคุณและความเป็นพี่น้อง ว่าคุณจะไม่เข้ามายุ่งเรื่องการเมือง หากคุณสัญญา ผมจะขยายระยะเวลาให้คุณอยู่ในตำแหน่งนานขึ้นอีก 1 ปี"

"ผมสัญญา" คำตอบที่สั้นแต่หนักแน่น พลเอกสนธิยืนขึ้นพร้อมกับสีหน้าที่ปราศจากความรู้สึกใดๆ และจับมือกับทักษิณ โค้งคำนับ 1 ครั้ง และเดินออกไป การหารืออันเต็มไปเสียงฟ้าอึมครึ้มที่เป็นลางบอกถึงฝนที่กำลังจะตกนั้นก็ได้สิ้นสุดลง

บัดนี้ เรื่องราวได้เป็นที่กระจ่างแล้วว่า พลเอกสนธิได้หลอกเขา ทรยศเขา ในสุดท้ายทักษิณก็ได้ประจักษ์ถึงความจริง ภายใต้ภาพลักษณ์อันสุภาพอ่อนโยนของผู้บัญชาการทหารบกท่านนี้ ได้ซ่อนจิตใจอันเด็ดเดี่ยวที่สุด มีความสามารถแบกรับภาระกิจอันยากลำบาก และกล้าตัดสินใจด้วยความกล้าหาญเป็นที่สุด รวมทั้งในการกระทำทุกอย่างก็ยอมเสียสละอย่างถึงที่สุดด้วย นายทหารเก่าที่เคยร่วมรบสงครามเวียดนามท่านนี้ นายพลที่กล่าวไว้หลายครั้งว่าไม่คิดจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองท่าน นายทหารไทยที่เงียบๆ ไม่ค่อยเป็นข่าวท่าน ภายในระยะเวลาเพียงคืนเดียวเขากลับทำให้คนทั้งโลกจำเขาได้อย่างแม่นยำ

ที่น่าแปลกก็คือ ในการเจรจาที่ไม่มีบุคคลที่สามเข้ามาเป็นพยานนั้น เรื่องที่ผ่านการถ่ายทอดจากบุคคลที่เกี่ยวข้องอีกคนกลับแตกต่างกันราวกับเป็นเรื่องราโชมอนอีกต้นฉบับหนึ่ง เมื่อพลเอกสนธิให้สัมภาษณ์สื่อหลังจากนั้น ก็ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนที่หารือกับทักษิณว่า "ตอนนั้นท่านทักษิณถามผมว่า คุณจะก่อการรัฐประหารหรือไม่ ผมก็ตอบไปอย่างชัดเจนว่า ผมจะทำ ผมไม่เสียใจที่ตอบไปเช่นนั้น หากย้อนเวลากลับไปได้ ผมก็จะตอบท่านเช่นเดิม" พลเอกสนธิยังกล่าวอีกว่าระหว่างเขากับผู้มีบุญคุณที่แต่งตั้งเขาขึ้นมานั้น แทบจะไม่มี"ความไว้เนื้อเชื่อใจ"ระหว่างกัน ก่อนเกิดการรัฐประหาร มีครั้งหนึ่งเขาได้ตามทักษิณไปเยือนประเทศพม่า มีคนเตือนให้เขาระมัดระวัง ดังนั้น เขาจึงได้สั่งให้ลูกน้องพกปืนไปด้วย โดยส่วนตัวเขาเองได้นั่งตรงข้างประตูเครื่องบิน "เพื่อจะได้จัดการกับเรื่องฉุกเฉินที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที"

สุดท้ายแล้วไม่ทราบว่าใครที่โกหก สมมุติว่าเป็นจริงดังเช่นที่พลเอกสนธิเล่า ที่ว่าเขาได้พูดต่อหน้าทักษิณ "ผมจะโค่นล้มคุณ" ถ้าเป็นเช่นนั้น ทักษิณก็ต้องรีบจัดการโต้ตอบในทันทีถึงจะถูก ทักษิณควรรีบจัดการคนที่เป็นอันตรายต่ออำนาจทางการเมืองในปัจจุบันของเขา โดยการปลดออกจากตำแหน่งและลงโทษทางวินัยในทันที แต่ทว่า ทักษิณกลับไม่รู้สึกอะไร อีกทั้งในช่วงหนึ่งเดือนหลังจากนั้นกลับแกล้งเป็นหูหนวกตาบอดเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่ดำเนินการอะไรทั้งสิ้น นั่งรอให้ศัตรูมาทำร้ายตนเองจนถึงแก่ความพ่ายแพ้ ปฏิกริยาตอบสนองเช่นนี้ออกจะแปลกประหลาดเกินไปกระมัง

ตอนที่ 3
คำเตือนของหมอดู ศัตรูกำลังคิดร้าย
หลังจากได้ฟังโทรศัพท์จากภรรยา ทักษิณก็นิ่งอึ้งไป ราวกับว่าเวลายาวผ่านไปนานหมื่นปี - ทั้งที่จริงๆ แล้วผ่านไปเพียงแค่สิบกว่าวินาที ทันใดนั้นเขาก็มีสติกลับมา โดยรีบยกโทรศัพท์ขึ้นมาโทรหาบุคคลคนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายข่าวกรอง, ฝ่ายทหาร, รองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, กรมตำรวจ, ข้าราชการผู้ใหญ่ตามพื้นที่, เป็นรายชื่อที่ยาวมาก แม้กระทั่งเขาเองก็ยังไม่ทราบว่า ได้โทรศัพท์ไปทั้งหมดกี่ครั้งภายในสองชั่วโมงกว่า

ณ ขณะนี้สิ่งที่ทักษิณต้องการอย่างเร่งด่วนก็คือ ต้องการตรวจสอบให้แน่ใจว่า ข่าวที่ตนได้จากภรรยานั้นเป็นความจริงหรือไม่ โดยสอบถามจากบุคคลหลายๆ คน แต่คำตอบที่ได้นั้นช่างน่างงงวย บางคนบอกว่าเป็นเรื่องจริง บางคนกลับบอกว่าเป็นข่าวลือ บางคนก็ไม่ทราบอะไรเลย บรรดาสมาชิกคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลทักษิณ ต่างแทบจะรู้เรื่องในนาทีที่เกิดการรัฐประหารขึ้นแล้วกันทั้งนั้น ส่วนฝ่ายข่าวกรองของรัฐบาล ก่อนเกิดเรื่องก็ไม่ได้รายงานข่าวที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ใดๆ เลย

คำบอกเล่าของทักษิณ
แน่นอนว่าผู้ที่รับผิดชอบฝ่ายข่าวกรองนั้นมีปัญหา แต่ว่าหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลไทยก็ล้วนแต่ขาดประสิทธิภาพทั้งนั้น และนี่ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเพียงวันสองวัน จึงไม่อาจแก้ไขได้ในช่วงข้ามคืน ระบบข้าราชการไทยก็ต้องได้รับการปรับและปฏิรูปทั้งระบบเสียใหม่ สิ่งนี้ไม่ใช่ปัญหาของกระทรวงใดหรือคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องมีระบบมารองรับ หากไม่มีระบบมาประกันก็ต้องพึ่งพาตัวบุคคลเท่านั้น พอบุคคลดังกล่าวลงจากตำแหน่ง สิ่งที่เขาได้เคยริเริ่มไว้ก็จะหายไปเช่นกัน

ความรู้สึกกระสับกระส่ายได้แพร่กระจายไปทั่วร่างกายของเขา เขารู้สึกเสียใจที่ได้คาดการณ์ผิดอย่างมาก การประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบ Tele -Conference เมื่อ 5 ชั่วโมงที่แล้ว ผู้บัญชาการทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศล้วนไม่ได้เข้าร่วมประชุม ผู้ใดก็ตามที่มีไวต่อความรู้สึกย่อมต้องสัมผัสได้ว่า มันเป็นสัญญาณบอกถึงความผิดปกติ แน่นอนว่าเขาได้สังเกตเห็นแล้ว แต่ทว่ากลับเพิกเฉยมิได้สนใจ อีกทั้งยังเข้านอนอย่างไม่ได้ตะขิดตะขวงใจเลย สิ่งนี้เป็นความผิดที่ยากจะอภัยได้อย่างยิ่ง

ทักษิณถือโทรศัพท์เดินไปมาในห้อง เขาได้สั่งให้พลตำรวจเอกชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรีซึ่งอยู่ในประเทศไทยรีบควบคุมสถานการณ์ เขายังได้ติดต่อกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งขณะนั้นอยู่ในกรุงปารีส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็รู้สึกตกใจเช่นเดียวกับเขา เขาพบว่ารัฐมนตรีกระทรวงที่สำคัญของไทยหลายท่านล้วนแต่ไม่ได้อยู่ในประเทศในขณะนั้น

- ดร. กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกำลังร่วมงานนิทรรศการวัฒนธรรมไทย-ฝรั่งเศสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธาน ณ กรุงปารีส

- คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังพักร้อนอยู่กับครอบครัวที่ประเทศฝรั่งเศส
- พลอากาศเอกคงศักดิ์ วันทนา ประธานกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้บินจากกรุงเทพฯ ไปประเทศเยอรมนีแล้ว

- ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรีไปติดตามเขาไปประชุมที่กรุงนิวยอร์ก
- นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ร่วมประชุมประจำปีของธนาคารโลก ที่ประเทศสิงคโปร์
- นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ก็อยู่ที่กรุงปารีสเช่นเดียวกัน

แล้วเขาก็คิดขึ้นมาทันทีถึงคำเตือนของหมอดูที่ได้โทรมาเตือนเขาเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า "ให้ระมัดระวัง ศัตรูกำลังคิดจะโจมตีท่าน แต่ว่าพวกเขาจะไม่ฆ่าหรือทำร้ายท่านให้บาดเจ็บ" คำทำนายอันโชคร้ายนี้ช่างแม่นยำจริงๆ ศัตรูไม่มีทางทำร้ายเขาได้-และก็ไม่ได้ตั้งใจจะทำร้ายเขาด้วย พวกนั้นต้องการที่จะขับไล่เขาออกนอกประเทศ เพราะการขังนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นที่รักของประชาชนผู้ยากไร้ไว้ในประเทศ รังแต่จะก่อให้เกิดความวุ่นวาย ในขณะนี้ ทักษิณพร้อมที่จะสู้แต่ไม่มีกำลังและอำนาจก็ครอบคลุมไปไม่ถึง ดูตามรูปการณ์แล้ว เรื่องราวทั้งหมดได้ผ่านการวางแผนอย่างละเอียดถี่ถ้วน ฝ่ายทหารได้เลือกห้วงเวลาที่เหมาะสมแล้วจริงๆ เขาคิด นอกจากจะเลือกเวลาที่เหมาะสมแล้ว ยังกล้าที่จะเสี่ยงทำความผิดอันใหญ่หลวง โดยกลับไปเดินเส้นทางเก่าเมื่อ 73 ปีก่อน ในยุคศตวรรษที่ 21 อีกด้วย

คำบอกเล่าของทักษิณ
เกี่ยวกับข่าวนี้ในขณะนั้น บ้างก็ว่าไม่แน่ใจ บ้างก็ว่าแน่นอน ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะอยู่ที่กรุงนิวยอร์กแต่ก็พยายามควบคุมสถานการณ์ให้ได้มากที่สุด แต่ทว่ามันก็ได้สายไปแล้ว วันที่เกิดรัฐประหารขึ้นนั้น รัฐมนตรีหลายท่านก็ไม่ได้อยู่ในประเทศ หากผมอยู่ในประเทศ ผมเชื่อว่าพวกเขาจะไม่กล้าทำการเช่นนี้

ตอนที่ 4
ประเทศไทยมีกองทัพไว้ทำรัฐประหาร ไม่ได้มีไว้เพื่อทำสงคราม
มีบางคนกล่าวว่ากองทัพของไทยนั้นไม่ได้มีไว้ทำสงคราม แต่มีไว้ก่อรัฐประหาร พวกเขาไม่เหมือนนักรบที่คอยปกป้องดินแดนของประเทศ แต่กลับเหมือนผู้บุกรุกที่เอะอะก็ขับรถถังเข้ามาตามท้องถนน

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 ถึง พ.ศ. 2549 ประวัติศาสตร์การเมืองของไทยใน 73 ปีที่ผ่านมาก็คือ ประวัติศาสตร์ของการก่อรัฐประหาร. เวลา 5 ใน 6 ของรัฐบาลนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำที่เป็นทหาร หากไม่นับการรัฐประหารที่ไม่สำเร็จและผ่ายแพ้แล้ว การก่อรัฐประหารที่สำเร็จนั้นมีถึง 17 ครั้ง ความถี่ของการเกิดการรัฐประหารนับว่าอยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก

ย้อนเหตุการณ์ การปฏิวัติของคณะราษฎร์ 2475
วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ผู้มีความรู้ระดับสูงและนายทหารหนุ่มที่ได้จบการศึกษาจากประเทศตะวันตก ได้ฉวยโอกาสที่พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 พร้อมกับครอบครัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปพักผ่อนฤดูร้อนที่พระราชวังหัวหิน ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 195 กิโลเมตร ก่อการรัฐประหารขึ้นอย่างเงียบๆ ที่กรุงเทพฯ เพื่อโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์. เมื่อข่าวได้แพร่ออกไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ที่ทรงกำลังเล่นกอล์ฟอยู่ ก็ได้ทรงโยนไม้กอล์ฟทิ้งและรีบเสด็จฯ กลับมายังกรุงเทพฯเพื่อเจรจากับคณะปฏิวัติ แต่เมื่อพระองค์ทรงประจักษ์ว่าพระองค์ไม่สามารถต่อรองอะไรได้อีกในสถานการณ์เช่นนั้น พระองค์จึงจำต้องยอมถอยเพื่อรักษาตำแหน่งกษัตริย์เอาไว้ โดยยอมให้ตั้งระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข และในเดือนธันวาคมปีเดียวกันก็ได้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกขึ้น และเกิดการรัฐสภาสมัยแรกขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทยเป็นนักกฎหมาย ซึ่งมีภรรยาที่เคยเป็นนางกำนัลถวายงานในองค์สมเด็จพระราชินี

ในตอนนั้นหลายคนเข้าใจผิดไปว่าท่ามกลางการปฏิวัติครั้งใหญ่ เพื่อโค้นล้มอำนาจกษัตริย์อย่างพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินของไทยนั้น ทั้งสองฝ่ายต่างมีท่าทางที่สุภาพอ่อนโยน มีเหตุผลและหลักแหลม ด้วยวิธีการที่สันติอันมีค่า ซึ่งได้นำไปสู่บทสรุปที่สวยงามโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อแม้แต่หยดเดียว. แต่ข้อความในหนังสือซึ่งแต่งโดยพระญาติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ท่านหนึ่งในภายหลังได้กล่าวไว้ว่า ขณะนั้น องค์รัชกาลที่ 7 ทรงเศร้าโศกเสียใจด้วยความเจ็บแค้น จนถึงขนาดหมดหวังและได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า หากพวกกบฏยังคงบีบขั้นพระองค์อีก พระองค์จะทรงยิงพระชายาและจะทรงสังหารพระองค์เองตาม

ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่
ความไม่ไว้วางใจกันในช่วงแรกเกิดจากการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ผู้ร่างแผนดังกล่าวก็คือ นายปรีดี พนมยงค์, ดร.ที่ศึกษาด้านกฎหมายและการเศรษฐกิจการเมืองวัย 35 ปี หนึ่งในผู้นำในการก่อรัฐประหาร เขาเกิดในครอบครัวพ่อค้าชาวจีนที่ร่ำรวย เคยศึกษาที่ กรุงปารีส โดยหลังจากกลับประเทศได้ทำงานในกระทรวงยุติธรรม โดยการทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นและได้เลื่อนขั้นอย่างรวดเร็ว แต่ว่าในที่สุดข้าราชการวัยหนุ่มท่านนี้กลับได้ก่อตั้งกลุ่มลับจำนวน 50 คน โค่นล้มอำนาจในการปกครองประเทศของกษัตริย์ที่มีประวัติศาสตร์ 700 กว่าปี

นายปรีดี ได้เสนอในแผนพัฒนาเศรษฐกิจดังนี้
"ให้ถือว่าประชาชนทุกคนรวมถึงเกษตรกรเป็นข้าราชการ โดยใช้ระบบการให้เงินเดือนกับทุกคน" เพื่อแก้ไขปัญหาความเลื่อมล้ำของรายได้ และความไม่เป็นธรรมที่ผู้ซึ่งไม่ได้ทำงานแต่กลับได้รับค่าตอบแทน. ถึงแม้ว่าความคิดนี้จะเกิดขึ้นจากเจตนาที่ดี แต่ว่าค่อนข้างไร้เดียงสาและไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง จึงไม่ได้รับความเห็นชอบจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมีบางคนในหน่วยงานรัฐบาลได้ออกมาโจมตีโดยว่าเป็น การดำเนินตาม "แผนลัทธิคอมมิวนิสต์ของโซเวียด (รัสเซีย)" นายปรีดี จึงถูกบีบให้ออกจากประเทศ และพร้อมๆ กันนั้นก็เกิดการต่อสู้ระหว่างกลุ่มที่ต้องการฟื้นฟูอำนาจกษัตริย์กับกลุ่มที่ต่อต้าน

การสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7
เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้ตกเป็นตัวประกันของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ไปทรงซ่อนพระองค์ที่ภาคใต้ แต่เมื่อเริ่มเห็นว่ากลุ่มที่สนับสนุนกษัตริย์กำลังพ่ายแพ้ พระองค์จึงเสด็จฯ ไปอังกฤษด้วยเหตุผลว่าไปรักษาพระเนตร. ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม 2478 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ได้ประกาศสละราชสมบัติที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (พระเชษฐาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กษัตริย์องค์ปัจจุบัน) ผู้เป็นพระราชนัดดาในพระองค์ ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อมา ซึ่งขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนม์มายุเพียง 10 พรรษา หลังจากนั้น 10 ปี พระองค์ถึงเสด็จฯ กลับประเทศไทย เพื่อทรงปฏิบัติหน้าที่ในระบอบรัฐสภาที่มีกษัตริย์เป็นประมุข

อำนาจของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ในระหว่างนี้ อำนาจได้ตกอยู่ในมือของทหารที่มีปืนอยู่ในมือไปแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งขณะที่เกิดการรัฐประหารในปี 2475 นั้นมียศเป็นเป็นเพียงแค่พันตรี แต่ได้ปรากฎตัวเด่นออกมาในการต่อสู้ระหว่างฝ่ายกบฏกับฝ่ายที่ต้องการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ จนได้เป็นแม่ทัพทหารบก ต่อมาในปี 2482 จอมพล ป. ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เริ่มการปกครองโดยทหารซึ่งยาวนานถึง 15 ปี เขาได้ปราบกลุ่มอำนาจที่เป็นปรปักษ์อย่างไม่ไว้หน้าใคร โดยอ้างเหตุว่าเป็นภัยคุกคามต่อความความสงบปลอดภัยของประเทศและความมั่นคงของรัฐบาล โดยได้ตั้งศาลพิเศษขึ้น จับตัวศัตรูทางการเมืองที่ต่อต้านเขาขังคุกและสั่งประหารชีวิตถึง 18 คน สังคมต่างวิพากษ์วิจารณ์ในความเป็นเผด็จการของเขา แต่จอมพล ป. กลับแย้งว่า "ฆ่าแค่ 18 คน นับว่าเยอะหรือ ตอนปฏิวัติที่ฝรั่งเศสนั้น บรรดาหัวคนที่ถูกตัดใส่บนรถยังสามารถเรียงได้เป็นแถวๆ" (2)
(2) อำนาจการเมืองการปกครองในรูปแบบของเอเชียตะวันออก, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยปักกิ่ง, ปี 2545 หน้า 79

ในปี 2498 จอมพล ป. ได้ใช้เวลา 2 เดือนกว่าในการเยือนประเทศอังกฤษ, สหรัฐอเมริกา และสเปน ฯลฯ ได้พบกับผู้นำต่างๆ เช่น ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์, พระราชินีอลิซาเบธ, นายพล ฟรังโก และได้ฟังปาถกฐาที่สวนไฮด์ปาร์ค(Hyde Park) ซึ่งเป็นสวนในการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระในอังกฤษ ดูราวกับว่าเขาจะเข้าใจระบบประชาธิปไตยในประเทศตะวันตก พอกลับประเทศจึงได้มีคำสั่งให้จัดตั้งศาลากลางจังหวัด (Town Hall) แบบยุโรปและสหรัฐอเมริกาในกรุงเทพฯ และจังหวัดสำคัญต่างๆ ของไทย เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิออกมาแสดงความคิดเห็นต่างๆ ในที่แห่งนี้

ในพิธีมอบตำแหน่งแก่ทหารเรือ เขาได้กล่าวว่า "ในระบอบประชาธิปไตย ทหารไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง....เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นทหาร ข้าราชการพลเรือน หรือตำรวจก็ไม่ควรเข้ามามีส่วนในกิจกรรมทางการค้า ที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศและการดำเนินชีวิตของประชาชน. ในประเทศตะวันตกที่เป็นประชาธิปไตย การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งสมาชิสภาเข้าสู่รัฐสภา ไม่ใช่อาศัยกำลังของทหารหรือตำรวจ..กองทัพและตำรวจมีหน้าที่เพียงการปกป้องประเทศในยามจำเป็นเท่านั้น. เมื่อกล่าวถึงประเทศไทย พวกเราได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองเมื่อ 23 ปีที่แล้ว ในฐานะที่ผมเป็นหัวหน้ารัฐบาล ผมขอให้การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเป็นไปโดยไม่อาศัยอิทธิพลของทหารหรือตำรวจอีก เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ขัดต่อประชาธิปไตย" (3)
(3) เล่มเดียวกัน หน้า 81

แต่ทว่า เมื่อประชาชนออกมาแสดงว่าคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองและเรียกร้องประชาธิปไตยจริงๆ แล้ว นายพลผู้ที่รู้จักประชาธิปไตยแต่เพียงในหนังสือ ก็ได้ออกมาประกาศอย่างไม่ปราณีแม้แต่น้อยว่า "เพื่อความสงบของประเทศ รัฐบาลตัดสินใจว่าจะจับตัวคนที่เหยียบย่ำกฎหมาย ออกมาก่อความปั่นป่วนในสังคมโดยอ้างเหตุผลของประชาธิปไตย" (4)
(4) เล่มเดียวกัน หน้า 81

การเปลี่ยนแปลงราวกับละครเช่นนี้ ทำให้นักวิชาการสมัยหลังหลายท่านต่างถอนหายใจ แน่นอนว่าระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ของตะวันตกเป็นสิ่งที่ดี มันฝังรากอยู่ในลัทธิความหลากหลายทางสังคม, ระบบชนชั้น, ประชาสังคม, แนวความคิดต่อการปกครองโดยกฎหมาย, ประสบการณ์จากระบบตัวแทน, การแบ่งแยกระหว่างอำนาจทางการเมืองและศาสนา, รวมถึงการยึดถือต่อลัทธิปัจเจกบุคคล. ทั้งหมดทั้งหลายเหล่านี้ล้วนได้เริ่มปรากฏขึ้นในยุโรปตะวันตกเมื่อ 1 พันกว่าปีมาแล้ว และได้ผ่านการพัฒนาการเป็นพันปี กว่าจะตั้งรากฐานในสังคมตะวันตกได้ในที่สุด

แต่ว่า ในประเทศตะวันออกที่มีการปกครองด้วยระบบอัตตาธิปไตย ซึ่งมีค่านิยมสืบต่อมาหลายพันปีที่ว่าอำนาจของกษัตริย์นั้น "สูงเสียดฟ้า" ถึงแม้ว่าคนผู้ควรจะตะหนักถึงผลดีของระบอบประชาธิปไตย แต่ว่าในทางปฏิบัติก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงข้อจำกัดทางยุคสมัย สิ่งแวดล้อม และประวัติศาสตร์ได้ เพราะว่าประชาธิปไตยนั้นสุดท้ายแล้วก็คือ ผลผลิตทางวัฒนธรรมและการพัฒนาการทางวัฒนธรรม มิใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ภายในชั่วข้ามคืน

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารโค่นจอมพล ป.พิบูลสงคราม
หลังจากนั้น 2 ปี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ก่อการรัฐประหารขึ้นและบีบให้จอมพล ป. ออกจากประเทศ โดยให้เหตุผลว่าจอมพล ป. ทุจริตการเลือกตั้ง โดยเริ่มแรกจอมพลสฤษดิ์ไม่ได้ยกเลิกระบอบประชาธิปไตยในทันที แต่จัดการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ตามขั้นตอนระบอบประชาธิปไตย. หลังจากนั้น 1 ปี เขาก็ได้ก่อการรัฐประหารขึ้นเป็นครั้งที่สองโดยเขาได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะเห็นว่ารัฐประหารครั้งแรกไม่ได้กระตุ้นให้เกิดรูปแบบของอำนาจทางการเมือง

"หนังสือพิมพ์ยังคงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้เหมือนเดิม สมาพันธ์แรงงานหรือเจ้าของหน่วยงานองค์กรอื่นๆ ก็ประท้วงหยุดงานได้ ฯลฯ และสิ่งที่เกินจะอดกลั้นก็คือ สมาชิกรัฐสภาพยายามแย่งชิงอำนาจต้องการเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ หรือต้องการตำแหน่งนั้นนี้ พวกเขาขู่รัฐบาลว่าหากไม่แต่งตั้งพวกเขา พวกเขาก็จะถอนการสนับสนุนรัฐบาลและได้ทะยอยกันตั้งพรรคฝ่ายค้าน ดังนั้น พวกเราคิดว่าการจะแก้ไขปัญหาที่ประเทศกำลังประสบอยู่นี้ ต้องเปลี่ยนชื่อและเปลี่ยนแปลงการบริหารเสียใหม่" (5)
(5) เล่มเดียวกัน หน้า 88

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
จอมพลสฤษดิ์ได้ยกเลิกระบอบประชาธิปไตยต่างๆ ที่รับมาจากตะวันตกแบบขาดๆ แหว่งๆ กระจัดกระจาย ที่ปรากฎในรัฐบาลแต่ละสมัยหลังจากการเปลี่ยนมาใช้ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในปี 2475 โดยได้เสนอว่า "ต้องสร้างระบอบประชาธิปไตยที่เป็นของประเทศไทยเอง ซึ่งเหมาะกับลักษณะพิเศษของประเทศไทย" "ประชาธิปไตยแบบประเทศไทยควรต้องมีรากกำเนิดจากพื้นแผ่นดินของประเทศไทย พืชพันธุ์ที่เจริญเติบโตอย่างอุดมสมบูรณ์บนผืนดินที่ได้รับแสงอาทิตย์และน้ำฝนแห่งนี้ ผลของมันควรจะเป็นกล้วย มะม่วง เงาะ มังคุด และทุเรียน ไม่ใช่แอ็ปเปิ้ล องุ่น พลัม หรือเกาลัด" (6)
(6) เล่มเดียวกัน หน้า 89

หากกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม "ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย" ก่อนอื่นต้องให้ความสำคัญกับความมั่นคง อันดับรองลงมาคือการพัฒนา "ประเทศต้องการการพัฒนามากที่สุด ไม่ใช่ประชาธิปไตย" "เป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาคือ การยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน" บรรดานักการเมืองที่เห็นต่อเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตน "ย่อมจะไม่เห็นแก่ประชาชนอย่างแน่นอน มีแต่จะทำให้เกิดความวุ่นวาย ความแตกแยก และความอ่อนแอไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล"

จอมพลสฤษดิ์เห็นว่า การยอมรับและเทิดทูนอำนาจบารมีของผู้นำได้หยั่งรากลึกในวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย ซึ่งสิ่งนี้ต่างจากวัฒนธรรมตะวันตกที่เน้นอิสรภาพ ความเสมอภาคและสิทธิส่วนบุคคลโดยสิ้นเชิง ดังนั้น ระบอบที่ได้ผ่านการบ่มเพาะมาจากอารยธรรมตะวันตกย่อมจะไม่เหมาะกับสภาพความเป็นจริงของประเทศไทย

วัฒนธรรมขงจื้อของเอเชียตะวันออก: หน้าที่และคุณธรรม
หลายร้อยปีที่ผ่านมา ภายในเขตวัฒนธรรมขงจื้อของเอเชียตะวันออก ซึ่งรวมถึงประเทศไทย มีความทัศนคติด้านการปกครองบ้านเมืองซึ่งสืบทอดมายาวนานว่า "ประเทศมีกษัตริย์เป็นผู้นำสูงสุดฉันใด ในครอบครัวมีพ่อบ้านเป็นหัวหน้าครอบครัวสูงสุดฉันนั้น" "กษัตริย์ก็ต้องปฏิบัติตัวตามหน้าที่ของกษัตริย์ ขุนนางก็ต้องทำหน้าที่ของขุนนาง บิดาก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ของบิดา บุตรก็ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของบุตร" กษัตริย์และบิดาต้องปฏิบัติกับขุนนางและบุตรด้วย "ความเมตตา" ขุนนางและบุตรก็ต้องปฎิบัติตนต่อกษัตริย์และบิดาด้วย "ความจงรักภักดี" อำนาจของกษัตริย์กลายเป็นอำนาจของบิดาในขอบเขตที่กว้างขึ้น เพราะประเทศก็คือครอบครัวในขนาดขยาย กษัตริย์ก็ดูแลประเทศเหมือนดังที่ดูแลครอบครัว โดยใช้ความเมตตาและคุณธรรมสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับพสกนิกร

ในขณะเดียวกัน ขุนนางและประชาชนก็ควรรับใช้และเคารพอำนาจของผู้ปกครอง จอมพลสฤษดิ์กล่าวว่า ประชาชนไทยควรจะ "เห็นค่าของระบบพ่อปกครองลูกแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นประเพณีแต่โบราณของเรา...ผู้ปกครองไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นผู้นำครอบครัวขนาดใหญ่ของเราเอง ต้องถือว่าประชาชนทุกคนเป็นลูกของตนเอง ปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความเมตตากรุณา ต้องดูแลเอาใจใส่ความทุกข์ร้อนของประชาชนเหมือนดังที่ปฏิบัติกับลูกตนเอง" (7)
(7) เล่มเดียวกัน หน้า 90

ดังนั้น เกิดการรัฐประหารได้ไม่กี่วัน "ผู้นำครอบครัวซึ่งมีความเมตตา" ท่านนี้ก็ได้แสดง "แนวทางการปกครองด้วยความเมตตา" ของตนออกมา เขาได้ลดค่าไฟ ราคาสินค้าที่จำเป็นใช้สอยในชีวิตประจำวัน เช่น ถ่าน อาหาร น้ำตาล ฯลฯ และได้ส่งน้ำกินน้ำใช้ฟรีให้ทุกครัวเรือนครัวเรือน หลังละ 30 ถังต่อเดือน จัดตลาดนัดวันอาทิตย์ และจัดหาสินค้าราคาถูกให้กับประชาชน นอกจากนั้นยังใช้ทหารเรือส่งมะพร้าวล็อตใหญ่มาจำหน่ายในราคาทุน เพื่อกดราคาสินค้า. สำหรับพวก "เนื้อร้าย" ที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสังคม เช่น ยาเสพติด อิทธิพลมืด จอมพลสฤษดิ์ก็ได้ใช้ไม้แข็งในการปราบปราม พวกคดีวางเพลิงต้มตุ๋น เขาจะเดินทางไปยังที่เกิดเหตุด้วยตนเองและตัดสินโทษผู้ทำความผิดทันทีโดยไม่ผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งทำให้สั่นสะเทือนไปทั้งประเทศ 5 ปีหลังจากนั้น. ภายหลังจากที่จอมพลสฤษดิ์เสียชีวิตลง, จอมพล ถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นผู้ช่วยของเขาก็ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน

ใครก็สามารถก่อการปฏิวัติได้ แต่ทำเช่นใดให้ประชาชนยอมรับ
จอมพลสฤษดิ์มีคำกล่าวที่มีชื่อเสียงประโยคหนึ่งว่า "ใครก็สามารถก่อการปฏิวัติ (รัฐประหาร) ได้ ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อท่านปฎิวัติแล้วท่านจะทำเช่นใดให้ประชาชนยอมรับท่าน" ตั้งแต่ปี 2475 ถึงปี 2500 ที่จอมพลสฤษดิ์ก่อการรัฐประหาร ในช่วงเวลา 25 ปี ประเทศไทยได้ผ่านการรัฐประหารมาทั้งสิ้น 10 ครั้ง - เฉลี่ยแล้ว 2.5 ปี /ครั้ง มีการประกาศรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 6 ฉบับ จัดการเลือกตั้งแล้ว 9 ครั้ง มีนายกรัฐมนตรีแล้ว 8 คน มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีรวม 26 สมัย สถานการณ์การเมืองเหมือนลูกตุ้มนาฬิกา ไม่ตกอยู่ระหว่างการทะเลาะกันทางการเมือง ก็เกิดการรัฐประหาร. กองทัพที่เป็นอิสระจากรัฐบาลได้กลายเป็นชนชั้นพิเศษ ที่มีอำนาจทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ระบอบประชาธิปไตยของตะวันตกไม่เคยแตกหน่อออกผลในผืนแผ่นดินแห่งนี้ เกี่ยวกับเหตุผลข้างต้น ดร. ลิขิต ธีระเวคิน นักรัฐศาสตร์ของไทยมีคำอธิบายไว้อย่างเฉียบคมว่า

"ความพยายามในการก่อรัฐประหารในปี 2475 ไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ และได้ก่อตั้งระบอบประชาธิปไตยขึ้นโดยปราศจากสภาพแวดล้อมของวัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบตะวันตก กล่าวคือ ไม่มีระบอบและวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยมาสนับสนุน ดังนั้น ความพยายามของพวกปฏิวัติจึงไม่เกิดผล การเมืองของไทยก็ได้กลับไปสู่รูปแบบเก่าอีก ซึ่งก็คือการใช้กำลังในการแก้ไขปัญหา" (8)
(8) เล่มเดียวกัน หน้า 77

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กับการเมืองไทยในทศวรรษ 2520
ในประวัติศาสตร์ที่ทหารเข้ามาปกครองประเทศไทยนั้น ท่านที่สำคัญที่สุดท่านสุดท้ายคือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2523 ซึ่งก็คือบุคคลที่เมื่อสองสามเดือนก่อนได้สวมชุดทหาร ขอให้นักเรียนโรงเรียนนายทหารอย่ารับใช้เชื่อฟัง "นักการเมืองที่มาจาก การเลือกตั้ง" แต่ว่า พลเอกเปรมไม่ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งด้วยวิธีการรัฐประหาร หากแต่ได้รับเชิญจากนักการเมืองที่ไม่โดดเด่นบางคนให้ขึ้นมาบริหารประเทศ. พลเอกเปรมดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น เป็นนายทหารมืออาซีพอย่างแท้จริง ไม่มีพรรคไม่มีพวก แต่ว่าทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตจนเป็นที่นับถือของประชาชนทั่วไป

พรรคเสียงข้างมากในรัฐสภาซึ่งได้มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยได้รวบรวมชื่อและเสนอให้นายทหารผู้ที่ไม่เคยลงสมัครเลือกตั้งท่านนี้ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี. พลเอกเปรมได้บริหารประเทศนานถึง 8 ปี โดยระหว่างนั้นยังได้ควบดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกอยู่ 3 ปีกว่า นับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างยากยิ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ปกติรัฐบาลจะมีอายุเฉลี่ยไม่เกิน 1 ปี พลเอกเปรมได้เผชิญกับการรัฐประหารมาจำนวน 2 ครั้ง - พันธมิตรในกองทัพของเขาในอดีตบางส่วนไม่พอใจอย่างมาก ต่อการที่เขาครองตำแหน่งสูงสุดทั้งทางการเมืองและทหารไว้อย่างมั่นคงเป็นเวลานาน แต่ทว่า พลเอกเปรมก็สามารถเอาชนะกลุ่มที่ก่อการรัฐประหารทั้งสองครั้งได้

ในช่วงเวลาที่พลเอกเปรม บริหารประเทศนั้น ได้เกิดธรรมเนียมปฏิบัติอย่างหนึ่งของทหารและตำรวจ ซึ่งก็คือ เมื่อถึงวันเทศกาลสำคัญ เช่นวันปีใหม่ของตะวันตกหรือของไทยรวมถึงวันเกิดของพลเอกเปรม, หรือเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่สงบ บรรดาทหารและตำรวจชั้นผู้ใหญ่ต้องเดินทางมาทำเนียบรัฐบาล ร่วม"พิธีถวายสัตย์แสดงความจงรักภักดี" โดยความจริงแล้ว เพื่อต้องการแสดงให้สังคมได้เห็นว่ากองทัพสนับสนุนเขา. ในวันเกิดครบรอบอายุ 65 ปี ของพลเอกเปรม มีทหารและตำรวจชั้นผู้ใหญ่จำนวน 300 กว่านายได้แสดงความจงรักภักดีต่อเขาว่า "พวกเราทุกคนจะปฏิบัติตามคำชี้แนะและคำสั่งของท่านนายกรัฐมนตรี" พลเอกเปรมได้ตอบรับว่า

"ความสามัคคีของกองทัพและตำรวจเป็นเสาหลักสำคัญของประเทศเรา....ไม่ว่ามีปัญหาอะไร
ขอเพียงพวกเราสามารถรักษาความสามัคคีนี้ไว้ได้ พวกเราก็จะสามารถแก้ไขปัญหาที่ยากลำบากต่างๆ ที่เข้ามาได้ทั้งหมด" (9)
(9) เล่มเดียวกัน หน้า 95

พลเอกเปรมเป็นคนแข็ง ทำอะไรตามอำเภอใจ เคยยุบสภา 3 ครั้งโดยไม่ได้ปรึกษากับสมาชิกคณะรัฐมนตรีและผู้นำรัฐสภาคนใดเลย โดยให้เหตุผลว่า "เป็นอุปสรรคขัดขวางการบริหารบ้านเมือง". เกี่ยวกับด้านสื่อมวลชน พลเอกเปรมล้วนไม่เคยให้ความสนใจ ผู้สื่อข่าวนั้นยากที่จะได้ข่าวอะไรจากปากของเขา และพลเอกเปรมได้ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2531 โดยหลังจากนั้นได้ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาหมายเลขหนึ่งส่วนพระองค์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นประธานองคมนตรีจนถึงปัจจุบัน คนภายนอกเห็นว่าเขาเป็นเสมือนโฆษกส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คำพูดของเขาทุกครั้งมักล้วนแต่ถูกมองว่าเป็นพระราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

คำบอกเล่าของทักษิณ
หนึ่งในบรรดานายกรัฐมนตรีที่ได้ถูกขับให้ออกจากประเทศนั้น เขาทุกข์และเศร้าใจอย่างมากหลังจากลงจากตำแหน่ง เดิมทีเขาหวังว่าจะปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและระบบตุลาการของไทย แต่ผลสุดท้ายกลับโดนไล่ลงจากตำแหน่งและเสียชีวิตอยู่ที่กรุงปารีส(หมายถึง นายปรีดี พนมยงค์). ส่วนนายกรัฐมนตรีอีกคนที่ถูกเนรเทศนั้น ครั้งแรกได้ถูกทำเนียบองคมนตรีขับไล่ออกไป หลังจากลงจากตำแหน่งแล้ว เขาก็ไปทำสวนที่ต่างจังหวัด โดยภายหลังได้ถูกเชิญให้กลับมาบริหารประเทศอีกครั้ง และหลังจากนั้นก็ถูกขับไล่ลงจากตำแหน่งอีก โดยการรัฐประหารของฝ่ายทหารและสุดท้ายได้เสียชีวิตลงที่กรุงโตเกียว(หมายถึง จอมพล ป.พิบูลสงคราม). นอกจากนั้น ยังมีนายกรัฐมนตรีอีกคนหนึ่งที่ถูกขับลงจากตำแหน่ง เขาผู้นั้นเป็นผู้ซึ่งพยายามพัฒนาให้ประเทศมีความทันสมัย และขจัดความยากจนของประชาชน (หมายถึง พลเอกเปรม ติณสูรานนท์) ผมเชื่อว่าในประเด็นนี้ผมทำได้ดีกว่าเขา

ตอนที่ 5
อุปนิสัยของคนไทยภายใต้กรอบศาสนาพุทธ
หลายปีมานี้ นักการเมืองและทหารเหมือนกับโคมไฟม้าหมุน ท่ามกลางเวทีการเมืองที่สั่นคลอนไปมา ดีไม่ดีก็ยุบคณะรัฐมนตรี ดีไม่ดีก็ก่อรัฐประหาร แต่สิ่งที่ทำให้คนตะลึงมากที่สุดคือ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงธงหน้าประตูเมือง (ตัวผู้นำ) ชาวไทยก็มีท่าทีที่ยอมคล้อยตามและนิ่งเงียบเช่นที่ผ่านมาตลอด การรัฐประหาร การปฏิรูป ก่อความวุ่นวายและการปฏิวัติหลายครั้งในประวัติศาสตร์ ไม่มีครั้งไหนที่ประสบความพ่ายแพ้เพราะได้รับการต่อต้านจากประชาชน แม้แต่การประท้วงขนาดใหญ่ยังเกิดขึ้นน้อยครั้ง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กุมอำนาจของประเทศกับผู้ที่เสียภาษีซึ่งเป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริงคือ "เรื่องไม่เกี่ยวกับตนเอง ก็เฉยไว้ไม่ยุ่งเกี่ยวด้วย" ไม่สนใจว่าใครจะขึ้นใครจะลง ใครอยู่ใครไป ขอแค่เพียงไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ผู้คนก็สงบ ไม่สะทกสะท้านอะไร. นักวิชาการหลายท่านเห็นว่า ท่าทีที่เมินเฉย "เผชิญเรื่องที่ไม่ดีได้อย่างไม่สะทกสะท้าน" ของประชาชนทำให้ทหารสามารถผูกขาดสิทธิอำนาจมาได้ตลอด "อำนาจของทหารมาจากค่านิยมและความเชื่อ" (10) จุดกำเนิดของค่านิยมและความเชื่อนั้นก็มาจากศาสนาและวัฒนธรรม
(10) เล่มเดียวกัน หน้า 44

ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ถือว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ในจำนวนประชากร 63 ล้านคน ร้อยละ 95 นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท (หินยาน) ทั่วประเทศมีวัดจำนวน 32,000 กว่าแห่ง พระสงฆ์ 3 แสนกว่ารูป-โดยเฉลี่ยในจำนวนประชาชน 160 คนจะมีพระสงฆ์ 1 คน โดยในกลุ่มนี้หลายคนได้บวชและไม่สึกตลอดชีวิต ไม่ว่าในเมืองที่เต็มไปด้วยตึกที่ทันสมัย หรือในชนบทที่ห่างไกลออกไปก็สามารถเห็นวัดสีทองอร่าม และพระสงฆ์เดินตามท้องถนนทุกหนทุกแห่ง

สำหรับปัจจัยสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศและคุณภาพของประชาชนก็คือ การศึกษา ซึ่งในประวัติศาสตร์จะอยู่ในความรับผิดชอบจัดการของคณะสงฆ์มาเป็นเวลานาน คนไทยโดยปกติจะสำเร็จการศึกษาระดับประถมในวัด ปัจจุบันนี้ ถึงแม้งานด้านการศึกษาจะได้ส่งมอบให้รัฐบาลเป็นผู้ดูแล แต่โรงเรียนหลายโรงเรียนก็ยังคงอยู่ในวัดเช่นเดิม ศาสนาพุทธก็มีบทบาทควบคุมกระบวนการหล่อหลอมวัฒนธรรมของไทย และมีอิทธิพลอย่างสูงต่อค่านิยมด้านศักดิ์ศรีและความจงรักภักดี ความกตัญญู รวมถึงความเชื่อของชาวไทย

คนไทยคิดว่า "บุญ" เป็นโชคชะตาชนิดหนึ่ง เป็นผลที่ได้จากการทำบุญทำกุศลในชาติที่แล้ว การสั่งสมบุญมามากหรือน้อยจะกำหนดฐานะของเราในชาตินี้ ยิ่งเป็นคนที่มีบุญมาก ทรัพย์สมบัติก็ยิ่งมีมาก อำนาจก็จะยิ่งมาก หากสั่งสมบุญไม่พอ โชคชะตาในชาตินี้ก็จะไม่ดี ทำได้เพียงพยายามสร้างกุศลอย่างแข็งขัน เพื่อให้ชาติหน้าจะได้ความเป็นสิริมงคลตอบแทน

หนังสือเรื่อง Discourse on the Stages of Yogic Practice กล่าวว่า "สิ่งที่ทำแล้วจะไม่หายไป สิ่งที่ยังไม่ได้ทำย่อมไม่ได้มา" "หลายร้อยปีที่ผ่านมา ความถูกต้องของเรื่องใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวกับการได้มาซึ่งอำนาจและการถ่ายทอดอำนาจ ล้วนแต่อ้างถึงการสั่งสมบุญในชาติที่แล้วและเรื่องวีรบุรุษกลับชาติมาเกิด แม้กระทั่งการลุกฮือขึ้นมาของประชาชน ก็ยังใช้เหตุผลเหล่านี้เพื่ออ้างความถูกต้อง"

"บุคคลที่มีอำนาจจะอ้าง "การสั่งสมบุญ" ในการกล่าวว่าคนที่ยากจนและคนที่ไม่มีอำนาจในชาตินี้เป็นเพราะชาติที่แล้วไม่ได้สั่งสมบุญไว้ แต่คนที่ร่ำรวยและมีอำนาจก็เป็นเพราะได้สั่งสมบุญไว้ ดังนั้น ไม่ว่าปัจจุบันนี้จะเป็นคนรวยคนจน มีอำนาจไม่มีอำนาจ เป็นสิ่งที่โชคชะตาได้ลิขิตไว้แล้ว ทุกคนทำได้แต่ยอมรับโชคชะตา" (11)
(11) เล่มเดียวกัน หน้า 25

ยอมรับสิ่งที่ทำไปในชาติที่แล้ว พยายามแก้ไขทำเพิ่มเติมในชาตินี้ และคาดหวังในชาติหน้า ระบบความเชื่อและค่านิยมที่สอดแทรกในพุทธศาสนาแบบนี้ได้สะท้อนออกมาในวัฒนธรรมการเมืองซึ่งก็คือ "การยอมรับและทำตาม" อำนาจทางการเมืองเป็นไปเพื่อประโยชน์ของมวลชนโดยสวรรค์ได้กำหนดไว้แล้ว ประชาชนทำได้แค่เพียงยอมรับกับสภาพในปัจจุบันและโชคชะตาของตน อิจฉาผู้ที่มีอำนาจและร่ำรวย ปฏิบัติตามเครื่องจักรที่ควบคุมประเทศและบุคคลที่กุมอำนาจการปกครองประเทศอย่างไม่มีเงื่อนไข ผู้ครองอำนาจสามารถหาเหตุผลอ้างอิงอันทรงคุณธรรมที่สวยงามที่สุดจากแนวความคิดทางพุทธศาสนาไว้ได้แล้ว

ลักษณะพิเศษของการรัฐประหารของไทย คือ ไม่เสียเลือดเนื้อ และก็เกี่ยวพันกับความเชื่อในพระพุทธศาสนา มีชาวตะวันตกหลายคนเห็นว่าศาสนาพุทธเป็นอภิปรัชญาที่ไม่เกินความพอดี เป็นรูปแบบการดำเนินชีวิตที่สันติ เป็นธรรมชาติ เและอ่อนโยน เพราะว่าศาสนาพุทธห้ามไม่ให้ฆ่าสัตว์ "การฆ่าสัตว์"เป็นศีลข้อแรกในศีลห้าข้อของศาสนาพุทธ ถือเป็นกรรมที่รุนแรงที่สุด และผลกรรมก็น่ากลัวที่สุดด้วย ในพระไตรปิฎกได้บันทึกไว้ว่า ผลกรรมอย่างบาปมหันต์

ในขั้นที่ 1 คือ การฆ่าสัตว์จะต้องตกนรกหลายร้อยล้านปี และต้องทนทุกข์ทรมานอย่างสุดทน ผลกรรม
ในขั้นที่ 2 คือ ขณะมีชีวิตอยู่ชอบฆ่าสัตว์อยู่เป็นนิจ ก็จะทำให้อายุสั้นและมีโรคภัยไข้เจ็บมารุมเร้ามากมาย
ในขั้นที่ 3 ขณะมีชีวิตอยู่ก็ต้องอยู่ในสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย

การฆ่าสัตว์ก่อให้เกิดผลกรรมหนักขนาดนี้ การฆ่าคนยิ่งไม่ต้องพูดถึง ดังนั้น ถึงแม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะสั่นคลอนเปลี่ยนแปลงไปมา การต่อสู้ทางการเมืองจะโหดร้ายปราศจากความปราณี รัศมีของการให้อภัยด้วยความโอบอ้อมอารีของพระพุทธศาสนาได้ส่งผลต่อค่านิยมของผู้คน ดังนั้นเหตุการณ์การสังหารผู้สูญเสียอำนาจทางการเมืองนั้นปรากฎให้เห็นน้อยมาก การก่อรัฐประหารที่ผ่านๆ มาก็แทบจะไม่ปรากฎเหตุการณ์หลั่งเลือดขึ้น

นอกจากนั้นแล้ว ประชาชนก็รู้สึกเบื่อหน่ายต่อการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตนของนักการเมืองมาตั้งนานแล้ว นาย Sang-sa-ka-di (นายสังคีต--ผู้แปล) นักวิชาการของไทยได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง "รัฐบาลและการเมืองไทย" ว่า "คนไทยถือว่าการเมืองเป็นสรรพนามแทนคำว่า เลวร้าย เสื่อมโทรม วุ่นวาย มองนักการเมืองว่าเป็นผู้กระหายใจอำนาจ ใช้อำนาจหน้าที่ตามอำเภอใจ แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว ชอบโต้เถียงและทะเลาะ ไม่มีใครมีประสิทธิภาพ" นอกจากนั้น ดร.ลิขิต ได้กล่าวในหนังสือเรื่อง" ประวัติศาสตร์การเมืองไทย"ที่ได้ตีพิมพ์เมื่อปี 2542 ว่า

"ประชาธิปไตยของไทยได้เดินทางมาถึงทางตันแล้ว เนื่องจากระบอบนี้ไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่า สามารถนำประโยชน์มาสู่คนส่วนใหญ่ได้ ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่ประชาชนเห็นกลับเป็นเพียงการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจระหว่างนักการเมือง หลอกลวงกันไปมา ทำให้ประชาชนรู้สึกเอือมระอาอย่างที่สุด ได้ปรากฎเค้าลางแสดงให้เห็นแล้วว่าระบอบที่แลกมาด้วยเลือดและชีวิตของวีรบุรุษนั้นอาจจะตกอยู่ในความวุ่นวายซึ่งไม่มีที่สิ้นสุด คำถามที่ว่า "ระบอบนี้จะสามารถใช้ได้ในประเทศไทยหรือไม่" ได้ก่อเกิดขึ้นในใจของหลายคนแล้ว สิ่งนี้เป็นที่ควรต้องตั้งคำถามอย่างจริงจัง และก็ควรหาคำตอบอย่างจริงจังด้วย" (12)
(12) เล่มเดียวกัน หน้า 173

ตอนที่ 6
เหตุการณ์พฤษภา บนถนนราชดำเนิน
การรัฐประหารครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ไทยเกิดขึ้นเมื่อ 15 ปีที่แล้ว หลังจากที่พลเอกเปรมได้ลาออก ประเทศไทยจึงได้มีนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนและมาจากการเลือกตั้ง คนแรกในช่วง 12 ปี ซึ่งก็คือ พลเอกชาติชาย ชุญหะวัน เขาเป็นนักปฏิรูป นอกจากการปฏิรูปนโยบายทางเศรษฐกิจและการทูตแล้ว ยังพยายามนำอำนาจที่อยู่ในมือทหารและข้าราชการมาโดยตลอดมาให้แก่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเท่ากับเป็นการขุดหลุมฝังตนเอง

ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ขณะที่สายตาจากรอบโลกต่างจับจ้องอยู่ที่ไฟอันลุกโชนจากสงครามอ่าวเปอร์เซีย พลเอกชาติชายกลับถูกฝ่ายทหารจับตัวอย่างเงียบๆ ที่สนามบินกรุงเทพฯ เหตุผลการก่อรัฐประหารก็เหมือนกับรัฐประหารครั้งที่ผ่านๆ มา คือ "ความฟอนเฟะได้แพร่กระจาย" ผู้นำการก่อรัฐประหารได้กล่าวหาว่า พลเอกชาติชาย เป็น "นายกรัฐมนตรีที่เหลวแหลกมากที่สุดในประวัติศาสตร์" ถึงแม้ว่าก่อนหน้านั้นไม่นาน นายกรัฐมนตรีท่านนี้ได้ชื่อว่าเป็น "ผู้สร้างปฏิหาริย์แก่เศรษฐกิจไทย" ฝ่ายทหารในฐานะที่มีไพ่เหนือกว่าทั้งหมดไว้ในมือ ไม่ได้ยิงปืนแม้แต่นัดเดียว จะมีก็แต่เพียงลงประโยคสั้นๆในสื่อความว่า "คณะมนตรีความมั่นคงซึ่งประกอบด้วยพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการสูงสุด และผู้บัญชาการของทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศ รวมถึงอธิบดีกรมตำรวจประกาศสืบทอดอำนาจการบริหารประเทศ โดยรัฐบาลพลเรือนซึ่งนำโดยพลเอกชาติชาย อดีตนายกรัฐมนตรีได้ถูกโค่นล้มแล้ว"

แต่ทว่า สองสามเดือนหลังจากนั้น ประชาชนชาวไทยที่เผชิญเรื่องร้ายอย่างไม่สะทกสะท้านมาตลอดก็ได้ลุกขึ้นมาประท้วง แต่มิใช่เพราะว่าพวกเขาตื่นตัวไว แต่เป็นเพราะว่าเหล่าทหารที่มือไม้ว่องไวแต่คิดอะไรแบบง่ายเหล่านี้ มองข้ามกระแสประชาธิปไตยที่กำลังเติบโตอยู่ในโลกขณะนั้น โดยฟื้นฟูวัฒนธรรมการรัฐประหารขึ้นในประเทศประชาธิปไตย ที่ดำเนินระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมาเป็นเวลาครึ่งศตวรรษกว่า (หลายคนเห็นว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบ"ประชาธิปไตยครึ่งใบ") ด้วยความฮึกเหิมในทศวรรษสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ 20 พวกเขาผิดสัญญาที่ให้แก่ประชาชน

หลังจากก่อรัฐประหารแล้ว นอกจากจะไม่ยอมฟื้นฟูระบอบการปกครองแบบเดิมและไม่สร้างอำนาจรัฐธรรมนูญตามความประสงค์ของประชาชนแล้ว กลับยังแทรกตัวแทนฝ่ายทหารเข้าไปในรัฐบาลอย่างรวดเร็วอีกด้วย ซึ่งบุคคลผู้นั้นก็คือ พลเอกสุจินดา โดยให้เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งยังแก้ไขกฎหมายทำให้ข้าราชการและทหารได้รับอำนาจอันมหาศาล เมื่อเดือนเมษายน 2535 พลเอกสุจินดาแพ้การเลือกตั้ง แต่กลับฮึกเหิมแต่งตั้งตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งสร้างความโกรธแค้นให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก จนมีประชาชนออกมาเดินขบวนประท้วงกันมากขึ้นทุกวัน

ครึ่งเดือนให้หลัง ประชาชนที่ออกมาเดินประท้วงมีจำนวนเกินหนึ่งแสนคน ต่อมาในเช้าตรู่ของวันที่ 18 พฤษภาคม กองทัพได้ก็เคลื่อนรถถังเข้ามาในเขตกรุงเทพมหานคร และได้ประกาศกฎอัยการศึกขึ้นทั่วพื้นที่เมือง ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมคนเกิน 10 คน ผู้นำขบวนประท้วงถูกจับ กลุ่มผู้ประท้วงถูกกล่าวหาว่าเป็น "พรรคคอมมิวนิสต์". เมื่อหนึ่งร้อยปีที่แล้ว ท่ามกลางการกระทำอันรุนแรงที่ เกี่ยวกับการใช้กำลังปราบปรามในแทบทุกประเทศในโลกนั้น มักจะมีฝ่ายซึ่งโชคร้ายที่ถูกขนานนามว่าเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ หากว่ามาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ไม่ทราบว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร

กรุงเทพฯ โชยไปด้วยกลิ่นคาวของเลือดติดต่อกันนาน 3 วัน ทหารได้ยิงบรรดาผู้ประท้วงบรรดาหน่วยแพทย์บางคนที่รีบเข้ามาช่วยผู้บาดเจ็บก็โดนลูกหลงเสียชีวิตลงด้วย แม้กระทั่งนักข่าวต่างชาติที่หลบอยู่หลังต้นไม้ที่เก็บภาพเหตุการณ์คนหนึ่งก็หลบลูกปืนไม่พ้น จากการรายงานขององค์การสิทธิมนุษยชนระบุว่า เหตุการณ์รุนแรงนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 52 คน หายสาบสูญไป 200 กว่าคน และบาดเจ็บอีก 600 กว่าคน ในช่วงเวลาสำคัญเช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ซึ่งทรงไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองก็ได้ทรงปรากฏพระวรกาย

กษัตริย์ผู้มีพระนามว่า พระรามาธิบดีองค์ที่ 9
กษัตริย์ผู้มีพระนามว่า พระรามาธิบดีองค์ที่ 9 พระองค์นี้ทรงมีฐานะดั่ง "สมมุติเทพ" ในดวงใจของผู้คนทั้งประเทศ ทรงเป็นดังหลักศิลาที่ตั้งอยู่อย่างมั่นคงในท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและพลิกผันตลอดเวลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งให้พลเอกสุจินดา คราประยูร และพลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้นำฝ่ายที่ประท้วง (ซึ่งเป็นผู้นำ "พันธมิตรเพื่อประชาชน" ที่ต่อต้านรัฐบาลของทักษิณในครั้งนี้) เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับฟังพระบรมราชโอวาท โดยได้ให้โทรทัศน์ถ่ายทอดสดตลอดการเข้าเฝ้าฯ

ด้วยเหตุฉะนี้ ประชาชนทั้งประเทศจึงได้เห็นภาพที่ระทึกใจทางหน้าจอโทรทัศน์ กล่าวคือ ภาพของนายทหารผู้ที่ใช้ลูกปืนกราดใส่ฝ่ายค้านได้อย่างไม่เสียดาย และนักสู้ที่ต่อสู้โดยไม่คิดชีวิต ซึ่ง ณ นาทีนั้น ทั้งสองได้ก้มลงกราบแทบพระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยความเคารพเทิดทูน "ปัญหาได้เกิดขึ้นแล้ว การนองเลือด เมื่อคนเราได้กระทำการรุนแรงขึ้น ผลที่ออกมาจึงยากที่จะควบคุมได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายของประเทศ มีอะไรน่าภูมิใจหรือ? ดังนั้นจึงได้เชิญพวกท่านมา ไม่ใช่ให้มาเผชิญหน้ากัน แต่ให้มาพูดจากัน"

พระราชดำรัสที่กล่าวเตือนอย่างตรงไปตรงมา พระจริยวัตรอันเลิศล้ำ และเปี่ยมด้วยคุณธรรมสูงส่ง ตลอดจนพระเดชบุญญาบารมี ทั้งสองคนคุกเข่านิ่งเป็นเวลานานเบื้องหน้าพระพักตร์ของ "องค์พระผู้ทรงธรรม". ฉากสุดท้ายซึ่งนายทหารไทยถอยออกจากเวทีการเมือง ได้เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศอันน่าตื่นตะลึงที่ยากจะลืมเลือนได้ และด้วยน้ำพระทัยที่หาที่เปรียบมิได้ในครั้งนั้น พลเอกสุจินดาประกาศลาออกด้วยตนเอง การเลือกตั้งจึงถูกจัดขึ้นใหม่อีกครั้ง

จนถึง ณ ปัจจุบัน ฝ่ายทหารได้ใช้เวลาถึง 15 ปีในการจำศีลอย่างว่านอนสอนง่าย ทำให้คนคิดเดาไปว่ายุคสมัยของการรัฐประหารได้สิ้นสุดแล้ว แต่ทว่า ในความเป็นจริงพวกเขาได้ใช้กระบองตีหัวผู้คนที่มีความฝันอันสวยงามในระบอบประชาธิปไตยไปเรียบร้อยแล้ว

คำบอกเล่าของทักษิณ
สังคมโลกล้วนเห็นว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งปกติธรรมดาในประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยในประเทศนี้มีปัญหามากเพียงใด ในวันนี้พวกเราไม่ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ตัดขาดจากโลกภายนอกเช่นในอดีตแล้ว ศตวรรษที่ 21เป็นศตวรรษแห่งความเชื่อมโยง เมื่อเกิดเรื่องอะไรขึ้นในประเทศหนึ่ง ก็จะส่งผลต่อไปอีกประเทศหนึ่งในทันที เช่น วิกฤตการณ์ทางการเงินของไทย เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้นก็ย่อมทำลายผลประโยชน์ของชาติอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมทั้งทำให้ความเชื่อมั่นที่สังคมโลกมีต่อประเทศไทยนั้นสั่นคลอน เมื่อสังคมโลกสูญเสียความไว้วางใจและเชื่อมั่นต่อคุณแล้ว เศรษฐกิจระบบทุนนิยมก็ไม่มีวันประสบความสำเร็จได้ในประเทศไทย

สนใจคลิกไปอ่านต่อบทที่ ๓

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 




1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73