บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
Theory
and the Body
Midnight University
ความสัมพันธ์ของร่างกายกับกระบวนการทางสังคม-วัฒนธรรม
บทบรรยายเชิงทดสอบเกี่ยวกับแนวคิดทฤษฎีร่างกาย
(ตอน
๑)
ศิริลักษณ์ คชนิล : เขียน
นักศึกษา ป.โท หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แนวคิดทฤษฎีร่างกายเชิงทดสอบ
"ร่างกาย" เป็นสิ่งที่มนุษย์เราให้ความสำคัญมาแต่โบราณ เป็นสสารทางชีววิทยาที่มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ
แต่ร่างกายมนุษย์เป็นมากกว่าสสาร อาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่เราเรียกว่าร่างกายมนุษย์
ถูกกำหนดและควบคุมโดยเครือข่ายของการสื่อสารที่อยู่ภายในและนอกเหนือเรื่องชีววิทยา
แต่เพราะการดำรงชีวิตอยู่ของคนจำเป็นต้องใช้ส่วนประกอบต่างๆ ที่รวมกันเป็นร่างกายมากกว่าสิ่งแวดล้อมภายนอกอื่นๆ
ด้วยเหตุแห่งการเอาชีวิตรอดทำให้ร่างกายถูกใช้ไปในหลากหลายทิศทาง และการที่คนเรามีอำนาจเหนือร่างกายที่ตนเป็นอยู่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้บุคคลนั้นๆ
มีความภาคภูมิใจ ที่สามารถบงการร่างกายนั้นตามความต้องการของตนได้
ร่างกายกับกระบวนการทางสังคมและวัฒนธรรม
David Michael Levin และ George F. Solomon (1990 : 515 - 537) ได้กล่าวว่า ร่างกายมนุษย์เป็นกระบวนการทางสังคมและวัฒนธรรม
กระบวนการทางสังคมนี้จะมีการสื่อสารกับมิติทางธรรมชาติของร่างกาย มีการกำหนดความหมายและเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติของร่างกาย
มนุษย์เป็นสัตว์สังคมนับตั้งแต่ที่ถือกำเนิดขึ้นบนโลก ด้วยเหตุนี้ ร่างกายของมนุษย์จึงถูกกำหนดโดยชีววิทยาและถูกจัดระเบียบด้วยการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินว่าร่างกายทางธรรมชาติ และร่างกายทางสังคมมีขอบเขตแค่ไหน
เพราะขอบเขตของร่างกายมีความเปลี่ยนแปลง ไหลลื่นตลอดเวลา ความหมายและภาพลักษณ์ของร่างกายจึงมีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง
( นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, 2550 : ออนไลน์ )
อย่างไรก็ตาม ร่างกายยังมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ดังที่ Anthony Synnott ได้กล่าวถึง ร่างกาย(The Body) ในเชิงชีววิทยา รวมทั้งอวัยวะที่สำคัญ คุณลักษณะ หน้าที่ สภาพ และประสาทสัมผัสการรับรู้ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงสิ่งที่ได้มาจากธรรมชาติ แต่ยังได้มาจากการสร้างสรรค์ทางสังคมที่มีความซับซ้อนและหลากหลาย การที่คนเราคิดเกี่ยวกับร่างกายของเรา ส่วนต่างๆ ของร่างกาย หน้าที่ของส่วนต่างๆ ของร่างกาย และรูปร่างที่คนเราทำให้เป็นเช่นนั้น สิ่งเหล่านี้คือ สิ่งที่หรือพื้นที่ที่วัฒนธรรมเข้ามามีส่วนร่วม เกี่ยวพันและทับซ้อน (intersect) กับร่างกายของเรา ( David Bell, p.139) และไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปเท่าใด ร่างกายของคนเราก็ถูกจัดให้อยู่ภายใต้กรอบหรือกฎเกณฑ์ของสังคมในยุคนั้นๆ ที่สามารถทำให้เราซึมซับเข้ามาในการใช้ชีวิตได้อย่างแนบเนียน
ร่างกาย : บทบาทเพศ และความสำคัญระหว่างเพศ
ในตำนานสร้างโลกในวรรณคดีสันสกฤต ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อพระพรหมสร้าง "บุรุษ"
ขึ้นแล้ว ก็เห็นว่าโลกของพระองค์ออกจะกระด้าง ขาดความอ่อนโยน จึงคิดจะสร้างความอ่อนโยนให้แก่โลก
จึงทรงนำสิ่งอันน่าพิศวง (1) มาระคนปะปนกัน และสร้างเป็นมนุษย์เพื่อให้โลกคลายจากความกระด้าง
และมีความอ่อนโยน (โดยเหตุนี้)ผู้หญิงจึงบังเกิดขึ้น (นายตำรา ณ เมืองใต้, บำรุง
กลัดเจริญ)
(1) สิ่งอันน่าพิศวง ดังกล่าว
คือ
หยิบเอาความกลมกลืนแห่งดวงจันทร์ ความคดเคี้ยวแห่งเขาไม้เลื้อย
ความเกาะเกี่ยวแห่งเถาวัลย์ ความหวั่นไหวแห่งยอดหญ้า
ความอ้อนแอ้นแห่งใบอ้อ ความยียวนแห่งดอกไม้
ความเบาแห่งใบไม้ ความคมแห่งตาเนื้อ
ความแจ่มใสแห่งดวงตะวัน น้ำตาแห่งหมอก
ความไม่แน่นอนแห่งพระพาย ความใจเสาะแห่งกระต่าย
ความโอ่แห่งนกยูง ความนุ่มนวลแห่งขนอ่อนของวิหค
ความแข็งแห่งเพชร ความหวานแห่งน้ำผึ้ง
ความดุร้ายแห่งพยัคฆ์ ความอบอุ่นแห่งไฟ
ความเย็นแห่งหิมะ ความพูดมากแห่งนกกระจอก
ความครวญครางแห่งนกเขา พิษงู
ในตำนานอีกซีกโลกหนึ่ง(ในพระคัมภีร์ไบเบิล)ที่เชื่อว่าร่างกายของมนุษย์เรา เมื่อถือกำเนิดบนโลกได้ถูกแบ่งเป็นสองเพศตามตำนานมนุษย์คู่แรก นั่นคือ อดัมและอีฟ ( Adam and Eve ) ที่ได้ยึดถือว่าเป็นมนุษย์เพศชายและเพศหญิงคู่แรกของโลก หลังจากนั้นก็มีมนุษย์ทั้งเพศชายและหญิงได้ถือกำเนิดต่อๆ กันมา จากมนุษย์คู่แรกตามพื้นที่ต่างๆ บนโลก แต่มีความเป็นอยู่ต่างกัน เนื่องจากชาติกำเนิดในสังคมที่ต่างกัน ความเชื่อถือในวัฒนธรรมที่ต่างกัน
ตามความเชื่อจากตำนานไม่ว่าจะทวีปใด สังคมใดก็ตาม เมื่อได้แบ่งมนุษย์เราออกเป็นสองเพศ โดยแยกจากกันชัดเจนเชิงวัฒนธรรมแล้ว ทำให้บทบาทเพศ และ ความสัมพันธ์ระหว่างเพศ มักถูกกำหนดและมีการควบคุมโดยบรรทัดฐานและค่านิยมของสังคม ทั้งนี้เพราะเมื่อสังคมกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบให้แต่ละเพศแล้ว ย่อมเป็นที่รู้กันดีว่าความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิงควรเป็นไปในรูปแบบใด ซึ่งเป็นไปตามความคาดหวังของสังคมที่มีต่อการกำหนดบทบาทนั้นๆ แต่เท่าที่ปรากฏในเกือบทุกสังคมทั่วโลกพบว่า สตรีมักถูกกำหนดให้มีฐานะด้อยกว่าชายเสมอ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพศยากที่จะมีความเสมอภาคกัน (ภัสสร ลิมานนท์, 2544 : 6 )
Michelle Zimbalist Rosaldo (1974) ได้กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างบทบาทเพศว่า ได้ถูกกำหนดขึ้นจากพื้นฐานทางธรรมชาติด้านสรีระวิทยาหรือชีวภาพ (Sex) กล่าวคือ โครงสร้างของเพศชายโดยทั่วไป เช่น กระดูก กล้ามเนื้อ แข็งแกร่งกว่าของเพศหญิงในขณะที่สภาพร่างกายของสตรีอ่อนแอกว่าและผูกพันกับธรรมชาติมากกว่า เช่น การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ เลี้ยงบุตรด้วยนม เป็นต้น จากความแตกต่างด้านสรีระที่ธรรมชาติกำหนดมาเป็นพื้นฐานนี้เอง ทำให้สังคมต้องจัดสรร แบ่งบทบาท กำหนดความรับผิดชอบที่สมมติขึ้นและยอมรับกันว่าเหมาะสมกับสรีระของมนุษย์แต่ละเพศ รวมทั้งสังคมเองก็คาดหวังให้แต่ละเพศประพฤติปฏิบัติตนตามแบบแผนที่สมาชิกสังคมสร้างขึ้น
โดยกำหนดว่ากิริยามารยาทแบบใด หรือการงานความรับผิดชอบประเภทไหนที่สตรีควรทำหรือชายควรทำ เช่น การออกศึกสงคราม ล่าสัตว์ ทำอาวุธ การปกครอง การทำพิธีกรรมทางศาสนา และกิจกรรมนอกบ้านอื่นๆ ควรตกเป็นหน้าที่ของชาย เพราะมีความคล่องตัวกว่า แข็งแรงกว่า ในทางตรงกันข้ามที่สตรีต้องมีหน้าที่ดูแลบ้าน เตรียมอาหาร อบรมเลี้ยงดูบุตรอยู่ภายในบ้าน นอกจากนี้ในหลายๆ สังคมมีข้อห้ามมิให้สตรีมีบทบาททางสังคมหรือทางศาสนาที่สำคัญ ก็เพราะข้อจำกัดด้านร่างกายของสตรีนั่นเอง อีกทั้งยังมีความเชื่อที่สืบต่อกันมาว่า สตรีไม่สามารถทำงานหนักเท่าชายได้ เพราะสภาพทางกายภาพด้อยกว่า กิจกรรมหลายประเภทที่ชายเป็นผู้ปฏิบัติ ได้สร้างความเข้าใจและความชอบธรรมจนเป็นที่ยอมรับว่าชายเป็นตัวแทนของมนุษยชาติ เพราะชายเป็นผู้สร้างสรรค์ถาวรวัตถุ และวัฒนธรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้กับสังคม
Kunzle (1982) กล่าวว่า ความแตกต่างทางเพศได้กลายมาเป็นตัวการสำคัญ ในการสร้างความไม่สมดุลย์ทางอำนาจในสังคม ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงรูปกายภายนอก ผู้ชายเริ่มแต่งตัวตามสบายในขณะที่ผู้หญิงยิ่งทวีความสนใจในการปรับเปลี่ยนร่างกายของตนเองให้สวยงาม (โกสุม โอมพรนุวัฒน์, 2545 : ออนไลน์)
ชาย-หญิง และความไม่เท่าเทียมในพุทธศาสนา
ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศชายและหญิง ลุกลามไปถึงในเรื่องของพุทธศาสนา ที่อบรมสั่งสอนให้คนเรามีการปล่อยวาง
แต่กลับมีการกีดกันและกดขี่ทางเพศ ตัวอย่างเช่น Sallie Jiko Tisdale (2002) ที่ทำการปฏิบัติเซนในสายโซโต
ได้รู้จักพระและฆราวาสทั้งหญิงชาย ซึ่งผู้ชายและผู้หญิงมีตำแหน่งเท่าเทียมกัน
ผู้หญิงและผู้ชายรับตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติทางเพศ และจากการที่ได้ปฏิบัติด้วยตนเองทำให้ทราบว่า
ความเท่าเทียมกันเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดาในพุทธศาสนา พุทธศาสนาสายเถรวาทถือว่าผู้หญิงต่ำต้อยกว่ากว่าผู้ชายตลอดกาลไม่ว่าจะมีอาวุโสกว่าหรือไม่ก็ตาม
นิกายเซนสายชินกอนและรินไซ ไม่มีผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งสูงสุด พุทธศาสนาสายธิเบตให้ความสำคัญกับคุณลักษณะความเป็นหญิง
แต่กีดกันไม่ให้สามเณรีได้รับตำแหน่งสำคัญๆ
ในคัมภีร์ในพุทธศาสนานั้น ย่อมได้รับอิทธิพลจากบุคคลและวัฒนธรรม เหตุผลหลักๆ ในการกดขี่ผู้หญิงที่ใช้กันทั่วไปก็คือ ผู้หญิงเป็นอุปสรรคของการปฏิบัติธรรมของผู้ชาย การกดขี่ทางเพศในพุทธศาสนานั้น จริงๆ แล้ว เป็นการทำให้เราตกอยู่ในบ่วงกรรมมากขึ้น การปฏิบัติต่อผู้ชายและผู้หญิงอย่างไม่เท่าเทียมกัน ก็เท่ากับเป็นการยึดมั่นในเพศสภาวะ ซึ่งตรงข้ามกับคำสอนในพุทธศาสนา เราไม่สามารถดำรงอยู่ทั้งในรูปและความว่าง ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ความจริงที่เกิดขึ้นก็คือ การกดขี่ทางเพศนี้เป็นปัญหาหนักของผู้หญิงส่วนใหญ่ในพุทธศาสนา แต่ถ้ามองข้ามปัจจัยของเพศสภาวะที่เป็นกรรมที่ก่อให้เกิดร่างกาย ซึ่งร่างกายก่อให้เกิดชีวิต และอีกปัจจัยนั่นคือการมีอคติบนพื้นฐานในเรื่องทางเพศ ด้วยปัจจัยทั้งสองทำให้เกิดแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมกันเป็นผลตามมา (อาทิตยา, 2547 : 18 - 20)
บทบาทเปิดและปิดของเพศวิถีที่ต่างกัน
บทบาทเพศที่กำหนดในสังคมส่วนใหญ่ มักอยู่ในลักษณะที่ตรงกันข้ามเสมอ ในเรื่องเพศ
และเพศวิถีนั้น มีแง่มุมของความแตกต่างที่มีรากฐานมาจากการโยงความเชื่อ ความหมาย
และตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม ไม่ว่าประเด็นในเรื่องความงามที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐาน
และลักษณะของร่างกายในอุดมคติของผู้หญิง ความรักโรแมนติก และความสัมพันธ์ชายหญิง
ความเป็นแม่ และการยุติการตั้งครรภ์ (ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2547: 69) ล้วนแล้วแต่การนำมาซึ่งตัวอย่างบทบาทของเพศหญิงที่ถูก"ปิด"
นั่นคือ ไม่มีการติดต่อภายนอก ถูกควบคุมและกวดขันในเรื่องของกิจกรรมที่ดำเนินอยู่ภายในบ้าน
เช่น ให้กำเนิด เลี้ยงดูบุตร และทำงานบ้าน
แต่ เพศชายกลับมีบทบาทในลักษณะเปิด เป็นอิสระ สามารถติดต่อกับสังคมภายนอกได้มากกว่า สามารถทำกิจกรรมภายนอกบ้านร่วมกับกิจกรรมทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งบทบาทที่ตรงกันข้ามนี้ มีนัยยะบ่งบอกการแบ่งแยกกิจกรรมและหน้าที่ของสามีและภรรยา (หรือของชายและหญิง) รวมทั้งมีนัยยะซึ่งแสดงถึงการที่สตรีต้องพึ่งพาอาศัยชายเป็นหลัก (Renee Hirschon, 1978 : 66-87)
ผู้ชายบางเผ่าพันธุ์แต่งตัวสวยงาม
และใช้เครื่องสำอาง
ในหลายวัฒนธรรมเชื่อกันว่า ในร่างกายของชายประกอบด้วยธาตุความเป็นชายและหญิงรวมอยู่ด้วยกัน
ทำให้โลกของชายเปิดกว้างเสรี ในขณะที่ร่างกายของหญิงมีเพียงธาตุความเป็นหญิงเพียงอย่างเดียว
ดังนั้นโลกของหญิงจึงเป็นโลกปิดและมีข้อจำกัด จากความเชื่อดังกล่าวทำให้วัฒนธรรมและประเพณีที่สังคมยึดถือกันมา
ในการปฏิบัติต่อมนุษย์สองเพศนี้แตกต่างกันออกไป (ภัสสร ลิมานนท์, 2544 : 11)
แต่บางสังคมก็มีการปฏิบัติตัวของชายและหญิงแตกต่างไปจากสังคมอื่น หรืออาจเรียกได้ว่า
มีการวางหน้าที่ของชายและหญิงที่ตรงกันข้ามเลยทีเดียว ดังเช่นที่ Mathilde and
Mathias Vaerting (1923 ) ได้ยกตัวอย่างว่า ในหลายๆ สังคมแถบ New Guinea ที่มีการอบรมเลี้ยงดูมาตั้งแต่เด็กๆ
ว่า ชายชาว Arapesh จะไม่มีการแสดงความก้าวร้าวห้าวหาญเพื่อแสดงออกถึงความเป็นชายเช่นในสังคมอื่น
ในขณะที่ผู้หญิงจะเป็นคนปลูกพืชผักและค้าขาย ผู้ชายจะไม่ทำอะไรเลยนอกจากแต่งตัวสวยงามด้วยเครื่องสำอาง
และเครื่องประดับ และมีอยู่บ้างที่สังคมยกให้หญิงและสถาบันฝ่ายหญิง (Matriarchal
Institutions) มีความอิสระที่จะพูดหรือทำกิจกรรมต่างๆ ในขณะที่วัฒนธรรมยุโรปและตะวันตกจะยอมให้เฉพาะฝ่ายชายเท่านั้น
หากเปรียบเทียบกันแล้ว ในสังคมดั้งเดิมมีการกำหนดบทบาทเพศของชายหรือหญิงไว้ค่อนข้างชัดเจน และมีการปฏิบัติตามแบบแผนดังกล่าวนั้นอย่างค่อนข้างเข้มงวด แต่สังคมสมัยใหม่หรือสังคมอุตสาหกรรม บทบาททางเพศค่อนข้างมีความยืดหยุ่นกว่า รวมทั้งบทบาทนั้นก็อาจจะสับเปลี่ยนกันได้ระหว่างหญิงและชาย การศึกษาเกี่ยวกับบทบาทเพศที่มีมาในอดีต มักมุ่งวิเคราะห์ถึงสถานภาพ บทบาท การแบ่งชั้น การควบคุมอำนาจและการปกครองของชายเป็นส่วนใหญ่ มีผู้สันนิษฐานว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า เกือบทุกสังคมชายเป็นผู้สร้างบรรทัดฐานของสังคม และโดยทั่วไปแล้วการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของสตรีมักทำในรูปแบบแอบแฝงมากกว่าจะแสดงออกมาอย่างชัดแจ้ง แต่แนวโน้มที่ว่านี้ได้เปลี่ยนแปลงไป
จากการให้ความสนใจในสตรี ต่อการเกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมของนักวิชาการในหลายทศวรรษที่ผ่านมา อีกทั้งสังคมสมัยใหม่เปิดโอกาสให้สตรีได้มีบทบาทนอกบ้าน และมีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น และสตรีเองได้ตระหนักถึงคุณค่าของตัวเองในฐานะที่เป็นสมาชิกคนหนึ่งซึ่งมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม และควรได้รับการปฏิบัติจากสังคมให้ทัดเทียมชาย (ภัสสร ลิมานนท์, 2544 : 17 - 18) และยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สตรีได้พยายามเปลี่ยนแปลงบทบาทของตนเพื่อให้มีเหนือกว่าหรือมีอำนาจมากกว่าชาย นั่นคือ การใช้ร่างกายของตน ที่หลายยุคหลายสมัยเห็นว่าเป็นความแตกต่างกัน ไม่เท่าเทียมกันในทางชีวภาพหรือสรีระมาเป็นสิ่งต่อรองให้มีอำนาจในการต่อกรกับชายที่แข็งแกร่งกว่า จึงเป็นที่มาของการใช้ "เรือนร่าง" กับ "อำนาจ"
เรือนร่าง
กับ อำนาจ
จากปัจจัยพื้นฐานของรูปแบบอำนาจที่มิเชล ฟูโก ( Michel Foucault ) ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของชาย
- หญิง ในลักษณะหลักๆ ว่าเป็น ความสัมพันธ์แบบนิเสธ นั่นคือ จำกัดและขาดแคลน
การยืนยันในเรื่องของกฎเกณฑ์ก่อให้เกิดการสร้างระบบขั้วตรงข้ามขึ้น (Michel Foucault,
1980 : 135-145 ) ซึ่งปัญหาหลักของการนิยามเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศชายและหญิงนี้
ทำให้มีกลุ่มของความมีอำนาจและความไร้อำนาจ ซึ่งผู้หญิงก็คือกลุ่มไร้อำนาจที่มีเอกภาพ
(แต่อย่างไรก็ตาม)ผู้หญิงในฐานะที่สังกัดอยู่กับกลุ่มหลังนี้ สามารถย้ายภาวะการณ์ไร้ซึ่งอำนาจไปสู่การมีอำนาจได้
เพื่อล้มล้างระบบการจัดการความสัมพันธ์ที่มีอยู่ (สุชาดา ทวีสิทธิ์, 2547 : 58
- 59 )
โดยเหตุที่ ผู้หญิงได้ก้าวออกสู่โลกภายนอกมากขึ้น จากแต่เดิมต้องมีหน้าที่อยู่กับบ้านเป็นแม่บ้านและผลิตลูก ทำให้ผู้หญิงพัฒนาตนเองให้ทัดเทียมชายขึ้นในทุกๆ ด้าน แต่ด้วยความแตกต่างทางด้านสรีระที่ทำให้ผู้หญิงกับผู้ชายถูกแบ่งแยกกันอย่างชัดเจน และผู้หญิงมักถูกประเมินให้ด้อยกว่าชายเสมอ สิ่งแรกที่ผู้หญิงมักถูกทำให้เกิดความไม่เสมอภาค นั่นก็คือ "ร่างกาย " ดังนั้นเมื่อร่างกายเป็นสิ่งที่ถูกกดทับมาตลอด จึงมีแนวคิดในเรื่องของสรีระนี่เองที่ผู้หญิงเล็งเห็นว่าเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดอำนาจแก่ตัวมาต่อรองอำนาจกับเพศชาย และนำไปสู่การใช้ร่างกายให้เกิดเป็นอำนาจขึ้น
เหมือนดังที่ปิแอร์ บูดิเยอร์
(Pierre Bourdieu) ได้จำแนกทุนไว้ 4 ประเภท(2) หนึ่งในนั้นคือทุนทางกายภาพ(3)
ซึ่งได้แก่ "ร่างกาย" โดยทุนทางกายภาพนี้ หมายถึง ร่างกายเป็นเจ้าของอำนาจ
สถานภาพ หรือรูปแบบทางสัญลักษณ์ที่มีความเป็นเลิศ เป็นสิ่งจำเป็นที่จะนำไปสู่การสะสมทรัพยากรต่างๆ
นั่นก็คือกระบวนการที่ทำให้ร่างกายมีสภาพเป็นสินค้า (commodification) ในสังคมสมัยใหม่
หรือหมายถึงว่า ร่างกายมีนัยยะสำคัญในการซื้อขายแรงงาน (ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล,
2541 : 34)
(2) ทุน 4 ประเภทที่ ปิแอร์
บูดิเยอร์ จำแนกไว้ นั่นคือ
1. ทุนทางเศรษฐกิจ (เงิน สินค้า และบริการ)
2. ทุนทางวัฒนธรรม(การศึกษา การใช้โวหาร รสนิยมทางศิลปะ มารยาท)
3. ทุนทางสังคม(เพื่อนฝูงหรือเครือข่ายทางสังคม) และ
4. ทุนทางกายภาพ (เสนาะ เจริญพร, 2548 : 203)
(3) ทุนทางกายภาพที่ ปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของร่างกายในระบบทุนนิยม โดยได้เสนอทฤษฎีเกี่ยวกับการผลิตซ้ำทางสังคม ที่ได้ให้ความสำคัญต่อร่างกายในฐานะเป็นแหล่งบรรจุคุณค่าทางสัญลักษณ์ โดยเน้นกระบวนการที่ทำให้ร่างกายมีสภาพกลายเป็นสินค้า (commodification) ในสังคมสมัยใหม่. จากร่างกายที่มีส่วนร่วมในการสร้าง การสืบต่อความแตกต่างและไม่เท่าเทียมกันในสังคม ทำให้ร่างกายมีตราของชนชั้นประทับอยู่ เนื่องมาจากปัจจัย 3 ประการที่คนจะพัฒนาร่างกายไปในทางที่ได้รับคุณค่าไม่เท่ากัน และทำให้ความไม่เท่าเทียมกันของสังคมดูเป็นเรื่องธรรมชาติ นั่นก็คือ
ประการแรก
คือ ตำแหน่งทางสังคม (social location) ได้แก่ สิ่งแวดล้อมทางวัตถุต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
ประการที่สอง คือ ที่อยู่ทางสังคม (habitus) ได้แก่
ศักยภาพ ความสามารถของร่างกาย ที่หล่อหลอมให้คนตอบโต้ต่อสถานการณ์ที่แวดล้อม
ทั้งที่คุ้นเคยและเป็นของใหม่
ประการที่สาม คือ พัฒนาการของรสนิยม ( taste )
ได้แก่ การเข้าไปเป็นเจ้าของวิถีชีวิตบางแบบที่พิเศษ ตามเงื่อนไขทางวัตถุ
ยกตัวอย่างในเรื่องของทุนทั้งหลายที่บูดิเยอร์ ได้จำแนกไว้ เช่น ทัศนคติต่อความงามของผู้หญิงเหนือของกลุ่มนายทุนจีนที่ให้ภาพความงามของผู้หญิงทางกายภาพ เช่น ผิวขาว ผมยาว รูปร่างดี และเรียกเปรียบเทียบว่าเป็น "เอื้องเหนือ" ที่สวยงาม (ภักดีกุล รัตนา, 2543 : 122) เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวที่เป็นผู้ชาย (นี่คือการกระจายหรือขยายผลให้ทราบโดยทั่วกัน ถือเป็นทุนทางสังคม) ได้เข้ามาในภาคเหนือมากขึ้น เพื่อมาชมความงามของผู้หญิงเหนือ ทำให้การเงิน สินค้า และบริการต่างๆ ของจังหวัดในภาคเหนือมีสภาพคล่อง (เปรียบได้ดั่งการแปลงทุนทางกายภาพเป็นทุนเศรษฐกิจ)
ซึ่งวิธีการสร้างภาพลักษณ์ความงามของผู้หญิงเหนือของนายทุนจีนนี้ ผ่านทางบทเพลงที่กล่าวพรรณนาถึงความงามของผู้หญิงในบางอำเภอ บางจังหวัดของภาคเหนือ (ทุนทางวัฒนธรรม) ดังเช่น บทเพลงที่วารสารคนเมือง ฉบับวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2498 ได้กล่าวไว้ว่า
" ฟ้าดินเอื้อน้อมนำประทานนางจุติลงมาเป็นมิ่งขวัญเวียงพิงค์ นวลอนงค์เลอพักตรงามผ่องเย้ยเดือนเด่นพราว ไสวโอษฐ์อิ่มพิมพ์ใจชวนใฝ่ฝันมิวายเนตรนางคม โฉมสมเป็นขวัญเมืองโดยยิ่งขอเทิดเกียรตินางเลิศหญิงสวยจริงยิ่งพิศพริ้งพราย วับขับแสงดาวแพ้พ่ายศรทองแห่งองค์นารายณ์นั้น อายขนงนงรามใครหนอปั้นนางโสภาสล้างช่างชวนให้พิศทุกยาม เป็นเทวีเจ้าแห่งความงามใครไหนมิทามเทียบงามแห่งสาวเชียงใหม่ สมเป็นยอดพธูคู่เวียงสวรรค์ ผุดผาดผ่องพรรณงามเฉิดฉันไฉไล เจ้าจงเป็นขวัญคู่เวียงนครเชียงใหม่ ขออย่าไปห่างไกลฝังใจชั่วนิจนิรันดร์ " (ภักดีกุล รัตนา, 2543 : 122)
Doug Mann (1996 : 75-76 ) นักวิชาการทางปรัชญามีแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับทุนทางกายภาพของ บูร์ดิเยอ ที่ว่า "กาย" ในฐานะประเด็นทางปรัชญามีความสัมพันธ์โดยตรงกับลัทธิบริโภคนิยมที่ขายสินค้านานาชนิดเพื่อการปรุงแต่ง ปรนเปรอกาย โดยกระบวนการหลังสมัยใหม่ ได้รื้อถอนสิ่งต่างๆ และชี้ให้เห็นว่าสิ่งต่างๆ นั้น ถูกปรุงแต่งสร้างสรรค์ขึ้นมา ซึ่งกายของมนุษย์ก็เป็นสิ่งสร้างทางสังคมวัฒนธรรมและการเมือง มิใช่เป็นเพียงกายเนื้อธรรมชาติเท่านั้น ดังนั้นลัทธิบริโภคนิยมและกระบวนการหลังสมัยใหม่ ต่างมีส่วนช่วยก่อรูปความสนใจใน "กาย" ในฐานะประเด็นทางปรัชญา (ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล, 2541 : 52)
คริส ชิลลิ่ง (Chris Shilling) ได้ให้แนวคิดว่า ผู้คนสมัยใหม่จำนวนมากมองร่างกายของตนในฐานะโครงการอย่างหนึ่งที่ต้องทำให้สำเร็จลุล่วง เพราะมันเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งตัวตนของผู้ครอบครอง (Shilling, 1997 : 69) โครงการต่างๆ ที่กระทำต่อร่างกาย ได้แก่ การปรับเปลี่ยน (การศัลยกรรม เช่น การเสริมจมูก การเสริมหน้าอก การดึงหน้า ฯลฯ) การดูแลรักษา (การออกกำลังกาย การควบคุมอาหาร การใช้ครีมกันแดด ฯลฯ) หรือการตกแต่ง (การแต่งตัว การแต่งหน้า การทำผม ฯลฯ) ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไป ทั้งในโลกของความเป็นจริงและในโลกของจินตนาการ เพราะนอกจากจะสื่อถึงอัตลักษณ์ของผู้ครอบครองแล้ว ยังมีส่วนผลักดันให้เจ้าของมีอำนาจต่อรองในปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเพิ่มขึ้นด้วย (เสนาะ เจริญพร, 2548 : 202)
ส่วน Sara Halprin (1995) ได้กล่าวว่า ในระบบความเชื่อความหมายเรื่องเพศที่สัมพันธ์กับความไม่เท่าเทียม ก็ให้ความสำคัญกับความสวยงามของผู้หญิงเช่นกัน เพราะความสวยงามเป็นการตีค่าหรือประเมินคุณค่าของผู้หญิง ภาพของรูปร่างหน้าตาในอุดมคติที่เกี่ยวกับความอ้วนผอม ความขาว ความสูง ขนาดหน้าอก ฯลฯ เป็นปัจจัยที่ผู้หญิงพึงปรารถนา เพื่อดึงดูดความสนใจและกระตุ้นเร้าความต้องการทางเพศของผู้ชาย ผู้หญิงจึงทุ่มเทเวลาและพลังงานเพื่อจะเสริมแต่งร่างกายของตนให้ใกล้เคียงกับมาตรฐานความงามที่เป็นอุดมคติ
เมื่ออุดมคติ คือ ความปรารถนาในสิ่งที่งดงาม (เกษร จันทรประภาพ, 2549 : ออนไลน์) หรือ จินตนาการที่ถือว่าเป็นมาตรฐานแห่งความดี ความงาม และความจริง ทางใดทางหนึ่งที่มนุษย์ถือว่าเป็นเป้าหมายแห่งชีวิตของตน (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน, 2542 : ออนไลน์ ) แล้วนั้น ผู้หญิงจึงพยายามปรับแต่งตัวเองให้งาม 5 ประการ หรือที่เรียกว่า เบญจกัลยาณี (4)
(4) ลักษณะของเบญจกัลยาณีในสมัยโบราณเชื่อว่า คือ ความงามของผู้หญิง 5 อย่าง ได้แก่ ผม เนื้อ กระดูก ผิว และวัย โดยที่
ผมงาม หมายถึง เรือนผมดำเป็นเงางามดุจหางนกยูง
เนื้องาม หมายถึง ริมฝีปากงาม เช่นกับผลตำลึงสุก
กระดูกงาม หมายถึง ฟันขาวเรียบดุจสังข์ที่ขัดดีแล้ว
ผิวงาม หมายถึง ละเอียดอ่อน สีผิวไม่สำคัญ ผิวดำก็สวยได้ถ้าเกลี้ยงเกลามีเลือดฝาดสมบูรณ์ และ
วัยงาม หมายถึง เนื้อหนังเต่งตึงอยู่จนแก่
สมศรี สุกุมลนันทน์, 2531 : 10) นี่คือค่านิยมหรืออุดมคติของผู้หญิงไทย หรืออาจจะรวมไปถึงผู้หญิงทั่วโลกก็เป็นได้ และนอกจากความงาม 5 ประการนี้แล้ว เรือนร่างหรือรูปร่างก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของร่างกายที่ผู้หญิงเราให้ความสำคัญมาช้านาน ดังเช่นการพรรณนาถึงเรือนร่างที่แบบบาง อรชร(5) ของนางในวรรณคดีแต่ละสมัย ที่บ่งบอกถึงเรือนร่างของผู้หญิงในอุดมคติได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าผู้แต่งบทประพันธ์จะเป็นชายก็ตาม
ตัวอย่างรูปร่างของนางในวรรณคดีที่เป็นภาพตัวแทนของผู้หญิงในอดีตที่ มาลัย (2536) ได้รวบรวมไว้ เช่น
- "พระเพื่อน พระแพง" สองนางงามในวรรณคดีอันเป็นบทกวีนิพนธ์เรื่อง ลิลิตพระลอ.
- "พิมพิลาไลย(วันทอง)" นางในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ในสมัยอยุธยา.
- "จินตะหราวาตีและบุษบา" นางในวรรณคดีเรื่อง อิเหนา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่สอง).
- "มัธนา" นางงามจากวรรณคดีเรื่อง มัทนะพาธา(ตำนานรักดอกกุหลาบ)
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่หก)
- "วาสิฏฐี" นางงามในวรรณคดีเรื่อง กามนิต-วาสิฏฐี (6) ประพันธ์โดยนักเขียนชาวเดนมาร์ก
Karl Adolph Gjellerup ในปี พ.ศ. 2449
แต่อย่างไรก็ตาม รูปร่างของผู้หญิงในอุดมคติใช่ว่าจะต้องบอบบางอรชรอ้อนแอ้นเสมอไป
เพราะสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันทำให้ผู้หญิงในอุดมคติของอินเดีย ที่มีลักษณะเจ้าเนื้อ
เอวกลม สะโพกกลม ดังเช่น ทมยันตี นางในวรรณคดีเรื่อง พระนลคำหลวง(7) ในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
(รัชกาลที่หก)
(5) อรชร หมายถึง งามอย่างเอวบางร่างน้อย, มักใช้เข้าคู่กับคำ
อ้อนแอ้น เป็น อรชรอ้อนแอ้น
(6) กามนิต-วาสิฏฐี
ต้นเรื่องเดิมเป็นภาษาเยอรมัน ชื่อว่า Der Pilger Kamanita พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี
พ.ศ. 2449 ต่อมา John E. Logie ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2454 ในชื่อเรื่องว่า
The Pilgrim Kamanita จากนั้น เสถียรโกเศศ และ นาคะประทีป ได้ถอดออกมาเป็นความเรียงร้อยแก้วในภาษาไทยในปี
พ.ศ. 2473
(7) เป็นคำหลวงเรื่องสุดท้ายของวรรณคดีไทย ที่ได้เค้าโครงเรื่องเดิมจากวรรณกรรมภาษาสันสกฤตชื่อ
นโลปาขยานัม อันเป็นตอนหนึ่งของมหากาพย์ภารตะ (อินเดีย)
ร่างกายของคนเรานั้นมีความหมายในความสำนึกของผู้คนแตกต่างกันไปในแต่ละยุค ในอดีตสมัยจารีต "ร่างกาย" ของมนุษย์ในชาตินี้เป็นเพียงทางผ่านไปสู่โลกอุดมคติ หรือในภพใหม่ที่สูงกว่าเดิม การใช้ชีวิตในชาตินี้จึงไม่เกิดความตั้งใจที่จะใช้ชีวิตให้เต็มที่ หากแต่ต้องดำเนินชีวิตตามธรรมะหรือกฎธรรมชาติเพื่อให้ดำเนินไปสู่แนวทางของชีวิตในอุดมคติ ผู้ที่ยึดมั่นกับโลกในอุดมคติสูง ได้เล็งเห็นว่าเรื่อง "เพศ" นี้เป็น "บ่วง" ที่รัดรึงมนุษย์ไว้ไม่ให้เดินทางไปสู่เป้าหมายของชีวิตในอุดมคติ จึงจำเป็นที่จะต้องสลัดบ่วงนี้ทิ้งไปให้ได้
ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในความคิดเรื่องร่างกายของมนุษย์ในปัจจุบัน ได้แก่ การทำให้ร่างกายมนุษย์เป็นสมบัติส่วนตัวและร่างกายมีความหมายสำคัญเพียงชาตินี้เท่านั้น ดังนั้นจึงทำให้การดูแลสมบัติส่วนตัวในชาตินี้มีความสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ร่างกายไม่ใช่ทางผ่านไปสู่โลกอุดมคติอีกต่อไป สมบัติส่วนตัวที่ครอบครองอยู่จึงถูกเน้นให้เด่นชัดมากขึ้น เพื่อที่จะทำให้ลักษณะส่วนตัวนั้นกลายเป็นเครื่องหมายบ่งบอกตัวตน ดังนั้น ร่างกายมนุษย์จึงถูกผูกไว้กับเรื่องอื่นๆ น้อยลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องร่างกายกับอุดมคติ ร่างกายกับการอุทิศตนเพื่อชาติ ฯลฯ หลงเหลือไว้เพียงร่างกายของปัจเจกชนที่เจ้าของร่างนั้น ต้องจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตัวเอง (อรรถจักร สัตยานุรักษ์ , 2549 : ออนไลน์)
ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 นักสตรีนิยมกลุ่มหนึ่งชี้ให้เห็นว่า ปฏิบัติการทางวัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลงค่านิยมบางอย่าง มีผลต่อความแข็งแรงหรือความอ่อนแอของร่างกายมนุษย์ เช่น การเปลี่ยนแปลงค่านิยมเกี่ยวกับความงามในเรือนร่างของผู้หญิง จากเดิมที่เคยนิยมผู้หญิงที่มีร่างกายบอบบางอรชรอ้อนแอ้น เปลี่ยนมานิยมชมชอบผู้หญิงที่มีร่างกายแข็งแรงแบบนักกีฬา ซึ่งมีผลทำให้ผู้หญิงดูแลร่างกายดีขึ้นและแข็งแรงขึ้น
ในทางกลับกันในบางสังคมที่นิยมผู้หญิงซึ่งมีร่างกายขนาดเล็ก ก็มีแนวโน้มว่าผู้หญิงที่มีร่างกายขนาดเล็กจะได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ในการสืบเผ่าพันธุ์มากกว่าผู้หญิงร่างใหญ่ การเลือกสรรทางวัฒนธรรมแบบนี้ ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางชีววิทยาด้านโครงสร้างร่างกายและการเปลี่ยนแปลงด้านพันธุกรรมของมนุษย์ได้ นอกจากนี้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และเทคโนโลยีก็สามารถเปลี่ยนภาวะร่างกายของมนุษย์ได้เช่นกัน (สุชาดา ทวีสิทธิ์, 2547 : 7)
ถ้าใช้ทฤษฎีเกี่ยวกับขนาดสัดส่วนในจุดต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ที่ทำให้เกิดความพอใจทางเพศ มาใช้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของแฟชั่น จะสังเกตได้ว่า ในยุคหนึ่งจะนิยมผู้หญิงที่เอวเล็ก เผยคอและหน้าอก ที่เรียกว่า Decolletee ([of a garment] having a low-cut neckline) บางยุคก็เผยขาและแผ่นหลัง และราวปี ค.ศ. 1965 ก็หันมาสนใจหน้าอกอีกครั้ง และการเปลี่ยนความสนใจก็คงจะเกิดขึ้นอีก เมื่อแฟชั่นค้นพบจุดสนใจใหม่ ศตวรรษนี้เป็นศตวรรษที่หญิงสาว กล้าเปิดเผยตัวเองมากขึ้นอย่างที่คนยุคก่อนไม่คาดคิดมาก่อน และสังคมก็เปิดโอกาสให้มากกว่ายุคใดๆ แฟชั่นย่อมบอกความนิยมและลักษณะของยุคสมัย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า แฟชั่นไม่ได้เกิดขึ้นตามใจบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ดังนั้นประวัติศาสตร์การแต่งกายสตรีจึงชี้ให้เห็นชัดว่า เสื้อผ้าของยุคใดย่อมเหมาะสมกับบรรยากาศทางสังคมของยุคนั้นๆ และมีความสัมพันธ์กับวงจรชีวิตด้านอื่นๆ เสมอ (สมศรี สุกุมลนันทน์, 2525 : 29) เพราะฉะนั้นการมีรูปร่าง ทรวดทรงที่ดีและการแต่งกายที่เหมาะสม ย่อมนำมาซึ่งบุคลิกที่ดี ส่งผลให้เกิดความมั่นใจ และนำพาหรือใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือหรืออำนาจเพื่อให้ได้มายังสิ่งที่ตนต้องการได้
ดร. จุลนี เทียนไทย จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวบรรยายว่า การเปลี่ยนแปลงค่านิยมทางสังคมในปัจจุบันได้ทำให้วิธีคิดของวัยรุ่นชายหญิงไทยที่มีต่อเรือนร่างของตัวเองเปลี่ยนไป
วัยรุ่นมองดูร่างกายของตัวเองเป็นทรัพย์สินรูปแบบหนึ่ง ประกอบกับอิทธิพลของสื่อและพัฒนาการของเทคโนโลยี
ที่เข้ามามีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง เช่น การทำศัลยกรรมเสริมความงาม การใช้ยาลดความอ้วน
เป็นต้น (8) วัยรุ่นมีรูปร่างในอุดมคติของตัวเอง ถ้าเป็นผู้หญิงต้องการรูปร่างสูง
ผอมและได้สัดส่วน วัยรุ่นชายต้องการรูปร่างสูง แข็งแรง สมส่วนแต่ไม่ต้องมีกล้ามใหญ่โต
(8) ข้อมูลจากการเก็บรวบรวมในช่วงปี 2545 - 2546 จากจำนวนกลุ่มตัวอย่างวัยรุ่น 36 คน อายุระหว่าง 16-19 ปี
ในกรณีการมองดูเพศตรงข้าม ผู้ชายไม่ชอบผู้หญิงที่ผอมเกินไป แต่ชอบผู้หญิงที่มีร่างกายที่สมบูรณ์ มีสุขภาพดี มีผิวขาวเพราะบ่งบอกถึงความสะอาด บริสุทธิ์ ส่วนผู้หญิงต้องการผู้ชายที่มีนิสัยและบุคลิกภาพที่ดี ไม่ได้สนใจรูปร่างหน้าตามากนัก ในเรื่องความพอใจเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาของตัวเองพบว่าวัยรุ่นหญิง จะไม่มีความพอใจในรูปร่างของตัวเอง เช่น ไม่ชอบต้นแขนใหญ่ ขาใหญ่ หน้ากาง แก้มยุ้ยเกินไป หรือมีหน้าท้องมากเกินไป. ส่วนวัยรุ่นชายจะไม่พอใจกับสัดส่วนร่างกาย เช่น ผอมเกินไป หรือมีพุงมากเกินไป เป็นต้น ซึ่งในสังคมไทยมักให้ค่านิยมแก่ผู้หญิงในเรื่องรูปร่างหน้าตา ผู้หญิงจึงเปรียบเสมือนเครื่องประดับสำหรับผู้ชาย ผู้หญิงในสังคมไทยจึงถูกปลูกฝังตั้งแต่เด็กให้รู้จักดูแลผิวพรรณ รูปร่างหน้าตาของตัวเอง ในสังคมผู้หญิงจึงสนใจเรื่องความสวยงามเป็นพิเศษ กิจกรรมทางสังคมของผู้หญิงจึงเกี่ยวข้องกับความสวยงาม และการดูแลเรือนร่าง
คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com