โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 08 August 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๒๗ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (August, 08, 08,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

รัฐบาลชาเวซส่งเสริมให้ประชาชนหันมาเป็นผู้ผลิตรายการทีวี ถึงกับสร้างคำขวัญว่า "อย่ามัวแต่ดูทีวี มาทำรายการเองดีกว่า" ชั้นเรียนสอนการสร้างภาพยนตร์ผุดขึ้นทั่วประเทศ ในรายการของผู้ผลิตอิสระเหล่านี้ ผู้ชมจะได้เห็นชาวเวเนซุเอลาตัวอ้วน ผิวดำ แก่และน่าเกลียด ได้เห็นชนชั้นกึ่งแรงงานและชาวนาไร้ที่ดิน ทุกรายการมีช่องแสดงภาษามือสำหรับคนหูหนวก. ลิล โรดริเกซ ผู้อำนวยการ สถานีเตเวสกล่าวว่า TVes จะเป็นพื้นที่ในการกอบกู้คุณค่าที่สถานีโทรทัศน์เอกชนละเลยมานาน โดยเฉพาะมรดกทางวัฒนธรรมของคนผิวดำ (คัดมาบางส่วนจากบทความ)
08-08-2550

21st Century Socialism
Venezuela
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

อูโก ชาเวซ: การปฏิวัติตามแนวทางโบลิวาร์,
สังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21, และสมรภูมิสื่อ
21st Century Socialism: กรณีศึกษาการเมืองร่วมสมัยในเวเนซุเอลา
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : เขียน
นักวิชาการอิสระ และนักแปลอิสระ

บทความวิชาการต่อไปนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ปรับปรุงจาก
บทความ ๓ เรื่องที่เคยเผยแพร่แล้วบนประชาไทออนไลน์ เดิมชื่อ
- ภัควดี รายงาน : ทางแพร่งของอูโก ชาเวซ (ตอนที่ ๑)
- ภัคดี รายงาน : ทางแพร่งของประชาชนเวเนซุเอลา (ตอนที่ ๒)
- ภัควดี รายงาน: RCTV สมรภูมิใหม่เพิ่งเริ่มต้น (ตอนที่ ๓)

โดยนำมารวมอยู่บนหน้าเว็บเพจเดียวกัน และสร้างหัวข้อเพิ่มเติม
เพื่อสะดวกแก่การค้นคว้าและการนำไปใชอ้างอิงทางวิชาการ
สำหรับเนื้อหาโดยสังเขปเกี่ยวกับกับการชนะเลือกตั้งของอูโก ชาเวซ สมัยที่ ๒
ด้วยแนวคิดการปฏิวัติตามแนวทางโบลิวาร์ และเกี่ยวพันไปถึงพรรคการเมืองใหม่
แนวคิดเกี่ยวกับสังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ ๒๑, แนวคิดเกี่ยวกับสภาชุมชน,
ตลอดรวมถึงเรื่องของแนวคิดการปฏิรูปสื่อ ด้วยการที่ประชาชนเป็นผู้ผลิตสื่อด้วยตัวเอง
แทนที่จะเป็นเพียงผู้ที่ได้แต่ดูเท่านั้น
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
และเพิ่มเติมหัวข้อเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๒๗
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๓ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

อูโก ชาเวซ: การปฏิวัติตามแนวทางโบลิวาร์,
สังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21, และสมรภูมิสื่อ
21st Century Socialism: กรณีศึกษาการเมืองร่วมสมัยในเวเนซุเอลา
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : เขียน
นักวิชาการอิสระ และนักแปลอิสระ

ภัควดี รายงาน : ทางแพร่งของอูโก ชาเวซ (ตอนที่ 1)
การชนะเลือกตั้งสมัยที่สอง
อูโก ชาเวซได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อเดือนธันวาคมศกก่อน(2006) ด้วยคะแนนเสียงล้นหลามถึง 7,161,637 คะแนน หรือ 62.89% ทิ้งห่างคู่แข่งอันดับสองจากพรรคฝ่ายค้าน นายมานูเอล โรซาเลส ผู้ว่าการรัฐซูเลียที่ประกาศจุดยืนสนับสนุนการค้าเสรีเต็มตัว ซึ่งได้คะแนนเพียง 36.85% การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ออกมาลงคะแนนเสียงมากเป็นประวัติการณ์ กล่าวคือมากกว่า 11 ล้านคน หรือ 74.87% ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมด

แม้จะได้ไม่ถึง 10 ล้านเสียง อย่างที่เหล่าชาวิซตา (Chavista-ผู้สนับสนุนชาเวซ) ตั้งเป้าไว้ลมๆ แล้งๆ แต่คะแนนเสียงที่ชาเวซได้รับครั้งนี้ก็ยังมากกว่าครั้งที่มีการลงประชามติถอดถอนจากตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งตอนนั้นได้เกือบ 6 ล้านเสียง กระนั้นก็ตาม ฝ่ายที่ควรเป็นกังวลมากกว่าคือกลุ่มพรรคฝ่ายค้านที่ได้สัดส่วนคะแนนเสียงลดลงเล็กน้อย นั่นหมายความว่า ในทางการเมือง กลุ่มพรรคฝ่ายค้านมีผู้สนับสนุนที่เหนียวแน่นจำนวนไม่แตกต่างจากเมื่อสองปีก่อนมากนัก กลุ่มนี้ไม่เปลี่ยนใจไปไหน ฝ่ายชาเวซเองก็เจาะเข้าไปไม่ได้ แต่กลุ่มเสมอนอกจำนวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางที่ได้รับอานิสงส์จากความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจของเวเนซุเอลา ได้หันไปปันใจให้ชาเวซเสียแล้ว นอกจากนี้ คะแนนเสียงของชาเวซยังชนะหมดทั้ง 24 รัฐของประเทศ แม้แต่ในรัฐรวยน้ำมันอย่างซูเลีย ซึ่งเคยขู่จะแยกตัวออกมาเป็นอิสระ ถึงจะเป็นแค่การชนะอย่างฉิวเฉียดก็ตามที ทั้งๆ ที่ในรัฐซูเลียและอีกหลายๆ รัฐมีผู้ว่าการเป็นคนของพรรคฝ่ายค้านด้วย

การปฏิวัติตามแนวทางโบลิวาร์ VS เสรีนิยมใหม่และประชานิยมใหม่
ชัยชนะครั้งนี้ยังเป็นชัยชนะในเชิงนโยบายที่น่าสนใจ ชาเวซเดินหน้าหาเสียงด้วยนโยบาย 'การปฏิวัติตามแนวทางโบลิวาร์' ที่นำเสนอโครงการทางสังคมต่างๆ เช่น สาธารณสุข การศึกษา การเคหะและสหกรณ์ รวมทั้งต่อต้านการแปรรูป การเปิดเสรีและสนับสนุนการโอนกิจการพลังงานกลับมาเป็นของชาติ

ในฝั่งตรงข้าม นายมานูเอล โรซาเลส เสนอแนวคิดบัตรเดบิต 'Mi Negra' (My Black One-ตั้งชื่อเช่นนี้เพื่อหาเสียงสนับสนุนจากชาวเวเนซุเอลาเชื้อสายแอฟริกัน ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ) นโยบายประชานิยมผ่านบัตรเดบิตนี้เสนอว่า หากนายโรซาเลสได้เป็นประธานาธิบดี รัฐบาลของเขาจะดำเนินนโยบายเสรีนิยมใหม่ที่เน้นการแปรรูปและเปิดเสรี เพียงแต่เขาจะดำเนินนโยบายประชานิยมควบคู่ไปด้วย กล่าวคือเขาจะเปิดโอกาสให้ชาวเวเนซุเอลายากจน มีโอกาสเข้าถึงรายได้จากน้ำมันของรัฐบาลโดยตรง. บัตรเดบิตนี้เป็นเสมือนสัญญาการซื้อเสียงแบบหนึ่ง ประชาชนจำนวนหนึ่ง (ซึ่งยังไม่ได้ระบุวิธีการคัดเลือก) จะได้รับบัตรที่จัดสรรเงินให้ราว 350 ดอลลาร์ต่อเดือน (ประมาณ 12,000 บาท) โดยที่ 40% ของเงินจัดสรรนี้ต้องนำไปใช้ซื้อหาอาหาร นโยบาย 'Mi Negra' ก็เช่นเดียวกับนโยบายขจัดความยากจนในเปรู, เม็กซิโกและบราซิล ที่มองปัญหาความยากจนเป็นเรื่องตัวบุคคลมากกว่าโครงสร้าง

ยังไม่ทันถึงวันเดินเข้าคูหา การสำรวจความคิดเห็นของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในเวเนซุเอลาก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ประชาชนถึง 59% ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนโยบาย 'Mi Negra'นี้ นโยบายแบบประชานิยมใหม่ (neopopulism ดังที่เรียกกันในละตินอเมริกา) ไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป ประชาชนต้องการให้รัฐบาลนำเงินไปใช้ให้เกิดการจ้างงาน, ระบบสาธารณสุข, สวัสดิการและการศึกษามากกว่า นายโรซาเลสจึงพ่ายแพ้การเลือกตั้ง แม้แต่ในรัฐซูเลียของตนเอง

หลังประกาศผลการนับคะแนน ซึ่งได้รับการรับรองจากสถาบันและผู้สังเกตการณ์ชาวต่างชาติจำนวนมาก สิ่งที่แตกต่างจากการเลือกตั้งและการลงประชามติที่ผ่านๆ มาก็คือ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่กลุ่มพรรคฝ่ายค้าน รวมทั้งนายมานูเอล โรซาเลส ออกมายอมรับความพ่ายแพ้อย่างเป็นทางการ แม้ไม่วายตั้งข้อสงสัยว่า คะแนนไม่น่าทิ้งห่างกันมากขนาดนั้น จะอย่างไรก็แล้วแต่ นี่เป็นครั้งแรกที่ฝ่ายตรงข้ามของชาเวซ ยอมรับผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น

ปริศนาของอูโก ชาเวซ (ภาค 3)
(ภาค 1 และ ภาค 2 ของปริศนาชุดนี้ โปรดอ่านใน ฟ้าเดียวกัน, กรกฎาคม-กันยายน, 2548)
อูโก ชาเวซคือปริศนาเสมอมา แม้กระทั่งแนวคิดสังคมนิยมของเขา เราก็อาจสงสัยได้ว่า มันเพิ่งเกิดขึ้นหลังจากเขาชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแล้ว เขาประกาศ 'ลัทธิสังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21' ก็ต่อเมื่อดำรงตำแหน่งมาแล้วหลายปี และยังไม่มีใครยืนยันได้แน่ชัดว่า 'ลัทธิสังคมนิยม' ของเขามีขอบเขตและขีดจำกัดอยู่ตรงไหน

ความเป็นนักการเมืองที่รู้จังหวะจะโคนและลำหักลำโค่นของชาเวซเป็นที่ทราบกันดี เขามักใช้ช่วงจังหวะที่ได้เปรียบที่สุดประกาศหรือกระทำในสิ่งที่เหนือความคาดหมายเสมอ ชาเวซกล้าที่จะไม่เดินย่ำรอยทางเดิมที่คนอื่นเดินมาก่อน หรือกระทั่งบางครั้งก็ไม่ใช้เส้นทางเดิมที่ตัวเองเป็นคนบุกเบิกด้วยซ้ำ ความสำเร็จทางการเมืองส่วนหนึ่งของเขาเกิดมาจากการที่เขากล้าสร้างเส้นทางใหม่ๆ ขึ้นมาตลอดเวลา รวมทั้งเดินหน้ารุกและตั้งรับในจังหวะที่เหมาะสม

ชัยชนะของชาเวซในการเลือกตั้งสมัยที่สองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ สร้างความประหวั่นพรั่นใจให้คนจำนวนมาก ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุน กลุ่มพรรคฝ่ายค้านในเวเนซุเอลาก้าวพลาดไปตั้งแต่การเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติเมื่อ ค.ศ. 2005 โดยคว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนั้น ทำให้สมัชชาแห่งชาติที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติของเวเนซุเอลาถูกครอบครองโดยกลุ่มชาวิซตาเพียงฝ่ายเดียว อันนำไปสู่ข้อกล่าวหาโจมตีถึงการเป็น 'เผด็จการรัฐสภา' มิหนำซ้ำ ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี อูโก ชาเวซ แสดงจุดยืนชัดเจนว่า เขาจะเสนอให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ซึ่งเดิมจำกัดการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไว้เพียงสองสมัย แม้ชาเวซยืนยันชัดเจนว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้น จะต้องผ่านการลงประชามติก็ตาม แต่ประเด็นนี้ก็นำไปสู่ข้อกล่าวหาโจมตีถึงความต้องการเป็น 'ประธานาธิบดีตลอดชีพ'

แต่ข้อกล่าวหาเหล่านี้ เหล่าชาวิซตาได้ยินมาจนชินสองหูแล้ว ปริศนาที่สร้างความสั่นสะเทือนมากกว่ามาจากคำปราศรัยของชาเวซเอง ในงานเลี้ยงฉลองชัยชนะจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 2006 ท่ามกลางเสียงโห่ร้องกึกก้องของพลพรรคเสื้อแดงแถวหลัง ในโรงละครที่เป็นสถานที่จัดการประชุมฉลองชัย บรรดาชาวิซตาวีไอพีที่นั่งแถวด้านหน้ากลับรู้สึกเก้าอี้ร้อนไปตามๆ กัน

ความกระสับกระส่ายของพวกเขาคงไม่เกี่ยวกับคำขอร้องของชาเวซ ให้รัฐมนตรีทั้งหมดลาออกเพื่อเปิดโอกาสให้ตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ นี่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติในเวเนซุเอลาอยู่แล้ว รัฐมนตรีหน้าเดิมๆ บางคนจะได้รับการแต่งตั้งกลับเข้ามา ส่วนคนที่เสียเก้าอี้ก็มักได้รับตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศต่างๆ เป็นเครื่องปลอบใจ และคงไม่ใช่คำพูดของชาเวซที่ตำหนิเรื่องการคอร์รัปชั่น ประเด็นนี้เคยพูดกันมาก่อนหน้าแล้ว แต่ประเด็นใหม่ที่สั่นสะเทือนโรงละครก็คือ การที่ชาเวซประกาศว่า ค.ศ. 2007 คือปีของการก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่จะมาแทนพรรค 'ขบวนการเพื่อสาธารณรัฐที่ห้า' หรือพรรค MVR เดิมที่เขาก่อตั้งมากับมือ

พรรคการเมืองใหม่ : ทางออกของปัญหาเดิมหรือจุดเริ่มต้นสู่ปัญหาใหม่?
ความจริง ชาเวซชิมลางด้วยการเสนอให้ตั้งพรรคการเมืองใหม่มาระยะหนึ่งแล้ว โดยใช้คำคลุมเครือว่าเป็นการ 'รวมพรรค' หรือ 'การผนึกกำลังของพรรคต่างๆ' ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แม้ว่า MVR จะเป็นพรรคใหญ่ แต่ก็มีพรรคเล็กพรรคน้อยที่เป็นแนวร่วมอีกถึง 23 พรรคด้วยกัน ทุกคนรวมทั้งตัวชาเวซเองรู้ดีว่า แม้ภายนอกดูเหมือนมีการผนึกกำลังกันดี แต่ภายในนั้นมีการต่อสู้กันระหว่างก๊กต่างๆ ภายใน MVR เอง และระหว่าง MVR กับพรรคเล็กๆ อื่นๆ จนทำให้เกิดความไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน และตอกย้ำระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกในการเมืองเวเนซุเอลา

แต่ที่ผ่านมา ชาเวซไม่เคยพูดอย่างชัดเจนว่า การรวมพรรคจะเป็นไปในลักษณะไหน เนื่องจาก MVR เป็นพรรคใหญ่และครอบงำแนวร่วมที่ทำหน้าที่รณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้ง นักการเมืองในค่าย MVR จึงคาดหวังว่า ชาเวซคงจะเรียกร้องให้พรรคการเมืองเล็กๆ อื่นๆ ทั้งหมด ยุบพรรครวมเข้ามาอยู่ใน MVR

พรรคสหสังคมนิยมแห่งเวเนซุเอลา
แต่ชาเวซกลับสร้างความประหลาดใจและอาการหนาวๆ ร้อนๆ ให้ลูกพรรคทั้งหลาย ด้วยการประกาศว่า "MVR เป็นอดีตไปแล้ว" เขาบอกว่า พรรคการเมืองใหม่ ที่ตั้งชื่อชั่วคราวว่า 'พรรคสหสังคมนิยมแห่งเวเนซุเอลา' (United Socialist Party of Venezuela) จะไม่ใช่พรรคการเมืองที่รวมพรรคเดิมๆ ที่มีอยู่เข้าด้วยกัน แต่พรรคการเมืองใหม่นี้จะเป็นพรรคการเมืองที่สร้างขึ้นมาจากฐานล่าง เขาต้องการให้ฐานการเมืองระดับล่างในชุมชนสร้างพรรคการเมืองใหม่จากเบื้องล่างขึ้นมา พรรคการเมืองที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะชนะการเลือกตั้ง แต่เป็นพรรคการเมืองที่จะต่อสู้ทางอุดมการณ์ ต่อสู้เพื่อวัตถุประสงค์ของสังคมนิยม และเป็นพรรคการเมืองที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของเวเนซุเอลา

ชาเวซกล่าวว่า "จงเลือกผู้นำที่แท้จริงของท่าน....เลือกคนที่ท่านศรัทธา คนที่ท่านรู้จัก อย่าไปเลือกพวกหัวขโมย พวกฉ้อฉล พวกไร้ความรับผิดชอบ พวกขี้เมา คนไม่ดี ซึ่งต้องกันออกไปห่างๆ เราต้องยึดมั่นในศีลธรรมแบบสังคมนิยม จริยธรรมแบบสังคมนิยม" ชาเวซสรุปแนวคิดของตนด้วยประโยคสั้นๆ ที่เจ็บแสบว่า "พรรคการเมืองใหม่ต้องไม่ใช่ที่รวมของคนหน้าเดิมๆ ถ้าทำอย่างนั้นมันคือการหลอกลวง" เขายังสำทับใส่บรรดาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองเก่าด้วยว่า ไม่มีเวลาวิวาทะเรื่องนี้อีกแล้ว "เราต้องสร้างพรรคใหม่จากเบื้องล่างขึ้นมาเดี๋ยวนี้"

การแตกแยกของบรรดาชาวิซตา
หมากตานี้ของชาเวซนับเป็นหมัดเด็ดที่ปล่อยใส่ลูกพรรคที่ไม่เอาไหนของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกัน มันก็อาจเป็นหนทางที่จะพาตัวเขาออกจากแรงกดดันบางอย่างด้วย ดังที่มาร์การิตา โลเปซ นักประวัติศาสตร์และศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยคารากัส เชื่อเช่นนั้น. โลเปซกล่าวว่า "เรื่องหนึ่งที่การเลือกตั้งเผยให้เห็นก็คือ มีการแตกแยกเกิดขึ้นระหว่างบรรดาชาวิซตาด้วยกันเอง

- ฝ่ายหนึ่งคือ กลุ่มที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน ซึ่งได้รับอิทธิพลอย่างมากจากการปฏิวัติคิวบาและต้องการระบบแบบคิวบา" กลุ่มนี้เรียกร้องให้ยกเลิกระบบทรัพย์สินเอกชน แกนนำของกลุ่มนี้คือ ราฟาเอล รามิเรซ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและประธานบริษัทน้ำมันของรัฐ (PDVSA) กับ ฮวน บาร์เรโต นายกเทศมนตรีเมืองคารากัส

- คู่ขัดแย้งอีกฝ่ายหนึ่งคือกลุ่มสายกลาง ซึ่งเรียกร้องให้ "ใช้ระบบสังคมนิยมอย่างจำกัด และปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน". โลเปซกล่าวว่า "ก๊กนี้มีรองประธานาธิบดีโฮเซ วิเซนเต รางเฮล และรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม เฮสเซ ชาคอน พวกเขาอยากให้ขยายโครงการทางสังคมและเปลี่ยนแปลงกฎหมายทรัพย์สินเอกชนบ้าง แต่ส่วนใหญ่อยากให้ระบบทุนนิยมดำเนินไปเหมือนเดิม เศรษฐกิจในเวเนซุเอลากำลังเฟื่องฟู และบรรดาชาวิซตากลุ่มนี้กำลังซื้อรถ ซื้อบ้าน และย้ายไปอาศัยในย่าน [หรูหรา] ของคารากัส"

ส่วนจุดยืนของชาเวซอยู่ตรงไหน? ในทัศนะของศาสตราจารย์โลเปซ นี่คือปริศนาประการหนึ่งที่ไม่มีใครตอบได้แน่ชัด ดูเหมือนชาเวซกำลังรอดูท่าทีและจังหวะที่เหมาะสม กระนั้น ก็มีสัญญาณบางอย่างที่บ่งชี้ว่า ชาเวซอาจเอียงไปทางกลุ่มสายกลางมากกว่า

ในตอนต้นปี ค.ศ. 2006 นายฮวน บาร์เรโต นายกเทศมนตรีของคารากัส ขู่จะยึดสนามกอล์ฟแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในย่านคนรวยของเมืองหลวง บาร์เรโตกล่าวว่า สนามกอล์ฟกินพื้นที่ที่น่าจะนำมาใช้เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยที่กำลังขาดแคลนอย่างหนักมากกว่า เรื่องนี้ก่อให้เกิดข้อขัดแย้งกับข้าราชการในท้องที่ขึ้น แต่แล้วชาเวซก็ก้าวเข้ามาขวางและตำหนิบาร์เรโตต่อหน้าสาธารณชน

แต่คนอย่างอูโก ชาเวซไม่ใช่ปริศนาที่ไขกันง่ายๆ ในอีกด้านหนึ่ง คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่เขาแต่งตั้งขึ้นมาแทนชุดเก่าที่ต้องลาออกไปตามธรรมเนียม ราฟาเอล รามิเรซ ยังคงยึดตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ในขณะที่รองประธานาธิบดีโฮเซ วิเซนเต รางเฮลหลุดจากตำแหน่ง ส่วนเฮสเซ ชาคอนย้ายไปประจำกระทรวงโทรคมนาคมที่ตั้งขึ้นใหม่แทน

หัวใจของความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายนี้วนเวียนอยู่รอบๆ ความหมายของคำว่า 'การปฏิวัติ' การปฏิวัติตามแนวทางโบลิวาร์หมายถึงการปฏิรูปสถาบันที่มีอยู่เดิมเพียงบางแง่มุม? หรือหมายถึงการสร้างสถาบันคู่ขนานที่มีโครงสร้างแตกต่างออกไปจากเดิมขึ้นมาใหม่? นโยบายของชาเวซนับแต่เป็นประธานาธิบดี สามารถเปิดพื้นที่ให้ยุทธศาสตร์ทั้งสองแบบดำเนินควบคู่กันไปได้ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนแค่การปฏิรูปกับฝ่ายที่ต้องการปฏิวัติสังคมและรัฐให้แตกต่างไปจากเดิม

แม้ว่าบรรดาลูกพรรค MVR จะสนับสนุนโวหาร 'ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม' และ 'สังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21' ของชาเวซกันอย่างครึกครื้น แต่ในทางปฏิบัติ ชาเวซย่อมรู้ดีกว่าใครว่า นักการเมือง 'ชาวิซตา' พวกนี้ห่างไกลจากวิสัยทัศน์ทั้งสองประการขนาดไหน บางครั้งถึงขนาดขัดขวางและหน่วงเหนี่ยวนโยบายบางอย่างที่ชาเวซกำลังผลักดันด้วยซ้ำ โดยเฉพาะถ้านโยบายนั้นอาจย้อนมาลดทอนอำนาจของพวกตนลงไป ความไม่พอใจของประชาชนในเรื่องนี้กำลังคุกรุ่น โดยมีช่องระบายออกทางสื่อทางเลือกและวิทยุชุมชน ซึ่งผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดตาม barrio (ละแวกบ้าน) ต่างๆ ทั่วประเทศ

ชาเวซรู้ดียิ่งกว่าใครด้วยว่า องค์กรจัดตั้งอิสระของชุมชนตามละแวกบ้านและสื่อทางเลือกเหล่านี้นี่เอง คือหัวใจสำคัญที่ทำให้เขารอดจากการรัฐประหาร ค.ศ. 2002 การถูกลงประชามติถอดถอนใน ค.ศ. 2004 และชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายครั้งล่าสุด การดำเนินงานขององค์กรเหล่านี้มีประสิทธิภาพยิ่งกว่านักการเมืองลูกพรรคของเขาเป็นไหนๆ และหากเขาปล่อยให้ความไม่พอใจที่ประชาชนรากหญ้ามีต่อนักการเมืองชาวิซตาดำรงอยู่ต่อไป อีกไม่นานเท่าไร ความไม่พอใจอาจลามมาถึงตัวเขาเอง

การวิจารณ์พรรคการเมืองที่สนับสนุนชาเวซ
ในระหว่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งปีที่แล้ว ภาคประชาชนส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงบทบาทของพรรคการเมืองทั้งหลายที่สนับสนุนชาเวซ หัวข้อที่วิจารณ์กันคือ พรรคการเมืองเหล่านี้บริหารงานแบบราชการ เล่นพรรคเล่นพวกและคอร์รัปชั่น ขาดกระบวนการประชาธิปไตยภายในพรรคและไม่สามารถประสานงานหรือร่วมมือกับฝ่ายอื่นๆ ได้ ตัวนักการเมืองเองก็ไม่สามารถพัฒนาสัมพันธภาพที่มีความหมายกับประชาชนสามัญ เพราะนักการเมืองไม่เคยลงไปทำงานชุมชน แม้กระทั่งการจัดประชุมก็ยังสะท้อนช่องว่างและความแตกต่าง พรรคชาวิซตาเหล่านี้จัดประชุมในโรงแรมหรูหรา ไม่เคยย่างกรายมาจัดประชุมในละแวกบ้าน, โรงงาน, หรือจัตุรัสสาธารณะเลย

การเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมายังคงคล้ายคลึงกับการลงประชามติเมื่อ ค.ศ. 2004 พรรค MVR ของชาเวซไม่สามารถจับมือกับประชาชนตามละแวกบ้าน พลังขับเคลื่อนที่แท้จริงเบื้องหลังการรณรงค์หาเสียงให้ชาเวซ มาจากนักกิจกรรมของชุมชนที่จัดตั้งตัวเองต่างหาก ไม่ว่าสโลแกนหาเสียง การชักชวนประชาชนให้ออกมาใช้สิทธิ์ การจัดชุมนุม ฯลฯ ทั้งหมดนี้มาจากองค์กรชุมชนและปฏิบัติการกันเองโดยไม่เกี่ยวกับพรรคการเมืองใดๆ นับวันประชาชนยิ่งแปลกแยกออกห่างจากพรรคการเมือง ชาเวซย่อมเป็นคนแรกๆ ที่มองเห็นความจริงข้อนี้

แน่นอน ข้อเสนอของชาเวซถูกฝ่ายตรงข้ามทั้งในและต่างประเทศโจมตี แต่ข้อกล่าวหาว่าชาเวซกำลังสร้างระบบพรรคเดียวขึ้นมาในเวเนซุเอลา เป็นข้อหาที่ไม่มีมูล เพราะไม่มีสัญญาณใดบ่งชี้เลยว่า เขาจะทำให้พรรคฝ่ายค้าน (ซึ่งความจริงมีมากถึง 43 พรรค) กลายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในการเมืองเวเนซุเอลา การสร้างพรรคใหม่ขึ้นมาจากฐานเสียงเบื้องล่าง มีข้อดีคือการมีสถาบันทางการเมืองที่แข็งแกร่ง มีความโปร่งใส เป็นประชาธิปไตย และอาจทำให้ประชาชนก้าวพ้นจากระบบอุปถัมภ์ ทั้งยังอาจช่วยถ่วงน้ำหนักไม่ให้ฝ่ายซ้ายในเวเนซุเอลายึดติดอยู่กับตัวชาเวซมากเกินไป

แม้ว่ากระบวนการสร้างพรรคใหม่อาจดูเหมือนเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การลดความสำคัญของตัวบุคคล ทว่าข้อเสนอของชาเวซที่จะยกเลิกข้อจำกัดของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเพียงสองสมัย กลับก้าวไปในทิศทางตรงกันข้าม จริงอยู่ มีประเทศประชาธิปไตยจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องนี้เช่นกัน แต่นี่ไม่ใช่ข้อแก้ตัวที่จะอ้างความชอบธรรมต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้

นโยบายสองแนวที่สวนทางกัน คือเดิมพันสุ่มเสี่ยงอีกครั้งที่วางอยู่บนหนทางไปสู่ 'สังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21' หากแนวทางสู่ความเป็นประชาธิปไตยของพรรคการเมืองเติบโตได้ทันเวลา ประชาชนรากหญ้าสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเองอย่างเข้มแข็ง มีหรือไม่มีชาเวซก็ไม่มีความหมายอีกต่อไป แต่หากขบวนการประชาชนไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นสถาบันที่เข้มแข็ง การยึดติดอยู่กับลัทธิเชิดชูตัวบุคคลก็จะคงอยู่ต่อไป และการเอียงซ้ายของเวเนซุเอลาก็พร้อมที่จะล่มสลายไปกับการพังทลายของคนๆ นั้น อนาคตที่แท้จริงของเวเนซุเอลาจึงไม่ได้อยู่ในกำมือของอูโก ชาเวซ แต่อยู่ที่ชาวชุมชนและแรงงานทั้งหลายต่างหาก พวกเขามุ่งมั่นเพียงพอที่จะคว้าอนาคตมาไว้ในกำมือของตนเองหรือไม่?

ฉากหลังทางเศรษฐกิจและการบริโภคที่เพิ่มขึ้น
เรื่องตลกร้ายก็คือ บรรดาผู้สนับสนุนชาเวซตั้งแต่ยอดลงมาจนถึงฐานปิรามิด แท้จริงแล้วสนับสนุน 'สังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21' สักแค่ไหน? อย่าลืมว่าความนิยมในตัวชาเวซที่ทะลักทลายอยู่ในขณะนี้ ส่วนหนึ่งเกิดมาจากดัชนีผู้บริโภคที่สูงเป็นประวัติการณ์ในประเทศนี้ด้วย
เพราะราคาน้ำมันที่สูงลิบ เวเนซุเอลาจึงกลายเป็นประเทศที่มีความเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็วที่สุดในละตินอเมริกา จีดีพีขยายด้วยตัวเลขสองหลัก การบริโภคในปีที่แล้วเพิ่มขึ้นถึง 32% จนมีคำพูดเปรียบเปรยว่า มีเงินอยู่ตามท้องถนนมากกว่าสินค้าและบริการให้ซื้อหา มีการทำนายว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ในปีนี้จะเพิ่มขึ้นถึง 40% สินค้าด้านโทรคมนาคม (อินเทอร์เน็ต, โทรศัพท์มือถือ, คอมพิวเตอร์, ฯลฯ) จะเพิ่มขึ้น 36% สินค้าอุปโภคบริโภค 32% และการก่อสร้างจะเพิ่มขึ้น 29% จำนวนคนจนในเวเนซุเอลาลดลงจาก 44% ใน ค.ศ.1998 เหลือ 34% ใน ค.ศ.2006

ในเมื่อมีสภาพคล่องทางการเงินขนาดนี้ การบริโภคเฟื่องฟูขนาดนี้ จะมีคนสนับสนุนให้ประเทศเปลี่ยนผ่านจากระบบทุนนิยมไปสู่ระบบสังคมนิยมจริงๆ แค่ไหน? แม้แต่คนจนเองก็เถอะ หรือเราอาจต้องนิยามระบบสังคมนิยมกันใหม่ เหมือนดังที่ชาเวซเลือกใช้คำว่า 'สังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21?

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ข้อมูลประกอบการเขียน
Sujatha Fernandes, 'Savvy Marketing or Debating the Issues: Recent Elections in Latin America,' January 11, 2007, ZNet.

Sujatha Fernandes, 'Political Parties and Social Change: Debates about a New Socialist Party in Venezuela,' March 19, 2007, ZNet.

Niko Kyriakou (with Martin Markovits), 'Hugo Chavez's Plans,' IRC Americas Program Elections Report (Silver City, NM: International Relations Center, December 13, 2006).
http://americas.irc-online.org/am/3792

Michael A. Lebowitz, ' 'It's My Party, and I'll Cry If I Want to': Chavez Moves Forward,' December 18, 2006, MR Zine (http://mrzine.monthlyreview.org/lebowitz171206.html).

Jos? A. Laguarta Ram?rez, 'After the 'Red Tide': New Challenges for Revolutionary Venezuela,' December 09, 2006, ZNet.

Gregory Wilpert, 'Chavez Announces Nationalizations, Constitutional Reform for Socialism in Venezuela,' January 10, 2007, Venezuelanalysis.com.

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ภัคดี รายงาน : ทางแพร่งของประชาชนเวเนซุเอลา (ตอน2)

ยุทธศาสตร์ 7 แนวทางระหว่างหาเสียง
ในระหว่างการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี อูโก ชาเวซ ประกาศยุทธศาสตร์ 7 แนวทางของสำหรับการเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองไว้ดังนี้คือ

1) จริยธรรมแบบสังคมนิยมใหม่ เป้าหมายสำคัญอยู่ที่การขจัดคอร์รัปชั่นในรัฐบาลและระบบราชการ

2) ขยายรูปแบบการผลิตแบบสังคมนิยม หรือที่ในเวเนซุเอลาเรียกกันว่า "ระบบเศรษฐกิจสังคม" เช่น สหกรณ์, โครงการทางด้านสังคมที่กระตุ้นให้เกิดการผลิตและการใช้จ่าย รวมทั้งโครงการที่เรียกว่า "การพัฒนาจากภายใน" (Endogenous Development) หมายถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เป็นไปในทางตรงกันข้ามกับลัทธิเสรีนิยมใหม่ "การพัฒนาจากภายใน" เน้นการพัฒนาชุมชนโดยผู้อยู่อาศัยในชุมชน ตั้งอยู่บนการใช้ภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่น ผลตอบแทนที่ได้รับต้องย้อนคืนกลับมาสู่ท้องถิ่นและชุมชนเป็นหลัก โดยมีโครงการนำร่อง 130 แห่งทั่วประเทศ และดำเนินการโดยร่วมมือกับโครงการสังคม "mission" ต่างๆ ของรัฐบาล

3) รัฐบาลจะส่งเสริม "ระบอบประชาธิปไตยแบบปฏิวัติและประชาชนมีบทบาท" เพื่อให้ประชาชนเป็นอำนาจอธิปไตยของประเทศอย่างแท้จริง โดยเน้นไปที่การส่งเสริม "สภาชุมชน" (communal councils) เพื่อเป็นรูปแบบของระบอบประชาธิปไตยทางตรงในเวเนซุเอลา

4) "ความสุขทางสังคมสูงสุด" คือเป้าหมายของประเทศ ตามอุดมคติโบลิวาร์ที่ว่า รัฐบาลที่ดีที่สุดคือรัฐบาลที่ก่อให้เกิดความสุขมากที่สุดแก่ประชาชน

5) การจัดระบบภูมิศาสตร์การเมืองแห่งชาติใหม่ โดยก่อสร้างระบบคมนาคมขนส่งและกระจายศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการเมืองออกไป

6) การจัดระบบภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศใหม่ โดยส่งเสริมโลกหลายขั้วเพื่อต่อต้านการครอบงำของสหรัฐอเมริกา

7) ผลักดันให้เวเนซุเอลากลายเป็นมหาอำนาจด้านพลังงาน ในทางปฏิบัติคือเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเป็นเกือบ 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน และผลักดันให้น้ำมันดิบชนิดหนักมาก รวมอยู่ในการประเมินปริมาณแหล่งน้ำมันของประเทศ ซึ่งจะทำให้เวเนซุเอลากลายเป็นประเทศที่มีแหล่งน้ำมันมากที่สุดในโลก

"หัวจักร" ขับเคลื่อนสู่ "สังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21"
หลังจากได้รับเลือกตั้งแล้ว วันที่ 8 มกราคม 2007 อูโก ชาเวซ กล่าวว่า 8 ปีที่เขาเป็นประธานาธิบดี (สองปีแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเก่ากับอีก 6 ปีภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่) คือขั้นตอนของการเปลี่ยนผ่าน นับจากนี้คือการเดินหน้าสู่สังคมนิยมแบบโบลิวาร์ โดยมี "หัวจักร" ขับเคลื่อน 5 ประการคือ

1) กฎหมายที่ให้อำนาจ (enabling law) ซึ่งชาเวซกล่าวว่าเป็น "กฎหมายแม่" ของโครงการทั้งหมด

2) การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ชาเวซกล่าวถึงหัวจักรนี้ใน 2 ประเด็นคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้เพียง 2 สมัย กับการยกเลิกความเป็นอิสระของธนาคารชาติ ซึ่งชาเวซกล่าวหาว่าเป็นเครื่องมือของลัทธิเสรีนิยมใหม่

3) "การให้การศึกษาประชาชนตามแนวทางโบลิวาร์" ซึ่งหมายถึง "การปลูกฝังค่านิยมใหม่และทำลายค่านิยมเก่าของลัทธิปัจเจกบุคคลนิยมและระบบทุนนิยม"

4) "การสร้างเรขาคณิตทางอำนาจใหม่ให้แก่แผนที่ของชาติ" แม้แต่ชาเวซเองก็ยอมรับว่าหัวจักรตัวนี้ค่อนข้างนามธรรมสักหน่อย! อันที่จริง เขาหมายถึงการจัดสรรอำนาจทางการเมืองเสียใหม่ในเวเนซุเอลา เช่น การส่งเสริมให้รัฐและพื้นที่ที่ค่อนข้างยากจนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น, การปฏิรูประบอบการปกครองส่วนท้องถิ่นใหม่ เป็นต้น

5) การเพิ่มอำนาจให้แก่สภาชุมชน (communal councils) ชาเวซเน้นว่า หัวจักรนี้คือหัวจักรที่สำคัญที่สุด เป้าหมายคือ การสร้างรัฐที่ตั้งอยู่บนอำนาจของชุมชน เพื่อล้มล้างรัฐราชการและอำนาจที่รวมศูนย์อยู่ที่ภาคธุรกิจใหญ่

ประเด็นแรกในเรื่อง "กฎหมายที่ให้อำนาจ" นั้น เป็นประเด็นที่ทำให้ชาเวซถูกสื่อตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า เขาปกครองประเทศด้วยกฤษฎีกา แต่สื่อตะวันตกมักโจมตีชาเวซแบบตีขลุมมากเกินไป เราน่าจะดูรายละเอียดในประเด็นนี้สักหน่อย. การมอบ "กฎหมายที่ให้อำนาจ" แก่ประธานาธิบดีเป็นสิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญของเวเนซุเอลา ทั้งฉบับเก่า ค.ศ. 1961 ที่ยกเลิกไป และในฉบับใหม่ ค.ศ. 1999 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ชาเวซไม่ใช่ประธานาธิบดีคนแรกที่ได้รับมอบอำนาจนี้ แต่เขาเป็นคนที่ห้าในประวัติศาสตร์ของเวเนซุเอลา อีกทั้งก่อนหน้านี้ รัฐสภาเคยมอบอำนาจให้เขามาแล้วสองครั้ง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ปรากฏว่า ชาเวซใช้อำนาจนี้ไปในทางที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือฉ้อฉลเลวร้ายแต่อย่างใด

เพียงแต่การมอบ "กฎหมายที่ให้อำนาจ" (enabling law) แก่ชาเวซในคราวนี้ เกิดขึ้นในสภาพที่สมัชชาแห่งชาติที่เป็นองค์กรนิติบัญญัติของเวเนซุเอลา ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของพรรคการเมืองที่สนับสนุนชาเวซทั้งสิ้น สืบเนื่องจากการที่กลุ่มพรรคฝ่ายค้านคว่ำบาตรการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติเมื่อ ค.ศ. 2005 จนทำให้เกิดสภาพ "เผด็จการรัฐสภา" ขึ้นมา. "กฎหมายที่ให้อำนาจ" ครั้งนี้จะมีอายุ 18 เดือน อนุญาตให้ประธานาธิบดีออกกฎหมายได้ใน 11 เรื่องด้วยกัน กล่าวคือ โครงสร้างของกลไกรัฐ, การเลือกตั้งเจ้าพนักงานท้องถิ่น, เศรษฐกิจ, การเงินและภาษี, การธนาคาร, การคมนาคมขนส่ง, กองทัพและการป้องกันประเทศ, ความปลอดภัยของสาธารณชน และนโยบายด้านพลังงาน โดยมีเหตุผลเพื่อปฏิรูประบบราชการ, ขจัดการคอร์รัปชั่น, ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย, สร้างความเป็นธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ, ปฏิรูประบบสาธารณูปโภค และเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ

การใช้ "กฎหมายที่ให้อำนาจ" มีข้อจำกัดคือ

- ประธานาธิบดีต้องปกครองภายในขอบเขตจำกัดของกฎหมายภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ
- ประธานาธิบดีมีอำนาจออกกฎหมายจำกัดเฉพาะในเรื่องที่สมัชชาแห่งชาติให้อำนาจไว้ (กล่าวคือ 11 เรื่องข้างต้น)
- อำนาจนี้จะหมดอายุลงใน 18 เดือน
- ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจละเมิดสิทธิมนุษยชน
- อำนาจนี้มีเฉพาะกิจการภายในประเทศ ไม่รวมถึงความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
- ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจริบทรัพย์สินเอกชน

ตามรัฐธรรมนูญของเวเนซุเอลา ประชาชนมีอำนาจยกเลิกกฎหมายได้ด้วยการลงประชามติ การลงประชามติจะเกิดขึ้นหากมีประชาชนรวบรวมรายชื่อได้ 10% ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงที่ขึ้นทะเบียนไว้ ในกรณีของกฎหมายที่ออกโดยกฤษฎีกาตามบท "กฎหมายที่ให้อำนาจ" นั้น การลงประชามติสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยรายชื่อเพียง 5% ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง. สมัชชาแห่งชาติ สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่ออกโดยกฤษฎีกาได้ด้วยการลงคะแนนเสียงข้างมาก

สิ่งที่ชาเวซเริ่มทำไปบ้างแล้วด้วยกฎหมายที่ให้อำนาจนี้ ก็คือการโอนกิจการที่ถือเป็น "ยุทธศาสตร์สำคัญ" สามส่วนกลับมาเป็นของรัฐ นั่นคือ กิจการด้านโทรคมนาคม, การผลิตไฟฟ้า, และการเข้าไปถือหุ้นใหญ่ในการผลิตน้ำมัน. หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน คงไม่มีใครคาดคิดว่าฐานอำนาจของชาเวซจะปักหลักมั่นคงได้ขนาดนี้
แต่การปฏิวัติโบลิวาร์ไม่ใช่แค่อูโก ชาเวซ ขณะที่ชาเวซเข้มแข็งขึ้น ประชาชนชาวเวเนซุเอลาสามารถวางรากฐานของตนเองได้มากน้อยแค่ไหน?

สภาชุมชน: ความหวังในการจัดตั้ง
การจัดตั้งของประชาชนในเวเนซุเอลา มีทั้งที่เกิดขึ้นมาเองและได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล ชมรมโบลิวาร์ (Bolivarian Circles) ที่เป็นฐานเสียงสำคัญของชาเวซ กลับไม่สามารถมีบทบาทนอกเหนือจากกรอบการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้มากนัก มันไม่สามารถแสดงบทบาททางด้านการพัฒนาและแก้ปัญหาสังคมในยามปกติที่ไม่ใช่ช่วงเวลาหาเสียงเลือกตั้ง อีกทั้งชมรมโบลิวาร์ยังมีลักษณะของ "ชาวิซตา" (ผู้สนับสนุนชาเวซ) ที่กีดกันคนที่ไม่เห็นด้วยออกไป

ส่วนองค์กรประชาชนที่ชาเวซส่งเสริมและหวังให้มีบทบาทสำคัญคือ สภาวางแผนสาธารณะท้องถิ่น (Local Public Planning Councils-CLPPs) ซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 2001 จุดประสงค์ของสภานี้คือให้แต่ละชุมชนเลือกตัวแทนเข้ามาทำงานร่วมกับข้าราชการในด้านนโยบายและงบประมาณ เมื่อเวลาผ่านไป ความล้มเหลวของ CLPPs ยิ่งเห็นได้เด่นชัด ปัญหาของมันมีมากมายตั้งแต่การมีขนาดใหญ่เกินไป การเลือกตัวแทนของชุมชนที่มีประชากรจำนวนมาก ลงท้ายแล้วก็ไม่ต่างจากการเลือก ส.ส. กล่าวคือ ผู้แทนที่เลือกขึ้นมาไม่ได้เป็นตัวแทนเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง พรรคการเมืองและนายกเทศมนตรีสามารถเข้ามามีอิทธิพลและส่งคนของตัวเองเข้ามาเป็นตัวแทน ส่วนชุมชนจริงๆ ไม่สามารถมีตัวแทนที่เป็นปากเสียงของตนเอง ด้วยเหตุนี้ ชาเวซจึงแก้ไขปัญหาด้วยกลยุทธ์ที่เป็นหมัดเด็ดของเขาเสมอมา นั่นคือ หากกลไกที่มีอยู่ใช้ไม่ได้ผล ก็สร้างกลไกใหม่ขึ้นมา ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2006 รัฐบาลจึงออกกฎหมายเกี่ยวกับสภาชุมชน

กฎหมายเกี่ยวกับสภาชุมชน
สภาชุมชนก่อตั้งขึ้นโดยเรียนรู้มาจากการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม ในเมืองโปร์ตูอาเลเกรของบราซิล และระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในรัฐเกรละของอินเดีย แนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมนี้ไม่ใช่ของใหม่ในเวเนซุเอลา แต่มีมาตั้งแต่อูโก ชาเวซชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีใน ค.ศ. 1998 และการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญใน ค.ศ. 1999 อันที่จริง การสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเพื่อมาแทนที่ประชาธิปไตยแบบผู้แทน เป็นเป้าหมายหนึ่งของการปฏิวัติตามแนวทางโบลิวาร์

กฎหมายสภาชุมชนกำหนดว่า สภาชุมชนแห่งหนึ่งประกอบด้วยครอบครัว 200-400 ครอบครัวในเขตเมือง ส่วนในเขตชนบทอาจมีเพียง 100 ครอบครัวก็พอ มติของสภาเกิดจาก "สมัชชาพลเมือง" หรือประชากรที่มีอายุครบเกณฑ์การลงคะแนนเสียง ทุกคนที่มีอายุเกิน 15 ปี สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในสมัชชานี้ และการลงมติทุกครั้งต้องได้รับคะแนนเสียงอย่างน้อย 20% ของประชากรที่มีสิทธิ์ลงคะแนนทั้งหมด กฎหมายสภาชุมชนยังระบุให้คณะกรรมการละแวกบ้านและองค์กรชุมชนที่มีอยู่เดิม ต้องเข้ามารวมอยู่ในสภาชุมชนที่ตั้งขึ้นใหม่ด้วย

ภายใน 6 เดือนหลังจากออกกฎหมายนี้ มีการก่อตั้งสภาชุมชนถึง 16,000 แห่งทั่วประเทศ และคาดหมายว่าจะมีมากถึง 21,000 แห่งในสิ้นปีนี้ การกำหนดจำนวนครอบครัวไม่ให้มากเกินไป เพื่อให้สภาชุมชนเป็นตัวแทนของพื้นที่ที่ชาวบ้านทุกคนรู้จักกันหมด ไม่ต้องมีต้นทุนการเดินทางมาประชุม ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วม ตัวแทนหรือผู้นำที่ได้มาต้องสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนจริง ๆ สภาชุมชนจะเป็นตัวกลางในการสร้างความสมานฉันท์ขึ้นมาในสังคมที่แตกแยกของเวเนซุเอลา เพราะมันจะรวบรวมทุกฝ่ายเข้ามาไม่ว่าจะเป็น "ชาวิซตา" หรือฝ่ายตรงข้าม

เจตนา (ดูเหมือน) ดี แต่ก็ยังมีปัญหา
ปฏิกิริยาแรกสุดต่อกฎหมายฉบับนี้มาจากประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เป็นสมาชิกของ "คณะกรรมการที่ดินเมือง" ซึ่งเป็นองค์กรชุมชนที่มีความเข็มแข็งและเป็นองค์กรดั้งเดิมที่เกิดขึ้นมาจากการจัดตั้งรวมตัวกันเองของประชาชนรากหญ้า หลังจากเหตุการณ์คารากาโซ ค.ศ.1989 คณะกรรมการที่ดินเมืองมองว่า กฎหมายสภาชุมชนเป็นเจตนาดีของรัฐบาลที่จะสร้างผลเสียขึ้นมาโดยไม่ตั้งใจ พวกเขาทำนายว่า กฎหมายนี้จะทำให้เกิดการต่อสู้ช่วงชิงกันระหว่างคณะกรรมการต่างๆ ภายในชุมชน เช่น คณะกรรมการด้านที่ดิน, สาธารณสุข, น้ำ ฯลฯ ต่างฝ่ายต่างจะวิ่งเต้นเพื่อชิงทรัพยากรมาจากสำนักนายกเทศมนตรี

อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านไปไม่กี่เดือน คณะกรรมการที่ดินเมืองก็เปลี่ยนท่าที พวกเขาตระหนักว่าหากไม่เข้าร่วมกับสภาชุมชนก็จะหมดโอกาสมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของชุมชน ในปัจจุบัน คณะกรรมการที่ดินเมืองกลายเป็นเสาหลักของสภาชุมชนในเมืองใหญ่ๆ และคำทำนายในทางร้ายว่าจะเกิดการชิงดีชิงเด่นกันระหว่างคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ก็ยังไม่เคยเกิดขึ้น การมีส่วนร่วมของชุมชนในหลายๆ แห่งเป็นที่น่าพอใจ ดูจากสถิติผู้มาออกเสียงลงมติและเลือกตัวแทนมีเป็นจำนวนมาก รัฐบาลเองก็ทุ่มเงินลงไปไม่น้อย โดยจัดสรรเงินให้ถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว และปีนี้คาดว่าจะมีการจัดสรรเงินให้ถึง 5 พันล้านดอลลาร์

แต่ปัญหาที่เป็นหัวใจสำคัญของสภาชุมชนก็คือ กฎหมายสภาชุมชนไม่ได้เกิดขึ้นจากการหารือกับประชาชน ทำให้มีสภาชุมชนและขบวนการประชาชนจำนวนมาก ไม่พอใจกับเนื้อหาของกฎหมาย โดยเฉพาะในแง่ที่กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ให้อำนาจสภาชุมชนเหนือกว่าระบบราชการ ทั้งในระดับเทศบาล ภูมิภาค หรือระดับชาติ. สภาชุมชนมีอำนาจเหนือชุมชนท้องถิ่นของตนเองเท่านั้น ดังนั้น กฎหมายนี้จึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงปฏิรูปโครงสร้างกลไกรัฐแต่อย่างใด สภาชุมชนจำเป็นต้องทำงานร่วมกับสถาบันการปกครองที่มีอยู่ดั้งเดิม และเผชิญกับการต่อต้านจากนายกเทศมนตรี ผู้ว่าการรัฐ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกรงว่า สภาชุมชนจะมาแย่งอำนาจไปจากตน

อย่างไรก็ตาม ข้อดีประการหนึ่งของสภาชุมชนก็คือ ถึงแม้สภาชุมชนที่ตั้งขึ้นส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มชาวิซตา แต่กฎหมายไม่ได้มีเงื่อนไขที่ทำให้รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงสภาชุมชนได้โดยตรง ดังนั้น สภาจึงสามารถเป็นอิสระจากรัฐบาลได้หากสมาชิกในสภาเข้มแข็งพอ อีกทั้งโครงสร้างของสภาไม่กีดกันฝ่ายใดออกไป แต่เน้นการรวบรวมทุกฝ่ายให้เข้ามาทำงานร่วมกัน (inclusive) กระทั่งประชาชนกลุ่มที่คัดค้านชาเวซ ก็สามารถเข้ามามีบทบาทในสภาชุมชน. อันที่จริง มีชนชั้นกลางฝ่ายค้านบางพื้นที่ด้วยซ้ำที่ใช้สภาชุมชนเพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลเข้ามามีบทบาทในชุมชนของตน และเห็นว่าสภาอาจเป็นเครื่องมือที่เหมือนศรย้อนแทงชาเวซเองได้

ในบางกรณี สภากลายเป็นเวทีกลางช่วยประสานรอยร้าวในสังคมที่แตกแยกอย่างเวเนซุเอลา มีบางสภาชุมชนที่ฝ่ายชาวิซตาและฝ่ายคัดค้านทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น เมื่อเข้ามาใกล้ชิดกัน ต่างฝ่ายต่างเริ่มยอมรับความเป็นมนุษย์ธรรมดาสามัญของอีกฝ่าย ต่างตระหนักว่าทุกคนต้องการสิ่งเดียวกัน นั่นคือ ชีวิตที่ดีกว่าเดิม สภาพสังคม-เศรษฐกิจ สาธารณสุข การศึกษา สิ่งแวดล้อม ที่ดีขึ้น ในเมื่อทุกคนต่างมีความต้องการเหมือนกัน แล้วทำไมจึงต้องแตกแยก? สมาชิกสภาชุมชนบางคนบอกว่า ความแตกแยกทั้งหมดมาจากข้างบน คนที่มีอำนาจต่างก็ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือในการเพิ่มอำนาจให้ตัวเอง

อำนาจที่กำลังเอียงกะเท่เร่
ทิศทางของอำนาจเบื้องบน กล่าวคือ อำนาจของประธานาธิบดีอูโก ชาเวซ นับวันจะมีแต่ความเข็มแข็งและเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากขึ้นเรื่อยๆ เขากำลังได้รับชัยชนะทั้งในเชิงอุดมการณ์ (ดูจากคะแนนเสียงเลือกตั้ง) เชิงเศรษฐกิจ (ความเฟื่องฟูที่มาจากราคาน้ำมัน) เชิงการเมือง (การยอมรับความพ่ายแพ้ของพรรคฝ่ายค้าน) รวมไปถึงบทบาทในเวทีระหว่างประเทศด้วย (จะมีใครสักกี่คนกล้าเรียกประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นปีศาจกลางที่ประชุมของสหประชาชาติ) แต่การฝากความหวังของการปฏิวัติโบลิวาร์ไว้ที่คน ๆ เดียว ก็เปรียบเสมือนการสร้างบ้านบนเสาเข็มเล่มเดียว มันอาจพังครืนลงมาวันไหนก็ได้ หากประชาชนฐานรากไม่สามารถจัดตั้งตัวเองและสร้างจิตสำนึกขึ้นมาให้แข็งแกร่ง ความไม่สมดุลของอำนาจเบื้องบนกับเบื้องล่างอาจย้อนมาทำลายการปฏิวัติสังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21 ให้ภินทนาการลงอย่างน่าเสียดาย

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ข้อมูลประกอบการเขียน
Michael Fox, "Venezuela's Co-op Boom," June 01, 2007, ZNet.

Michael Fox, "Venezuela's Secret Grassroots Democracy," November 30, 2006, venezuelanalysis.com.

Michael Fox and Gregory Wilpert, "Chavez Announces Plans for Second Full Term at Welcome Home Rally," September 15, 2006, Venezuelanalysis.com.

Marta Harnecker and Coral Wynter, Jim McIlroy, "Venezuela's experiment in popular power," December 20, 2006, Green Left Weekly.

Stephen Lendman, "Hugo Chavez's Social Democratic Agenda," February 22, 2007, ZNet.

Gregory Wilpert, "Chavez Announces Nationalizations, Constitutional Reform for Socialism in Venezuela," January 10, 2007, Venezuelanalysis.com.

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ภัควดี รายงาน: RCTV สมรภูมิใหม่เพิ่งเริ่มต้น (ตอนที่ 3)
สื่อกระแสหลักของสหรัฐอเมริกาพยายามวาดภาพประธานาธิบดีอูโก ชาเวซเป็นจอมเผด็จการมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนเป็นการโหมประโคมเกินกว่าเหตุ และยังไม่เคยงัดหลักฐานที่ชัดเจนออกมาได้สักทีว่า ประธานาธิบดีชาเวซมีการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนตรงไหน จนกระทั่งการไม่ต่อสัญญาให้สถานีโทรทัศน์ RCTV ครั้งนี้แหละ เปิดช่องให้สื่อกระแสหลักแองโกล-อเมริกันได้ทีขี่กระแสไล่ทันที

ยิ่งประกอบกับการออกมาประท้วงของชาวเวเนซุเอลาจำนวนไม่น้อย รวมทั้งมีนิสิตนักศึกษาที่เป็น "พลังบริสุทธิ์" ตอกย้ำด้วยกลุ่มเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชน เช่น Human Rights Watch, Reporters Without Borders, Committee to Protect Journalists ฯลฯ ยิ่งเสมือนการประทับตราครั้งสำคัญถึงความชั่วร้ายของรัฐบาลชาเวซ แม้ว่าบางองค์กรใหญ่ อาทิเช่น รองประธานของคณะกรรมาธิการด้านเสรีภาพแห่งรัฐสภายุโรป จะชี้ขาดในประเด็นนี้อย่างชัดเจนว่า การไม่ต่อสัญญาสัมปทานสถานีโทรทัศน์ครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับปัญหาสิทธิมนุษยชนเลยก็ตาม

ประเด็นปัญหาของการไม่ต่อสัญญา RCTV
เมื่อแรกที่ข่าว RCTV จะถูกโอนคืนเป็นของรัฐนั้น สื่ออเมริกันและตะวันตกรีบประโคมขึ้นมาทันทีว่า รัฐบาลชาเวซ "ยึด" สถานีโทรทัศน์ของเอกชน ทว่าเมื่อข้อเท็จจริงชัดเจนออกมา สื่อกระแสหลักจึงเสียงอ่อยลงและยอมรับว่า เป็นแค่การ "ไม่ต่อสัญญา" ในแง่ของกฎหมาย การไม่ต่อสัญญาให้ RCTV เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ กฎหมายเกี่ยวกับการต่อสัญญาสัมปทานวิทยุโทรทัศน์นี้มีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1987 ตั้งแต่สมัยที่อูโก ชาเวซยังไม่มีบทบาททางการเมืองในเวเนซุเอลาด้วยซ้ำ ตามกฎหมายฉบับนี้ ประธานาธิบดีมีอำนาจในการต่อหรือไม่ต่ออายุให้สถานีโทรทัศน์ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบของสภาหรือคณะรัฐมนตรี

บรรดาเอ็นจีโอจำนวนมากวิจารณ์ประเด็นนี้ว่า แม้รัฐบาลชาเวซทำถูกกฎหมายทุกประการ แต่กระบวนการมีข้อบกพร่อง โดยเปรียบเทียบกับในสหรัฐอเมริกาว่า การต่อสัญญาสัมปทานวิทยุโทรทัศน์จะมีหน่วยงานอิสระคอยกำกับดูแล การลงมติต่อหรือไม่ต่อสัญญาต้องผ่านกระบวนการพิจารณาก่อน แต่ข้อน่าสังเกตในกรณีนี้ก็คือ ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมาหลังจากบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ เหตุใดสถานีวิทยุโทรทัศน์ในเวเนซุเอลาจึงไม่เคยกระโตกกระตากกับปัญหานี้มาก่อน? ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะที่ผ่านมา สถานีวิทยุโทรทัศน์เอกชนเคยชินกับการมีรัฐบาลเผด็จการหรือทุนนิยมที่เป็นพวกเดียวกับตนมาตลอด ในสมัยก่อนๆ การต่อสัญญาโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาขององค์กรใดๆ จึงเป็นข้อได้เปรียบของทุนสื่อมวลชนในเวเนซุเอลา

เรื่องที่รัฐบาลชาเวซจะไม่ต่อสัญญาให้ RCTV ไม่ได้เกิดขึ้นปุบปับ ชาเวซแสดงความตั้งใจในเรื่องนี้มานานแล้ว และหลังจากที่เขาชนะการเลือกตั้งในเดือนธันวาคมศกก่อน(2006) ชาเวซก็ประกาศชัดมาตั้งแต่เดือนมกราคมแล้วว่า ช่องสัญญาณของ RCTV คือเป้าหมายที่เขาจะนำมาใช้เป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ ในกรณีนี้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเวเนซุเอลาที่เกิดขึ้นในสมัยของประธานาธิบดีชาเวซเปิดโอกาสไว้ว่า RCTV สามารถขอให้มีการลงประชามติเพื่อยกเลิกกฎหมายการต่อสัญญาสถานีโทรทัศน์ ขั้นตอนแรกคือรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงที่ลงทะเบียนไว้ในสัดส่วน 10% ของจำนวนผู้มีสิทธิ์ทั้งหมดเพื่อขอให้เปิดการลงประชามติ การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่ RCTV อ้างว่า มีถึง 70% ที่ต้องการให้ RCTV แพร่ภาพต่อไป ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง RCTV ก็น่าจะชนะการลงประชามติที่จัดขึ้น แต่ RCTV กลับไม่เลือกวิธีการนี้ หันไปใช้วิธีการฟ้องร้องต่อศาล การประท้วงบนท้องถนนและการเรียกร้องความสนใจจากต่างประเทศแทน

ประเด็นต่อมาก็คือ สื่อกระแสหลักของตะวันตกและ RCTV วิจารณ์การไม่ต่อสัญญาครั้งนี้ว่า

1) เหตุผลในการไม่ยอมต่อสัญญาของรัฐบาลไม่ดีพอ และ
2) รัฐบาลเลือกปฏิบัติต่อสถานีโทรทัศน์เอกชนในเวเนซุเอลาอย่างไม่เท่าเทียมกัน

ในประเด็นแรก เหตุผลการไม่ยอมต่อสัญญาให้ RCTV ของรัฐบาลชาเวซคือ การที่ RCTV เคยมีส่วนร่วมอย่างชัดเจนในการพยายามทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใน ค.ศ. 2002 มีส่วนร่วมในการปลุกระดมให้ปิดกิจการน้ำมันของรัฐใน ค.ศ. 2002-3 และละเมิดระเบียบข้อบังคับของการแพร่ภาพ

หลักฐานที่ RCTV มีส่วนร่วมในการพยายามทำรัฐประหารครั้งนั้นชัดเจนอย่างไม่อาจโต้เถียงได้ หากใครเคยได้ดูสารคดีเรื่อง "The Revolution Will Not Be Televised" จะเห็นว่า RCTV แพร่ภาพตัดต่อที่ทำให้ผู้ชมเข้าใจผิดคิดว่า กลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดีชาเวซที่รวมกลุ่มอยู่บนสะพานยิงปืนใส่ฝูงชนเบื้องล่าง ทั้งที่ในความเป็นจริง ข้างล่างไม่มีประชาชนหรือขบวนประท้วงเลย (เพราะขบวนประท้วงของฝ่ายค้านไม่ได้เดินผ่านถนนสายนั้น) และพวกเขากำลังยิงตอบโต้มือปืนที่ยิงใส่พวกเขาจากชั้นบนของตึกฝั่งตรงข้ามต่างหาก ภาพตัดต่อนี้ถูกนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร. อันเดรส อีซาร์รา (Andres Izarra) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการข่าวของ RCTV ในขณะนั้น ทนไม่ได้กับการบิดเบือนจนถึงกับลาออกจาก RCTV ปัจจุบันเขาเป็นประธานของ Telesur เครือข่ายสื่อสารดาวเทียมนานาชาติ. สื่อมวลชนและนักวิชาการอเมริกันมักวิจารณ์ประเด็นนี้ว่า หาก RCTV ทำผิดจริง เหตุใดรัฐบาลไม่นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการทางศาล

ในรายการวิทยุ Democracy Now ของเอมี กู๊ดแมน อีซาร์ราชี้ให้เห็นว่า บางครั้งกระบวนการทางศาลของเวเนซุเอลาก็ไว้ใจไม่ได้ อาทิเช่น การรัฐประหาร ค.ศ. 2002 เป็นสิ่งที่ยอมรับกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ (สหรัฐอเมริกาเองก็ออกมารับรองรัฐบาลรัฐประหารครั้งนั้น) แต่ศาลในเวเนซุเอลากลับตัดสินว่า ไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น! และคนที่คุมตัวประธานาธิบดีชาเวซไปกักขังไว้ ทำไปด้วยความปรารถนาดี! รัฐบาลชาเวซนับว่าใจกว้างมากแล้วที่ปล่อยให้ RCTV แพร่ภาพต่อมาอีกถึง 5 ปี และรอจนสัญญาหมดอายุลงในปีนี้ หากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ (แน่ล่ะ ยกเว้นประเทศไทย) RCTV คงลอยหน้าลอยตาอยู่แบบนี้ไม่ได้

ส่วนประเด็นที่สองในเรื่องของการเลือกปฏิบัตินั้น RCTV อ้างว่า หากตนไม่ได้รับการต่อสัญญาเพราะความผิดในข้อแรก เหตุใดสถานีโทรทัศน์ Venevisi?n ที่ทำความผิดอย่างเดียวกัน กลับได้รับการต่อสัญญาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา. RCTV มองว่า สาเหตุที่สถานีของตนถูกเลือกปฏิบัติ ก็เพราะ RCTV วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างหนัก ในขณะที่ Venevisi?n ลดการวิพากษ์ลงและทำตัวเป็นกลางมากขึ้น

ประเด็นนี้มีข้อสังเกตที่น่าขันคือ ข้ออ้างของ RCTV เท่ากับยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า สถานีของตนกระทำความผิดฐานสมรู้ร่วมคิดกับการรัฐประหารจริง เพียงแต่โวยวายว่า ทำไมอีกสถานีหนึ่งที่สมรู้ร่วมคิดเหมือนกัน กลับไม่โดนลงโทษ คำตอบอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลชาเวซก็คือ การไม่ต่ออายุ RCTV ไม่ใช่การลงโทษ แต่การที่สัญญาหมดอายุลง ถือเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะนำช่องสัญญาณมาทำเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญ รัฐมนตรีกระทรวงโทรคมนาคมอธิบายว่า ไม่ว่าอย่างไร รัฐบาลก็ต้องเลือกสถานีใดสถานีหนึ่งที่สัญญากำลังจะหมดอายุลงอยู่ดี ส่วนสาเหตุที่เลือก RCTV ก็เพราะสัญญาณวีเอชเอฟช่อง 2 ของ RCTV เหมาะกับการเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะมากกว่า เนื่องจากช่อง 2 มีสัญญาณรับภาพทั่วประเทศดีกว่าช่องสัญญาณของ Venevisi?n

ข้อวิพากษ์ประการสุดท้ายที่สำคัญที่สุดในการไม่ต่อสัญญาให้ RCTV ก็คือ ประเด็นเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การปิดปากกระบอกเสียงอันหนึ่งของฝ่ายค้านในเวเนซุเอลา เป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือไม่? เป็นการควบคุมสื่อมวลชนที่จะนำไปสู่ระบอบเผด็จการในอนาคตหรือไม่? ถึงแม้ว่า RCTV จะทำความผิดหลายประการ แต่การไม่ต่อสัญญาเท่ากับเป็นการกดขี่เสรีภาพของคนส่วนน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับเสียงส่วนใหญ่หรือเปล่า?

คำตอบกลับไม่ง่ายอย่างที่เรามักคิดกัน คำว่า "เสรีภาพ" หรือคำไหนๆ ในโลก ไม่ใช่สิ่งที่มีความหมายเบ็ดเสร็จในตัวเองโดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อม ก่อนที่จะตัดสินฟันธงว่ารัฐบาลชาเวซเป็นอย่างที่สื่อกระแสหลักในตะวันตกวิจารณ์ เราน่าจะสำรวจดูภูมิทัศน์ของสื่อมวลชนในเวเนซุเอลาดูให้ถ้วนทั่วเสียก่อน

ใครเป็นเจ้าของสถานีและเขาฉายอะไรบนจอทีวีเวเนซุเอลา ?
แน่นอน อดีตสถานีโทรทัศน์ RCTV เป็นสถานีที่ได้รับความนิยมที่สุดและต่อต้านรัฐบาลชาเวซอย่างขันแข็งที่สุด ในช่วงรัฐประหาร 2002, การปิดกิจการน้ำมัน 2002-3 และการลงประชามติถอดถอนชาเวซใน ค.ศ. 2004 RCTV นำเสนอข่าวและสปอตโฆษณาต่อต้านชาเวซอย่างดุเดือด แต่ในช่วงเวลาอื่น RCTV ให้ความสนใจกับธุรกิจหลักของตัวเองมากกว่า นั่นคือ การดึงดูดโฆษณาด้วยรายการบันเทิง ทั้งจากฮอลลีวู้ดและของเวเนซุเอลาเอง ส่วนใหญ่เป็นเกมส์โชว์และละครน้ำเน่า รายการทางการเมืองจำกัดอยู่แค่รายการข่าวตอนกลางคืน กับรายการทอล์คโชว์ตอนเช้ารายการหนึ่งเท่านั้นเอง

เจ้าของ RCTV คือชนชั้นสูงเก่าแก่ของเวเนซุเอลา หนึ่งในตระกูลที่มั่งคั่งที่สุดในประเทศ ตระกูลเฟลปส์ นอกจากเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์แห่งนี้แล้ว ยังเป็นเจ้าของกิจการผลิตสบู่ อาหาร และบริษัทรับเหมาก่อสร้าง เอลิอาโด ลาเรส ประธานบริหารของ RCTV มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับพรรคการเมืองฝ่ายขวา Acci?n Democr?tica ที่เคยผูกขาดเป็นรัฐบาลในสมัยก่อน

สถานีโทรทัศน์ช่องต่อมาที่มีคนดูมากเป็นอันดับสองคือ Venevisi?n เจ้าของคือ กุสตาโว ซิสเนโรส เจ้าพ่อวงการสื่อสารมวลชนชาวเวเนซุเอลาเชื้อสายคิวบา หนึ่งในมหาเศรษฐีติดอันดับของโลก เป็นเจ้าของสื่อถึง 70 แห่ง ใน 39 ประเทศ รวมทั้งเครือข่าย Univisi?n ที่เป็นสื่อภาษาสเปนในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ เขายังมีบริษัทจัดจำหน่ายอาหารอีกนับไม่ถ้วน ซิสเนโรสเคยทะเยอทะยานอยากเล่นการเมืองเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ภรรยาของเขาเป็นลูกสาวคนเล็กของตระกูลเฟลปส์

แม้ว่า Venevisi?n เคยต่อต้านรัฐบาลชาเวซอย่างดุเดือดไม่แพ้ RCTV แต่มันเปลี่ยนท่าทีไปในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2004 ก่อนหน้าการลงประชามติถอดถอนชาเวซจะเริ่มขึ้น ทั้งนี้เกิดจากการไกล่เกลี่ยของอดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ทำให้ Venevisi?n กับประธานาธิบดีชาเวซประกาศยุติสงครามสื่อและ "เคารพกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ระหว่างรัฐบาลเวเนซุเอลากับสื่อมวลชน..." ทว่ามีข่าวลือว่า ซิสเนโรสยอมเปลี่ยนท่าทีให้เป็นกลางต่อรัฐบาลมากขึ้น เพื่อแลกกับการขอให้ชาเวซพาซิสเนโรสเข้าไปรู้จักกับประธานาธิบดีลูลาแห่งบราซิล แน่นอน ชาเวซปฏิเสธข่าวลือเรื่องนี้เสียงแข็ง ในอีกด้านหนึ่ง Venevisi?n และสื่อมวลชนอื่นๆ ลดการวิพากษ์วิจารณ์ชาเวซลง หรือวางท่าทีเป็นกลางมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขากำลังสูญเสียเรตติ้งไป เมื่อพิจารณาจากคะแนนเสียงที่ชาเวซได้รับในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด แสดงว่ามีชาวเวเนซุเอลาถึงครึ่งประเทศที่สนับสนุนชาเวซ การเปลี่ยนท่าทีของสื่อจึงเป็นการหันหัวตามกระแสลมเพื่อรักษาเรตติ้งเอาไว้

สถานีโทรทัศน์อันดับต่อมาคือ VTV ซึ่งเป็นสถานีของรัฐบาลมานมนานแล้ว (เปรียบได้กับช่อง 11 ของไทย) รัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้งผู้บริหารสถานีและควบคุมรายการต่างๆ รายการส่วนใหญ่เป็นประเด็นทางการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลอย่างชัดเจน

สถานีต่อมาคือ Televen นี่เป็นสถานีโทรทัศน์ที่ค่อนข้างใหม่ เพิ่งเริ่มแพร่ภาพเมื่อ ค.ศ. 1988 Televen ค่อนข้างแตกต่างจากสถานีโทรทัศน์เอกชนอื่นๆ ตรงที่วางตัวค่อนข้างเป็นกลางมาตั้งแต่ต้น ในรายการทอล์คโชว์ทางการเมืองของสถานีนี้ จะเชิญตัวแทนทั้งฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านมาอย่างค่อนข้างสมดุลทีเดียว ความเป็นกลางของสถานีนี้ ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากการที่ Televen ไม่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ในเวเนซุเอลา

สถานีโทรทัศน์ขนาดใหญ่แห่งสุดท้ายคือ Globovisi?n ซึ่งเป็นสถานีข่าว 24 ชั่วโมง เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ ค.ศ. 1994 นี่เอง เจ้าของสถานีล้วนเป็นตระกูลธุรกิจที่มั่งคั่งร่ำรวยและเป็นชนชั้นสูง มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับองค์กรเอกชนฝ่ายค้านชื่อ S?mate ซึ่งมีบทบาทสนับสนุนการรัฐประหาร อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ อย่างเปิดเผย แม้ว่าสัญญาณยูเอชเอฟของ Globovisi?n ครอบคลุมพื้นที่จำกัดเพียงแค่เมืองใหญ่สามเมืองเท่านั้น แต่มันมีข้อตกลงร่วมกับสถานีโทรทัศน์เอกชนท้องถิ่นอีกหลายแห่ง ทำให้แพร่ภาพถึงผู้ชมได้มากขึ้น. ในเชิงการเมืองแล้ว Globovisi?n มีน้ำหนักความสำคัญมากกว่าจำนวนผู้ชมหรือสัญญาณแพร่ภาพที่จำกัด ทั้งนี้เพราะมันเป็นสถานีข่าวและนำเสนอความคิดเห็นต่อต้านรัฐบาลตลอด 24 ชั่วโมง

นอกเหนือจากสถานีโทรทัศน์ขนาดใหญ่เหล่านี้ ที่เหลือเป็นสถานีโทรทัศน์ชุมชน แน่นอน ส่วนใหญ่สนับสนุนรัฐบาลชาเวซ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด สถานีโทรทัศน์เอกชนท้องถิ่น ส่วนใหญ่ต่อต้านรัฐบาล นอกจากนั้นก็มี Telesur ที่เป็นเครือข่าวสถานีโทรทัศน์นานาชาติ และ ANTV หรือสถานีโทรทัศน์ของสมัชชาแห่งชาติ ถ่ายทอดการประชุมสมาชิกสมัชชา ทั้งหมดนี้มีจำนวนผู้ชมหรือเรตติ้งไม่มากนัก

สำรวจภูมิทัศน์ของสื่อมวลชนในเวเนซุเอลา
เพื่อเข้าใจปัญหาเสรีภาพของสื่อมวลชน เราควรสำรวจดูบริบทของคำว่า "เสรีภาพ" นั้นให้ดีเสียก่อน แน่นอน เราไม่มีทางชี้ขาดได้เบ็ดเสร็จว่า ภูมิทัศน์ทั้งหมดเป็นอย่างไรจริงๆ เพราะขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้มองด้วย ถ้ามองจากสายตาของฝ่ายค้าน พวกเขาก็กล่าวหาว่า ชาเวซควบคุมสื่อมวลชนส่วนใหญ่ไว้ในมือ ไม่ว่าด้วยการเป็นเจ้าของโดยตรงหรือสนับสนุนทางการเงิน หรือใช้วิธีโดยอ้อมด้วยการใช้กฎหมายสื่อมวลชน แต่ถ้ามองจากสายตาของฝ่ายสนับสนุนชาเวซ พวกเขาก็บอกว่า ฝ่ายค้านนั่นแหละที่ควบคุมสื่อมวลชนถึง 95%

ในเมื่อภูมิทัศน์เป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละฝ่าย สิ่งที่เราต้องนำมาพิจารณาเพื่อพยายามหาภาพภูมิทัศน์ที่เป็นกลางที่สุดก็คือ

ประการแรก ใครเป็นเจ้าของหรือควบคุมสื่อต่างๆ
ประการที่สอง สื่อประเภทไหนบ้างที่เข้าถึงประชาชน
ประการที่สาม สุดท้ายคือ ประชาชนรับชมหรือรับฟังสื่อไหนบ้าง

ประการแรก ดังที่เรากล่าวถึงสื่อโทรทัศน์ไปแล้วข้างต้น ประเด็นนี้มักเป็นข้ออ้างที่ฝ่ายสนับสนุนชาเวซมักใช้รองรับข้อกล่าวหาของตน นอกจากสื่อโทรทัศน์ ไม่ว่าสถานีวิทยุและหนังสือพิมพ์ ส่วนใหญ่เป็นของธุรกิจเอกชนเกือบทั้งสิ้น ตัวเลข 95% ไม่ใช่การกล่าวอ้างเกินความจริง และสื่อเอกชนเหล่านี้เกือบทั้งหมดเอียงไปข้างต่อต้านรัฐบาลชาเวซ

ประการที่สอง ข้อนี้เป็นข้ออ้างที่ฝ่ายค้านมักหยิบยกมารองรับข้อกล่าวหาของตน พวกเขาให้เหตุผลว่า สถานีโทรทัศน์ที่มีขอบเขตสัญญาณแพร่ภาพมากที่สุดคือ ช่อง 2 (เดิมเป็นของ RCTV ปัจจุบันเป็น TVes ของรัฐบาล) และช่อง 8 (VTV) ส่วนสถานีเอกชนที่เหลือ ไม่ว่า Venevisi?n, Televen หรือ Globovisi?n มีขอบเขตสัญญาณแพร่ภาพจำกัดเฉพาะในเขตเมืองที่ประชากรหนาแน่น ถ้ามองในแง่นี้ ทันทีที่รัฐบาลยึด RCTV ไป ย่อมเท่ากับรัฐบาลได้เปรียบฝ่ายค้านอย่างมาก

ประการที่สาม แต่ภาพภูมิทัศน์เปลี่ยนไปทันที เมื่อเราพิจารณาปัจจัยที่ว่า ประชาชนรับชมรับฟังอะไร? จากการสำรวจเรตติ้งก่อนที่ RCTV จะไม่ได้รับการต่อสัญญา ภาพออกมาเป็นดังนี้


ตอนนี้ RCTV กลายเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ TVes รัฐบาลชาเวซให้สัญญาไว้ว่า TVes จะเป็นกลาง กล่าวคืออยู่ในกลุ่มเดียวกับ Venevisi?n และ Televen นี่ยังต้องรอดูว่ารัฐบาลจะทำอย่างที่สัญญาไว้หรือไม่ หากทำตามที่สัญญาไว้ ฝ่ายค้านจะเสียเปรียบรัฐบาลเพียงแค่ 15:25 หรือ 1:1.7 แต่ถ้ารัฐบาลไม่ทำตามสัญญา ฝ่ายค้านจะเสียเปรียบรัฐบาลเท่ากับที่รัฐบาลเสียเปรียบฝ่ายค้านมาตลอดหลายปี นับแต่ชาเวซก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี

อย่างไรก็ตาม ภูมิทัศน์ของสื่อโทรทัศน์อาจเปลี่ยนไปได้อีก ประการแรก ผู้ชมที่เคยดู RCTV อาจย้ายไปดู Globovisi?n มากขึ้น ทำให้สัดส่วนของผู้ชมโทรทัศน์แต่ละช่องเปลี่ยนไป ประการที่สอง Venevisi?n อาจเอียงกลับไปต่อต้านรัฐบาลมากขึ้น เพื่อเรียกเรตติ้งจากผู้ชมฝ่ายค้านที่เคยเป็นแฟนประจำของ RCTV และประการสุดท้าย ผู้ชม RCTV เดิมยังสามารถรับชม RCTV ได้ต่อไปทางเคเบิลทีวี, จานดาวเทียมและอินเทอร์เน็ต ตัวเลขผู้ชมเคเบิลทีวีนั้นไม่สามารถรู้ได้แน่ชัด เนื่องจากมีผู้ลักลอบดักสัญญาณเคเบิลทีวีมาดูโดยไม่จ่ายเงินเป็นจำนวนไม่น้อย ดังนั้น สุดท้ายแล้วความได้เปรียบเสียเปรียบของรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้าน ในด้านสื่อโทรทัศน์ อาจสมดุลกันพอดีที่ 1:1 ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่หาได้ยากแม้แต่ในประเทศประชาธิปไตยตะวันตก

เมื่อหันมาดูสื่อมวลชนสิ่งพิมพ์และวิทยุ ต้องถือว่าฝ่ายค้านได้เปรียบรัฐบาลไม่น้อย ฝ่ายที่สนับสนุนชาเวซมักบอกว่า หนังสือพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในเวเนซุเอลาคือ ?ltimas Noticias เป็นฝ่ายชาวิซตาหรือฝ่ายรัฐบาล แต่หากอ่านดูดีๆ ทั้งในเชิงเนื้อหาและคอลัมนิสต์ทั้งหลาย หนังสือพิมพ์ฉบับนี้จัดว่ามีความเป็นกลางและสมดุลมากที่สุดฉบับหนึ่ง เนื้อหามีทั้งชมและวิจารณ์รัฐบาลอย่างค่อนข้างเท่าเทียมกัน. ส่วนหนังสือพิมพ์อันดับสองกับสาม (El Universal และ El Nacional) รวมทั้งหนังสือพิมพ์รายเล็กๆ ส่วนใหญ่ ปักหลักอยู่ในค่ายฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอย่างมั่นคง แต่ที่รัฐบาลเสียเปรียบที่สุดน่าจะเป็นสื่อวิทยุ สถานีวิทยุที่เข้าข้างรัฐบาลและสถานีวิทยุชุมชน (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวิซตา แต่ไม่เสมอไป) มีสัดส่วนในการเข้าถึงประชาชนน้อยกว่าสถานีวิทยุเอกชนที่เป็นฝ่ายต่อต้านมาก

ดังนั้น เมื่อพิจารณาเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็นภายในบริบทของสื่อมวลชนในเวเนซุเอลา การไม่ต่อสัญญาให้สถานีโทรทัศน์ RCTV ไม่ได้ทำให้การแสดงความคิดเห็นในประเทศนี้ลดความหลากหลายลงสักเท่าไร

สิทธิของคนกลุ่มน้อย
ส่วนในแง่ของสิทธิของ RCTV ในการแพร่ภาพนั้น ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ในทางกฎหมาย รัฐบาลชาเวซไม่ได้ละเมิดสิทธิของ RCTV แต่อย่างใด แม้ว่ากระบวนการพิจารณาต่อหรือไม่ต่อสัญญาให้สถานีโทรทัศน์ของเวเนซุเอลาอาจบกพร่อง แต่ในประเทศอื่นๆ ก็มีข้อบกพร่องไม่แตกต่างกัน อาทิเช่น กรณีของสถานีโทรทัศน์ Thames Television ในประเทศอังกฤษ ซึ่งไม่ได้รับการต่อใบอนุญาตในสมัยนายกรัฐมนตรีแธทเชอร์เมื่อ ค.ศ. 1992 ด้วยข้ออ้างที่ตั้งอยู่บนการประเมินเชิงอัตวิสัยพอสมควรว่า สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ไม่ผ่านมาตรฐาน "คุณภาพการบริการ" ทั้งๆ ที่สถานีก็มีอายุถึง 24 ปี มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสมัยนั้นเหมือนกันว่า รัฐบาลแธทเชอร์ใช้อิทธิพลกดดันให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเช่นนั้น แต่อังกฤษก็ไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติเหมือนดังที่เวเนซุเอลาโดนกระหน่ำอยู่ในปัจจุบัน หากรัฐบาลแธทเชอร์ยืนยันว่าการดำเนินการของรัฐบาลในเรื่องนี้เป็น "อธิปไตยของชาติ" ฉันใด รัฐบาลชาเวซก็อ้างได้เฉกเช่นกัน

แต่หากเราไม่ยกกฎหมายภายในประเทศเป็นข้อตั้ง ทว่ายกเอาสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของคนกลุ่มน้อย เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยทั่วไป เรามักยอมรับกันโดยไม่โต้เถียงว่า การปิดปากเสียงของฝ่ายค้านเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ในกรณีของ RCTV การไม่ต่อสัญญาสถานีโทรทัศน์ไม่ใช่การปิดปาก เพราะ RCTV สามารถแพร่ภาพทางเคเบิลและดาวเทียมโดยไม่มีข้อจำกัด กล่าวโดยเปรียบเทียบให้เห็นชัดก็คือ หากเปรียบคลื่นความถี่เป็นเสมือนโทรโข่งที่ใช้แสดงความคิดเห็น สัญญาณโทรทัศน์ช่อง 2 ที่ RCTV เคยใช้อยู่นั้นก็เป็นโทรโข่งที่ RCTV ยืมมา หาใช่กรรมสิทธิ์ในครอบครองไม่ แล้วใครเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ตัวจริง? คำตอบก็คือ ประชาชน. RCTV ยืมคลื่นความถี่นี้ไปครอบครองนานถึงกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว และตอนแรกที่ได้ไปครอบครองก็อยู่ในช่วงรัฐบาลเผด็จการทหาร การที่รัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งมาตามระบอบประชาธิปไตยจะขอเอาคลื่นความถี่คืนเพื่อไปจัดสรรใหม่ ควรถือเป็นการละเมิดสิทธิของคนกลุ่มน้อยหรือไม่? นี่เป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันถึงปัญหาความชอบธรรม

ปัญหาสิทธิของคนกลุ่มน้อยหรือเสียงข้างน้อยเป็นประเด็นที่เราน่าจะถกเถียงกันให้มาก เพราะเราทุกคนมีโอกาสเป็นหนึ่งในเสียงข้างน้อยได้เสมอ หรืออาจกำลังเป็นอยู่แล้วด้วยซ้ำ ฝ่าย RCTV มองว่า ตนเป็นคนกลุ่มน้อยที่กำลังถูกกลั่นแกล้ง ในขณะที่ฝ่ายชาวิซตาเห็นว่า RCTV เป็นคนกลุ่มน้อยมั่งคั่งที่มีอภิสิทธิ์มายาวนาน การวิจารณ์ยังลามไปถึงเนื้อหาในรายการของ RCTV ว่า เต็มไปด้วยอคติทางด้านเชื้อชาติ หากเปิดโทรทัศน์ดูรายการของ RCTV ผู้ชมที่ไม่ใช่ชาวเวเนซุเอลาคงเข้าใจว่า ทั้งประเทศเวเนซุเอลามีแต่หนุ่มสาวผิวขาวผมบลอนด์ แม้กระทั่งทีมงานเบื้องหลังในสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ก็เป็นคนผิวขาวทั้งหมด ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ในประเทศเป็นคนผิวดำและคนพื้นเมือง

ปัญหาทางด้านเชื้อชาตินี้ส่งผลกระทบที่กินวงกว้างมากกว่าแค่สถานีโทรทัศน์ บรรดานักศึกษาหนุ่มสาวที่ออกมาประท้วงทวงคืน RCTV นั้น ไม่ใช่เพียงเพราะพวกเขาคิดถึงละครน้ำเน่าที่ต่อไปต้องไปหาดูทางเคเบิลทีวีแทน แต่ยังมีประเด็นอื่นๆ อีกที่พวกเขาไม่พอใจรัฐบาลชาเวซ ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านั้น ชาเวซเพิ่งประกาศว่าจะปฏิรูปมหาวิทยาลัย เขาต้องการให้มหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษาให้หลากหลายมากขึ้น และปรับปรุงหลักสูตรเสียใหม่ สำหรับนักศึกษาผิวขาวในมหาวิทยาลัยเอกชนที่รับเฉพาะลูกหลานของคนร่ำรวย นี่เป็นเรื่องที่พวกเขาทนไม่ได้แน่นอน

TVes : เตเวส "ดูด้วยตาตัวเอง"
สถานีโทรทัศน์สาธารณะที่มาแทน RCTV มีชื่อว่า TVes ออกเสียง เต-เวส ทำให้มีความหมายว่า "ดูด้วยตาตัวเอง" แม้รัฐบาลชาเวซสัญญาว่า มันจะมีอิสระจากรัฐบาล แต่ตราบที่รัฐบาลยังเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถานี รวมทั้งเป็นผู้ให้เงินทุนหลักแก่สถานีแล้ว สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ก็ไม่มีทางเป็นอิสระจากรัฐบาลได้อย่างแท้จริง กระนั้นก็ตาม มีคนกลุ่มหนึ่งยินดีมากที่ได้เห็น TVes ถือกำเนิดขึ้น คนกลุ่มนั้นก็คือ กลุ่มผู้ผลิตรายการอิสระ

กฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบทางสังคมในโทรทัศน์และวิทยุของเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาในยุคประธานาธิบดีชาเวซและถูกฝ่ายค้านโจมตีอย่างมาก กฎหมายนี้กำหนดเอาไว้ว่า สถานีโทรทัศน์ทุกช่องจะต้องจัดสรรเวลาวันละ 5 ชั่วโมงในระหว่างตีห้าถึงห้าทุ่ม ให้แก่รายการที่ผลิตโดยผู้ผลิตรายการอิสระ โดยห้ามมิให้ผู้ผลิตรายใดได้เวลาเกินกว่า 20% ของเวลาที่จัดสรรให้ มีผู้ผลิตรายการอิสระหลายพันรายมาลงทะเบียนเพื่อขอมีส่วนร่วมตามข้อกำหนดนี้แล้ว แต่การมี TVes หมายความว่า โอกาสที่รายการของผู้ผลิตอิสระจะได้ออกอากาศย่อมมีมากขึ้นกว่าเดิม และเข้าถึงผู้ชมได้มากขึ้น เพราะเป็นไปได้อย่างยิ่งที่สถานีโทรทัศน์ใหม่จะถ่ายทอดรายการของผู้ผลิตอิสระเกือบทั้งหมด

อย่ามัวแต่ดูทีวี มาทำรายการเองดีกว่า
รัฐบาลชาเวซส่งเสริมให้ประชาชนหันมาเป็นผู้ผลิตรายการทีวี ถึงกับสร้างคำขวัญว่า "อย่ามัวแต่ดูทีวี มาทำรายการเองดีกว่า" ชั้นเรียนสอนการสร้างภาพยนตร์ผุดขึ้นทั่วประเทศ ในรายการของผู้ผลิตอิสระเหล่านี้ ผู้ชมจะได้เห็นชาวเวเนซุเอลาตัวอ้วน ผิวดำ แก่และน่าเกลียด ได้เห็นชนชั้นกึ่งแรงงานและชาวนาไร้ที่ดิน ทุกรายการมีช่องแสดงภาษามือสำหรับคนหูหนวก. ลิล โรดริเกซ ผู้อำนวยการสถานีเตเวสกล่าวว่า TVes จะเป็นพื้นที่ในการกอบกู้คุณค่าที่สถานีโทรทัศน์เอกชนละเลยมานาน โดยเฉพาะมรดกทางวัฒนธรรมของคนผิวดำ

สมรภูมิใหม่เพิ่งเริ่มต้น
วันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา ในการระดมพลภายใต้คำขวัญว่า "เพื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและต่อต้านจักรวรรดินิยม" ชาวเวเนซุเอลาหลายแสนคนออกมาแสดงพลังข่มขวัญฝ่ายที่ประท้วงการไม่ต่อสัญญา RCTV ในการชุมนุมครั้งนี้. อูโก ชาเวซประกาศเปิดฉากสมรภูมิใหม่ เขาบอกว่า ชัยชนะที่เขาได้รับจากการเลือกตั้งในเดือนธันวาคมไม่ใช่ "หมุดหมายของการบรรลุถึง แต่เป็นหมุดหมายของการเริ่มต้น" เพื่อมุ่งสู่การปฏิวัติ
ชาเวซไม่พลาดที่จะหยิบยกนักคิดระดับโลกสักคนขึ้นมาประกอบคำปราศรัย ครั้งนี้คนที่เขาเลือกมาคือ อันโตนิโอ กรัมชี เขาอธิบายแนวคิดเกี่ยวกับ "กลุ่มพลังทางประวัติศาสตร์" ของกรัมชี ซึ่งหมายถึงการที่ชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง สามารถครองความเป็นใหญ่และแสดงอำนาจนำออกมาทั้งในเชิงโครงสร้างสังคมและอุดมการณ์

ในความคิดของกรัมชีนั้น โครงสร้างส่วนบนของกลุ่มพลังทางประวัติศาสตร์ที่ครองความเป็นใหญ่มีสองระดับด้วยกันคือ สังคมการเมืองหรือ "สถาบันของรัฐ" และภาคประชาสังคม ประกอบด้วยสถาบันทางเศรษฐกิจและเอกชน โดยเฉพาะโบสถ์, สื่อมวลชน, และระบบการศึกษา, ซึ่งชนชั้นปกครองใช้ "เพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ครอบงำสังคมและชนชั้นสามัญชน"

หลังจากเปิดสมรภูมิรบทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วงมาแล้ว ตอนนี้อูโก ชาเวซเริ่มเปิดสมรภูมิใหม่ทางด้านสื่อมวลชนและการศึกษา สงครามครั้งนี้เพิ่งเริ่มต้นและคงไม่จบง่ายๆ

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ข้อมูลประกอบการเขียน
Federico Fuentes, "Venezuela: US fears spread of Chavez example," Green Left Weekly, June 11, 2007.

Amy Goodman, Andres Izarra and Francisco Rodriguez, "Chavez Shuts Down Venezuelan TV Station as Supporters, Opponents Rally: A Debate on the Closing of RCTV," http://www.democracynow.org/article.pl?sid=07/05/31/1412206, May 31, 2007.

Richard Gott, "Venezuela clashes also about race and class," , The Guardian (UK) ,June 10, 2007.
Patrick McElwee, "Is Free Speech Really at Stake? Venezuela and RCTV, ZNet, May 25, 2007.

Gregory Wilpert, "RCTV and Freedom of Speech in Venezuela," Venezuelanalysis.com, June 04, 2007.

(เนื้อหาของบทความนี้ส่วนใหญ่นำมาจากบทความของ Wilpert)
สารคดี "The Revolution Will Not Be Televised"

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com