โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 02 August 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๒๐ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (August, 02, 08,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

กล่าวโดยสรุปก็คือ จะป้องปรามการรัฐประหารได้ สังคมต้องทำเอง โดยระมัดระวังไม่ให้เสียเลือดเนื้อ (เช่นอย่ามองหาวีรบุรุษ เพราะวีรบุรุษมักซ่อน "ญัตติ" แฝงส่วนตัวไว้เสมอ) จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที การรัฐประหารในครั้งนี้ สัญญาว่าจะให้มีการลงประชามติรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อันมาจากสภาซึ่งคณะรัฐประหารตั้งขึ้นเป็นผู้ร่าง จึงเป็นโอกาสอันดีที่สังคมส่วนที่ต่อต้านการรัฐประหาร (ทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะแต่ คมช.) จะได้ร่วมมือกันโหวตล้มรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสีย เพื่อทำให้การรัฐประหารอันอาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต เป็นสิ่งที่ดำเนินไปได้ยากขึ้น
02-08-2550

Constitution & Referendum
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

บันทึกความรู้และความคิดเหตุการณ์ปัจจุบัน
ถกแถลงวิชาการ: การไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและประชามติอำพราง
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
นำมาจากบทความที่เคยเผยแพร่แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์

บทความที่เผยแพร่บนเว็บเพจนี้ เคยตีพิมพ์และเผยแพร่แล้ว
ในหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ และเว็บไซต์ประชาไทออนไลน์ ประกอบด้วย
1. คุยกันสามเรื่อง (นิธิ เอียวศรีวงศ์ : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
2. ทำไมไมควรรับร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ : อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
3. Referendum Impossible (เกษียร เตชะพีระ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
4. รัฐธรรมนูญประเทศไหนๆก็มาจากการปฏิวัติทั้งนั้นจริงหรือ (ชำนาญ จันทร์เรือง : นักวิชาการอิสระ)

ในส่วนของภาคผนวก เป็นการบันทึกเหตุการณ์การเมืองร่วมสมัย
ที่ปรากฎในสังคมไทยในภาวะสุญญากาศทางการเมือง - หลังการรัฐประหาร ๑๙ กันยา
- เปิดตัวแล้ว คณะนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธี
- แถลงการณ์ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 และกฎหมายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิรูปสื่อ
โดยเรื่องแรกนำมาจากเว็บประชาไท ส่วนเรื่องหลังมาจากอีเมล์
(คปส)
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
และเพิ่มเติมหัวข้อเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๒๐
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๕.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บันทึกความรู้และความคิดเหตุการณ์ปัจจุบัน
ถกแถลงวิชาการ: การไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและประชามติอำพราง
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
นำมาจากบทความที่เคยเผยแพร่แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์


1. คุยกันสามเรื่อง
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ผมมีเรื่องอยากคุยเกี่ยวกับการลงประชามติอยู่ 3 เรื่อง

(1) ผมชอบความเปรียบของท่านนายกรัฐมนตรีในเรื่องการลงประชามติมาก ท่านบอกว่าระหว่างของที่ท่านยื่นให้ดูต่อหน้า กับของที่ท่านกำไว้ข้างหลัง ประชาชนควรเลือกอะไร? ใช่เลยครับ การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ประชาชนต้องเลือกระหว่างสิ่งที่เขายื่นให้ กับอะไรก็ไม่รู้ที่ผู้มีอำนาจซ่อนไว้ข้างหลัง หากไม่เอาสิ่งที่ยื่นให้ สิ่งที่ต้องเอาอาจเลวร้ายเสียยิ่งกว่าก็ได้

ประชามติคือการถามความเห็นของประชาชนว่า จะเลือกระหว่างอะไรกับอะไร ต้องมีความชัดเจนเพียงพอ ผู้เลือกจึงจะสามารถใช้วิจารณญาณได้ ถ้ามีอะไรที่ถูก "อิ๊บ" ไว้ก่อน ก็คือไม่ได้เลือกนั่นเอง แม้จะดูน่าเอ็นดูเหมือนการละเล่นของเด็กโกงๆ แต่บ้านเมืองไม่ใช่การละเล่นของเด็ก หากอยากให้เลือกจริง ก็ควรว่ามาให้ชัด จะให้เลือกระหว่างอะไรกับอะไร? ขอโทษเถิด บ้านเมืองเป็นของคุณคนเดียวหรือกลุ่มเดียวตั้งแต่เมื่อไร จึงคิดว่าคนอื่นๆ ทั้งหมดมีสิทธิเลือกเพียงระหว่างสิ่งที่คุณยื่นให้ กับอะไรที่คนอื่นๆ ไม่มีสิทธิจะรู้ก่อน

ฉะนั้นก่อนวันที่ 19 สิงหาคม 2550 คมช.กับรัฐบาลควรประกาศให้ชัดว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติ จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใด และจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนั้นในเรื่องอะไรบ้าง

ต้องไม่ลืมว่า การผ่านประชามติคือ การให้ความชอบธรรมแก่รัฐธรรมนูญ หากประชามติถูกจัดอย่างฉ้อฉล เช่นไม่มีอะไรให้เลือก, ไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำว่าคะแนนเสียงเท่าไรของผู้มีสิทธิจึงจะถือว่าผ่าน, ไม่รณรงค์ทางสื่อของรัฐอย่างเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ฯลฯ ประชามติก็เป็นเพียงพิธีกรรม ซึ่งไม่อาจให้ความชอบธรรมแก่รัฐธรรมนูญได้. ก็เพิ่งขับไล่รัฐบาลเก่าลงด้วยเหตุผลว่า คะแนนเสียงอย่างเดียวไม่ใช่ความชอบธรรมไม่ใช่หรือ

เพราะเกณฑ์หรือกติกาการลงประชามติไม่ชอบมาพากลดังนี้ ผมจึงไม่สู้จะเข้าใจข้อเสนอของบางท่านว่า ควรมีช่องให้กาว่า "ไม่ออกเสียง" ด้วย เพราะช่องนี้ไม่มีความหมายในเกณฑ์หรือกติกาของประชามติ เนื่องจากไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำกำหนดไว้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านได้ ต้องได้คะแนนเสียงเป็นสัดส่วนเท่าใดของผู้มีสิทธิทั้งหมด การกาว่า "ไม่ออกเสียง" กับการไม่ไปลงประชามติจึงมีค่าเท่ากัน คือไม่ถูกนับว่าอะไรเลยสักอย่างเดียว. เราอาจได้รัฐธรรมนูญใหม่จากเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ไปใช้สิทธิเพียง 20% (ประมาณเกินกึ่งหนึ่งของ 8 ล้านเสียง) เท่านั้นก็ได้ ผู้มีสิทธิ 80% ที่ไม่ไปใช้สิทธิ กับผู้กาว่า "ไม่ออกเสียง" คือคนที่ไม่ถูกนับเป็นพลเมืองของชาติเท่าๆ กัน

วนกลับไปสู่ปัญหาเก่า คือผู้ที่ไปใช้สิทธิ ก็ไม่รู้จะเลือกระหว่างอะไรกับอะไร แต่ผลของมันก็เท่ากันคือ หากมีผู้รับร่างเกินกึ่งหนึ่งของผู้ไปใช้สิทธิ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็กลายเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเปราะบางต่อการถูกฉีกทิ้งง่ายกว่ารัฐธรรมนูญ 2540

(2) จั่วหน้าใหญ่สุดของโฆษณาฝ่ายต่อต้านรัฐประหารคือ "โหวตล้มร่างรัฐธรรมนูญคือล้มรัฐประหาร" ผมเดาเอาว่าผู้ออกแบบโฆษณาคงหวังว่า จั่วใหญ่นี้จะกระตุ้นให้ผู้อ่านคิดกับประโยคนี้. ถ้าอ่านภาษาไทยแตก ความหมายประธานของประโยคนี้คือ "ล้มรัฐประหาร" ประเด็นจึงมาอยู่ที่ว่าเราควรล้มการรัฐประหารออกไปจากระบบการเมืองไทยเสียทีหรือไม่

ผมเคารพความเห็นของคนจำนวนหนึ่งที่ว่าไม่ควรล้ม เพราะการรัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งของระบบ check and balance ในการเมืองไทย (ซึ่งมีอุปสรรคในเชิงโครงสร้างต่อระบอบรัฐบาลที่มาจากตัวแทนประชาชน) แม้ผมจะเห็นว่าความเห็นเช่นนี้ออกจะไร้เดียงสา เพราะตัวอำนาจที่ก่อรัฐประหารนั้น ไม่มีระบบ check and balance อยู่ด้วย จึงมักสร้างความเสียหายแก่ส่วนรวมมากกว่า แม้กระนั้นก็เคารพความเห็นเช่นนั้นว่ามีค่าควรแก่การนำมาถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้

แต่ว่าเฉพาะความเห็นที่ว่า รัฐประหารไม่ควรเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมือง ผมคิดว่ามีคนแสดงความเห็นเช่นนี้อยู่มาก อย่างน้อยก็ด้วยปาก เพราะรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารสร้างขึ้น ล้วนพยายามลอกความคิดต่อต้านรัฐประหารของรัฐธรรมนูญฉบับ 2517 มาเกือบทุกฉบับ ฉะนั้นจึงมีข้อบัญญัติป้องปรามการรัฐประหารต่างๆ รวมทั้งฉบับร่าง 2550 นี้ด้วย ถือว่าการต่อต้านการรัฐประหารเป็นสิทธิอย่างหนึ่งของประชาชน (ลอกมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 อีกทีหนึ่ง)

การเขียนหลักประกันของกระดาษไว้บนกระดาษเป็นความคิดที่ "ตลก" และก็ได้พิสูจน์หลายครั้งหลายหนแล้วว่าไม่เป็นผลอะไรเลย การสร้างหลักประกันให้แก่รัฐธรรมนูญหรือการป้องปรามการรัฐประหารจึงอยู่ที่สังคม ซึ่งจะให้พลังแก่ระบบบริหารและตุลาการในการรักษาระบอบกฎหมายไว้ (เช่น อปท.ทั้งประเทศไม่ฟังคำสั่งของรัฐมนตรีมหาดไทยซึ่งคณะรัฐประหารตั้งขึ้น เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือตุลาการเลิกยึดหลักว่า อธิปัตย์ของรัฐเกิดจากอำนาจดิบ เพราะเท่ากับนำประเทศไทยกลับไปสู่ซ่องโจร)

กล่าวโดยสรุปก็คือ จะป้องปรามการรัฐประหารได้ สังคมต้องทำเอง โดยระมัดระวังไม่ให้เสียเลือดเนื้อ (เช่นอย่ามองหาวีรบุรุษ เพราะวีรบุรุษมักซ่อน "ญัตติ" แฝงส่วนตัวไว้เสมอ) จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที การรัฐประหารในครั้งนี้ สัญญาว่าจะให้มีการลงประชามติรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อันมาจากสภาซึ่งคณะรัฐประหารตั้งขึ้นเป็นผู้ร่าง จึงเป็นโอกาสอันดีที่สังคมส่วนที่ต่อต้านการรัฐประหาร (ทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะแต่ คมช.เพียงกลุ่มเดียว) จะได้ร่วมมือกันโหวตล้มรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสีย เพื่อทำให้การรัฐประหารอันอาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต เป็นสิ่งที่ดำเนินไปได้ยากขึ้น

ฉะนั้นโหวตล้มร่างรัฐธรรมนูญจึงคือการล้มรัฐประหาร - ไม่ใช่ล้มคณะรัฐประหารชุดนี้อย่างเดียว แต่ล้มหรือแผ้วถางทางไปสู่ภูมิคุ้มกันของสังคมต่อการรัฐประหาร (การดำเนินการที่ขัดรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย) ทุกชนิดตลอดไป

ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญโดยตรง และสอดคล้องกับจั่วหัวตัวเล็กกว่าที่ว่า "ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร" และสอดคล้องกับภาพปืนที่จี้ไปยังผู้ลงประชามติไม่รับร่าง อันเป็นภาพภูมิหลังของโฆษณา. แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ลงโฆษณาก็คำนึงถึงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญด้วย จึงได้ตัดเอาข้อเขียนของนักวิชาการที่คัดค้านเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ หรือคัดค้านกระบวนการลงประชามติ มาประกอบไว้ข้างๆ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เหมือนการโฆษณาทั้งหลาย ย่อมมุ่งจะดึงดูดการสนับสนุนให้กว้างที่สุดเป็นธรรมดา ผู้ต่อต้านการรัฐประหารก็ควร "โหวตล้ม" ผู้ที่สนใจแต่เนื้อหาของตัวร่างก็ควร "โหวตล้ม" ถ้าทั้งสองอย่างยิ่งควร "โหวตล้ม" เป็นสองเท่า

ผมเห็นคอลัมนิสต์หลายคนวิจารณ์ว่า แค่ร่างรัฐธรรมนูญมาจากการรัฐประหารอย่างเดียว ไม่เป็นเหตุผลให้ต้องโหวตล้ม ต้องดูเนื้อหาด้วย ผมก็ไม่ทราบว่าผู้ลงโฆษณาล้มเหลวที่จะสื่อความ หรือคอลัมนิสต์อ่านภาษาไทยไม่แตก ทำให้ประเด็นข้อเสนอของผู้ลงโฆษณาไม่ได้รับการพิจารณาถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในสังคมเท่าที่ควร

(3) ไม่นานมานี้ พ่อค้าผลไม้ซึ่งซื้อกันเป็นประจำถามผมว่า ถ้าไม่ไปลงประชามติในวันที่ 19 ส.ค. จะมีความผิดหรือไม่ ผมจึงบอกเขาว่าไม่มีความผิดอะไร เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดโทษผู้ไม่ใช้สิทธิไว้ เขาจึงแสดงความโล่งอกว่า เขาไม่ชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงไม่อยากไปลงประชามติ ผมต้องรีบบอกเขาว่าอย่าทำอย่างนั้นสิ ควรไปลงประชามติเพื่อช่วยกันคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขาแสดงความแปลกใจว่าทำได้ด้วยหรือ ผมยืนยันว่าทำได้แน่ และควรทำด้วย. การโฆษณาเรื่องประชามติของรัฐเกิดผลในความรับรู้ของประชาชนอย่างไร คงไม่ต้องอธิบายให้มากความกว่านี้นะครับ

เพราะการโฆษณาของรัฐซึ่งยึดครองสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไว้เด็ดขาด ทั้งแม่ไก่ ทั้ง อสม. ทั้งทหาร ฯลฯ ระดมกันโฆษณาอย่างที่เห็นๆ กันอยู่เช่นนี้ บวกด้วยเกณฑ์หรือกติกาการลงประชามติที่หละหลวม ผมจึงเชื่อว่าถึงอย่างไร ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะผ่านการรับรอง แต่การออกไปลงคะแนนเสียงไม่รับร่างฯ ก็ยังมีความสำคัญสำหรับอนาคตของประเทศ

ทุกฝ่าย แม้แต่ฝ่ายที่ยึดอำนาจบ้านเมืองเวลานี้ รวมทั้งพรรคการเมืองที่กระสันจะจัดตั้งรัฐบาลทุกพรรค ก็ยอมรับว่าในที่สุดร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ต้องถูกแก้ไขในภายหน้า แต่จะแก้ไขอย่างไร ตามแต่ผลประโยชน์ของคณะรัฐประหาร, ผลประโยชน์ของเทคโนแครตที่เข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร, ผลประโยชน์ของพรรคการเมืองที่ไม่เคยให้ความสำคัญแก่ประชาชนหรือประชาธิปไตย, หรือแก้เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติอันหมายถึงประชาชน ก็ขึ้นอยู่กับพลังอะไรที่จะเข้ามากำกับควบคุมการแก้ไขในภายหน้า ฉะนั้นคะแนนเสียงของผู้ไม่รับร่างจึงมีความสำคัญในอนาคต แม้เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการลงประชามติก็ตาม

ผมจึงอยากเรียกร้องคนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ (ด้วยเหตุผลใดก็ตาม) ช่วยออกไปลงประชามติกันให้เต็มที่ ถึงท่านจะแพ้ แต่ท่านได้ช่วยวางฐานของการที่ประชาชนไทยจะกำกับควบคุมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในอนาคต ทวงชาติของเราคืนมาเป็นของประชาชนเสียที โดยวิถีทางสันติวิธีด้วย

2. WHY NO TO THE 2007 DRAFT: ทำไม "ไม่" ควรรับร่างรัฐธรรมนูญ 2550
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ : อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

(1) เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีที่มา และจิตวิญญาณเป็น "อประชาธิปไตย" ขาดกลไกและเจตนารมย์ของการปฏิรูปทางการเมือง ซึ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศชาติในยามวิกฤตเช่นนี้

(2) เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีสาระที่เป็น "อำมาตยา/เสนาธิปไตย" ต้องการรักษาผลประโยชน์ของหมู่คณะของตน
ดังตัวอย่างของมาตราที่เกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภาที่ให้มีการแต่งตั้ง เป็นลักษณะของการถอยหลังเข้าคลองกลับไปกว่า 75 ปี

(3) เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้อำนาจตุลาการ เข้าไปพัวพันก้าวก่ายในองค์กรอิสระ ทำให้ขาดความเป็นกลางและความน่าเชื่อถือ เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อหลักการณ์ "แบ่งแยกอำนาจ" ของสังคมไทย

(4) เพราะองค์กรและตัวแทนของรัฐ ที่รับผิดชอบต่อการร่างรัฐธรรมนูญ และการลงประชามติ ขาดความเที่ยงธรรม
บิดเบือนและสร้างความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชนว่า หากไม่รับร่างนี้แล้ว ก็จะไม่มีการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่จำเป็นจะต้องมีการเลือกตั้งอยู่ไม่ช้าก็เร็ว และยังแอบอ้างบางสถาบันหรือใช้สีบางสี โน้มน้าวทำประชาสัมพันธ์และทำการตลาดให้ประชาชนต้อง "รับ" (หรือ "ไม่รับ" เพียงหนึ่งในสองทางเลือกเท่านั้น ซึ่งแม้แต่ในองค์การสหประชาชาติ ก็ยังมีการลงมติด้วย "การงดเว้นออกเสียง" ได้ คือ มีสามทางเลือก yes-no-abstain)

(5) เพราะการกระทำในข้อ 4 ข้างต้น ทำให้สังคมไทยขาดบทเรียน และความทรงจำที่ว่า การแก้ไขปัญหาของชาติ แม้จะใช้กำลังอาวุธกับความรุนแรง แม้จะขาดหลักการณ์และกระบวนการทางกฎหมายและหลัก "นิติธรรม" ก็สามารถทำได้ กลายเป็น "อำนาจคือธรรม" เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี และเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่ออนาคตของเยาวชนคนหนุ่มสาวที่จะไม่เห็นความจำเป็นของ "สันติประชาธรรม"

(6) เพราะร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ขาดจิตสำนึกและเจตนารมย์ในการสร้างความสมานฉันท์ ความสามัคคี และความปรองดองในชาติ ยังคงดึงดันที่จะใช้นามประเทศ ว่า "ไทย" และ Thailand ต่อไปตามแบบฉบับของ "อำมาตยา/เสนาธิปไตย" นับตั้งแต่ พ.ศ. 2482 เป็นต้นมา แทนที่จะใช้นามประเทศว่า "สยาม" หรือ Siam ตามหลักการณ์ของ "ประชาธิปไตย"
ดังเช่นในฉบับแรก 27 มิถุนายน 2475 ที่ใช้นามว่า "แผ่นดินสยาม" หรือ ตามหลักการณ์ของความปรองดองกัน ดังเช่นในฉบับที่สอง 10 ธันวาคม 2475 ที่ใช้นามประเทศว่า "ราชอาณาจักรสยาม" (Siam)

(7). และดังนั้น ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงไม่ตระหนักถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษา และวัฒนธรรมของประเทศของเราที่เป็นที่อยู่ และเป็นแผ่นดินที่ "รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย... ลาว คนเมือง คนอีสาน มอญ เขมร กูย มลายู แต้จิ๋ว กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน แคะ ไหหลำ จาม ชวา ซาไก มอแกน ทมิฬ ปาทาน เปอร์เซีย อาหรับ ฮ่อ พวน ไทดำ ผู้ไท ขึน เวียด ยอง ลั๊วะ/ละว้า ม้ง เย้า กะเหรี่ยง ปะหล่อง มูเซอร์ อะข่า ขะมุ มลาบรี ชอง ญากูร์ ฝรั่ง (ชนชาติต่างๆ) แขก (ชนชาติต่างๆ) ลูกผสม/ลูกครึ่งต่างๆอีกมากมายกว่า 50 ชาติพันธุ์ ที่จะต้องอยู่ร่วมกันโดยสันติ สมานฉันท์ สามัคคี ปรองดอง และเป็น "ประชาธิปไตย"

หมายเหตุ
(ก). ท่านที่สนใจเรื่องราวและปัญหาของนามประเทศ "สยาม" หรือ "ไทย" (Siam or Thailand)โปรดหาอ่านได้จาก "มติชนสุดสัปดาห์" ฉบับวันที่ 22 และ 29 มิถุนายน 2550 หรือ click: http://charnvitkasetsiri.com/PDF/SiamNamePath.pdf

(ข). ส่วนท่านที่สนใจจะ "กู้" นามสยามประเทศ และ Siam โปรดลงนามเรียกร้องในเว็บ: http://www.petitiononline.com/siam2007/petition.html

3. Referendum Impossible
เกษียร เตชะพีระ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในโอกาสที่เรากำลังจะลงประชามติเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย เพื่อพิจารณารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์หากบอกเล่าเก้าสิบท่านผู้อ่านว่า ในทางรัฐศาสตร์โดยเฉพาะการเมืองการปกครองเปรียบเทียบของนานาประเทศนั้น มีแนวคิดข้อสังเกตทางวิชาการ และการปฏิบัติเกี่ยวกับ "การลงประชามติ" อย่างไรบ้างในเบื้องต้น พอเป็นสังเขป

(ก) นิยาม การลงประชามติ
การลงประชามติหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Referendum ถือเป็นเครื่องมืออันหนึ่งของประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) เพื่อให้บรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ลงมติตัดสินเกี่ยวกับ:-

(1) มาตรการสาธารณะบางอย่างที่รัฐบาลนำเสนอ เช่น การลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ, รวมทั้งกฎหมายธรรมดาบางชนิด

(2) การเปลี่ยนย้ายถ่ายโอนเขตอำนาจอธิปไตยที่องค์การระหว่างประเทศเสนอแนะ เช่น การลงประชามติในติมอร์ตะวันออกเพื่อตัดสินว่าจะแยกประเทศเป็นเอกราชจากอินโดนีเซียผู้ยึดครองหรือไม่ ซึ่งจัดโดยองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ.1999 เป็นต้น

(ข) บทบาทหน้าที่ การลงประชามติ

(1) โดยหลักการ การลงประชามติเป็นการแบ่งอำนาจนิติบัญญัติมาให้บรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ได้ใช้ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร
แทนที่จะให้สภาผูกขาดอยู่ฝ่ายเดียว

(2) มันเป็นเครื่องมือเหนี่ยวรั้งตรวจสอบอำนาจรัฐบาล และแก้ไขความผิดพลาดบกพร่องของสภา

(3) กระนั้นก็ตาม การลงประชามติเพียงช่วยหนุนเสริมสถาบันผู้แทนที่ทำงานไม่ได้ผลเท่านั้น หาใช่เข้าไปแทนที่ทั้งหมดไม่

(4) การลงประชามติยังช่วยประกันความชอบธรรมและการสนับสนุนของประชาชนแก่นโยบายของรัฐบาลด้วย

(5) การลงประชามติอาจมีผลผูกมัดให้รัฐบาลหรือสภาต้องออกกฎหมายตามมา, หรือมีผลแค่ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลหรือสภาเท่านั้น ทั้งนี้แล้วแต่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในประเทศหนึ่งๆ ทว่าแม้ในกรณีเป็นแค่คำปรึกษา โดยทั่วไปก็ถือว่าผลการลงประชามติเป็นอาณัติทางนิติบัญญัติที่มักกดดันให้รัฐบาลหรือสภาทำตามด้วย

(ค) ผลกระทบ การลงประชามติ

(1) การลงประชามติจะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง โดยเปิดช่องให้บรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แสดงมติอิสระของตนได้ โดยไม่ต้องผ่านผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคในสภา

(2) มันเพิ่มอิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มกดดันทางการเมือง เพราะการเคลื่อนไหวจัดตั้งบรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ไปออกเสียงประชามติทางใดทางหนึ่ง เป็นกุญแจสำคัญในการรณรงค์ผลักดันการลงประชามติ

(3) แน่นอนว่าในทางกลับกัน ภายใต้ระบอบเผด็จการที่กลไกรัฐแห่งระบบราชการเป็นใหญ่ หากกลไกรัฐราชการฝ่ายต่างๆ เช่น ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง ฝ่ายการศึกษา หรือแม้แต่ฝ่ายสาธารณสุข เข้าไปมีบทบาทเคลื่อนไหวจัดตั้งมวลชนรากหญ้าอย่างกว้างขวาง กลไกรัฐก็ย่อมสามารถมีอิทธิพลมากต่อการลงประชามติเช่นกัน ดังที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ทั่วประเทศขณะนี้
(โปรดดู "เซี่ยงเส้าหลง" และทีมข่าวการเมือง, "ขบวนการสร้างข่าวลือ -- วิทยากรแม่ไก่ กับ ไข่ลม", ผู้จัดการออนไลน์, 22 ก.ค. 2550, www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx? NewsID=9500000085392)

(4) หากประเด็นการลงประชามติซับซ้อน ตัดสินใจยาก เหมือนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้... ซึ่งอาจารย์สิริพรรณ นกสวน แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวขวัญถึงว่า จะนับเป็นประวัติการณ์ของโลกที่ประชาชนไทยต้องลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ยาวที่สุดถึง 309 มาตรา โดยมีเวลาศึกษาทำความเข้าใจมันสั้นที่สุดเพียง 19 วัน นับแต่วันเริ่มคิกออฟแคมเปญ 31 ก.ค. ถึงวันลงประชามติ 19 ส.ค. ศกนี้ ("เสวนา: ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550: ทางออกหรือทางตัน", ประชาไทออนไลน์, 22 ก.ค. 2550 www.prachatai.com) ขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 214 ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กำหนดให้เผื่อเวลาไว้ 90-120 วันนับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันลงประชามติจริงเป็นเกณฑ์เปรียบเทียบ (banchmark)

ในสภาพ Mission Impossible หรือ Referendum Impossible ดังกล่าว ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติสักกี่เปอร์เซ็นต์ในจำนวนทั้งสิ้น 42 ล้านคนที่จะนั่งลงตั้งอกตั้งใจอ่านร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และพินิจพิเคราะห์พิจารณ์อย่างละเอียดลออถี่ถ้วนทุกแง่ทุกมุม ได้ทันกำหนดวันลงประชามติในทางเป็นจริง - ไม่ใช่ในอุดมคติ?

ถ้าถืออัตราการอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยของคนไทยเป็นเกณฑ์ ตามที่ปลัดกระทรวงศึกษาธิการตั้งเป้าไว้ว่าอยากให้ขึ้นถึง 12 บรรทัดต่อคนต่อวัน จากเดิม 7 บรรทัดต่อคนต่อวันตามการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2546 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (อ้างใน "เทิดพระเกียรติ "ในหลวง-พระเทพฯ" ต้นแบบนักคิด นักอ่าน นักฟัง นักเขียน", ผู้จัดการออนไลน์, 13 มิ.ย. 2550, www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9500000068520)

ในเวลา 19 วัน คนไทยโดยเฉลี่ยคงอ่านร่างรัฐธรรมนูญอย่างเดียวโดยไม่อ่านอย่างอื่นเลยไปได้แค่ 229 บรรทัด ถึงมาตรา 32 ไม่ทันจบหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ในส่วนที่ 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลดี, และถ้าคิดเผื่อเพิ่มให้เป็น 1 เดือนเต็มหรือ 31 วัน โดยนับจากวันที่บุรุษไปรษณีย์นำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับพิมพ์ผิด / ฉบับทรมานผู้พิพากษาอาวุโส ("รธน.พิมพ์ผิด / ฉบับแจกชาวบ้าน-กกต.แฉ", มติชนรายวัน, 24 ก.ค.2550, น.1) มาสอดใส่ตู้ไปรษณีย์หน้าบ้านผมเมื่อ 20 ก.ค. ศกนี้จนถึงวันลงประชามติที่ 19 ส.ค., คนไทยโดยเฉลี่ยก็ยังอ่านร่างรัฐธรรมนูญอย่างเดียวโดยไม่อ่านอย่างอื่นเลยไปได้อย่างมากแค่ 332 บรรทัด จบมาตรา 45 หมวด 3 ในส่วนที่ 7 ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชนเท่านั้น

จากร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด 15 หมวดกับบทเฉพาะกาลรวม 309 มาตรา - คืออ่านไปได้ราว 15% ของร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เหลืออีก 12 หมวดกว่า 264 มาตรายังไม่ได้อ่าน แบบนี้แล้วประชาชนไทยโดยเฉลี่ยจะเลือกโหวตลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอย่างรอบรู้ข่าวสารข้อมูล (informed choice) ด้วยตัวของตัวเองเข้าไปได้อย่างไร ในเมื่อยังไม่ทันได้อ่านอีกตั้ง 85% ของทั้งฉบับ? ฉะนั้น จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ในกรณีทำนองนี้ผู้ออกเสียงประชามติมักอาศัยนักการเมือง (ซึ่งปัจจุบันก่อนอื่นย่อมหมายถึงนายทหาร, ข้าราชการประจำ และพันธมิตร) สื่อมวลชน นักเคลื่อนไหวรณรงค์ทางสังคม และปัญญาชนสาธารณะให้ช่วยตีความชี้นำประเด็นสำคัญ และความหมายของการลงประชามติให้

คนเหล่านี้จึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการชี้นำกระแสสังคมทางความคิดในการลงประชามติ

(5) ถึงแม้พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ จะเล็งผลเลิศว่าคงมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญถึง 26 ล้านคน จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติทั้งสิ้น 42 ล้านคน หรือราว 60% แต่กระนั้น ประสบการณ์ส่วนใหญ่ของนานาประเทศที่เคยจัดลงประชามติชี้ชัดว่า สัดส่วนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติที่มาใช้สิทธิจริงมักค่อนข้างต่ำ และหากจัดบ่อยก็จะยิ่งลดลงเพราะเกิดอาการเหนื่อยล้าเลือกตั้ง (voter fatigue). ดังนั้น เพื่อป้องกันกรณีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติน้อยเกินไปจนถูกครหาว่าผลที่ออกมาอาจไม่สะท้อนมติของประชาชนโดยรวมอย่างเที่ยงตรงแท้จริง และขาดความชอบธรรม นานาประเทศจึงมักกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของสัดส่วนบรรดาผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติที่มาใช้สิทธิจริงเอาไว้ เพื่อประกันให้การลงประชามติครั้งนั้นมีน้ำหนักมากพอและมีผลใช้ได้

ในกรณีประเทศไทย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 214 กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติจริงไว้ว่า ต้องไม่ต่ำกว่า 1 ใน 5 หรือ 20% ของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติทั้งหมด มิฉะนั้นให้ถือว่าประชาชนโดยเสียงข้างมากไม่เห็นชอบ

ทว่า สำหรับกรณีการลงประชามติที่มีผลผูกมัดสำคัญถึงขนาดกำหนดระบอบการเมืองการปกครองของชาติอย่างร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ สุทธิชัย หยุ่น แห่งเครือหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น เสนอว่าควรต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติไม่ต่ำกว่า 30% หรือราว 12.6 ล้านคนขึ้นไป มิฉะนั้นถือว่าวิกฤต (สุทธิชัย หยุ่น, "Blog TV ...หากแค่ 30% ไปใช้สิทธิ์ประชามติ, นั่นหละวิกฤต" OKNation Blog, 16 ก.ค. 2550, www.oknation.net/blog/black/2007/07/16/entry-1)

อาจด้วยความวิตกเรื่องดังกล่าว จึงมีการเสนอความคิดบรรเจิดไฉไลให้ทางราชการ จัดบริการอำนวยความสะดวกพาประชาชนไปลงประชามติกันให้เอิกเกริก ระเบิดเถิดเทิงเลยทีเดียว ("กกต.เห็นด้วย ขนคนออกเสียง", ไทยรัฐออนไลน์, 23 ก.ค.2550,www.thairath.co.th/news.php?section=hotnews&content=54902) ซึ่งอาจกลายเป็นการสร้างประวัติการณ์การลงประชามติของโลกซ้ำสองอีกกระมัง?

4. รัฐธรรมนูญประเทศไหนๆก็มาจากการปฏิวัติทั้งนั้นจริงหรือ
ชำนาญ จันทร์เรือง : นักวิชาการอิสระ

เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ ๒๑ ก.ค. ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสฟังรายการ "เปิดบ้านพิษณุโลก"ของนายกฯ สุรยุทธ์ ที่ถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ แต่เมื่อฟังถึงตอนที่ผู้ดำเนินรายการในวันนั้นแสดงความไม่เห็นด้วยต่อประเด็นที่ฝ่ายต่อต้านการรับร่างรัฐธรรมนูญจุดขึ้นมาว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มาจากตัวแทนประชาชน แต่มาจากการปฏิวัติ ตน(ผู้ดำเนินรายการ) คิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับแรกของสหรัฐอเมริกาก็มาจากการปฏิวัติ หรือฝรั่งเศสเอง ก็เช่นกัน และย้ำว่ารัฐธรรมนูญประเทศไหนๆ ก็มาจากการปฏิวัติทั้งนั้น โดย นายกฯสุรยุทธ์ ได้กล่าวเห็นด้วย พร้อมกับเสริมว่า แม้กระทั่งของอังกฤษก็เหมือนกัน

ผมฟังการให้ข้อมูลประชาชนเช่นว่านี้ด้วยความไม่สบายใจ เพราะเป็นการให้ข้อมูลที่ออกอากาศไปทั่วประเทศ และที่สำคัญก็คือ ผู้พูดเป็นถึงนายกรัฐมนตรี ผู้ฟังย่อมที่คล้อยตามได้ง่ายอยู่แล้ว หากผู้ฟังไม่ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนแท้จริง ก็อาจสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำกล่าวที่ว่า "รัฐธรรมนูญประเทศไหนๆ ก็มาจากการปฏิวัติทั้งนั้น"เสียเป็นแน่

ก่อนที่ผมจะแสดงความเห็นแย้งต่อคำกล่าวดังกล่าว ก็อยากจะให้ข้อมูลถึงความหมาย ความสำคัญ ประเภทและที่มาของรัฐธรรมนูญก่อนว่าเป็นอย่างไร?

ความหมายและความสำคัญ
รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุด(supreme law) โดยรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่วางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับรูปแบบโครงสร้างการเมืองการปกครองของรัฐ และวางพื้นฐานของอำนาจของรัฐที่มีเหนือปัจเจกบุคคล กฎหมายใดๆ ก็ตามจะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายใดที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นอันใช้บังคับไม่ได้

การแบ่งประเภทของรัฐธรรมนูญ
เราสามารถแบ่งประเภทของรัฐธรรมนูญออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ

(๑) รัฐธรรมนูญแบบจารีตประเพณี(unwritten constitution) รัฐธรรมนูญแบบจารีตประเพณีนี้มีที่มาจากอังกฤษ ซึ่งถือว่าเก่าแก่กว่ารัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษร รัฐธรรมนูญแบบนี้ประกอบด้วยกฎหมายที่ได้ตราออกมา , คำพิพากษาของศาลที่ได้รับการยอมรับจนกลายเป็นบรรทัดฐานในรัฐธรรมนูญ , จารีตประเพณีที่สืบกันมา เช่น พรรคการเมืองที่มีชื่อเสียงข้างมากในสภาเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ฯลฯ หรือธรรมเนียมปฏิบัติของรัฐธรรมนูญ เช่น ธรรมเนียมเกี่ยวกับการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ ฯลฯ ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญของอังกฤษจะเป็นจารีตประเพณี แต่ก็มีเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพิ่มเติมเข้าไปในรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน

(๒) รัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษร(written constitution) รัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษรนี้มีในสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรก ส่วนใหญ่ประเทศต่างๆ ในโลกจะใช้รัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ โดยเฉพาะประเทศที่เพิ่งได้รับเอกราช หรือเพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งนี้ เพราะไม่สามารถมีจารีตประเพณีที่จะกลายเป็นรัฐธรรมนูญได้ จึงต้องมีการเขียนรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นมาใหม่

ถึงแม้ว่าจะมีการแบ่งรัฐธรรมนูญออกเป็น 2 ประเภท แต่ประเทศต่างๆ ในโลกก็มีลักษณะของรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรและจารีตประเพณีผสมผสานกันอยู่ โดยสัดส่วนของรัฐธรรมนูญว่าจะเป็นลายลักษณ์อักษรหรือจารีตประเพณีมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละประเทศ

ที่มาของรัฐธรรมนูญ

(๑) โดยวิวัฒนาการ รัฐธรรมนูญของอังกฤษ เป็นแบบอย่างของรัฐธรรมนูญที่มาจากการวิวัฒนาการ โดยเป็นการต่อสู้ระหว่างอำนาจของประชาชนกับอำนาจของกษัตริย์ โดยเริ่มที่กฎบัตรแม็กนาคาตา ซึ่งมีเนื้อหาว่ากษัตริย์จะเก็บภาษีได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเท่านั้น หลังจากนั้นได้มีการต่อสู้เพื่อพัฒนารัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนในอังกฤษมาอีกกว่าร้อยปี จนกระทั่งได้รัฐธรรมนูญที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

(๒) โดยการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ในบางประเทศ ประชาชนไม่สามารถค่อยๆ ต่อสู้เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากกษัตริย์ได้ จึงต้องมีการใช้ความรุนแรง ทั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้เกิดระบอบการปกครองแบบกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ดังเช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทยโดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นต้น แต่ในบางกรณีผลกระทบอาจจะรุนแรงถึงขั้นปฏิเสธสถาบันกษัตริย์ไปเลย ดังเช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส ค. ศ. ๑๗๘๙ เป็นต้น

(๓). ประมุขของรัฐเป็นผู้มอบให้ ในบางกรณีประมุขของรัฐเป็นผู้มอบรัฐธรรมนูญให้เอง เช่น อดีตสมเด็จพระราชาธิบดี แห่งภูฏาน เป็นต้น

(๔). โดยการมีรัฐหรือประเทศใหม่ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งหลังจากกลายเป็นประเทศใหม่หลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษแล้ว ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญของตัวเอง หรือประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมอื่นๆ อาทิ อินเดีย มาเลเซีย ฯลฯ

(๕) โดยประเทศผู้ยึดครองเป็นผู้มอบให้ เช่นประเทศญี่ปุ่น โดยสหรัฐอเมริกาที่ชนะสงครามโลกครั้งที่ ๒ ต่อญี่ปุ่น เป็นผู้มอบรัฐธรรมนูญให้ ซึ่งจำกัดอำนาจทางการทหาร ของญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก

จึงจะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญที่มีผลมาจากการปฏิวัติรัฐประหารที่กล่าวอ้างนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการปฏิวัติรัฐประหารการปกครองต่อระบอบเผด็จการ ต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือต่อระบอบการปกครองของเจ้าอาณานิคม เพื่อนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตย มิใช่การปฏิวัติรัฐประหารโค่นล้มระบอบประชาธิปไตยที่ทำให้การปฏิรูปการเมืองสะดุดหยุดลง และนำประเทศย้อนยุคไปยิ่งกว่าอดีตกาล ดังเช่นการรัฐประหาร ๑๙ กันยาของไทยเรา

ฉะนั้น การที่กล่าวว่า "รัฐธรรมนูญประเทศไหนๆ ก็มาจากการปฏิวัติทั้งนั้น" จึงเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการให้ข้อมูลเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้น. อยากให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติก็รณรงค์ไปว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีกว่าฉบับเก่าอย่างไร มีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร หากรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะมีผลตามมาเช่นไรก็ว่ากันไป ไม่ใช่ไปกล่าวหาผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฯ โดยวิธีการให้ข้อมูลที่บิดเบี้ยวเช่นนี้

หมายเหตุ
เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๐

+++++++++++++++++++++++++

ภาคผนวก

(1) เปิดตัวแล้ว คณะนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธี

ประชาไท - 30 ก.ค. 50 วานนี้ (29 ก.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ ได้มีการเปิดตัว "คณะนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธี (คปส.)" และการเสวนาหัวข้อ "ปัญหาประชาธิปไตยในสถานการณ์ปัจจุบัน" โดยนักวิชาการที่เปิดตัวประกอบด้วย ผศ.ดร.วรพล พรหมิกบุตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อ.วสันต์ ลิมป์เฉลิม มหาวิทยาลัยราชภัฎ ธนบุรี, และ รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยทั้งหมดเรียกร้องให้ปฏิเสธรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ต่อต้านเผด็จการ และไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เรียกร้องให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และรัฐบาล ใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหาความแตกต่างทางความคิดและความขัดแย้งกับประชาชน (สำหรับนักวิชาการที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกับ คณะนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธี (คปส.) สามารถติดต่อได้ที่ [email protected])

รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ในช่วงเสวนา รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ได้อภิปรายในหัวข้อ "ฐานะทางประวัติศาสตร์ของการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475" โดยกล่าวว่า การรัฐประหารของกองทัพ ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองในลักษณะอำนาจนิยม ปัญหาหลักก็คือ กองทัพไทยมักจะอ้างว่า ตนเองมีเอกสิทธิ์ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมืองแต่เพียงผู้เดียว และคิดว่าฝ่ายทหารจะรักชาติบ้านเมืองมากยิ่งกว่าพลเรือน ดังนั้น จึงได้ก่อการยึดอำนาจ ทำลายประชาธิปไตย และฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งเพื่อร่างใหม่ตามใจชอบอยู่เสมอ

จึงปรากฏว่า ในประวัติศาสตร์ไทย นับตั้งแต่ พ.ศ.2490 เป็นต้นมา ฝ่ายทหารจึงก่อการยึดอำนาจถึง 9 ครั้ง และแทบทุกครั้งจะต้องมีการล้มเลิกรัฐธรรมนูญ และรัฐสภา โดยเหตุนี้จึงทำให้ประเทศไทยขณะนี้มีรัฐธรรมนูญที่ถูกประกาศใช้มากที่สุดในโลก คือ ถ้านับฉบับ พ.ศ.2550 ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการร่างขณะนี้ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 และก็ยังไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า นี่จะเป็นฉบับสุดท้าย โดยไม่มีการล้มเลิกแล้วร่างใหม่อีก สถิติเช่นนี้ ถือเป็นสถิติอัปยศสำหรับระบอบประชาธิปไตยไทย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ประเทศไทยได้เปลี่ยนโฉมเข้าสู่ยุคใหม่แห่งประชาธิปไตยมาแล้ว 75 ปี จึงถึงเวลาที่จะต้องรำลึกการอภิวัฒน์เช่นนั้น ด้วยความตรึงตราใจ และประชาชนไทยก็ยังคงจะต้องมีภารกิจต่อไป ในการต่อสู้เพื่อให้ประชาธิปไตยในสังคมไทย ได้เป็นจริง สุธาชัยกล่าว

รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ขณะที่ รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อภิปรายในหัวข้อ "ระบอบอำมาตยาธิปไตย 2551" โดยเขาเห็นว่า สิ่งที่การลงประชามติวันที่ 19 สิงหาคม (ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญ 2550 จะผ่านหรือไม่) และการเลือกตั้งทั่วไปในปลายปี 2550 หรือต้นปี 2551 จะผลิตขึ้นคือ ระบอบอำมาตยาธิปไตย 2551 ซึ่งมีลักษณะประการต่าง ๆ อันเป็นเนื้อหาสาระที่แท้จริงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยที่ระบอบการเมืองทั้งชุดยังคงเป็นระบอบอำนาจนิยม ที่อำนาจที่แท้จริงในการกำหนดทิศทางชะตาบ้านเมือง อยู่ในมือของอำมาตยาธิปไตย โดยใช้การเลือกตั้ง รัฐสภา และรัฐบาลจากการเลือกตั้งเป็นเปลือกนอกคลุมให้ดูดีคล้าย "ประชาธิปไตย"

พรรคการเมืองมีขนาดเล็ก อ่อนแอ แตกแยก ไร้อำนาจ ไร้วินัย ไม่สามารถบังคับกำกับสมาชิกพรรคให้อยู่ในแนวทางนโยบายใหญ่ของพรรคได้. พรรคการเมืองขนาดเล็กและอ่อนแอนำไปสู่รัฐสภาที่ประกอบด้วยนักการเมืองมุ้งใหญ่เล็กมากมาย เกี่ยงแย่งชิงกัน โดยแต่ละคนมีอำนาจต่อรองอย่างมากกับคณะผู้บริหารพรรคและรัฐบาล เกิดปัญหา สส.ขายตัว ขายเสียงกัน ลงคะแนนฝืนมติพรรค

รัฐสภาจะถูกครอบงำด้วยวุฒิสภาที่สมาชิกส่วนหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง และมีอำนาจร่วมกับผู้แทนราษฎรในการกำหนดตัวนายกรัฐมนตรี คณะรัฐบาล และการอยู่รอดของรัฐบาล ส่วนตัวนายกรัฐมนตรีจะมีสถานะที่อ่อนแอ ไร้อำนาจที่แท้จริง ต้องยอมตามข้อเรียกร้องแรงกดดันจากสมาชิกสภาอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่คณะรัฐมนตรีจะเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ทั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะพะวงอยู่กับความขัดแย้งและการแบ่งปันผลประโยชน์ภายในรัฐบาล รวมทั้งการต่อรองและการเปิดอภิปรายซ้ำซากในสภา ไม่อยู่ในสถานะที่จะริเริ่มและดำเนินนโยบายใดๆ ได้อย่างจริงจัง

ทั้งรัฐสภา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรียังถูกกดดันและลิดรอนอำนาจด้วยองค์กรอิสระต่างๆ ที่มิได้มาจากกระบวนการที่เกี่ยวพันกับการเลือกตั้ง แต่เป็นองค์กรที่แต่งตั้งเข้ามาโดยกระบวนการที่ถูกแทรกแซงโดยอำมาตยาธิปไตย

พรบ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้ให้อำนาจเด็ดขาดและกว้างขวางแก่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.กอ.รมน.) ซึ่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นโดยตำแหน่ง ทำให้เป็นผู้กุมอำนาจที่แท้จริง เป็นเงาค้ำที่คุกคามรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ตลอดเวลา โดย รศ.ดร.พิชิต สรุปว่าระบอบเลือกตั้ง 2551 จึงเป็น "ประชาธิปไตย" แต่เปลือก ส่วนเนื้อในเป็นอำมาตยาธิปไตย

(2) แถลงการณ์ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 และกฎหมายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิรูปสื่อ

วันที่ 19 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ เป็นวันที่ประชาชนคนไทยจะต้องแสดงประชามติต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ยกร่างขึ้นภายใต้รัฐบาลและคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (คปค.)
เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.), มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) และองค์กรสื่อภาคประชาชน ดังมีรายชื่อแนบท้าย มีความเห็นต่อกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ รวมถึงกระบวกการปฏิรูปสื่อภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบันดังต่อไปนี้

1. กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นกระบวนการที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เพราะเป็นการยกร่างรัฐธรรมนูญภายใต้อำนาจเผด็จการ มีผลทำให้เนื้อหาสาระโดยรวมของรัฐธรรมนูญมีความโน้มเอียงให้อำนาจแก่ระบบรัฐราชการมากเกินไป ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการผูกขาดและรวบอำนาจ 3 อำนาจคือนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยยกอำนาจตุลาการเหนืออำนาจอื่นใด แม้ว่าในรัฐธรรมนูญปี 2550 จะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบางประเด็นให้ดีขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 โดยเฉพาะประเด็นสิทธิชุมชน เช่น การจัดตั้งสภาเกษตรกร การทำข้อตกลงการค้าเสรี แต่ก็ตกอยู่ใต้ระบอบอมาตยาธิปไตย ที่ประชาชนถูกลิดรอนและควบคุมสิทธิเสรีภาพ

2. รัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ส่งเสริมการปฏิรูปสื่อ ไม่ได้เปิดให้ประชาชนมีส่วนรวมอย่างแท้จริง อีกทั้งยังลิดรอนสิทธิเสรีภาพการสื่อสารของประชาชน เช่น เนื้อหาสาระมาตรา 47 ที่กำหนดให้ยุบรวมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ให้เป็นองค์กรเดียว เพื่อกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งการหลอมรวมองค์กรจะทำให้เกิดการผูกขาดในการกำกับดูแลทรัพยากรคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมของชาติ

3. รัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ส่งเสริมการปฏิรูปสื่ออย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากการเร่งรีบ รวบรัด ยกร่างและแก้ไขพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน จำนวน 8 ฉบับ ได้แก่ 1) พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550, 2) ร่าง พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. … 3) ร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ..., 4) ร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ พ.ศ. ..., 5) ร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ..., 6) ร่าง พ.ร.บ.ปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย พ.ศ. ..., 7) ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับแก้ไข) พ.ศ. ... และ 8) ร่าง พ.ร.บ.กองทุนส่งเสริมภาพยนตร์ พ.ศ. ...

เนื้อหาสาระของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ล้วนบ่งชี้ถึงการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชนหลายประการ เช่น ควบคุมสื่อและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนผ่านกฎหมายฉบับต่างๆ ที่กำลังดำเนินการยกร่างหรือที่ได้ประกาศใช้ไปแล้ว ดังจะเห็นได้จากร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ พ.ศ. .... ที่ให้อำนาจองค์กรอิสระที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สามารถสั่งระงับรายการที่กำลังออกอากาศในทันทีโดยวาจา, การคงอำนาจเหนือระบบสื่อด้วยการคงสภาพความเป็นเจ้าของสื่อในหน่วยงานรัฐ พร้อมขยายอำนาจที่จะสื่อสารในฐานะกระบอกเสียงของรัฐ ผ่านโครงสร้างสื่อบริการสาธารณะในระดับพื้นที่ โดยการให้กรมประชาสัมพันธ์ในฐานะหน่วยงานรัฐ คงความเป็นเจ้าของสื่อทั้งวิทยุโทรทัศน์ อีกทั้งยังเปิดช่องให้องค์การบริหารส่วนตำบลในฐานะหน่วยงานภาครัฐ สามารถประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ประเภทบริการสาธารณะได้

4. รัฐพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ. การรักษาความความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ... ที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกับผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความมั่นคงภายในที่มีอำนาจซ้อนรัฐ และกว้างขวางครอบคลุมเหนือรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่จะสืบทอดอำนาจเผด็จการทหารอย่างชัดเจน

เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือและองค์กรดังรายชื่อข้างท้ายนี้ ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ติดตามการปฏิรูปสื่อมาโดยตลอด อีกทั้งให้ความสำคัญต่อสิทธิและเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน จึงขอแสดงจุดยืนโดยมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

1. ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย เนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ได้นำไปสู่การปฏิรูปสื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการสื่ออย่างแท้จริง อีกทั้งยังลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านการสื่อสาร และสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน

2. ขอให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้ โดยให้จัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 60 วัน โดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2540 ให้ก้าวหน้า และเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมทุกกระบวนการ

3. ขอเรียกร้องให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยุติการพิจารณา และยกเลิก พ.ร.บ.ทั้ง 8 ฉบับ ซึ่งเป็นกฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการสื่อสาร และนำไปสู่การผูกขาดอำนาจการบริหารจัดการสื่อไว้ที่องค์กรภาครัฐ โดยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย

4. ขอให้รัฐบาลยกเลิกและยุติการเสนอ พ.ร.บ. รักษาความมั่นคงภายในประเทศ เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ (สนช.) เพราะเป็นการสถาปนาอำนาจกองทัพเหนือรัฐธรรมนูญ และยังนำสังคมไทยไปสู่สังคมเผด็จการทหาร ไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิรูปสื่อ และการพัฒนาประชาธิปไตย.

วันที่ 31 กรกฎาคม 2550

เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ, โครงการสื่อสารแนวราบ, สำนักข่าวประชาธรรม, โครงการพื้นที่ทางสังคมและสื่อทางเลือก, เครือข่ายเสียงชุมชน, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)
มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.), เครือข่ายวิทยุชุมชนจาวล้านนา, สมาคมสืบสานตำนานปี่ซอ,
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเชียงใหม่-ลำพูน, เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคเหนือ 17 จังหวัด, เครือข่ายชุมชนเมืองเชียงใหม่

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส)
409 ซอย รัชดา 14 ห้วยขวาง กรุงเทพ 10320
โทรศัพท์ และ โทรสาร 02-6910574
www.media4democracy.com

Campaign for Popular Media Reform (CPMR)
409 Soi Ratchada 14, Huay kwang, Bangkok 10320 Thailand
Tel& Fax +662-6910574

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 




I think referendums are awful. They were the favorite form of plebiscitary democracy of Mussolini and Hitler. (Chris Patten)