โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 26 July 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๑๕ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (July, 26, 07,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

อิทธิพลจากการรื้อฟื้นธรรมเนียมราชสำนักโบราณในสมัยรัชกาลที่หนึ่งได้ส่งผลให้กลุ่มพราหมณ์ที่กระจัดกระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ กลับมารวมตัวกันที่กรุงเทพฯ และเข้ารับราชการเป็นปุโรหิตและผู้ประกอบพิธีทางศาสนาให้กับราชวงศ์จักรี แต่อย่างไรก็ตาม บทบาทของพราหมณ์ราชสำนักได้ลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ พระราชอำนาจที่ลดลงขององค์พระมหากษัตริย์ และการขยายตัวของแนวคิดทางการเมืองสมัยใหม่ ได้ส่งผลให้อิทธิพลของชุมชนพราหมณ์เสื่อมถอย
26-07-2550

Brahman and Hindu
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

ภาพสะท้อนทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยการตั้งถิ่นฐานของชาวอินเดีย
ประวัติศาสตร์ชุมชนพราหมณ์-ฮินดูในสังคมไทย
ดุลยภาค ปรีชารัชช : เขียน
ศูนย์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความชิ้นนี้ กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืน ได้รับมาจากผู้เขียน เดิมชื่อ:
ชุมชนพราหมณ์-ฮินดูในกรุงเทพมหานคร:
ภาพสะท้อนทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยการตั้งถิ่นฐานของชาวอินเดียในสังคมไทย
เป็นการสืบค้นทางด้านประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเข้ามา
ของกลุ่มชนชาวอินเดียในประเทศไทย โดยมีสาะสำคัญดังนี้

- ชุมชนชาวอินเดียในสังคมไทย ๒ กลุ่ม
- พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของชุมชนพราหมณ์
- ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชุมชนพราหมณ์ในกรุงเทพมหานคร
- พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของชุมชนฮินดู
- ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชุมชนฮินดูในวัดวิษณุ
- บทสรุป เชิงอรรถ และบรรณานุกรม
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๑๕
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๖.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ภาพสะท้อนทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยการตั้งถิ่นฐานของชาวอินเดีย
ประวัติศาสตร์ชุมชนพราหมณ์-ฮินดูในสังคมไทย
ดุลยภาค ปรีชารัชช : เขียน
ศูนย์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชุมชนพราหมณ์-ฮินดูในกรุงเทพมหานคร:
ภาพสะท้อนทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยการตั้งถิ่นฐานของชาวอินเดียในสังคมไทย

Brahman and Hindu Communities in Bangkok:
A Historical Reflection of Indian Settlements in Thai Society


ชุมชนชาวต่างประเทศ (Foreign Communities) จัดเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการก่อรูปและวิวัฒนาการของรัฐไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น บทบาทของชุมชนชาวโปรตุเกสกับการทหารในสมัยกรุงศรีอยุธยา และบทบาทของชาวจีนโพ้นทะเลกับการค้าในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. สำหรับชุมชนชาวอินเดียนั้น จัดว่ามีความเก่าแก่และมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และการก่อตัวของอารยธรรมไทยในหลากหลายมิติ เช่น แนวคิดทางการปกครองแบบเทวราชา (Devaraja) การออกแบบผังเมือง และการก่อสร้างเทวสถานตามหลักจักรวาลวิทยา (Cosmology) การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของกลุ่มพราหมณ์ในราชสำนัก หรือการเข้ามาประกอบอาชีพค้าขายของชาวอินเดียโพ้นทะเลในสมัยอาณานิคม (Colonial Period)

ชุมชนชาวอินเดียในสังคมไทย สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ตามเกณฑ์ประวัติศาสตร์ (1)

โดยกลุ่มแรกได้แก่ชุมชนพราหมณ์ (Brahmans) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในราชสำนักและเริ่มอพยพจากอินเดียเข้าสู่ประเทศไทยเป็นเวลากว่าสองพันปีนับตั้งแต่สมัยต้นพุทธกาล ทวารวดี สุโขทัย อยุธยา จนถึงรัตนโกสินทร์

สำหรับผู้อพยพกลุ่มที่สองได้แก่ชุมชนชาวฮินดู (Hindus) ซึ่งอพยพจากอินเดียเข้าสู่ประเทศไทยเป็นเวลาประมาณเจ็ดสิบถึงหนึ่งร้อยห้าสิบปี เมื่อครั้งอินเดียยังตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณานิคมอังกฤษ (British Colonialism) โดยกลุ่มชาวฮินดูมักประกอบอาชีพค้าขายและตั้งถิ่นฐานอยู่ตามย่านธุรกิจของกรุงเทพมหานคร เช่น สุขุมวิท, สีลม, สาธร และสี่แยกบ้านแขก สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมของชุมชนพราหมณ์-ฮินดูนั้นจัดว่ามีประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของชุมชนพราหมณ์: กระบวนการอพยพและตั้งถิ่นฐานของชุมชนพราหมณ์ในสังคมไทยเริ่มก่อตัวขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของกระบวนการภารตภิวัฒน์ (Indianization) ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยกลุ่มผู้ปกครองพื้นเมืองได้ปรับใช้วัฒนธรรมอินเดียและคติความเชื่อแบบเทวราชา เพื่อสร้างความชอบธรรมและเพิ่มพูนบารมีทางการเมือง ผ่านการประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของกลุ่มพราหมณ์ราชปุโรหิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของชุมชนพราหมณ์ในกลุ่มบ้านเมืองแถบอุษาคเนย์ (Southeast Asia) อาทิเช่น ชุมชนพราหมณ์ในอาณาจักรศรีวิชัยทางคาบสมุทรมลายู และอาณาจักรจามปาทางตอนใต้ของเวียดนาม

สำหรับการอพยพของกลุ่มพราหมณ์อินเดียเข้าสู่ประเทศไทยนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็นสามเส้นทางหลัก

โดยสายที่หนึ่งเริ่มก่อตัวขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 301 เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราช (Asoka) ทรงมีนโยบายกรีฑาทัพเข้าโจมตีแคว้นกลิงคะ (Kalinga- โอริสาในปัจจุบัน) เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับแคว้นมคธ (Magadha) และรวบรวมชมพูทวีป (Jampudvipa) ให้เป็นหนึ่งเดียว จนนำไปสู่การอพยพครั้งใหญ่ของกลุ่มพราหมณ์และราษฏรชาวกลิงคะ จากอินเดียตะวันออก ผ่านอ่าวเบงกอล แผ่นดินมอญ-พม่า และตัดข้ามเทือกเขาถนนธงชัย-ตะนาวศรีเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาของไทย

สำหรับสายที่สองนั้นเริ่มก่อตัวตั้งแต่สมัยราชวงศ์ปัลลวะ (พุทธศตวรรษที่ 10-14) และราชวงศ์โจฬะของอินเดีย (พุทธศตวรรษที่ 14-20) เมื่อแผ่นดินอุษาคเนย์เริ่มเป็นที่รับรู้ของกลุ่มพราหมณ์และพ่อค้าอินเดียในฐานะสุวรรณภูมิ (Golden Continent) ซึ่งเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยเครื่องเทศและของป่า ตลอดจนเป็นจุดขนถ่ายสินค้าและจุดเชื่อมต่อทางอารยธรรมระหว่างกลุ่มแว่นแคว้นแถบมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก

แผนที่แสดงเส้นทางอพยพของกลุ่มพราหมณ์เข้าสู่ประเทศไทย
สีเขียวหมายถึงเส้นทางสายที่หนึ่ง สีแดงหมายถึงเส้นทางสายที่สอง และสีเหลืองหมายถึงเส้นทางสายที่สาม

การขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศ และกิจการเผยแพร่ศาสนาผสมผสานกับอิทธิพลของลมมรสุมที่เพิ่มความรวดเร็วให้กับการเดินเรือ จัดว่าเป็นปัจจัยดึงดูดและผลักดันให้ชาวอินเดียจำนวนมากเดินทางจากตอนใต้ของชมพูทวีป ผ่านหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ในมหาสมุทรอินเดีย เข้าสู่ดินแดนทางตอนใต้ของไทย เช่น เมืองตะกั่วป่า, พัทลุง, สงขลา, ไชยา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งลิกอร์ (Lighor) หรือนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นศูนย์กลางของศาสนาพุทธและฮินดูในคาบสมุทรมลายู

เส้นทางสายที่สามหลังสถาปนากรุงศรีอยุธยา เส้นทางสุดท้ายนี้เริ่มก่อตัวขึ้นหลังจากการสถาปนากรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 1893 เมื่อมีการเคลื่อนกำลังของกองทัพสยามเข้าโจมตีเมืองพระนครของกัมพูชา (Angkor) จนทำให้ เกิดการเทครัวและกวาดต้อนพราหมณ์ปุโรหิตและขุนนางในราชสำนักเขมรเข้ามายังพระนครศรีอยุธยา โดยกลุ่มพราหมณ์เขมรส่วนใหญ่จัดว่ามีเชื้อสายมาจากชาวอินเดียที่อพยพจากหมู่เกาะชวาของอินโดนีเซียเข้ามายังอาณาจักรพระนคร ตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่สอง (Jaivoraman the Second) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 และมีอิทธิพลต่อการก่อตัวของอารยธรรมไทยในสมัยต่อมา โดยเฉพาะคติทางการปกครอง, การใช้คำราชาศัพท์, หลักกฎหมายพระมนูธรรมศาสตร์ และพิธีกรรมในราชสำนัก เช่น พิธีราชาภิเษก, โองการแช่งน้ำ, และพิธีโล้ชิงช้า

การตั้งรกรากของชุมชนพราหมณ์ จัดว่ามีความต่อเนื่องเคียงคู่กับวิวัฒนาการของรัฐไทย โดยเห็นได้จากการกระจายตัวของกลุ่มเทวสถานในเมืองโบราณสมัยทวารวดี เช่น เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์, เมืองอู่ทองจังหวัดสุพรรณบุรี, และเมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีณบุรี, ส่วนในสมัยสุโขทัยนั้นได้มีการค้นพบอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์กระจายตัวอยู่ตามเขตเมืองเก่า และเขตอรัญญิกวาส เช่น ศาลตาผาแดงและวัดพระพายหลวง. ครั้นมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ชุมชนพราหมณ์ได้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากคติทางการปกครองที่ให้ความสำคัญกับองค์พระมหากษัตริย์ในฐานะสมมุติเทพ และภาคอวตารของพระวิษณุ (Vishnu Reincarnation) โดยมีการค้นพบหลักฐานเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของชุมชนพราหมณ์ในเขตกำแพงเมือง และรอบวัดมหาธาตุ (Mahathatu Temple) ซึ่งถูกออกแบบให้เป็นศูนย์กลางของเมืองหลวงคล้ายคลึงกับเขาพระสุเมรุ (Mount Meru) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาล นอกจากนี้ตามบันทึกของชาวตะวันตกที่เข้ามาพำนักในกรุงศรีอยุธยา เช่น Nicholas Gervaise ยังได้กล่าวถึงบทบาทของกลุ่มพราหมณ์ปุโรหิตในการประกอบพระราชพิธีตรียัมปวายและตรีปวาย เพื่อเพิ่มพูนบารมีทางการเมืองให้กับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

หลังการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310 กลุ่มพราหมณ์ในราชสำนักได้ถูกกวาดต้อนไปยังกรุงอังวะ (Ava) ของพม่าในขณะที่บางส่วนได้อพยพลี้ภัยไปอยู่ตามเมืองต่างๆ เช่น เพชรบุรีและนครศรีธรรมราช ท่ามกลางภัยสงครามและสูญญากาศทางการเมือง กลุ่มพราหมณ์ในนครศรีธรรมราชได้ก้าวเข้ามามีบทบาทในราชสำนักกรุงธนบุรี เพื่อถ่ายทอดศิลปวิทยาการและชดเชยการขาดแคลนพราหมณ์หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ในเวลาต่อมาเมื่อมีการสถาปนาราชวงศ์จักรีและการย้ายเมืองหลวงมายังกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงมีนโยบายรื้อฟื้นความรุ่งโรจน์ของอาณาจักรอยุธยาและอารยธรรมพราหมณ์-ฮินดู เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับสยามประเทศ โดยเห็นได้จากการสร้างพระบรมมหาราชวังที่จำลองแบบมาจากอยุธยาและการสร้างเสาชิงช้า (Giant Swing) และเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ในปี พ.ศ. 2327 ซึ่งจัดว่าเป็นศูนย์กลางของชุมชนพราหมณ์แห่งแรกในกรุงเทพมหานคร

อิทธิพลจากการรื้อฟื้นธรรมเนียมราชสำนักโบราณในสมัยรัชกาลที่หนึ่งได้ส่งผลให้กลุ่มพราหมณ์ที่กระจัดกระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ กลับมารวมตัวกันที่กรุงเทพฯ และเข้ารับราชการเป็นปุโรหิตและผู้ประกอบพิธีทางศาสนาให้กับราชวงศ์จักรี แต่อย่างไรก็ตาม บทบาทของพราหมณ์ราชสำนักได้ลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 (2) พระราชอำนาจที่ลดลงขององค์พระมหากษัตริย์ และการขยายตัวของแนวคิดทางการเมืองสมัยใหม่ ได้ส่งผลให้อิทธิพลของชุมชนพราหมณ์ทางด้านการเมืองและการปกครองต้องเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว เคียงคู่กับการขยายตัวของโลกทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ (Scientific Worldview) ตลอดจนการถาโถมของกระแสโลกาภิวัฒน์ และวัฒนธรรมสมัยใหม่ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการปรับตัวของชุมชนพราหมณ์ในสังคมไทยยุคปัจจุบัน

ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชุมชนพราหมณ์ในกรุงเทพมหานคร:
หลังจากการก่อสร้างเสาชิงช้าและเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ในปี พ.ศ. 2327 การตั้งถิ่นฐานของชุมชนพราหมณ์ได้เริ่มก่อตัวขึ้นรอบๆ เทวสถาน ถนนดินสอ และวัดสุทัศน์ โดยรูปแบบการตั้งถิ่นฐานมีความสัมพันธ์กับคติการสร้างบ้านแปลงเมืองของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยหากพิจารณาจากโครงสร้างผังเมืองของเกาะรัตนโกสินทร์ ที่รอบล้อมด้วยแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านตะวันตกและคลองคูเมืองทางด้านตะวันออก จะเห็นว่าบริเวณเสาชิงช้าและวัดสุทัศน์จะตั้งอยู่ทางตรงใจกลางของพระนครซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างแผนผังจักรวาล กับการจัดวางโครงสร้างผังเมือง จากบริบทดังกล่าว การก่อสร้างเสาชิงช้าจึงเปรียบเสมือนการจำลองเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นแกนกลางของจักรวาลมาไว้ในกรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มพูนบารมีให้กับผู้ปกครองและเสริมความศักดิ์สิทธิ์ให้กับดวงเมือง นอกจากนี้ เสาชิงช้ายังเป็นองค์ประกอบสำคัญในการประกอบพิธีตรียัมปวาย เพื่อเป็นการต้อนรับการเสด็จมายังโลกมนุษย์ของพระอิศวร เพื่อตรวจสอบความสมดุล ความมั่นคงและความมั่งคั่งของราชอาณาจักร (3)

ธรรมเนียมการสร้างเสาชิงช้าและวัดสำคัญทางศาสนา จัดเป็นจารีตทั่วไปของกลุ่มผู้ปกครองโบราณเพื่อเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์ และสวรรค์ ยกตัวอย่างเช่น การก่อสร้างวัดมหาธาตุที่อยุธยาและลพบุรี หรือการก่อสร้างเสาชิงช้าและหอพระอิศวรที่นครศรีธรรมราช. มรดกทางประวัติศาสตร์และธรรมเนียมการสร้างเมืองจัดเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานของชุมชนพราหมณ์รอบๆ เสาชิงช้าและวัดสุทัศน์ เช่น กลุ่มอาคารบ้านเรือนของชุมชนโบสถ์พราหมณ์ในย่านถนนดินสอ การพบปะสังสรรค์ของกลุ่มพราหมณ์บริเวณวัดสุทัศน์ หรือการร่ำเรียนพระเวทและภาษาสันสฤตภายในหอเวทวิทยาคม บริเวณเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ซึ่งยังคงมีให้เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

ชุมชนพราหมณ์ในกรุงเทพมหานคร จัดว่าสืบเชื้อสายมาจากพราหมณ์นครศรีธรรมราช และกลุ่มพราหมณ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะพราหมณ์ศิริวัฒนะ ซึ่งเป็นขุนนางปุโรหิตที่มีชื่อเสียงและเป็นบรรพบุรุษของข้าราชการ และชนชั้นนำทางการเมืองในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เช่น เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ต้นตระกูลสิงหเสนี, เจ้าพระยาพลเทพ (ทองอิน) ต้นตระกูลทองอิน อินทรพล, และเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) ต้นตระกูลบูรณศิริ.

สำหรับกลุ่มพราหมณ์ที่เข้ามาในประเทศไทยนั้นจัดเป็นพราหมณ์ในสังคมพุทธ ดังนั้น การถือวรรณะจึงไม่ใช่การแบ่งแยกชนชั้นทางสัมคมเหมือนในประเทศอินเดีย แต่เป็นเพียงการการรักษาธรรมเนียมของตระกูล (4) และเป็นการลดความเข้มงวดของลัทธิพราหมณ์-ฮินดูเพื่อให้เกิดการหลอมรวมเข้ากับพระพุทธศาสนา ในปัจจุบันชุมชนพราหมณ์ในกรุงเทพฯสามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ (5) ได้แก่

- กลุ่มพราหมณ์ที่ทำหน้าที่ประกอบพิธีในราชสำนัก โดยกลุ่มพราหมณ์ดังกล่าวจัดเป็นข้าราชการในสำนักพระราชวัง ซึ่งมีจำนวนเพียงแค่ 11 คน เช่น พระราชครูวามเทพมุนี, พราหมณ์ศรีล รังสิพราหมณกุล, พราหมณ์ภพสาม สยมภพ และพราหมณ์ยศ โกมลเวทิน (6) บทบาทของกลุ่มพราหมณ์ในราชสำนักยุคปัจจุบันคือ การประกอบพระราชพิธีในงานสำคัญตลอดจนการขยายบทบาทเกี่ยวกับการจัดทำวัตถุมงคล และทำนายโชคชะตาให้กับกลุ่มนักธุรกิจและชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีการขยายบทบาทในการพัฒนาสังคมและการศึกษา เช่น การจัดตั้งมูลนิธิพระพิฆเณศของพราหมณ์ขจร นาคะเวทิน ใน ปี พ.ศ. 2537 ซึ่งจัดเป็นองค์กรสำคัญที่นำรายได้จากการบูชา และสร้างรูปเคราพทางศาสนาฮินดูมามอบให้เป็นทุนการศึกษา แก่เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์

- สำหรับชุมชนพราหมณ์กลุ่มที่สองนั้นจัดเป็นชุมชนที่มองไม่เห็น (Invisible Communities) เนื่องจากประกอบด้วยชนชั้นสูงและสามัญชนทั่วไปที่มิได้ประกอบอาชีพเป็นนักบวชเหมือนพราหมณ์ในกลุ่มแรก แต่มีบรรพบุรุษเป็นข้าราชการที่สืบเชื้อสายมาจากพราหมณ์ในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ เช่น สมาชิกในตระกูลจันทรโรจวงศ์, ชัชกุล, นรินทรกุล, และบูรณศิริ. โดยถึงแม้ว่ากลุ่มบุคคลในตระกูลดังกล่าว จะมีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนกับประชาชนทั่วไปและแทบไม่มีใครประกอบอาชีพเป็นพราหมณ์ในราชสำนัก ยกเว้นในบางตระกูล เช่น รังสิพราหมณ์กุล แต่สมาชิกบางคนยังคงรับรู้และระลึกถึงบรรพบุรุษในอดีต ตลอดจนมีความเชื่อบางประการเกี่ยวกับเทพเจ้าฮินดูและการสะสมวัตถุโบราณ

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในยุคโลกาภิวัฒน์ และกระบวนการพัฒนาเมือง (Urbanization) ได้ส่งผลให้ตระกูลพราหมณ์ทั้งสองประเภท มีลักษณะการตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีพราหมณ์บางกลุ่มที่ยังอาศัยอยู่แถวถนนดินสอและเสาชิงช้า เช่น พราหมณ์ขจร นาคะเวทิน ตลอดจนยังคงมีการรวมตัวและพบปะสังสรรค์ของกลุ่มพราหมณ์ในเขตวัดสุทัศน์และเทวสถานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ จึงยังคงทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณ (Spiritual Centre) และการประกอบพิธีกรรมของชุมชนพราหมณ์ในกรุงเทพมหานคร

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของชุมชนฮินดู:
กระบวนการอพยพและตั้งถิ่นฐานของชุมชนฮินดูในสังคมไทย เริ่มก่อตัวขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของลัทธิอาณานิคมตะวันตก (Western Colonialism) ในอินเดียและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 23 จนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 โดยการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรในอินเดียและการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ จัดเป็นปัจจัยผลักดันที่ส่งผลกระทบต่อการอพยพของชาวอินเดียเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นสองเส้นทางหลักได้แก่

- เส้นทางอพยพทางทะเลผ่านหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ ตัดเข้าสู่สิงคโปร์ มะละกา (Melaka) มาเลเซีย จากนั้นจึงเป็นการเดินทางโดยรถไฟเข้าสู่ภาคใต้ของประเทศไทยและกรุงเทพมหานคร

- ส่วนเส้นทางอพยพสายที่สองนั้นเริ่มจากอินเดียเข้าสู่จิตตะกอง (Chittagong)ในบังคลาเทศ จากนั้นจึงเดินทางโดยรถไฟตัดเข้าสู่พม่าและภาคเหนือของไทย แล้วจึงลงใต้สู่กรุงเทพมหานคร (7)

สำหรับกลุ่มผู้อพยพชาวฮินดูนั้นจัดว่ามีความหลากหลายและสามารถแบ่งออกได้เป็นห้ากลุ่มหลักได้แก่

1) กลุ่มชาวฮินดูจากอุตตรประเทศ (Uttra Pradesh) ทางตอนเหนือของอินเดีย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่มักประกอบอาชีพเป็นคนส่งหนังสือพิมพ์ คนขายนมวัว และพนักงานรักษาความปลอดภัยในบริษัทต่างประเทศ เช่น East Asiatic Company ลักษณะเด่นของชาวอินเดียอุตตรประเทศ คือการนับถือพระวิษณุ โดยมีการจัดตั้งชุมชนในเขตสาธร และยานนาวา ตลอดจนการจัดสร้างวัดวิษณุ เมื่อปี พ.ศ. 2458 เพื่อเป็นศูนย์รวมของชาวอุตตรประเทศในเขตกรุงเทพมหานคร (8)

2) กลุ่มชาวฮินดูจากแคว้นซินด์ (Sind) และปัญจาบ (Punjab) ซึ่งเข้ามาประกอบธุรกิจทอผ้าและนำเข้าส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ชาวอินเดียกลุ่มดังกล่าวมักตั้งถิ่นฐานอยู่แถวสำเพ็ง และพาหุรัด โดยถึงแม้ว่าประชากรส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาซิกซ์และมีศูนย์กลางอยู่ที่คุรุสิงหสภา ในย่านพาหุรัด แต่ก็มีชาวอินเดียบางกลุ่มนับถือศาสนาฮินดู และแยกตัวออกมาจัดตั้งวิหารเทพมณเทียรแถวถนนศิริพงศ์เมื่อปี พ.ศ. 2482 เพื่อเป็นศูนย์กลางของชาวฮินดูจากซินด์และปัญจาบ โดยปัจจุบันชุมชนดังกล่าวได้รวมตัวกันจัดตั้งสมาคมฮินดูสมาชแห่งประเทศไทย ซึ่งมีที่ทำการอยู่ที่โรงเรียนภารตะวิทยาลัย และอยู่ไม่ไกลจากวัดสุทัศน์ เสาชิงช้า และเทวสถานโบสถ์พราหมณ์

3) กลุ่มชาวฮินดูจากกุจราช (Gujarat) และราชสถาน (Rajasthan) ซึ่งมักประกอบอาชีพค้าขายส่งออกและเจียระไนอัญมณี โดยตั้งถิ่นฐานอยู่แถวถนนสีลมและสาธร กลุ่มชาวฮินดูดังกล่าวจัดว่ามีบทบาทสำคัญในสมัยอาณานิคม และสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อทางการค้าระหว่างประเทศไทย อินเดีย และตะวันออกกลาง

4) กลุ่มชาวฮินดูจากทมิฬนาดูร์ (Tamil Nadur) ซึ่งอพยพมาจากตอนใต้ของอินเดียและทางตอนเหนือของศรีลังกา แถวคาบสมุทรจาฟนาร์ โดยส่วนใหญ่มักประกอบอาชีพเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ พนักงานบริษัทต่างประเทศและค้าขายทั่วไป สำหรับลักษณะเด่นของกลุ่มแขกทมิฬคือ การบูชาพระศิวะและพระอุมาอย่างเหนียวแน่น จนนำไปสู่การสร้างวัดพระศรีรัตนมหาอุมาเทวี หรือที่รู้จักกันดีว่าวัดแขก เพื่อเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและการประกอบกิจกรรมของชาวฮินดูจากอินเดียใต้ และ

5) กลุ่มชาวฮินดูจากเบงกอล ซึ่งอพยพมาจากเมืองธาร์กา (Dhaka) และจิตตะกองในบังคลาเทศตั้งแต่สมัยอาณานิคมอังกฤษ ประชากรส่วนใหญ่มักประกอบอาชีพขายถั่ว เครื่องเทศ และเครื่องหอมบูชาเทพเจ้า กลุ่มแขกเบงกอลมักนับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็มีบางส่วนนับถือศาสนาฮินดู โดยอพยพเข้ามาอาศัยอยู่กับแขกทมิฬในย่านวัดแขกและถนนสีลม (9)

ชุมชนฮินดูในกรุงเทพมหานคร จัดว่ามีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ โดยกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวอินเดียมักมองว่า ประเทศไทยคือฐานที่มั่นที่ปลอดภัยในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เมื่อเปรียบเทียบกับพม่าและมลายูซึ่งตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในขณะเดียวกันบรรดานักการทูตและเจ้าหน้าที่อังกฤษได้เคยสงสัยว่า พรรค Garthar ของอินเดียซึ่งดำเนินกิจกรรมเรียกร้องเอกราช มีเครือข่ายการเคลื่อนไหวอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-อังกฤษ และอินเดีย (10) ต่อมาหลังจากอินเดียได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2490 การตั้งถิ่นฐานและการแสดงบทบาททางเศรษฐกิจของชุมชนฮินดู ได้เริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็วทั่วเขตกรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ในสมัยสงครางโลกครั้งที่สอง ชุมชนฮินดูยังได้แสดงบทบาททางการเมืองระหว่างประเทศ เมื่อเกิดความขัดแย้งและเผชิญหน้าระหว่างกองทัพไทยกับกองทหารกัวระข่า (Gokhar) ของอินเดียในเขตแดนเชียงตุง ประเทศพม่า โดยในครั้งนั้น สวามีสัตยา นันทบุรี อาจารย์สอนภาษาสันสกฤตชาวฮินดูในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รวบรวมชาวฮินดูเพื่อร่างจดหมายทั้งฉบับภาษาฮินดีและสันสกฤต และนำไปส่งให้กองทัพอินเดียผ่านทางเฮลิคอปเตอร์อันเป็นการกรุยทาง ไปสู่การยับยั้งการเผชิญหน้าของกองกำลังทั้งสองฝ่าย (11)

การกระทำของสวามีสัตยา นันทบุรี และพรรคพวก จัดเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การถอนกำลังของทหารกัวระข่า และเปิดทางไปสู่การเข้าครอบครองเชียงตุงของทหารไทย ซึ่งส่งผลให้นโยบายการขยายอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงครามประสบความสำเร็จ และชุมชนฮินดูในกรุงเทพฯ เริ่มได้รับความสนใจจากรัฐบาลในสมัยนั้น นอกจากนี้ สวามีสัตยา นันทบุรี ยังได้เป็นผู้นำในการก่อตั้งอาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารตะ ซึ่งจัดเป็นองค์กรส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-อินเดีย และเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเข้าใจทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ตลอดจนส่งเสริมบทบาทของชาวฮินดูในกรุงเทพมหานครทั้งในแง่ของการพัฒนาสังคม การศึกษา และการดำเนินนโยบายการทูตเชิงวัฒนธรรม (Cultural Diplomacy) กับประเทศอินเดีย

หลังจากการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-อินเดียเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 การตั้งถิ่นฐานของชุมชนฮินดู ได้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันได้มีชาวอินเดียตั้งหลักแหล่งอยู่แถวสีลม, สาธร, ยานนาวา, พาหุรัต, สี่แยกบ้านแขก, และถนนสุขุมวิท ตั้งแต่ซอย 1 ถึง 81 (แต่ละซอยประกอบด้วยชุมชนชาวฮินดูประมาณ 5-10 ครัวเรือน) (12) สำหรับลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชาวฮินดูจัดว่ามีความสอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยชาวฮินดูมักตั้งถิ่นฐานอยู่ตามย่านธุรกิจสำคัญในเขตกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ การตั้งถิ่นฐานยังมีลักษณะพิเศษและแตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน โดยในบทความฉบับนี้ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเพียงแค่ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชาวฮินดูจากอุตตรประเทศในวัดวิษณุ เขตยานนาวา ซึ่งผู้เขียนมองว่ามีความน่าสนใจและเป็นประเด็นแปลกใหม่เกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของชาวอินเดียในสังคมไทย นอกจากนี้ ผู้เขียนขอทำการนำเสนอเฉพาะในมิติทางศาสนาและวัฒนธรรม แทนที่การนำเสนอในมิติทางเศรษฐกิจเพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาโดยรวม

ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชุมชนฮินดูในวัดวิษณุ: วัดวิษณุ (Vishnu Temple)
จัดเป็นศูนย์รวมของชาวฮินดูจากอินเดียเหนือ และได้รับการยกย่องว่าเป็นวัดฮินดูที่มีความโดดเด่นในอุษาคเนย์ เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานของรูปสลักเทพเจ้าฮินดูที่ทำมาจากหินอ่อน และมีลักษณะงดงามได้สัดส่วนจำนวน 24 องค์ นอกจากนี้วัดวิษณุยังถูกพัฒนาให้เป็นสมาคมฮินดูธรรมสภา ซึ่งจัดเป็นองค์กรทางศาสนาที่มีบทบาทสำคัญเคียงคู่กับสมาคมฮินดูสมาช ในโรงเรียนภารตะวิทยาลัย

วัดวิษณุหรือสมาคมฮินดูธรรมสภา ตั้งอยู่เลขที่ 50 ซอยวัดปรก แขวงทุ่งวัดดอน เขตยานาวา จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2458 โดยชาวอินเดียที่มาจากแคว้นอุตตรประเทศ หรือที่เรียกกันว่า พวกยูพี (U.P. - United Province or Uttra Pradesh) โดยมีคณะกรรมการบริหารงานชุดหนึ่ง ซึ่งเลือกตั้งมาจากสมาชิกสามัญทุกๆ ปี คณะกรรมการบริหารของสมาคมได้ร่วมกับชาวอินเดียในประเทศไทยจัด ซื้อที่ดินและสร้างเทวาลัยวัดวิษณุขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2463 เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ฮินดู (13)

หลังจากนั้น จึงมีการสร้างห้องสมุดวัดวิษณุ สุสานฮินดู ศิวาลัย และเทวาลัยพระศรีหนุมาน ส่วนสาเหตุที่เลือกซื้อที่ดินแถวยานนาวาเพื่อสร้างเป็นเทวาลัยนั้น สืบเนื่องมาจากในสมัยก่อนที่ดินย่านดังกล่าวมีราคาถูก ประกอบกับชาวอุตตรประเทศก็ประกอบอาชีพอยู่แถววัดดอนและถนนตก มากกว่าย่านอื่นๆ ของกรุงเทพมหานครจึงทำให้สะดวกต่อการติดต่อและไปมาหาสู่ (14) นอกจากนี้ ลักษณะภูมิศาสตร์ของเขตยานนาวาซึ่งประกอบด้วยที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สลับกับที่ดอนยังมีความสอดคล้องกับลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชาวอินเดียเหนือ ตามเมืองพาราณศรีและอโยธยา ซึ่งมักตั้งถิ่นฐานอยู่ตามที่ดอนแต่ไม่ไกลจากฝั่งแม่น้ำคงคาและสาขามากนัก

วัดวิษณุจัดเป็นศูนย์รวมในการประกอบพิธีทางศาสนา โดยมีการจัดหาที่พักให้กับนักบวชที่เดินทางมาจากอินเดียผ่านการประสานงานของสมาคมฮินดูธรรมสภา ตลอดจนเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของนักธุรกิจฮินดูและชาวอินเดียเชื้อสายอุตตรประเทศแถวยานนาวา ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ไม่ไกลจากวัดวิษณุ โดยในปัจจุบัน บัณฑิต วิทยาธร ศุกุล จัดเป็นเสาหลักสำคัญของการประกอบกิจการทางศาสนาภายในวัดวิษณุ ส่วน นาย กฤษณะ ดี อุปเดียร์ จัดเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนฮินดูในเขตยานนาวา และดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฮินดูธรรมสภาคนปัจจุบัน

ความโดดเด่นของชุมชนรอบวัดวิษณุคือ ารหลอมรวมและสมานฉันท์ระหว่างชาวฮินดูกับชุมชนชาวต่างประเทศ งตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตยานนาวาอันประกอบด้วย ชุมชนชาวมอญ-พม่า-ไทย นย่านวัดปรกและถนนทวาย, ชุมชนชาวมุสลิมรอบมัสยิดยะวา, ชุมชนชาวไทย-จีนแถวสุสานวัดดอน, และชุมชนชาวคริสต์ในย่านบางรักและสาธร (15) โดยสำหรับการปะทะสังสรรค์กับชุมชนชาวมอญ-พม่านั้น ได้เริ่มขึ้นจากนโยบายการขยายอำนาจทางการทหารของพม่าในสมัยพระเจ้าปดุง (Bodawpaya) ซึ่งทำให้มีชาวมอญและพม่าเป็นจำนวนมาก อพยพลี้ภัยสงครามเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารแห่งราชวงศ์จักรี แล้วค่อยๆตั้งหลักแหล่งปะปนกับคนไทยแถววัดปรกและยานนาวา

ต่อมาเมื่อชาวฮินดูอุตตรประเทศได้เข้ามาสร้างเทวาลัยวัดวิษณุ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวัดปรก จึงเกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างชาวฮินดูกับชาวพุทธ โดยกลุ่มชาวอุตตรประเทศได้ทำการบริจาคเทวรูป ตลอดจนดินและน้ำศักดิ์สิทธิ์ในเขตพุทธสถานจากประเทศอินเดียให้กับวัดปรก ซึ่งสร้างความพอใจให้กับคนไทย-มอญและพม่า ในขณะเดียวกัน ชาวชุมชนรอบวัดปรกก็นิยมเข้าไปนมัสการและบูชาเทพเจ้าฮินดูในวัดวิษณุ เพื่อตรวจสอบโชคชะตาและเพิ่มพูนสิริมงคลให้กับชีวิต โดยเฉพาะชาวมอญและพม่านั้นจัดว่ามีความเชื่อและศรัทธาทั้งพระพุทธศาสนาและเทพเจ้าของศาสนาฮินดู

สำหรับความสัมพันธ์กับชาวมุสลิมนั้นจะพบว่า ในสมัยอาณานิคม กลุ่มชาวชวาบางส่วนจากอินโดนิเซียได้ถูกเกณฑ์เป็นแรงงานให้กับบริษัทต่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ตามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตบางรัก สีลม และยานนาวา ครั้นต่อมากลุ่มชาวมุสลิมอินโดนิเซียได้ตั้งหลักแหล่งแถวยานนาวา โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่มัสยิดยะวาซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดวิษณุ ความสัมพันธ์ระหว่างชาวฮินดูกับมุสลิมเกิดจากความเห็นอกเห็นใจกันในการตกเป็นเมืองขึ้นของอาณานิคมตะวันตก ตลอดจนมีการขยายความร่วมมือระหว่างชุมชนทั้งในแง่ของการต่อต้านลัทธิอาณานิคมในอดีต ตลอดจนการพัฒนาท้องถิ่น เช่น การจัดทำกิจกรรมสมานฉันท์ทางศาสนาระหว่างฮินดูกับอิสลาม (16)

ส่วนความสัมพันธ์กับชุมชนชาวไทย-จีนนั้น จัดว่ามีความน่าสนใจเนื่องจากเขตยานนาวาจัดเป็นที่ตั้งของสุสานวัดดอน และสมาคมต่างๆ ของชาวจีนในกรุงเทพมหานคร การมีปฏิสัมพันธ์กับชาวจีนมักเป็นไปในลักษณะของการผสมผสานทางศาสนา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีการประกอบพิธีฝังศพในสุสานวัดดอน กลุ่มชาวไทย-จีนมักทำการเชิญนักบวชและชาวอุตตรประเทศเข้ามาประกอบพิธีกรรมเพื่อเพิ่มความศักดิ์สิทดิ์ ในขณะเดียวกัน ความเชื่อของชาวไทยจีนเกี่ยวกับเทวตำนาน ได้เริ่มขยายตัวจากพระโพธิสัตย์ เจ้าแม่กวนอิม ไปสู่เทพในศาสนาฮินดู เช่น พระวิษณุและพระพิฆเณศ ซึ่งจัดเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองชุมชน

ส่วนความสัมพันธ์กับชุมชนชาวคริสต์นั้นจะพบว่าย่านสาธร บางรัก และยานนาวา จัดเป็นศูนย์กลางของการค้าระหว่างประเทศและเป็นที่ตั้งของสถานทูตตะวันตก ตลอดจนโรงเรียนทางคริสต์ศาสนา เช่น อัสสัมชัญ และกรุงเทพคริสต์เตียน โดยชาวอุตตรประเทศบางคนได้ถูกว่าจ้างเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษและหลักศาสนาฮินดู เนื่องจากมีความคล่องแคล่วทางการสอนและมีอัตราจ้างที่ถูกกว่าชาวตะวันตก ในขณะเดียวกัน ชาวอุตตรประเทศยังได้ไปประกอบอาชีพเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยตามบริษัทต่างชาติ เนื่องจาก ชาวอุตตรประเทศมักมีรูปร่างกำยำและสูงใหญ่ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความปลอดภัย (17)

ดังนั้นจากลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างชาวฮินดูรอบวัดวิษณุกับชุมชนต่างประเทศกลุ่มต่างๆ จะพบว่า การผสมผสานทางศาสนา ความผูกพันทางประวัติศาสตร์ในยุคอาณานิคม และลักษณะการประกอบอาชีพ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความโดดเด่นให้กับชุมชนอุตตรประเทศตลอดจนส่งเสริมให้วัดวิษณุกลายเป็นสถานที่สำคัญในการบูรณาการทางศาสนา และวัฒนธรรมในเขตกรุงเทพมหานคร

บทสรุป:
การศึกษาชุมชนพราหมณ์-ฮินดูในกรุงเทพมหานคร จัดเป็นประเด็นแปลกใหม่และน่าสนใจ โดยสามารถสรุปได้ว่า ชุมชนพราหมณ์มีลักษณะเป็นชุมชนดั้งเดิม (Native Communities) เคียงคู่กับการก่อรูปและวิวัฒนาการของรัฐไทย สืบเนื่องมาจากการปรากฎตัวของเส้นทางการอพยพที่มาพร้อมกับกระบวนการภารภิวัฒน์ในอุษาคเนย์ การแสดงบทบาทของกลุ่มพราหมณ์ในราชสำนักตั้งแต่ยุคจารีตจนถึงปัจจุบัน และการปรับตัวอย่างกลมกลืนทางด้านชาติพันธุ์และการผสมผสานทางศาสนาระหว่างพุทธและพราหมณ์ ดังนั้น ชุมชนพราหมณ์จึงกลายเป็นองคาพยพสำคัญที่สะท้อนถึงความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ และกระบวนการผ่องถ่ายวัฒนธรรมอินเดียในสังคมไทย

ในขณะเดียวกัน ชุมชนฮินดูตามโลกทัศน์และการรับรู้ของคนไทยจัดว่าเป็นชุมชนต่างประเทศ (Foreign Communities) เนื่องจากลักษณะการอพยพที่มาพร้อมกับกระบวนการล่าอาณานิคมและการแพร่กระจายของภาวะทันสมัย (Modernization) ทำให้ขาดความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนการผสมผสานทางศาสนาและชาติพันธุ์ยังขาดความกลมกลืนเมื่อเทียบกับกลุ่มพราหมณ์ อาทิเช่น ลักษณะรูปร่างหน้าตา การรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และการรับรู้เกี่ยวกับมาตุภูมิ (Motherland) ซึ่งชาวฮินดูบางกลุ่มมีความรู้เกี่ยวกับประเทศอินเดียมากกว่าประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ชาวฮินดูในเขตกรุงเทพมหานครจัดว่ามีบทบาทสำคัญทางด้านการค้า การเผยแพร่ศาสนาฮินดู และการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับอินเดียมากกว่ากลุ่มพราหมณ์ ซึ่งถูกจำกัดบทบาทเฉพาะในราชสำนักและการรักษาวัฒนธรรมพราหมณ์ในสังคมไทย ดังนั้น ถึงแม้จะมีความแตกต่างกันในมิติทางประวัติศาสตร์และการบูรณาการทางสังคมระหว่างชาวฮินดูทั้งสองกลุ่ม การก่อรูปและพัฒนาการของชุมชนพราหมณ์-ฮินดูในกรุงเทพมหานคร ก็จัดเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สะท้อนภาพลักษณ์ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการอพยพ และตั้งถิ่นฐานของชาวอินเดียในสังคมไทยได้อย่างชัดเจนและรอบด้าน

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


เชิงอรรถ

(1) การแบ่งในลักษณะดังกล่าวจัดเป็นการแบ่งแบบคร่าวๆ โดยเน้นกลุ่มชาวอินเดียที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งอพยพเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน นอกจากนี้กลุ่มชาวอินเดียในประเทศไทย ยังหมายถึงกลุ่มอินเดียที่นับถือศาสนาอิสลาม ซิกซ์ และพุทธศาสนา แต่ในบทความฉบับนี้จะทำการศึกษาเพียงกลุ่มพราหมณ์-ฮินดูในกรุงเทพมหานครเท่านั้น

(2) สัมภาษณ์พราหมณ์ขจร นาคะเวทิน ณ มูลนิธิพระพิฆเนศ ถนนดินสอ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549
(3) เพิ่งอ้าง
(4) เทวสถาน โบสถ์พราหมณ์, ประวัติศาสนาพราหมณ์-ฮินดู (เอกสารเผยแพร่), หน้า 16.
(5) การแบ่งดังกล่าวเป็นไปตามทรรศนะและการวิเคราะห์ส่วนตัวของผู้เขียน
(6) มูลนิธิพระพิฆเณศ, ประวัติศาสนาพราหมณ์และพระมหาเทพ ๗ องค์ (กรุงเทพฯ: โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์, 2546), หน้า 52.
(7) สัมภาษณ์บัณฑิต วิทยากร ศุกุล ณ บ้านพักส่วนบุคคล สี่แยกบ้านแขก เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549

(8) เพิ่งอ้าง
(9) เพิ่งอ้าง
(10) เพิ่งอ้าง
(11) เพิ่งอ้าง
(12) เพิ่งอ้าง

(13) สมาคมฮินดูธรรมสภา, ฮินดูธรรมสภาวัดวิษณุ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, 2531). หน้า 52.
(14) เพิ่งอ้าง
(15) ผลจากการสอบถามชาวบ้านและลงพื้นที่สำรวจเขตยานนาวาของผู้เขียนระหว่างวันที่ 3 และ 4 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549
(16) เพิ่งอ้าง
(17) เพิ่งอ้าง

เอกสารอ้างอิง
หนังสือภาษาอังกฤษ

Amarijiva Lochan. The Brahmans in Pre Sukhothai Thailand: A Socio-Cultural Study in Adoption and Adaptation. Bangkok: Chulalongkorn University, 1996.

Coedes,C. The Indianized States of Southeast Asia, Honolulu: A East-West Centre, 1988.

Dawee Daweewarn. Brahmanism in Southeast Asia: from the earliest time to 1445 A.D. New Delhi: Aterling Pub, 1982.

Mohammad, Ayoob. India and Southeast Asia: Indian Perceptions and Policies. New York: Routledge, 1990.
Quaritch, H.G. the Indianization of China and of Southeast Asia, London: Bernard Quaritch, 1967.

Santosh Nagpual. Hinduism in Thai life. Bombay: Popular Prakashan, 1982.

U.A. Amith. Asoka: the Buddhist Emperor of India. Oxford: Clarendon Press, 1909.

Walsh, M. A History of Philosophy. London: Geoffrey Chapmen, 1985.

หนังสือภาษาไทย
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. อยุธยา: ประวัติศาสตร์และการเมือง. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๔.

แซร์แวส, นิโกลาส์ เดอ. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม. แปลโดยสันต์ ท. โกมลบุตร, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ก้าวหน้า, ๒๕0๖.

บุญสม รดาเจริญ. อินเดีย : แหล่งกำเนิดพุทธศาสนา.กรุงเทพฯ: ประพันธ์สาส์น, ๒๕๔๒.

มูลนิธิพระพิฆเณศ. ประวัติศาสนาพราหมณ์และพระมหาเทพ ๗ องค์. กรุงเทพฯ: โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์, ๒๕๔๖.

วิเชียร ณ นคร. นครศรีธรรมราช. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์, ๒๕๒๑.

ศรีศักร วัลลิโภดม. นครหลวงของไทย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๔๒.

สมาคมฮินดูธรรมสภา. ฮินดูธรรมสภาวัดวิษณุ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, ๒๕๓๑.

สถานเอกอัคราชทูตอินเดีย. ความสัมพันธ์ไทย- อินเดีย (จุลสาร). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์พิมพ์วิไล, ๒๕๒๒.
อรุณ เฉตตีย์. อินเดีย : แผ่นดินมหัศจรรย์. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์: ศูนย์อินเดียศึกษา, ๒๕๓๙.

สื่อออนไลท์ภาษาอังกฤษ
Charuwan Chareonla. "Buddhist Arts of Thailand." 2005. <http://www.buddhanet.net/pdf_file/budartthai2.pdf> (22 January 2006).

Hoskin, John. "Thai Brahmans." 2006.
< http:// www.mahidol.ac.th/thailand/brahmans.html> (21 January 2006).

Phasook Indrawooth. "Dvaravati, the Early Buddhist Kingdom of Thailand." 2003.
<http:// www.asthabharati.org/Dia_jul03/phasook.htm > (23 January 2006).

Ram Upendra Das. "A Feasibility on A Free Trade Agreement between India and Thailand." 2002. <http://www.depthai.go.th/th/newDep/FTA/India/study.pdf > (23 January 2006).

Sanjay Kulakarni. "History Repeats." 2004.
<http://www.indiadaily.com/editorial/06-28b-04.asp> (22 January 2006).

Watt, David K. "Southeast Asia - Past and Present." 1990. <http://instruct1.cit.cornell.edu/courses/hist190/SEA%20P&P%201.html> (21 January 2006).


 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com