บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
บทสรุปงานวิจัย: กฎหมายกับระบบสวัสดิการคนจน
กฎหมายไทย:
เกื้อกูลหรือกีดกันสวัสดิการคนจน (ตอน ๒)
ไพสิฐ
พาณิชย์กุล: เขียน
คณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทสรุปงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน
เดิมชื่อ
บทสังเคราะห์ระบบกฎหมายไทย: เกื้อกูลหรือกีดกัน การเข้าถึงระบบสวัสดิการของคนจน?
ซึ่งเขียนขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๖ ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ที่มีนโยบายทำสงครามกับความยากจน
อย่างไรก็ตาม แม้นโยบายดังกล่าวจะได้รับการตอบรับจากนักวิชาการ และองค์กรเอกชนบางส่วน
แต่ระบบราชการและระบบกฎหมายไทยกลับไม่เอื้อให้นโยบายดังกล่าว
ได้รับการปฏิบัติอย่างสัมฤทธิผล ทั้งนี้ด้วยความเข้าใจเรื่องความยากจน
และระบบสวัสดิการยังคงมีทัศนคติแบบเดิมครอบงำอยู่ ทั้งที่สังคมโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
รวมถึงระบบการศึกษากฎหมายตามสถาบันต่างๆ ก็มีความสนใจเรื่องราวเหล่านี้น้อยมาก
จึงทำใหนโยบายเอาชนะความยากจนและระบบสวัสดิการฯ ยังคงไม่ขยับเขยื้อน
บทสรุปงานวิจัยชิ้นนี้ จะให้ภาพชัดเจนเพื่อความเข้าใจปัญหาข้างต้น
เนื่องจากบทสรุปงานวิจัยนี้ค่อนข้างยาว
จึงได้แบ่งออกเป็น ๒ ตอน
ในส่วนของเชิงอรรถนั้น ได้วางไว้ท้ายบทของตอนที่ ๒
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๓๑๔
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๓.๕ หน้ากระดาษ A4)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
บทสรุปงานวิจัย: กฎหมายกับระบบสวัสดิการคนจน
กฎหมายไทย:
เกื้อกูลหรือกีดกันสวัสดิการคนจน (ตอน ๒)
ไพสิฐ
พาณิชย์กุล: เขียน
คณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2. มิติทางกฎหมาย: การพัฒนาระบบสวัสดิการคนจนและผู้ด้อยโอกาส
2.1 ระบบสวัสดิการ ในสายตาของกฎหมายไทย
ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสวัสดิการในทางกฎหมาย(ไทย) เมื่อตรวจสอบจากบทบัญญัติของกฎหมายฉบับต่างๆ อาจจะกล่าวได้ว่ายังเป็นความเข้าใจที่กระจัดกระจาย ที่ยังไม่สามารถที่จะให้ภาพสรุปที่ชัดเจนอย่างเป็นระบบได้เท่าที่ควร การที่สามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับขอบเขตและความรับรู้ของกฎหมาย เกี่ยวกับระบบสวัสดิการที่มีอยู่ จะเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยในการสังเคราะห์ว่าเป็นอุปสรรคหรือมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเห็นพัฒนาการและข้อจำกัดต่างๆ ได้ ฯลฯดังนั้น ในส่วนนี้จะแสดงให้เห็นภาพรวมถึงสิ่งที่อาจจะตีความได้ว่าเป็นระบบสวัสดิการที่ระบบกฎหมายไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน
ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้เมื่อกล่าวถึงคำว่า "สวัสดิการ" ในทางกฎหมาย นักกฎหมายมีความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวหลากหลายมาก ตั้งแต่ที่ไม่รู้เรื่องเลยว่ามันคืออะไร ไปจนกระทั่งถึงที่มีความเข้าใจอย่างรู้เท่าทัน ความแตกต่างที่หลากหลายเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า อะไรที่ทำให้นักกฏหมายมองต่างกันมากมายขนาดนี้ อันที่จริงสถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะนักกฎหมายไทยเท่านั้น นักกฎหมายในประเทศที่ระบบสวัสดิการได้รับการยอมรับในทางกฎหมายมากกว่าประเทศไทย ก็ยังมีปัญหาในการมองเรื่องระบบสวัสดิการเช่นเดียวกัน (8) เหตุที่เป็นเช่นนั้น เท่าที่ได้สำรวจความคิดทางกฎหมายของระบบกฎหมายไทยแล้ว สามารถที่จะแบ่งทัศนะในการมองเรื่องสวัสดิการที่แตกต่างกันได้ดังต่อไปนี้
กลุ่มที่ 1 มองประเด็นเรื่องระบบสวัสดิการเป็นเรื่องการเยียวยาทดแทนความเสียหาย (Remedy)
ในกลุ่มที่ 1 นั้นเป็นพัฒนาการของระบบกฎหมายและของนักกฎหมายที่ได้รับการปลูกฝังผ่านทางระบบกฎหมายเอกชน โดยเฉพาะในเรื่องของการชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วเป็นเหตุให้ต้องเสียหาย ความเสียหายเช่นนี้ กฎหมายให้อำนาจแก่ศาลที่จะใช้ดุลยพินิจในการกำหนดความเสียหายได้ ประเด็นที่เกิดปัญหาคือ ความคิดในเรื่องการเยียวยาความเสียหาย อันจะนำไปสู่การชดเชยนั้น จะมองว่าเป็นการเยียวยา(remedy) หรือจะเป็นกรณีกลับคืนสู่สถานะเดิม (recover) ซึ่งนักกฎหมายมองต่างกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วนักกฎหมายโดยเฉพาะศาลมองว่า เป็นลักษณะของการเยียวยาความเสียหายทั้งนี้โดยระบบกฎหมายก็เอื้อให้ศาลต้องมองเช่นนั้น ดังจะเห็นได้จากแนวคำวินิจฉัยของศาล ซึ่งเกี่ยวกับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนในกรณีเมื่อได้รับความเสียหาย มักจะกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้ในลักษณะที่เป็นการเยียวยาความเสียหาย และนอกจากนั้น โดยระบบของการคุ้มครองสิทธิของผู้ที่ได้รับความเสียหาย ก็ยังต้องใช้กระบวนการยุติธรรมปรกติที่เน้นเทคนิคทางคดีซึ่งมีความล่าช้า และมีค่าใช้จ่ายสูง (9) ในขณะที่หลักการของการเยียวยาความเสียหายในทางกฎหมายจะต้องประกอบด้วยหลักของการกลับสู่ศักยภาพเดิม (recover) อย่างทันที (prompt) และเพียงพอ (adequate) ดังนั้น ถ้าตามระบบแล้ว ศาลไม่สามารถที่จะเยียวยาความเสียหายให้ได้ ก็ถือเป็นคราวเคราะห์หรือบาปเคราะห์ของผู้เสียหายเอง
นอกจากนั้น ในกรณีของระเบียบการเบิกจ่ายเงินของทางราชการในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกัน การเยียวยาความเสียหาย ระเบียบการเบิกจ่ายที่หยุมหยิม และถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินซึ่งมักจะมุ่งรักษาระเบียบและรักษาเงินให้จ่ายออกไปให้ช้าที่สุดและน้อยที่สุด จึงมักจะถูกตีความไปในทางที่ฝืนความรู้สึกอยู่เสมอๆ จนอดสงสัยไม่ได้ว่าการตีความดังกล่าวเกิดจากสำนึกความเป็นมนุษยธรรมหรือไม่ อาทิเช่น งบทางราชการที่เป็นเงินสำหรับการจ่ายสำหรับความเสียหายจากน้ำท่วม ไม่สามารถที่จะนำเงินดังกล่าวมาใช้ในการป้องกันน้ำท่วมได้ ดังนั้นจึงต้องปล่อยให้เกิดน้ำท่วมและจะต้องเกิดความเสียหายขึ้นก่อนจึงจะสามารถที่จะนำเงินดังกล่าวออกมาใช้ได้ แต่ก็ไม่เพียงพอกับความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาล ทั้งๆที่ถ้าหากสามารถนำเงินงบประมาณดังกล่าวมาใช้ในการป้องกันได้ ก็จะไม่ต้องทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนในวงกว้าง (10)
กลุ่มที่ 2 มองประเด็นเรื่องระบบสวัสดิการเป็นเรื่อง สิทธิขั้นต่ำตามที่กฎหมายรับรองไว้ (Basic Rights)
ในกลุ่มที่ 2 มองเรื่องระบบสวัสดิการเป็นเรื่อง "สิทธิขั้นพื้นฐาน" ในกลุ่มนี้จะเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า มีกฎหมายอะไรบัญญัติรองรับให้เป็นสิทธิบ้าง และเป็นสิทธิของใคร ขอบเขตของสิทธิครอบคลุมในเรื่องอะไรบ้าง. ทัศนะในการมองเรื่องสวัสดิการในแนวทางนี้ ส่วนใหญ่ผูกติดอยู่กับสิ่งที่กฎหหมายกำหนดไว้เป็นหลัก ซึ่งก็มีความจำเป็นในระดับหนึ่งที่จะต้องมีระบบการให้การคุ้มครองที่มีหลักประกันที่แน่นอนตามที่กฎหมายกำหนด และในกฎหมายบ้างฉบับกำหนดละเอียดถึงขั้นที่ตีค่าชดเชยเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน อาทิ เช่น ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ในกรณีที่ประสบอุบัติเหตุในการทำงานจนต้องเสียอวัยวะ ก็จะมีการกำหนดจำนวนเงินไว้ เช่นจะต้องจ่ายกี่เท่าของเงินเดือน เสียอวัยวะก็จะมีการเยียวยากันเป็นตามรายการ เช่น เสียแขนข้างซ้ายจะต้องจ่ายเท่าไร เสียนิ้วไปสองข้อจะต้องจ่ายไปเท่าไร เป็นต้น
แต่แม้จะมีกฎหมายรับรองไว้ในฐานะที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานแล้วก็ตาม เวลาปฎิบัติตามกฎหมายจริง กลับไม่ได้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้เนื่องจากทัศนะในการบังคับใช้กฎหมาย ผู้บังคับใช้กฎหมาย และโดยระบบกฎหมาย (11) ยังใช้แนวคิดและวิธีการในการมองปัญหาแบบเดิม จึงทำให้สิ่งที่กฎหมายบัญญัติในฐานะที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานไม่สามารถที่จะช่วยทำให้ระบบสวัสดิการให้ความช่วยเหลือคนจนหรือผู้ด้อยโอกาสได้ ซึ่งก็เป็นปัญหาลักษณะทำนองเดียวกับสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ ซึ่งแม้จะมีหลักการใหญ่ในรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ หรือแม้กระทั่งในกรณีที่มีกฎหมายในระดับรายละเอียดบัญญัติกำหนดรับรองไว้แล้วก็ตาม แต่ระบบกฎหมายในระดับโครงสร้างใหญ่ และในแนวทางปฎิบัติระดับตัวบุคคลยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนตามให้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว ปัญหาอุปสรรคใหญ่นี้ไม่มีทางอื่นที่จะช่วยให้เข้าใจสาเหตุที่มาของอุปสรรคได้เลยนอกจากชี้ได้ว่า เป็นปัญหาของระบบการพัฒนาทางความคิดในทางกฎหมาย ที่ปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงและปัญหาที่เกิดติดตามมาอย่างรู้เท่าทันแม้แนวโน้มของกฎหมายในลักษณะนี้จะมีมากขึ้น แต่ในทางปฎิบัติแล้วก็ยังมีปัญหาอยู่อีกหลายประการ อาทิเช่น ความเพียงพอของสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับอย่างเหมาะสมกับการดำรงชีวิตหรือไม่ รวมไปถึงปัญหาในแง่ของกระบวนการในการใช้สิทธิ และขอบเขตของสิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าวก็ไม่มีผลครอบคลุมประชาชนอีกจำนวนมาก ที่ยังไม่มีบัญญัติกฎหมายรับรองให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน
แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีการประกาศใช้กฎหมาย พระราชบัญญัติ ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2546 แต่ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังเป็นเพียงกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบในการดูแลเรื่องระบบสวัสดิการ แต่ยังไม่ถึงขั้นที่เป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิอันพึงมีพึงได้ของคนจนและผู้ด้อยโอกาสอีกหลายๆ กลุ่ม การปรับองค์กรดังกล่าวที่ทำให้เกิดระบบใหม่ในการจัดการระบบสวัสดิการทั้งในระดับชาติและระดับจังหวัด ซึ่งสามารถที่เห็นความเชื่อมโยงได้กับนโยบายการปฎิรูประบบราชการ ที่ต้องการทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีลักษณะบูรณาการ ก็น่าที่จะเป็นผลดีต่อการปรับลักษณะของการให้ความช่วยเหลือหรือระบบสวัสดิการได้ แต่อย่างไรก็ดี ตามแนวทางดังกล่าวนี้ จะทำอย่างไรที่จะทำให้ระบบดังกล่าวที่มีการวางระบบขึ้นมาใหม่นั้น ไม่นำไปสู่การทำให้การวางระบบสวัสดิการใหม่ตามเจตนารมณ์กฎหมาย ทำหน้าที่เป็นเพียง"การสงเคราะห์" เหมือนที่ผ่านๆ มา
กลุ่มที่ 3 มองประเด็นเรื่องระบบสวัสดิการเป็นเรื่อง ความเป็นธรรม/มนุษยธรรม
ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับในกลุ่มนี้ ได้แก่ วิธีการมองปัญหาที่ไม่ได้เริ่มต้นมองจากบทบัญญัติกฎหมาย หรือมองว่าควรที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่จำนวนเท่าใด หากแต่มองจากสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และระบบที่มีอยู่ในสังคมไม่สามารถที่จะเข้าไปรองรับ/บรรเทาหรือแก้ไขปัญหาได้ การมองที่เริ่มต้นจากปัญหาเป็นตัวตั้ง ทำให้สามารถเห็นความเชื่อมโยงระหว่างสาเหตุต่างๆ ของปัญหาและผลกระทบที่ตามมา และที่สำคัญคือ ทำให้มองเห็นว่ามีใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งจะทำให้เห็นถึงหน่วยของปัญหาที่มิได้เป็นปัจเจกบุคคล แต่มีลักษณะที่หลากหลายอันที่จริงแล้ว รากฐานที่สำคัญของกลุ่มนี้เติบโตมาจากสำนักความคิดกฎหมายธรรมชาติ ที่มองสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ ดังนั้น การที่ประชาชนซึ่งอยู่ในการปกครองของอำนาจรัฐ อยู่ในฐานะยากจน หรืออยู่ในฐานะผู้ด้อยโอกาส ไม่ว่าจะโดยสาเหตุที่เกิดจากรัฐไม่ทำหน้าที่ หรือเกิดจากการที่รัฐอ้างว่าทำหน้าที่ภายใต้คำว่า "การพัฒนา" แล้วเกิดความเสียหายหรือเกิดผลกระทบ หรือ การที่รัฐเลือกปฎิบัติให้ต้องแบกภาระในนามของสังคมส่วนรวม ก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเข้ามาดูแล แม้จะไม่มีบทบัญญัติกฎหมายบังคับให้รัฐต้องทำก็ตาม
ดังนั้น การที่รัฐมีระบบสวัสดิการรองรับสำหรับบางกลุ่ม อาทิเช่น แรงงานในระบบ ข้าราชการ พนักงานของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ แต่คนที่อยู่นอกระบบถ้าหากเข้ามาอยู่ในอำนาจรัฐไม่ว่ากรณีใดๆ ด้วยเหตุที่บุคคลคนนั้นเป็นมนุษย์ รัฐและการใช้อำนาจรัฐ จะต้องเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย ความเป็นมนุษย์ก็ดี ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็ดี มีความเป็นสากลและเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องปกป้องเอาไว้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในกลุ่มนี้ เมื่อกล่าวถึงระบบสวัสดิการสำหรับคนจนคนและคนด้อยโอกาส จะเน้นที่บทบาทภาครัฐว่ามีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการจากทัศนะทั้งสามกลุ่มสามารถที่จะสะท้อนภาพความคิดของกฎหมายต่อระบบสวัสดิการ ได้ดังนี้
ประการแรก อาจจะกล่าวได้ในเบื้องต้นว่า แม้จะมีกฎหมายหลายฉบับที่กล่าวถึงระบบสวัสดิการ แต่โดยส่วนใหญ่และเท่าที่ผ่านมาในอดีต ระบบสวัสดิการส่วนใหญ่ รัฐบริหารจัดการในลักษณะที่เป็นการเยียวยาความเสียหายในผลกระทบในด้านต่างๆ การเยียวยาในทางกฎหมายดังกล่าวอาจจะมีความใกล้เคียงกับการทำงานในลักษณะการประชาสงเคราะห์ ซึ่งในยุคต้นๆ ของรัฐไทยนั้นอาจมีความจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น แต่ในปัจจุบันบทบาทของรัฐ มีการปรับเปลี่ยน อันเป็นผลมาจากสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมที่ดีขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงซึ่งทำให้รัฐ และหน่วยงานของรัฐจะอยู่แบบเดิมไม่ได้ ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนบทบาทแตกต่างออกไป
และแม้ในปัจจุบันจะมีกฎหมายที่มีการประกันในแง่ระบบสวัสดิการเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ในแง่ของการบังคับใช้กฎหมายก็ยังไม่ค่อยที่จะปรับตัวมากเท่าใดนัก ส่วนใหญ่ของกฎหมายก็ยังคงตกอยู่ในอิทธิพลทางความคิดที่มองระบบสวัสดิการแบบการช่วยเหลือสงเคราะห์เท่านั้น ยังไม่มองไปไกลถึงว่าเป็นระบบการบริการสังคม หรือระบบประกันสังคมประการที่สอง ระบบกฎหมายที่เกี่ยวกับระบบสวัสดิการส่วนใหญ่ แม้จะมีการรับรองว่าเป็น "สิทธิ" แต่สิทธิดังกล่าวก็เป็นเพียงหลักการ การที่จะได้สิทธิดังกล่าวหรือไม่นั้น จะต้องแสดงออกถึงการใช้สิทธิ เช่นมาเรียกร้อง มาติดตามทวงถาม หรือมาฟ้องร้องบังคับคดี ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนจนหรือคนด้อยโอกาสสามารถที่จะเข้าถึงสิทธิต่างๆ น้อยลง
ประการที่สาม หน่วยในทางกฎหมายที่กฎหมายมุ่งที่จะให้ความช่วยเหลือ ยังมองว่ามีแต่เพียงปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงผู้ที่ความได้รับการช่วยเหลือจากรัฐส่วนใหญ่ในกรณีคนจนและคนด้อยโอกาส มักจะอยู่ในลักษณะกลุ่มมากกว่า แต่ในทางกฎหมายยังไม่สามารถที่จะขยายหรือสร้างระบบการให้การช่วยเหลือในลักษณะกลุ่มได้
ประการที่สี่ ระบบกฎหมายที่เกี่ยวกับระบบสวัสดิการสังคม เป็นระบบกฎหมายที่ขาดการประเมินผลในเชิงระบบ จึงทำให้ไม่สามารถที่จะส่งข้อมูลที่เป็นการประเมินระบบการทำงานว่าจะต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับปัญหาในอนาคตได้อย่างไร
ประการที่ห้า ระบบการสวัสดิการตามที่มีกฎหมายรับรองไว้นั้น ยังไม่มีการบูรณาการในเชิงกระบวนการในการทำงาน ซึ่งในเรื่องการแก้ปัญหาความยากจน ผู้ด้อยโอกาส จำเป็นอย่างมากที่จะต้องอาศัยการจัดองค์กรมีประสิทธิภาพที่สามารถดูแลปัญหาทั้งหมดอย่างครบวงจร2.2 สิ่งที่ควรจะทำต่อไปในทางกฎหมาย
เพื่อเป็นการเสริมให้ระบบสวัสดิการสำหรับคนจนและคนด้อยโอกาส เป็นทางออกของการแก้ปัญหาความยากจน
มาตราการที่ถูกเสนอมาเพื่อที่จะแก้ปัญหาความยากจน มีอยู่หลายมาตราการและดำเนินการอยู่ในหลายเรื่อง โดยมีเป้าหมายที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจน มาตราการต่างๆเหล่านั้น แม้จะสามารถที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนได้ก็ตาม แต่ก็คิดต่อไปได้ด้วยว่า มาตราการที่นำมาใช้ดังกล่าวนั้น เป็นมาตราการหรือมีวิธีการที่ถูกต้องหรือไม่ กล่าวคือ เป็นมาตราการหรือวิธีการที่สร้างความมั่นคงให้กับคนจนหรือผู้ด้อยโอกาสหรือไม่ รวมทั้งมีความยั่งยืนในการแก้ปัญหาหรือไม่ และดังนั้น เมื่อกล่าวถึงบทบาทของภาครัฐที่ใช้อำนาจรัฐในการแก้ปัญหา วิธีการในการแก้ปัญหาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องถูกตรวจสอบอยู่เสมอว่า เป็นวิธีการที่ถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ถ้าเอาคนจนและผู้ด้อยโอกาสเป็นตัวตั้ง และหวังว่าคนจนและผู้ด้อยโอกาสจะสามารถที่จะหลุดพ้นจากความยากจนและการเป็นผู้ด้อยโอกาสได้ ควรที่จะต้องดำเนินการในทางกฎหมายดังต่อไปนี้
ประการแรก ในเรื่องท่าทีต่อชีวิต
ท่าทีต่อชีวิตเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เกิดการตัดสินใจว่าจะสู้ หรือจะหลบ หรือจะถอย ระบบกฎหมายของไทยมักที่จะให้ความสำคัญกับการลงโทษทางอาญา และการข่มขู่ว่าจะต้องชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น (12) ซึ่งมีตัวอย่างรูปธรรมให้เห็นมานักต่อนักแล้วว่า คนจนเสียเปรียบอย่างไม่ต้องสงสัยภายใต้กระบวนการยุติธรรมในปัจจุบัน (13) ระบบและกระบวนการแบบนี้ทำให้เกิดความกลัวทั่วไปในหมู่ประชาชนทั้งที่จนและไม่จน แต่ขาดความรู้ดังนั้น การทำให้หลุดพ้นจากความกลัวอันเนื่องมาจากระบบกฎหมายจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ และทำให้ตกอยู่ในฐานะที่ยากจนหรือด้อยโอกาสคือ "ความกลัว" ความกลัวที่ถูกสร้างขึ้นจากความไม่รู้ ไม่ว่าจะสร้างขึ้นมาเอง เช่น ดังจะเห็นจากความคิดที่ "กลัวไปก่อนว่า....." หรือที่เกิดจากระบบราชการ เป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้อาจจะตกอยู่ในฐานะยากจนหรือด้อยโอกาส
การทำให้หลุดพ้นจากความกลัวนี้ได้นั้นต้องอาศัยมาตราการหลายๆด้านในการที่จะเสริมท่าทีต่อชีวิตในทางด้านบวก(empowerment) อันประกอบด้วยมาตราการต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. การมีพี่เลี้ยงที่คอยให้การช่วยเหลือในด้านต่างๆ แต่ที่สำคัญคือ การให้กำลังใจที่จะลุกขึ้นมาสู้กับชีวิต รวมถึงแบบอย่างรูปธรรมที่ประสบความสำเร็จในการลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องในทางกฎหมาย
2. การมีแหล่งข้อมูล แหล่งความรู้ที่ถูกต้อง ที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในทุกๆ ด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในทางด้านกฎหมาย รวมถึงการมีห้องเรียนในสถานการณ์จริงเพื่อจะได้ทดลองในการใช้สิทธิ
3. การมีสื่อที่คอยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางบอกความต้องการและทำหน้าที่สื่อให้เห็นถึงความถูกต้องชอบธรรม และประเด็นที่จะเรียกร้องต่อระบบและด้วยการปรับให้มีท่าทีต่อชีวิตใหม่ดังกล่าวนี้ อาจจะสามารถที่จะนำไปสู่การทำให้ตนเองพ้นจากภาวะจนสิทธิได้
ประการที่สอง การเรียกร้องให้เกิดการปฎิรูประบบราชการและการกระจายอำนาจ
มาตราการทั้งสองดังกล่าว แม้จะไม่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาความยากจนและความด้อยโอกาสโดยตรงเสียทีเดียว แต่มาตราการทั้งสองดังกล่าวเป็นจังหวะในทางการเมือง และเป็นการสร้างโอกาสหลายๆ ครั้งที่จะทำให้ข้อเสนอหรือแนวทางในการสร้างระบบสวัสดิการสำหรับคนจนและคนด้อยโอกาสมีโอกาสมากขึ้น รวมถึงการได้เสนอต้นแบบที่เกี่ยวกับระบบสวัสดิการคนจนที่ได้ทำมาจนประสบความสำเร็จแล้ว ให้ส่วนราชการนำไปเป็นต้นแบบที่จะไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ได้
นอกจากนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจ ในกรณีนี้น่าจะเป็นทางออกของปัญหาที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ที่จะสามารถแก้ปัญหาในเบื้องต้นของกลุ่มปัญหาเกษตรกรที่ไม่มีที่ทำกิน และกลุ่มผู้พิการ คนชรา หญิงหม้าย และเด็กด้อยโอกาสในทางด้านการศึกษา เรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องสาธารณสุข รวมถึงโอกาสและช่องทางในการประกอบอาชีพ ซึ่งทั้งหมดดังที่กล่าวมานี้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองท้องถิ่นโดยตรงที่จะต้องดำเนินการ ซึ่งอำนาจหน้าที่ดังกล่าวเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้ประชาชนเข้ามาร่วมกับท้องถิ่นในการแก้ปัญหาต่างๆเหล่านั้น (14)ประการที่สาม การสร้างเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและภาวะการด้อยโอกาส
ปัญหาใหญ่ที่สำคัญอีกประการในทางกฎหมายคือ กระบวนการในการผลิตนักกฎหมายอาจจะกล่าวได้ว่า มีสถาบันการศึกษาทางกฎหมายไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่ทำการศึกษากฎหมายกับความยากจน ดังนั้น องค์ความรู้ในทางกฎหมายที่จะช่วยคนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจึงไม่ได้รับการพัฒนา เมื่อถึงคราวที่จำเป็นจะต้องใช้องค์ความรู้นั้นก็เป็นเสมือนตาบอดคลำช้างในขณะเดียวกัน ในระบบการศึกษากฎหมายในปัจจุบัน อย่างน้อยก็พอที่จะมีลูกหลานคนจนเข้ามาศึกษากฎหมายอยู่บ้าง และในเวลาเดียวกันนักศึกษากฎหมายที่สนใจในปัญหาสังคมก็มีอยู่หลายกลุ่ม ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการที่จะให้นักศึกษาใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และเตรียมการที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน และผู้ประกอบการก็สามารถที่จะได้ประโยชน์ จึงมีนโยบายที่จะให้นักศึกษาฝึกงานในภาคฤดูร้อน นโยบายเช่นนี้สามารถที่จะปรับมาใช้กับกรณีการสร้างสำนึกให้กับนักศึกษา รวมถึงสถาบันการศึกษา ในการสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับปัญหารากฐานของสังคมไทย โดยน่าจะต้องพัฒนาเป็นเครือข่ายของนักศึกษากฎหมาย( หรือในสาขาวิชาอื่นๆ) และสถาบันการศึกษาที่จะทำการรวบรวมข้อมูลในทางกฎหมายที่เกี่ยวกับคนจน และเข้าไปหนุนให้คนจนเกิดศักยภาพที่จะแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยที่นักศึกษาและสถาบันการศึกษาเข้าไปเรียนรู้ และสนับสนุน
บทสรุป
ระบบกฎหมายไทย : เกื้อกูล หรือ กีดกัน การเข้าถึงระบบสวัสดิการของคนจน?
จากทั้งหมดที่พยายามสะท้อนภาพให้เห็น จะเห็นได้ว่า ถ้ามองในเชิงโครงสร้างทางกฎหมายแล้ว
โครงสร้างในระดับที่เป็นกลไกทางกฎหมายในปัจจุบันเปิดกว้างมากขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับในอดีต
ดังจะเห็นที่ล่าสุดมีการปรับโครงสร้างกลไกที่จะมาบริหารจัดการระบบสวัสดิการสังคม
ดังที่ปรากฎในพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2546 แต่อย่างไรก็ตาม
แม้จะเป็นพัฒนาการที่ก้าวไปอีกระดับ ที่มีการจัดองค์กรที่จะเข้ามาดูแลเรื่องระบบสวัสดิการสังคม
แต่ก็ยังไม่มีการกล่าวถึงเนื้อหาของการแก้ปัญหาว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งต้องติดตามการทำงานของคณะกรรมการชุดต่างๆ
ตามกฎหมายนี้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญกว่าโครงสร้างในระดับที่เป็นกลไกทางกฎหมาย ได้แก่ โครงสร้างความคิดของนักกฎหมาย อาจจะกล่าวได้ว่า โครงสร้างความคิดของนักกฎหมายถูกครอบงำด้วยมายาคติที่สมมุติให้ทุกคนเท่าเทียมกันในทางกฎหมาย การที่กฎหมายทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันในทางกฎหมายโดยการบัญญัติกฎหมาย และมีกระบวนการครอบงำผ่านระบบการศึกษาแบบอุปถัมภ์ ทำให้นักกฎหมายอยู่ในโลกของความฝันอุดมคติที่ไม่ได้สัมพันธ์กับสภาพความเป็นจริง ด้วยมายาคติแบบนี้จึงทำให้นักกฎหมายไม่สามารถที่จะสัมผัสกับคนจนได้ เพราะถูกทำให้เชื่อเสียแล้วตั้งแต่ต้นโดยไม่ต้องตั้งคำถามแต่อย่างใดๆ
เนื้อหาวิชาต่างๆ ที่เรียนก็ไม่เคยที่จะพูดถึงคนจน ความยากจน แต่กลับไปรู้จักคนจนในฐานะที่เป็นผู้กระทำความผิด เป็นจำเลย เป็นผู้ต้องหา เป็นลูกหนี้ รู้จักความยากจนภายใต้คำว่าเหตุจำเป็น หรือการเป็นผู้ฟ้องคดีหรือต่อสู้คดีอย่างคนอนาถา การที่ไม่สามารถสัมผัสได้เช่นนี้จึงทำให้ นักกฎหมายและรวมถึงระบบกฎหมายไม่เคยรู้จักความยากจนที่แท้จริงในทางกฎหมาย (ซึ่งในงานวิจัยพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่า การจนสิทธิ ถือเป็นคนจนในทางกฎหมาย)
ดังนั้น ที่ทางของคนจนในทางกฎหมายจึงไม่มีที่ทางในลักษณะที่เป็นการให้สิทธิเป็นพิเศษ กฎหมายก็ไม่เคยกีดกันเพราะกฎหมายเป็นกลางตามที่นักกฎหมายชอบอ้าง แต่กฎหมายแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ให้กับคนจน โดยให้คนจนเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีในโครงสร้างสังคม เพื่อทำให้ระบบกฎหมายสามารถที่แสดงอำนาจและอยู่ในโครงสร้างสังคมที่อยุติธรรมได้อย่างศักดิ์สิทธิ์
++++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ
(1) อาทิเช่น ดังที่ปรากฎในพระราชดำรัสที่พระราชทานให้แก่นักกฎหมายเนื่องในวันสำคัญทางกฎหมาย ดังที่มักจะได้ยินอยู่เสมอว่า "คนบุกรุกกฎหมายหรือกฎหมายบุกรุกคน" และในพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานแก่นักกฎหมายในโอกาสต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นคำถามที่สะท้อนสถานภาพของระบบกฎหมายที่จะต้องปรับปรุง แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองมากเท่าที่ควร ท่านที่สนใจโปรดศึกษาเพิ่มเติมใน ไพสิฐ พาณิชย์กุล "พลวัตการจัดการทรัพยากร สถานการณ์ในประเทศไทย : กฎหมายกับประเพณีท้องถิ่น" สกว. 2541
และนอกจากนั้น ท่านที่สนใจสามารถที่จะศึกษาเพิ่มเติมได้จาก เอกสารดังต่อไปนี้1. บทความเรื่อง "นักนิติศาสตร์หลงทางหรือ" อมร จันทรสมบรูณ์ วารสาร "ตราชู" คณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตุลาคม 2517
2. บันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง "แนวทางการพัฒนาคณะกรรมการกฤษฎีกาและการพัฒนา "ระบบกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง" ของไทย" ตุลาคม พ.ศ. 2530
3. เอกสารประกอบการบรรยายพิเศษต่อ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและผู้บรหารของสภาพัฒน์ เรื่อง "สภาพปัญหากฎหมายและนักฎหมายไทยกับการวางแผนเพื่อการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" โดย ดร. อักขราทร จุฬารัตนเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2542 ณห้องประชุม เดช สนิทวงศ์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรุงเทพฯ(2) โปรดดูรายละเอียดใน "เอกสารการเมือง - การปกครองไทย พ.ศ. 2417- พ.ศ. 2479" สถาบันสยามศึกษา สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 2 หน้า 86
(3) โปรดดูรายละเอียดใน "จากประวัติศาสตร์หมู่บ้านสู่ทฤษฎีสองระบบ" ฉัตรทิพย์ นาถสุภา จัดพิมพ์เนื่องในวาระครบรอบ 60 ปี ศาสตรจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา , สถาบันราชภัฎสุรินทร์ , พ.ศ. 2544
(4) ท่านที่สนใจโปรดศึกษาอย่างละเอียดในคำกล่าวเปิดงานและปาฐกถาของส่วนราชการ ในการสัมมนา "แนวทางการสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมทางกฎหมายสำหรับคนจน" วันที่ 2 กรกฎาคม 2546 ที่ เนติบัณฑิตยสภา และการประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 1 เรื่อง "กระบวนทัศน์ใหม่ของกระบวนการยุติธรรมในการปฎิบัติต่อผู้กระทำผิด" วันที่ 17 กรกฎาคม 2546 ณ ห้องแกรนด์ไดมอนบอลรูม ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
สุนทรพจน์ ทั้งสองเป็นการสังเคราะห์ความล้าหลังของระบบกฎหมายที่ตามการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน และในฐานะที่เป็นหัวหน้าของฝ่ายบริหารที่มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาความยากจน และได้รับการร้องเรียนปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากระบบกฎหมายทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ เพราะไม่สามารถที่จะสั่งการได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาลชนิดต่างๆ
(5) "การศึกษารูปแบบและความเป็นไปได้ในการจัดระบบสวัสดิการโดยภาคชุมชน" ดร. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(6) โปรดดูรายละเอียดใน "โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคมของภาคเอกชนและเครือข่ายวัฒนธรรม" กนกศักดิ์ แก้วเทพ, ปรานี ขัติยศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ใน www.welfareforall.org)
(7) โปรดดูรายละเอียดใน "The Power of Public Ideas" Edited by Robert B. Reich, Harvard University Press USA ( 1990 ) ในบทที่ 6 Policy Making in a Democracy หน้า 123 -156
(8) ดูรายละเอียดใน Ronal Dworkin "Law's Empire" The Belknap Press of Harvard University Press USA ( 2001 ) ในบทที่ 1 What is law ? หน้า 6-11
(9) อาทิเช่น กรณีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องวางค่าฤชาธรรมเนียมศาล ทั้งๆ ที่เป็นผู้ที่ยากจนและได้รับผลกระทบจากการกระทำที่ทำให้ไม่อยู่ในสภาวะที่ประกอบอาชีพได้ เช่นในกรณี การฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และกรณีอื่นๆ อีกมากมายที่ ผู้เสียหายไม่อาจดำเนินคดีได้แม้จะได้รับความเสียหาย เนื่องจากไม่มีค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้อง ซึ่งสะท้อนภาพให้เห็นสิทธิของการที่จะได้รับการเยียวยาของคนจนและผู้ด้อยโอกาส ซึ่งมักจะตกอยู่ในฐานะที่ถูกทำให้ตกอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงกับความยากจน และโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมก็ยาก นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความล่าช้าด้วย (ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความไม่ยุติธรรม)
(10) คำอภิปรายของนายดิเรก ถึงฝั่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบรูณ์ เรื่อง "ผู้ว่าซีอีโอ ประชาชนได้อะไร" ในการสัมมนารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ แห่งชาติครั้งที่ 4 วันที่ 1-2 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ณ ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ
(11) นอกจากนั้นยังมีปัญหาภายในระบบอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ปัญหาในการทุจริตภายในหน่วยงานที่ทำให้ระบบการให้ความช่วยเหลือไม่เป็นไปตามสิ่งที่ควรจะเป็น ปัญหาในความบิดเบือนของเป้าหมายของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีมักจะมุ่งหาทางออกเชิงคดีมากกว่าความเป็นธรรมที่เป็นการวางบรรทัดฐาน หรือในกรณีปัญหาการของการคัดเลือกผู้พิพากษาสมทบในศาลคดีแรงงานตามที่เป็นข่าวในสื่อมวลชน
(12) โปรดอ่านรายละเอียดใน "บทนำ : คนจนภายใต้ความสัมพันธ์ทางกฎหมาย" ไพสิฐ พาณิชย์กุล บทความเผยแพร่ใน www.midnightuniv.org/midarticle/newpage10.html ภายใต้ชื่อเรื่อง "กฎหมายกับการเบียดบังคนจน"
(13) โปรดดูคำให้การยืนยันของนายกรัฐมนตรี(ทักษิณ) ในคำกล่าวเปิดงานและปาฐกถาของส่วนราชการในการสัมมนา "แนวทางการสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมทางกฎหมายสำหรับคนจน" วันที่ 2 กรกฎาคม 2546 ที่ เนติบัณฑิตยสภา
(14) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
มาตรา 289 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีหน้าที่บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีสิทธิที่จะจัดการศึกษาอบรมและการฝึกอาชีพตามความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่นนั้น และเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอบรมของรัฐ แต่ต้องไม่ขัดต่อมาตรา 43 และมาตรา 81 ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
การจัดการศึกษาอบรมภายในท้องถิ่นตามวรรคสอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องคำนึงถึงการบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นด้วย
คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com