โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 24 July 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๑๓ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (July, 24, 07,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

อันที่จริงแล้ว รากฐานที่สำคัญของกลุ่มนี้เติบโตมาจากสำนักความคิดกฎหมายธรรมชาติ ที่มองสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ ดังนั้น การที่ประชาชนซึ่งอยู่ในการปกครองของอำนาจรัฐ อยู่ในฐานะยากจน หรืออยู่ในฐานะผู้ด้อยโอกาส ไม่ว่าจะโดยสาเหตุที่เกิดจากรัฐไม่ทำหน้าที่ หรือเกิดจากการที่รัฐอ้างว่าทำหน้าที่ภายใต้คำว่า "การพัฒนา" แล้วเกิดความเสียหายหรือเกิดผลกระทบ หรือ การที่รัฐเลือกปฎิบัติให้ต้องแบกภาระในนามของสังคมส่วนรวม ก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเข้ามาดูแล แม้จะไม่มีบทบัญญัติกฎหมายบังคับให้รัฐต้องทำก็ตาม
24-07-2550

Law & Welfare
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

บทสรุปงานวิจัย: กฎหมายกับระบบสวัสดิการคนจน
กฎหมายไทย: เกื้อกูลหรือกีดกันสวัสดิการคนจน (ตอน ๑)
ไพสิฐ พาณิชย์กุล: เขียน
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทสรุปงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้เขียน เดิมชื่อ
บทสังเคราะห์ระบบกฎหมายไทย: เกื้อกูลหรือกีดกัน การเข้าถึงระบบสวัสดิการของคนจน?
ซึ่งเขียนขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๖ ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ที่มีนโยบายทำสงครามกับความยากจน
อย่างไรก็ตาม แม้นโยบายดังกล่าวจะได้รับการตอบรับจากนักวิชาการ และองค์กรเอกชนบางส่วน
แต่ระบบราชการและระบบกฎหมายไทยกลับไม่เอื้อให้นโยบายดังกล่าว
ได้รับการปฏิบัติอย่างสัมฤทธิผล ทั้งนี้ด้วยความเข้าใจเรื่องความยากจน
และระบบสวัสดิการยังคงมีทัศนคติแบบเดิมครอบงำอยู่ ทั้งที่สังคมโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
รวมถึงระบบการศึกษากฎหมายตามสถาบันต่างๆ ก็มีความสนใจเรื่องราวเหล่านี้น้อยมาก
จึงทำใหนโยบายเอาชนะความยากจนและระบบสวัสดิการฯ ยังคงไม่ขยับเขยื้อน
บทสรุปงานวิจัยชิ้นนี้ จะให้ภาพชัดเจนเพื่อความเข้าใจปัญหาข้างต้น
เนื่องจากบทสรุปงานวิจัยนี้ค่อนข้างยาว จึงได้แบ่งออกเป็น ๒ ตอน
ในส่วนของเชิงอรรถนั้น ได้วางไว้ท้ายบทของตอนที่ ๒

midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๑๓
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๓.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทสรุปงานวิจัย: กฎหมายกับระบบสวัสดิการคนจน
กฎหมายไทย: เกื้อกูลหรือกีดกันสวัสดิการคนจน (ตอน ๑)
ไพสิฐ พาณิชย์กุล: เขียน
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทนำ
การทำความเข้าใจระบบกฎหมายในระดับของการสังเคราะห์ สามารถที่จะทำได้หลายมิติ อาทิเช่น ในระดับปรัชญาของกฎหมาย ในระดับวิธีคิดหรือนิติวิธี ในระดับกลไกและสถาบันของระบบกฎหมาย ฯลฯ แต่ในวงการกฎหมายไทยกลับไม่นิยมที่จะกล่าวถึงการวิจัยหรือการสังเคราะห์ระบบกฎหมาย ทั้งนี้เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากระบบการศึกษาของประเทศ ระบบการแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหา กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว เป็นเรื่องของระบบการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม การมองแต่เฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจแต่เพียงกรอบเดียวไม่สามารถที่จะหาทางออกได้ทั้งหมดเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงในมนุษย์ ซึ่งระบบสวัสดิการคนจนเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องความมั่นคงของมนุษย์

อันที่จริงแล้ว การสังเคราะห์ เป็นการตั้งคำถามกับสิ่งที่มีอยู่ หรือปรากฎออกมาให้เห็น และสามารถที่จะนำไปสู่การเกิดคำถาม หรือประเด็นที่จะนำไปสู่วิธีการทำความเข้าใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ดีขึ้น หรืออาจะทำให้สามารถที่จะขยายความเข้าใจที่มีมาแต่เดิม ให้สามารถที่จะเข้าใจได้กว้างขวางยิ่งขึ้น หรือแม้กระทั่งสามารถที่จะกลับไปรื้อ หรือเปลี่ยนความคิดที่มีมาแต่เดิม ซึ่งถูกครอบงำทางความคิดและยังคงยึดถือกันปฎิบัติเป็นแนวทางอันศักดิ์สิทธิ์ ให้ความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ได้ ซึ่งการสังเคราะห์จะนำไปสู่การสร้างระบบใหม่ขึ้นมา ฯลฯ

ถ้าการสังเคราะห์สามารถที่จะทำให้เกิดอะไรต่างๆ ได้อย่างมากมาย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ทำไมสังคมไทยจึงไม่รับเอาเรื่องที่เป็นประโยชน์เช่นนี้มาใช้ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจน แทนที่จะยินดีกับนโยบายการทำหวยที่ผิดกฎหมายให้มาเป็นหวยที่ชอบด้วยกฎหมายโดยปราศจากคำถามใดๆ ที่เกี่ยวกับความชอบธรรมของอำนาจในระบบกฎหมายที่ขีดเส้นว่า สิ่งใดเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายหรือถูกกฎหมาย และทำไมในวงการกฎหมายไทยซึ่งก็เห็นอยู่ว่ามีปัญหาต่างๆ อยู่มากมาย แต่กลับมีคำตอบต่อปัญหามากมายเหล่านั้นแบบเป็นสูตรสำเร็จคือ ต้องไปแก้กฎหมาย หรือบ้างก็ชี้ไปที่ปัญหาต่างๆ ว่าอยู่ที่คน ปัญหาอยู่ที่ไม่มีงบประมาณเพียงพอ ปัญหาเพราะมีงานที่ต้องทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ดังนั้น เรื่องใดที่เป็นข่าวดัง ประชาชนสนใจ ผู้บังคับบัญชาสนใจก็จะได้รับการเข้าไปดูแล แต่พอข่าวเงียบหายไป เปลี่ยนเจ้านายคนใหม่ก็ต้องเปลี่ยนไปทำเรื่องอื่นอีก

ดังนั้น ข้อเสนอและแนวทางในการแก้ปัญหาทางกฎหมายดังกล่าว จึงสะท้อนสภาพของระบบกลไกในทางกฎหมายที่ตกยุค และไม่สามารถที่จะบูรณาการการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่วิกฤติของคนในระดับล่างได้ สภาพของระบบที่เป็นอยู่เช่นนี้จึงเป็นสภาพที่ไปกันไม่ได้เลยกับสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ต้องอาศัยการวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การประเมินผล เพื่อทำให้การแก้ปัญหาแบบตั้งรับไปสู่การแก้ปัญหาแบบเชิงรุก

การศึกษาเพื่อพัฒนา "ระบบสวัสดิการสำหรับคนจนและคนด้อยโอกาสในสังคมไทย" ของศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย "มีความเชื่อว่าถ้าคนจนตามความหมายที่ได้ศึกษามา สามารถที่จะมีระบบสวัสดิการของตนเอง ซึ่งหมายถึงมีอำนาจในการบริหารจัดการได้เอง และในส่วนของที่ยังคงต้องอาศัยระบบสวัสดิการที่ภาครัฐจัดให้ก็สามารถที่จะเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรมแล้ว ระบบสวัสดิการในแนวทางแบบนี้ น่าจะเป็นทางออกทางหนึ่งในทางเลือกหลายๆ ทางในการแก้ปัญหาของคนจน ที่ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องความจนในทางด้านการเงินเท่านั้น" ความเชื่อมั่นและแนวทางในการแก้ปัญหาเช่นนี้จะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนเพียงใดในทางกฎหมาย ?

ระบบกฎหมายจะมีคำตอบให้หรือไม่ ยังเป็นข้อสงสัยที่ไม่สามารถที่จะตอบได้ในทันทีในระยะเวลาสั้นๆ เพราะในระบบกฎหมายไทยมีความสลับซับซ้อนจนไม่อาจที่จะคาดการณ์ได้ ไม่สามารถที่จะใช้เหตุผลเชิงตรรก ไม่สามารถที่จะใช้ความเป็นศาสตร์ทำความเข้าใจตัวเอง(ระบบกฎหมาย)ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีคำถามจากนอกระบบมากระแทก โดยเฉพาะในแง่ของสำนึกความเป็นธรรมและจริยธรรม

แต่ถ้าหากจะลองตั้งคำถามเพื่อท้าท้ายวงการกฎหมายไทย หรือวงการนิติศาสตร์ไทยเกี่ยวกับระบบการพัฒนาองค์ความรู้ทางนิติศาสตร์ที่เป็นไท ว่าสถานภาพขององค์ความรู้ทางกฎหมายเป็นอย่างไร การวิจัยทางกฎหมายเพื่อตอบคำถามที่เกี่ยวกับสังคมไทย ทัศนะของวิชาความรู้ที่เคารพรากเหง้าสังคมที่หลากหลายชาติพันธุ์ เพื่อไปให้พ้นจากมายาคติความเป็นชาตินิยมที่นิยมความรุนแรง และธนนิยมอันเป็นเป้าหมายในการประกอบอาชีพ ความรู้ทางนิติศาสตร์หรือทางกฎหมายที่มีและถ่ายทอดกันเป็นล่ำเป็นสันในเวลานี้ จะกลายเป็นอาวุธเป็นศาสตร( ศาสตร์) ที่หันคมเข้าหาเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยไม่มีจริยธรรมกำกับ จะไปในทิศทางไหน จะฝากไว้กับตัวบุคคลแต่เพียงอย่างเดียวเป็นไปได้หรือไม่? คำตอบคือไม่ได้ และไม่เพียงพออีกต่อไป และระบบที่ดีของกระบวนการเรียนการสอนและการพัฒนาองค์ความรู้นิติศาสตร์ไทย จะต้องอิงกับความจริงของสังคมมากขึ้น

การตั้งคำถามต่อวงการกฎหมายไทยและต่อวงวิชาการนิติศาสตร์ไทย เกี่ยวกับการพัฒนาระบบกฎหมายดังที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ได้เป็นการตั้งคำถามที่เกิดขึ้นครั้งแรก แต่ด้วยความปรารถนาที่จะเห็นการพัฒนาระบบกฎหมายด้วยวิธีการใช้ความรู้นำ มากกว่าที่ทำกันในอดีตที่ใช้อำนาจเป็นฐานในการพัฒนาระบบกฎหมาย ระบบกฎหมายไทยจึงถูกตั้งคำถามเรื่อยมาหลายต่อหลายครั้ง แต่การตั้งคำถามดังกล่าวดูเหมือนว่าเป็นคำถามที่ ผิดยุค ผิดสมัย ผิดภาษา (1) ไม่มีใครในวงการกฎหมายสนใจอย่างจริงจังที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงปรับรื้อ สภาพเช่นนี้ทำให้นึกไปถึงสภาพการณ์ที่รัชกาลที่ 5 ทรงวิจารณ์ระบบกฎหมายไทยก่อนที่จะมีการปฎิรูประบบกฎหมายว่ามีสภาพเหมือนกับเรือที่ปะผุมาแล้วทั้งลำ ไม่สามารถที่จะแล่นผ่านพายุแห่งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนโครงเรือ รื้อกระดูกงูใหม่ทั้งลำ (2)

สภาพเช่นนี้เมื่อหันกลับมามองปัญหาเรื่องความเป็นธรรมและระบบสวัสดิการสังคมโดยเฉพาะในกรณีของกฎหมายกับระบบสวัสดิการคนจนแล้ว เท่าที่ผ่านมาพอจะมองเห็นแนวทางในแง่ที่ว่า คงจะเป็นไปได้ยากที่จะให้คนจนมีที่ยืนในเรือลำใหญ่อย่างมีศักดิ์ศรีในฐานะเจ้าของเรือ จำเป็นที่คนจนจะต้องมีเรือของคนจนเองและต้องมีหลายๆ ลำที่ต้องคอยช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางเศรษฐกิจที่เดินทางไปกับเรือใหญ่ (3)

แต่กระนั้นก็ตาม ถ้าหากสังเกตจากเชิงอรรถ (1) ซึ่งพยายามที่จะอ้างอิงให้เห็นถึงการตั้งใจที่จะตั้งคำถามต่อระบบกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อนักกฎหมาย ต่อหน่วยงานที่มีอำนาจในการตัดสินใจในเชิงนโยบาย หรือแม้กระทั่งต่อสถาบันการศึกษา และถ้าหากพิจารณาให้ละเอียดแล้วในแง่ของระยะเวลาที่เรียงลำดับมา จะเห็นได้ว่า มีการตั้งคำถามดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาสี่ทศวรรษมานี้ และถ้าหากพิจารณาจากที่มาของคำถามก็จะเห็นถึงตำแหน่งที่น่าจะมีพลังมากเพียงพอ ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางกฎหมายได้ แต่กลับไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ในทางตรงกันข้าม กลับมีสถานการณ์ที่เป็นด้านลบในทางกฎหมายเกิดขึ้นอย่างมากมาย

สภาพในทางกฎหมายเช่นนี้ น่าจะเป็นจุดหนึ่งที่สามารถสะท้อนปัญหาของระบบกฎหมายได้เป็นอย่างดี ถึงความผิดปรกติที่เสียงสะท้อนที่เกิดจากการสังเคราะห์ไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญได้ โดยเฉพาะต่อคนจน (ซึ่งจะมีลักษณะที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับกรณีที่เกี่ยวข้องกับมาตราการทางกฎหมาย ที่จะเป็นการส่งเสริมทางด้านการค้าการลงทุนและทางด้านเศรษฐกิจ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างกระตือรือร้น อย่างลัดขั้นตอนตลอดเวลา)

และเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 และ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 (4) ก็มีคำถามที่เป็นการท้าท้ายต่อระบบกฎหมายโดยผู้นำรัฐบาล และเป็นการท้าทายผ่านทางกระบวนการวิจัยและภาระกิจของสถาบันในทางกฎหมายในระดับที่น่าจะเรียกได้ว่า รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะเป็นการสังเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ ในสังคมไทย และเป็นผลจากระบบกฎหมายที่ใช้อยู่ โดยเจาะจงที่จะถามถึงรากฐานปรัชญากฎหมาย กับบรรดาสถาบันที่เกี่ยวข้องกับระบบกฎหมาย และมีการตั้งคำถามถึงบทบาทของนักกฎหมายต่อการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการแก้ปัญหาความยากจน และการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม

ด้วยเหตุดังนั้น เมื่อกล่าวถึงการสังเคราะห์ในทางกฎหมายใ นบทความนี้อาจจะมีสถานะเป็นเพียงกิจกรรมทางปัญญา ที่ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างใดๆ ในทางกฎหมาย เว้นแต่เจ้าของอำนาจอันเป็นที่มาของกฎหมายจะทวงอำนาจดังกล่าวนั้นคืน และเชื่อมั่นว่าการลุกขึ้นมาใช้สิทธิดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการพัมนาระบบสวัสดิการของตนเองขึ้นมา เอื้อเฟื้อไปยังคนจนและคนด้อยโอกาสอื่นๆ ดังที่มีตัวอย่างที่บุกเบิกให้เห็นเป็นเครือข่ายในงานวิจัยชุดก่อนหน้านี้ (5) ท่านั้น ที่จะทำให้สิทธิในทางสังคมที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเป็นจริงขึ้นมาได้

การจัดทำนโยบายสวัสดิการสำหรับคนจน
ภาพรวมที่ได้จากการสังเคราะห์ระบบสวัสดิการสำหรับคนจน และคนด้อยโอกาสในสังคมไทย มีข้อสรุปหลักๆ ดังนี้

1. ความหมายที่ชัดเจนของ คำว่า " สวัสดิการ " มีความหมายอย่างไร
ประเด็นเรื่องนิยาม/ความหมาย เป็นประเด็นพลวัตร ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงขอบเขตความหมายตลอดมา ขึ้นอยู่กับวิธีการในการมอง และฐานคิดที่แตกต่างกัน อันเป็นผลผลิตที่สะท้อนภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในแต่ละยุคสมัย ความเข้าใจที่มีพลวัตรนี้มิได้เป็นสภาพที่เกิดขึ้นในเมืองไทยเท่านั้น ในต่างประเทศทั่วโลกก็เป็นปัญหาเช่นกัน

แต่อย่างไรก็ตามสำหรับในประเทศไทย จากการศึกษาพอที่จะวางกรอบให้เห็นการก่อตัวของความหมายได้ว่า ระบบสวัสดิการที่กล่าวถึงนั้น เป็นระบบสวัสดิการสังคม (social / public welfare) ซึ่งในยุคแรกๆ จะเป็นลักษณะของการช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ผู้ด้อยโอกาส ซึ่งเป็นการทำตามคติความเชื่อตามรากฐานทางศาสนา ต่อมาเมื่อมีการปฎิรูประบบราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 และต้องการที่จะพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้เป็นแบบตะวันตก ต้องการที่จะให้ความเป็นอยู่ของบ้านเมืองและประชาชนมีความทันสมัยและ"ศิวิไลซ์"มากขึ้น ก็ได้มีการวางระบบต่างๆ ทั้งในระบบราชการเอง และในการพัฒนาเมือง รวมถึงผู้คนในประเทศก็มีหน่วยงานใหม่ๆ เกิดขึ้นคอยให้บริการ แต่อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ไม่ได้เน้นที่การให้สวัสดิการแก่ประชาชนทั่วไป แต่เป็นการเน้นที่การปรับโครงสร้างให้มีระบบราชการตามรูปแบบรัฐสมัยใหม่ที่จะมาทำหน้าที่เป็นหลัก

หลังจากสมัยรัชกาลที่ 5 ความหมายของคำว่าระบบสวัสดิการสังคม เริ่มที่จะมีการสร้างความหมายใหม่ผ่านการปฎิบัติการของรัฐอีกครั้ง ในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยคณะราษฏร กล่าวคือ คำว่าสวัสดิการสังคม มีความหมายที่เป็นการขยายหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเป็นผู้จัดบริการทางสังคม จัดการสังคมสงเคราะห์ และการประกันสังคม แต่ในที่สุดด้วยเหตุผลและสถานการณ์ทางการเมือง ทำให้ขอบเขตของคำว่าสวัสดิการสังคมได้หดแคบลง เหลือแต่เพียงการทำหน้าที่ในการสังคมสงเคราะห์เท่านั้น และดำเนินการตามแนวนี้เรื่อยมา

จนกระทั่งเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว มีความคิดที่จะหาองค์กรที่รับผิดชอบในระดับนโยบายเกี่ยวกับระบบสวัสดิการสังคม เหตุนี้จึงทำให้เกิดการทบทวนขอบเขตความหมายของคำว่า "ระบบสวัสดิการสังคม" อีกครั้งในปี พ.ศ. 2534 ซึ่งทำให้ขอบเขตความหมายของคำดังกล่าวขยายออกไป โดยไม่ใช่เพียงแต่การสังคมสงเคราะห์เท่านั้น โดยมีการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการสังคมแห่งชาติ เป็นผู้มีบทบาททำให้เกิดการขยายความหมายดังกล่าวออกไป ในลักษณะที่ครอบคลุมมากขึ้นกว่าเดิม จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2546 และมีการกำหนดคำนิยามคำว่า "สวัสดิการสังคม" ขึ้นเป็นครั้งแรกในทางกฎหมายและเป็นครั้งแรกที่สถานภาพอย่างน้อย ในแง่ของความชัดเจนในเรื่องขอบเขตสวัสดิการสังคมที่กำหนดให้มีความครอบคลุมสิ่งที่รัฐดำเนินการมาแล้วยิ่งขึ้น

2. ใครคือคนจน และจะใช้หลักเกณฑ์ในการแยกแยะอย่างไร
จากความพยายามที่จะสร้างเครื่องมือหรือหลักเกณฑ์ที่พัฒนาขึ้นมาจากสภาพทั่วไป เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ได้เก็บข้อมูลในระดับสนาม รวมถึงตัวอย่างรูปแบบความยากจนในลักษณะต่างๆ ซึ่งจะนำมาสร้างเป็นกฎเกณฑ์เพื่อบ่งชี้ให้ได้ว่า ใครคือผู้เหมาะสมที่ควรจะได้รับสวัสดิการ ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาเรื่องความเป็นธรรมที่คนจนเหล่านั้นที่พึงจะได้รับ ในที่นี้ นอกจากจะอาศัยเส้นความยากจนหรือเกณฑ์รายได้ (ที่ยึดถือจากการครอบงำจากหน่วยงานที่ชี้ว่าใครตกอยู่ในความยากจน)แล้ว ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่ได้จากการวิจัยเพิ่มขึ้น เพื่อชี้ถึงคนจนหรือคนด้อยโอกาส ซึ่งประกอบด้วย ความยากจนหรือด้อยโอกาสในด้านทรัพย์สิน, ด้านโอกาส, ด้านอำนาจ , ด้านศักดิ์ศรี. จากเกณฑ์ดังกล่าวนี้จะช่วยทำให้การระบุถึงตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคลสามารถที่จะทำได้ และน่าจะเป็นหลักเกณฑ์ที่ช่วยทำให้หน่วยงานของรัฐกล้าที่จะให้ความช่วยเหลือได้เร็วขึ้น

หลักเกณฑ์ข้างต้น สามารถที่จะสร้างเป็นระบบตรวจสอบซ้ำ(double check) ให้แก่ระบบสวัสดิการที่ดำเนินการโดยทางราชการ เพื่อทำให้ระบบสวัสดิการสามารถกระจายไปได้อย่างทั่วถึง และจากหลักเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ในระดับจุลภาค ก็สามารถที่จะมองเห็นทางออกของปัญหาที่หลากหลายได้ละเอียดขึ้น สามารถพัฒนาเพื่อนำไปสู่การการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาความยากจนได้ว่า ควรจะเริ่มที่จุดใดก่อนควรจะให้ความสำคัญในเรื่องอะไรเป็นประเด็นหลัก และอะไรเป็นประเด็นรอง

3. ระบบสวัสดิการโดยหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการอยู่ มีปัญหาอะไรบ้าง
ข้อค้นพบที่ได้จากการศึกษาได้เผยให้เห็นว่า ระบบสวัสดิการที่จัดโดยภาครัฐ มีปัญหาในแง่สิทธิในการเข้าถึงและความไม่ทั่วถึงในการกระจายระบบสวัสดิการ ลักษณะของระบบสวัสดิการยังมีลักษณะเป็นการสงเคราะห์ ซึ่งส่งผลให้ไม่เป็นการพัฒนาศักยภาพแก่คนจนและผู้ด้อยโอกาสในระยะยาว รวมไปถึงรูปแบบของการให้ความช่วยเหลือยังคงค่อนข้างที่จะจำกัดรูปแบบของให้ความช่วยเหลืออยู่

นอกจากนั้น จุดเน้นของระบบสวัสดิการที่รัฐดำเนินการอยู่ ยังเน้นที่ตัวปัจเจกบุคคลเป็นหลัก ซึ่งการช่วยเหลือในลักษณะที่เน้นตัวบุคคลเป็นหลักนั้น ไม่สามารถที่จะสร้างพลังในลักษณะที่เป็นเครือข่ายเพื่อยกสถานภาพของตัวบุคคลที่ตกอยู่ในฐานะของคนจนหรือผู้ด้อยโอกาสในภาพรวมได้ และการไม่สามารถที่จะพัฒนาเครือข่ายได้ ก็ทำให้คนจนและคนด้อยโอกาสตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงที่ไร้เกราะกำบังที่จะช่วยป้องกันหรือประคับประคองการดำเนินชีวิตท่ามกลางการแข่งขันในโลกทุนนิยม ที่ถูกกระตุ้นโดยกระแสเศรษฐกิจแบบบริโภคนิยม

ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่า ระบบสวัสดิการที่จัดโดยรัฐในระบบที่เป็นอยู่ ไม่สามารถที่จะตัดวงจรของความยากจนหรือการทำให้ตกอยู่ในภาวะของการด้อยโอกาสได้ ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาภายในของระบบราชการเองที่มุ่งการบังคับตามระบบกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม และนำไปสู่การผลักให้คนอีกจำนวนมากตกอยู่ในวงจรของความยากจนหรือความด้อยโอกาส โดยเฉพาะในกลุ่มคนจนที่ต้องพึงพิงฐานทรัพยากรธรรมชาติ หรือกลุ่มที่ประกอบอาชีพพิเศษหรืออาชีพที่เป็นความผิดตามนโยบายของหน่วยงานรัฐ ด้วยเหตุนี้ การสังเคราะห์เชิงระบบจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้เห็นถึงปัญหา และสามารถหาทางออกที่เป็นทางเลือกที่หลากหลายได้

4. ระบบสวัสดิการที่บริหารโดยชุมชน จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างไร
คำถามที่เป็นหัวใจของโจทย์วิจัยนี้และรวมถึงจะเป็นข้อเสนอด้วยก็คือ ถ้าจะแก้ปัญหาคนยากจนคนด้อยโอกาสอีกจำนวนมากที่รัฐไม่สามารถที่จะรองรับได้ (เพราะวิธีการที่ใช้ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ตรงจุด) จะต้องเปิดโอกาสให้คนจนและคนด้อยโอกาสสามารถที่จะพัฒนาระบบสวัสดิการที่ตอบสนองต่อความต้องการของตนขึ้นมา และใช้ระบบสวัสดิการเป็นทั้งเครื่องมือและวิธีในการสร้างศักยภาพในการดูแลตัวเองของชุมชน

การแก้ปัญหาคนจนและคนด้อยโอกาสด้วยวิธีการพัฒนาระบบสวัสดิการ โดยมีความเชื่อว่าการมองระบบสวัสดิการแบบนี้ อย่างน้อยก็จะช่วยทำให้คนจนคนด้อยโอกาสที่ระบบสวัสดิการของรัฐยังไปไม่ถึงหรือยังถูกกีดกันอยู่ ให้สามารถที่จะดึงตัวเองให้หลุดจากวงจรความยากจนได้ อีกทั้งระบบสวัสดิการที่ชุมชนดำเนินการอยู่ในเวลานี้ จริงๆ แล้ว ก็เป็นระบบสวัสดิการที่เป็นรากฐานเดิมที่มีมาแต่อดีต ดังนั้นรากฐานเดิมที่มีมาเช่นนี้ น่าจะเป็นทุนทางสังคมเดิมที่ดีที่สามารถพัฒนาต่อยอดได้

อย่างไรก็ตาม รูปแบบต่างๆ ของระบบสวัสดิการที่ก่อตั้งและบริหารจัดการโดยองค์กรภาครัฐ ซึ่งจากการศึกษาเพื่อพัฒนารูปแบบการจัดระบบสวัสดิการโดยชุมชน (6) พบว่า องค์กรภาครัฐมีศักยภาพอย่างเพียงพอที่จะทำหน้าที่ดูแลระบบสวัสดิการของตนได้ และจะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ถ้าหากภาครัฐเข้ามาเสริมโดยยังคงให้อำนาจในการบริหารจัดการอยู่ที่ชุมชนหรือกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง

การวิจัยไปสู่นโยบาย และกรอบในทางกฎหมาย

1 . กระบวนการในการทำให้ข้อเสนอเป็นนโยบาย: ประเด็นที่ควรพิจารณา
นโยบายของภาครัฐ สามารถที่จะนำไปสู่การดำเนินการในด้านต่างๆ มากมาย เป็นต้นว่า จุดยืนทางการเมืองและนโยบายของพรรคที่เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล นำไปสู่การตรากฎหมาย นำไปสู่การมีคำสั่งของฝ่ายบริหารในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่มติคณะรัฐมนตรี จนกระทั่งไปถึงคำสั่งทางปกครอง หรือแม้กระทั่งมีผลต่อคำพิพากษาของศาลในลักษณะต่างๆ แต่นโยบายที่ดีนั้นจะต้องสามารถนำไปปฎิบัติได้ด้วย และในฐานะฝ่ายบริหารแม้จะมีอำนาจในการตัดสินใจที่จะให้ความเห็นชอบกับนโยบาย แต่ก็มีเงื่อนไขต่างๆ ที่อาจจะไม่สามารถทำให้นโยบายดังกล่าวนำไปสู่การปฎิบัติได้

ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวข้างต้น จึงจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจคำว่า "นโยบาย" เสียใหม่ โดยคำถามที่จะต้องตอบให้ได้ในเบื้องต้นก็คือ ที่มาของ " นโยบาย " มาจากที่ใด และมาจากใคร และนโยบายมุ่งไปยังด้านใด

ในทางตำราที่เกี่ยวกับรัฐประศาสนศาสตร์ ตำราทางการเมืองการปกครอง และแม้กระทั่งตำราในทางกฎหมาย อธิบายคำถามข้างต้นโดยให้น้ำหนักไปอยู่ที่องค์กรภาครัฐ พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยน์ต่างๆ และที่ทางความเป็นจริงในทางปฎิบัติ การที่รัฐบาลจะสร้างนโยบายใดนโยบายหนึ่งขึ้นมาเป็นการเฉพาะนั้น มันมีกระบวนการในทางการเมืองในระดับต่างๆ เข้ามาก่อรูปของนโยบายขึ้น และยิ่งในปัจจุบัน อิทธิพลของระบบเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศได้เข้ามามีบทบาทอย่างมาก ทำให้อิทธิพลดักงล่าวได้เข้ามาเป็นตัวกำหนดนโยบายมากขึ้นตามลำดับ กระบวนการเช่นนี้ทำให้ได้นโยบายที่เป็นของรัฐที่รูปแบบต่างๆ คำถามจึงอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรที่จะให้นโยบายเป็นของประชาชนโดยตรงได้บ้าง

ข้อเสนอเบื้องต้น ณ เวลานี้ที่จะทำให้นโยบายเป็นของประชาชน ต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม ดังนั้น การที่จะดำเนินการ 5P อันเป็นกระบวนการในการวางแผนนับตั้งแต่ การทำ Platform, Policy, Planning, Project, และ Program ถือว่ามีความสำคัญมาก
ในประการต่อมา การจะสื่อสารและสร้างเครือข่ายในวงกว้างร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรในระดับอื่นๆ ที่ไม่ตกอยู่ในฐานะที่เป็นคนจนหรือผู้ด้อยโอกาส ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญ โดยก่อนที่จะไปสู่รายละเอียดที่เป็น planning, project , program นั้น จำเป็นที่จะต้องมาเริ่มต้นตั้งแต่ การทำให้ประเด็นเรื่องระบบสวัสดิการคนจนและผู้ด้อยโอกาส กลายเป็นประเด็นสาธารณะ (Public Issues) และจะต้องนำไปสู่การรับรู้ร่วมกันที่ถึงระดับที่ทำให้ประเด็นสาธาณะดังกล่าวนั้น เป็นวาระสาธารณะ (Public Agenda) ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า จินตนาการของนักจัดทำนโยบาย (policy maker)เห็นว่า เงื่อนไขที่จะทำให้ข้อเสนอเชิงนโยบายสามารถที่จะผลักดันไปสู่การปฎิบัติที่มีความเป็นไปได้ จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญในเชิงกระบวนการในระดับรายละเอียดดังนี้ (7)

1.1 Platform
การกำหนดปัญหาหรือการทำ platform ที่ทำให้สังคมรับรู้ โดยรู้ว่าปัญหาเป็นของใคร สาเหตุมาจากอะไร และที่สำคัญที่จะต้องไปให้ถึงคือ การที่จะต้องทำการกำหนดปัญหาดังกล่าวมีผลต่อการรับรู้ของสาธารณะ ซึ่งในที่นี้มีความจำเป็นที่จะต้องแยกโดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ลักษณะของปัญหาที่ใกล้เคียงกันให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน หรือการใช้หน่วยครอบครัว หรือหน่วยชุมชน เป็นฐานของปัญหาที่ทำให้สามารถที่จะดึงปัญหาอื่นที่เกี่ยวข้องมาเชื่อมโยงให้เห็นในเชิงความสัมพันธ์ของปัญหาได้

การทำให้ปัญหาได้รับการใส่ใจและเห็นคุณค่าโดยสาธารณชนได้นั้น ในด้านหนึ่งสามารถที่จะทำให้เห็นเครือข่ายพันธมิตรที่จะเชื่อมต่อไปการแก้ปัญหาในระดับต่อไป นอกจากนั้น ในกระบวนการในการกำหนดปัญหา อาจจำเป็นที่จะต้องลบภาพมายาคติเดิมๆ ที่ครอบงำปัญหาดังกล่าวอยู่ เช่น การระบุปัญหาจากการที่มองว่าประชาชนเป็นผู้บุกรุกป่า ไปสู่ภาพจริงของปัญหาที่แท้ว่าจริงๆ แล้ว เป็นเรื่องกฎหมายของรัฐไปบุกรุกคน เป็นต้น ซึ่งในกระบวนการนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำข้อมูลที่ได้จากการวิจัยมาสู่การทำเรื่องราวที่แท้จริง (truth story) ให้ปรากฏ ซึ่งสามารถจะสะท้อนให้เห็นความไม่เป็นธรรมได้โดยผ่านสื่อสาธารณะ ผ่านแบบเรียน หรือ เรื่องเล่าของท้องถิ่น และบทเพลง ฯลฯ

1.2 Network, Partner
การมีเครือข่ายและความเป็นหุ้นส่วนของปัญหา เป็นช่องทางที่จะทำให้ความรับรู้สาธารณะ สามารถที่จะยกระดับไปสู่ประเด็นสาธาณะได้เร็วขึ้น และสามารถที่จะแบ่งปันทรัพยากร และที่สำคัญก็คือถ้าหากเครือข่าย หรือหุ้นส่วนของปัญหาดังกล่าวเป็นหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมีหน้าที่ในการแก้ปัญหาอยู่แล้ว ก็สามารถที่จะทำให้เกิดการปรับบทบาทของภาครัฐในระดับปฎิบัติ เนื่องจากการที่ได้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นซึ่งกันและกัน

1.3 การมีรูปธรรมที่ใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหา
หลายๆ กรณีที่การเรียกร้องในเชิงนโยบายเป็นเพียงการบอกให้ทราบปัญหา และไม่นำไปสู่การปฎิบัติ เนื่องจากกระบวนการในการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ต้องทำตามกฎหมายและต้องรับผิดชอบในผล ดังนั้นเมื่อระบบการควบคุมการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจเป็นเช่นนี้ จึงทำให้แนวโน้มในการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ของรัฐมีพฤติกรรมในการยึดกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด จนมองข้ามมนุษยธรรม และประเด็นความเป็นธรรมทางสังคม

ในระดับนโยบายก็เช่นเดียวกัน ที่กระบวนการในการตัดสินใจมักจะอิงอยู่กับผลตอบแทนทางการเมือง และกระบวนการในการตัดสินใจที่อิงอยู่กับการคิดแบบผลประโยช์และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ตามแนวทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ลำเอียง ดังนั้น เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจและสร้างความกล้าหาญให้แก่ผู้ที่ใช้อำนาจรัฐ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของระบบสวัสดิการที่ดำเนินจนกระทั่งประสบความสำเร็จ หรือแม้ไม่ประสบความสำเร็จแต่ก็มีความเป็นไปได้ถ้าหากภาครัฐเข้าหนุนช่วย ดังนั้น การแข่งขันในเชิงนโยบาย การมีรูปธรรมที่ได้ทดลองทำและสามารถที่จะสรุปเป็นรูปธรรมได้ จะมีโอกาสที่จะเป็นไปได้มากกว่าการมีเพียงข้อเสนอแต่เพียงอย่างเดียว

1.4 จังหวะทางการเมือง
ด้วยเหตุที่มองว่า ข้อเสนอทางนโยบายจะต้องเสนอต่อรัฐบาลหรือพรรคการเมือง ความคิดดังกล่าวเป็นความคิดที่มองการเมืองแบบอุดมคติ ดังนั้นข้อเสนอทางนโยบายจึงขึ้นอยู่กับจังหวะทางการเมือง และกล่าวให้ถึงที่สุดแล้วจังหวะทางการเมืองในการหยิบเอาข้อเสนอไปเป็นนโยบาย เป็นกลไกทางการเมืองที่ผูกติดอยู่กับปัญหา

อย่างไรก็ตาม การจัดทำนโยบายในเชิงกระบวนการดังที่ได้กล่าวมา ถ้าเครือข่ายพันธมิตรเป็นหน่วยงานภาครัฐ ก็อาจจะทำให้ข้อเสนอเชิงนโยบายสามารถที่จะเข้าไปมีอิทธิพลในกระบวนการในการตัดสินใจทางการเมืองได้ แต่ถ้าเครือข่ายพันธมิตรเป็นภาคประชาชนก็จะทำให้ข้อเสนอดังกล่าวเป็นประเด็นสาธารณะ ซึ่งในทางกฎหมายแม้ข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นความต้องการส่วนใหญ่ของสังคม ความต้องการดังกล่าวกลับไม่ผูกมัดรัฐหรือหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใดในทางกฎหมายที่จะต้องทำตาม ดังนั้น ผลของข้อเสนอจากการวิจัยไปสู่นโยบายอาจจะไม่มีความหมายอย่างใดเลย ในกรณีที่พรรคการเมืองในระบอบการเมืองที่ผู้แทนยังมีบทบาทโดยไม่ต้องคำนึงถึงความคิดหรือข้อเสนออย่างใดๆ ที่ได้จากระบบการวิจัย

ประกอบกับการที่การเมืองไทยมีพัฒนาการภายใต้รัฐธรรมนูญปี 40 จนกระทั่งทำให้มีพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง มีเสียงข้างมากได้ และในส่วนที่เกี่ยวกับแนวทางและวิธีการในการแก้ปัญหาความยากจน ก็มีข้อเสนอภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่มีพลังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในปัญหาอย่างมีนัยสำคัญ สภาพแวดล้อมทางการเมืองเช่นนี้ทำให้กระบวนการในการกำหนดนโยบายจึงถูกผูกขาดโดยพรรคการเมืองเสียงข้างมาก

ภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองข้างต้น ทำให้การผลักดันให้ผลจากการวิจัยไปสู่นโยบายที่เป็นทางเลือกในลักษณะแข่งขันจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ในการนำข้อค้นพบดังกล่าวไปสู่นโยบายจึงจำเป็นที่จะต้องไปผลักดันต่อองค์กรที่สามารถสร้างหรือมีนโยบายของตนเอง ซึ่งในที่นี้ก็คือองค์กรปกครองท้องถิ่น ซึ่งมีความพร้อมทั้งในแง่ของโครงสร้างพื้นฐานในทางกฎหมายที่จะนำเอาข้อสนอดังกล่าวไปดำเนินการได้ทันที ถ้าหากผู้บริหารท้องถิ่นและสภาองค์กรปกครองท้องถิ่นเห็นด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาขององค์กรปกครองท้องถิ่นในปัจจุบันอยู่ที่ยังไม่มีต้นแบบของการบริหารจัดการระบบสวัสดิการอย่างบูรณาการ ซึ่งองค์กรปกครองท้องถิ่นสามารถที่จะนำไปเป็นแบบอย่างได้ ทั้งนี้เนื่องจากองค์กรปกครองท้องถิ่นยังถูกครอบงำและมีกลไกในทางการบริหารงานบุคคล กลไกของงบประมาณ และการตกอยู่ภายใต้การอ้างอิงระเบียบปฏิบัติภายในที่จะจัดการระบบสวัสดิการในท้องถิ่นของตนเองอย่างเป็นอิสระ อย่างไรก็ตาม ภายใต้การเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารงานบุคคลในระบบราชการ ก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับบทบาทขององค์กรปกครองท้องถิ่น ที่จะทำให้ข้อเสนอดังกล่าวมีสถานะในทางการเมืองและมีโอกาสที่จะนำไปสู่การบัญญัติเป็นกฎเกณฑ์ในทางกฎหมายได้สำหรับภารกิจดังกล่าว

ในปัจจุบัน ได้มีการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมขึ้นในระดับชาติ และในระดับจังหวัด ตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2546 ข้อค้นพบจากการวิจัยดังกล่าว นอกจากจะสามารถที่จะเสนอต่อองค์กรปกครองท้องถิ่นแล้วก็ยังสามารถที่จะเสนอต่อคณะกรรมการฯ ทั้งในระดับชาติ และในระดับจังหวัดได้เช่นกัน

และนอกจากนั้นยังมีองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องสิทธิ ที่สามารถที่จะผลักดันนโยบายดังกล่าวไปสู่สังคม หรือการทำให้นโยบายดังกล่าวเป็นประเด็นสาธารณะ และสร้างโอกาสให้นโยบายนั้นมีความสำคัญและเป็นที่รับรู้ของสังคมร่วมกันได้ ทั้งนี้รวมไปถึงองค์กรใหม่ๆ ที่ตั้งขึ้นมาให้ทำหน้าที่ในการส่งเสริมความเข้มแข็งของประชาชน อย่างเช่น สสส. เป็นต้น

แต่ในขณะเดียวกัน ในข้อค้นพบหลายๆ ประการที่ได้จากการวิจัย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับระบบสวัสดิการที่ดำเนินการอยู่แล้วโดยองค์กรภาครัฐ แต่มีความไม่ครอบคลุมหรือมีข้อบกพร่อง ในกรณีเหล่านี้สามารถที่จะเลือกข้อเสนอในบางประเด็น ผลักดันไปสู่การเป็นแผนปฎิบัติการ(action plan) ให้กับหน่วยงานที่มีหน้าที่ต้องทำอยู่แล้ว ภายใต้นโยบายการปฎิรูประบบราชการ ที่น่าจะถือได้ว่าเป็นจังหวะทางการเมืองที่มีช่องทางในทางนโยบายเปิดอยู่หลายๆ ช่องทาง

ดังนั้น ในที่สุดแล้ว การที่จะทำให้นโยบายเป็น public policy และสร้างโอกาสให้เกิด public agenda นั้น จำเป็นที่จะต้องทำให้ทุกๆ คนเห็นว่า ระบบสวัสดิการไม่ว่าจะจัดโดยภาครัฐ(ที่ต้องมีการปรับปรุง) หรือระบบสวัสดิการตามความหมายที่งานวิจัยนี้ได้ค้นพบและชี้ให้เห็น เป็นสิ่งที่สำคัญที่เป็นเงื่อนไขของความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจน และไม่จำเป็นว่าจะต้องดำเนินการโดยภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว คนจนและผู้ด้อยโอกาสเองก็สามารถที่จะเข้ามารวมกลุ่มและจัดการบริหารระบบสวัสดิการของตนเองได้


(คลิกไปอ่านต่อตอนที่ ๒)

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com