โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 23 July 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๑๒ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (July, 23, 07,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

"ม็อบ"ครองพื้นที่ส่วนใหญ่บนเวทีการเมืองมาก่อนหน้าการรัฐประหาร เพราะความเดือดเนื้อร้อนใจของคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ (ไม่ว่าจะเพื่อส่วนตัว-ส่วนรวม) ไม่อาจสะท้อนผ่านระบบการเมืองในปลายสมัยทักษิณได้ หรืออย่างได้ผล. เช่นเดียวกับ "ม็อบ" สนามหลวงในทุกวันนี้ ก็เพราะไม่มีองค์กรใดในระบบการเมือง ที่จะสะท้อนความคิดความต้องการของประชาชนฝ่ายที่ไม่สนับสนุนการรัฐประหาร จึงเป็นธรรมดาที่ต้องใช้การเมืองบนท้องถนน การเมืองบนท้องถนนจึงเป็นสิ่งปกติธรรมดาที่ใครๆ ก็ใช้ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านซึ่งไม่มีพื้นที่การเมืองของตนเอง
23-07-2550

Thai Politics
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

บทวิเคราะห์การเมืองไทยร่วมสมัยหลัง ๑๙ กันยา
การเมืองศูนย์กลาง การเมืองชายขอบ และการเมืองก้าวต่อไป
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เขียน
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความเชิงวิเคราะห์ต่อไปนี้ เคยเผยแพร่แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์มติชน
ซึ่งได้สะท้อนการเมืองไทยในสภาวะสุญญากาศทางการเมือง ทั้งจากส่วนกลาง
และชายขอบของประเทศ โดย ๒ บทความแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองศูนย์กลาง
ส่วน ๒ เรื่องหลังสะท้อนถึงปัญหาที่ซับซ้อนของการเมืองท้องถิ่น ดังนี้
๑. วงจรอุบาทว์แห่งความรุนแรง
๒. การเมืองก้าวเดินไปไหน
๓. อนาคตของการเมืองบนท้องถนน
๔. หลายมิติของความขัดแย้งในภาคใต้
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๑๒
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๓.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทวิเคราะห์การเมืองไทยร่วมสมัยหลัง ๑๙ กันยา
การเมืองศูนย์กลาง การเมืองชายขอบ และการเมืองก้าวต่อไป
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เขียน
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

1. วงจรอุบาทว์แห่งความรุนแรง
เรากำลังเดินหน้าไปสู่การเผชิญหน้ากัน และเสี่ยงต่อการปะทะจนสูญเสียเลือดเนื้ออย่างที่หลีกเลี่ยงได้ยากขึ้น การกล่าวประณามกันด้วยความเท็จต่างๆ เช่น ข้อหาทุจริตก็ตาม, ความแตกแยกระหว่างรัฐบาลและ คมช.ก็ตาม, ม็อบรับจ้างก็ตาม, ท่อน้ำเลี้ยงก็ตาม ฯลฯ เป็นสัญญาณว่า ต่างฝ่ายต่างตระเตรียมสังคมให้เข้าอยู่ฝ่ายตนเพื่อการปะทะกันในอนาคตอันใกล้ และเท่ากับราดน้ำมันลงในกองเพลิง

ผมไม่ได้หมายความว่าคำประณามเหล่านี้ไม่เป็นความจริงเสียเลย แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่มีฝ่ายใดสามารถพิสูจน์ข้อกล่าวหาของตนให้ประจักษ์ได้สักฝ่ายเดียว คำประณามจึงไม่มีประโยชน์อะไรนอกจากการเตรียมการสำหรับการปะทะกันเท่านั้น ผมคิดว่า การเรียกร้องให้สองฝ่ายยุติความขัดแย้ง หรือหันมารักสามัคคีกัน เป็นเรื่องเหลวไหล ไม่มีทางเป็นไปได้จริง นอกจากทำให้ผู้เรียกร้องดูน่ารักขึ้นเท่านั้น (อย่างเช่นที่ประชุมอธิการบดีดูคิกขุขึ้นจัง)

ลองจินตนาการตัวเราเองว่ายืนอยู่ในสถานการณ์ของฝ่ายที่ขัดแย้งกันดูบ้างก็จะมองเห็น
สมมุติว่าเป็นแกนนำฝ่ายต่อต้าน คมช.ที่สนามหลวง เมื่อเลือกยุทธวิธีการต่อต้านด้วยการชุมนุม ยุทธวิธีก็เป็นตัวกำหนดทางดำเนินอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก การชุมนุมเป็นการต่อต้านที่ให้ผลทันตาเห็น แต่ตัวของมันเองบีบบังคับว่า การต่อต้านต้องถูกยกระดับ (escalate) ขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะไม่มีใครสามารถเก็บผู้ร่วมชุมนุมไว้ที่ขั้นเดิมตลอดไปได้ (การเคลื่อนพลของฝ่ายพันธมิตรมาสู่สยามพารากอนในปลายสมัยทักษิณเป็นทางดำเนินที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการชุมนุมเหมือนกัน)

อย่าลืมว่าการชุมนุมคือการเปิดพื้นที่สำหรับการต่อสู้ในสังคม สิ่งที่เกิดขึ้นที่สนามหลวงคืนนี้ จะจองพื้นที่บนสื่อทุกประเภทในวันรุ่งขึ้น (แม้บางสื่อจะเสนอภาพบิดเบือนก็ตาม) หากการชุมนุมไม่ถูกยกระดับเลย พื้นที่การต่อสู้ก็ย่อมหดลงไปโดยปริยาย จนในที่สุดก็เหลือแต่สนามหลวง (ซึ่งตามปกติก็มีกิจกรรมอีกร้อยแปดอย่างในตอนกลางคืน เช่น ขายประเวณี หรือคนไร้บ้านพักผ่อน โดยไม่เคยได้พื้นที่บนสื่อใดเลย)

การยกระดับคือการเสี่ยงต่อการปะทะมากขึ้น ไม่ว่าแกนนำจะต้องการปะทะหรือไม่ก็ตาม จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจยั่วยุ ก็เหมือนยั่วยุ ฉะนั้นความคิดที่ว่าต้องเก็บผู้ชุมนุมไว้บนพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง และปล่อยให้เฉาตายไปเองด้วยกาลเวลา จึงเป็นการตอบโต้ที่แกนนำฝ่ายต่อต้านยอมไม่ได้เป็นธรรมดา ยิ่งพยายามทำ ยิ่งใช้การข่มขู่คุกคาม ก็ยิ่งบีบบังคับให้ฝ่ายต่อต้านต้องดื้อแพ่ง และความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะกันก็ย่อมมีมากขึ้น

ในทางตรงข้าม ลองสมมุติตัวเองเป็นแกนนำ คมช.บ้าง การจัดการฝ่ายต่อต้านด้วยความละมุนละม่อม แม้เป็นยุทธวิธีที่ฉลาด แต่ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน เพราะภาพของ "ความวุ่นวาย" ในบ้านเมืองนั้น แม้จะใช้สื่อโฆษณาว่าเป็นความผิดของคู่ปรปักษ์ แต่ถึงอย่างไรก็ยังเหลือคำถามในใจคนอยู่นั่นเองว่า คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบคือ คมช. (และรัฐบาล) มีสมรรถภาพเหมาะสมในการทำหน้าที่หรือไม่ ในขณะเดียวกัน ก็เท่ากับพิสูจน์ตัวเองต่อคนชั้นกลาง, ทหารด้วยกันเองซึ่งไม่แน่ว่าอยู่ฝ่าย คมช.โดยพร้อมเพรียงกัน, ข้าราชการ และนักธุรกิจนายทุนว่าตัวไม่มีกึ๋น เป็นช่องทางหรือโอกาสที่จะถูกล้มได้ง่าย โดยเฉพาะหากกลุ่มคนที่เรียกร้องหาความสงบเหล่านี้สามารถรวมตัวกันได้

ตราบเท่าที่นโยบายละมุนละม่อมยังทำได้โดยไม่มีใครสงสัย "กึ๋น" หรือพลังอำนาจที่ตัวมีอยู่ ก็ยังไม่มีภยันตรายใดๆ แต่หากฝ่ายชุมนุมต่อต้าน รวบรวมกำลังคนได้เพิ่มขึ้น (ด้วยเหตุใดก็ตาม) ความศรัทธาต่อพลังอำนาจของฝ่าย คมช.ที่คนทั่วไปมีก็จะเริ่มสั่นคลอน ยิ่งฝ่ายต่อต้านท้าทาย "กึ๋น" ของ คมช.ให้ประจักษ์มากขึ้นเป็นลำดับ ความศรัทธาของคนทั่วไปก็จะยิ่งลดลงไปเรื่อยๆ

เพื่อกู้ศักดิ์ศรีของกองทัพกลับคืนมา ก็อาจจำเป็นที่ทหารบางกลุ่มต้องล้ม คมช.เสีย กลไกทางการเมืองของระบอบรัฐประหารอื่นๆ ก็ตระหนักว่าต้องเขี่ย คมช.ออกไปนอกทาง เพื่อรักษาระบอบเอาไว้ ทางดำเนินของ คมช.จึงหลีกเลี่ยงการปะทะได้ยากขึ้นไปเรื่อยๆ

ที่พูดทั้งหมดนี้ ผมตั้งใจหลีกเลี่ยงการอธิบายด้วยความดี-ความชั่ว แม้เป็นคำอธิบายที่ง่ายดี แต่ไม่นำเราไปถึงไหนได้ นอกจากสามารถทำให้คนชั่วกลายเป็นคนดี และทำคนดีให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ก็เห็นอธิบายอย่างนี้กันมาไม่รู้จะกี่สิบกี่ร้อยปีแล้ว ไม่เห็นว่าจะทำอะไรให้ดีขึ้นตรงไหน นอกจากผู้พูดกลายเป็นคนดีเพียงคนเดียวเท่านั้น. โดยไม่เกี่ยวกับดีหรือชั่วนี่แหละครับ คนเราฆ่ากันโดยไม่ได้ตั้งใจ ไปนึกว่าจะประสบชัยชนะก่อนที่ต้องฆ่ากัน เพราะต่างเดินไปบนเส้นทางที่จะต้องปะทะกันอย่างไม่มีทางหลบ นี่เป็นข้อน่าห่วงมากกว่า

หนทางที่จะหลบหลีกการปะทะกันถึงขั้นเลือดตกยางออกอยู่ที่ไหน?
ผมคิดว่า หนทางนั้นมีอยู่ เพียงแต่จะมองเห็นภยันตรายพอที่จะหลบหรือไม่เท่านั้น ที่น่าห่วงก็คือต่างฝ่ายต่างคิดว่าตัวจะได้ชัยชนะก่อนจะถึงจุดนั้น ที่ทำให้ไม่ยอมเปิดโอกาสให้แก่หนทางของความขัดแย้งกันโดยสงบ

เวลานี้ พื้นที่ของความขัดแย้งคือการชุมนุมและการสลายการชุมนุม แต่เราสามารถทำให้พื้นที่ความขัดแย้งขยายตัวไปยังพื้นที่อื่น ซึ่งมีประสิทธิภาพในการต่อรองกันมากกว่า แต่เป็นพื้นที่ซึ่งต้องมีกติกาแห่งสันติมากกว่าด้วย นั่นคือพื้นที่สื่อครับ. โดยเปิดความขัดแย้งระหว่าง คมช. (รวมผู้ที่สนับสนุนการรัฐประหารทั้งหมด) และกลุ่มผู้ต่อต้านทั้งหมด (รวมฝ่ายเชียร์ทักษิณและฝ่ายที่ต่อต้านการรัฐประหารแต่ไม่เชียร์ทักษิณ) ให้กลายเป็นประเด็นความขัดแย้งบนเวทีกลางของสังคม ให้โอกาสแก่ทั้งสองฝ่ายได้พูดประเด็นของตนกับสังคมอย่างเต็มที่ และเท่าเทียมกัน ขยายพื้นที่สนามหลวงให้เข้าไปในทุกหลังคาเรือน แต่มีทั้งสองฝ่ายตอบโต้กันภายใต้กติกาแห่งสันติ

พีทีวีที่ไม่มีโอกาสเปิดทีวีนั่นแหละครับ เชิญมาพูดที่สถานีโทรทัศน์เลย แต่มีคนที่อยู่ฝ่าย คมช.ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย ข่าวทีวีทุกช่องต้องเสนอความเห็นและความเคลื่อนไหวของทั้งสองฝ่ายอย่างเป็นธรรม เลิกทำข่าวรับใช้อำนาจสักพักเถิดครับ (พวกคุณได้ยั่วยุให้เขาฆ่ากันตายมาหลายครั้งแล้ว ด้วยหน้าเลี่ยนๆ ของคุณนี่แหละ) เชิญขัดแย้งกันให้เต็มที่เลยครับ ยกโขยงกันมาเท่าไรก็ได้ แต่บนจอทีวีเท่านั้น แล้วก็ไม่ใช่ทำทีเดียวเลิก แต่ทำต่อเนื่องกันในประเด็นโน้นประเด็นนี้อยู่ตลอดเวลา

สังคมไทยซึ่งที่จริงแล้วเป็นสังคมที่พอมีวุฒิภาวะไม่น้อย หากไม่ถูกสื่อปิดบังอำพรางข้อเท็จจริง จะเป็นผู้ตัดสินเองว่าจุดยืนของฝ่ายใดจึงจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่ากัน ผมเชื่อว่าหากทำได้ตามนี้ สนามหลวงจะเหลือคนน้อยลง และการไม่ยอมใช้เวทีกลางที่มีกติกาแห่งสันติจะทำให้ฝ่ายนั้นสูญเสียความชอบธรรมไปเอง ยิ่งถ้าใช้อำนาจทำให้เวทีกลางที่มีกติกาแห่งสันติขาดความเป็นกลาง ก็ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าฝ่ายนั้นไร้ความชอบธรรม

สื่อที่เป็นเวทีกลางทำให้ไม่มีใครกล้าแก้ผ้าต่อหน้าสาธารณชน และเราจะได้เริ่มพูดกันด้วยเหตุผล แทนอารมณ์และอำนาจ

อันที่จริงวิธีนี้ก็เป็นวิธีที่เขารู้กันมานานแล้ว นั่นคือการสนทนาโต้ตอบ (dialogue) เป็นเงื่อนไขเบื้องแรกของการสร้างสันติ การสนทนาโต้ตอบไม่ทำให้ความขัดแย้งหายไป แต่ทำให้ความขัดแย้งมีทางออกที่ยอมรับกันได้จากทุกฝ่าย สภาพการณ์ที่เกิดเวลานี้ไม่ใช่การสนทนาโต้ตอบ แต่เป็นการใส่ร้ายป้ายสีกันทั้งสองฝ่าย การสนทนาโต้ตอบต้องเริ่มต้นที่การให้เกียรติกันและกัน อย่างน้อยก็เคารพสิทธิของอีกฝ่ายหนึ่งที่จะมีความเห็นต่าง สิ่งเหล่านี้เกิดได้บนเวทีกลางที่คนทั้งสังคมจับตามอง และต่างก็เห็นหน้าค่าตากันต่อหน้า กติกาของการใช้สื่อก็มีและเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้ว โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงจากการแลกเปลี่ยนกันบนเวทีกลางจึงเกิดได้ยาก

ความขัดแย้งที่ปราศจากเวทีกลาง ปราศจากกติกาแห่งสันติ ซ้ำยังมีทางดำเนินไปสู่การปะทะกันอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก จะนำสังคมไทยกลับไปสู่วงจรอุบาทว์แห่งความรุนแรงไม่สุดสิ้น

ในช่วงหนึ่งชั่วอายุคนที่ผ่านมา (30 ปี) เราได้ผ่านความรุนแรงทางการเมืองกันมาหลายครั้ง ความรุนแรงแต่ละครั้งล้วนให้กำเนิดความรุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ผมเกรงว่าวงจรอุบาทว์แห่งความรุนแรงเริ่มสถาปนาตัวอย่างมั่นคงในสังคมไทยแล้ว หากเราสามารถหลบหลีกความรุนแรงครั้งนี้ไปได้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะสามารถแหกออกจากวงจรอุบาทว์ได้ในครั้งต่อไป เพราะเป็นบทเรียนที่มีค่าสำหรับอนาคตของสังคม ซึ่งต้องจัดการกับความขัดแย้งเป็น ไม่ใช่นั่งท่องมนตร์รู้รักสามัคคีกันได้อย่างเดียว

2. การเมืองก้าวเดินไปไหน
ผู้ใหญ่ที่ผมนับถือท่านหนึ่งเสนอแนะว่า เราควรรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อให้การเมือง "ก้าวเดิน" ต่อไปได้ แม้ยังนับถือท่านเหมือนเดิม แต่ผมไม่เห็นด้วยเลย เพราะภายใต้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่รู้ว่าการเมืองจะก้าวเดินไปทางไหน การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวจะนำไปสู่การเมืองที่ "นิ่ง" ได้อย่างไร

ผลสำรวจโพลของสำนักหนึ่งพบว่า มีประชากร (ในเขตเมือง?) เกือบ 30% ที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หากการสำรวจนี้เชื่อถือได้ และเป็นจริงจนถึงวันลงประชามติ ไม่ว่าคนเหล่านี้จะออกเสียงลงประชามติหรือไม่ ก็แปลว่ามีประชากรประมาณ 12 ล้านคน ที่เห็นว่า ส.ส.ก็ตาม รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ตาม สถาบันทางการเมืองที่เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้อื่นๆ ก็ตาม ล้วนมีฐานที่มาซึ่งไม่ชอบธรรม แม้รัฐธรรมนูญจะผ่านการรับรองในการลงประชามติ

แต่การเมืองจะ "นิ่ง" ได้อย่างไรในสภาพเช่นนี้ และการเมืองไทยจะ "ก้าวเดิน" ไปสู่เสถียรภาพได้อย่างไร นักลงทุนในตลาดหุ้นคงอาศัยปรากฏการณ์เฉพาะหน้าว่า มีการเลือกตั้งแล้ว ทำกำไรด้วยการปั่นหุ้นกวาดเงินจากแมลงเม่า แต่นักลงทุนที่ต้องการผลิตอะไรออกมาขายจริงๆ ยังอยากลงทุนในสภาพการเมืองอย่างนี้หรือ

นักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้งจำนวนหนึ่ง พยายามจะทำให้คนไทยเชื่อว่า 12 ล้านคน ที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญคือ คนของพรรคไทยรักไทย หากเป็นอย่างนั้นจริง ผมกลับคิดว่าดีแก่การเมืองไทย โดยเฉพาะหากพรรค ทรท.ไม่ถูกยุบหรือสามารถตั้งพรรคขึ้นใหม่ได้ในชื่ออื่นใดก็ตาม เพราะทำให้เสียงข้างน้อยมีตัวแทนในระบบการเมือง แต่ผมไม่เชื่อว่า 12 ล้านคน คือ คนของ ทรท. จำนวนหนึ่งอาจใช่ แต่อีกมากต่อมากไม่ใช่ หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่คนของ ทรท.อย่างถาวร

จริงอยู่คนเหล่านี้ไม่ถูก "จัดตั้ง" ทางการเมือง จึงไม่มีพลังเคลื่อนไหวทางการเมืองมากนัก แต่รัฐที่มีประชากร 12 ล้านคน (ใน 40 ล้านที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง) ซึ่งวุ่นวายใจ (frustrated) ทางการเมือง มองไม่เห็นความชอบธรรมของอำนาจทางการเมืองใดๆ จะมีความสงบทางการเมืองได้อย่างไร การประท้วงต่อต้านอำนาจซึ่งต้องมีเป็นธรรมดาในสังคมประชาธิปไตย นับตั้งแต่เรื่องค่าน้ำมัน หมูแพง สร้างเขื่อน พลังงานนิวเคลียร์ สวัสดิการ หยุดงาน ฯลฯ ย่อมได้พลังจากกลุ่มที่วุ่นวายใจทางการเมืองนี้ตลอด

ด้วยเหตุดังนั้น พวกเราในมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงได้เสนอหลายเดือนมาแล้วว่า ให้นำเอารัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้ใหม่ โดยมีบทเฉพาะกาลเพียง 2 ข้อ คือให้จัดการเลือกตั้งขึ้นภายใน 60 วัน และให้รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้งสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนั้นในกระบวนการที่สังคมไทยสามารถมีส่วนร่วมได้ในทุกขั้นตอน จุดมุ่งหมายของพวกเราก็คือ การปฏิรูปการเมืองจะสามารถดำเนินต่อไปได้ในท่ามกลางเสถียรภาพทางการเมือง ก็ต่อเมื่อเราต้องเริ่มต้นที่จุดซึ่งเป็นที่มาแห่งความชอบธรรม ซึ่งทุกฝ่ายรับได้. ฝ่าย "อำนาจเก่า" รับได้ ฝ่าย "อำนาจใหม่" ก็น่าจะรับได้ เพราะการกลับมาใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่ได้ล้มล้างรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 ลง ฉะนั้น การณ์อันใดซึ่งกระทำโดยถูกต้องภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 ย่อมไม่เป็นความผิดแต่ประการใด (ส่วนใครที่ทำอะไรเกินเลยรัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็ตัวใครตัวมันนะครับ) ถ้าอยากลง ก็ลงจากหลังเสือได้อย่างปลอดภัย

การเมืองไทยจึงสามารถ "ก้าวเดิน" ต่อไปได้ ไม่ใช่ก้าวเดิน (proceed) เฉยๆ เพราะไม่ว่าภายใต้สภาวะอะไร การเมืองย่อมก้าวเดินอยู่แล้ว แต่สามารถ "ก้าวเดิน" ภายใต้ระเบียบอันหนึ่งซึ่งทุกคนยอมรับและคาดการณ์ผลล่วงหน้าได้ระดับหนึ่ง นี่ต่างหากคือ ความหมายที่มีเหตุผลเมื่อพูดว่าการเมือง "นิ่ง", เพราะ "นิ่ง" ไม่ควรหมายความว่า ไม่มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ เลย ไม่มีความขัดแย้ง และไม่มีการต่อรอง. การเมืองที่ "นิ่ง" สนิทขนาดนั้นคือ การเมืองของป่าช้าเท่านั้น

คำปลอบประโลมของคนบางกลุ่มซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของท่านผู้ใหญ่ที่ผมนับถือก็คือ รับๆ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อน แล้วค่อยไปแก้ไขส่วนที่ไม่ชอบเอาข้างหน้า ทำได้หรือครับ? ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเจตนาชัดเจนจะทำให้นักการเมือง (ที่มาจากการเลือกตั้ง) และพรรคการเมือง ไม่มีพลังทางการเมืองเหลือพอแม้แต่จะริเริ่มนโยบายใหม่ๆ ด้วยซ้ำ อย่าไปพูดถึงแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย จะเห็นได้นับตั้งแต่จัดการเลือกตั้งแบบพวงใหญ่ เพื่อให้แต่ละพรรคได้ที่นั่งไม่มาก ไม่อาจตั้งรัฐบาลพรรคเดียวหรือแม้แต่น้อยพรรคได้ ทำให้ตัวแทนของประชาชนห่างจากประชาชนยิ่งขึ้น เพราะเขตเลือกตั้งใหญ่จนเกินกว่าจะเป็นตัวแทนของคนกลุ่มใดได้ นอกจากพวกตัวเอง. เขตเลือกตั้งของ ส.ว.ก็มโหฬารไม่แพ้กัน ไม่ว่าจังหวัดใหญ่เล็กก็มี ส.ว.ได้คนเดียว

รัฐบาลผสมที่อ่อนแอ และฝ่ายค้านผสมที่จ้องจะเข้าร่วมรัฐบาลนี่หรือ ที่จะเป็นหัวหอกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา อันประกอบด้วยวุฒิสมาชิกเกือบครึ่งหนึ่ง (76:74) ที่มาจากการแต่งตั้ง อันเป็นกลุ่มที่มี "บล็อคโหวต" อยู่กลุ่มเดียว. ถึงดำริริเริ่มการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมาจากการลงชื่อร่วมกันของประชาชนไม่ต่ำกว่า 50,000 ก็ต้องส่งขึ้นมายังรัฐสภา ซึ่งเป็นสถาบันการเมืองซึ่งไม่อยู่ในฐานะจะตอบสนองประชาชนได้อยู่ดี จะผลักดันกันในขบวนการประชาชนอย่างเต็มที่ ก็ต้องแสดงให้นักการเมืองทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งในสภาเห็นว่า มีพลังใหม่ทางการเมืองของภาคประชาชนที่ใหญ่พอจะคานอำนาจกองทัพซึ่งรัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิการทำรัฐประหารไว้โดยนัยยะแล้วได้ (ม.309 - เพราะไม่จำเป็นต้องมีมาตรานี้ก็ได้ ไม่ทราบว่าบรรจุไว้ทำไมนอกจากแสดงนัยยะดังกล่าว) นั่นมิเป็นการเผชิญหน้ากัน อันเสี่ยงต่อการเสียเลือดเสียเนื้ออีกหรือ

โดยสรุปก็คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดช่องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หลายทาง ทั้งจากนักการเมืองและจากประชาชน เพียงแต่ไม่ได้ให้เครื่องมือในการแก้ไขไว้เลย นอกจากเป็นความต้องการของอำนาจลึกลับที่กำกับอยู่เบื้องหลังเท่านั้น และในกรณีนั้น รัฐธรรมนูญจะถูกแก้ไขไปในทางเลวร้ายลงไปอีกอย่างไร

ยิ่งกว่านี้ ครม.ซึ่งทหารแต่งตั้งไว้ได้เร่งออกกฎหมายอีกหลายฉบับในช่วงนี้ ยังเป็นหลักประกันว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน (ไม่ว่าเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือต่อรองในเรื่องอื่นใด) จะเป็นไปโดยอิสระเสรีไม่ได้ เว้นแต่อยู่ในครรลองที่ ผอ.รมน. (คือ ผบ.ทบ.อันเป็นกำลังติดอาวุธหลักของกองทัพไทย) เห็นชอบเท่านั้น (ร่าง พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายใน) ประชาชนจะอยู่ในความควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดของราชการ ซึ่งยื่นแขนขาลงไปถึงระดับกำนันผู้ใหญ่บ้าน และมีพลังเงินและอำนาจรับผิดชอบมากขึ้นผ่านการปฏิรูปราชการส่วนภูมิภาค

กฎหมายเหล่านี้ล้วนขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ (แม้แต่ร่างรัฐธรรมนูญ 50) ทั้งสิ้น ไม่โดยตรงตามตัวอักษร ก็แย้งกับเจตนารมณ์อย่างชัดเจน เมื่อยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว จะสามารถทำให้กฎหมายเหล่านี้ตกไปเพราะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ คำตอบคือ ทำได้แต่โดยทางทฤษฎีเท่านั้น กล่าวคือ หากชะลอร่างกฎหมายเหล่านี้ไว้จนกว่าจะมีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือนายกรัฐมนตรี (ม.154, 155) อาจส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ แต่นั่นหมายความว่ารัฐบาลและรัฐสภาได้ผ่านร่างกฎหมายเหล่านี้ไปแล้ว จึงจะมีแต่ฝ่ายค้านเท่านั้นที่จะร่วมกันเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าร่างกฎหมายเหล่านี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้านอาจทำเช่นนั้นได้ก็แต่โดยการสนับสนุนจากวุฒิสภาอย่างเต็มที่ ซึ่งเกิดขึ้นได้ยาก

แต่หากร่างกฎหมายเหล่านี้ผ่านออกมาเป็นกฎหมายก่อนการเลือกตั้ง ก็กลายเป็นกฎหมายเก่าที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ (ซึ่งที่จริงแล้วมีอีกมากทีเดียวนอกจากร่าง พ.ร.บ.เหล่านี้) ผู้ที่จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.เหล่านี้ล้วนขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็จะเหลือองค์กรเดียวที่ทำได้ คือผู้ตรวจการแผ่นดิน (ม.245) ผู้ตรวจการแผ่นดินกินเหล็กกินไหลมาจากไหน นี่คือกลุ่มคนที่มาจากการสรรหาของวุฒิสภาเจ้าเก่า คิดหรือว่าวุฒิสภาจะสรรหาคนที่จะยก พ.ร.บ.ใดว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำเรื่อง

ประชาชนอาจเข้าชื่อกับเสนอร่างกฎหมายล้มกฎหมายเหล่านี้เสียก็ได้ แต่ก็เป็นเพียงด้านทฤษฎี โอกาสที่จะผ่านรัฐสภาออกมาได้จริง (ตามรูปเดิม) เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เว้นแต่ว่าประชาชนสามารถรวมกลุ่มจนกลายเป็นพลังใหม่ทางการเมืองดังที่กล่าวข้างต้น ซึ่งนั่นก็หมายถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปะทะนองเลือดขึ้นอีก

ร่าง พ.ร.บ.เหล่านี้ เมื่อผ่านออกมาเป็นกฎหมาย ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังเลือกตั้ง การรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในรัฐธรรมนูญทุกฉบับก็ไร้ความหมาย การแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยเพื่อให้เกิดการถ่วงดุลกันในรัฐธรรมนูญทุกฉบับก็ไร้ความหมาย แม้แต่ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่ข้าราชการและประชาชนพอจะคาดหวังผลจากการกระทำของตนได้ ก็ไร้ความหมายหมด ชาติทั้งชาติไม่เหลืออะไรเลยนอกจาก กอ.รมน.

การเมืองไทยจะสามารถ "ก้าวเดิน" ต่อไปได้จึงมีอยู่หนทางเดียว คือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในการลงประชามติ

3. อนาคตของการเมืองบนท้องถนน
ในขณะที่สื่อและคนกรุงเทพฯ (ลูกค้ารายใหญ่ของสื่อ) วิตกกังวลกับการชุมนุมที่ถูกเรียกว่า "ม็อบ" ถึงกับบางคนเรียกร้องให้ใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินจัดการ โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ ชาวบ้านที่จะนะ กำลังวิตกกังวลกับการวางท่อก๊าซจากโรงแยกก๊าซไปป้อนโรงไฟฟ้าจะนะ เพราะแนววางท่อพาดผ่านกลางหมู่บ้านป่างาม

การเคลื่อนไหวต่อต้านการวางท่อก๊าซของชาวบ้านที่จะนะ ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จเล็กน้อย เมื่อเลขาธิการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ส่งหนังสือลงวันที่ 16 พ.ค.2550 ไปถึงผู้อำนวยการบริษัทการปิโตรเลียม จำกัด ขอความร่วมมือระงับการวางท่อก๊าซชั่วคราว เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งกับชาวบ้าน แต่บริษัทดังกล่าวก็ยังคงวางท่อก๊าซต่อไปตามเดิม โดยไม่ได้ใส่ใจต่อคำขอร้องของ กอ.รมน.ภาค 4 แต่อย่างใด (ผมไม่ทราบว่ามีการตอบจดหมายหรือไม่ด้วยซ้ำ) ฉะนั้นความวิตกกังวลของชาวบ้านจึงเพิ่มทวีขึ้นอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็มีผู้มีอิทธิพลประจำถิ่นที่รับจ้างบริษัทการปิโตรเลียม รักษาความปลอดภัยตามแนวท่อก๊าซ ช่วยคุ้มครองการทำงานวางท่อของบริษัท และยังมีโทรศัพท์ข่มขู่แกนนำชาวบ้านหลายคนจากมือลึกลับอื่นๆ สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นจนอาจเกิดการปะทะกันได้ ลือกันว่าชายฉกรรจ์นอกพื้นที่จำนวน 40 คนถูกว่าจ้างให้ลุยชาวบ้านกลุ่มคัดค้านท่อก๊าซ

บริษัทการปิโตรเลียม จำกัด คือใคร เขาคือ ปตท.เจ้าเก่านั่นเอง แต่เป็น ปตท.ที่ได้นำเข้าไปขายในตลาดแล้ว โดยไม่ได้แยกทรัพย์สินส่วนที่เป็นของชาติออกไปจากทรัพย์สินของบริษัทด้วย ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ผลกำไรส่วนหนึ่ง (ซึ่งไม่เล็ก) ของบริษัทย่อมตกเป็นของต่างชาติผู้ถือหุ้น เช่นใน พ.ศ.2548 21% ของเงินปันผลของเครือบริษัทจ่ายให้แก่ต่างชาติ เฉพาะงวดครึ่งปีนี้ก็จ่ายให้แก่ต่างชาติร่วม 2,000 ล้านบาทไปแล้ว

อันที่จริงชาวบ้านจะนะ ได้เคลื่อนไหวคัดค้านต่อต้านโครงการแยกก๊าซเพื่อป้อนให้มาเลเซียมานานหลายปี และหลายรัฐบาลมาแล้ว ปัญหานี้เคยถูกนำเข้าพิจารณาในวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง แต่อำนาจตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถทำให้ฝ่ายบริหารทบทวนโครงการได้ อีกทั้งไม่ได้แรงหนุนจากสภาผู้แทนราษฎรด้วย ด้วยเหตุดังนั้นชาวบ้านจึงจำเป็นต้องใช้การเมืองบนท้องถนนสืบมาเป็นเวลานาน

ปัญหาประเภทเดียวกันนี้ทั่วประเทศไทย ไม่เคยได้รับการตอบสนองจากรัฐสภา ชาวบ้านจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้การเมืองบนท้องถนน เพื่อสื่อความต้องการของตนให้เป็นที่รับรู้ของสังคม รวมทั้งต่อรองให้ฝ่ายบริหารทบทวนโครงการ แน่นอนว่า ระบบราชการยิ่งไม่คิดว่าตัวมีหน้าที่สะท้อนปัญหาของชาวบ้านขึ้นไปสู่ระดับสูง นโยบายของรัฐบาลไม่ใช่สิ่งที่ราชการจะท้วงติง แม้แต่ท้วงติงภายในระบบก็ตาม (อย่าลืมว่า หวยบนดินซึ่งถูกคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า ผิดกฎหมายนั้น ดำเนินการมาเกือบ 4 ปี โดยไม่มีสุภาพบุรุษท่านใดในคณะกรรมการนั้นสะกิด-คือบอกอย่างไม่เป็นทางการ-ให้รัฐบาลรู้เลยว่าผิดกฎหมาย จนกระทั่งรัฐบาลนั้นถูกรัฐประหารไปแล้ว)

นี่เป็นปัญหาในระบบการเมืองของไทย ใหญ่กว่าปัญหาการซื้อเสียงเสียอีก ซึ่งไม่มีวันที่เทวดาอันจุติมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดจะเข้าใจได้ และไม่เคยถูกนำมาเป็นประเด็นในการ "ปฏิรูปการเมือง" เลย ในตัวระบบการเมืองเอง จึงผลักดันให้เกิดการเมืองบนท้องถนนอยู่แล้ว ไม่ว่าเทวดาและคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ จะชอบหรือไม่ก็ตาม. เพราะแท้ที่จริงแล้ว การเมืองบนท้องถนนเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองในระบบอย่างปฏิเสธไม่ได้ เมื่อใดที่คนกลุ่มใดรู้สึกว่าตัวไม่มีตัวแทนสำหรับส่งเสียงความต้องการของตนบนเวทีการเมือง เขาย่อมต้องส่งเสียงเองเป็นธรรมดา ทั้งนี้รวมทั้งคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ด้วย

"ม็อบ" (ถ้าจะเรียกอย่างนั้น) ครองพื้นที่ส่วนใหญ่บนเวทีการเมืองมาก่อนหน้าการรัฐประหาร เพราะความเดือดเนื้อร้อนใจของคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ (ไม่ว่าจะเพื่อส่วนตัวหรือส่วนรวม) ไม่อาจสะท้อนผ่านระบบการเมืองในปลายสมัยทักษิณได้ หรืออย่างได้ผล. เช่นเดียวกับ "ม็อบ" สนามหลวงในทุกวันนี้ ก็เพราะไม่มีองค์กรใดในระบบการเมืองที่จะสะท้อนความคิดความต้องการของประชาชนฝ่ายที่ไม่สนับสนุนการรัฐประหาร จึงเป็นธรรมดาที่ต้องใช้การเมืองบนท้องถนน

การเมืองบนท้องถนนจึงเป็นสิ่งปกติธรรมดาที่ใครๆ ก็ใช้ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านซึ่งไม่มีพื้นที่การเมืองของตนเอง หรือคนชั้นกลางซึ่งครอบครองพื้นที่สื่อไว้ได้อย่างเหนียวแน่น และทำให้การเมืองบนท้องถนนของคนชั้นกลางครอบครองพื้นที่ทางการเมืองได้อย่างกว้างขวาง. ฉะนั้น จึงคาดเดาได้เลยว่า ความขัดแย้งใดๆ ก็ตามในสังคมไทยปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะใช้ท้องถนนเป็นเวทีต่อรองกัน แม้แต่การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ไม่น่าจะทำให้ความขัดแย้งเลื่อนขึ้นไปอยู่ในระบบการเมืองที่เป็นทางการ เพราะระบบการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่นี้ จะมีคนจำนวนมากมองเห็นว่าขาดสิทธิธรรม (legitimacy) ที่จะสร้างอำนาจตามกฎหมายใดๆ ขึ้นมาได้

การเมืองบนท้องถนนซึ่งจะมีหนาตาขึ้น จะทำให้รัฐบาล (ทั้งรัฐบาลปัจจุบัน+คมช.และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในภายหน้า) หวั่นไหวต่อการสูญเสียอำนาจที่ยึดกุมมาได้ (ผ่านปืนหรือหีบบัตรเลือกตั้ง) จนกระทั่งไม่มีความสนใจเหลืออยู่ที่จะแก้ปัญหาของประชาชนระดับล่าง การเมืองบนท้องถนนของคนระดับล่างยิ่งน่ารำคาญ เพราะมาซ้ำเติมความเพลี่ยงพล้ำของอำนาจซึ่งถูกการเมืองของคนชั้นกลางเขย่า. ฉะนั้น รัฐบาลจึงจะปล่อยให้อิทธิพลในท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นนายทุนใหญ่ที่ร่วมมือกับอิทธิพลท้องถิ่น หรือโครงการขนาดใหญ่ของเอกชนและรัฐว่าจ้างอิทธิพลท้องถิ่น ให้เข้ามาจัดการกับการเมืองบนท้องถนนด้วยความรุนแรง อย่างที่ชาวบ้านจะนะกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้

ทำอะไรก็ได้ ขอแต่ให้ท้องถนนปลอดจากการเมืองไปเท่านั้น

จึงอาจคาดเดาได้ว่า การเมืองระดับล่างในสังคมไทยจะใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหาเพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลกลางไม่มีสมรรถภาพจะจัดการอะไรได้ อย่างเดียวกับที่เกิดกับคุณเจริญ วัดอักษร, และนักอนุรักษ์ท้องถิ่นอีกหลายสิบชีวิตที่ต้องสูญเสียไปกับการเมืองบนท้องถนน ในการต่อรองกับกลุ่มทุนและรัฐ

ความพยายามที่จะทำให้ชาวบ้านต้องใช้การเมืองบนท้องถนนน้อยลง คือการออกกฎหมายสภาชุมชน กฎหมายนี้ไม่ได้ให้อำนาจอะไรแก่ประชาชนมากไปกว่าอำนาจในการตรวจสอบ ซึ่งทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ เป็นไปอย่างมีความหมายมากขึ้น แต่ราชการไม่พร้อมที่จะให้ประชาชนตรวจสอบ มหาดไทยจึงเป็นหัวหอกที่จะขัดขวางมิให้ร่างกฎหมายนี้ผ่านออกมาใช้ และดูเหมือนหัวหน้ารัฐบาลเองก็หวังเพียงการประนีประนอม มากกว่าการให้อำนาจตรวจสอบแก่ประชาชนจริง ฉะนั้น เมื่อร่างกฎหมายนี้ผ่านออกมา ก็คงออกมาในรูปของการตรวจสอบที่ไม่มีประสิทธิภาพ และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่เพียงพอที่จะทำให้ราชการต้องรับผิดชอบ (account for) การกระทำของตนเองต่อประชาชนต่อไป

สรุปก็คือระหว่างสภาชุมชนและการเมืองบนท้องถนน อาจเป็นได้ว่าอำนาจรัฐในปัจจุบันจะเลือกการเมืองบนท้องถนนต่อไป

4. หลายมิติของความขัดแย้งในภาคใต้
เพื่อนที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับฝ่ายทหาร-ตำรวจในภาคใต้บอกผมว่า สถานการณ์ฝ่าย "เรา" กำลังดีขึ้น ขอให้สังเกตเถิดว่าแม้การก่อการร้ายยังเกิดขึ้นเหมือนเดิม แต่พื้นที่เกิดเหตุกลับแคบลงเหลือเพียงบางอำเภอ ซ้ำแล้วซ้ำอีก แสดงว่าฝ่ายก่อการถูกจำกัดพื้นที่ปฏิบัติการลง ข้อนี้จริงหรือไม่ ผมก็ไม่ขยันพอจะเก็บรวบรวมสถิติเพื่อพิสูจน์ อีกเรื่องหนึ่งที่เขาบอกก็คือ

ในระยะหลังมานี้ เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ปฏิบัติการได้ครั้งละหลายคน หลายครั้งได้หลักฐานค่อนข้างแน่ชัด เช่น อาวุธปืน, วัตถุระเบิด หรืออุปกรณ์การต่อระเบิด เป็นต้น การจับกุมเหล่านี้เจ้าหน้าที่ให้ข่าวแก่สื่อด้วยว่า ได้เบาะแสมาจากประชาชนในพื้นที่เอง ไม่ใช่จากสายซึ่งครั้งหนึ่งแทบจะเจาะลงไปไม่ได้เลย ข้อนี้ก็เหมือนกัน จริงเท็จต้องมีนักข่าวลงไปทำข่าวสืบสวนเชิงลึกในพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบยืนยันกันและกันอีกทีหนึ่ง ผมเข้าไม่ถึงข่าวที่ลึกระดับนี้พอจะบอกได้

สมมุติว่าข่าวสารที่เพื่อนผมได้จากฝ่ายทหาร-ตำรวจนี้เป็นข่าวจริง ก็แสดงว่า "สงครามกลางเมือง" (ไม่ว่าเราจะชอบคำนี้หรือไม่ แต่มันเป็นสงครามกลางเมืองชนิดหนึ่งแน่) ในภาคใต้ใกล้จะถึงจุดจบลงในอนาคตที่ไม่ไกลนัก สอดคล้องกับที่ รมต.กลาโหมบอกทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่า เริ่มมีการติดต่อขอเจรจา (จริงหรือไม่ก็ไม่ทราบอีก) ซึ่งก็คือการขยับความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธในสนามขึ้นมาสู่การขัดแย้งกันบนโต๊ะ

ผมพลอยยินดีด้วย อย่างน้อยความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนจะได้ยุติลงเสียที แต่ในขณะเดียวกันก็สำนึกได้ดีว่า เรายังไม่ได้เดินมาถึงปลายถ้ำอย่างแท้จริงหรอก เพราะนี่เป็นชัยชนะด้านการทหารอย่างเดียว และชัยชนะด้านการทหารอย่างเดียวไม่เคยทำให้ความขัดแย้งหายไป

งานศึกษาของกลุ่มศึกษาด้านนโยบายของสหประชาชาติพบว่า ประมาณ 50 % ของสงครามกลางเมืองที่เกิดในรอบร้อยปีที่ผ่านมา จะฟื้นกลับขึ้นมาใหม่ภายใน 5 ปี เพราะสงครามยุติลงโดยไม่ได้แก้ไขความขัดแย้ง อันเป็นต้นกำเนิดของสงคราม และอย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ความขัดแย้งในภาคใต้นั้นมีมานานแล้ว

แต่สิ่งที่เข้าใจกันยังไม่กระจ่างก็คือ ความขัดแย้งก็เหมือนกับอะไรอื่นๆ ในโลกนี้ที่ไม่หยุดนิ่งกับที่ แต่แปรเปลี่ยนหรือพัฒนาไปสู่ความสลับซับซ้อนขึ้นตลอดมา ความเข้าใจของคนไทยทั่วไปมีเพียงว่าประชาชนในพื้นที่มีความขัดแย้งกับรัฐ ซึ่งก็จริงในระดับหนึ่ง แต่ขัดแย้งในเรื่องอะไรบ้าง ตรงนี้ที่ผมคิดว่าเรายังไม่สู้จะเข้าใจนัก เพราะมักไปนึกถึงประชาชนในพื้นที่เป็นเหมือนกลุ่มคนที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่นนับถือศาสนาและมีสำนึกชาติพันธุ์ที่ต่างจากคนไทยกลุ่มอื่นในประเทศ - หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือเป็นมลายูมุสลิมเท่านั้น

แต่ในปีสองปีที่ผ่านมานี้ เราก็ได้เห็นว่าที่จริงแล้วสังคมของภาคใต้ตอนล่างไม่ได้มีประชากรกลุ่มเดียว ยังมีไทยพุทธ, คนเชื้อสายจีน, แรงงานที่เคลื่อนย้ายมาจากภายนอก (คนอีสาน, ลาว, เขมร, พม่า, กะเหรี่ยง, ฯลฯ), ผู้ประกอบการจากภายนอก, ผู้ประกอบการภายใน ฯลฯ อีกจำนวนหนึ่ง. แม้จะแบ่งเป็นกลุ่มอย่างนี้ ก็ใช่ว่าคนในกลุ่มเดียวกันจะมีผลประโยชน์และโลกทรรศน์เดียวกันหมดไม่ ฉะนั้นอย่าพูดถึงว่าคนเหล่านี้มีความขัดแย้งกับกลุ่มอื่นเท่านั้น (เช่น ผู้ประกอบการภายนอกกับชาวบ้าน) แม้ในคนกลุ่มเดียวกันก็ยังมีความขัดแย้งกันในเรื่องต่างๆ ได้อีกมาก ไม่ต่างจากสังคมอื่นทั่วไป

คนมลายูมุสลิมซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ก็เหมือนกัน ไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนเนื้อเดียวกันหมด มีความขัดแย้งภายในด้วยเรื่องต่างๆ เหมือนมนุษย์ทั่วไป ยิ่งความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลกสมัยใหม่กระทบเข้ามาถึงชุมชนของเขามากเพียงไร ความขัดแย้งกันด้วยเรื่องต่างๆ ก็มีมากขึ้นเป็นธรรมดา เพราะโลกสมัยใหม่นำเอาโลกทรรศน์อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่สอดคล้องกับโลกทรรศน์ที่เคยยึดถือกันมาเข้ามาสู่สังคมด้วย

การขยายตัวของรัฐไทยในระยะครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ก็เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งภายใน เหมือนกับที่เกิดในที่อื่นๆ ทั่วประเทศ เพราะคนแต่ละกลุ่ม แต่ละคนในกลุ่มเดียวกัน มีความสัมพันธ์กับรัฐไม่เหมือนกัน บ้างได้ประโยชน์ บ้างเสียประโยชน์ เช่น เมื่อรัฐนำเอาการศึกษาแผนใหม่เข้าไป ปอเนาะบางแห่งที่เปลี่ยนสภาพเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามกลับได้ประโยชน์ ในขณะที่ปอเนาะอีกบางแห่งกลับเสียประโยชน์ ซ้ำร้ายประโยชน์ที่ได้จากรัฐก็ไม่ได้กระจายไปยังคนต่างๆ อย่างที่สมควร หรืออย่างที่รัฐมุ่งหวัง กลับไปกระจุกอยู่กับคนบางพวกแทน เป็นต้น

ผมไม่ปฏิเสธว่าความขัดแย้งหลายอย่างของประชาชนในสังคมภาคใต้ บางเรื่องไม่เกี่ยวกับรัฐโดยตรง แต่ถูกเบี่ยงเบนไปเป็นความขัดแย้งกับรัฐ เช่นเงินเดือนที่ค่อนข้างต่ำของอุสตาซจำนวนไม่น้อย ไม่ได้เกิดจากนโยบายของรัฐ แต่เกิดจากการที่ผู้บริหารโรงเรียนไม่นำเอาเงินที่รัฐอุดหนุน (ตามรายหัวของนักเรียน ไม่ใช่ตามรายหัวครู) ไปกระจายให้ทั่วถึงและเป็นธรรมแก่อุสตาซเอง ในขณะเดียวกัน เพราะรัฐไม่ได้เปิดโอกาสด้านอาชีพแก่คนที่เรียนทางศาสนาอย่างเพียงพอ ทำให้ความต้องการแรงงานระดับนี้มีน้อย อุสตาซไม่มีทางเลือกในการหางานทำมากนักด้วย. เรื่องมันซับซ้อนยุ่งขิงกันนัวเนียไปหมดอย่างนี้แหละครับ

ความไม่สงบที่ต่อเนื่องกันในพื้นที่กว่า 3 ปี ยิ่งทำให้ความขัดแย้งสลับซับซ้อนขึ้นไปอีกหลายเท่า. ความหวาดระแวงต่อกัน ไม่ใช่ประชาชนกับรัฐเท่านั้น แม้แต่ระหว่างประชาชนด้วยกันเองก็เกิดขึ้นไม่น้อย ทำลายความสัมพันธ์ซึ่งเคยมีมาจนย่อยยับ. สถาบัน, กระบวนการ, ระบบความสัมพันธ์อะไรก็ตาม ที่เคยระงับความขัดแย้งมาได้ในสมัยหนึ่งพังสลายไปหมด. ชาวบ้านหลายคนเคยบอกผมว่า ครอบครัวที่มีญาติถูกฆ่าตาย, ถูกจับกุม, หรือหายตัวไป กลับถูกถอยห่างจากคนอื่นในชุมชนมากขึ้น เพราะไม่แน่ใจว่าความใกล้ชิดจะนำความเดือดร้อนในรูปใดรูปหนึ่งมาแก่ตนหรือไม่

สภาพไร้ระเบียบและไร้กฎหมายที่สืบเนื่องมากว่าสามปี เปิดโอกาสให้กิจกรรมนอกกฎหมายหลายอย่างเฟื่องฟูขึ้น นับตั้งแต่ค้ายาเสพติดข้ามชาติ (และในท้องถิ่น), ค้าอาวุธสงคราม, เป็นทางผ่านของการค้ามนุษย์ หรือการตักตวงทรัพยากรโดยไม่ต้องเกรงกลัวกฎหมายเลย กิจกรรมเหล่านี้ทำให้ความขัดแย้งในพื้นที่ยิ่งมีความสลับซับซ้อนขึ้นไปอีก และแม้การก่อการร้ายจะหมดไปในวันหนึ่ง ปัญหาละเมิดกฎหมายเหล่านี้ซึ่งได้โอกาสสั่งสมกำลังมากขึ้นในช่วงไร้กฎหมายและไร้ระเบียบ ก็คงไม่หมดไปทันที และคงกระพือความขัดแย้งในพื้นที่ต่อมาอีกนาน

ฉะนั้น หากจะเรียกร้องความสมานฉันท์ในภาคใต้ อย่านึกแต่ความสมานฉันท์ระหว่างรัฐกับประชาชนในภาคใต้เท่านั้น ยังมีความสมานฉันท์ของคนในพื้นที่ ซึ่งคงต้องทำอะไรเชิงรูปธรรมมากกว่าการเรียกร้อง ไม่ว่าการก่อการร้ายจะยุติลงหรือไม่ก็ตาม

จากสภาพความขัดแย้งอย่างหนักดังที่กล่าวนี้ ผมออกจะสงสัยอย่างยิ่งว่า หากมีการเจรจาเกิดขึ้น จะเป็นการเจรจากับใคร ต่อให้ผู้นำการปฏิบัติการแข็งข้อกับรัฐเวลานี้ ยอมนำความขัดแย้งขึ้นโต๊ะเจรจากับรัฐบาล คำถามแรกที่ติดใจผมคือ คนเหล่านี้เป็นตัวแทนของใคร? ถึงความขัดแย้งระหว่างรัฐกับคนเหล่านี้จะบรรเทาลง ก็ไม่ได้หมายความว่าความขัดแย้งระหว่างรัฐกับคนกลุ่มอื่น และระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่จะหายไปด้วย

เรือตรวจฝั่งของชาวประมงพื้นบ้านรอบอ่าวปัตตานี ถูกผู้ปฏิบัติการเหล่านี้เผาทิ้งไปหนึ่งลำ เรือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ชาวบ้านใช้ในการรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำของตนจากเรืออวนลากอวนรุน การสงบศึกระหว่างกลุ่มแข็งข้อเวลานี้กับรัฐ จะแก้ปัญหาความขัดแย้งของชาวประมงชายฝั่งกับนายทุนเรืออวนลากอวนรุนได้อย่างไร

เพื่อขจัดหรือบรรเทาความขัดแย้งที่สลับซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับคนหลายกลุ่มเช่นนี้ รูปแบบการปกครอง "พิเศษ" ชนิดไหนที่จะช่วยได้ รูปแบบของพัทยาและกรุงเทพฯ เป็นเพียงการกระจายอำนาจอย่างค่อนข้างจำกัด ที่พอทำอะไรด้วยตัวเองได้บ้างก็เพราะมีรายได้มาก ในขณะที่อำนาจในการจัดการทรัพยากรส่วนใหญ่ยังอยู่ในมือของราชการส่วนกลาง ฉะนั้นเวทีเพื่อใช้ในการต่อรองอย่างเท่าเทียมกันระหว่างคนกลุ่มต่างๆ จึงไม่มี

หากจะสร้างเวทีการต่อรองเช่นนั้นให้เกิดขึ้นในภาคใต้ เพื่อให้ความขัดแย้งได้มีโอกาสแข่งขันกันอย่างเปิดเผย ภายใต้กติกาที่เป็นธรรม และภายใต้อำนาจตรวจสอบของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วยคนหลายกลุ่มหลายผลประโยชน์หลายโลกทรรศน์ จะต้องทำอย่างไร ผมไม่มีคำตอบสำเร็จรูป แต่เชื่อแน่ว่าหากตั้งกรอบไว้ก่อนว่าจะต้องเป็นไปตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้เท่านั้น ก็ไม่มีทางจะเกิดเวทีเช่นนั้นขึ้นได้

อันที่จริงถ้าไม่เอากฎหมายบริหารมาตั้งเป็นกรอบ มีหนทางทำได้กว้างขวางมาก ภายใต้เงื่อนไขเดียวว่า ดินแดนภาคใต้ยังเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยตามรัฐธรรมนูญ และควรเริ่มต้นทำได้เลย โดยไม่ต้องรอการเจรจากับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่ต้องเจรจากับทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคกัน

13.5

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com