โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 03 July 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๙๕ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (July, 03, 07,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

นับตั้งแต่รัชกาลที่ 6 เป็นต้นมาที่บอกว่า คุณฆ่าคนเพื่อรักษาธรรมมะนี่ไม่เป็นไร ก็ไปทำสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกับเขา พระก็ออกมาสนับสนุนว่าทำสงครามไม่ผิดหลัก ทั้งๆ ที่มันขัดกับหลักพระพุทธศาสนา คุณทำสงครามไม่ได้ พระมาบอกให้คนไปฆ่ากันตาย ถือว่าผิดพระวินัยอย่างร้ายแรง แต่ปัจจุบันกลายเป็นของธรรมดา พระบางองค์บอกว่า ที่ฆ่าคนตัดตอน ตอนปราบยาเสพติดไป 2,000 กว่าชีวิต ท่านปลอบใจอดีตนายกรัฐมนตรีว่า คนค้ายาเสพติดมันเหมือนยุงมารบกวน เราก็ตบมันได้ ทั้งๆ ที่ความจริงเป็นพระตบยุงก็ไม่ได้ มันเสื่อมหมด (บางส่วนของการปภิปราย)
03-07-2550

Malay Muslim
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

ปัญหาภาคใต้ ความขัดแย้ง ทางออก และบทบาทภาคประชาชน
ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้: ต้องมีพื้นที่ทางการเมืองให้ประชาชน
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : อภิปราย
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทอภิปรายชิ้นนี้ กองบรรณาธิการฯ ได้รับมาจากการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง
"การรับมือกับสถานการณ์ ๓ จังหวัดภาคใต้ของภาคประชาชน"
วันที่ ๑๗-๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๐ ณ โรงแรมบีพี สมิหลาบีช จังหวัดสงขลา
จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ,
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.),
ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้ และ
คณะทำงานวาระทางสังคม กรณี ๓ จังหวัดชายแดนใต้ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
- ความเปลี่ยนแปลงใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
- ผลของการพัฒนา, การเกิดสำนึกใหม่ทางศาสนา, สำนึกความเป็นมลายู
- ประเด็นเกี่ยวกับผมกระทบโลกาภิวัตน์ และ
ทางออกของภาคประชาชน ควรทำอย่างไร เช่น การรวมกลุ่ม การมีพื้นที่ทางการเมือง เป็นต้น
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๙๕
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๓.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ปัญหาภาคใต้ ความขัดแย้ง ทางออก และบทบาทภาคประชาชน
ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้: ต้องมีพื้นที่ทางการเมืองให้ประชาชน
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : อภิปราย
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ : ความขัดแย้ง ทางออกและบทบาทภาคประชาชน

เกริ่นนำ :

สวัสดีครับทุกๆ ท่าน เรื่องที่ผมจะพูดต่อไปนี้ ผมจะไม่พูดถึงบทบาทของรัฐ หรือพูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ผมไม่ได้ศรัทธานักว่ารัฐจะทำอะไรได้มากนัก เหตุผลเพราะว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐก็ตาม หรือจะเป็นประชาชนในพื้นที่ก็ตาม ปัญหาที่ประสบอยู่มันยากมากๆ คิดว่าหลายคนสามารถพูดได้ว่า รัฐต้องทำแบบนั้น รัฐต้องทำแบบนี้ ซึ่งก็ถูกต้องทั้งนั้นว่ารัฐควรทำอะไรบ้าง แต่การที่รัฐจะทำอะไร ผมคิดว่าเมื่อเราพูดถึง "รัฐ" มันดูรุงรัง อันนี้ไม่ได้หมายถึงรัฐไทยอย่างเดียว แต่ทุกรัฐในโลกนี้รุงรังคือ มันประกอบไปด้วยทั้งสถาบัน ประเพณี กฎหมาย และกลุ่มคนที่คอยขัดขวางการปรับตัวของรัฐ เป็นเช่นนี้ทุกรัฐเหมือนกันหมด และก็คิดว่ารัฐไทยก็เหมือนกับรัฐอื่นๆ กล่าวคือมีกลุ่มผลประโยชน์ มีอะไรอีกร้อยแปด แม้แต่การตั้งสภาชุมชนก็ยังต้องทะเลาะกัน ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่แทบจะไม่เกี่ยวอะไรเลยกับอำนาจของรัฐด้วยซ้ำไป

เพราะฉะนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาภาคใต้โดยที่รัฐเป็นคนทำ ก็หวังว่ารัฐคงจะทำได้สักวันหนึ่ง แต่ผมเชื่อว่าค่อนข้างยาก ฉะนั้นจึงจะต้องตัดเรื่องที่ว่า"รัฐควรมีบทบาทอย่างไร"ออกไปก่อน แล้วมาดูกันว่า ภาคประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง

ขอเริ่มต้นด้วยการพูดถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เวลาที่เราพูดถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราชอบที่จะให้ภาพของความสืบเนื่อง โดยพูดถึงการแข็งข้อของเจ้าเมืองปัตตานี ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ไล่ลงมาเรื่อยๆ จนถึงรัชกาลที่ 5 ต่างๆ นานา รวมถึงสมัยหลังๆ ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ใน พ.ศ. 2547 ด้วย ผมไม่ปฏิเสธว่า มันคงมีความสืบเนื่องกันอยู่ตรงไหนตรงหนึ่งบ้าง แต่ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจ คือมันมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากทีเดียวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนหน้าปี พ.ศ. 2547 ดังนั้นถ้าเราเข้าใจว่าเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของความสืบเนื่องมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 นั้น ผมคิดว่าเราจะไม่เข้าใจมันเลย

ฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องพูดถึงเรื่อง"ความเปลี่ยนแปลง"ที่ทำให้เรื่องความสืบเนื่องนี้ ถึงมันจะมีอยู่ แต่มันก็ไม่สำคัญเท่ากับสิ่งใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น เราต้องมองสิ่งที่เกิดขึ้นเวลานี้ว่าเป็น"สิ่งใหม่" และจะต้องจัดการกับมันแบบใหม่ๆ ไม่ใช่ใช้วิธีการ ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีแบบเก่า อีกต่อไป

ประเด็นที่ 1. ความเปลี่ยนแปลง
ผมอยากจะพูดถึง"ความเปลี่ยนแปลง" ซึ่งคิดว่าเมื่อประมาณ 20 กว่าปีมาแล้ว ดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยแน่นหนามากขึ้น ผนวกด้วยถนน ผนวกเส้นทางคมนาคม ผนวกด้วยตลาด มันถูกดึงเอาผลผลิตเข้าไปป้อน เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตลาดกลางของประเทศไทย จนกระทั่งปัตตานีกับเชียงใหม่ได้ถูกผนวกเข้าไปในราชอาณาจักรไทย กรณีเชียงใหม่ได้ถูกผนวกเข้าไปในราชอาณาจักรไทยนานมากแล้ว ก่อนหน้า 20 กว่าปีก็ถูกผนวกแล้ว แต่ว่า 20 กว่าปีที่ผ่านมา ราชอาณาจักรไทยได้ดึงเอาปัตตานีและดินแดนอีก 2 จังหวัดเข้าไปในฐานะอันเดียวกับเชียงใหม่ ไม่ว่าจะมองจากเรื่องตลาด การศึกษา วัฒนธรรม ถนนหนทาง และอื่นๆ อีกมาก

การถูกผนวกเข้าไปหมายความว่าอย่างไร ผมจะไม่เข้าไปสู่รายละเอียด ขอให้นึกถึงว่ามันมี "อำนาจจากส่วนกลาง" อำนาจในที่นี้ไม่ได้หมายความถึง"นายอำเภอ" แต่เพียงอย่างเดียว แต่นายอำเภอก็เป็นอำนาจจากส่วนกลางอันหนึ่ง นอกจากนายอำเภอแล้ว อำนาจจากส่วนกลางยังเข้าไปครอบงำความคิด เข้ามาครอบงำการศึกษา เข้ามาครอบงำสิ่งต่างๆ และเข้ามาโผล่ในพื้นที่ของเรา ซึ่งสมัยหนึ่งคนที่นี่สามารถจัดการในระดับพื้นที่ได้พอสมควร จะเป็นการจัดการได้ดีหรือไม่ดี แต่เขาคิดว่าเขาสามารถเข้าไปจัดการเองได้ด้วยตัวเองพอสมควร โดยเฉพาะพวกชนชั้นนำในท้องถิ่นทั้งหลายคิดว่า ตนเองสามารถเข้าไปจัดการพื้นที่ของตนเองได้พอสมควร แต่สัก 20 ปีมานี้ มีนักเลงใหญ่คือ "รัฐส่วนกลาง" ที่เข้ามาใกล้ชิดมากขึ้น แล้วเข้ามาขอส่วนแบ่งในการที่จะเป็นผู้จัดการสิ่งต่างๆ ในท้องถิ่นมากขึ้น

ประเด็นที่ 2. ผลการพัฒนา
ดินแดน 3-4 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น คิดว่าถูกผนวกช้ากว่าที่อื่นด้วยซ้ำไป เพิ่งมีการผนวกเข้าไปเมื่อ 20-30 ปีนี้เอง ที่ถูกผนวกเข้าไปเหมือนภาคอีสาน เหมือนภาคเหนือ และเมื่อถูกผนวกเข้าไปแล้ว ประเด็นสำคัญคือ "ผลการพัฒนา" ซึ่งการพัฒนามันเกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา สำหรับดินแดนอื่นๆ ถูกกระทบหมดแล้ว แต่ผลการพัฒนานี่มันกระทบหนักขึ้น เมื่อ 3-4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกผนวกเข้าไปในราชอาณาจักรอย่างแนบแน่นมากขึ้น ผลการพัฒนาที่คนอีสานร้องไห้มาตลอด 40 กว่าปี ซึ่งทางภาคใต้นี่ยังไม่ได้ร้อง แต่เมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา คนทางนี้เริ่มร้องบ้างแล้ว และโดนอย่างเดียวกับที่คนอีสานโดน และโดนอย่างเดียวกับที่คนทางเหนือโดน และโดนอย่างเดียวกับที่คนภาคกลางโดน

โดยสรุป หัวใจสำคัญก็คือ "การจัดการใช้ทรัพยากรใหม่" และด้วยเหตุผลหลายอย่างด้วยกัน ที่ทำให้คนทางนี้ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับวิธีการใช้ทรัพยากรแบบใหม่ด้วย ไม่เหมือนคนในภาคอีสาน คนในภาคอีสานก็ตาม คนในภาคเหนือก็ตาม ด้วยเหตุผลในเชิงวัฒนธรรม ในเชิงอื่นๆ ร้อยแปด ทำให้เขาปรับตัวได้ แม้จะปรับตัวได้อย่างไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ก็ว่าได้บ้าง โดยการที่เขาต้องแปรสภาพกลายเป็นแรงงานในกรุงเทพฯก็ตาม หรือต้องกลายมาเป็นคนเลี้ยงวัวเลี้ยงควายส่งมาขายในภาคกลางก็ตาม แล้วแต่ว่าเขาจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงการใช้ทรัพยากร

กรณีในภาคอีสานเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน สมัยหนึ่ง ชนบทในภาคอีสานมีที่ดินที่เกิดขึ้นจากน้ำลด ริมสองฝั่งแม่น้ำลดจึงกลายเป็นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถไปใช้ประโยชน์ได้ อยู่มาวันหนึ่ง รัฐเกิดมาบอกว่า นี่เป็นที่สาธารณะ ไม่ใช่ที่ของชาวบ้าน รัฐเป็นคนดูแลเอง ชาวบ้านต้องออกไปจากที่สาธารณะนั้น เข้าใจแล้วใช่ไหมครับ วันหนึ่งที่ดินมันหายไปเลย พืชที่คุณเคยปลูกในฤดูแล้ง มันหายไปเลย ถามว่าแล้วคนอีสานทำอย่างไร เขาก็สามารถปรับตัวได้เหมือนกับคนภาคเหนือ คือเอาลูกสาวไปขายเป็นโสเภณีก็ได้ทั้งนั้น ทั้งหมดนี้คือการปรับตัว ปรับอย่างไม่ดีแต่พอจะปรับได้บ้าง

คิดว่า คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะด้วยเหตุผลโดยวัฒนธรรมหรือโดยอะไรก็ตาม เขาปรับตัวไม่ได้ เช่น ดูจากสถิติการศึกษา เห็นชัดเลยว่าการศึกษาก็เป็นหนทางหนึ่งของการปรับตัวนั่นเอง การเรียนหนังสือมากขึ้นก็ทำให้คุณมีโอกาสการจ้างงานมากขึ้น แต่ถ้าคุณไม่ได้เรียนหนังสือมากขึ้น คุณก็ไม่ได้รับการจ้างงาน ในการใช้ทรัพยากรแบบใหม่ พูดอีกภาษาหนึ่งคือการใช้เศรษฐกิจแบบใหม่ มันต้องการคนอีกประเภทหนึ่ง เศรษฐกิจแบบใหม่ก็คือ "การใช้ทรัพยากรแบบใหม่"นั่นเอง ก็เลยทำให้ทางนี้ปรับตัวไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมคิดว่ามันเกิดขึ้นเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว

หากถามว่า รัฐไทยกดขี่คนทางนี้ไหม? กดขี่ แต่ไม่ได้กดขี่เฉพาะคนทางนี้ รัฐไทยกดขี่กับคนทั้งประเทศเลย คนอีสานก็โดน คนเหนือก็โดน แต่ว่าคนทางนี้ถ้ามันไม่เปลี่ยนแปลง ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย อยู่กับการกดขี่ของรัฐไทยมา 100-200 กว่าปีมาแล้ว ถูกไหมครับ มันคอยจะหลบไปหลีกมา มีอะไรพอกิน อย่างว่า มันไม่มีที่นาร้าง พูดถึงว่ามันยังมีอะไรพอกินอยู่ได้ แต่พอคุณเปลี่ยนการใช้ทรัพยากร นโยบายกดขี่ก็ยังเหมือนเก่าทุกอย่าง ก็เลยเป็นผลให้มันตีบตันไปหมด ไม่รู้คุณจะหันไปมองทางไหน ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

ประเด็นที่ 3. การเกิดสำนึกใหม่
ที่ผมว่ามีความเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญ จะด้วยเหตุใดก็ตามแต่ ซึ่งผมจะไม่เข้าไปสู่รายละเอียด มัน"เกิดสำนึกใหม่" ของคนในพื้นที่ด้วย สำนึกใหม่มันเป็น 2 อย่าง คือ

1. สำนึกใหม่ในเรื่องของศาสนาอิสลาม ในทุกพื้นที่ ประมาณ 20-30 ปีที่ผ่านมา มันมีกระแสความคิดอิสลามที่มาจากตะวันออกกลาง มาจากอินเดีย มาจากปากีสถาน และรวมทั้งมาจากอินโดนีเซียด้วย หลั่งไหลเข้ามา ก็ไม่แปลกใจอะไรเหมือนกัน. อิสลามไม่ใช่โลกหยุดนิ่งอยู่กับที่ โลกอิสลามเป็นโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จริงๆ ถ้าเรามองประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เกือบ 200 ปี มาแล้วนี่ พบการเข้ามาของความคิดใหม่ๆ ของอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกาะชวา เยอะแยะหมดเลย เกิดกลุ่มใหม่ในเกาะชวาที่มีการสอนศาสนาอีกอย่างหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันออกกลาง แต่ด้วยเหตุผลการคมนาคม เหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ที่ทำให้กลุ่มใหม่เหล่านี้มันยังไม่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยช่วงศตวรรษที่ 19 แต่ตอนนี้มันไหลเข้ามาแล้ว ไหลเข้ามาจากที่ต่างๆ มากมาย แล้วก็เกิดสำนึกใหม่ของความเป็นมุสลิมซึ่งไม่เหมือนเก่า คำว่า"ไม่เหมือนเก่า" ในที่นี้ไม่ใช่หมายถึงคุณเป็นมุสลิมน้อยลงหรือมากขึ้น มันไม่เหมือนเก่า ทำให้เราต้องศึกษาทำความเข้าใจให้มาก

2. สำนึกใหม่ของความเป็นมลายู คิดว่า คนแถวนี้เขาคิดว่าเขาเป็นคนมลายูมาโดยตลอด และเป็นมานานมากแล้ว แต่มันมีการนิยามถึงสำนึกของความเป็นมลายูที่มันเริ่มจะไม่เหมือนเก่า มันจะเริ่มจากไหนก็เดาไม่ถูกเหมือนกัน แต่ก็น่าสนใจ เพราะมีอิทธิพลวัฒนธรรมชวาสูงมาก แต่หากถามว่ารักคนชวาเป็นพิเศษไหม ผมว่าไม่ เพราะพูดกับคนชวายังไม่รู้เรื่องเลยเนื่องจากพูดกันคนละภาษา มีข้อน่าสังเกตอยู่ว่า สมัยประธานาธิบดีซูกาโน กลุ่มต่อต้านรัฐไทยที่เป็นเจ้านายเก่า เจ้านายที่เป็นเชื้อสายสุลต่านปัตตานีเก่า หนีไปอยู่กลันตันแล้วคิดว่าตนจะได้รับการช่วยเหลือจากซูกาโน แล้วจะมีการสร้างอินโดนีเซียรายา ซึ่งรวมทั้งมาเลเซียและภาคใต้ของไทย นั่นเป็นหนทางที่คุณจะต่อสู้กับรัฐไทย แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ในขณะที่คุณรับอิทธิพลชวาเยอะแยะไปหมด ลองหันกลับไปดูประวัติศาสตร์แถวนี้ รวมทั้งมาเลเซียด้วย ก็มีเรื่องทะเลาะทำสงครามกับชวามาหลายครั้งเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าจะอยู่กันด้วยดีตลอด ซึ่งก็เหมือนกับประเทศไทย ที่กรุงเทพฯเคยทำสงครามกับอยุธยา ตรงนี้ก็เคยทำสงครามกับชวามาเหมือนกัน เป็นทั้งมิตรเป็นทั้งศัตรู เป็นครั้งคราวตลอดมา

แต่มันเกิดสำนึกใหม่ของความเป็นมลายู อย่างน้อยสุดเท่าที่เราจับได้ ก็คือ ความสำนึกว่าคนมาเลเซีย คนอินโดนีเซีย คนฟิลิปปินส์เป็นพวกเดียวกัน ความคิดที่จะสร้าง "มาฟิลินโด" จำได้ไหมครับว่า ที่จะเอา 3 ประเทศนี้มาอยู่ในกลุ่ม "มาฟิลินโด ( Maphilindo )" คือ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กับอินโดนีเซีย เข้าด้วยกัน แต่ความสำนึกอันนี้ไม่มีครับ และไม่เคยมีมาแต่โบราณ คน "อินังกาเบา" เห็นคนชวาเป็นพวกอ่อนแอ พวกผู้ดีที่ไม่ได้เรื่อง ดังนี้เป็นต้น

ตอนนี้มันเกิดความสำนึกว่า เราเป็นมลายูด้วยกัน เรามีเชื้อสายเดียวกัน เพราะฉะนั้นมันมีความสำนึกใหม่ทั้งความเป็นมลายู และความเป็นอิสลาม ผมพูดเรื่องนี้ก็เพื่อที่จะบอกว่า มันไม่ใช่เพียงตัว "รัฐไทย" เปลี่ยนอย่างเดียว คนในพื้นที่เองก็เปลี่ยน

ประเด็นที่ 4. เรื่อง"โลกาภิวัตน์"
ซึ่งไม่ว่าคุณจะอยู่ในหมู่บ้านไกลขนาดไหน คุณก็ได้รับผลกระทบของ "โลกาภิวัตน์ " อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้. "โลกาภิวัตน์ " ทำให้คนทั้งโลกนี้ ไม่ใช่เฉพาะคนมลายูหรือคนไทย ผมว่าแม้แต่คนจีน คนแขก คนมอญ ที่ไหนก็แล้วแต่ ต้องหันกลับมานิยามตัวเองใหม่ว่า"ฉันคือใคร" ในโลกที่มันมีคนแปลกหน้าเต็มไปหมด มีวัฒนธรรมแปลกหน้า ภาพยนตร์แปลกหน้า รายการทีวีแปลกหน้าเต็มไปหมด เราต้องหันกลับมานิยามตัวเราเองใหม่ นิยามแล้วจะเหมือนเดิมหรือไม่ ก็เป็นคนละเรื่องกัน แล้วส่วนนี้เป็นอีกส่วนที่ทำให้อัตลักษณ์หรือ Identity ของคนมลายูในท้องถิ่นเองก็ต้องถูกนิยามใหม่ด้วย ที่จะอยู่ในท่ามกลางโลกที่มันมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นแบบนี้

ผมคิดว่า นี่คือความเปลี่ยนแปลงเท่าที่ที่ผมมองเห็น 4 ด้าน (คือ ความเปลี่ยนแปลง, ผลของการพัฒนา, การเกิดสำนึกใหม่, และโลกาภิวัตน์) ซึ่งมีความสำคัญ และการที่เราจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้ได้ เราต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้ง 4 ด้านเป็นอย่างน้อย ดังที่กล่าวมาแล้ว

เมื่อเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น ปัญหาเรื่องการต่อต้าน"รัฐไทย"มันชัดเจน เพราะ"รัฐไทย"ก็มีส่วนในการทำความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ แล้วก็ไม่ได้ทำให้เขาสามารถที่จะปรับตัวเผชิญต่อความเปลี่ยนแปลงได้ด้วย นอกจากนั้นแล้ว มันยังมีความขัดแย้งอื่นๆ อีก คือ ถ้าเรามองว่าปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือความขัดแย้งระหว่าง"ประชาชน"กับ"รัฐไทย"อย่างเดียวละก็ มันตื้นเกินไป. ความจริงมันมีความขัดแย้งอื่นๆ มีความขัดแย้งระหว่างคนตรงนี้กับสถานการณ์ของโลกกว้างทั้งหมด เช่น กรณี 9/11 ที่ทำให้คนมุสลิมทั่วโลกกลายเป็นผู้ร้าย ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่ไหนก็แล้วแต่ พอเป็น"มุสลิม" คุณก็คือพวกเดียวกันกับพวกที่ระเบิดตึกเวิร์ลเทรด คุณคือผู้ร้าย เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามีความขัดแย้งซับซ้อนกว่าความขัดแย้งระหว่าง "ประชาชน"กับ"รัฐไทย" อันนี้ก็ใช่ ก็ไม่ได้ปฏิเสธ แต่นอกจากนั้นก็มีความขัดแย้งอื่นๆ อีก

ความขัดแย้งอีกอันหนึ่งที่มีความสำคัญ แต่คนไม่คอยพูดถึงคือ "ความขัดแย้งภายใน" ถามว่า คนมลายูรักกันมากหรือ สังคมมลายูก็เหมือนสังคมไทย สังคมจีน สังคมต่างๆ มันก็มีคนที่เอาเปรียบกัน ถามว่าที่เอาเปรียบกันมีไหม ก็มีเยอะแยะไปหมด ถามว่าคนที่ถูกเอาเปรียบไม่เคยรู้เลยหรือ คนที่เอาเปรียบกันอยู่นี่เป็นคนมลายูด้วยกัน ผมว่าเขารู้ มันเกิดความเปลี่ยนแปลงในแง่ของการเอาเปรียบภายใน เกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบเครือญาติของคนในท้องถิ่นนี้ ซึ่งไม่เหมือนเก่าอีกแล้ว อาจจะมีการร่วมเจอหน้ากันในวัน"ฮารีรายอ"บ้าง แต่ในความสัมพันธ์ที่เป็นจริงมันก็มีการเอาเปรียบกัน

การไม่เห็นอกเห็นใจกันก็มี ภายในเองมันก็มีความขัดแย้งมากมาย เฉพาะด้วยเหตุดังนั้นผมจึงค่อนข้างสงสัยว่าทุกครั้งที่เราพูดถึงเรื่อง"การสูญเสียทรัพยากร" มันจะต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงทรัพยากรอยู่ร้อยแปด ระวังอย่าคิดภาพของการใช้ทรัพยากรแบบรุ่นบรรพบุรุษของเรา มันไม่มีทางเป็นไปได้ เป็นความจริงที่คนถูกกีดกันออกจากการเข้าถึงทรัพยากร ผมไม่เถียง แต่ว่าจะแก้มันอย่างไร เราจะกลับไปอยู่แบบสมัยคุณปู่คุณย่าอยู่ อันนี้เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ไม่ใช่เพราะประชากรมากอย่างเดียว ผมว่าเรื่องประชากรยังเป็นปัญหาน้อยด้วยซ้ำ แต่เราไม่สามารถจะกลับไปอย่างนั้นได้อีกแล้ว ในท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงแบบนี้ เพราะฉะนั้นเราถึงได้พูดถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นแยะมาก ถ้าสมมุติว่า เราสามารถแก้เรื่องเฉพาะเรื่องความขัดแย้งระหว่าง"รัฐไทย"กับ"ประชาชน"ตรงนี้ได้ ถามว่าทุกอย่างสงบลงไหม ผมว่าไม่ ตรงนี้ก็ยังมีความขัดแย้งภายใน ความขัดแย้งกับโลกภายนอกและอีกเยอะแยะไปหมดเลยที่ว่ามันไม่สามารถแก้ได้

ทางออกของ "ภาคประชาชน" ทำอย่างไร ?
ตอนนี้ก็มาถึงประเด็นเรื่อง "ทางออกของภาคประชาชนจะทำอย่างไร?" ซึ่งอาจจะมีอยู่น้อยก็ได้ ผมสรุปเหลือคำๆ เดียวในสภาพที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ทางออกหรือทางเลือกในลักษณะแบบต่างคนต่างหาทางออกของตัวเอง ย่อมแก้ปัญหาไม่ได้ นี่เป็นทางเลือกหรือทางออกที่สังคมไทยปัจจุบัน พยายามครอบงำความคิดอันนี้ค่อนข้างมาก เช่นเป็นต้นว่า เราจะแก้ปัญหาเรื่องการโกงบ้านเมืองอย่างไร เราก็มักจะบอกว่ามีคุณธรรมสิ แล้วทุกอย่างมันจะดีเอง แล้วเราจะทำอย่างไรให้มันมีคุณธรรมถึง 60 กว่าล้านคน แล้วแค่จะมีคุณธรรม เราจะเชื่อได้อย่างไร อะไรเหล่านี้เป็นต้น. ประเด็นคือ คุณกำลังเริ่มแก้ปัญหาที่ตัวบุคคล ทีละคน ทุกคนดีหมด ก็แน่นอนนะครับ ในสังคมพระอรหันต์ไม่มีปัญหาหรอก แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นพระอรหันต์ได้

ด้วยเหตุดังนั้นจึงคิดว่า"การรวมกลุ่ม" เป็นเรื่องสำคัญ คุณต้องทำมันเป็น"กลุ่มก้อน"เพียงพอ เป็นกลุ่มก้อนเพื่ออะไร เพื่อว่าสิ่งที่คุณจะแก้ปัญหาที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ ประชาชนต้องมีทางเลือกใหม่ ทางเลือกใหม่จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ "มีการรวมกลุ่ม" มีการทำงานเป็นกลุ่ม ถ้าคุณทำงานอยู่คนเดียว คุณไม่สามารถสร้างทางเลือกใหม่ให้กับใครได้ นอกจากตัวเองนะครับ เช่น คนที่มีเงินทองก็อพยพหนีออกนอกพื้นที่แถวนี้ไปอยู่ที่อื่นเสีย มันก็เป็นทางเลือกของเขา แต่เขาแก้ปัญหาตัวของเขาเองได้คนเดียว

ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใหม่ทางเศรษฐกิจ เป็นทางเลือกใหม่ทางการเมือง ทางเลือกใหม่ทางวัฒนธรรม อันนี้คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ แน่นอนคนที่อยู่ในพื้นที่บอกว่า ถ้าคุณตั้งพรรคการเมืองสำหรับคนภาคใต้ คุณจะมีทางไปรอดไหม? คงยาก ผมว่ายากมากเลย เพราะเนื่องจากรัฐบาลเองก็ถูกตั้งข้อสงสัยหวาดระแวงอยู่แล้วว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะแยกดินแดน อะไรต่างๆ นานา มันจะมีปัญหาตามมามากมายไปหมด

หากถามว่า ถ้าคุณไม่คิดหาทางเลือกทางการเมืองใหม่ มันมีทางไหม? ผมมองไม่เห็นนะ ว่ามันจะมีทางทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหาได้ เช่น เป็นต้นว่าทางเลือกทางการเมืองใหม่ที่ประชาชนสามารถที่จะควบคุมดูแล อบต. ได้เองจริงๆ ไม่ใช่ปล่อยเสือเข้าป่า คือไม่ใช่เลือกมา แล้วปล่อยให้มันเป็นไปอย่างไรก็ได้ เราต้องสามารถจัดองค์กรที่จะทำให้เราควบคุมพฤติกรรมของ อบต.ได้จริง อันนี้เป็นทางเลือกใหม่ทางการเมืองในทัศนะของผม และถือว่าคุณจะทำได้ คุณต้อง"รวมกลุ่ม"แล้วก็เข้าไปทำ

ทางเลือกใหม่ทางวัฒนธรรม ทางเลือกใหม่ทางเศรษฐกิจ ต้องคิดถึงสิ่งเหล่านี้ว่า เราจะรวมกลุ่มกันเพื่อก่อให้เกิดทางเลือกใหม่ ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงได้อย่างไร เพื่อที่ว่าเราจะเข้าไปต่อรองสังคมในวงกว้างได้ ถ้าเราไม่สามารถรวมกลุ่มกัน เราไม่สามารถที่จะหาทางเลือกใหม่ได้ เราจะต่อรองอะไร. คือจริงๆ เวลานี้สงสัยว่า ถ้ามันเกิดการเจรจากับรัฐบาลขึ้นมา ผมสงสัยว่ารัฐบาลมีอะไรจะเจรจา ในขณะเดียวกันฝั่งตรงข้าม ถามว่าแล้วคุณจะเจรจาอะไร คือ ถ้าเราไม่พยายามคิดหรือสร้างทางเลือกใหม่ของเรา เราก็ไม่รู้จะต่อรองกับคนอื่นหรือกลุ่มอื่นได้อย่างไร เพราะฉะนั้นการรวมกลุ่มเพื่อทำให้เกิดทางเลือกใหม่ทางการเมือง ทางเลือกใหม่ทางเศรษฐกิจ ทางเลือกใหม่ทางวัฒนธรรม เป็นหัวใจสำคัญของภาคประชาชนที่จะแก้ปัญหาได้ ผมเข้าใจนะครับว่า มันยากมากๆ ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ คุณขยับด้านนี้ก็ไม่เป็นที่ไว้วางใจของฝ่ายนี้ คุณขยับด้านโน้นก็ไม่เป็นที่ไว้วางใจของฝ่ายโน้น เป็นอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ของง่าย แต่ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง ผมนึกถึงทางออก 2-3 อย่างด้วยกันคือ

หนทางแห่งการรวมกลุ่ม

1. การเยียวยา เห็นด้วยกับกลุ่มที่มีความเห็นว่า น่าจะมีการเริ่มจาก "การเยียวยา" เพราะการเยียวยาเป็นสิ่งที่รับได้หมดทุกฝ่าย ทุกฝ่ายเจ็บหมด ไม่มีใครไม่เจ็บ เพราฉะนั้นน่าจะเริ่มต้นจากการเยียวยา เพื่อจะประสานให้เกิดกลุ่มขึ้นให้ได้ ผมก็ดีใจที่มันมีการทำอย่างที่อาจารย์ศรีสมภพพูดถึงเรื่อง "กาชาดมุสลิม" นับเป็นเรื่องดีมากๆ นี่คือกระบวนการที่ดีในการเยียวยา ถ้าทำจริงได้ มันจะเริ่มเกิดการเกาะกลุ่มเข้าหากัน ข้ามศาสนาด้วยซ้ำไป ข้ามชาติพันธุ์ด้วยซ้ำไป แล้วคิดว่านี่เป็นหัวใจสำคัญ แล้วต่อมา ผมว่าต้องขยายกิจกรรมจากการเยียวยาไปสู่กิจกรรมอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ที่เราจะสามารถข้ามชุมชน ข้ามศาสนา ข้ามเครือญาติ ข้ามสถานะต่างๆ เหล่านี้ เข้ามาจับมือกันให้ได้

2. การสนทนาโต้ตอบต้องเปิดไว้กับทุกฝ่าย ถ้าอยากจะทำงานนี้ต่อไปในอนาคต "อย่าเป็นศัตรูกับรัฐ" เรารู้ว่า เราไม่พอใจรัฐ ต้องการจะเปลี่ยนแปลงรัฐตรงไหน แต่อย่าประกาศตัวเป็นศัตรู การเปลี่ยนแปลงรัฐไม่ใช่การเป็นศัตรูกับรัฐ ต้องทำความเข้าใจตรงนี้ด้วย ผมคิดว่าเมื่อตอนที่ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2548 ท่วมท้นเลย ก็คือหมายความว่า มากกว่าทุกแห่งในการเลือกตั้งภายในประเทศ แสดงชัดเจนเลยว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการใช้ประเทศไทยเป็นเวทีการต่อสู้ของเขา ถูกไหมครับ ถ้าไม่อย่างนั้น คงไม่มาให้ความสนใจเรื่องเลือกตั้งหรอก นี่ตรงกันข้าม พากันไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งท่วมท้น แสดงว่าเขาเลือกเอาประเทศไทยนี่แหละเป็นเวทีการต่อสู้ของเขา เพราะฉะนั้นผมไม่ได้แปลว่า เราต้องยอมรับ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรูกับรัฐ และไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรูกับฝ่ายตรงข้ามรัฐด้วย พยายามที่จะมีการเจรจาโต้ตอบกันกับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน โดยรักษาจุดยืนของตนเองไว้ อย่าเป็นศัตรูกัน

3. ปกป้องภัยโดยสงบจากทุกฝ่าย ปัญหาที่เกิดความเดือดร้อนกับทุกฝ่ายในเวลานี้ คือ จะปกป้องภัยโดยสงบจากทุกฝ่ายได้อย่างไร เพราะตอนนี้ภัยมันเกิดขึ้นจากทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐเอง ก็ทำให้เกิดความเดือดร้อนกับเขา ทางอีกฝ่ายหนึ่งก็ทำให้เกิดความเดือดร้อนกับเขาด้วยเช่นกัน ทั้ง 2 ฝ่ายเหมือนกันหมด ปัญหาคือเราในฐานะ"คนกลาง" จะปกป้องตนเองโดยสงบได้อย่างไร ซึ่งคิดว่า"การรวมกลุ่ม"เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ขณะเดียวกันก็ยอมรับด้วยว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก เพราะว่าประสบการณ์ที่เลวร้ายต่างๆ เหล่านี้ มันทำให้คนรวมกลุ่มกันได้ค่อนข้างยากมาก คุณรวมกลุ่มกันเกิน 5 คน ก็เริ่มสงสัยแล้วว่า คุณเป็นคนที่ไม่น่าไว้วางใจ อย่างนี้เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องฟันฝ่าสิ่งเหล่านี้ออกไปให้ได้

อยากจะยกตัวอย่างนอกพื้นที่ให้ดูว่า ประชาชนแถวบ่อนอก บ้านกรูด เวลาที่ใครก็แล้วแต่ถูกจับ เขาไม่ได้ปิดถนนนะครับ แต่เขาใส่เสื้อสีเขียวไปนั่งเต็มโรงพักเลย แล้วต่อมาก็ไปนั่งเต็มศาล ทั้งหมดเหล่านี้ ไม่ใช่ให้กำลังใจอย่างเดียว แต่คือระวังหรือเตือนให้กระบวนการยุติธรรมทำงานอย่างถูกต้อง จะบอกว่าเป็นการข่มขู่ เป็นการคุกคามศาล ก็ไม่ว่าอะไร แต่เป็นการไปดูว่ามีการใช้กระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้องหรือไม่ นี่เป็นเรื่องหนึ่งแล้วผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าคุณรวมกลุ่มกันได้จริง คุณจะปกป้องตนเองจากรัฐได้ ลองคิดหาวิธีที่จะปกป้องตนเองจากอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ทำอย่างไรเราจะไม่ถูกยิงทิ้ง ทั้งจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็แล้วแต่ จะทำอย่างไร จะปกป้องตนเองได้อย่างไร อันนี้ผมไม่มีความรู้พอที่จะพูดได้ แต่ผมเชื่อว่ามันมีทางทำได้แน่ๆ. มีประเทศบางประเทศในอาฟริกาที่มันมีการฆ่ากันระหว่าง 2 เผ่า ซึ่งรุนแรงกว่าเราเยอะมาก ตายกันเป็นแสน แล้วก็มีจุดที่คนมารวมตัวกันแล้วปกป้องตนเอง เป็นจุดๆ มากมายเต็มไปหมด ผมจึงเชื่อว่า เราน่าจะมีทางทำได้

4. ความเป็นมวลชน
การที่เราเป็นประชาชนธรรมดา ไม่เกี่ยวกับใครเลย เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ แต่ต้องเป็นมวลชนที่มี"การจัดตั้ง" มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า ทุกครั้งที่มีการเดินไปประท้วง มันมีการจัดตั้งทั้ง 2 ฝ่าย ผมเห็นด้วย ไม่มีมวลชนที่ไหนในโลกนี้ที่ไม่ถูกจัดตั้งถ้าคุณจะสามารถเคลื่อนไหวได้ และไม่ให้จัดตั้งจะเป็นไปได้หรือ, มันไม่ใช่ยี่เก ยี่เกเขาตีกลองทับ ไม่มีการจัดตั้ง พากันไปตามเสียงกลองถูกไหม นี่ไม่ใช่มวลชนที่เกิดจากการจัดตั้ง, การไปรักษาสิทธิของเราจากตำรวจก็ตาม ไปปกป้องตนเองจากผู้ร้ายก็ตาม ไม่ให้จัดตั้งเลยเป็นไปไม่ได้. "การจัดตั้ง"ไม่ใช่สิ่งที่เสียหาย ผมว่าเราควรจัดตั้งเลย หากไม่จัดตั้งมันจะมีพลังได้อย่างไร? "การจัดตั้ง" จะทำให้เกิดมวลชนที่สามารถปกป้องตนเองได้ ช่วงหนึ่งคุณถูกระแวง คุณถูกสงสัย แน่นอน เสี่ยงภัยแน่นอน แต่ผมคิดว่าเวลานี้ความเสี่ยงภัยมันก็มีอยู่มากพอสมควรอยู่แล้ว ถ้าเราไม่ยอมเสี่ยงอะไรเลย เราก็ไม่มีทางที่จะปลอดภัยได้

+++++++++++++++++++++++++++++++++++

สรุปเนื้อหาจากที่ประชุม: ประมวลโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ประเด็นที่ 1. มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในท้องถิ่น
สิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างชัดในใจผมก็คือ รู้สึกว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในท้องถิ่นต่างๆ ในประเทศไทยเยอะมาก เท่าที่ผมสังเกตได้ ก็คือ สถาบันดั้งงเดิมในท้องถิ่นเปลี่ยนไป

เราพูดถึงสถาบันเก่าๆ ที่เคยมีมา ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรืออะไรก็ตามโดยที่ในขณะเดียวกันมันสะท้อนให้เห็นด้วยว่าสถาบันเก่าๆ ที่เราเคยมีมาทั้งหมดมันไม่ทำงาน จะด้วยเหตุผลว่ารัฐเข้ามาแทรก หรือด้วยเหตุผลอื่นๆ อะไรก็แล้วแต่ มันเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก ในบรรดาสถาบันต่างๆ ที่ผมรู้สึกว่ามันไม่ทำงานเท่าที่มันควรจะทำในสังคมสมัยใหม่ เมื่อสังคมเปลี่ยนไป เมื่อท้องถิ่นเปลี่ยนไป ตัวสถาบันเก่าไม่สามารถทำงานอย่างที่มันเคยทำได้

มีคนแสดงความวิตกห่วงใยถึงสถาบันครอบครัวว่า พ่อแม่ผู้ปกครองไม่รู้เลยว่าเด็กไปทำอะไรมาบ้าง ทั้งที่สมัยหนึ่งมันก็ปกติธรรมดาที่เด็กๆ จะไปนอนตามขนำบ้าง ไปนอนตามบ้านญาติบ้าง โดยไม่ได้บอกกล่าวให้พ่อแม่รู้ ในสมัยก่อนนี้ชุมชนทั้งหมดมันรู้กันและกัน เด็กจะอยู่หรือไม่อยู่บ้านจึงไม่ค่อยมีความสำคัญเท่าไหร่ เพราะว่าเด็กถูกเลี้ยงดู อบรม ดูแลโดย"ชุมชน"ทั้งหมด แต่บัดนี้ชุมชนทั้งหมดไม่มีแล้ว ภาระก็ถูกผลักกลับมาที่ครอบครัวเป็นผู้ดูแล ครอบครัวเองก็ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนตัวเองที่จะเข้ามาควบคุมดูแลเด็กของตนอีกต่อไป ก็ยังคงทำเหมือนเก่าทุกอย่าง เพราะฉะนั้นก็เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นมา

เราได้พูดถึงหลายเรื่องด้วยกันในเรื่องเกี่ยวกับการที่ "สถาบันเก่าไม่ได้ปรับตัว ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้เกิดสถาบันใหม่เพื่อเข้ามาทำหน้าที่แทนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว"

อันหนึ่งที่ผมได้ยินอยู่บ่อยๆ คือเรื่องของ "ระบบข่าวสารข้อมูล" ไม่ใช่เป็นแต่เพียงเรื่องที่ทำให้เราสามารถรู้ว่าอะไรเป็นอะไรเท่านั้น แต่ตัวระบบข่าวสารข้อมูลเป็นพลังหรือเป็นอำนาจอย่างหนึ่งของการควบคุมด้วย เช่น สมัยหนึ่งตลาด มัสยิด หรือวัดตามที่ชุมชนพุทธเรียก มันเป็นสนามสำหรับการนินทากันด้วย ซึ่งการนินทาก็ได้ผล คือทำให้เราสามารถควบคุมผู้ใหญ่บ้านได้จากการนินทาแบบปากต่อปาก

พื้นที่เหล่านี้ หรือระบบข่าวสารข้อมูล ที่ทำให้คนในชุมชนหรือคนในท้องถิ่นสามารถรู้ว่าอะไรเป็นอะไร สามารถร่วมกันในการตัดสินใจว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรเราเห็นด้วย อะไรเราไม่เห็นด้วย ระบบนี้มันไม่ทำงานอีกต่อไป ไม่ใช่ว่าคนสมัยนี้เลิกนินทากัน แต่มันไม่มีพื้นที่กลางสำหรับการนินทาเพื่อส่วนรวม มันกลายเป็นเรื่องการนินทากันระหว่างบ้านกับบ้าน นินทาญาติ นินทาเรื่องที่เป็นส่วนตัวมากกว่า

ปัญหาคือว่าเมื่อสังคมเปลี่ยนไป โลกเปลี่ยน เราได้สร้างระบบข่าวสารข้อมูลชนิดใหม่ขึ้นมาหรือเปล่า คำตอบคือไม่ได้สร้าง เช่นเป็นต้นว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เวลามีการทำวิทยุชุมชนจะถูกคุมมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย วิทยุชุมชนในประเทศไทยไม่ว่าสมัยรัฐบาลทักษิณหรือว่ารัฐบาลปัจจุบันก็ตาม ถ้าเป็นพื้นที่อื่นๆ ค่อนข้างจะอิสระเสรีกว่า แต่ถ้าเป็นพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มันจะถูกคุมค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงสามารถใช้ประโยชน์สำหรับเป็นระบบข่าวสารข้อมูลเพื่อให้อำนาจในการควบคุมกันเองได้น้อย

ประเด็นที่ 2. มันมีความเกลียดที่รุนแรงมากเกิดขึ้นทั้งในสังคมไทย
และเกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความเกลียดเหล่านี้โดยสรุปก็คือ เกิดจากความไม่เข้าใจกัน เกิดจากอคติ ที่มีมาในระบบการศึกษาของทั้งสองฝ่าย คือระบบการศึกษาฝ่ายรัฐก็มีคนพูดถึงว่า เราไม่ได้เตรียมเด็กของเราให้เข้าใจคนที่มีความแตกต่าง ไม่ว่าจะแตกต่างทางชาติพันธุ์ แตกต่างทางศาสนา วัฒนธรรมก็ตาม เราไม่ได้เตรียมเด็กเชียงใหม่ให้เข้าใจว่า เราต้องอยู่ร่วมกับคนที่มีความแตกต่างกับเรา

ในขณะเดียวกันนั้น พื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เอง การศึกษาที่เด็กได้รับ อันนี้ผมไม่ได้หมายถึงการศึกษาที่เด็กได้รับจากรัฐอย่างเดียว แต่รวมถึงการศึกษาในชีวิตประจำวันด้วย เราก็ไม่ได้เตรียมให้เขาได้ยอมรับถึงความแตกต่างของคนอื่นๆ ที่อยู่ด้วยกัน เพราะฉะนั้นมันมีความเกลียดชังค่อนข้างสูงมาก ในขณะที่มีความเกลียดชังก็มีความกลัวค่อนข้างมาก ซึ่งที่จริงมันเป็นเรื่องเดียวกัน เมื่อไหร่ที่คุณกลัวใครมากๆ คุณก็เกลียดเขา ถ้าคุณเกลียดใครมากๆ คุณก็กลัวเขา มันเป็นความรู้สึกอันหนึ่งอันเดียวกัน

เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร มีคนพูดถึงหลายอย่างเรื่องของการที่จะต้องมี"ประชาสังคม" ที่เกิดความร่วมมือกันระหว่างคนต่างวัฒนธรรม ต่างศาสนา ต่างชาติพันธุ์ เป็นต้น. พูดกันถึงเรื่องของการที่มันจะต้องมีพื้นที่สาธารณะมากขึ้น เพื่อจะทำให้คนได้สามารถมาพบปะกัน สามารถที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และสามารถจะเถียงกันโดยสงบได้

ในทัศนะผม เมื่อไหร่สังคมใดก็ตามแต่เรียกร้องแต่ความสามัคคี เมื่อนั้นสังคมนั้นเจ๊งแล้ว ไปไหนไม่รอด เพราะมันไม่มีสังคมที่จะเห็นพ้องต้องกันตลอดเวลา มันต้องเป็นสังคมที่เราสามารถเถียงกันได้โดยไม่ต่อยกัน เราต้องสร้างสังคมแบบนั้น ไม่ใช่สร้างสังคมที่สามัคคีกันโดยตลอด อันนั้นก็เป็นสังคมของคนปัญญาอ่อนเท่านั้นเอง ตรงนี้ ถ้ามีพื้นที่สาธารณะที่จะให้คนขัดแย้งกัน ไม่เห็นด้วยกัน แต่ว่ามันมีกติกา มีระเบียบแบบแผนที่จะทำให้เราต่างฝ่ายต่างเก็บความขัดแย้งของกันและกันเอาไว้ แล้วก็รอมชอมกันได้โดยไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องต้องกัน โดยวิธีใดวิธีหนึ่งที่เป็นไปโดยสันติวิธี ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องสำคัญ

สภาพของการเปิดพื้นที่สาธารณะเหล่านี้เท่าที่มีการทำๆ กันมาแล้ว เท่าที่ผมจับความได้ เราอย่าไปนึกถึงพื้นที่ในความหมายเชิงภูมิศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว คิดว่าการเปิดพื้นที่โดย "กลุ่มผู้หญิง" ค่อนข้างจะมีประสิทธิภาพ และเป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า เราสามารถทำให้เกิดพื้นที่อันหนึ่งที่ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจ บทบาทในทางการเมือง บทบาทในทางอื่นๆ ได้ค่อนข้างมากใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่บุกเบิกไปในการเปิดพื้นที่ ซึ่งสมัยหนึ่งอาจจะรู้สึกว่าไม่ใช่หน้าที่ของผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงซึ่งเป็นมาลายูมุสลิมที่อยู่ในภาคใต้ พอผู้หญิงมาทำเข้าก็เป็นที่รับได้ว่า ผู้หญิงมีสิทธิที่จะทำสิ่งเหล่านี้ เป็นพื้นที่ใหม่ที่ผู้หญิงเข้าไปมีบทบาท ปัญหาก็คือว่า เราจะเปิดพื้นที่เหล่านี้แก่เยาวชนได้อย่างไร เราจะเปิดพื้นที่เหล่านี้สำหรับคนแก่ เราจะเปิดพื้นที่เหล่านี้ให้กับคนหนุ่มได้อย่างไร ?

ประเด็นที่ 3. เกิดความเสื่อมโทรมทางศาสนาทุกศาสนาในประเทศไทยค่อนข้างมาก
สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกแปลกใจก็คือ ในดินแดนประเทศไทยที่นับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ เราก็จะพบปรากฎการณ์อันเดียวกันคือ มันมีอุดมการณ์ใหม่บางอย่างที่เข้ามาแข่งขันกับอุดมการณ์ในทางศาสนา แล้วอุดมการณ์เหล่านั้นกลับเข้ามาครอบงำคนได้มากกว่าศาสนาเสียอีก ซึ่งก็ไม่แปลกสำหรับพวกเด็กไทยที่เป็นพุทธทั้งหลาย ตลอดเวลาที่เรียนหนังสือมา สิ่งที่เขาสอนเกี่ยวกับหลักธรรมในศาสนาพุทธมีน้อยมาก พุทธศาสนาที่กระทรวงศึกษาสอนเป็นพุทธประวัติ แต่ตัวหลักธรรมจริงๆ กลับไม่ค่อยมีการสอนเท่าไหร่ ฉะนั้น เหตุนี้จึงทำให้คุณพร้อมที่จะฆ่าคนตายเพื่อสงวนชาติเอาไว้

แต่คนสมัยก่อนนี้ไม่ใช่ อย่างเช่น ผมเคยเจอทหารคนหนึ่งที่ถูกเกณฑ์ไปทำสงครามอินโดจีน ซึ่งรบกับฝรั่งเศสก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะมาถึงเมืองไทยเล็กน้อย ผมก็คุยกับแกตอนนั้นผมยังเป็นเด็กหนุ่มอยู่ เขาได้ยิงทหารฝรั่งเศส ได้ยิงทหารนิโกรที่เขาเกณฑ์มารบในอินโดจีนใช่ไหม แกบอกเปล่าผมไม่ได้ยิงใคร ผมไม่ได้ฆ่าใครสักคน ผมถามว่า แล้วรบชนะได้อย่างไร? แกบอกว่า พอเขาสั่งให้ยิง ผมก็จะหมายปืนไปให้มันอยู่เหนือหัวคน คือฝ่ายโน้นก็หมอบอยู่ใช่ไหม ก็ยิงไปที่ต้นไม้ใบไม้ต่างๆ ตลอดเวลา และพอเขาสั่งเข้าตี ผมก็ลุกเข้าไปฝ่ายโน้นตายหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ผมไม่ได้ยิงแน่ๆ คนหนึ่งผมยิงเหนือหัวมันตลอดเวลาเพื่อผมจะได้ไม่ฆ่าคน นี่คือ สำหรับคนโบราณการฆ่าคนคือการละเมิดหลักศาสนา ชาติอะไรไม่สำคัญทั้งสิ้น แต่คุณฆ่าคนไม่ได้ถ้าคุณนับถือพุทธ ซึ่งผมคิดว่าปัจจุบันนี้มันไม่ใช่

นับตั้งแต่รัชกาลที่ 6 เป็นต้นมาที่บอกว่า คุณฆ่าคนเพื่อรักษาธรรมมะนี่ไม่เป็นไร ก็ไปทำสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกับเขา พระก็ออกมาสนับสนุนว่าทำสงครามไม่ผิดหลัก ทั้งๆ ที่มันขัดกับหลักพระพุทธศาสนา คุณทำสงครามไม่ได้ พระมาบอกให้คนไปฆ่ากันตาย ถือว่าผิดพระวินัยอย่างร้ายแรง แต่ปัจจุบันกลายเป็นของธรรมดา พระบางองค์บอกว่า ที่ฆ่าคนตัดตอน ตอนปราบยาเสพติดไป 2,000 กว่าชีวิต ท่านปลอบใจอดีตนายกรัฐมนตรีว่า คนค้ายาเสพติดมันเหมือนยุงมารบกวน เราก็ตบมันได้ ทั้งๆ ที่ความจริงเป็นพระตบยุงก็ไม่ได้ มันเสื่อมหมด

มันมีอุดมการณ์อื่น อุดมการณ์ชาติ อุดมการณ์อะไรก็แล้วแต่ ได้เข้ามาแทนที่ศาสนา และสิ่งที่มันหายไปในศาสนา ผมคิดว่าอิสลามก็เหมือนกัน พุทธก็เหมือนกัน คริสต์ก็เหมือนกัน เช่นเป็นต้นว่าความเคารพต่อชีวิต คิดว่าความเคารพต่อชีวิตในทุกศาสนาย้ำเหมือนกันหมดทุกศาสนา ทุกวันนี้มันหายไปเลย คือการฆ่าคนกลายเป็นเรื่องเล็กมาก ทั้งสองฝ่าย ต่างฝ่ายต่างเชื่อว่ามันมีอะไรที่มีคุณค่ายิ่งกว่าชีวิตที่คุณจะต้องฆ่า ไม่ว่าจะเป็นอิสระ เสรีภาพ จะเป็นการปลดปล่อย จะเป็นการรักษาชาติเอาไว้อะไรก็แล้วแต่ มันแสดงถึงว่า คุณเห็นการฆ่าเป็นเรื่องเล็ก แต่ในทัศนะของผมอันนี้เรื่องใหญ่มากๆ มีทางบ้างไหมที่ศาสนาจะอยู่รอดในโลกปัจจุบันนี้ ในโลกที่คุณสร้างอุดมการณ์ขึ้นมาแข่งขันกับอุดมคติของศาสนาทุกศาสนา

สิ่งเหล่านี้มันค่อนข้างจะเป็นปัญหาของโลกสมัยใหม่ทั้งหมด จริงๆ ไม่ใช่เฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยด้วย ประเทศอื่นก็เหมือนกัน ผมไม่เคยเห็นอเมริกันยื่นหน้าให้คนอื่นตบเวลาที่โดนตบหน้าข้างหนึ่ง ก็แทนที่จะยื่นอีกข้างให้เขาตบอย่างที่พระเยซูสอนก็ไม่เห็นมีใครทำแบบนั้น แต่กลับไปถล่มประเทศที่ตบหน้าตัวเองทันที ศาสนาหมดความหมายไป สิ่งที่มันเหลืออยู่เวลานี้ มันจะมีทางทำอย่างไรให้ตัวหลักการของศาสนากลับเข้ามามีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์มากขึ้น

ประเด็นที่ 4. เรื่องปัญหาการจัดสรรทรัพยากร
ในชุมชนสมัยก่อน ในท้องถิ่นสมัยก่อน มีกลไกของการจัดการทรัพยากรเยอะแยะมาก กลไกเหล่านั้นถูกแทนที่ด้วยสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่ได้ให้อำนาจกับประชาชนในการจัดการทรัพยากร อย่างเช่นประเพณี หรืออื่นๆ ที่ถูกแทนที่ด้วยกฎหมาย ในขณะที่กฎหมายก็ไม่ได้ให้อำนาจแก่ประชาชนในการจัดการทรัพยากร ทรัพยากรถูกเปลี่ยนการใช้มากมายไปหมด โดยที่กลไกอันเก่าที่ประชาชนเคยควบคุม เคยดูแล เคยเป็นผู้ตกลงเป็นผู้อนุมัติได้ มันหายไปหมดแล้ว เรื่องนี้ก็มีการพูดถึงกันมากทีเดียว อย่างเรื่องที่ดินที่ติดชายทะเลที่ถูกนายทุนไปจับจองหมดจน กระทั่งประมงลงทะเลยังไม่ได้ ไม่รู้จะทำประมงได้อย่างไรต่อไป อย่างนี้เป็นต้น เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีการพูดถึงกันมาก

ประเด็นที่ 5. เรื่องของระบบยุติธรรม
สุดท้ายที่ผมได้ยินการพูดถึงกันก็คือ เรื่องของระบบยุติธรรมที่มีอยู่ ซึ่งเป็นระบบยุติธรรมที่มันเอื้อต่อผลประโยชน์ที่ผิดกฎหมายทั้งหลาย สรุปง่ายๆ ก็คือ มันไม่ทำงานต่อไปอีกแล้ว นับไล่ขึ้นมาตั้งแต่กระบวนการยุติธรรมเบื้องต้นสุดคือตำรวจ ขึ้นไปจนกระทั่งถึงศาล มันไม่ได้สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริง สมมุติว่าตำรวจเป็นคนดีไปจนถึงศาล แต่ตัวระบบเองมันกีดกันที่จะให้คนดีๆ เหล่านี้สามารถให้ความยุติธรรมได้ ในขณะเดียวกันผมก็เสริมตรงนี้ด้วยว่า ในสมัยก่อนตัวระบบความยุติธรรมมันเคยมีกลไกภายในท้องถิ่น เวลานี้คุณมีข้อพิพาทอะไรเกิดขึ้น สิ่งแรกก็คือคุณออกไปหาคนนอกท้องถิ่นทันที แต่ว่าเดิมทีเดียวมันมีระบบความยุติธรรมที่อยู่ในท้องถิ่นอยู่

นึกถึงตัวอย่างของงานวิทยานิพนธ์ของอาจารย์ฉวีวรรณ ซึ่งทำมา 20 กว่าปีแล้วในชุมชนหนึ่งในปัตตานี ในงานวิทยานิพนธ์ของอาจารย์มีว่า จริงๆ เวลาที่เขาจะมีคนตาย แล้วก็มีการแบ่งมรดกก็ตาม ผัวเมียหย่ากันและก็จะต้องมีการแบ่งทรัพย์สินก็ตาม ปรกกฎว่าการจัดการแบ่งทั้งหมดเหล่านี้แทนที่จะไปทำกันกับดาโต๊ะยุติธรรม ไม่ได้ทำตามชาลิอะห์ของศาสนาอิสลามด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำตามกฎหมายไทยด้วย แต่เขาทำตามโดยมีคนที่นับถือในหมู่บ้านคนใดคนหนึ่ง แล้วเขาก็ไปหาคนนั้นให้ต่างฝ่ายต่างจารนัยว่า ตัวมีทรัพย์สินอย่างไรบ้าง จะแบ่งอย่างไรที่เป็นธรรม และคนที่เป็นที่นับถือของหมู่บ้านอาจจะเป็นโต๊ะครูเป็นอะไรก็แล้ว แต่จะเป็นคนบอกให้ว่าแบ่งอย่างนี้ ๆ ซึ่งก็ไม่ได้ตรงตามชาลิอะห์ และก็ไม่ได้ตรงตามกฎหมายไทย แต่เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่ายหรือหลายๆ ฝ่ายก็แล้วแต่ ที่เป็นทายาทในการรับมรดก แล้วเขาก็รับอันนี้ไป นี่เป็นกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นภายใน เพราะว่ามันจะหาใครที่จะเข้าใจดียิ่งไปกว่าคนที่อยู่ในชุมชนด้วยกันได้

ครอบครัวนี้เวลามันหย่ากันปรากฏผัวมันขี้เกียจ ทุกคนในหมู่บ้านรู้หมด ทรัพย์สินที่ได้มาเมียเป็นคนทำทั้งนั้นเลย วันหนึ่งมาบอกว่าหย่ากัน ผัวเอาไปหมดเลย มันก็ไม่ยุติธรรมถูกไหมครับ คนที่อยู่ในหมู่บ้านเท่านั้นที่รู้ว่า ใครควรได้อะไรเท่าไหร่ มันก็มีการตกลงแบ่งกันและมันก็มีอำนาจของความนับหน้าถือตาที่ว่า คนไม่ดีก็ไม่กล้าที่จะไปขัดแย้งกับความเห็นของผู้รู้ที่เป็นที่นับถือในหมู่บ้านด้วย เพราะฉะนั้นกระบวนการความยุติธรรมที่มันไม่ทำงานในปัจจุบันนี้ หรือว่ามันทำงานไม่ได้ผล เพราะว่ามันลงไปไม่ถึงระดับชาวบ้านจริง ๆ จะแก้อย่างไร จะทำอย่างไร อันนี้ก็เป็นปัญหาใหญ่เท่าที่ผมได้รับทราบมา

ผมขออธิบายเสริมเรื่องโครงสร้าง กล่าวคือ "โครงสร้างที่อยุติธรรม" ไม่ว่าที่ไหนในโลก มันเกิดขึ้นได้จากการที่อำนาจของกลุ่มคนมันไม่เท่าเทียมกัน คือถ้าอำนาจมันเท่าเทียมกัน คุณจะเกิดโครงสร้างที่อยุติธรรมไม่ได้ ฉะนั้นเวลาที่เราพูดถึงเรื่องของการรวมกลุ่มก็ตาม การที่ประชาชนจะต้องเปิดพื้นที่ของตนเองก็ตาม จริงๆ ก็คือการแก้โครงสร้างโดยปริยายนั่นเอง ถ้าประชาชนไม่มีพื้นที่ของตนเอง ไม่สามารถเกิดพื้นที่สาธารณะเพื่อเคลื่อนไหวเอง อยู่ๆ จะให้มีเทวดาไม่ว่าจะมาจากการรัฐประหารหรือการเลือกตั้ง มาแก้ไขปัญหาโครงสร้าง อยุติธรรม ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะโครงสร้างที่อยุติธรรมจะเอื้อประโยชน์แก่คนบางกลุ่มที่มีอำนาจทางการเมืองเช่นคนชั้นกลาง เป็นต้น คนเหล่านี้ได้ประโยชน์จากโครงสร้างอยุติธรรม 100 เปอร์เซ็นต์รวมทั้งเราด้วย ซึ่งก็ได้ประโยชน์จากโครงสร้างอยุติธรรมเหมือนกัน คนที่ถูกรังแก คนที่ถูกเบียดเบียน คุณต้องลุกขึ้นมาสู้ อยู่ๆ คุณจะหวังให้โครงสร้างเปลี่ยนเองโดยอัตโนมัติ ไม่มีในโลกนี้

สรุป: ต้องมีพื้นที่ทางการเมืองให้ประชาชน
สุดท้ายผมขอพูดเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนที่ผมทำกับเพื่อนๆ เราได้เคยมาจัดสัมมนากันที่ปัตตานี เมื่อปี พ.ศ.2547 เราพบว่า มันเกิดเหตุการณ์ สิ่งที่รัฐน่าจะทำและไม่ได้ทำเลย ก็คือว่าคุณปิดพื้นที่ทางการเมืองหมดเลย ตกลงมันเหลือพื้นที่คือพื้นที่ทางการทหาร ขณะที่คุณคิดว่าปัญหาที่เกิดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มันไม่ได้แก้ได้หมด แต่พื้นที่ทางการเมืองเป็นพื้นที่อันหนึ่งในการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียทรัพยากรก็ตาม คุณต้องสามารถออกมาประท้วงในท้องถนนได้ คุณต้องสามารถลุกขึ้นมายืนปกป้องทรัพยากรของตน นี่คือพื้นที่ทางการเมือง และผมคิดว่าจนถึงทุกวันนี้ นับวันยิ่งแย่ลงเพราะต่างคนต่างระแวง ไม่ยอมเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้แก่ประชาชนเลย และผมคิดถึงหัวใจสำคัญที่จะก่อให้เกิดความสงบในระดับหนึ่งได้ คือ "ต้องมีพื้นที่ทางการเมืองให้ประชาชน"

ด้วยเหตุดังนั้น มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จึงได้จัดผู้นำชาวบ้านบ่อนอก บ้านกรูด สมัชชาคนจนจากอีสาน จากภาคเหนือ และจากที่อื่น ๆ ลงมาคุยกับพี่น้องมุสลิมมลายูที่ปัตตานี และผมก็ว่าได้ผลดีมากๆ คนเหล่านั้น ได้แก่ คุณจินตนา คุณดาราวัลย์กรณีบ่อบำบัดน้ำเสียที่คลองด่านก็ตาม คนเหล่านั้นจะมาเล่าให้ฟังว่า เขาได้เจออะไรมาบ้าง และผมคิดว่ามันได้ผลในความหมายที่ว่า ประชาชนชาวปัตตานีเองที่เราเชิญมาคุยกันในวันนั้น หลังจากนั้น 2 วันผ่านไป ก่อนที่พวกนี้จะลากลับ คนเหล่านี้เขาไปกอดผู้นำชาวบ้านเหล่านั้น บอกว่าคุณก็เจอแบบเดียวกับที่เขาเจอเยอะแยะไปหมด แล้วเขาก็ลุกขึ้นสู้ได้

ซึ่งที่เราทำทั้งหมดก็คือ คุณต้องสู้ คุณอย่าไปยอม คือส่วนใดที่รัฐแค่ทำ คุณต้องสู้ แต่สู้ในวิถีทางที่มันถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจริงๆ เรามีสิทธิตามกฎหมายมากเลย แน่นอนในดินแดนตรงนี้ มันได้ใช้สิ่งที่เป็นนอกกฎหมายเยอะมาก ผมไม่ได้ปฏิเสธ แต่เราต้องใช้สิทธิให้เต็มที่ ถ้าเราถอยลงเรื่อยๆ ไอ้พวกนอกกฎหมายก็จะดันลงมา ถ้าเราดันขึ้นมาให้เป็นไปตามกฏหมาย สักวันหนึ่งจะสามารถขีดเส้นที่ชัดเจนได้ว่า อะไรนอก อะไรใน เพื่อที่ว่าเราจะได้สามารถเคลื่อนไหวได้ และมีพื้นที่ทางการเมืองเกิดขึ้นได้จริง

13.5

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com