โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 16 July 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๐๘ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (July, 16, 07,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

หลักการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่สำคัญของรัสเซียตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักพริมาคอฟ (Primakov) ซึ่งต่อต้านความเป็นหนึ่งทางการเมืองโลกของสหรัฐอเมริกา เน้นการสร้างสมดุลทางการเมืองระหว่างประเทศ และสถาปนาเขตอิทธิพลในดินแดนยูเรเซียเพื่อความยิ่งใหญ่เหมือนดังในอดีต ดังนั้นหลักนิยมและกรอบแนวคิดดังกล่าว ได้ส่งผลให้รัสเซียดำเนินนโยบายในกลุ่มประเทศแถบยูเรเซียค่อนข้างสวนทางกับสหรัฐ โดยรัสเซียมักจะประกาศอย่างชัดเจนว่า รัสเซียมีอิทธิพลในภูมิภาคดังกล่าวภายใต้ร่มเงาของกลุ่มพันธมิตรซีไอเอส
16-07-2550

Geostrategy & Geopolitics
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

โลกยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจในคริสตศตวรรษที่ ๒๑
ยูเรเซียกับการขับเคี่ยวทางยุทธศาสตร์ระหว่าง
สหรัฐอเมริกาและรัสเซีย (ตอนที่ ๒)
ดุลยภาค ปรีชารัชช : เขียน
ศูนย์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความวิชาการชิ้นนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
เดิมชื่อ: เอเซียกลาง: ดินแดนหัวใจแห่งยูเรเซียกับการขับเคี่ยวทางยุทธศาสตร์
ระหว่างสหรัฐอเมริกา และ รัสเซีย ในศตวรรษที่ ๒๑

เป็นเรื่องเกี่ยวกับการปิดล้อม และการขับเคี่ยวทางด้านยุทธศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจ
ซึ่งในที่นี้ได้แยกนำเสนอเป็นสองตอน โดยในตอนที่สองประกอบด้วยสาระสำคัญดังนี้
5. นโยบายด้านยุทธศาสตร์และการขยายอิทธิพลของรัสเซียในเอเซียกลาง
6. ท่าทีและนโยบายของกลุ่มประเทศเอเซียกลางที่มีต่อสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย
6.1 ท่าทีและนโยบายต่างประเทศของคาซัคสถาน
6.2 ท่าทีและนโยบายต่างประเทศของอุซเบกิสถาน
6.3 ท่าทีและนโยบายต่างประเทศของเติร์กเมนิสถาน
6.4 ท่าทีและนโยบายต่างประเทศของคีร์กีซสถาน
6.5 ท่าทีและนโยบายต่างประเทศของทาจิกิสถาน
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๐๘
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๔ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++

โลกยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจในคริสตศตวรรษที่ ๒๑
ยูเรเซียกับการขับเคี่ยวทางยุทธศาสตร์ระหว่าง
สหรัฐอเมริกาและรัสเซีย (ตอนที่ ๒)
ดุลยภาค ปรีชารัชช : เขียน
ศูนย์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

5. นโยบายด้านยุทธศาสตร์และการขยายอิทธิพลของรัสเซียในเอเซียกลาง
จากมิติทางประวัติศาสตร์ รัสเซียได้ให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเซียกลางตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงยุคหลังสงครามเย็น โดยผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย มักมีแนวคิดที่ว่าเอเซียกลางส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงแห่งชาติ และรัสเซียต้องดำเนินนโยบายทุกวิถีทางเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในเอเซียกลาง. หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต สหพันธรัฐรัสเซียได้มีสถานภาพเป็นรัฐสืบสิทธิและได้พยายามกำหนดเอเซียกลางไว้ในปริมณฑลแห่งอำนาจ แต่เนื่องจากความตกต่ำทางเศรษฐกิจและการทหารของรัสเซีย ประกอบกับอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้รัสเซียต้องดำเนินยุทธศาสตร์ในลักษณะตั้งรับเพื่อประกันความมั่นคงและรักษาสถานภาพ (Status Quo) ของความเป็นมหาอำนาจในยูเรเซีย โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ปัจจัยภายใน: การรับรู้ของผู้ปกครองรัสเซียเกี่ยวกับเอเซียกลางถูกขับเคลื่อนและครอบงำโดยมรดกทางประวัติศาสตร์และลัทธิชาตินิยม (Nationalism) ซึ่งรัสเซียมีความภาคภูมิใจเกี่ยวกับความยิ่งใหญ่ในอดีต และไม่เคยละทิ้งเอเซียกลางออกจากกระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศ การดำเนินนโยบายของมิคาอิล กอบอร์ชอฟ อันนำมาซึ่งการล่มสลายของสหภาพโซเวียตจัดเป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด และผู้ปกครองรัสเซียในสมัยของบอริส เยลซิน และวลาดิเมียร์ ปูตินต่างมีแนวความคิดที่จะสถาปนาความยิ่งใหญ่ของรัสเซียในสมัยจักรวรรดิโบราณและสหภาพโซเวียต ให้หวนกลับคืนสู่สหพันธรัฐรัสเซียอีกครั้ง

ดังนั้น ดินแดนในแถบเทือกเขาคอเคซัส ทะเลสาบแคสเปียน และรัฐอิสลามเอเซียกลางจึงถูกกำหนดไว้ในปริมณฑลแห่งอำนาจของรัสเซีย ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติ โดยถึงแม้ว่ารัสเซียจะมีการปกครองแบบประชาธิปไตยหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น แต่การเมืองภายในของรัสเซียมีแนวโน้มในการผูกขาดอำนาจทางการปกครองมากขึ้น โดยกุศโลบายทางการเมืองที่แยบยล และระบบสายลับของรัฐบาลปูตินส่งผลให้พรรค United Russia มีอิทธิพลเหนือพรรคคอมมิวนิสต์ และดึงดูดพรรคการเมืองต่างๆ เข้ามาเป็นแนวร่วมของรัฐบาล อันส่งผลให้ประธานาธิบดีปูตินมีอำนาจผูกขาดในสภาดูมา (Duma) และมีบทบาทสำคัญในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย

ในขณะเดียวกันการเคลื่อนกำลังพลเข้าปราบกบฎเชชเนียทางด้านใต้ ส่งผลให้รัสเซียมองกลุ่มรัฐแถบคอเคซัส เช่น จอร์เจียและอาเซอร์ไบจันในฐานะดินแดนลี้ภัยและแหล่งเครือข่ายของกบฎเชชเนีย และมองเอเซียกลางในฐานะเป็นแหล่งบ่มเพาะการก่อการร้ายที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกับกลุ่มกบฎเชชเนีย ปรากฎการณ์ดังกล่าวจัดป็นปัจจัยผลักดันที่ส่งผลให้เอเซียกลางมีความสำคัญต่อการเมืองภายในของรัสเซีย และเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้รัสเซียยอมร่วมมือต่อต้านการก่อการร้ายกับสหรัฐอเมริกา

ถึงแม้ว่ารัสเซียจะถูกคุกคามจากกองกำลังสหรัฐฯ ในจอร์เจียเช่นเดียวกัน หลักการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัสเซียตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักพริมาคอฟ (Primakov) ซึ่งต่อต้านความเป็นหนึ่งทางการเมืองโลกของสหรัฐอเมริกา เน้นการสร้างสมดุลทางการเมืองระหว่างประเทศ และสถาปนาเขตอิทธิพลในดินแดนยูเรเซียเพื่อความยิ่งใหญ่เหมือนดังในอดีต ดังนั้นหลักนิยมและกรอบแนวคิดดังกล่าว ได้ส่งผลให้รัสเซียดำเนินนโยบายในกลุ่มประเทศแถบยูเรเซียค่อนข้างสวนทางกับสหรัฐ โดยรัสเซียมักจะประกาศอย่างชัดเจนว่า รัสเซียมีอิทธิพลในภูมิภาคดังกล่าวภายใต้ร่มเงาของกลุ่มพันธมิตรซีไอเอส และแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายต่างประเทศสหรัฐอเมริกาที่มักคุกคามความมั่นคงของรัสเซียในภูมิภาคดังกล่าว เช่น การแผ่อิทธิพลของสหรัฐในจอร์เจีย การปฏิวัติสีส้มในยูเครน และการปฏิวัติทิวลิปในคีร์กีซสถาน

แต่ในขณะเดียวกันรัสเซียก็มีแนวนโยบายในระดับกว้างที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับสหรัฐอเมริกา เช่น การต่อต้านการก่อการร้าย การดำเนินเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และการทำสัญญาลดอาวุธนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ ดังนั้น ความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของเอเซียกลางในมุมมองของผู้ปกครองรัสเซีย จึงกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเมืองภายใน ตลอดจนส่งผลต่อการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซียในยุคหลังสงครามเย็น

ปัจจัยภายนอก: รัสเซียในยุคหลังสงครามเย็นมีสถานภาพที่ค่อนข้างกดดันในเชิงยุทธศาสตร์ เนื่องจากการถูกปิดล้อมและการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากมหาอำนาจรอบข้าง นโยบายการขยายอำนาจไปทางตะวันออกของสหภาพยุโรป ส่งผลให้รัสเซียสูญเสียอิทธิพลในรัฐสลาฟ ยุโรปตะวันออก และรัฐแถบทะเลบอลติก ซึ่งส่งผลให้รัสเซียถูกปิดล้อมและทอนกำลังทางพรมแดนด้านตะวันตกอย่างต่อเนื่อง ส่วนการปรากฎตัวของสหรัฐอเมริกาในตะวันออกกลางและอัฟกานิสถาน ส่งผลให้สหรัฐฯ ขยายอิทธิพลรุกคืบเข้าไปในคอเคซัสและรัฐอิสลามแถบเอเซีย กลาง โดยเฉพาะอุซเบกิสถาน และเติร์กเมนิสถาน ซึ่งเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยปิโตรเลียมและทรัพยากรพลังงาน ปรากฎการณ์ดังกล่าวได้คุกคามความมั่นคงและสถานภาพของรัสเซียจากพรมแดนด้านใต้

ในขณะเดียวกัน ถึงแม้ว่ารัสเซียจะสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับจีน แต่จีนก็พยายามแผ่อิทธิพลเข้าสู่กลุ่มรัฐในเอเซียกลางอย่างต่อเนื่อง เช่น คีร์กีซสถาน และทาจิกิสถาน ซึ่งมีลักษณะทางสังคมและชาติพันธุ์คล้ายคลึงกับมณฑลด้านตะวันตกของจีน ดังนั้น บทบาทของจีน เช่น การตีตลาดสินค้ารัสเซียในเอเซียกลางจึงบั่นทอนความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในข้อตกลงชางไห่ และทำให้รัสเซียถูกกดดันจากพรมแดนด้านใต้และตะวันออก

แรงบีบคั้นทางยุทธศาสตร์ส่งผลให้รัสเซียต้องดำเนินนโยบายทุกวิถีทาง เพื่อคงอิทธิพลและถ่วงดุลกับมหาอำนาจรอบข้างในยูเรเซียภาคพื้นทวีป โดยรัสเซียมองว่าสหรัฐอเมริกาจัดเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุด และสามารถคุกคามสถานภาพของรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ยุทธศาสตร์ในการสถาปนาอำนาจบนเวทีมหาเกมที่ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 21 คือ การครอบครองเครือข่ายท่อก๊าซและการขนส่งน้ำมันในบริเวณทะเลสาบแคสเปียน ผสมผสานกับการวางกำลังทหารคู่ขนานกับเส้นทางลำเลียงพลังงาน ซึ่งรัสเซียยังคงมีอิทธิพลทางยุทธศาสตร์ในบริบทดังกล่าว แต่การรุกคืบของสหรัฐอเมริกา และความอ่อนล้าทางเศรษฐกิจของรัสเซียส่งผลให้ผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศรัสเซีย พยายามแทรกแซงทางการเมืองและให้การสนับสนุนด้านอาวุธแก่กลุ่มรัฐอิสลามในเอเซียกลาง ซึ่งรัสเซียยังคงมีอยู่เป็นจำนวนมากในสมัยจักรวรรดิโซเวียต เพื่อคงอิทธิพลและถ่วงดุลกับสหรัฐอเมริกา ดังนั้นสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะแรงบีบคั้นทางยุทธศาสตร์ จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้รัสเซียต้องดำเนินนโยบายเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติในภูมิภาคเอเซียกลาง

5.1 ลักษณะการดำเนินนโยบายและการขยายอิทธิพล: รัสเซียดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ลุ่มลึกโดยเน้นยุทธศาสตร์เชิงรับ ซึ่งสอดคล้องกับศักยภาพของรัสเซียและบริบทระหว่างประเทศ โดยการสนับสนุนทางการเมือง การตั้งฐานทัพทางยุทธศาสตร์ และการครอบครองเครือข่ายพลังงาน จัดเป็นองค์ประกอบสำคัญของการคงอิทธิพลของรัสเซียในเอเซียกลาง สำหรับประเด็นการวิเคราะห์ลักษณะการดำเนินนโยบายของรัสเซียมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ก. การผลักดันอิทธิพลของสหรัฐอเมริกากลับไปยังชายแดนอัฟกานิสถาน: สหภาพโซเวียตเคยแสดงพฤติกรรมคุกคามอัฟกานิสถาน โดยการเคลื่อนกำลังพลเข้ายึดกรุงคาบูลโดยมีเหตุผลทางยุทธศาสตร์เพื่อใช้อัฟกานิสถานเป็นฐานทัพ ในการขยายอิทธิพลในตะวันออกกลาง และการกระชับความสัมพันธ์กับอิหร่านเพื่อหาทางออกสู่อ่าวเปอร์เซีย เพื่อเป็นการชดเชยการสูญเสียอิทธิพลทางด้านทะเลดำให้กับสหรัฐอเมริกา แต่ความฝันของสหภาพโซเวียตต้องล้มเหลว เมื่อสหรัฐมีนโยบายติดอาวุธให้กับกลุ่มตาลิบันจนสามารถผลักดันกองกำลังโซเวียตออกจากพรมแดนอัฟกานิสถาน ดังนั้นรัสเซียจึงมองอัฟกานิสถานในฐานะดินแดนยุทธศาสตร์ของภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงยูเรเซีย

เขตอิทธิพลและอำนาจของรัสเซียเริ่มเสื่อมถอยตามลำดับ เมื่อสหรัฐอเมริกาซึ่งเคยให้การสนับสนุนรัฐบาลตาลิบัน ได้เปลี่ยนนโยบายมาเป็นการใช้กำลังทหารถล่มอัฟกานิสถาน โดยในยุทธภูมิดังกล่าว รัฐอิสระในเอเซียกลางจัดว่ามีบทบาทสำคัญในการเผด็จศึกกับอัฟกานิสถาน เมื่อมีการเคลื่อนกำลังพลของกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือ (Northern Alliance) ซึ่งประกอบด้วยช่วยเผ่าอุซเบก เติร์ก และทาจิกในการปราบปรามรัฐบาลตาลิบัน หลังการสถาปนารัฐบาลหุ่นเชิดในอัฟกานิสถาน เขตอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาได้ทับซ้อนและเผชิญหน้าโดยตรงกับเขตอิทธิพลของรัสเซียในเอเซียกลาง ดังนั้น ภูมิทัศน์ด้านยุทธศาสตร์ดังกล่าวจึงส่งผลให้รัสเซียต้องดำเนินนโยบายหลากหลายมิติ เช่น การขยายฐานทัพในทาจิกิสถานและคีร์กิซสถาน เนื่องจากในปัจจุบันสหรัฐอเมริกาได้ขยายกองกำลังทหารจากอัฟกานิสถานเข้าไปในพรมแดนของทั้งสองประเทศ อันส่งผลให้รัสเซียต้องเร่งเพิ่มกำลังพลอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในทาจิกิสถาน เพื่อผลักดันอิทธิพลของอเมริกากลับไปยังอัฟกานิสถาน โดยปริมณฑลแห่งอำนาจของรัสเซียในยุคปัจจุบัน ได้ถูกกำหนดไว้ในภูมิภาคเอเซียกลางและสิ้นสุดลงที่ชายแดนอัฟกานิสถาน ซึ่งได้แปรสภาพเป็นเขตอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาแบบเต็มตัว

ข. การร่วมมือกับจีนและอิหร่านเพื่อขยายแนวร่วมทางยุทธศาสตร์: ถึงแม้ว่าจีนจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับรัสเซียในดินแดนเอเซียกลาง แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยศักยภาพและความเป็นมหาอำนาจของจีน ส่งผลให้จีนกลายเป็นพันธมิตรสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความอยู่รอดของรัสเซียในการถ่วงดุลกับสหรัฐอเมริกา การดำเนินนโยบายมองไปทางตะวันตกของจีนเพื่อใช้มณฑลซินเจียง อุยเกอร์ เป็นฐานในการขยายอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหาร ส่งผลให้ภาพความเคลื่อนไหวบนเส้นทางสายไหมของจีนในอดีตกลับมาปรากฎตัวอีกครั้ง โดยจีนได้พยายามทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อท่อก๊าซและแนวถนนสายเอเซียระหว่างยุโรป ผ่านดินแดนยูเรเซียตอนกลาง เข้าสู่เอเซียตะวันออก และมหาสมุทรแปซิฟิก ดังนั้น ผลประโยชน์ทางการค้าและยุทธศาสตร์จึงทำให้จีนมีแนวนโยบายที่จะร่วมมือกับรัสเซียอย่างจริงจังทั้งในด้านเครือข่ายพลังงาน ความมั่นคง และการถ่วงดุลกับสหรัฐอเมริกา ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากจีนสู่รัสเซีย และการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการทหารจากรัสเซียสู่จีน ส่งผลให้ รัสเซียมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับจีน

ในขณะเดียวกัน อิหร่านจัดเป็นรัฐอันธพาลและเป็นแหล่งบ่มเพาะการก่อการร้ายในมุมมองของสหรัฐอเมริกา การสนับสนุนศัตรูของศัตรูคือหนึ่งในแนวยุทธศาสตร์ ที่รัสเซียมักนำมาประยุกต์ใช้ในการแข่งขันเชิงอำนาจกับศัตรูทางประวัติศาสตร์โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา อิหร่านจัดเป็นผู้ประกันความมั่นคงในอ่าวเปอร์เซีย ตะวันออกกลางและเอเซียกลาง โดยการเข้าครอบครองเครือข่ายน้ำมันของรัสเซียในทะเลสาบแคสเปียนและการหาทางออกสู่ช่องแคบเฮอร์มุสในอ่าวเปอร์เซียจำเป็นต้องพึ่งอิหร่าน นอกจากนี้รัสเซียยังได้กระชับความร่วมมือกับจีนในการสนับสนุนอิหร่านด้านอาวุธนิวเคลียร์ และช่วยเหลืออิหร่านท่ามกลางการกดดันจากสหรัฐอเมริกา ดังนั้นทั้งจีนและอิหร่านจึงเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของรัสเซียในการถ่วงดุลกับสหรัฐอเมริกา

ค. การคงกองกำลังไว้ในเอเซียกลางและคอเคซัส: รัสเซียได้ทุ่มเทงบประมาณทางการทหารในการคงกำลังไว้ในคีร์กีซสถาน เพื่อคุกคามกองทัพอเมริกันซึ่งมีฐานทัพอยู่ในคีร์กีซสถานเช่นเดียวกัน ดังนั้น การเผชิญหน้าโดยตรงของกองกำลังทั้งสองฝ่าย จึงทำให้สาธาณรัฐอิสลามคีร์กีซสถานกลายเป็นจุดวาบไฟทางการเมืองระหว่างประเทศในเอเซียกลาง ส่วนทาจิกิสถานนั้นจัดเป็นรัฐกันชนที่รัสเซียใช้สกัดกั้นอิทธิพลของสหรัฐให้หยุดอยู่ที่ชายแดนอัฟกานิสถาน โดยถึงแม้ว่าสหรัฐจะสามารถเข้าไปวางกำลังบางส่วนในทาจิกิสถาน คีร์กีซสถาน อุซเบกิสถาน แต่ก็มีจำนวนน้อยและไม่คุกคามรัสเซียเท่ากับกองกำลังในอัฟกานิสถาน ซึ่งสามารถเคลื่อนกำลังพลเข้าไปในเติร์กเมนิสถาน เพื่อทำการปิดล้อมกองกำลังของรัสเซียที่เหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ความพยายามของรัสเซียในการคงกำลังพลและฐานทัพทางยุทธศาสตร์ไว้ในบางรัฐของเอเซียกลาง จึงเป็นสิ่งที่รัสเซียต้องทำเพื่อถ่วงดุลทางอำนาจกับสหรัฐฯ โดยรัสเซียมีข้อได้เปรียบตรงที่รัฐอิสลามบางรัฐมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่สอดคล้องกับรัสเซีย และยังไม่คุ้นเคยกับแนวคิดประชาธิปไตย กระบวนการเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนที่สหรัฐอเมริกาพยายามหยิบยื่นให้

ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลให้รัสเซียมีเครือข่ายทางอำนาจ กับกลุ่มนักการเมืองอิสลามในเอเซียกลางบางประเทศ และสามารถใช้กุศโลบายทางการทูตเพื่อโน้มน้าวให้รัฐแถบเอเซียกลางหันมาร่วมมือทางยุทธศาสตร์กับรัสเซีย นอกจากนี้ถึงแม้ว่าบางประเทศ เช่น คีร์กีซสถานและอุซเบกิสถาน จะพยายามปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจตามแบบตะวันตก แต่ด้วยความใกล้ชิงทางภูมิศาสตร์ มรดกทางการปกครอง และวัฒนธรรมทางการเมืองจากสหภาพโซเวียต ตลอดจนนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการทหารของรัสเซีย ย่อมส่งผลให้อิทธิพลของรัสเซียยังคงแทรกซึมและมีบทบาทสำคัญต่อโลกทัศน์และระบบความคิดของชนชั้นนำเอเซียกลาง โดยในปัจจุบัน รัฐบาลคีร์กีซสถานได้พยายามเรียกร้องให้สหรัฐถอนฐานทัพออกจากประเทศ แต่เรียกร้องให้รัสเซียยังคงกองกำลังเอาไว้ ในขณะที่รัฐบาลอุซเบกิสถานซึ่งเคยได้รับสนับสนุนจากสหรัฐฯ ได้ประกาศอย่างเป็นทางการในการเรียกร้องให้สหรัฐถอนทหารออกจากประเทศตน และหันมาส่งเสริมการคงอิทธิพลของทหารรัสเซียในเอเซียกลางเพื่อประกันเสถียรภาพให้กับภูมิภาค

ความสำเร็จของรัสเซียไม่ได้เกิดขึ้นจากความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ และความสอดคล้องของวัฒนธรรมทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะการเคลื่อนไหวของขบวนการอิสลามบางส่วนที่ต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกัน (American Imperialism) และการขยายตัวของทางหลวงสายเอเซีย ที่ทำให้รัสเซียจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และพลังงานกับกลุ่มประเทศดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนในภูมิภาคคอเคซัสนั้น รัสเซียมองว่ามีความสลับซับซ้อนทางภูมิรัฐศาสตร์ และส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อความมั่นคงของรัสเซียและเอเซียกลาง

ปัญหาเชชเนียยังคงเป็นจุดวาบไฟที่รัสเซียต้องสถาปนาความมั่นคงเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมือง และเผชิญหน้ากับอิทธิพลของอเมริกาในจอร์เจียกับอาร์เซอร์ไบจัน โดยการเดินเรือและการวางท่อก๊าซในทะเลสาบแคสเปียน เพื่อมุ่งสู่เติร์กเมนิสถานและอิหร่านของรัสเซียจำเป็นต้องผ่านเขตน่านน้ำของอาร์เซอไบจัน ดังนั้น การดำเนินนโยบายรักษาอิทธิพลในคอเคซัส จึงส่งผลกระทบต่อยุทธศาสตร์ของรัสเซียในเอเซียกลาง ซึ่งรัสเซียมองว่ามีความเชื่อมต่อทางภูมิศาสตร์และมีความสำคัญต่อการถ่วงดุลกับสหรัฐอเมริกา

6. ท่าทีและนโยบายของกลุ่มประเทศเอเซียกลางที่มีต่อสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย
การแข่งขันทางอำนาจและการขับเคี่ยวยื้อแย่งเขตอิทธิพลระหว่างสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย ได้ส่งผลกระทบต่อการกำหนดและดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐอิสลามเอเซียกลาง โดยถึงแม้ว่าในปัจจุบัน กลุ่มประเทศดังกล่าวได้พยายามหันมากระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการทหาร เพื่อถอยห่างจากอิทธิพลของมหาอำนาจรอบข้าง อาทิเช่น รัสเซีย สหรัฐอเมริกา จีน อิหร่าน และตุรกี แต่อย่างไรก็ตามด้วยความอ่อนล้าทางเศรษฐกิจ ความเปราะบางทางการเมือง และความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์ ได้ส่งผลให้กลุ่มประเทศอิสลามเอเซียกลาง ยังคงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของมหาอำนาจทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลักษณะการดำเนินนโยบายต่างประเทศกับสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย ซึ่งมีลักษณะขาดเอกภาพและแปรผันไปตามผลประโยชน์ของแต่ละชาติ โดยมีประเด็นการวิเคราะห์ที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

6.1 ท่าทีและนโยบายต่างประเทศของคาซัคสถาน: สาธารณรัฐคาซัคสถานจัดเป็นประเทศสุดท้ายที่ได้รับเอกราชจากสหภาพโซเวียต และมีความเป็นชาตินิยมค่อนข้างสูง โดยเคยประกาศนโยบาย "Kazakhisation" เพื่อกีดกันอิทธิพลของชาวรัสเซีย และส่งเสริมความภาคภูมิใจทางประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมแห่งชาติ อาทิเช่น การโยกย้ายคนรัสเซียที่ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองออกไป แล้วบรรจุคนคาซัคให้ดำรงตำแหน่งแทน หรือ การส่งเสริมให้ประชาชนเรียนรู้วัฒนธรรมและหันมาใช้ภาษาคาซัคมากขี้น

แต่อย่างไรก็ตาม นโยบาย "Kazakhisation" ได้เริ่มผ่อนคลายลงหลังจากได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากรัฐบาลและสื่อของรัสเซีย นอกจากนี้ รัฐบาลคาซัคสถานในปัจจุบันได้หันมาดำเนินนโยบายเป็นมิตรและร่วมมือทางเศรษฐกิจกับรัสเซียมากขึ้น เนื่องจากจำเป็นต้องพึ่งรัสเซียในเรื่องท่อขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จากทะเลสาบแคสเปียนไปยังยุโรปตะวันออกและตุรกี

ในขณะเดียวกันคาซัคสถานก็เริ่มสร้างปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับสหรัฐอเมริกา โดยเห็นได้จากโครงการความร่วมมือในกิจการกลั่นน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับคาซัคสถานต้องการลดอาวุธนิวเคลียร์ และกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาเพื่อถ่วงดุลกับรัสเซีย แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน การขาดความต่อเนื่องของกระบวนการประชาธิปไตย ตลอดจนความสัมพันธ์พิเศษกับรัสเซีย จีน และอิหร่าน ส่งผลให้ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-คาซัคสถานยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร

จากสภาวะแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ คาซัคสถานจึงยังไม่มีความสัมพันธ์ที่กลมเกลียวและแนบแน่นกับทั้งสหรัฐฯ และรัสเซีย โดยรัฐบาลคาซัคสถานไม่ต้องการให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายใน และไม่ต้องการให้เกิดภาพลักษณ์ในการเป็นบริวารของจักรวรรดิรัสเซีย ดังนั้น ท่าทีและแนวนโยบายต่างประเทศของคาซัคสถานจึงมีลักษณะการสร้างความสัมพันธ์แบบสมดุล ระหว่างสองมหาอำนาจ และเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับกลุ่มประเทศเอเซียกลาง ที่มีพื้นฐานทางศาสนาและวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน โดยเห็นได้จากการเป็นผู้นำในการจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจเอเซียกลาง (Central Asian Economic Union: CAEU) เพื่อลดอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาและรัสเซียในเอเซียกลาง

6.2 ท่าทีและนโยบายต่างประเทศของอุซเบกิสถาน: สาธารณรัฐอุซเบกิสถานในยุคหลังสงครามเย็น ได้ดำเนินนโยบายทางการเมืองระหว่างประเทศแบบชาตินิยม เพื่อผลักดันให้อุซเบกิสถานเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต จากแนวนโยบายดังกล่าว รัฐบาลอุซเบกิสถานได้พัฒนาอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่เหนือรัฐอิสลามเอเซียกลาง โดยสังเกตได้จากความต้องการขยายอิทธิพลไปยังคาซัคสถาน คีร์กีสถานและเติร์กเมนิสถาน เนื่องจากมีประชาชนเชื้อสายอุซเบกตั้งถิ่นฐานอยู่ในกลุ่มประเทศดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ อุซเบกิสถานยังมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง เนื่องจากเคยถูกสถาปนาให้เป็นเขตอุตสาหกรรมพิเศษเพื่อผลิตสินค้าทางด้านพลังงานให้กับสหภาพโซเวียต โดยเฉพาะ ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และทองคำ ประกอบกับการเป็นชุมทางเส้นทางสายไหมในอดีต ส่งผลให้อุซเบกิสถานมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางของความมั่นคงพลังงาน ผ่านเครือข่ายทางหลวงสายเอเซีย และการเป็นชุมทางการคมนาคมขนส่งทางอากาศตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต โดยเหตุนี้จึงส่งผลให้อุซเบกิสถานมีศักยภาพทางเศรษฐกิจเหนือกลุ่มประเทศเอเซียกลาง แต่ในขณะเดียวกันนโยบายทางการเมืองแบบชาตินิยม ก็ส่งผลให้อุซเบกิสถานเป็นที่หวาดระแวงของประเทศเพื่อนบ้าน ปรากฎการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลให้รัฐบาลอุซเบกิสถานเริ่มแสวงหาความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย เพื่อคงความเป็นมหาอำนาจในเอเซียกลาง

สำหรับในมุมมองของสหรัฐอเมริกานั้น อุซเบกิสถานจัดว่ามีศักยภาพทางเศรษฐกิจเป็นอันดับหนึ่ง และมีพื้นฐานทางการเมืองที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพและเริ่มพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย เมื่อเทียบกับรัฐเพื่อนบ้านในเอเซียกลาง ในขณะเดียวกัน การมีกลุ่มผู้อพยพชาวยิวเป็นจำนวนมากในอุซเบกิสถาน ก็ส่งผลให้ทั้งสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลหันมาสถานปนาความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์กับรัฐบาลอุซเบกิสถาน เพื่อขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองในเอเซียกลาง

ในขณะเดียวกันถึงแม้ว่ารัฐบาลอุซเบกิสถานจะเรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอนฐานทัพออกจากประเทศ แต่อุซเบกิสถานก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสหรัฐฯ มากขึ้น เนื่องความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา ย่อมส่งผลดีต่อการแสดงบทบาทเป็นผู้นำของอุซเบกิสถานเหนือกลุ่มประเทศเอเซียกลาง ส่วนความสัมพันธ์กับรัสเซียนั้น ทั้งสองประเทศยังคงต้องพึ่งพากันในด้านเครือข่ายท่อก๊าซและการขนส่งภาคพื้นทวีป เนื่องจากอุซเบกิสถานจัดเป็นจุดยุทธศาสตร์ของเครือข่ายการค้าในยูเรเซีย

นอกจากนี้ในเชิงของการวางกำลังทางการทหาร อุซเบกิสถานมองว่ารัสเซียคือหลักประกันความมั่นคงแห่งเอเซียกลาง เนื่องจากหากพิจารณาตามหลักภูมิยุทธศาสตร์จะเห็นว่า อุซเบกิสถานถูกโอบล้อมโดยกองกำลังของสหรัฐอเมริกาในอัฟกานิสถานและทาจิกิสถาน ซึ่งสร้างความกังวลใจให้กับรัฐบาลโดยการเรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากประเทศ แล้วส่งเสริมให้รัสเซียเข้ามาวางกำลังแทนที่สหรัฐฯ ก็จัดเป็นยุทธศาสตร์หลักของอุซเบกิสถานที่ดึงรัสเซียเข้ามาคานอำนาจกับสหรัฐอเมริกา เพื่อถ่วงดุลทางการเมืองระหว่างประเทศ ดังนั้นท่าทีและแนวนโยบายของอุซเบกิสถานจึงมีลักษณะแบบทวิลักษณ์ คือส่งเสริมบทบาทของรัสเซียทางการทหารและการค้าภาคพื้นทวีป และส่งเสริมบทบาทของสหรัฐอเมริกาเฉพาะในกรอบของความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการเมือง

6.3 ท่าทีและนโยบายต่างประเทศของเติร์กเมนิสถาน: การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเติร์กเมนิสถาน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรักษาระดับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจในอัตราที่เท่าเทียมกัน โดยมีตัวแสดงหลักสี่ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย ตุรกี และอิหร่าน. โดยสำหรับสหรัฐอเมริกาแล้ว เติร์กเมนิสถานมองว่า การคงความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ จะนำมาซึ่งเสถียรภาพและความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการขยายฐานการผลิตของสหรัฐฯ ในอาเซอร์ไบจันจะส่งให้เติร์กเมนิสถานมีรายได้จากการขายก๊าซธรรมชาติและการกระจายสินค้าให้กับสหรัฐฯ เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งของประเทศอยู่ใกล้กับทะเลสาบแคสเปียนและนครบาร์กูเมืองหลวงของอาเซอร์ไบจัน. ในขณะเดียวกัน การกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ยังส่งผลให้ข้อพิพาทระหว่างเติร์กเมนิสถานกับอาเซอร์ไบจันเกี่ยวกับสิทธิอาณาเขต และการเดินเรือในทะเลสาบแคสเปียนได้รับการแก้ไขมากขึ้น โดยอาศัยการไกล่เกลี่ยจากสหรัฐอเมริกา

สำหรับความสัมพันธ์กับรัสเซียนั้น รัฐบาลเติร์กเมนิสถานจำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์กับรัฐบาลมอสโคร์ เนื่องจากเติร์กเมนิสถานเป็นหนี้รัสเซียถึง 107 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะเดียวกันอิทธิพลของรัสเซียในการขนส่งปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติไปยังชายฝั่งทะเลดำของตุรกี ก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เติร์กเมนิสถานต้องพึ่งพารัสเซียทางด้านเครือข่ายพลังงาน แต่อย่างไรก็ตาม ความขมขื่นทางประวัติศาสตร์และความพยายามที่จะปลดแอกจากอิทธิพลของรัสเซียยังคงมีอยู่สูงในหมู่ประชาชนชาวเติร์กเมน เนื่องจากในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 กองทหารรัสเซียได้ทำการผนวกดินแดนเติร์กเมนิสถาน และทำการสังหารชาวเติร์กเมนถึง 150,000 คนในสงคราม Gok Tepe. นอกจากนี้ ในปี ค.ศ. 1920 กองทัพแดงได้ทำการเข่นฆ่าชาวเติร์กเมน ยึดเมืองหลวง Ashgabad และผนวกดินแดนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโซเวียต ดังนั้นมรดกทางประวัติศาสตร์จึงยังคงส่งผลให้ภาพความน่ากลัวของกองทัพรัสเซียในอดีตยังคงอยู่ในความทรงจำของชาวเติร์กเมนปัจจุบัน

สำหรับความสัมพันธ์กับตุรกีและอิหร่านนั้น ก็จัดว่ามีความสำคัญเพิ่มขึ้นเนื่องจากประชาชนชาวเติร์กเมนมีพื้นฐานทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมใกล้ชิดกับตุรกี ตลอดจนมีแนวโน้มในการนำเอาการปกครองแบบอิสลามสายกลางของตุรกีเข้ามาผสมผสาน และปรับใช้กับระบอบประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ รวมถึงการพึ่งพาตุรกีในการเชื่อมโยงแนวท่อก๊าซจากทะเลทำเข้าสู่ทะเลสาบแคสเปียน ในขณะที่อิหร่านก็จัดว่ามีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กับเติร์กเมนิสถาน เนื่องจากดินแดนทางตอนใต้เคยถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเปอร์เซียยุคโบราณ ประกอบกับการดำเนินนโยบายสมานฉันท์ระหว่างประชาชนทางภาคเหนือที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ กับประชาชนภาคใต้ที่นับถือนิกายซีอะห์ จำเป็นต้องพึ่งอิหร่านในการลดความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมือง แต่อย่างไรก็ตามการดำเนินความสัมพันธ์กับอิหร่านทั้งด้านศาสนาและการเดินเรือรอบทะเลสาบแคสเปียน อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีนโยบายกดดันอิหร่านทางการเมืองระหว่างประเทศ ดังนั้น การดำเนินนโยบายกับอิหร่านของเติร์กเมนิสถาน จึงมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปเพื่อรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา

6.4 ท่าทีและนโยบายต่างประเทศของคีร์กีซสถาน: สาธารณรัฐคีร์กีซสถานจัดเป็นประเทศที่ยากจนและขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเซียกลาง ข้อจำกัดดังกล่าวส่งผลให้คีร์กีซสถานขาดอำนาจต่อรองและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของมหาอำนาจ โดยสำหรับความสัมพันธ์กับรัสเซียนั้น การพึ่งพาทางเศรษฐกิจและความร่วมมือทางการค้าภาคพื้นทวีป จัดเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้คีร์กีซสถานตกอยู่ใต้อิทธิพลของรัสเซีย นอกจากนี้ชาวรัสเซียยังก้าวเข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจในคีร์กีซสถาน จนทำให้รัฐบาลต้องทำการประนีประนอมระหว่างชาวรัสเซียกับกลุ่มชาตินิยมคีร์กีซ เนื่องจากหากมีความขัดแย้งที่รุนแรงและชาวรัสเซียถูกลดบทบาทลง ภาวะเศรษฐกิจของประเทศอาจต้องหยุดชะงัก และประสบปัญหาอย่างรุนแรง ส่วนในมิติทางความมั่นคงและการทหาร รัฐบาลรัสเซียมีแนวนโยบายขยายกำลังทหารในคีร์กีซสถานเพื่อลดอิทธิพลของจีนซึ่งมีชายแดนประชิดคีร์กีซสถาน ตลอดจนแผ่แสนยานุภาพทางการทหารเพื่อประจันหน้ากับกองกำลังบางส่วนของสหรัฐอเมริกาในคีร์กีซสถานและทาจิกิสถาน

สำหรับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกานั้นจัดว่ามีความแนบแน่นมากขึ้นเนื่องจากประธานาธิบดี Akayev มีภาพลักษณ์เป็นผู้นิยมระบอบประชาธิปไตย โดยพร้อมจะดำเนินรอยตามสหรัฐฯ ในการปฏิรูปการเมืองและระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ตลอดจนขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเมืองกับองค์กรระหว่างประเทศ นอกจากนี้ การกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกายังเป็นการถ่วงดุลอิทธิพลของรัสเซีย ทั้งทางเศรษฐกิจและการทหาร ตลอดจนยังเป็นการปิดล้อมจีนซึ่งเริ่มมีนโยบายขยายอำนาจมาทางคีร์กีซสถาน โดยมีมณฑลซินเจียง อุยเกอร์ เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการคุกคามคีร์กีซสถาน ซึ่งจีนสงสัยว่าเป็นที่ลี้ภัยของกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง ที่ปลุกระดมให้มณฑลตะวันตกของจีนเกิดความระส่ำระส่ายและทำการเรียกร้องเอกราช ดังนั้น คีร์กีซสถานในยุคหลังสงครามเย็น จึงเป็นเวทีของความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างรัสเซีย สหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งสร้างความสั่นสะเทือนให้กับดินแดนหัวใจแห่งยูเรเซีย

6.5 ท่าทีและนโยบายต่างประเทศของทาจิกิสถาน: สาธารณรัฐทาจิกิสถานจัดเป็นประเทศที่มีมาตรฐานความเป็นอยู่ต่ำที่สุด ในบรรดาประเทศที่แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต และเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดในเอเซียกลาง แต่ทาจิกิสถานก็จัดเป็นดินแดนที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างจีนกับอัฟกานิสถาน ตลอดจนอยู่ไม่ไกลจากปากีสถานซึ่งเริ่มแผ่อิทธิพลเข้าสู่เอเซียกลาง โดยการขยายเส้นทางคมนาคมไปยังทาจิกิสถาน นอกจากนี้ทาจิกิสถานยังเป็นดินแดนที่รัสเซียใช้เป็นหัวหาด ในการหยุดอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาไว้ที่ชายแดนอัฟกานิสถาน ประกอบกับเป็นดินแดนที่สหรัฐอเมริกามองว่า เป็นแหล่งบ่มเพาะการก่อการร้ายและการส่งออกการปฏิวัติอิสลาม ที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับอิหร่านและกลุ่มตาลิบันในอัฟกานิสถาน ดังนั้นทาจิกิสถานจึงมีสถานภาพเป็นยุทธภูมิสำคัญที่มหาอำนาจเริ่มแผ่อิทธิพลเข้ายื้อแย่งดินแดนในเอเซียกลาง

เนื่องจากทาจิกิสถานจัดเป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจจึงทำให้ง่ายต่อการแทรกแซงและขยายอิทธิพล อย่างไรก็ตาม ในบริบททางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัฐบาลทาจิกิสถานได้ให้ความสำคัญกับรัสเซียมากที่สุด เนื่องจากรัสเซียมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือแก่ทาจิกิสถานทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร โดยในปัจจุบัน รัสเซียได้คงกองกำลังไว้ในทาจิกิสถานถึง 20,000 นาย เพื่อแผ่แสนยานุภาพเข้าสกัดอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในอัฟกานิสถาน ตลอดจนช่วงชิงความได้เปรียบในการกระชับความสัมพันธ์กับเอเซียใต้ หากมีการขยายเครือข่ายถนนสายเอเซียจากอินเดีย ปากีสถาน เข้าสู่ทาจิกิสถาน

แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทาจิกิสถานก็เริ่มกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา เนื่องจากไม่อยากตกอยู่ใต้อิทธิพลของรัสเซียมากเกินไป ประกอบกับทาจิกิสถานยังมีปัญหากับอิหร่าน เนื่องจากความแตกต่างระหว่างศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่และซิอะห์ และความหวาดระแวงว่าอิหร่านอาจแผ่อิทธิพลผ่านพรมแดนด้านใต้ของเติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน และอาจให้การสนับสนุนกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงเพื่อต่อต้านและโค่นล้มรัฐบาลกลาง ดังนั้นการสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาจึงเป็นการลดอิทธิพลของอิหร่าน ในการแทรกแซงการเมืองภายในตลอดจนลดความเข้มข้นของอิทธิพลรัสเซียในทาจิกิสถาน

จากการวิเคราะห์ท่าทีและแนวนโยบายต่างประเทศของกลุ่มประเทศเอเซียกลาง ย่อมแสดงให้เห็นว่าทั้งสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย ต่างมีอิทธิพลสำคัญต่อการกำหนดนโยบายของกลุ่มประเทศดังกล่าว โดยถึงแม้ว่ารัฐอิสลามส่วนใหญ่ในเอเซียกลางจะดำเนินนโยบายแบบถ่วงดุล ระหว่างสองมหาอำนาจ และระดับความเข้มข้นของอิทธิพลอเมริกันและรัสเซียจะมีความแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ระหว่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ความอ่อนล้าทางเศรษฐกิจ การขาดอำนาจต่อรองทางการเมือง และการขาดการบูรณาการภายในภูมิภาค ย่อมส่งผลให้รัฐต่างๆ ในเอเซียกลางเริ่มสูญเสียเอกลักษณ์ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย ตลอดจนมหาอำนาจระดับภูมิภาคอื่นๆ เช่น จีน อิหร่าน และตุรกี ซึ่งเริ่มแผ่อำนาจเข้าครอบครองเครือข่ายพลังงาน และแทรกแซงเศรษฐกิจการเมืองของกลุ่มประเทศเอเซียกลางอย่างต่อเนื่อง

ความสำคัญทางภูมิศาสตร์และยุทธศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ ผสมผสานกับความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ และความเปราะบางทางการเมืองและการทหารของรัฐอิสลามเอเซียกลาง ย่อมส่งผลให้ภูมิภาคดังกล่าวกลายเป็นจุดวาบไฟและเวทีปะลองกำลังของมหาอำนาจทางการเมืองโลกแห่งศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย ดังนั้น ดินแดนหัวใจแห่งยูเรเซียในอนาคต จึงมีสภาพคล้ายคลึงกับสมรภูมิแห่งการขับเคี่ยวและการสร้างจักรวรรดินิยมที่เกรียงไกร โดยมีพญาอินทรีและพญาหมีขาวเป็นตัวแสดงสำคัญบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

บทสรุป
การศึกษานโยบายด้านยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย จัดเป็นประเด็นที่น่าสนใจและส่งผลกระทบโดยตรงต่อการวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศในศตวรรษที่ 21 ซึ่งถูกขับเคลื่อนโดยมหาเกมอันยิ่งใหญ่แห่งสมรภูมิยูเรเซีย โดยมีเอเซียกลางเป็นดินแดนหัวใจของภูมิทัศน์ด้านยุทธศาสตร์ ที่ส่งผลกระทบอย่างโตยตรงต่ออำนาจและผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย การแข่งขันทางอำนาจและการปะทะกำลังระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซีย นอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการปรับตัวและการดำเนินนโยบายต่างประเทศของกลุ่มรัฐอิสลามเอเซียกลางแล้ว ยังส่งผลต่อท่าทีและการดำเนินนโยบายของจีน สหภาพยุโรป กลุ่มประเทศตะวันออกกลางโดยฉพาะอิหร่านกับตุรกี กลุ่มรัฐคอเคซัส เช่น จอร์เจีย อาเซอร์ไบจัน และกลุ่มประเทศในเอเซียใต้ เช่น อินเดีย ปากีสถาน ตลอดจนการดำเนินยุทธศาสตร์ของขบวนการก่อการร้าย และกลุ่มนักธุรกิจส่งออกน้ำมัน โดยในอนาตเอเซียกลางจะกลายเป็นจุดเปราะบางทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก โดยมีสหรัฐอเมริกาและรัสเซียเป็นตัวแสดงหลักที่ดำเนินนโยบายเพื่อสถาปนาเขตอิทธิพล และขับเคี่ยวยื้อแย่งดินแดนในยุทธภูมิยูเรเซียอย่างเข้มข้นและสืบเนื่อง

ประเด็นของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุคแห่งการแข่งขันและร่วมมือทางด้านพลังงาน การต่อต้านการก่อการร้าย และการปรากฎตัวครั้งใหม่ของเส้นทางสายไหมจึงพุ่งเป้าไปที่ความสัมพันธ์สหรัฐอเมริกา-รัสเซียในภูมิภาคเอเซียกลางซึ่งจัดเป็นดินแดนหัวใจแห่งยูเรเซียและจุดยุทธศาสตร์การเศรษฐกิจเมืองระหว่างประเทศ

++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เอกสารอ้างอิงภาษาอังกฤษ

Akiner, Shirin. The Caspian: Politics, Energy and Security. London: Routledge, 2004.

Allworth, Edward A. Central Asia: A Historical Overview. Durham: Duke University Press, 1994.

Aras, B?lent. The New Geopolitics of Eurasia and Turkey's Position. London: Routledge, 2002.

Buszynski, Leszek. Russian Foreign Policy After the Cold War. New York: Praeger, 1996.

Cohen, Ariel. Eurasia in Balance: The Us and the Regional Power Shift. Ashgate Publishing, Ltd., 2005.

Cummings, Sally N. Oil, Transition and Security in Central Asia. London: Routledge, 2003.

Gammer, Moshe. The Caspian Region. London: Routledge, 2004.

Glassner, Martin Ira. Political Geography. Missisauga: John Wiley & Sons Canada Ltd., 1993.

Grundy-Warr, Carl. Eurasia. London: Routledge, 1994.

Jackson, Nicole J. Russian Foreign Policy and the Cis: Theories, Debates and Actions. London: Routledge, 2003.

Kliot, Nurit and Newman, David. Geopolitics at the End of the Twentieth Century: The Changing World Political Map. London: Routledge, 2000.

Wegren, Stephen K. Russia's Policy Challenges: Security, Stability, and Development. New York: M.E. Sharpe, 2003.

Whitfield, Susan. The Silk Road: Trade, Travel, War and Faith. London: Serindia Publications, Inc., 2004.

Zimmerman, William. Beyond the Soviet Threat: Rethinking American Security Policy in a New Era. Michigan: University of Michigan Press, 1992.

สื่อออนไลท์ภาษาอังกฤษ

Blagov, Sergei. "WITH EYE ON US, RUSSIA BOLSTERS CENTRAL ASIA PRESENCE." Eurasianet on the Web, 22 June 2004. <http://www.eurasianet.org/departments/insight/articles/eav062204a.shtml> (16 July 2007).

Chossudovsky, Michel. "Russia and Central Asian Allies Conduct War Games in Response to US Threats." Global Research on the Web, 24 August 2006. <http://www.globalresearch.ca/index.php?context=viewArticle&code=CHO20060824&articleId=3056> (9 October 2006).

Cohen, Ariel. "CENTRAL ASIA TO PLAY PROMINENT ROLE IN US-RUSSIAN COOPERATION." Eurasianet on the Web, 14 September 2001. <http://www.eurasianet.org/departments/insight/articles/eav091401.shtml> (16 July 2007).

Hill, Fiona. "The United States and Russia in Central Asia: Uzbekistan, Tajikistan, Afghanistan, Pakistan, and Iran." The Brookings Institution on the Web, 15 August 2002. <http://www.brook.edu/views/speeches/hillf/20020815.htm> (15 April 2007).

Novosti, RIA. "RUSSIA, U.S. DESTINED TO COOPERATE IN CENTRAL ASIA." CDI on the Web, 30 May 2005. <http://www.cdi.org/russia/johnson/9164-25.cfm> (8 June 2007).

Payne, Laura. "U.S.-Russia Security Relations." Foreign Policy in Focus on the Web, 26 September, 1998. < http://www.fpif.org/briefs/vol3/v3n26fsu.html> (15 July 2007).

Radyuhin, Vladimir. "A New Big Game in Central Asia." CDI on the Web, 18 July 2003. <http://www.cdi.org/russia/268-12.cfm> (1 April 2007).

สื่อออนไลท์ภาษาไทย

กองวิจัยและพัฒนาการรบ. กรมยุทธการทหารอากาศ. "วิเคราะห์สงครามอิรัก." 13 มิถุนายน พ.ศ. 2546. <http://www.do.rtaf.mi.th/Library/Iraq/11.asp> (11 พฤษภาคม พ.ศ. 2549).

ชัยสิริ สมุทวาณิช. "การเมืองรัสเซีย." หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลท์, 10 มีนาคม พ.ศ. 2547. <http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=2000000051292> (10 กรกฎาคม พ.ศ. 2550).

ศูนย์เครือรัฐเอกราช และรัฐบอลข่าน. กระทรวงการต่างประเทศและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย. "ข้อมูลกลุ่มประเทศ CIS." <http://www.cbcutcc.com/contactus.htm> (25 มิถุนายน พ.ศ.2550).

++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ประวัติผู้เขียน : ดุลยภาค ปรีชารัชช
สังกัดศูนย์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (Southeast Asian Studies Centre) สำนักบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันได้รับทุนจากมูลนิธิ Rockefeller ในการทำวิจัยเกี่ยวกับการย้ายเมืองหลวงครั้งล่าสุดของพม่า


คลิกกลับไปทบทวน ตอนที่ ๑

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com