บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
โลกยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจในคริสตศตวรรษที่
๒๑
ยูเรเซียกับการขับเคี่ยวทางยุทธศาสตร์ระหว่าง
สหรัฐอเมริกาและรัสเซีย (ตอนที่ ๑)
ดุลยภาค
ปรีชารัชช : เขียน
ศูนย์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทความวิชาการชิ้นนี้
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
เดิมชื่อ: เอเซียกลาง: ดินแดนหัวใจแห่งยูเรเซียกับการขับเคี่ยวทางยุทธศาสตร์
ระหว่างสหรัฐอเมริกา และ รัสเซีย ในศตวรรษที่ ๒๑
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการปิดล้อม และการขับเคี่ยวทางด้านยุทธศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจ
ซึ่งในที่นี้ได้แยกนำเสนอเป็นสองตอน โดยในตอนที่หนึ่งประกอบด้วยสาระสำคัญดังนี้
1. ความสำคัญของเอเซียกลางในบริบทประวัติศาสตร์
2. ความสำคัญของเอเซียกลางในบริบทภูมิรัฐศาสตร์
3. ความสำคัญของเอเซียกลางในบริบทเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ
4. นโยบายด้านยุทธศาสตร์ และการขยายอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในเอเซียกลาง
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๓๐๗
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๙.๕ หน้ากระดาษ A4)
++++++++++++++++++++++++++++++++
โลกยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจในคริสตศตวรรษที่
๒๑
ยูเรเซียกับการขับเคี่ยวทางยุทธศาสตร์ระหว่าง
สหรัฐอเมริกาและรัสเซีย (ตอนที่ ๑)
ดุลยภาค
ปรีชารัชช : เขียน
ศูนย์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เอเซียกลาง:
ดินแดนหัวใจแห่งยูเรเซียกับการขับเคี่ยวทางยุทธศาสตร์ระหว่าง
สหรัฐอเมริกาและรัสเซียในศตวรรษที่ 21
เกริ่นนำ
หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและการสิ้นสุดของสงครามเย็น ในปี ค.ศ. 1991 สหรัฐอเมริกาได้ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งทางการเมืองระหว่างประเทศ
โดยการประกาศระเบียบโลกใหม่ ( New World Order) และเร่งแผ่แสนยานุภาพทางการทหารอย่างต่อเนื่องเพื่อครอบครองดินแดนทางยุทธศาสตร์
โดยเฉพาะบริเวณตะวันออกกลางและภูมิภาครอบอ่าวเปอร์เซีย ในขณะเดียวกันรัสเซียได้มีสถานภาพเป็นรัฐสืบสิทธิต่อจากสหภาพโซเวียต
และพยายามคงความเป็นมหาอำนาจในระดับภูมิภาคเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติและถ่วงดุลกับสหรัฐอเมริกา
การปรากฎตัวครั้งใหม่ของรัฐเอกราชอิสระ (CIS: Commonwealth Independence States) หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต อันได้แก่ กลุ่มรัฐสลาฟ (Slav) รัฐบอลติก (Baltic) รัฐคอเคซัส (Caucasus) และรัฐแถบเอเซียกลาง (Central Asia) จัดเป็นการเปลี่ยนแปลงทางภูมิยุทธศาสตร์ (Geostrategy) และภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ครั้งยิ่งใหญ่ทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะรัฐอิสลามในเอเซียกลาง อันได้แก่ ทาจิกิสถาน, เติร์กเมนิสถาน, อุซเบกิสถาน, คีร์กีซสถาน, และคาซัคสถาน ซึ่งมีความเกี่ยวพันและส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อการแข่งขันแย่งชิงอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย จนกลายเป็นสมรภูมิทางยุทธศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ในระบบการเมืองโลกยุคหลังสงครามเย็น
สำหรับความสำคัญของเอเซียกลางในมุมมองของสหรัฐอเมริกาและรัสเซียมีรายละเอียดและประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
1. ความสำคัญของเอเซียกลางในบริบทประวัติศาสตร์:
ดินแดนเอเซียกลางมีสภาวะแวดล้อมทางภูมิศาสตร์เป็นเทือกเขาสูง ทะเลทราย และทุ่งหญ้าเสตปป์
(Steppe) ประกอบกับเป็นจุดเชื่อมต่อทางอารยธรรมระหว่างยุโรปกับเอเซีย (ยูเรเซีย:
Eurasia) และจุดเชื่อมโยงทางศาสนาระหว่างศาสนาพุทธนิกายมหายาน, คริสต์ออร์โธดอก,
และโลกอิสลาม. ดินแดนดังกล่าวจัดว่าเป็นศูนย์กลางการค้าภาคพื้นทวีป (Continental
Trade) ผ่านแนวเส้นทางสายไหม (Silk Road) และเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่กองทัพตาตาร์ของจักรวรรดิมองโกล
ใช้เป็นฐานในการพิชิตตะวันออกกลาง รัสเซีย และยุโรปตะวันออก
การปรากฎตัวของเส้นทางสายไหมซึ่งเริ่มจากเมือฉางอัน ของจีน (Changan) ตัดผ่านเอเซียกลางเข้าสู่ยุโรป และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ส่งผลให้เมืองโบราณทางตอนกลางของยูเรเซีย กลายเป็นจุดขนถ่ายสินค้าทางบกและการเคลื่อนทัพของมหาอำนาจในยุคโบราณ ยกตัวอย่างเช่น การเคลื่อนกำลังพลของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งมาเซโดเนียในการยึดครองแคว้นแบคเทรีย (Bactria-อัฟกานิสถานในปัจจุบัน) เพื่อใช้เป็นฐานในการบุกชายแดนภาคเหนือของอินเดียแถบเทือกเขาหิมาลัย ความ รุ่งเรืองของเมืองซามาร์กาน (Samarghan-อุซเบกิสถานในปัจจุบัน) ในฐานะชุมทางของเส้นทางสายไหมที่เชื่อมจีนและตะวันออกกลางเข้ากับทะเลสาบแคสเปียนและทุ่งหญ้าเสตปป์ในเขตจักรวรรดิมัสโกวี (Muscowy-รัสเซียในยุคโบราณ) หรือ ความรุ่งเรืองของเมืองเฟอร์กานา (Ferghana-ทางตะวันออกของอุซเบกิสถานติดกับชายแดนคีร์กีซสถาน) ในฐานะศูนย์กลางการค้าม้าพันธุ์ดี ซึ่งเป็นพาหนะสำคัญของกองคาราวานและกองทหารม้าของอาณาจักรโบราณ ที่ตั้งอยู่ตามรายทางเส้นทางสายไหม
ดินแดนเอเซียกลางมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อยุทธศาสตร์ความมั่นคงของรัสเซีย โดยตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จักรวรรดิรัสเซียโดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าปีเตอร์มหาราช และพระนางแคทธารีนมหาราชินีได้ดำเนินนโยบายผนวกรัฐจารีต (Traditional States) ในเอเซียกลางเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของปริมณฑลแห่งอำนาจ (Sphere of Power) เนื่องจากเป็นชุมทางของเส้นทางสายไหม และเป็นแหล่งสะสมกำลังพลของชนเผ่าเร่ร่อนแห่งทุ่งหญ้าเสตปป์ เช่น ทหารม้าคอสแซค ในการคุกคามรัสเซียจากชายแดนด้านใต้
ความพยายามครอบครองเอเซียกลางได้กลายเป็นจารีตของกษัตริย์แห่งราชวงศ์ซาร์ ในการสถาปนาแสนยานุภาพบนดินแดนแถบยูเรเซีย โดยถึงแม้ว่ารัสเซียจะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์มาเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ภายใต้จักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่แห่งสหภาพโซเวียต เอเซียกลางก็ยังคงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของโซเวียต และแปรสภาพเป็นฐานทัพทางยุทธศาสตร์ในการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ และแหล่งผลิตทรัพยากรด้านพลังงานในสมัยจอมพลสตาลิน
นโยบายที่แข็งกร้าวของโซเวียตได้เริ่มเสื่อมถอย
เมื่อสหรัฐอเมริกาเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของเอเซียกลาง ในฐานะดินแดนหัวใจทางประวัติศาสตร์
(Historical Heartland) และเริ่มแข่งขันปะลองกำลังกับโซเวียตในอัฟกานิสถาน จนรุกคืบเข้าไปในเขตปกครองอิสลามที่อยู่ใต้อาณัติโซเวียต
จนในที่สุด เมื่อสหภาพโซเวียตล่ม สลาย ดินแดนที่เคยอยู่ใต้ร่มเงาของจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ได้แตกกระจายออกเป็นรัฐเอกราชอิสระ
และส่งผลกระทบต่อยุทธศาสตร์การเมืองโลกอย่างลึกซึ้ง เมื่อสหรัฐอเมริกายกทัพถล่มอัฟกานิสถาน
และรุกคืบเข้าเขตอิทธิพลของรัสเซียในเอเซียกลาง จนกลายเป็นความตึงเครียดและมหาเกมอันยิ่งใหญ่
(Great Game) แห่งศตวรรษที่ 21
2. ความสำคัญของเอเซียกลางในบริบทภูมิรัฐศาสตร์:
ดินแดนเอเซียกลางมิได้มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ผ่านแง่มุมทางประวัติศาสตร์เพียงอย่างเดียว
หากแต่ภูมิภาคดังกล่าวยังมีความสำคัญในเชิงของทฤษฎีภูมิรัฐศาสตร์ เมื่อแมคคินเดอร์
(Mackinder) ได้กำหนดดินแดนตอนกลางของยูเรเซียไว้ในฐานะดินแดนหัวใจ (Heartland)
ที่ส่งผลกระทบต่อยุทธศาสตร์ครองความเป็นเจ้าทางการเมืองโลก (Strategy of Hegemony)
โดยหากใครได้ครอบครองยุโรปตะวันออก จะได้ครอบครองดินแดนหัวใจแห่งยูเรเซีย (ดินแดนส่วนใหญ่ในเอเซียกลาง)
และหากใครได้ครอบครองดินแดนดังกล่าวก็จะได้เป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ทางการเมืองระหว่างประเทศ
แนวความคิดดังกล่าวได้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญ ที่อยู่เบื้องหลังการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น โดยเห็นได้จากการเริ่มครอบครองยุโรปตะวันออกของโซเวียต และการสถาปนาเขตอิทธิพลในดินแดนแถบเอเซียกลาง โดยสหภาพโซเวียตได้พยายามใช้สาธารณรัฐอิสลามตั้งแต่เขตเทือกเขาคอเคซัส (Caucasus) จรดชายฝั่งทะเลสาบแคลเปียน (Caspian) และทะเลอารัล (Aral) เป็นฐานทัพในการขยายอำนาจลงทางใต้ผ่านอัฟกานิสถาน และอ่าวเปอร์เซีย (อัฟกานิสถานโดยทางภูมิศาสตร์จัดเป็นดินแดนทับซ้อนระหว่างภูมิภาคเอเซียกลางและตะวันออกกลาง) ตลอดจนใช้เป็นประตูสู่ตะวันออกในการกดดันจีนทางด้านมณฑลซินเจียง อุยเกอร์ (Xinjiang Uighur) เพื่อขยายแนวรบปิดล้อมจีน (Chinese Containment) เมื่อมีการทำสงครามกับจีนริมฝั่งแม่น้ำอัสซูรีแถบชายแดนไซบีเรียตะวันออก
ความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ดังกล่าว ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาเริ่มดำเนินนโยบายปิดล้อมโซเวียตโดยการผลักดันทฤษฎีดินแดนริมขอบ (Rimland) ของสปิคแมน (Spykman) เข้าไว้ในแนวคิดว่าด้วยการดำเนินนโยบายด้านความมั่นคงและการทหารกับโซเวียต อันส่งผลให้สหรัฐอเมริกาทำการสถาปนาฐานทัพและความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์กับรัฐริมทะเล (Maritime States) ตั้งแต่ยุโรปตะวันตก ตัดผ่านตุรกี อิสราเอล รัฐแถบอ่าวเปอร์เซีย ผ่านฐานทัพดิเอโก การ์เซีย (Diego Garcia)ในมหาสมุทรอินเดีย แล้ววกขึ้นเหนือไป ไต้หวัน ญี่ปุ่น และคาบสมุทรเกาหลี เพื่อทำการโอบล้อมและทอนกำลังทั้งโซเวียตและจีน
โดยสหรัฐอเมริกาได้ขยายอิทธิพลช่วงชิงความเป็นเจ้ากับโซเวียตในอัฟกานิสถาน และขยายแสนยานุภาพของกองกำลังนาโต (NATO) จากยุโรปตะวันตกเข้าสู่ยุโรปตะวันออก และจากตุรกี อิสราเอล ซาอุดิอาระเบีย เข้าสู่อัฟกานิสถาน ซึ่งทำให้ปริมณฑลของกลุ่มรัฐอิสลามในเอเซียกลางถูกปิดล้อมทุกทิศทาง ยุทธศาสตร์การใช้ดินแดนริมขอบสยบดินแดนหัวใจ มีจุดชี้ชาดอยู่ที่เอเซียกลางซึ่งเป็นศูนย์กลางของภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงแห่งยูเรเซีย จนทำให้สหภาพโซเวียตถูกปิดล้อมและทอนกำลังอย่างต่อเนื่อง อันนำมาซึ่งการล่มสลายอย่างฉับพลันของสหภาพโซเวียต ซึ่งจัดเป็นเหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อธิบายการล่มสลายของจักรวรรดิโซเวียต นอกเหนือจากกรอบแนวคิดทั่วไปที่ให้ความสำคัญกับความตกต่ำทางเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ความเสื่อมถอยของระบอบคอมมิวนิสต์ และการดำเนินนโยบายต่างประเทศของมิคาอิล กอบอร์ชอฟ
3. ความสำคัญของเอเซียกลางในบริบทเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ:
หลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น เอเซียกลางได้กลายเป็นจุดเปราะบางทางการเมืองระหว่างประเทศและเป็นจุดแข่งขันทางเศรษฐกิจโลก
เมื่อมีการค้นพบน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในบริเวณแอ่งต่ำรอบทะเลสาบแคสเปียน
(Caspian Lowland) ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าในอนาคตภูมิภาคดังกล่าวจะกลายเป็นศูนย์กลางของความมั่นคงด้านพลังงาน
(Energy Security) แทนที่ตะวันออกกลาง นัยยะสำคัญทางภูมิเศรษฐศาสตร์ได้ส่งผลให้เอเซียกลางกลายเป็นจุดวาบไฟ
(Flashpoint) ที่มหาอำนาจทางการเมืองโลก เช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน อินเดีย
และสหภาพยุโรปต่างพยายามแผ่อิทธิพลเข้าครอบงำ โดยเฉพาะการลงทุนในกิจการกลั่นน้ำมัน
และความมั่นคงด้านพลังงานผ่านเครือข่ายท่อก๊าซธรรมชาติ (Pipelines) และเส้นทางคมนาคมทางบกตามทางหลวงสายเอเซีย
( Trans Asian Highway) ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างเอเซียกับยุโรป
โดยสภาวะแวดล้อมดังกล่าวจัดเป็นการปรากฎตัวครั้งใหม่ของเส้นทางสายไหมในอดีต แนวท่อก๊าซ และแนวถนนส่วนใหญ่ล้วนตัดผ่านทับซ้อนกับแนวเส้นทางการค้าโบราณ ซึ่งทำให้เอเซียกลางกลายเป็นศูนย์กลางการค้าตอนในภาคพื้นทวีปในยุคหลังสงครามเย็น ตลอดจนเป็นจุดคับขันทางยุทธศาสตร์ที่มหาอำนาจใช้เป็นฐานในการยื้อแย่งดินแดนและขยายอิทธิพลทางการทหาร
สหรัฐอเมริกาได้ให้ความสนใจภูมิภาคดังกล่าว โดยการวางนโยบายด้านยุทธศาสตร์และความมั่นคงในเอเซียกลางควบคู่กับตะวันออกกลาง ซึ่งสหรัฐอเมริกาพิจารณาว่ามีความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ (Geographical Proximity) และส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน สหรัฐอเมริกามองว่าเครือข่ายพลังงานของทั้งสองภูมิภาคมีความเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง และการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยก็จำเป็นต้องแผ่อิทธิพลครอบงำทั้งสองภูมิภาคควบคู่กันไป โดยเห็นได้จากการถล่มอัฟกานิสถานเพื่อโค่นล้มระบอบตาลิบัน และการถล่มอิรักเพื่อโค่นล้มระบอบซัดดัม
นอกจากนี้ ดินแดนเอเซียกลางยังมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดเคียงคู่กับตะวันออกกลาง ในฐานะศูนย์กลางการก่อการร้ายและแหล่งส่งออกการปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolution) ที่เชื่อมโยงกับอิหร่าน ในขณะเดียวกัน รัสเซียก็มองว่าเอเซียกลางจัดเป็นดินแดนหัวใจ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของรัสเซีย การสถาปนาเขตอิทธิพลของรัสเซียในเอเซียกลางมิได้มาจากการเชื่อมโยงทางภูมิรัฐศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ (Historical Legacy) ที่ผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศต้องให้ความสำคัญ ในฐานะดินแดนที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลประโยชน์แห่งชาติ
แผนที่แสดงอาณาเขตของกลุ่มรัฐอิสลามเอเซียกลางและประเทศเพื่อนบ้าน
แหล่งที่มา: www.sairamtour.com/centralasia/CentralAsiaMap.gif
การยึดครองอัฟกานิสถาน และการปรากฎตัวของกองกำลังอเมริกันในรัฐแถบเทือกเขาคอเคซัส เช่น จอร์เจีย อาเซอร์ไบจัน และ รัฐแถบเอเซียกลาง เช่น อุซเบกิสถาน จัดเป็นการท้าทายความเป็นมหาอำนาจแห่งยูเรเซียของรัสเซีย. การถูกปิดล้อมและแรงบีบคั้นทางยุทธศาสตร์ส่งผลให้รัสเซียต้องทำทุกวิถีทาง ในการขยายอิทธิพลเหนือเอเซียกลางเพื่อถ่วงดุลกับสหรัฐอเมริกา แต่อย่างไรก็ตาม รัสเซียก็ยังคงต้องเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา เนื่องจากรัสเซียมีปัญหาการก่อการร้าย และขบวนการปฏิวัติอิสลามในสาธารณรัฐเชชเนีย (Chechnya) ซึ่งทำให้รัสเซียจำเป็นต้องร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในการต่อต้านการก่อการร้าย ประกอบกับรัสเซียประสบปัญหาตกต่ำทางเศรษฐกิจซึ่งจำเป็นต้องพึ่งสหรัฐอเมริกา ในการผลักดันรัสเซียเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ดังนั้นการแข่งขันระหว่างรัสเซียกับสหรัฐอเมริกาในสมรภูมิเอเซียกลางจึงมีความลุ่มลึก เปราะบาง และแปรผันไปตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ
4. นโยบายด้านยุทธศาสตร์
และการขยายอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในเอเซียกลาง
สหรัฐอเมริกาได้เริ่มเห็นความสำคัญของภูมิภาคเอเซียกลาง ตั้งแต่การขับเคี่ยวเชิงยุทธศาสตร์กับสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น
โดยหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ดินแดนเอเซียกลางได้ถูกระบุไว้ในนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา
โดยเฉพาะความมั่นคงทางการทหารและพลังงาน ตลอดจนการเผยแพร่ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
เพื่อยับยั้งการก่อการร้ายและการส่งออกการปฏิวัติอิสลาม สำหรับแนวนโยบายยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกานั้น
มีประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
ปัจจัยภายใน: การก้าวเข้าสู่อำนาจทางการเมืองของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) และแนวนโยบายของพรรครีพับริกัน (Republican) ส่งผลให้สหรัฐอเมริกามีแนวนโยบายต่างประเทศที่เน้นลัทธิเอกภาคีนิยม (Unilateralism) และการใช้กำลังทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดย คอนโดริซาร์ ไรท์ (Condoriza Rice) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงจัดเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านรัสเซียและเอเซียกลางศึกษา ประกอบกับอิทธิพลของแนวร่วมจากกลุ่มที่ปรึกษาสายเหยี่ยว ที่เน้นการใช้กำลังทหารในการสถาปนายุทธศาสตร์ครองความเป็นเจ้า (Hegemony) ส่งผลให้ลัทธิบุช (Bush Doctrine) กลายเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของนโยบายต่างประเทศสหรัฐอเมริกา
พื้นฐานของตระกูลบุชที่เน้นการประกอบธุรกิจส่งออกน้ำมัน และอิทธิพลของกลุ่มอุตสาหกรรมทหาร (Military Industrial Complexes) และการค้าอาวุธ จัดเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้สหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายด้านยุทธศาสตร์โดยพุ่งเป้าไปที่ตะวันออกกลางและเอเซียกลาง ซึ่งสหรัฐอเมริกามองว่าเป็นดินแดนหัวใจเของนโยบายด้านความมั่นคง และส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจัดสรรผลประโยชน์ทางการค้า และการทหารในกลุ่มชนชั้นนำอเมริกัน
การถล่มอิรักและอัฟกานิสถานจัดเป็นแรงสะท้อนทางยุทธศาสตร์ ที่แสดงว่าตะวันออกกลางและเอเซียกลางไม่สามารถแยกออกจากกัน และส่งผลกระทบซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้ง โดยสหรัฐอเมริกามีเป้าหมายที่จะสถาปนาความมั่นคงในตะวันออกกลางและอัฟกานิสถาน เพื่อใช้เป็นฐานสะสมกำลังในการแผ่อิทธิพลเข้ายื้อแย่งดินแดนเอเซียกลาง ซึ่งสหรัฐอเมริกามองว่าเป็นเขตอิทธิพลของรัสเซีย และเป็นแหล่งบ่มเพาะการก่อการร้ายระหว่างประเทศ. นอกจากนี้การรุกคืบเข้าไปในเอเซียกลาง ยังส่งผลโดยตรงต่อการขยายเครือข่ายสัมปทานน้ำมันของกลุ่มนักธุรกิจชาวยิวและชนชั้นนำอเมริกัน ในขณะที่การทำสงครามอิรัก-อัฟกานิสถาน และการจัดตั้งฐานทัพทางยุทธศาสตร์ในดินแดนบางส่วนของเอเซียกลาง ยังกระตุ้นรายได้ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมอาวุธ และนักการทหารระดับสูงในกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา
แนวคิดทางด้านปรัชญาการเมืองของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช มักให้น้ำหนักกับทฤษฎีสันติภาพเพื่อประชาธิปไตย (Democratic Peace) โดยการทำสงครามเพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยและทุนนิยมในตะวันออกกลางและเอเซียกลาง ซึ่งจำเป็นที่ต้องดำเนินนโยบายควบคู่กันไป นอกจากนี้หากพิจารณาจากแนวคิดว่าด้วยการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ เพื่อต่อต้านการก่อการร้าย (Just War Against Terrorism) และบุคลิกที่เค่รงศาสนาของประธานาธิบดีบุช เอเซียกลางและตะวันออกกลางจัดเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการแพร่กระจายของการก่อการร้ายและการปฏิวัติอิสลาม ประกอบกับเคยเป็นสมรภูมิสำคัญในสงครามครูเสดระหว่างศาสนาคริสต์และอิสลาม ตามกรอบวิเคราะห์ว่าด้วยความขัดแย้งทางอารยธรรม (Clash of Civilization) ดังนั้นเอเซียกลางจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการกำหนดนโยบายด้านยุทธศาสตร์ และการแผ่อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในยุคปัจจุบัน
ปัจจัยภายนอก: หลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาได้ก้าวเข้ามาเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะมีสมรรถนะทางการเมืองและการทหารที่แข็งแกร่ง สหรัฐกลับถูกท้าทายจากมหาอำนาจระดับรองที่ต่อต้านการผูกขาดอำนาจทางการเมืองโลกของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะจีน และรัสเซีย ซึ่งได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์และมีความใกล้ชิดเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่สามารถแผ่อิทธิพลเข้าสู่เอเซียกลาง ซึ่งมีสถานะเป็นแหล่งพลังงานสำรองและจุดเปราะบางทางการเมืองโลกในศตวรรษที่ 21
จีนและรัสเซียได้ร่วมมือทางเศรษฐกิจ พลังงาน และการทหารกับกลุ่มประเทศเอเซียกลางผ่านข้อตกลชางไห่ (Shanghai Cooperation Organization) ประกอบกับมีการเชื่อมโยงแนวท่อก๊าซธรรมชาติ และการซ้อมรบทางการทหารตั้งแต่เขตยูเรเซียภาคพื้นทวีปจรดชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก โดยถึงแม้ในระดับสากล จีนและรัสเซียจะให้ความร่วมมือกับสหรัฐในการต่อต้านการก่อการร้ายและแนวนโยบายทางเศรษฐกิจแบบการตลาด แต่ในขอบเขตระดับภูมิภาคโดยเฉพาะในเอเซียกลาง ทั้งสองประเทศต่างหันมาสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพื่อถ่วงดุลกับสหรัฐอเมริกา
ในขณะเดียวกัน นโยบายขยายอำนาจไปทางตะวันออกของสหภาพยุโรป (Eastward Enlargement) ได้เริ่มขยับแนวยุทธศาสตร์จากยุโรปตะวันออก กลุ่มรัฐสลาฟ เช่น ยูเครนหลังการปฏิวัติสีส้ม และ กลุ่มรัฐบอลติก ( ลัทเวีย, ลิธัวเนีย, เอสโธเนีย) เข้าสู่ดินแดนแถบเทือกเขาคอเคซัสและเอเซียกลาง เพื่อขยายส่วนแบ่งในเครือข่ายพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ตลอดจนนโยบายมองไปทางตะวันตกของอินเดีย ที่ขยับแนวอิทธิพลข้ามเทือกเขาหิมาลัยตัดผ่านเทือกเขาปาร์มี (Parmirs) เข้าสู่เอเซียกลางโดยอาศัยแนวท่อก๊าซและถนนสายเอเซีย ก็ยิ่งทำให้ดินแดนเอเซียกลางกลายเป็นสมรภูมิแห่งมหาเกมครั้งยิ่งใหญ่ในศตวรรษที่ 21 อันทำให้สหรัฐอเมริกาต้องให้ความสำคัญกับเอเซียกลางอย่างยิ่งยวดทั้งในเชิงของภูมิรัฐศาสตร์, ภูมิยุทธศาสตร์, และภูมิเศรษฐศาสตร์
นอกจากนี้ประเด็นอิหร่านยังจัดเป็นปรากฎการณ์สำคัญที่สหรัฐมองว่ามีความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้ง กับการก่อการร้ายและเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐอิสลามในเอเซียกลาง โดยมรดกทางประวัติศาสตร์หลังการปฏิวัติอิสลามของโคไมนีในสมัยประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ ทำให้นักการทูตอเมริกันถูกจับเป็นตัวประกันและแนวคิดการสถาปนามหารัฐอิสลามได้แพร่กระจายเข้าไปในอัฟกานิสถาน ตะวันออกกลางและเอเซียกลาง ซึ่งส่งผลให้สหรัฐอเมริกามองอิหร่านในฐานะภัยคุกคามด้านความมั่นคงของเอเซียกลาง
โดยในปัจจุบันอิหร่านจัดเป็นกลุ่มรัฐอันธพาล (Rough States) ที่มีท่าทีแข็งกร้าวเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ การก่อการร้าย ตลอดจนคงความเป็นมหาอำนาจในทะเลสาบแคสเปียนซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการคงอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในเอเซียกลาง เช่น อุซเบกิสถานและคีร์กิซสถาน ดังนั้น สภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศที่เอเซียกลางมีสถานภาพเป็นดินแดนหัวใจทางการเมืองโลก จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อทิศทางและแนวโน้มของนโยบายด้านความมั่นคง และการแผ่อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในยุคหลังสงครามเย็น
4.1 ลักษณะการดำเนินนโยบายและการขยายอิทธิพล: สหรัฐอเมริกาได้ดำเนินนโยบายยุทธศาสตร์เชิงรุก ผ่านการขยายอิทธิพลทางการเมืองและการทหารในตะวันออกกลาง และกลุ่มรัฐคอเคซัสเพื่อทำการขีดวงล้อมอิทธิพลของรัสเซีย และเข้าโอบล้อมกลุ่มรัฐอิสลามเอเซียกลางผ่านการสร้างเครือข่ายทางยุทธศาสตร์ในยูเรเซีย และการสถาปนาความสัมพันธ์โดยตรงกับกลุ่มประเทศเอเซียกลาง ซึ่งมีแนวนโยบายที่โดดเด่นดังต่อไปนี้
ก. การถล่มอัฟกานิสถานและโค่นล้มระบอบตาลิบัน: อัฟกานิสถานจัดเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่อระหว่างตะวันออกกลาง, เอเซียใต้ (ปากีสถาน), เอเซียตะวันออก (จีน), และเอเซียกลาง (กลุ่มประเทศ CIS ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของรัสเซีย) ดังนั้นการโค่นล้มรัฐบาลตาลิบันซึ่งเป็นอิสลามแบบเคร่งจารีต และมีความสัมพันธ์กับบิลลาเดนจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของสหรัฐฯ การยึดครองอัฟกานิสถานจะทำให้สหรัฐอเมริกากดดันความร่วมมือระหว่างจีนกับรัสเซียได้มากขี้น ในขณะเดียวกันจีนก็มีท่าทีไม่แข็งกร้าวต่อกรณีที่สหรัฐอเมริกาถล่มอัฟกานิสถาน เนื่องจากมณฑลซินเจียง อุยเกอร์ มีปัญหาด้านภัยคุกคามจากกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงที่ต้องการจะแยกตัวเป็นรัฐเอกราช ดังนั้น การถล่มอัฟกานิสถานจึงไม่ส่งผลร้ายต่อจีนมากนัก นอกจากนี้สหรัฐอเมริกายังสามารถใช้อัฟกานิสถานเป็นฐานทางยุทธศาสตร์เพื่อขยายอิทธิพลในทาจิกิสถาน, คีร์กิซสถาน, เติร์กเมนิสถาน, และอุซเบกิสถาน, โดยเห็นได้จากการซ้อมรบและการวางกำลังบางส่วนของสหรัฐ บนดินแดนของทั้งสี่ประเทศเพื่อขยายแนวร่วมทางยุทธศาสตร์ในการกดดันรัสเซีย อิหร่าน จีน และแผ่อิทธิพลเข้าสู่เอเซียใต้และตะวันออกกลาง
ข. การขยายแนวร่วมทางยุทธศาสตร์จากตุรกีและรัฐคอเคซัส: หลังการยึดครองอิรักและการโค่นล้มระบอบซัดดัม สหรัฐอเมริกาได้สร้างฐานที่มั่นที่แข็งแกร่งในตะวันออกกลางจรดชายฝั่งทะเลดำในตุรกี ซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกาสามารถขยายอิทธิพลทางการเมืองและความมั่นคง เข้าปกคลุมเทือกเขาคอเคซัสประชิดชายแดนเอเซียกลาง โดยในทางภูมิรัฐศาสตร์นั้น รัฐแถบคอเคซัสซึ่งประกอบด้วย จอร์เจีย, อาร์เมเนีย, และอาเซอร์ไบจัน, จัดเป็นบริเวณของการวางท่อก๊าซเชื่อมต่อระหว่างทะเลสาบแคสเปียน จรดช่องแคบดาดาร์เนียล (Dardanelless) และบอสฟอรัส (Bosporus)ในทะเลดำของตุรกี ซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกาประกาศสถาปนาเขตอิทธิพลในบริเวณดังกล่าว โดยการขยายบทบาทของกองกำลังนาโตจากตุรกีเข้าสู่รัฐคอเคซัส และขยายการลงทุนทางด้านธุรกิจส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
การโค่นล้มประธานาธิบดีเชวานาเซด์ ของจอร์เจีย ซึ่งนิยมรัสเซียและการก้าวเข้าสู่อำนาจทางการเมืองของนายมิคาอิล สคาชวิลี (Mikheil Saakashvili) ซึ่งนิยมอเมริกัน ส่งผลให้มีการปรากฎตัวของกองกำลังสหรัฐฯ ในประเทศจอร์เจียซึ่งตั้งประชิดชายแดนสาธารณรัฐเชชเนียในเขตปกครองรัสเซีย อันส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงของรัสเซีย. ในขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาได้กระชับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับรัฐอิสลามอาเซอร์ไบจัน โดยการจัดตั้งสัมปทานน้ำมันในบากู เมืองหลวงอาเซอร์ไบจันริมชายฝั่งทะเลสาบแคสเปียน ตลอดจนพยายามเจรจายุติความขัดแย้งในนากอร์โน-คาราบัค (Nagorno Karabakh) ซึ่งเป็นดินแดนพิพาทระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจัน. การดำเนินนโยบายดังกล่าวส่งผลให้สหรัฐอเมริกาใช้ฐานอำนาจจากคอเคซัส เข้าปิดล้อมและขยายอิทธิพลเข้าสู่รัฐอิสระในเอเซียกลาง โดยเฉพาะคาซัคสถาน อุซเบกิสถาน และเติร์กเมนิสถานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ค. การขยายแนวคิดประชาธิปไตยและการกดดันอิหร่าน: สภาวะแวดล้อมพื้นฐานของกลุ่มประเทศเอเซียกลาง เช่น เติร์กเมนิสถาน และทาจิกิสถาน จัดเป็นกลุ่มประเทศยากจนและประสบปัญหาพัฒนาการทางการเมือง ซึ่งสหรัฐอเมริกามองว่าเป็นภารกิจสำคัญของสหรัฐในการเผยแพร่ประชาธิปไตย ทุนนิยม และสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นพื้นฐานในการขยายอิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคดังกล่าว
ลักษณะโครงสร้างทางการเมืองของกลุ่มประเทศเอเซียกลาง จัดว่ามีความน่าสนใจและสลับซับซ้อนเนื่องจากเป็นประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่ ที่ได้รับมรดกทางความคิดจากลัทธิคอมมิวนิสต์ของอดีตสหภาพโซเวียต หลักจารีตของศาสนาอิสลาม และพื้นฐานวัฒนธรรมของชนเผ่าเร่ร่อนแห่งทุ่งหญ้าสเตปป์ ซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกามองว่า เอเซียกลางเป็นทั้งโอกาสทองในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตย และเป็นทั้งภัยคุกคามจากการปฏิวัติอิสลามและการก่อการร้าย นอกจากนี้รูปแบบทางการปกครองของรัฐอิสลามในภูมิภาคดังกล่าว ยังได้รับอิทธิพลที่ผสมผสานระหว่าง ระบอบอิสลามสายกลางตามแบบตุรกี เช่น กลุ่มรัฐเชื้อสายเติร์ก ในอุซเบกิสถานและเติร์กเมนิสถาน กับระบอบอิสลามแบบสาธารณรัฐตามหลักนิกายชีอะห์ของอิหร่าน เช่น ดินแดนตอนใต้ของเติร์กเมนิสถาน
ปรากฎการณ์ดังกล่าวทำให้สหรัฐฯ พยายามสนับสนุนรูปแบบการปกครองแบบตุรกีในภูมิภาคเอเซียกลาง และพยายามผลักดันการปกครองแบบอิหร่านออกไปจากดินแดนดังกล่าว โดยหลังจากการถล่มอิรักและอัฟกานิสถาน สหรัฐอเมริกาได้ทำการกดดันและทอนกำลังอิหร่านทั้งซ้ายและขวา เพื่อยับยั้งการปกครองที่แข็งกร้าวและการส่งออกการปฏิวัติอิสลาม. การจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดแบบประชาธิปไตยในอัฟกานิสถาน จัดเป็นการปิดล้อมอิหร่านและทอนกำลังไม่ให้อิทธิพลของอิหร่านแพร่กระจายไปสู่เอเซียกลาง ซึ่งสหรัฐอเมริกาพยายามที่จะขยายอิทธิพลเข้ายื้อแย่งและสถาปนาความเป็นเจ้า โดยเหตุผลเบื้องลึกของแนวนโยบายดังกล่าวคือ การสกัดกั้นความร่วมมือของจีนและรัสเซีย ตลอดจนการครอบครองเครือข่ายพลังงานในตอนกลางของยูเรเซียภาคพื้นทวีป
แผนที่การขยายอิทธิพลและการวางกำลังทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาในตะวันออกกลางและเอเซียกลาง
แหล่งที่มา: www.globalpolicy.org/.../middleastmap.gif
สนใจคลิกไปอ่านต่อ
ตอนที่ ๒
คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com