โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 14 July 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๓๐๖ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (July, 14, 07,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

มีหลายคนออกมาตำหนิฝ่ายปฏิเสธรัฐธรรมนูญ คมช. ว่าไม่ทันดูเนื้อหาก็ปฏิเสธซะก่อนแล้ว ท่านเหล่านี้มีสติปัญญาพอที่จะรู้อยู่ว่า ข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ใช่สาเหตุของการยึดอำนาจ จึงไม่จำเป็นต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่เลย แต่ต้องร่างใหม่ตามธรรมเนียมให้ดูเหมือนว่า คมช.ต้องการประชาธิปไตย. สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ คมช. ก็ไม่ได้ดีไปกว่าเดิม อ.เสน่ห์ จามริก ยังยอมรับว่าถอยหลังกว่าเดิม แถมยังไม่ได้เป็นหลักประกันอะไรต่ออนาคตของประชาธิปไตยไทยเลยสักนิด แม้แต่ผู้หนุน คมช. อย่าง อ.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ก็ยังยอมรับว่า …
14-07-2550

Referendum & Coup
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

ร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ (ฉบับสมบูรณ์) สามารถ download ได้จากที่นี่
สำหรับ (๑) แถวหนังสือสีส้มเป็นร่างรัฐธรรมนุญ ในรูป .doc (ขนาดความจุของไฟล์ 518 kb.)
ส่วน (๒) แถวหนังสือสีเหลืองเป็นร่างรัฐธรรมนูญ ในรูป .pdf (ขนาดความจุของไฟล์ 688 kb.)

(๑) ประชาชน นักศึกษา นักวิชาการ ที่สนใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๕๐ สามารถคลิกไป download ได้จากที่นี่
(๒) ประชาชน นักศึกษา นักวิชาการ ที่สนใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๕๐ สามารถคลิกไป download ได้จากที่นี่

โจทย์ที่แท้ของการลงประชามติ และสัจธรรมรัฐประหาร
ธงชัย วินิจจะกูล, ชำนาญ จันทร์เรือง และร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ได้เคยเผยแพร่แล้วบน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ

บทความวิชาการบนหน้าเว็บเพจนี้ เคยเผยแพร่แล้วบน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ประกอบด้วย
1. โจทย์ที่แท้จริงของการลงประชามติและทางเลือก
เขียนโดย ศ.ดร. ธงชัย วินิจจะกูล : มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน สหรัฐอเมริกา
2. มองมุมใหม่: บทเรียนจากรัฐประหาร ๑๙ ก.ย.๔๙
เขียนโดย อ.ชำนาญ จันทร์เรือง : นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่าง และ
3. ร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ (ฉบับสมบูรณ์) สำหรับผู้สนใจ download ได้จากที่นี่
โดยเรื่องแรกได้เผยให้เห็นโจทย์ที่แท้จริงของการเมืองของการลงประชามติว่า
ประเด็นสำคัญขณะนี้ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหารายละเอียดของรัฐธรรมนูญอย่างที่ คมช. พยายามตีกรอบ
โจทย์ที่แท้จริงคือ คำถามว่าจะเอายังไงกับอำนาจทหาร อภิชน อำมาตยาธิปไตยในการเมืองไทย
ส่วนเรื่องที่สอง เป็นสัจธรรม ๑๘ ข้อของการเมืองไทยหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๓๐๖
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๐ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

โจทย์ที่แท้ของการลงประชามติ และสัจธรรมรัฐประหาร
ธงชัย วินิจจะกูล, ชำนาญ จันทร์เรือง และร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ได้เคยเผยแพร่แล้วบน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ


1. โจทย์ที่แท้จริงของการลงประชามติและทางเลือก
ธงชัย วินิจจะกูล : มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน สหรัฐอเมริกา

1. เดินไปไหน?
คนส่วนใหญ่คงกำลังเบื่อการเมืองจนสุดจะทน และคงอยากไปให้พ้นความขัดแย้งที่น่าอึดอัดเสียที โฆษณาอื้อฉาวของ ส.ส.ร. เป็นการหากินกับความเบื่อหน่ายของประชาชน คือ พยายามสื่อสารว่า "รับซะจะได้เดินหน้าสู่ภาวะปกติ (คือ มีการเลือกตั้ง) ซะที" แม้แต่ปรมาจารย์ทางรัฐศาสตร์ (ศ.เสน่ห์ จากริก) ยังบอกว่า จะลงมติรับรัฐธรรมนูญของ คมช. ทั้งๆ ที่เห็นว่า เนื้อหาถอยหลัง แต่เพราะอยากไปให้พ้นความน่าอึดอัด อยากเดินหน้าซะที

ปัญหามีอยู่ว่า จะเดินไปทางไหน? การลงมติรับจะไปพ้นความขัดแย้งที่น่าอึดอัดได้จริงหรือ?
หลายคนเคยต้อนรับการรัฐประหาร 19 กันยา เพราะเชื่อว่าจะได้พ้นไปจากความตึงเครียดของวิกฤติการเมืองเสียที กว่าปีที่ผ่านมา คงประจักษ์แล้วว่า ความขัดแย้งตึงเครียดมิได้หมดไป อาจแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ ข้อที่ว่าต้องการเดินหน้านั้นก็มีปัญหาว่า เรากำลังหันหน้าไปถูกทางหรือเปล่า หรือกำลังหันกลับไปหายุคทหารครองเมือง เพราะหากเรากำลังหันหลังให้ประชาธิปไตยอยู่ ยิ่งเดินหน้าคือยิ่งผิดทาง

สิ่งที่ควรทำอันดับแรกคือ หันหน้าให้ถูกทางเสียก่อน

2. จำยอมถอยหลัง?
ความเสียหายใหญ่หลวงนับจาก 19 กันยาปีก่อน ไม่ได้อยู่ที่ความหน่อมแน้มของรัฐบาล แต่การรัฐประหารและกฎหมายต่างๆ ที่พยายามสถาปนาระบอบทหารนั่นแหละคือความเสียหายที่สุด คนที่หวังว่ารัฐประหารจะเป็นการกดปุ่มเริ่มประชาธิปไตยกันใหม่นั้น คงเห็นอยู่ตำตาว่า ประชาธิปไตยกำลังผลิบานหรือการเมืองไทยกลับถอยกรูดสู่ยุคทหารครองเมืองกันแน่

พ.ร.บ. ความมั่นคงที่ให้อำนาจล้นฟ้าแก่กองทัพ จะผลักการเมืองไทยย้อนหลังไปอย่างน้อยๆ 30 ปี รัฐธรรมนูญ คมช.ไม่ไว้ใจประชาชน แต่กลับฝากความหวังสุดๆ ไว้กับตุลาการและวุฒิสภาแต่งตั้งภายใต้ระบบการปกครองที่มีทหารคุมอยู่ทุกจุด การรื้อฟื้นอำนาจอำมาตยาธิปไตยท้องถิ่น การเพิ่มงบลับงบเปิดให้กองทัพมหาศาลเหมือนยุคเผด็จการแต่ก่อน การใช้อำนาจบาตรใหญ่ของทหารรังแกประชาชน เช่น กรณีปิดเขื่อนปากมูล และอื่นๆ อีกมากมาย

ทั้งหมดนี้ เป็นการถอยกรูดกลับไปหายุคทหารครองเมืองชัดเจน ไม่มีทางปฏิเสธได้ และอาจต้องสู้กันอีกหลายชีวิตกว่าจะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้ การลงมติรับเพื่อเดินหน้าในขณะนี้ จึงเป็นการยอมจำนนว่า ยุคทหารครองเมืองคือการถอยหลังที่เราต้องยอมรับอย่างสงบเสงี่ยม

3. รัฐธรรมนูญ คมช.จะพาประเทศไทยไปทางไหน?
รัฐธรรมนูญของ คมช. เป็นการสถาปนาระบอบทหารหรืออำมาตยาธิปไตย ที่ไม่ให้โอกาสแก่สังคประชาธิปไตยได้เรียนรู้ปรับตัวแก้ปัญหาตามกระบวนการ ไม่ไว้ใจประชาชนแต่กลับเชื่อถือให้อำนาจแก่อภิชน ขุนนางข้าราชการผู้ใหญ่ เป็น GUIDED DEMOCRACY แบบหนึ่ง ซึ่งก่อความเสียหายมหาศาลมาแล้วในหลายประเทศ

ระบอบการเมืองถอยหลังแบบนี้ จะส่งผลต่อประเทศชาติในระยะยาวอย่างไร?
ผู้เขียนมีข้อคาดการณ์เพื่อการถกเถียงว่า ระบบการเมืองย้อนยุคเช่นนี้ อาจทำให้ไทยอยู่ในภาวะคล้ายฟิลิปปินส์ กล่าวคือ ตกต่ำจากที่เคยเป็นดาวรุ่งแห่งเอเชีย ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง กลายเป็นแค่ประชาธิปไตยปลอมๆ ในอุ้งมือทหาร การแมืองจะทุลักทุเลไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง จนเป็นปัจจัยทำให้เศรษฐกิจลุ่มๆ ดอนๆ

เพราะอำมาตยาธิปไตยไม่สามารถรับมือกับความซับซ้อนผันแปรของสังคมสมัยนี้ ที่เต็มไปด้วยความคิดและผลประโยชน์ต่างๆ กันมหาศาลได้ เพราะผู้นำทหาร อภิชน ขุนนางราชการผู้ใหญ่หลงตนเองว่า สูงส่งรู้รอบกว่าประชาชนและติดอยู่กับความคิดว่าประเทศชาติ คือครอบครัวขนาดใหญ่ที่พวกเขาต้องดูแลแบบพ่อบ้าน

ระบอบการเมืองนี้ยังเป็นบ่อเกิดของคอร์รัปชันขนานใหญ่ และการใช้อำนาจฉ้อฉลอย่างฝังราก เพราะใช้ความกลัว บวกบารมีปกครองจนประชาชนและสื่อมวลชนยอมจำนน ปิดปากต่อความฉ้อฉลของขุนนางและอภิชนน้อยใหญ่ทั้งหลาย ต่างกับนักการเมืองซึ่งประชาชนและสื่อมวลชนจ้องตรวจสอบได้เสมอ ไม่ว่าจะเกลียดแค่ไหนก็ตาม ที่สำคัญที่สุด และไม่กล้าพูดถึงกัน ทั้งๆ ที่ซุบซิบกันทุกวี่วันก็คือ ความผันผวนในสังคมไทยกำลังมาถึงแน่ๆ ไม่ช้าก็เร็ว เพราะไม่มีใครฝืนธรรมชาติได้ ในภาวะเช่นนั้นทหาร, อภิชน, ขุนนาง, และหางเครื่องทั้งหลายจะยิ่งเถลิงอำนาจด้วยข้ออ้างความมั่นคง ซึ่งจะยิ่งฉุดการเมืองไทยให้จมปลักลงไปอีก

ระบบการเมืองล้าหลังเช่นนั้น จะเผชิญวิกฤติครั้งใหญ่ไม่ช้าก็เร็ว เพราะเป็นระบบการเมืองที่ฝืนการเปลี่ยนแปลง ความผันผวนไม่แน่นอนจะสะสมรอการระเบิด ระบบการเมืองล้าหลังบวกความผันผวนไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง คือสูตรของความตกต่ำครั้งใหญ่ ดังนั้น ยิ่งปล่อยให้อภิชนอำมาตยาธิปไตยอยู่ในอำนาจนานเท่าไร จะยิ่งกลายเป็นระเบิดเวลาในอนาคต การเดินหน้าขอเพียงให้พ้นความอึดอัดแบบปัจจุบัน จึงเป็นแค่การซื้อเวลาชั่วคราวเท่านั้นเอง

หากมองจากอนาคตย้อนเวลามาถึงปัจจุบัน ประวัติศาสตร์จะพิสูจน์ว่า การถอยหลังถลำลึกคราวนี้ เป็นก้าวผิดพลาดครั้งใหญ่หลวงของสังคมไทย

4. โจทย์ที่แท้จริงของการลงประชามติ
มีหลายคนออกมาตำหนิฝ่ายปฏิเสธรัฐธรรมนูญ คมช. ว่าไม่ทันดูเนื้อหาก็ปฏิเสธซะก่อนแล้ว ท่านเหล่านี้มีสติปัญญาพอที่จะรู้อยู่ว่า ข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ใช่สาเหตุของการยึดอำนาจ จึงไม่จำเป็นต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่เลย แต่ต้องร่างใหม่ตามธรรมเนียมให้ดูเหมือนว่า คมช.ต้องการประชาธิปไตย. สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ คมช. ก็ไม่ได้ดีไปกว่าเดิม อ.เสน่ห์ จามริก ยังยอมรับว่าถอยหลังกว่าเดิม แถมยังไม่ได้เป็นหลักประกันอะไรต่ออนาคตของประชาธิปไตยไทยเลยสักนิด แม้แต่ผู้หนุน คมช. อย่าง อ.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ก็ยังยอมรับว่า การรัฐประหารคงมีอีก และอำนาจทหารคงอยู่ไปอีกนาน

ประเด็นสำคัญขณะนี้ จึงไม่ได้อยู่ที่เนื้อหารายละเอียดของรัฐธรรมนูญอย่างที่ คมช. พยายามตีกรอบ
โจทย์ที่แท้จริงคือ คำถามว่าจะเอายังไงกับอำนาจทหาร อภิชน อำมาตยาธิปไตยในการเมืองไทย

- ผู้คนที่เบื่อหน่ายกับการเมืองอยู่ในขณะนี้ คงไม่ได้ตัดสินใจรับหรือไม่รับ เพราะรายละเอียดของรัฐธรรมนูญ ต่อให้เนื้อหาถอยหลังกว่าเดิมก็อาจจะรับ หากเขาเชื่อว่าเป็นหนทางออกไปให้พ้นภาวะอึดอัดในปัจจุบัน

- คนที่หนุน คมช. และเกลียดทักษิณมาก จะลงมติรับโดยไม่ได้สนใจรายละเอียดของรัฐธรรมนูญเช่นกัน เพราะสิ่งที่คนพวกนี้ต้องการ คือการยืนยันว่า รัฐประหารที่ตนสนับสนุนเป็นสิ่งถูกต้อง ยืนยันว่าตนเองไม่ได้คิดผิดทำผิด เชียร์มาแล้วก็ต้องเชียร์ต่อไปให้ตลอดรอดฝั่ง บริกรและหางเครื่องของ คมช. ต้องเกาะระบอบทหารเพราะกลัวโดนคิดบัญชี ทั้งหมดนี้ ไม่เกี่ยวกับรายละเอียดของรัฐธรรมนูญเลย

- กระทั่งฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ ส.ส.ร. เอง ก็ไม่สนใจเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญเช่นกัน

โจทย์ที่แท้จริงขณะนี้ ไม่ได้อยู่ที่รายละเอียดของรัฐธรรมนูญ คมช. แต่อยู่ที่คำถามว่า จะเอายังไงกับอำนาจทหาร อภิชน อำมาตยาธิปไตยในการเมืองไทย

เกษียร เตชะพีระ กล่าวได้ถูกต้องว่า อย่าดูเพียงแค่รายละเอียดเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ แต่ต้องดูทั้ง "แพ็คเกจ" ว่า ระบอบ คมช.ได้ผลักดันกฎหมายสำคัญ เพื่อสถาปนาอำนาจยุคทหารครองเมืองอีกครั้ง การเลือกตั้ง สภาและประชาธิปไตยหลังจากนี้จะเป็นแค่ไม้ประดับ เพื่อให้ระบอบทหารครองเมืองยุคนี้ดูดีขึ้นแค่นั้นเอง

แต่ คมช.และลูกคู่บริกรทั้งหลายต้องป่าวร้อง เน้นให้ดูรายละเอียดของรัฐธรรมนูญ เพราะ คมช. กลัวการที่ประชาชนจะมองเห็นโจทย์ที่แท้จริง แล้วเปลี่ยนความหมายของการลงประชามติ. คมช. ต้องการตีกรอบจำกัดความหมายของการลงประชามติ ไม่ให้กลายเป็นการประท้วงระบอบทหาร

5. เปลี่ยนประชามติเป็นการต่อสู้กับระบอบทหาร
การลงประชามติที่จะมาถึงเต็มไปด้วยการขู่ขวัญทางการเมือง เช่น "ไม่รับก็ไม่มีเลือกตั้ง ไม่รับก็ไม่กลับสู่ภาวะปกติ ถ้าไม่เอาฉบับที่อยู่ตรงหน้า ก็อาจได้ฉบับซ่อนข้างหลังที่เลวกว่า ไม่รับจะยิ่งวุ่นวาย ใครไม่รับคือพวกไม่รักชาติ" ทั้งหมดนี้ คล้ายกับเจ้าพ่อมาเฟียยื่นข้อเสนอที่ห้ามเราปฏิเสธ ทั้งขู่ขวัญว่าหากปฏิเสธอาจเจ็บตัวและสิ่งเลวร้ายอาจเกิดกับเราก็ได้ แถมยังเป็นการลงประชามติโดยที่กว่าครึ่งประเทศยังอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ซึ่งทหารคุมหมดทุกอย่าง "นี่มันประชามติแบบมาเฟียชัดๆ ไม่กล้าพอแม้แต่จะสู้กันอย่างแฟร์ๆ"

ทำราวกับประชาชนเป็นคนในบังคับเจ้าพ่อ หรือเป็นนักโทษในประเทศตัวเอง โดยมีผู้คุมชื่อ คมช. แทนที่นักวิชาการหรือนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญ จะออกมาท้วงติงท่าทีแบบมาเฟียอันน่ารังเกียจเหล่านี้ หลายคนกลับออกมารับอย่างหงอๆ ว่า ควรลงมติรับเพราะไม่อยากให้แย่ไปกว่านี้ แทนที่จะตำหนิการขู่ขวัญ หลายคนกลับทำท่าวางตัวเป็นกลางระหว่างมาเฟียกับผู้ถูกรังแก พวกเขาพากันหดหัวสงบเสงี่ยมกับคำขู่ฟอดๆ ของผู้มีอำนาจ บางคนอวดเบ่งร่วมตะคอกซ้ำใส่ผู้เสียเปรียบ

แทนที่จะเรียกร้องให้เลิกขู่ ให้ยกเลิกกฎอัยการศึกให้หมด และสู้กันอย่างแฟร์ๆ อย่าใช้เงินภาษีโฆษณาชวนเชื่อฝ่ายเดียว พวกเขากลัวทหารยิ่งกว่ากลัวนักการเมือง แต่ไม่กล้ายอมรับ ประชามติแบบมาเฟียสะท้อนเป็นอย่างดีถึงอำนาจแบบมาเฟีย ที่ปกครองคนด้วยความกลัวในขณะนี้

แต่ทว่าในสถานการณ์ที่ไม่มีช่องทางอื่นมากนักในการต่อสู้กับอำนาจทหาร และไม่มีโอกาสลงประชามติว่าจะเอาระบอบทหารหรือไม่ ประชาชนกลับสามารถต่อสู้ด้วยการรณรงค์เปลี่ยนโจทย์เปลี่ยนความหมายของการลงประชามติ ช่วงชิงให้กลายเป็นการออกเสียงประท้วงปฏิเสธระบอบทหาร รณรงค์ตรงไปตรงมาว่า ร่วมประท้วงปฏิเสธระบอบทหารด้วยเสียงไม่รับรอง ในทิศทางที่เครือข่าย 19 กันยาทำอยู่นั่นแหละ

การต่อสู้ด้วยการเปลี่ยนความหมายของการลงประชามติ คือการปฏิเสธไม่ยอมอยู่ในกรอบของ คมช. จึงไม่ใช่การยอมรับหรือให้ความชอบธรรมแก่กระบวนการของ คมช.แต่อย่างใด. ลูกคู่หน้าใสของ คมช. กลัวการที่ประชามติกำลังถูกเปลี่ยนความหมายให้กลายเป็นการออกเสียงประท้วงปฏิเสธระบอบทหาร ถึงกับต้องออกมายุแยงว่า ถ้าค้านการรัฐประหารก็อย่ามาร่วมการลงประชามติ และพยายามตีกรอบว่าประชามติเป็นแค่เรื่องรัฐธรรมนูญ ห้ามให้ความหมายไกลกว่านั้น

ต่อให้ผลของประชามติออกมาตามคณะทหารจัดแจงไว้ล่วงหน้า ก็มิได้หมายความว่าเสียงปฏิเสธระบอบทหารเหล่านี้ ต้องเปลี่ยนความคิดหรือยอมหุบปากหรือยอมรับระบอบทหารปัจจุบันหรือหลังจากนี้ ย่อมมีสิทธิที่จะยืนยันความคิดของตนและต่อสู้ต่อไป

การจัดประชามติแบบมาเฟียทำนองนี้มีมาแล้วหลายแห่งทั่วโลก กรณีที่ประชาชนช่วงชิงเอามาเป็นการประท้วงคณะทหารจนสำเร็จก็มี อาทิเช่น ที่ชิลีในปี 1988 ซึ่งจอมเผด็จการปิโนเชต์หวังใช้ประชามติสร้างความชอบธรรมแก่การต่ออายุอำนาจของคณะทหาร ฝ่ายต่อต้านเผด็จการขัดแย้งกันในระยะแรกว่าจะร่วมลงประชามติดีหรือไม่ แต่ในที่สุด พวกเขารวมพลังสำเร็จ แม้จะถูกข่มขู่รังแกสารพัด ประชาชนชาวชิลีข้างมากลงประชามติไม่ต้องการให้คณะทหารสืบอำนาจอีกต่อไป นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการอวสานของปิโนเชต์

ประชาชนพม่าที่ลงคะแนนให้พรรค N.L.D. ของออง ซาน ซูจี เมื่อปี 1989 ก็เช่นกัน พวกเขารู้อยู่เต็มอกว่า เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรมและแบบมาเฟีย คือคณะทหารข่มขู่ตลอดเวลาว่า หากเลือกพรรค N.L.D. พม่าจะไม่มีวันกลับคืนสู่ภาวะปกติ แต่แล้วชาวพม่าอาศัยการเลือกตั้งแบบมาเฟียนั่นเอง เป็นการออกเสียงประท้วงอำนาจเผด็จการทหาร ด้วยการเลือก N.L.D. จนชนะถล่มทลาย

6.ทางเลือก
การลงประชามติคราวนี้ถึงที่สุดคือ ท่านคิดอย่างไรกับอำนาจทหาร อภิชน อำมาตยาธิปไตยในการเมืองไทย กล่าวคือ

1) หากท่านเห็นว่า ระบอบทหาร อำมาตยาธิปไตยเหมาะสมดีกับสังคมไทยต่อไปนานๆ และ/หรือท่านเกลียดการเลือกตั้ง เกลียดนักการเมืองเข้ากระดูกดำ ท่านควรลงมติรับรัฐธรรมนูญ คมช. ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอ และต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของอภิชน และขุนนางข้าราชการผู้ใหญ่ทั้งหลาย ผ่านทางวุฒิสภาและตุลาการทั้งหลาย

2) หากท่านเชื่อว่า อำนาจเก่าของระบอบทักษิณจะกลับมา และจะพาประเทศสู่ความวิบัติฉิบหาย แถมประชาชนไม่ฉลาดพอจะรับมือได้ ระบบการเมืองอภิชนอำมาตยาธิปไตยพอรับได้มากกว่า ท่านควรลงมติรับรัฐธรรมนูญของ คมช.

3) หากท่านไม่ชอบ แต่ไม่ถึงขนาดเกลียดกลัวทั้งระบอบทักษิณและ คมช. แต่ท่านเห็นว่าการปกครองโดยคณะทหารมาไกลพอแล้ว หากมากกว่านี้ นานกว่านี้ อาจส่งผลเสียหายต่อประเทศชาติ ท่านควรส่งเสียงดังให้ คมช. รู้ว่าพอแล้ว ไปได้แล้ว ด้วยการ ลงมติไม่รับรัฐธรรมนูญ คมช. และร่วมเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540

4) หากท่านปฏิเสธอำนาจเก่าคร่ำครึของระบอบทหาร อำมาตยาธิปไตย และ/หรือเห็นว่าการรัฐประหาร 19 กันยาและระบอบ คมช. เป็นความผิดพลาด ท่านควรลงมติไม่รับ ไม่ว่าท่านจะชอบหรือไม่ชอบทักษิณก็ตาม

5) หากท่านยังลังเลระหว่างอำนาจเก่าของทักษิณ กับอำนาจเก่ากว่าของระบอบทหารและข้าราชการผู้ใหญ่ การตัดสินใจของท่านขึ้นอยู่กับการประเมินของท่านว่า

- ทักษิณน่ากลัวขนาดไหน และมีโอกาสกลับมาอีกมากน้อยแค่ไหน
- ระบอบทหารและข้าราชการผู้ใหญ่ จะเป็นทางออกหรือเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตยไทยกันแน่แค่ไหน ระบอบนี้กำลังมีอำนาจอยู่และมีโอกาสอยู่ต่อไปอีกนาน ท่านต้องการเช่นนั้นหรือไม่

7. ไม่รับรัฐธรรมนูญคือการปฏิเสธระบอบทหาร
การลงประชามติคราวนี้ถึงที่สุดคือ ท่านคิดอย่างไรกับระบอบทหาร อำมาตยาธิปไตยในการเมืองไทย
รับ-ไม่รับรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการออกเสียงต่อระบอบทหาร อำมาตยาธิปไตยในการเมืองไทย

เราท่านส่วนใหญ่ไม่ใช่พวกขี่หลังเสือ จนต้องกลัวโดนคิดบัญชีกลับอย่างผู้มีอำนาจใน คมช. ผู้นำพันธมิตร หรือบริกรทั้งหลายของ คมช. แต่เราท่านส่วนใหญ่คือประชาชนผู้ต้องทนอยู่กับผลกระทบของปัจจุบันไปอีกนานในอนาคต การลงประชามติที่กำลังจะมาถึง แม้จะเป็นประชามติแบบมาเฟีย แต่ก็เป็นโอกาสที่จะต่อสู้อย่างสันติ เพื่อส่งเสียงว่าเราต้องการอนาคตแบบไหน คิดให้รอบคอบ คิดให้ไกล และกล้าหาญ อย่าคิดเพียงแค่ว่าการลงมติรับจะเป็นการหลุดพ้นจากความอึดอัดปัจจุบัน เพราะแท้ที่จริงเป็นแค่การซื้อเวลา เพื่อรอการระเบิดในอนาคต

อย่า "หงอ" กับท่าทีแบบมาเฟีย ที่ขู่เราว่า "ไม่รับอาจเจ็บตัว" หรือมีดาบซ่อนอยู่ข้างหลัง

ขอทุกท่านที่ไม่ต้องการระบอบทหารครองเมือง มาร่วมกันออกเสียง "ไม่รับ" เพื่อบอกทหารว่า
"กลับกรมกองเสียเถิด อย่าให้ประเทศชาติพินาศไปกว่านี้เลย"


2. มองมุมใหม่: บทเรียนจากรัฐประหาร 19 ก.ย.49
ชำนาญ จันทร์เรือง : นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

การรัฐประหารเกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งที่ทวีความเข้มข้น จนมีผู้คาดการณ์ว่าอาจจะเกิดความรุนแรงขึ้นได้ในทุกขณะ กอปรกับบัญชีโยกย้ายนายทหารมีการล้วงลูกกันอย่างเมามัน จนในที่สุด ก็มีการยึดอำนาจรัฐบาลที่ขึ้นชื่อว่ามาจากการเลือกตั้ง แต่ก็มีการซื้อสิทธิขายเสียงกันอย่างหนัก จนหลายพรรคถูกยุบไปด้วยเหตุดังกล่าวนี้

ผลที่ตามมาภายหลังการรัฐประหารมีทั้งเสียงชื่นชมยินดี จนถึงขนาดมีการนำดอกไม้ไปมอบให้เหล่าทหารหาญทั้งหลาย พร้อมกับเต๊ะท่าถ่ายรูปคู่รถถังกันอย่างสนุกสนาน แต่ในด้านตรงข้ามก็มาพร้อมกับเสียงก่นด่าของผู้สูญเสียอำนาจและนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาของประชาธิปไตย ด้วยการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจ โดยเห็นว่าเป็นวิธีการที่คิดสั้นและมักง่าย

อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารคราวนี้ได้ทำให้เราได้รู้ถึงสัจธรรมอะไรหลายๆ อย่าง อาทิเช่น

1) ทำให้รู้ว่าแม้ว่าจะมีเสียงในสภาถึง 370 กว่าเสียง ก็อาจถูกเตะออกจากบัลลังก์แห่งอำนาจได้หากบังอาจอหังการต่อทหารหรือผู้มีบารมี

2) ทำให้รู้ว่าประเทศเราสามารถประกาศกฎอัยการศึกอย่างไม่มีกำหนดได้ ในสถานการณ์ที่ไม่ใช่ศึกสงคราม หรือเกิดการจลาจล

3) ทำให้รู้ว่าชาวต่างชาติที่มาเมืองไทย มีความมั่นใจในความปลอดภัยอย่างแน่นอน เพราะมีทหารเต็มไปหมดนับแต่ย่างก้าวลงเหยียบสนามบินและด่านสกัดตามถนนหนทาง (แต่ว่าจะรู้สึกหนาวในขณะที่กำลังท่องเที่ยวท่ามกลางอากาศที่ร้อนจ้านั้นหรือเปล่าก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

4) ทำให้รู้ว่าทหารไทยทำได้ทุกอย่าง ยกเว้นการบริหารบ้านเมืองและการรบกับโจรใต้

5) ทำให้รู้ว่าประเทศไทยเรามีหนึ่งประเทศแต่มีสองรัฐบาล มี คมช.ซ้อน ครม.

6) ทำให้รู้ว่ารัฐประหารสมัยใหม่นั้นหน่อมแน้ม เพราะหลงเชื่อในคำแนะนำของเนติบริกรว่า การใช้วิธีการสลายฝ่ายตรงข้ามโดยใช้วิธีการตั้ง คตส.หรือคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมา แล้วตนเองจะรอดพ้นถูกด่า

7) ทำให้รู้ว่าการทำรัฐประหารในเมืองไทย สามารถกระเทือนไปถึงสิงคโปร์ได้

8) ทำให้รู้ว่าชื่อของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เวลาให้กระทรวงการต่างประเทศแปลเป็นภาษาต่างด้าวกลับตัดประโยคสุดท้ายออก โดยอ้างว่ากลัวคนต่างชาติจะเข้าใจผิด แต่กลับไม่กลัวคนไทยจะเข้าใจผิด

9) ทำให้รู้ว่าเวลาเราจะเดินทางเป็นหมู่คณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ต้องไปขออนุญาตต่อทหาร แทนที่จะขออนุญาตต่อบิดามารดาหรือสามีภรรยาของตนเอง

10) ทำให้รู้ว่าเรามีบุพการีเพิ่มขึ้นในเวลาที่เราเปิดเวบที่เราชอบ โดยจะมียักษ์เขียวตาเดียวมาบอกเราว่า เวบนี้มีข้อความไม่เหมาะสม จึงต้องบล็อกเวบนี้เสีย ทั้งๆ ที่คนที่บล็อกอาจจะอายุน้อยกว่าลูกคนเล็กเราเสียอีก

11) ทำให้รู้ว่าผู้ที่สูญเสียอำนาจนั้นยอมทำทุกอย่าง เพื่อให้ตนเองกลับคืนสู่อำนาจ โดยไม่สนใจว่าผู้คนจะได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของตนขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็นการเผาโรงเรียน ก่อม็อบหรือลงทุนซื้อทีมฟุตบอลอังกฤษเพียงเพื่อไม่ให้คนลืมตนเอง

12) ทำให้รู้ว่าในแวดวงสื่อมีทั้งสื่อแท้ สื่อเทียม สื่อในคราบของนักธุรกิจ นักธุรกิจในคราบของสื่อ สื่อในคราบของนักการเมือง นักการเมืองในคราบของสื่อ ฯลฯ

13) ทำให้รู้ว่าในแวดวงวิชาการมีทั้งนักวิชาการที่แท้จริง นักวิชาการจอมปลอม นักวิชาการอีแอบ นักเนติบริกร นักรัฐศาสตร์บริการ ฯลฯ

14) ทำให้รู้ว่ามหาวิทยาลัยกลางวันนั้นไม่มีน้ำยาในการชี้นำสังคมให้เห็นถึงพิษภัยของเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการที่มาจากปากกระบอกปืน หรือมาจากเผด็จการรัฐสภา จนต้องให้มหาวิทยาลัยกลางคืนออกมาชี้นำ จนต้องเปิดหลักสูตรสอนประชาธิปไตยกันสดๆ ที่อาคาร กกต.ฯลฯ

15) ทำให้เรารู้ว่าคำกล่าวที่ว่า "ศัตรูของศัตรูคือมิตร" นั้นเป็นความจริง เพราะช่วงหลังรัฐประหารใหม่ๆ นั้น
ผู้คนแบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

กลุ่มแรก เอารัฐประหารแต่ไม่เอาทักษิณ
กลุ่มที่สอง ไม่เอาทั้งรัฐประหารและไม่เอาทักษิณ
กลุ่มที่สาม ไม่เอารัฐประหารแต่เอาทักษิณ
กลุ่มที่สี่ เอาทั้งทักษิณและเอารัฐประหาร

ซึ่งตอนนี้เหลือเพียงสองฝ่าย คือฝ่ายที่เอารัฐประหารโดยการรณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญกับฝ่ายที่ไม่เอารัฐประหารโดยการรณรงค์ไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยถือว่าการล้มร่างรัฐธรรมนูญ คือการล้มรัฐประหารนั่นเอง

16) ทำให้รู้ว่า ส.ส.ร.คิดว่าประชาชนนั้นกินแกลบ เพราะร่างรัฐธรรมนูญให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งส่วนหนึ่ง และให้เลือกตั้งจังหวัดละคนอีกส่วนหนึ่ง ทั้งๆ ที่แต่ละจังหวัดมีจำนวนประชากรไม่เท่ากันและมิได้เป็นรัฐในรูปแบบของสหพันธรัฐหรือสหรัฐแต่อย่างใด มิหนำซ้ำการเลือกตั้ง ส.ส. ก็ใช้วิธีแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ เขตละไม่เกินสามคน และแบ่งเป็นภาคอีก 8 ภาคๆ ละสิบคน โดยให้เหตุผลว่าเป็นวิธีการที่ดีกว่าเดิมที่ตัวแทนของเขามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และประชาชนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเลือกผู้ที่จะมาเป็นตัวแทนของตน

17) ทำให้รู้ว่าในเมืองไทยเรานี้ แม้แต่ประธานองคมนตรีที่ถือกันว่า ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมืองก็ถูกเดินขบวนประท้วงและกล่าวปราศรัยโจมตี และก็มีผู้ที่ออกมาเดินขบวนประท้วงผู้ประท้วงเช่นกัน ซึ่งคิดว่าคงมีประเทศเดียวในโลก

18) ทำให้รู้ว่าไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปเนิ่นนานเพียงใด คณะรัฐประหารจะต้องสืบทอดอำนาจทางการเมืองเสมอ แม้ว่าในตอนเริ่มแรกจะบอกแล้วบอกอีกว่า ไม่ต้องการแสวงหาอำนาจ เพียงแต่เปลี่ยนคำอธิบายจาก "เสียสัตย์เพื่อชาติ" มาเป็น "The old soldiers never die" โดยให้เหตุผลว่าเมื่อเป็นทหารแล้วต้องเป็นจนตายและต้องรับใช้ชาติจนตาย ฉะนั้น เมื่อการดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือการรับใช้ชาติอย่างหนึ่ง คณะรัฐประหารก็จึงต้องแสวงหาอำนาจเพื่อรับใช้ชาติเช่นกัน

อันที่จริงแล้วคำว่า never die นั้น หมายถึง never die ในสนามรบ ไม่ใช่ในสนามการเมือง อย่าลืมว่าทหารนั้นเมื่อกระโจนเข้าสู่การเมือง ไม่ว่าจะโดยการเลือกตั้งหรือลากตั้งก็ตาม มักจะกลายเป็นศพเสมอ ตัวอย่างก็มีให้เห็นอยู่หลายศพ และบางศพยังคงมีชีวิตอยู่อย่างน่าเวทนา

คงมีอีกมากมายที่เป็นบทเรียนของการรัฐประหารครั้งนี้ ที่ทำให้คนไทยเรามีความรู้เท่าทันการเมืองเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนไปเรียนในห้องเรียนให้ปวดหลังปวดเอว และที่สำคัญขณะนี้ นักวิชาการทั่วโลกกำลังศึกษาการเมืองไทยกันอย่างขะมักเขม้น เพราะไม่สามารถนำทฤษฎีการเมืองที่เล่าเรียนมาอธิบายได้ จนต้องแทบฉีกตำราทิ้งไปตามๆ กัน

3. ร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ (ฉบับสมบูรณ์)

ร่างรัฐธรรมนูญปี ๕๐ (ฉบับสมบูรณ์) สามารถ download ได้จากที่นี่
สำหรับ (๑) แถวหนังสือสีส้มเป็นร่างรัฐธรรมนุญ ในรูป .doc (ขนาดความจุของไฟล์ 518 kb.)
ส่วน (๒) แถวหนังสือสีเหลืองเป็นร่างรัฐธรรมนูญ ในรูป .pdf (ขนาดความจุของไฟล์ 688 kb.)


(๑) ประชาชน นักศึกษา นักวิชาการ ที่สนใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๕๐ สามารถคลิกไป download ได้จากที่นี่
(๒) ประชาชน นักศึกษา นักวิชาการ ที่สนใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๕๐ สามารถคลิกไป download ได้จากที่นี่

 

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com