บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช:
บทสัมภาษณ์โดยชาวตะวันตก
เชอเกียม
ตรุงปะ: หลายสิ่งดูจะชัดเจนขึ้นยามเมื่อคุณจนมุม
แปลและเรียบเรียง
โดย วิจักขณ์ พานิช
นักวิชาการอิสระ ผู้สนใจพระพุทธศาสนาแบบทิเบต
บทความวิชาการนี้
กองบรรณาธิการได้รับมาจากผู้แปล
บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้มีขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๕
ณ เวลานั้นเชอเกียม ตรุงปะ เพิ่งเริ่มสอนพุทธศาสนาในประเทศสหรัฐอเมริกาได้เพียง
๕ ห้าปีเศษเท่านั้น
กว่า ๓๐ ปีผ่านไป พุทธศาสนาทิเบตได้หยั่งรากและกำลังงอกงามบนผืนดินซีกโลกตะวันตก
และธรรมาจารย์ชาวทิเบตรุ่นหลังได้กระจายไปเผยแผ่พุทธธรรมในทั่วทุกมุมโลก
อย่างไรก็ตาม ข้อความที่เชอเกียม ตรุงปะพยายามสื่อสารถึงผู้ปฏิบัติธรรมชาวตะวันตกในบทสัมภาษณ์นี้
ยังคงทันกับยุคสมัยและสามารถนำมาใช้ได้กับผู้ปฏิบัติธรรมในโลกสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๒๙๓
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑ กรกฎาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๐ หน้ากระดาษ A4)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช:
บทสัมภาษณ์โดยชาวตะวันตก
เชอเกียม
ตรุงปะ: หลายสิ่งดูจะชัดเจนขึ้นยามเมื่อคุณจนมุม
แปลและเรียบเรียง
โดย วิจักขณ์ พานิช
นักวิชาการอิสระ ผู้สนใจพระพุทธศาสนาแบบทิเบต
ความนำ
เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช (ค.ศ. ๑๙๔๐- ๑๙๘๗) วัชราจารย์ชาวทิเบต ผู้ใช้เวลากว่า
๒๐ ปี ในการเผยแผ่พุทธศาสนาในซีกโลกตะวันตก เขาได้ก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติธรรมชัมบาลากว่า
๑๐๐ ศูนย์ทั่วทั้งทวีปอเมริกาและยุโรป ก่อตั้งมหาวิทยาลัยนาโรปะ มหาวิทยาลัยแนวพุทธในเมืองโบลเดอร์
รัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา และมีงานเขียนที่ตีพิมพ์แล้วกว่า ๔๐ เล่ม
เชอเกียม ตรุงปะ เป็นธรรมาจารย์ชาวทิเบตเพียงไม่กี่ท่าน ที่ยอมทิ้งคราบของความเป็นพระ และวัฒนธรรมทิเบตที่เขาเติบโตมา เพื่อการทำความเข้าใจชีวิตนักเรียนชาวตะวันตกของเขาอย่างไม่ถือตน คำสอนสำคัญในเรื่อง "วัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ" ถือเป็นการกระตุ้นเตือนให้ชาวพุทธได้หันกลับมามอง ในเรื่องของการใช้หลักธรรมหรือภาพลักษณ์ความสูงส่งทางจิตวิญญาณเพียงเพื่อการหลอกตัวเอง อย่างปราศจากการนำพุทธธรรมมาฝึกฝนปฏิบัติจริงในชีวิต
บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้มีขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๕ ณ เวลานั้นเชอเกียม ตรุงปะ เพิ่งเริ่มสอนพุทธศาสนาในประเทศสหรัฐอเมริกาได้เพียงห้าปีเศษเท่านั้น กว่าสามสิบปีผ่านไป พุทธศาสนาทิเบตได้หยั่งรากและกำลังงอกงามบนผืนดินซีกโลกตะวันตก และธรรมาจารย์ชาวทิเบตรุ่นหลังได้กระจายไปเผยแผ่พุทธธรรมในทั่วทุกมุมโลก แต่ข้อความที่เชอเกียม ตรุงปะพยายามสื่อสารถึงผู้ปฏิบัติธรรมชาวตะวันตกในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ยังคงทันกับยุคสมัยและสามารถนำมาใช้ได้กับผู้ปฏิบัติธรรมในโลกสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี
ท่ามกลางกระแสความตื่นตาตื่นใจในความแปลกใหม่ของพุทธศาสนาวัชรยานในบ้านเรา บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้น่าจะทำหน้าที่เป็นข้อเตือนใจให้แก่ผู้ปฏิบัติธรรมชาวไทยได้ไม่มากก็น้อย
เรี่มบทสัมภาษณ์
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คุณมองเห็นความเป็นไปได้แค่ไหนที่คนอเมริกันจะสามารถฝึกฝนพุทธตันตระ
เพราะดูเหมือนว่าแนวโน้มของวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณจะมีความรุนแรงมาก อีกทั้งคนอเมริกันดูจะมีพื้นฐานในเรื่องของการปฏิบัติทางจิตวิญญาณน้อยมาก
เมื่อเทียบกับคนทิเบต
ประเทศพุทธในแถบเอเชียต่างกำลังประสบกับวิกฤติทางจิตวิญญาณ วิถีการปฏิบัติถูกลดความสำคัญลง
สายการปฏิบัติเริ่มขาดช่วงและเลือนหาย อิทธิพลของวัตถุนิยมและบริโภคนิยมแผ่กระจายไปทั่ว
เกิดการคอรัปชั่นในองค์กรทางศาสนาทั่วทุกแห่งหน แม้ประเทศทิเบตจะถูกยึดครองโดยกองทัพจีนโดยสมบูรณ์
เราชาวทิเบตยังถือว่าโชคดีมาก เพราะยังหลงเหลือคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่รอดมาได้ด้วยเลือดอุ่นๆ
ของการฝึกฝนทางจิตวิญญาณอย่างเข้มข้น ด้วยพลังการตื่นรู้ที่อยู่ในหัวใจของคนกลุ่มนี้
จะเป็นโอกาสให้พุทธธรรมสามารถถูกสืบทอดต่อไปได้ ไม่เช่นนั้นสถานการณ์ทั้งหมดคงเป็นได้เพียงภาพความตายอย่างช้าๆ
ส่วนในเรื่องของการเผยแผ่พุทธธรรมในประเทศอเมริกา เราไม่ได้ให้ความสนใจไปที่การปรับเอาวัฒนธรรมทิเบตมาใช้ที่นี่
เราแค่ต้องการที่จะฝึกฝนหลักคำสอนในวิถีทางที่เหมาะสม ธรรมาจารย์ชาวทิเบตจำเป็นที่จะต้องให้ความเคารพแก่ภาษา
วิธีคิด การสื่อสาร และความเข้าใจชีวิตในแบบของชาวตะวันตก ในฐานะรากฐานของการสื่อสารปัญญาญาณแห่งวิถีพุทธ
จากนั้นเมื่อผู้คนที่นี่ได้เริ่มฝึกฝน จนมีความเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้งมากขึ้น
รูปแบบ ประเพณี และวัฒนธรรมบนฐานแห่งการตื่นรู้ก็จะเริ่มก่อตัวขึ้นเองอย่างเป็นธรรมชาติ
หากเราคิดจะไปยัดเยียดแบบแผนพิธีกรรมให้พวกเขาตั้งแต่เริ่มต้นเสียแล้ว
ผลลัพธ์ที่ได้ก็คงเป็นแค่ความตื่นตาตื่นใจในวัฒนธรรมการรู้แจ้งทางจิตวิญญาณของชนชาติทิเบตอย่างผิวเผิน
ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ข้อความสำคัญก็ไม่ได้ถูกส่งถึงผู้รับสาร เราจำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยแนวทางที่ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรมากมาย
จากนั้นจึงค่อยๆ เพิ่มความเคร่งครัดมากขึ้นทีละน้อย หนทางนี้น่าจะเปิดโอกาสให้ชาวตะวันตกสามารถซึมซับและเข้าใจแก่นของพุทธธรรมได้อย่างแท้จริง
ในหนังสือ "เกิดในทิเบต" คุณได้อธิบายถึงแรงบันดาลใจของการปรับเข้าหาวัฒนธรรมตะวันตก
โดยการสละผ้าเหลือง เพื่อจะได้สามารถใช้ชีวิตฆราวาสร่วมกับนักเรียนของคุณ
ชาวทิเบตจำเป็นที่จะต้องตัดผ่านเมฆหมอกแห่งความตื่นตาตื่นใจทางวัฒนธรรม และโลกทัศน์วิทยาศาสตร์วัตถุนิยมเข้าไปให้ได้
ธรรมาจารย์หลายท่านเลือกที่จะเผชิญกับความเป็นจริงอย่างยั้งๆ หรือไม่ก็ระมัดระวังจนเกินเหตุจนถึงขนาดเลือกที่จะไม่พยายามสื่อสารอะไรเลยก็มี
บางครั้งเราจะเห็นพวกเขาแสดงธรรมแบบตีฝีปากกับโลกสมัยใหม่ ใช้กลยุทธ์ทางการทูตเชื่อมสัมพันธไมตรีแบบฉาบฉวย
แต่ในใจกลับมีความกลัวอะไรบางอย่างปกคลุมอยู่
พูดง่ายๆว่าธรรมาจารย์ที่เติบโตมาในวิถีปฏิบัติสมัยเก่า ยังไม่มีความเชื่อว่าสิ่งที่เรียกว่าพุทธธรรมในโลกสมัยใหม่จะเกิดขึ้นได้
ธรรมาจารย์บางคนถึงกับมองวัฒนธรรมสมัยใหม่เป็นเรื่องตลก เป็นเรื่องโสโครกอย่างโลกๆ
ตามความเชื่อบ้าบอแบบไสยศาสตร์ตะวันตก ผมมองว่าถึงเวลาที่เราจะต้องตัดผ่านเมฆหมอกเหล่านี้ไปให้ได้
ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีทางที่เราจะสามารถสืบทอดคุณค่าแห่งพุทธธรรมสู่คนรุ่นต่อๆ ไปได้เลย
ก่อนที่ผมจะมาที่ประเทศอเมริกา ผมเห็นข้อจำกัดที่ว่านั้นในตนเอง สิ่งที่ผมได้ตระหนักก็คือ ผมจำเป็นจะต้องให้ความเข้าใจแก่นักเรียนของผมมากขึ้น เราไม่จำเป็นต้องโยนเอาความคาดหวังหรืออุดมคติอันสูงส่งไปให้พวกเขาแบกไว้ให้เมื่อย สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่ากลับเป็นเรื่องง่ายๆ อย่างการสื่อสารด้วยหัวใจอย่างตรงไปตรงมา และการแสดงธรรมคำสอนในรูปแบบของการดำเนินชีวิตประจำวัน เหล่าธรรมาจารย์ทั้งหลายจะต้องกล้าที่จะลงมาจากอาสนะหรือแท่นบัลลังก์อันสูงส่ง เพื่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในระดับเดียวกันกับศิษย์ ไม่เช่นนั้นพุทธธรรมก็ยังถูกมองเป็นวัตถุล้ำค่าที่พระสงฆ์องค์เจ้าเฝ้าแสดงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ เอาแต่รอให้ศิษย์เข้ามาก้มกราบ แล้วจึงหยิบยื่นคำสอนให้กันราวกับวัตถุโบราณที่แลกเปลี่ยนซื้อขายกันในท้องตลาด นั่นคือข้อความที่ส่งถึงผมขณะที่ผมใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอังกฤษ "เธอจะต้องลงมาจากหลังม้า สู่การเดินดินใช้ชีวิตธรรมดาร่วมทุกข์ร่วมสุขกับผู้คน"
ก้าวแรกคือ การพูดคุยทำความรู้จัก จากนั้นจึงเป็นเพื่อนกับเขา ความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนอาจทำให้เขารู้สึกชื่นชมในวิถีการดำเนินชีวิตของเรา อันบ่งบอกถึงคุณค่าที่แท้แห่งพุทธธรรมที่เราต้องการจะถ่ายทอด จากนั้นเราจึงค่อยๆ พัฒนาสู่ความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์กับอาจารย์อย่างเป็นธรรมชาติ โดยยังรักษาการสื่อสารที่ตรงไปตรงมาในระดับสายตาเอาไว้ ในฐานะรากฐานที่แสดงว่าคำสอนและผู้สอนไม่ได้เป็นสิ่งที่แยกขาดจากกัน
อะไรคือความหมายของคำว่า
"คุรุ" และความสัมพันธ์ระหว่างคุรุกับศิษย์
ความหมายของคำว่าคุรุนั้นแบ่งออกได้เป็น ๓ ขั้นด้วยกัน. ในขั้นต้น คุรุ คือ ปราชญ์
ผู้มีความรู้ที่สามารถสอนคนอื่นได้ ในขั้นนี้ศิษย์มองไปที่คุรุด้วยความเคารพรักราวกับพ่อแม่
เราในฐานะศิษย์เหมือนกับทารกที่ทำอะไรด้วยตนเองไม่ได้ อาจารย์ต้องคอยป้อนนม ป้อนน้ำ
เช็ดขี้ เช็ดเยี่ยว สอนเราให้รู้จักดูแลตัวเองในทุกๆ เรื่อง จากนั้นเมื่อเราพอที่จะยืนด้วยลำแข้งตัวเอง
รับผิดชอบตัวเองได้แล้ว ความสัมพันธ์ของศิษย์กับคุรุก็จะพัฒนาไปเป็นความสัมพันธ์แบบกัลยาณมิตร
หรือเพื่อนเดินทาง ในขั้นนี้คุรุจะคอยให้กำลังใจแทนที่จะเป็นการจูงมือกันไปเหมือนแต่ก่อน
ในความสัมพันธ์ในขั้นของวัชรยาน คุรุเปรียบเสมือนนักรบ ผู้ที่แสดงให้เราเห็นถึงการดำเนินชีวิต
การเผชิญหน้ากับปัญหา และการสร้างความสัมพันธ์กับโลกอันกว้างใหญ่อย่างองอาจและสง่างาม
หน้าที่ของคุรุในแง่มุมนี้เป็นสิ่งที่มีพลังมาก คุรุเปรียบได้กับธรรมราชาผู้ปกครองโลกให้อยู่ในความผาสุก
แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ได้แบ่งปันโลกของเขาให้แก่ศิษย์ไปด้วย ธรรมราชาผู้นี้ไม่ได้ดูถูกพลเมืองว่าสกปรกหรือต่ำต้อย
เขาได้ให้เกียรติ มอบความเชื่อมั่นและศักดิ์ศรีให้กับศิษย์ทุกคนราวกับว่า เมื่อคุณได้มอบชีวิตให้แก่การฝึกฝนปฏิบัติธรรม
คุณก็สามารถดำรงชีวิตด้วยศักดิ์ศรีและเสรีภาพได้อย่างเท่าเทียม
คุณได้บอกว่าอาจจะต้องใช้เวลาถึง ๒๐-๓๐ ปี กว่าที่วัชรยานจะสามารถหยั่งรากในตะวันตกได้โดยสมบูรณ์
ณ จุดนี้คุณได้สร้างพื้นฐานให้กับนักเรียนของคุณอย่างไรบ้าง
วัชรยานเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายมาก มันเป็นคำสอนที่ห้วนๆ และตรงไปตรงมาอย่างที่สุด
อาจจะเรียกได้ว่าพุทธธรรมในขั้นของวัชรยาน สื่อสารไปที่หัวใจอันเปล่าเปลือยของคุณโดยตรง
เพราะความง่ายๆแสนธรรมดาและตรงไปตรงมานี้เอง ที่ทำให้วัชรยานเป็นคำสอนที่มีพลังที่สุดและง่ายต่อการเข้าใจผิดได้มากที่สุดเช่นเดียวกัน
ความเปล่าเปลือยของพุทธธรรมขั้นวัชรยานส่งผลให้คนทั่วไปไม่สามารถเข้าใจได้ หากปราศจากซึ่งการฝึกฝนขั้นพื้นฐานมาก่อน
คุณต้องเข้าใจว่า นี่คือความหมายของพลังแห่งการตื่นรู้ตามวิถีอเทวนิยม เราไม่มีพระเจ้าจากฟากฟ้าเบื้องบนมาช่วยบันดลให้เรารู้แจ้ง
มนุษย์ทุกคนมีพุทธสภาวะเป็นธรรมชาติพื้นฐานอยู่แล้ว ปัญหาก็คือ มันถูกปกคลุมไว้ด้วยเมฆหมอกแห่งสมมติสัจจะที่เราถูกสอนมาตั้งแต่เด็ก
เราจึงไม่สามารถเข้าใจโลกตามที่เป็นจริงได้ จึงจำเป็นที่เราจะต้องค่อยๆ เรียนรู้ย้อนกลับสู่ธรรมชาติเดิมแท้
ลอกปอกเปลือกอัตตาไปจากรากฐานของหินยาน สู่มหายาน เราจึงจะสามารถเข้าใจสิ่งที่วัชรยานต้องการสื่อได้
นั่นคือความหมายของเส้นทางการฝึกฝนพุทธธรรม ในแง่ของพุทธพาหนะหรือไตรยาน
การฝึกฝนขั้นหินยานเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด คุณจะต้องเรียนรู้ที่จะบ่มเพาะความมีสติกับทุกรายละเอียดของชีวิต ตระหนักรู้ถึงความเป็นไปรอบตัว และเอาใจใส่กับเส้นทางชีวิตของตน จากนั้นจิตใจของเราก็จะเริ่มขยายกว้างขึ้นสู่ขั้นของมหายาน
ความพอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น และความสามารถที่จะดูแลรับผิดชอบชีวิตของตัวเองได้ในขั้นของหินยาน จะนำมาซึ่งความรักและความปรารถนาดีที่แผ่ซ่านและครอบคลุมสู่ผู้อื่นและสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างเป็นธรรมชาติ แทนที่เราจะต้องเผชิญหน้ากับโลกด้วยความหวาดกลัวเหมือนในอดีต เราได้ฝึกฝนจนหัวใจของเรากล้าที่จะเปิดเรียนรู้โลกอย่างไม่เขินอาย นั่นถือเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการฝึกฝนในขั้นของวัชรยาน
แม้แต่ในประเทศพุทธฝ่ายเถรวาทที่วัชรยานไม่ได้ถูกรวมไว้ในหลักคำสอน อริยบุคคลผู้ฝึกฝนจนรู้แจ้งได้ผ่านขั้นตอนของการเติบโตทางจิตวิญญาณในลักษณะเดียวกัน อาจจะกล่าวได้ว่า ไม่ว่าคุณจะฝึกอยู่ในสายปฏิบัติใด ท้ายที่สุดแล้วความสุกงอมทางจิตวิญญาณก็จะไปบรรจบกันที่ขั้นของวัชรยาน
นักเรียนของคุณได้เริ่มฝึกวัชรยานกันแล้วหรือยัง
พวกเขาจะต้องผ่านการฝึกนั่งสมาธิพื้นฐานมาแล้วหลายต่อหลายชั่วโมง กว่าจะถึงจุดที่เรียกได้ว่าพร้อม
แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ หัวใจที่พร้อมอุทิศตนให้กับเส้นทางสายนี้อย่างถึงที่สุด
ซึ่งดูจะเป็นสิ่งที่ค่อยๆ เกิดขึ้นตามการฝึกฝน ณ ขณะนี้ เรามีสมาชิกในสังฆะที่เมืองโบลเดอร์ประมาณ
๔๐๐ คน ในจำนวนนั้นมีประมาณ ๑๐๐ คนที่เป็นนักเรียนตันตระ แต่ก็เรียกได้ว่ายังอยู่ในขั้นอนุบาล
ซึ่งยังไม่สามารถเรียกว่าเป็นผู้ฝึกตันตระได้เสียทีเดียวนัก
เป็นไปได้หรือไม่ที่นักเรียนชาวอเมริกันของคุณจะสามารถพัฒนาตนเองได้รวดเร็วพอๆ
กับชาวทิเบตที่เติบโตมากับสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมพุทธ
ผมมองว่าเป็นไปได้ทั้งสองทาง บางครั้งคนที่เติบโตมาในประเทศพุทธก็พบกับอุปสรรคที่หนักหนาในรูปแบบที่ต่างออกไป
ด้วยประเพณีและวัฒนธรรมที่ส่งต่อกันมายาวนาน คุณก็อาจจะไปรับเอาหลักการ นิยาม
หรือความคาดหวังต่างๆ นานา เกี่ยวกับศาสนาหรือวิถีปฏิบัติทางจิตวิญญาณมาแบกไว้
แทนที่จะได้ค้นหาคุณค่าและความหมายที่แท้จริงในแบบของคุณเอง
ในเรื่องของภาษาก็มีส่วนมาก ประเทศที่รับเอาพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมได้นำเข้าภาษาบาลีหรือสันสกฤตมาใช้กันในชีวิตประจำวัน จนความหมายที่ลึกซึ้งของมันได้ผิดเพี้ยนไปมาก ภาษาพุทธได้กลายเป็นศัพท์สูงหรือศัพท์เทคนิค ที่แสดงถึงสิ่งอื่นที่ไม่ใช่พุทธธรรม เช่น สถานะทางสังคม การศึกษา หรือพิธีรีตอง เป็นต้น ซึ่งผมมองว่าเปลือกความผิดเพี้ยนเหล่านี้ได้พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงหัวใจแห่งพุทธธรรมอย่างน่าเศร้า
ในหลายๆ ทาง ผมคิดว่าชาวอเมริกันดูจะมีเหตุปัจจัยที่ดีกว่าในข้อนี้ ภาษาที่เราใช้ในการสื่อสารพุทธธรรมในโลกตะวันตก เป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง ทุกสิ่งเกิดขึ้นอย่างสดใหม่ ซึ่งผมมองว่าเป็นสิ่งที่ชาวอเมริกันจะได้ประโยชน์สูงสุดจากพุทธธรรม ที่ปลอดจากหลักการความคาดหวังทางวัฒนธรรม แต่ในอีกทางหนึ่งเมื่อคุณไม่มีวัฒนธรรม ไม่มีประเพณีเป็นภาชนะรองรับ คุณก็อาจหลงทางได้ง่ายกว่า ดังนั้นคุณจำเป็นจะต้องรู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่ และความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับอาจารย์ก็จะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้มาก
นอกเหนือจากส่วนของความน่าตื่นตาตื่นใจแล้ว
กระบวนการที่เรียกว่าตันตระที่แท้นั้นแสดงถึงอะไรบ้าง
สิ่งสำคัญที่สุดคือ สิ่งที่เราเรียกกันว่า "สายธรรม (Lineage)" ไม่ใช่หนังสือ
ประเพณี หรือ พิธีกรรมที่ถูกยื่นให้ต่อๆ กันมา ธารธรรมที่ว่านั้นเป็นประสบการณ์ตรงของการเปลี่ยนแปลงด้านในของผู้ฝึกฝน
เป็นประสบการณ์การรู้แจ้งในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ที่ผู้ฝึกเริ่มรู้สึกได้ด้วยตัวของเขาเอง
จริงๆ แล้วมันเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา หากคุณทุ่มเทให้กับการฝึกฝนอย่างถวายชีวิต
ผู้ฝึกค่อยๆ สะสมประสบการณ์ใหม่ๆ จากสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากอาจารย์ของเขา อาจารย์ผู้ซึ่งเคยผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาก่อนจากการฝึกกับอาจารย์ของเขาเช่นเดียวกัน
สายธรรมที่มีชีวิตได้ถูกส่งผ่านต่อกันอย่างไม่ขาดสายด้วยการพบกันของสองจิต สิ่งนี้ทำให้วิถีแห่งตันตระมีพลังยิ่งกว่าสายปฏิบัติไหนๆ
ตันตระไม่ต้องการที่พึ่งใดๆ จากภายนอก ขอเพียงแค่อาจารย์กับศิษย์สั่งสอนและฝึกฝนร่วมกัน
ตราบใดที่การถ่ายทอดประสบการณ์แห่งธรรมชาติเดิมแท้ของจิตในรูปแบบตัวต่อตัวเช่นนี้ยังคงอยู่
สายธรรมแห่งตันตระก็จะยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างไม่ขาดสาย
เพื่อนของผมคนหนึ่งเล่าประสบการณ์การไปร่วมฟังปาฐกถาของคุณ
พวกเขาได้เห็นนิมิตของท่านมาร์ปะ และมิลาเรปะ อีกทั้งยังรู้สึกถึงพลังบางอย่างที่ไม่สามารถอธิบายได้จากตัวคุณ
การส่งทอดธารธรรมที่ว่านั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร
อืม..ผมค่อนข้างจะตั้งข้อสงสัยกับประสบการณ์นิมิตจำพวกนั้นอยู่นะ (หัวเราะ) แต่สำหรับนักเรียนผู้ที่อุทิศตนให้กับพุทธธรรมจริงๆ
ผมมองว่ามันเป็นเรื่องของการไม่มีทางเลือกมากกว่า คือคุณไม่มีพื้นที่ให้กับการหันหลังกลับไปหมกมุ่นกับแบบแผนชีวิตว่ายวนอย่างในอดีตอีกต่อไป
"สิ่งต่างๆดูจะชัดเจนขึ้นยามที่คุณจนมุม" แทนที่จะถูกบังคับขู่เข็ญ
ลักพาตัว หรือคุมขัง เมื่อคุณหมดทางเลือก คุณยอมแพ้ เลิกขัดขืนชีวิตโดยสิ้นเชิง
เมื่อบางสิ่งบางอย่างได้ถูกปล่อยวาง คุณได้เริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งที่สมบูรณ์กับการภาวนา
แทนที่จะมองว่าการภาวนาเป็นทางเลือก
ณ จุดนั้น อาจเป็นครั้งแรกที่คุณได้เข้าไปสัมผัสกับชีวิตของตัวเองจริงๆ พอคุณหมดทางเลือก
คุณยอมแพ้ ยอมศิโรราบ คุณได้ยอมให้พุทธธรรมแทรกซึมเข้าไปในเลือดเนื้อด้วยการเริ่มฝึกภาวนา
เรียนรู้ที่จะหายใจเข้าออกอย่างถูกต้อง คุณรู้สึกราวกับได้เกิดใหม่ คุณอาจตระหนักได้ถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ
ในชีวิตที่คุณไม่เคยสัมผัสมาก่อน ลองมองให้ดีสิ...มันเป็นเรื่องง่ายๆ ของการศิโรราบหลักการทั้งหลายที่คุณแบกไปไหนมาไหน
แล้ว "ตื่น" เงยหน้าขึ้นมามองโลกตามที่เป็นจริง ชีวิตที่ตื่นนั้น เต็มเปี่ยมไปด้วยความร่ำรวยและพลังสร้างสรรค์
เมื่อเกิดวินาทีนั้นนักเรียนจะเริ่มรู้สึกให้คุณค่ากับคำสอนและตัวผู้ถ่ายทอด
ทั้งๆ ที่จริงแล้วตัวธรรมจารย์นั้นไม่ได้ทำอะไรเลย (หัวเราะ) การส่งทอดของสายธรรมเกิดขึ้นอยู่แล้วตลอดเวลาตามธรรมชาติ
ผู้ฝึกจะต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้างที่จะทำให้เขาสามารถปล่อยวางชีวิตเช่นนั้นได้
แทนที่จะต้องพยายามควบคุมชีวิตอยู่ตลอดเวลา
ในขั้นเริ่มต้นของการฝึก เวลาที่คุณพยายามนั่งขัดสมาธิหลับตานิ่ง นั่นยังถือว่าเป็นการแสร้งที่จะภาวนาแทนที่จะเป็นการภาวนาจริงๆ
ไม่ว่าคุณจะพยายามมากแค่ไหนมันก็ยังคงเป็นการดัดจริตอยู่ดี (หัวเราะ) แต่กระนั้นคุณก็ต้องนั่งไปเรื่อยๆ
จนถึงจุดหนึ่งคุณเริ่มรู้สึกถึงจิตที่วิ่งวุ่นไม่หยุดพัก แม้ข้างนอกจะดูสงบนิ่ง
แต่ข้างในดูจะมีเสียงซุบซิบนินทา คุณเริ่มรู้สึกสับสน ท้อแท้ และหดหู่ นั่นคือจุดที่คุณเริ่มเฝ้าดูตัวเองอย่างจริงจัง
คุณเริ่มตระหนักว่าคุณไม่ได้ดัดจริตอีกต่อไป คุณกำลังภาวนาเฝ้าดูจิตใจตัวเองอยู่จริงๆ!
ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ มันเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต ทางจิตวิญญาณและการทำความรู้จักกับชีวิตของคุณเอง คุณพบว่าคุณได้ค่อยๆ เข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับอารมณ์ในแง่มุมต่างๆ ทุกอย่างยังคงอยู่ในแบบของมัน การภาวนาไม่ได้ช่วยให้คุณเปลี่ยนเป็นคนใหม่ หรือสลัดส่วนแย่ๆ ของชีวิตคุณทิ้งไปได้ คุณยอมรับที่จะล้มเลิกความคาดหวัง คุณเปลี่ยนทัศนคติจากการกำจัดเป็นการยอมรับ คุณจนมุม หมดทางสู้โดยสมบูรณ์ คุณยอมตายโดยสันติ ...ณ จุดนั้นดูเหมือนจะมีบางอย่าง "คลิ๊ก"
เพื่อที่จะเกิดกระบวนการที่ว่านั้น
การปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอยังถือเป็นสิ่งสำคัญใช่หรือไม่
แน่นอนที่สุด เราไม่ได้กำลังพูดกันถึงหลักการทางปรัชญา มันจะต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของคุณเองจริงๆ
ผมไม่มีสิทธิ์จะไปวิเคราะห์หรือตัดสินสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนอื่น ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของผมที่จะไปบอกว่าใครควรทำอะไรหรือไม่ควรทำอะไร
คุณจะทำอะไรก็เรื่องของคุณ นั่นมันชีวิตของคุณ ผมในฐานะธรรมาจารย์ไม่ได้มีหน้าที่มาตัดสินว่าอะไรผิด
อะไรถูกแทนคนอื่น ทุกคนจะต้องรู้จักเชื่อใจในประสบการณ์ที่ตัวเองสัมผัส ยืนบนลำแข้งของตนเองและเติบโตตามเส้นทางชีวิตที่ตัวเองได้เลือก
แม้สิ่งที่ผมถามจะเป็นเรื่องธรรมดาๆ อย่าง "เธอนั่งวันละกี่ชั่วโมง?"
"เธอกำลังเรียนอะไรอยู่?" "เธอทำงานที่ไหน?" แต่สิ่งที่ผมสนใจคือประสบการณ์ชีวิตของเขา
พุทธธรรมที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ คือ ประสบการณ์แห่งการตื่นรู้ที่ทุกคนสามารถฝึกฝนและสัมผัสได้จริงในชีวิตของตนเอง
คุณคิดว่าวันหนึ่งนักเรียนชาวตะวันตกของคุณจะสามารถฝึกเทคนิคตันตระขั้นสูงอย่าง
โยคะทั้งหกของนาโรปะ หรือมหามุทราได้ไหม
แน่นอน ไม่มีข้อจำกัดของเชื้อชาติและวัฒนธรรมในเรื่องของธรรมะ ตราบใดที่พวกเขามีความศรัทธาและความวิริยะอุตสาหะในการฝึกฝนตนเอง
ในข้อเขียนของคุณ คุณได้บอกว่ามหามุทรายังไม่ใช่ขั้นสูงสุดของการรู้แจ้ง
นั่นเป็นเพราะผู้ฝึกยังยึดมั่นอยู่ในภาวะสุญญตาในฐานะสภาวะสูงสุดหรือเปล่า
เป็นความจริงที่ว่าสัญชาตญาณแห่งการตื่นรู้คือกระดูกสันหลังของการฝึกทั้งหมด
แต่การรู้แจ้งในสุญญตาโดยปราศจากการนำไปใช้ในชีวิตจริงก็กลายเป็นสิ่งไร้ประโยชน์
การภาวนากับชีวิตจึงต้องไปคู่กันเสมอ. "มหามุทรา" เป็นเพียงขั้นต้นของความเข้าใจในจิตวิญญาณแห่งวิถีตันตระ
ความเข้าใจในขั้นที่ลึกซึ้งขึ้นเรียกว่า "อติ" หรือ "มหาอติ"
อันเป็นขั้นที่ประสบการณ์สุญญตาได้ปรากฏให้เราเห็นได้ในชีวิตประจำวันโดยสมบูรณ์
ความหมายของตันตระ คือความต่อเนื่อง อันแสดงถึงความต่อเนื่องแห่งสัจธรรมในชีวิต คุณจึงไม่สามารถแยกสัญชาตญาณแห่งการตระหนักรู้ในสุญญตากับการดำเนินชีวิตในแต่ละวันได้ เปรียบได้กับนกที่จะบินได้ก็ด้วยปีกทั้งสองข้าง
หมายความว่า การรู้แจ้งในขั้นของมหาอติ
หรือ ซกเช็น คือการหวนสู่การดำเนินชีวิตธรรมดาสามัญในโลก แทนที่จะพอใจแค่การเข้าถึงสัจธรรมภายในเพียงแค่นั้น
ลองคิดเสียว่า คุณได้สัมผัสกับศักยภาพแห่งพื้นที่ว่างในถ้วยใบนี้ จากนั้นคุณก็ค่อยๆ
ขยายถ้วยให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่จะได้สัมผัสกับพื้นที่ว่างให้มากขึ้นอีก
จนในที่สุดถ้วยก็แตกออก คุณได้สัมผัสกับพื้นที่ว่างภายนอกโดยสมบูรณ์ คุณตระหนักว่าคุณไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ในถ้วยเพื่อที่จะสัมผัสความว่างอีกต่อไป
พื้นที่ว่างอันไพศาลนั้นมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง
ประสบการณ์ในลักษณะของถ้วยแตกจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
จริงๆ แล้วมันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ข้อความบางอย่างต้องการสื่อสารถึงเราอยู่ตลอด
สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกอย่างเป็นพลวัตแห่งสัจธรรม อาจจะเรียกได้ว่าการฝึกฝนทางจิตวิญญาณคือการเรียนรู้ที่จะเข้าใจธรรมชาติ
เลิกขัดขืนต่อต้าน แล้วหันมาผ่อนพักและตระหนักรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว เราไม่จำเป็นต้องสร้างเกราะมาป้องกันตัวเองอีกต่อไป
เพราะไม่ช้าก็เร็วสัจธรรมก็จะตัดผ่านและส่งสารถึงเราผ่านความทุกข์ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง
เราต้องการแค่ความเข้าใจที่ถูกต้อง จากนั้นจึงเรียนรู้ที่จะนำความเข้าใจนั้นมาปฏิบัติจริงในชีวิต
จริงๆ แล้วมันไม่มีเทคนิคตายตัวหรอก เหมือนกับเวลาคุณเริ่มต้นขี่จักรยาน ไม่มีใครสามารถสอนคุณได้ว่าควรจะทำอย่างไร
แต่คุณต้องลองทำไปเรื่อยๆ ล้มแล้วลุกนับครั้งไม่ถ้วน จนในที่สุดคุณก็ทำได้ สิ่งสำคัญคือคุณต้องไม่กลัวเจ็บ
อะไรคือ "การตรัสรู้"
หรือการรู้แจ้งขั้นสูงสุดในพุทธศาสนา
ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าการรู้แจ้งขั้นสูงสุดอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจกันหรอก ในการเดินทางแห่งจิตวิญญาณไม่มีสิ่งที่เรียกว่า
"สิ่งสุดท้าย" เป้าหมายคือการเดินทาง การรู้แจ้งเกิดขึ้นอยู่ตลอด แต่ถึงจุดหนึ่งคุณได้ศิโรราบให้กับการสูญเสียหลักเกาะเกี่ยวทั้งหลายโดยสมบูรณ์
คุณไม่มีที่พึ่งอีกต่อไป คุณเลิกที่จะเปรียบเทียบนั่นกับนี่ นี่กับโน่น (หัวเราะ)
ไม่ใช่ว่ามันเป็นเรื่องเลวร้ายที่จะพูดถึงสภาวะนั้นหรอกนะ แต่คุณไม่สามารถพูดถึงมันได้
อีกทางหนึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรที่จะพยายามหาคำมาอธิบาย
แต่มันน่าจะมีสิ่งที่อธิบายคุณลักษณะ
อย่างที่ในหลายศาสนา(รวมถึงพุทธศาสนา) ได้พยายามอธิบายสัจธรรมสูงสุด
แน่นอนว่าศาสนาในฐานะสถาบัน พยายามที่จะให้คำนิยามประสบการณ์ของการเข้าถึงสัจธรรมสูงสุด
แต่นั่นไม่ใช่ประสบการณ์ในตัวของมันเอง สิ่งที่เรากำลังสื่อสาร คือ พุทธธรรมในฐานะประสบการณ์ตรง
เราต้องเข้าใจว่าศาสนาไม่ใช่เจ้าของสัจธรรม และศาสนาไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิต
ท่านนาคารชุนกล่าวไว้ว่า "ฉันไม่มีหลักปรัชญาอะไรมาใช้อธิบาย เพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นเช่นนั้นเอง" คุณต้องเข้าใจว่าเป้าหมายไม่ได้อยู่ที่บทสรุปสุดท้าย แต่คือ การตัดลัดวงจรตรรกะแห่งการหาบทสรุปให้หมดไปเสีย คุณอาจเรียกกระบวนการทั้งหมดง่ายๆ ว่า "ตื่น" แทนที่จะเป็นการตรัสรู้อะไรให้ซับซ้อน
++++++++++++++++++++++++++++++++++++
แปลและเรียบเรียงจาก
"Things Get Very Clear When You're Cornered: Interview
with Chogyam Trungpa"
ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร "The Laughing Man" ฉบับที่ ๒ ปี ค.ศ. ๑๙๗๖
ฉบับแปลภาษาไทยตีพิมพ์ครั้งแรกใน
ปาจารยสาร ฉบับเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม ๒๕๕๐
คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com