โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 30 Jun 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๙๒ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๐ (June, 30, 06,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

การช่วยเหลือในหลากหลายรูปแบบ ถูกประเมินในระดับท้องถิ่นเชื่อมโยงกับค่านิยมทางการเมือง ซึ่งระบุประเด็นของสถานภาพของบุคคล ความสามารถ และหลักศีลธรรม มีมุมมองที่รู้กันไปทั่วว่า ใครที่มีฐานะทางการเงินที่มั่นคงก็น่าจะอยู่ในวิสัยที่ได้รับตำแหน่งทางการเมืองด้วย ในส่วนนี้เป็นเพราะข้อเรียกร้องเรื่องสถานะทางการเงินกับบรรดานักการเมือง ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ การเป็นนักการเมืองรวมไปถึงการสร้างบารมี และการแสดงออกตลอดว่า"พวกเขาไม่เคยลืมชาวบ้าน" ทั้งหมดนี้ เป็นกระบวนการที่มีราคาแพง ต้องการการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ
30-06-2550

Empowerment
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

รัฐธรรมนูญชาวบ้านและการเมืองในชีวิตประจำวันของการเลือกตั้ง
รัฐธรรมนูญชาวบ้าน:
พื้นที่วัฒนธรรมทางการเมืองในชีวิตประจำวัน (ตอนที่ ๒)

Dr. Andrew Walker : เขียน
Resource Management in Asia-Pacific Program
The Australian National University
พรรณพิไล กิจสุดแสง : แปล

บทความวิชาการนี้ กองบรรณาธิการได้รับมาจากผู้แปล : พรรณพิไล กิจสุดแสง
ปัจจุบันเป็น PhD candidate ทางมานุษยวิทยา ที่ ANU - The Australian National University

แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษของ Dr. Andrew Walker ที่นำเสนอที่คณะรัฐศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา
โดยฉบับแปลนี ้ผู้เขียนได้ตรวจดูแล้ว และอนุญาตให้เผยแพร่ต่อสาธารณชนได้
เนื้อหาของบทความ เป็นการวิจัยและสำรวจถึงการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้สิทธิ์เลือกตั้งของชาวชนบท
ซึ่งถูกกลุ่มคลื่นการประท้วงของคนชั้นกลางในเมือง(จนนำไปสู่การรัฐประหารเดือนกันยายน)กล่าวหาว่า
เป็นพวกขายเสียงให้กับการทุ่มซื้อเสียงของนักการเมือง และนักการเมืองเหล่านี้ได้มอมเมามวลชนในชนบทให้หลงผิด
อันที่จริงเรื่องของการเลือกตั้ง เป็นกระบวนการตัดสินใจของชาวบ้าน
มีความซับซ้อนมากกว่าการกวาดทิ้งและเหมารวมด้วยข้อสรุปอย่างง่ายๆ เช่นนี้
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๙๒
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๕.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

รัฐธรรมนูญชาวบ้านและการเมืองในชีวิตประจำวันของการเลือกตั้ง
รัฐธรรมนูญชาวบ้าน:
พื้นที่วัฒนธรรมทางการเมืองในชีวิตประจำวัน (ตอนที่ ๒)

Dr. Andrew Walker : เขียน
Resource Management in Asia-Pacific Program
The Australian National University
พรรณพิไล กิจสุดแสง : แปล
(ชื่อเดิม: "รัฐธรรมนูญชาวบ้าน" และการเมืองในชีวิตประจำวันของการเลือกตั้งในภาคเหนือของไทย)


(ต่อจากบทความลำดับที่ 1291)

การบริหารจัดการ
ข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้อิทธิพลทางการเงินอย่างไม่เหมาะสม ชี้ให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งของรัฐธรรมนูญชาวบ้านว่า ในบางขอบเขตได้ท้าทายจุดเน้นทางการเมืองในการให้การสนับสนุนแก่ท้องถิ่น ความเห็นในทางเลือกใหม่ เน้นการเริ่มที่การบริหารจัดการที่ดี และทำตามความตระหนักรู้แบบสมัยใหม่นิยม คนในท้องถิ่นที่รณณรงค์ในเรื่องนี้มักนำเสนอตัวเองว่าเป็น"คนรุ่นใหม่" และมักจะอ้างอย่างเปิดเผยอยู่บ่อยๆ ถึงหลักเกณท์โดยทั่วไปของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และความจำเป็นที่จะต้องเคลื่อนให้พ้นจากระบบเดิมที่ล้าสมัยของอำนาจอุปถัมภ์ และเผด็จการท้องถิ่น

ความเห็นนี้ได้ก่อให้เกิดการคำนึงถึงอย่างมากในคุณภาพของการศึกษา ซึ่งเป็นการท้าทายอย่างเปิดเผยต่อระบบคุณค่าของท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่นส่วนมากอยู่ในรุ่นที่คนชนบทส่วนใหญ่เรียนจบไม่เกินชั้นประถมปลาย สำหรับผู้ลงคะแนนเสียงแล้วข้อนี้ถือเป็นข้อจำกัดในแง่ของการบริหารจัดการและการแข่งขันทางกฎหมาย ประเด็นนี้เป็นกรณีในการเลือกนายกเทศมนตรี ซึ่งมีคนชูประเด็นว่านายกฯสมศักดิ์จบชั้นประถมสี่ ซึ่งหมายความว่า จะไม่สามารถปกครองเจ้าหน้าที่ในการบริหารจัดการซึ่งส่วนใหญ่จบปริญญาตรีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้สมัครรายอื่นๆ ที่มีการศึกษาดีกว่า มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการอย่างเป็นแบบแผนมามากกว่า ถูกคาดหวังว่าจะสามารถ"ลดบทบาท" เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาแบบไม่ได้ผ่านการคัดเลือก

มีข้อกังขาที่เด่นชัดเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องความสามารถของนายกฯสมศักดิ์ ในการจัดการดูแลเจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่ทำตัวเป็นนักเลงโต และมีชื่อในด้านการสร้างความร่ำรวยให้ตัวเองจากการพลิกแพลงสัญญารับเหมาก่อสร้างต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก นายกฯสมศักดิ์ตอบโต้โดยการอ้างอารมณ์ร่วมของความห่างไกลความเจริญ และองค์ความรู้ในการเป็นท้องถิ่น ที่ไม่อาจได้จากการศึกษาในระบบได้ เขากล่าวว่า:

ดร.ธเนศร์ อาจจะมีปริญญาจากมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะจัดการดูแลงานได้ การที่นั่งออกคำสั่งอยู่แต่ในสำนักงานติดแอร์ก็เป็นเรื่องนึง แต่ออกไปเดินท้องนาไม่ได้ แล้วจะช่วยชาวบ้านได้ยังไงล่ะ มีคนคิดแบบนี้เยอะ ก็นี่แหละเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงจะลงคะแนนให้ผม

นอกเหนือไปจากความต้องการเรื่องคุณสมบัติทางการศึกษาอย่างเป็นทางการแล้ว ยังมีองค์ประกอบของสมัยใหม่นิยมที่เน้นเรื่องความสามารถในการบริหารจัดการ ซึ่งรวมไปถึงความสามารถที่จะพูดในที่ประชุมได้ดี ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จัดการงบประมาณได้อย่างลงตัว และสามารถที่จะเป็นตัวแทนของท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการประชุมเจรจากับนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง แต่ที่สำคัญที่สุดคือการบริหารจัดการโดยเฉพาะการดำเนินการโครงการที่โปร่งใส คำขวัญในการรณรงค์หาเสียงของนายกฯสมศักดิ์ก็คือ "มุ่งสู่การพัฒนาอย่างซื่อสัตย์ โปร่งใส ตรวจสอบได้" ถูกต่อท่อติดไปกับวาทกรรมการเมืองท้องถิ่นได้อย่างเหมาะเจาะ

การสนทนาเหล่านี้ก็มักวนเวียนอยู่รอบๆ หัวข้อเกี่ยวกับการดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ ซึ่งเป็นเสมือนหัวข้อหลักที่ครอบงำการเมืองในชีวิตประจำวันของ "บ้านเตียม" โครงการต่างๆ มักจะถูกทำให้มีหลักการและเหตุผลเดียวกัน ในแง่การจัดการโครงการโดยรวมและผลประโยชน์ที่จะได้รับ แต่โครงการเหล่านี้มักเป็นตัวนำการรวมตัวเฉพาะกิจของกลุ่มผลประโยชน์ และกลายเป็นจุดศูนย์กลางของความขัดแย้งที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ในการจัดสรรทุนทรัพยากรและผลประโยชน์ต่างๆ โครงการต่างๆ มีแนวโน้มที่จะมีแต่คำวิจารณ์และเสียงซุบซิบนินทาที่ลอยไปลอยมาตามลม รวมไปถึงการที่คนที่มีส่วนร่วมในโครงการ ยอมผ่านกับเรื่องการเงินที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม โดยไม่มีการถามหาหลักฐานใดๆ มารับรอง. ในปริบทเช่นที่ว่านี้คำว่าโปร่งใสกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญยิ่ง ที่จะปกป้องความคิดริเริ่มของตัวเองแต่ละคนและโยนข้อกล่าวหาที่เสียๆ หายๆ ไปให้กับผู้ที่สนับสนุนโครงการอื่นๆ

สำหรับบางคนการเน้นที่การบริหารจัดการอย่างโปร่งใสนี้ เป็นการให้คุณค่าใหม่แก่กระบวนการเลือกตั้ง ในกรอบทางเลือกนี้ การพัฒนาอย่างเร่งด่วนดังกล่าวแสดงให้เห็นในรูปของการใช้งบประมาณแบบรีบเร่ง และตรวจสอบไม่ได้ ซึ่งมักจะเป็นโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์คุณค่าทางเศรษฐกิจที่คลุมเครือ ไม่อาจระบุให้ชัดเจนได้. การพัฒนาอาจถูกทำให้อยู่ในรูปของการจัดการบิดเบือนการเลือกตั้ง การใช้จ่ายงบประมาณที่สูงมากๆ ของโครงการต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงใกล้ๆ ก่อนการเลือกตั้งนั้น อาจถูกมองเหมือนความพยายามที่ชัดแจ้งในการรักษาคะแนนเสียง

ผู้สนับสนุน ดร. ธเนศร์ พูดอย่างเจ็บปวดถึงการที่นายกฯสมศักดิ์ ใช้งบฯไปถึง 11 ล้านบาทในช่วงเดือนท้ายๆ ที่เขาอยู่ในตำแหน่ง เสริมกับคำวิจารณ์ที่ว่านายกฯสมศักดิ์ไม่ใช่นักบริหารที่สามารถและการพัฒนาสำหรับเขาก็แค่การอนุมัติโครงการและก็เทคอนกรีตเท่านั้น และแน่นอนที่สุดวาทกรรมในการบริหารจัดการที่โปร่งใส ย่อมโยงไปอย่างชัดเจนกับการคอร์รับชั่น แง่มุมหนึ่งที่อันตรายของการคอร์รับชั่นก็คือ การทำลายภาพพจน์ในการอุทิศตนซึ่งสำคัญยิ่งต่อการเลือกตั้ง

การอุทิศผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวมนั้นได้รับการยอมรับอย่างสูงในแวดวงการเลือกตั้ง แต่ในขณะเดียวกันก็มีการยอมรับกันไปในวงกว้างว่า คนที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนรวมนั้นอาจได้รับผลประโยชน์ต่อตนเอง หรือญาติพี่น้องหรือเพื่อนสนิทบ้างก็ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ถูกมองว่าเกือบจะเป็นธรรมดา ที่นักการเมืองจะหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเองจากกิจกรรมที่ป็นเรื่องส่วนรวม จุดใหญ่ใจความก็คือทำอย่างไรถึงจะดำรงการหาผลประโยชน์ให้อยู่ในระดับพอเหมาะพอควร อะไรคือการเหมาะควรก็ยากที่จะตัดสิน ทั้งยังอยู่ในโทนสีเทาที่แยกถูกผิดชัดเจนได้ลำบาก แต่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่ก่อให้เกิดการกล่าวโทษเอาผิดโดยไม่ต้องมีหลักฐานชัดเจน โดยเฉพาะถ้ามีแง่มุมที่ว่ามีการเอาทรัพยากรส่วนรวมไปหาประโยชน์ส่วนตัวโดยทำให้ผู้อื่นเสียประโยชน์

ตัวอย่างจากการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านที่"บ้านเตียม" ผู้ลงสมัครรายหนึ่งถูกถอดถอนจากการสมัคร ด้วยข้อกล่าวหาว่าโยกเงินกองทุนชุมชนไปใช้ในการให้กู้เงินส่วนตัวของเขาเอง จากความจริงที่ว่าเงินงบกองทุนชุมชน ถูกเอาไปใช้ขูดรีดดอกเบี้ยจากชาวบ้านกันเอง เป็นการทำลายเส้นแบ่งทางศีลธรรมระหว่างประโยชน์ทางเศรษฐกิจส่วนรวมและส่วนตัวอย่างรับไม่ได้ นี่คือการฉ้อฉล

คุณค่าของการเมืองในชีวิตประจำวัน และรัฐบาลทักษิณ
การเลือกตั้งใน พ.ศ.2544 ที่นำทักษิณขึ้นสู่อำนาจ ผู้สมัครพรรคไทยรักไทย ชนะโดยได้รับคะแนนโหวต 48% ส่วนในการเลือกตั้ง ปี 2548 คะแนนที่ได้รับไต่ขึ้นไปเป็น 66%แต่เมื่อไม่มีคู่แข่งในปี 2549 เขาได้รับคะแนนเพียงครึ่งหนึ่ง ขณะที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ ลงคะแนนไม่เลือกใคร และเลือกที่จะ "โนโหวต" หรือในทางหนึ่งตลอดช่วงการปกครองของทักษิณ มีความแปรผันในการสนับสนุนการเลือกตั้งอยู่ไม่น้อย

การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ก็มีข้อน่าคิดเกี่ยวกับภาพพจน์ของการครอบครองความเหนือกว่าของพรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้งสภาจังหวัดในปี 2004 ผู้สมัครที่มีการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากไทยรักไทย แพ้ให้คู่แข่งแบบมีลุ้น และในการแข่งขันเลือกตั้งนายกเทศมนตรี ผู้สมัครจากไทยรักไทย ดร. ธเนศร์ แพ้อย่างฉวดเฉียด ทั้งที่พร้อมทั้งกำลังทุน และการประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึง ดังนั้นแทนที่จะสรุปว่า การลงคะแนนสนับสนุนทักษิณจากภาคชนบทนั้นเป็นเรื่องตายตัว และไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือผ่านเครือข่ายอุปถัมภ์ที่หล่อลื่นด้วยเงิน น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าหากจะมีการสำรวจตรวจสอบว่า รัฐบาลทักษิณได้รับการประเมินอย่างไร ในแง่ของคุณค่าทางการเมืองท้องถิ่นในกรอบของรัฐธรรมนูญชาวบ้าน

ท้องถิ่นนิยม: "นายกเป็น จาวเจียงใหม่"
ในการเลือกตั้งระดับชาติ ท้องถิ่นนิยมมีบทบาทน่าสนใจแต่ค่อนข้างกำกวมในทางการเมือง ทักษิณนั้น แน่ละมาจากเชียงใหม่และอยู่ในสายตาของคนในภาคว่า เป็นหนึ่งใน "คนบ้านเฮา"ด้วย หนึ่งในสโลแกนของพรรคสะท้อนคำพังเพยว่า "คนเชียงใหม่ภูมิใจนายกเป็นคนเชียงใหม่ ไทยรักไทยเป็นพรรคเดียว" ส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์การเมืองท้องถิ่นของอำเภอผาเสี้ยว กลายเป็นส่วนสำคัญของพรรคไทยรักไทย ที่ขยายเอาความเป็น "บ้านเฮา" ให้รวมเอาไทยรักไทยเข้าไปด้วย อารมณ์ร่วมที่แสดงออกนี้ ได้ถูกสรุปอย่างชัดเจนโดยหัวคะแนนท้องถิ่นคนหนึ่ง

"นโยบายของทักษิณมาพัฒนาเชียงใหม่ เราก็เป็นคนเชียงใหม่ ทำไมเราไม่เลือกเขาล่ะ คนเหนือก็ต้องช่วยคนเหนือด้วยกันแล้วไทยรักไทยก็จะชนะ เราต้องช่วยทักษิณเพราะคนใต้จะเลือกประชาธิปัตย์ เขาไม่เลือกคนเหนือหรอก ถ้าไทยรักไทยชนะงบก็จะมาที่นี่ มิฉะนั้นงบก็จะถูกระงับไป"

ความต่างกับประชาธิปัตย์ในภาคใต้ถูกนำมาเปรียบเทียบ โดยที่ทางใต้มีเหตุความขัดแย้งทางศาสนา ความรุนแรงที่ต่อเนื่องและในช่วงก่อนการเลือกตั้งก็เกิดเหตุการณ์ซึนามิ ในช่วงอภิปรายที่หอประชุมอำเภอ การเปรียบเทียบคนใจดีของเชียงใหม่กับคนใต้ของประชาธิปัตย์ โดยอ้างว่า ทักษิณยกเลิกการผูกขาดปลูกยางของภาคใต้ โดยนำมาปลูกในภาคเหนือและอีสาน ที่ในช่วงต้นนี้ก็แสดงให้เห็นว่า เกษตรกรภาคเหนือปลูกยางได้คุณภาพกว่าทางภาคใต้เสียอีก

ดังนั้นอารมณ์รักถิ่นจึงเป็นไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อไทยรักไทย และก็ถูกปลูกฝังตลอดช่วงการรณรงค์หาเสียง แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายหากแต่ว่าซับซ้อนเมื่อหวนพิจารณาตัวผู้สมัครเอง ตัวผู้สมัครของไทยรักไทย ที่เป็นตัวเก็งในการเลือกตั้งปี 44 เป็นคนเชียงใหม่ คนท้องถิ่น แต่กลับไม่เป็นประเด็นหลัก สิ่งที่คนเขาพูดถึงก็คือ เป็นคนในวงราชการมานานบวกกับบุคลิกแบบหนอนหนังสือ ทำให้ดูเป็นทางการและมองไม่เหมือนคนท้องถิ่น ข้อวิจารณ์ของผู้คนก็คือว่าเขาไม่เป็นที่รู้จักในอำเภอ ส่วนการเจรจาพาทีกับคนชนบทก็ไม่คล่องแคล่ว

แตกต่างอย่างชัดเจนจากคู่แข่งของพรรคตรงข้ามที่เคยเป็นผู้แทนราษฎรคราวที่แล้ว ที่เป็นที่รู้จักอย่างดี เขามาจากอำเภอใกล้เคียงที่ซึ่งคนในบ้านเตียมมีญาติอยู่มาก ไม่ดูเป็นทางการ พบง่ายท่าทางเป็นมิตร พูดคุยด้วยภาษาถิ่นอย่างง่ายๆ อยู่บนเวทีหาเสียงก็สร้างความสนุกสนานได้ รวมไปถึงการใช้ภาษากะเหรี่ยงเมื่อเวลาพูดกับพวกกะเหรี่ยง การใช้ภาษาถิ่นในที่ที่ภาษามีความสำคัญถือว่าเป็นข้อได้เปรียบอย่างยิ่ง ผู้สมัครรายนี้รู้จักเล่นกับการเป็นคนท้องถิ่นของเขา โดยที่เขาเน้นเสนอว่าให้เลือกคนท้องถิ่นแทนที่จะเลือกพรรค (ตรงข้ามกับแคมเปญ ของไทยรักไทย) ก่อนการเลือกตั้งคาดกันว่า เขาควรได้รับคะแนนมาอันดับหนึ่ง แต่เมื่อเขาพ่าย ผู้เขียนก็เชื่อว่าเขาต้องได้คะแนนเสียงพอควร โดยเฉพาะที่บ้านเตียมที่มีผู้สนับสนุนเขาอย่างหนาแน่น

การเกื้อหนุน "มีดีในบางด้าน"
ไทยรักไทยนั้น หากพิจารณาด้านการเกื้อหนุนเรื่องเงินทอง ในเชิงคุณค่าแบบรัฐธรรมนูญชาวบ้าน นั้นมีผสมปนเปกันไป มีเสียงบ่นเรื่องที่ผู้สมัครพรรคไทยรักไทยไม่ค่อยมีส่วนร่วมสนับสนุนด้านการเงินแก่ท้องถิ่น หรือเสียงบ่นไม่พอใจเรื่องค่าใช้จ่ายที่ได้รับจากการประชุม ในบ้านเตียมเองหัวคะแนนของพรรคถูกกล่าวหาว่า ไม่สู้เต็มร้อยในการขับเคลื่อนงานของพรรค บางคนเห็นว่าการที่เลือกหัวคะแนนท้องถิ่นด้อยคุณภาพมานั้น เพื่อจะได้ประหยัดให้มีเงินเหลือเข้ากระเป๋าพวกเจ้าหน้าที่พรรคที่อยู่ตามอำเภอ โดยรวมแล้วแม้จะมีการสนับสนุนเป็นส่วนตัวอยู่บ้างแต่ผู้สมัครของไทยรักไทยนี้ ได้ชื่อว่าไม่ใช่คนใจกว้างอะไร

ที่จริงผู้สมัครพรรคคู่แข่งนั้นดูเหมือนว่าจะมีความกรุณาในเชิงอุปถัมภ์มากกว่า หากพิจารณาจากแง่มุมของคุณค่าแบบรัฐธรรมนูญชาวบ้าน การเข้ามามีส่วนร่วมกับหมู่บ้านอย่างแข็งขันทำให้เขาได้รับความสิเหน่หา(ซึ่งบางคนก็ล้อเลียนอย่างนั้น) ดูได้จากเต้นท์ที่พิมพ์ทั้งชื่อและโลโก้ของพรรคที่เขาบริจาคให้ส่วนรวม ในการหาเสียงเต้นท์ของ สส. ก็เป็นที่โฆษณาถึงงานส่วนรวมที่เขาเคยสนับสนุนมา ที่เด่นๆ ก็เช่น การก่อสร้างโครงการชลประทานไฟฟ้าขนาดเล็ก และอาคารสหกรณ์การเกษตรหลังใหม่. ความเมตตาการุณย์ของเขาได้รับการเสริมด้วย คำกล่าวของท้องถิ่นที่ว่า " มหาชนนั้นใจดีกว่าไทยรักไทยนะ" เมื่อดูจากการจ่ายค่าเบี้ยประชุม และเบี้ยเลี้ยงในการมาร่วมการหาเสียง

แต่การด้อยกว่าของไทยรักไทยในแง่บุคลิกส่วนตัวของผู้สมัครนั้น ถูกถ่วงน้ำหนักโดยการสนับสนุนโดยหน่วยราชการในพื้นที่ ซึ่งได้มาจากการริเริ่มนโยบายของทักษิณ ที่นี่รัฐบาลทักษิณได้รับการยอมรับว่าปฏิบัติงานได้อย่างเข้มแข็งมีผลงาน "เขาช่วยเหลือพวกเราหลายอย่างนะ รัฐบาลทักษิณมีโครงการมากมายที่เกิดประโยชน์ต่อชาวไร่ชาวนา รัฐบาลที่แล้วมาไม่ได้ช่วยเราแบบนี้" โดยเฉพาะเสียงที่ชื่นชมต่อการริเริ่มโครงการพัฒนาเศรษฐกิจรากหญ้า กองทุนหมู่บ้าน หรือ SML ที่บ้านเตียมถึงจะมีปัญหาบ้าง แต่โครงการกองทุนหมู่บ้านหนึ่งล้านบาทก็ค่อนข้างสำเร็จ หากดูในแง่ของอัตราการคืนเงินที่ค่อนสูง ถึงกับมีการเพิ่มทุนเรือนหุ้นเนื่องจากสมาชิกมีเงินฝากสม่ำเสมอและซื้อหุ้นเพิ่ม

โครงการออกทุนก่อสร้างโรงสีที่รับสีข้าวในราคาต่ำกว่าโรงสีเอกชนทั้งสามแห่ง ชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้รับวัวเลี้ยงตามโครงการวัวล้านตัว "ชาวบ้านยังชอบทักษิณอยู่มาก โครงการเลี้ยงวัวพยายามแก้ปัญหาความยากจนด้วยการช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้" นอกจากนั้น มีชาวบ้านประมาณยี่สิบคน ที่ร่วมโครงการสร้างเสริมรายได้ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรณรงค์แก้ไขความยากจนของรัฐบาล โครงการนโยบายประกันสุขภาพของรัฐ (สามสิบบาทรักษาทุกโรค) ก็ได้รับการสนับสนุนจากคนพื้นที่เช่นกัน

แรงหนุนการเลือกตั้งของท้องถิ่นนั้น มาจากการที่คนเห็นว่ารัฐบาลมีความริเริ่มหลายๆ อย่าง ที่ทำได้รวดเร็ว ลัดขั้นตอนที่เยิ่นเย้อของระบบราชการ ความรวดเร็วของการสนับสนุนทางด้านเงินทุนของรัฐบาลเป็นเสมือนกุญแจสำคัญ ที่นำมายกเป็นตัวอย่าง โครงการกองทุนหมู่บ้านถูกนำเสนอในฐานะนโยบายในเดือนกุมภาพันธ์ ช่วงเลือกตั้ง จากนั้นเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน หมู่บ้านก็ได้รับเงินและกรรมการกองทุนก็ตัดสินใจได้ว่า จะอนุมัติโครงการใดบ้าง แม้ว่าจะมีการถกเถียงกันว่า จะให้มีการตัดสินใจใช้ทุนอย่างไร แต่นโยบายที่ให้การตัดสินใจอยู่ที่หมู่บ้านเป็นก้าวสำคัญที่สร้างความต่างกับระบบบริหารงานแบบเดิม นับจากวันที่ชาวบ้านได้ยินเรื่องโครงการกองทุนหมู่บ้านเพียงปีเศษ การตัดสินใจสร้างโรงสีของบ้านเตียมก็สำเร็จสมบูรณ์

อาจจะเป็นการกล่าวอ้างอย่างผิดๆ ถ้าจะว่ารัฐบาลทักษิณไม่ต้องเสี่ยงกับอะไรเลย ในประเด็นการสนับสนุนท้องถิ่น คำครหาอย่างต่อเนื่องของคนท้องถิ่นนั้นมีว่า รัฐบาลนี้ช่วยภาคเกษตรไม่พอ ในจุดนี้ต้องทำความเข้าใจถึงความไม่แน่นอนของราคาพืชผลที่คนบ้านเตียมต้องเผชิญเสียก่อน การประสบภาวะทางธรรมชาติทำให้ผลผลิตกระเทียมซึ่งเป็นพืชสำคัญของคนที่นั่น ลดลง กระนั้นก็ตามรัฐบาลไม่อาจเลี่ยงความรับผิดชอบ เกษตรกรหลายคนโยงว่า การที่ราคากระเทียมปักหัวดิ่งนั้น มีผลมาจากการทำสัญญาการค้าเสรีระหว่างไทยกับจีน

เกษตรกรก้าวหน้าบางคนสะท้อนว่า "ทักษิณเก่งในเรื่องระหว่างประเทศ แต่ไม่เท่าไหร่ในบ้านตัวเอง" ที่หนักหนากว่านั้นก็คือสิ่งที่ชาวบ้านเห็นว่า รัฐบาลทำน้อยไปในการช่วยแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรที่ย่ำแย่ มีข้อวิจารณ์ว่า โครงการพัฒนาการเกษตรบางโครงการ เช่นการเลี้ยงวัวนั้น ทำเพียงเป็นสัญญลักษณ์และไม่ยั่งยืน ชาวบ้านคอยเปรียบเทียบระหว่างโครงการพัฒนาเฉพาะด้าน (ที่ทักษิณโกยคะแนน) กับการส่งเสริมในภาพกว้างให้กับภาคเกษตรที่ดูเหมือนไม่เต็มใจทำ

แดง...เกษตรกรคนหนึ่งแสดงความเห็น เมื่อได้ยินที่ลือกันว่าจะมีราชการมาตรวจ ซึ่งชาวบ้านเรียกร้องไปว่า ที่รัฐจ่ายค่าช่วยเหลือนั้นก็เพื่อที่จะลดพื้นที่ปลูกกระเทียม

"เขาจะมาทำไม? จริงๆ แล้วชาวนาที่ปลูกกระเทียมก็ไม่ได้อะไรอยู่ดี เราต้องลงทุนค่าปุ๋ยไปตั้งเยอะ แล้วก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่เราต้องปลูก มันไม่มีรายได้ทางอื่น ก็แล้วทำไมค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าน้ำมันต้องแพงขึ้นล่ะ แต่เงินที่จะช่วยเราและราคาผลผลิตกลับลดลง ก็ลองดูราคาข้าว ที่ขายได้สิ(จากน้ำท่วมปี 2548) แค่สามร้อย ถ้าข้าวไม่เสียและขายได้ก็จะได้เป็นหลายพัน รัฐบาลไม่ได้เลวร้ายไปทุกเรื่องหรอก แต่คำมั่นที่จะให้และช่วยภาคเกษตรนั้นน้อย แล้วเกษตรกรก็ยังลำบาก ไม่มีทางออกแล้ว ทุกคนติดหนี้หมด รัฐบาลจะช่วยเราอย่างสามสิบบาท(รักษาทุกโรค) อย่างงี้ แต่มันน้อยเกินแล้วก็ไม่โปร่งใส"

คำกล่าวของแดงที่โยงเอาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำกับการเป็นหนี้สินของชาวนา นั้นแสดงให้เห็นประเด็นทางเศรษฐกิจ สังคมหลักของบ้านเตียม กระเทียมต้องลงทุนสูง เมื่อประสบปัญหา(ราคาต่ำ ผลผลิตเสียหาย) ก็ทำให้เกษตรกรเป็นหนี้จำนวนมาก บางรายอาจสูงถึง 200,000 บาท "กระเทียมช่วยให้เรารวย ถึงคราวซวยก็ช่วยให้เราจน" โครงการพักชำระหนี้เกษตรกรของทักษิณได้รับความชื่นชม แต่ช่วยบรรเทาเพียงชั่วคราวมากกว่าจะเป็นการแก้ปัญหาหนี้สินอย่างจริงจัง ที่สำคัญกว่านั้น มีคำติฉินจากพื้นที่ว่า กองทุนหมู่บ้านล้านบาทนั้นเพิ่มการเป็นหนี้ของเกษตรกรเท่านั้น

"การเมืองไทยมันแย่ ผมไม่ชอบทักษิณ เขาเอาเงินให้ชาวบ้านแต่ไม่เห็นมีใครรวยขึ้นเลย กลับเป็นหนี้เพิ่ม เขาเอาเงินงบประมาณและเงินกู้เพื่อให้คนจนสนับสนุนเขา แต่มันเป็นเงินรัฐบาลนะ ไม่ใช่เงินของเขา ชาวนาลำบาก ราคาพืชผลต่ำลงหมด ผมหยุดทำเกษตรมาสองสามปีแล้ว ทำร้านอาหารน่าจะดีกว่า"

การบริหารจัดการ: "ป้าเรียกเขาว่า'ทรัพย์สิน"
ไม่น่าสงสัยเลยที่ความสามารถส่วนตัวของทักษิณหลายๆ อย่างได้รับการยอมรับอย่างสูงในคุณค่าเชิงรัฐธรรมนูญของชาวบ้าน โดยเฉพาะความสามารถทางการบริหารจัดการ เนื่องจากความสำเร็จในการทำธุรกิจ การเป็นนักพูดในที่สาธารณะ และเป็นนักสื่อสารผู้ทรงภูมิรวมทั้งคุณสมบัติด้านการศึกษา ที่สำคัญสำหรับชาวบ้านแล้ว การที่เขาสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดีนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่แสดงถึงสายสัมพันธ์ทางสังคม ความสง่าผ่าเผยและสติปัญญา ทั้งหมดนี้ก็หมายความว่า ทักษิณสามารถเป็นตัวแทนประเทศได้อย่างสมภาคภูมิในเวทีโลก "เมืองไทยมีชื่อเสียงแล้ว เดี๋ยวนี้" ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเตียมบอกผู้เขียน "ทุกคนรู้จักนายกทักษิณกันหมด"

มีประเด็นหนึ่งที่ช่วยสร้างภาพและมายาคติของความสามารถในการบริหารงานของทักษิณ ในฐานะผู้นำประเทศที่ประสบความสำเร็จในเวทีโลก ที่ผู้สนับสนุนในท้องถิ่นมักยกมากล่าวอ้างเสมอ ก็คือ เรื่องการที่ทักษิณสามารถใช้คืนหนี้ IMF ได้ นี่เป็นการเสริมสถานภาพของประเทศไทยในระดับนานาชาติ และในการที่จะสนับสนุนคนไทยกันเองได้ดียิ่งขึ้น บางคนถึงกับบอกว่าความสำเร็จของทักษิณครั้งนี้ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าเขาก็จะสามารถจัดการกับหนี้ครัวเรือนได้ เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวร้านหนึ่งที่"บ้านเตียม" พูดเปรียบถึงผลประโยชน์ระหว่างของชาติและของส่วนตัว ที่แบ่งได้ไม่ชัดเจนนั้นไว้อย่างน่าฟังว่า:

แต่ก่อนเด็กไทยเกิดมาก็มีหนี้คนละ 60,000 บาท แต่เดี๋ยวนี้ปลอดหนี้ IMF แล้ว เด็กเกิดใหม่ก็พอจะได้พักบ้าง เงินก็คงจะกลับมาสู่หมู่บ้าน ทักษิณเป็นคนเก่ง แต่ถ้าพูดถึงพวกอื่น ผมไม่เห็นว่าจะมีอะไร

ปัจจัยอื่นที่มีผลต่อการนิยมชมชอบทักษิณ คือการที่เขามีแผนปฏิบัติการพิเศษในการจัดการปัญหาที่ดูท้าทายในสายตาของชาวบ้าน เช่นสงครามต่อต้านยาเสพย์ติด ซึ่งมีการกวาดล้างโดยวิสามัญฆาตกรรมผู้ค้ายากว่า 2000 ราย เหตุการณ์นี้ถูกยกขึ้นมาเป็นหลักฐานแสดงความมีประสิทธิภาพ และการเป็นผู้นำที่กล้าตัดสินใจของทักษิณอยู่เสมอ เหตุการณ์นี้เชื่อมโยงกันอย่างเหมาะกับความวิตกกังวลของคนในชุมชน เกี่ยวกับการใช้ยาบ้าอย่างแพร่หลายในหมู่เยาวชน และทั้งยังเป็นเรื่องที่ไปกันได้ดีกับอารมณ์ความรู้สึกที่ให้คุณค่ากับการแก้ปัญหาอาชญากรรม

ดูจากความเห็นของลุงแมนที่ขอออกจากโรงพยาบาลในวันเลือกตั้งปี 2549 เพื่อจะได้มาทันลงคะแนนให้พรรคไทยรักไทย (ถึงแม้ว่าจะไม่มีคู่แข่งจากฝ่ายตรงข้ามเลยก็ตาม):

ที่ผมชอบมากที่สุดเกี่ยวกับทักษิณก็คือ สงครามต่อต้านยาบ้า มันมีประโยชน์จริงๆ นา แต่ก่อนมีคนติดยาเยอะ เด็กวัยรุ่นในบ้านนี้ก็เยอะ สองปีหลังมานี่ถึงกะมีพวกวัยรุ่นพยายามขโมยคอมพิวเตอร์จากโรงเรียนเชียวนา เป็นเด็กในหมู่บ้านเรานี่แหละ ไอ้ผมก็ไม่ต้องการเข้าไปยุ่งหรอก แก่แล้ว พวกมันอาจจะฆ่าผมซะก็ได้ ทางหมู่บ้านก็จัดตั้งคณะกรรมการรักษาการณ์ตอนกลางคืน เป็นคณะกรรมการลับ รวมเอาชาวบ้านจากหลายหมู่บ้าน ตอนนี้เหตุการณ์สงบลง ผมรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นโขเลย

ในขณะที่มีความชื่นชมในการบริหารงานของทักษิณ ก็มีความกังวลเกี่ยวกับการคอร์รับชั่นของเขาด้วย ความร่ำรวยอย่างผิดปกติและการใช้อำนาจทางการเมืองอำนวยประโยชน์ต่อธุรกิจส่วนตัว ทำให้ทักษิณล่อแหลมต่อข้อกล่าวหาว่า "โลภมาก" และ"หลอกลวง" และมีคนแวดล้อมที่เป็นคนไม่ดี นี่เป็นข้อวิจารณ์โดยทั่วไป แต่สำหรับบางคนนี่ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะในขณะที่ทักษิณ"หาประโยชน์ให้ตัวเอง" เขาก็ยัง "แบ่งปัน"ผลประโยชน์ให้กับชาวชนบทด้วย

หรือถ้าจะพูดอีกทางหนึ่งก็คือการเบี่ยงเบนประโยชน์ของสาธารณะ สู่ประโยชน์ส่วนตัวของทักษิณนั้นไม่ได้ทำให้คนในชนบทที่ลงคะแนนให้เขานั้นเสียประโยชน์โดยตรง แต่เหตุผลนี้ไม่ใช่สากล แล้วก็มีบางคนที่มองเห็นว่า การที่เขาช่วยเหลือคนจนนั้นไม่ใช่ของจริง เพราะเงินช่วยเหลือนั้นเป็นของรัฐบาลไม่ใช่ทุนส่วนตัวของทักษิณ:

พูดถึงทักษิณ ป้าเรียกเขาว่า"ทรัพย์สิน" ป้าไม่ชอบวิธีการที่เขาหลอกลวงเงินมากมาย ญาติป้าที่อยู่ในกรุงเทพไม่ชอบเขาเลย แล้วไม่เคยเห็นดีเห็นงามไปกับเขาแม้แต่เรื่องเดียว เพราะเขาผลาญเงินอย่างเดียว เงินที่ทักษิณใช้เป็นของประเทศ ไม่ใช่เงินจากกระเป๋าเขา เขามีเงินเยอะ แต่เราไม่เคยเห็นเขาบริจาคเงินส่วนตัวเลย เมื่อเขาตายเขาจะแบกทรัพย์สมบัติไปได้ด้วยหรือเปล่าน้อ

การคอร์รับชั่นและการบริหารงานที่ผิดพลาดของทักษิณ ได้ถูกชูเป็นประเด็นสำคัญต่อผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนในการเลือกตั้งปี 2549 โดยที่มีการคว่ำบาตรจากพรรคฝ่ายค้าน ที่บ้านเตียมจึงมีผู้ลงสมัครแข่งขันจากเพียงพรรคเดียว คือ ไทยรักไทย บางคนแย้งว่าโดยการเลือกตั้งเองแล้ว ก็เป็นการสูญเปล่าของงบประมาณแผ่นดิน ("เงินของชาวบ้านทุกคน") และเท่ากับเป็นการตีขลุมเอาว่าให้เลือกโดยไม่มีตัวให้เลือก

ฉันคิดว่าน่าจะเลื่อนการเลือกตั้ง ทำแบบนี้ก็ไม่ยุติธรรมกับพรรคการเมืองทั้งหมด ฉันไม่ชอบรัฐบาลทักษิณเพราะว่าหลอกลวงมาก แล้วก็"โกงกิน"มาก แต่ที่นี่เรามีแต่ไทยรักไทย แล้วอำเภอนี้ก็เป็นฐานเสียงของเขาด้วย โดยส่วนตัวแล้วฉันอยากให้มีรัฐบาลอื่นมาบริหารประเทศ

สรุปส่งท้าย
สองสามทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบกับสิ่งที่ McCargo เรียกว่าโรค "ลัทธิรัฐธรรมนูญถาวร" กล่าวคือ มีการใช้ความพยายามมหาศาลที่จะร่างรัฐธรรมนูญที่จะช่วยรักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของฝ่ายต่างๆ อันได้แก่ ฝ่ายทหาร, ฝ่ายนิยมกษัตริย์, ธุรกิจเอกชน, และฝ่ายประชาสังคม. สำหรับหลายๆ คนแล้ว (จอกศักดิ์สิทธิ์หรือ)สัมฤทธิ์ผลของร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็คือ รูปแบบประชาธิปไตยที่มีความเหมาะสมในการจัดเลือกตั้ง ควบคู่กันไปกับความต่อเนื่องของการดำเนินประเด็นทางการเมืองสำคัญๆ ของรัฐบาลของฝ่ายชนชั้นสูง ซึ่งนับตั้งแต่รัฐประหาร ไทยก็เข้าสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง โดยครั้งนี้รัฐธรรมนูญถูกร่างเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการกลับมาสู่ "ทรราชเสียงข้างมาก" ( a tyranny of the majority) ที่เกิดขึ้นมาจากรัฐธรรมนูญปี 2540

ปฏิกิริยาตอบสนองของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์และนักวิชาการสาธารณะต่อกรณีนี้ ปรากฏในบทความเรื่อง รัฐธรรมนูญวัฒนธรรม ทั้งนี้เพื่อให้แตกต่างจากการร่างรัฐธรรมนูญแบบเป็นทางการลายลักษณ์อักษรที่อุปถัมภ์โดยคณะรัฐประหาร. รัฐธรรมนูญวัฒนธรรมของนิธิ สะท้อนถึงการสืบต่อ วิถีชีวิต วิถีการคิด และคุณค่าที่เสริมหนุนสถาบันหลักของชีวิตการเมืองไทย โดยที่อำนาจสูงสุดยังคงอยู่กับราชวงศ์

รัฐธรรมนูญวัฒนธรรมเสนอว่า ผู้ปกครองควรประกอบด้วยอิทธิพลในรูปแบบที่ต่างออกไป ผู้นำท้องถิ่น ก็ควรมีอิทธิพลเช่นเดียวกับผู้นำทหารและสมาชิกรัฐสภา(แม้ว่าจะหลับเมื่อมีการนับคะแนนก็ตาม) อำนาจควรที่จะถูกกำกับโดย"หลักศีลธรรม" ที่อย่างน้อย สามารถสร้างหลักประกันพื้นฐานของศีลธรรมที่เห็นได้ชัดแจ้ง โดยที่สาธารณะสามารถตรวจสอบอำนาจอันชอบธรรมนั้นได้. ดังนั้นในแง่นี้ อิทธิพลและหลักศีลธรรมก็นับว่าเป็นสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกัน. สำหรับนิธิแล้ว รัฐธรรมนูญวัฒนธรรมในลักษณะนี้ มีความสำคัญกว่ารัฐธรรมนูญที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรใดๆ ในอันที่จะตอบสนองต่อชีวิตทางการเมืองของคนไทย

บทความนี้ขยายการวิเคราะห์ของนิธิออกไป โดยสำรวจผลทางปฏิบัติของรัฐธรรมนูญวัฒนธรรมในบริบทของชนบท โดยเสนอเป็นแนวทางของรัฐธรรมนูญชาวบ้าน ที่จะเอื้อให้มีพื้นฐานในเกณฑ์การตัดสิน เกี่ยวกับความชอบธรรม ความไม่ชอบธรรมและอำนาจการเมืองในบริบทการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญวัฒนธรรมของนิธิ ที่เป็นเสมือนบทที่ไม่ได้เขียนเอาไว้แต่จะช่วยกำกับการใช้กำลัง(รัฐประหาร) ด้วยว่ามันฝังอยู่ในการเมืองในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน นับแต่การหารือ (การโสกัน) การนินทา และถกเถียงกัน ในประเด็นต่างๆ นับตั้งแต่ คุณลักษณะของผู้นำ การจัดสรรทรัพยากร โครงการพัฒนาและความสามารถบริหารงาน (ของนักการเมือง)

ที่สำคัญ พื้นที่ทางวัฒนธรรมของการเมืองในชีวิตประจำวันของชุมชน ได้แพร่ขยายสู่ปริมณฑลของการแข่งขันเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญชาวบ้านไม่มีลายลักษณ์อักษร แต่ประกอบด้วยการตระเตรียมที่หลากหลาย ซึ่งจัดได้เป็น 3 หมวดใหญ่ดังนี้

1. ความพอใจร่วมกันในผู้สมัครท้องถิ่น
2. ความคาดหวังว่าผู้สมัครจะช่วยสนับสนุนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง
3. การเห็นความสำคัญของความสามารถในการบริหารที่เข้มแข็งและโปร่งใส

แต่องค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้อาจหักเหไปในความซับซ้อนและบางครั้งก็เกิดย้อนแย้งกัน และไม่เป็นแบบสำเร็จรูปที่จะช่วยการตัดสินใจทางการเมือง หากแต่องค์ประกอบเหล่านี้จะช่วยเป็นกรอบกว้างๆ ในการประเมินผลทางการเมืองท้องถิ่น

ในการเสนอแนวคิดรัฐธรรมนูญชาวบ้านนี้ ผู้เขียนเลี่ยงที่จะสร้างภาพสะท้อนรูปลักษณ์ในทางลบของพฤติกรรมการเลือกตั้งของท้องถิ่นอย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้นของบทความ แต่ก็คงน่าหัวเราะเยาะ หากกล่าวว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในชนบททุกคน ได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการเลือกผู้สมัครโดยใช้เกณฑ์การคัดเลือกที่ชัดเจน เช่น นางเปรียว บอกกับผู้เขียนว่า เธอเลือกทักษิณก็เพราะว่า ไม่รู้จะเลือกใคร. นางสาวน้อยไปเลือกตั้งเพราะพ่อแม่และญาติบอกให้ไป แต่แล้วก็กาไม่เลือกใคร เพราะไม่รู้จักใคร. ส่วนนายหนุ่มที่เป็นราชการและสมาชิกพรรคไทยรักไทย แต่ไม่แน่ใจว่าไปทำไมเพราะว่าไม่ได้ประโยชน์ส่วนตัวอะไรเลย ซึ่งในระบบเลือกตั้งใดก็ตามมีคนจำนวนไม่น้อยที่จะเลือกโหวตหรือไม่โหวตบนพื้นฐานของความไม่เอาใจใส่ ไม่รู้สึกผูกพันและเพื่อผลักภาระให้พ้นตัว

ขณะเดียวกันผู้เขียนก็ไม่ปฏิเสธว่า การซื้อสิทธิขายเสียงและหัวคะแนนมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนบ้านเตียม หรือท้องถิ่นไหนๆ ของชนบทไทย หากแต่ผู้เขียนยืนยันว่า ต้องมีการใคร่ครวญถึงความเฉพาะของสถาบันเหล่านี้ในบริบทที่กว้างขึ้นของแนวคิดการเมืองในชีวิตประจำวัน อย่างที่ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า การแจกเงินโดยหัวคะแนนและผู้สมัครนั้นมีนัยพื้นฐานที่ต่างกันไปแล้วแต่บริบท ซึ่งควรที่จะประเมินหรือวิจารณ์ในกรอบที่กว้างมากขึ้น ตามแนวทางรัฐธรรมนูญชาวบ้านที่ได้นำเสนอมา พวกหัวคะแนนเองก็ต้องถูกประเมินด้วยเหมือนกัน

หัวคะแนนคนหนึ่งของพรรคไทยรักไทยที่บ้านเตียมเป็นคนพูดมาก และส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องไร้สาระ ถูกสมาชิกโหวตให้ออกจากตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มจัดการน้ำ เนื่องจากไม่ดูแล เอาใจใส่บำรุงรักษาให้คลองเดินน้ำได้สะดวก(เนื่องจากบ้านตนเองอยู่ต้นคลอง). หัวคะแนนของไทยรักไทยอีกคนหนึ่งก็เจอกับการต่อต้านขนานใหญ่ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่า ยักยอกเงินของท้องถิ่น เมื่อสมาชิกกลุ่มต้องสละเงินส่วนตัวคนละ 500 ช่วยให้โครงการดำเนินต่อไปได้ ภาพพจน์ของหัวคะแนนคนนี้ก็ดิ่งลง "ทั้งที่เธอทำงานหนักนะ แต่ไว้ใจเรื่องเงินไม่ได้" สมาชิกของกลุ่มรายหนึ่งให้ความเห็น

เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องจำไว้ว่า ผู้สมัครและหัวคะแนนนั้นแฝงฝังอยู่ในระบบที่ซับซ้อนและเหลื่อมทับกันของเครือข่ายสายสัมพันธ์ ซึ่งก็ไม่เป็นแบบระบบอุปถัมภ์ที่มีช่วงชั้นที่แบ่งได้ชัดเจน หากทว่าเป็นสังคมสัมพันธ์ที่หลากหลายของตัวละคร ที่มีการเชื่อมโยงเหลื่อมซ้อนกัน และแข่งขันกันดึงเอาคนมาเป็นพวกของตน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งพบว่าตนเอง ตกอยู่ท่ามกลางสายสัมพันธ์หลายแบบกับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นในทุกด้าน(มิติ) ของการแข่งขันทางการเมือง. ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นไม่มีรูปแบบทางสังคมที่สำเร็จรูป ที่สามารถแบ่งแยกกลุ่มผู้สนับสนุนได้ชัดเจน ในภาวะแวดล้อมที่ซับซ้อนนี้ รัฐธรรมนูญชาวบ้านถูกหยิบยกมาเพื่อใช้เป็นกรอบอย่างไม่เป็นทางการในการพิจารณากลุ่มผู้สนับสนุนเฉพาะ

บ้านเตียมเป็นเพียงตัวอย่างของชุมชนเดียวก็จริงอยู่ แต่ทว่าสามารถให้ภาพของรัฐธรรมนูญชาวบ้านในรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งช่วยให้เกิดการทบทวนความคิดในแบบเดิมๆ ถึงประชาธิปไตยที่ล้มเหลว จากแง่มุมของแนวทางรัฐธรรมนูญชาวบ้านที่บ้านเตียม รัฐบาลทักษิณได้รับเลือกตั้งเพราะเสียงส่วนใหญ่ของผู้มีสิทธิพิจารณาแล้วว่า ตัวของผู้สมัครของพรรคไทยรักไทยและนโยบายของพรรค มีความลงตัวในคุณค่าของผู้นำทางการเมือง บ่อยครั้งที่การเข้าคู่กันขององค์ประกอบนี้อาจไม่ลงตัว แต่พรรคไทยรักไทยก็ยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอยู่ดี

การตัดสินใจทางการเลือกตั้งอย่างนี้(ของชาวชนบท) ถูกกวาดโดยคลื่นการประท้วงของคนชั้นกลางในเมือง ซึ่งลงเอยด้วยการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2549 และรัฐประหารกันยายน ปีเดียวกัน พวกผู้สนับสนุนการรัฐประหารและพวกเล่นแร่แปรธาตุรัฐธรรมนูญ ได้ช่วยกันทำลายความชอบธรรมของชัยชนะของการเลือกตั้ง โดยกล่าวหาว่า ชัยชนะจากการเลือกตั้งครั้งนั้นมาจากการทุ่มซื้อเสียง และการมอมเมามวลชนในชนบทให้หลงผิด

การลบล้างคุณค่าของการเมืองในชีวิตประจำวันที่รวมอยู่ในรัฐธรรมนูญชาวบ้านนั้น เป็นอันตรายต่อประชาธิปไตยของประเทศไทยยิ่งกว่าการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เสียอีก

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เอกสารอ้างอิง
Anek Laothamatas. (1996) "A Tale of Two Democracies: Conflicting Perceptions of Elections and Democracy in Thailand," in R. H. Taylor (ed.) The Politics of Elections in Southeast Asia. Washington D. C.: Woodrow Wilson Center Press, pp. 201-223.

Arghiros, D. (2001) Democracy, Development and Decentralization in Provincial Thailand, Richmond, Curzon.

Callahan, W. A. (2005) "The Discourse of Vote Buying and Political Reform in Thailand," Pacific Affairs, 71, 1, pp. 95-113.

Connors, M. K. (2003) Democracy and National Identity in Thailand, New York; London, RoutledgeCurzon.

Gluckman, M. (1955) Custom and Conflict in Africa, Oxford, Basil Blackwell.

Hewison, K. (2002) "Responding to Economic Crisis: Thailand's Localism," in D. McCargo (ed.) Reforming Thai Politics. Richmond: Curzon, pp. 143-161.

Kasian Tejapira. (2006) "Toppling Thaksin," New Left Review, 39, May-June 2006, pp. 5-37.

Kerkvliet, B. J. (1995) "Toward a More Comprehensive Analysis of Philippine Politics: Beyond the Patron-Client, Factional Framework," Journal of Southeast Asian Studies, 26, 2, pp. 410-419.

Kerkvliet, B. J. (2002) Everyday Politics in the Philippines: Class and Status Relations in a Central Luzon Village, Lanham, Md.; Oxford, Rowman & Littlefield.

Kerkvliet, B. J. (2005) The Power of Everyday Politics: How Vietnamese Peasants Transformed National Policy, Ithaca, N.Y., Cornell University Press.

Kerkvliet, B. J. & Mojares, R. B. (1991) "Themes in the Transition from Marcos to Aquino: An Introduction," in B. J. Kerkvliet. & R. B. Mojares (eds.) From Marcos to Aquino: Local Perspectives on Political Transition in the Philippines. Manila: Ateneo de Manila University Press, pp. 1-12.

McCargo, D. (2006) The 19 September 2006 Coup - Preliminary Thoughts on the Implications for the Future Directions of Thai Politics. Asia Research Institute, National University of Singapore.
http://www.ari.nus.edu.sg/showfile.asp?eventfileid=190 (downloaded 20 February 2007).

McVey, R. T. (2000) Money and Power in Provincial Thailand, Copenhagen, Nordic Institute of Asian Studies.

Nelson, M. H. (1998) Central Authority and Local Democratization in Thailand: A Case Study from Chachoengsao Province, Bangkok, White Lotus Press.

Nidhi Eoseewong. (2003) "The Thai Cultural Constitution," Kyoto Review of Southeast Asia, 3
http://kyotoreview.cseas.kyoto-u.ac.jp/issue/issue2/index.html (downloaded 26 February 2007).

Nishizaki, Y. (2005) "The Moral Origin of Thailand's Provincial Strongman: The Case of Banharn Silpa-Archa," South East Asia Research, 13, 2, pp. 184-234.

Ockey, J. (2000) "The Rise of Local Power in Thailand: Provincial Crime, Elections and the Bureaucracy," in R. McVey (ed.) Money and Power in Provincial Thailand. Singapore: ISEAS, pp. 74-96.

Ockey, J. (2004) Making Democracy : Leadership, Class, Gender, and Political Participation in Thailand, Honolulu, University of Hawaii Press.

Pasuk Phongpaichit. (1999) Developing Social Alternatives: Walking Backwards into a Klong. 1999 Thailand Update: Thailand Beyond the Crisis. The Australian National University, Canberra.

Scott, J. C. (1976) The Moral Economy of the Peasant: Rebellion and Subsistence in Southeast Asia, New Haven, Yale University Press.

Scott, J. C. (1985) Weapons of the Weak : Everyday Forms of Peasant Resistance, New Haven, Yale University Press.

Scott, J. C. (1998) Seeing Like a State: How Certain Schemes to Improve the Human Condition Have Failed, New Haven, Yale University Press.

Sonthi Boonyaratglin (2006) Kingdom 'Would Not Have Survived without Coup'. The Nation. Bangkok, October 26, 2006.

Suchit Bunbongkarn. (1996) "Elections and Democratization in Thailand," in R. H. Taylor (ed.) The Politics of Elections in Southeast Asia. Washington D. C.: Woodrow Wilson Center Press, pp. 201-223.

Surin Maisrikrod. & McCargo, D. (1997) "Electoral Politics: Commercialisation and Exclusion," in K. Hewison (ed.) Political Change in Thailand: Democracy and Participation. London and New York: Routledge, pp. 132-148.

Tanun, A. R. (1994) Campaign Techniques of the Thai Members of Parliament in the 1988 General Elections. PhD Thesis, Northern Illinois University.

Turton, A. (1984) "Limits of Ideological Domination and the Formation of Social Consciousness," in A. Turton & S. Tanabe (eds.) History and Peasant Consciouness in South East Asia. Osaka: National Museum of Ethnology, pp. 19-73.

Walker, A. (2001) "The 'Karen Consensus', Ethnic Politics and Resource-Use Legitimacy in Northern Thailand," Asian Ethnicity, 2, 2, pp. 145-162.

Walker, A. (2004) "Seeing Farmers for the Trees: Community Forestry and the Arborealisation of Agriculture in Northern Thailand," Asia Pacific Viewpoint, 45, 3, pp. 311-324.

Walker, A. (2006) "What About Some Political Education for the Elite?" New Mandala http://rspas.anu.edu.au/rmap/newmandala/2006/10/11/what-about-some-political-education-for-the-elite/ (downloaded 1 April 2007).

Walker, A. (2007) "Beyond the Rural Betrayal: Lessons from the Thaksin Era for the Mekong Region." Paper presented at International Conference on Critical Transitions in the Mekong Region, 29-31 January 2007, Chiang Mai Grand View Hotel.
15.5

(กลับไปทบทวนบทความเรื่องนี้ ตอนที่ ๑)

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com