บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
รัฐธรรมนูญชาวบ้านและการเมืองในชีวิตประจำวันของการเลือกตั้ง
รัฐธรรมนูญชาวบ้าน:
พื้นที่วัฒนธรรมทางการเมืองในชีวิตประจำวัน (ตอนที่ ๑)
Dr.
Andrew Walker
: เขียน
Resource Management in Asia-Pacific Program
The Australian National University
พรรณพิไล กิจสุดแสง : แปล
บทความวิชาการนี้
กองบรรณาธิการได้รับมาจากผู้แปล : พรรณพิไล กิจสุดแสง
ปัจจุบันเป็น PhD candidate ทางมานุษยวิทยา ที่ ANU - The Australian National
University
แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษของ Dr. Andrew Walker ที่นำเสนอที่คณะรัฐศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา
โดยฉบับแปลนี ้ผู้เขียนได้ตรวจดูแล้ว และอนุญาตให้เผยแพร่ต่อสาธารณชนได้
เนื้อหาของบทความ
เป็นการวิจัยและสำรวจถึงการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้สิทธิ์เลือกตั้งของชาวชนบท
ซึ่งถูกกลุ่มคลื่นการประท้วงของคนชั้นกลางในเมือง(จนนำไปสู่การรัฐประหารเดือนกันยายน)กล่าวหาว่า
เป็นพวกขายเสียงให้กับการทุ่มซื้อเสียงของนักการเมือง และนักการเมืองเหล่านี้ได้มอมเมามวลชนในชนบทให้หลงผิด
อันที่จริงเรื่องของการเลือกตั้ง เป็นกระบวนการตัดสินใจของชาวบ้าน
มีความซับซ้อนมากกว่าการกวาดทิ้งและเหมารวมด้วยข้อสรุปอย่างง่ายๆ เช่นนี้
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๒๙๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๓.๕ หน้ากระดาษ A4)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
รัฐธรรมนูญชาวบ้านและการเมืองในชีวิตประจำวันของการเลือกตั้ง
รัฐธรรมนูญชาวบ้าน:
พื้นที่วัฒนธรรมทางการเมืองในชีวิตประจำวัน (ตอนที่ ๑)
Dr.
Andrew Walker
: เขียน
Resource Management in Asia-Pacific Program
The Australian National University
พรรณพิไล กิจสุดแสง : แปล
(ชื่อเดิม:
"รัฐธรรมนูญชาวบ้าน" และการเมืองในชีวิตประจำวันของการเลือกตั้งในภาคเหนือของไทย)
เกริ่นนำ "การเมืองในชีวิตประจำวันนั้นสำคัญไฉน?"
"ผมสงสัยว่าคนไทยหลายคนยังขาดความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย ประชาชนยังต้องเข้าใจในสิทธิและหน้าที่ของตน บางคนยังต้องเรียนเกี่ยวกับวินัย ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องให้การศึกษาประชาชนในเรื่องประชาธิปไตย มันเป็นสิ่งท้าทายที่จะให้คนไทย 60 ล้านคนเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องประชาธิปไตย สิทธิ หน้าที่และกฎระเบียบ ประชาธิปไตยจะเติบโตเมื่อประชาชนได้เรียนรู้ความหมายที่แท้จริง"
(สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร, 2550)
การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สืบทอดความชอบธรรมทางอุดมคติที่ว่า รัฐบาลทักษิณนั้นขาดความชอบธรรมเพราะมาจากการเลือกตั้งที่"ถูกซื้อ" มาจากผู้มีสิทธิที่ขลาดเขลาและถูกชักจูงได้ง่าย นี่ไม่ใช่เหตุผลเดียวเท่านั้น แต่การปฏิเสธความชอบธรรมในการเลือกตั้ง ถูกใช้เป็นฐานในการทำให้การล้มเลิกรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งมาแล้วถึงสามครั้งนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ปลายปี 2549 นั้น ก็ถูกพวกที่ปกป้องการทำรัฐประหารโต้แย้งว่า คนที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนั้น ก็ใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินที่เหมาะสมไม่ได้ ต่อการที่รัฐบาลทักษิณอันมีความผิดที่รู้กันไปทั่วจะได้รับการเลือกตั้ง และเมื่อต้องเผชิญกับแนวโน้มว่าพรรคไทยรักไทยของทักษิณจะชนะการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น คณะรัฐประหารจึงกล่าวอ้างว่า การแทรกแซงของทหารเป็นหนทางเดียวที่จะแก้ภาวะชะงักงันทางการเมืองได้ และในสายตาของฝ่ายตรงข้ามทักษิณ ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะยังคงสนับสนุนทักษิณต่อไปนั้น เป็นหลักฐานที่ชัดเจนอันแสดงความไร้เหตุผลของผู้มีสิทธิลงคะแนนและความล้มเหลวของกระบวนการเลือกตั้ง
ข้ออ้างดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือแม้แต่การที่ข้ออ้างนั้นถูกนำมาใช้สนับสนุนการแทรกแซงโดยกองทัพ นักวิจารณ์การเมืองกล่าวว่า คนไทยโดยเฉพาะชาวชนบท ขาดคุณสมบัติพื้นฐานของการเป็น "พลเมือง" ในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ (Conners, 2003) งานศึกษาที่ว่าด้วยความไม่พอหรือ"ขาด" ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมุ่งไปที่ประเด็นหลัก ๓ ประการ
ประการแรก ผู้มีสิทธิ์ในชนบทด้อยการศึกษา คับแคบ ไม่ค่อยสนใจในข้อเสนอนโยบาย ขาดความเข้าใจในประเด็นนโยบายระดับชาติ เลือกตัวแทนเพียงผลประโยชน์เฉพาะหน้า
ประการที่สอง เนื่องจากยากจน ขาดการพัฒนาตนเอง จึงมักถูกชักจูงง่ายด้วยอำนาจเงิน การขายเสียงเป็นเสมือนโรคเรื้อรัง มีการแจกเงินจากผู้สมัครโดยผ่านเครือข่ายของหัวคะแนน ซึ่งเล่นบทสำคัญในการรักษาเสียงสนับสนุน
ประการที่สาม การเคลื่อนไหวเลือกตั้งในชนบท ผ่านโครงข่ายอุปถัมภ์ที่ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นสามารถที่จะควบคุมเสียงโหวตให้กับเจ้านายของตัวได้ มีงานศึกษาที่ให้ภาพการก้าวขึ้นมาของนักธุรกิจและเจ้าพ่อ (McVey,2000) ที่ช่วยเสริมความเข้มแข็งของความสัมพันธ์แบบ นาย-ลูกน้องในพฤติกรรมการเมืองของชนบท ส่วนงานเขียนของเกษียร (2006:14-15) "ระบอบการเลือกตั้ง" ในไทย ฉายภาพองค์ประกอบสำคัญของมุมมองเกี่ยวกับผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในชนบท
"ที่ฐานของระบอบเลือกตั้งนั้นมีผู้มีสิทธิ์อยู่ 40 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจน ด้อยการศึกษาและอยู่ในชนบท สิทธิในการเลือกตั้งของเขาเหล่านั้นมักโดนย่ำโดยเจ้าหน้าที่ผู้หยิ่งยโส เจ้าพ่อท้องถิ่นและนักการเมืองมาตลอด พวกเขาเหล่านั้นจึงต้องหาทางเอาประโยชน์จากสิ่งที่ยังเหลืออยู่ก็คือ ขายเสียงให้นักการเมืองท้องถิ่นเพื่อเงิน, งาน, การคุ้มครองหรือสวัสดิการนอกระบบ นักการเมืองที่ทำหน้าที่วางนโยบายหลักก็ไม่เคยใส่ใจถึงผลประโยชน์ของคนในชนบท ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นก็ถูกทั้งรัฐและเอกชนใช้จนหมดสิ้น คนเหล่านี้ถูกบังคับให้กลับกลายเป็นผู้สมคบคิดที่เต็มใจในการคอร์รัปชั่นอย่างเป็นระบบของประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง"
ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในชนบทสลัดภาพพจน์ดังกล่าวออกไปได้ยากเต็มที และมักกล่าวหากันว่า การปฏิรูปการเลือกตั้งโดยเพิ่มกฎเกณฑ์ให้มากขึ้น ส่งผลน้อยมากกับการเลือกตั้งที่หล่อลื่นด้วยเงิน คำตอบเดียวที่เราได้ยิน ได้ฟังกันมาโดยตลอด ก็คือต้องมีการรณรงค์ให้การศึกษาทางการเมืองกับผู้มีสิทธิ์ในชนบท เพื่อให้เข้าใจวัตถุประสงค์ของการเลือกตั้งอย่างถูกต้องเหมาะสม และเป็นการกระตุ้นสำนึกทางการเมืองด้วย(Suchit,1996)
ในบรรยากาศหลังรัฐประหาร การให้ความรู้ทางการเมืองได้รับการสานต่ออย่างมีสำนึกโดยสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้นำขบวนต่อต้านทักษิณ ซึ่งมองการณ์ในอนาคตว่า ต้องเริ่มด้วยให้สำนึกทางการเมืองเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่ปราศจากการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนแก่คนชั้นกลางในเมือง ให้ค่อยๆ แผ่ขยายไปสู่คนชนบทส่วนใหญ่ที่ยังยึดติดอยู่กับความคับแคบและมุ่งแต่ตัวเงิน (Walker, 2006)
จากงานเขียนเกี่ยวกับพฤติกรรมการเมืองชนบทในประเทศไทยและที่อื่นๆ ในภูมิภาค ได้เสนอทางเลือกหลัก ๒ แนวทางให้กับมุมมองด้านลบของพฤติกรรมการเมืองชนบทนี้
แนวทางแรก เน้นที่การเคลื่อนไหวที่ไม่ต้องเลือกตั้งของคนชนบท เป็นการร่วมแนวไปกับกลุ่ม NGOs เพื่อต้านการเข้าไปรวมอยู่กับการกำกับของรัฐและทุนธุรกิจการตลาด มีงานศึกษาจำนวนมากรวมทั้งบทวิเคราะห์ของนักเคลื่อนไหวสังคม ที่บันทึกการต่อสู้ที่ไม่ผ่านการเลือกตั้งของท้องถิ่น (ประชาธิปไตยทางตรง) เพื่อต้านกระแสการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, นโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ใช้มาตรการบังคับกดขี่และการนำทรัพยากรมาแปรเป็นสินค้า การเข้าร่วมของชาวบ้านในขบวนการประท้วง และการร่วมรณรงค์ และความมุ่งมั่นที่จะจัดการทรัพยากรโดยชุมชน และการส่งเสริมการใช้ความรู้ท้องถิ่นอย่างแพร่หลาย
ทั้งหมดนี้ได้รับการกล่าวถึงในฐานะที่เป็นหลักฐานที่แสดงถึงกระบวนการประชาสังคมชนบทที่มีจุดยืนอยู่ตรงข้ามกับทิศทางการพัฒนาหลักที่ถูกกำหนดโดยรัฐไทย แต่ทว่างานเหล่านี้เป็นฐานที่มั่นคงพอที่จะช่วยทบทวนวัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่นหรือไม่? ผู้เขียนคิดว่า ไม่พอ มุมมองของผู้เขียนในประเด็นนี้ได้รับอิทธิพลจากลักษณะเฉพาะของพื้นที่วิจัยของผู้เขียนเอง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วกล่าวได้ว่า การเคลื่อนไหวขององค์กร"รากหญ้า"มีอยู่ไม่มากนัก ทั้งที่มีประเด็นปัญหาทางสังคมโดยพื้นฐานอยู่มากเช่นกัน การมีส่วนร่วมในองค์กรเหล่านี้มีไม่มากนัก ผลกระทบจากการเคลื่อนไหวขององค์กรเหล่านี้มีอยู่เฉพาะเขตที่มีความขัดแย้ง ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างแหลมคม ที่สำคัญก็คือการรณรงค์ในชนบทที่ขับเคลื่อนโดยองค์กรประชาสังคม มีฐานมาจากสิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่า "ความชอบธรรมแบบจำกัด" ที่ขึ้นอยู่กับ จินตภาพของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่น, การเกษตรกรรมแบบพอเพียง, และการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายสอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ. (Walker, 2001; 2004)
นี่ถือว่าเป็นกรอบการเสริมสร้างพลังของท้องถิ่น ซึ่งยากที่จะนำมาผสานเข้ากับนโยบายรัฐบาลทักษิณที่ได้รับการสนับสนุนจากการเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง เนื่องจากนโยบายรัฐบาลทักษิณมุ่งส่งเสริมเงินจากภายนอกสู่การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ด้วยการแปรทรัพยากรเป็นทรัพย์สินและเงินตรา เมื่อนักชุมชนนิยมและองค์กรประชาสังคมต้องเผชิญกับ"การหักหลังของชนบท" ก็เลยติดป้ายให้กับคนชนบทอย่างง่ายๆ ว่าเป็นพวกที่ถูกดึงดูดได้ด้วย "ธนกิจการเมือง" (Walker, 2007)
แนวทางที่สอง แนวทางการวิเคราะห์พฤติกรรมการเมืองแนวทางที่สอง เน้นการเมืองในชีวิตประจำวัน แนวทางนี้ได้รับความสนใจน้อยกว่ามากในบริบทของไทย แนวคิดนี้มีที่มาจากงานของScott (1985) ที่สังเกตความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการ, ชีวิตประจำวัน และอาการปกปิดซ่อนเร้นของคนที่เป็นเบี้ยล่าง แสดงความไม่พอใจต่อโครงสร้างอำนาจ และระบบการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม
งานศึกษาชิ้นสำคัญของ Kerkvliet (2002) ในฟิลิปปินส์ที่เน้นการเมืองในชีวิตประจำวัน (เพื่อต้านกับมุมมองที่แพร่หลายกว่า) ว่า พฤติกรรมการเมืองก็คือการเข้าใจการปฏิบัติการของกลุ่มพวกพ้อง(ที่จัดชั้นตามลำดับโครงสร้าง) ในการเคลื่อนไหวให้ผู้ใช้สิทธิ์สนองความต้องการทางการเมืองของชนชั้นสูง. ในความพยายามที่จะขยายมุมมองการเมืองในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นการพิจารณาว่า พฤติกรรมใดเป็นพฤติกรรม"การเมือง" Kerkvliet เสนอให้ใส่ใจกับรูปแบบของการเมืองในชีวิตประจำวันที่อยู่นอกเหนือการวิเคราะห์การเมืองแบบเดิม มุมมองที่กว้างขึ้นนี้ระบุรวมไปถึง การพูด, ถกเถียง, ความขัดแย้ง, การตัดสินใจ, และการร่วมมือระหว่างบุคคล กลุ่มและองค์กร โดยคำนึงถึง การควบคุม การจัดสรร และการใช้ทรัพยากร รวมทั้งคุณค่าและความคิดที่เป็นฐานของกิจกรรมเหล่านั้นด้วย
การถกเถียงและคุณค่าเหล่านี้ ควรได้รับการสำรวจผ่านความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการและการเมืองในชีวิตประจำวันในรูปของ หนังสือประท้วง, การลักขโมย, การนินทา, การหลีกเลี่ยง, การวินาศกรรม, การประณาม และการประท้วงอย่างเปิดเผย. มิติหลักของการวิเคราะห์นี้อยู่ที่ชุดคุณค่าที่แสดงในกิจกรรมการเมืองในชีวิตปกติ โดยอาศัยงานของ Scott (1976) "เศรษฐศาสตร์ศีลธรรม" Kerkvliet จำแนกชุดของคุณค่าที่เกี่ยวกับ การช่วยเหลือกัน ความต้องการพื้นฐาน ความปลอดภัยและศักดิ์ศรี ที่มี "ปฏิสัมพันธ์ " และ "แย่งชิง" กับคุณค่าที่ค้ำจุนเศรษฐกิจทุนนิยมและความสัมพันธ์การตลาด
นี่เป็นแนวทางการวิเคราะห์ที่ผู้เขียนเห็นว่า เป็นประโยชน์ในการช่วยทำความเข้าใจวัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่นของไทย จุดแข็งของมุมมองนี้อยู่ที่การเน้นการถกเถียงในวิถีชีวิตปกติ เกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรในระดับท้องถิ่น มากกว่าที่จะเป็นการศึกษากรณีศึกษาที่มีความเฉพาะตัวของการเคลื่อนไหวภายใต้ร่มธงขององค์กรประชาสังคม และเป็นการท้าทายมุมมองที่เห็นว่า การเมืองชนบทสามารถเข้าใจได้ด้วยการติดตามการเคลื่อนไหวของชาวนาผู้รู้น้อยและสมองทึบ ที่ทำไปเพื่อสนองผลประโยชน์ทางการเมืองของนายที่เป็นชนชั้นสูงเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การประยุกต์ใช้แนวทางการศึกษานี้ในพื้นที่ภาคเหนือ ผู้เขียนเสนอให้มีการปรับแนวทางของ Kerkvliet โดยที่ผู้เขียนมีแนวโน้มที่จะไม่ลากเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่าง "การเมืองในชีวิตประจำวัน (นอกระบบ)" กับ "การเมืองแบบเลือกตั้ง (ในระบบ)" การเลือกตั้งที่มีอย่างสม่ำเสมอและระดับการมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้งที่ค่อนข้างสูง มีผลต่อลักษณะเฉพาะของการศึกษาครั้งนี้ ในพื้นที่วิจัยของผู้เขียนนี้มีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติถึง 7 ครั้งในรอบสองปี (ระหว่างพ.ศ.2547 ถึง พ.ศ.2549) ยอดผู้ไปใช้สิทธิ์มีอยู่สูง (ประมาณ 80%) และที่สำคัญมีคนจำนวนไม่น้อยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสนามการเมืองในระบบ
จากการที่มีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับสูงอย่างนี้ การพูดคุยในประเด็น "การเลือกตั้ง" "ผู้สมัคร" "นโยบาย" และ"การรณรงค์หาเสียง" เป็นเรื่องปกติของชีวิตประจำวัน การแข่งขันเลือกตั้งพัวพันเข้าเป็นส่วนของความสัมพันธ์ทางสังคมท้องถิ่น และคุณค่าที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของชุมชนนั้นขยายเข้าสู่ปริมณฑลของการเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว
คุณค่าท้องถิ่นที่สื่อผ่านการเมืองในชีวิตประจำวันของการเลือกตั้ง เป็นประโยชน์ในฐานะที่เป็น "รัฐธรรมนูญชาวบ้าน" ได้ โดยทั่วไปคำว่ารัฐธรรมนูญกำกับการกระทำของรัฐบาล จำแนกโครงสร้างรัฐบาล กำหนดหน้าที่และกระจายอำนาจ ผลโดยรวมคือการกำกับความชอบธรรมในการใช้อำนาจของรัฐบาลและควบคุมการแสดงความไม่ชอบธรรม ซึ่งมักจะมีการคุ้มครองคนที่อยู่ภายใต้ปกครองด้วย ขณะที่ความสนใจเพ่งไปที่รัฐธรรมนูญที่เป็นทางการ นักรณรงค์ทางการเมืองและนักวิชาการรัฐธรรมนูญยอมรับว่า บทบัญญัติที่เขียนในรัฐธรรมนูญนั้นจำหลักอยู่ท่ามกลางปริมณฑลอันกว้างขวางทั้งในแง่ประเพณี หลักศีลธรรมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลง
นักประวัติศาสตร์ไทย นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2003) ได้อ้างถึงในฐานะ "รัฐธรรมนูญวัฒนธรรม" และซึ่งที่ผู้เขียนอ้างถึงในฐานะ"รัฐธรรมนูญชาวบ้าน" ในปริบทภาคเหนือของประเทศไทย รัฐธรรมนูญแบบไม่เป็นทางการนี้มีคุณค่าและความสำคัญเทียบเท่ากับฉบับที่เป็นลายลักษณ์อักษร ในแง่การสร้างความชอบธรรมให้แก่การใช้อำนาจทางการเมือง โดยการเสนอคุณสมบัติของผู้แทนทางการเมืองในอุดมคติ พฤติกรรมทางการเมืองเชิงอุดมการณ์ และประณามการใช้สิทธิอำนาจอย่างบิดเบือนหลากรูปแบบขององค์กรสาธารณะ บทบาทในทางธรรมนูญ(ที่เป็นข้อกำหนด)นี้ มีหลักฐานปรากฏทั้งในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นและการประเมินการเลือกตั้งรัฐบาลในระดับชาติ
จุดเน้นทางการเขียนแบบชาติพันธ์วรรณาของบทความชิ้นนี้ อยู่ที่หมู่บ้านเตียมที่อยู่ห่างจากเชียงใหม่ "เมืองหลวง" ของภาคเหนือของประเทศไทย ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงโดยทางรถยนต์ที่สะดวก บ้านเตียมเป็นหมู่บ้านคนเมืองอยู่ในหุบเขาแคบๆ ไปทางทิศตะวันตกของตัวอำเภอผาเสี้ยวไป 2-3 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านขนาดกลางมีครัวเรือนประมาณ 100 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ปลูกข้าวในหน้าฝนและปลูกพืชเศรษฐกิจในหน้าแล้ง รวมกับการทำงานรับจ้างจำนวนหนึ่ง ประมาณครึ่งหนึ่งของชุมชนมีรายได้จากนอกภาคเกษตร และส่วนใหญ่มีสมาชิกในครัวเรือนไปทำงานที่อื่น นับได้ว่าเป็นเศรษฐกิจชนบทที่หลากหลาย
วัฒนธรรมการเลือกตั้งของท้องถิ่น:
ท้องถิ่นนิยม การเกื้อหนุนและการบริหารจัดการท้องถิ่นนิยม
มีนักวิพากษ์วัฒนธรรมการเมืองไทยจำนวนหนึ่ง ที่ชูประเด็นความต้องการอย่างเร่งด่วนของ
'ท้องถิ่นนิยม' การปรับทิศทางทางการเมืองที่เน้นการใช้ชุมชนท้องถิ่นเป็นเสมือนกำแพงกั้นการ
บุกรุกของรัฐสมัยใหม่ (Pasuk, 1999; Hewison, 2002). สถาบันชุมชนท้องถิ่นและความสามารถของชุมชนถูกนำเสนอในฐานะทางเลือกของโครงสร้างมาตรฐานของรัฐราชการสมัยใหม่
ในบางแง่มุมก็เหมือนกับท้องถิ่นนิยมฉบับที่ผู้เขียนกำลังอธิบายอยู่นี้ ซึ่งมีจุดเน้นอยู่ที่ความต้องการทางศีลธรรมที่เฉพาะและผูกติดกับท้องถิ่น
แต่ก็ยังมีความต่างที่สำคัญอีกด้วย
ท้องถิ่นนิยมที่"บ้านเตียม" ที่ผู้เขียนบรรยายถึงนี้เป็นสิ่งที่ต่างออกไปจากแนวเดิมอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่ความต้องการที่จะต่อต้านรัฐ แต่เป็นการดึงเข้าสู่กรอบของความหมายทางสังคมวัฒนธรรมที่เข้าใจได้ง่าย ที่สำคัญในท้องถิ่นนิยมที่"บ้านเตียม" ก็คือความสัมพันธ์ต่างๆ กับรัฐนั้นถูกประสานโดยคนท้องที่ที่ฝังตัวอยู่ในโครงสร้างชุมชนอย่างเหมาะสม
ความเห็นหนึ่งที่ดูเหมือนเป็นเรื่องที่รับรู้เข้าใจกันโดยทั่วไปของ "รัฐธรรมนูญชาวบ้าน" ที่บ้านเตียมก็คือ ความเห็นที่ว่า "เลือกคนท้องถิ่นดีกว่าเลือกคนต่างถิ่น" และมักจะแสดงออกถึงการที่จะชอบผู้สมัครรับเลือกตั้งจาก "บ้านเฮา". "บ้านเฮา" ตามตัวหนังสือแล้วก็คือ "หมู่บ้านของเรา" แต่ "บ้าน" เป็นคำที่ถูกปรับแต่งให้เหมาะให้เข้ากับปริบทแวดล้อมได้เป็นอย่างดี ไม่ใช่เฉพาะความหมายของการเป็น"บ้าน" หรือ "หมู่บ้าน" เท่านั้น แต่ปรับขนาดหรือฐานได้ตามความต้องการแข่งขันในการเลือกตั้ง
ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นนั้น ท้องถิ่นนิยมสนับสนุนกรอบที่ชัดเจนในการเจรจาปรึกษาหารือทางการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้งถูกประเมินก่อนแล้วในแง่ของการมีหรือไม่มีสายโยงใยที่เข้มแข็งในท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องอยู่ในวงที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้ง่ายมากในการเลือกตั้ง ความสำคัญของท้องถิ่นนิยมเพิ่มมากขึ้น จากการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการจัดสรรส่วนแบ่งของทรัพยากรต่างๆ มากขึ้น (ผลมาจากการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง) ทำให้เกิดการแข่งขันในด้านงบประมาณระหว่างหมู่บ้าน เหมือนที่ชาวบ้านคนหนึ่งบอกกับผู้เขียนว่า การที่เห็นสภาหมู่บ้านของตัวเองอยู่ในการปกครองของคนบ้านอื่น ก็เหมือนกับ"การกำลังรอคอยการส่งอาหารช่วยจากทางอากาศ แล้วในขณะนั้นก็เห็นร่มชูชีพที่ผูกอาหารลอยลงไปยังเชิงเขาอีกฟากหนึ่ง"
จริงๆ แล้ว "บ้านเตียม"เป็นผู้สมัครที่ประสบผลสำเร็จในการแข่งขันระดับท้องถิ่นเหมือนกัน กำนันคนก่อนก็เป็นคนจาก"บ้านเตียม" และก็ยังได้เป็นตัวแทนในสภาจังหวัดอีกด้วย ผู้สนับสนุนส่วนใหญ่บอกว่า ต้องการ"ช่วย"คนที่มาจากบ้านเดียวกัน เหมือนที่แม่อุ้ยมอน บอกก่อนที่จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดในช่วงต้นปี 2547 ว่า " ฉันกำลังช่วยคนของพวกเรา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เขาก็เป็นพวกเรา" ผู้สมัครชิงนายกเทศมนตรีในการเลือกตั้งปี 2549 ก็เป็นคน"บ้านเตียม"และได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากทัศนคติที่ว่า เป็นการสมเหตุสมผลที่จะเลือกลงคะแนนให้คนที่มาจากบ้านเดียวกัน ผู้สมัครรายนี้ยังสามารถขยายเครือข่ายการสนับสนุนในหมู่ญาติได้อีกอย่างน้อยในหมู่บ้านอื่นอีกสองบ้านในเขตเทศบาล ซึ่งต่างจากผู้สมัครรายอื่นๆ ที่ด้อยกว่าในแง่การมีเครือข่ายสนับสนุนในท้องถิ่น
ตัวอย่างเช่น ผู้สมัครที่เคยรับราชการในท้องถิ่นประมาณ 3 ปี หรือถึงแม้กรณีคนที่อยู่ในท้องถิ่นมานาน แต่เป็นคนจากที่อื่นก็อาจจะถูกตัดสินว่าเป็นคนนอกมาจากที่อื่นเช่นกัน เช่น กรณีของ ดร. ธเนศร์ ผู้ที่แจกผ้ากันเปื้อนที่มีโฆษณาเกี่ยวกับธุรกิจของเขาให้แก่พวกคนขายของในตลาด เจ้าของร้านอาหารเล็กๆ คนหนึ่งตอบผู้เขียน เมื่อถูกถามว่าผ้ากันเปื้อนของเธอเป็นสัญญลักษณ์ของการสนับสนุน ดร. ธเนศร์หรือไม่ เธอตอบว่า:
"เมื่อเขามาแจก เราก็ตัดสินใจว่าจะใช้ เขาลงสมัครรับเลือกเป็นนายกเทศมนตรี แต่ฉันก็ไม่รู้ว่าเขาจะได้หรือไม่ เขาไม่ใช่คนท้องถิ่น เขาอยู่ที่นี่มา 20 ปี คนรู้จักเขาเยอะ แต่เขาก็เป็นคนมาจากที่อื่น"
นัยยะและการเปลี่ยนผ่านของเส้นแบ่งของท้องถิ่นนิยม แสดงให้เห็นในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในปี 2548 จากการเลือกตั้งทั้งหมดที่กล่าวมา การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นการเลือกตั้งที่มีความเป็นท้องถิ่นน้อยที่สุด และยังเป็นการท้าทายโดยตรงกับแนวทางแบบท้องถิ่นในการเลือกตั้ง มีผู้สมัคร 39 คนต่อ 5 ที่นั่ง และมีจำนวนเพียงไม่กี่คนที่มีเครือข่ายสายสัมพันธ์กับชุมชนท้องถิ่น ข้อวิจารณ์ในกรณีนี้ก็คือ"ไม่มีตัวแทนสักคนที่มาจากอำเภอผาเสี้ยว มีแต่คนมาจากที่อื่นทั้งนั้น"
โดยไม่มีการแนะนำถึงความสัมพันธ์กับท้องถิ่นทำให้ผู้ไปเลือกตั้งใช้เวลานานมากในการตัดสินใจว่าจะลงคะแนนให้ผู้สมัครคนไหนดี หลายๆ คนยืนอ่านป้ายประกาศคุณสมบัติผู้สมัครเป็นเวลานานๆ เจ้าหน้าที่บางคนทำนายว่าจะมีบัตรเสียจำนวนมาก แล้วคะแนนที่จะลงจริงๆ จะมีน้อย ในความเป็นจริงการเลือกตั้งเป็นไปด้วยดี ถึงแม้ว่าจะมีการลงคะแนนแบบไม่ออกเสียงเป็นจำนวนสูงมากกว่าปกติ แต่การทำนายและข้อวิจารณ์นั้นสท้อนให้เห็นถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการไร้ความเชื่อมโยงทางสังคม และทางพื้นที่ของผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ผู้มีสิทธ์เลือกตั้งนั้นปรับตัวยืดหยุ่นและเป็นรูปธรรม อารมณ์ของการเป็นท้องถิ่นก็ถูกปรับแต่งเป็นอย่างสูง โดยรวมแล้วผลการเลือกตั้ง สว.ตรงกันกับการอธิบายตรรกะอย่างกว้างๆ ของแนวท้องถิ่นนิยม ผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2 คน ได้รับคะแนน คนละ 38 เสียงจากการนับคะแนนในหมู่บ้าน หนึ่งในสองนั้น ถูกทำนายว่าจะทำหน้าที่ได้ดีเพราะเป็นที่รู้จัก มีชื่อสียง เนื่องจากเป็นน้องชายของผู้แทนคนก่อน (มีคนว่าเขาน่าจะเป็นคนของทักษิณ) อีกคนเป็นคนมาจากอำเภอและเป็นสมาชิกสภาจังหวัด ในฐานะที่เป็นผู้สมัครคนเดียวที่อยู่ที่อำเภอผาเสี้ยวเขาน่าจะได้คะแนนดี แต่ความรู้สึกในช่วงก่อนการเลือกตั้งว่า ความผูกผันกับท้องถิ่นของผู้สมัครคนนี้มีค่อนข้างจำกัดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมถึงผลงานในฐานะสมาชิกสภาจังหวัด ก็ไม่ก่อประโยชน์ให้กับท้องถิ่นอย่างแท้จริง
ผู้สมัครรายที่ได้คะแนนรองลงมา (36 คะแนน) เป็นโยมอุปปัฏฐากสำคัญของวัดใกล้ๆ ประวัติการทำบุญในท้องถิ่นของผู้สมัครรับเลือกตั้งรายนี้ ได้รับการยอมรับอย่างสูงพอๆ กับความเกี่ยวเนื่องอย่างใกล้ชิดของเธอกับสมาชิกอาวุโสของพรรคฝ่ายค้าน ผู้สมัครรายอื่นๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากท้องถิ่นก็มีสถานะในท้องถิ่นที่ต่างกันไป เช่นคนหนึ่งก็มีเส้นสายโยงใยผ่านธุรกิจการปล่อยเงินกู้ ("มีเครือข่ายดี เงินมากมายแต่อาจจะไม่น่าเชื่อถือ") อีกคนหนึ่งเป็นนักจัดรายการวิทยุชื่อดัง ("มีคนมากมายรู้จักและอยากช่วยเขา") ผู้สมัครอีกรายมาจากตระกูลที่มีชื่อเสียงและมีความสัมพันธ์ที่ดีในหมู่พวกนักชนไก่ของอำเภอ (และยังได้สนับสนุนการสร้างบ่อนไก่ในอำเภอใกล้เคียงอีกด้วย) ที่น่าสนใจก็คือน้องสะใภ้ของทักษิณ ซึ่งใช้นามสกุลชิณวัตรที่โด่งดังแต่ไม่มีสายสัมพันธ์ในท้องถิ่นได้รับคะแนนเสียงเพียง 3 คะแนนเท่านั้นจาก"บ้านเตียม"
แรงบันดาลใจหนึ่งที่มีอยู่ลึกๆ สำหรับสิ่งที่ผู้เขียนอ้างถึงในฐานะท้องถิ่นนิยมก็คือความต้องการความชัดเจนทางการเมือง ไม่ใช่เฉพาะแต่รัฐเท่านั้นที่จะต้องพยายามสร้างโครงสร้างทางการปกครองที่ถูกปรับให้ง่ายและชัดเจน (Scott, 1998) ผู้มีสิทธ์เลือกตั้งเองก็ต้องแสวงหาผู้สมัครในกรอบของภายใน (บ้านเฮา) กับภายนอก นี่คือกรอบที่เต็มไปด้วยศีลธรรม ซึ่งแนวคิดการยืดหยุ่นเชิงพื้นที่ของ"บ้านเฮา"นั้นสัมพันธ์กับการเข้าถึงได้ ความคุ้นเคยทางสังคม ความคล่องตัวทางภาษาและพันธะสัญญาต่อสถาบันท้องถิ่น
แต่ท้องถิ่นนิยมไม่ได้จัดหาแม่แบบอย่างง่ายๆ สำหรับการตัดสินใจทางการเมือง ที่เป็นเช่นนี้บางส่วนเนื่องมาจาก ท้องถิ่นนิยมดำเนินการอย่างกำกวม และมีการประชันขันแข่งในสิทธิข้อเรียกร้องในต่างระดับกันของความเป็นท้องถิ่น ภายใน"บ้านเตียม"มีข้อกังวลมากก็คือ มีคนที่เกี่ยวข้องทางการเมืองจำนวนมากที่จะแยกเสียงสนับสนุนในท้องถิ่น และลดทอนอิทธิพลทางการเมืองของหมู่บ้านเมื่อเข้าไปถึงในระดับเทศบาล เป็นเรื่องธรรมดาเมื่อมี"ท้องถิ่น"จำนวนมากให้เลือก
อีกปัจจัยหลักที่ลดทอนอิทธิพลของท้องถิ่นก็คือ การที่รู้ชัดถึงจุดอ่อนในฐานะมนุษย์ธรรมดาของบรรดาผู้ลงแข่งขันนั่นเอง พลังของสัญญลักษณ์ของ"บ้านเฮา"สามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้เมื่อจัดไปคู่กับความเป็นจริงในการขัดแย้งระหว่างบุคคล ความอิจฉาริษยา ความรังเกียจเดียดฉันท์ และการนินทากัน ความเป็นจริงในท้องถิ่นในเรื่องความขัดแย้งระหว่างบุคคลทำให้เกิดการแตกแยก ซึ่งจะเป็นฐานของแบบแผนที่ไม่เป็นท้องถิ่นในแนวทางการเมือง สรุปอย่างย่อ ท้องถิ่นนิยมทำให้เกิดกรอบที่ปรับเปลี่ยนได้สำหรับการตัดสินใจทางการเมือง แต่ชีวิตทางสังคมนั้นซับซ้อนเกินกว่าที่จะเอามุมมองนี้ไปใช้เป็นแบบแผนแง่มุมเดียว สำหรับการเคลื่อนไหวทางการเมือง
การเกื้อหนุน
มีงานศึกษาเกี่ยวกับท้องถิ่นนิยมในประเทศไทยมากมาย ที่เน้นทรัพยากรและระบบดำรงชีพท้องถิ่นเป็นเสมือนยาแก้พิษที่เกิดจากระบบเศรษฐกิจภายนอก
การคิดเช่นนี้ดึงจังหวะได้อย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ 2540
และการเสนอทฤษฎี"เศรษฐกิจพอเพียง" ของพระเจ้าอยู่หัวในช่วงต่อมา "ท้องถิ่นนิยม"ฉบับนี้ไม่ใช่การชักจูงให้ถอนตัวออกมาจากระบบเศรษฐกิจภายนอก
แต่เกี่ยวข้องกับ "การมองกลับเข้ามาภายในเพื่อหาฐานที่จะต้านพลังในเชิงทำลายของกระแสโลกาภิวัฒน์"
(Pasuk 1999:6) แต่รูปแบบของท้องถิ่นนิยมที่ผู้เขียนกำลังอธิบายอยู่นี้ ก็จะมีจุดเน้นที่ต่างไป
ที่"บ้านเตียม" ผู้แทนทางการเมืองของท้องถิ่นได้รับการยอมรับนับถือ จากความสามารถในการดึงเอาทรัพยากรจากภายนอกที่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่นที่จะใช้ประโยชน์ และเป็นเหมือนรูปลักษณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่ชาวบ้านเชื่อมั่นว่า จะสามารถต่อรองเพื่อผลประโชน์ทางด้านวัตถุได้ การเข้าถึงแหล่งทรัพยากรภายนอกได้ เป็นเหมือนปัจจัยสำคัญของท้องถิ่นนิยมของ"บ้านเตียม"ที่มุ่งออกข้างนอก
รัฐธรรมนูญชาวบ้านของ"บ้านเตียม" นั้นมีการคาดหวังอย่างมากว่า ผู้แทนทางการเมืองจะต้องให้การเกื้อหนุนทางการเงินแก่ผู้สนับสนุน ประเด็นเรื่องการเกื้อหนุนทางการเงินนี้ส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่คลุมเครืออยู่ในแวดวงของการซื้อเสียง ผู้เขียนไม่มีข้อติดใจสงสัยใดๆ เลยว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งจ่ายเงินโดยตรงให้กับผู้ลงคะแนนใน"บ้านเตียม" ผู้เขียนเองยังได้รับเงิน 100 บาทเมื่อเข้าร่วมประชุมกับพรรคไทยรักไทย แต่ทว่าที่สำคัญกว่าการจ่ายเงินก็คือ ความคาดหวังต่อพวกนักการเมืองและพวกผู้มีอันจะกินก็คือ การที่คนเหล่านี้ได้แสดงจุดยืนทางสังคมและการมีพันธะต่อแวดวงท้องถิ่น ยุทธศาสตร์ทางวัฒนธรรมในการช่วยเหลือทางวัตถุธรรมนี้รวมไปถึง การให้กู้ยืมเงินส่วนตัว เงินถวายวัด เงินช่วยงานพิธีต่างๆ ของครอบครัวในชุมชน เงินช่วยสนับสนุนการประชุมต่างๆ กองทุนการศึกษาเด็กๆ การจัดหาบริการพาหนะเดินทางราคาถูก และการสนับสนุนช่วงเวลาที่งบประมาณของโครงการพัฒนาต่างๆ ในชุมชนไม่เพียงพอ ดังสามตัวอย่างเคร่าๆ ต่อไปนี้
1. ฝนได้เงินกู้ส่วนตัวจากผู้สมัครฯพรรคไทยรักไทย เมื่อเธอประสบปัญหาผลผลิตเสียหาย มีเสียงลือว่า นี่เป็นเครื่องมือที่จะดึงเธอเป็นหัวคะแนนให้กับพรรคไทยรักไทย ต่อมาฝนได้โทรศัพท์มือถือไว้ใช้ ในการเตรียมการเลือกตั้งระดับชาติ ฝนก็ได้ช่วยหาเสียงอย่างกระตือรือล้นให้แก่พรรคไทยรักไทย และในขณะเดียวกันก็วิ่งหาทุนจากพรรคฝ่ายค้านมหาชน เพื่อเอามาสนับสนุนในโครงการของหมู่บ้านที่เธอกำลังริเริ่มอยู่
2. เครือวัลย์สมัครรับเลือกตั้ง สว.ในปี 2549 ก่อนหน้านี้เครือวัลย์พยายามสร้างฐานเครือข่ายในอำเภอฯ ด้วยการอุปถัมภ์วัดดังๆ และช่วยการก่อสร้างต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ในเดือนพฤศจิกายน 2548 ผู้เขียนได้ไปร่วมงานวัดที่สำคัญงานหนึ่งในหมู่บ้านที่ห่างจาก "บ้านเตียม" ไปราว 10 กม. เครือวัลย์เป็นสปอนเซอร์ใหญ่ของงานนี้ แต่เงินช่วยงานวัดบริจาคในนามของสมาชิกสภาจังหวัดของอำเภอฯ ผู้เขียนได้รับการบอกเล่าว่า เครือวัลย์บริจาคเงินให้กับทุกๆ อำเภอ
3. ก่อนการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านในปี 2547 กลุ่มแม่บ้านได้รับเชิญให้เป็นตัวแทนของหมู่บ้านไปในงานแสดงวัฒนธรรมที่ตำบลใกล้เคียง จักรกฤษณ์หนึ่งในผู้สมัครรับเลือกตั้งและเป็นเจ้าของรถกระบะบรรทุกคันหนึ่งในจำนวน 2-3 คันในหมู่บ้าน ก็ได้เป็นผู้สนับสนุนการเดินทางของกลุ่มแม่บ้านและยังช่วยออกค่าใช้จ่ายอื่นๆ เป็นจำนวนเล็กน้อยอีกหนึ่งวัน ซึ่งพวกแม่บ้านเห็นว่าน้อยเกินไป และรู้สึกว่าจักรกฤษณ์ขี้เหนียว จึงได้ติดต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใหญ่อีกรายเพื่อให้ร่วมบริจาค แต่ผู้สมัครรายนั้นปฏิเสธพร้อมทั้งบอกว่า ถ้าทำเช่นนี้ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นการซื้อเสียงด้วยเหมือนกัน
การช่วยเหลือในหลากหลายรูปแบบนี้
ถูกประเมินในระดับท้องถิ่นในระดับของการเชื่อมโยงใยคุณค่าทางการเมือง ซึ่งระบุประเด็นของสถานภาพของบุคคล
ความสามารถ และหลักศีลธรรม มีมุมมองที่รู้กันไปทั่วว่า ใครที่มีฐานะทางการเงินที่มั่นคงก็น่าที่จะอยู่ในวิสัยที่ได้รับตำแหน่งทางการเมืองด้วย
ในส่วนนี้เป็นเพราะข้อเรียกร้องที่โจ่งแจ้งในเรื่องสถานะทางการเงินกับบรรดานักการเมือง
ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติทั้งหลาย การเป็นนักการเมืองรวมไปถึงการสร้างบารมี
และการแสดงออกตลอดเวลาว่า"พวกเขาไม่เคยลืมชาวบ้าน" ทั้งหมดนี้ เป็นกระบวนการที่มีราคาแพง
ต้องการการลงทุนอย่างสม่ำเสมอในรูปของการบริจาค การให้กู้เงิน และการไปร่วมงานสังคมต่างๆ
การที่คนเห็นดีงามไปกับนักการเมืองที่มีฐานะดีนั้น เป็นเพราะมุมมองทั่วไปว่า
คนที่มีฐานะดีมักจะมีแนวโน้มที่จะโกงกินเงินส่วนรวมน้อยกว่าคนที่ยากจน ชาวบ้านคนหนึ่งให้คุณค่าของความมั่งมีเหนือกว่าการมีสัมพันธ์โยงใยกับท้องถิ่น
พูดอย่างกระตือรือล้นเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของผู้สมัครรับเลือกตั้ง สว.คนหนึ่งว่า:
เขาเป็นคนดีและซื่อตรง ผมไม่คิดว่าเขาจะโกงเงิน เพราะว่าเขาได้เงินค่าจ้างเยอะมากแล้ว ประมาณ 40,000 (บาท ต่อเดือน) เขาไม่น่าที่จะต้องการโกงมากไปกว่านี้ บางคนบอกว่าเขาเป็นคนนอก แต่ก็ไม่สำคัญเพราะคนจากข้างนอกก็จะไม่มีพรรคพวกพิเศษในชุมชน แล้วอีกอย่างเขาก็เป็นคนมีการศึกษาดีด้วย
คุณค่าทางการเมืองอีกอย่างก็คือ ประเด็นการให้การสนับสนุน คือคนที่จะเป็นนักการเมืองที่ดีที่สุดได้ก็ต้องเป็นคนที่"อุทิศตน"ต่อชุมชนในวงกว้าง การอุทิศตนมีได้หลายรูปแบบเช่น ร่วมเป็นคณะกรรมการ ช่วยโครงการพัฒนาต่างๆ เป็นตัวแทนของคนยากจน หรือช่วยเหลืองานเทศกาลต่างๆอย่างกระตือรือล้น การบริจาคเงินช่วยเหลือต่างๆ ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งที่คนไม่มีเวลาไปร่วมงานในแบบอื่นๆ แต่ว่ามีอีกมุมหนึ่งก็คือเงินที่บริจาคนี้ ควรเป็นเงินส่วนตัวมากกว่าเงินจากกองทุนสาธารณะ แน่นอนที่มีวิธีมากมายที่นักการเมืองพยายามทำให้ความต่างตรงนี้ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะผู้ที่สามารถเข้าถึงเงินงบประมาณประเภทต่างๆ ได้แล้ว แต่ถ้าเกิดรู้กันไปทั่วว่าเงินกองทุนสาธารณะถูกเอาไปใช้เพื่อสร้างภาพว่าเป็นการบริจาคส่วนตัว ก็จะก่อให้เกิดปฏิกริยาต่อต้านจากผู้เลือกตั้งได้
พันธสัญญาต่อการพัฒนาท้องถิ่น เป็นองค์ประกอบหลักในการประเมินการสนับสนุนเชิงบวกต่อรัฐธรรมนูญชาวบ้าน เกณท์มาตรฐานในการวัดคุณธรรมของผู้สมัครก็คือ ระดับความสามารถที่จะนำความเจริญมาสู่ท้องถิ่นนั่นเอง ความสำคัญของคุณค่านี้สะท้อนให้เห็นไปทั่วในการใช้คำต่างๆเช่น พัฒนา เจริญ และ ก้าวหน้า ในเอกสารหาเสียงต่างๆ ผู้สมัครคนหนึ่งเน้นในเพลงโมษณาหาเสียงถึงความสำเร็จในการพัฒนาของเขา ที่ออกอากาศก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลในเดือนมีนาคม 2549 มีเนื้อความสรุปถึง ความก้าวหน้าในงานพัฒนาของเทศบาล เรื่องน้ำไหลไฟสว่าง หนทางดีทั่วถึง ทั้งคนรวยและคนจนเท่าเทียมกัน เราจะทำงานร่วมกันเพื่อความสุข และความปลอดภัยในเขตเทศบาลของทุกคน
พลังที่ซ่อนเร้นของ"การพัฒนา"ในวัฒนธรรมการเลือกตั้งนั้นซับซ้อน ในทางหนึ่งพลังนั้นลงตัวเป็นอย่างดีกับภาพของการเป็นคนดีมีจิตใจดีของผู้อุปถัมภ์ ซึ่งอุทิศตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม การบริจาคเงินก่อนการเลือกตั้งเป็นการแสดงถึงความเต็มใจ และความสามารถของผู้สมัครที่จะก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อผู้ออกเสียงลงคะแนนให้ ในขณะเดียวกัน ความต่างของการช่วยเหลืออย่างใจบุญ แสดงออกโดยผ่านความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ และในอีกทางคือรูปแบบต่างๆ ของความช่วยเหลือในการพัฒนา ซึ่งโยงโดยตรงกับวาทกรรมสังคมสมัยใหม่ถึงความก้าวหน้า การบริหารจัดการ และการเข้าถึงที่มีฐานกว้างขึ้น ในขณะที่การใจดีใจบุญโดยส่วนตัวได้รับการยอมรับอย่างสูงและโยงกับการพัฒนาในนัยยะแรก แต่ในนัยยะหลังเน้นไปที่ความสามารถในการจัดการทุนและทรัพยากรของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์โดยตรงต่อโครงการต่างๆ ในท้องถิ่น
บางแง่มุมของการเน้นท้องถิ่นในเรื่องของการเกื้อหนุนและการพัฒนาชุมชนนั้น ดูได้จากตัวอย่างการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี นายสมศักดิ์ผู้สมัครเป็นคน"บ้านเตียม"มาจากตระกูลที่มีญาติพี่น้องมากมาย ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในระดับสูง น้องสาวได้รับเลือกเป็นหัวหน้ากลุ่มแม่บ้าน2-3 เดือนก่อนหน้า ผู้สมัครร่วมทีมก็เป็นน้องชายของผู้ใหญ่บ้าน แต่ทว่าทุนทางสังคมที่มีมากนี้ ก็ไม่ได้กลายเป็นเครื่องสนับสนุนการเลือกตั้งโดยอัตโนมัติ โดยรวมก็มีการรับรู้กันว่า สมศักดิ์ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสาธารณูปโภคของท้องถิ่น ถึงแม้จะช้าไปกว่าที่พวกชาวบ้านได้คาดหวังไว้ ที่เห็นชัดที่สุดก็คือ ทางดินเฉอะแฉะหลายเส้นได้กลายเส้นทางคอนกรีตหลายสาย ในขณะที่มีโครงการก่อสร้างย่อยๆ อีกหลายโครงการได้รับงบสนับสนุนจากเทศบาล
แต่มีเสียงบ่นว่าคนที่ได้รับประโยชน์รายใหญ่ของงานพัฒนานี้ก็คือลูกเขยของสมศักดิ์ ซึ่งได้สัญญาก่อสร้างมากมาย สมศักดิ์ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อีกว่าชักช้าในการประสานความช่วยเหลือในคราวที่หมู่บ้านถูกน้ำท่วมอย่างเฉียบพลันครั้งนั้น และที่เสียหายที่สุดก็คือคำวิจารณ์ที่ว่าเขาไม่ได้ใช้เงินเดือนของเขาที่ว่ากันว่าก้อนใหญ่พอควร มาสนับสนุนโครงการในท้องถิ่นเลย. ชื่อเสียของสมศักดิ์ถูกเน้นให้ชัดขึ้นเมื่อชาวบ้านคนหนึ่งเล่าว่า เมื่อชาวบ้านของบประมาณสนับสนุนกลุ่มชลประทานหมู่บ้าน สมศักดิ์ขอให้ทางกลุ่มยื่นเสนอโครงการเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการในระดับท้องถิ่น ซึ่งตามความจริงก็มีเหตุผลดี แต่เป็นการดำเนินงานแบบอืดอาดยืดยาด ในแง่นี้สมศักดิ์ขาดคุณสมบัติของการเป็นผู้อุปถัมภ์ที่ดำเนินการพัฒนาอย่างรวดเร็วว่องไวนั่นเอง
คู่แข่งของสมศักดิ์คือ ดร.ธเนศร์ ซึ่งมีข้อแตกต่างที่น่าสนใจ เขาเป็นคนนอก ถึงแม้ว่าจะอยู่ที่นั่นมานานกว่า 20 ปีก็ตาม ก็ยังคงมีความเหินห่างในความสัมพันธ์ทางสังคม โดยสังเกตได้จากการที่ยังมีการเรียกว่าดร. แต่ว่าดร.ธเนศร์ ก็มีชื่อเสียงเป็นเสมือน"มิสเตอร์ซ่อมได้" ในเรื่องการสนับสนุนโครงการพัฒนา การลงทุน และงานสวัสดิการต่างๆ ด้วยเงินส่วนตัวของเขาเอง ตัวอย่างเช่นเมื่อเขาได้ยินเรื่องการเสนอขอจากกลุ่มชลประทานในหมู่บ้าน เขาก็จัดการในทันทีทันควัน"ควักเงินออกจากกระเป๋าของเขาเอง" แล้วก็มอบให้กับชูศักดิ์ รองหัวหน้ากลุ่มฯไปดำเนินการทันที
เมื่อเทียบกับนายกฯสมศักดิ์ ที่ช่วยโดยการรอเอางบประมาณจากรัฐมาให้ ซึ่งกว่าจะได้มาก็ช้าเกินไปกว่าที่ชาวบ้านต้องการ การกระทำเช่นนี้ประทับใจชูศักดิ์จนถึงกับตกลงเป็นหัวคะแนนให้ ดร.ธเนศร์. ดร.ธเนศร์ยังแจกจานดาวเทียมให้กับผู้ที่สนับสนุนรายใหญ่ๆ อีกด้วย โดยรวมแล้วชื่อเสียงของ ดร.ธเนศร์ คือผู้ที่มีเครือข่ายและฐานะดี และสามารถผันงบประมาณมาช่วยความต้องการ และความจำเป็นของชาวบ้านได้ดี
แต่การแสดงออกถึงความสามารถและความเต็มใจที่จะช่วยชาวบ้านทางการเงินนี้ ก็มีผลเสี่ยงในการหาเสียงเลือกตั้งเหมือนกัน การที่ ดร.ธเนศร์ แสดงการช่วยสนับสนุนด้านการเงินแก่ชาวบ้า นก็ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าการรณรงค์หาเสียงของเขานั้น"มาก"เกินไป และก็ไม่ได้โยงสู่เป้าหมายการพัฒนาในวงกว้าง คนจำนวนมากเห็นว่า เขาน่าจะชนะการเลือกตั้งด้วยการใช้เงิน พร้อมทั้งมี"เรื่องราวสกปรก" เกี่ยวกับการรณรงค์หาเสียงอีกด้วย ส่วนใหญ่คิดได้ว่าคนที่ลงทุนไปมากก็ต้องพยายามเก็บคืนเมื่อได้ตำแหน่งและอำนาจ
กรณี ดร.ธเนศร์ เรื่องที่ทำลายชื่อเสียงเขามากที่สุดคือ เรื่องการยึดบ้านและที่ดินของลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ เหมือนที่ชาวบ้านคนหนึ่งบอกกับแม่ของเธอว่า "อย่าไปเลือกไอ้บ้านี่เลย มันจะรวบที่ดินทั่วไปหมดละ" เมื่อบวกเข้ากับความรู้สึกที่ว่า ดร.ธเนศร์ ลงสมัครรับเลือกตั้งก็เพราะจะได้ใช้ตำแหน่งและอำนาจทางการเมืองจดทะเบียนที่ดินที่ยึดมานั้น ให้กลายเป็นที่ดินที่มีโฉนด
ถ้าจะพูดอีกอย่าง สำหรับผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนแล้ว การที่ ดร.ธเนศร์ เสียสละช่วยเหลือเกื้อกูลชาวบ้านนั้น ก็ไม่ได้เหลือเครดิตอะไรเลย เพราะเป็นการทำเพื่อชื่อเสียงและประโชน์ส่วนตัว ในกรณีนี้ความช่วยเหลือทางการเงินที่เขาให้แก่ชาวบ้าน ได้มีการตีความโดยบางคนว่าเป็นความพยายามในการใช้"อิทธิพล" ซึ่งส่วนมากถือว่าเป็นด้านลบของพลังอำนาจ
คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com