บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
รวมบทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีน
และทิศทางของจีนร่วมสมัย
จากแมนจูกลายเป็นจีน
ซูสีไทเฮา ถึงน้ำมันในแอฟริกา
สิทธิพล
เครือรัฐติกาล :
เขียน
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
บทความวิชาการนี้
กองบรรณาธิการฯ นำมาจากกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งเป็นบทความขนาดสั้น ๓ เรื่อง เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองของจีน
รวมถึงนโยบายต่างประเทศจีนร่วมสมัย ที่ให้ภาพความเข้าใจและการวิเคราะห์ในมุมมอง
ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง
การปรับตัวให้กลายเป็นจีนของราชวงศ์ชิง
เรื่อง พระนางซูสีไทเฮาในวัฒนธรรมทางการเมืองของราชวงศ์ชิง และ
เรื่องเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับแอฟริกา
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ ๑๒๘๘
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๐ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
รวมบทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีน
และทิศทางของจีนร่วมสมัย
จากแมนจูกลายเป็นจีน
ซูสีไทเฮา ถึงน้ำมันในแอฟริกา
สิทธิพล
เครือรัฐติกาล :
เขียน
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
1. วิพากษ์ "การปรับตัวให้กลายเป็นจีน"
ของราชวงศ์ชิง
นอกจากแมนจูซึ่งปกครองจีนได้นานถึง ๓๐๐ ปีด้วยชั้นเชิงเล่ห์เหลี่ยมที่ดีมากแล้ว ยังพยายามปรับปรุงตนเองให้เข้ากับจีนได้ด้วย แต่ก็โดยการปรับปรุงตนให้เข้ากับจีนได้จริงๆเกินไป ผลที่สุดตนเองก็เลยกลายเป็นจีนไปจริงๆ พูดภาษาจีน ใช้หนังสือจีนและขนบธรรมเนียมจีน เมื่อแมนจูยกราชบัลลังก์ให้แก่สาธารณรัฐจีนนั่น แมนจูคงเหลือแต่เสื้อกางเกงชุดเดียวที่เป็นของแมนจู นอกนั้นก็คือคนจีนดีๆนี่เอง
ล.เสถียรสุต
คำถามสำคัญประการหนึ่งของผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ราชวงศ์ชิงก็คือ เหตุใด "อนารยชน" อย่างชาวแมนจู ผู้ซึ่งในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ยังไม่มีแม้กระทั่งตัวอักษรเป็นของตนเอง สามารถสถาปนาราชวงศ์ชิงและปกครองประเทศจีนได้เป็นระยะเวลายาวนานกว่า ๒๖๗ ปี (ค.ศ. ๑๖๔๔-๑๙๑๑) คำอธิบายทั่วไปเกี่ยวกับความสำเร็จของราชวงศ์ชิงก็คือ ชนชั้นปกครองชาวแมนจูมิได้ปกครองชาวฮั่นด้วยแสนยานุภาพทางทหารแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ได้พยายามปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมชาวฮั่นจนกลายเป็นจีน (Sinicization) ไม่ว่าจะเป็นระบบราชการที่ยังคงยึดแบบอย่างจากราชวงศ์หมิง การเปิดโอกาสให้ชาวฮั่นเข้ารับราชการและเลื่อนขั้นสู่ตำแหน่งระดับสูงได้ การที่ภาษาจีนยังคงเป็นภาษาที่ใช้ในงานราชการควบคู่ไปกับภาษาแมนจู การที่จักรพรรดิแมนจูยังคงปฏิบัติหน้าที่โอรสแห่งสวรรค์ด้วยการประกอบพิธีบูชาฟ้าที่หอเทียนถานตามแบบจักรพรรดิชาวฮั่น เป็นต้น
ถ้าไม่นับการที่ราชวงศ์ชิงบังคับให้ชายชาวฮั่นทุกคนต้องโกนผมด้านหน้าออกและไว้เปียด้านหลังแล้ว ถือได้ว่าการเข้ามาของแมนจูนั้น ส่งผลกระทบต่อระเบียบทางการเมืองและสังคมของจีนน้อยมาก ทำให้ราชวงศ์ชิงมีความยั่งยืนกว่าราชวงศ์หยวนของชาวมองโกลซึ่งปกครองจีน "บนหลังม้า" ได้เพียง ๙๒ ปีเท่านั้น (ค.ศ. ๑๒๗๖-๑๓๖๘) คำอธิบายเช่นนี้พบได้ทั่วไปในหมู่ผู้ศึกษาเรื่องจีนทั้งในโลกตะวันออกและตะวันตก
อย่างไรก็ตามถ้าเราพิจารณาถึงสภาพการณ์ของราชวงศ์ชิงอย่างละเอียดแล้วจะพบว่า แนวคิดเรื่องการปรับตัวให้กลายเป็นจีน (Sinicization) ไม่อาจอธิบายความสำเร็จของราชวงศ์ชิงได้อย่างสมบูรณ์ ราชวงศ์ชิงนั้นแตกต่างไปจากราชวงศ์อื่นๆ ของจีนในแง่ที่ว่า ถ้าไม่นับราชวงศ์หยวนของชาวมองโกลแล้ว อาณาเขตการปกครองของราชวงศ์ชิงนับว่ากว้างใหญ่ไพศาลกว่าราชวงศ์ใดๆ ในประวัติศาสตร์จีน ใน ค.ศ. ๑๖๔๔ ที่กองทัพแมนจูบุกยึดกรุงปักกิ่งนั้น อำนาจการปกครองของราชวงศ์ชิงยังจำกัดอยู่เพียงตอนบนของแม่น้ำฉางเจียงเท่านั้น ตราบจนเมื่อจักรพรรดิคังซีทรงดำเนินการปราบกบฏสามเจ้าศักดินา และทำสงครามรวมเกาะไต้หวันได้สำเร็จในต้นทศวรรษ ๑๖๘๐ อำนาจการปกครองของพระองค์จึงขยายไปตลอดชายฝั่งทะเลตอนใต้และมณฑลหยุนหนาน
ต่อมาเมื่อถึงทศวรรษ ๑๖๙๐ ราชวงศ์ชิงสามารถปราบพวกมองโกลเผ่าจุงการ์ (Zunghar) ได้สำเร็จ และได้เริ่มสถาปนาอำนาจการปกครองเหนือทิเบต ชิงไห่ และซินเจียงในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จีนสามารถสถาปนาอำนาจการปกครองเหนือดินแดนเหล่านี้ ราชวงศ์ชิงจึงมีลักษณะที่พิเศษไปจากราชวงศ์ก่อนๆ ของจีน นั่นคือการเป็นจักรวรรดิหลายชาติพันธุ์ (multiethnic empire) อันประกอบไปด้วยกลุ่มชนใหญ่ๆ คือ ฮั่น แมนจู มองโกล ทิเบต และมุสลิม
การที่ราชวงศ์ชิงในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลและครอบคลุมชนหลายชาติพันธุ์ นำมาซึ่งความท้าทายต่อสถาบันจักรพรรดิของจีน กล่าวคือ หลักความเชื่อของชาวจีนที่ว่าจักรพรรดิเป็นโอรสแห่งสวรรค์ (เทียนจื่อ) ผู้ได้รับอาณัติจากสวรรค์ (เทียนมิ่ง) ให้มาปกครองโลกมนุษย์นั้น ไม่อาจนำไปปรับใช้ได้กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่มีวัฒนธรรมและคติความเชื่อเกี่ยวกับผู้นำที่แตกต่างออกไป ดังนั้นจักรพรรดิราชวงศ์ชิงจึงต้องพยายามสร้างอัตลักษณ์ (identity) ของพระองค์เองให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและคติความเชื่อของชนชาติพันธุ์นั้นๆ
ตัวอย่างงานที่ศึกษาในเรื่องนี้คือหนังสือของ Evelyn S. Rawski เรื่อง The Last Emperors: A Social History of Qing Imperial Institution ด้วยเหตุนี้ แนวคิดว่าด้วยการปรับตัวให้กลายเป็นจีน (Sinicization) จึงสามารถอธิบายความสำเร็จของจักรพรรดิแมนจูได้เพียงส่วนเดียว นั่นคือ ความสำเร็จในการปกครองชาวจีนฮั่น หากแต่ไม่อาจอธิบายความสำเร็จในการปกครองชนชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ชิงได้
จักรพรรดิเฉียนหลงผู้ปกครองจีนระหว่าง ค.ศ. ๑๗๓๕-๑๗๙๕ อันเป็นช่วงที่ราชวงศ์ชิงขึ้นสู่จุดสูงสุดของอำนาจ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในการสร้างอัตลักษณ์ของพระองค์ ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและคติความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์. ในด้านความสัมพันธ์กับชาวมองโกล จักรพรรดิเฉียนหลงทรงพยายามแสดงพระองค์เป็นนักรบบนหลังม้า ในการเสด็จแปรพระราชฐานไปล่าสัตว์ที่เมืองเฉิงเต๋อ (Chengde) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงปักกิ่ง พระองค์มักจะเชิญผู้นำเผ่ามองโกลมาร่วมงานด้วย พระราชวังหลบร้อนเมืองเฉิงเต๋อจึงกลายเป็นสถานที่ที่จักรพรรดิและชนชั้นนำชาวแมนจู ได้แสดงความสามารถทางการรบให้เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้นำชาวมองโกล และทำให้ชาวมองโกลซึ่งมีวัฒนธรรมยกย่องผู้มีความสามารถทางการรบนั้น ยอมรับความชอบธรรมในการเป็นผู้นำของจักรพรรดิราชวงศ์ชิง ดังนั้นในสายตาของผู้นำชาวมองโกล จักรพรรดิเฉียนหลงจึงเปรียบเสมือน "ข่านผู้อยู่เหนือข่านทั้งปวง"
ส่วนความสัมพันธ์กับทิเบต ราชวงศ์ชิงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยศาสนาพุทธแบบทิเบตนั้นเผยแผ่ไปถึงชาวมองโกล ดังนั้นถ้าราชวงศ์ชิงมีความสัมพันธ์อันดีกับลามะของทิเบต บรรดาลามะก็จะคอยใช้หลักการของพระพุทธศาสนาเกลี้ยกล่อมมิให้พวกมองโกลกระทำการที่ก้าวร้าวต่อราชวงศ์ชิง จักรพรรดิเฉียนหลงทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภกในหลายด้าน เช่น การสร้างพระราชวังโปตาลา (Potala) องค์จำลองขึ้น ณ เมืองเฉิงเต๋อ โดยเลียนแบบมาจากพระราชวังโปตาลาของทะไลลามะที่นครลาซา ทรงยกพระตำหนักยงเหอกง (Yonghegong) ในกรุงปักกิ่งอันเป็นที่ประทับเดิมของพระราชบิดาให้เป็นวัดลามะอีกด้วย ฝ่ายลามะจึงได้ตอบแทนการอุปถัมภ์ของจักรพรรดิเฉียนหลงด้วยการขนานนามพระองค์ว่า "พระโพธิสัตว์มัญชูศรี" (Manjusri) ดังปรากฏออกมาเป็นภาพวาดของพระองค์ในเครื่องแต่งกายแบบพระโพธิสัตว์องค์ดังกล่าว ดังนั้นในสายตาชาวทิเบต จักรพรรดิเฉียนหลงทรงเป็นผู้นำทั้งฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักร กล่าวคือ ทรงเป็นทั้ง "ธรรมราชา" และ "พระโพธิสัตว์"
ในสายตาของจักรพรรดิราชวงศ์ชิง การทูตมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการสร้างความจงรักภักดีที่กลุ่มชนต่างๆ จะมีต่อพระองค์. หนังสือของ Rawski ได้อ้างงานของนักวิชาการจีนอย่าง Yuan Hongqi ซึ่งให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า จักรพรรดิเฉียนหลงทรงพยายามศึกษาภาษาอื่นๆ เพิ่มเติมนอกเหนือไปจากภาษาจีนและภาษาแมนจู โดยทรงเริ่มศึกษาภาษามองโกล ภาษาอุยกูร์ และภาษาทิเบตใน ค.ศ. ๑๗๔๓ ค.ศ. ๑๗๖๐ และ ค.ศ. ๑๗๗๖ ตามลำดับ ทำให้ทรงสามารถต้อนรับคณะทูตจากเอเชียตอนใน (Inner Asia) ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ล่ามในการแปล
จักรพรรดิราชวงศ์ชิงมักใช้พระราชวังเมืองเฉิงเต๋อ ในการต้อนรับคณะฑูตจากดินแดนเหล่านี้แทนกรุงปักกิ่ง ซึ่งมีข้อจำกัดตรงที่มีการวางผังเมืองตามแบบชาวจีนฮั่นที่ค่อนข้างตายตัวมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงแล้ว ต่างจากเฉิงเต๋อ ซึ่งมีทั้งสถานที่ล่าสัตว์และวัดแบบทิเบต อันเหมาะกับการที่จักรพรรดิจะทรงแสดงความเป็นนักรบ และพุทธศาสนูปถัมภกให้ชาวมองโกลและชาวทิเบตได้ประจักษ์ ทั้งหมดนี้คือวิธีการของจักรพรรดิที่จะให้กลุ่มชนต่างๆ ยอมรับความเป็นใหญ่ของราชวงศ์ชิง
จะเห็นได้ว่าแนวคิดเรื่องการปรับตัวให้กลายเป็นจีน (Sinicization) สามารถอธิบายได้เพียงความสำเร็จของราชวงศ์ชิงในการปกครองชาวจีนฮั่นเท่านั้น ส่วนความสำเร็จในการปกครองชนชาติพันธุ์อื่นๆ มาจากการที่จักรพรรดิแมนจูสามารถหาวิธีการและสร้างอัตลักษณ์ของพระองค์ ให้สอดคล้องกับพื้นฐานวัฒนธรรมของชนกลุ่มนั้นๆ
ด้วยเหตุนี้ การทำความเข้าใจต่อการเป็นจักรวรรดิหลายชาติพันธุ์ของราชวงศ์ชิงจึงมีความสำคัญ และอาจเป็นเครื่องมือในการมองนโยบายชนชาติส่วนน้อยของสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบันได้อีกด้วย เพราะทั้งสาธารณรัฐจีน (ค.ศ. ๑๙๑๒-๑๙๔๙) และสาธารณรัฐประชาชนจีน (ค.ศ. ๑๙๔๙-ปัจจุบัน) ต่างเป็นผู้รับมรดกของการเป็น "จักรวรรดิหลายชาติพันธุ์" ต่อจากจักรพรรดิราชวงศ์ชิง
2. พระนางซูสีไทเฮาในวัฒนธรรมทางการเมืองของราชวงศ์ชิง
พระนางซูสีไทเฮา (ค.ศ. 1835 - ค.ศ. 1908) เป็นสตรีที่มีบทบาททางการเมืองอย่างมากในช่วงทศวรรษท้ายๆ
ของราชวงศ์ชิง พระนางคือผู้ปกครองจีนหลังม่าน ตลอดรัชสมัยจักรพรรดิถงจื้อ (ค.ศ.
1861 - ค.ศ. 1875) ผู้เป็นพระราชโอรส และต่อเนื่องมาจนสิ้นรัชสมัยจักรพรรดิกวางสู
(ค.ศ. 1875 - ค.ศ. 1908) ผู้เป็นพระราชโอรสบุญธรรม และก่อนที่พระนางจะสิ้นพระชนม์ก็ได้แต่งตั้งให้เจ้าชายผู่อี๋
ขึ้นครองราชสมบัติเป็นจักรพรรดิซวนถ่ง (ค.ศ. 1908 - ค.ศ. 1912) อันเป็นรัชกาลสุดท้ายของระบอบจักรพรรดิจีนที่ยาวนานมาหลายพันปี
บทบาททางการเมืองที่ยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษของพระนาง มักได้รับการเปรียบเทียบกับบทบาทของพระนางอู่เจ๋อเทียน (ค.ศ. 627 - ค.ศ. 705) พระมเหสีของจักรพรรดิเกาจง แห่งราชวงศ์ถัง ต่างกันแต่เพียงว่าพระนางซูสีไทเฮานั้น แสดงบทบาทเป็น "อำนาจหลังราชบัลลังก์" หากแต่พระนางอู่เจ๋อเทียนนั้น สามารถก้าวขึ้นมาเป็นจักรพรรดิหญิงพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีนได้สำเร็จใน ค.ศ. 690
ช่วงเวลาที่พระนางซูสีไทเฮามีบทบาททางการเมืองอยู่นั้น ตรงกับยุคหลังสงครามฝิ่นและสนธิสัญญานานกิง อันเป็นจุดเริ่มต้นของยุคแห่งความอัปยศอดสูของจีน จีนต้องเผชิญทั้งความวุ่นวายภายในและการรุกรานจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1856 - ค.ศ. 1860) กบฏไท่ผิง (ค.ศ. 1851 - ค.ศ. 1864) สงครามจีน-ฝรั่งเศส (ค.ศ. 1884) สงครามจีน-ญี่ปุ่น (ค.ศ. 1894 - ค.ศ. 1895) กรณีนักมวยและการที่แปดชาติมหาอำนาจบุกยึดกรุงปักกิ่ง (ค.ศ. 1900) โดยมองกันว่า พระนางซูสีไทเฮาเป็นตัวการสำคัญที่นำความหายนะมาสู่แผ่นดิน
ไม่ว่าจะเป็นการที่พระนางเจียดเอางบประมาณกองทัพเรือ ไปใช้ในการบูรณะพระราชวังฤดูร้อนอี๋เหอหยวน เพื่อให้ตนเองได้ใช้พักผ่อนหย่อนใจ จนทำให้กองทัพเรือจีนต้องพ่ายแพ้แก่ญี่ปุ่น หรือการที่พระนางขัดขวางการปฏิรูปประเทศของจักรพรรดิกวางสู และนำจีนไปสู่ความหายนะด้วยการสนับสนุนพวกนักมวยเพื่อต่อต้านอิทธิพลต่างชาติ เป็นต้น. อย่างไรก็ตาม ถ้าเราพิจารณาถึงบทบาททางการเมืองของพระนางในฐานะพระราชวงศ์ฝ่ายใน โดยตัดประเด็นเรื่องความวุ่นวายจากภายในและภายนอกประเทศออกไปแล้ว จะพบว่า บทบาทของพระนางนั้นมิได้เป็นสิ่งที่ผิดปกติแต่อย่างใดสำหรับพระราชวงศ์ฝ่ายในชาวแมนจู
ข้อควรสังเกตประการหนึ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์จีนก็คือ สถานภาพที่แตกต่างกันระหว่างสตรีชาวฮั่นกับสตรีชาว "อนารยชน" อย่างมองโกลและแมนจู ส่งผลให้บทบาททางการเมืองของสตรีเหล่านั้น พลอยแตกต่างกันไปด้วย ชาวจีนฮั่นอาศัยอยู่ในเขตที่สามารถทำการเกษตรและยังชีพได้ตลอดปี โดยไม่ต้องย้ายถิ่นฐานบ่อยๆ (ยกเว้นเกิดภัยธรรมชาติอย่างรุนแรง) การเป็นสังคมที่ไม่ต้องอพยพบ่อย ได้ทำให้ในที่สุดแล้วสตรีชาวฮั่นถูกจำกัดบทบาทแต่เฉพาะภายในเขตที่พักอาศัยของตนเอง โดยรับผิดชอบงานบ้านเป็นหลัก และเพื่อป้องกันไม่ให้สตรีกระทำการใดๆ นอกขอบเขตที่พักอาศัยของตน ประเพณีการมัดเท้าของสตรีชาวฮั่นจึงได้เริ่มขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 10 และปฏิบัติสืบต่อกันมานานกว่า 1,000 ปี. พระราชวงศ์ฝ่ายในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960 - ค.ศ. 1279) และราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368 - ค.ศ. 1644) มีบทบาทส่วนใหญ่จำกัดอยู่เฉพาะในเขตพระราชฐานชั้นในเท่านั้น
ในทางตรงกันข้าม สังคมของ "อนารยชน" อย่างชาวมองโกลและแมนจูนั้น เป็นสังคมทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่มีการอพยพไปตามฤดูกาล สตรีในสังคมดังกล่าวจึงมิอาจอยู่กับที่ได้ ดังนั้นพวกเธอจึงไม่ถูกจำกัดบทบาทเฉกเช่นสตรีชาวฮั่น และยิ่งถ้าเป็นพระราชวงศ์ฝ่ายใน ก็มักจะได้เข้ามาแสดงบทบาททางการเมืองอีกด้วย ถ้าเราพิจารณาประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1206 - ค.ศ. 1368) ที่สถาปนาโดยชาวมองโกลแล้วจะพบว่า ได้มีจักรพรรดินีขึ้นปกครองประเทศในช่วงที่เกิดสุญญากาศทางการเมืองหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นจักรพรรดินีไหน่หม่าเจิน (ค.ศ. 1241 - ค.ศ. 1245) จักรพรรดินีไห่หมี่ซื่อ (ค.ศ. 1248 - ค.ศ. 1250) และจักรพรรดินีเสี้ยนจง (ค.ศ. 1250 - ค.ศ. 1259)
ต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1644 - ค.ศ. 1912) สตรีชาวแมนจูก็มีอิสระมากกว่าสตรีชาวฮั่น พวกเธอไม่ต้องมัดเท้า พระราชวงศ์ฝ่ายในสมัยราชวงศ์ชิงมีอิสระในการออกสู่สาธารณชนมากกว่าสมัยราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์หมิง และมิต้องจำกัดตนเองอยู่แต่ในพระราชฐานชั้นใน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเจ้าหญิงเหอเสี้ยว พระราชธิดาองค์ที่ 10 ในจักรพรรดิเฉียนหลง (ค.ศ. 1735 - ค.ศ. 1795) เจ้าหญิงองค์ดังกล่าวนิยมการขี่ม้า และได้ตามเสด็จพระราชบิดาไปล่าสัตว์เป็นประจำ นอกจากเสรีภาพนอกเขตพระราชฐานชั้นในแล้ว วัฒนธรรมทางการเมืองของชาวแมนจู ยังได้อนุญาตให้พระราชวงศ์ฝ่ายในเข้ามามีบทบาทในยามที่เกิดวิกฤตหรือสุญญากาศทางการเมืองอีกด้วย ตัวอย่างที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้รวม 2 กรณี จะช่วยให้เราเข้าใจประเด็นดังกล่าวชัดเจนยิ่งขึ้น
กรณีแรก เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1626 เมื่อจักรพรรดิเทียนมิ่ง หรือนูร์ฮาชือ สิ้นพระชนม์ลงโดยมิได้ทรงตั้งรัชทายาท หากแต่ในที่สุดแล้วพระราชโอรสองค์ที่ 8 นามว่าหวงไท่จี๋ ได้ยึดอำนาจด้วยการบังคับให้พระราชชายา ของพระราชบิดา นามว่า อาปา ไห้ฆ่าตัวตาย จากนั้นพระองค์จึงขึ้นครองราชสมบัติเป็นจักรพรรดิเทียนชง. งานศึกษาของ Evelyn S. Rawski (1998) เรื่อง The Last Emperor: A Social History of Qing Imperial Institutions ได้ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุที่หวงไท่จี๋ต้องบังคับให้อาปาไห้ทำเช่นนี้ เพราะว่า หากพระนางยังมีพระชนม์ชีพอยู่ต่อไป พระนางอาจจะใช้สิทธิธรรมทางการเมืองตามประเพณีแมนจู กำหนดให้พระโอรสของพระนางนามว่า ตัวเอ่อร์คุน เป็นผู้สืบราชสมบัติ
กรณีที่สอง เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1820 และเกี่ยวข้องกับการสืบราชสมบัติเช่นเดียวกับกรณีแรก กล่าวคือ จักรพรรดิเจียชิ่ง ได้สิ้นพระชนม์ลงอย่างกะทันหันที่พระราชวังหลบร้อนเมืองเฉิงเต๋อ ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่จักรพรรดิยงเจิ้ง ได้กำหนดไว้เมื่อ ค.ศ. 1723 นั้น จักรพรรดิจะทรงเขียนชื่อผู้สืบราชสมบัติใส่ไว้ในกล่อง แล้วนำกล่องนั้นไปซ่อนไว้หลังป้ายเจิ้งต้ากวางหมิง (ในท้องพระโรงพระตำหนักเฉียนชิง ในพระราชวังต้องห้าม เมื่อจักรพรรดิสิ้นพระชนม์ลงแล้ว เจ้าพนักงานจะขึ้นไปหยิบกล่องดังกล่าวมาเปิดดูชื่อผู้สืบราชสมบัติ หากแต่เมื่อจักรพรรดิเจียชิ่งสิ้นพระชนม์ลง เจ้าพนักงานกลับไม่พบกล่องดังกล่าว ทั้งๆที่จักรพรรดิเจียชิ่งเคยทรงประกาศว่าพระองค์ได้กำหนดชื่อรัชทายาทใส่ไว้ในกล่องและซ่อนไว้หลังป้ายแล้ว
หนังสือชื่อ ความจริงเกี่ยวกับสิบสองจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ชิง โดย เหยียนฉงเหนียน นักวิจัยด้านแมนจูศึกษาแห่งสถาบันสังคมศาสตร์กรุงปักกิ่ง ได้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญในช่วงเวลาดังกล่าวของพระนางเสี้ยวเหอ จักรพรรดินีในจักรพรรดิเจียชิ่ง กล่าวคือ เมื่อเจ้าพนักงานไม่พบกล่องดังกล่าวจนทำให้ไม่อาจกำหนดผู้สืบราชสมบัติได้ พระนางเสี้ยวเหอจึงได้ให้เจ้าพนักงานขี่ม้าด่วนเชิญพระราชเสาวนีย์ของพระนาง ไปประกาศยังพระราชวังหลบร้อนเมืองเฉิงเต๋อ ใจความว่า พระนางมีพระราชประสงค์ให้เจ้าชายหมินหนิง พระราชโอรสของจักรพรรดิเจียชิ่งที่ประสูติจากพระนางเสี้ยวซู จักรพรรดินีผู้ล่วงลับไปก่อนหน้านี้แล้ว ให้ขึ้นสืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา แม้ว่าต่อมาเจ้าพนักงานจะค้นพบกล่องใส่ชื่อผู้สืบราชสมบัติของจักรพรรดิเจียชิ่ง และเจ้าชายหมินหนิงก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิเต้า กวง ตามพระราชประสงค์ของพระราชบิดา หากแต่การกระทำของพระนางเสี้ยวเหอในครั้งนั้นสะท้อนว่า ธรรมเนียมปฏิบัติของราชวงศ์ชิงได้เปิดโอกาสให้พระราชวงศ์ฝ่ายในเข้ามามีบทบาททางการเมืองในยามวิกฤตได้
งานศึกษาของ Evelyn S. Rawski (1998) ยังชี้ให้เห็นประเด็นเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากความชอบธรรมของพระราชวงศ์ฝ่ายในในการเข้ามามีบทบาททางการเมืองแล้ว พระราชวงศ์ฝ่ายในสมัยราชวงศ์ชิงยังมีวิธีการสร้างฐานอำนาจที่แตกต่างไปจากพระราชวงศ์ฝ่ายในในราชวงศ์ของชาวฮั่นอีกด้วย กล่าวคือ ขณะที่พระราชวงศ์ฝ่ายในชาวฮั่นสร้างฐานอำนาจด้วยการดึงคนในตระกูลของตนเองเข้ามารับราชการในตำแหน่งสำคัญ ตัวอย่างเช่น ในราชวงศ์ถังที่พระนางอู่เจ๋อเทียนสนับสนุนคนแซ่อู๋ ให้เข้ารับราชการในตำแหน่งสำคัญ หากแต่พระราชวงศ์ฝ่ายในชาวแมนจูกลับสร้างฐานอำนาจด้วยการแสวงหาความร่วมมือกับเหล่าเชื้อพระวงศ์ด้วยกันเอง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ในช่วงต้นรัชสมัยซุ่นจื้อ (ค.ศ. 1644 - ค.ศ. 1661) พระนางเสี้ยวจวง พระราชชนนีของจักรพรรดิผู้เยาว์วัยได้สร้างความมั่นคงทางอำนาจด้วยการร่วมมือกับตัวเอ่อร์คุน ผู้นำกองทัพธงขาวและเป็นพระปิตุลาของจักรพรรดิ ดังนั้นคำว่า "พระญาติฝ่ายมเหสี" จึงแทบจะมิได้ปรากฏออกมาในสมัยราชวงศ์ชิง หรือแม้จะปรากฏออกมาบ้างเล็กน้อย แต่ก็มิได้ช่วยเพิ่มพูนอำนาจให้กับพระราชวงศ์ฝ่ายในองค์ดังกล่าว
ตัวอย่างของพระญาติฝ่ายมเหสีสมัยราชวงศ์ชิงก็คือ ถงกั๋วกัง และ ถงกั๋วเหวย สองพี่น้องที่เป็นพระอนุชาของพระนางเสี้ยวคัง พระราชชนนีของจักรพรรดิคังซี (ค.ศ. 1661 - ค.ศ. 1722) ทั้งสองเป็นขุนนางผู้ใหญ่ในช่วงกลางรัชสมัยคังซี บุตรชายของถงกั๋วเหวยนามว่า หลงเคอตัว นั้นต่อมาได้มีบทบาทสนับสนุนให้พระราชโอรสองค์ที่ 4 ของจักรพรรดิคังซีได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิยงเจิ้งใน ค.ศ. 1722 อย่างไรก็ตามบทบาทและอำนาจของพวกเขาเหล่านี้ มิได้เอื้อประโยชน์ต่อพระนางเสี้ยวคังแต่อย่างใด เนื่องจากพระนางได้สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ปีแรกๆ ของรัชสมัยคังซีแล้ว
การพิจารณาประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น จะช่วยให้เราเข้าใจบทบาทของพระนางซูสีไทเฮาได้ดียิ่งขึ้น พระนางขึ้นมามีอำนาจโดยอาศัยความร่วมมือกับเชื้อพระวงศ์ฝ่ายชายอย่างเจ้าชายกง ในช่วงต้นรัชสมัยถงจื้อ และเจ้าชายฉุน ในต้นรัชสมัยกวางสู ซึ่งแนวทางดังกล่าวนั้นเป็นไปในทำนองเดียวกับการที่พระนางเสี้ยวจวงร่วมมือกับพระปิตุลาตัวเอ่อร์คุนเมื่อสองศตวรรษก่อนหน้านั้น นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสังเกตอีกว่าตลอดเวลาที่พระนางซูสีไทเฮามีบทบาททางการเมือง คนในตระกูลเย่เห่อน่าลา ของพระนางกลับมิได้เข้ามารับราชการในตำแหน่งสำคัญเลย แม้กระทั่งสตรีฝ่ายในที่ห้อมล้อมพระนางอยู่ในพระราชฐานชั้นใน ส่วนใหญ่ก็มิใช่คนในตระกูลของพระนาง จะมีก็แต่พระนางหลงยู่ จักรพรรดินีในจักรพรรดิกวางสูเท่านั้นที่มาจากตระกูลเย่เห่อน่าลา นอกนั้นต่างเป็นพระธิดาของพระราชวงศ์แมนจูทั้งสิ้น เช่น เจ้าหญิงกู้หลุน พระธิดาในเจ้าชายกง เจ้าหญิงเต๋อหลิง พระธิดาในเจ้าชายชิ่ง เป็นต้น
ดังนั้นเราจึงไม่อาจเทียบเคียงพระนาง"ซูสีไทเฮา"กับพระนาง"อู่เจ๋อเทียน"ในแง่ของการสร้างฐานอำนาจได้ เนื่องจากพระนางอู่เจ๋อเทียนได้สร้างฐานอำนาจใหม่ที่เป็นอิสระจากเชื้อพระวงศ์ราชวงศ์ถัง หากแต่พระนางซูสีไทเฮากลับใช้เชื้อพระวงศ์ที่มีอยู่ของราชวงศ์ชิง ให้เป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างอำนาจ และการกระทำของพระนางในเรื่องนี้ก็สอดคล้องกับแนวทางที่พระราชวงศ์ฝ่ายในชาวแมนจู ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่ครั้งต้นราชวงศ์
ปัญหาการแต่งตั้งรัชทายาทระหว่าง ค.ศ. 1899 - ค.ศ. 1900 เป็นกรณีหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์มักลงความเห็นกันว่า พระนางซูสีไทเฮาเป็นบุคคลเลวร้าย กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่พระนางได้ขัดขวางการปฏิรูปประเทศของจักรพรรดิกวางสูใน ค.ศ. 1898 ได้สำเร็จ จักรพรรดิถูกพระนางสั่งกักบริเวณเอาไว้ในพระที่นั่งกลางทะเลสาบ ทางตะวันตกของพระราชวังต้องห้าม หลังจากนั้นไม่นานพระนางมีดำริจะแต่งตั้งผู่จุ้น โอรสของเจ้าชายตวน ขึ้นเป็นรัชทายาท หากแต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ พระนางจึงต้องเลี่ยงกระแสคัดค้านด้วยการแต่งตั้งให้ผู่จุ้นเป็นต้าอาเกอ อันเป็นคำที่ใช้เรียกพระราชโอรสองค์ใหญ่ของจักรพรรดิ การแต่งตั้งรัชทายาทในครั้งนี้มีการมองกันว่าพระนางมีแผนการจะปลงพระชนม์จักรพรรดิกวางสู โดยอ้างว่าทรงพระประชวรจนสิ้นพระชนม์ จากนั้นรัชทายาทผู่จุ้นที่อยู่ภายใต้การควบคุมของพระนางจะได้ขึ้นสืบราชสมบัติ อัตชีวประวัติของจักรพรรดิองค์สุดท้าย เรื่อง จากจักรพรรดิสู่สามัญชน ก็ได้ยืนยันข้อมูลทำนองนี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การค้นคว้าของนักวิชาการที่เข้าถึงเอกสารชั้นต้นกลับให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า พระนางมีเหตุผลไม่น้อยในการแต่งตั้งรัชทายาทในช่วงดังกล่าว หนังสือเรื่อง "ไขปริศนาจากจดหมายเหตุราชวงศ์ชิง" ที่มี หลี่กั๋วหรง และคณะเป็นบรรณาธิการ ได้ให้ข้อมูลจากบันทึกของแพทย์หลวงว่า จักรพรรดิกวางสูมีพระพลานามัยที่ไม่สมบูรณ์มาแต่ยังทรงพระเยาว์ และเมื่อถึง ค.ศ. 1899 พระอาการของพระองค์ได้ทรุดหนักลงมากจนเกรงกันว่าจะสิ้นพระชนม์ในไม่ช้า การที่จักรพรรดิกวางสูไม่มีพระราชโอรสและพระราชธิดา ได้ทำให้พระนางซูสีไทเฮาเกรงว่า ถ้าจักรพรรดิสิ้นพระชนม์ลงจริงจะเกิดปัญหาการสืบราชสมบัติตามมา ดังนั้นเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว พระนางจึงเห็นความจำเป็นในการแต่งตั้งรัชทายาทไว้ล่วงหน้า และการกระทำดังกล่าวของพระนางก็ถือว่าชอบธรรม เนื่องจากวัฒนธรรมทางการเมืองของราชวงศ์ชิงเปิดโอกาสให้พระราชวงศ์ฝ่ายในเข้าแทรกแซงในยามวิกฤตได้
งานวิจัยของ Sue Fawn Chung (1979) เรื่อง The Much-Maligned Empress Dowager: A Revisionist Study of the Empress Dowager Tz'u - Hsi (1835-1908) ได้ชี้ให้เห็นว่า ฝ่ายปฏิรูปที่นำโดยคังโหย่วเหวย และเหลียงฉี่เชา ซึ่งเพิ่งจะปราชัยต่อพระนางในการปฏิรูปการปกครอง ค.ศ. 1898 ได้มีส่วนสำคัญในการใช้สื่อสารมวลชนสมัยใหม่คือหนังสือพิมพ์ ในการสร้างภาพลักษณ์ทางลบให้แก่พระนางและบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับการแต่งตั้งรัชทายาทในครั้งนี้
ข้อมูลทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า
ในการศึกษาบทบาททางการเมืองของพระนางซูสีไทเฮานั้น เราจำเป็นจะต้องนำเอาวัฒนธรรมทางการเมืองของราชวงศ์ชิงมาประกอบการพิจารณาด้วย
กล่าวคือ วัฒนธรรมทางการเมืองของราชวงศ์ชิงได้อนุญาตให้พระราชวงศ์ฝ่ายใน "ถือวิสาสะ"
เข้ามาแทรกแซงการเมืองในยามวิกฤตได้ ดังนั้นบทบาทของพระนางซูสีไทเฮาจึงเป็นไปตามแนวทางที่พระราชวงศ์ฝ่ายในชาวแมนจูเคยปฏิบัติกันมา
อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้ผู้เขียนเน้นถึงความชอบธรรมของพระนางซูสีไทเฮา ในการเข้ามาแสดงบทบาททางการเมืองเท่านั้น
ส่วนประเด็นที่ว่าพระนางมีส่วนต้องรับผิดชอบมากน้อยเพียงใดในเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสิ้นพระชนม์ก่อนวัยอันควรของจักรพรรดิถงจื้อและกวางสู
การสิ้นพระชนม์อย่างมีเงื่อนงำของพระนางฉืออัน ความพ่ายแพ้ของจีนในสงครามกับฝรั่งเศสและญี่ปุ่น
ความล้มเหลวในการปฏิรูปการปกครองของจักรพรรดิกวางสู รวมทั้งกรณีนักมวย ทั้งหมดนี้ยังคงเป็นปริศนาที่ต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป
3. เมื่อจีนบุกแอฟริกา
เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2006 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีหูจิ่นเทา แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
ได้เป็นเจ้าภาพต้อนรับผู้นำกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกากว่า 40 ประเทศ ที่เดินทางมาประชุมสุดยอดจีน-แอฟริกาที่กรุงปักกิ่ง
นับเป็นการประชุมที่มีผู้นำจากประเทศต่างๆ มารวมตัวกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเป็นเจ้าภาพของจีน
และยังสะท้อนความสำคัญของทวีปแอฟริกาในนโยบายต่างประเทศของจีนปัจจุบันอีกด้วย
จีนรู้จักทวีปแอฟริกา หรือเฟย์โจว มาเป็นเวลาช้านาน ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ซึ่งตรงกับสมัยราชวงศ์ซ่ง ได้มีทาสผิวดำมาใช้แรงงานอยู่แถบชายฝั่งเมืองกว่างโจว ทางตอนใต้ของจีนบ้างแล้ว ต่อมาในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 กองทัพเรือของราชวงศ์หมิง นำโดยขันทีเจิ้งเหอ ได้ออกสำรวจทะเลไปไกลถึงชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา ในครั้งนั้นผู้ปกครองแห่งมาลินดี (ประเทศเคนยาในปัจจุบัน) ได้มอบยีราฟให้แก่คณะของเจิ้งเหอ เพื่อนำไปถวายแด่จักรพรรดิหย่งเล่อ ณ กรุงปักกิ่ง สร้างความพอพระทัยให้แก่จักรพรรดิองค์ดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทรงเข้าพระทัย (ผิด) ว่ายีราฟคือสัตว์ในนิทานปรัมปราของจีนที่เรียกว่า "กิเลน" อันเป็นสัตว์มงคลตามความเชื่อของจีน
ความสัมพันธ์จีน-แอฟริกายุคใหม่เริ่มขึ้นหลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนใน ค.ศ. 1949 เหมาเจ๋อตง มองว่าจีนกับแอฟริกามีประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ร่วมกันคือ การถูกครอบงำโดยจักรวรรดินิยมตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ด้วยเหตุนี้จีนกับแอฟริกาควรจะผนึกกำลังกันดำเนินนโยบายต่อต้านจักรวรรดินิยม และเรียกร้องให้ประเทศมหาอำนาจมอบเอกราชแก่อาณานิคมโดยเร็ว ในยุคนี้จีนได้แสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ต่อหลายประเทศในแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็นการที่จีนส่งข้าวจำนวนหลายพันตันไปให้แก่ประเทศกินี และประเทศเคนยาระหว่าง ค.ศ. 1959-1961 ทั้งๆ ที่ในเวลานั้นจีนเองประสบทุพภิกขภัยอย่างหนัก และที่มีการกล่าวขานกันมากก็คือ การสร้างทางรถไฟสายแทนซาเนีย-แซมเบีย อันเป็นโครงการใหญ่ระหว่าง ค.ศ. 1970-1975
สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้จีนสนใจทวีปแอฟริกาก็คือ ความพยายามในการขยายอิทธิพลในทวีปแห่งนี้ของทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ซึ่งทั้งสองเป็น "ศัตรูหมายเลขหนึ่ง" ของจีนในทศวรรษ 1960 และ 1970 ตามลำดับ ดังนั้นเมื่อสหรัฐอเมริกาในทศวรรษ 1960 ให้การสนับสนุนรัฐบาลของประเทศคองโก-เลโอโปลด์วิลล์ (ปัจจุบันคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก) จีนจึงดำเนินนโยบายโต้ตอบด้วยการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศที่ตั้งอยู่รายล้อมคองโก-เลโอโปลด์วิลล์ ไม่ว่าจะเป็นคองโก-บราสซาวิลล์ (ปัจจุบันคือสาธารณรัฐคองโก) บุรุนดี และสาธารณรัฐแอฟริกากลาง และเมื่อสหภาพโซเวียตพยายามจะขยายนาวิกานุภาพเหนือมหาสมุทรอินเดียในทศวรรษ 1970 จีนก็ได้กระชับสัมพันธ์กับประเทศในแอฟริกา ที่มีชายฝั่งติดกับมหาสมุทรดังกล่าว เช่น มอริเชียส โมซัมบิก มาดากัสการ์ เป็นต้น
เมื่อถึงปลายทศวรรษ 1980 ความขัดแย้งระหว่างจีนกับโซเวียตสิ้นสุดลง และจีนก็หันมาดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจ ทำให้ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับแอฟริกาก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นความสัมพันธ์ที่เน้นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องของพลังงาน หลายปีที่ผ่านมาความต้องการนำเข้าน้ำมันของจีนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ การขาดเสถียรภาพทางการเมิองในภูมิภาคที่อุดมไปด้วยน้ำมันอย่างตะวันออกกลาง ทำให้จีนต้องหันมาพึ่งพาน้ำมันจากภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ไมว่าจะเป็นรัสเซีย เอเชียกลาง รวมทั้งประเทศในทวีปแอฟริกา
นิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 2006 รายงานว่า ขณะนี้จีนได้วางแผนจะเข้าไปลงทุนด้านการกลั่นน้ำมัน การเกษตร และโรงผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศไนจีเรียเป็นมูลค่ากว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยแลกกับสิทธิของจีนในการขุดเจาะน้ำมันในประเทศดังกล่าว ขณะเดียวกันจีนก็ได้ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ประเทศแองโกลา เพื่อสร้างถนนและสะพาน โดยที่แองโกลาจะชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่จีนในรูปของน้ำมัน. ปริมาณการค้าระหว่างจีนกับแอฟริกาได้เพิ่มขึ้นจาก 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯใน ค.ศ. 1995 เป็น 3.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯใน ค.ศ. 2005
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์จีน-แอฟริกาก็ปรากฏด้านมืดอยู่ด้วยหลายประการ ดังนี้
1.สินค้าราคาถูกจากจีนเข้าไปตีตลาดแอฟริกาจนทำให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอของแอฟริกาใต้ มอริเชียส และไนจีเรีย
2. ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จีนได้รับ ทำให้จีนละเลยประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในทวีปดังกล่าวไป โดยเฉพาะกรณีของรัฐบาลซูดาน ซึ่งถูกประชาคมโลกประณามเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในแคว้นดาร์ฟูร์ (Darfur) ขณะที่บริษัทของสหรัฐอเมริกาและแคนาดาได้ถอนการลงทุนจากซูดาน จีนใน ค.ศ. 2004 กลับลงทุนด้านการขุดเจาะน้ำมัน การวางท่อส่งน้ำมัน และการสร้างถนนในซูดานรวมเป็นเงินจำนวนกว่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ3. ในส่วนลึกแล้ว ชาวจีนจำนวนไม่น้อยยังคงมองว่าชาวแอฟริกันผิวดำเป็นคนชั้นต่ำ และไร้วัฒนธรรม ดังที่เมื่อปลาย ค.ศ. 1988 เคยเกิดการปะทะกันครั้งใหญ่ระหว่างชาวจีนกับชาวแอฟริกันในเมืองนานกิง หางโจว ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ อู่ฮั่น และอู๋ซี หากว่าชาวจีนยังคงมีทัศนคติในทางลบเช่นนี้ต่อไป ก็อาจกระทบต่อความสัมพันธ์จีน-แอฟริกาอีกก็เป็นได้
ประการสุดท้าย บทบาทและอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนในเวทีโลก ทำให้หลายประเทศในทวีปแอฟริกาพากันระแวงว่า ในอนาคตจีนก็ (อาจจะ) ไม่ต่างอะไรจากมหาอำนาจอื่นๆ นั่นคือ .... การเอารัดเอาเปรียบและขูดรีดทางเศรษฐกิจกับบรรดาประเทศกำลังพัฒนาในทวีปแอฟริกานั่นเอง
คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com