โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 25 Jun 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๘๗ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๐ (June, 25, 06,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

สิ่งที่เกิดขึ้นคือความพยายาม(ของชนชั้นนำ)ที่จะบดขยี้สื่อแรงงาน ด้วยการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทและการฟ้องร้อง ด้วยการกำหนดให้สื่อสิ่งพิมพ์วางหลักประกันราคาแพงก่อนจะตีพิมพ์ได้ และด้วยการเก็บภาษีแพงๆ ที่ออกแบบมาเพิ่มต้นทุนของสื่อทางเลือก เพื่อบีบบังคับพวกเขาให้เลิกทำธุรกิจ ความพยายามเหล่านี้ไม่เป็นผลสำเร็จ และภายในปี 1850 ก็ถูกล้มเลิกไป และถูกแทนที่โดยแนวคิดแบบเสรีนิยมที่ว่า กลไกตลาดจะบังคับให้สื่อมีความรับผิดชอบเอง. เคอร์รานและซีตันแสดงให้เห็นว่า ตลาดทำสำเร็จในสิ่งที่การแทรกแซงจากภาครัฐทำไม่สำเร็จ
25-06-2550

Noam Chomsky
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

บทวิเคราะห์และการวิพากษสื่อ สังคม เศรษฐกิจการเมืองอเมริกัน
Noam Chomsky: รื้อโครงสร้างการเมืองและสื่ออเมริกัน
สฤณี อาชวานันทกุล : เขียน / แปล
นักวิชาการอิสระ ผู้สนใจประเด็นนักคิดและนักกิจกรรมทางสังคม

บทความวิชาการนี้ กองบรรณาธิการฯ นำมาจากโอเพ่นออนไลน์
เดิมชื่อ: Noam Chomsky มโนธรรมแห่งยุคโลกาภิวัตน์
โดยเนื้อหาหลักได้แบ่งออกเป็น 3 ตอน ดังนี้
- ความนำและการทำความรู้จักกับ นอม ชอมสกี
- มหาอำนาจและรัฐล้มเหลว
- เศรษฐกิจการเมืองและสื่อมวลชน
ตอนแรก เป็นส่วนที่ผู้เขียนสรุปเกี่ยวกับนอม ชอมสกี
ส่วนตอนที่สอง และที่สาม เป็นบทแปลว่าด้วยการเมืองและนโยบายอเมริกันที่มีต่อโลก
และการวิเคราะห์ให้เห็นโครงสร้างของสื่อและธุรกิจสื่อภายใต้กระแสทุน
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๘๗
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๙.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทวิเคราะห์และการวิพากษสื่อ สังคม เศรษฐกิจการเมืองอเมริกัน
Noam Chomsky: รื้อโครงสร้างการเมืองและสื่ออเมริกัน
สฤณี อาชวานันทกุล : เขียน / แปล
นักวิชาการอิสระ ผู้สนใจประเด็นนักคิดและนักกิจกรรมทางสังคม


Noam Chomsky มโนธรรมแห่งยุคโลกาภิวัตน์
ในบรรดา "ปัญญาชนสาธารณะ" ที่มองโลกจาก "ชายขอบ" ของโลกทัศน์ "กระแสหลัก" ในปัจจุบัน (ซึ่งอาจสรุปได้ว่าเป็นการเมืองประชาธิปไตยแบบอเมริกัน บวกกับเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ตามฉันทมติวอชิงตัน) มีนักคิดเพียงหยิบมือเดียวที่มีอิทธิพลสูงขนาดเป็นรู้จักทั่วโลก โดยเฉพาะในหมู่เด็กนักเรียน นักศึกษา ซึ่งยัง "เดียงสา" ต่อโลกพอที่จะตั้งคำถามยากๆ จากมโนธรรมของตัวเอง ต่อการกระทำของผู้มีอำนาจ ก่อนที่มโนธรรมนั้นจะถูกบดบังหรือบั่นทอนด้วยอำนาจเงิน และความจำเป็นที่จะต้องดิ้นรนเอาตัวรอดใน "โลกแห่งความจริง" นอกรั้วโรงเรียนอันแสนจะหดหู่และบีบคั้น

เพราะอย่างที่อัพตัน ซินแคลร์ (Upton Sinclair) นักเขียนอเมริกันยุคต้นศตวรรษที่ 20 ว่าไว้ และอัล กอร์ (Al Gore) อ้างถึงในหนังสารคดียอดเยี่ยมเรื่อง "An Inconvenient Truth" (ความจริงที่กวนใจ): "เป็นเรื่องยากที่เราจะทำให้ใครเข้าใจอะไรได้ ถ้าเงินเดือนของเขาขึ้นอยู่กับความไม่เข้าใจมัน" (It is difficult to get a man to understand something when his salary depends on his not understanding it.)

นอม ชอมสกี้ (Noam Chomsky) คือนักคิด "กระแสหลักของกระแสรอง" เป็นนักคิดชายขอบที่คนรู้จักมากที่สุดในโลก เป็นขวัญใจนักศึกษาและประชาชนทั่วโลกที่ไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรม "จุ้นจ้าน" และเป็น "อันธพาล" ของรัฐบาลอเมริกันในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา. ชอมสกี้ต่อต้านรัฐบาลอเมริกันอย่างตรงไปตรงมาจนได้รับการขนานนามจากสื่อว่า "หอกข้างแคร่ประจำอเมริกา" (America's resident dissident) แต่สมญานามนี้ควรนับเป็นคำชม เมื่อคำนึงว่าชอมสกีเขียนและคิดทุกอย่างจากจุดยืนที่เปี่ยมมนุษยธรรมและความมีเหตุผล ที่ต่อต้านสงครามและการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ

เหนือสิ่งอื่นใด ชอมสกี้ไม่เคยปล่อยให้เงินเดือนหรือผลประโยชน์ส่วนตัวอื่นๆ มาบดบังเสียงจากก้นบึ้งมโนธรรมของเขา และเชื่อมั่นในเสรีภาพของมนุษย์จนประกาศว่า จะไม่มีวันฟ้องใครในข้อหาหมิ่นประมาท แม้ว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับชอมสกีบางคนจะโจมตีเขาอย่างไร้เหตุผล สกปรก และปราศจากมูลความจริงรองรับ

ปัจจุบันชอมสกีดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติคุณสาขาภาษาศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology (MIT) ที่ซึ่งเขาคิดค้นทฤษฎีเกี่ยวกับไวยากรณ์มีพลวัติ (transformational grammar) ที่ปฏิวัติวงการภาษาศาสตร์ แต่อย่างไรก็ตาม ชอมสกี้กลับมีชื่อเสียงในฐานะนักกิจกรรมผู้ต่อต้านรัฐตัวยง มากกว่าในฐานะนักภาษาศาสตร์. ชอมสกีโจมตีนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอเมริกันแทบทุกชุด นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา (เขาเห็นด้วยกับการเข้าร่วมสงครามของอเมริกา แต่ไม่เห็นด้วยกับการทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ซึ่งตรงกับจุดยืนของไอเซนฮาวเวอร์ (Eisenhower) ผู้นำกองทัพในขณะนั้น)

ชอมสกีพุ่งเป้าการโจมตีไปที่สิ่งที่เขามองว่าเป็นพฤติกรรมหน้าไหว้หลังหลอกหรือเลือกปฏิบัติของรัฐ ซึ่งละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชนมากมาย ชอมสกีมองว่า แม้อเมริกันจะเทศนาให้ทุกประเทศในโลกพยายามส่งเสริมประชาธิปไตยและเสรีภาพอย่างอเมริกา ที่ผ่านมาอเมริกาเองก็เข้าข้างองค์กรและรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและกดขี่ประชาชนบ่อยครั้ง

นอกจากโชมสกี้จะโจมตีรัฐบาลอเมริกันอย่างรุนแรงแล้ว อีกวงการที่เขาโจมตีและตีแผ่พฤติกรรมตลอดมาคือ วงการสื่อ ชอมสกีเชื่อว่า เป้าหมายหลักของสื่อมวลชนในอเมริกาคือเป็นกระบอกเสียงให้กับภาครัฐและภาคธุรกิจ และทั้งสามวงการนี้ก็มีผลประโยชน์ลึกซึ้งร่วมกันมากมาย ทำให้รัฐสามารถใช้สื่อเป็นเครื่องชี้นำ (propaganda) เพื่อ "ผลิตความยินยอม" (manufacture consent) จากประชาชนทั่วไป ชอมสกีอธิบายกระบวนการนี้สั้นๆ ในสุนทรพจน์เรื่อง การควบคุมสื่อ (Media Control) ที่พูดที่ MIT ตั้งแต่ปี 1991 ก่อนที่คำว่า "manufacturing consent" จะกลายเป็นชื่อหนังสือขายดีเล่มหนึ่งของเขา:

ประชาธิปไตยแบบได้แต่ดู (Spectator Democracy)
...วอลเตอร์ ลิปป์แมน (Walter Lippman) นักหนังสือพิมพ์อเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ นักวิจารณ์นโยบายรัฐ และนักทฤษฎีประชาธิปไตยเสรี ...เคยบอกว่า "การปฏิวัติศิลปะของประชาธิปไตย" (revolution in the art of democracy) อาจนำไปใช้ "ผลิตความยินยอม" นั่นคือ ทำให้ประชาชนคล้อยตามและเห็นด้วยกับสิ่งที่จริงๆ แล้วพวกเขาไม่ยอมรับ ด้วยการใช้เทคนิคการชักจูง สร้างภาพ และชี้นำใหม่ๆ อย่างเป็นระบบ ที่เรียกว่า propaganda (การโฆษณาชวนเชื่อ)

...ลิปป์แมนมองว่า ประชาชนในสังคมประชาธิปไตยที่ทำงานได้ดีนั้นมีหลายชนชั้น เรามีชนชั้น "มืออาชีพ" ที่มีบทบาทในการปกครอง พวกเขาคือคนวิเคราะห์ ปฏิบัติ ตัดสินใจ และกำกับดูแลระบบการเมือง เศรษฐกิจ และอุดมการณ์. คนเหล่านี้เป็นเป็นคนกลุ่มน้อยของทั้งประเทศ ...ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ที่อยู่นอกกลุ่มเล็กๆ นี้ คือกลุ่มที่ลิปป์แมนเรียกว่า "ฝูงชนที่งงงวย" (the bewildered herd) เราต้องปกป้องตัวเองจากการเหยียบย่ำและโทสะของฝูงชนที่งงงวยนี้...

...นั่นหมายความว่าเราต้องหาอะไรสักอย่างที่จะทำให้ฝูงชน "เชื่อง" ลง และสิ่งนั้นคือการปฏิวัติศิลปะของประชาธิปไตย - กระบวนการ "ผลิตความยินยอม" ซึ่งแปลว่าต้องแบ่งแยกสื่อ โรงเรียน และวัฒนธรรมป๊อป ออกเป็นฝักเป็นฝ่าย เพราะชนชั้นนำผู้ปกครองประเทศต้องทำให้ฝูงชนเชื่อว่าสิ่งที่พวกเขามองเห็นคือ "ความจริง" ที่รับได้ และต้องปลูกฝังค่านิยมที่เป็นประโยชน์ต่อการปกครอง อย่าลืมว่าทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ผู้ปกครองก็พยายามหลอกตัวเอง ซึ่งเกี่ยวโยงกับคำถามที่ว่า พวกเขาเข้าสู่ตำแหน่งที่มีอำนาจในการตัดสินใจได้อย่างไร แน่นอน พวกเขาได้อำนาจนั้นมาเพราะรับใช้กลุ่มคนที่มีอำนาจจริงๆ และคนกลุ่มนั้นก็คือกลุ่มที่เป็นเจ้าของสังคม เป็นคนกลุ่มน้อยมากๆ ถ้าชนชั้นมืออาชีพไปรับรองกับผู้มีอำนาจเหล่านี้ว่า พวกผมรักษาผลประโยชน์ของพวกคุณได้ พวกเขาก็จะได้เป็นสมาชิกของกลุ่มผู้มีอำนาจนี้ แน่นอนว่าพวกเขาต้องเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ ดังนั้นจึงต้องปลูกฝังความเชื่อและค่านิยมต่างๆ ที่ช่วยรักษาผลประโยชน์ของอำนาจเอกชนและธุรกิจการเมืองที่เชื่อมโยงถึงกัน และเบี่ยงเบนความสนใจของฝูงชนที่งุนงงไปที่อื่น...

...ในระบอบการปกครองที่ปัจจุบันเราเรียกว่ารัฐเผด็จการ (totalitarian state) หรือสมัยก่อนเรียกว่ารัฐทหาร (military state) การเบี่ยงเบนความสนใจของฝูงชนทำได้ง่ายมาก คุณแค่เงื้อไม้ตะบองขู่ประชาชน และตีคนที่ออกนอกลู่นอกทาง แต่เมื่อสังคมมีเสรีภาพมากขึ้นและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น คุณก็ทำแบบนั้นไม่ได้ง่ายๆ อีกต่อไป ดังนั้น คุณจึงต้องหันไปหาเทคนิคการชักจูงและชี้นำ ตรรกะในเรื่องนี้ชัดเจนมากๆ - ระบบการชี้นำในระบอบประชาธิปไตย ก็เหมือนกับไม้ตะบองในระบอบเผด็จการ...
...................

ก่อนเกิดโศกนาฏกรรม 9/11 คนจำนวนมากไม่ชอบฟังชอมสกี เพราะคิดว่าเขามีอคติต่อรัฐบาลอเมริกาเกินไป มองโลกในแง่ร้ายแบบหวาดระแวงและวิตกจริตตลอดเวลา และชอบอ้างข้อมูลนอกบริบททางประวัติศาสตร์ เพื่อทำให้ความคิดของตัวเองฟังดูดีมีน้ำหนักกว่าเดิม. แต่หลังจากเกิด 9/11 และเมื่อได้เห็นพฤติกรรม "ปลิ้นปล้อน โหดเหี้ยม และหลอกลวง" ของรัฐบาลอเมริกันและสื่อมวลชนอเมริกันในเวลาต่อมา หลายคนเริ่มมองเห็นว่า สิ่งที่ชอมสกีโจมตีะพยายามเตือนประชาชนผู้เสพข่าวมาตลอด มีส่วนจริงมากกว่าเท็จ

ความจริงที่ปรากฏจากพยานหลักฐานมากมายจนปฏิเสธไม่ได้อีกต่อไปคือ รัฐบาลอเมริกันภายใต้การนำของประธานาธิบดีจอร์จ บุช ส่งกำลังทหารเข้ายึดประเทศอิรัก ซึ่งนำไปสู่รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง (แต่ไม่สามารถหยุดยั้งสงครามกลางเมืองในประเทศนั้นได้) และคำสั่งประหารชีวิตซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein) ในเวลาต่อมา ทั้งๆ ที่การรุกรานของอเมริกานั้นผิดกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และอิรักก็ไม่มีส่วนรู้เห็นใดๆ กับขบวนการก่อรายร้ายอัลไกดา ซึ่งเป็นผู้ก่อวินาศกรรม 9/11 และมีฐานที่มั่นหลักในประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งอเมริกาก็ส่งทหารเข้าไปรบแล้วแต่ก็ไม่สามารถจับกุมนายบิน ลาเดน ผู้นำอัลไกดาได้

ต่อข้ออ้างของอเมริกันซึ่งใช้ในการโจมตีอิรัก คือข้อกล่าวหาว่าอิรักมี "อาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง" (weapons of mass destruction) ก็ปรากฏในภายหลังว่า เป็นข้อกล่าวหาลอยๆ ที่ไร้หลักฐานสนับสนุนอย่างสิ้นเชิง และนอกจากนั้นข้ออ้างนี้ก็ยังตั้งอยู่บนการบิดเบือนข้อมูลของหน่วยสืบราชการลับมากมาย การพูดความจริงครึ่งเดียว และการโหมกระพือข้อมูลปลีกย่อยบางประเด็นให้ดูรุนแรงหรือสำคัญกว่าความเป็นจริง เพื่อแต่งเรื่องขึ้นมาสนับสนุนการทำสงคราม โดยมีสื่อมวลชนยักษ์ใหญ่อย่าง NBC, ABC และ FOX ช่วยตอกย้ำเรื่องแต่งนั้นกับประชาชนคนดู เพื่อโน้มน้าวให้สนับสนุนการกระทำของรัฐ

ขบวนการ "ผลิตความยินยอม" ในภาษาของชอมสกีครั้งนี้ ประสบความสำเร็จอย่างน่าตกใจ สังเกตได้จากการที่ชาวอเมริกันเกินครึ่งในโพลล์ไม่ว่าจะสำนักไหน ยังเชื่อว่า "ซัดดัมอยู่เบื้องหลัง 9/11" และ "อิสลามเป็นศาสนาที่สนับสนุนความรุนแรง" ซึ่งนอกจากจะไม่เป็นความจริงแล้ว ยังโหมกระพือให้คนมีอคติและความเชื่อผิดๆ ฝังใจกว่าเดิม

ปัจจุบันมีการผลิต "ข่าวทางเลือก" มากมายที่พยายามตีแผ่การหลอกลวงของรัฐบาลอเมริกา ที่สื่อกระแสหลักไม่ยอมให้ "เป็นข่าว" ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ภาพยนตร์ และดีวีดี เช่นสารคดียอดเยี่ยมสองเรื่องคือ "Power of Nightmares" ของ BBC (ซึ่งปัจจุบันให้ดาวน์โหลดไปดูฟรีได้จาก archive.org) และ "Why We Fight" ของยูจีน ยาเร็กคี (Eugene Jarecki) ตีแผ่พฤติกรรมน่ารังเกียจของกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการ "ผลิตความยินยอม" อย่างชัดเจน และพิสูจน์ให้เห็นด้วยว่า กลุ่ม "ขวาจัด" (neo-conservative / อนุรักษณ์นิยมใหม่) กลุ่มนี้ คือคนกลุ่มเดียวกันกับที่อยู่เบื้องหลังขบวนการโฆษณาชวนเชื่อเรื่อง "ภัยจากคอมมิวนิสต์" ในยุคสงครามเย็น ที่บิดเบือนข้อมูลทางทหาร และกุเรื่องโกหกมากมายเพื่อหว่านล้อมให้ชาวอเมริกันสนับสนุนนโยบายที่ไร้ความชอบธรรม ไม่ต่างจากในยุคปัจจุบัน

ชอมสกีอาจเน้นการโจมตีไปที่รัฐบาลและสื่อมวลชนของอเมริกันเป็นหลัก แต่เพียงแค่นั้นก็เป็นประโยชน์มหาศาลต่อชาวโลก เพราะปัจจุบันอเมริกาเป็นมหาอำนาจที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อความเป็นไปของโลก นอกจากนี้ แนวคิดของเขาก็ใช้ได้ดีกับประเทศอื่นๆ ที่ธุรกิจสื่อมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับภาครัฐ ทำให้ประชาชนและแม้กระทั่งนักข่าวที่ทำหน้าที่อย่างสุจริต สามารถถูกรัฐบาลตัวเอง "หลอก" ด้วยกระบวนการผลิตความยินยอมที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมอันยากจะตามทัน ไม่ต่างจากในอเมริกา

ชอมสกีอาจมองโลกในแง่ร้ายเกินไป ดูถูกภาคธุรกิจเกินไปว่าไม่มีเจตนาสุจริต และโจมตีแบบแบ่งแยกทุกอย่างให้เป็น "ขาว" กับ "ดำ" เกินไป แต่คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่ "ความจริง" ซึ่งไม่ "เป็นข่าว" มักเป็นความจริงที่โหดร้ายและน่าตกใจเกินกว่าที่มโนธรรมของเราจะรับได้นั้น โลกต้องการนักคิดชายขอบผู้กล้าหาญอย่างชอมสกีอีกมาก … เพราะม่านมายาที่ปกปิดความจริงไม่ให้เราเห็นนั้น อาจเป็นม่านที่ซับซ้อนและหนาหนักเสียจนวิธีเดียวที่จะสลัดมันออกได้ก็คือ เราต้องถูก "ฉุด" อย่างรุนแรงและกะทันหันด้วยชุดความคิดที่แทงใจดำ บาดลึก เฉียบคม และเต็มไปด้วยเหตุผลและหลักฐานที่เราปฏิเสธไม่ได้
...................

มหาอำนาจและรัฐล้มเหลว
(แปลจาก Superpower and Failed States, Khaleej Times, 5 เมษายน 2006)
การเลือกประเด็นที่น่าจะอยู่ในความสนใจอันดับต้นๆ ของวาระที่เกี่ยวกับสวัสดิการและสิทธิมนุษยชนนั้น ย่อมเป็นเรื่องของความชอบส่วนบุคคล แต่มีประเด็นบางอย่างที่ไม่มีใครควรมองข้าม เพราะมันส่งผลกระทบโดยตรงต่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ ประเด็นที่สำคัญขนาดนี้มีอย่างน้อยสามประการด้วยกัน คือ

- สงครามนิวเคลียร์
- วิกฤตสิ่งแวดล้อม และ
- ข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐบาลของประเทศมหาอำนาจในโลกกำลังประพฤติตนในทางที่เพิ่มความเสี่ยงสองข้อแรก

เราต้องเน้นคำว่า "รัฐบาล" เพราะประชาชนของพวกเขาย่อมไม่เห็นด้วย ข้อเท็จจริงนี้นำผมไปสู่ความเสี่ยงประเด็นที่สี่ที่น่าจะทำให้ชาวอเมริกันและชาวโลกเป็นกังวลมากๆ นั่นคือ "ช่องว่างอันกว้างใหญ่ระหว่างความเห็นของประชาชน กับนโยบายสาธารณะ" สาเหตุข้อหนึ่งของความกังวลนี้ ซึ่งเราไม่สามารถจะมองข้ามไปได้ คือ " 'ระบบ' อเมริกันทั้งระบบกำลังมีปัญหา - มันกำลังมุ่งหน้าไปสู่จุดจบ

สิ่งที่เรามองว่าเป็นคุณงามความดีมาช้านาน นั่นคือ ความเท่าเทียมกัน เสรีภาพ และประชาธิปไตยที่มีความหมาย" ตามสำนวนของ การ์ อัลเปอรอวิทซ์ (Gar Alperovitz) ในหนังสือเรื่อง "อเมริกานอกทุนนิยม" (America Beyond Capitalism) "ระบบ" นี้กำลังแสดงคุณสมบัติหลายประการที่ตรงกับรัฐล้มเหลว (failed state) ในประเทศอื่น กำลังติดป้าย "อันตรายต่อความมั่นคงของชาติ" ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง ให้กับบางประเทศ (เช่น อิรัก) หรือป้าย "จำเป็นที่อเมริกาต้องแทรกแซงเพื่อช่วยชีวิตประชาชนจากอันตรายรุนแรงในประเทศ" (เช่น ไฮติ)

การให้นิยาม "รัฐล้มเหลว" ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ แต่รัฐเหล่านี้ก็มีปัจจัยพื้นฐานเหมือนกันหลายอย่าง พวกเขาไม่สามารถหรือไม่ยินยอมที่จะปกป้องประชาชนของตัวเองจากความรุนแรง หรือแม้กระทั่งการทำลายล้าง พวกเขามองว่าตัวเองอยู่เหนือกฎหมายในประเทศและกฎหมายสากล ซึ่งแปลว่าสามารถใช้ความรุนแรงได้อย่างอิสระ และถ้าหากระบอบการปกครองของพวกเขาเป็นประชาธิปไตยในรูปแบบ พวกเขาก็มีปัญหา "ความเป็นประชาธิปไตยขาดดุล" (democratic deficit) ที่ทำให้สถาบันประชาธิปไตยทางการต่างๆ เป็นประชาธิปไตยแต่ในรูปแบบเท่านั้น ส่วนเนื้อหาข้างในว่างเปล่า. หนึ่งในภารกิจที่ยากที่สุดแต่สำคัญที่สุดที่ใครๆ ก็ทำได้ คือการมองหน้าตัวเองในกระจก ถ้าเรายอมทำอย่างนั้น เราก็จะพบลักษณะของ "รัฐล้มเหลว" ได้อย่างง่ายดายในบ้านตัวเอง

การสำนึกถึงความจริงข้อนี้น่าจะเป็นเรื่องเดือดร้อนสำหรับทุกคนที่เป็นห่วงประเทศของตัวเอง และชนรุ่นหลัง. "ประเทศ" เป็นพหูพจน์ เพราะอิทธิพลอันมหาศาลของอเมริกา และเพราะปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่ และเฉพาะในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันบ้างในทางที่สำคัญต่อพลเมืองอเมริกัน. เราเห็นปัญหา "ความเป็นประชาธิปไตยขาดดุล" ได้อย่างชัดเจนในการเลือกตั้ง(อเมริกา)ปี 2004 ผลการเลือกตั้งทำให้คนบางกลุ่มดีใจสุดขีด คนบางกลุ่มโศกเศร้าหดหู่ และคนจำนวนมากกังวลว่าเรากำลังประสบกับภาวะ "ประเทศแตกแยก" (divided nation)

คอลิน พาวเวลล์ (Colin Powell รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในสมัยนั้น) แถลงต่อหน้าสื่อมวลชนว่า "ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนชาวอเมริกันให้ดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบ 'เชิงรุก' ต่อไป" แต่คำกล่าวนี้อยู่ห่างไกลจากข้อเท็จจริงมาก และมันก็ไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อด้วย. หลังจากการเลือกตั้ง บริษัทแกลลัพ (Gallup บริษัทสำรวจความคิดเห็นชื่อดัง) ไปถามชาวอเมริกันว่า บุช "ควรเน้นนโยบายที่พรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรคสนับสนุนหรือไม่" หรือว่าเขา "มีความชอบธรรมที่จะดำเนินนโยบายตามแนวทางของพรรครีพับลิกันต่อไป" อย่างที่พาวเวลล์และเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นๆ อ้าง ผลปรากฏว่า ผู้ออกความเห็น 63 เปอร์เซ็นต์เลือกข้อแรก มีเพียง 29 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เลือกข้อหลัง

จริงๆ แล้ว การเลือกตั้งไม่ได้มอบฉันทานุมัติ (mandate) ให้กับรัฐในการกระทำใดๆ ทั้งสิ้น และเกิดขึ้นในความหมายที่อ่อนที่สุดของคำว่า "การเลือกตั้ง". มีหลักฐานมากมายในประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นความเพิกเฉยของรัฐบาลอเมริกันต่อกฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นรุนแรงที่สุด แน่นอน รัฐบาลอเมริกันมีข้ออ้างทุกครั้ง แต่นั่นก็เป็นเรื่องธรรมดาของรัฐบาลทุกประเทศที่ใช้กำลังตามอำเภอใจ

ระหว่างช่วงสงครามเย็น กรอบความคิดที่ว่า "เราต้องป้องกันประเทศจากการรุกรานของคอมมิวนิสต์" ถูกใช้ระดมเสียงสนับสนุนจากชาวอเมริกันในการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศต่างๆ จำนวนนับไม่ถ้วน แต่ในที่สุด ข้ออ้างเรื่องอันตรายของคอมมิวนิสต์ก็เริ่มฟังไม่ขึ้น เพราะเมื่อถึงปี 1979 ศูนย์ข้อมูลด้านความมั่นคงของอเมริกา (Centre for Defense Information) ระบุว่า "สหภาพโซเวียตมีอิทธิพลเหนือ 6 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก และ 5 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติทั่วโลก" นอกเขตประเทศตัวเองเท่านั้น เราวิ่งหนีความจริงยากขึ้นเรื่อยๆ. ในช่วงเวลาเดียวกัน รัฐบาล(อเมริกัน)ก็เผชิญกับปัญหาภายใน โดยเฉพาะผลกระทบด้านบวกจากกิจกรรมทางการเมืองของประชาชนในทศวรรษ 1960 (เช่น การประท้วงการส่งทหารไปรบในสงครามเวียดนาม) ซึ่งทำให้ภาคประชาชนเข้มแข็งขึ้น และไม่ยอมรับการใช้ความรุนแรงเป็นวิธีตัดสินปัญหา

ภายใต้ประธานาธิบดีเรแกน (Reagan) รัฐบาลมักแก้ปัญหาด้วยการโหมกระพือความกลัว โฆษณาว่าสหภาพโซเวียตคือ "อาณาจักรชั่วร้าย" (evil empire) ที่มีเครือข่ายซอกซอนไปทุกหัวระแหงเหมือนหนวดปลาหมึกที่พยายามจะบีบรัดเราให้ตาย แต่(หลังจากสงครามเย็น)รัฐจำเป็นต้องหาข้ออ้างใหม่ ผู้นิยมเรแกนประกาศว่าพวกเขาจะเคลื่อนไหวเพื่อทำลายล้าง "ขบวนการก่อการร้ายอันชั่วช้า" โดยเฉพาะการก่อการร้ายที่มีรัฐหนุนหลัง ซึ่ง จอร์จ ชูลท์ซ์ (George Shultz) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสมัยเรแกนเรียกว่า "โรคระบาดที่มีศัตรูของความเจริญเป็นพาหะ เพื่อนำความป่าเถื่อนมาสู่ยุคสมัยใหม่". รายชื่อรัฐที่สนับสนุนขบวนการก่อการร้าย ซึ่งริเริ่มโดยวุฒิสภาในปี 1977 กลายเป็นหัวข้อที่ได้รับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ในนโยบายและการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ

ในปี ค.ศ. 1994 ประธานาธิบดีคลินตันขยายนิยามของ "รัฐก่อการร้าย" (terrorist state) ให้ครอบคลุม "รัฐอันธพาล" (rogue state) ด้วย และอีกไม่กี่ปีหลังจากนั้นก็เพิ่มแนวคิดเกี่ยวกับเรื่อง "รัฐล้มเหลว" (failed state) เข้าไปด้วย โดยบอกว่าเราต้องป้องกันประเทศจากรัฐเหล่านี้ และต้องช่วยเหลือประชาชนในรัฐเหล่านี้ - บางครั้งด้วยการไปทำลายล้างพวกเขา หลังจากนั้นประธานาธิบดีจอร์จ บุชก็บอกว่า เราต้องทำลาย "อักษะแห่งความชั่วร้าย" (axis of evil) เพื่อปกป้องตัวเอง เพื่อทำตามเจตจำนงของพระผู้เป็นเจ้าที่ถ่ายทอดให้กับสาวกของพระองค์ แต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่มอันตรายของการก่อการร้าย และการแพร่ระบาดของอาวุธนิวเคลียร์เสียเอง

การใช้โวหารแบบนี้ก่อปัญหามากมาย ปัญหาพื้นฐานคือ ถึงแม้เราจะตีความนิยามเหล่านี้แบบมีเหตุผล แม้ในนิยามของทางการ ประเภทของรัฐที่นิยามเหล่านี้ครอบคลุมก็ยังกว้างเกินไปจนรับไม่ได้ เราต้องเลิกใช้เหตุผลถึงจะมองไม่เห็นมูลความจริงในข้อคิดหลัง 9/11 ของนักประวัติศาสตร์ อาร์โน มาเยอร์ (Arno Mayer) ที่บอกว่า นับตั้งแต่ ค.ศ. 1947 เป็นต้นมา "อเมริกาทำตัวเป็น "รัฐก่อการร้าย" ที่ใช้วิธีชิงโจมตีก่อน ('pre-emptive' state terror) อันดับหนึ่งของโลก และทำตัวเป็น "อันธพาล" (rogue) ที่ทำให้ทั่วโลกเดือดร้อนในนามของ ประชาธิปไตย เสรีภาพ และความยุติธรรม"

หลังจากจอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี วงวิชาการกระแสหลักไม่ได้รายงานความเห็นของประชาคมโลก(ที่มีต่อนโยบายของอเมริกา)อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเริ่มมองว่า อเมริกา "กำลังมีลักษณะเหมือน "รัฐอันธพาล" ทั้งหลายที่พวกเขาต่อกรด้วย" (เดวิด เฮนดริคสัน (David Hendrickson) และโรเบิร์ต ทัคเกอร์ (Robert Tucker), นิตยสาร Foreign Affairs, 2004)

คำว่า "รัฐล้มเหลว"(failed state) ถูกหยิบขึ้นมาใช้หลายครั้งโดยประเทศที่เรียกตัวเองว่า "รัฐที่เจริญแล้ว" (enlightened state) ในทศวรรษ 1990 เพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง โดยอ้างว่าทำไปเพื่อปกป้องประชาชนของรัฐที่ล้มเหลว เป็นอันธพาล หรือก่อการร้าย ในทางที่อาจจะ "ผิดกฎหมายแต่มีความชอบธรรม" (illegal but legitimate) ในภาษาของคณะกรรมการอิสระโคโซโว (Independent Kosovo Commission) ในขณะที่ประเด็นหลักของวิวาทะทางการเมืองเปลี่ยนจาก "การแทรกแซงด้านมนุษยธรรม" (humanitarian intervention) เป็น "สงครามกับผู้ก่อการร้าย" (war on terror)

หลังโศกนาฏกรรม 9/11 แนวคิดเรื่อง "รัฐล้มเหลว" ถูกขยายขอบเขตให้ครอบคลุมประเทศอย่างอิรัก ที่เป็นอันตรายต่ออเมริกา เพราะถูกหาว่ามีอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง และสนับสนุนขบวนการก่อการร้ายสากล ภายใต้แนวคิดที่กว้างกว่าเดิมนี้ "รัฐล้มเหลว" ไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศอ่อนแอ ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่มีเหตุมีผล. เยอรมันยุคนาซีและรัสเซียยุคสตาลินไม่อ่อนแอแน่ๆ แต่ประเทศทั้งสองก็สมควรถูกขนานนามว่า "รัฐล้มเหลว" ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ

ความหมายในแนวคิดนี้ครอบคลุมหลายมิติ รวมทั้งความล้มเหลว(ของรัฐ)ในการให้ความมั่นคงต่อประชาชน การรับประกันสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนทั้งในและนอกประเทศ ตลอดจนรักษาสถาบันต่างๆ ในระบอบประชาธิปไตยที่ทำงานจริงๆ (ไม่ใช่ดำรงอยู่เฉยๆ เท่านั้น) นอกจากนั้น นิยามของ "รัฐล้มเหลว" ก็ต้องรวม "รัฐนอกกฎหมาย" (outlaw state) ที่เมินเฉยกฎเกณฑ์สากลและสถาบันข้ามชาติ ซึ่งใช้เวลาหลายปีในการจัดตั้ง และอเมริกาเป็นผู้ริเริ่มแนวคิด

รัฐบาล(อเมริกัน)กำลังเลือกใช้นโยบายที่เหมารวมรัฐนอกกฎหมาย ซึ่งทำให้พลเมืองทั้งในและนอกประเทศตกอยู่ในอันตราย และบั่นทอนสาระของประชาธิปไตย. รัฐบาลโฆษณาคุณสมบัติของรัฐล้มเหลวและรัฐนอกกฎหมายที่ตัวเองใช้อย่างภาคภูมิใจ แทบไม่ใช้ความพยายามใดๆ ในการปกปิด "ความตึงเครียดระหว่างโลกที่ยังต้องการระบบกฎหมายสากลที่เป็นธรรมและยั่งยืน กับมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวที่ไม่สนใจว่าแนวคิดเรื่องอธิปไตยแบบโบราณสมัยศตวรรษที่ 17 ที่ตัวเองยึดติดนั้น ไม่ต่างอะไรจากจุดยืนของรัฐบาลพม่า จีน อิรัก และเกาหลีเหนือ" ในขณะที่ดูถูกอธิปไตยของคนอื่นว่าล้าสมัยไร้สาระ ดังข้อสังเกตของไมเคิล ไบเออร์ส์ (Michael Byers) ในหนังสือเรื่อง "กฎหมายสงคราม: ทำความเข้าใจกับกฎหมายสากลและการต่อสู้ติดอาวุธ" (War Law: Understanding International Law and Armed Conflict)

อเมริกาก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่มีอำนาจล้นเหลือ กล่าวคือ รัฐบาลดำเนินนโยบายและกลยุทธ์ที่ตอบสนองความต้องการของภาคส่วนที่มีอิทธิพลสูงสุดในประเทศ แต่กลบเกลื่อนด้วยสำนวนโวหารอันสวยหรู ที่อ้างว่ากำลังอุทิศตนเพื่ออุดมการณ์อันสูงส่ง นั่นเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเป็นปกติมากๆ ในประวัติศาสตร์ และเป็นเหตุผลที่คนทั่วไปที่มีเหตุผลไม่ค่อยสนใจนักกับข้ออ้างถึงความสูงส่งของผู้นำ หรือเสียงสรรเสริญเยินยอของผู้ตาม
เรามักจะได้ยินคนบ่นว่า นักวิจารณ์ดีแต่ด่า แต่ไม่เคยเสนอทางออก จริงๆ แล้วคนที่บ่นหมายความว่า "นักวิจารณ์เสนอทางออกที่ฉันไม่เห็นด้วย"

ผมมีข้อเสนอง่ายๆ ต่อรัฐบาลอเมริกาดังต่อไปนี้:

1. ยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court) และศาลโลก

2. ลงนามและปฏิบัติตามพิธีสารเกียวโต (Kyoto protocol สนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการตกลงลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโลกร้อน)

3. ยอมให้สหประชาชาติเป็นแกนนำในการแก้ไขวิกฤตระหว่างประเทศ

4. ใช้มาตรการทางการทูตและเศรษฐกิจเป็นหลักในการเผชิญหน้ากับขบวนการก่อการร้าย แทนที่จะใช้มาตรการทางทหาร

5. ตีความกฎบัตรสหประชาชาติตามธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิม: การใช้กำลังเป็นเรื่องชอบธรรมเฉพาะในกรณีที่คณะมนตรีความมั่นคง (Security Council) สั่งให้ใช้ หรือในกรณีที่ประเทศอยู่ในสถานการณ์ที่จะถูกโจมตีในไม่ช้า (imminent threat of attack) ดังที่ระบุในมาตรา 51

6. ยอมคืนสิทธิในการยับยั้ง (veto) มติของคณะมนตรีความมั่นคง และ "นับถือความเห็นของมนุษยชาติ" ตามที่คำประกาศอิสรภาพของอเมริกาแนะนำ แม้ว่าศูนย์กลางอำนาจอื่นๆ ของโลกอาจไม่เห็นด้วย

7. ลดค่าใช้จ่ายด้านการทหารลงอย่างฮวบฮาบ ไปเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสังคม เช่น สาธารณสุข การศึกษา พลังงานทดแทน ฯลฯ แทน

สำหรับใครก็ตามที่เชื่อในระบอบประชาธิปไตย ข้อเสนอของผมข้างต้นนั้นเป็นแบบอนุรักษ์นิยมมากๆ เพราะดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ต้องการเกือบทั้งประเทศด้วยซ้ำ. ในบางกรณี ข้อเสนอเหล่านี้อยู่คนละขั้วกับนโยบายสาธารณะในปัจจุบัน และในกรณีส่วนใหญ่ก็อยู่ตรงข้ามกับมติของสองพรรคใหญ่ด้วย ข้อเสนอแบบอนุรักษ์นิยมอีกข้อของผมคือ เราควรถือว่า "ข้อเท็จจริง, ตรรกะ, และศีลธรรมขั้นพื้นฐาน" ล้วนเป็นเรื่องสำคัญ ใครก็ตามที่ทำตามข้อเสนอข้อนี้จะต้องทิ้งลัทธิเก่าๆ ที่คุ้นเคยในที่สุด แม้ว่ามันจะยากกว่าการยึดหลักการชุดเดิมที่เข้าข้างตัวเอง

โลกนี้เต็มไปด้วยข้อเท็จจริงง่ายๆ หลายข้อ ข้อเท็จจริงเหล่านั้นไม่สามารถรับมือกับปัญหาทุกข้อได้ แต่มันก็ช่วยพาเราไปสู่คำตอบเฉพาะด้านที่ละเอียดได้ ดังที่เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ที่สำคัญกว่านั้นคือ ข้อเท็จจริงเหล่านั้นเปิดทางให้เราลงมือปฏิบัติจริง เป็นโอกาสที่อยู่เพียงแค่เอื้อม เพียงแต่เราจะสลัดตัวเองออกจากลัทธิงมงายและมายาคติเดิมๆ แม้ว่าธรรมชาติของระบบลัทธิต่างๆ จะพยายามทำให้เรามองโลกในแง่ร้าย รู้สึกหมดหวังและหดหู่ .ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เราเห็นความก้าวหน้าในการแสวงหาความยุติธรรมและเสรีภาพในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งทิ้งมรดกให้คนรุ่นหลังสามารถสานต่อได้จากระดับที่ก้าวหน้ากว่าเดิม

โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยโอกาสของการศึกษาและการร่วมมือกัน สิทธิต่างๆ ไม่น่าจะเกิดจากเมตตาธรรมของผู้ปกครอง หรือจากชัยชนะชั่วครั้งชั่วคราว เช่น การไปเข้าร่วมประท้วงสองสามครั้ง หรือไปกดปุ่มเลือกคนในมหกรรมฟุ้งเฟ้อส่วนบุคคลทุกสี่ปีที่ถูกโฆษณาว่าเป็น "การเมืองแบบประชาธิปไตย" ภารกิจนี้ต้องใช้ความทุ่มเทต่อเนื่องกันทุกวัน เพื่อวางรากฐานของวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ

มีวิธีและโอกาสมากมายที่เราจะใช้ส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศได้ ความล้มเหลวที่จะฉวยโอกาสเหล่านั้นน่าจะส่งผลสะท้อนในทางลบมากมาย สำหรับอเมริกา สำหรับโลก และสำหรับคนรุ่นหลัง
...................

เศรษฐกิจการเมืองและสื่อมวลชน
(แปลจาก บทนำและบทที่ 1 จาก Manufacturing Consent)

โมเดลชี้นำ ("propaganda model" คือกรอบแนวคิดที่โชมสกี้คิดค้นขึ้นเพื่ออธิบายโครงสร้างอำนาจและการทำงานของสื่อมวลชนอเมริกัน)
สื่อมวลชนรับใช้สังคมในฐานะระบบสื่อสารข้อมูลและสัญลักษณ์สู่ประชาชนทั่วไป สื่อมวลชนมีหน้าที่ให้ความขบขัน ความบันเทิง และความรู้ ตลอดจนปลูกฝังคุณค่า ความเชื่อ และค่านิยมที่จะช่วยผสานปัจเจกชนเข้ากับโครงสร้างเชิงสถาบันในระดับสังคม ในโลกที่ความมั่งคั่งกระจุกตัวและการต่อสู้ระหว่างชนชั้นมีจริง การทำหน้าที่ดังกล่าวของสื่อมวลชนต้องอาศัยการชี้นำ (propaganda) อย่างเป็นระบบ

ในประเทศที่ระบบรัฐราชการ (state bureaucracy) เป็นผู้กุมบังเหียนอำนาจ การผูกขาดอำนาจในการควบคุมสื่อ ซึ่งบ่อยครั้งถูกเสริมด้วยการเซ็นเซอร์ของทางการ ทำให้เราเห็นชัดเจนว่าสื่อมวลชนทำงานเพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นนำ. แต่ในประเทศอื่นที่ไม่มีการเซ็นเซอร์อย่างเป็นทางการและสื่อมวลชนเป็นของเอกชน ก็เป็นเรื่องยากที่จะมองเห็นว่าระบบชี้นำกำลังทำงานของมันอยู่ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่า สื่อต่างๆ แข่งขันกันอย่างรุนแรง โจมตีและเปิดโปงการทุจริตของบริษัทเอกชนและรัฐเป็นครั้งคราว และสร้างภาพว่าพวกเขาเป็นตัวแทนเสรีภาพในการแสดงออกและประโยชน์ส่วนรวม

สิ่งที่เรามองไม่เห็น (และสื่อมวลชนเองก็ไม่เคยอภิปราย) คือข้อเท็จจริงที่ว่า การวิจารณ์(ของสื่อ)ย่อมมีขีดจำกัดโดยธรรมชาติ และความเหลื่อมล้ำสูงมากในการเข้าถึงทรัพยากร ก็ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการเข้าถึงสื่อเอกชน รวมทั้งพฤติกรรมและสมรรถภาพของสื่อเอกชนเหล่านั้น

โมเดลชี้นำพุ่งความสนใจไปที่ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ อำนาจ และผลกระทบของมันที่มีต่อผลประโยชน์และทางเลือกของสื่อมวลชน โมเดลนี้สืบสาวเส้นทางที่ทำให้เงินและอำนาจสามารถชี้นิ้วสั่งไม่ให้ตีพิมพ์ข่าวสำคัญ, เบียดบังเสียงคัดค้านจนกลายเป็นเพียงเสียงเล็กๆ [จากชายขอบ] (marginalize dissent), และยอมให้รัฐบาลและธุรกิจใหญ่สื่อสารโดยตรงต่อสาธารณชน

องค์ประกอบที่สำคัญในโมเดลชี้นำของเรา คือชุด "ฟิลเตอร์ข่าว" (news filters) ที่แบ่งได้เป็น 5 หัวข้อดังต่อไปนี้:

(1) ขนาด ระดับการกระจุกตัวของผู้ถือหุ้น ฐานะของเจ้าของ และระดับการแสวงหากำไรของสื่อมวลชน,
(2) ระดับการพึ่งพาโฆษณาในฐานะแหล่งรายได้สำคัญของสื่อมวลชน,
(3) ระดับการพึ่งพาข้อมูลจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ และ "ผู้เชี่ยวชาญ" ที่ภาครัฐและภาคธุรกิจเป็นสปอนเซอร์และสนับสนุน,
(4) การใช้วิธี "การตำหนิอย่างรุนแรง" (flak) เป็นวิธีตะล่อมสื่อมวลชนให้อยู่ในโอวาท และ
(5) การใช้วิธี "การต่อต้านคอมมิวนิสต์" เป็นศาสนาประจำชาติ

กลไกควบคุมองค์ประกอบเหล่านี้ทำปฏิกิริยาต่อกันและส่งเสริมซึ่งกันและกัน ข้อมูลดิบที่ยังไม่เป็นข่าวต้องผ่านฟิลเตอร์เหล่านี้ตามลำดับ และในที่สุดสิ่งที่จะออกไปเป็นข่าวคือสารตกค้างที่ถูกทำให้ "สะอาด" แล้ว ฟิลเตอร์เหล่านี้ตอกตรึงบริบทของวาทกรรมและการตีความ กำหนดนิยามว่าอะไรควร "เป็นข่าว" (newsworthy) ตั้งแต่แรก และชี้ให้เราเห็นรากฐานและการทำงานของขบวนการชี้นำ (propaganda campaign) ทั้งมวล

การครอบงำสื่อมวลชนของชนชั้นนำและการเบียดบังเสียงคัดค้าน ซึ่งเป็นผลจากการทำงานของฟิลเตอร์เหล่านี้ เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติมากๆ จนกระทั่งมืออาชีพด้านสื่อหลายคนที่ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต สามารถเกลี้ยกล่อมตัวเองให้เชื่อว่า พวกเขากำลังเลือกและตีความข่าวอย่าง "ไม่ลำเอียง" และตั้งอยู่บนจรรยาบรรณของวิชาชีพ. ภายในขีดจำกัดของฟิลเตอร์ข่าว พวกเขามักจะไม่ลำเอียงจริงๆ แต่ขีดจำกัดเหล่านั้นมีอิทธิพลสูงมาก และถูกบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบในทางที่เป็นพื้นฐานมากๆ จนกระทั่งแทบไม่มีใครสามารถจินตนาการได้ว่า ทางเลือกอื่นๆ ในการเลือกข่าวที่จะนำเสนอนั้นอาจมีหน้าตาอย่างไร

ในการประเมินคำประกาศฉุกเฉินของรัฐบาลอเมริกันเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 1984 ที่อ้างว่าสหภาพโซเวียตกำลังส่งเครื่องบินรบ MIF ไปยังนิคารากัว (ซึ่งปรากฏภายหลังว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด) ว่าควร "เป็นข่าว" หรือไม่ สื่อมวลชนไม่ได้หยุดคำนึงถึงอคติของการเลือกใช้ข้อมูลดิบจากรัฐก่อนแหล่งข่าวอื่นๆ หรือความเป็นไปได้ที่รัฐบาลเองอาจต้องการบิดเบือนข่าว ใช้ข่าวช่วยส่งเสริมวาระซ่อนเร้นของตัวเอง และเบี่ยงเบนความสนใจของสาธารณชนจากข่าวอื่นที่สำคัญกว่า เราต้องวิเคราะห์การทำงานของสื่อมวลชนจากมุมมองระดับกว้าง (macro view) นอกจากมุมมองระดับแคบ (micro level คือวิเคราะห์ข่าวเป็นชิ้นๆ ไป) ก่อนที่จะมองเห็นแบบแผนของการบิดเบือนและอคติที่เป็นระบบ

ขนาด ระดับการกระจุกตัวของผู้ถือหุ้น ฐานะของเจ้าของ และระดับการแสวงหากำไรของสื่อมวลชน: ฟิลเตอร์แรก
ในบทวิเคราะห์วิวัฒนาการของสื่อในอังกฤษ เจมส์ เคอร์ราน (James Curran) และจอน ซีตัน (Jean Seaton) ชี้ให้เห็นว่า สื่อมวลชนหัวรุนแรงที่เข้าถึงชนชั้นแรงงานทั่วประเทศ ได้อุบัติขึ้นในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 "สื่อทางเลือก" นี้ประสบความสำเร็จมากในการตอกย้ำจิตสำนึกของชนชั้น ทำให้แรงงานสามัคคีกันมากขึ้นเพราะช่วยส่งเสริมระบบและกรอบความคิดของคุณค่าทางเลือก (alternative values) สำหรับการมองโลก และ "ส่งเสริมความเชื่อมั่นของกลุ่มแรงงานด้วยการตอกย้ำศักยภาพของพวกเขาว่า การผนึกกำลังกันและเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบนั้น สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้"

ชนชั้นนำมองสื่อทางเลือกแบบนี้ว่าเป็นอันตราย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งบอกว่า หนังสือพิมพ์ของชนชั้นแรงงานนั้น "โหมกระพืออารมณ์อันเร่าร้อน และปลุกเชื้อความเห็นแก่ตัวให้ตื่นขึ้น เปรียบเทียบสภาพความเป็นอยู่ปัจจุบันของพวกเขา กับภาพที่พวกเขาเชื่อว่าจะเป็นสภาพความเป็นอยู่ในอนาคต สภาพที่เข้ากันไม่ได้กับธรรมชาติของมนุษย์ และกฎธรรมชาติที่พระเจ้ากำหนดให้เราใช้กำกับดูแลประชาสังคม" สิ่งที่เกิดขึ้นคือความพยายาม(ของชนชั้นนำ)ที่จะบดขยี้สื่อแรงงาน ด้วยการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทและการฟ้องร้อง ด้วยการกำหนดให้สื่อสิ่งพิมพ์วางหลักประกันราคาแพงก่อนจะตีพิมพ์ได้ และด้วยการเก็บภาษีแพงๆ ที่ออกแบบมาเพิ่มต้นทุนของสื่อทางเลือก เพื่อบีบบังคับพวกเขาให้เลิกทำธุรกิจ ความพยายามเหล่านี้ไม่เป็นผลสำเร็จ และภายในปี 1850 ก็ถูกล้มเลิกไป และถูกแทนที่โดยแนวคิดแบบเสรีนิยมที่ว่า กลไกตลาดจะบังคับให้สื่อมีความรับผิดชอบเอง

เคอร์รานและซีตันแสดงให้เห็นว่า ตลาดทำสำเร็จในสิ่งที่การแทรกแซงจากภาครัฐทำไม่สำเร็จ หลังจากที่กำแพงภาษีสูงลิบลิ่วถูกยกเลิกไประหว่างปี 1853 และ 1869 หนังสือพิมพ์รายวันฉบับใหม่ก็ถือกำเนิดขึ้น แต่ไม่มีหนังสือพิมพ์รายวันของชนชั้นแรงงานเกิดขึ้นอีกเลย จนกระทั่งสิ้นสุดศตวรรษที่ 19 เคอร์รานและซีตันตั้งข้อสังเกตว่า "สื่อหัวรุนแรงล่มสลายลงอย่างราบคาบเสียจนเมื่อพรรคแรงงาน (Labour Party) เกิดขึ้น จากการเคลื่อนไหวของแรงงานในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 พรรคนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากหนังสือพิมพ์ระดับชาติแม้แต่ฉบับเดียว

สาเหตุหนึ่งของปรากฏการณ์นี้คือ การเติบโตของธุรกิจสิ่งพิมพ์ และต้นทุนการลงทุนที่สูงขึ้นมากนับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ซึ่งตั้งอยู่บนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและแรงกดดันจากเจ้าของสื่อที่ต้องการขยายฐานคนอ่านให้กว้างกว่าเดิม ระบบตลาดเสรีเติบโตควบคู่ไปกับ "การปฏิวัติอุตสาหกรรมของสื่อ" ในปี 1867 ค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์อยู่ที่ประมาณ 50,000 ปอนด์ แต่พอมาถึงปี 1918 หนังสือพิมพ์ Sunday Express ต้องใช้เงินกว่า 2 ล้านปอนด์ ก่อนที่จะทำรายได้พอคืนทุน ด้วยยอดขายกว่า 200,000 ฉบับ

สถานการณ์ในอเมริกาคล้ายกันกับอังกฤษ ในปี 1851 ต้นทุนในการจัดตั้งหนังสือพิมพ์อยู่ที่ 69,000 เหรียญสหรัฐ ในปี 1872 หนังสือพิมพ์ St. Louis Democrat เปลี่ยนเจ้าของด้วยราคา 456,000 เหรียญสหรัฐ และในทศวรรษ 1920 กิจการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นถูกขายในราคาตั้งแต่ 6-18 ล้านเหรียญสหรัฐ ราคาของเครื่องจักร เช่น แท่นพิมพ์ พุ่งสูงขึ้นเป็นพันเป็นแสนเหรียญ จนกระทั่งเมื่อมาถึงปี 1945 เราก็พูดได้อย่างเต็มปากว่า "แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์เล็กๆ ก็เป็นธุรกิจใหญ่ ...และก็ไม่ใช่ธุรกิจที่ใครจะทำเล่นๆ ได้ ถ้าไม่มีเงินเหลือใช้" ดังนั้นเราจะเห็นว่า ฟิลเตอร์แรกในโมเดล นั่นคือ การที่ต้นทุนของธุรกิจเป็นเครื่องจำกัดความเป็นเจ้าของสื่อขนาดใหญ่นั้น เป็นเรื่องจริงมาแล้วกว่าหนึ่งศตวรรษ และเป็นฟิลเตอร์ที่มีประสิทธิผลมากขึ้นเรื่อยๆ

ในปี 1986 อเมริกามีหนังสือพิมพ์รายวันกว่า 1,500 ฉบับ นิตยสาร 11,000 ฉบับ สถานีวิทยุ 9,000 แห่ง สถานีโทรทัศน์ 1,500 แห่ง สำนักพิมพ์ 5,400 แห่ง และบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ 7 บริษัท รวมเป็นสื่อมวลชนกว่า 25,000 แห่ง. แต่ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นสื่อขนาดเล็กที่ต้องพึ่งพาสื่อระดับชาติและสายข่าว (newswire) สำหรับข่าวทุกชนิดยกเว้นข่าวท้องถิ่น. สื่อจำนวนมากมีเจ้าของเดียวกันที่บางครั้งควบคุมสื่อแทบทุกประเภท.

เบน บักดีเคียน (Ben Bagdikian) เน้นข้อเท็จจริงที่ว่า แม้สื่อจะมีจำนวนมาก ผลผลิตของสื่อขนาดใหญ่ที่สุด 29 แห่งมีปริมาณเกินครึ่งของหนังสือพิมพ์ทั้งระบบ และคิดเป็นสัดส่วนสูงกว่านั้นของนิตยสาร สื่อโทรทัศน์ หนังสือ และภาพยนตร์ทั้งประเทศ เขาเชื่อว่า สื่อขนาดใหญ่เหล่านี้ "เปรียบเสมือนกระทรวงข้อมูลและวัฒนธรรมที่เอกชนเป็นเจ้าของ" ที่สามารถกำหนดวาระของประเทศได้

อันที่จริง ในขณะที่เขาเสนอให้สื่อมวลชนเป็นอิสระจากอำนาจรัฐและธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเชื่อว่าเข้ากันไม่ได้กับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงสร้าง (ดูคำอธิบายถัดไป) บักดีเคียนก็อาจประเมินระดับการกระจุกตัวของการผลิตข่าวต่ำเกินไป เราเห็นมาช้านานแล้วว่า สื่อมวลชนมีหลายระดับชั้น ชั้นสุดยอด (ซึ่งวัดจากชื่อเสียง ปริมาณทรัพยากร และระดับการเข้าถึงมวลชน) มีประมาณ 10-24 แห่ง สื่อในชั้นสุดยอดนี้ ประกอบกับรัฐบาลและสายข่าว คือผู้ที่กำหนดวาระข่าว (news agenda) ของประเทศ และส่งข่าวในประเทศและข่าวต่างประเทศที่พวกเขาผลิตต่อไปยังสื่อชั้นต่ำกว่า ซึ่งก็จะไปถึงสาธารณชนในที่สุด

การควบอำนาจในสื่อชั้นสูงสุดเข้มข้นเขม็งเกลียวขึ้นมาก ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผ่านการเติบโตของเครือข่ายสถานีโทรทัศน์ทั่วประเทศ หากย้อนดูยุคก่อนที่ทีวีจะผลิตข่าว ตลาดข่าว (news market) เป็นตลาดระดับท้องถิ่น ถึงแม้ว่าจะต้องพึ่งสื่อชั้นสูงกว่าตัวเอง และแหล่งข่าวเพียงไม่กี่แหล่ง ในยุคต่อมา เครือข่ายสถานีโทรทัศน์ผลิตข่าวในประเทศและข่าวต่างประเทศจากแหล่งข่าวระดับชาติ และทีวีก็กลายเป็นแหล่งข่าวหลักสำหรับประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม การเติบโตถึงจุดอิ่มตัวของเคเบิลทีวีแบ่งแยกตลาดคนดูออกเป็นตลาดย่อยมากมาย และกัดกร่อนอำนาจและส่วนแบ่งการตลาดของเครือข่ายโทรทัศน์ใหญ่ๆ

บริษัทสื่อขนาดใหญ่ 24 แห่งในชั้นสุดยอดของวงการสื่อ ประกอบด้วย:

- เครือข่ายโทรทัศน์ทั่วประเทศ 3 แห่ง คือ ABC, CBS, และ NBC (ซึ่งเจ้าของสูงสุดคือบริษัท General Electric หรือ GE)

- อาณาจักรหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ได้แก่ New York Times, Washington Post, Los Angeles Times (Times-Mirror), Wall Street Journal (Dow Jones), Knight-Ridder, Gannett, Hearst, Scripps-Howard, Newhouse (Advance Publications), และบริษัท Tribune

- นิตยสารข่าวและสารคดีทั่วไปชั้นนำ ได้แก่ Time, Newsweek (ซึ่งมีเจ้าของเดียวกันกับหนังสือพิมพ์ Washington Post), Reader's Digest, TV Guide (Triangle), และ U.S. News & World Report

- บริษัทสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ ได้แก่ McGraw-Hill

- บริษัทเคเบิลทีวีขนาดใหญ่ 5 แห่ง ซึ่งทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่ News Corp. (Murdoch), Turner, Cox, Taft, Storer, และ Group W (Westinghouse)

บริษัทหลายแห่งในรายชื่อข้างต้นทำธุรกิจในสื่อหลายประเภท เช่น Time มีเคเบิลทีวีนอกเหนือจากนิตยสาร McGraw-Hill พิมพ์นิตยสารมากมายที่ไม่ใช่หนังสือ และ News Corp. ของมหาเศรษฐีรูเพิร์ต เมอร์ด็อค (Rupert Murdoch) มีอำนาจควบคุมหนังสือพิมพ์จำนวนมากนอกเหนือจากสถานีโทรทัศน์และภาพยนตร์ บริษัทเหล่านี้ล้วนเป็นกิจการแสวงหากำไรที่ควบคุมโดยมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ทุกบริษัทยกเว้นเพียงหนึ่งแห่งมีสินทรัพย์มากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสินทรัพย์เฉลี่ย 2,600 ล้านเหรียญสหรัฐ กว่าสามในสี่ของบริษัทเหล่านี้ทำกำไรหลังหักภาษีเกินกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 183 ล้านเหรียญสหรัฐ

บริษัทสื่อขนาดใหญ่จำนวนมากเป็นส่วนหนึ่งของตลาดอย่างสมบูรณ์ และสำหรับบริษัททุกแห่ง แรงกดดันจากผู้ถือหุ้น กรรมการ และเจ้าหนี้ให้พวกเขาเน้นผลกำไรบรรทัดสุดท้าย (the bottom line) มีอิทธิพลมหาศาล แรงกดดันเหล่านี้รุนแรงขึ้นในไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อหุ้นของบริษัทสื่อกลายเป็นหุ้นยอดนิยม และเจ้าของหนังสือพิมพ์และสถานีโทรทัศน์มองเห็นลู่ทางที่จะแปลงขนาดของตลาดคนดูและรายได้จากค่าโฆษณา ไปในทางที่เพิ่มมูลค่าของกิจการสื่อและความมั่งคั่งของตัวเองขึ้นไปอีกหลายเท่า เย้ายวนให้นักเก็งกำไรเข้ามามีส่วนร่วม เพิ่มแรงกดดันและยั่วยุให้สื่อพุ่งเป้าความสนใจไปที่การแสวงหากำไรยิ่งกว่าเดิม เจ้าของสื่อที่เป็นครอบครัวผู้ก่อตั้งต้องปวดหัวกับความแตกแยกภายใน ระหว่างฝ่ายที่ต้องการฉวยโอกาสใหม่ๆ และฝ่ายที่ต้องการรักษาอำนาจการควบคุมกิจการไว้ในมือของครอบครัว และความแตกแยกเหล่านี้ก็มักจะนำไปสู่การขายอำนาจการควบคุมของครอบครัว ให้กับนักลงทุนรายใหม่

กระแสที่สื่อมวลชนกำลังถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบตลาดนั้น เกิดขึ้นบ่อยครั้งและเข้มข้นกว่าเดิมหลังจากที่รัฐผ่อนปรนกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่จำกัดการกระจุกตัวของสื่อ การถือหุ้นไขว้ และการควบคุมสื่อของบริษัทที่ไม่ได้ทำสื่อเป็นธุรกิจหลัก นอกจากนั้น รัฐก็ยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ (ที่ก็ค่อนข้างอ่อนอยู่แล้ว) ที่เกี่ยวข้องกับโฆษณาทีวีและวิทยุ ประเภทของรายการ และการใช้หลักการเรื่อง "ความเป็นธรรม" เปิดประตูให้ธุรกิจใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ทุกประเภทได้อย่างไร้ขีดจำกัด

ผลกำไรที่เพิ่มขึ้นมากของบริษัทสื่อ ในบริบทของการเปิดเสรีสื่อโดยภาครัฐ ยังนำไปสู่การซื้อกิจการสื่อหรือความพยายามที่จะซื้อ ไม่เว้นแม้กระทั่งบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง CBS หรือ Time ความเสี่ยงข้อนี้กดดันให้ผู้บริหารของบริษัทสื่อขนาดใหญ่กู้เงินมากขึ้น และเน้นกลยุทธ์ที่แสวงหากำไรสูงสุดยิ่งกว่าเดิม เพื่อทำให้เจ้าของกิจการพอใจ และทำให้กิจการดูน่าสนใจน้อยลงสำหรับคนนอก พวกเขาสูญเสียอำนาจในการบริหารบางส่วนไปให้กับธนาคารผู้เป็นเจ้าหนี้ นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายย่อยผู้มั่งคั่ง ที่พวกเขามักเรียกร้องให้ช่วยเหลือบริษัทในฐานะ "อัศวินม้าขาว" (เช่น เมื่อบริษัทเผชิญกับคนนอกผู้ต้องการซื้อกิจการ)

แม้ว่าหุ้นของบริษัทสื่อมวลชนขนาดใหญ่จะจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ หุ้นจำนวนกว่าสองในสามของบริษัทเหล่านี้ยังกระจุกตัวอยู่ในมือของครอบครัวผู้ก่อตั้ง สถานการณ์นี้กำลังเปลี่ยนไป เมื่อระดับการถือหุ้นกระจายกว้างขึ้นในบรรดาลูกหลาน และโอกาสในการขายกิจการสื่อกำลังดีขึ้นเรื่อยๆ แต่โดยรวมแล้วครอบครัวผู้ก่อตั้งก็ยังควบคุมกิจการไว้ได้ และพวกเขาก็ร่ำรวยมหาศาลจากหุ้นในกิจการเหล่านี้ด้วย บริษัทสื่อ 7 แห่งในรายชื่อของเรามีมูลค่าตลาดสูงกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ชนชั้นนำที่ควบคุมบริษัทสื่อขนาดใหญ่ใช้อำนาจการควบคุมของพวกเขาด้วยการกำหนดนโยบายกว้างๆ ของบริษัท และเลือกผู้บริหารระดับสูง

นอกจากนี้ กลุ่มที่ควบคุมบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ยังมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาคธุรกิจกระแสหลัก ผ่านคณะกรรมการบริษัทและความสัมพันธ์ในวงสังคม ในกรณีของสถานีโทรทัศน์ NBC และ Group W เจ้าของพวกเขาคือ GE และ Westinghouse เป็นบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ทั้งคู่ซึ่งดำเนินธุรกิจมากมาย คณะกรรมการบริษัททั้งสองเต็มไปด้วยผู้บริหารระดับสูงและนายธนาคาร ในขณะที่กรรมการของบริษัทสื่อยักษ์ใหญ่รายอื่นๆ ก็เป็น "คนวงใน" (insider) เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งปกติเป็นลักษณะของบริษัทขนาดเล็กที่ครอบงำโดยผู้ก่อตั้ง ยิ่งบริษัทมีขนาดใหญ่ขึ้นและหุ้นกระจายตัวมากขึ้นเท่าไหร่ จำนวนและสัดส่วนของกรรมการที่เป็น "คนนอก" (outside director) ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว องค์ประกอบของกรรมการคนนอกในบริษัทสื่อยักษ์ใหญ่นั้น มีลักษณะคล้ายกันกับบริษัทใหญ่ในธุรกิจอื่น กว่าครึ่งของกรรมการคนนอกในบริษัทสื่อขนาดใหญ่ที่สุด 10 แห่งของประเทศเป็นผู้บริหารระดับสูงและนายธนาคาร ถ้าเรานับรวมทนายความและวาณิชธนกรที่เกษียณแล้ว สัดส่วนนี้ก็จะพุ่งเป็นสองในสามของกรรมการคนนอกทั้งหมด กรรมการคนนอกรวม 95 คน ดำรงตำแหน่งกรรมการในธนาคาร 36 แห่ง และบริษัทอื่นๆ อีก 255 แห่ง (นอกเหนือจากบริษัทสื่อและบริษัทหลักที่พวกเขาเป็นผู้บริหาร)

นอกเหนือจากสายสัมพันธ์ทางคณะกรรมการบริษัทแล้ว บริษัทสื่อยักษ์ใหญ่ก็ล้วนทำธุรกิจกับธนาคารพาณิชย์และวาณิชธนกิจ ตั้งแต่ขอเงินกู้และวงเงิน ไปจนถึงการขอรับคำแนะนำ และบริการในการขายหุ้นและตราสารหนี้ให้กับนักลงทุน และคำปรึกษาด้านโอกาสในการซื้อกิจการหรือความเสี่ยงที่จะถูกซื้อเสียเอง ธนาคารและนักลงทุนสถาบันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทสื่อ ในต้นทศวรรษ 1980 สถาบันเหล่านี้ถือ 44 เปอร์เซ็นต์ของหุ้นบริษัทหนังสือพิมพ์ที่อยู่ในตลาด และ 35 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทโทรทัศน์ นักลงทุนเหล่านี้ยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทนอกตลาดอีกด้วย เช่น ในปี 1980-81 บริษัทลงทุนชื่อ Capital Group ถือหุ้น 7.1 เปอร์เซ็นต์ใน ABC, 6.6 เปอร์เซ็นต์ใน KnightRidder, 6 เปอร์เซ็นต์ใน Time, และ 1.8 เปอร์เซ็นต์ใน Westinghouse

แม้ว่าสัดส่วนการถือหุ้นเหล่านี้จะไม่ถึงระดับที่ควบคุมบริษัทได้ ก็เป็นระดับที่ทำให้บริษัทต้องรับฟังความคิดเห็นของพวกเขา และการกระทำของพวกเขาก็สามารถส่งผลกระทบต่อบริษัทและผู้บริหาร ถ้าผู้บริหารไม่สามารถเพิ่มผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นได้ นักลงทุนสถาบันก็มีแนวโน้มที่จะขายหุ้นทิ้ง (ทำให้ราคาหุ้นตก) หรือยินดีเจรจากับคนนอกที่สนใจจะซื้อกิจการ นักลงทุนเหล่านี้เป็นพลังผลักดันให้บริษัทสื่อมวลชนทำตามเป้าหมายเชิงพาณิชย์ (ความสามารถในการทำกำไร) เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

เราเห็นทิศทางนี้ในการขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจของบริษัทสื่อขนาดใหญ่ด้วย ทั้งในแง่ภูมิศาสตร์และแง่ธุรกิจอื่นๆ บริษัทสื่อจำนวนมากขยายกิจการไปสู่สื่อประเภทอื่นๆ นอกเหนือแวดวงของตัวเอง ที่มีอัตราการเติบโตสูง บริษัทสื่อสิ่งพิมพ์เก่าแก่ขยายกิจการไปสู่โทรทัศน์และเคเบิลทีวีอย่างเร็วที่สุดที่จะทำได้ เพราะพวกเขาเป็นห่วงการเติบโตของทีวีและผลกระทบต่อรายได้ค่าโฆษณา ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Time ได้ขยายกิจการไปสู่เคเบิลทีวี ซึ่งปัจจุบันทำกำไรกว่าครึ่งของกำไรทั้งหมดของบริษัท มีบริษัทเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นในรายชื่อยักษ์ใหญ่ 24 แห่งของเรา ที่ยังทำธุรกิจสื่อเพียงประเภทเดียว

นอกจากนี้ บริษัทสื่อขนาดใหญ่ยังขยายกิจการออกไปนอกวงการสื่อ และบริษัทที่ไม่ใช่สื่อก็ได้เข้ามามีอิทธิพลค่อนข้างสูงในแวดวงสื่อมวลชนเช่นเดียวกัน ตัวอย่างของกรณีหลังที่สำคัญที่สุดคือ GE ซึ่งเป็นเจ้าของ RCA ซึ่งเป็นเจ้าของเครือข่ายโทรทัศน์ NBC, และ Westinghouse ซึ่งเป็นเจ้าของเครือข่ายโทรทัศน์ เคเบิลทีวี และวิทยุทั่วประเทศ. ทั้ง GE และ Westinghouse เป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ประกอบธุรกิจมากมาย รวมทั้งในธุรกิจล่อแหลมเช่น การผลิตอาวุธ และพลังงานนิวเคลียร์

เราคงจำกันได้ว่า ระหว่างปี 1965-67 ความพยายามของบริษัท International Telephone and Telegraph (ITT) ที่จะซื้อกิจการของ ABC ต้องล้มเลิกไป เมื่อเผชิญกับเสียงประท้วงจากหลายภาคส่วนของสังคม ซึ่งร้องให้รัฐบาลคำนึงถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น หากยอมให้บริษัทข้ามชาติที่มีเครือข่ายการลงทุนและธุรกิจทั่วโลก เข้าครอบงำสื่อมวลชนขนาดใหญ่ของอเมริกา ผู้ประท้วงเกรงว่า การควบคุมกิจการของ ITT "จะทำให้ ABC สูญเสียความเป็นอิสระในการนำเสนอข่าวการเมืองในประเทศที่ ITT มีผลประโยชน์อยู่" การตัดสินใจของรัฐที่ห้ามไม่ให้ดีลนั้นเกิดขึ้น ถูกพิสูจน์ว่ามีเหตุผลในภายหลัง เมื่อข้อมูลหลักฐานปรากฏต่อสาธารณะว่า ITT ติดสินบนนักการเมือง และมีส่วนร่วมในความพยายามที่จะล้มล้างรัฐบาลของประเทศชิลี อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอเมริกันได้อนุญาตให้ทั้ง GE และ Westinghouse ควบคุมบริษัทสื่อ นานก่อนที่กรณี ITT จะเกิด แม้ว่าดูเหมือนข้อคัดค้านหลายข้อในกรณีนั้นจะใช้ได้กับ GE และ Westinghouse เหมือนกัน

GE มีอิทธิพลมากกว่า ITT หลายเท่า มีเครือข่ายกว้างขวางในต่างประเทศ ดำเนินธุรกิจพลังงานนิวเคลียร์อย่างจริงจัง และเป็นบริษัทที่สำคัญกว่า ITT มากในธุรกิจการผลิตอาวุธสงคราม. GE เป็นองค์กรที่บริหารแบบรวบอำนาจ (centralized) และค่อนข้างเป็นความลับ แต่เป็นบริษัทที่มีส่วนได้เสียสูงมากใน "การตัดสินใจทางการเมือง" ของรัฐ. GE เป็นหนึ่งในสปอนเซอร์ของ American Enterprise Institute สถาบันวิจัยฝ่ายขวาที่สนับสนุนปัญญาชนที่ส่งเสริมภาพพจน์ของธุรกิจ. การเข้าครอบงำ ABC ของ GE น่าจะทำให้ GE อยู่ในฐานะที่ดีกว่าเดิมที่จะทำให้ตัวเองมั่นใจได้ว่า มุมมองที่บริษัทเห็นด้วยจะได้รับการสื่อสารไปยังผู้ชม สาเหตุที่เราไม่เห็นใครออกมาประท้วง GE ตอนที่บริษัทไปซื้อกิจการของ RCA และ NBC ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการครอบงำ NBC ของ RCA ได้ทำลายประตูที่กั้นขวางบริษัททั้งสองลงไปแล้ว แต่เรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นบรรยากาศที่สนับสนุนธุรกิจและแนวคิดตลาดเสรีสุดขั้ว (laissez-faire) ของยุคประธานาธิบดีเรแกน (Reagan) ด้วย

รายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่สื่อของบริษัทสื่อยักษ์ใหญ่คิดเป็นสัดส่วนค่อนข้างน้อยของรายได้ทั้งหมด ถ้าเรายกเว้นอาณาจักรธุรกิจของ GE และ Westinghouse แต่อิทธิพลของพวกเขาในแง่ภูมิศาสตร์นั้นกว้างขวางกว่ามาก เครือข่ายสถานีโทรทัศน์ที่ผลิตรายการเอง สถานีที่ซื้อรายการไปออก (syndicators) นิตยสารข่าวชั้นนำ และบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ล้วนทำธุรกิจนอกประเทศ และรับรายได้จำนวนไม่น้อยจากการขายสื่อนอกประเทศ และธุรกิจของบริษัทเกี่ยวข้องที่มีสัญชาติต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น นิตยสาร Reader's Digest มี 17 ภาษาและวางขายใน 160 ประเทศ อาณาจักรของมหาเศรษฐีเมอร์ด็อค (Murdoch) เริ่มที่ออสเตรเลีย และบริษัทแม่ก็ยังเป็นบริษัทสัญชาติออสเตรเลีย เขาใช้กำไรจากธุรกิจในออสเตรเลียและอังกฤษเป็นทุนในการขยายกิจการในอเมริกา

ความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การที่บริษัทสื่อต้องพึ่งพาสายสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับรัฐบาล กิจการวิทยุโทรทัศน์ต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐ และดังนั้นจึงมีความเสี่ยงที่จะถูกรัฐควบคุมหรือระราน การพึ่งพิงทางกฎหมายนี้ถูกรัฐใช้เป็นไม้ตะบองเพื่อบีบให้สื่อมวลชนเชื่อฟัง สื่อรายใดที่ดำเนินนโยบายผิดเพี้ยนไปจากแนวทางของรัฐอาจตกอยู่ในอันตราย สื่อมวลชนพยายามปกป้องตัวเองจากความเสี่ยงข้อนี้ด้วยการล็อบบี้รัฐบาล ให้เงินอุดหนุนนักการเมือง ปลูกฝังเส้นสายทางการเมือง และเซ็นเซอร์ตัวเอง เส้นสายทางการเมืองของสื่อขนาดใหญ่นั้นน่าเกรงขามไม่ใช่น้อย - กรรมการคนนอก 15 คนจาก 95 คนที่อยู่ในคณะกรรมการของบริษัทสื่อขนาดใหญ่ที่สุด 10 แห่ง คืออดีตข้าราชการ และปีเตอร์ เดรเออร์ (Peter Dreier) ก็ค้นพบสัดส่วนใกล้เคียงกันในงานวิจัยของเขาเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่ ในกิจการทีวี การหมุนเวียนของบุคลากรระหว่างผู้กำกับดูแลภาครัฐและบริษัทที่อยู่ใต้พวกเขา เกิดขึ้นเป็นปกติในช่วงเวลาที่โครงสร้างตลาดสื่อแบบที่มีผู้ให้บริการเพียงไม่กี่ราย (oligopoly) กำลังก่อตัวขึ้น

นอกจากนี้ สื่อขนาดใหญ่ยังต้องอาศัยรัฐบาลในแง่การสนับสนุนนโยบายทั่วไป บริษัทเอกชนทุกรายย่อมสนใจในประเด็นเรื่องภาษีธุรกิจ อัตราดอกเบี้ย นโยบายแรงงาน และการบังคับใช้หรือการไม่บังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดทางธุรกิจ. ทั้ง GE และ Westinghouse ต้องอาศัยมาตรการอุดหนุนของรัฐในการดำเนินธุรกิจพลังงานนิวเคลียร์และการวิจัยทางทหาร ตลอดจนสร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับธุรกิจของพวกเขาในต่างประเทศ

ส่วน Reader's Digest, Time, Newsweek, และสถานีโทรทัศน์ทั้งหลายก็ต้องอาศัยมาตรการสนับสนุนทางการทูต เพื่อเจาะตลาดวัฒนธรรมต่างแดนด้วยสินค้า คุณค่า และการตีความเหตุการณ์ต่างๆ ในโลกด้วยโลกทัศน์แบบอเมริกัน

บริษัทสื่อขนาดใหญ่ บริษัทโฆษณา และบริษัทข้ามชาติทั้งหลายมีผลประโยชน์ร่วมกันในการทำให้บรรยากาศการลงทุนของประเทศโลกที่สามดีสำหรับพวกเขา อีกทั้งความเกี่ยวพันและความสัมพันธ์ของพวกเขากับภาครัฐก็อนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน

กล่าวโดยสรุป บริษัทสื่อชั้นนำล้วนเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ถูกควบคุมโดยชนชั้นนำผู้มั่งคั่งหรือผู้บริหารที่อยู่ใต้อาณัติของเจ้าของหรืออำนาจเชิงพาณิชย์อื่นๆ พวกเขาเกี่ยวข้องกันใกล้ชิด และมีผลประโยชน์สำคัญร่วมกันกับบริษัทขนาดใหญ่รายอื่น ธนาคาร และรัฐบาล นี่เป็นฟิลเตอร์แรกที่ส่งผลต่อการตัดสินว่าอะไรจะได้ "เป็นข่าว" สู่สายตาสาธารณชน

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com