โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 17 Febuary 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๑๖๒ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๐ (January, 17,02.2007)
R

บิดาแห่งทุนนิยมเสรี ที่อยู่ชายขอบกว่าคุณคิด
อดัม สมิธ: นักคิดหัวก้าวหน้าและเป็นมิตรกับคนจน
สฤณี อาชวานันทกุล
นักวิชาการอิสระและนักแปลอิสระที่สนใจด้านเศรษฐศาสตร์

บทความวิชาการชิ้นนี้ นำมาจากเว็บไซต์ onopen.com เดิมชื่อ
Adam Smith บิดาแห่งทุนนิยมเสรี ที่อยู่ชายขอบกว่าคุณคิด - สฤณี อาชวานันทกุล
เป็นเรื่องการทบทวนทำความเข้าใจกันใหม่เกี่ยวกับชีวประวัติและผลงานของอดัม สมิธ

ซึ่ง ดูกาล์ด สจ๊วต (Dugald Stewart) คนเขียนชีวประวัติของสมิธคนแรก มีบทบาทสำคัญ
ในการวาดภาพสมิธให้คนคิดว่าเขาเป็นนักคิดแนวอนุรักษ์นิยม แต่ เอ็มมา รอธไชลด์(Emma Rothschild)เห็นว่า
คนสมัยใหม่เข้าใจสมิธผิดอย่างร้ายแรง คนทั่วไปคิดว่า สมิธเป็นพวกหัวอนุรักษ์
เป็นคนหยาบผู้สนับสนุนแนวคิดเศรษฐศาสตร์เสรีสุดขั้วอันปราศจากการแทรกแซงของรัฐ

ซึ่งเธอเห็นว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยยกหลักฐานขึ้นมาจำนวนมากเป็นเครื่องพิสูจน์
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๖๒
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๑ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++

Adam Smith บิดาแห่งทุนนิยมเสรี ที่อยู่ชายขอบกว่าคุณคิด
สฤณี อาชวานันทกุล

ในบรรดานักคิดที่มีอิทธิพลต่อแบบแผนการพัฒนาของโลกในรอบ 300 ปีที่ผ่านมา อดัม สมิธ (Adam Smith พ.ศ.2266-2333) เป็นนักเศรษฐศาสตร์รุ่นบุกเบิกที่ทั่วโลกยกย่องนับถือในฐานะ "บิดาแห่งทุนนิยมเสรี" (father of laissez-faire capitalism) แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อว่า เศรษฐกิจระบบตลาดเสรี (free-market economy) เป็นระบบเศรษฐกิจที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ และยิ่งรัฐแทรกแซงตลาดน้อยเท่าไหร่ ตลาดเสรีก็จะสามารถ "ดูแล" ตัวเองได้ดีขึ้นเท่านั้น

การอุปโลกน์ให้สมิธเป็นบิดาของแนวคิด "ขวาจัด" ที่กลายมาเป็นทุนนิยมกระแสหลักในปัจจุบันนั้น ทำให้เขาตกเป็นเป้าการโจมตีของผู้สนับสนุนระบบเศรษฐกิจอื่นๆ โดยเฉพาะนักคิด "ฝ่ายซ้าย" เช่น คาร์ล มาร์กซ์ ตลอดจนผู้ด้อยโอกาสหรือสูญเสียโอกาสในระบบทุนนิยมสุดขั้ว ที่กล่าวหาว่าสมิธเป็นนักคิด "โลภมาก" ที่สนับสนุนให้คนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวถ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และดูแคลนบทบาทของรัฐในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่

แต่จริงๆ แล้ว ผู้ที่โจมตีสมิธส่วนใหญ่ ล้วนโจมตีแบบ "โหนกระแส" โดยไม่เคยแม้แต่จะอ่านงานเขียนที่โด่งดังที่สุดของเขา นั่นคือ "ความมั่งคั่งของนานาประเทศ" (The Wealth of Nations ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2319) ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ สมิธเพียงแค่พยายาม "อธิบาย" ปรากฎการณ์และลักษณะของตลาดเสรี ว่าเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้อย่างไร ด้วยการสร้างจินตภาพที่เขาเรียกว่า "มือที่มองไม่เห็น" (invisible hand) ขึ้นมาอธิบายระบบตลาดเสรี

ถ้าเรามองให้ลึกลงไป "มือที่มองไม่เห็น" ของสมิธ อาจหมายถึงความยืดหยุ่นของระบบตลาด ในการปรับตัวให้เข้ากับภาวะวิกฤติต่างๆ โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐหรือองค์กรอื่นๆ (แม้ว่าสมิธเองจะไม่เคยเอ่ยความหมายนี้ออกมาตรงๆ) ยกตัวอย่างเช่น สมิธบอกว่า ถ้าเกิดภาวะสินค้าขาดแคลน ราคาสินค้านั้นๆ ในตลาดจะปรับตัวสูงขึ้น เป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น และให้ผู้บริโภคซื้อสินค้านั้นน้อยลง หลังจากนั้น การแข่งขันระหว่างผู้ผลิตและปริมาณสินค้าในตลาดที่สูงขึ้น จะค่อยๆ ลดราคาสินค้าจนถึงระดับที่เท่ากับต้นทุนการผลิตบวกกำไรอีกเล็กน้อย สมิธเรียกราคานี้ว่า "ราคาธรรมชาติ" (natural price)

สมิธเชื่อว่า แม้คนทั่วไปจะเห็นแก่ตัวและละโมบโลภมาก การแข่งขันในตลาดเสรีน่าจะส่งผลดีต่อสังคมส่วนรวมในที่สุด นักเศรษฐศาสตร์ตลาดเสรี (laissez-faire economists) ยุคศตวรรษที่สิบเก้า อุปโลกน์และยกระดับความเชื่อนี้เป็น "หลักการสากล" (universal principle) ซึ่งต่อมากลายเป็นรากฐานของวาทกรรมเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจวบจนทุกวันนี้

แต่ตัวสมิธเองอาจไม่ได้สนับสนุนระบบตลาดเสรีอย่างเต็มตัว และก็ไม่เคยกล่าวว่าเขาไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงของรัฐ ทั้งนี้ เพราะสมิธไม่เคยอ้างว่า ระบบตลาดเสรีสามารถ "แก้ไข" ปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ได้ทุกชนิด ยกตัวอย่างเช่น ในบทที่ 10 ของ Wealth of Nations เล่ม 1 สมิธแสดงความเห็นเกี่ยวกับการควบคุมของรัฐดังนี้:

"เมื่อไหร่ก็ตามที่ฝ่ายนิติบัญญัติพยายามกำกับควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างนายทุนและลูกจ้างของพวกเขา ที่ปรึกษาของฝ่ายนิติบัญญัติย่อมอยู่ข้างนายทุนเสมอ ดังนั้น เมื่อกฎเกณฑ์ของรัฐอยู่ข้างลูกจ้าง กฎเกณฑ์นั้นมักจะเป็นธรรมและเสมอภาค แต่บางครั้งเมื่อกฎเกณฑ์อยู่ข้างนายทุน มันก็ไม่เป็นเช่นนั้น"

ประโยคข้างต้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สมิธไม่เพียงแต่คำนึงถึงความเสียเปรียบของลูกจ้างเท่านั้น หากยังมองเห็นอันตรายจากการกุมอำนาจของนายทุนกระเป๋าหนักอีกด้วย

ถ้าสมิธเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนเป็นเพียง "สัตว์เศรษฐกิจ" ที่ทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอย่างเดียวแล้วละก็ ก็เท่ากับว่าเขาสนับสนุนแนวคิดทุนนิยมเสรี ที่เชื่อมั่นว่าความเห็นแก่ตัวของคนนำไปสู่ประโยชน์ส่วนรวม และไม่มีระบบอื่นใดที่ "ดีกว่า" นี้อีกแล้ว. แต่ในความเป็นจริง สมิธไม่ได้เชื่อเช่นนั้นเลยแม้แต่น้อย! ตรงกันข้าม สมิธเชื่อว่าการที่ความเห็นแก่ตัวของปัจเจกชน นำไปสู่ประโยชน์ส่วนรวมนั้น เป็นเพราะทุกคนมีคุณธรรมและศีลธรรมเป็นเครื่องกำกับการกระทำ นอกเหนือไปจากแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ. พูดอีกนัยหนึ่งคือ ระบบตลาดเสรีทำงานได้ดี ("ดี" ในแง่สังคมได้ประโยชน์) เพราะคนไม่ได้เป็นแค่ "สัตว์เศรษฐกิจ" เท่านั้น หากเป็น "คนดี" ด้วย

แนวคิดนี้ไม่ได้ปรากฎอยู่ใน The Wealth of Nations หากอยู่ในงานเขียนของสมิธอีกเล่มหนึ่ง ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า The Wealth of Nations แต่มีคนอ่านน้อยกว่าหลายร้อยเท่าหนังสือเล่มนั้นชื่อ "ทฤษฎีว่าด้วยหิริโอตตัปปะ" (The Theory of Moral Sentiments) ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2302 หรือก่อน Wealth of Nations ถึง 17 ปี นับเป็นงานเขียนชิ้นแรกๆ ของสมิธ

แนวคิดด้านศีลธรรมของสมิธที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ และสาเหตุที่คนเข้าใจเขาผิด ได้รับการตีแผ่และวิเคราะห์อย่างละเอียดในหนังสือชื่อ "อารมณ์ทางเศรษฐกิจ: อดัม สมิธ คอนดอร์เซ็ท และยุคแสงสว่าง" (Economic Sentiments: Adam Smith, Condorcet, and the Enlightenment) โดย เอ็มมา รอธไชลด์ (Emma Rothschild) นักประวัติศาสตร์เศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริจ ซึ่งได้รับการวิจารณ์อย่างเข้มข้นไม่แพ้กัน โดยนักวิจารณ์ชื่อ ปีเตอร์ เบอร์โกวิตซ์ (Peter Berkowitz) ดังจะคัดมาบางตอนดังต่อไปนี้:
…..
ในความเห็นของรอธไชลด์ คนสมัยใหม่เข้าใจสมิธผิดอย่างร้ายแรง คนทั่วไปคิดว่า สมิธเป็นพวกหัวอนุรักษ์นิยม คนหยาบผู้สนับสนุนแนวคิดเศรษฐศาสตร์เสรีสุดขั้วอันปราศจากการแทรกแซงของรัฐ (laissez-faire economics) พวกเขาเรียกสมิธว่า "ศัตรูของผู้ยากไร้อันเลือดเย็น" "คนบ้าศาสนาทุนนิยมสุดขั้วผู้ไร้ความปรานี" และมองผลงานที่ลือชื่อที่สุดของสมิธ คือ The Wealth of Nations ว่าเป็น "บทวิจารณ์รัฐอันรุนแรง" แต่รอธไชลด์กลับมองว่า จริงๆ แล้วไม่มีอะไรหยาบหรือไร้ความปรานีในแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ของสมิธ หรือแม้แต่ในโลกที่กว้างกว่า คือระบบปรัชญาของ "ยุคแสงสว่าง" (Enlightenment - เกิดขึ้นในทวีปยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18) ซึ่งเป็นบริบทในการทำงานของเขา

รอธไชลด์เสนอว่า ตัวตนของ "สมิธที่แท้จริง" นั้น เป็นทั้งนักเศรษฐศาสตร์และนักศีลธรรม (moralist) ผู้อธิบายว่าคุณความดีต่างๆ (virtue) มีที่มาจากอารมณ์ต่างๆ (passion) ของมนุษย์อย่างไร ในผลงานดีเด่นเรื่อง The Theory of Moral Sentiments หนังสือเล่มนี้เสนอว่า สมิธค้นพบรากฐานสำหรับการตัดสินใจด้านศีลธรรมของมนุษย์ ในสิ่งที่เขาเรียกว่า "ความเห็นใจโดยธรรมชาติ" ที่เรามีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และในศักยภาพอันสร้างสรรค์ (imaginative capacity) ที่ทำให้เราสามารถ "ทำตัวเป็นคนกลาง" ที่สามารถมองสถานการณ์จากมุมมองของคนอื่นได้

สมิธที่แท้จริงเป็นนักคิดหัวก้าวหน้า (progressive) ที่เป็นมิตรกับคนจน เพราะเขามองว่าการขจัดความยากจนเป็นหนึ่งในหน้าที่หลักของรัฐบาล สมิธที่แท้จริงเป็นนักคิดที่ลึกซึ้ง ที่มองเห็นความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างความรู้สึก และการกระทำของมนุษย์ และมองว่าขอบเขตวงการต่างๆ ที่ตีกรอบชีวิตของปัญญาชนในสมัยนั้น เป็นเรื่องแปลก เพราะเขาเข้าใจว่ามิติต่างๆ ของพฤติกรรมมนุษย์ - เศรษฐศาสตร์ ศีลธรรม การเมือง ศาสนา - เกี่ยวพันและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน สมิธที่แท้จริงเป็นนักปรัชญาผู้กล้าหาญ ที่เชื่อมั่นว่าสังคมพาณิชย์ที่เสรีจะช่วยส่งเสริมอุดมคติแห่ง "จิตอันมั่นคงไม่หวาดกลัว" (unfrightened mind) สมิธพัฒนาทฤษฎีของเขาเกี่ยวกับธรรมชาติและพฤติกรรมของมนุษย์ขึ้นมาเอง โดยไม่อาศัยความเชื่อทางศาสนา หรือมาตรฐานคงที่ใดๆ เกี่ยวกับความสมบูรณ์แบบของมนุษย์

รอธไชลด์ตั้งข้อสังเกตว่า ตอนที่สมิธล่วงลับไปเมือปี พ.ศ. 2333 นั้น เขามีชื่อเสียงไม่แต่เฉพาะในฐานะนักทฤษฎีตลาดเสรีผู้ยิ่งยงเท่านั้น หากสังคมยังรู้จักเขาในนามนักคิดผู้กังขา และคนชายขอบที่เป็นมิตรกับค่ายปรัชญาฝรั่งเศส และ (ตรงนี้รอธไชลด์ดูจะตีความหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกินเลยไปมาก) การปฎิวัติฝรั่งเศสด้วย แต่ชื่อเสียงแบบนี้ของสมิธดำรงอยู่ไม่นาน

รอธไชลด์เชื่อว่า ดูกาล์ด สจ๊วต (Dugald Stewart) คนเขียนชีวประวัติของสมิธคนแรก มีบทบาทสำคัญในการวาดภาพสมิธให้คนคิดว่าเขาเป็นนักคิดแนวอนุรักษ์นิยม ในหนังสือเรื่อง "ชีวิตและงานเขียนของอดัม สมิธ" (Account of the Life and Writings of Adam Smith) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2336 สจ๊วตอ้างว่า The Wealth of Nations เต็มไปด้วยความนับถือที่สมิธมีต่อสถาบันต่างๆ และกล่าวว่าสมิธสร้างวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจการเมืองในหนังสือเล่มนี้ ด้วยการแยกแยะเสรีภาพด้านพาณิชย์ (commercial freedom) ซึ่งมีจุดประสงค์ที่จะสนับสนุนความมั่งคั่ง ออกจากเสรีภาพด้านการเมือง (political freedom) ซึ่งมีจุดประสงค์ที่จะสร้างโอกาสให้เปลี่ยนแปลงกฎหมายได้ ในวิสัยทัศน์ของสมิธ เสรีภาพทั้งสองแบบเป็นองค์ประกอบที่สังคมขาดไม่ได้

รอธไชลด์แย้งว่า "คำอธิบายของสจ๊วตเกี่ยวกับคุณค่าของเสรีภาพนั้น แทบไม่ตรงกันเลยกับสิ่งที่สมิธเขียน" นอกจากนั้น เธอบอกว่าความเข้าใจผิดของสจ๊วตก็ไม่ได้เกิดขึ้นโดยพลการด้วย เพราะมัน "สะท้อนให้เห็นการอภิปรายสาธารณะอันเผ็ดร้อนในสมัยนั้น ที่เกิดขึ้นในกรุงเอดินเบรอห์ ปารีส และลอนดอน เกี่ยวกับความหมายของ 'เสรีภาพ' (freedom) และ 'อิสรภาพ' (liberty)" แต่รอธไชลด์เองก็อาจมองข้ามความเป็นไปได้ว่า สมิธอาจมองเสรีภาพทั้งสองแบบนี้ว่า เป็นทั้งเครื่องมือ (means) และจุดหมาย (end) ในเวลาเดียวกัน

สาเหตุที่คนเข้าใจอดัม สมิธผิด
ในมุมมองของรอธไชลด์ การถกเถียงเรื่องนโยบายรัฐ ที่เกิดในช่วงทศวรรษหลังจากความตายของสมิธ ทำให้ความเห็นด้านการเมืองของเขาไม่ชัดเจนยิ่งขึ้น ในช่วงวิกฤติอาหารขาดแคลนที่เกิดขึ้นในอังกฤษระหว่างปี พ.ศ.2330-2340 นั้น ชื่อของสมิธถูกยกขึ้นมาอ้างโดยทั้งสองฝ่ายในรัฐสภา ที่กำลังถกกันว่ารัฐควรควบคุมการจ่ายเงินค่าจ้าง ด้วยการออกกฎหมายเรื่องค่าแรงขั้นต่ำหรือไม่ ทั้งสองข้างกล่าวอ้างข้อเขียนของสมิธ แต่ในขณะที่ภาพของ "สมิธผู้ต่อต้านการควบคุมของรัฐ" กลายเป็นภาพของเขาที่ติดตาติดใจชาวอังกฤษ ภาพของ "สมิธผู้สนับสนุนการแทรกแซงของรัฐในเศรษฐกิจเพื่อคุ้มครองผู้ยากไร้" คือภาพที่ "ใกล้เคียงกับตัวตนที่แท้จริงของสมิธ และใกล้เคียงกับแนวคิดใน The Wealth of Nations มากกว่า" ในความเห็นของรอธไชลด์

รอธไชลด์มองว่า สไตล์การเขียนของสมิธ เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เรามองแนวคิดด้านการเมืองของเขาออกยาก เพราะ "ส่วนใหญ่สมิธเขียนหนังสือแบบละเอียดรอบคอบ" ทำให้เขาดูเป็นอนุรักษ์นิยมมากกว่าตัวจริง สมิธกลัวว่าคำวิจารณ์ศาสนาอันรุนแรงของเขา จะเป็นเหตุให้คริสตจักรกล่าวหาเขาว่านอกรีต ทำให้สมิธ "ใช้ความพยายามอย่างมากในการอำพรางความคิดเห็นของเขา ให้ฟังดูกำกวมคลุมเครือ" มากกว่าที่ควรจะเป็น

รอธไชลด์บอกว่า ความเข้าใจผิดที่เกี่ยวกับสมิธ ส่วนหนึ่งมาจากจุดยืนของเขาในประเด็นโต้เถียงอันยิ่งใหญ่ในศตวรรษที่สิบแปด เรื่อง"การค้าเสรีข้าวโพด" (free trade in corn) สมิธยืนกรานว่ารัฐควรสนับสนุนการค้าเสรีในสินค้าเกษตรชนิดนี้ ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้คนส่วนใหญ่ตีความว่า เป็นจุดยืนที่แสดงการต่อต้านการแทรกแซงของรัฐในเศรษฐกิจ อย่างไม่มีข้อแม้ แต่ข้อถกเถียงของสมิธในประเด็นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากสมมติฐานว่า เสรีภาพจากการควบคุมของรัฐเป็น เครื่องมือ (ซึ่งแย้งกับสิ่งที่เธอพูดในบทวิพากษ์ดูกาล์ด): เสรีภาพ[ในแง่ของกลไกตลาดเสรี]จะช่วยปกป้องประเทศจากภาวะอาหารขาดแคลน (scarcity) และภาวะข้าวยากหมากแพง (famine) ในขณะที่กฎเกณฑ์ของรัฐอาจทำให้วิกฤติทั้งสองแบบเกิดได้ง่ายขึ้น

รอธไชลด์พยายามชี้ให้เห็นว่า เราไม่ควรด่วนสรุปจากเหตุการณ์นี้ว่าสมิธสนับสนุนตลาดเสรีสุดขั้ว โดยยกตัวอย่างว่า เทอร์โกต์ (Turgot) และคอนดอร์เซ็ท (Condorcet) ก็ถกเถียงด้วยความเชื่อมั่นอันแรงกล้าไม่แพ้สมิธเหมือนกัน ว่ารัฐไม่ควรควบคุมหรือแทรกแซงการค้าข้าวโพด แต่ในขณะเดียวกันก็ทำการศึกษาวิเคราะห์สภาวะแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริง แล้วก็สรุปว่า ในกรณีที่เกิดภาวะอาหารขาดแคลน มาตรการแทรกแซงจากภาครัฐ - ในรูปของการจ้างงาน การนำเข้าอาหาร และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษี - เป็น "ความชั่วร้ายที่จำเป็น" (necessary evil) เพื่อป้องกันมิให้ปัญหานั้นลุกลามบานปลายเป็นวิกฤติข้าวยากหมากแพงในที่สุด

ดังนั้น เนื่องจากในข้อเขียนหลายชิ้นและในโอกาสอื่นๆ สมิธสนับสนุนการแทรกแซงของภาครัฐในเศรษฐกิจเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนจน รวมทั้งการควบคุมการจ้างงาน ที่ดิน และสาธารณูปโภค เราจึงมีเหตุผลที่จะคิดว่า ถ้าสมิธล่วงรู้ข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการค้าข้าวโพด หลักการของเขาคงจะชักนำให้เขาสนับสนุนทั้งการค้าเสรี และนโยบายรัฐที่ออกแบบมาต่อกรกับวิกฤติอาหารขาดแคลน ที่เกี่ยวโยงกับการค้าข้าวโพด ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ในสมัยนั้น เช่นเดียวกับเทอร์โกต์และคอนดอร์เซ็ท เพื่อนร่วมอุดมการณ์ของสมิธ

เจตนารมณ์ของสมิธที่เชื่อมั่นในความเสมอภาค และมนุษยธรรม ยังสะท้อนให้เราเห็นใน "บทวิพากษ์อันไม่ลดละ" (unrelenting criticism) ของเขาเกี่ยวกับธรรมเนียมลูกมือ [apprenticeship - คือระบบการฝึกและจ้างงานในอังกฤษ โดยลูกมือยอมรับค่าจ้างต่ำๆ แลกกับที่พักอาศัยและทักษะในการประกอบอาชีพ] ซึ่งสมิธไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าเป็นธรรมเนียมที่ไร้ประสิทธิภาพ และไม่ยุติธรรม

รอธไชลด์ชี้ว่า สมิธต่อต้านธรรมเนียมนี้ ซึ่งในยุคนั้นเป็นธรรมเนียมของคนจน "เพราะเขาต่อต้านการกดขี่และความไม่ยุติธรรม มากพอๆ กับ หรืออาจจะมากกว่า ความไร้ประสิทธิภาพ" ธรรมเนียมลูกมือของอังกฤษไม่เพียงแต่กีดกันการแข่งขันเท่านั้น แต่ยังจำกัดเสรีภาพของเหล่าลูกมือ ซึ่งถูกบังคับด้วยตำแหน่งของพวกเขาอย่างไม่เป็นธรรม ตลอดจนล่วงล้ำเสรีภาพของคนที่ไม่ได้เป็นลูกมือ ด้วยการกีดกันพวกเขาออกจากตำแหน่งเหล่านั้น ธรรมเนียมนี้ยังถูกควบคุมโดยกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มคนรวย และกลุ่มผู้มีอำนาจ
แม้การถกเถียงเรื่องระบบลูกมือในอังกฤษช่วงต้นศตวรรษที่สิบเก้าจะตรงกับข้อกังวลของสมิธหลายประเด็น รอธไชลด์ตั้งข้อสังเกตว่า การถกเถียงเหล่านั้นไม่พูดถึงข้อกังวลหลักของสมิธ เรื่องความปลอดภัยและเสรีภาพของปัจเจกชน. ในความเห็นของเธอนั้น จุดยืนของสมิธที่ต่อต้านธรรมเนียมลูกมืออย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ สะท้อนให้เห็นคุณธรรมในความคิดหลักของเขา:

"เป้าการประณามของสมิธ ไม่ใช่จำกัดอยู่เพียงหน่วยงานราชการของรัฐบาลกลาง แต่ยังรวมถึงคณะสงฆ์, สหภาพ, บริษัท, สภาบันศาสนา, เทศบาล, และบริษัทที่ได้รับอภิสิทธิ์ หนึ่งในบทบาทของรัฐบาลกลางที่มีเงื่อนงำที่สุด คือการมอบอำนาจ หรือยืนยันอำนาจของสถาบันที่เป็น "ตัวกลาง" เหล่านี้ คำวิพากษ์สถาบันท้องถิ่น ซึ่งมีอำนาจซ่อนเร้นที่ไม่ได้เป็นทั้งของรัฐ หรือของเอกชนอย่างชัดเจน เป็นหัวใจของแนวคิดทางการเมืองของสมิธ และเป็นแก่นของคำวิพากษ์ระบบลูกมือของเขา"

การวิเคราะห์ของรอธไชลด์เสนอว่า เสรีภาพของปัจเจกชนนั้น เป็นเป้าหมายสูงสุดในความคิดของสมิธ และการจำกัดอำนาจรัฐเป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการบรรลุเป้าหมายนี้ แต่ในกรณีที่เสรีภาพของปัจเจกชนถูกคุกคามจากอันตรายใหม่ๆ สมิธก็คิดว่าการขยายบทบาทของรัฐ อาจจำเป็นต่อการคุ้มครองและส่งเสริมเสรีภาพส่วนบุคคล

ความเข้าใจผิดข้อใหญ่ที่สุด: เรื่อง "มือที่มองไม่เห็น"
รอธไชลด์บอกว่า ในศตวรรษนี้ ไม่น่าจะมีความเข้าใจผิดอะไรที่ขัดขวางไม่ให้เราชื่นชมมุมมองของสมิธ เท่ากับความเข้าใจผิดเกี่ยวกับแนวคิดที่คนโยงเข้ากับชื่อของเขาที่สุด และที่คนส่วนมากเชื่อว่าเป็นไอเดียของสมิธที่ทรงพลังและยืนยงที่สุด แน่นอน เรากำลังพูดถึงหลักการ "มือที่มองไม่เห็น" (invisible hand) อรรถาธิบายเกี่ยวกับหลักการนี้ที่มีชื่อเสียงที่สุด ปรากฏในหนังสือ The Wealth of Nations เล่มที่ 4 บทที่ 2:

"[ปัจเจกชนทุกคนโดยปกติ]ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม หรือไม่ก็ไม่รู้ว่าพวกเขากำลังช่วยสังคมอยู่อย่างไร ...ในกรณีนี้ ซึ่งเหมือนกรณีอื่นๆ อีกมากมาย ปัจเจกชนถูกชักนำโดยมือที่มองไม่เห็น ให้ทำประโยชน์ส่วนรวมที่เขาไม่ได้ตั้งใจ การที่สังคมไม่มีส่วนร่วม[ในการกระทำนั้น]ไม่ได้แปลว่าการกระทำดังกล่าวเป็นผลเสียต่อส่วนรวมเสมอไป ในการแสวงหาประโยชน์ส่วนตน บ่อยครั้งปัจเจกชนสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ส่วนรวมได้อย่างมีประสิทธิผลกว่าตอนที่เขาตั้งใจสร้างประโยชน์ส่วนรวมนั้นๆ ผมไม่ค่อยเห็นกรณีที่พ่อค้าซึ่งอ้างตัวว่าค้าขายเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ตั้งใจทำให้เกิดประโยชน์นั้นจริงๆ..."

รอธไชลด์ใช้วิธีค้นคว้าอันน่าทึ่งเปรียบเสมือนนักสืบทางปัญญา ในความพยายามที่จะพิสูจน์ว่า "มือที่มองไม่เห็น" ซึ่งสมิธเรียกด้วยชื่อนี้เพียงสามครั้งในข้อเขียนทั้งหมดของเขา (ในย่อหน้าข้างต้น ใน "ประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์" (History of Astronomy) และใน The Theory of Moral Sentiments) นั้น จริงๆ แล้วเป็นเพียง "เรื่องตลกแกมเหน็บแนม" เท่านั้น อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดแล้วรอธไชลด์ก็สรุปว่า หลักฐานทางอ้อมที่เธอพบนั้น ไม่ได้ลิดรอนความน่าเชื่อถือของไอเดียที่คนส่วนใหญ่เชื่อมโยงเข้ากับประโยค "มือที่มองไม่เห็น" : การกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน มักก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมในระดับที่สูงกว่าที่สังคมได้จากความเมตตากรุณา หรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ของรัฐ ซึ่งเป็นความคิดที่เป็นสาระสำคัญ และแผ่ซ่านอยู่ในปรัชญาโดยรวมของสมิธ

จริงๆ แล้วแนวคิดเรื่อง "มือที่มองไม่เห็น" น่าจะทำให้ปัจเจกชนดีใจ เพราะแปลว่ามนุษย์ทุกคนเป็นผู้ตัดสินผลประโยชน์ของตัวเองที่ดีที่สุด ดังที่สมิธกล่าวไว้ใน The Wealth of Nations: "คนทุกคนสามารถตัดสินใจทุกเรื่องเกี่ยวกับจุดมุ่งหมาย และสถานภาพของเขา ได้ดีกว่ารัฐบุรุษหรือนักกฎหมายใดๆ"

ตัวตนที่แท้จริงของ อดัม สมิธ
อดัม สมิธ ที่เผยโฉมให้เราเห็นจากงานวิชาการของรอธไชลด์นั้น คือนักคิดที่เข้าใจธรรมชาติของพฤติกรรมมนุษย์ได้อย่างค่อนข้างครบถ้วนและสมบูรณ์แบบ สมิธเป็นนักคิดนำสมัยที่น่าจะอยู่ในยุคเราได้อย่างสบาย เพราะสมิธไม่ได้เป็นเพียงนักคิดหัวก้าวหน้าที่เชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ และเชื่อว่ารัฐบาลมีหน้าที่ส่งเสริมให้ผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาส ได้มีเสรีภาพส่วนบุคคล

เขายังเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ผู้คิดว่าการอภิปรายสาธารณะที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ศีลธรรม และการเมืองนั้น คือเป้าหมายสูงสุดของการเมือง ปัจเจกชนทุกคนได้รับการเตรียมพร้อมที่จะดำรงชีวิตแบบนี้ จากการพยายามเข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติเมื่อเราเดินทาง เจรจา และแลกเปลี่ยนสินค้า - กิจกรรมที่ล้วนเป็นหัวใจของชีวิต "สัตว์เศรษฐกิจ" อย่างมนุษย์

นอกจากนั้น สมิธยังต่อต้านความเชื่อในพรหมลิขิตหรือโชคชะตา เขาย้ำบ่อยครั้งใน The Theory of Moral Sentiments ว่า เราเกิดมาในโลกที่ "ไร้ซึ่งบิดา" (a fatherless world) คือโลกที่ระเบียบของศีลธรรมและสังคมการเมืองเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ ไม่ใช่อิทธิฤทธิ์ของพระเจ้า ชะตากรรมของเราทุกคนคือ การต้องดำรงอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอน และความไม่แน่ใจ โดยสรุปแล้ว อดัม สมิธในมุมมองของรอธไชลด์ คือนักคิดที่มีความเชื่อตรงกับแนวคิดเสรีนิยม (liberalism) ในโลกวิชาการปัจจุบัน

ความรู้อันลึกซึ้งของรอธไชลด์ด้านประวัติศาสตร์ปัญญาชนสมัยคริสตศตวรรษที่สิบแปด ทำให้เธอสามารถช่วยเราสืบค้นมิติต่างๆ และความสำคัญของระบบความคิดของสมิธ ที่ยั่งยืนยาวนาน ตลอดจนช่วยชี้ให้เห็นเจตนารมณ์ดั้งเดิมทางศีลธรรมและการเมือง ของยุคแสงสว่าง ทั้งด้านที่น่ายกย่องและด้านที่น่ากังขา อย่างไรก็ดี ในความพยายามที่จะชิงตัวสมิธคืนมาจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม เพื่อใช้เขาเป็นแนวร่วมของเธอในการต่อสู้ทางปัญญาปัจจุบัน บางครั้งรอธไชลด์ก็ต้องเผชิญความเสี่ยงที่จะปิดบังบางแง่มุมของสมิธ และอิทธิพลที่ยุคแสงสว่างมีต่อความคิดเขา

ยกตัวอย่างเช่น รอธไชลด์ตอกย้ำข้อเรียกร้องของสมิธ ที่ต้องการเห็นทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน แต่เธอก็ละเลยที่จะพูดถึงข้ออ้างของเขาว่า เขาต้องการเห็นการศึกษาแบบนี้เพราะอยากให้คนจนได้รับการสั่งสอนให้เคารพผู้ที่อยู่เหนือกว่า และเสริมสร้างความมั่นคงทางการเมือง และแม้ว่ารอธไชลด์จะชี้ให้เห็นคุณธรรมที่สมิธมองว่า นำไปสู่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจ เธอกลับมองข้ามบทวิเคราะห์ของเขาใน The Theory of Moral Sentiments ที่สงวนคำชื่นชมที่สูงกว่า ไว้สำหรับคนที่ทำงานด้านการเมือง การทหาร ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการ และบอกว่ารัฐที่ "ดี" จำต้องพึ่งพาอาศัยคนเหล่านี้

ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน (self-interest) เป็นหนึ่งในเหตุผลพื้นฐานที่อธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ ส่วนขนบธรรมเนียม เหตุผล และอารมณ์ "สอน" ให้ความต้องการนี้อยู่ในขอบเขตของศีลธรรม และนับถือข้อจำกัดต่างๆ, แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ "ปลดปล่อย" ความต้องการนี้ สนับสนุนให้มันเรียกร้องดังขึ้น และกล้าแสดงออกมากขึ้น. สมิธยืนยันว่า นี่เป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ด้วยประโยคอมตะใน The Wealth of Nations ซึ่งเป็นประโยคที่คนอ้างอิงจากหนังสือเล่มนี้มากที่สุด:

"เราไม่ได้คาดหวังข้าวเย็นจากความการุณย์ของคนแล่เนื้อ คนบ่มเหล้า หรือคนทำขนมปัง แต่จากความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนของพวกเขา เราไม่ได้สื่อสารกับมนุษยธรรมของพวกเขา แต่กับความรักตัวเอง และไม่เคยลำเลิกความจำเป็นส่วนตัวของเราในการพูดกับพวกเขา หากอาศัยความได้เปรียบของพวกเขาเองในการค้าขายกับเรา"

ในการอ้างถึงความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนของผู้นำในโลกพาณิชย์นั้น สมิธมองเห็นแรงดลใจที่ส่งอิทธิพลต่อพฤติกรรมมนุษย์อีกประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่า "มนุษยธรรม" ใน The Theory of Moral Sentiments เขาวิเคราะห์แรงดลใจเหล่านี้ในแง่ของความการุณย์ และอธิบายเหตุผลที่ทำให้เขาเชื่อว่า แรงดลใจเหล่านี้ควรเป็นพื้นฐานการกระทำต่างๆ ของมนุษย์ ในโลกอื่นนอกเหนือจากพื้นที่ทางการค้า

แต่อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อสปิริตของการพาณิชย์พบกับสปิริตของประชาธิปไตย และหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว? เป็นเรื่องน่าเสียดายที่รอธไชลด์ไม่พูดถึงประเด็นนี้ แม้ว่าเธอจะพยายามชี้ให้เห็นว่า สมิธที่แท้นั้นสนับสนุนสปิริตของประชาธิปไตย ทำให้เธอไม่สามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุดที่เธอตั้งไว้สำหรับตัวเอง นั่นคือการตอบคำถามว่า สมิธสอนอะไรเราบ้าง เกี่ยวกับความท้าทายต่างๆ ที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน การที่เราจะเข้าใจบทเรียนของสมิธ

เราต้องเข้าใจก่อนว่า สปิริตของประชาธิปไตยนั้น เปลี่ยนแปลงชีวิตสังคมด้วยการเปิดประตูแห่งโอกาสทางเศรษฐกิจ ให้กับหญิงชายทุกชนชั้น และเราต้องมองเห็นด้วยว่า สปิริตของประชาธิปไตยนั้นอนุญาตให้สปิริตของการพาณิชย์ แทรกซึมเข้าไปในพื้นที่ซึ่งมันเคยถูกกีดกัน และยอมให้สปิริตของการพาณิชย์เบียดบังแรงดลใจอื่นๆ ออกไป ขยายพื้นที่ให้ว่างพอสำหรับการคิดคำนวณประโยชน์ส่วนตน อย่างเปล่าเปลือย ชาชิน และไร้ความรู้สึก

นิสัยต่างๆ และคำศัพท์ที่เราใช้ เป็นพยานหลักฐานสำคัญของการหลอมรวมโลกทั้งสองใบนี้ เราสร้างเครือข่ายที่กลมกลืนระหว่างเพื่อนและคนรัก และคนรู้จักทางธุรกิจที่เราซื้อขาย ติดต่อ และ "สร้างเครือข่ายคนรู้จัก" ลองพิจารณาประเด็นการออกเดท ซึ่งเป็นประเด็นที่วัฒนธรรมของเราไม่เคยเบื่อ การออกเดท (แบบที่เห็นภาพยนตร์ รายการทีวี และนิยายต่างๆ) เปรียบเสมือนการให้โอกาสคน "ช็อปปิ้ง" เพื่อหาคนที่ถูกใจที่สุดมาเป็นคู่ชีวิต แต่กว่าจะถึงเวลานั้น เราเลิกกับแฟนคนแล้วคนเล่าอย่างง่ายดายเหมือนนักค้าหุ้นที่ขายหุ้นขาลงทิ้ง ในที่สุดเราหวังว่าจะปิดการเจรจา และหาคู่ชีวิตได้สำเร็จ แต่การที่เราเป็นผู้บริโภคที่จู้จี้ในตลาดโรแมนซ์ ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะหยุดมองหาโมเดลใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิม สัญชาติญาณของพ่อค้าฝังรากลึกลงในแง่มุมที่เป็นส่วนตัวที่สุดในชีวิตเรา เว้นเสียแต่ว่าเราจะพยายามต่อต้านมันอย่างแข็งขัน

จริงๆ แล้ว ทั้งมิตรภาพและความรัก สะท้อนอิทธิพลของทั้งประโยชน์ส่วนตน และความจำเป็นทางเศรษฐกิจเสมอมา อริสโตเติล นักปรัชญาชาวกรีก แยกแยะระหว่างมิตรภาพที่แท้ ซึ่งตั้งอยู่บนความเข้าใจตรงกันเรื่องความดี และมิตรภาพฉาบฉวยที่ให้เพียงประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความเพลิดเพลิน ส่วนการแต่งงานนั้นก็มีองค์ประกอบทางเศรษฐกิจเป็นมิติหนึ่งอยู่ตั้งแต่อดีต เช่น เราคำนวณสินสอดทองหมั้น และวิเคราะห์ความมั่นคงด้านการเงินของเจ้าบ่าว ในการประเมินความสามารถรับผิดชอบพันธะทางกฎหมายที่เกิดขึ้นเมื่อหญิงชายแต่งงานกัน แต่การหลอมรวมสปิริตของการพาณิชย์ให้เข้ากับสปิริตของประชาธิปไตยนั้น ทลายกำแพงที่กั้นขวางระหว่างประโยชน์ส่วนตน และประโยชน์พาณิชย์โดยทั่วไป

เราสามารถสังเกตการรุกคืบของ "อารมณ์ทางเศรษฐศาสตร์" ในยุคสมัยของเรา ได้จากการเติบโตของปรากฏการณ์ที่เดวิด บรุ๊กส์ (David Brooks) เรียกว่า "ทายาทองค์กร" (the organization kid) คนเหล่านี้เป็นทาสของกิจวัตร เหมือนสิ่งที่คำว่า "องค์กร" สื่อ พวกเขาเป็นนักเรียนเรียนเก่งที่เข้าโรงเรียนที่ดีที่สุด ถูกผู้ปกครองเลี้ยงดูมาอย่างไม่ให้คลาดสายตา และเดินหมากเกมชีวิตถูกต้องทุกตาก่อนที่พวกเขาจะจำความได้ พวกเขาเป็นคนเรียนเก่ง ทำกิจกรรมนอกเวลาทั้งหลายได้ยอดเยี่ยม และไม่เคยเป็นเด็กมีปัญหา ในมหาวิทยาลัย พวกเขาใช้ชีวิตตามตารางเวลารายวันอันเคร่งครัด แต่ก็รู้จักระบายความเครียดเป็นครั้งคราว พวกเขาไม่ใช้ยาเสพติด ไม่ดื่มจัด และหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์แบบโรแมนติกที่ยืดเยื้อ

อันตรายร้ายแรงที่สุดของการบูชาเงินในยุคของเรา คือความเสี่ยงที่เราจะหลงลืมไปว่า เป้าหมายของการเคลื่อนไหวในยุคเสรีภาพเบ่งบานเมื่อ 40 ปีที่แล้วนั้น คือการต่อต้านความเห็นแก่เงิน ไม่ใช่การต่อต้านความรัก.

สรุป
The Theory of Moral Sentiments และหนังสืออันยอดเยี่ยมของรอธไชลด์ ช่วยชี้ให้เราเห็นว่า สมิธไม่ได้เป็นนักปรัชญาใจแคบ ที่เชื่อว่าความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ เป็นกลไกที่สำคัญเพียงอย่างเดียวที่ผลักดันให้ระบบตลาดเสรี สามารถเอื้อประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมได้ แต่เขาเป็นนักคิดผู้เปี่ยมคุณธรรม ที่เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ในการมีหิริโอตตัปปะ ดังสะท้อนในย่อหน้าต่อไปนี้จาก The Theory of Moral Sentiments:

"แม้เราจะคิดว่า มนุษย์โดยธรรมชาตินั้นเห็นแก่ตัวเพียงใดก็ตาม มีอะไรบางอย่างในสันดานมนุษย์ทุกคน ที่กระตุ้นให้เราสนใจต่อความเป็นอยู่ของผู้อื่น และทำให้ความสุขของผู้อื่นนั้น เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเรา แม้เราจะไม่ได้อะไรเลย ยกเว้นความสุขใจที่ได้เห็นคนอื่นมีความสุข หนึ่งในสันดานแบบนี้คือ ความสงสาร (pity) และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (compassion) ซึ่งเรารู้สึกเมื่อเห็นผู้อื่นเป็นทุกข์ หรือได้ยินว่าผู้อื่นเป็นทุกข์ อารมณ์เศร้าของเราที่เกิดจากความเศร้าของผู้อื่นนั้น เป็นสัจธรรมที่ชัดแจ้งเกินกว่าที่จะต้องใช้ข้อพิสูจน์ใดๆ อารมณ์นี้ก็เหมือนกับอารมณ์ดั้งเดิมอื่นๆ ของมนุษยชาติ ตรงที่ไม่ได้เป็นอารมณ์ของ "คนดี" หรือ "คนมีคุณธรรม" เท่านั้น แม้ว่าคนดีอาจรับรู้อารมณ์นี้ได้อย่างลึกซึ้งที่สุดก็ตาม แต่แม้กระทั่งคนเลวหรือคนโฉดที่ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ต่างๆ ของสังคมอย่างซ้ำซ้อน ก็ยังหนีไม่พ้นความรู้สึกนี้"

อดัม สมิธ ไม่ได้เป็นนักคิดที่ "ดีแต่พูด" เท่านั้น ก่อนตาย เขายกเงินเก็บเกือบทั้งหมดให้กับองค์กรการกุศล สำหรับสมิธ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ไม่ได้เป็นคุณสมบัติที่ขัดแย้งกันในตัวปัจเจกชน หากเป็นคุณสมบัติที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน: การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไปข้างหน้า ในขณะที่ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยทำให้ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจนั้น เป็นธรรมและมีมนุษยธรรมมากขึ้น

แม้กระทั่งบิดาของทุนเสรีนิยมสุดขั้วยังโฆษณาว่า คุณความดีและหิริโอตตัปปะเป็นสององค์ประกอบที่สำคัญในชีวิตของ "สัตว์เศรษฐกิจ" สมัยใหม่ ฉะนั้น ในโลกแห่งวัตถุนิยมปัจจุบันที่คนกำลังค้นพบว่าเงินอย่างเดียวไม่สามารถการันตีความสุขได้นั้น จึงน่าจะถึงเวลาที่เราจะกลับมาทบทวนกันอย่างถี่ถ้วน ว่าจริงๆ แล้ว อดัม สมิธ ต้องการบอกอะไรกับเรา และลองหันมาวิเคราะห์ว่า ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมานั้น เราดูถูกและละเลยศาสนาและปรัชญาต่างๆ ที่เน้นเรื่องความสุขทางจิตวิญญาณมากกว่าความมั่งคั่งทางวัตถุ มากเกินไปหรือเปล่า

เพราะความเข้าใจผิดของสังคมสมัยใหม่ที่มีต่ออดัม สมิธ กำลังสะท้อนให้เราเห็นอิทธิพลอันน่ากลัวของลัทธิทุนนิยมเสรีสุดขั้ว ที่เข้ามาครอบงำพื้นที่ทางปัญญาอย่างไร้คู่แข่งในโลกปัจจุบัน ภาพของสมิธที่เรารับรู้ คือภาพที่ฉายโดยฝั่ง "ผู้ชนะ" ในสงครามความคิดทางเศรษฐศาสตร์ คือกลุ่มคนที่เชื่อมั่นในประสิทธิภาพของระบบตลาดเสรี มากเสียจนละเลยมิติทางคุณธรรมและศีลธรรม ซึ่งสมิธเชื่อว่า เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ระบบทุนนิยม สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างเป็นธรรม อ่อนโยน และนำไปสู่สังคมที่เป็นสุข

++++++++++++++++++++++++++++++++++

นำมาจากเว็บไซต์ onopen
จาก: C:\Documents and Settings\winxp\Desktop\New Folder (3)\onopen_com - โอเพ่นออนไลน์ ? Adam Smith บิดาแห่งทุนนิยมเสรี ที่อยู่ชายขอบกว่าคุณคิด.htm

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

จริงๆ แล้วแนวคิดเรื่อง "มือที่มองไม่เห็น" น่าจะทำให้ปัจเจกชนดีใจ เพราะแปลว่ามนุษย์ทุกคนเป็นผู้ตัดสินผลประโยชน์ของตัวเองที่ดีที่สุด ดังที่สมิธกล่าวไว้ใน The Wealth of Nations: "คนทุกคนสามารถตัดสินใจทุกเรื่องเกี่ยวกับจุดมุ่งหมาย และสถานภาพของเขา ได้ดีกว่ารัฐบุรุษหรือนักกฎหมายใดๆ" อดัม สมิธ คือนักคิดที่เข้าใจธรรมชาติของพฤติกรรมมนุษย์ได้อย่างค่อนข้างครบถ้วนและสมบูรณ์แบบ สมิธเป็นนักคิดนำสมัยที่น่าจะอยู่ในยุคเราได้อย่างสบาย เพราะสมิธเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ (ตัดทอนมาจากบทความ)

17-02-2550

Economics
The Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com