โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update 12 Jun 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๗๕ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๐ (June, 12, 06,.2007) - ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

หน่วยการวิเคราะห์ตามมิติเวลานี้ เชื่อมโยงไปถึงหน่วยการวิเคราะห์อื่นๆ ด้วย เช่น หน่วยการวิเคราะห์มิติพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องของการมองความเข้มข้นและแหลมคมในพื้นที่ที่ต่างกัน บ้างมองมิตินี้รวมกว้างไปถึงหมู่บ้านชนบทในภาคต่างๆ โดยเฉพาะภาคอีสาน ภาคเหนือ แต่บ้างอาจมองเฉพาะในกรุงเทพฯ หรือเฉพาะเจาะจงกว่านั้น คือ บริเวณถนนราชดำเนิน และนี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำไมทักษิณถึง "เดินสาย" ไปต่างจังหวัดในช่วงการประท้วง บ้างอาจจะใช้หน่วยการวิเคราะห์กว้างออกไปถึงระดับโลก คือวางประเทศไทยในฐานะเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศกำลังพัฒนา
12-06-2550

Coup d etat
(19 Sep. 2006)
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

บทวิเคราะห์และข้อสังเกตุการถกเถียงสาเหตุการรัฐประหาร
'รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙': เราถกเถียงกันเรื่องอะไร (ฉบับร่าง)
ดร. ไชยันต์ รัชชกูล : วิเคราะห์
ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทวิเคราะห์และข้อสังเกตุ (ฉบับร่าง) นี้ ได้รับการอนุญาตให้เผยแพร่โดยผู้เขียน
โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับเนื้อหาคือ การตรวจตาถึงข้อถกเถียง ความเป็นมาเกี่ยวกับ
การรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๐ โดยวางประเด็นข้อสังเกตุไปที่
หน่วยที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์, การอธิบายเชิงสาเหตุที่ตามมา,
การคาดการณ์, แนวคิดทิศทางทฤษฎี, และข้อคิดเกี่ยวกับตัวกำหนดสุดท้าย
ซึ่งในที่สุดแล้ว ไม่มีคำอธิบายชุดใดที่ให้คำตอบสมบูรณ์ที่สุดได้
(ผู้สนใจอ่านฉบับสมบูรณ์ สามารถอ่านได้ในนิตยสาร วิภาษา ฉบับที่ ๑)
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่
เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๗๕
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒มิถุนายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๑.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++



บทวิเคราะห์และข้อสังเกตการถกเถียงสาเหตุการรัฐประหาร
'รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙': เราถกเถียงกันเรื่องอะไร (ฉบับร่าง)
ดร. ไชยันต์ รัชชกูล : วิเคราะห์
ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ความนำ
ยังจะมีอะไรให้เป็นประเด็นให้คิด (และถกเถียงกัน) เกี่ยวกับเรื่องรัฐประหารครั้งล่าสุดนี้อีกหรือ? มีบางคนบอกว่า ไหนๆ ก็ไหนๆ เมื่อมันเกิดแล้ว ไยฟื้นฝอยหาตะเข็บ ไยไม่มองไปข้างหน้า ฯลฯ ทัศนะทำนองนี้คงเป็นที่ถูกอกถูกใจของฝ่ายที่ต้องการลดบทบาทและความหมายของสังคมศาสตร์โดยทั่วไป และประวัติศาสตร์โดยเฉพาะเป็นที่ยิ่ง

ประเด็นต้องถกเถียงมีมากและจะยังคงมีอยู่ต่อไปอีกนาน รัฐประหารครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย (ไม่เคยมีใครพูดเลยว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย หรืออ้อนวอนกันขอให้เป็นครั้งสุดท้าย) เมื่อมีรัฐประหารเกิดขึ้นอีกในอนาคต เราก็จะหวนกลับมามองรัฐประหารครั้งนี้กันอีก ทำนองเดียวกับที่การเกิดรัฐประหารครั้งนี้ ชวนให้เราย้อนกลับไปมองรัฐประหารที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งก็เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ ประเทศไทยคงจะร่างกันอีกหลายฉบับ เมื่อจะยกร่างกันอีกก็คงจะย้อนไปดูฉบับที่เคยขยี้กันมา

(i)
เราย้อนดูอดีตได้จากหลายแง่มุม ข้อเขียนนี้พยายามจะดูว่า แง่มุมต่างๆ นานานั้นมาจากการประมวลข้อมูล (ซึ่งรวมทั้งเท็จทั้งจริง) สัมพันธ์เข้ากับ 'แม่พิมพ์ความคิด' กันอย่างไร โดยเราอาจจะพิจารณา'รัฐประหาร๑๙ กันยายน ๒๕๔๙' ด้วยคำถามพื้นๆ เป็นประเดิมว่า มันเป็นกรณีหนึ่งของลักษณะทั่วไป หรือว่าเป็นกรณียกเว้น

จริงอยู่ที่รัฐประหาร (หรือเหตุการณ์ทางสังคมการเมืองอื่นๆ) แต่ละครั้งก็มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง แต่เมื่อนำทั้ง ๑๑ ครั้ง นับตั้งแต่ปี ๒๔๗๕ มาจัดพิจารณารวมกัน ก็อาจเห็นแบบแผนเป็นลักษณะทั่วไปได้ แล้วนำรัฐประหารแต่ละครั้งมาเทียบเคียงกับ "ลักษณะทั่วไป" นี้ บางรัฐประหารบางครั้งก็อาจจะใกล้เคียงกับ"ลักษณะทั่วไป" นี้มากกว่าบางครั้ง

'รัฐประหาร๑๙ กันยายน ๒๕๔๙' มีบางด้านเหมือนกับอีกหลายกรณีตั้งแต่ ๒๕๑๖ เป็นต้นมา เช่น ได้รับความเห็นชอบจากประมุขของประเทศ นายกรัฐมนตรีก็มาจากองคมนตรี ทหารบกเป็นตัวตั้งตัวตีใช้โอกาสที่ทำให้เข้าใจกันว่าเป็น "วิกฤตการณ์" ทำรัฐประหาร ฯลฯ แต่บางด้านก็มีลักษณะเฉพาะซึ่งเป็นเหตุให้ชวนมาพิจารณารัฐประหารครั้งนี้เสริมจากที่ได้ถกเถียงกันอยู่

ลักษณะพิเศษของ 'รัฐประหาร๑๙ กันยายน ๒๕๔๙' มิได้อยู่ที่ว่าเกิดขึ้นอย่าง "เรียบร้อย" "ไม่มีความรุนแรง" หรือแม้กระทั่งเป็นรัฐประหารที่ได้รับความสนับสนุนกันอย่างสนุกสนาน แต่อยู่ที่ก่อให้เกิดความเห็นแยกขั้วอย่างเข้มข้น จริงอยู่ที่รัฐประหารครั้งก่อนๆ ก็ย่อมมีความเห็นไปในทางบวกอยู่ด้วย (อย่างน้อยก็จากพวกที่ทำรัฐประหาร) แต่โดยรวมๆ สำหรับประเทศไทยแล้ว ความเห็นต่อรัฐประหารจะไปในทางลบ ประเด็นซึ่งเป็นประเด็นทั่วไปนี้อาจมีกรณียกเว้นอยู่บ้าง (เช่น รัฐประหารปี ๒๕๐๐ ที่ พล.อ. สฤษดิ์ ล้มรัฐบาลจอมพล ป. ด้วยเหตุผลว่าเพื่อเลิกล้ม 'การเลือกตั้งสกปรก') แต่'รัฐประหาร ๑๙ ก.ย.'กลับได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากกลุ่มที่บางคนเรียกว่า "กลุ่มสื่อสารมวลชน ปัญญาชนและคนเมืองหลวง"ซึ่งโดยปกติจะไม่เห็นชอบกับการรัฐประหาร

สำหรับครั้งนี้ กลุ่มพวกนี้อาจจะกระมิดกระเมี้ยนพูดไปในเชิงไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่กระหยิ่มอยู่ในใจ "ไม่ได้ชอบทหาร ไม่อยากให้ประชาธิปไตยพัง แต่ชังทักษิณมากกว่า" น้ำยาอยู่ที่ประโยคหลัง ส่วนสองประโยคแรกเป็นเพียงกระสาย อีกข้อพิสูจน์หนึ่งก็คือ ทักษิณล้มไปจนจวบครบกึ่งขวบปีแล้ว ก็ยังไม่มีการแสดงถึงการคัดค้านรัฐประหารจากคนกลุ่มนี้

กระนั้นความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับการรัฐประหาร ก็ยังไม่ใช่ลักษณะพิเศษอย่างยิ่งยวด แต่อยู่ที่ว่า'รัฐประหาร๑๙ กันยายน ๒๕๔๙' มิใช่เป็นเรื่องของเพียงกลุ่มคนในกรุง ในเมือง ในวงการศึกษา ในวงการการเมืองอย่างที่เคยเป็นมาแต่ไหนแต่ไร แต่กระเพื่อมไปทั่วทุกระดับและทุกหัวระแหง ตั้งแต่คณะองคมนตรีในเขตกรุงเทพฯชั้นใน จนถึงผู้สูงอายุ คนพิการที่อยู่ไกลปืนเที่ยง และไม่มีรัฐประหารครั้งใดก่อนหน้านี้ที่จะมีผู้คนมีความเห็นไปในทางใดทางหนึ่งอย่างกว้างขวางเท่ากับครั้งนี้

นักวิชาการ (โดยเฉพาะทางรัฐศาสตร์) อาจจะยกเป็นประเด็นวิเคราะห์ว่า การเมืองไทยเข้าลักษณะเป็นการเมืองมวลชน มิใช่จำกัดอยู่ในวงกลุ่มชนชั้นนำและชนชั้นกลางอีกต่อไป ซึ่งก็อาจจะสืบสาวไปถึงเงื่อนไขต่างๆ ตั้งแต่ระบบการเลือกตั้ง การสื่อสารคมนาคม การศึกษา ฯลฯ บทความนี้ไม่สามารถก้าวล่วงไปในมณฑลสำรวจความคิดเห็น หรือการวิจัยเชิงประจักษ์ด้วยการเสนอประเด็นจากการรวบรวมข้อมูล แต่จะพยายามขบคิดกับคำถามหลัก ๒ คำถาม คือ

- ทำไมจึงเกิด ความเห็นแยกขั้วอย่างเข้มข้น และ
- ความคิดเห็นที่ต่างขั้วกันนั้น มาจาก "วิธีและรากฐานของแนวคิดที่นำมาสร้างและประกอบข้อมูลขึ้นมาเป็นความคิด อะไรและอย่างไร"

'วิธีและรากฐานของแนวคิดฯ' นี้อยู่ 'หลังฉาก'ของความคิดเห็นที่ออกมาโลดเต้นอยู่หน้าฉาก มิได้มาปรากฏตัวให้ตระหนักตรงๆ แต่แท้จริงแล้วสำคัญกว่าตัวความคิดเห็นที่แสดงออก เพราะเป็น 'ผู้กำกับ' ด้วยการจัดเรียบเรียงข้อมูลให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างและสรุปเป็นความคิดเห็น ในที่นี้ขอเรียก 'อุปกรณ์ประกอบความคิด' ไปก่อน ซึ่งจำเป็นต้องใช้ศัพท์ที่กระชับเหมาะสมมาแทนกันต่อไป

คำถามทั้งสองนี้นั้นผูกกันอยู่อย่างแยกออกได้ยาก ถึงจะมีคำตอบต่อคำถามแรกกันอยู่มากแล้ว แต่จำเป็นต้องยกขึ้นมากล่าวไว้ (อย่างย่อๆ) อีก เพื่อที่จะนำไปสู่คำถามหลังเรื่อง 'อุปกรณ์ประกอบความคิด' ซึ่งคงยังต้องมาตั้งวงช่วยกันตอบ

คำตอบต่อคำถามแรก ถ้าตอบในระดับที่ประจักษ์แจ้งซึ่งเห็นและรับรู้ได้ ก็ค่อนข้างจะตรงไปตรงมา สามารถตอบได้โดยตรงจากนานาความคิดเห็น ซึ่งอาจจะมีด้านต่างๆ ตั้งแต่ด้านเศรษฐกิจ จนถึงด้านการรับรู้ ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการประชานิยมทั้งหลายก็คงจะสนับสนุนรัฐบาลทักษิณ และไม่เห็นด้วยกับฝ่ายรัฐประหาร แต่ผู้คนที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร มิได้อธิบายได้ตรงๆ จากเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น ผู้ที่ไปร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลทักษิณ ร้องตะโกนด้วยคำขวัญที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับนโยบายของรัฐบาลทักษิณ แต่น้ำหนักของการต่อต้านอยู่ที่พฤติกรรมทางจริยธรรมทางการเมืองและทางพาณิชย์ของทักษิณ ในฐานะบุคคลซึ่งก็มีตั้งแต่ "ผลประโยชน์ทับซ้อน", มุสาเรื่องการขายหุ้น, หลีกเลี่ยงภาษี, ไปจนถึงระคายเคือง "ผู้มีบารมี เหนือรัฐธรรมนูญ" แต่ไม่ได้เน้นต่อต้านรัฐบาลทั้งคณะ (ซึ่งต่างจากการกล่าวหา "Buffet Cabinet" ของรัฐบาลชาติชาย) ผู้คนที่ต่อต้านทักษิณนั้นมีแนวร่วมกว้างขวาง ข้ามสีข้ามฝ่ายทางการเมือง การแบ่ง "ซ้าย" แบ่ง "ขวา" จึงใช้ไม่ได้กับการผนึกกำลังทางการเมืองที่นำไปสู่การล้มทักษิณ ซึ่งเป็นสีรุ้งจากสีเขียว สีเหลือง สีชมพู จนไปถึงสีแดง (หรืออดีตเคยเป็นสีแดง)

คำตอบว่าทำไมถึงต่อต้านทักษิณ มีแพร่หลายอยู่เป็นข้อมูลและการบันทึกเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป แต่ขั้วฝ่ายตรงข้ามนั้นมีเผยแพร่น้อยกว่า เป็นที่น่าสังเกตเกี่ยวกับคำตอบว่า ทำไมถึงสนับสนุนทักษิณ ซึ่งมักมาจากการพูดแทนจากอีกฟากหนึ่งเสียมาก ไม่ว่าจะเป็นเพราะฝ่ายสนับสนุนมีสื่อสารมวลชนเป็นปากเป็นเสียงแทนให้น้อยกว่า หรือเป็นเพราะเหตุผลที่สนับสนุนนั้นไม่สามารถแสดงออกในที่สาธารณชนได้ตรงๆ ก็อาจเป็นได้. มิติของการแบ่งขั้วระหว่างเมืองกับชนบท (ในภาพรวม) และระหว่างภาคทางภูมิศาสตร์ที่เคยเป็นมา ก็เป็นเส้นขีดแบ่งข้างที่ลึกขึ้นในครั้งนี้

แต่คำตอบว่า ทำไมจึงเกิด ความเห็นแยกขั้วอย่างเข้มข้น โดยรวบรวมมาจากนานาทัศนะของแต่ละฟากนั้นเป็นคำตอบในเชิงประมวลทางสถิติของการสำรวจความคิดเห็น ซึ่งยังต้องการคำตอบเชิงอธิบาย ทางหนึ่งอาจได้มาจากคำตอบต่อคำถามที่สอง คือ ความคิดเห็นที่ต่างขั้วกันนั้นมาจาก 'อุปกรณ์ประกอบความคิด' อะไร. กล่าวคือนำ "จุดยืน" ของแต่ละข้างมาพิจารณาว่า มีการใช้เหตุใช้ผลอย่างไร ถึงได้นำไปสู่ข้อสรุปเช่นนั้น

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มาพิจารณา 'อุปกรณ์ประกอบความคิด' ที่กำกับ 'ความเห็นในระดับแสดงออก' ซึ่งอาจแบ่งข้างเป็น ๒ ฝ่ายกว้างๆ คือ

- ฝ่ายที่เห็นชอบกับการรัฐประหาร ซึ่งมองว่าเป็นการแก้ปัญหาความไม่ชอบมาพากลของทักษิณในเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจ และการรวบอำนาจทางการเมือง ขืนให้ปกครองบริหารประเทศต่อไปก็จะนำความเสียหายต่อส่วนรวมและความเสื่อมทั้งทางจริยธรรม

- ฝ่ายที่คัดค้านการรัฐประหาร มองการรัฐประหารครั้งนี้ในความสัมพันธ์กับรัฐประหารครั้งอื่นๆ ก่อนหน้านี้ บ้างอาจว่าเป็นการกลับมาของอำนาจทหาร, บ้างอาจว่าเป็นการชิงความได้เปรียบของฝ่ายชนชั้นนำในประเพณีวัฒนธรรมการเมืองไทย ที่เพลี่ยงพล้ำไปจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง, บ้างว่าเป็นทั้งสองอำนาจที่เป็นพันธมิตรกันอย่างสืบเนื่อง, บ้างอาจจะไปไกลถึงว่าเป็นปรากฏการณ์ของประเทศกำลังพัฒนาที่ด้อยพัฒนาการทางการเมืองประชาธิปไตย ฯลฯ

ทัศนะ ๒ ขั้วนี้ย่อมพบได้ในกรณีความขัดแย้งทั้งหลาย ตั้งแต่ อยู่ข้างหรือตรงข้ามกับคณะราษฎร ไปจนถึง สนับสนุนหรือสู้กับสุจินดา จริงอยู่ที่ทัศนะคนละขั้วนี้อาจจะแยกย่อยลงเป็นเป็นประเภทย่อยต่างๆ ได้อีกหลายประเภท แต่ประเภทย่อยนั้นอิงกับขั้วหลัก ๒ ขั้วนี้

ความเห็นของแต่ละฝ่ายนั้นต่างสมเหตุสมผลในตัวของมันเอง และต่างก็มีข้อเท็จจริงมาประกอบให้แต่ละจุดยืนหนักแน่น เมื่อแต่ละฝ่ายเห็นว่าความเห็นของตน "ถูกต้อง"การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมักจะเกิดผลว่า ต่างฝ่ายต่างก็ยืนยันย้ำความคิดและจุดยืนเดิมของใครของมัน 'อยู่ข้างทักษิณ' หรือ 'ตรงข้ามทักษิณ' หรืออาจะใช้สำนวนอื่นๆ ที่มีความหมายทำนองเดียวกัน แต่นัยรุนแรงต่างกัน (เช่น 'เชียร์ไอ้แม้ว' หรือ 'ไล่ไอ้แม้ว') ยากที่รอยร้าวจากความขัดแย้งจะประสานได้. แต่การถกเถียงนี้ก็เข้ารอยกับการถกเถียงในเรื่องอื่นๆ เช่น เห็นชอบหรือคัดค้านกับการที่สหรัฐฯบุกอิรัก เห็นชอบหรือคัดค้านกับการทำข้อตกลงการค้าเสรี ฯลฯ

ในเมื่อการถกเถียงกันใน'ความเห็นในระดับแสดงออก' ถึงทางตัน ทั้งความเห็นที่แสดงออกมานั้นอาจจะมิใช่สาระหลักที่แท้จริงเสมอไป ก็จำเป็นที่นำการถกเถียงไปสู่'อุปกรณ์ประกอบความคิด' ที่กำกับ'ความเห็นในระดับแสดงออก' นั้น

(ii)
บทเรียนจากการศึกษาเหตุการณ์ความขัดแย้งในประวัติศาสตร์ และข้อคิดจากการศึกษาสังคมช่วยให้เห็นได้ว่า ความแตกต่างในกรณี'รัฐประหาร๑๙ กันยายน ๒๕๔๙' นั้น มาจาก'อุปกรณ์ประกอบความคิด' หลักๆ อย่างน้อย ๕ ประการ คือ

(๑) หน่วยการวิเคราะห์
(๒) การอธิบายเชิงสาเหตุและผลที่ตามมา
(๓) การคาดการณ์
(๔) แนวคิดทิศทางทฤษฎี
(๕) ข้อคิดเกี่ยวกับ ตัวกำหนดตัวสุดท้าย

(๑) หน่วยการวิเคราะห์ (Unit of Analysis)
หน่วยการวิเคราะห์มีต่างๆ มิติ เช่น มิติเวลา มิติคู่ความขัดแย้ง และพลังอำนาจทางสังคม มิติพื้นที่ ฯลฯ ซึ่งเชื่อมโยงกัน หน่วยการวิเคราะห์ในมิติของเวลาเป็นการกำหนดกรอบเวลาในการพิจารณา 'รัฐประหาร๑๙ กันยายน ๒๕๔๙' ซึ่งเมื่อแตกต่างกันก็นำไปสู่ข้อสรุปที่ต่างกัน กรอบเวลาอาจจะต่างกันตั้งแต่ ๑ วัน ถึง ๗๕ ปี บ้างเห็นว่า 'รัฐประหาร๑๙ กันยายน ๒๕๔๙' นั้นชอบธรรมแล้ว เพราะถ้าไม่ทำวันนั้น ในวันรุ่งขึ้น (๒๐ ก.ย. '๕๐) ก็จะมีชุมนุมใหญ่ ซึ่งจะนำไปสู่การเสียเลือดเนื้อได้ บางคนก็กรอบเวลาในช่วงที่ทักษิณเป็นหัวหน้ารัฐบาล (๒๕๔๔ - ๒๕๔๙) หรือบางคนอาจจะเน้นเฉพาะช่วงทักษิณ ๒ (๒๕๔๘-๒๕๔๙) แต่สำหรับบางคนใช้หน่วยวิเคราะห์ในมิติเวลาที่ยาวไกลย้อนไปถึงปี ๒๔๗๕ งานของสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ "ฐานะทางประวัติศาสตร์ของการรัฐประหาร๑๙ กันยายน ๒๕๔๙" เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ใช้หน่วยการวิเคราะห์ในมิติเวลานี้

หน่วยการวิเคราะห์ตามมิติเวลานี้ เชื่อมโยงไปถึงหน่วยการวิเคราะห์อื่นๆ ด้วย เช่น หน่วยการวิเคราะห์มิติพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องของการมองความเข้มข้นและแหลมคมในพื้นที่ที่ต่างกัน บ้างมองมิตินี้รวมกว้างไปถึงหมู่บ้านชนบทในภาคต่างๆ โดยเฉพาะภาคอีสาน ภาคเหนือ แต่บ้างอาจมองเฉพาะในกรุงเทพฯ หรือ ยิ่งเฉพาะเจาะจงไปกว่านั้น คือ บริเวณถนนราชดำเนิน และนี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำไมทักษิณถึง "เดินสาย" ไปต่างจังหวัดในช่วงการประท้วง บ้างอาจจะใช้หน่วยการวิเคราะห์กว้างออกไปถึงระดับโลก คือวางประเทศไทยในฐานะเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศกำลังพัฒนา (ประเทศกำลังพัฒนา มิจำเป็นว่าจะมีรัฐประหารบ่อยๆ เสมอไป เช่นอินเดียไม่เคยมีรัฐประหารเลย ประเทศแทนซาเนียก็ไม่มีการยึดอำนาจด้วยกำลังทหาร)

นักสังเกตการณ์ระหว่างประเทศ หรือกระทั่งนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น เยอรมัน ซึ่งอาจจะไม่รู้ตื้นลึกหนาบางในประเทศไทยเท่าไรนัก แต่เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้น ก็เห็นว่าเป็น "เรื่องปกติ" เพราะมองประเทศไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่ล้าหลังในการพัฒนาทางการเมือง ก็เห็นประเทศไทยอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศอูกันดา ซาเอียร์ นิคารากัว อุรุกวัย ฯลฯ(ประเทศไทยคงไม่อยากมองตัวเองอยู่ในประเภทนี้ แต่อยากจะมีระบบการแบ่งประเภทใหม่ที่มองตัวเองอยู่ในกลุ่มอื่นๆ เช่น เป็นประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ครองราชย์ที่นานที่สุดในโลก แม้ว่าอาจจะไม่มีประเทศอื่นๆ เขามองเช่นนั้น) แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ หน่วยการวิเคราะห์ในมิติที่ต่างกัน ข้อสรุปก็ต่างกัน

หน่วยการวิเคราะห์ในมิติคู่ขัดแย้ง หน่วยการวิเคราะห์ในมิติของพลังอำนาจในสังคมก็เช่นเดียวกัน เมื่อหน่วยการวิเคราะห์ยาวไกลออกไป หน่วยการวิเคราะห์ในมิติคู่ขัดแย้งก็ไม่ใช่เป็นความขัดแย้งระหว่าง "ผลประโยชน์ทางธุรกิจและอำนาจทางการเมืองของทักษิณด้านหนึ่ง" กับ "ผลประโยชน์ของชาติและอำนาจของประชาชนอีกด้านหนึ่ง" แต่เป็นความขัดแย้งของหน่วยการวิเคราะห์ในมิติพลังอำนาจในสังคม หน่วยการวิเคราะห์นี้มิได้พิจารณาทักษิณในฐานะบุคคล แต่ในฐานะตัวแทนของพลังเศรษฐกิจการเมืองและวัฒนธรรมที่เป็น 'เครือข่าย' (ตามสำนวนของ Duncan McCargo) ซึ่งงัดข้อ กับ อำนาจของอีกเครือข่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นเครือข่ายวัฒนธรรมทางการเมืองดั้งเดิมที่มีฝ่ายทหารกระแสหลักหนุนอยู่

หน่วยการวิเคราะห์ในมิติคู่ขัดแย้งที่ต่างกันนำไปสู่การพิจารณาคู่ขัดแย้งหลักที่ต่างกัน ซึ่งก็นำไปสู่ข้อสรุปที่ต่างกัน ซึ่งอาจจะแสดงออกมาในรูปความขัดแย้งระหว่าง "ระบอบการปกครองด้วยตัวแทนของราษฎร" กับ "การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ความแตกต่างระหว่างฝ่ายเห็นชอบกับฝ่ายที่ไม่เห็นชอบ'รัฐประหาร๑๙ กันยายน ๒๕๔๙' อยู่ที่หน่วยการวิเคราะห์ที่แตกต่างกัน ซึ่งนำไปสู่การอธิบายการเกิดรัฐประหารที่แตกต่างกัน

(๒) การอธิบายเชิงสาเหตุและผลที่ตามมา (Causal explanation)
สาเหตุของการรัฐประหารคืออะไร? เป็นคำถามที่ยากอย่างยิ่ง เพราะเสมือนกับถามว่า ปรากฏการณ์ทางสังคมและการเมืองเกิดมาจากสาเหตุอะไร? จะให้สาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง หรือรวมๆ หลายๆ สาเหตุเข้าด้วยกัน หรือเรียงลำดับความสำคัญของสาเหตุ หรือสาเหตุหนึ่งนำไปสู่ผลที่ตามมาซึ่งกลายเป็นสาเหตุอีกสาเหตุหนึ่ง หรือเรื่องสาเหตุเป็นเรื่องสลับซับซ้อนจนไม่สามารถจะกำหนดสาเหตุได้ แต่มาจากการเชื่อมโยงของหลายปัจจัยและเงื่อนไข

การอธิบายที่มุ่งหาสาเหตุก็อาจเป็นแนวคิดที่อับจนต่อความสลับซับซ้อน ของปรากฏการณ์ทางสังคมการเมืองที่สั่งสมและเป็นเรื่องของโครงสร้างขององค์ประกอบนานา มิใช่เป็นเส้นตามเวลาที่สิ่งที่เป็นอดีตในเวลาหนึ่งจะกำหนดสิ่งที่เกิดตามมาในเวลาปัจจุบัน เพราะสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต (จะขยายความในหัวข้อ ๓ ต่อไป) ก็สามารถเป็นสาเหตุต่อการเกิดในปัจจุบันได้

จริงอยู่อาจจะมีการอธิบายถึงสาเหตุของ 'รัฐประหาร๑๙ กันยายน ๒๕๔๙' ต่างๆ กันไป เช่น เพราะทักษิณโกงภาษี, เพราะทักษิณขายชาติให้สิงค์โปร์, เพราะทักษิณรวบอำนาจ คุมองค์กรอิสระ ฯลฯ มีนักข่าวผู้หนึ่งกล่าวว่า ถ้าไม่เป็นเพราะทักษิณฟ้องเล่นงาน สุภิญญา กลางณรงค์ ป่านนี้ทักษิณอาจจะนั่งเก้าอี้นายกฯอยู่ ทั้งนี้เพราะว่าบรรดาสื่อสารมวลชนเห็นว่า ทักษิณรังแกเด็กไม่มีทางสู้ เลยรวมตัวกันต่อต้านทักษิณอย่างต่อเนื่อง. บ้างก็ว่าทหารทำรัฐประหารเพราะเมื่อถึงเดือนตุลาคม ทักษิณก็จะจัดการโยกย้ายทหารที่ไม่อยู่ในอาณัติพ้นไปจากวงอำนาจ, บ้างก็ว่าพวกแกนนำพันธมิตรฯ เป็นพวกบ้องตื้นไม่ทันเกมของผู้ชักหุ่นอยู่ข้างหลัง, บ้างก็ว่าเป็นเรื่องของอุดมการณ์ ฯลฯ

สาเหตุของรัฐประหารที่กล่าวกันทำนองนี้มีอยู่มากมาย บทนำของหนังสือ รัฐประหาร๑๙ กันยา แตะถึงปัญหาการอธิบายถึงสาเหตุนี้ แต่ปัญหาอยู่ที่จะมีอะไรมารองรับการเชื่อมต่อกันเป็นสาเหตุและผลที่ตามมา หรือแม้กระทั่งจะไม่ใช้เหตุผลเดียว แต่นำเหตุผลต่างๆ นานาประการมาประกอบกัน หรือยิ่งไปกว่านั้น คือ เรียงลำดับความสำคัญของสาเหตุต่างๆ แต่กระนั้นในท้ายที่สุด ก็คงจะเป็นการอธิบายสาเหตุและผลที่ตามมาแบบหนึ่ง หรือชุดหนึ่งในท่ามกลางความเป็นไปได้อื่นๆ อีกมากหลาย

คำถามสำคัญคำถามหนึ่งที่ตามมาคือ การอธิบายในรูปการหาความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุกับผลที่ตามมา จะเป็นรูปแบบการอธิบายที่น่าพอใจเพียงพอแล้วหรือสำหรับปรากฏการณ์ทางสังคมการเมือง และการกระทำของมนุษย์ที่ความเป็นไปได้สามารถผันแปรไปได้อย่างไม่สิ้นสุด หรือว่ามีรูปแบบการอธิบายอื่นๆ ที่น่าจะมีน้ำหนักมากกว่า… เป็นต้นว่าการอธิบายเชิงความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งของพลังต่างๆ หรือการอธิบายเชิง "วัฒนธรรม" ที่เป็นฐานของการมองโลกและการปฏิบัติการของผู้คนในสังคม แต่ปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่หลวงเกินขอบเขตของข้อเขียนนี้ ซึ่งพยายามเพียงชี้ประเด็นว่า รูปแบบการอธิบายสาเหตุนั้น คงไม่มีคำอธิบายชุดใดอยู่ในฐานะที่เป็น "คำตอบสุดท้าย" ได้

(๓) การคาดการณ์ (Speculative หรือ If-History)
วิธีการให้เหตุผลต่อ 'ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์' กับให้เหตุผลต่อตัวเองนั้น ไม่เกี่ยวกันเสมอไป ผู้ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงก็อาจจะบอกกับตัวเองได้ว่า "ยังโชคดี" โชคดีที่ไม่ร้ายแรงไปกว่านี้ หรือถึงร้ายแรงมากก็ยังโชคดีที่ไม่ถึงกับเสียชีวิต หรือถึงขนาดเสียชีวิต ญาติพี่น้องก็ยังอาจจะบอกกับตัวเองได้ว่า ก็ดีกว่าต้องพิการทนทุกข์ทรมาน การให้เหตุผลทำนองนี้ เป็นการเปรียบเทียบระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นกับสิ่งอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นซึ่งร้ายแรงกว่า การให้เหตุผลเช่นนี้มิใช่มาจากแนวคิดเรื่อง 'โลกทัศน์ของพุทธแบบไทยๆ' เท่านั้น ความคิดแบบฝรั่ง (หรืออย่างน้อยก็ฝรั่งบางชาติพันธ์ ในบางช่วงเวลาของประวัติศาสตร์) ก็ให้เหตุผลทำนองเดียวกันเช่นนี้ ตามสำนวน 'It could be a lot worse.' เราอาจจะเรียกการให้เหตุผลแนวนี้ว่า ทฤษฎี " เป็นอย่างนี้ ก็ยังดีกว่า ..." ซึ่งมีเส้นเพียงบางๆแบ่งออกจากการให้เหตุผลต่อการให้ความชอบธรรมใดๆ ที่เกิดขึ้น ตัวอย่างที่รู้จักกันดีก็เช่น การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมาและที่นางาซากินั้นก็ยังดีกว่า การให้สงครามยืดเยื้อออกไป หรือใช้วิธียกพลขึ้นบกแบบที่สหรัฐกับฝ่ายสัมพันธมิตรทำในยุโรป เพราะยิ่งจะทำให้มีคนตายมากขึ้น เหตุผลเช่นนี้เอื้อต่อการนำไปสู่ข้อสรุปได้ว่า การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์นั้นสมควรแล้ว

เหตุผลสนับสนุน'รัฐประหาร๑๙ กันยายน ๒๕๔๙' สามารถมีได้ตั้งแต่ว่า รัฐประหารก็ดีกว่าจะให้เกิดการนองเลือดในวันรุ่งขึ้นที่(ปล่อยข่าว)ว่าจะมีการชุมนุม หรือ หัวหน้าคณะรัฐบาลชุดใหม่เป็นคนดีซื่อสัตย์ (และอาจจะดำเนินชีวิตแบบพอเพียงอีกต่างหาก ส่วนพวกสีแดงก็อาจจะเติมไปอีกว่า แถมเป็นลูกคอมมูนิสต์เก่าอีกต่างหาก) ก็ดีกว่าทักษิณที่ฟุ้งเฟ้อพาชาวชนบทเป็นหนี้เป็นสินกันทั่วแผ่นดิน ไปจนถึงรัฐประหารก็ยังดีกว่าระบอบทักษิณที่โกงกินบ้านเมือง เศรษฐกิจพอเพียงก็ยังดีกว่าทักษิโณมิคส์ ฯลฯ และอีกมากมายจนสามารถกล่าวได้ว่า จะมีเหตุผลที่เห็นชอบกับการทำรัฐประหารได้อยู่เสมอ

'รัฐประหาร๑๙ กันยายน ๒๕๔๙' เป็นทางเลือกทางหนึ่งในบรรดาความเป็นไปได้จำนวนมาก เช่น ปล่อยให้ทักษิณบริหารประเทศต่อไปอีกระยะหนึ่ง แล้วจัดการการเลือกตั้ง หลังเลือกตั้งแล้ว ก็อาจจะไม่ให้หรือยอมให้ทักษิณเป็นนายกฯ อีก, ดำเนินคดีกับทักษิณเรื่องซื้อขายหุ้นและการฉ้อราษฎร์บังหลวงอื่นๆ หรือให้มีนายกฯพระราชทาน หรือ ยกเลิกระบบรัฐบาลจากรัฐสภามาเป็น 'Enlightened Monarchy' หรือใช้วิธีจับฉลากเลือกนายกฯ และคณะรัฐมนตรีจากบรรดาผู้ที่จบปริญญาตรีขึ้นไป (หรือถ้าไม่จบปริญญา ก็ต้องมีความฉลาดทางโลกและสติปัญญาเฉียบแหลมทางธรรมเทียบเท่า) ฯลฯ

แน่นอนที่ในบรรดาทางเลือกทั้งหลายทั้งปวงนี้ มิได้มีค่าควรแก่การพิจารณาเสมอกันหมด เมื่อตัดทางเลือกที่เหลวไหลและที่มหาชนเห็นเป็นเรื่องชวนหัวออกไป ก็ยังจะเหลือทางความเป็นไปได้อีกมาก คำถามที่ตามมาก็คือ ถ้าสามารถเลือกได้ เราจะเลือกทางที่เป็นไปได้ทางใด เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ทางไหนจะดีกว่าทางไหน และด้วยเหตุผลใดมารองรับ

ข้อถกเถียงที่เห็นชอบกับรัฐประหารเช่นว่า ระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามาจากวัฒนธรรมการเมืองของฝรั่ง ไม่เหมาะสมกับสังคมไทย เพราะฉะนั้นการทำรัฐประหารก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสม (อย่างน้อยก็ในสถานการณ์นี้) ส่วนที่ไม่เห็นชอบกับรัฐประหารเช่นว่า ควรจัดการกับทักษิณทางกฎหมาย แต่ควรพยายามรักษารัฐธรรมนูญและระบบการปกครองระบบประชาธิปไตยไว้ ทำให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่นิติรัฐ และปฏิรูปสังคมเศรษฐกิจให้เป็นธรรมแก่ชาวบ้าน คนยากคนจน. ทั้งสองทางเลือกนี้นั้น แม้จะยืนยันในน้ำหนักของตน แต่สิ่งที่แต่ละฝ่ายจะเสริมและขยายความสมเหตุสมผลของตนคือ พยายามแสดงว่าเป็นจุดยืนที่ดีกว่า อีกทางอื่นๆอย่างไร ถึงทางเลือกนี้ไม่ดีที่สุด แต่ก็ดีกว่า ... และดีกว่า ...

ปัญหาความเลวร้ายของทักษิณ อาจจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับการทำ'รัฐประหาร๑๙ กันยายน ๒๕๔๙' มีผู้คนที่เห็นว่าแม้ทักษิณจะเลวร้ายจริง แต่ก็คัดค้านการทำรัฐประหาร ในขณะที่ก็มีผู้ที่เห็นว่าทักษิณนั้นเลวร้ายจริงๆ ดังนั้นสมควรทำรัฐประหาร แต่ทั้งสองฝ่ายนี้ความสำคัญมิได้อยู่ที่ความเลวร้ายในขณะนี้ แต่อยู่ที่สิ่งซึ่งจะตามมาภายหน้า ถ้าเป็นเช่นนี้ จะดีอย่างนี้ หรือไม่ดีอย่างนั้น หรือถ้าไม่เป็นอย่างนี้ ก็จะเกิดผลร้ายอย่างนั้น หรืออย่างนี้ ฯลฯ ทั้ง ๒ ฝ่าย ต่างก็เป็นการให้เหตุผลแบบคาดการณ์

ยิ่งเมื่อคำนึงถึงว่า ย่อมจะเกิดผลที่ไม่ได้ตั้งใจขึ้นได้เสมอ เราก็จะสามารถยกกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศไทยหรือในประเทศอื่นๆ มาเป็น "เหตุผล" สนับสนุนทางเลือกใดทางเลือกหนึ่งได้อยู่เสมอ การเปรียบเทียบมีต่างลักษณะ เช่น ฝ่ายหนึ่งเปรียบเทียบทักษิณกับฮิตเลอร์ ดังนั้นการตัดไฟเสียแต่ต้นลม ย่อมจะดีกว่า ... ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งยกการกระทำที่น่าสรรญเสริญของกษัตริย์คาร์ลอสแห่งเสปน ในการต่อต้านการรัฐประหารและยืนอยู่ข้างประชาธิปไตย แม้ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้น จะทำการไม่สมควรหลายประการ แต่ก็ดีกว่า ... ๆ ดังนั้น จึงมีทั้งเหตุผลที่จะเห็นชอบและไม่เห็นชอบกับการรัฐประหารได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

๔) แนวคิดทิศทางทฤษฎี (Theoretical Orientation)
ความจริงหัวข้อนี้สามารถจะครอบคลุม ๓ หัวข้อแรกให้เข้ามาอยู่เป็นหัวข้อย่อยได้ แต่ที่แยกออกมาก็เพื่อความสะดวกในการอธิบาย และนำมาไว้ท้ายสุด ก็เพราะ ๓ หัวข้อข้างต้นนั้น ได้ช่วยอธิบายหัวข้อนี้ไปบ้างแล้ว จนทำให้หัวข้อนี้ ไม่จำเป็นต้องขยายความมากนัก

'รัฐประหาร๑๙ กันยายน ๒๕๔๙' ก็เข้าทำนองเดียวกันกับปรากฏการณ์ทางสังคม-การเมืองอื่นๆ ที่สามารถนำแนวคิดทฤษฎีต่างๆ มาจัดระเบียบข้อมูลให้เป็นคำอธิบายได้ต่างๆ กัน บ้างเห็นว่าทฤษฎีบุคลิกภาพนั้นอธิบายได้ดี ก็อาจจะรับข้อคิดที่ถ่ายทอดกันมานาน จนเป็นที่คุ้นกันดีตามสำนวน "เป็นคนอย่างไร ชะตาชีวิตก็เป็นอย่างนั้น" (His character is his destiny. จากบทละครเรื่อง ซีซาร์ ของเชคสเปียร์)

ผู้ที่สมาทานแนวคิดทฤษฎีนี้ ก็จะไล่เรียงมาตั้งแต่เมื่อทักษิณขึ้นมาบริหารประเทศใหม่ๆ ว่าเป็นคนยโสโอหัง ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ชอบตอบโต้ หักหน้าคนไปทั่วตั้งแต่นักการเมืองด้วยกัน จนถึงพวกสื่อ นักวิชาการ ฯลฯ "พูดออกมาแต่ละทีมีแต่ 'ผลักมิตรให้เป็นศัตรู' (เพราะ) ใช้ 'สติ' น้อยแต่ใส่อารมณ์มาก" (สกุลไทย ฉบับ๒๗๓๒ ประจำวันที่ ๒๗ ก.พ. ๒๕๕๐) ทำให้คนกลุ่มต่างๆ เหล่านี้เพาะความจงเกลียดจงชัง จนกระทั่งมาเป็นแนวร่วมกันโดยไม่ได้นัดหมาย. บ้างก็เห็นว่า การบริหารงานทั้งของรัฐ ของธุรกิจ (และผสมกันกับผลประโยชน์ส่วนตัว) ไม่โปร่งใส ขาดธรรมาภิบาล (เช่น ไปเซ็นต์ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) มา ก็ทำโดยพลการไม่ผ่านสภาฯ) เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงทั่วไป ฯลฯ

ผู้ที่มองด้วยมุมมองนี้ก็จะเห็นว่า แนวคิดทฤษฎีทางรัฐประศาสนศาสตร์นั้น สามารถอธิบายการล้มของทักษิณ และมีแนวโน้มที่จะเห็นชอบกับการทำรัฐประหาร หรือบ้างจะเห็นว่าศีลธรรมในสังคมไทยเสื่อมทรามลงทั่วไป ผู้คนไม่มีอะไรเป็นหลักยึด รู้สึกระส่ำระสายต่อความวุ่นวาย ต้องอาศัยผู้มีบารมีสูงส่งมาแก้ปัญหา ซึ่งเมื่อให้ไฟเขียวกับพวกสีเขียวแล้ว สีเหลืองและสีอื่นๆ ก็ปรีดาปราโมทย์

บ้างก็เห็นว่าชาติไทยมีลักษณะทางวัฒนธรรมเฉพาะที่ต่างไปจากชาติอื่นๆ ประเทศไทยจึงมีเส้นทางการพัฒนาประชาธิปไตยของตนเอง การเกิดรัฐประหารเป็นปรากฏการณ์ของการมีเอกลักษณ์ของชาติ บ้างเห็นว่า การล้มของทักษิณต้องอธิบายด้วยแนวคิดทฤษฎีการต่อสู้ทางชนชั้น แต่มิได้หมายถึงการต่อสู้กันระหว่าชนชั้น เช่นระหว่างชนชั้นชาวนา กรรมาชีพ กับชนชั้นเจ้าสมบัติ แต่เป็นการต่อสู้ทางชนชั้นที่ ณ จุดนี้ของประวัติศาสตร์ หรือบริบทประวัติศาสตร์นี้นั้น การต่อสู้ทางชนชั้นปะทุออกที่ระนาบทางอุดมการณ์

บทนำของหนังสือ รัฐประหาร๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ แสดงถึงการมองทำนองนี้ที่เห็นว่า มีการครอบงำกำหนดชีวทัศน์ โลกทัศน์ในสังคมไทยอยู่ การครอบงำกำหนดนี้สั่งสมมานานและทวีขึ้นเรื่อยๆ จากการโฆษณาชวนเชื่อ (ตามความเห็นของแฮนลีย์ - Paul M. Handley) ซึ่ง "ลึกซึ้งและสลับซับซ้อนและแฝงอยู่ในหลายรูปแบบหลายระดับ โดยมีผู้ผลิตซ้ำเรื่อยๆ ผู้กระทำเองไม่ได้คิดว่าตนเองถูกกระทำหรือถูกกดขี่ และรับเอาความคิดมาอย่างลอยๆ" (ตามสำนวนนักศึกษานิรนาม) ทำให้การครอบงำกำหนดนี้ดูประหนึ่งเป็นปกติวิสัย เพราะแพร่และหยั่งรากจนเป็นอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ อันเป็นอำนาจที่ทรงพลังกว่าอำนาจจากปากกระบอกปืน จากตัวบทกฎหมาย จากเหตุจากผล ฯลฯ

อำนาจนี้เอื้อต่อการเสริมพยุงอำนาจของชนชั้นปกครอง ทำให้อยู่ในฐานะที่ได้เปรียบในการต่อสู้และความขัดแย้งทางชนชั้น ทักษิณล้มเพราะพลังอำนาจนี้ ส่วนอำนาจอื่นๆ เป็นเพียงกระสายยา. ช่วงหนึ่งมีการยกย่องทักษิณกันถึงว่าเป็นผู้นำของเอเชีย คำกล่าวนี้เกินจริงไปมาก คำกล่าวที่ว่าทักษิณไม่เข้าใจวัฒนธรรมการเมืองไทยนั้นน่าจะถูกต้องมากกว่า เขาไม่เข้าใจเรื่องพื้นๆ ที่ตาสีตาสาในแผ่นดินนี้เข้าใจอย่างดี ทักษิณเป็นปลาหมอตายเพราะปากโดยแท้

สมัยที่รุ่งโรจน์เขาปรารถนาจะเป็นรัฐบุรุษ แต่ความฉลาดที่ขาดเฉลียวทำให้เขาถึงกับเข้ามาอยู่ในประเทศไทยไม่ได้ เขาไม่รู้แม้กระทั่งว่า ประเทศนี้มีใครเป็นเจ้าของ (ดังนั้นถ้าไม่ชอบที่ประเทศไทยเป็นเช่นนี้ ก็ไปอยู่ที่อื่นเสีย) เชื่อได้ว่าถ้าอุดมการณ์นี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง ทักษิณคงไม่ได้มาเห็นสนามบินสุวรรณภูมิอีกชั่วชีวิต

แต่ผู้ที่อยู่ในแนวคิดทฤษฎีการต่อสู้ทางชนชั้นนี้ก็จะแยกไปอีกเป็นแนวย่อยอีกต่างๆ แนว บ้างก็จะเน้นไปที่การต่อสู้ทางการเมือง ที่อธิบายว่าทักษิณนั้นมาจากพื้นเพทางครอบครัวและกลุ่มที่อยู่นอกชนชั้นปกครองดั้งเดิม แถมทำตัว 'กระด้างกระเดื่อง' ต่อศักดินาขั้วอำนาจเก่าที่ครองสังคมไทยมานาน บ้างก็เห็นเป็นการขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มในชนชั้นเดียวกัน และความขัดแย้งกันระหว่างทุนกลุ่มหนึ่งกับรัฐในสายทหาร บ้างก็เห็นเป็นการต่อสู้ของกลุ่มนายทุนใหญ่ ที่แย่งชิงการควบคุมการบริหารงานของรัฐและแย่งชิงการนำราษฎร ฯลฯ

(๕) ข้อคิดเกี่ยวกับ ตัวกำหนดตัวสุดท้าย (Ultimate Determinism)
ผู้สอบสวนหาความจริงรู้กันอยู่แล้วว่า ความเห็นหรือข้อมูลที่ปรากฏนั้นไม่จำเป็นต้องคล้องกับความเป็นจริงเสมอไป "เหตุผล" ที่คณะทหารบอกว่าทำไมถึงทำรัฐประหาร อาจจะไม่ใช่เหตุผลจริงๆ คงไม่มีทหารคนไหนบอกว่า ที่ร่วมทำรัฐประหารเพราะหวังประโยชน์ฟื้นอำนาจทหารและจะได้ผลประโยชน์ต่างๆ นานาสารพัด ตั้งแต่เข้าไปครองรัฐวิสาหกิจ โปรยทานให้พรรคพวก จนถึงทำกร่างบนจอโทรทัศน์ ฯลฯ ในแง่นี้ ผู้ศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคม-การเมืองอาจเปรียบได้กับนักสืบ หรือ ตำรวจ หรือผู้พิพากษา ที่คำบอกเล่าจากโจทย์ จำเลย พยาน หรือแม้กระทั่งหลักฐานต่างๆ นั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นความจริง ต้องตรวจ ต้องสอบสวนสืบสวนกันต่อไป ต้องนำข้อมูลต่างๆ มายืนยันกันหรือลบล้างกัน ฯลฯ

ความจริงหัวข้อ ข้อคิดเกี่ยวกับตัวกำหนดตัวสุดท้ายนี้คาบเกี่ยวและสอดคล้องกับหัวข้อ ๔ เรื่องแนวคิดทฤษฎีอย่างมาก จนน่าจะรวมอยู่เป็นหัวข้อเดียวกัน แต่ที่แยกเป็นคนละหัวข้อก็เพื่อจะแสดงว่า มิใช่เพียงแนวคิดทฤษฎีที่กำกับข้อมูล แต่ยังมีข้อคิดอีกระดับหนึ่งที่กำกับแนวคิดทฤษฎี หรือเรียกในที่นี้ว่า 'ตัวกำหนดตัวสุดท้าย' ในเมื่อการวิเคราะห์คือการแยกแยะ และสืบหาสิ่งที่กำหนดหรือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์นั้น ดังนั้น ผู้ศึกษาจึงมิถือสิ่งที่ปรากฏเป็น "สาระสุดท้าย" แต่จำเป็นต้องขุดเสาะให้ลึกไป การพิจารณาให้ลึกลงไปเป็นลำดับนั้น วันหนึ่งก็คงจะไปถึงตัวกำหนดที่อยู่ลึกที่สุด หรือ ตัวกำหนดตัวสุดท้าย หัวข้อนี้จึงเป็นการนำเสนอถึงข้อคิดต่างๆ ที่อยู่เบื้องลึกสุดของการอธิบาย

บ้างเห็นว่าเศรษฐกิจเป็น 'ตัวกำหนดท้ายสุด' ซึ่งเป็นข้อคิดความเห็นที่นิยมกันในหมู่ผู้นิยมสกุลดั้งเดิม แต่บางสกุลถึงแม้ว่าจะไม่ปฏิเสธความสำคัญทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีข้อคิดว่า วิถีชีวิต โลกทัศน์ ความเชื่อ ศาสนา ฯลฯ ซึ่งรวมๆ แล้วเรียกว่า 'วัฒนธรรม' นั้นเป็นพื้นฐานที่กำหนดการกระทำของมนุษย์ทั้งหลาย สาขาวิชาในสังคมศาสตร์ ต่างมักเน้นความสำคัญของ 'ตัวกำหนดตัวสุดท้าย' นี้ไปตามสาขาของตน แต่ก็ยังมีข้อคิดอื่นๆ อีกมาก เช่น ดวงเมือง อวิชชาของมนุษย์ ฯลฯ ซึ่งถึงแม้จะไม่เป็นที่ยอมรับของวงวิชาการทางสังคมศาสตร์ แต่ก็แสดงถึงข้อคิดถึง 'ตัวกำหนดตัวสุดท้าย' ได้อย่างแจ่มชัด และในเมื่อข้อคิดในเรื่อง 'ตัวกำหนดตัวสุดท้าย' นี้เป็นเรื่องที่คงไม่มีวันจะยุติกันง่ายๆ ข้อคิดนอกวิชาการสังคมศาสตร์ก็อยู่ในสถานะที่เป็น'ตัวกำหนดตัวสุดท้าย' ที่มีผู้คนเชื่ออยู่ได้

(iii)
ถ้ามองจากมุมของข่าว และการเขียนในหนังสือพิมพ์ เรื่อง 'รัฐประหาร ๑๙ ก.ย.' ย่อมเป็นเรื่องเก่า แต่จากมุมของการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และประวัติศาสตร์ ปัญหาเรื่องนี้และเรื่องทั้งหลายไม่มีการแก่เก่าไปตามเวลา ตั้งแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ไปจนถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมครั้งสำคัญเมื่อ '๑๔ ตุลา ๑๖' และ การฆ่าหมู่เมื่อ '๖ ตุลา ๑๙' (ซึ่งก็เช่นเดียวกับเหตุการณ์สำคัญๆ ของโลกทั้งการปฏิวัติฝรั่งเศส ปี ค.ศ. ๑๗๘๙ การปฏิวัติรัสเซีย ๑๙๑๗) และอื่นๆ อีกนานาประการซึ่งเป็นเรื่องที่เถียงกันไม่รู้จบรู้สิ้นได้ฉันใด นับประสาอะไรกับเรื่องที่ยังเป็นเรื่องต่อเนื่องอยู่ในแต่ละวันอย่าง 'รัฐประหาร ๑๙ ก.ย.' ก็ยังไม่สามารถมีการสรุปตายตัวไปได้ฉันนั้น

ถึงแม้จะมีการควบคุม 'การไหลของข้อมูลข่าวสาร' แต่การแสดงความเห็นในเรื่องรัฐประหารนี้ก็มีอย่างกว้างขวางในที่แจ้ง ถ้ารวมในที่ลับและกึ่งแจ้งกึ่งลับด้วยแล้ว ก็จะคะเนได้ว่ามีการถกและพยายามอธิบายต้นเหตุ ความเป็นมา ความจะเป็นไป จนถึงความหมายของ 'รัฐประหาร ๑๙ ก.ย.' กันอย่างไพศาล (ในทางพื้นที่ตั้งแต่เหนือจรดใต้ และทางกลุ่มทางสังคมตั้งแต่ทหาร นักการเมือง ถึงผู้สูงอายุ คนพิการ) และเข้มข้น (ทั้งด้านเนื้อหาและความดุเดือด)

ยิ่งเสนอความเห็นและถกเถียงกันมาก แทนที่จะยิ่งได้ข้อสรุปลงตัว กลับเป็นความผกผัน ที่ยิ่งพูดกันมากก็ยิ่ง 'มากความมากเรื่อง' ซึ่งเมื่อมองในทางบวกก็หมายถึงว่า ไม่มีความเห็นของใครเป็นความเห็นสุดท้าย หรือก็เท่ากับว่าไม่มีความเห็นใดถูกต้องสมบูรณ์สมควรเห็นพ้องกันได้แล้ว แม้ว่าบางคนจะอ้างสถานะนั้น บทความนี้ขอเป็นเสียงหนึ่งที่เข้ามาร่วมสนทนาในวงดนตรีของการถกเถียงนี้

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com