โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 31 May 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๖๒ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (May, 31, 05,.2007)
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

พื้นฐานอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดที่จะอยู่รอดบนโลกปัจจุบันนี้คือ 'ความรู้' ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จับต้องได้อีกต่อไปแล้ว สังเกตไหมว่า ผู้ผลิตเหล็กกล้าในปัจจุบันคือประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย เพราะว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว มันไม่สามารถจะผลิตเหล็กหรือเหล็กกล้าแข่งกับประเทศกำลังพัฒนาได้ เพราะ 1.มันสกปรก 2.ราคามันไม่ค่อยดีเท่าไรนัก ฉะนั้นมันจะผลักสิ่งเหล่านี้ออกไปจากประเทศตัวเองมากเท่าที่จะมากได้ แต่ถ้าเมื่อไรก็แล้วแต่ที่อเมริกาหรือยุโรป อยากจะผลิตวัสดุที่มีความเหนียวและความแข็งเท่าเหล็ก มันจะเป็นเรื่องของอุตสาหกรรมความรู้แล้ว
31-05-2550

fight for life
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

กิจกรรมการเรียนรู้และสนับสนุนพลังทางสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: จากกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง
ถึงสมัชชาคนจนหน้าทำเนียบฯ (ตอนที่ ๒)

กองบรรณาธิการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
ขอขอบคุณสื่อมวลชนที่ร่วมเดินทางไปกับคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ประกอบด้วย มติชน ผู้จัดการ บางกอกโพสต์ โพสต์ทูเดย์ และประชาไท

รายงานข่าวต่อไปนี้ กอง บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมมาจากสื่อออนไลน์ต่างๆ
เป็นเรื่องเกี่ยวกับกิจกรรมของคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ที่ลงไปดูพื้นที่การต่อสู้ของภาคประชาชน
โดยได้ร่วมกันไปกับสื่อมวลชนหลายฉบับ อาทิเช่น มติชน ผู้จัดการ
บางกอกโพสต์ โพสต์ทูเดย์ และประชาไท
ไปยังพื้นที่บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สถานที่ตั้งของกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง
ซึ่งกำลังปกป้องพื้นที่ป่าพรุอันอุดมสมบูรณ์ผืนสุดท้าย จากการเข้ามากว้านซื้อที่ดิน
และทำประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะโดยมิชอบ เพื่อขยายโรงถลุงเหล็กของบริษัทเครือสหวิริยา
คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงและชาวบ้านกรูดปักป้าย
"เขตเสี่ยงภัยต่อชีวิต ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม" จากนั้นได้เข้าเยี่ยมและเปิดป้ายผ้าขนาดใหญ่
ข้อความว่า "การพัฒนาที่ยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม" ที่บริเวณที่ชุมนุมของกลุ่มสมัชชาคนจน
ซึ่งได้มาปักหลักทวงสัญญาใกล้ทำเนียบรัฐบาล
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๖๒
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๑.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

กิจกรรมการเรียนรู้และสนับสนุนพลังทางสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
จากกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ถึงสมัชชาคนจนหน้าทำเนียบฯ (ตอนที่ ๒)

กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม

รายงานต่อไปนี้ประกอบด้วยเนื้อหา 7 หัวข้อ ประกอบด้วย

1. ม.เที่ยงคืนร่วมกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ประกาศที่ป่าพรุเป็น "พื้นที่เสี่ยงภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม
2. ชาวบางสะพานร่วม ม. เที่ยงคืน ประกาศ 'พื้นที่เสี่ยงภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม'
3. ขบวนการเสื้อเขียว: การต่อสู้เพื่อป่าพรุผืนสุดท้ายของบางสะพาน
4. ป่าพรุแม่รำพึง: การต่อสู้เพื่อยืนหยัดพลังแห่งชุมชน
5. นิธิ เอียวศรีวงศ์: ถึงนักสู้ทั่วประเทศ "เมื่อไรที่คุณกล้าลุกยืน คุณนั่งลงไม่ได้อีกแล้ว"
6. นิธิ-จอน ให้กำลังใจสมัชชาคนจน ชูรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมา และ
7. สมัชชาคนจนกลับบ้านแล้ว เพื่อยืนยันไม่ได้มาเพราะมีเอี่ยว 'ยุบพรรค

5. นิธิ เอียวศรีวงศ์: ถึงนักสู้ทั่วประเทศ "เมื่อไรที่คุณกล้าลุกยืน คุณนั่งลงไม่ได้อีกแล้ว"
ประชาไท - เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2550 คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนพร้อมคณะสื่อมวลชนได้ลงพื้นที่ป่าพรุแม่รำพึง ที่ อ.บางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากกรณีความขัดแย้งเรื่องการจัดสร้างโรงถลุงเหล็กของบริษัท เครือสหวิริยา กับชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ซึ่งกำลังปักหลักเฝ้าระวังป่าพรุผืนสุดท้ายของบางสะพาน

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้ให้สัมภาษณ์คณะสื่อมวลชน ในกรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ประเด็นเรื่องเหล็ก, เหล็กกล้า, การต่อสู้ของชาวบ้าน, สิทธิชุมชน, ทุนนิยม, และการลุกขึ้นสู้ ประชาไทขอเรียบเรียงบทสัมภาษณ์มาเสนอสู่ผู้อ่านดังต่อไปนี้

เหล็กและเหล็กกล้า
บริษัทสหวิริยายืนอยู่ในจุดนโยบายพัฒนาที่รัฐส่งเสริม เพราะรัฐจะพูดถึงเรื่องการมีโอกาสมีโรงงานถลุงเหล็กของเราเองที่ใหญ่ขึ้น แล้วก็ชอบอ้างทฤษฎีศตวรรษที่ 19 เกือบ 200 ปีมาแล้วว่าเหล็กกล้าเป็นพื้นฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรม ฉะนั้นต้องมีให้ได้. ที่ผมบอกทฤษฎีศตวรรษที่ 19 หมายความว่ามันเป็นอุตสาหกรรมโบราณ คุณต้องอยู่บนปัจจัยบางอย่าง เช่น 1. ถ่านหินหรือพลังงาน 2. เหล็ก

แต่ในปัจจุบันนั้นไม่ใช่ พื้นฐานอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดที่จะอยู่รอดบนโลกปัจจุบันนี้คือ 'ความรู้' ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จับต้องได้อีกต่อไปแล้ว สังเกตไหมว่า ผู้ผลิตเหล็กกล้าในปัจจุบันคือประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย เพราะว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว มันไม่สามารถจะผลิตเหล็กหรือเหล็กกล้าแข่งกับประเทศกำลังพัฒนาได้ เพราะ 1.มันสกปรก 2.ราคามันไม่ค่อยดีเท่าไรนัก ฉะนั้นมันจะผลักสิ่งเหล่านี้ออกไปจากประเทศตัวเองมากเท่าที่จะมากได้

แต่ถ้าเมื่อไรก็แล้วแต่ที่อเมริกาหรือยุโรป อยากจะผลิตวัสดุที่มีความเหนียวและความแข็งเท่าเหล็ก มันจะเป็นเรื่องของอุตสาหกรรมความรู้แล้ว เช่น ยกตัวอย่างสุดโต่งเลยก็ได้เวลานี้มีการคิดพลาสติกที่มีความเหนียวและแข็งเท่ากับเหล็ก ด้วยความหวังว่าวันหนึ่งมันจะผลิตเครื่องรถยนต์ด้วยพลาสติกหมด ซึ่งจะทำให้มันเบาลง ดูแลได้ง่ายขึ้น

การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษมันเกิดขึ้นจากเหล็กกล้าจริงหรือ คำตอบคือไม่จริงทีเดียวนัก มันจริงครึ่งเดียว คำว่าปฏิวัติอุตสาหกรรมแบ่งเป็นสองขั้นตอนด้วยกัน อันแรกคือการปฏิวัติอุตสาหกรรมแบบง่ายๆ เช่นเอาน้ำตกมาหมุนเครื่องจักร แล้วก็ทำให้ปั่นฝ้ายได้ เกิดขึ้นประมาณกลางศตวรรษที่ 19. พอมาถึงปลายศตวรรษที่ 19 นักวิชาการเขาเรียกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ประมาณตั้งแต่ 1890 เป็นต้นมา ปฏิวัติครั้งนี้ไม่ได้อาศัยเพียงแค่เอาแรงงานน้ำตกมาทำเครื่องปั่นฝ้าย คราวนี้ใช้ความรู้ ใช้วิทยาศาสตร์ใส่ลงไปมากขึ้น

มาจนถึงปัจจุบันนี้อาจเรียกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 คือแทบจะไม่ได้ใช้อะไรเลยใช้แต่ความรู้อย่างเดียว เหมือนกับสินค้าที่มีคุณภาพบางชิ้น บางชนิดของอเมริกา มันมีแต่กระดาษแผ่นเดียว แล้วมันส่งไปเมืองจีน บอกมึงผลิตตามนี้ แล้วกูส่งคนไปคอยตามเช็คว่ามึงผลิตได้ตรงตามที่กูต้องการหรือเปล่า เท่านั้นเองแล้วก็ขายทั่วโลกเลย โดยไม่ใช้สินค้าที่ผลิตในอเมริกาเลย แต่ว่าอเมริกันรวย. ถามว่าจุดนี้เราพร้อมจริงหรือ เราแข่งกับจีนได้จริงหรือ ไม่มีทางเลย เราแข่งกับจีนไม่ได้. ง่ายๆ คือ เราไม่มีวัตถุดิบในประเทศเลย ที่อังกฤษ มันเริ่มต้นจากเหล็กที่มันมีวัตถุดิบในประเทศของตนเอง ถ่านหินมันก็มีเอง

การลุกขึ้นสู้ของชาวบ้าน
การต่อสู้ของชาวบ้านผมว่าอยู่ในจุดเริ่มต้น แต่ไม่ใช่ขั้นเริ่มต้นเสียทีเดียว ผมคิดว่ามันเริ่มก้าวหน้ามากขึ้น มากขึ้น ลองย้อนหลังไปประมาณ 30 ปีที่แล้ว ชาวบ้านไม่มีเสียงสักแอะ ไม่ว่านายทุนกับรัฐจะร่วมมือกันทำอะไรก็แล้วแต่ทำได้เต็มที่เลย ตัวสหวิริยาเอง 14 ปีที่แล้วไม่มีใครค้านสักคำ อยู่ๆ คุณมาเอาป่าพรุไปส่วนหนึ่ง มาสร้างโรงงาน ผลักภาระ ผลักมลภาวะให้แก่ชาวบ้าน ไม่มีใครร้องอะไรสักแอะ

แต่ปัจจุบันนี้ เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป 10 ปี 20 ปีแล้ว ตรงนี้ไม่เหมือนเก่าอีกแล้ว การที่คุณจะทำโรงงานอุตสาหกรรมแบบมักง่าย มันไม่ง่ายอีกแล้ว ในที่ต่างๆ โดยเฉพาะบางจังหวัด เช่นประจวบฯ มันสู้กันมาเยอะจนกระทั่งว่าทุกคนนี่มีประสบการณ์กันหมดแล้ว. คนประจวบฯ ได้เรียนรู้ว่า เฮ้ย เราไม่ใช่คนไม่มีสิทธิ์มีเสียงอีกต่อไป อย่างน้อยพี่น้องบ้านกรูด พี่น้องบ่อนอกลุกขึ้นสู้แล้วสามารถทำให้ไม่มีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นได้ ส่วนเรื่องรูปแบบลอกเลียนกันไม่ได้ ต้องคิดกันเองหมด

หัวใจสำคัญจริงๆ คนไทยทั้งประเทศเลย ผมว่าคุณต้องกล้าลุกขึ้นยืนก่อน ถ้าคุณไม่กล้าลุกขึ้นยืนคุณไม่มีทางสู้ได้ พอคุณลุกขึ้นยืนคุณต้องคิดเองแล้วว่ายุทธวิธีในแต่ละสถานการณ์ ควรจะเป็นอย่างไร ที่มันโชคดีมากๆ คือว่า มนุษย์เราพอคุณลุกขึ้นยืนครั้งแรกนะ ไอ้ห่า นั่งลงอีกไม่ได้ว่ะ โชคดีมากเลย เมื่อไรก็แล้วแต่ที่คุณกล้าลุกขึ้นยืน คุณนั่งลงไม่ได้แล้ว

ผมทำนายไม่ถูกหรอกว่าชาวบ้านจะชนะไหม? ผมบอกได้แต่เพียงว่า สหวิริยามันใหญ่กว่าสหยูเนี่ยน ใหญ่กว่าบริษัทที่จะสร้างโรงไฟฟ้าที่บ่อนอก บ้านกรูดเยอะ คนละระดับกันเลย ผมจึงคิดว่ามันจึงไม่ง่าย แต่ว่าเพียงแค่คุณลุกขึ้นยืนขึ้นมา แพ้หรือชนะก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญแล้ว แค่คุณนั่งลงไม่ได้นี่คุณเป็นมนุษย์ขึ้นมา 200% แล้ว คนปากมูลในแง่หนึ่งก็ต้องว่าแพ้ แต่ในแง่หนึ่งมันไม่ได้เป็นมนุษย์แบบเดิม มันไม่ใช่อีกแล้ว

กฎหมายกับการต่อสู้
ในขณะเดียวกันนั้น เราก็ต้องผลักดันให้เกิดการรองรับการต่อสู้ของชาวบ้านในรัฐธรรมนูญด้วย แม้ผมจะไม่เชื่อว่ามันจะมีกฎหมายอะไรที่เกิดขึ้นมาแล้วจะทำให้นายทุนทั้งหลายยอมไม่ลดต้นทุนของการลงทุน ถ้ามีแค่กฎหมายอย่างเดียว แล้วประชาชนอยู่เฉยๆ ทุนก็จะผลักภาระลงมาให้แก่สังคม ให้แก่ชาวบ้าน อันนี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ถ้าเราเป็นนายทุนเราก็ทำอย่างเดียวกัน

กฎหมายจะช่วยในแง่ที่ว่า เวลาคุณลุกขึ้นมา คุณลุกขึ้นโดยอย่างน้อยมีฐานทางกฎหมาย ทะเลาะกับตำรวจได้มากขึ้น เพราะคุณไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ในขณะเดียวกันมีแต่กฎหมายเฉยๆ โดยคนไม่ยอมลุกขึ้นมา ไม่มีในโลกนี้หรอก ไม่ใช่เฉพาะเมืองไทยนะ ฝรั่งที่ไหนก็แล้วแต่ ถ้าเกิดมันไม่กล้าลุกขึ้นมายืน ใครเอาเปรียบมันได้ก็ต้องเอา รวมทั้งตัวเราเองด้วย เราไม่ใช่มนุษย์วิเศษอะไร ถ้ามีคนอื่นยอมให้เราเอาเปรียบ กูก็เอา แต่กูกลัวมันต่างหาก กลัวมันเตะเรา กลัวมันลุกขึ้นมาด่าเรา เราถึงไม่เอาเปรียบมัน ไม่ใช่กฎหมายอย่างเดียว แต่ในเมืองไทย เราชอบพูดอะไรต่ออะไรก็กฎหมาย กฎหมายอย่างเดียวมีประโยชน์อะไร

ทุนนิยมและอุตสาหกรรมคนโง่
ผมว่าอย่างน้อยที่สุดถ้าคุณ (ชาวบ้าน) สามารถยันเขา (สหวิริยา) อยู่ในระยะปีสองปีแรก มันทำอะไรไม่เป็น เท่าที่ผมเห็นมานะ นายทุนทุกแห่ง ทุกรายในประเทศไทย เผชิญหน้ากับการลุกขึ้นมาสู้ของชาวบ้านจะทำอะไรไม่เป็น มันจะทำอะไรโง่ๆ นายทุนนี่ก็น่าสงสารนะ ความที่มันไม่เคยอยู่ในสภาพที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาสู้ มันจึงโดนเขาหลอกเยอะเลย จะมีแก๊งค์มาขายบริการกับบริษัทในการทำงานมวลชน จ้างที 10 ล้าน 20 ล้าน...ไม่เคยประสบความสำเร็จสักที

จนถึงวันนี้ผมยังเห็นน้อยมากสำหรับนายทุนไทยที่รู้วิธีจัดการที่เป็นธรรมกับชาวบ้าน และยอมรับได้ เช่นราคาของแก๊งค์ต้มตุ๋นทั้งหลายที่บอกว่าทำงานมวลชนเป็นนี่ เอาไปปรับปรุงโรงงานของตัวเองจะดีกว่า เวลานี้ชาวบ้านที่บางสะพาน มีฝุ่นละอองแขวนลอยขนาดเล็กในกระบวนการผลิตเหล็ก แล้วลมพัดไป ชาวบ้านก็สูดดมกัน จนกระทั่งมีปัญหาเรื่องโรคปอดสูงมาก ถามว่าคุณทำให้สิ่งนี้มันลดลงได้ไหม... คำตอบคือได้ แต่คุณต้องลงทุนเพิ่มขึ้นนะ ซึ่งมันจะไม่ลงทุน เงินที่ควรจะลงทุนตรงนี้กลับเอาไปจ้างพวกต้มตุ๋น พวกนักเลง

ผมเชื่อว่าทุนนิยมมันมีหลายหน้า แต่ถ้าเราปล่อยให้คนไม่กี่คนเป็นคนกำหนดว่าทุนนิยมต้องมีหน้าตาอย่างไร โดยที่เราไม่ลุกขึ้นมาบอกว่า ไม่ใช่, ทุนนิยมของกูต้องหน้าแบบนี้ ไม่ใช่หน้าแบบมึง ทุนนิยมมันเลยโหดร้ายมากขึ้นๆ ผมยังไม่อยากจะต่อสู้กับทุนนิยม ขอให้เป็นทุนนิยมที่เราต้องมีส่วนกำหนดบ้างว่าหน้ามึงต้องเป็นยังไง หน้ามึงต้องเป็นธรรม ไม่ใช่หน้ามึงเอาแต่กำไรอย่างเดียว ทำให้ทุนนิยมมันเชื่องลงกว่านี้หน่อยได้ไหม เราคุมมันบ้างได้ไหม

อย่างสหวิริยามันเป็นอุตสาหกรรมคนโง่ คุณซื้อเครื่องจักรฝรั่งมาวาง คุณซื้อวัตถุดิบมาวาง จ้างฝรั่งมาบอกว่าต้องจุดไฟยังไง เผายังไง เปิดเครื่องตรงไหน กดปุ่มตรงไหน พอเราทำเป็น เราก็นั่งกดไป เราก็ได้เหล็กออกมา มันเป็นอุตสาหกรรมคนโง่ ลองนึกดูว่าถ้าคุณทำการผลิตอะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่เพียงอุตสาหกรรม อะไรก็ตามที่คุณต้องเข้าใจคนไทยมากกว่าouh ยกตัวอย่างเช่น ซึ่งผมไม่ได้พูดในเชิงเชียร์นะ บริษัท Plan ขายอะไร... ขายหัวสมอง อย่างด้านสถาปัตยกรรม ซึ่งไม่ใช่การไปลอกหนังสือฝรั่งมา คุณต้องเข้าใจวิถีชีวิตคนไทย คนไทยอยู่กันอย่างไร คนไทยประชุมยังไง เราจะสร้างหอประชุมแบบไทยแบบไหน คุณต้องเข้าใจคนไทย คุณเริ่มขายสิ่งที่มันเป็นซอฟต์แวร์ (Software) ถึงตอนนั้นคุณรู้เลยว่าสิ่งที่คุณขายคือ คน. คุณไม่สามารถที่จะเป็นศัตรูกับคนที่อยู่รอบข้างคุณได้ ฉะนั้น บริษัท Plan ก็จะเสนอภาพตัวเองเป็นผู้ผลิตที่มีความเข้าใจ เห็นแก่สังคม ซึ่งอาจโกหกหมดก็ได้ แต่การที่มันต้องแสดงอันนี้ไม่เหมือนกับสหวิริยาหรือบริษัทอื่นๆ ซึ่งมองไม่เห็นหัวคน

สังเกตไหมว่า ทำไมบิล เกตส์ ถึงเป็นผู้บริจาครายใหญ่ของโลก ถ้าเราเกลียดขี้หน้ามัน จะซื้อของมันทำไม มาซื้อลีนุกซ์ไม่ดีกว่าเหรอ ทำทุกอย่างได้เหมือนกันหมด บางด้านดีกว่าวินโดวส์ด้วยซ้ำ ดังนั้น เขาจึงต้องทำให้มันน่ารักไง แบ่งกำไรมาสองหมื่นล้านต่อปี เที่ยวแจกโน่นแจกนี่ ให้หน้าตาดูดีขึ้น แต่กับพวกที่เรากำลังต่อสู้อยู่มันไม่ใช่

ความรุนแรง
ความรุนแรงอาจเกิดได้อีก เพราะเมื่อเขาคิดไม่ออก ก็อาจนึกได้แค่ว่าไอ้นี่ค้านกู กูไปจ้างมือปืนยิงเลย แล้วเข้าใจว่าการคัดค้านจะหมดไป ไม่ได้นึกว่านอกจากคนนี้ มันยังมีคนอื่นที่จะลุกขึ้นมาอีก จะยิงหมดทั้งบางสะพานเหรอ ยิงไม่ไหวหรอก ถ้ามันกลับมานั่งลงคุยกันว่าโอเคผมอยากได้อย่างนี้ คุณอยากได้อะไร แล้วมันมีทางประนีประนอมกันไหม ผมคิดว่าหลายโครงการอาจจะผ่านได้ คุณต้องลุกขึ้นยืนมาสู้กับมัน แน่นอน โดยไม่ใช่เอาชีวิตไปเสี่ยงเล่น เรารักษาความปลอดภัยเราเองที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วผมเชื่อว่าเรารักษาได้ด้วยถ้าเกาะกลุ่มแบบนี้ เพื่อนบ้านเรา คอยดูแลเรา เราดูแลเขา ถ้าเราสู้อยู่คนเดียวก็ตาย

ในระยะยาวผมเชื่อว่ากลุ่มทุนก็จะเรียนรู้ เขาจะพบว่า วิธีการมาเจรจากับชาวบ้านถูกกว่า แทนที่คุณจะเอาให้ได้ 100% คุณอาจจะลดลงมาเหลือ 75% สิ่งที่คุณจะได้ แต่คุณลงทุนน้อยลง ลงทุนจ้างมือปืน ห่าเหวอะไรน้อยลง มันก็อยู่ในจุดที่คล้ายๆ ว่าประนีประนอมกันได้. มีตัวอย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินในยุโรป ในเยอรมัน ที่ตั้งชาวบ้านเป็นกรรมการโรงไฟฟ้าเลย และชาวบ้านมีสิทธิสั่งหยุดโรงไฟฟ้าทันที ถ้าชาวบ้านบอกกูเหม็นว่ะ มึงหยุด อย่างนี้ชาวบ้านเริ่มเกิดความไว้วางใจว่า จะโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ได้ แต่กูมีสิทธิสั่งหยุดเมื่อไรก็ได้ แล้วโรงไฟฟ้าก็ต้องรู้สึกว่าถ้าขืนปล่อยควันพิษแบบแม่เมาะ ลำปาง ชาวบ้านสั่งหยุด ขาดทุนตายแน่ เพราะฉะนั้นมันก็ลงทุนล้างไอ้เครื่องกรองควัน ค่าเครื่องกรอง. คุณคิดไหม กฟผ.ทารุณต่อชาวแม่เมาะขนาดไหน ถ้ายอมติดเครื่องกรองควันทั้ง 14 หรือ 16 ปล่อง อย่างมากที่สุดพวกเราอาจต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้นยูนิตละไม่ถึงครึ่งสตางค์ แต่มันไม่ติด ทั้งที่ไม่ได้แข่งกับใคร ผูกขาดอยู่แล้ว

รัฐวิสาหกิจของไทย มันคิดอะไรในเชิงธุรกิจมากกว่าการรับใช้ชาวบ้าน อย่างกรณีเขื่อนปากมูล ถามว่าเขื่อนปากมูลเกิดขึ้นเพราะอะไร เหตุผลหลักจริงๆ ถ้าไปดูการป้อนไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้า อีสานใต้ถือเป็นช่องโหว่ กำลังไฟฟ้าค่อนข้างน้อย วิธีการจะแก้ปัญหาตรงนี้ทำได้สองอย่าง คือส่งไฟฟ้าจากเขื่อนลำตะคองมา มูลค่าขายเพิ่มขึ้นมาอีก กับดึงไฟมาจากหนองคาย แถวทางอีสานเหนือลงมา สองอย่างนี้ กฟผ.ไม่เอาทั้งคู่ และใช้วิธีสร้างเขื่อนแทน

เขื่อนปากมูลจริงๆ ไม่ใช่สร้างเพื่อผลิตไฟฟ้าเข้าไปป้อนระบบ แต่เพื่อเวลาที่ไฟตก เพิ่มให้ไฟเกิดเสถียรภาพ ซึ่งถ้าคิดในเชิงบริการประชาชน ต้องคิดว่า เออ..ลงทุนเพิ่มขึ้นหน่อย ในการต่อสายไฟจากอีสานเหนือลงมาอีสานใต้ เพราะมันจะเกิดความเดือดร้อนน้อยมาก ทางเลือกสองสามอย่าง คุณเลือกในแบบธุรกิจ ไม่ได้เลือกแบบผู้ที่เป็นผู้ให้บริการประชาชน

6. นิธิ-จอน ให้กำลังใจสมัชชาคนจน ชูรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมา
ประชาไท -
เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 50 ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเป็นประธานเปิดป้ายผ้า 'การพัฒนา สมดุล ยั่งยืนและเป็นธรรม' ณ ที่พักของสมัชชาคนจน 1,000 คน ที่มาจากภูมิภาคต่างๆ บริเวณกลางถนนข้างกระทรวงศึกษาธิการ ใกล้สะพานมัฆวานรังสรรค์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเจรจาแก้ไขปัญหาอันเนื่องจากนโยบายรัฐร่วมกัน

หลังเปิดป้ายผ้า ศ.ดร.นิธิ กล่าวว่า เพิ่งมาจาก อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าพรุ 70 - 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นพื้นที่สาธารณะ แต่มีปัญหาการออกเอกสารสิทธิอย่างไม่ตรงไปตรงมาของเจ้าหน้าที่ให้แก่บริษัทเหล็กแห่งหนึ่ง(สหวิริยา) ซึ่งหลังจากชาวบ้านบางสะพานรู้ว่า สมัชชาคนจนมาชุมนุมต่อรองกับรัฐบาลให้แก้ปัญหาที่กรุงเทพฯ จึงฝากของเค็ม ปลาแห้ง ขนมจาก และมะพร้าวกะทิมาให้ ส่วนชาวบ้านกรูดที่อยู่ใกล้กันนั้นก็ฝากกะปิมาให้ด้วย สำหรับทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ซื้อพวกของแห้งจากทะเลมาฝาก เพื่อแสดงว่าสมัชชาคนจนไม่โดดเดี่ยวและมีสำนึกเพื่อสู้ต่อไปในวันข้างหน้า

ศ.ดร.นิธิ กล่าวอีกว่า การพัฒนาที่สมดุล ยั่งยืน ต้องเป็นธรรมด้วย แต่จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีอำนาจต่อรองที่เท่าเทียมกันคือ แม้สมัชชาคนจนมาเพียง 2 คน ก็ควรสามารถเจรจากับรัฐได้ในแบบที่นายกสมาคมหอการค้าไทย หรือนายกสภาอุตสาหกรรมสามารถเข้าไปเจรจากับรัฐได้โดยไม่ต้องมากลิ้งเกลือกนอนถนนแบบสมัชชาคนจน

หลังจากนั้น ศ.ดร.นิธิ ได้ให้ความเห็นต่อรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า การยึดอำนาจไม่สามารถทำให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่ดี เนื้อหาของรัฐธรรมนูญนี้พยายามให้อำนาจระบบราชการมาคุมการเมืองไทยแตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีนักการเมืองซึ่งเราพอจะคุมได้ แต่หากเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอเราคุมไม่ได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือการเมืองต้องเปิดโอกาสให้คนตัวเล็กต่อรองได้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงคัดค้านรัฐธรรมนูญ 2550 และเสนอให้ลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้ รวมทั้งเอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับมา เพราะแม้จะดีหรือเลวอย่างไรก็ไม่เอาเทวดามาร่าง แต่เปิดโอกาสรับฟังความเห็นจากประชาชน ทั้งนี้ ความเห็นก็อาจมีผิดได้ เช่น เรื่องการเป็น ส.ส.ต้องจบระดับปริญญาตรี แต่เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ เพราะเป็นรัฐธรรมนูญของเรา ดังนั้นจึงต้องนำกลับมาแล้วแก้ไขใน 2 มาตรา คือ ให้มีการเลือกตั้งภายใน 60 วัน และหลังจากมีรัฐสภาจากการเลือกตั้งต้องตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งนี้ สัญลักษณ์ในการคว่ำรัฐธรรมนูญ 2550 คือสีเขียว (ตองอ่อน)

นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ และประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ได้เข้าไปเยี่ยมสมัชชาคนจนเช่นกัน กล่าวว่า ขอเป็นกำลังใจให้สมัชชาคนจนและขอให้เจรจาในการต่อสู้ที่คงยืดเยื้อสำเร็จ หวังว่าการเจรจาต่อรองคงจะก้าวหน้าเพราะเราไม่อยู่ในยุคที่ประชาชนมีส่วนร่วมในสังคม ดังนั้นการต่อสู้คงยาวนานจริงๆ. นายจอนพูดถึงสิ่งที่ทำที่ผ่านมาว่า ได้พยายามรณรงค์ในประเด็นที่มีผลกระทบกับประชาชนหลายๆ ด้าน เช่น การเข้าถึงยา เพราะส่วนหนึ่งของปัญหาคือเรากำลังอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ที่ต่างประเทศบังคับขายยาโดยสิทธิบัตรที่แพงมาก จึงเห็นด้วยกับการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) ของรัฐบาลนี้

นายจอน ยังกล่าวถึงงานที่ทำอีกด้านหนึ่งคือ การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนต่อการร่างรัฐธรรมนูญ โดยบอกว่าเวทีดังกล่าวไม่ใช่เวทีเดียวของภาคประชาชน แต่มีเวทีอื่นๆ อีกมาก ทว่ามีสิ่งที่เป็นเรื่องมหัศจรรย์คือ ข้อเสนอจากภาคประชาชนในทุกเวทีกลับเหมือนกันหมดจึงเสนอต่อคณะร่างรัฐธรรมนูญ 2550. แต่เมื่อร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ออกมา สิ่งที่ประชาชนต้องการกลับไม่ออกมา เช่น ขอให้เคารพสิทธิของประชาชนในทุกส่วนอย่าง กลุ่มชาติพันธุ์ เรื่องความหลากหลายทางเพศ คนพิการ หรือสิทธิชุมชนที่จะตัดสินว่ายอมหรือไม่เมื่อรัฐมีโครงการจะเข้ามา "ไม่ใช่เมื่อรัฐจะสร้างเขื่อน โรงไฟฟ้าแล้วบอกให้ประชาชนต้องเสียสละ ประชาชนต้องได้ดูแลทรัพยากรของตัวเอง" นายจอน กล่าว

จากนั้นจึงพูดต่อไปว่า ข้อเรียกร้องที่สำคัญในรัฐธรรมนูญคือความหลากหลายในสังคม ยกตัวอย่างเช่น คนอีสานทำไมต้องเรียนหนังสือด้วยการใช้ภาษาไทยภาคกลาง เป็นเรื่องแปลกเพราะทั่วโลกใช้ภาษาท้องถิ่นได้ เรามีความหลากหลายและควรเคารพความหลายหลาย

นอกจากนี้ นายจอนยังกล่าวถึงระบบรัฐสวัสดิการที่ควรมีในรัฐธรรมนูญ คำว่ารัฐสวัสดิการหมายความว่า ประชาชนอยากให้รัฐทำหน้าที่สำคัญคือเป็นหลักประกันว่า ประชาชนจะต้องอยู่ดีกินดี มีความมั่นคงในชีวิต ทุกคนต้องมีที่ดิน ดังนั้นต้องมีการปฏิรูปที่ดินอย่างจริงจัง ทุกคนต้องมีที่อยู่ ต้องได้รับการศึกษาฟรีตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงปริญญาตรีที่ตอนนี้ไม่ฟรีจริง

ระบบรัฐสวัสดิการคือการเปิดโอกาสให้คนเท่าเทียมกัน คนแก่ต้องมีบำนาญจากรัฐ แต่ทุกวันนี้ได้เพียงสูงสุดแค่ 500 บาทต่อเดือน กลายเป็นการลดคุณภาพในสังคม เพราะคนหนุ่มสาวต้องออกไปทำงานในเมืองเพื่อนำเงินมาส่งเสียเนื่องจากรัฐไม่ยอมส่งเสีย หรือประชาชนต้องสามารถตั้งโรงเรียนแล้วคิดหลักสูตรเองได้ ตั้งสถานีอนามัยเองได้ นี่คือระบบรัฐสวัสดิการที่ประชาชนมีส่วนร่วม

นายจอนกล่าวอีกว่า ต้องเก็บภาษีที่เป็นธรรม เช่น ภาษีมรดก หรือภาษีที่ดิน คนมีมากต้องเก็บแพง อีกทั้งรัฐต้องยอมรับการเมืองภาคประชาชนทั้งในการร่างกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเวลาจะทำข้อตกลงกับต่างประเทศ กรณีการทำ FTA เช่นที่ทำกับจีน ได้ทำให้เกษตรกรรายย่อยที่ปลูกหอมกระเทียมล้มไป รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่มีหลักประกันให้ประชาชน ให้อำนาจระบบราชการผู้มีอำนาจเก่า อย่างนี้เรายอมรับไม่ได้

หลังพูดจบ ทางสมัชชาคนจนได้นำอาหารมาเลี้ยงบรรดาผู้มาให้กำลังใจรวมทั้งสื่อมวลชน ซึ่งนายจอน และ ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นั่งล้อมวงทานอาหารร่วมกับสมัชชาคนจน หลังรับประทานอาหารเสร็จ ทางสมัชชาคนจนได้จัดการแสดงจากภูมิภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโนราห์จากภาคใต้} หมอลำจากภาคตะวันออกฉียงเหนือ} และเพลงแหล่จากภาคกลาง} สร้างความครื้นเครงให้กับผู้มาร่วมชุมนุมที่มีที่มาจากหลากหลายพื้นที่ โดยระหว่างการแสดงและร้องรำในแต่ละภาคนั้น นักดนตรีก็ได้ร่วมแลกเปลี่ยนกันเล่นเครื่องดนตรีของภูมิภาคอื่นอย่างเฮอา

แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: การพัฒนาที่สมดุล ยั่งยืน และเป็นธรรม
การพัฒนาโดยตัวของมันเองไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ แต่การพัฒนาที่ไม่ใส่ใจความสมดุล ความยั่งยืน และความเป็นธรรมที่อาศัยชื่อของการพัฒนา เพื่อปล้นสะดมสมบัติของส่วนรวมหรือสมบัติของชาวบ้านมาบำเรอคนมีอำนาจจำนวนน้อยต่างหากเป็นเรื่องน่ารังเกียจ

คุณสมบัติสำคัญสามประการของการพัฒนาคือความสมดุล ยั่งยืน และเป็นธรรม เป็นคุณสมบัติที่เชื่อมโยงกัน และแยกออกจากกันไม่ได้ ขาดคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่ง ก็ทำให้การพัฒนากลายเป็นการปล้นสะดมทรัพย์สมบัติจากคนส่วนใหญ่

แน่นอนว่าความสมดุลในการพัฒนาย่อมหมายถึงการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติในลักษณะอิงกัน โดยคำนึงหน้าที่ของสิ่งต่างๆ ในระบบนิเวศ แม้ว่าบางสิ่งในระบบไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยตรงก็ตาม อีกทั้งธรรมชาติส่วนนั้นก็มักมีผู้อื่นใช้อยู่ แม้ไม่ได้ใช้ในลักษณะแสวงหาผลกำไรสูงสุดแก่ผลผลิตมวลรวมของประเทศก็ตาม แต่เป็นหนทางการดำรงชีวิตที่สุขสงบและมั่นคงแก่ผู้คนได้อย่างยั่งยืน ความสมดุลในการพัฒนาจึงหมายถึงความยั่งยืนของธรรมชาติอันเป็นฐานของการพัฒนาอย่างแท้จริง

กล่าวโดยสรุป ความสมดุลในการพัฒนาคือการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติในลักษณะที่เปิดให้ธรรมชาติสามารถฟื้นตัว บรรลุความยั่งยืนได้ตลอดไป. นอกจากธรรมชาติแล้ว ความสมดุลในการพัฒนาต้องหมายถึงความสมดุลทางสังคมด้วย หมายความว่าทุกส่วนของสังคมต้องได้ประโยชน์ ในวิถีทางที่เขาสามารถใช้ (ทุน) ที่เขามีอยู่ หรืออาจเข้าถึงได้ ในการพัฒนาขีดความสามารถของตนเองทั้งทางกายและทางจิตใจ หากแนวทางการพัฒนาใดๆเป็นแต่ปลดเปลื้องความสามารถของเขาให้หมดหนทางใช้ประโยชน์ความสามารถที่มีอยู่ จนกลายป็นคนไร้ทักษะ กลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือราคาถูก สำหรับผู้ประกอบการอย่างไม่มีทางเลือกการพัฒนาเช่นนั้น ย่อมไม่ใช่การพัฒนาที่สมดุล

ความสมดุลทางเศรษฐกิจต้องมีความหมายมากกว่าความเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม การพัฒนาที่สมดุลต้องหมายถึงโอกาสที่ทุกกลุ่มจะมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจหมายถึงลักษณะสามประการที่ขาดไม่ได้คือ

- มีหลักประกันอนาคต อันมิใช่บัญชีเงินฝากแต่หมายถึงหลักประกันว่า โอกาสที่แต่ละคนจะได้ใช้ทรัพยากรตามกำลังความสามารถ
ที่เขามีอยู่ตลอดไปหนึ่ง และ

- แม้ว่าการจัดการทรัพยากรจะเปลี่ยนไปอย่างไร เขาก็ยังมีอำนาจต่อรองได้ทัดเทียมกับคนอื่นที่เข้ามาร่วมใช้ทรัพยากรนั้นด้วยหนึ่ง เช่น ได้ทักษะที่จำเป็นอื่นๆ มาทดแทนทักษะการใช้ทรัพยากรเดิม

- ประการสุดท้ายความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ย่อมหมายถึงโอกาสที่จะได้เรียนรู้หรือพัฒนาตนเอง เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาได้ตลอดไป

ความยั่งยืนในการพัฒนาที่แสดงถึงความสมดุล นอกจากมีความหมายถึงความยั่งยืนของธรรมชาติอย่างที่กล่าวทั่วไปอยู่แล้ว ยังควรหมายถึงความยั่งยืนของสังคมหรือของคนด้วย ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคโลกาภิวัตน์ภายใต้การพัฒนาที่ยั่งยืนควรมีความสามารถที่จะรับความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดไป

ความเป็นธรรมในการพัฒนาคือจุดเริ่มต้นที่ขาดไม่ได้ หากจะมีการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนเกิดขึ้นได้จริง กล่าวโดยสรุป ความเป็นธรรมหมายถึงอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในการต่อรองที่เท่าเทียมกัน คนกลุ่มต่างๆ ต้องมีอำนาจดังกล่าวที่อาจใช้เพื่อต่อรองในการวางแนวพัฒนาอย่างเสมอภาค ไม่จำเป็นต้องมากลิ้งเกลือกอยู่กลางถนนจึงได้หูของผู้บริหารมาฟังความทุกข์ยากสักทีหนึ่ง ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
27 พฤษภาคม 2550

หน้าทำเนียบรัฐบาล เบื้องหน้ากลุ่มสมัชชาคนจน

7. สมัชชาคนจนกลับบ้านแล้ว เพื่อยืนยันไม่ได้มาเพราะมีเอี่ยว 'ยุบพรรค
ประชาไท - 30 พ.ค. 50 หลังจากปักหลักเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดการเจรจาแก้ไขปัญหาของเครือข่ายสมัชชาคนจน ล่าสุด ทั้งหมดได้เดินทางกลับแล้วในช่วงค่ำของวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 ด้วยรถโดยสารเช่าเหมา

นายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน เปิดเผยว่า สมัชชาคนจนทั้งหมดตัดสินใจเดินทางกลับภูมิลำเนา หลังจากปรึกษาหารือกันในช่วง 18.00 น. เนื่องจากการเจรจากับรัฐบาลอยู่ในระดับที่พอใช้ได้ และตัวแทนของนายกรัฐมนตรีรับปากและลงนามเป็นลายลักษณ์อักษรว่า จะประสานให้มีการเปิดโต๊ะเจรจาระหว่างรัฐบาลกับชาวบ้านโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ภายในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ ทำให้ครอบครัวของพี่น้องที่มาชุมนมมีความกังวล ทางเครือข่ายสมัชชาคนจนจึงเห็นพ้องกันว่า ควรจะเดินทางกลับไปรอที่ภูมิลำเนา นอกจากนี้ เพื่อเป็นการยืนยันว่าสมัชชาคนจนไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองด้วย

"นายทหารของนายกรัฐมนตรียืนยันว่า จะประสานให้นายกรัฐมนตรีมาเจรจากับสมัชชาคนจนภายวันที่ 15 มิถุนายนนี้ ซึ่งพี่น้องถือว่านั่นเป็นคำสัญญา เพราะที่จริงนายกรัฐมนตรีก็สัญญาไว้ตั้งแต่การพบปะกันเมื่อครั้งที่ผ่านมาที่จังหวัดอุบลราชธานีแล้ว พี่น้องส่วนใหญ่พอใจกับผลการเจรจา แต่อย่างไรก็ดี จากบทเรียนที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้ว่าการเจรจาก็คือการเจรจา สิ่งที่พี่น้องคาดหวังคือการปฏิบัติตามผลการเจรจา การแก้ปัญหายังไม่ยุติจนกว่าจะได้รับการปฏิบัติที่เป็นจริง"

นายบุญ แซ่จุง แกนนำเครือข่ายป่าชุมชนภาคใต้ จากจ.กระบี่ กล่าวว่า ผลการเจรจาในการเดินทางมาครั้งนี้ของสมัชชาคนจน ถือว่าเป็นการเริ่มต้นใหม่ที่จะผลักดันที่จะเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายที่จะลงไปสู่สังคมในหลายประเด็น เช่น มติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 เรื่องการพิสูจน์สิทฺธิในพื้นที่ทำกิน ส่วนราชการเองก็ยอมรับว่ามันเป็นนโยบายที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน

ด้านนางผา กองคำ ชาวบ้านจาก จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งได้รับผลกระทบจากเขื่อนราศีไศล ให้ความเห็นว่าเรื่องการเจรจานั้น รู้สึก 50-50 สิ่งที่สมัชชาคนจนได้คือหลักการ แต่การปฏิบัติยังไม่เห็น อย่างไรก็ดี ก่อนมาก็ตั้งเป้าไว้แล้วว่า จะมาเอาทุกอย่างให้สำเร็จไม่ได้ แต่คงได้หยิบเอาบางอย่างที่เป็นหลักการสำคัญที่จะทำให้เดินต่อไปได้ในวันข้างหน้า

นางผา กล่าวต่อว่า ไม่ได้คาดหวังว่ารัฐจะทำหรือไม่ทำในหลายๆ เรื่องที่สมัชชาเรียกร้อง เพราะสู้มาหลายรัฐบาลแล้วก็ยังคาราคาซัง แต่ก็หวังว่ารัฐบาลนี้น่าจะทำเรื่องบางอย่างได้ เช่น กรณีปัญหาที่มีการดำเนินการแก้มาแล้วประมาณหนึ่ง รัฐบาลนี้อาจจะผลักดันให้สำเร็จได้ แต่บางกรณีนั้น เช่น ปัญหาเขื่อน คงจะให้สำเร็จในรัฐบาลสมัยนี้ซึ่งมีอายุเหลืออีกไม่กี่เดือนคงไม่ได้ ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่เราได้จากการมาเจรจากับรัฐบาลชุดปัจจุบัน คือตัวสัญญา ซึ่งเมื่อรัฐบาลชุดนี้รับรองเรา รัฐบาลชุดต่อไปก็น่าจะได้สานต่อ

"บรรยากาศในการชุมนุมครั้งนี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาลอื่นหรอก นายกฯ ก็ลงไปพบพวกเราเหมือนกัน แต่ที่ผ่านมาไม่มีการลงนามหรือทำสัญญากัน ซึ่งนี่ก็เป็นบทเรียน ทำให้เราต้องขอให้มีการลงนาม" นางผากล่าว และว่า "การเดินทางกลับ เป็นการแสดงด้วยว่า เราไม่ได้มาด้วยเรื่องการเมืองเชียร์พรรคใด เพราะไม่ว่าพรรคไหน สมัชชาคนจนก็ต้องเดินทางมาเรียกร้องการแก้ไขปัญหา และหากรัฐบาลไม่ดำเนินการตามสัญญา เราก็พร้อมที่จะเดินทางมากรุงเทพฯ อีกทุกเมื่อ"

ด้านบรรยากาศในการเดินทางกลับของสมัชชาคนจนเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย ด้วยรถโดยสารเช่าเหมาที่รัฐบาลจัดให้ โดยระหว่างการรื้อเพิงพักและเก็บข้าวของ แกนนำสมัชชาหลายคนได้เปิดเวทีปราศรัยเล็กๆ ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ทุกคนยืนยันว่า พร้อมที่จะเดินทางกลับมาชุมนุมที่กรุงเทพมหานครอีกครั้ง หากนายกรัฐมนตรีไม่เปิดการเจรจาตามสัญญา

อนึ่ง การตัดสินใจเดินทางกลับภูมิลำเนาของสมัชชาคนจนในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อเวลาเที่ยงของวันที่ 29 พ.ค. กลุ่มสมัชชาคนจนหลายร้อยคนได้เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐมนตรีกระทรวงที่ยังไม่เปิดการเจรจากับสมัชชาคนจนเปิดการเจราจา ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงพลังงาน, กระทรวงการคลัง, และเรียกร้องให้รัฐมนตรีกระทรวงที่ได้ดำเนินการเจรจาไปแล้วลงนามในข้อตกลงว่า จะดำเนินการตามผลการเจรจา ซึ่งได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

โดยกลุ่มสมัชชาคนได้ชุมนุมอยู่ที่หน้าทำเนียบเป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จนกระทั่งนายทหารคนสนิทของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มาพบและข้อร้องให้สมัชชาคนจนถอยกลับไปที่บริเวณที่พักชั่วคราวข้างกระทรวงศึกษาธิการ โดยตนจะไปแจ้งความคืบหน้าในการประสานงานกับนายกรัฐมนตรีและฝ่ายต่างๆ ให้ ในเวลา 16.00 น. กลุ่มสมัชชาคนจนจึงกลับมาปักหลักรอที่ข้างกระทรวงศึกษาธิการ

จนกระทั่งเวลา 16.00 น. นายทหารคนสนิทของนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปพบสมัชชาคนจนตามนัด และได้ลงนามในหนังสือว่าจะดำเนินการทำเรื่องถึงนายกรัฐมนตรี และประสานให้มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับชาวบ้าน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานที่ทำเนียบรัฐบาล ภายในวันที่ 15 มิถุนายน โดยในวันที่ 8 มิถุนายน นี้ จะมีการแจ้งผลการนัดหมายไปยังสมัชชาคนจนต่อไป


คลิกกลับไปทบทวนเรื่องเดียวกัน ตอนที่ ๑

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com