โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 30 May 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๖๑ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (May, 30, 05,.2007)
R
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ภายใต้นโยบายพัฒนา สิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศมีความหมายแต่เพียงทรัพยากรที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงสุดในตลาด ความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันอย่างละเอียดอ่อนในระบบนิเวศหนึ่งๆ ถูกถือว่ามีค่าเท่ากับศูนย์ ฉะนั้นจึงหาอะไรที่เสื่อมโทรมอย่างกว้างขวางและรวดเร็วภายใต้นโยบายพัฒนา ยิ่งไปกว่าสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าประเภทอื่นๆ แม่น้ำ ชายฝั่ง ทะเล ภูเขา พื้นที่การเกษตร พื้นที่ชุ่มน้ำ และอื่นๆ ถูกทำให้เสื่อมคุณภาพหรือถูกเปลี่ยนไปใช้ในแนวทางที่จะไม่มีการฟื้นตัวได้อีกเลยในอนาคต
30-05-2550

fight for life
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.

กิจกรรมการเรียนรู้และสนับสนุนพลังทางสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: จากกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ถึงสมัชชาคนจนหน้าทำเนียบฯ (ตอนที่ ๑)

กองบรรณาธิการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
ขอขอบคุณสื่อมวลชนที่ร่วมเดินทางไปกับคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ประกอบด้วย มติชน ผู้จัดการ บางกอกโพสต์ โพสต์ทูเดย์ และประชาไท

รายงานข่าวต่อไปนี้ กอง บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมมาจากสื่อออนไลน์ต่างๆ
เป็นเรื่องเกี่ยวกับกิจกรรมของคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ที่ลงไปดูพื้นที่การต่อสู้ของภาคประชาชน
โดยได้ร่วมกันไปกับสื่อมวลชนหลายฉบับ อาทิเช่น มติชน ผู้จัดการ
บางกอกโพสต์ โพสต์ทูเดย์ และประชาไท
ไปยังพื้นที่บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สถานที่ตั้งของกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง
ซึ่งกำลังปกป้องพื้นที่ป่าพรุอันอุดมสมบูรณ์ผืนสุดท้าย จากการเข้ามากว้านซื้อที่ดิน
และทำประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะโดยมิชอบ เพื่อขยายโรงถลุงเหล็กของบริษัทเครือสหวิริยา
คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงและชาวบ้านกรูดปักป้าย
"เขตเสี่ยงภัยต่อชีวิต ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม" จากนั้นได้เข้าเยี่ยมและเปิดป้ายผ้าขนาดใหญ่
ข้อความว่า "การพัฒนาที่ยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม" ที่บริเวณที่ชุมนุมของกลุ่มสมัชชาคนจน
ซึ่งได้มาปักหลักทวงสัญญาใกล้ทำเนียบรัฐบาล
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๖๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

กิจกรรมการเรียนรู้และสนับสนุนพลังทางสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
จากกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ถึงสมัชชาคนจนหน้าทำเนียบฯ (ตอนที่ ๑)

กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม

รายงานต่อไปนี้ประกอบด้วยเนื้อหา 7 หัวข้อ ประกอบด้วย

1. ม.เที่ยงคืนร่วมกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ประกาศที่ป่าพรุเป็น "พื้นที่เสี่ยงภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม
2. ชาวบางสะพานร่วม ม. เที่ยงคืน ประกาศ 'พื้นที่เสี่ยงภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม'
3. ขบวนการเสื้อเขียว: การต่อสู้เพื่อป่าพรุผืนสุดท้ายของบางสะพาน
4. ป่าพรุแม่รำพึง: การต่อสู้เพื่อยืนหยัดพลังแห่งชุมชน
5. นิธิ เอียวศรีวงศ์: ถึงนักสู้ทั่วประเทศ "เมื่อไรที่คุณกล้าลุกยืน คุณนั่งลงไม่ได้อีกแล้ว"
6. นิธิ-จอน ให้กำลังใจสมัชชาคนจน ชูรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมา และ
7. สมัชชาคนจนกลับบ้านแล้ว เพื่อยืนยันไม่ได้มาเพราะมีเอี่ยว 'ยุบพรรค

1. ม.เที่ยงคืนร่วมกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ประกาศที่ป่าพรุเป็น "พื้นที่เสี่ยงภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม
ประชาไท - เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 50 ที่บริเวณพื้นที่ป่าพรุแม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชาวบ้านจากกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ร่วมกับนักวิชาการจาก ม.เที่ยงคืน นำโดยสมเกียรติ ตั้งนโม, นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชัชวาล ปุญปัน, ไพสิฐ พานิชกุล ประกาศให้พื้นที่ป่าพรุแม่รำพึงเป็น "พื้นที่เสี่ยงภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม" อันเป็นผลกระทบของโครงการจัดสร้างโรงถลุงเหล็กขนาดใหญ่ของเครือสหวิริยา

ก่อนอ่านคำประกาศ สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดี ม.เที่ยงคืน เกริ่นถึงความขัดแย้งของชาวบ้านบางสะพานกับเครือสหวิริยา ที่ต้องการสร้างโรงถลุงเหล็กว่า เป็นการต่อสู้กันบนสองชีวิต สองแนวทาง คือวิถีชีวิตที่มุ่งไปสู่อุตสาหกรรม และชีวิตที่ดำรงอยู่ร่วมกับเกษตรกรรม โดยอาศัยพื้นที่ป่าพรุเป็นสนามประลอง แต่น่าอนาถเหลือเกิน ที่การต่อสู้นี้ เริ่มจากต้นทุนที่ไม่เท่าเทียม ไม่เสมอภาคกัน ฝ่ายหนึ่งมีทั้งเงินทุน ข้าราชการ, สื่อมวลชนในท้องถิ่น และมีทั้งมือปืน แต่ฝ่ายหนึ่งมีแต่สองมือ มีแต่ชีวิตและเลือดเนื้อ ซึ่งการต่อสู้ที่สุ่มเสี่ยงและต้นทุนที่ไม่เสมอกันนี้ จึงนำไปสู่การเสี่ยงภัย

จากนั้น นิธิ เอียวศรีวงศ์ อ่านคำประกาศของม.เที่ยงคืน ประกาศให้ป่าพรุแม่รำพึงเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม (ดูคำประกาศได้ในล้อมกรอบด้านล่าง) และนักวิชาการจาก ม.เที่ยงคืนและชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ได้ร่วมกันปักป้ายประกาศเขตพื้นที่เสี่ยงภัย ด้านหน้าทางเข้าบริเวณป่าพรุ ซึ่งชาวบ้านปักหลักดูแลรักษาและเฝ้าระวังมาเป็นเวลาหนึ่งเดือนกว่าแล้ว

ก่อนที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์จะได้นำคณะนักวิชาการและสื่อมวลชนลงดูพื้นที่โดยรอบบริเวณป่าพรุ ซึ่งทางบริษัทสหวิริยากล่าวว่าเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม แต่ในความจริงพบว่า พื้นที่ป่าชุ่มน้ำนี้ยังอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาศัยของพืชและสัตว์ และเป็นระบบนิเวศที่สำคัญของอำเภอบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มาเนิ่นนาน.

ในช่วงค่ำ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ ได้ร่วมกันจัดเวทีชาวบ้าน ศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกรณีการจัดสร้างโรงถลุงเหล็ก เพื่อหาทางต่อสู้และรักษาผืนป่านี้ต่อไป

คำประกาศมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
พื้นที่เสี่ยงภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม

ภายใต้นโยบายพัฒนา สิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศมีความหมายแต่เพียงทรัพยากรที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงสุดในตลาด ความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันอย่างละเอียดอ่อนในระบบนิเวศหนึ่งๆ ถูกถือว่ามีค่าเท่ากับศูนย์ ฉะนั้นจึงหาอะไรที่เสื่อมโทรมอย่างกว้างขวางและรวดเร็วภายใต้นโยบายพัฒนา ยิ่งไปกว่าสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าประเภทอื่นๆ แม่น้ำ ชายฝั่ง ทะเล ภูเขา พื้นที่การเกษตร พื้นที่ชุ่มน้ำ และอื่นๆ ถูกทำให้เสื่อมคุณภาพหรือถูกเปลี่ยนไปใช้ในแนวทางที่จะไม่มีการฟื้นตัวได้อีกเลยในอนาคต

พื้นที่เหล่านี้เกื้อกูลชีวิตที่หลากหลายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเขตเมืองร้อนอย่างประเทศไทย ความสัมพันธ์เชิงเกื้อกูลกันในระบบนิเวศนี้เอง ที่ทำให้รูปแบบชีวิตที่หลากหลายดำรงอยู่ได้ นับตั้งแต่พันธุ์พืช สัตว์ตัวเล็กๆ ที่ตามองไม่เห็น ไปจนถึงสัตว์ตัวใหญ่ และปลายสุดของห่วงโซ่ความสัมพันธ์นี้คือมนุษย์ หากระบบนิเวศหนึ่งถูกทำลายลง ก็เท่ากับสร้างความวิบัติให้แก่รูปแบบชีวิตที่หลากหลายดังกล่าว อันจะส่งผลถึงชีวิตของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ฉะนั้นการที่ชาวบางสะพานร่วมกันรักษาระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งกำลังถูกอำนาจเงินทำลายลงเพื่อนำไปใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางอุตสาหกรรม จึงเป็นความพยายามที่น่าสรรเสริญ เพราะเท่ากับทำให้ชีวิตอีกหลายรูปแบบ รวมทั้งชีวิตของลูกหลานในอนาคตมีหลักประกันที่มั่นคง หรือไม่ต้องเสี่ยงภัยจนถึงกับสูญสิ้นชีวิตนั่นเอง

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า พื้นที่ชุ่มน้ำตรงนี้ นอกจากให้ที่พักพิงอาศัยแก่ชีวิตในรูปแบบอื่นๆ แล้ว มนุษย์ยังได้พึ่งพิงอาศัยทั้งในด้านยารักษาโรค อาหาร และประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ ในทางธรรมชาติ เช่นเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ เป็นแนวปะทะคลื่นลม และเป็นแหล่งรองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก ก่อนไหลลงทะเล ชาวบางสะพานใช้ประโยชน์พื้นที่นี้ด้วยวิถีทางที่ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำตรงนี้ดำรงอยู่ต่อไปได้โดยไม่เสื่อมโทรม หรือเป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืนนั่นเอง

วิถีทางการใช้ประโยชน์เช่นนี้ เป็นวิถีทางที่อุตสาหกรรมไม่อาจทำได้ เพราะเริ่มต้นก็จะใช้เครื่องจักรเข้ามารื้อทำลายและขนดินมาถมเพื่อลบพื้นที่ชุ่มน้ำนี้ออกไปจากผืนโลกอย่างถาวร เพราะพี่น้องบางสะพานมองเห็นการณ์ไกล จึงรู้ว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบในทางร้ายแรงแก่ระบบนิเวศโดยรวมของบางสะพาน และแก่วิถีชีวิตของชาวบางสะพานทั้งในปัจจุบันและอนาคตอีกมาก ดังนั้นพี่น้องจึงได้ลุกขึ้นมาร่วมกันปกป้องทรัพย์ของชุมชนและแผ่นดินเอาไว้อย่างแข็งขัน

การกระทำเช่นนี้ของพี่น้องบางสะพาน ย่อมประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับที่พี่น้องชาวไทยในพื้นที่อื่นๆ ได้เคยประสบมาแล้ว นั่นคือผู้ได้ประโยชน์จากการทำลายระบบนิเวศ จะใช้อำนาจเงินและอิทธิพลเส้นสายที่ตัวมีอยู่เพื่อคุกคามพี่น้องที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพย์ของชุมชนและแผ่นดิน บางครั้งก็อาศัยอำนาจรัฐผ่านข้าราชการทุจริตฉ้อฉล บางครั้งก็อาศัยการดำเนินคดีทางกฎหมายซึ่งต้องกินเวลายาวนาน ก่อให้เกิดความยากลำบากแก่พี่น้องที่ต้องคดี บางครั้งก็อาศัยอิทธิพลเถื่อนเช่นนักเลงหัวไม้หรือมือปืน เพื่อทำร้ายร่างกายและทรัพย์สินของพี่น้อง ดังเช่นที่คุณเจริญ วัดอักษร แห่งอำเภอบ่อนอก (จ.ประจวบคีรีขันธ์) ได้ประสบมาแล้ว

พื้นที่นี้จึงเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยต่อชีวิต ทั้งในแง่ที่การทำลายระบบนิเวศ ย่อมทำให้ทุกชีวิตที่ได้อาศัยพึ่งพิงระบบนิเวศนั้นๆ ต้องเสี่ยงภัย และในแง่ที่ว่าในการปกป้องอย่างสงบและถูกต้องตามกฎหมาย ก็ยังมีภัยที่ชีวิตต้องเสี่ยงอีกหลายอย่างไปพร้อมกัน

สิ่งแวดล้อมและชีวิตเป็นสองสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ หากสิ่งแวดล้อมถูกคุกคาม ชีวิต - ทั้งชีวิตพืช ชีวิตสัตว์ ชีวิตเรา และชีวิตลูกหลานของเราก็จะถูกคุกคามเสี่ยงภัยเช่นกัน

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรู้สึกชื่นชมความกล้าหาญ และการมองเห็นการณ์ไกลของพี่น้องบางสะพาน จึงใคร่ขอปักป้ายบ่งบอกว่าพื้นที่นี้เป็น "พื้นที่เสี่ยงภัยต่อชีวิต ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม" ไว้ ณ ที่นี้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการให้กำลังใจแก่พี่น้องบางสะพานตลอดไป หากมีสิ่งใดในอนาคตที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะสามารถร่วมพลังกับพี่น้องได้ เราก็จะทำตลอดไป

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
26 พฤษภาคม 2550

2. ชาวบางสะพานร่วม ม. เที่ยงคืน ประกาศ 'พื้นที่เสี่ยงภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม'
รศ. สมเกียรติ ตั้งนโม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับชาวบ้านบางสะพานขึ้นป้าย "พื้นที่เสี่ยงภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม" บริเวณหน้าพื้นที่ป่าพรุแม่รำพึง ที่กลุ่มบริษัทเครือสหวิริยา จำกัด เตรียมก่อสร้างโรงถลุงเหล็ก

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นำโดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ และอาจารย์สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน พร้อมด้วยชาวบ้านจาก อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กว่า 300 คน ร่วมกันขึ้นป้าย "พื้นที่เสี่ยงภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม" บริเวณหน้าพื้นที่ป่าพรุแม่รำพึง ซึ่งกลุ่มบริษัทสหวิริยากำลังรุกทำลายและไล่กว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านพร้อมปรับสภาพเพื่อก่อสร้างโรงเหล็กถลุงเหล็ก

ทั้งนี้ ศ.ดร.นิธิ อ่านคำประกาศของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สรุปความได้ว่า การที่ชาวบางสะพาน ร่วมกันรักษาระบบนิเวศน์ พื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งกำลังถูกอำนาจเงินทำลายลงไปจึงเป็นเรื่องที่น่ายกย่องสรรเสริญ เพราะเท่ากับทำให้ชีวิตอีกหลายรูปแบบรวมทั้งชีวิตของลูกหลานในอนาคตมีหลักประกันที่มั่นคง

การที่ชาวบางสะพาน ลุกขึ้นมาต่อสู้การรื้อทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำและขนดินมาถมเท่ากับการลบพื้นที่ที่สำคัญนี้ออกไปจากผืนโลก ซึ่งชาวบางสะพานรู้ว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงแก่ระบบนิเวศน์โดยรวม การลุกขึ้นมาต่อสู้เช่นนี้ แน่นอนชาวบางสะพานย่อมประสบชะตากรรมเหมือนกับพี่น้องชาวไทยในพื้นที่อื่นๆ ที่เคยประสบมาแล้ว นั่นคือ ผู้ได้ประโยชน์จากการทำลายระบบนิเวศน์ จะใช้อำนาจเงินและอิทธิพลเส้นสายคุกคามผู้ที่ลุกขึ้นมาปกป้องชุมชนและแผ่นดิน บางครั้งก็ใช้อำนาจรัฐผ่านข้าราชการที่ทุจริตฉ้อฉล อาศัยการดำเนินการทางคดีที่ต้องอาศัยเวลายาวนาน อาศัยอิทธิพลนักเลงหัวไม้หรือมือปืนเพื่อทำร้ายร่างกายและทรัพย์สิน ดังเช่นกรณีของนายเจริญ วัดอักษร แห่งอำเภอบ่อนอกที่ประสบมาแล้ว

"พื้นที่นี้จึงเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยต่อชีวิตทั้งในแง่การทำลายระบบนิเวศน์ ทำให้ทุกชีวิตที่ได้อาศัยพึ่งพิงต้องเสี่ยงภัย และหากสิ่งแวดล้อมถุกคุกคาม ชีวิตทั้งคน สัตว์ พืช และลูกหลานในอนาคตก็ย่อมถูกคุกคามเสี่ยงภัยเช่นเดียวกัน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงใคร่ขอปักป้ายบ่งบอกว่าพื้นที่นี้เป็น พื้นที่เสี่ยงภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม ไว้ ณ ทีนี้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการให้กำลังใจต่อพี่น้องชาวบางสะพานตลอดไป"

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์

3. "ขบวนการเสื้อเขียว" การต่อสู้เพื่อป่าพรุผืนสุดท้ายของบางสะพาน
นพพล อาชามาส : รายงาน
"น้ำท่วมยังไม่ได้แก้เลย แล้วจะสร้างโรงถลุงเหล็กขึ้นใหม่อีกเหรอ?"

คำถามและเสียงครวญของชาวบ้านคนหนึ่งในกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดังขึ้นมา ในพิธีเปิดหมู่บ้านเฝ้าระวังป่าบริเวณหน้าป่าพรุแม่รำพึง เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2550 ที่ผ่านมา ในพิธีได้มีการนิมนต์พระสงฆ์เพื่อทำบุญเปิดศาลาเฝ้าระวัง และชักธงสีเขียว สัญลักษณ์ของการอนุรักษ์ขึ้นสู่ยอดเสา ชาวแม่รำพึงราว 400 คนที่มารวมกันต่างมีเป้าหมายในการต่อสู้คัดค้านการก่อสร้างโรงงานถลุงเหล็กครบวงจรของเครือสหวิริยา ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าจะสร้างทับพื้นที่ป่าพรุและพื้นที่สาธารณะของชาวบ้าน โดยต่างยืนยันที่จะปกป้องและรักษาป่าผืนนี้ไว้ด้วยชีวิต…

บางสะพาน..เมืองหลวงเหล็กของประเทศไทย
บริษัท เครือสหวิริยา จำกัด สร้างโรงงานผลิตเหล็กในพื้นที่อำเภอบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่เมื่อปี 2534 ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเหล็กมีกำลังผลิตรวม 9.5 ล้านตันต่อปี มียอดขายรวมปีละกว่า 100,000 ล้านบาท แต่โรงงานนี้เป็นโรงผลิตเหล็กขั้นปลาย ซึ่งต้องอาศัยการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และนำเข้ามาผ่านกระบวนการรีดร้อน รีดเย็น และเคลือบต่อไป

เครือสหวิริยาเล็งเห็นว่า ในประเทศไทยนั้นไม่มีโรงผลิตเหล็กขั้นต้นเลย จึงเสนอโครงการสร้างโรงถลุงเหล็กและผลิตเหล็กกล้าครบวงจร ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการผลิต เพราะจะเป็นโรงงานผลิตเหล็กและนิคมอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร โดยไม่ต้องนำเข้าวัตถุดิบสำเร็จรูปจากต่างประเทศ และคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการไปเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2548 รวมทั้งยังได้อนุมัติโครงการท่าเรือน้ำลึก ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับโครงการนี้ด้วย

เครือสหวิริยาเรียกโครงการนี้ว่า "Iron one" หมายถึงการเป็นหนึ่งด้านเหล็กในอาเซียน และคาดหวังให้บางสะพานเป็นเมืองหลวงเหล็กของประเทศไทย ภายใต้สโลแกน "บางสะพานของเรา สหวิริยาของเรา" โครงการแบ่งระยะเวลาในการดำเนินงานเป็น 5 เฟส เฟสละประมาณ 3 ปี รวมงบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท กำลังการผลิตเหล็กปีละกว่า 30 ล้านตัน โดยในเฟสแรกวางพื้นที่โครงการไว้ที่ตำบลแม่รำพึง ในพื้นที่ประมาณ 1,551 ไร่ และขยายต่อไปถึง อ.ปะทิว จ.ชุมพร ในเฟสต่อๆ ไป

"เรือวิ่งผ่านหน้าบ้านผม"
แม้โรงถลุงเหล็กครบวงจรจะยังไม่เกิดขึ้น แต่โรงถลุงปลายน้ำเดิมนั้น ก็ให้บทเรียนบางอย่างต่อชาวบางสะพานมาแล้ว ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านต้องรวมตัวกันคัดค้านการสร้างโรงถลุงเหล็กโรงใหม่ โดยหลายปีที่ผ่านมา ภาวะน้ำท่วมที่บางสะพาน ค่อยๆ เพิ่มความรุนแรงมากขึ้น และเกิดขึ้นบ่อยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะปีที่ผ่านมา เกิดน้ำท่วมใหญ่ถึง 3 ครั้งในหนึ่งปี ระดับน้ำในตลาดบางสะพานจากที่เคยอยู่แค่ตาตุ่ม ขึ้นไปถึงหัวไหล่ หรือบางพื้นที่ก็มิดหัว

ชาวบ้านเล่าว่าตั้งแต่มีการสร้างโรงงานถลุงเหล็กมา ก็เกิดน้ำท่วมบ่อยๆ เพราะก่อนถูกถมทำโรงงาน พื้นที่เดิมนั้นเป็นคลองแม่รำพึง และก็เคยเป็นป่าพรุบางส่วนด้วย ซึ่งเป็นพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติหรือพื้นที่พักน้ำก่อนที่น้ำจะไหลลงทะเล จึงไม่มีที่ระบายน้ำ น้ำจึงไปลงที่อ่างเก็บน้ำบ้านคลองลอย และบ้านวังน้ำเขียว ซึ่งรองรับปริมาณน้ำไม่ได้มากนัก น้ำจึงท่วมมากและหนักขึ้น

ฝนที่ตกลงมาเป็นสีเหลือง
นอกจากภาวะน้ำท่วมแล้ว ความผันผวนของธรรมชาติที่ชาวบางสะพานต้องเผชิญ คือน้ำฝนที่ตกลงมาเป็นคราบสีเหลือง มีตะกอนสีดำ และส่งกลิ่นเหม็นคล้ายกลิ่นกำมะถัน สังเกตได้ในพื้นที่ที่อยู่กลางแจ้ง เช่น รอบตัวถังรถยนต์ ร่มแม่ค้า ชายคาบ้าน ผ้าที่ตากไว้บนราว หรือกระทั่งอ่างปลาที่รองน้ำฝนแรกไว้ ปลาในอ่างถึงกับตายหมด ชาวบ้านจึงไม่มีใครกล้ากินน้ำฝนกันอีก ต้องอาศัยน้ำที่ซื้อกินเอา

ช่วงหน้าหนาวที่ผ่านมาภาวะฝนเหลืองหนักขึ้น ถึงขั้นมีฝนสีเหลืองตกลงมาพร้อมน้ำค้างทุกคืน และแม้จะไม่มีเค้าเมฆฝน แต่เกิดฝนเหลืองตกลงมาได้ ทิศทางของฝนเหลืองก็หนาแน่นในเขตตำบลแม่รำพึง ผ่านตลาดบางสะพาน ไปทางใต้จนถึงรอยต่ออำเภอบางสะพานน้อย ไกลกว่า 20 กิโลเมตร

ในวันนี้ยังไม่มีการศึกษาถึงสาเหตุและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ไม่มีคำตอบจากหน่วยราชการ หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่เครือสหวิริยาเอง ซึ่งชาวบ้านสงสัยกันว่าเป็นต้นเหตุของฝนสีเหลืองที่เกิดขึ้น ภาวะที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบางสะพานไม่สามารถดำเนินชีวิตเช่นเดิมได้ นอกจากนั้นแล้วยังเกิดความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ อีกหลายสิ่งในพื้นที่บางสะพาน เช่นหาดแม่รำพึง ที่ตั้งอยู่ใกล้โรงงานถลุงเหล็กเดิมนั้น กลายเป็นทะเลโคลน น้ำกลายเป็นสีดำและส่งกลิ่นเหม็น ปริมาณปลาที่ชาวประมงจับได้ก็ลดลง จากเดิม 300-400 กิโลกรัม เหลือกันไม่ถึง 100 กิโลกรัม เพราะปลาออกไปอยู่ใกล้ฝั่งมากขึ้น

รุกที่หรือไม่รุก?
โครงการโรงถลุงเหล็กครบวงจรของสหวิริยาได้เริ่มดำเนินการออกแบบ จัดซื้อเครื่องจักร และปรับที่ดินบางส่วนไปบ้างแล้ว จนกระทั่งเกิดการคัดค้านจากชาวบ้านขึ้น… ชาวบ้านบางส่วนเห็นว่าโครงการนี้การออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ รุกเข้าไปในพื้นที่ป่าพรุแม่รำพึง อันเป็นพื้นที่ป่าสาธารณะของหมู่บ้านซึ่งไม่เคยมีคนอาศัยอยู่จึงออกเอกสารสิทธิ์อะไรไม่ได้ รวมถึงการรุกพื้นที่ป่าช้าและถนน ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ และยังมีการกว้านซื้อที่ดินรอบๆ ป่าจากชาวบ้าน โดยไม่บอกว่าจะนำไปสร้างโรงถลุงเหล็ก จากนั้นก็พยายามรุกป่าเข้าไปเรื่อยๆ เพื่อขยายพื้นที่ครอบครอง

ทางผู้บริหารของเครือสหวิริยาได้ยืนยันว่า สหวิริยาจัดซื้อที่ดินถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ และพื้นที่ที่ตั้งของโครงการก็อยู่ติดกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง แนวเขตรอยต่ออยู่ติดกัน ไม่ได้รุกเข้าพื้นที่ป่าแต่อย่างใด ข่าวการรุกพื้นที่ป่าชุ่มน้ำ จึงเป็นความเข้าใจผิด. นอกจากนั้นเรื่องการใช้พื้นที่ดินสาธารณะอย่างป่าช้าและถนน ทางสหวิริยายืนยันว่า ได้ขอเช่าพื้นที่ตามกฎหมาย โดยยื่นเรื่องไปที่สำนักงานที่ดิน และจากประชาคมหมู่บ้าน ผ่านความเห็นชอบจาก อบต.แล้ว. กระนั้นชาวบ้านกลับเห็นว่า บริษัทสหวิริยา ได้รุกเข้าไปปรับไถพื้นที่สาธารณะก่อนที่จะผ่านความเห็นชอบของ อบต.เสียอีก และกระบวนการอนุมัติให้ผ่านนั้นก็ทำกันอย่างไม่เป็นระบบ นอกจากนี้ยังหลอกชาวบ้านว่าจะนำไปปลูกป่า ไม่ได้บอกว่าจะนำไปทำเป็นโรงงานถลุงเหล็ก

จากความขัดแย้งนี้เอง ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, และตัวแทนของจังหวัดประจวบฯ จึงให้ตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ฝ่ายละ 5 คนขึ้นมาเมื่อกลางเดือนมีนาคม 2550, ทั้ง 4 ฝ่ายประกอบด้วยเครือสหวิริยา, ชาวบ้านในพื้นที่, จังหวัดประจวบฯ, และเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง, เพื่อเข้าไปตรวจสอบที่ดินและแก้ปัญหานี้. ทว่าทางฝ่ายสหวิริยากลับประกาศถอนตัวจากคณะกรรมการ เนื่องจากเห็นว่ากรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นได้มาโดยชอบจึงไม่จำเป็นต้องตรวจสอบ แต่ทางคณะกรรมการสิทธิฯ ก็ยืนยันที่จะให้คณะกรรมการนี้ดำเนินต่อไป แม้จะไม่มีตัวแทนจากสหวิริยา และยังให้ระงับการส่งรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพราะอาจมีความไม่โปร่งใสในการศึกษา

ป่าพรุแม่รำพึง...ป่าชุ่มน้ำผืนสุดท้ายของบางสะพาน
พื้นที่ป่าพรุที่ชาวบ้านกังวลว่าจะถูกนำไปสร้างโรงถลุงเหล็กนั้น เป็นป่าชุ่มน้ำที่มีน้ำขัง เป็นป่าต้นน้ำ เป็นแหล่งกักเก็บน้ำฝน ซับและชะลอการไหลของน้ำเวลาน้ำหลาก ป้องกันน้ำทะเลไม่ให้รุกเข้ามาในแผ่นดิน ป่าพรุแห่งนี้ยังคงอุดมสมบูรณ์อยู่ มีความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ได้เป็นป่าเสื่อมโทรมแบบดังที่สหวิริยาสำรวจ

บนพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ ยังมีนกน้ำกว่า 70 ชนิด และนกอพยพอีกหลายชนิด เช่น นกกระสา, นกกระยาง, นกนางนวล, นกตะกราม, เหยี่ยวหลายชนิด, มีพืชพันธุ์ไม้ชุ่มน้ำที่หลากหลาย เช่น ไม้เสม็ด, ต้นจาก, หวายลิง, ต้นกก, ต้นเป้ง, เฟิร์น, กระจูด ฯลฯ และยังเป็นแหล่งอนุบาล เพาะพันธุ์ปลาหรือสัตว์น้ำหลายชนิด. ในส่วนของชาวบ้าน ได้อาศัยพื้นที่ป่าอยู่บ้าง เช่น หาปลา, ตัดต้นและใบจากมาเย็บเป็นหลังคาบ้าน, เก็บลูกจากไปทำลูกชิด, ไม้เสม็ดใช้ทำเสาบ้าน, ส่วนเปลือกต้นเสม็ดใช้ทำไต้, และอาศัยเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ดังที่ชาวบ้านเรียกพื้นที่บางส่วนว่าทุ่งลานควาย เพราะมีการนำวัวควายมาหาอาหารกินบริเวณนั้น

นอกจากได้ประโยชน์จากป่าพรุแล้ว ในฤดูแล้ง ซึ่งไม่มีน้ำท่วมขัง ทำให้ปลาหรือสัตว์น้ำไม่มีน้ำอาศัยอยู่ ชาวบ้านจะเป็นผู้ขุดบ่อเล็กๆ เป็นปลักปลา เพื่อให้ปลามีชีวิตรอด และกลายเป็นพ่อแม่พันธุ์ในฤดูน้ำต่อไป ถือเป็นการอาศัยอยู่ร่วมกันของคนกับป่าอย่างพึ่งพาเกื้อกูลกัน

ชาวบ้านคาดการณ์กันว่าถ้ามีการสร้างโรงถลุงเหล็กบริเวณป่าพรุจริง การก่อสร้างก็ต้องถมพื้นที่สูงกว่า 7 เมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วมบริเวณโรงงาน เมื่อเป็นเช่นนั้น น้ำที่ไม่สามารถไหลไปในพื้นที่ซับน้ำได้ ก็เป็นไปได้ที่จะไหลท่วมพื้นที่ชาวบ้าน และรอบๆ บริเวณ นอกจากนั้นยังอาจมีปัญหาเรื่องของเสีย และมลพิษจากนิคมอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย

ป่าเสื่อมโทรมด้วยรถไถ?
ภาพพื้นที่ป่าพรุที่ถูกไถเตียน โล่งยาวเป็นแนว ตอไม้สีดำที่มีร่องรอยถูกเผาปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆ ขณะที่บางจุด ไม้ก็ถูกตัดโค่นเหลือแค่ตอ นี่ไม่ใช่สภาพป่าเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นเองเป็นแน่

นายวิฑูรย์ บัวโรย แกนนำกลุ่มอนุรักษ์เล่าว่าเมื่อพวกเขาขึ้นไปยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างโรงถลุงเหล็กในกรุงเทพฯ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2550 มีการนำเลื่อยเครื่อง รถแบ๊คโฮ แทร็กเตอร์หลายคัน เข้ามาไถขุดป่าพรุเป็นแนว เพื่อให้ง่ายต่อการแบ่งที่ดินเป็นแปลง ให้สามารถออกโฉนดได้ง่าย รวมถึงจุดไฟเผาไม้บางส่วน เพื่อสามารถอ้างการความเป็นป่าเสื่อมโทรม ให้ดำเนินโครงการสร้างโรงถลุงเหล็กต่อไปได้ อีกทั้งรอบบริเวณป่าก็ถูกปรับไถด้วยเครื่องจักรอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยได้ จึงนำไปสู่การจัดเวรยามเฝ้าดูแลรอบผืนป่า ตั้งหน่วยลาดตระเวนคอยระวังการรุกเข้ามาทำลายป่า, สร้างแนวกันไฟ, ป้อมยาม, ศาลาการประชุม, และเปิดเป็นหมู่บ้านเฝ้าระวังป่าขึ้นในที่สุด

ถอดเสื้อเหลือง สวมเสื้อเขียว
นายวิฑูรย์ เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 20 เมษายนว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับเครือสหวิริยา ร่วมกันจัดโครงการปลูกป่าชายเลนเฉลิมพระเกียรติ บริเวณหมู่ที่ 5 ตำบลแม่รำพึง ซึ่ง มีการรณรงค์และเกณฑ์ให้ชาวบ้านสวมเสื้อสีเหลือง ไปร่วมกันปลูกป่า ชาวบ้านในกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงเห็นว่ากิจกรรมนั้นเป็นการสร้างภาพ เพราะมีการปลูกต้นไม้กันจริงๆ ไม่กี่ต้น และเป็นคนละพื้นที่กับโรงงานถลุงเหล็กเดิม เป็นการปลูกป่าไม่กี่ไร่เพื่อทำลายป่าชุ่มน้ำพันไร่ ทั้งเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการสร้างโรงถลุงเหล็กใหม่ จึงรวมตัวกันไปประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่ไปร่วมงาน ชาวบ้านหลายคนเมื่อได้ฟังข้อมูล ก็สลายตัวกลับไป บางคนถึงกลับถอดเปลี่ยนเสื้อสีเหลืองที่ใส่มา เป็นเสื้อสีเขียว บริเวณจัดงานนั้นเลย

กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงใช้รูปพื้นที่ป่าพรุซึ่งมีลักษณะคล้ายนก พิมพ์ลงบนเสื้อ หรือธงสีเขียว เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม โดยเสื้อสีเขียวนั้นเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มอนุรักษ์หลายๆ กลุ่ม ที่ต่อสู้ยืนยันสิทธิในการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่นของตน และสิทธิการเลือกกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดประจวบฯ ที่เกิดกลุ่มอนุรักษ์ขึ้นหลายกลุ่ม โดยต่างได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของรัฐและทุนขนาดใหญ่ เช่นกลุ่มอนุรักษ์บ้านกรูด, กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก, กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก, และล่าสุดกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง เกิดเป็นเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ที่มีความร่วมมือกันขึ้นมา

วันนี้ ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ยังคงปักหลักเฝ้าระวังรักษาป่าพรุ พร้อมกับออกไปประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจ แจกจ่ายใบปลิวในตัวอำเภอ ด้วยความหวังว่าชาวบางสะพานจะเห็นความสำคัญของป่าพรุผืนนี้ เพื่อให้ลูกหลานชาวบางสะพานยังคงมีป่าให้หายใจต่อไป

4. ป่าพรุแม่รำพึง: การต่อสู้เพื่อยืนหยัดพลังแห่งชุมชน
คิม ไชยสุขประเสริฐ : รายงาน
ธงผืนใหญ่ 2 ผืน โบกสะบัดต้านกระแสลมและแสงแดดกล้า เด่นตระหง่านเหนือที่เพิงพักบนพื้นที่ป่าช้าเก่าข้างป่าพรุแม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพิงมุงจากถูกดัดแปลงเป็นสถานที่ต้อนรับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและคณะสื่อมวลชน ที่ติดตามมาทำข่าวการพูดคุยใน 'เวทีชาวบ้าน' ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงร่วมกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2550

ผืนธงสีแดงสดที่ผูกอยู่บนปลายยอด หมายถึงการประกาศรบกับผู้ใดก็ตามที่หมายยึดครองผืนแผ่นดินของชาวบ้าน ส่วนธงเขียวที่มีรูปนกสีขาวอันเป็นตัวแทนพื้นที่ชุ่มน้ำของป่าพรุแม่รำพึง คือสัญลักษณ์ของกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง กลุ่มชาวบ้านที่ต้องการปกป้องผืนแผ่นดินที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ของชุมชน และนี่คือสิ่งที่ทำให้ชาวบ้านกว่า 200 คน สวมเสื้อเขียวลายเดียวกับธงมารวมกัน ณ สถานที่แห่งนี้...

"เอกสารสิทธิ์ออกมาได้อย่างไร?"
ประชาไทมาพร้อมกับข้อสงสัยที่ยังคงอยู่ในใจชาวแม่รำพึง ต่อการสร้างโรงถลุงเหล็ก ทับซ้อนพื้นที่ป่าแม่รำพึง ป่าพรุสมบูรณ์ผืนสุดท้ายของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ความขัดแย้งในพื้นที่ป่าพรุแม่รำพึงเริ่มขึ้น เมื่อมีโครงการขยายโรงถลุงเหล็กของบริษัทเครือสหวิริยา ซึ่งเป็นโครงการที่ 2 ใน 5 โครงการย่อยของ โครงการสร้างโรงถลุงเหล็กและผลิตเหล็กกล้าครบวงจร บนพื้นที่ 6,404 ไร่เศษ ใน จ.ประจวบคีรีขันและ จ.ชุมพร ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 และจากการกำเนิดขึ้นของโครงการแรกนั้นก็ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านมาแล้วอย่างมากมาย จนทำให้ชาวบ้านเกิดการรวมตัวขึ้นต่อต้านโครงการอื่นๆ ที่ตามมา

การต่อสู้ของชาวบ้านมีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ราวเดือนกันยายน 2549 โดยชาวบ้านบางส่วนที่เห็นว่าโครงการนี้ออกเอกสิทธิ์โดยมิชอบ รุกเข้าไปในป่าพรุอันเป็นพื้นที่ป่าสาธารณะของหมู่บ้าน ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ ไม่เคยมีการถือครองทำประโยชน์และไม่ควรออกเอกสารสิทธิ์ได้ รวมถึงการรุกใช้พื้นที่ป่าช้าและถนนซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชน... นี่คือความถูกต้องแล้วจริงหรือ

ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ, และตัวแทนของจังหวัดประจวบฯ จึงให้ตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วยบริษัทเครือสหวิริยา, ชาวบ้านในพื้นที่, จังหวัดประจวบฯ, และเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง, ขึ้นมาเมื่อกลางเดือนมีนาคม เพื่อเข้าไปตรวจสอบที่ดินและแก้ปัญหานี้ โดยระหว่างดำเนินการได้มีการให้ชะลอการอนุมัติรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) และการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนเอาไว้ก่อน แต่ฝ่ายสหวิริยาได้ถอนตัวไม่เข้าร่วมกับคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าเป็นกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งได้มาโดยชอบ ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบ และยังเดินหน้าโครงการต่อไป

แม้ล่าสุดทางคณะกรรมการสิทธิฯ จะยังยืนยันให้คณะกรรมการ 4 ฝ่ายนั้นดำเนินการต่อไป เพื่อตรวจสอบเอกสารสิทธิที่ดินทั้งหมดในบริเวณนั้น ซึ่งเป็นการสร้างความหวังในช่องทางการต่อสู้ด้วยกฎหมายแก่ชาวบ้าน แต่การรอคอยยังไร้ซึ่งวี่แววคำตอบใดๆ

ปัญหาเก่าที่ยังค้างคา ปัญหาใหม่ที่จะมาทับถบ
กระบวนการต่อสู้เพื่อชุมชนที่เริ่มต้นจากคนเพียงไม่กี่คน จนวันนี้กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง มีการรวมตัวที่เข้มแข็งขึ้น มีชาวบ้านร่วมต่อสู้มากขึ้น เพราะพวกเขาผู้เข้าร่วมแทบทุกคนได้รับผลกระทบแล้วจากการพัฒนา..."เรือเล็กที่เคยจับปลาได้สูงสุดวันละเกือบ 100 กิโล ตอนนี้จับได้ถึง 40 กิโลก็ดีมากแล้ว ส่วนเรือใหญ่ก็ต้องออกทะเลไปไกลฝั่งมากขึ้น จนบางลำต้องไปหาปลาถึงเขตประเทศเวียดนาม นอกจากนั้นแล้วยังเกิดความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ อีกมากมายในพื้นที่บางสะพาน

หาดแม่รำพึงที่ตั้งอยู่ใกล้โรงงานถลุงเหล็กเดิมนั้น กลายเป็นทะเลโคลน น้ำใสๆ เปลี่ยนเป็นสีดำและส่งกลิ่นเหม็น" พี่สมหวัง พิมสอ ชาวประมงในพื้นที่บอกเล่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่า เกิดปัญหาโรคภัยไข้เจ็บจากสารเคมี ปัญหาฝนเหลืองจากควันพิษ รวมถึงปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้งและหนักขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพราะการสร้างโรงงานทับทางระบายน้ำเดิมตามธรรมชาติ ยิ่งทำให้ชาวบ้านวาดภาพถึงอนาคตชุมชนที่ล่มสลายได้แจ่มชัดยิ่งขึ้น หากมีการก่อสร้างโครงการที่ 2 ซึ่งกินพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติบนป่าพรุกว้างกว่าโรงงานเดิม

ความร้อนมากกว่าพันองศาที่ใช้ในกระบวนการถลุงเหล็ก เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านหวาดกลัวถึงผลกระทบของมันต่อสภาพแวดล้อม อีกทั้งการระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชาวบ้านใกล้เคียงโดยการขุดคลองก็เป็นสิ่งที่มีการถกเถียงกันอยู่ เพราะชาวบ้านยังหวั่นเรื่องมาตรการจัดการน้ำเสียของโรงงาน และสารโลหะหนักที่จะปนมากับน้ำ แม้เพียงเล็กน้อย แต่นานวันเข้าทุกสิ่งเหล่านี้ล้วนจะส่งกระทบต่อวิถีชีวิต และธรรมชาติ

ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ อย่างที่แม่เมาะ(ลำปาง) มาบตาพุด(ระยอง) หรือที่บ้านกรูด, บ่อนอก (ประจวบฯ) เป็นบทเรียนของชาวบ้านรอบป่าพรุแม่รำพึง ซึ่งไม่ใช่เพียงการบอกเหตุผลชักจูงตามหลักวิชาการ หรือการต่อสู้ขับไล่อย่างเลื่อนลอย แต่มันคือการต่อสู้บนฐานความจริงที่ห่วงโซ่การดำเนินชีวิตร่วมกับธรรมชาติของชาวบ้านที่ถูกรบกวน

พันธมิตรชาวบ้าน ความร่วมมืออันแน่นเหนียว
ผลกระทบที่ชาวบ้านได้บอกเล่าสู่ผู้มาเยือนหน้าใหม่อย่างเรามากมาย ไม่เพียงแต่พิษภัยจากโรงงาน เพราะนี่คือความขัดแย้งเชิงนโยบายของรัฐกับสิทธิชุมชน ความเดือดร้อนของชาวบ้านจึงไม่มีใครหรือหน่วยงานใดกล้ายื่นมือเข้ามารับรอง การร้องเรียนใดๆ ต่อหน่วยงานราชการไร้สียงตอบรับ อีกทั้งยังมีอิทธิพลมืดข่มขู่จากในพื้นที่ ดังนั้นการรวมตัวกันเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิอันพึงมี พึงได้ จึงเป็นคำตอบอันชอบธรรมสำหรับชาวบ้านที่นี่

"เราจะช่วยเหลือกัน ต่อสู้ร่วมกันในฐานะพี่น้องที่ประสบปัญหาเหมือนๆ กัน ไม่มีความขัดแย้งในอดีตเข้ามาเกี่ยวข้อง..." คำพูดของพี่จินตนา แก้วขาว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด พันธมิตรที่เข้มแข็งจากการต่อสู้กับนโยบายรัฐจนชาวบ้านกรูดแข็งแกร่งมาจนทุกวันนี้ แม้ไม่ได้จบการศึกษาในระบบที่สูงส่ง แต่ประสบการณ์ในชีวิตทำให้พี่จินตนาได้กลายมาเป็นทีปรึกษาแก่แกนนำและชาวบ้านเพื่ออนุรักษ์ป่าแม่รำพึง

รอยร้าวของสองชุมชนในอดีตจากการลงชื่อสนับสนุนให้สร้างโรงไฟฟ้าบ้านกรูดของชาวบ้านบางสะพานโดยการชักใยอยู่เบื้องหลังของกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น ได้ถูกลบเลือนและผสานให้แนบแน่นในฐานะผู้ถูกทำร้ายจากแผนพัฒนาของรัฐเหมือนๆ กัน กลายเป็นความร่วมมือของคนตัวเล็กๆ ที่จะช่วยกันต่อสู้กับอำนาจทุนและอิทธิพลเถื่อน กับเวลากว่า 9 เดือนเพื่อเรียนรู้และต่อสู้ด้วยพลังประชาชน คือสิ่งที่เกิดขึ้นในการพัฒนากลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงให้กล้าแกร่งยิ่งขึ้น

ความหวาดระแวงฉายอยู่ในแววตา
ประชาไทโชคดีที่เดินทางเข้ามาถึงพื้นที่จัดงานก่อนสื่อมวลชนคณะใหญ่ จึงได้เห็นการจัดเตรียมงานของชาวบ้านจากหมู่บ้านทั้งใกล้ไกลที่พร้อมใจสวมเสื้อเขียว เพื่อยืนยันการเป็นพวกพ้องเดียวกันและมาร่วมกันด้วยใจเต็มร้อย แม่บ้านเตรียมข้าวปลาอาหารต่างๆ ในเพิงที่ดัดแปลงเป็นโรงครัวตั้งแต่เช้า เพื่อเลี้ยงชาวบ้านที่มาร่วมงาน และจัดต้อนรับผู้มาเยือนจากเมืองไกล โดยวัตถุดิบที่นำมาทำอาหารนั้นล้วนเป็นของที่เก็บมาหาได้ในท้องถิ่น และเป็นของที่ชาวบ้านนำมาช่วยงาน จนแทบไม่จำเป็นที่จะต้องไปซื้อหา แต่ทำให้เราอิ่มอร่อยกันได้ในทุกๆ มื้อของวัน

สิ่งที่สังเกตเห็นอีกอย่างหนึ่งคือการแบ่งหน้าที่ของชาวบ้านในการเตรียมงาน โดยชาวบ้านแต่ละคนก็ทำหน้าที่ต่างกันไป อย่างไรก็ตาม หน้าที่หนึ่งที่น่าสนใจคือผู้รักษาความปลอดภัย ผู้คอยตามประกบดูแลเราตลอดเวลา เมื่อถามไถ่จึงได้คำตอบซื่อๆ ว่า เพราะประชาไทเป็นนักข่าว ซึ่งเข้าใจได้ในแง่ความสำคัญของการเผยแพร่ข่าวสารที่มีต่อชาวบ้าน แต่คำถามก็ตามกลับมาว่าสถานการณ์การต่อสู้ในพื้นที่มันเลวร้ายถึงขนาดนั้นเชียวหรือ...

คำตอบจากสายตาหวาดระแวงของชาวบ้านซึ่งทยอยมาร่วมงาน เป็นเครื่องบ่งชี้ความไม่ไว้ใจที่มีต่อคนต่างถิ่นได้เป็นอย่างดี พี่ผู้ดูแลรักษาความปลอดภัยชาวบ้านจึงอาสาให้คำอธิบายว่า ชาวบ้านกลัวอิทธิพลของโรงงานขนาดใหญ่ โดยเฉพาะคนแปลกหน้าที่อาจแอบเข้ามาเก็บข้อมูลและเข้ามาทำร้ายชาวบ้านได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จึงมีชาวบ้านอีกหลายคนที่สนับสนุนการทำงานของกลุ่ม แต่ไม่กล้าออกมาเปิดเผยตัว โดยเฉพาะชาวบ้านที่เป็นลูกจ้างของโรงงานเอง

การมาเยือนของ ม.เที่ยงคืน
ในช่วงบ่ายของวันที่อากาศร้อนจัด (26 พฤษภาคม 2550) การมาถึงของคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และคณะสื่อมวลชน นำโดยอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ และอาจารย์สมเกียรติ ตั้งนโม ได้สร้างความคึกคักแก่ชาวบ้านหลายร้อยคนที่มารอต้อนรับ เสียงกลองยาวนำขบวนผู้มาเยือนปลุกเร้าความสนใจ พวงดอกไม้ และน้ำมะพร้าวเย็นๆ ถูกนำมาต้อนรับด้วยความกระตือรือร้น การมาเยือนครั้งนี้นอกจากจะช่วยสร้างขวัญกำลังใจแล้ว ยังแฝงความคาดหวังในหัวใจของชาวบ้าน ที่จะได้มีโอกาสบอกเล่าปัญหาและการต่อสู้ในพื้นที่ให้ประชาชนโดยทั่วไปได้รับรู้

การอ่านประกาศพื้นที่เสี่ยงภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน แม้จะมีปัญหาเนื่องจากการเดินทางไกลและความร้อนของอากาศที่แผดเผา แต่ทุกอย่างก็ลุล่วงไปด้วยดี จากนั้นจึงมีการร่วมกันปักป้าย พื้นที่เสี่ยงภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม บริเวณทางเข้าพื้นที่ ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงร่วมกันดูแลรักษา เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนในการร่วมสนับสนุนการทำงานของชุมชน ที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพย์ของชุมชนและแผ่นดิน

เข้าสู่พื้นที่ป่าพรุ
รถไถไทยทำ หรือที่เรียกกันว่าควายเหล็กพ่วงกับกะบะท้ายแรงดี 4 คัน พร้อมพลขับผู้เจนทุ่งป่าพรุ ถูกจัดเตรียมไว้สำหรับพาคณาจารย์ ม.เที่ยงคืนและเพื่อนๆ นักข่าวเยี่ยมชมสภาพป่าพรุและพื้นที่ปัญหากรณีพิพาท ภาพความทุลักทุเลในการเดินทางของนักวิชาการผู้เจนจัดการวิพากษ์สังคม คงเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ยาก แต่ชาวบ้านบางสะพานได้ทำให้เราได้เห็นภาพอีกมุมหนึ่งของความเป็นปุถุชนที่มีในตัวท่านเหล่านั้น

บนเส้นทางการสำรวจของคณะเดินทาง ป่าพรุที่ชุ่มช่ำไปด้วยน้ำ ดินโคลน และความหลากหลายของพันธุ์ไม้ บางแห่งพบเศษซากต้นไม้ล้มระเนระนาดเป็นทางยาว เพาะถูกรถไถขนาดใหญ่เข้าบุกทำลาย และร่องรอยที่เกิดจากการถูกไฟร้อนเผาผลาญจากน้ำมือมนุษย์ผู้หวังเพียงผลประโยชน์ และสร้างภาพให้เป็นป่าเสื่อมโทรมอย่างไรก็ตาม ความจริงที่เข้าสำรวจกันอย่างใกล้ชิด ทำให้พบว่า พื้นที่ป่าพรุผืนนี้ของแม่รำพึงยังคงหลงเหลือความอุดมสมบูรณ์อยู่เป็นระยะๆ แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะหนักหนาสาหัสต่อความรู้สึกเพียงใด แต่ชาวบ้านกลับไม่สามารถไปเรียกร้องเอาผิดต่อใครได้เพราะไร้ซึ่งหลักฐานและพยาน

ชาวบ้านทำได้ก็เพียงการเฝ้าระวัง ชูธงแดงผืนใหญ่ประกาศพร้อมต่อสู้ และวางเวรยามเฝ้าดูแลพื้นที่ป่าทั้งวันทั้งคืนไม่ให้ผู้ไม่หวังดีเข้ามาทำร้ายป่าให้บอบช้ำมากไปกว่าที่เป็นอยู่นี้ได้อีก... ทุกวันนี้พี่น้องชาวบ้านหลายคนแทบจะไม่ได้ประกอบอาชีพของตัวเอง เพราะต้องออกมาขับเคลื่อนในกระบวนการต่อสู้ ต้องออกมาอยู่โยงเฝ้ายาม คอยปกป้องดูและสมบัติอันล้ำค่าขอพวกเขา และที่น่าสนใจคือการอยู่ยามดูแลป่าเป็นความสมัครใจที่ไม่ต้องมีใครมากำกับหรือกำหนดหน้าที่ ซึ่งในแต่ละวันจะมีชาวบ้านที่เต็มใจอาสามาดูแลป่าไม่ต่ำกว่าสิบคน

ระหว่างการเดินทางเข้าในใจกลางป่าพรุ ชาวบ้านที่ร่วมขบวนรถไถควายเหล็กต่างพากันบอกเล่าข้อมูลวิถีชีวิตที่อยู่ร่วมกับป่าและปัญหาที่พวกเขาได้เผชิญมา ซึ่งเชื่อแน่ว่าชาวบ้านอีกหลายคนที่ไม่ได้ได้เดินทางมาด้วยต่างก็มีความรู้สึกรัก หวงแหน และต้องการจะดูแลรักษาพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ เพื่อผลประโยชน์ของลูกหลานไม่ต่างกัน

ในขณะที่การขยายพื้นที่อุตสาหกรรมลุกคืบเข้ามาใกล้ตัวพวกเขามากขึ้นทุกทีๆ สิ่งที่ทำให้ชาวบ้านยืนหยัดอยู่ได้คือความหวังที่เป็นพลังหล่อเลี้ยงให้พวกเขาต่อสู้ต่อไป... ไม่มีเงิน ไม่มีงาน แต่ชาวบ้านก็อยู่ได้ เพราะพวกเขาอยู่ร่วมกับธรรมชาติ หากินกับป่ากับน้ำได้ตราบเท่าที่ความอุดมสมบูรณ์ยังไม่ถูกทำลายด้วยน้ำมือของนายทุนที่หวังแต่การกอบโกยผลประโยชน์ใส่ตัว

วงสนทนายามค่ำ
พักเหนื่อยจากการชมธรรมชาติและเก็บข้อมูลอย่างเต็มตาเต็มใจ ก็ถึงคราวเติมอาหารเย็นให้เต็มกระเพาะด้วยกับข้าวพื้นถิ่นที่ช่วยเติมพลังแถมรับประกันไม่มีสารเคมีตกค้าง แล้วเติมเต็มความคิดกันต่อในเวทีสนทนาโดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับแกนนำชาวบ้าน. วงสนทนามีการพูดคุยถึงปัญหาช่องโหว่ของกฎหมายที่ทำให้เกิดการฉกฉวยผลประโยชน์ ซึ่งทำให้ชาวบ้านต้องตกเป็นผู้ถูกเอาเปรียบ ถูกเบียดเบียนผลประโยชน์ และถูกละเมิดสิทธิไปได้โดยชอบ(ตามกฎหมาย) ซึ่งประเด็นนี้ได้มีการนำเสนอสิทธิในการดื้อแพ่งทางกฎหมาย และส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือในการขับเคลื่อนกระบวนการต่างๆ ของชาวบ้านจะต้องมีการทำให้เป็นประเด็นสาธารณะ มีการออกสื่อและเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปในสังคม

แม้ว่าวงสนทนาในค่ำวันนี้จะว่าด้วยเรื่องทางวิชาการ ที่นำเสนอโดยนักวิชาการ ด้วยวิธีการพูดคุยแบบวิชาการ แต่ชาวบ้านทั้งหญิงชาย ที่หอบลูกจูงหลานมานั่งฟัง ด้วยบรรยากาศแห่งความสนใจใคร่รู้ไม่ได้แตกต่างไปจากห้องเรียนของผู้มีการศึกษาระดับสูงหรืออาจดีกว่าเสียด้วยซ้ำ จากที่ชาวบ้านเคยถูกให้ความหมายในเชิงหยามเหยียดว่าเป็นผู้ด้อยความรู้ด้อยภูมิปัญญาและถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบอย่างไรก็ได้ ในวันนี้การเรียนรู้เพื่อที่จะต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์ในทรัพย์สมบัติแห่งผืนแผ่นดินของพวกเขา ทำให้เขาได้เปิดโลก ทำความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวที่เกี่ยวพันกับวิถีการดำรงอยู่ในสังคมแห่งการแข่งขัน เพื่อเตรียมการสำหรับการเดินหน้าของขบวนการต่อสู้ภาคประชาชน... ต่างจากนายทุนที่หลงตัวอยู่ในกะลาแห่งความมั่งคั่ง ที่คิดว่าเงินสามารถซื้อได้ทุกอย่าง
การสนทนาจบลง แต่ไฟในเพิงพักยังไม่ดับมืด เสียงเพลงของนักดนตรีจากบ้านกรูดยังคงขับกล่อม ยามค่ำคืนชาวบ้านยังคงมีภารกิจของพวกเขาที่ต้องดำเนินต่อไปถึงรุ่งสาง ถึงพรุ่งนี้ และถึงวันต่อๆ ไป...

...หันไปมองธงผืนใหญ่ที่กำลังโปกสะบัดเหมือนเป็นการบอกลา ท่ามกลางความมืดมิด แต่ยังดีที่ในคืนนี้มันมีดวงดาวมากมากอยู่เป็นเพื่อน มองลงมาเจ้าธงผืนใหญ่ คงยืนเด่นอย่างไม่เดียวดายเพราะข้างล่างของเจ้า ผู้คนมากมายยังยืนหยัดต่อสู้พร้อมไปกับผืนธงที่โบกสะบัด...

+++++++++++++++++++++++++++++++++

ภาคผนวก : รายงานความรุนแรงในพื้นที่

แกนนำค้านโรงถลุงเหล็กสหวิริยายึดที่สาธารณะ ถูกตามหวังปองร้าย
15 พ.ค. 50 เวลา 13.00 น. นางสาวสุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล ตัวแทนกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแก ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ในวันที่สมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ นางเตือนใจ ดีเทศน์ และคณะทำงานได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อมูลจากกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ถึงเหตุผลในการคัดค้านโครงการโรงถลุงเหล็กในเครือสหวิริยาบริเวณป่าพรุ บ้านดินสำราญ ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เสร็จแล้ว จึงได้มีการประสานงานให้ตนเป็นตัวแทนจากกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก ให้ไปรับคณะทำงานเพื่อนำไปดูพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.ทับสะแก โดยนัดบริเวณชายทุ่งนาบ้านดอนสำราญเป็นจุดนัดหมาย

ในระหว่างที่เดินทางไปจุดนัดพบ ได้ถูกติดตามอย่างกระชั้นชิดโดยรถกระบะโตโยต้าสีดำ 4 ประตู ทะเบียน กข 8272 ประจวบคีรีขันธ์ จากหน้าโรงเรียนดอนสำราญเป็นต้นไป เมื่อเลี้ยวเข้าซอยซึ่งเป็นทางตันและไม่มีบ้านชาวบ้าน ก็ยังถูกติดตามซึ่งเป็นการผิดปกติเพราะเป็นเส้นทางที่ชาวบ้านไม่มีใครสัญจร เมื่อตนรู้ตัวว่าถูกตามจึงหยุดรถถอยหลังดันรถคันดังกล่าว ออกจากเส้นทางจนถึงทางแยกในซอยจึงเบี่ยงรถหลบ ประกอบกับได้มีรถกระบะของชาวบ้านติดตามไปเป็นเพื่อนด้วยอีกคันหนึ่ง ทำให้รถที่ตามมาหยุดชะงักและรีบกลับรถในสวนมะพร้าวแล้ววิ่งออกจากซอยไปอย่างรวดเร็ว และเห็นว่าในรถคันดังกล่าวมีชายฉกรรจ์อยู่ในรถ 4 คน

จากเหตุการณ์ดังกล่าว เห็นว่าเป็นการติดตามในลักษณะที่พร้อมก่ออันตราย จึงแจ้งให้กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง และกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูดทราบ เพื่อให้ระวังตัวจากการคุกคามและได้รับคำแนะนำให้ไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจ ต.ธงชัย ซึ่งเป็นพื้นที่นอกอิทธิพลไว้ในเบื้องต้นก่อน

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมั่นใจว่า มาจากเรื่องโรงถลุงเหล็ก เพราะพื้นที่เกิดเหตุตำบลแม่รำพึงได้ชื่อว่า เป็นพื้นที่อิทธิพลสูงที่สุดในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และมั่นใจว่าหากรัฐบาลยังไม่เร่งพิสูจน์ความถูกต้องของเอกสารสิทธิ์ที่ดินบริเวณที่จะก่อสร้างโรงถลุงเหล็ก ก็จะมีการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาจากผู้สูญเสียผลประโยชน์อย่างแน่นอน …

สถานการณ์โรงถลุงเหล็กบางสะพาน กว่า 10 ปีมาแล้วที่บริษัทสหวิริยา สตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) เข้ามาทำธุรกิจเหล็กรีดเย็น รีดร้อน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเหล็กรวม 7 โรงงานอยู่ในพื้นที่ อ. บางสะพาน จ. ประจวบฯ ล่าสุด บริษัท สหวิริยาฯ ได้ต่อยอดธุรกิจของตนเองด้วยการขอตั้งโรงถลุงเหล็ก เพื่อก้าวขึ้นสู่ผู้นำแห่งธุรกิจเหล็กอย่างครบวงจร โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 5 แสนล้านบาท

"การต่อยอด" ธุรกิจครั้งล่าสุดนี้เอง นำมาซึ่งแรงต่อต้านจากชาวบ้านบางสะพานอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยชาวบ้านยืนยันว่า บริษัท สหวิริยาฯ ออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบทับซ้อนพื้นที่ป่าพรุ พื้นที่รับน้ำ (แก้มลิง) แปลงสำคัญของชาวบางสะพาน และมีการยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คุณสุนี ไชยรส เพื่อขอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และนำไปสู่การชะลอ อนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ของโครงการดังกล่าว

พร้อมกันนั้น คณะกรรมการสิทธิฯ โดยคุณสุนี ไชยรส ได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดที่ ศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายคือ ตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิฯ, ตัวแทนจาก ผวจ. ประจวบฯ, ตัวแทนจากบริษัท สหวิริยาฯ, และตัวแทนชาวบ้าน, เพื่อพิสูจน์ว่าการได้มาซึ่งที่ดินแปลงดังกล่าว หลังจากนั้นไม่กี่วัน บริษัท สหวิริยาฯ ประกาศผ่านสื่อมวลชนว่า "ไม่เข้าร่วม" คณะกรรมการดังกล่าว เพราะการได้มาซึ่งที่ดินนั้นถูกต้องทุกประการ

ล่าสุด บริษัท สหวิริยาฯ ได้นำเครื่องจักรเข้าไถปรับพื้นที่ป่าพรุ ทำให้ชาวบ้านรวมตัวกันเข้าไปยึดพื้นที่ ป่าพรุ เพื่อให้มีการตรวจสอบกรรมสิทธิ์ก่อน อีกทั้ง ป่าพรุแปลงนี้ก็อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ สถานการณ์ ณ ปัจจุบันจึงทำให้ชาวบ้านถูกข่มขู่ คุกคามอย่างชัดเจน จากกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ซึ่งจะได้รับผลประโยชน์จากการเข้ามารับเหมาก่อสร้างโครงการดังกล่าว โดยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในวันเดียวกับการลงพื้นที่ของ ครูแดง...(เตือนใจ ดีเทศน์) จนต้องมีการลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน

อนึ่ง บริษัท สหวิริยาฯ ได้ชื่อว่าเป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ของจังหวัดประจวบฯ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ. บางสะพาน มีโรงเรียนอาชีวศึกษาของอำเภอต้องเปลี่ยนชื่อมาเป็นสถาบันผลิตเหล็กกล้า และรองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ ก็ได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาของบริษัท สหวิริยาฯ หลังเกษียณอายุราชการ

อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่ชาวบางสะพานไม่ต้องการให้ก่อสร้างโครงการโรงถลุงเหล็ก เนื่องจากเพียงแค่ 7 โรงงานของบริษัท สหวิริยาฯ ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันก็ทำให้ชาวบางสะพาน ทุกข์จากการเจ็บป่วย และต้องจ่ายเงิน เพื่อซื้อน้ำกินกันทุกครัวเรือนแล้ว เพราะน้ำฝนที่บางสะพานกินไม่ได้อีกต่อไป โดยที่กระบวนการตรวจสอบจากภาครัฐเพื่อหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นไม่เคยเป็นจริงในทางปฏิบัติ


คลิกไปอ่านเรื่องเดียวกัน ตอนที่ ๒

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์



สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com