โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 16 May 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๕๐ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (May, 16. 05. 2007)
R

เมื่อแฟชั่นเป็นที่สนใจของนักสังคมศาสตร์หลังสมัยใหม่
Fashionsophy: แฟชั่นสไตล์ป๊อปคัลเชอะและฟิวเจอริสท์อิตาลี
ทัศนัย เศรษฐเสรี : เขียน

หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทความวิชาการชิ้นนี้ กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับแฟชั่น ซึ่งเป็นที่สนใจของนักสังคมศาสตร์หลังสมัยใหม่ใช้ในการอ่านและทำความเข้าใจสังคม
สำหรับในบทความชิ้นนี้ได้ลำดับโครงเรื่อง ตามหัวข้อดังต่อไปนี้

- From Social Climate to Design Perception
- Political Symbols in Fashion System: From the Under dog to the Marketable
- Futurism: Clothing Can Change The World

ซึ่งจะพูดถึงบรรยากาศของสังคมที่มีอิทธิพลต่อการออกแบบ
กล่าวถึงระบบแฟชั่น ซึ่งได้มีส่วนเกี่ยวพันกับผู้คนหลายฝ่ายนับจากนักออกแบบจนถึงผู้บริโภค
และไปจบลงแนวทางแฟชั่นที่แตกต่างของอิตาลี ซึ่งเริ่มต้นจากยุคฟิวเจอริสม์ในทางศิลปะ
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๕๐
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๒.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เมื่อแฟชั่นเป็นที่สนใจของนักสังคมศาสตร์หลังสมัยใหม่
Fashionsophy: แฟชั่นสไตล์ป๊อปคัลเชอะและฟิวเจอริสท์อิตาลี

ทัศนัย เศรษฐเสรี : เขียน

From Social Climate to Design Perception
จากบรรยากาศทางสังคม ถึงเรื่องการออกแบบ

ทศวรรษที่ 60's คือช่วงเวลาของการเกิดเหตุการณ์ที่สำคัญ ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมในหลายมิติ พัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า แนวโน้มการเปลี่ยนของความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศมีอิทธิพลอย่างมากต่อการปรับเปลี่ยน สร้างสรรค์ และนำเสนอรูปแบบใหม่ทางศิลปะ วงการดนตรี, วงการออกแบบ ตลอดรวมถึงสำนึกการแต่งตัวด้วย

รูปแบบการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 60's มีลักษณะเฉพาะทางสไตล์ที่ยังคงมีการผลิตซ้ำจนถึงปัจจุบัน และการที่ได้เห็นภาพบันทึกของลูกโลกทั้งใบบ่อยขึ้น จากยานสำรวจอวกาศที่ฉายซ้ำในทีวี ทำให้สำนึกของบุคคลต่อสังคมขยายอาณาเขตกว้างและเชื่อมโยงกันมากขึ้นกว่าเดิม. ความเชื่อเรื่องสไตล์ชั้นสูงของการใช้ชีวิตและความรู้สึกที่ต้องไต่บันไดรสนิยมของไพร่ข้างล่าง เริ่มปรับเปลี่ยนเคลื่อนย้ายเข้าไปสู่บรรยากาศใหม่ที่คลุมเครือแบบ 60's หรือที่เรียกว่าสังคมและวัฒนธรรม Pop

พูดถึงบรรยากาศแบบ Pop พวกเราคงเห็นภาพได้ว่ามีกลิ่นอายทางสัมผัสอย่างไร ทั้งเสียง สี รูปทรง รสชาติ และกลิ่น แต่สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นวัฒนธรรมทางผัสสะแบบ Pop ของทศวรรษที่ 60s มีพื้นฐานลึกๆ คือ การเชื่อมโยงผสมผสานสิ่งที่เคยถูกแบ่งแยกโดยเด็ดขาดแบบ สูง/ต่ำ, ชาย/หญิง, สวยงาม/อุบาทว์ ฯลฯ เข้าด้วยกัน (Hybrid) แน่นอนทีเดียวการเหยียดผิว และความขัดแย้งทางชนชั้นยังคงมีให้เห็นดาษดื่นในยุคนี้ อย่างไรก็ดี ลมหายใจของการต่อรอง เกียรติของชีวิตที่พอใจทางรสนิยมและวัฒนธรรมของเอกบุคคล ก็มีพื้นที่ด้านโอกาสมากขึ้นด้วย

ทศวรรษที่ 60's คือยุคของสงครามอัตลักษณ์ และการขีดวงที่หลากหลายของชีวิตทางวัฒนธรรม เช่นเดียวกันกับที่นักวิชาการท่านหนึ่งด้านการศึกษาวัฒนธรรมกล่าวไว้ว่า ที่ใดมีการกดทับ ที่นั้นย่อมมีการต่อรอง, ผสมผสาน, และความคิดสร้างสรรค์ใหม่. เมื่อมีการแบ่งวรรณะของคนด้วยผิวหรือชนชั้นเป็นกลุ่มต่างๆ และมีการวางลำดับความสำคัญลดหลั่น ยุคสมัยของการตามดมก้นกัน ตามอย่างความเลอเลิศจึงเริ่มปิดฉากลง

วัฒนธรรม Pop ไม่ได้ถูกรังสรรค์ด้วยคำสั่งจากฟากฟ้า

สีสัน ลวดลาย รวมถึงวัสดุ และเทคนิคการตัดเย็บเสื้อผ้าในยุคนี้มีการหยิบยืมข้ามวัฒนธรรมกันสูงมาก สิ่งที่เคยถูกเรียกว่า รสนิยมไพร่ กระจอก จน ป่าเถื่อน ไร้ซึ่งความละเมียดละไม ถูกนำเข้ามาผสานจนบางครั้งกลายเป็นตัวละครเอกของการออกแบบด้วยซ้ำไปในยุคนี้. ด้วยการผลิต การตลาด และการแพร่กระจายสินค้าสู่มวลชน ทำให้ทางเลือกของโอกาสการบริโภคทางรสนิยมเปิดกว้างกับคนทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะชนชั้นสูงเช่นในอดีต และเมื่อโอกาสของการบริโภคขยายออกทั้งจำนวน และรูปแบบ การโฆษณาและประชาสัมพันธ์จึงเป็นอาวุธสำคัญที่สุดของการจับลูกค้า ทศวรรษที่ 60's คือยุคแห่งสงครามแห่งการโฆษณาด้วย

การผลิตรูปแบบหรือสไตล์ นั่นคือ การคิดหนัก คิดลึกทางเนื้อหา และรูปแบบอาจไม่ใช่ความสำคัญหลักเพียงอย่างเดียว(บางครั้งไม่สำคัญด้วยซ้ำไป) มากเท่ากับการสร้างภาพ และการทำให้ภาพที่ถูกสร้างขึ้นมีคนพูดถึงมาก บ่อย จดจำ และเปลี่ยนเป็นสำนึก

ภาพ - ถูกเปลี่ยนเป็น - จินตนาการภาพ - และ - รสนิยม - คือการบริโภค"ภาพ" - นำไปสู่ - จินตภาพแบบ 60's

ความสำเร็จของนักออกแบบในยุคนี้จึงไม่ใช่เพียงแค่มีความคิดดีๆ ทางการออกแบบ หรือมีความจริงใจในวิชาชีพของตนเท่านั้น หากต้องเก่งที่จะหาโอกาสพูด หรือหาพื้นที่ให้งานของตนปรากฏเป็นภาพสาธารณะทางสังคมด้วย และสไตล์ที่ดี, การออกแบบที่ดีในยุคนี้ จะดีได้เพราะมีคนอื่นช่วย. นักออกแบบ(Designer) ทำงานด้านการสร้างจินตภาพของผลิตผลการออกแบบ(Design Product) ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการ นิตยสาร การเขียนถึงโดยนักวิจารณ์ รวมถึงการใช้ยุทธศาสตร์เอาหลังอิงบุคคลชั้นสูงเดิมและพวกเศรษฐีใหม่ และอื่น ๆอีกมากที่ช่วยตอกย้ำจินตภาพของงานออกแบบ ที่ถูกช่วยกันสร้างขึ้น

มีอาชีพที่เกิดใหม่ด้วยหน้าที่การงานและบทบาทเฉพาะมากขึ้นในวงการศิลปะและการออกแบบ ในช่วงเวลาดังกล่าว. นักออกแบบ, ผู้บริโภค, ผู้จัดจำหน่าย, นักการตลาด, นิตยสาร, นักวิจารณ์, ผู้เชี่ยวชาญ, นักจัดนิทรรศการ, ครูบาอาจารย์, ลูกศิษย์, และกระบวนวิชาต่างๆ ในโรงเรียนออกแบบ, นักโฆษณาประชาสัมพันธ์, เหล่านี้คือตัวละครหลักในการสร้างจินตภาพของเสื้อผ้าในยุค 60's (ไม่ใช่ความอัจฉริยะของนักออกแบบเพียงอย่างเดียวแน่ๆ) และทั้งหมดทำงานด้วยกันใน Fashion System. ดังนั้นการที่นักออกแบบคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จได้นั้น นอกจากฝีมือและความคิดในการออกแบบแล้ว ทักษะในการเอาตัวเองเข้าไปเชื่อมโยง เชื่อมต่อกับ System ที่ว่าคือความสำคัญ

ไม่จริงเลยที่หลายคนเชื่อว่า นักออกแบบหรือศิลปินที่ประสบความสำเร็จ อย่างน้อยก็ในยุค 60s นี้ที่เต็มไปด้วยความอหังการ์ด้วยอัฉริยะภาพส่วนตัว และไม่สนใจโลกภายนอก นอกจากโลกเล็กๆ ในสตูดิโอของตน ในที่นี้ต้องย้ำอีกครั้งว่า งานออกแบบที่ดี คืองานที่สามารถเล่นล้อไปกับระบบ หรือ System (ในกรณีนี้ Fashion System) ได้ดี และนักออกแบบต้องเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในการเล่นนี้ (ไม่ใช่เพียงแต่ขายงาน idea เท่านั้น)
ซึ่งอันนี้ถือว่าเป็นทักษะที่จำเป็น ที่ช่วยในผลักให้งานออกแบบเป็นที่ยอมรับได้ในวงกว้างและขายได้ในที่สุด คงไม่เพียงหมายถึง ปากหวาน, พูดละมุน, ด้วยโวหารและสุ้มเสียงน้ำผึ้งเดือนห้าเท่านั้น, ความกักขฬะ พูดไม่รู้เรื่อง รวมถึงสัญลักษณ์หลุดโลก เหยียบเหนือจักรวาลต่างๆ ก็อาจใช้ได้ ถ้ากระทำอย่างรู้จักจังหวะที่จะใช้ใน ระบบหรือ System ที่ว่า (อันนี้เห็นได้จากตัวอย่างมากมาย ผ่านศิลปิน และนักออกแบบทั้งไทยและเทศ)

ในแวดวงของนักวัฒนธรรมศึกษา หลายคนเห็นพ้องและพูดตรงกันว่า ไม่มีอิทธิพลใดๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางการเมือง หรือผู้นำทางแนวคิดศิลปะและการออกแบบที่เกิดมาเพื่อสร้างอิทธิพลของแนวคิดในยุคของตน นั่นคือแนวคิด หรือสไตล์แห่งยุคสมัย ถูกสร้างขึ้นด้วยส่วนอื่นๆ ที่อยู่ในยุคสมัยนั้นๆ ด้วย แต่กลยุทธในการนำแนวคิดของตนมาอยู่ในที่ที่โดดเด่นกว่าผู้อื่นได้นั้น คือการเข้าใจยุคสมัยของตนและตัวละครอื่นดังที่กล่าวมาบ้างข้างต้นอย่างดีที่สุด จนกระทั่งเกิดความแหลมคมในการเล่นกับยุคสมัยนั้น ในขณะเดียวกันกับความถ่อมตน มองเห็นตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของยุคสมัยด้วย

งานออกแบบที่ดี และนักออกแบบที่มีความสามารถในยุคนี้ โดดเด่นเพราะความฉลาด ไม่ใช่อะไรที่สั่งมาจากฟากฟ้า หรือเป็นความคิดของเทวดาแต่อย่างใด อันนี้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ความคิดสร้างสรรค์คือความธรรมดาสามัญ ด้วยการเข้าใจปัจจัยต่างๆ แห่งยุคสมัย ดังนี้

1. ความคิดของนักออกแบบ
2. มีคนผลิต
3. มีคนนำไปใช้
4. มีคนเขียนบทความถึง
5. มีนิตยสารกล่าวขวัญ
6. มีการผลิตซ้ำทางการตลาด
7. ฯลฯ
หรือ
1. มีคนต้องการใช้
2. มีคนผลิต
3. นักออกแบบเริ่มคิด
4. นิตยสารกล่าวขวัญ
5. ผลิตซ้ำทางการตลาด
6. มีคนเขียนบทความถึง
7. ฯลฯ

ไม่ว่าจะเริ่มจัดความสัมพันธ์แบบเรียงลำดับ 1 - 7 ฯลฯ อย่างไรก็มีปัญหาในการหาคำอธิบายว่า ภายใน Fashion System รูปแบบและงานที่โดดเด่นมีลำดับการสร้างและเป็นที่ยอมรับอย่างไร เหตุเพราะใน Fashion System การสอดคล้องผสานกันของปัจจัยต่างๆ มันซับซ้อนเชิงสัมพัทธมากเกินกว่าการสรุปเพียงสั้นๆ ว่า อะไรเริ่มที่ 1 ให้อิทธิพลอย่างไรกับสิ่งที่ตามมา 2, 3, 4, ฯลฯ นั่นเป็นการหาคำอธิบายแบบที่บรรดานักตรรกะทั้งหลายชอบทำ อันที่จริงแล้วการออกแบบ หรือ Design คือการเข้าใจความธรรมดาสามัญครับ

Political Symbols in Fashion System: From the Under dog to the Marketable (1)
สัญลักษณ์ต่างๆ ทางการเมืองในระบบแฟชั่น: จากความเป็นเบื้ยล่างสู่สมรรถภาพทางการตลาด

การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1789 (ถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสมัยใหม่) ส่งผลอย่างมากต่อการใช้ชีวิตทางสังคม และการเปลี่ยนแปลงของชีวิตทางวัฒนธรรมในหลายด้านของคนฝรั่งเศส การล่มสลายทางการเมืองของราชสำนักฝรั่งเศสเดิม ส่งเสริมให้ชนชั้นอื่นๆ ที่เคยอยู่ข้างล่างของการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมแนวตั้งได้มีพื้นที่ของความคิดสร้างสรรค์ที่เปิดกว้างขึ้น ในขณะที่วัฒนธรรมราชสำนัก ยังคงมีอิทธิพลต่อรูปแบบของการออกแบบอยู่ลึกๆ

สิ่งเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบันและทำให้เสื้อผ้า และกรอบคิดเกี่ยวกับการออกแบบเสื้อผ้าแนวแฟชั่นของฝรั่งเศสมีลักษณะที่แตกต่างจากยุโรป และประเทศอื่นๆ นั่นคือ แฟชั่นฝรั่งเศสมีการซ้อนทับกันของ สไตล์ที่ถูกหยิบยืมมาจากวัฒนธรรมราชสำนักเดิม และรูปแบบวิถีชีวิตของชนชั้นอื่นๆ สูงมาก เป็นภาพซ้อนของโลกใบเก่ากับความเป็นสมัยใหม่ เช่นเดียวกับการฝึกฝนศิลปะแนวประเพณีด้านอื่น ดีไซน์เนอร์หรือนักออกแบบฝรั่งเศส ต้องผ่านการฝึกฝนทักษะต่างๆ ที่สำคัญในการตัดเย็บเสื้อผ้ากับครูช่างผู้มีชื่อเสียง และถูกยอมรับก่อนหน้า

การเข้าสมัครตัวเป็นลูกศิษย์ในบ้านของครูช่าง ไม่ใช่เพียงเพื่อการเพิ่มพูนทักษะฝีมือในการตัดเย็บและความสามารถของการใช้วัสดุเท่านั้น (ซึ่งแต่ละบ้านของครูช่างจะมี แบบเรียนที่แตกต่างกัน) ครูช่างไม่เพียงถ่ายทอดทักษะการติดเย็บการเลือกวัสดุ และองค์ประกอบอื่นๆ ที่สำคัญเท่านั้น แต่สิ่งที่ส่งต่อให้กับลูกศิษย์ทั้งหลายคือ กรอบคิด, บรรทัดฐาน, และโลกทัศน์ต่อเรื่องคุณค่าของการตัดเสื้อผ้าและการใส่เสื้อผ้าด้วย พูดรวมๆ ก็คือ สไตล์ของแต่ละสกุลช่างนั่นเอง ที่มีการส่งต่อ ซึ่งบางครั้งลูกศิษย์อาจมีการพัฒนาต่อไปด้านรูปแบบ ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ขึ้น

ในฝรั่งเศส อาชีพดีไซน์เนอร์หรือนักออกแบบเกิดขึ้นพร้อมกับอาชีพจิตรกรและประติมากร ในโลกก่อนหน้ายุคโมเดิร์น อาชีพเหล่านี้ถูกเหมารวมและพิจารณาว่าเป็นเพียงช่างธรรมดาเท่านั้น มิใช่ศิลปิน ช่วงเวลาเดียวกันที่ประเทศอังกฤษ น่าแปลกที่อาชีพดีไซน์เนอร์ยังไม่เกิดขึ้น คนอังกฤษมีแต่ Craftman หรือ Artisan หรือพวกช่างฝีมือ. คนตัดเสื้อผ้าในอังกฤษเป็นแค่เพียงคนงานตัดตามแบบ (Pattern Catter) ของร้านตัดเสื้อผ้า ที่พยายามคงไว้ซึ่งความเป็นประเพณีนิยมของ Patten มาตรฐานแบบผู้ดีอังกฤษชั้นสูง

ช่องว่างของปัญหาชนชั้นในอังกฤษห่างมาก ยิ่งในช่วงแรกๆ ของยุคแห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยแล้ว เราจะเห็นว่าพวกของชนชั้นสูง ใช้ชีวิตแบบฟุ่มเฟือยจะเป็นผู้วางนโยบายทางรสนิยม ทางสังคมให้กับพวกไพร่ที่อยู่ข้างล่าง สิ่งที่เราสามารถเรียนจากประวัติศาสตร์ได้ก็คือ ศิลปินและดีไซน์เนอร์มักจะอยู่ร่วมขบวนในแถวหน้าของการนำการเปลี่ยนแปลงการเมืองแบบ Hierachy แนวตั้งทางรัฐศาสตร์ไปสู่การต่อรองของรัฐศาสตร์ทางสุนทรียภาพด้านกลับ

ความคิดสร้างสรรค์ของวงการแฟชั่นในอังกฤษเกิดขึ้นช้ากว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ การเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ที่มีลักษณะเฉพาะของทั้งสองประเทศ ทำให้เกิดรูปแบบที่แตกต่างรวมทั้งการทำการตลาดเฉพาะ ที่ไม่เหมือนกันด้วย

การนำเอา Pattern ลวดลายแบบราชสำนักเดิมมาใช้ปรับปรุงทำให้เกิดลักษณะแฟชั่นแบบ Paris ที่เรายังเห็นได้อยู่ทั่วไปในปัจจุบัน ในขณะที่การใช้หรือหยิบยืมสัญลักษณ์ของคนในชนชั้นแรงงานหรือไพร่เดิมในอังกฤษ มีอยู่แพร่หลายในโลกแฟชั่นใน London. การใช้หนังเทียม หนังแท้ บู๊ต พลาสติก ยาง ฯลฯ ทำให้เกิดคำว่า Street Fashion. อังกฤษเข้าสู่โลกแฟชั่นช้ากว่าฝรั่งเศส แต่ช่วงหลังๆ จะเห็นว่ารูปแบบเสื้อผ้าอังกฤษได้รับการตอบรับสูง ด้วยเฉพาะลักษณะที่มีกลิ่นของ Street Fashion เดิม และส่วนผสมผสานที่สูงของวิธีคิดแบบทางเลือก(Altemative)

ถ้าลองอ่านระบบสัญลักษณ์ที่เกิดขึ้นทั้งวงการแฟชั่นใน Paris และ London เราจะเห็นได้ว่ารูปแบบสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนเสื้อผ้าของทั้งสองเมืองนี้ มีการล้อเล่นกับแบบแผนการใช้ชีวิตแบบลุ่มล่ามหรือของชนชั้นสูงเดิม (ในช่วงแรกๆ ของการก่อตัววงการแฟชั่นช่วงดังกล่าวเท่านั้น ปัจจุบัน มันกลายเป็นชนชั้นสูง/ไฮโซใหม่). ลักษณะการใช้ลูกไม้วัสดุประดับ ท่าทีของการสวมห่มของเสื้อผ้าจาก Paris สามารถสืบย้อนกลับไปที่เวลาอันหรูหราของวัฒนธรรมราชสำนักเดิม เช่นเดียวกับชัยชนะของสัญลักษณ์ของชนชั้นแรงงาน ที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในแนวแฟชั่นจาก London ก็ทำให้ความแข็งทื่อของวิถีชีวิตแบบประเพณีนิยม ผู้ดีเก่าอังกฤษเดิมอ่อนตัวลง และไม่เป็นมาตรฐานให้กับใครได้อีกต่อไป

จังหวะชีวิตของผู้คนใน London ในเทศวรรษที่ 70s เต็มไปด้วยบรรยากาศของการ Re-do Mak use และ Re-create ทางสัญลักษณ์ทั้งในเพลง ทัศนศิลป์และแฟชั่นด้วย เสื้อหนัง รองเท้าบู๊ต กางเกงยืนส์ เข็มขัดยาง ฯลฯ ที่เคยคุ้นตาฐานะสมบัติของคนงานเหมืองแร่ โรงงานค่าจ้างถูก คนเก็บขยะ ซึ่งพบเห็นกันอย่างแพร่หลาย และถูกใช้ใหม่ในวงการ Rock'n Roll, Punk และ Mod

คงจำได้ว่ารองเท้า Dr.Martin ราคาสูงถึงคู่ละ 90-100 ปอนด์ เป็นรูปแบบรองเท้าบู๊ตธรรมดา (คุณภาพต่ำ) ที่มีแต่พวกคนงานเท่านั้นที่ใส่เช่นเดียวกับเสื้อผ้าและของตกแต่งแนว Punk เดี๋ยวนี้ไม่ใช่สินค้าราคาถูก และไม่ใช่การนำเอาวัสดุส่วนที่เหลือจากระบบอุตสาหกรรมมา Re- create เช่นเดียวกับ Punk ในยุคแรกๆ อีกต่อไป

เสื้อผ้าแนว Street Fashion ในความหมายเดิมมี Brand Name และราคาแพง, ซึ่ง Street Fashion ในความหมายใหม่มีราคาถูกและมีลักษณะที่เป็นการผลิตแบบ Popular Mass บวกกับการแพร่กระจายของโลกาภิวัฒน์ ซึ่งคราวนี้ New York เป็นอีกเมืองที่มีอิทธิพลต่อวงการเสื้อผ้าแนวนี้ ตลอดรวมทั้ง Concept การตลาดที่น่าสนใจอีกแบบหนึ่งด้วย โดยจะกล่าวถึงเพื่อการเปรียบเทียบในตอนต่อไป

หากแฟชั่นดีไซน์เนอร์ไทยสามารถเชื่อมโยงปรากฏการณ์ทางการเมือง บรรยากาศทางวัฒนธรรม และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยี เข้ากับระบบสัญลักษณ์ต่างๆ บนเสื้อผ้าและการเลือกใช้วัสดุต่างๆ ได้ น่าจะเป็นก้าวที่สำคัญของการสร้างสังคมของการดีไซน์ที่มีพื้นฐานที่ดีของเราเอง. การดีไซน์ไม่ใช่เพียงความเก่งกาจของการใช้เส้นสี วัสดุ ฯลฯ ด้วยความชำนาญของมือเท่านั้น หากแต่ต้องสามารถอ่านจังหวะชีวิตร่วมสมัยของ พ.ศ.ที่ตนอาศัยอยู่จึงจะรู้ว่าผู้คนน่าจะใส่เสื้อผ้ากันอย่างไร

Political Symbols in Fashion System: From the Under Dog to the Marketable (2)
สัญลักษณ์ต่างๆ ทางการเมืองในระบบแฟชั่น: จากความเป็นเบื้ยล่างสู่สมรรถภาพทางการตลาด

3 เมืองศูนย์กลางหลักของโลกแฟชั่น Paris, London, และ New York มีจุดเน้นของแนวคิดและการตลาดในธุรกิจเสื้อผ้าต่างกัน ดีไซน์เนอร์ของทั้ง 3 เมืองกำหนดบทบาทของตัวเองใน Segment (ส่วน/ตอน)ที่ชัดเจนและแตกต่างกันด้วย. การต่อเนื่องของประวัติศาสตร์รสนิยมที่ยาวนานและน่าภูมิใจของฝรั่งเศสทำให้ดีไซน์เนอร์ใน Paris วางอัตลักษณ์ของอาชีพตนในฐานะศิลปิน มากกว่าการเป็นศิลปินกึ่งช่างประเพณีเช่นนักออกแบบเสื้อผ้าจาก London ซึ่งต่างมองแบบเหยียดอาชีพเดียวกันที่เป็นอเมริกันชนว่า เป็นเหมือนอุปกรณ์ของการตลาดและการลงทุนที่ไร้ความคิดสร้างสรรค์แบบเสื้อผ้าอเมริกัน

พิจารณาโดยละเอียดจะเห็นว่าหลังทศวรรษที่ 60s เป็นต้นมาความซับซ้อนของความ สัมพันธ์ทางสังคมของคนกลุ่มต่างๆ ชนชั้นทางสังคมและรสนิยมของการบริโภคมีการเคลื่อนย้ายสอดทับเปลี่ยนถ่ายไปมาสูงกว่าเดิมและเร็วขึ้นด้วยแรงขับของวัฒนธรรมสื่อ ทั้งวิทยุ สิ่งพิมพ์ ป้ายโฆษณาสาธารณะต่างๆ เพราะวัฒนธรรมสื่อที่ว่า ทำให้การผสมพันธุ์ของคนกลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้น นั่นคือผู้บริโภคมีสำนึกใหม่ต่อเรื่องการแต่งตัว และมีการแตกตัวหลากหลายมากขึ้นด้วย

แต่เดิมมักเชื่อว่าลักษณะของการใส่และผลิตเสื้อผ้า 3 แนวหลัก คือ
- Luxury Fashion ใน Paris
- Street Fashion ใน London และ
- Industrial Cloth แบบอเมริกัน

เหล่านี้มีทิศทางของการวาง Concept หรือแนวคิดการตลาด รวมถึงสไตล์ของการออกแบบแยกขาดจากกัน

วัฒนธรรมสื่อและความสัมพันธ์ใหม่ทางสังคมของกลุ่มต่างๆ ทำให้การพัฒนารูปแบบทั้ง 3 แนวข้างต้นมีการไขว้ทับกัน ด้วยสัดส่วนแคบกว้างเน้นหนักและบางเบาของดีไซน์เนอร์ทั้ง 3 เมืองน้อมรับพลิกแพลงตามถนัด

ในอเมริกาดีไซน์เนอร์แทบไม่มีตัวตนในธุรกิจเสื้อผ้า ส่วนใหญ่มักถูกจ้างให้ดีไซน์เสื้อผ้าเพื่อตอบสนองการตลาดแบบมวลชน แน่นอนทีเดียวที่ต้องเป็นมวลชนแบบกลุ่มความสนใจเฉพาะ การแตกตัวในวัฒนธรรมย่อยในอเมริกาทำให้การวิจัยรสนิยม ต้องอาศัยการทำงานของทีมดีไซน์เนอร์ที่ถนัดและเชี่ยวชาญใน Lifestyle เฉพาะด้าน การวิจัย Lifestyle ของผู้บริโภคเป็นปัจจัยที่สำคัญของธุรกิจเสื้อผ้าอเมริกัน

ก่อนหน้านี้ ถ้าลองนึกถึงธุรกิจเสื้อผ้าอเมริกันว่า ผลิตสไตล์อะไรของการสวมใส่ เราต่างก็นึกกันไม่ออก เช่นเดียวกับถามว่าศิลปะแนวอื่นๆ แบบอเมริกันมีลักษณะอย่างไร ซึ่งก็ตอบยากเช่นกัน เพราะอเมริกาขโมยรสนิยมทุกแนวที่คิดว่าทำการตลาดได้มาพัฒนาต่อ

ช่วงก่อนสงครามโลก Paris Style ถูกนำมาผลิตซ้ำและขายในตลาดภายใน หลังสงครามโลกการขยายตัวของการตลาดแบบอเมริกันแผ่ขยายออกไปทั่วโลก ไม่เฉพาะตลาดภายในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะในมิติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุนทรียภาพเชิงบริโภคนิยม ช่วงนี้เป็นยุคของการยึดยุทธศาสตร์การเมืองและการทหารของอเมริกัน โดยผ่านระเบียบใหม่ทางเศรษฐกิจ และธุรกรรมเชิงรสนิยม เป็นยุคของความต้องการเป็นมหาอำนาจทาง Lifestyle ของโลก

เสื้อผ้าอเมริกันในยุคนี้เริ่มหลุดจากร่มเงาของอิทธิพลจาก Paris โดยมุ่งหน้าหยิบยืมและใช้ทุกอิทธิพลอื่นๆ ที่มากขึ้น แม้แต่จากวัฒนธรรมที่เคยถูกพิจารณาว่าด้อยกว่า ด้วยมาตรฐานยุโรปเป็นศูนย์กลางเพื่อเอื้อต่อการขยายแขนขาทางการตลาดของตน (ถึงตรงนี้เราคงพอได้กลิ่นของการเดินหน้าต่อของการตลาดแบบอเมริกันในเวลาปัจจุบัน ซึ่งสาวกของ Harvard Business School น่าจะอธิบายได้ดีกว่าบทความชิ้นนี้)

การที่จะทำให้เสื้อผ้าอเมริกันกลายเป็นสัญลักษณ์ทางอาณานิคมของ Lifestyle ทั่วโลก คือการที่ทำให้ American Style ต้องมีลักษณะที่แทรกซึมเข้าได้กับวัฒนธรรมที่ต่างๆ (บางครั้งต้องใช้ยุทธศาสตร์บีบบังคับและเค้นคอด้วย) Brand Name อเมริกันจึงต้องไม่มีรูปแบบพิเศษที่โดดเด่น คือต้องแบบแห้งๆ (เชยแหลก) และเป็นสากล ซึ่งนั่นคือลักษณะที่กลายเป็น American Style เฉพาะขึ้นมา…

เริ่มจากแนวคิดเรื่อง Adventure ต่อมาเรื่องความคล่องแคล่วพร้อมลุยตามแนว Sport Wear และตามมาด้วยการสนองแรงปรารถนาของการจับจ่ายกลุ่มลูกค้าสาวๆ และแม่บ้าน (ซึ่งกลุ่มหลังสุดเป้าหมายของการตลาดกลุ่มสำคัญแต่ไหนแต่ไรมา) คือถ้าพูดให้ชัดขึ้นคือ อเมริกันผลิตเสื้อผ้าแนวที่เรียกว่า Industrial Clothing มากกว่าแนว Stylistic Clothing ที่ยังคงดำเนินต่อในยุโรปทั้ง Paris London และ Milan ในเวลาต่อมา

คาถาของนักออกแบบเสื้อผ้าในอเมริกาคือ I live the lifestyle of my customers. I am my ideal customer.
แนวคิดต่อเรื่องความคิดสร้างสรรค์ของการออกแบบที่คิดว่า น่าจะทำให้เกิดผลงานที่ดีนั้นไม่สำคัญเท่ากับการวางยุทธศาสตร์การตลาด และคิดว่าผลงานที่ดีอาจไม่จำเป็นต้องคิดสร้างสรรค์อะไรมาก ตราบใดที่มันจะสามารถเข้าถึงสาธารณะ สื่อสารกับความต้องการของผู้บริโภค และขายได้ในที่สุด. ความคิดสร้างสรรค์ไม่มีความสำคัญเท่ากับการคิดอย่างรอบด้าน ซึ่งปัจจุบันเราเรียกว่าการวิจัยนั่นเอง ซึ่งนี่คือรูปแบบและคำอธิบายใหม่ของคำว่า "ความคิดสร้างสรรค์" ใน พ.ศ. นี้

Futurism: Clothing Can Change The World (1)
ฟิวเจอริสม์: เสื้อผ้าสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้

การใส่เสื้อผ้า แน่นอนทีเดียวไม่ใช่เป็นเพียงปรากฏการณ์ของโลกตะวันตกเท่านั้น หากแต่ทุกวัฒนธรรมมีโลกทัศน์เฉพาะต่อการตกแต่งเรือนร่างมนุษย์ด้วยวิธีการต่างๆ เช่นกัน

แต่คำว่า "Fashion" เป็นแนวคิดที่ก่อตัวขึ้นมาพร้อมกับการมาถึงของโลกสมัยใหม่ (Modernity) เช่นเดียวกับคำว่า Art ในแขนงต่างๆ อื่นอีก ซึ่งนั่นคือการส่งสัญญาณและเป็นการประกาศจุดจบของโลกประเพณีใบเก่า ซึ่งเริ่มส่อเค้ามานับตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 14 ชัดเจนขึ้น และได้มาจะแจ้งในโครงงานของยุคสว่าง (The Enlightenment Project) และเป็นรูปร่างที่ชัดเจนในปรากฏการณ์ต่างๆ ในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 19.
ความใหม่ (The Newness) คือ การแสดงออกที่ยิ่งใหญ่ของศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์

Fashion ไม่ใช่เพียงเป็นแค่การเปลี่ยนของการนุ่งห่มเสื้อผ้าเท่านั้น แต่ Fashion คือโลกทัศน์ใหม่ของกิจกรรมพิเศษทางสังคม-วัฒนธรรม ซึ่งเป็นสถาบันเชิงแนวคิด(Concept) ที่แยกขาดจากชีวิตจริงของคนเดินไปเดินมาในสังคมวัฒนธรรม ธรรมดา... ดังนั้น Fashion ถึงสามารถถูกศึกษาได้ในมิติของการเปลี่ยนแปลงทางทฤษฏีความงามและสุนทรีย์ศาสตร์ เช่นเดียวกับศิลปะแขนงอื่น (แต่ในความสัมพันธ์กับความเคลื่อนไหวของปัญหาทางสังคมต่างๆ)

มีการวิจารณ์อย่างกว้างขวางต่อโครงงานของยุคสว่าง (The Enlightenment Project) การวิวัฒน์ของแนวคิดทุนนิยม การปฏิวัติอุตสาหกรรม การผลิตและสังคมมวลชน (The Mass Industrial Society) และโลกสมัยใหม่ (The Modern World) จนกระทั้งถึงความโศกเศร้าจากผลของสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ในประเด็นเกี่ยวกับการใช้เหตุผลในฐานะเครื่องมือที่ผิดพลาด ภายใต้บรรยากาศความสัมพันธ์ทางอำนาจสถาบันและความรู้ที่ผลักมนุษย์เข้าไปอยู่ในกรงขังเหล็กของความจริงแบบโลกทัศน์โมเดิร์น

ความคิดสร้างสรรค์ต่อเรื่องความงามเชิงสถาบันที่แยกขาดจากวิถีชีวิตปกติถูกนำมาทบทวนเพื่อหาสมดุลใหม่ของความจริงทางวัฒนธรรม (ที่ทุกคนน่าจะใช้ความจริงหรือมีส่วนในการกำหนดมันด้วยในวัฒนปฏิบัติของกิจกรรมชีวิตของตนเอง). ระหว่างช่วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ในอิตาลีมีการเคลื่อนไหวของแนวความคิดที่น่าสนใจ มีน้ำหนักการวิพากษ์วิจารณ์สุนทรียศาสตร์แนวสถาบันของยุคโมเดิร์น นั่นคือ Futurism

ในชั้นเรียนวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์แบบชืดๆ ที่เน้นการเรียงลำดับเวลาทางประวัติศาสตร์แบบท่องจำเป็นสำรับ( Package) มักกำหนดช่วงเวลาของแนวคิดนี้ในระหว่าง 1910s - 1930s และเป็นส่วนหนึ่งในแนวคิดของศิลปะสมัยใหม่โดยทั่วไป หลายคนเชื่อมโยงลัทธิ Futurism กับคำว่า

Future + Progress + Utopia + Nationalism + Speed + Technology + Modern Paradigm…

ไม่เห็นยากอะไรตรงไหน...? ไม่ยากที่จะเข้าใจ ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่มักถูกผลิตภายใต้แนวคิดเชิงอุตสาหกรรมแบบเร่งด่วนที่เห็นโดยทั่วไป แต่หากลองตรองดูในรายละเอียด ช้าลงสักนิดต่อข้อสรุปอะไรที่แข็งๆ เกินไปจะเห็นว่าในโลกทัศน์หนึ่งๆ ในช่วงเวลาเฉพาะหนึ่ง มักมีข้อขัดแย้งไม่ลงรอยที่นำไปสู่ทิศทางของแนวปฏิบัติและการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มต่างๆ

สำหรับ Futurist Fashion ซึ่งเห็นว่ามีแนวคิดที่น่าสนใจและเป็นตัวอย่างที่ดีในแง่ที่ว่า การเปลี่ยนของสถานการณ์ทางสังคมมีผลต่อแนวความคิด(Concept) และจากแนวความคิด ได้มีอิทธิพลเชิงปฏิบัติและการแสดงออกของสไตล์(Style) จึงขอสาธยายถึงเรื่อง"แนวความคิด (Concept)" ก่อนเพื่อที่จะเข้าใจ "สไตล์ (Style)"

ประมาณปี ค.ศ. 1909 คำว่า Futurism เริ่มอยู่ในความสนใจของนักคิด นักเขียน ศิลปิน และดีไซน์เนอร์ มีบทความเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของลัทธินี้ตีพิมพ์ในนิตยสาร "Poesia" ในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี และปี 1910 แถลงการณ์ลัทธิ (Manifesto) ถูกประกาศเป็นครั้งแรก และมีแถลงการณ์ฉบับต่อๆ มาอีก 7-8 ฉบับ. โดยหลักการคร่าวๆ ดังกล่าวซึ่งปรากฏใน Manifesto คือเชื่อว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกขณะนี้เคลื่อนไหวและเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว สิ่งต่างๆที่ปรากฏต่อสายตาเราไม่เคยหยุดนิ่งคงที่ (Static) หากแต่ปรากฏตัวและหายไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นวัตถุที่อยู่ในความเคลื่อนไหวจึงมีความหลากหลายในลักษณะ สถานะ และรูปทรง ซึ่งนำไปสู่การสั่นไหวของวัตถุอื่นๆในเวลาและเทศะ (Time-Space)"

จากความเชื่อข้างต้นนักเคลื่อนไหวในลัทธิ Futurism เห็นว่ากรอบคิดเรื่องความคิดสร้างสรรค์ในยุคของตน (แบบ Modern) มีปัญหาเป็นสถาบันที่หยุดนิ่งคงที่ และสร้างปัญหานำไปสู่ประเด็นอื่นๆ ในภาพกว้าง เช่น ความอยุติธรรม, บ้าเหตุผลที่ผิด, และประเพณีไม่เข้าเรื่อง และอื่นๆ

Futurist Style จึงเต็มไปด้วยความขัดแย้งต่อเรื่อง ความยุติธรรม, ความรุนแรง, ความโหดร้าย, ความอันตราย, ความบ้า, และความเป็นวิทยาศาสตร์ ดังคำประกาศหนึ่งที่ว่า จงมีความกล้าและปฏิวัติ "Lift up your heads! Erect on the summit of the world, once again we hurl defiance of the stars!"

ในตำรามากมาย มักเชื่อมโยงลัทธิ Futurism กับลัทธิทางการเมืองแบบ Fascism ที่นำโดย Benito Mussolini ซึ่งเน้นอำนาจของรัฐและผู้นำเหนือชีวิตทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของบุคคล, ในขณะเดียวกันที่ Mussolini เองประกาศอย่างชัดเจนใน The Political and Social Doctrine of Fascism ว่า สังคมนิยม (Socialism) เสรีนิยม (liberalism) ประชาธิปไตย (Democracy) และปัจเจกนิยม (Individualism) เป็นปัญหาและ "ชาติอิตาลี"ไม่ควรเดินตาม นั่นเป็นแนวคิดของพวกยุโรปฝ่ายเหนือและทวีปอเมริกา อิตาลีนั้นแตกต่าง

ดังนั้น Fascism ไม่ใช่ทั้งลัทธิทางการเมืองทั้งฝ่ายซ้ายหรือขวา โดยเฉพาะแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับแนวคิดใกล้ๆกันเช่น Nazism, Marxism หรือ Social Darwinism. Fascism ยืนอยู่คนละขั่วกับแนวคิดมนุษย์นิยม (Humanism) และเหตุผลนิยม (Rationalism) ตามแบบฉบับของยุคสว่าง (The Age of Enlightenment)

ในที่นี้จะไม่พูดถึงแนวคิด Fascism มาก เพียงนำเสนอแต่พอสังเขปเพื่อจะได้ไปต่อในประเด็นที่ว่า ในแต่ละช่วงเวลาประวัติศาสตร์ มักมีแนวคิดที่ดูคล้ายกันร่วมกระบวนทัศน์(Paradigm)เดียวกัน แต่มีรายละเอียดของแนวคิดและการปฏิบัติซึ่งบางครั้งต่างกันมาก จึงพูดแบบปราศจากความรับผิดชอบไม่ได้ว่า… นั่นเป็นยุคโมเดิร์น ดังนั้น Futurism ก็เป็นงานแบบโมเดิร์น นั่นเอง

ด้วยแนวคิดทางการเมือง กิจกรรมและความคิดสร้างสรรค์แนว Futurism ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ในอิตาลีทำให้หรืออย่างน้อยก็พอที่จะอธิบายได้ว่า ทำไมลักษณะการออกแบบ และอัตลักษณ์ของการออกแบบ รวมถึงการออกแฟชั่น และเสื้อผ้าในมิลาน ในเวลาปัจจุบันจึงมีลักษณะที่โดดเด่น และแตกต่างจากยุโรปทางฝ่ายเหนือ (โดยเฉพาะใน Paris) ใน พ.ศ. นี้

Futurism: Clothing Can Change The World (2)
ฟิวเจอริสม์: เสื้อผ้าสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้

ศิลปะต้องเป็นสิ่งที่สัมพันธ์ แนบแน่นและถูกใช้ได้ในสังคมจริงและทุกคนเข้าถึงได้ เป็นลมหายใจของชีวิต
Fashion ในแนว Futurism ก็คือศิลปะที่สวมใส่ได้ และเดินไปเดินมาในชีวิตประจำวันจริง

นักเคลื่อนไหว Futurism ในอิตาลีเชื่อว่า โลกไม่สามารถหยุดนิ่งได้และมันต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้า ระบบอุตสาหกรรมก็ไม่เลวร้ายจนเกินไป ถ้าเราสามารถฉลาดเลือกพอที่จะใช้ประโยชน์จากระบบ อย่างน้อยการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ก็ทำให้ต้นทุนต่ำลง ผลิตได้จำนวนมากขึ้น จนไม่ยากที่จะครอบครอง. การใช้ประโยชน์จากระบบอุตสาหกรรมทุนนิยมอย่างชาญฉลาด อาจเป็นทางออกที่สำคัญ ที่ทำให้อุดมคติ (Ideology) ที่เคยอยู่ลอยๆ บนฟากฟ้าของคนเพียงหยิบมือ ถูกเปลี่ยนเป็นความคิดที่ปฎิบัติได้ (Practical Idea). อุดมคติที่ปฏิบัติการได้ จนในที่สุดกรอบจำกัดของอุดมคติถูกหลอมละลาย และทุกคนมีส่วนในการกำหนดความหมาย และเอาอุดมคติมาใช้ตามที่ตนต้องการได้ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน

จุดประสงค์ของคำประกาศใน Futurist Manifesto คือการปลดปล่อยเพื่อทำให้ข้อจำกัดของศิลปะและรสนิยมเชิงสถาบันแบบ Modernism มีอิสระมากขึ้น ทุกคนต้องมีสุนทรียภาพของการใช้ชีวิตที่มีสีสัน คล่องตัว เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์. สิ่งที่อยู่ระหว่างบรรทัดของคำประกาศดังกล่าวคือ Modernism หรือลัทธิสมัยใหม่ เป็นเรื่องที่เชย ไม่คล่องตัว และไร้จินตนาการ และเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ ของพวกชนชั้นสูง (Upper Class) ต่อเรื่องอนาคต

Futurist Manifesto คือความพยายามที่จะบอกว่า ถ้าเราจะต้องเดินไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นนั้น เรา(คือทุกคน)ไม่ใช่ชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง มีสิทธิ์กำหนดอนาคตขึ้นมา และสิ่งแรกที่ต้องทำก่อนคือ การทำให้อิทธิพลและความสำพันธ์เชิงอำนาจของรสนิยมลัทธิสมัยใหม่(Modernism) มีข้อจำกัดเสียก่อน และเราจะก้าวข้ามข้อจำกัดเหล่านั้นไปได้

ถนนที่เคยเต็มไปด้วยเสื้อผ้าหญิงชาย ในโลกมืดๆ ขาว เทา ดำ เป็นระเบียบเนียนแบบโมเดิร์น ถูกสับเปลี่ยนด้วยการตัดเย็บด้วยวัสดุสีฉูดฉาด เส้นสายคมบาดตา สร้างบรรยากาศรอบข้างให้ขยับไหว ไม่แช่นิ่ง. บรรยากาศต่างๆ แบบ Futurist Style ที่เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวของเส้น สี สะท้อนวิถีชีวิตของบุคคล ที่เร่งเร้า ไม่แช่นิ่ง หรือจำนนและยอมสยบต่อชีวิตในโลกอุตสาหกรรมทุนนิยมที่ตนอาศัยอยู่

…ชีวิตยังมีความหวัง การจะบรรลุความหวังดังกล่าวได้นั้น สังคมต้องมีการปฎิวัติ!!! และการปฏิวัติในแนว Futurism คือการปฏิวัติเชิงสไตล์ (Stylist Revolution) นั่นคือการทำให้อุดมคติ ถูกลากดึงลงดิน และปฏิบัติได้ด้วยยุทธวิธีที่แหลมคมกว่าการปฏิวัติทางการทหารแบบเดิมๆ เป็นการปฏิวัติโลกด้วยวิธีการใช้ชีวิตอย่างมีสไตล์

การเคลื่อนไหวตามแนว Futurismในอิตาลี ในช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นการทำงานร่วมกันของนักอุดมคติ จากแวดวงต่างๆ ทั้งวรรณกรรม, ทัศนศิลป์, งานออกแบบ, งานสถาปัตยกรรม, การละคร, ดนตรี, การเมือง, อุตสาหกรรม ฯลฯ ที่หวังเห็นโลกอนาคตที่ดี ตามแบบอิตาลีเอง และการออกแบบคือเครื่องมือสำคัญของการทำให้อุดมคติบรรลุเป้าหมาย โดยการแทรกซึมศิลปะเข้ากับการใช้งานในชีวิต ในสไตล์ที่มีรูปแบบเฉพาะ

สำนึกทางสังคมถูกปรับเปลี่ยนด้วยการใช้ชีวิตเชิงวัตถุ ในการใช้ชีวิตนั้นเอง พวก Futurist กำลังบอกเราว่า ถ้าจะสร้าง Brand และ Trend อะไรก็ตามต้องเป็น Brand และ Trend ที่มีอุดมคติกำกับ และเป็นอุดมคติที่ถูกย่อยแล้ว ที่ทุกคนเข้าถึงและเป็นเจ้าของได้. ในกรณี Italian Futurism คือการสอดแทรกความสำนึกแบบอิตาเลียน(Italian Consciousness) ไว้ในรูปแบบ ข้าวของ เครื่องใช้ประจำวัน ซึ่งมีลักษณะ Unique (มีลักษณะเฉพาะ จนถึงปัจจุบันก็ยังคงเป็นอยู่อย่างนั้น)

 


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1250 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

นักเคลื่อนไหว Futurism ในอิตาลีเชื่อว่า โลกไม่สามารถหยุดนิ่งได้และมันต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้า ระบบอุตสาหกรรมก็ไม่เลวร้ายจนเกินไป ถ้าเราสามารถฉลาดเลือกพอที่จะใช้ประโยชน์จากระบบ อย่างน้อยการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ก็ทำให้ต้นทุนต่ำลง ผลิตได้จำนวนมากขึ้น จนไม่ยากที่จะครอบครอง. การใช้ประโยชน์จากระบบอุตสาหกรรมทุนนิยมอย่างชาญฉลาด อาจเป็นทางออกที่สำคัญ ที่ทำให้อุดมคติ (Ideology) ที่เคยอยู่ลอยๆ บนฟากฟ้าของคนเพียงหยิบมือ ถูกเปลี่ยนเป็นความคิดที่ปฎิบัติได้ (Practical Idea). (ทัศนัย เศรษฐเสรี)

16-05-2550

Fashionsophy
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.