บทความเชิงเปรียบเทียบเรื่องการศึกษา
: คุณธรรมกับการพัฒนา
แนวทางการศึกษาของ
อ.ป๋วย, แนวทางการศึกษาของเวียดนาม
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
นำมาจากงานเขียนของวิทยากร เชียงกูร และไพฑูรย์
สินลารัตน์
บทความที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บเพจนี้
กอง บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมมาจากอีเมล์และหนังสือพิมพ์
๑.วิเคราะห์งานเขียนอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เกี่ยวกับแนวคิดทางการศึกษาและศาสนา
(อีเมล์)
๒. เมื่อเวียดนาม เชื่อว่าการศึกษาเปลี่ยนแปลงประเทศได้ (มติชน)
ในขณะที่เวียดนามมีแผนระยะสั้นและระยะยาวในการตระเตรียมกำลังคน
เพื่อรองรับการพัฒนาและตลาดโลก
ไทยกระแสหลักก็ท่องบ่นคำนี้อย่างขึ้นใจมานานในแวดวงการศึกษา แต่ก็ยังคงอยู่กับที่
บทความที่นำเสนอ ณ ที่นี้ หวังเพียงเพื่อให้สังคมไทยพิจารณาและช่วยกันกำหนดทิศทางการศึกษาอย่างจริงจัง
โลกาภิวัตน์เป็นเรื่องที่รออยู่ข้างหน้า เราจะบุกหรือตั้งรับ
หรือแสวงหาทางเลือกใหม่เป็นเรื่องของเวทีสาธารณะ
ที่ควรเปิดให้มีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ เพื่อแสวงหาฉันทามติเกี่ยวกับทิศทางการศึกษาไทย
(midnightuniv(at)gmail.com)
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๓๖
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒ พฤษภาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๘.๕ หน้ากระดาษ A4)
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
เร่งเนื้อสมองให้รองรับโลกาภิวัตน์
เตรียมกำลังคนตอบรับตลาดโลก
หรือมุ่งพัฒนาคุณธรรมมากกว่าความฉลาด สร้างสมคนดีให้กับสังคม
หรือมีทางเลือกที่สาม ให้กับทางออกการศึกษาไทย?
บทความเชิงเปรียบเทียบเรื่องการศึกษา
: คุณธรรมกับการพัฒนา
แนวทางการศึกษาของ
อ.ป๋วย, แนวทางการศึกษาของเวียดนาม
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
: รวบรวม
๑. วิเคราะห์งานเขียนอาจารย์ป๋วย
อึ๊งภากรณ์ เกี่ยวกับแนวคิดทางการศึกษาและศาสนา
วิทยากร เชียงกูล : มหาวิทยาลัยรังสิต
อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (พ.ศ.2459-2542) อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากจะมีชื่อเสียงในฐานะนักเศรษฐศาสตร์การคลังผู้มีความสามารถและซื่อสัตย์แล้ว ยังเป็นนักคิด นักเขียน นักการศึกษาคนสำคัญ
การศึกษาเรื่องความคิดของอาจารย์ป๋วย ควรจะศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ นั่นคือ ต้องเข้าใจว่าความคิดหรือทัศนะของท่านขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นๆ สิ่งที่เราจะศึกษาจากอาจารย์ป๋วยได้มากที่สุด คือ จุดยืนเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ในระยะยาว และวิธีการคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์มหภาคที่มองปัญหาอย่างเป็นองค์รวมของท่าน ท่านเคยกล่าวไว้ว่า ".... ทุกวันนี้มีการทำบาป และก่ออาชญากรรมในนามของนักเศรษฐศาสตร์ ในระบบเศรษฐกิจ และในการพัฒนาเศรษฐกิจ ." (เศรษฐศาสตร์ในฐานะที่เป็นสาขาหนึ่งของวิทยาการ 2509, พิมพ์ใน" เศรษฐทรรศน์" 2523)
บทความที่แสดง "แนวคิดทางการศึกษาและศาสนา" ของอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ชี้ว่า นอกจากท่านจะได้ชื่อว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ จริงๆ แล้วท่านยังเป็นนักการศึกษาและนักปรัชญาทางจริยธรรมที่สำคัญคนหนึ่งของไทยอีกด้วย
แม่ว่าทัศนะทางเศรษฐกิจของอาจารย์ป๋วย จะมีลักษณะโน้มเอียงไปทางแนวคิดเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมกระแสหลัก แต่ทัศนะทางสังคมของอาจารย์ป๋วยโดยเฉพาะที่เห็นได้ชัด คือในเรื่องทางการศึกษาและศาสนา จะมีลักษณะเสรีนิยมก้าวหน้ากว่าปัญญาชนไทยในยุคสมัยเดียวกัน ในตอนแรกเริ่มอาจารย์ป๋วยคงสนใจเรื่องการศึกษาแบบนักเศรษฐศาสตร์ ที่มองการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ประสบการณ์ทำงานของอาจารย์ป๋วยเองในเวลาต่อมา ที่ได้พบเห็นความไม่มีประสิทธิภาพและความฉ้อฉลของข้าราชการ ก็ยิ่งทำให้ท่านมองเห็นว่า เป็นเพราะสถาบันการศึกษาไทยไมได้ฝึกอบรมคนให้มีความรู้ความสามารถและมีคุณธรรมพอที่จะเป็นผู้นำทางวิชาชีพในอนาคตได้ ดังนั้นท่านจึงมองเห็นว่าการพัฒนาทางการศึกษาเป็นความจำเป็นอันดับต้นๆ (Thomas Silcock, "Puey", in Proud and Serene Sketch from Thailand, 1968)
แต่อาจารย์ป๋วยมีทัศนคติที่กว้างกว่านักเศรษฐศาสตร์กระแสเก่าคนอื่นๆ ในแง่ที่ว่า ท่านไม่ได้มองแค่การใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการเพิ่มความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยอมรับความสำคัญของการศึกษาในแง่ทีเป็นจุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งของการพัฒนาของมนุษย์ ซึ่งอาจารย์ป๋วยมองเห็นตั้งแต่ปี 2508 แล้วว่า "มีความหมายที่กว้างไกลกว่าการพัฒนาผลผลิตและรายได้" นั่นก็คือ ท่านเห็นว่า
"...การศึกษาต้องเริ่มต้นด้วยความสำคัญของนักเรียน และจบลงด้วยความสำคัญของนักเรียน นักเรียนไม่จำเป็นต้องเล่าเรียนเพื่อเห็นแก่ครูหรือโรงเรียน ไม่ใช่หมั่นเรียนเพื่อชาติ หรือแม้แต่ความรุ่งเรื่องของวิชาการ วิชาการนั้นปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมได้ ถ้านักเรียนสนใจในวิชาการเพื่อตนเองแล้ว วิชาการย่อมเจริญรุ่งเรืองได้เอง โดยมีนักเรียนเป็นผู้สืบสายวิชาการ..." และ
"...ที่ผมกล่าวถึงนักเศรษฐศาสตร์ที่อ้างเรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจและแผนการศึกษา โดยไม่คำนึงถึงนักเรียนว่ายังเข้าใจผิดอยู่นั้น ก็เพราะเขามิได้เพ่งเล็งถึงคุณธรรมและศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่เป็นนักเรียนแต่ละคน อาจจะหลงคำนึงบูชาแผนพัฒนาเศรษฐกิจว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ไปก็ได้..." ("การศึกษา" ในการศึกษาในทัศนะข้าพเจ้า, 2530, หน้า 5-6) นี่เป็นบทความที่น่ากลับไปอ่านชิ้นหนึ่ง
ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักคนอื่นๆ อาจจะพอใจแค่การลงทุนทางการศึกษาในระบบแพ้คัดออก เพื่อเลือกคนหัวกระทิจำนวนหนึ่งให้ขึ้นมาเรียนชั้นสูง และเพื่อเป็นกำลังในการผลิตรับใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมให้เติบโตต่อไป อาจารย์ป๋วยเป็นผู้ที่สนับสนุนอย่างแข็งขันที่จะทำให้เด็กนักเรียนที่ยากจนและเสียเปรียบ ได้มีโอกาสรับการศึกษาอย่างเป็นธรรมขึ้นกว่าสภาพที่เป็นอยู่ ท่านยังได้เสนอให้มีการปฏิรูปการบริหารการศึกษา โดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัยและโรงเรียนในท้องถิ่น ให้มีลักษณะเปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นตั้งแต่ปี 2514 (สนทนาเรื่อง "ปัญหาอุดมศึกษา", ในการศึกษาในทัศนะของข้าพเจ้า, หน้า 234-277)
แต่เนื่องจากอาจารย์ป๋วยไมได้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารการศึกษามากนัก และไม่มีผู้สนับสนุนแนวคิดเรื่องการปฏิรูปทางการศึกษาของท่านมากพอ ทัศนะในเรื่องนี้ของท่านก็เช่นเดียวกับทัศนะในการปฏิรูปทางเศรษฐกิจบางอย่าง จึงไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลเช่นเคย. แม้ในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งการเมืองพัฒนาไปแนวทางประชาธิปไตยมากขึ้น แต่เอาเข้าจริงๆ ระบบราชการก็ล้าหลังเกินกว่าจะยอมรับแนวคิดปฏิรูปใหม่ๆ ได้ การปฏิรูปทางการศึกษาที่พยายามทำกันได้อยู่ 2-3 ปี ช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 จึงเป็นการปฏิรูปด้านรูปแบบมากกว่าเนื้อหา
บทความเรื่อง "การศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม" แม้อาจารย์ป๋วยจะเขียนมาตั้งแต่ปี 2518 แต่ยังน่าอ่าน น่าขบคิด และสานต่อแนวคิดของอาจารย์ป๋วยอยู่มาก โดยเฉพาะที่ท่านเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญคือ ต้องปฏิรูประบบการปฏิบัติและความประพฤติของผู้ปกครอง, ครู-อาจารย์, นักการเมือง, รัฐมนตรี, ข้าราชการ, ให้ซื่อสัตย์เอาใจใส่ต่อหน้าที่ ตรงต่อเวลา มีน้ำใจเป็นนักกีฬา เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่เด็ก
ทัศนะในเรื่องศาสนาของอาจารย์ป๋วย ก็เป็นทรรศนะที่มีลักษณะก้าวหน้าต่างไปจากปัญญาชนทั่วไปในสมัยนั้นหรือแม้สมัยนี้ก็ตาม นั่นก็คือ อาจารย์ป๋วยจัดตัวเองเป็นฆราวาสนอกศาสนจักรที่ขาดศรัทธาแบบศาสนานิยม ท่านมองว่าตนเองเป็นพวกที่มีความเชื่อแบบ agnostic (ท่านแปลเองว่า ลัทธิของคนที่ขาดศรัทธา) คือ พวกที่ไม่สามารถเชื่อได้ว่าพระเจ้ามีอยู่หรือไม่, นิพพานเป็นจุดจบแท้จริงอย่างสมบูรณ์แน่ชัดหรือไม่ และยอมรับเอาแต่สิ่งที่เห็นประจักษ์ สิ่งที่ไตร่ตรองด้วยเหตุผลเป็นสำคัญ ส่วนเรื่องที่พ้นไปจากชีวิตในโลกปัจจุบันถือเป็นเรื่องนอกเหนือไปจากโลกมนุษย์ ("ศีลธรรมและศาสนาในการพัฒนาชาติ" ในสุนทรพจน์และข้อเขียน, 2513, หน้า 111-112.)
อาจารย์ป๋วยให้ความสำคัญกับศีลธรรมมากกว่าศรัทธา ในปาฐกถาอนุสรณ์ซินแคลร์ทอมป์สัน เรื่อง "ศีลธรรมและศาสนาในการพัฒนาชาติ" ที่อาจารย์ป๋วยได้แสดงที่วิทยาลัยพระคริสตธรรมในปี 2512 อาจารย์ป๋วยได้เสนออย่างกล้าหาญว่า "การมีทั้งศรัทธาและศีลธรรมเป็นสิ่งที่ดี แต่การขาดศรัทธาโดยไม่ละเมิดศีลธรรมนั้น ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาชาติ. ผู้ใดมีแต่ศรัทธาแต่ละเมิดศีลธรรม ผู้นั้นจะเป็นปรปักษ์แก่การพัฒนาชาติอย่างแน่นอน" โดยท่านได้อธิบายไว้ตอนหนึ่งว่า
"การที่ผมบังอาจมากล่าวในวิทยาลัยพระคริสตธรรมนี้ว่า ศรัทธาไม่ใช่เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งยอดในการพัฒนานั้น จะได้ประสงค์ลบหลู่ท่านอาจารย์ทั้งหลายในวิทยาลัยนี้ก็หาไม่ ความมุ่งหมายของผมต้องการแก้ความเข้าใจผิดในวงการศึกษา ในการศึกษาในประเทศที่ย้ำเรื่องศรัทธามากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการศรัทธาแบบฉาบฉวยหรือหน้าไหว้หลังหลอก ก็ยังรับกันว่าดี ส่วนศีลธรรมไม่ย้ำให้พอ คำโฆษณาชวนเชื่อในวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาล ก็ยังพูดได้ว่า คนทีไม่เชื่อศาสนานั้นเป็นคอมมิวนิสต์หรือผู้ก่อการร้าย เด็กๆ ครูสอนมาแบบนี้จะเข้าใจไขว้เขว คนที่ไม่มีศาสนาแต่ประพฤติธรรม ก็ควรได้รับการยกย่องนับถือเพราะเป็นธรรมจารี" (ป๋วย เล่มเดิม หน้า 113)
ทัศนะเช่นนี้ค่อนข้างแตกต่างจากทัศนะที่แสดงออกของปัญญาชนส่วนใหญ่ ซึ่งมักต้องแสดงออกว่า ตนเป็นผู้สนใจเลื่อมใสในศาสนาหรือเป็นศาสนิกชนที่ดี ปัญญาชนบางคนอาจมีความเชื่อมีศรัทธาในศาสนาจริงๆ โดยบริสุทธิ์ใจก็ได้ แต่ถ้ามองอย่างวิเคราะห์ในแง่สังคมวิทยาการเมืองแล้ว วิธีการแสดงออกดังกล่าวก็รับใช้จุดมุ่งหมายของปัญญาชน ในการที่จะแสดงให้ประชาชนมองเห็นว่าตนเป็นพวกเดียวกันคือ เป็นคนที่มีธาตุแท้แบบไทยๆ เป็นคนดีมีศีลธรรม ไม่ใช่คนหัวรุนแรงนอกคอก ดังนั้น แม้แต่คนที่โดยจริงๆ แล้วไม่ได้สนใจศาสนา หรือไม่สนใจแม้กระทั่งศีลธรรม ก็จะอ้างว่าตนเป็นศาสนิกชนที่ดีไว้ก่อนเสมอ เพราะนอกจากจะได้รับประโยชน์ในแง่ของการยอมรับจากสาธารณชนแล้วอย่างน้อยเป็นการปลอดภัยไว้ก่อน
มีแต่คนที่จริงใจ ตรงไปตรงมาอย่างอาจารย์ป๋วยเท่านั้น ที่จะกล้าพูดในสิ่งที่ท่านรู้คิดและรู้สึก โดยไม่กลัวจะถูกกล่าวหาว่าเป็นคนไม่นับถือศาสนา (หรือเป็นคอมมิวนิสต์) และโดยไม่คิดว่าจะต้องสร้างความชอบธรรม เพื่อแสดงว่าตนเป็นคนดีด้วยวิธีการอ้างว่าตนเป็นศาสนิกชนที่แท้
บทความด้านการศึกษาและศาสนาของอาจารย์ป๋วยมีอีกหลายบทความด้วยกัน ผู้สนใจบทความด้านนี้น่าจะหาอ่านได้จากหนังสือ "การศึกษาในทรรศนะข้าพเจ้า" ป๋วย อึ้งภากรณ์ มูลนิธิโกมล คีมทอง 2530 และ "ศาสนธรรมกับการพัฒนา" มูลนิธิโกมล คีมทอง 2530
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++
๒.
เมื่อเวียดนามเชื่อว่า การศึกษาเปลี่ยนแปลงประเทศได้
ไพฑูรย์ สินลารัตน์ : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ช่วงปลายเดือนมกราคม ผู้เขียนได้มีโอกาสไปศึกษาดูงาน เยี่ยมชม และสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้บริหาร
คณาจารย์ และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยในประเทศเวียดนามอีกครั้งหนึ่ง โดยมหาวิทยาลัยที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมครั้งนี้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของเวียดนาม
คือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติฮานอย (Vietnam National University, Hanoi), มหาวิทยาลัยฮานอย
(Hanoi University), มหาวิทยาลัยแห่งชาติทางด้านเศรษฐศาสตร์ (National Economics
University), และมหาวิทยาลัยทังลอง (Thang Long University) มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกของเวียดนาม
รวมทั้งได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับอธิบดีกรมอุดมศึกษาของเวียดนามด้วย
การดูงานและพบปะพูดคุยดังกล่าว ทำได้ข้อคิด ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะต่อวงการอุดมศึกษาไทยตามสมควร
ปี 2020 จะเป็นประเทศอุตสาหกรรม
เป็นเวลากว่าสิบปีมาแล้วที่ผู้เขียนเริ่มสนใจในประเทศเวียดนาม และได้ติดตามความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าของประเทศเวียดนามมาอย่างสม่ำเสมอ
โดยเฉพาะในด้านของการศึกษา
ในปี ค.ศ.1997 (พ.ศ.2540) ดร.รุ่ง แก้วแดง สมัยที่เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ได้ให้โอกาสผู้เขียนทำการวิจัยเรื่อง "การปฏิรูปการศึกษาของประเทศเวียดนาม" ข้อค้นพบปรากฏชัดเจนว่า เมื่อเวียดนามเริ่มใช้แนวคิด "โด่ย เหมย" (Doi Moi) หรือการปฏิรูปใหม่ (Renovation) ในการพัฒนาประเทศเมื่อปี ค.ศ.1986 (พ.ศ.2529) นั้น เวียดนามได้วางเป้าของการพัฒนาประเทศไว้ชัดเจน คือ
- ระหว่างปี ค.ศ.1986-1990 มุ่งให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ให้ช่วยตัวเองและช่วยรัฐได้
- ปี ค.ศ.1991-2000 หวังให้เวียดนามเจริญใกล้เคียงและทัดเทียมกับประเทศกำลังพัฒนาระดับกลาง เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย และ
- ในปี ค.ศ.2020 เวียดนามมุ่งมั่นจะพัฒนาประเทศให้เทียบทันกับประเทศอุตสาหกรรม (Industrial one)
อย่างเช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน เป็นต้น
ขณะนี้ปี ค.ศ.2007 จะเห็นได้ชัดว่าเขาทัดเทียมประเทศกำลังพัฒนาระดับกลางแล้ว และอีก 13 ปีข้างหน้า ถ้าอัตราการเติบโตเขาเป็นอยู่อย่างนี้ การทัดเทียมกับประเทศอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียนก็ไม่ไกลจนเกินไปแน่นอน. ส่วนประเทศไทยเราอีก 13 ปี จะเป็นแบบใด ภาพของเรายังไม่ชัดเจน เมื่อเทียบกับเวียดนาม เราจึงควรมีภาพของเราให้ชัดเจนขึ้น
การศึกษาสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้
เมื่อเริ่มต้นพัฒนาประเทศตามแนวทางใหม่โดยอาศัยการตลาดเป็นตัวนำ (Market Economy)
นั้น เวียดนามเชื่อในเรื่องของการศึกษา การอบรม และวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีอย่างมาก
เวียดนามได้กำหนดเป้าหมายของการศึกษาไว้อย่างชัดเจนกว่าสิบปีมาแล้วว่า การศึกษามีเป้าหมายสำคัญ
3 ประการ คือ
1) ยกระดับสติปัญญาของประชาชน (to raise the people intellectual)
2) ยกระดับคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ (to raise the quality of human resource) และ
3) สรรหา ส่งเสริม และใช้ประโยชน์จากกลุ่มอัจฉริยะ (to detect, to store and make good use of talented)
จุดมุ่งหมายทั้ง 3 ประการนี้ รัฐบาลเวียดนามและคนเวียดนามเชื่อมั่นอย่างมาก และเชื่อไปในทางเดียวกันชัดเจน
ดังเราจะเห็นจาก การส่งเสริมความสามารถพิเศษของและรางวัลเด็กพิเศษเวียดนามทางด้านวิทย์และคณิตอยู่เสมอ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม ดร.วู มินห์ แซง (Vu Minh Giang) พูดเช่นเดียวกับอธิบดีกรมอุดมศึกษา ดร.ตัน ตรี หา (Dr.Tran Tri Ha) ว่า รัฐบาลและคนเวียดนามเชื่อว่า การศึกษาสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้ (Education can change the country) รัฐบาล และประเทศ แม้รัฐธรรมนูญของเวียดนามเองถือว่า การศึกษาเป็นความสำคัญอย่างสูง (top national priority) จึงลงทุนทางการศึกษามาก
แต่ของไทยเราเองยังไม่เชื่อกันอย่างจริงจังว่า การศึกษาจะเปลี่ยนสังคมได้ เราจึงจัดการศึกษาแบบงาน Routine ซึ่งยากที่จะทำให้การศึกษาสามารถนำสังคม หรือเปลี่ยนแปลงประเทศได้
1623 : สร้างความแข็งแกร่งในประเทศก่อน
สำหรับผู้ที่สนใจการศึกษาของเวียดนามคงได้ข่าวว่า รัฐบาลเวียดนามได้เจรจากับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
(Harvard University) ให้มาออกแบบสร้างหลักสูตร และจัดระบบบริหารจัดการมหาวิทยาลัยใหม่ของเวียดนาม
เพื่อให้มีมหาวิทยาลัยมาตรฐานนานาชาติ สามารถแข่งขันกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคได้
แต่แผนนี้ก็เป็นอันต้องล้มเลิกไปโดยรัฐบาลใหม่เปลี่ยนยุทธวิธีใหม่
โดยมองว่าถ้าฮาร์วาร์ดมาออกแบบและสร้างให้แล้ว จะเอาใครมาสอนและมาบริหาร คงได้แต่ตัวตึกกับตัวหลักสูตร แต่คนสอนที่มีความสามารถไม่มี รัฐบาลจึงลงทุนใหม่ให้เงินกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติเพิ่มขึ้นจากเดิม 50 เท่า (ผู้เขียนถามย้ำกับรองอธิการบดีถึง 3 ครั้งว่า 50 เท่าแน่นอน) ในโครงการ 1623 คือ ลงทุนในระดับปริญญาตรี 16 สาขา และระดับบัณฑิตศึกษา 23 สาขา ทั้งการสอน การวิจัย อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ เพื่อให้มหาวิทยาลัยแห่งชาติเป็นมหาวิทยาลัยที่มีมาตรฐานนานาชาติ สามารถแข่งขันกับโลกได้โดยไม่ต้องพึ่งคนอื่น แต่สร้างความแข็งแกร่งขึ้นในประเทศเอง เช่นเดียวกับจีนที่เลือกมหาวิทยาลัยหลัก (Key universities) ประมาณ 100 แห่ง แล้วสร้างให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำเทียบเท่ามาตรฐานโลก
เป็นที่น่าเสียดายที่ประเทศไทยเราไปเชื่อในระบบธุรกิจการศึกษา จึงปล่อยให้มหาวิทยาลัยหาเลี้ยงตนเองกันไปตามยถากรรม
ปฏิรูปการศึกษาคือ การปฏิรูปคนในวงการศึกษา
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่ไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน
ได้เคยกล่าวกับผู้เขียนก่อนที่ท่านจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยฯว่า "อาจารย์ไพฑูรย์
ผมว่าปฏิรูปการศึกษาต้องปฏิรูปบุคลากรทางการศึกษานะ" ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วย
โดยเฉพาะครูและผู้บริหาร เมื่อได้ไปดูงานมหาวิทยาลัยในเวียดนามยิ่งเห็นชัด เพราะรัฐบาลเวียดนามเชื่อในการปฏิรูปบุคลากรอย่างมาก
โดยมีนโยบายที่จะเร่งพัฒนาผู้บริหารและคณาจารย์ระดับอุดมศึกษาอย่างเต็มที่
- สิ่งแรกที่อธิบดีกรมอุดมศึกษาได้กล่าวกับผู้เขียนก็คือ รัฐบาลจะทุ่มงบประมาณสร้างคนที่จบปริญญาเอก (ทั้งในและนอกประเทศ) มาเป็นอาจารย์ให้ได้ 20,000 คน ภายในเวลา 10 ปี เฉลี่ยปีละ 2,000 คน
- อย่างที่สอง ต่อไปอาจารย์ผู้สอนในอุดมศึกษาจะต้องได้รับการอบรม หรือมีประกาศนียบัตรการสอนทางอุดมศึกษาด้วยทุกคน- ในส่วนของผู้บริหารเอง ผู้บริหารระดับอธิการบดีทุกคนต้องผ่านการอบรมด้านบริหาร โดยในเดือนสิงหาคมปีนี้จะมีผู้บริหารระดับสูง 350 คน เข้าอบรมรุ่นแรก และจะครอบคลุมผู้บริหารระดับอื่นๆ ต่อไป
- ในส่วนของมหาวิทยาลัย อย่างเช่นมหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม อาจารย์ทุกคนจะต้องเข้าระบบ two in one คือ ต้องมีบทความวิชาการ (รวมบทความวิจัย) ตีพิมพ์ 2 เรื่องใน 1 ปี ถ้าไม่มีจะไม่ได้เงินเพิ่ม
จะว่าไปแล้วในประเทศไทยเราก็เคยคิดและปฏิบัติเรื่องนี้มาก่อน แต่ลุ่มๆ ดอนๆ จนบัดนี้ยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และไม่แน่นอน
คนรุ่นใหม่ล้วนมุ่งมั่น
นอกจากได้พูดคุยกับผู้บริหารแล้ว ผู้เขียนยังได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้สอนและได้ดูชั้นเรียนของนักศึกษา
โดยเฉพาะชั้นเรียนของมหาวิทยาลัยฮานอย ซึ่งเคยเป็นมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศ
มาปัจจุบันเปิดสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษ นอกจากจะมีนักศึกษาเวียดนามแล้วยังมีนักศึกษาจากจีนจำนวนมากด้วย
จากการสนทนาและเยี่ยมชมชั้นเรียนดังกล่าว สังเกตได้ว่าคนรุ่นใหม่ของเวียดนามได้เปลี่ยนไปแล้ว
การฝังใจอยู่กับอดีตกับอุดมการณ์ดูจะลดน้อยลงไป แต่ความก้าวหน้า อนาคตจะเป็นความหวังทุกคน
ทุกคนที่ผู้เขียนได้พูดคุยด้วยเชื่อมั่นในอนาคตของเวียดนาม ทุกคนมีความหวังกับการศึกษา เห็นไปในทางเดียวกันว่า การศึกษาจะช่วยพัฒนาตนเองได้ ถ้าเรียนสูงจะมีโอกาสสูง ถ้าเรียนมากจะมีผลตอบแทนมาก นักศึกษาของมหาวิทยาลัยฮานอย แม้เก้าอี้นั่งและห้องเรียนจะคับแคบ แต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อความมุ่งมั่นและเอาจริงเอาจังของพวกเขาแต่ประการใด การศึกษาจึงเป็นเหมือนโอกาสและเครื่องมือที่คนเวียดนามพัฒนาและเลื่อนฐานะของตนเอง พ่อแม่จึงลงทุนทางการศึกษาให้กับลูกเต็มที่ รายได้ที่เพิ่มจะไปลงทุนกับการศึกษาทั้งของตนเองและครอบครัว
คนรุ่นใหม่เชื่อกันว่า ฟ้าได้เปลี่ยนสี โอกาสเป็นของทุกคนที่ขยัน ทำงานหนักและอดทน ความต้องการการศึกษา ความต้องการเข้ามหาวิทยาลัยจึงมีสูงมาก เมื่อเข้าได้แล้วก็จะเรียนอย่างหนักและอย่างจริงจัง ซึ่งในข้อนี้ถ้าเทียบกับของไทยเราแล้ว เราเสียเปรียบและล้าหลังเวียดนามมากทีเดียว
เมื่อที่รัฐไม่พอก็ขอเอกชนช่วย
จากข้อมูลของยูเนสโก สถาบันระดับอุดมศึกษาทั้งสิ้นกว่า 227 แห่งต่อประชาชน 80
ล้านของเวียดนามนั้น เป็นจำนวนมหาวิทยาลัย 109 แห่ง, สถาบันระดับ 2 ปี 118 แห่ง
ในจำนวนทั้งหมดนี้เป็นวิทยาลัยเอกชน 24 แห่ง แต่แม้กระนั้นก็ยังไม่พอกับความต้องการและความมุ่งมั่นในการเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนเวียดนาม
ข้อมูลในปี ค.ศ.2005 มีนักเรียนเวียดนามต้องการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยถึง 1,120,209 คน แต่มหาวิทยาลัยรับได้เพียง 230,500 คน ความต้องการสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจึงเห็นชัดเจน. ในปี ค.ศ.2003-2004 มีผู้เรียนในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนอยู่ 137,122 คน คิดเป็น 13.28% ของนักเรียนทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลเวียดนามวางแผนไว้ว่า ในปี ค.ศ.2010 จะให้เอกชนรับผิดชอบถึง 30% การเติบโตของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนของเวียดนามจึงมีสูงมาก
มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกของเวียดนามคือ มหาวิทยาลัยทังลอง (Tang Long) ตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1988 จากการพูดคุยกับกรรมการสภาสองท่าน คือ Dr.Lam Quang Thiep และ Dr.Pham Huy Ding ทั้งสองดูมีความมุ่งมั่นที่จะจัดอุดมศึกษาเอกชนของเวียดนามให้เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ มากกว่าประโยชน์ของตนเอง ไม่หวังกำไรและขยายตัวช้าๆ แต่มั่นคง จากอดีตที่ต้องเช่าตึกเรียน บัดนี้สามารถมีที่ของตนเองและกำลังสร้างตึกใหม่อย่างงดงาม แต่แม้กระนั้นปัญหาของมหาวิทยาลัยเอกชนก็ยังมีอยู่ไม่น้อย และมหาวิทยาลัยเอกชนในเวียดนามเองก็มีหลายรูปแบบ
สุดท้ายอยู่ที่ผู้นำ
ในการวิจัยเรื่อง "การปฏิรูปการศึกษาของประเทศเวียดนาม" ของผู้เขียนเมื่อ
10 ปีที่แล้ว (ปี ค.ศ.1997) ได้ข้อสรุปประการหนึ่งว่า วิสัยทัศน์ของผู้นำของเวียดนามมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จและความรวดเร็วของการปฏิรูปการศึกษาของเวียดนาม.
มาในปีนี้ (ค.ศ.2007) ผู้เขียนก็คงยืนยันในวิสัยทัศน์ของผู้นำอีกเช่นกัน
ผู้นำของเวียดนามปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนเลขาธิการของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีบทบาทในเชิงนโยบายสูง ต่างเห็นความสำคัญของการศึกษา เห็นความสำคัญของการลงทุนทางการศึกษา และเห็นความสำคัญของการลงทุนในโครงการใหญ่ๆ อย่างจริงจัง เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มต่างๆ เชื่อมั่นในพลังความคิดของประชาชน
อาจารย์มหาวิทยาลัยเวียดนามคนหนึ่งเล่าว่า "พรรคได้เปลี่ยนไปแล้ว แต่ก่อนคนสำคัญของพรรคถนัดใช้ปืน แต่เดี๋ยวนี้ถนัดใช้การศึกษา" ซึ่งเขาคิดว่าดีมากๆ เขายังบอกอีกว่า "แม้ปัญหาท่วม แต่พวกเขาก็ไม่ท้อ" (แปลได้คล้ายๆ อย่างนี้)
กลับมามองบ้านเรา-การศึกษาสู่ความไม่เอาไหน
ข้อที่น่าสังเกตที่เห็นชัดเจนจากการดูงานเวียดนามคือ ทั้งผู้นำ ผู้ให้การศึกษา
และผู้รับการศึกษา คิดและมองไปในทางเดียวกันว่า การศึกษา (ของเวียดนาม) มีความหมาย
เรียนแล้วได้ประโยชน์ เรียนแล้วทำอะไรได้ เรียนแล้วก้าวหน้า จึงทำให้ทุกคนหวัง
(ได้) กับการศึกษา
แต่ของไทยเราการศึกษาดูจะไร้ความหมายมากขึ้นทุกที ทุกระดับคุณภาพตก. จบ ม.6 แล้วทำอะไรยังไม่ได้ ทั้งสายสามัญและอาชีพ ต้องวิ่งต่อ ป.ตรี ป.ตรียังไม่พอต้องขอต่อโทและเอก จบแล้วยังทำอะไรไม่เป็น ต้องอบรมต่ออีก คนเรียนครูนับเป็นสิบปีสรรหาคนเก่งคนดีเข้ามายังไม่ได้
อาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนขาดแคลน มีแต่แผน แต่ไม่ได้ดำเนินการจริงจัง อนาคตของการศึกษาไม่ว่าจะเป็นขั้นพื้นฐานหรืออุดมศึกษา ไม่เห็นภาพว่าจะเดินไปในทิศทางใด ธุรกิจการศึกษาจะครอบงำมากขึ้นขนาดไหน เราต้องเดินตามอย่างต่างประเทศไปอีกนานเท่าใด ดูแล้วนับวันการศึกษาของบ้านเรากำลังเดินไปสู่ความไม่เอาไหนมากขึ้นทุกที
ทำอย่างไร เราจึงจะทำให้การศึกษาของเรามีความหมายมากขึ้นให้ได้
?
และใครจะเป็นคนทำ ??
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)