โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 01 May 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๓๕ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (May, 01, 05,.2007)
R

บทความนอกหนังสือเพื่อเป็นเกียรติแก่ นิธิ เอียวศรวงศ์
บทความนอกจักรวาล : นวนิยายที่มี พ.ศ. (ตอนที่ ๒)
รศ.ดร.ไชยยันต์ ไชยพร : เขียน
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความวิชาการชิ้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของผลงานที่กลุ่มจักรวาลวิทยารวบรวมขึ้น
เพื่อเป็นเกียรติแก่ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในวาระครบรอบ ๖๐ ปี (๒๕๔๓) แต่เพิ่งมาสำเร็จเป็นรูปเล่มหนังสือในชื่อ
จักรวาลวิทยา: บทความเพื่อเป็นเกียรติแก่ นิธิ เอียวศรีวงศ์
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๙ นี้ ด้วยปัญหาต่างๆ ดังที่ อ.ไชยยันต์ ได้สะท้อนอยู่ในบทความอย่างละเอียด
รวมทั้งบทความของตนเองก็ไม่ได้รวมพิมพ์อยู่ในหนังสืออนุสรณ์เล่มนี้ด้วย
ในส่วนของบทความที่ท่านกำลังอ่านอยู่ กองบรรณาธิการได้ขอรับจากผู้เขียนโดยตรงเพื่อมาเผยแพร่
และใช้ชื่อหัวเรื่องว่า "บทความนอกจักรวาล" ซึ่งในเนื้อหาหลักของบทความตอนที่ ๒ นี้
เป็นการพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องประวัติสังเขปของการใช้เชิงอรรถของอาจารย์นิธิ
ตามมาด้วยประเด็นเกี่ยวกับเรื่องความจริง ระหว่างความจริงเนื้อแท้กับความจริงที่ถูกสร้าง
เรื่องของเวลา ธรรมชาติ และความเป็นมนุษย์ อันเป็นสิ่งสำคัญของสาระทางประวัติศาสตร์
และปิดท้ายด้วยแนวคิด"การรื้อสร้างประวัติศาสตร์" ที่อาจารย์นิธิสนใจมากว่า ๔๐ ปีแล้ว
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๓๕
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๒ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ที่ห้องประชุมคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันเปิดตัวหนังสือ "จักรวาลวิทยา: บทความเพื่อเป็นเกียรติแก่ นิธิ เอียวศรีวงศ์"
(หนังสืออนุสรณ์วาระครบรอบ ๖๐ ปี ของ อ.นิธิ โดยกลุ่มจักรวาลวิทยา)

บทความนอกหนังสือเพื่อเป็นเกียรติแก่ นิธิ เอียวศรวงศ์
บทความนอกจักรวาล : นวนิยายที่มี พ.ศ. (ตอนที่ ๒)

รศ.ดร.ไชยยันต์ ไชยพร : เขียน

ประวัติคร่าวๆ ของเชิงอรรถบางส่วนของอาจารย์นิธิ"
ความจริงเนื้อแท้' ความจริงที่ถูกสร้าง
แนวคิดการ "รื้อสร้างประวัติศาสตร์" ของอาจารย์นิธิ

(4)

ต่อมาได้มีการชักชวนกันให้เขียนบทความเพื่อทำหนังสือที่ระลึกวาระครบ ๖๐ ปีของท่านอาจารย์นิธิ ผู้เขียนก็กลับมาคิดเรื่องศรีธนญชัยใหม่ โดยตั้งใจว่าจะค้นคว้าเพิ่มเติมและเขียนให้เป็นเรื่องเป็นราวชัดเจนกว่าตอนนำเสนอในงานสัมมนาประจำปีของ "จักรวาลวิทยา" และได้ตกปากรับคำกับวงสนทนารับประทานอาหารที่นัดกันขึ้นมาเพื่อการนี้

แต่หลังจากนั้น ความตั้งใจของผู้เขียนก็ไม่สัมฤทธิ์ผล (1) เนื่องด้วยการค้นหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์และภาษาไทยปลายอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ถือเป็นเรื่องวิบากลำเค็ญ สำหรับนักรัฐศาสตร์ที่มีความรู้ประวัติศาสตร์น้อยมาก ดังนั้น โครงการ "ศรีธนญชัย" ของผู้เขียนจึงมีอันต้องพับไปอีกครั้งหนึ่ง และจำต้องคิดหาหัวเรื่องที่จะเขียนขึ้นใหม่สำหรับหนังสือครบ ๖๐ ปีของอาจารย์นิธิ

เวลาผ่านพ้นไปอีกพอสมควรจนผู้เขียนลืมไปเสียสนิท จวบเมื่อความมุ่งมั่นที่จะทำหนังสือที่ระลึกให้อาจารย์นิธิได้หวนกลับมาอีกโดย "บุรุษที่จัดประเภทไม่ได้" ดังที่กล่าวไปแล้ว ผู้เขียนจึงต้องหันกลับมาคิดหัวข้อขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง คิดไปคิดมาก็นึกถึงเรื่องที่พวกเราชอบคุยกันถึงงานเขียนของอาจารย์นิธิที่มีลักษณะเด่นประการหนึ่ง นั่นคือ ท่านจะไม่นิยมใส่เชิงอรรถอ้างอิงถึงนักวิชาการตะวันตก โดยเฉพาะทฤษฎีที่ท่านใช้หรือกล่าวถึงในบทความของท่าน ท่านเพียงกล่าวในทำนองเพียงว่า มีฝรั่งเขาว่าไว้ และท่านก็ไม่ได้ใส่ใจจะต้องนำมาอ้างอิงเท่าไร ผู้เขียนจึงคิดว่า การอ้างอิงของท่านถึงแม้จะไม่มากนัก แต่ก็มีความสำคัญควรใส่ใจในทำนอง "Small is beautiful." (2) ดังนั้น จึงตัดสินใจว่าจะเขียนบทความเรื่อง "ประวัติคร่าวๆ ของเชิงอรรถบางส่วนของอาจารย์นิธิ" (A Brief History of some of Nithi's Footnotes) เพื่อที่จะดูการใช้การอ้างอิงของท่าน และคาดว่าน่าจะสรุปประเด็นที่น่าสนใจได้

ต่อจากนั้น ผู้เขียนจึงได้ให้นิสิตผู้ช่วยงานผู้เขียนไปค้นหาบทความของอาจารย์นิธิในห้องสมุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทความที่ท่านเขียนโต้ตอบกับศาสตราจารย์ ปรีชา ช้างขวัญยืน ที่ผู้เขียนจำได้ว่า ท่านได้ใช้หรืออ้างถึงทฤษฎีเกี่ยวกับ "พื้นที่" (space) ของนักวิชาการทางมานุษยวิทยา แต่มิได้เขียนเชิงอรรถหรือมีอ้างอิงที่ชัดเจน (3) ผู้เขียนจึงออกถามไถ่ในบรรดามิตรสหายในแวดวงจักรวาลวิทยา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ซึ่งน่าจะเป็นคนหนึ่งที่น่าจะช่วยผู้เขียนได้ดีที่สุด

แต่อนิจจา ในขณะนั้น (เมษายน-กรกฎาคม ๒๕๔๖) เอง อาจารย์อรรถจักร์ได้เดินทางไปทำวิจัยที่นครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ผู้เขียนจึงไหว้วานอาจารย์เวียงรัฐให้ติดต่อส่งข่าวให้อาจารย์อรรถจักร์ได้กรุณาเป็นธุระในเรื่องเอกสารที่ต้องใช้เมื่อเขากลับมาเมืองไทยแล้ว. หลังจากอาจารย์อรรถจักร์กลับมาเมืองไทยระยะหนึ่ง ผู้เขียนก็ได้ติดต่อฝากข่าวสารไปถึงอาจารย์อรรถจักร์ จนในที่สุด อาจารย์อรรถจักร์ก็ฝากหนังสือชุดหนึ่งผ่านมาทางบุรุษผู้เป็นเจ้าหนี้ต้นฉบับมาให้ผู้เขียน แต่หลังจากได้พิจารณาชุดหนังสือดังกล่าวแล้ว ผู้เขียนก็จนปัญญาที่จะสามารถเขียนบทความเรื่อง "ประวัติคร่าวๆ ของเชิงอรรถบางส่วนของอาจารย์นิธิ" ได้เป็นเรื่องเป็นราวตามที่ตั้งใจไว้ เฉกเช่นเดียวกันกับความล้มเหลวในความพยายามที่จะเขียนเรื่อง "ศรีธนญชัย" อย่างเป็นเรื่องเป็นราวที่ผ่านมา

แต่อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจตรวจสอบการกล่าวอ้างถึงโดยไม่มีเชิงอรรถ และการใช้เชิงอรรถของอาจารย์นิธิก็ทำให้ผู้เขียนได้พบกับประเด็นบางประเด็น ที่แม้นว่าจะไม่ได้สามารถทำให้ผู้เขียนเขียน "ประวัติการใช้เชิงอรรถของอาจารย์นิธิ" ได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่ก็ใช่จะไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือเสียเลย

ขณะเดียวกัน เชิงอรรถบางเชิงอรรถที่พอเป็นประเด็นสำหรับผู้เขียนในวันนี้ มันก็เคยเป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับผู้เขียนในอดีตด้วย เพราะในครั้งที่เขียนบทความเรื่อง "ประวัติศาสตร์:วิถีความพยายามของมนุษย์ต่อความรู้ของเทพเจ้า" เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๗ ผู้เขียนก็เคยได้อ้างอิงถึงเชิงอรรถที่ว่านี้ของอาจารย์นิธิมาครั้งหนึ่งแล้ว (4) มาบัดนี้ มันก็สามารถเป็นเชิงอรรถที่ผู้เขียนจะใช้อ้างอิงถึงในนัยที่เปลี่ยนแปลงไป

เชิงอรรถที่ว่านี้คือ เชิงอรรถที่ ๕ ในบทความ "ข้อคิดเกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์" ที่อาจารย์นิธิเขียนขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๙ นั่นเอง ซึ่งอาจารย์นิธิไม่เรียกว่า "เชิงอรรถ" หรือ "end notes" แต่ใช้คำว่า "บันทึกอธิบาย" แทน หรือ "บันทึกท้ายบท" ก็เรียก และสำหรับความยาวของ "บันทึกท้ายบท" ยังยาวกว่าเนื้อหาหลักของบทความเสียด้วย (5)

บันทึกอธิบายข้อที่ ๕ หรือ "เชิงอรรถอาจารย์นิธิ" จาก "ข้อคิดเกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์" มีใจความว่า:

"5. เปลโต ศาสดาแห่งทฤษฎีความจริงเนื้อแท้ ได้เปรียบไว้ว่ามนุษย์นั้นอาศัยอยู่ในถ้ำ ซึ่งมีแสงสว่างเพียงสลัวๆ จากปากถ้ำเท่านั้น ด้วยเหตุดังนี้ มนุษย์จึงไม่อาจแลเห็นสิ่งที่อยู่ในถ้ำได้ตามที่เป็นจริง สิ่งที่มนุษย์แลเห็นเป็นเพียงแต่เงาของความจริงเท่านั้น และมนุษย์จะไม่มีวันก้าวไปถึงปากถ้ำเพื่อได้แสงสว่าง สำหรับมองดูสิ่งต่างๆ ตามที่มันเป็นจริงเลย ความคิดเช่นนี้ ได้กลายเป็นความคิดที่เป็นรากฐานของชาวตะวันตก ซึ่งได้อุทิศชีวิตและแรงงานลงไปแล้วเป็นอันมากเพื่อจะตะเกียกตะกายไปสู่ปากถ้ำ เพื่อจะได้เห็นสิ่งต่างๆ ที่เป็นอยู่จริงๆ จนแม้ปัจจุบัน ก็ยังคงทุ่มเทความพยายามอยู่ เพราะไม่มีใครเคยไปถึงปากถ้ำได้

ผลพลอยได้จากความพยายามเหล่านี้ คือ ความเจริญของมนุษยชาติอย่างที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน ถ้าแม้ทฤษฎีของเปลโตเป็นจริง ผู้เขียนบทความนี้สงสัยว่า มนุษย์จะค้นหาความจริงเนื้อแท้เพื่ออะไร และด้วย 'เงาของความจริง' นี้ เราควรพยายามนำมาใช้เพื่อก่อให้เกิดสันติสุขอันถาวรในโลก เพราะอย่างน้อยที่สุด 'เงาของความจริง' ก็ได้ให้ความหวังแก่มนุษยชาติแล้วว่า เราจะทำโลกของเราให้น่าอยู่ขึ้นได้สำเร็จถ้าเราจะมองย้อนหลังไปหาบรรพบุรุษของเราซึ่งอยู่ถ้ำจริงๆ และตัวเราซึ่งออกมานอกถ้ำเอาชนะความมืดด้วยพลังไฟฟ้า และบางครั้งกำลังยืนหัวเราะเยาะธรรมชาติต่อหน้าทะเลสาบ ภูเขา น้ำตก ฯลฯ ที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกัน" (6)

จากข้อความในเชิงอรรถนี้ที่มีความยาวกว่าเชิงอรรถปรกติ โดยเฉพาะ "เชิงอรรถ" ของอาจารย์นิธิ ผู้เขียนเห็นว่ามันมีนัยสำคัญอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจ "จุดยืนทางวิชาการ" ของอาจารย์นิธิที่เริ่มปรากฏสู่สาธารณชน ตั้งแต่มีการตีพิมพ์บทความดังกล่าวเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๙ จนถึงปัจจุบันก็ว่าได้ !

แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้แน่ใจ เราคงต้องพิจารณาเชิงอรรถดังกล่าวภายใต้บริบทของมันด้วย จะพิจารณาแต่เนื้อหาในเชิงอรรถนี้โดยลำพังย่อมไม่สามารถตัดสินชี้ชัดลงไปได้อย่างชอบธรรมนัก ดังนั้น เราจึงจำต้องกลับไปดูว่า อาจารย์นิธิใส่เชิงอรรถดังกล่าวนี้ไว้ข้างหลังข้อความตอนใดในบทความของท่าน

ข้อความที่เป็นบริบทของเชิงอรรถที่ ๕ มีใจความดังต่อไปนี้คือ

ประวัติศาสตร์กับความจริงเนื้อแท้
ในบรรดาความรู้ต่างๆ ของมนุษย์ที่ได้สั่งสมมานับด้วยเวลา 10,000 ปีนี้ เราอาจเข้าใจว่านั่นคือความจริง เป็นต้นว่า ความรู้ที่ว่าโลกมีสัณฐานกลม, ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 93 ล้านไมล์, มีน้ำหนักประมาณ 6,586,242,500,000,000,000,000 ตัน, มีปริมาตร 1,083,319,780,000 ลูกบาศก์กิโลเมตร ฯลฯ แต่ที่แท้จริงแล้ว โลกเราอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เรารู้กันในปัจจุบันนี้ก็ได้

(การกล่าวเช่นนี้ไม่เชิงจะนับได้ว่าเป็นคำกล่าวของพวกสเก๊ปติค ซึ่งไม่ยอมเชื่ออะไร) เพียงแต่ว่าในชั่วระยะเวลานี้ เราสามารถรู้ได้เพียงเท่านี้ ด้วยเครื่องมือที่มนุษย์ได้ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆ ยังไม่ดีพอ และสักวันหนึ่งในอนาคต เมื่อมนุษย์อาจประดิษฐ์เครื่องมือในการค้นหาความจริงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นแล้ว ความรู้เกี่ยวกับโลกที่เรามีอยู่ปัจจุบันก็จะต้องเปลี่ยนไป อย่างที่ได้เคยเปลี่ยนมามากต่อมากแล้วในอดีต

จะเห็นได้ว่า ความรู้ซึ่งเราถือว่าเป็นความจริงนั้น หาใช่ความจริงที่เป็นอยู่จริงๆ ไม่ ความจริงนี้เราเรียกว่าความจริงเนื้อแท้ ๕(๕) ความจริงที่เรารู้อยู่ในปัจจุบันนี้ อาจไม่มีความสัมพันธ์กับความจริงเนื้อแท้ หรือมีความสัมพันธ์กันอยู่แต่เพียงเลือนราง เราก็ไม่อาจรู้ได้ และกฎที่ว่านี้ใช้ได้ทั่วไปหมดในทุกแขนงวิชา ไม่ว่ายีโอฟิสิกซ์, วรรณคดี, มานุษยวิทยา, เคมี, หรือประวัติศาสตร์" (7)

จากทั้งเชิงอรรถและบริบทของเชิงอรรถ ทำให้เราตั้งคำถามได้ว่า "ใช่หรือไม่ว่าอาจารย์นิธิเป็นผู้ที่ไม่เชื่อในการมีอยู่ของสิ่งที่อาจารย์เรียกว่า 'ความจริงเนื้อแท้' หรือที่ศัพท์ทางปรัชญาในภาษาอังกฤษเรียกว่า 'essentialism' ?"

ตามข้อเขียนเท่าที่ปรากฏข้างต้นของอาจารย์นิธิ เราพบว่า ท่านมิได้ไม่เชื่อว่า "ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า 'ความจริงเนื้อแท้'" เพราะท่านได้กล่าวไว้ชัดเจนแล้วว่า คำกล่าวของท่าน "ไม่เชิงจะนับได้ว่าเป็นคำกล่าวของพวกสเก๊ปติค ซึ่งไม่ยอมเชื่ออะไร" ดังนั้น แน่นอนว่าท่านไม่ใช่ "พวกสเก๊ปติค" (skeptic) ที่ไม่เชื่อว่ามีความรู้ที่แท้จริงสมบูรณ์

เมื่อไม่ใช่พวกสเก๊ปติค ความจริงเนื้อแท้จึงเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงสำหรับอาจารย์นิธิ เพียงแต่ท่านเชื่อว่า ณ เวลานี้ เราไม่สามารถรู้แน่ว่าเป็นอย่างไร หรือถ้ารู้ก็อาจจะรู้เพียง "เลือนราง" เท่านั้น ซึ่งลำพังเพียงแค่นี้ ก็สามารถเข้าใจไปได้ว่า อาจารย์นิธิเข้าข่ายอยู่ในแนวความคิดแบบของนักปรัชญาชาวเยอรมันอย่างค้านท์ (Kant) นั่นเอง ด้วยเขานำเสนอประเด็นที่ว่า มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึง "the thing-in-itself" ได้เพราะข้อจำกัดของการรับรู้ของตัวมนุษย์เอง (8)

ถ้าเป็นเช่นนั้น เราสามารถเปรียบเทียบ "ความจริงเนื้อแท้" (Being) กับ "เวลา" (Time) ในฐานะ "thing-in-itself" จากข้อเขียนของอาจารย์นิธิได้ดังนี้คือ

ความจริงเนื้อแท้และเวลาอาจมีอยู่จริง แต่ไม่มีใครรู้ได้ว่ามันเป็นอย่างไรแน่ ความจริงเนื้อแท้อาจมีอยู่จริง แต่ยังไม่มีใครรู้ได้ว่ามันเป็นอย่างไรแน่ "เพียงแต่ว่าในชั่วระยะเวลานี้ เราสามารถรู้ได้เพียงเท่านี้ ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ด้วยว่า เวลาก็อาจจะไม่มีอยู่จริงได้เหมือนกัน

แต่ความจริงเนื้อแท้อาจไม่มีอยู่จริงไม่ได้ เพราะจากข้อเขียนของอาจารย์นิธิ ท่านไม่ได้เปิดช่องหรือโอกาสให้ความจริงเนื้อแท้ไม่มีอยู่จริงตามความเชื่อของพวกสเก๊ปติคเลย

ดังนั้น จากที่ว่า "เวลาคืออะไรไม่มีใครรู้" นั่นหมายความว่าเวลาอาจจะมี แต่ไม่มีใครรู้จักจริงๆ ได้ และถ้ามี ก็อาจจะเป็นเวลาที่ไม่เหมือน "เวลา" อย่างที่เรานึกคิดเข้าใจ และถ้าเป็นเช่นนั้น ก็เป็นไปได้ว่า "อาจจะไม่มีเวลา" อยู่จริง โดยเฉพาะเวลาที่มีเนื้อหาคุณสมบัติอย่างที่มนุษย์จะสามารถนึกคิดจินตนาการได้ต่างๆ นานากันไป ภายใต้เงื่อนไขของความเป็นมนุษย์

(5)

ประเด็นเรื่องจินตนาการเรื่องเวลา ภายใต้เงื่อนไขของความเป็นมนุษย์นี้ได้ปรากฏในเชิงอรรถหรือบันทึกอธิบายที่ ๓ ในบทความ "ข้อคิดเกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์" ของอาจารย์นิธิ ดังนี้คือ

"นักมานุษยวิทยา กล่าวว่า คนโบราณไม่ได้เข้าใจเวลาว่าเป็นเส้นตรงอย่างที่เราเข้าใจกันอยู่ในปัจจุบัน แต่เข้าใจเวลาว่าเป็นวงโคจร หมุนจากอดีตมาสู่ ปัจจุบัน อนาคต และอดีตอีกครั้ง สลับเวียนเปลี่ยนกันไปอย่างนี้ไม่หยุดหย่อน

ที่กล่าวไว้ข้างต้น มิได้เป็นการคัดค้านความเข้าใจข้อนี้ของนักมานุษยวิทยา เพราะไม่ว่าเวลาจะเป็นเส้นตรงหรือวงกลม มนุษย์ก็เข้าใจเรื่องอดีต ปัจจุบัน และอนาคตอยู่ดี แต่อาจจะเข้าใจไม่เหมือนกันในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเวลาทั้งสามก็ได้ (9)

จากข้างต้น จะเห็นได้ว่า อาจารย์นิธิเชื่อว่า มนุษย์มีจินตนาการเรื่องเวลาที่แตกต่างกัน และถ้าศึกษาผลงานวิจัยของนักมานุษยวิทยาในเรื่องนี้ ก็ยิ่งจะพบความแตกต่างในรายละเอียดได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามนุษย์จะมีจินตนาการที่แตกต่างกันในเรื่องเวลา และเวลาจะมีจริงหรือไม่มี เนื้อแท้ของมันจะเป็นอย่างไร ไม่มีใครบอกได้ มีแต่ความเข้าใจเรื่องเวลานั้นแตกต่างหลากหลายกันไป แต่กระนั้น อาจารย์นิธิก็ยืนยันว่า มนุษย์ทุกยุคทุกสมัยย่อมต้องมี "ประวัติศาสตร์" นั่นคือ ย่อมมีมิติของอดีต ปัจจุบันและอนาคตเสมอ ไม่ว่าจะเข้าใจหรือจินตนาการเรื่องเวลาแตกต่างกันแค่ไหนก็ตาม

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ผลการสำรวจความเข้าใจเรื่องเวลาของมนุษย์ในที่ต่างๆ ต่างยุคต่างสมัยของนักมานุษยวิทยา ย่อมไม่กระทบกระเทือนต่อ "หัวใจหรือแก่นเนื้อแท้" ขององค์ความรู้หรือปรัชญาประวัติศาสตร์ของนักประวัติศาสตร์ ดังที่อาจารย์นิธิย้ำว่า "ที่กล่าวไว้ข้างต้น มิได้เป็นการคัดค้านความเข้าใจข้อนี้ของนักมานุษยวิทยา เพราะไม่ว่าเวลาจะเป็นเส้นตรงหรือวงกลม มนุษย์ก็เข้าใจเรื่องอดีต ปัจจุบัน และอนาคตอยู่ดี แต่อาจจะเข้าใจไม่เหมือนกันในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเวลาทั้งสามก็ได้"

ข้อความดังกล่าวที่เพิ่งอ้างไปนี้ มาจาก "บันทึกอธิบาย" ท้ายบทความของอาจารย์นิธิ ซึ่งจะว่าไปแล้ว สิ่งที่ดูจะเป็นเชิงอรรถในงานเขียนของอาจารย์นิธิที่ท่านเขียนอย่างเป็นเรื่องเป็นราวและเป็นล่ำเป็นสันคือสิ่งที่ท่านเรียกว่า "บันทึกอธิบาย" นั่นเอง โดยเฉพาะ บันทึกอธิบาย ใน บทความเรื่อง "ข้อคิดเกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์" ของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ หรือเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว

ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ นี้เป็นปีเดียวกันที่อาจารย์นิธิจบปริญญาโทสาขาประวัติศาสตร์ จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง "การปราบฮ่อและการเสียดินแดน พ.ศ. 2431" โดยมี ศาสตราจารย์ ม.ร.ว. แสงโสม เกษมศรี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ศาสตราจารย์ รอง ศยามานนท์ เป็นประธาน และศาสตราจารย์ ดร. เพ็ญศรี ดุ๊ก เป็นกรรมการ

บทความดังกล่าวได้ถูกตีพิมพ์ในหนังสือ ปรัชญาประวัติศาสตร์ ที่ ชาญวิทย์ เกษตรศิริและสุชาติ สวัสดิ์ศรีเป็นบรรณาธิการ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ พิมพ์ที่โรงพิมพ์พิฆเนศ โดยมีคุณสุจิตต์ วงศ์เทศเป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณา

"บันทึกอธิบาย" ดังกล่าว หรือบางส่วนของ "เชิงอรรถของอาจารย์นิธิ" มีเนื้อหาที่ถือว่าสำคัญขนาดเรียกได้ว่าเป็นแก่นหรือฐานความคิดของอาจารย์นิธิในฐานะนักประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้ เพราะก่อนข้อความของอาจารย์นิธิที่ว่า "ที่กล่าวไว้ข้างต้น มิได้เป็นการคัดค้านความเข้าใจข้อนี้ของนักมานุษยวิทยา เพราะไม่ว่าเวลาจะเป็นเส้นตรงหรือวงกลม มนุษย์ก็เข้าใจเรื่องอดีต ปัจจุบัน และอนาคตอยู่ดี แต่อาจจะเข้าใจไม่เหมือนกันในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเวลาทั้งสามก็ได้" ใน ข้อความที่เป็นบริบทของ "บันทึกอธิบายข้อ ๒" อาจารย์นิธิได้เขียนไว้ว่า

"การที่มนุษย์สนใจอยากจะรู้ถึงความเป็นมาในอดีตของตนนั้น เป็นอุปนิสัยที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อสิ่งแวดล้อมของตนเอง เพราะฉะนั้น อาจจะกล่าวอย่างที่คนทั่วไปมักชอบพูดว่าเป็น 'ธรรมชาติของมนุษย์' ก็ได้" (10)

อย่างไรก็ตาม แม้ดูเหมือนว่าอาจารย์นิธิจะยกให้ "ธรรมชาติมนุษย์" (human nature) เป็น "homo historicus" แต่ด้วยวิสัยของนักประวัติศาสตร์อย่างอาจารย์นิธิ จึงไม่สามารถยอมรับแนวความคิดเรื่อง "ธรรมชาติมนุษย์" อย่างง่ายๆ ได้เช่นกัน เพราะประวัติศาสตร์มนุษย์ทั้งหลายแหล่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างหลากหลายของจารีต ประเพณี และวัฒนธรรมในแต่ละที่แต่ละกาลเวลาตลอดมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคิดเรื่องธรรมชาติมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงมาตลอด หรือพูดง่ายๆ ว่า แม้แต่แนวความคิดเรื่องธรรมชาติมนุษย์ก็ยังมีประวัติศาสตร์ของมัน หากใครสนใจเขียนเรื่อง "ประวัติศาสตร์แนวความคิดเรื่องธรรมชาติมนุษย์" (history of the concept of human nature)

ด้วยเหตุนี้ ใน "บันทึกอธิบายข้อ ๒" อาจารย์นิธิจึงกล่าวว่า

"2. ที่แท้จริงแล้ว มนุษย์หาได้มีธรรมชาติอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ เพียงแต่ว่ามีลักษณะอุปนิสัยบางอย่างที่อาจจะพบได้ว่ามีอยู่เหมือนกันในหมู่คนหลายชาติ และเรายังไม่อาจหาสาเหตุให้แก่ลักษณะอุปนิสัยเหล่านั้นได้ เราก็ซัดให้เป็นความลี้ลับของโลก ที่เรียกว่า 'ธรรมชาติมนุษย์' เสียเท่านั้น" (11)

อีกนัยหนึ่ง "นิธิในฐานะนักประวัติศาสตร์" ไม่สามารถจะยอมรับประเด็น "ธรรมชาติมนุษย์" อย่างง่ายๆ เหมือนผู้ที่ศึกษาปรัชญาการเมืองแนวคลาสสิกที่เชื่อว่ามีสิ่งที่เป็น "ธรรมชาติที่แท้จริง" ของสรรพสิ่งต่างๆ เช่น ความยุติธรรม ความดี ความงาม โดยสัมพันธ์อย่างยิ่งกับฐานความเชื่อเรื่องธรรมชาติมนุษย์ เพราะหากปราศจากซึ่งฐานความเชื่อเรื่อง "ธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์" แล้ว ความยุติธรรม-ความดี-ความงามที่แท้จริง อาจจะพังครืนลงมาง่ายๆ

เมื่อ "เวลาคืออะไรไม่มีใครรู้" "ธรรมชาติคืออะไรไม่มีใครรู้" และ "มนุษย์คืออะไรจริงๆ ก็ไม่มีใครรู้" จะมีแต่ "เวลา-ธรรมชาติ-และมนุษย์" ในความเข้าใจของชนเผ่าต่างๆ ใครจะอุตริคิดว่า แนวคิดของอาจารย์นิธิจึงกระเดียดไปกันได้กับแนวคิดแบบหลังสมัยใหม่ก็ไม่ถือว่าเป็น "บาปเนื้อแท้" แต่ประการใด ขณะเดียวกัน หากอาจารย์นิธิจะปฏิเสธความเป็นหลังสมัยใหม่ของความคิดของท่านก็คงไม่เป็นบาปมหันต์แต่อย่างไรเช่นกัน แต่กระนั้น ความคิดและความเห็นอกเห็นใจต่อแนวความคิดความเชื่อต่างๆ ของผู้คนในวัฒนธรรมต่างๆ ก็ดูจะไปกันได้กับความคิดของนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันที่ทรงอิทธิพลที่สุดในช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมาอย่าง คลิฟฟอร์ด เกียทซ์ (Clifford Geertz) (12) ผู้เพิ่งล่วงลับไปเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ นี้เอง. เกียทซ์ถูกประเมินว่าเป็นนักมานุษยวิทยาที่มีแนวคิดแบบหลังสมัยใหม่ ทั้งๆ ที่เจ้าตัวไม่ยอมรับ และได้วิพากษ์แนวคิดหลังสมัยใหม่ได้อย่างชัดเจนด้วย (13)

เช่นกัน เมื่อ "เวลาคืออะไรไม่มีใครรู้" "ประวัติศาสตร์จริงๆ ของ.............ฯลฯ" ก็ไม่มีใครรู้จริงๆ ด้วยเช่นกัน จากวิธีคิดของอาจารย์นิธิ อาจารย์นิธิจึงน่าจะถือว่าเป็นนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ไทยคนแรกที่กระทำการ "รื้อสร้างประวัติศาสตร์" (deconstructing history) ไว้เสียเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว ก่อนที่แนวคิด "deconstruction" จะข้ามน้ำข้ามทะเลมาเป็นตัวแบบแฟชั่นให้นักวิชาการไทยในราวไม่เกินยี่สิบปีที่ผ่านมา เพราะอาจารย์นิธิได้กล่าวไว้ว่า

"แม้แต่ในเวลาหนึ่งวัน มนุษย์ก็ได้ประกอบพฤติกรรมขึ้นหลายชนิดอันอาจแยกออกได้เป็นหลายแขนงวิชา ซึ่งจำต้องอาศัยผู้ชำนาญในวิชาเหล่านั้นสำหรับทำความเข้าใจ และถ้านับด้วยเวลามากกว่า 1 วัน เช่น 1 เดือน.......1 ศตวรรษ 1 ยุคแล้ว ก็ยากที่นักประวัติศาสตร์คนเดียวจะทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของมนุษย์ในอดีตไปได้หมดทุกแง่ทุกมุม .......ไม่มีหนังสือประวัติศาสตร์เล่มใดในโลกที่อาจจะจำลองอดีตได้อย่างสมบูรณ์ เพราะไม่มีใครสามารถเข้าใจพฤติกรรมหลากแง่ของมนุษย์ได้หมด หนังสือประวัติศาสตร์จึงกล่าวถึงเรื่องหนึ่งอย่างละเอียด แต่กล่าวถึงอีกเรื่องหนึ่งอย่างหยาบๆ

เหตุผลที่เราไม่สามารถจะมีหนังสือที่จำลองอดีตอย่างสมบูรณ์ได้ก็คือ คนเขียนไม่สามารถสนใจปัญหาได้หมดทุกด้านดังได้กล่าวแล้ว และหนังสือประวัติศาสตร์นั้นย่อมเขียนไว้ให้คนอื่นอ่าน ถ้าปัญหานั้นไม่อยู่ในความสนใจของคนในสมัยที่เขียน ก็ยากที่จะมีผู้ใดเขียนขึ้น (Gadamer) ด้วยเหตุดังนั้น หนังสือประวัติศาสตร์ทุกเล่มจึงมีประวัติศาสตร์อยู่สองเรื่องเสมอ

1) เรื่องที่ผู้เขียนต้องการจะเขียน
2) เรื่องของความคิดของคนในสมัยที่หนังสือได้รับการเขียนขึ้น เช่น

- หนังสือ การสลายตัวและความพินาศของจักรวรรดิโรมัน คือเรื่องราวของจักรวรรดิโรมันและเรื่องราวของความคิดของคนอังกฤษในสมัยที่กิบบอนด์อาศัยอยู่ อันเป็นผลมาจากความเคลื่อนไหวทางวิทยาศาสตร์ในศตวรรษก่อนหน้านั้น

- หนังสือ ไทยรบพม่า คือ เรื่องราวของการสงครามระหว่างไทยกับพม่า กับเรื่องราวของความคิดที่เริ่มเป็นระบบตามแบบตะวันตกของคนไทยในศตวรรษที่แล้ว อันสะท้อนออกมาให้เห็นจากพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ" (14)

ก่อนที่จะสรุปประเด็นที่อาจารย์นิธิได้กล่าวไว้ข้างต้น มีข้อสังเกตประการหนึ่งว่า การที่อาจารย์นิธิวงเล็บชื่อของ "Gadamer" ไว้ดังเห็นข้างต้น นับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะกาดาเมอร์ถือได้ว่าเป็นนักปรัชญาประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันคนสำคัญคนหนึ่ง ถัดจากรังเก (Ranke: 1795-1886) ดิลทาย (Dilthey: 1883-1911) คาร์ (Carr: 1892-1982) เป็นต้น โดยถือได้ว่ากาดาเมอร์เป็นนักคิดรุ่นหลังสุดในบรรดานักปรัชญาประวัติศาสตร์ที่เอ่ยชื่อมา

(Gadamer: 1900-2002) โดยทั่วไป เมื่อสี่สิบปีที่แล้ว นักประวัติศาสตร์ไทยส่วนใหญ่หาน้อยคนที่จะเอ่ยอ้างถึงกาดาเมอร์ ซึ่งในช่วงเวลาต่อมาเกือบยี่สิบปี นามของกาดาเมอร์กลับกลายเป็นที่รู้จักและได้รับการอ้างถึง (citation) ในแวดวงสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ไทยอย่างมาก ขนาดนักวิชาการที่จบปริญญาเอกทางปรัชญามาในช่วงไม่เกินห้าปีนี้ ยังเขียนบทความเกี่ยวกับกาดาเมอร์อยู่ ซึ่งหมายความว่า กาดาเมอร์ยังคงมีความสำคัญยิ่งต่อการศึกษาทางสังคมศาสตร์ในปัจจุบัน (15) และอาจจะเป็นเพราะเขามีอายุยืนยาวเป็นพิเศษกว่าคนรุ่นเดียวกัน ด้วยเขาล่วงลับไปเมื่อสิริอายุได้ ๑๐๒ ปี ! (16)

กาดาเมอร์เป็นที่รู้จักกันในแวดวงวิชาการไทยในเวลาต่อมา ในฐานะที่เป็นนักปรัชญาเฮอเมนอยติก (philosophical hermeneutics) และแนวคิดเรื่องการเชื่อมประสานบริบททางประวัติศาสตร์ (the fusion of historical horizon) อันเป็นรอยต่อไปสู่ปรัชญาแนวคิดหลังโครงสร้างนิยม นับว่าอาจารย์นิธิเป็นนักวิชาการที่ล้ำหน้าทีเดียวเมื่อเทียบกับนักวิชาการรุ่นราวคราวเดียวกัน หรือแม้กระทั่งกับรุ่นใหม่ๆ ก็ตาม เพียงแต่ท่านอาจจะไม่นิยมที่จะแสดงออกโดยการอ้างชื่อนักวิชาการฝรั่งอย่างพร่ำเพรื่อ เพื่อเป็นไม้กันหมาหรือทำให้ผู้คนขาดความมั่นใจในการโต้เถียงอย่างไร้ประโยชน์

แนวคิดทางประวัติศาสตร์ของอาจารย์นิธิในเวลาต่อมา ก็ยังแสดงให้เห็นถึงร่องรอยที่คล้ายคลึงกับแนวของกาดาเมอร์ อย่างเช่น จากบทความเรื่อง "เรื่องจริงอิงนิยาย" อาจารย์นิธิกล่าวว่า "ที่ผมพูดว่าประวัติศาสตร์กำลังฮิตก็เพราะใครต่อใครมักจะถามเสมอว่า แล้วเรื่องจริงเป็นอย่างไร ? น่าประหลาดที่ส่วนใหญ่ของคนที่เรียนประวัติศาสตร์มักตอบว่า 'เรื่องจริงเป็นอย่างไรผมไม่รู้ และผมคิดว่า..... ........นักประวัติศาสตร์มีหน้าที่สร้างเรื่องขึ้นมาครับ.....ที่ผมพูดว่านักประวัติศาสตร์สร้าง "เรื่อง" ขึ้นมาจากหลักฐานอย่างเดียวก็ไม่จริง จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม นักประวัติศาสตร์ยังใช้โลกทัศน์ ค่านิยม ความเชื่อ อคติ ฯลฯ ของตัวและยุคสมัยของตัวเป็นเครื่องมือในการสร้างด้วย ไม่ต่างจากนักเขียนนวนิยาย" (17)

แต่อาจารย์ "นิธิในฐานะนักประวัติศาสตร์" ก็ปกป้องประวัติศาสตร์ไว้ว่า ประวัติศาสตร์และนวนิยายก็ใช่จะไม่แตกต่างกันเลย ความต่างอยู่ที่ว่า "ประวัติศาสตร์มีพลังที่จะให้ความหมายเชิงสัญลักษณ์แก่ปัจจุบันได้มากกว่านวนิยายอย่างเทียบกันไม่ได้" (18) แต่สำหรับสังคมไทยอาจจะไม่เป็นอย่างที่อาจารย์นิธิยืนยัน เพราะหากผลการศึกษาวิจัยทางประวัติศาสตร์ยังมีสถานะเพียง "นวนิยายที่มี พ.ศ." "ประวัติศาสตร์ที่ขาด พ.ศ. ที่ถูกหาว่าเป็นเพียงนิยาย" ก็อาจจะทรงพลังมากกว่าก็เป็นได้

นอกจากนี้ การที่อาจารย์นิธิอธิบายว่า นักประวัติศาสตร์ไม่ได้สร้างเรื่องจากหลักฐานเพียงอย่างเดียว แต่ใช้ "อคติ" ด้วยนั้น ก็เป็นคำอธิบายที่สอดคล้องกับกาดาเมอร์ที่พยายามจะชี้ให้เห็นหรือพยายามที่จะให้คนเรารู้ตัวถึงอคติ (prejudice,Vorurteilsstruktur) และสภาวะที่ซ่อนอยู่ในจิตใจ (presupposition) ของคนเราทุกคนรวมทั้งนักประวัติศาสตร์ด้วย ที่ใช้อคติและสภาวะดังกล่าวในการตีความรับรู้และสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ของแต่ละคน

คนทั่วไปและนักประวัติศาสตร์ในแนวประวัติศาสตร์บริสุทธิ์อย่างรังเก (Ranke) จะมอง "อคติ" ในแง่ลบ แต่ทั้งกาดาเมอร์และอาจารย์นิธิยอมรับความจริงในเรื่องการมีอยู่ของอคติในตัวมนุษย์ที่เติบโตมาในสังคม ผ่านกระบวนการขัดเกลาหล่อหลอม อคติจึงไม่ได้เป็นสิ่งที่เสียหายที่ต้องหาทางลบล้าง เพราะอย่างไรก็ตาม เราไม่มีทางจะหนีมันพ้น อีกทั้งกาดาเมอร์เองเชื่อว่า ถ้าปราศจากซึ่งอคติ การรับรู้ติดต่อสื่อสารในสังคมจะเป็นไปได้ยาก ทางที่ดี เรียนรู้ที่จะอยู่กับมันอย่างไรดีกว่า (19)

(6)

จากข้างต้น อาจารย์นิธิชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของการศึกษาประวัติศาสตร์ไว้สองประการสำคัญ คือ

หนึ่ง คนเขียนไม่รู้เพราะหาหลักฐานไม่ได้ อาจจะเพราะไม่มีใครจดบันทึกไว้ หรือสาบสูญไปก็ได้

สอง สิ่งที่มนุษย์เรากระทำชั่วชีวิตนั้น ได้รับการจดบันทึกลงเป็นลายลักษณ์อักษร หรือเหลือเป็นหลักฐานแก่นักประวัติศาสตร์ในรูปอื่นแต่เพียงน้อยนิดเดียว เพราะส่วนใหญ่ มนุษย์เราเก็บไว้ในสมองส่วนที่มีหน้าที่จำและคิดมากกว่า เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับอดีตจึงเป็นเพียงส่วนน้อยกระจิริด เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ ในอดีต

ด้วยเหตุนี้ อาจารย์นิธิจึงไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ผู้บ้าคลั่งยึดติดกับผลการศึกษาวิจัยทางประวัติศาสตร์ว่าจะต้องเป็นสัจธรรมที่สังคมต้องยอมรับ อาจารย์นิธิจึงมิได้กระทำตนเป็นนักประวัติศาสตร์ผู้ผูกขาดความจริงของชาติ-สังคม เพราะอาจารย์เชื่อว่า "ความจริงที่เกิดขึ้นในอดีตกับความจริงที่มนุษย์เข้าใจนั้นอาจไม่ตรงกันก็ได้" และอาจารย์นิธิได้กล่าวไว้อีกด้วยว่า

"สมเด็จพระนเรศวรมหาราชอาจจะไม่ได้ทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาเลย แต่หลักฐานที่เหลือตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน อันเป็นเครื่องมือของนักประวัติศาสตร์เพื่อสืบค้นความจริงในอดีต และระบบเหตุผลที่มนุษย์เลือกใช้เพราะเห็นว่ามันเป็นของดีที่สุด พิสูจน์ให้นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงทำยุทธหัตถีจริง และนี่คือสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นความจริง แต่เป็นความจริงของโลก หรือความจริงสัมพัทธ์ อันมีลักษณะผูกพันกับความจริงข้ออื่นๆ และเมื่อสืบสาวไปเรื่อยๆ จะพบว่า ความจริงสัมพัทธ์ทุกอันจะต้องมีรากฐานอยู่บน 'สมมติฐาน' อันใดอันหนึ่ง ผิดกับความจริงเนื้อแท้ซึ่งเราคาดหวังว่ามันจะต้องเป็นอิสระ เป็นความจริงโดยตัวของมันเอง ถึงไม่มีความจริงข้ออื่น ความจริงเนื้อแท้ก็คือความจริงอยู่นั่นเอง และไม่ว่าจะสืบสาวไปอย่างไรก็จะไม่พบสมมติฐานเลย

อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรู้ว่าความจริงเนื้อแท้เป็นอย่างไร เพราะยังไม่เคยมีใครพบตัวมัน สิ่งที่กล่าวเป็นเพียงแต่การ 'เก็ง' อย่างหนึ่งเท่านั้น เพราะฉะนั้นคำกล่าวที่ว่าโลกเรานี้หาความจริงไม่ได้ จึงถูกต้องในแง่นี้ เพราะสิ่งที่เราถือว่าเป็นความจริงทั้งหลายนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นทั้งสิ้น" (20)

เมื่อเวลาผ่านไป การสืบค้นหลักฐานและรูปแบบของกระบวนการการใช้เหตุผลเปลี่ยนแปลงไป "ความจริงในอดีต" หรือ "ประวัติศาสตร์" ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ นั่นก็คือ เกิดการ "รื้อ-สร้าง" ขึ้น อย่างเช่น กรณีการศึกษาประวัติศาสตร์ท้าวสุรนารีที่อาจจะไม่เป็นอย่างที่เชื่อกันมา (21) หรือแม้แต่การทำยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชา ซึ่งหลักฐานทางฝ่ายพม่ายืนยันว่า ไม่มีการทำยุทธหัตถี เป็นต้น

อาจารย์นิธิมองว่า ประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์อะไรก็ตาม ล้วนเป็นเรื่องของการสร้างพลังการให้ความหมายในเชิงสัญลักษณ์ เช่น การกล่าวอ้างของพรรคประชาธิปัตย์ที่ว่า มี "ประวัติศาสตร์" การต่อสู้กับเผด็จการมายาวนาน ก็เป็นความพยายามที่จะสร้างความหมายเชิงสัญลักษณ์ของบุคคลหรือเหตุการณ์ต่างๆ และอาจารย์นิธิก็ "รื้อสร้าง" ประวัติศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ให้เห็นว่า

"ก็ประชาธิปัตย์ร่วมมือกับทหารทำรัฐประหาร เมื่อ 2490 ผมก็ยังจำได้ แม้เมื่อถูกคณะรัฐประหารจี้ให้ออกจากนายกรัฐมนตรีแล้ว ประชาธิปัตย์ก็ไม่ใช่หัวหอกสำคัญในการต่อต้านเผด็จการของคณะรัฐประหาร หรือหลัง ๒๕๐๐ ประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้ต่อสู้กับเผด็การสฤษดิ์ - ถนอม - ประภาส จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๒ จึงได้ลงเลือกตั้งแข่ง เพราะคนอื่นๆ บีบให้เผด็จการต้องยอมปล่อยรัฐธรรมนูญออกมา แต่เมื่อ จอมพลถนอม กิตติขจร ทำรัฐประหารตัวเองในปี ๒๕๑๔ ประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้ต่อต้านอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน สมาชิกพรรคฟ้องร้องคณะรัฐประหารจนถูกจับติดคุก พรรคกลับสมน้ำหน้า. ถ้าให้ผมสร้าง 'เรื่อง' ของประชาธิปัตย์บ้าง 'เรื่อง' ของผมคงไม่สามารถหนุนความหมายเชิงสัญลักษณ์ว่าเป็นผู้ต่อสู้กับเผด็จการอย่างแน่นอน" (22)

ก็ให้น่าเฝ้าติดตามว่า อาจารย์นิธิจะเขียนประวัติศาสตร์ของปัจจุบันขณะนี้อย่างไร นั่นคือประวัติศาสตร์การเมืองไทยในช่วงห้าปีที่ผ่านมาและอีกห้าปีข้างหน้า จะมีการสร้างสัญลักษณ์อะไรกันขึ้นมา อย่างไรก็ตาม อาจารย์นิธิในฐานะนักประวัติศาสตร์ "ที่ดี" ก็ไม่ได้คิดจะผูกขาด "ความจริงของประวัติศาสตร์" ในเรื่องใดๆ อีกทั้งก็คงไม่ยอมให้ใครผูกขาดด้วย อาจารย์นิธิย่อมท้าทายประวัติศาสตร์เหล่านั้น อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า จากวิธีคิดของอาจารย์นิธิ ถือได้ว่า อาจารย์เป็นนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ไทยคนแรกที่กระทำการ "รื้อสร้างประวัติศาสตร์" (deconstructing history)

แม้ว่าเราจะเห็นร่องรอยของแนวคิดการ "รื้อสร้างประวัติศาสตร์" ของอาจารย์นิธิเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว ปัจจุบัน อาจารย์นิธิก็ยังรื้อสร้างอย่างรู้ตัวตลอดมา ในขณะที่นักวิชาการคนอื่นๆ บางคนอาจจะเลิกรื้อสร้างเมื่อแก่ตัวลง และกลับพยายามสถาปนาผูกขาดความจริงของตนขึ้นมา จะว่าไปแล้ว ในความเข้าใจของอาจารย์นิธิ การรื้อประวัติศาสตร์มีอยู่สองแบบ

แบบแรก คือการรื้อของนักประวัติศาสตร์ตะวันตกตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และต้น ๒๐ ที่คนเหล่านั้น อาทิ รังเก เป็นคนสำคัญที่มองประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ก่อนว่าเป็น "นิยายประจำชาติ" จึงตั้งหน้าตั้งตา "รื้อ" ประวัติศาสตร์หรือ "นิยายประจำชาติ" "เพื่อสร้างประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ตาม 'ความจริง'"

แบบที่สอง ส่วนการรื้อในแบบที่สอง คือ "รื้อ-สร้าง" ความจริงเก่า โดยไม่ต้องไปสร้างความจริงใหม่ขึ้น จากคำของนิธิเอง กล่าวว่า

"หน้าที่ของนักวิชาการจึงไม่ใช่ไป 'รื้อ' ความจริงเก่า แล้วสร้างความจริงใหม่ขึ้น เพราะถ้าสถาปนาความจริงใหม่นี้ได้สำเร็จ ก็จะจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจใหม่ขึ้นเหมือนกัน มีคนได้คนเสียเกิดขึ้นไม่ต่างจากความจริงเก่า หน้าที่ของนักวิชาการจึงเพียงแต่ไป 'รื้อ-สร้าง' ความจริงต่างๆ เท่านั้น 'รื้อ-สร้าง' คือไปแก้ผ้าความจริงเหล่านั้นให้ล่อนจ้อนว่า กระบวนการสถาปนามันขึ้นมานั้นเป็นอย่างไร เมื่อสถาปนาขึ้นมาได้อย่างนั้นแล้ว ใครได้ใครเสีย แต่ 'รื้อ' ก็เท่ากับได้ 'สร้าง' ไปแล้ว ผมเดาเอาว่า ความคิดของพวกเขา (อาจารย์นิธิเรียกว่า 'นักปราชญ์ฝรั่ง'-ผู้เขียน) ก็คือการ 'สร้าง' ความจริงเป็นเรื่องที่คนกลุ่มต่างๆต้องมาร่วมกันต่อรองแล้ว 'สร้าง' ขึ้นเอง อย่าปล่อยให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตที่ไหนมา 'สร้าง' ให้" (24)

นักสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ไทยที่พอคุ้นเคยกับแนวคิดของ "นักปราชญ์ฝรั่ง" ของอาจารย์นิธิ ย่อมพอจะเดาออกทันทีว่าเป็นใคร และโด่งดังเป็นกระแสในแวดวงวิชาการในช่วงสิบยี่สิบปีที่ผ่านมานี้แค่ไหน แต่กระนั้น อาจารย์นิธิก็กลับออกตัวว่า "เตือนผู้อ่านไว้ด้วยว่า ผู้เขียนแทบไม่เคยอ่านงานทฤษฎีของสำนัก 'รื้อ-สร้าง' เลย จึงเล่าไปอย่างผิดๆ ถูกๆ ตามความเข้าใจผิวเผินของตัวเอง อย่าเชื่อถืออะไรนัก" (25) ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว อาจารย์นิธิไม่จำเป็นต้องอ่านทฤษฎีของ "สำนักรื้อ-สร้าง" ของนักปราชญ์ฝรั่งที่ว่า เพราะถ้าย้อนกลับไปดู "ข้อคิดเกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์" ที่อาจารย์เขียนไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ และ "สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพกับอาร์โนลด์ ทอยน์บี" เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ท่านทั้งหลายก็คงเข้าใจได้เองว่า ทำไมผู้เขียนถึงกล่าวเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า อาจารย์นิธิจะเป็นนักรื้อ-สร้างประวัติศาสตร์ในแบบที่รื้อแล้วไม่ต้องพยายามสร้าง "ความจริง" ขึ้นมาใหม่แทนที่ แต่อาจารย์เองก็ไม่ใช่จะตะบี้ตะบันหาเรื่องรื้ออยู่ร่ำไป หรือต้องการจะทำให้ทุกสำนักทุกสถาบันพากัน "รื้อ-สร้าง" กันถ้วนหน้าไปหมด เพราะอาจารย์นิธิ "รื้อ" อย่างมีสำนึกรู้ตัวอยู่เสมอ ดังที่กล่าวไว้ว่า

"และเพราะไม่ค่อยรู้เรื่อง (ทฤษฎีรื้อ-สร้าง: ผู้เขียน) กับเขานี่แหละ ทำให้...อดคิดประสาชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปไม่ได้ว่า เอ๊ะ ถ้าเที่ยวไล่ 'รื้อ-สร้าง' ความจริงไปจนหมดแล้ว จะเหลืออะไรให้ทำต่อไปอีกล่ะครับ มิต้องลาโรงกันไปหมดหรือ ฉะนั้น การดำรงอยู่ของสำนัก 'รื้อ-สร้าง' จึงขึ้นอยู่กับว่า จะมีนักวิชาการในสำนักอื่น 'สร้าง' ความจริงมาให้รื้อหรือไม่ เช่น ต้องมีนักประวัติศาสตร์ที่เที่ยวสืบค้นหลักฐานมาบอกว่า ความจริงแล้วไอ้นั่นเป็นอย่างนี้ ไอ้นี่เป็นอย่างนั้น คราวนี้จึงถึงตาของนักวิชาการสาย 'รื้อ-สร้าง' เข้ามาศึกษาตรวจสอบหลักฐานใหม่ เพื่อจะได้รื้อความจริงที่ว่านั้นลงมากองกับพื้นอย่างล่อนจ้อนได้ ระบบนิเวศน์ทางวิชาการที่สมบูรณ์จึงต้องมีทั้งสองฝ่ายนะครับ คือมีฝ่าย 'สร้าง' ความจริง และฝ่าย 'รื้อ' ความจริง ไม่อย่างนั้นระบบนิเวศน์ก็จะพัง แล้วไม่มีฝ่ายไหนเหลือรอดเลย" (26)

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรื้อประวัติศาสตร์ หรือ ฝ่ายสร้างประวัติศาสตร์ ต่างต้องการเงื่อนไขในการ "รื้อ" หรือ "สร้าง" การท้าทายการตีความประวัติศาสตร์จึงเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม

ด้วยเงื่อนไขของสังคมไทยก็เต็มไปด้วยการสถาปนา-สร้างและผูกขาด การท้าทายทางความคิดจึงเป็นลักษณะที่โดดเด่นในผลงานและความคิดของอาจารย์นิธิผู้ปราศจากซึ่งภยาคติตลอดมา (27) เพราะอาจารย์เชื่อว่า เมื่อเกิดความสับสนกับความหมายเชิงสัญลักษณ์ หรือสัญลักษณ์ที่ยอมรับกันอยู่จำเป็นต้องมองหาความหมายใหม่ หรือมองหาการยืนยันความหมายเก่า และด้วยเงื่อนไขดังกล่าวนี้เองที่ผู้คนจะเริ่มหันมาสนใจประวัติศาสตร์กัน (28)

การที่ผู้คนหันมาสนใจประวัติศาสตร์ก็เท่ากับพวกเขาหันมาสู่การสงสัยในอดีตที่เกี่ยวพันกับปัจจุบันและอนาคตของพวกเขา จากการหันกลับมาสนใจใน "อดีต ปัจจุบัน และอนาคต" ของเขาก็เท่ากับว่า เขาหันกลับมาสนใจใส่ใจในเรื่องของ "เวลา" และมันก็หวนกลับมาสู่คำกล่าวของอาจารย์นิธิข้างต้นที่ว่า "เวลาจะมีจริงหรือไม่มี เนื้อแท้ของมันจะเป็นอย่างไร ไม่มีใครบอกได้ มีแต่ความเข้าใจเรื่องเวลานั้นแตกต่างหลากหลายกันไป.......แต่.....มนุษย์ทุกยุคทุกสมัยย่อมต้องมี 'ประวัติศาสตร์' นั่นคือ ย่อมมีมิติของอดีต ปัจจุบันและอนาคตเสมอ ไม่ว่าจะเข้าใจหรือจินตนาการเรื่องเวลาแตกต่างกันแค่ไหนก็ตาม"

ดังนั้น มันยากที่จะสรุปเป็นอื่นใดได้นอกจากว่า การหันมาสนใจ "ประวัติศาสตร์" คือการหันไปสู่ "ความเป็นมนุษย์" ที่แม้ว่า อาจารย์ "นิธิในฐานะนักประวัติศาสตร์"-------ผู้ที่ไม่ยอมรับการผะยี่ห้อสำนักคิดใดๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดโบราณ สมัยใหม่ (29) หรือหลังสมัยใหม่-------จะไม่อยาก จะยอมรับว่านั่นมันคือ "ธรรมชาติอันแท้จริงของมนุษย์" แต่ก็ดูเหมือนว่า มันยากที่จะปฏิเสธ...และทั้งสำหรับตัวตนของอาจารย์นิธิเองด้วย.............. Ecce Homo Historicus ! (30)

คลิกกลับไปทบทวนตอนที่ ๑

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) แม้ว่า ศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย วินิจจะกูลจะได้กรุณายกให้ผู้เขียนเป็นหนึ่งใน "พวกสัมฤทธิ์ผลนิยม" แล้วก็ตาม ดู "สัมฤทธิผลนิยม (Pragmatism ) ของปัญญาชนไทยกับการรัฐประหาร ๑๙ ก.ย. ๒๕๔๙" หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจรายวัน ฉบับวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙.

(2) บางคนอาจจะคุ้นกับคำแปลว่า "จิ๋วแต่แจ๋ว" แต่ "Small is beautiful: A Study of Economics as if People Mattered." ที่เป็นหนังสือเล่มสำคัญของ E.F. Schumacher นั้น ผู้แปลเป็นภาษาไทยแปลว่า "เล็กนั้นงาม" ดู อี.เอฟ. ชูมาเกอร์, เล็กนั้นงาม: การศึกษาเศรษฐศาสตร์โดยให้ความสำคัญกับผู้คน กษีร ชีพเป็นสุข แปล, วีระ สมบูรณ์ บรรณาธิการแปล, อภิชัย พันธเสน คำนิยม, ส. ศิวรักษ์ คำปรารมภ์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก: ๒๕๔๙).

(3) ดู ปรีชา ช้างขวัญยืน, "มาตรฐานทางวัฒนธรรมกับการทำให้เกิดเงื่อนทางการเมือง" และ นิธิ เอียวศรีวงศ์, "จดหมายตอบ" ใน รัฐศาสตร์สาร ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ ๓-ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๑ (ก.ย. ๒๕๓๑ - เม.ย. ๒๕๓๒) ๔๐ ปีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า ๒๗๕-๓๔๐.

(4) ไชยันต์ ไชยพร, ประวัติศาสตร์: วิถีความพยายามของมนุษย์ต่อความรู้ของเทพเจ้า" วารสารธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีที่ ๑๙ ฉบับที่ ๒ พฤษภาคม - สิงหาคม ๒๕๓๖: หน้า ๕๒-๗๔.

(5) ในบทความ "ข้อคิดเกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์" อาจารย์นิธิใช้ "บันทึกอธิบาย" ส่วนในบทความ "สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับ อาร์โนลด์ ทอยน์บี" ท่านใช้ "บันทึกท้ายบท" ซึ่งมีลักษณะเหมือน "เชิงอรรถ" ที่จัดวางไว้ท้ายบทความ ดู นิธิ เอียวศรีวงศ์ "ข้อคิดเกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์" (๒๕๐๙), อ้างแล้ว, หน้า ๑๓๐-๑๓๓ และ นิธิ เอียวศรีวงศ์ "สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับ อาร์โนลด์ ทอยน์บี" (๒๕๑๒) ใน ประวัติศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ไทย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, ชุดประวัติศาสตร์ ๒ กองบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น: ๒๕๑๙), หน้า ๒๒๒ - ๒๔๔ ซึ่งยาวกว่าเนื้อหาหลักที่มีเพียง ๑๔ หน้า (๒๐๘-๒๒๒).

(6) "ข้อคิดเกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์" (๒๕๐๙) ใน ปรัชญาประวัติศาสตร์, อ้างแล้ว, หน้า ๑๓๒ - ๑๓๓. ข้อความในบันทึกอธิบายข้อ ๕ นี้มีกลิ่นอายของความเชื่อในเรื่องความก้าวหน้าของประวัติศาสตร์มนุษยชาติพอสมควร จึงทำให้ตีความได้ว่า อาจารย์นิธิมีความคิดที่ลักษณะของความสมัยใหม่ (modernity). ถ้าจะยังไม่สามารถสรุปฟันธงลงไปได้ว่า อาจารย์นิธิเป็นแนวสมัยใหม่ คงจะต้องศึกษาเจาะจงในประเด็นดังกล่าวนี้ในโอกาสต่อไป

(7) "ข้อคิดเกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์" (๒๕๐๙) ใน ปรัชญาประวัติศาสตร์, อ้างแล้ว, หน้า ๑๑๑ - ๑๑๒.

(8) นี่เป็นประเด็นพื้นฐานในปรัชญาของค้านท์ เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในหมู่นักเรียนวิชาปรัชญา

(9) "ข้อคิดเกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์" (๒๕๐๙) ใน ปรัชญาประวัติศาสตร์, อ้างแล้ว, หน้า ๑๓๑.

(10) "ข้อคิดเกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์" (๒๕๐๙) ใน ปรัชญาประวัติศาสตร์, อ้างแล้ว, หน้า ๑๐๙.

(11) "ข้อคิดเกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์" (๒๕๐๙) ใน ปรัชญาประวัติศาสตร์, อ้างแล้ว, "บันทึกอธิบายข้อ ๒" หน้า ๑๓๐-๑๓๑.

(12) ไชยันต์ ไชยพร, ทฤษฎีปรัชญาการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์ งานวิจัยในแผนงานวิจัย "ยุทธศาสตร์ในการเผชิญหน้ากับผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัตน์ต่อสังคมไทย" ทุนอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดินปี พ.ศ. ๒๕๔๗ - ๒๕๔๘ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

(13) ไชยันต์ ไชยพร, ทฤษฎีปรัชญาการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์, เพิ่งอ้าง.

(14) "ข้อคิดเกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์" (๒๕๐๙) ใน ปรัชญาประวัติศาสตร์, อ้างแล้ว, "ประวัติศาสตร์คืออะไร" หน้า ๑๐๗ - ๑๐๙.

(15) ดู เกษม เพ็ญภินันท์, "ว่าด้วยมโนทัศน์ 'ความเข้าใจ' ในศาสตร์การตีความทางปรัชญาของกาดาเมอร์" ใน รัฐศาสตร์สาร ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๑ (๒๕๔๙) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า ๖๒ - ๑๒๕.

(16) ลองจินตนาการสังคมไทยคงจะสนุกตื่นเต้นเข้มข้นด้วยคุณภาพเพียงไร หากมีอาจารย์ "นิธินักประวัติศาสตร์" เขียนงานวิจารณ์เรื่องราวความเป็นไปของสังคมและโลก ด้วยสายตาและประสบ การณ์อย่างต่อเนื่องจนท่านอายุ ๑๐๒ ปีอย่างกาดาเมอร์ "ประวัติศาสตร์ของอาจารย์นิธิ" คงจะเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าติดตามอย่างยิ่ง เพราะเพียงช่วงเวลาเท่านี้ ผลงานของอาจารย์ก็กระตุกให้ผู้คนต้องหันกลับมาสนใจเรื่องราวของ "อดีต ปัจจุบันและอนาคต" กันอยู่ทุกระยะ

(17) "เรื่องจริงอิงนิยาย" มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ ๙๗๓ ประจำวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๔๒.

(18) "เรื่องจริงอิงนิยาย" มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ ๙๗๓ ประจำวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๔๒.

(19) ดู Hans G. Gadamer, "The Universality of the Hermeneutic Problem," in Hans Georg Gadamer, Philosophical Hermeneutics (London: University of California Press: 1976), p. 9.

(20) "ข้อคิดเกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์" (๒๕๐๙) ใน ปรัชญาประวัติศาสตร์, อ้างแล้ว, หน้า ๑๑๕ - ๑๑๖.

(21) อาจารย์นิธิกล่าวถึงประเด็นเรื่องท้าวสุรนารีไว้ว่า "ถ้าดูจากวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษาแล้ว เข้าใจว่า คติ 'รื้อ-สร้าง' ทางประวัติศาสตร์จะมีอิทธิพลที่สุดในสำนักท่าพระจันทร์ เพราะมีวิทยานิพนธ์ประวัติศาสตร์ลักษณะอย่างนี้ออกมามากที่สุด รวมทั้งฉบับที่ถูกชาวโคราชซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้อ่านฮือกันต่อต้านด้วย" จาก "นิยายที่ชื่อประวัติศาสตร์" มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ ๑๐๘๔ ประจำวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๔

(22) มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ ๙๗๓ ประจำวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๔๒.

(23) "นิยายที่ชื่อประวัติศาสตร์" มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ ๑๐๘๔ ประจำวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๔

(24) "นิยายที่ชื่อประวัติศาสตร์" มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ ๑๐๘๔ ประจำวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๔

(25) "นิยายที่ชื่อประวัติศาสตร์" มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ ๑๐๘๔ ประจำวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๔

(26) "นิยายที่ชื่อประวัติศาสตร์" มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ ๑๐๘๔ ประจำวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๔

(27) ดูเชิงอรรถที่ ๓๖.

(28) "เรื่องจริงอิงนิยาย" มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ ๙๗๓ ประจำวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๔๒.

(29) อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า อาจารย์นิธิจะเป็นนักคิดในแนวสมัยใหม่ โปรดดูเชิงอรรถที่ 6.

(30) เรื่อง "นวนิยายที่มี พ.ศ." นี้ ใช้เวลาเขียนราว ๔ ปี ดังนั้น จึงมีรายละเอียดของบริบทที่เคลื่อนไหวและหลากหลาย ไม่ต่างจาก "ศรีธนญชัย" ผู้เขียนเขียนเรื่อยมา จนกระทั่งถึงวันพฤหัสบดีที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ จึงเป็นอันยุติ

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

กาดาเมอร์เป็นที่รู้จักกันในแวดวงวิชาการไทยในเวลาต่อมา ในฐานะที่เป็นนักปรัชญาเฮอเมนอย- ติก (philosophical hermeneutics) และแนวคิดเรื่องการเชื่อมประสานบริบททางประวัติศาสตร์ (the fusion of historical horizon) อันเป็นรอยต่อไปสู่ปรัชญาแนวคิดหลังโครงสร้างนิยม นับว่าอาจารย์นิธิเป็นนักวิชาการที่ล้ำหน้าทีเดียวเมื่อเทียบกับนักวิชาการรุ่นราวคราวเดียวกัน หรือแม้กระทั่งกับรุ่นใหม่ๆ ก็ตาม เพียงแต่ท่านอาจจะไม่นิยมที่จะแสดงออกโดยการอ้างชื่อนักวิชาการฝรั่งอย่างพร่ำเพรื่อ เพื่อเป็นไม้กันหมาหรือทำให้ผู้คนขาดความมั่นใจ
01-05-2550

Thai Historian
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.