โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 30 April 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๓๔ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ (April, 30, 04,.2007)
R

บทความนอกหนังสือเพื่อเป็นเกียรติแก่ นิธิ เอียวศรวงศ์
บทความนอกจักรวาล : นวนิยายที่มี พ.ศ. (ตอนที่ ๑)
รศ.ดร.ไชยยันต์ ไชยพร : เขียน
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความวิชาการชิ้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของผลงานที่กลุ่มจักรวาลวิทยารวบรวมขึ้น
เพื่อเป็นเกียรติแก่ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในวาระครบรอบ ๖๐ ปี (๒๕๔๓) แต่เพิ่งมาสำเร็จเป็นรูปเล่มหนังสือในชื่อ
จักรวาลวิทยา: บทความเพื่อเป็นเกียรติแก่ นิธิ เอียวศรีวงศ์
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๙ นี้ ด้วยปัญหาต่างๆ ดังที่ อ.ไชยยันต์ ได้สะท้อนอยู่ในบทความอย่างละเอียด
รวมทั้งบทความของตนเองก็ไม่ได้รวมพิมพ์อยู่ในหนังสืออนุสรณ์เล่มนี้ด้วย
ในส่วนของบทความที่ท่านกำลังอ่านอยู่ กองบรรณาธิการได้ขอรับมาจากผู้เขียนเพื่อการเผยแพร่
และใช้ชื่อหัวเรื่องว่า "บทความนอกจักรวาล" ซึ่งในเนื้อหาหลักของบทความตอนที่ ๑ นี้
เป็นการกล่าวถึงความเป็นมา และปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับหนังสือในวาระครบรอบ ๖๐ ปี ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
ถัดจากนั้นได้พูดถึงเรื่องของ"ศรีธนญชัย" ซึ่งผู้เขียนเคยเสนองานชิ้นนี้ในกลุ่มจักรวาลวิทยา
โดยได้มีการตีความ ถอดระหัส และนำไปเชื่อมโยงกับเรื่องของพระเจ้าตากอย่างน่าสนใจ
โดยเฉพาะตอนที่ว่าด้วยจีนสำเภาอยากเป็นกษัตริย์ และเรื่องความรู้ในทางพุทธศาสนา
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๓๔
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๙ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ที่ห้องประชุมคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันเปิดตัวหนังสือ "จักรวาลวิทยา: บทความเพื่อเป็นเกียรติแก่ นิธิ เอียวศรีวงศ์"
(หนังสืออนุสรณ์วาระครบรอบ ๖๐ ปี ของ อ.นิธิ โดยกลุ่มจักรวาลวิทยา)

บทความนอกหนังสือเพื่อเป็นเกียรติแก่ นิธิ เอียวศรวงศ์
บทความนอกจักรวาล : นวนิยายที่มี พ.ศ. (ตอนที่ ๑)

รศ.ดร.ไชยยันต์ ไชยพร : เขียน


"ในประเทศไทย ความเข้าใจในเรื่องของประวัติศาสตร์ของมหาชนยังคลุมเครืออยู่ว่า ประวัติศาสตร์คือการลำดับเวลาและเหตุการณ์ให้สอดคล้องกัน เมื่อมีคนนึกถึงประวัติศาสตร์ เขามักจะนึกถึงการจำศักราชและเหตุการณ์. ในมหาวิทยาลัย ยังมีการปลูกฝังความเชื่อกันว่า ประวัติศาสตร์ที่ขาด พ.ศ. คือ นวนิยาย ด้วยเหตุดังนั้นการศึกษาประวัติศาสตร์ในประเทศไทยเรา จึงคงอยู่ในขั้นการเล่าเรียนจดจำนวนิยายที่มี พ.ศ. เท่านั้น" (1)

จากที่ได้มีการพูดคุยอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการอยู่หลายครั้ง (2) จนแทบนับจำนวนครั้งไม่ได้เกี่ยวกับโครงการทำหนังสือในวาระที่ "อาจารย์นิธิ" อายุครบ ๖๐ ปี จนได้ข้อสรุปที่ลงตัวอยู่หลายครั้ง และจนข้อสรุปที่ลงตัวเหล่านั้นก็ได้กลายเป็นเรื่องไม่ลงตัวไปอีก เพราะยังไม่ได้มีการแปลงความคิดให้เป็นรูปธรรมเสียที การหารือที่ว่านี้ได้กระทำขึ้นทั้งก่อนอาจารย์นิธิจะมีอายุครบ ๖๐ เป็นเวลานาน และหลังจากอาจารย์นิธิครบ ๖๐ แล้วก็ตาม

จากการหารือหลายครั้งที่ผ่านมา (3) ก็ดูจะได้หัวเรือและลูกเรือที่พร้อมจะลงเรือลำเดียวกัน และเป้าหมายปลายทางของเรือลำที่ว่านี้คือ หนังสือเล่มนี้นี่เอง (4) การหารือแต่ละครั้งมักจะมีการสถาปนาหัวเรือกันขึ้นมาต่างกรรมต่างวาระกันไป แม้ว่าหัวเรือจะถูกเปลี่ยนไปตามวงสนทนา แต่ลูกเรือก็ยังเป็นกลุ่มคนหน้าเดิมๆ อยู่ เพียงแต่จะมีการสลับตำแหน่งกันไป เช่น ลูกเรือบางคนกลายไปเป็นหัวเรือบ้าง หรือผู้ที่เป็นหัวเรือกลายมาเป็นลูกเรือบ้าง เป็นต้น และในแต่ละครั้งที่ได้สถาปนาหัวเรือขึ้นมา ก็ดูจะบังเกิดความคึกคักกระตือรือร้นขึ้น แล้วต่อมา ก็จางหายไป

มาจนวันหนึ่ง ณ ห้องอาหารแห่งหนึ่ง ราวๆ เดือนธันวาคมอันเป็นช่วงรอยต่อของพุทธศักราช ๒๕๔๕-๒๕๔๖ การเอ่ยเอื้อนเรื่องการทำหนังสือก็เกิดขึ้นอีกเหมือนหลายครั้งที่ผ่านในรอบหลายปี (5) แต่คราวนี้ มีบุรุษผู้หนึ่งที่แสดงความเซ็งสุดขีดกับความไม่แน่นอนฟอนเฟะที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่บุรุษผู้นี้มักจะยืนยันถึงความไม่แน่นอน ความไม่มีแก่นแท้สาระของความจริงแท้ ซึ่งความจริงที่ว่านี้ อาจารย์นิธิเรียกว่า "ความจริงเนื้อแท้" (6) เพราะในการอภิปรายถกเถียงทางวิชาการ บุรุษผู้นี้มักจะเป็นผู้มาพร้อมกับความคิดภายใต้ทฤษฎีที่เรียกขานกันในภาษาอังกฤษว่า "conspiracy theory" และมักจะกระทำในสิ่งที่อาจารย์สุวิมล รุ่งเจริญ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายว่าเป็น "การโยนลูกระเบิด" ใส่วงอภิปรายทางวิชาการ และยังตีตราบุรุษผู้นี้ว่ามีพฤติกรรมละม้ายคล้ายคลึงกับ "โสกราติสแห่งเอเธนส์" (7) ยิ่งนัก

เราสามารถกล่าวอีกในนัยหนึ่งเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ทางการเมืองโลกและการเมืองภายในในช่วงสามสี่ปีหลังเหตุการณ์ถล่มตึกเวิร์ลเทรดหรือ "๙-๑๑" บุรุษผู้นี้คือ ถ้าจะมีตำแหน่งทางวิชาการ ก็น่าจะมีฉายาว่า "วินาศกรรมศาสตราจารย์" (Terrorism Professor) นอกจากนี้ เขายังมีฉายาว่า "เจ้าพ่อโพสท์โมเดิร์น" หรือ "มนุษย์ที่จัดประเภทไม่ได้" อีกด้วย (8)

เมื่อถึงที่ความ "คับข้องหนอ" กับความไม่แน่นอนของโครงการทำหนังสือฯสามารถเกิดขึ้นกับคนพรรค์นี้ได้ ผู้คนที่เป็นลูกเรือต่างก็รู้สึกว่า "มันคงถึงเวลาแล้วกระมัง !?" ที่จะต้องทำให้โครงการฯนี้สำเร็จเสียที. ในสถานการณ์คราวนั้น หลายคนยืนยันในลักษณะออกตัวและแก้ต่างในเวลาเดียวกันว่า ได้เขียนต้นฉบับเสร็จเรียบร้อยนานแล้ว บางคนที่ไม่สามารถยืนยันได้เช่นนั้นก็ออกตัวว่า คิดหัวเรื่องได้แล้วบ้าง หรือเขียนไปได้บางส่วนแล้วบ้าง หรือเขียนเสร็จแล้วบ้างแต่เหลือเพียงใส่เชิงอรรถและตกแต่ง (retouch) บ้าง

แต่จะอย่างไรก็ตาม บุรุษผู้นั้นก็กำหนดเงื่อนเวลาแห่งประวัติศาสตร์ขึ้นมาว่า ทุกคนจะต้องส่งต้นฉบับให้ตามเงื่อนเวลาที่ถูกำหนดไว้ในราวกลางปีพุทธศักราช ๒๕๔๖ หลังจากนั้นทุกอย่างก็ดูจะดำเนินไปตามนั้น

(1)

การที่เงื่อนเวลาได้ถูกกำหนดขึ้นโดยมนุษย์ ก็คงเป็นสิ่งที่เป็นไปตามที่อาจารย์นิธิได้เขียนไว้นานแล้วเป็นเวลากว่าสามทศวรรษตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๐๙ (9) ซึ่งเป็นอยู่ในช่วงรอยต่อของเผด็จการ ส-ถ-ป (10) ว่า

"เวลาคืออะไรไม่มีใครรู้ (นั่นหมายความว่าเวลาอาจจะมี แต่ไม่มีใครรู้จัก หรือเวลาไม่มีก็ได้เหมือนกัน) แต่เวลาที่เรารู้จักกันนั้น คืออาการเคลื่อนไหวของโลก. เวลา ๑ ปี คืออาการที่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ๑ รอบโดยประมาณและจากเวลา ๑ ปีนี้เราก็อาจแบ่งออกเป็นเวลาย่อยๆ ได้มากมาย เช่น ๑ เดือน, ๑ วัน, ๑ ชั่วโมง ฯลฯ ซึ่งอาจจะใช้แบ่งโดยตามใจเราหรือโดยอาศัยโลกเป็นหลักได้ทั้งสองอย่าง เพราะฉะนั้น เวลาจึงเป็นแต่เพียงสิ่งที่มนุษย์ในสังคมกำหนดขึ้น โดยอาศัยการเคลื่อนไหวของโลกเป็นหลักเท่านั้น" (11)

จากคำอธิบายเรื่องเวลาดังกล่าวของอาจารย์นิธิ ได้ก่อให้เกิดคำถามขึ้นว่า การกำหนดเวลาในการทำหนังสือในโอกาสที่ท่านสิริอายุครบ ๖๐ ให้ท่านโดยมนุษย์ในสังคมกลุ่มหนึ่งนั้นได้เป็นไป "ตามใจเราหรือโดยอาศัยโลกเป็นหลัก" ?

ที่ผ่านมาก่อนช่วงรอยต่อระหว่างพุทธศักราช ๒๕๔๕-๒๕๔๖ ดูเหมือนจะเข้าลักษณะ "ตามใจเรา" โดยไม่ "อาศัยโลกเป็นหลัก" ขณะเดียวกัน แม้ว่าจะกำหนด "ตามใจเรา" แต่ "เวลาของเรา" ที่ว่านี้ ก็ยังหาได้สอดคล้องต้องตามกันไม่ แม้ว่าจะไม่สอดคล้องกัน มันก็หาได้ขัดแย้งกับคำอธิบายเรื่องเวลาของอาจารย์นิธิไม่ เพราะดูเหมือนท่านจะเล็งเห็นความเป็นไปของ "พวกเรา" ไว้ล่วงหน้ากว่าสามทศวรรษแล้ว ดังที่คำที่ท่านได้อธิบายต่อทันทีจากข้อความที่เพิ่งยกอ้างไปในเชิงอรรถที่ ๔ ว่า

"มนุษย์ในฐานะของคนเพียงคนเดียวก็หาได้ใช้เวลาเหมือนเวลาที่สังคมใช้ไปทุกอย่างไม่ เพราะฉะนั้น จึงจะเห็นได้ว่า เวลา ๑ ชั่วโมง มีความยาวนานผิดกันในระหว่างคนสองคน" (12)

ดังนั้น ยิ่ง "เรา" หมายถึงคนหลายคน เวลา ๑ ชั่วโมง, ๑ วัน, ๑ เดือน, ๑ ปี ฯลฯ จึงย่อม "มีความยาวนานผิดกัน" ตามคำท่านว่าไว้

ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว การที่ "บุรุษผู้นั้นก็กำหนดเงื่อนเวลาแห่งประวัติศาสตร์ขึ้นมาว่า ทุกคนจะต้องส่งต้นฉบับให้ตามกำหนดในราวกลางศกนี้" มันจะผิดแผกไปจาก การกำหนดเวลาการทำหนังสือ "ก่อนช่วงรอยต่อระหว่างพุทธศักราช ๒๕๔๕-๒๕๔๖" อย่างไรได้ ? บุรุษผู้นี้จะวิเศษวิโสมาจากไหน "เป็นใคร ชื่ออะไร พ่อแม่เป็นใคร เรียนหนังสือที่ไหน และกินเหล็กกินไหลมาหรือยังไง" (13) ถึงจะสามารถกำหนดเวลาของ "คนหลายคน" ให้เป็นไปตามเวลาโลกเหมือนๆ กันกับมนุษย์ในสังคม โดยเฉพาะมนุษย์คนหนึ่งอย่างตัวบุรุษนั้น ?

แน่นอนว่า บุรุษผู้นี้เป็นคนมีชื่อต่างๆ นานา มีพ่อมีแม่ที่คนรู้จัก เรียนหนังสือที่โรงเรียนที่มีชื่อ แต่ไม่ได้กินเหล็กกินไหล เพียงแต่ได้กินเนื้อสิงโตและม้าลายมาแล้ว (14) แต่การรับประทานเนื้อสิงโตและม้าลายนั้นมิจำเป็นว่า จะต้องส่งให้เขานั้นมีอำนาจบาตรใหญ่เพียงพอที่จะมากำหนด "เวลาของเรา" เท่ากับอาการทนไมได้ของ "คนประเภทเขา" ต่อเรื่อง "ความยาวนานผิดกัน" ในเรื่อง "ของเวลาของเรา"

จากนั้นเป็นต้นมาจนเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อมีการทวงถามถึงต้นฉบับบทความสำหรับการพิมพ์หนังสือวาระครบ ๖๐ ปีของอาจารย์นิธิ ก็มีการย้อนถามกลับไปว่า มีของใครเสร็จแล้วบ้าง ? บุรุษผู้นั้นก็ได้ตอบด้วยน้ำเสียงเผด็จการและไล่เรียงรายชื่อของ "ผู้อยู่ในกาลเวลาเดียวกันกับเขา" สมาชิกคนหนึ่งเมื่อได้ยินเช่นนั้น ก็ตอบกลับไปอย่างไว้ลายว่า ของตนนั้นก็เสร็จเหลือแต่เพียงใส่เชิงอรรถบ้าง บางรายกล่าวอย่างกระตือรือร้นว่า ของเขาเหลือเพียงเติม น หนู ในคำบางคำเท่านั้น (15) ส่วนบุรุษอีกนายหนึ่งก็เกทับด้วยอาการสงบว่า ของตนนั้นก็เสร็จแล้ว เหลือเพียงแต่เติมสระ อิ ในคำบางคำเท่านั้น (16) แต่การเกทับระดับโลกที่ประวัติศาสตร์จะต้องจารึกไว้ก็คือสำนวนของ "บุรุษคนสุดท้าย" ที่ว่า "เพียงเติม จุด เข้าไปท้ายคำว่า 'เสรีประชาธิปไตย' เท่านั้น !" ประวัติศาสตร์ก็จะเดินมาถึงจุดหมายปลายทางของมัน (17)

จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ดูเหมือนว่า บุรุษผู้กำหนดเงื่อนเวลาแห่งประวัติศาสตร์การทำหนังสือฯ จะไม่สามารถกำหนดเวลาได้อย่างแท้สมบูรณ์ แต่ก็ดูจะสามารถก้าวข้ามพ้น "เวลาของเรา" ไปสู่ "เวลาของโลก" แต่ก็ทำได้ในลักษณะสัมพัทธ์ เพราะ "เวลาของโลก" ก็หาได้มีความ "สัมบูรณ์" ไม่ สมดังคำของอาจารย์นิธิเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว ที่ท่านได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องความรู้ความจริงเนื้อแท้ โดยยกเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ นี้ได้กลายเป็นมหากาพย์ภาพยนตร์ไทยอีกเรื่องหนึ่งต่อจาก "สุริโยทัย" ไว้ว่า

"สมเด็จพระนเรศวรมหาราชอาจจะไม่ได้ทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาเลย แต่หลักฐานที่เหลือตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน อันเป็นเครื่องมือของนักประวัติศาสตร์เพื่อสืบค้นความจริงในอดีต และระบบเหตุผลที่มนุษย์เลือกใช้เพราะเห็นว่าเป็นของดีที่สุด พิสูจน์ให้นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงทำยุทธหัตถีจริง และนี่คือสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นความจริง แต่เป็นความจริงของโลก หรือความจริงสัมพัทธ์ อันมีลักษณะผูกพันกับความจริงข้อ อื่นๆ และเมื่อสืบสาวไปเรื่อยๆ จะพบว่าความจริงสัมพัทธ์ทุกอันจะต้องมีรากฐานอยู่บน 'สมมติฐาน' อันใดอันหนึ่ง ผิดกับความจริงเนื้อแท้ซึ่งเราคาดหวังว่ามันจะต้องเป็นอิสระ เป็นความจริงโดยตัวของมันเอง ถึงไม่มีความจริงข้ออื่น ความจริงเนื้อแท้ก็คือความจริงอยู่นั่นเอง และไม่ว่าจะสืบสาวไปอย่างไรก็จะไม่พบสมมติฐานเลย อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรู้ว่าความจริงเนื้อแท้เป็นอย่างไร เพราะยังไม่เคยมีใครพบตัวมัน สิ่งที่กล่าวเป็นเพียงแต่การ 'เก็ง' อย่างหนึ่งเท่านั้น เพราะฉะนั้นคำกล่าวที่ว่าโลกเรานี้หาความจริงไม่ได้ จึงถูกต้องในแง่นี้ เพราะสิ่งที่เราถือว่าเป็นความจริงทั้งหลายนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นทั้งสิ้น" (18)

(2)

จากคำกล่าวข้างบนนี้ ทำให้เราสามารถตั้งสมการทางตรรกะเหตุผลได้ว่า ถ้าเรามีข้อมูลว่า บุรุษผู้จัดประเภทไม่ได้ เป็นคนกำหนดเงื่อนไขของเวลา และอาจารย์นิธิกล่าวว่า ความจริงทั้งหลายนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นทั้งสิ้น ความจริงที่มนุษย์สร้างขึ้นเป็นความจริงของโลก ความจริงของโลกเป็นความจริงสัมพัทธ์

ดังนั้น ถ้า เงื่อนไขของเวลาหรือเวลาเป็นสิ่งที่มนุษย์กำหนดขึ้น และ ถ้า บุรุษผู้กำหนดประเภทไม่ได้ เป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น บุรุษผู้กำหนดประเภทไม่ได้ จึงกำหนดเงื่อนไขเวลาได้เพียงในลักษณะสัมพัทธ์ ! และการกำหนดเงื่อนไขเวลาจะสัมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อ บุรุษผู้กำหนดประเภทไม่ได้ไม่ใช่มนุษย์"

แต่กระนั้น การกำหนดได้อย่างสัมพัทธ์ ย่อมมิได้หมายความขนาดว่าจะกำหนดไม่ได้เลย เพราะถ้ากำหนดไม่ได้เลยทุกกาลเทศะ ก็จะเท่ากับเป็นการกำหนดไม่ได้อย่างสัมบูรณ์ ซึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้อีกเช่นกัน ตามคำอธิบายเรื่องความรู้ความจริงเนื้อแท้ของอาจารย์นิธิ เพราะการกำหนดเงื่อนไขเวลาไม่ได้อย่างสัมบูรณ์ ย่อมจะกระทำได้โดยสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์เท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ ปฏิกิริยาต่อการถึงกำหนดของเงื่อนเวลาก็คือ มีบทความบางส่วนที่เสร็จสัมบูรณ์ (!?) ก็ได้ถูกทยอยส่งไปให้บุรุษผู้นั้น และมีบางส่วนที่ใกล้เสร็จ แต่ยังไม่สัมบูรณ์ และอีกบางส่วนที่อยู่ระหว่างทางสองแพร่งของการเสร็จกับการไม่เสร็จที่ไม่สัมบูรณ์ ซึ่งโดยรวมแล้ว ก็นับว่าสถานการณ์ครั้งนี้ยังดีกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

แม้ว่า สถานการณ์ครั้งนี้จะดีกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ถ้ายังไม่ได้บทความในจำนวนข้างมากที่ "เขา" พอใจจาก "เรา" สถานการณ์มันก็จะไม่ต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมาอยู่ดีนั่นเอง เพราะมันไม่สามารถทำให้หนังสือวาระครบ ๖๐ ปีของอาจารย์นิธิคลอดออกมาได้สักที แม้ว่าจะสามารถแปลงความคิดให้เป็นรูปธรรมได้บ้างแล้วก็ตาม

บุรุษผู้กำหนดประเภทไม่ได้ แต่เป็นผู้กำหนดเงื่อนเวลาย่อมตระหนักดีว่า การออกตัว คำแก้ต่าง และการเกทับจาก "เรา" นั้นย่อมมิได้มีสาระความหมายที่เป็นแก่นหรือความจริงเนื้อแท้แต่ประการใด และนอกจากนี้ "การออกตัว คำแก้ต่าง การเกทับ และวางกับดัก" ยังเป็นคุณสมบัติของคนที่ไหลลื่นประดุจปลาไหลอีกด้วย (19) ในการจัดการกับสภาวการณ์ลื่นไหลดังกล่าวนี้ ถ้าหากบุรุษผู้นี้ "ไม่กระทำในสิ่งซึ่งกระทำกัน เพื่อสิ่งซึ่งควรกระทำ ก็ได้เรียนรู้รสพินาศของเขา" (20) แทนการรักษากำหนดเวลาการออกหนังสือครบวาระ ๖๐ ปีของอาจารย์นิธิไว้ได้ ดังนั้น ในการที่จะบรรลุเป้าหมายและรอดพ้นจากความพินาศ เขาจึงจำต้องทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับคำกล่าวนั้น นั่นคือ ต้อง "กระทำในสิ่งซึ่งกระทำกัน เพื่อสิ่งซึ่งไม่ควรกระทำ" (21)

ตามปรกติแล้ว ยามที่บุคคลผู้ตามทวงหนี้หรือสิ่งของที่เป็นสิทธิของเขาถูกปฏิเสธด้วยการ "ออกตัว แก้ต่าง เกทับและวางกับดัก" บุคคลผู้เป็นเจ้าหนี้ย่อมจะต้องหาทางที่จะได้สิ่งของที่เป็นสิทธิของเขา แต่เจ้าหนี้ที่ทรงศีลและคุณธรรมก็มักจะใช้วิธีการที่เชื่อใจ และเฝ้ารอบุคคลผู้เป็นลูกหนี้เหล่านั้นให้มาใช้หนี้ตามกำหนดเวลาพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งก็มักจะไม่ได้ประโยชน์ เพราะการรอลูกหนี้ในลักษณะนั้น จะเป็นผลได้ก็ต่อเมื่อลูกหนี้มีมโนสำนึกและยางอาย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นคนดีนั่นเอง แต่ลูกหนี้ที่ดีเช่นนั้นคือ "ลูกหนี้ในจินตนาการ" เท่านั้น ดังนั้นการคิดถึงลูกหนี้แบบนี้จึงเท่ากับเป็น "การจินตนาการถึงลูกหนี้" มากกว่าจะเข้าถึงธรรมชาติของการเป็นลูกหนี้จริงๆ ไม่ต่างจากการร้องเพลง "Imagine" ของจอห์น เลนนอน (22) ซึ่งมักไม่ค่อยจะได้ผลเท่าไรนักเมื่อเทียบกับ "Imagined Community" หรือ "การสร้างรัฐหรือชุมชนในจินตนาการ" ของเบน แอนเดอร์สัน (23)

มาคิอาเวลลี ได้กล่าวเตือนสติบรรดาเหล่าผู้เป็นเจ้า-(หนี้)-ไว้เป็นเวลาเกือบห้าศตวรรษแล้ว โดยเขาได้เขียนไว้ตั้งแต่คริสต์ศักราช ๑๕๑๓ ว่า "ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า การเข้าไปเบื้องหลังให้ถึงความจริงที่มีผลของเรื่องนี้ เป็นการได้ประโยชน์มากยิ่งกว่าการไปถึงจินตนาการของสิ่งนั้น" (24) เพราะหลายคนได้เคยจินตนาการถึงลูกหนี้ที่ดีมีสำนึก ที่ไม่เคยมีใครเห็นหรือรู้ว่ามีอยู่ในความจริง (25)

ดังนั้น ในการทวงหนี้ต้นฉบับ บุรุษผู้สมมติตัวเองเป็นเจ้าหนี้จึงจำต้อง "กระทำในสิ่งซึ่งกระทำกัน เพื่อสิ่งซึ่งไม่ควรกระทำ ก็ได้เรียนรู้รสความสำเร็จของเขา" ได้. การทวงหนี้อย่างที่เขากระทำกัน อันเป็นการทวงหนี้ที่ไม่บังควร (โดยเฉพาะในสายตาของลูกหนี้และบุคคลที่สาม) ก็มักจะพบเห็นได้ทั่วไปในวิถีชีวิตแบบไทยๆ นั่นคือ เจ้าหนี้ตามจิกตามตื๊อตามด่าเป็นที่เอิกเกริกให้ลูกหนี้ได้อายในที่สาธารณะ หรือไม่ก็หาทางยึดข้าวของทรัพย์สินหรือลูก/เมีย/ผัวที่ลูกหนี้ยังพอมีเหลือติดตัวมาขัดดอกออกผลหรือเป็นหลักประกันไว้ คล้ายดั่งกรณีของชูชกกับบิดามารดาของนางอมิตดานั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์เจ้าหนี้-ลูกหนี้ (A History of Creditor-Debtor) นอกเหนือไปจากกรณีของไชล๊อกใน "เวนิสวานิช" ของเชคสเปียร์แล้ว (26)

แต่ถ้าจะใช้วิธีดังกล่าว ก็ดูจะไม่เป็นผลสำหรับกรณีหนี้ต้นฉบับ ด้วยเหตุผลสามประการ ดังนี้คือ

ประการแรก บุรุษผู้สมมติตัวเป็นเจ้าหนี้มักจะพบว่า บรรดาลูกหนี้ต้นฉบับมักจะรวมตัวเกาะกลุ่มกันอยู่เสมอ มิได้ไปปะปนกับผู้คนทั่วไป หรือมิฉะนั้น ก็จะแยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยวลำพังภายในห้องส่วนตัว ดังนั้น ถ้าจะใช้วิธีการตามจิกตามตื๊อตามด่าลูกหนี้เหล่านี้ ก็จะพบว่า ไม่มีใครจะต้องอับอายแต่อย่างใด เนื่องจากทุกคนในที่นั้นต่างเป็นลูกหนี้กันหมด หรือไม่มีคนอื่นที่จะต้องอาย

ประการที่สอง หากบังเอิญ มีคราใดที่ลูกหนี้คนใดคนหนึ่งจับผลัดจับผลูอยู่ปะปนกับผู้คนอื่นๆ ที่มิใช่ผู้ที่มีหัวอกลูกหนี้เดียวกัน และบุรุษเจ้าหนี้นั้นก็บังเอิญให้เจอะเจอลูกหนี้ผู้นั้น การจิกด่าตื๊อตามต้นฉบับก็บังเกิดขึ้นอย่างเอิกเกริกต่อหน้าฝูงชน สถานการณ์มันก็กลับกลายเป็นว่า ลูกหนี้ผู้กลับมิได้อับอายแต่ประการใด หากจะภาคภูมิใจและเป็นเกียรติเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากผู้คนทั่วไปจะรับรู้ว่า เขาเป็นคนหนึ่งที่ได้รับเกียรติในการเขียนบทความลงหนังสือวาระครบรอบ ๖๐ ปีของท่านอาจารย์นิธิ และการถูกทวงต้นฉบับนั้นก็มักจะเกิดขึ้นกับคนที่มีภูมิมีความรู้ และยิ่งยังเขียนไม่เสร็จหรือยังไม่ได้เขียน ก็ยิ่งแสดงความเฮี้ยนแลขลังของเจ้าตัวว่า คงจะยุ่งมากจนไม่มีเวลาหรืออะไรทำนองนั้น ที่มักจะพบเห็นได้ในบรรดาปรมาจารย์ซือแป๋ผู้เป็นนักคิดนักเขียนทั้งหลาย

ประการที่สาม ลูกหนี้แต่ละรายเมื่อถูกทวงหนี้ มักจะย้อนถามเจ้าหนี้ถึงบรรดาลูกหนี้คนอื่นๆ เมื่อได้รับคำตอบว่า คนอื่นๆ ยังไม่ได้ส่ง ก็ทำให้ลูกหนี้ผู้นั้นย่ามใจ และกลับวางกับดักโดยแนะนำให้เจ้าหนี้ไปทวงลูกหนี้คนอื่นๆ ให้ได้เสียก่อน แล้วตนจึงจะใช้หนี้ให้

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว บุรุษเจ้าหนี้ย่อมไม่สามารถใช้วิธีการ "กระทำในสิ่งซึ่งกระทำกัน" ตามแบบการทวงหนี้สามัญธรรมดา เพราะหนี้ที่ว่านี้มิใช่เงิน ซึ่งเป็นเรื่องกระจอก แต่หนี้ต้นฉบับนั้นยิ่งใหญ่และมีคุณลักษณะพิเศษกว่าหลายเท่า การจิกด่าให้ได้อายกลับกลายเป็นการเพิ่มเกียรติยศให้กับลูกหนี้ไปเสียอีก

มาคิอาเวลลีคงจะสอนไว้ว่า หากเจ้า(หนี้)ปรารถนาจะคงรักษาโครงการหนังสือครบรอบ ๖๐ ปีอาจารย์นิธิไว้ ก็ "จำเป็นที่เขาจะต้องเรียนรู้ให้สามารถ ไม่เป็นคนดีได้ และใช้หรือไม่ใช้มัน สุดแล้วแต่ความจำเป็น" (27) แม้ว่าคำสอนดังกล่าวจะฟังดูแล้วให้เกิดอาการสยอง แต่มาคิอาเวลลีก็ย้อนให้ต้องกลับไปคิดว่า "ถ้ามนุษย์ทั้งปวงเป็นคนดี คำสอนนี้ก็คงจะไม่ดี" (28)

จะเห็นได้ว่าลูกหนี้ต้นฉบับโดยส่วนใหญ่เป็นคนลื่นไหลชอบ "ออกตัว แก้ต่าง เกทับและวางกับดัก" กับเจ้าหนี้. ดังนั้น ในกรณีนี้ บุรุษเจ้าหนี้จึงจำต้องใช้วิธีการของ "จิ้งจอก" (29) เข้าแก้สถานการณ์ เพราะมาคิอาเวลลีสอนไว้ว่า "โดยความจำเป็นแล้ว เจ้า(หนี้)จะต้องรู้เป็นอย่างดีว่าจะใช้สัตว์ป่าอย่างไร ในส่วนของสัตว์ป่าเขาจึงควรจะเลือกสุนัขจิ้งจอกและสิงโต เพราะสิงโตไม่สามารถป้องกันตนเองจากกับดัก และสุนัขจิ้งจอกไม่สามารถป้องกันตนเองจากหมาป่าได้ ดังนั้นเราจึงต้องเป็นสุนัขจิ้งจอกเพื่อที่จะได้รู้จักกับดัก" (30) และแน่นอนว่า ผู้ที่สามารถหลีกเลี่ยงกับดักได้ ย่อมเป็นผู้ที่มีความรู้ในเรื่องกับดักเป็นอย่างดี และผู้ที่มีความรู้ในเรื่องกับดักเป็นอย่างดีย่อมสามารถทั้งหลีกเลี่ยงและวางกับดักได้ด้วย เช่นเดียวกันกับนายแพทย์ผู้รอบรู้เชี่ยวชาญในเรื่องการใช้ยารักษา ก็ย่อมเป็นผู้รอบรู้เชี่ยวชาญในเรื่องการใช้ยาให้เป็นพิษด้วย (31)

บุรุษผู้เป็นเจ้าหนี้สมมติจึงจำเป็นต้องไม่พูดความจริง ไม่รักษาสัญญา ถ้าหากการพูดความจริงและการรักษาสัญญาของเขา จะนำไปสู่ความพินาศโดยเฉพาะในหมู่คนส่วนใหญ่ที่ไม่พูดความจริงและไม่รักษาสัญญา เพราะความยุติธรรมที่กำหนดให้คน "ต้องพูดความจริง และให้ในสิ่งที่คนๆ หนึ่งควรจะได้" (32) นั้นย่อมไม่สามารถใช้ได้กับผู้คนที่ไม่เชื่อหรือไม่ได้ประโยชน์จากหลักการความยุติธรรมที่ว่านี้ (33) และบัดเดี๋ยวนั้นเองที่การใช้วิธีการของสุนัขจิ้งจอกจึงได้เริ่มบังเกิดขึ้น

และวิธีการสุนัขจิ้งจอกที่ว่านี้จะเป็นอย่างไรในรายละเอียด ไม่มีผู้ใดทราบได้ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ บุรุษสมมติเจ้าหนี้ก็สามารถทำให้ลูกหนี้ที่ยังค้างชำระต้นฉบับที่เหลือเกือบทั้งหมด สามารถออกมายืนยันได้ว่า ต้นฉบับของพวกเขานั้นได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว เหลือแต่เพียงเติม น หนู และ สระอิ เท่านั้น เพียงแต่จะยังไม่ยอมส่งจนกว่าลูกหนี้ที่เหลืออีกสองคน (34) จะยืนยันว่าเสร็จ พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นการตั้งแง่และสร้างเงื่อนไขบีบบังคับลูกหนี้ที่เหลือสองคน ให้กลายเป็นบุคคลผู้กระทำตนเป็นสิ่งกีดขวางกงล้อประวัติศาสตร์ที่พร้อมจะขับเคลื่อนไปข้างหน้า ณ บัดเดี๋ยวนี้. นอกจากจะสร้างเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว ลูกหนี้ผู้ยังไม่สิ้นลายก็ยังทำตัวคล้ายกับจะเมตตาอาทรกับลูกหนี้ที่เหลือ นัยว่า ไม่ต้องการจะให้กงล้อประวัติศาสตร์เคลื่อนไปข้างหน้าโดยทิ้งลูกหนี้ที่เหลือไว้ข้างหลัง หรือไม่ก็จะต้องให้กงล้อประวัติศาสตร์บดขยี้ทิ้งไปอย่างไม่ใยดี (35)

และเมื่อเช้าวันจันทร์ที่ ๑๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๖ หนึ่งในลูกหนี้ที่ผู้ไร้เดียงสาอย่างอาจารย์เวียงรัฐพูดด้วยความสัตย์จริงต่อหน้าลูกหนี้อีกราย ผู้กลายเป็นผู้ที่ไร้เดียงสาเสียยิ่งกว่าว่า ได้เขียน "บทความให้อาจารย์นิธิ" ไปกว่ากึ่งหนึ่งแล้ว ............. ...............

(3)

"ข้าพเจ้าบอกเขาไปว่า การทำวารสารใดๆ หากมีภยาคติครอบงำก็จงอย่าทำเสียดีกว่า ดังจะเห็นได้ว่านิตยสารทางวิชาการเป็นอันมากน่าเบื่อ ก็เพราะเหตุนี้ ผลก็คือเมื่อ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับดังกล่าวออกวางจำหน่าย ก็เป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยเราต้องไม่ลืมว่าถ้อยคำชนิดที่นิธิเขียนคราวนี้ ไม่มีตีพิมพ์สู่มหาชนมาแต่ตอนที่ ส. ธนะรัชต์ ยึดอำนาจการเมืองการปกครองไว้ใต้อุ้งมือของเขาและพวกเขาอย่างเป็นเผด็จการเต็มตัวมาแต่ พ.ศ. ๒๕๐๑ นั้นแล้ว" (36)

ในงานสัมมนา "จักรวาลวิทยา" ที่จัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งถือเป็นครั้งล่าสุด(ท้าย !) ผู้เขียนได้เข้าไปมีส่วนร่วมโดยริอ่านนำเสนอหัวข้อที่เกี่ยวกับ การตีความ "ศรีธนญชัย" ใหม่ขึ้นโดยปราศจากซึ่งภยาคติ ทั้งๆ ที่ควรจะมี

สาเหตุที่เลือก "ศรีธนญชัย" ก็เนื่องมาจากผู้เขียนได้มีโอกาสสอนวิชาสัมมนาทฤษฎีการเมืองให้กับนิสิตปริญญาโทภาควิชาการการปกครอง (ภาคนอกเวลาราชการ) รุ่นที่ ๘ ในการนำสัมมนาในวิชานี้ ข้าพเจ้าได้อธิบายถึงระเบียบวิธีการศึกษาทฤษฎีความคิดทางการเมืองไว้สองสามแนวที่เป็นหลัก และหนึ่งในนั้นก็คือ การศึกษาบริบทหรือประวัติศาสตร์ของตัวบทเพื่อนำไปสู่การเข้าใจนัยความหมายในตัวบทนั้นๆ ที่เราต้องการศึกษาเข้าใจ โดยระเบียบวิธีดังกล่าวนี้เชื่อว่า เราสามารถเข้าใจนัยความหมายในข้อเขียนหรือตัวบทได้อย่างผิดพลาดน้อยที่สุด ถ้าเราทำความเข้าใจประวัติศาสตร์หรือบริบทของตัวบทให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (37)

ศิษย์คนหนึ่งของข้าพเจ้าได้เลือกตัวบท "ศรีธนญชัย" ขึ้นมาศึกษาเพื่อเป็นรายงานในวิชาดังกล่าว และต่อมาได้พัฒนาเป็นวิทยานิพนธ์ในที่สุด (38) จุดประสงค์ในการศึกษาของเขาก็คือ ต้องการทำความเข้าใจนัยทางการเมืองในเรื่อง "ศรีธนญชัย" โดยอาศัยบริบทหรือประวัติศาสตร์เป็นเครื่องช่วยในการตีความ ดังนั้น ก่อนที่เขาจะด่วนตีความ "ศรีธนญชัย" เขาจำต้องค้นหาว่าเรื่องราวของศรีธนญชัยของไทยนั้น น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใด และมีบริบททางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมอย่างไร

การค้นหา "บริบทของศรีธนญชัย" นั้นทำได้โดยการพิจารณาดูเนื้อหาต่างๆ ในตัวบท ข้อสังเกตที่น่าพิจารณาสามประการ คือ

หนึ่ง: ประสบการณ์ของคนไทยที่ต้องเผชิญกับชาวต่างชาติในลักษณะของการแข่งขันประชันเพื่อรักษาเอกราชของบ้านเมือง โดยเฉพาะฝรั่งเศสในตอน "ผ้าวิเศษ" เป็นต้น

0 รายละเอียดดังกล่าวนี้น่าจะบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ว่า เรื่องศรีธนญชัยนี้น่าจะแต่งขึ้นในราวตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชหรือปลายสมัยอยุธยาเป็นต้นมา

หมายเหตุ ในศรีธนญชัยฉบับ "เชียงเมี่ยง" ไม่ปรากฏเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับชาวฝรั่งเศส ชาวโปรตุเกสและชาวจีนแต่อย่างใด จะมีที่เกี่ยวกับชาวต่างชาติ ก็เพียงตอน "แข่งแปลคัมภีร์กับสังฆราชลังกา" และตอน "พนันดำน้ำกับแขกชะวา" และตอน "พนันชนวัวกับมลายู" เท่านั้น (39)

สอง: ศรีธนญชัยบวชเณรและสอนหนังสือให้กับหลานสาวท่านสมภารที่วัด

0 การที่เยาวชนหนุ่มสาวไปช่วยงานที่วัด และเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ สารพัด เริ่มขึ้นมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงอยุธยา ส่วนการเรียนให้รู้ตัวหนังสืออ่านออกเขียนได้ คนไทยนิยมส่งบุตรชายไปเรียนกับพระที่วัดมาตั้งแต่สมัยอยุธยา. แต่ในกรณีของ "ศรีธนญชัย" ที่ผู้แต่งเรื่องให้ เณรศรีสอนหนังสือหลานสาวท่านสมภารที่วัดนั้น นับว่าเป็นเรื่องประหลาดสำหรับจารีตคนไทยสมัยอยุธยา แต่ถ้าเป็นในสมัยรัชกาลที่ ๔ และ ๕ เป็นต้นมา เริ่มมีการใช้วัดเป็นโรงเรียนของรัฐ และให้พระสอนเยาวชนหญิงชายให้รู้หนังสืออ่านเขียนเป็น จึงเป็นไปได้ว่า ตอนเณรศรีสอนหนังสือหลานสาวท่านสมภารนี้ อาจจะเป็นการแต่งเสริมเพิ่มเข้าไปโดยคน ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ (40)

หมายเหตุ ศรีธนญชัยตอน "เณรศรีสอนหนังสือ" นี้ ไม่ปรากฏใน "ศรีธนญชัย" ฉบับ "เชียงเมี่ยง" น่าจะเป็นเพราะฉบับ "เชียงเมี่ยง" เกิดขึ้นในบริบทสังคมยุคที่ยังไม่มีการส่งลูกสาวไปเรียนหนังสือกับพระที่วัดนั่นเอง ขณะเดียวกัน ด้วยความไม่สมเหตุสมผลกับบริบทสังคมไทยสมัยอยุธยา ที่มีการส่งหญิงสาวไปเรียนหนังสือกับพระที่วัด จึงมีการตีความให้ "หลานสาวท่านสมภาร" มีสถานะเป็น "แม่ชี" ไป เพื่อจะได้ไม่ขัดเขินกับบริบทท้องเรื่อง "ศรีธนญชัย" ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นในสมัยอยุธยา (41)

สาม: ศรีธนญชัย ตอนถูกพระเจ้าแผ่นดินลงโทษเนื่องจากไปโต้แย้งหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่พระเจ้าแผ่นดินทรงตรัสอ้างที่ว่า มนุษย์ทุกคนที่เกิดมา ย่อมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่มีใครจะหลีกลี้หนีความตายไปได้ ซึ่งบรรดาขุนนางผู้ใหญ่ในท้องพระโรงต่างก็กราบบังคมทูลเห็นพ้องต้องกันว่า พระราชปรารภของพระองค์ถูกต้องตรงกันกับหลักพุทธศาสนา แต่ศรีธนญชัยกลับแย้งว่า ทุกคนเกิดมาแล้วต้องตายนั้นก็จริงอยู่ แต่ต้องถึงที่ตาย ถ้าไม่ถึงที่ตาย ทำอย่างไรก็ไม่ตาย ทำให้พระเจ้าแผ่นดินไม่พอพระทัยที่ศรีธนญชัยเถียงมาอย่างข้างๆ คูๆ ไม่มีเหตุผล จึงต้องการจะพิสูจน์ดูว่าที่ศรีธนญชัยกล่าวว่า ถ้าไม่ถึงที่ตายก็ไม่ตาย นั้นจะเป็นจริงหรือไม่

โดยทรงรับสั่งให้ช่างต่อกรงเหล็กอย่างแน่นหนาเพื่อที่จะจับตัวศรีธนญชัยขัง แล้วนำไปตั้งทิ้งไว้ที่ปากอ่าว รอให้น้ำขึ้นมาท่วมกรง คาดว่าศรีธนญชัยคงจะต้องถึงที่ตายแน่ๆ ศรีธนญชัยคิดหาทางหนีทีไล่ โดยขอน้อมรับผิดทุกประการ แต่ไหนๆ จะต้องถึงที่ตายแล้ว ก็กราบทูลขอพระราชทานเครื่องประดับพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ นั่นคือ "เบญจราชกกุธภัณฑ์" อันมี พระมหาพิชัยมงกุฎ, พระแสงขรรค์ชัยศรี, ธารพระกร, วาลวีชนี, และฉลองพระบาท เพื่อเป็นเกียรติเวลาตาย

พระเจ้าแผ่นดินทรงเห็นว่า ไหนๆ ศรีธนญชัยจะต้องตาย ก็ทรงพระราชทานให้ หลังจากนั้น ศรีธนญชัยก็ถูกจับไปใส่กรงเหล็กพร้อมกับเครื่องประดับพระเกียรติยศต่างๆ ดังกล่าว ถูกนำไปลอยอยู่ปากอ่าวทะเล เมื่อน้ำทะเลขึ้นจนใกล้จะท่วมมิดกรง ก็ให้บังเอิญมีสำเภาจีนลำหนึ่งแล่นตรงเข้ามา ศรีธนญชัยก็ร้องตะโกนซ้ำๆว่า "ไม่เป็น ไม่เป็น" คนจีนบนเรือสำเภาสงสัยและซักถาม ก็ได้ความตามที่ศรีธนญชัยโกหกว่า ตนถูกบังคับให้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่ไม่อยากเป็น จีนสำเภาได้ฟังก็เกิดความโลภอยากเป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงศรีอยุธยาขึ้นมา จึงมอบเรือสำเภาให้เป็นการแลกเปลี่ยน พร้อมให้ลูกเรือช่วยศรีธนญชัยออกมาจากกรง ส่วนตัวเจ้าสัวสำเภาจีนคนนั้นก็เข้าไปอยู่ในกรงแทน เพราะโดนศรีธนญชัยหลอกว่า ตอนเย็นจะมีคนมารับไปครองราชย์ และต่อมาก็จมน้ำตายอยู่ในกรงเหล็กนั่นเอง

0 เหตุการณ์ตอนนี้ไม่ปรากฏในศรีธนญชัยสำนวนอื่น จะมีแต่เฉพาะของไทยเท่านั้น จึงชวนให้คิดว่า เหตุการณ์ตอนจีนสำเภาอยากเป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยานี้น่าจะถูกเสริมเติมแต่งเข้าไปทีหลัง และน่าจะมีนัยสำคัญอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นสาเหตุของการถูกลงโทษของศรีธนญชัย และประเด็นที่จีนเจ้าสัวเรือสำเภาเกิดความละโมบอย่างไร้เหตุผลที่คิดว่า ถ้าคนอยุธยามารับตนในตอนเย็นอย่างที่ศรีธนญชัยหลอกเอาไว้ ตนก็จะได้รับการอัญเชิญให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งสยาม

ผู้ที่ได้รับฟังเหตุการณ์ตอนนี้อย่างพินิจพิเคราะห์ ไม่น่าจะคล้อยตามได้อย่างง่ายๆ น่าจะสะดุดใจว่า เหตุไร จีนเจ้าสัวสำเภาเรือจึงคิดว่า ลำพังเพียงนั่งสวมเครื่องประดับพระเกียรติยศอยู่ในกรงเหล็ก ตนจะได้รับอัญเชิญเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยาม การใช้สติปัญญารักษาตัวรอดของศรีธนญชัยในตอนนี้ น่าจะเป็นตอนที่น่าจะไม่น่าคล้อยตามที่สุด ขณะเดียวกัน การรอดตายของศรีธนญชัยอาศัยเหตุบังเอิญที่มีเรือสำเภาจีนแล่นเข้ามาพอดี ถ้าไม่มีเรือสำเภาลำนี้แล่นเข้ามา ก็กล่าวได้ว่า แม้ศรีธนญชัยจะมีสติปัญญาเจ้าเล่ห์เพทุบายอย่างไร ก็ไม่สามารถรอดพ้นชะตากรรมไปได้ ดังนั้น ดูเหมือนว่า ผู้ที่เสริมเติมแต่งเหตุการณ์ตอนนี้เข้าไปน่าจะเพียงต้องการสร้างเรื่อง "จีนอยากเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยาม" ใส่เข้าไปในเรื่อง "ศรีธนญชัย" เท่านั้น

ขณะเดียวกัน สาเหตุที่ทำให้ศรีธนญชัยต้องถูกลงโทษคือ การท้าทายการตีความหรือการแสดงถึงความเข้าใจในหลักธรรมพุทธศาสนาที่เหนือกว่าองค์พระเจ้าแผ่นดิน ฉะนั้น ประเด็นสำคัญในตอนนี้คือ การบังอาจเล่นลิ้นตีความหลักธรรมในพระพุทธศาสนาของศรีธนญชัย ซึ่งจะว่าไปแล้ว บุคลิกภาพและนิสัยใจคอของศรีธนญชัยในตอนอื่นๆ ก็ดูจะไม่เอื้อให้ศรีธนญชัยมีพฤติกรรมในการท้าทายหลักธรรมพระพุทธศาสนา แม้ว่าเขาจะสามารถใช้ความฉลาดเจ้าเล่ห์ เล่นงานเอาชนะพระสงฆ์ระดับพระราชาคณะได้ก็ตามที ดังจะเห็นได้จากตอน "พนันตอบปัญหาธรรม" ใน "ศรีธนญชัย ฉบับเชียงเมี่ยง" แต่การใช้ความเจ้าเล่ห์เอาชนะการตอบปัญหาธรรมแข่งกับพระสงฆ์ครั้งนั้น ก็เป็นการกระทำเพื่อปกป้องบ้านเมืองจากฝ่ายศัตรูท้าพนันตอบปัญหาธรรมชิงบ้านชิงเมือง (42)

จากที่กล่าวมาทั้งสามประการนี้ พอจะประมาณการณ์ได้ว่า "ศรีธนญชัย" เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นโดยอาศัยบริบทสังคมสมัยอยุธยาเป็นหลัก แต่ "ศรีธนญชัย" ที่ปรากฏให้รับรู้ในปัจจุบันมิได้แต่งแล้วเสร็จสมบูรณ์ในทีเดียวภายใต้บริบทสังคมอยุธยา แต่มีการแต่งเติมเสริมต่อเรื่อยๆตลอดมาจนถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและต่อจากนั้น ซึ่งใกล้ตอนปลายสมัยอยุธยา ด้วยเหตุที่มีการเสริมเติมเรื่องการแข่งขันประลองกับชาวฝรั่งเศส

ส่วนเหตุการณ์ตอนหลานสาวสมภารมาเรียนหนังสือกับเณรศรีธนญชัยนั้น น่าจะพอเป็นเค้าลางให้ประมาณการณ์ได้ว่า น่าจะเสริมเติมแต่งเข้าไปทีหลังเช่นกัน เพราะใน "ศรีธนญชัย ฉบับเชียงเมี่ยง" ไม่ปรากฏเหตุการณ์และพฤติกรรมตอนนี้ และจากการที่มีฉากหญิงรุ่นเยาว์ไปเรียน กอ ไก่ ขอ ไข่กับพระที่วัดนั้น ก็น่าจะไม่เข้ากับบริบทสังคมสมัยอยุธยา ถ้าผู้รับฟังเรื่องดังกล่าวนี้เป็นคนสมัยอยุธยาก็น่าจะรู้สึกประหลาดขัดเขินกับฉากตอนนี้ แต่หากผู้รับฟัง (หรืออ่านหนังสือ !) เรื่องนี้เป็นคนในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๔-๕ ฉากดังกล่าวนี้ก็จะไม่เป็นเรื่องแปลกประหลาดอย่างใด ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่า เรื่อง "ศรีธนญชัย" สำนวนของไทยโดยรวมถูกแต่งเสริมเติมต่อมาเรื่อยๆ ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ หรือถ้าจะกล่าวว่า มีการแต่งเติมเสริมแต่งจนกระทั่งตีพิมพ์ออกเป็นหนังสือครั้งแรกเป็น "ศรีธนญชัย สำนวนกาพย์" ในสมัยรัชกาลที่ ๔

ผลที่ได้จากาการพยายามกำหนดหา (locate) บริบทของ "ศรีธนญชัย" ผู้เขียนได้พบข้อที่น่าสังเกตว่า ศรีธนญชัยใน "ฉบับเชียงเมี่ยง" นั้นเป็น "พระเอก" ตั้งแต่ต้นจนจบ ในส่วนศรีธนญชัยของไทยได้ถูกตกแต่งตีความจากที่เป็น "พระเอก" อย่างใน "ฉบับเชียงเมี่ยง" ให้กลายเป็น "พระเอกผู้ร้าย-ฉลาดแกมโกง" และพบกับจุดจบอันน่าเวทนาเข้าทำนอง "กรรมสนองกรรม" ตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ศรีธนญชัย ของไทยนั้นเป็นวีรบุรุษผู้รักษาชาติให้พ้นจากภัยของศัตรูต่างชาติอีกด้วย

ยิ่งกว่านั้น เมื่อพิจารณาประเด็นการท้าทายอวดศักดา ในการเป็นผู้รู้เข้าใจในการตีความของพระพุทธศาสนา จนถูกลงโทษขังกรงเหล็กลอยไว้ที่ปากอ่าวพร้อมกับเครื่องประดับพระเกียรติยศ และประเด็นจีนสำเภาอยากเป็นกษัตริย์สยามนี้ ภาพลักษณ์ "ศรีธนญชัย" ที่กล่าวมานี้ ทำให้อดนึกภาพลักษณ์ของบุคคลบางคนในรอยต่อช่วงระหว่าง "กรุงศรีอยุธยาแตก" จนถึง "ต้นรัตนโกสินทร์" ไม่ได้ บุคคลที่ว่านี้คือ พระเจ้ากรุงธนบุรีหรือพระเจ้าตากสินมหาราชนั่นเอง โดยเฉพาะถ้าคนที่ได้รับฟังเรื่อง "ศรีธนญชัย" นี้เป็นคนในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ และแน่นอนว่า คนที่ได้รับรู้เรื่องราวภาพลักษณ์ของศรีธนญชัยที่ว่านี้ผ่าน "ศรีธนญชัย สำนวนกาพย์" ที่ตีพิมพ์ขี้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๔

มีข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งจากรายละเอียดข้อมูลประวัติของพระเจ้าตาก ในหนังสือ "การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี" ของอาจารย์นิธิที่อ้างพระราชพงศาวดารฉบับ ๒/ก ๑๐๑ โดยอาจารย์นิธิกล่าวว่า "(พระราชพงศาวดาร) กล่าวไว้ในเชิงที่จะใส่ร้ายพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่ก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อยเหมือนกันความว่า 'ครั้นอยู่มาจีนผู้นั้นเป็นคนมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ช่วยกรมการชำระถ้อยความของราษฎรอยู่เนืองๆ เจ้าเมืองตากนั้นป่วยลงก็ถึงแก่ความตาย จีนมีชื่อผู้นั้นก็ตัดผู้เขียนเป็นไทย ลงมา ณ กรุงศรีอยุธยาจะเดินเป็น (วิ่งเต้น-ผู้เขียน) เจ้าเมืองตาก'" (43)

ความดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่า แม้การบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้ากรุงธนบุรีในพงศาวดารดังกล่าวจะมีลักษณะในเชิงใส่ร้ายที่พระองค์ทรงเข้ามาวิ่งเต้นเพื่อเป็นเจ้าเมืองตาก แต่กระนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงความเป็นคนมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีความสามารถในการช่วยกรมการชำระถ้อยความของราษฎร ซึ่งหมายความได้ว่า สติปัญญาความเฉลียวฉลาดของพระเจ้ากรุงธนบุรีจะต้องมีความโดดเด่นจนเป็นที่ประจักษ์ทั่วไป จนกระทั่งไม่สามารถจะบิดเบือนปฏิเสธได้ แม้กระทั่งผู้บันทึกพงศาวดารที่ดูจะไม่ได้มีทัศนคติที่ดีต่อพระองค์ก็ตาม นอกจากทรงเป็นผู้มีสติปัญญาเป็นเลิศดังกล่าวแล้ว พระราชกรณียกิจสำคัญยิ่งของพระองค์ก็คือ การกอบกู้เอกราชและสถาปนาความเป็นรัฐอิสระของกรุงธนบุรี อันเป็นภาพลักษณ์ของความเป็น "พระเอก" ของพระองค์ที่ปฏิเสธไม่ได้

ขณะเดียวกัน ในช่วงปลายรัชสมัยของพระองค์ สิ่งที่เป็นที่รับรู้เล่าขานสืบต่อกันมา ดังที่อาจารย์นิธิเขียนไว้ว่า "พระราชพงศาวดารได้อธิบายเหตุการณ์ตอนนี้ว่า พระเจ้ากรุงธนบุรี 'สัญญาวิปลาส' (ซึ่งแปลตามพระราชกำหนดใหม่ในรัชกาลที่ ๑ ว่าหมายผิดหรือเข้าใจผิด....) สำคัญพระองค์ว่าได้บรรลุโสดาบัน จึงมีพระราชปุจฉาแก่พระราชาคณะว่า ภิกษุจะไหว้คฤหัสถ์ที่บรรลุภูมิธรรมเช่นนั้นได้หรือไม่ เมื่อพระราชาคณะที่ทูลวิสัชนาว่าไม่ได้ ก็ทรงพระพิโรธลงโทษทัณฑ์แก่ภิกษุชราราชาคณะและอนุจร ประหนึ่งว่าพระองค์ต้องพระราชประสงค์ให้พระภิกษุนบไหว้พระองค์" (44)

โดยที่จริงแล้ว อาจารย์นิธิได้อธิบายไว้ว่า พระเจ้ากรุงธนบุรี "ทรงใฝ่พระทัยในทางศาสนายิ่งขึ้น ทั้งในหลักฐานพระราชพงศาวดารและในหลักฐานของบาทหลวงฝรั่งเศส ลักษณะที่ทรงใฝ่พระทัยในทางศาสนานั้น พระราชพงศาวดารกล่าวว่า 'เสด็จไปทรงเจริญพระกรรมฐาน ณ พระอุโบสถ วัดบางยี่เรือใต้' นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๑๙" (45)

อาจารย์นิธิชี้ให้เห็นว่า "การเจริญพระกรรมฐานหรือ 'นั่งอูรูพัทธ์' นี้มิได้เป็นพระราชจริยวัตรที่พึงคาดหมายจากพระมหากษัตริย์ของราชอาณาจักรอยุธยา อย่างน้อยก็ไม่เคยมีคำเฉลิมพระเกียรติกษัตริย์พระองค์ใดในเรื่องนี้มาเลย เหตุฉะนั้น การเจริญพระกรรมฐานชนิดที่กระทำให้เป็นที่รู้ทั่วถึงกันนี้ จึงเป็นการกระทำทางการเมืองที่ไม่ได้อยู่ในแนวของการทำนุบำรุงพุทธศาสนา ตามคติของกษัตริย์ไทยตามธรรมดา หากเป็นการกระทำที่มุ่งจะส่งเสริมให้เห็นความสำเร็จในทางศาสนาขององค์พระเจ้าแผ่นดิน อันเป็นผลให้พระองค์มีสภาวะที่สูงกว่าปุถุชนทั่วไป" (46)

อาจารย์นิธิยังอ้างถึง ลอเรน กีซิค ที่อธิบายว่า "พระราชกรณียกิจของพระเจ้ากรุงธนบุรีทางด้านศาสนาว่า ทรงกระตือรือร้นในการแสดงพระองค์เป็นกษัตริย์ชาวพุทธ จนเลยเส้นที่เคยคาดหมายกันมาตามประเพณีไทย และกลายเป็นความล้มเหลว เพราะประชาชนไทยไม่เข้าใจหรือไม่ยอมรับ" (47) และความมุ่งมั่นจนล้ำเส้น "กษัตริย์ชาวพุทธ" ตามประเพณีไทยของพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงทำให้พระองค์มีภาพของความเป็น "ผู้ร้าย" หรือไม่ก็ "สัญญาวิปลาส" ที่ถูกสร้างภาพให้เป็นผู้อวด "อุตริมนุสธรรม" และ "บังคับให้ภิกษุไหว้" ซึ่งถูกทำให้กลายเป็นภาพล้อน่าขบขันที่ปรากฏในภาพของศรีธนญชัย ที่อวดดีตีความพระธรรมคำสอนในพุทธศาสนาอย่างข้างๆ คูๆ จนต้องถูกลงโทษทัณฑ์เกือบถึงแก่ความตาย

และในที่สุด เมื่อรวมกับการชี้ให้เห็นถึงปมความเป็นคนจีน โดยเฉพาะการเป็นจีนนอกที่เพิ่งมาตัดเปียไว้ผู้เขียนเป็นไทย ตอนที่จะเข้ามาวิ่งเต้นที่กรุงศรีอยุธยา คือการพยายามที่จะสร้างภาพของความเป็นจีนนอกของพระเจ้ากรุงธนบุรีให้เด่นชัด และในที่สุด คนจีนผู้เฉลียวฉลาดผู้นั้น ก็ได้เป็นกษัตริย์แผ่นดินไทยนั้น ดูจะเป็นภาพที่ซ้อนทับทางอารมณ์ความรู้สึกได้เป็นอย่างดีกับภาพของจีนสำเภา ผู้ละโมบอยากเป็นพระเจ้าแผ่นดินไทยที่ต้องพบจุดจบเพราะความอยากได้ลาภยศ โดยมิได้ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงาของตน

หลายคนอาจจะไม่เห็นด้วยกับการตีความ "ศรีธนญชัย" ของผู้เขียนที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวการสร้างภาพลักษณ์ "พระเอกผู้ร้าย" ของพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่กระนั้น ก็คงยากที่จะปฏิเสธข้ออ้างของผู้เขียนที่เชื่อว่า "ศรีธนญชัย ฉบับไทย" นั้นถูกแต่งเติมเสริมเรื่องตลอดเรื่อยมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์จนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ หลายคนอาจจะแย้งว่า การเชื่อมโยง "ศรีธนญชัย" กับ "พระเจ้ากรุงธนบุรี" นั้นจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะศรีธนญชัยก็เป็นตัวละครหนึ่ง เจ้าสัวจีนสำเภาก็เป็นตัวละครอีกตัวหนึ่ง ไฉนตัวละครสองตัวในตอนเดียวกันจะสะท้อนภาพบุคคลคนเดียวได้ ?

ผู้เขียนตั้งเป็นสมมุติฐานชวนให้ขบคิดหาเหตุผลต่อไปว่า กรณีดังกล่าวจะเป็นไปได้ ก็ต่อเมื่อ ตัวละครทั้งสองเป็นตัวละครที่สำแดงคุณลักษณะที่ไม่ดี ไม่พึงปรารถนาที่ดำรงอยู่ในบุคคลคนหนึ่ง ! ขณะเดียวกัน กรณีดังกล่าวจะเป็นไปได้ หากผู้ที่แต่งเสริมเติมแต่งตอนดังกล่าวนี้ มิได้จริงจังมากนักที่จะสร้างเรื่องราวอย่างพิถีพิถัน ที่สะท้อนถึงตัวบุคคลที่ต้องการจะชี้ให้เห็นถึงความไม่ดี. ขณะเดียวกัน เป็นไปได้หรือไม่ว่า วิธีคิดเกี่ยวกับการเชื่อมโยงตัวละครให้สะท้อนตัวบุคคลจริงของคนในสมัยต้นรัตนโกสินทร์แตกต่างจากวิธีคิดของคนในปัจจุบัน ! พวกเขาอาจไม่ได้มีความเคร่งครัดในการกำหนดแบ่งแยกบุคลิกนิสัยของตัวละครแต่ละตัว เพียงแต่สะท้อนถึง "คุณสมบัติอันน่ารังเกียจ" ของบุคคลหนึ่งให้ปรากฏในตัวละครในเรื่องก็เป็นพอ ไม่จำเป็นจะต้องจำกัดอยู่ในตัวละครตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น

หลังจากได้นำเสนอประเด็นการตีความ "ศรีธนญชัย" ข้างต้นนี้ไปแล้ว คณะผู้วิจารณ์ในการสัมมนาของ "จักรวาลวิทยา" ซึ่งมีอาจารย์นิธิ และ อาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ ต่างไม่เห็นด้วยและไม่สามารถคล้อยตามการตีความดังกล่าวได้แม้แต่น้อย แต่ก็ได้กรุณาวิจารณ์อย่างเป็นกันเองคล้ายกับจะเอ็นดูผู้เขียนในฐานะที่เป็นจำอวดปิดท้ายรายการอย่างไรอย่างนั้น

แม้ว่าผู้เขียนติดใจที่จะหาทางพิสูจน์การตีความ "ศรีธนญชัย-จีนสำเภาและพระเจ้าตาก" แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น เนื่องด้วยข้อจำกัดของเวลาและความรู้ทางประวัติศาสตร์ การศึกษาค้นคว้าในเรื่องดังกล่าวนี้จึงเป็นอันพับไปชั่วคราวหลังจากงานสัมมนาครั้งนั้น

คลิกไปอ่านต่อตอนที่ ๒

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) เรื่อง "นวนิยายที่มี พ.ศ." ของผู้เขียนได้แรงบันดาลใจจากข้อความของอาจารย์นิธิข้างต้นนี้ ดู นิธิ เอียวศรีวงศ์ "ข้อคิดเกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์" (๒๕๐๙) ใน ปรัชญาประวัติศาสตร์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ กองบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์ จุฬาซอย ๒ ถนนพญาไท กรุงเทพฯ ๕ โทรศัพท์ ๕๒๗๖๕๒ ตีพิมพ์ครั้งแรก ๓,๐๐๐ เล่ม พ.ศ. ๒๕๑๘ ราคา ๑๕ บาท พิมพ์ที่โรงพิมพ์พิฆเนศ ๙๙-๙๗ แพร่งสรรพศาสตร์ ถนนตะนาว กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ ๒๒๒๘๕๐, ๒๒๘๓๖๙ นายสุจิตต์ วงศ์เทศ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา, หน้า ๑๓๐:

(2) การหารือเกิดขึ้นตามร้านอาหารหลายแห่ง

(3) เพิ่งอ้าง

(4) ตกลงในที่สุด บทความนี้ก็ล่าช้าจนไม่ได้ตีพิมพ์ในหนังสือเล่มดังกล่าว

(5) ร้านอาหารหลายแห่ง, อ้างแล้ว.

(6) นิธิ เอียวศรีวงศ์ "ข้อคิดเกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์" (๒๕๐๙), อ้างแล้ว, หน้า ๑๑๕-๑๑๖.

(7) อาจารย์สุวิมลได้บอกเล่ากับผู้เขียนทางวาจา เมื่อประมาณไม่เกินสิบห้าปีมานี้ ไม่เชื่อให้ไปสืบค้นประวัติศาสตร์บอกเล่าดังกล่าวนี้ได้กับตัวท่านเอง ที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารบรมราชกุมารี ชั้นสิบเอ็ด

(8) ไชยันต์ ไชยพร, โพสท์โมเดิร์น (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์โอเพน: มกราคม ๒๕๕๐), หน้า….(ยังไม่ทราบ !)

(9) ในปีพุทธศักราช อาจารย์นิธิยังทำปริญญาโท สาขาวิชาประวัติศาสตร์อยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทราบจากข้อเขียนของ ส. ศิวรักษ์ ดังว่า "ข้าพเจ้าออกจะนับถือนิธิ เอียวศรีวงศ์ มาแต่เมื่อได้อ่านบทความที่เขาเขียนให้ลงพิมพ์ใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ (ฉบับนิสิตนักศึกษา) ที่ออกวางจำหน่ายเป็นครั้งแรกแต่ พ.ศ. ๒๕๐๙ เพราะเมื่อคณะบรรณกรของนิตยสารดังกล่าวได้รับข้อเขียนชิ้นนี้แล้ว ได้พากันมาหาข้าพเจ้า ขอความเห็นว่าจะลงพิมพ์ได้หรือไม่ เพราะมีข้อความที่วิจารณ์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เขากำลังทำปริญญาโทอยู่ค่อนข้างจะเปิดเผยและตรงไม่ตรงมา ซึ่งยากที่จะรับกันได้ในเวลานั้น (และในเวลานี้)" ดู ส. ศิวรักษ์ "คนนอกคอก" ในหนังสือรวมบทความของอาจารย์นิธิในเรื่อง พุทธศาสนาในความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย โดย อรศรี งามวิทยาพงศ์ เป็นบรรณาธิการ มูลนิธิโกมลคีมทอง กรุงเทพฯ ๒๕๔๓, หน้า ๑๒๙.

(10) เผด็จการ ส-ถ-ป หมายถึงเผด็จการสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส. ดู นิธิ เอียวศรีวงศ์ "หน้าว่างในประวัติศาสตร์" ในหนังสือรวบรวมบทความของอาจารย์นิธิในเรื่อง ว่าด้วยการเมืองของประวัติศาสตร์และความทรงจำ สำนักพิมพ์มติชน กรุงเทพฯ พิมพ์ครั้งที่สอง ๒๕๔๕, หน้า ๕๔.

(11) นิธิ เอียวศรีวงศ์ "ข้อคิดเกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์" (๒๕๐๙) อ้างแล้ว, หน้า ๑๒๗.

(12) เพิ่งอ้าง

(13) นิธิ เอียวศรีวงศ์ "ศิวลึงค์กลางสวน" ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ ๙๘๗ ประจำวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๒. ถ้าท่านไม่สามารถค้นหาคำตอบต่อคำถามที่ว่าบุรุษผู้นี้ "เป็นใคร ชื่ออะไร พ่อแม่เป็นใคร เรียนหนังสือที่ไหน และกินเหล็กกินไหลมาหรือยังไง" จาก "ศิวลึงค์กลางสวน" ได้ ให้สอบถามได้จาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เป็นบรรณาธิการหนังสือ จักรวาลวิทยา: บทความเพื่อเป็นเกียรติแก่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน: พฤศจิกายน ๒๕๔๙).

(14) ดู ไชยันต์ ไชยพร, โพสท์โมเดิร์น (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์โอเพน: มกราคม ๒๕๕๐), หน้า (ยังไม่ทราบ !)

(15) โปรดดูพยัญชนะตัวสุดท้ายของคำสุดท้ายในบทความ "จีนสยามในความสัมพันธ์ไทย-จีน" ของ วรศักดิ์ มหัทธโนบล, ใน จักรวาลวิทยา: บทความเพื่อเป็นเกียรติแก่ นิธิ เอียวศรีวงศ์, เพิ่งอ้าง, หน้า ๓๑๗.

(16) โปรดดูสระตัวสุดท้ายในคำสุดท้ายในบทความ "สื่อกับสิทธิเสรีภาพภายใต้โลกาภิวัตน์" ใน จักรวาลวิทยา: บทความเพื่อเป็นเกียรติแก่ นิธิ เอียวศรีวงศ์, เพิ่งอ้าง, หน้า ๔๑๙.

(17) Francis Fukuyama, The End of History and The Last Man (Penguin Books: London: 1992).

(18) นิธิ เอียวศรีวงศ์ "ข้อคิดเกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์" (๒๕๐๙), อ้างแล้ว, หน้า ๑๑๕-๑๑๖.

(19) ผู้ที่เคยผ่านการศึกษาในทางปรัชญาตะวันตกมาบ้างแม้แต่เพียงเล็กน้อย ก็คงจะมีความคิดรางๆ พอที่จะให้คำตอบแก่ปัญหานี้ได้ว่า บุรุษที่ชอบ "ออกตัว แก้ต่าง เกทับและลื่นไหล" ย่อมมิใช่ใครอื่นนอกจากโสกราติสที่ชอบออกตัวว่า "ข้าพเจ้าไม่รู้อะไร นอกจากว่าข้าพเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้าไม่รู้อะไร" และแก้ต่างว่า "คนอย่างเขาเพียงคนเดียวนั้น จะสามารถมอมเมาเยาวชนให้เสียคนได้อย่างไร" และเกทับว่า "ถ้าเยาวชนจะเสียคนได้ ก็ด้วยเพราะคนส่วนใหญ่ในสังคมเองต่างหาก" และวางกับดักว่า "ช่วยบอกข้าพเจ้าทีเถิดว่า สิ่งที่ท่านรู้ดีนั้นมันคืออะไรกันแน่ ?" ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับการออกตัวและเกทับของเขานั้นสามารถดูได้จาก บทสนทนาของเพลโตเรื่อง "อโปโลเกีย" ส่วนความลื่นไหลปรากฏอยู่ในบทสนทนาส่วนใหญ่

(20) เจ้าผู้ปกครอง Niccolo Machiavelli ผู้เขียน สมบัติ จันทรวงศ์ ผู้แปลและเขียนคำนำ สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ ๒๕๓๘, บทที่ ๑๕ หน้า ๒๒๑. โปรดเทียบดู "However, how men live is so different from how they should live that a ruler who does not do what is generally done, but persists in doing what ought to be done, will undermine his power rather than maintain it." Machiavelli, The Prince edited by Quentin Skinner and Russell Price, (Cambridge: Cambridge University Press: 1988), p. 54.

(21) เพิ่งอ้าง

(22) คำร้องในเพลง "Imagine" ที่เป็นอมตะของ John Lennon เรียกร้องให้ผู้ฟังพากันร่วมจินตนาการไปกับเขาในเรื่องของการยกเลิกความเชื่อในประเทศชาติ ศาสนา กรรมสิทธิ์ทรัพย์สินส่วนบุคคล และอื่นๆ เพื่อจะได้นำไปสู่การมีชีวิตร่วมกันฉันพี่น้อง ร้องเพลงอย่างสันติสุขในโลกใบเดียวกันนี้

(23) Benedict O. Anderson, Imagined Communities: Reflections on the Origin and Spread of Nationalism (London: Verso: 1983).

(24) เจ้าผู้ปกครอง Niccolo Machiavelli, เพิ่งอ้าง, หน้าเดียวกัน. โปรดเทียบดู "….it seemed more suitable to me to search after the effectual truth of the matter rather than its imagined one." The Portable Machiavelli edited and translated by Peter Bondanella and Mark Musa, (New York: Penguin Books: 1979), The Prince: Chapter XV, p. 126.

(25) ประยุกต์จาก "และหลายคนได้เคยจินตนาการถึงมหาชนรัฐและรัฐโดยเจ้าผู้ปกครองที่ไม่เคยมีใครเห็นหรือรู้ว่ามีอยู่ในความจริง" ดู เจ้าผู้ปกครอง Niccolo Machiavelli, เพิ่งอ้าง, หน้าเดียวกัน โปรดเทียบดู "For many have imagined republics and principalities that have never been seen or known to exist." Machiavelli, The Prince edited by Quentin Skinner and Russell Price, opcit..

(26) สองตัวอย่างในประวัติศาสตร์เจ้าหนี้-ลูกหนี้ (A History of Creditor-Debtor) ที่เป็นที่รู้จักกันดี เรื่องที่มักรู้จักกันดีในโลกตะวันตกคือ "The Merchant of Venice" (แต่งในช่วงปี ค.ศ. 1594-1597) ของมหากวีชาวอังกฤษ "วิลเลียม เชคสเปียร์ (1564-1616)" เรื่องมีอยู่ว่า ในเมืองเวนิส อิตาลี มีบุรุษสองคนที่เป็นสหายรักกัน คือ อันโตนิโยและบัสสานิโย อันโตนิโยเป็นคนใจดีชอบช่วยเหลือผู้ยากไร้ที่ประสบเคราะห์กรรม จากการแสวงหากำไรจากความทุกข์ยากของเศรษฐีชาวยิวที่ชื่อ ไชล็อก มีครั้งหนึ่งที่บัสสานิโยต้องการใช้เงินก้อนหนึ่ง แต่บังเอิญอันโตนิโยก็ไม่มีเงินติดตัวมา จึงขอยืมเงินจากไชล็อก จำนวน 3 พันเหรียญ กำหนดระยะเวลา 3 เดือน โดยมีเงื่อนไขให้ อันโตนิโย เป็นนายประกัน แต่โดยที่ อันโตนิโยยึดถือเรื่องการไม่กู้ หรือ ให้ใครยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่ควร จึงถูกไชล็อกนำมาเป็นประเด็นเพื่อวางแผนชำระแค้นที่เคยถูกอันโตนิโยด่าว่า เรื่องการปล่อยเงินกู้ เป็นมิจฉาทิฐิพาล เป็นหมา. ไชล็อก เสนอว่าจะไม่คิดดอกเบี้ยเงินกู้ครั้งนี้ แต่ให้ทำสัญญากันที่อำเภอ มีพยานรู้เห็นว่า หากไม่สามารถชำระเงินกู้ได้ตามเงื่อนไข จะขอเชือดเนื้อหนัก 1 ปอนด์ จากส่วนไหนของร่างกายก็ได้ของ อันโตนิโย เป็นการชำระหนี้ จาก http://www.rta.mi.th/chukiat/story/antoniyo.htm

ส่วนอีกตัวอย่างหนึ่งของเจ้าหนี้-ลูกหนี้ที่เป็นที่รู้จักกันในหมู่คนไทยคือเรื่อง "พระเวสสันดร" ซึ่งแสดงไว้ในหมวดขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๘ เรื่องมีอยู่ว่า ชูชกพราหมณ์เฒ่าขอทานจอมงก เอาเงินไปฝากกับสหายสองผัวเมีย เพราะกลัวเงินหาย แล้วก็เที่ยวตระเวนขอทานไป เวลาผ่านไปนาน สองผัวเมียก็แอบเอาเงินที่ชูชกฝากไว้มาใช้ทีละนิดจนหมด วันหนึ่งชูชกกลับมาทวงถาม สองผัวเมียนั้นจึงกลายเป็นลูกหนี้ชูชกโดยปริยาย จวนตัวเข้าจึงยอมยกลูกสาวแสนสวยและดีชื่อ นางอมิตดา ให้ชูชกไปใช้สอยขัดดอกหนี้สิน จาก http://www.geocities.com/pravatesundorn และ http://www.larnbuddhism.com/buddha/pravesh4.html

(27) เจ้าผู้ปกครอง Niccolo Machiavelli, อ้างแล้ว, บทที่สิบห้า, หน้าเดียวกัน โปรดเทียบดู "Hence it is necessary for….who wishes to maintain his position to learn how not to be good, and to use this knowledge or not to use it according to necessity." The Portable Machiavelli, opcit.. p. 127.

(28) เจ้าผู้ปกครอง Niccolo Machiavelli, อ้างแล้ว, บทที่สิบแปด โปรดเทียบดู "And if men were all good, this rule would not be good." The Portable Machiavelli, opcit.. p. 134.

(29) เจ้าผู้ปกครอง Niccolo Machiavelli, บทที่สิบแปด, อ้างแล้ว.

(30) เจ้าผู้ปกครอง Niccolo Machiavelli, บทที่สิบแปด, อ้างแล้ว, โปรดเทียบดู "Since, then, a prince must know how to make good use of the nature of the beast, he should choose from among the beasts the fox and the lion; for the lion cannot defend itself from traps and the fox cannot protect itself from wolves." The Portable Machiavelli, opcit.. p. 134.

(31) ดูการตีความ "Plato's Pharmacy" ในบทสนทนาเรื่อง "เฟดรัส" (Phaedrus) ของเพลโต โดยแดริดา ใน Jacques Derrida, Dissemination translated , with an introduction and additional notes, by Barbara Johnson, (London: the Athlone Press: 1981), pp. 65-133.

(32) Plato, Republic, Book I.

(33) ไชยันต์ ไชยพร, "ความยุติธรรม ตอนที่หนึ่ง" รัฐศาสตร์สาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ปีที่ ๒๐ ฉบับที่ ๒ ๒๕๔๑: หน้า ๕๗-๙๖.

(34) ลูกหนี้ผู้น่าสงสารและไร้เดียงสาสองคนที่เหลือก็คือ ตัวผู้เขียนกับอาจารย์เวียงรัฐ เนติโพธิ์ !

(35) ในที่สุด กงล้อประวัติศาสตร์ก็ได้บดขยี้-ลูกหนี้ทั้งสอง-ทิ้งไปอย่างไม่ใยดี ดังประจักษ์จากการที่ไม่มีชื่อของลูกหนี้ทั้งสองในรายชื่อของผู้ร่วมเสนอบทความในหนังสือ จักรวาลวิทยา

(36) ดู การใช้ "ภยาคติ" ในด้านดีได้จากข้อเขียนเรื่อง "คนนอกคอก" ที่ ส. ศิวรักษ์เขียนถึงอาจารย์นิธิ: "ข้าพเจ้าบอกเขาไปว่า การทำวารสารใดๆ หากมีภยาคติครอบงำก็จงอย่าทำเสียดีกว่า ดังจะเห็นได้ว่านิตยสารทางวิชาการเป็นอันมากน่าเบื่อ ก็เพราะเหตุนี้ ผลก็คือเมื่อ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับดังกล่าวออกวางจำหน่าย ก็เป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยเราต้องไม่ลืมว่าถ้อยคำชนิดที่นิธิเขียนคราวนี้ ไม่มีตีพิมพ์สู่มหาชนมาแต่ตอนที่ ส. ธนะรัชต์ ยึดอำนาจการเมืองการปกครองไว้ใต้อุ้งมือของเขา และพวกเขาอย่างเป็นเผด็จการเต็มตัวมาแต่ พ.ศ. ๒๕๐๑ นั้นแล้ว" หน้า ๑๓๐-๑๓๑.

(37) ดู James Tully, ed., Meaning & Context: Quentin Skinner and his Critics (Cambridge: Polity Press: 1988), "Part II: Quentin Skinner on Interpretation," pp. 29-234.

(38) พ.ต.ท. ม.ล. สันธิกร วรวรรณ, นัยทางการเมืองในวรรณกรรมเรื่อง "ศรีธนญชัย", วิทยานิพนธ์ (ร.ม.) - จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542.

(39) พงจันทร์ ศรัทธา, ศรีธนญชัย ฉบับเชียงเมี่ยง แสนสนุก (กรุงเทพฯ: เสริมวิทย์บรรณาคาร: ๒๕๔๑).

(40) ขอขอบพระคุณ รศ. ฉลอง สุนทราวนิช ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่รับสัมภาษณ์ให้ข้อมูลทางโทรศัพท์ในตอนเย็นของวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปี พ.ศ. ๒๕๔๙.

(41) ดู รศ. วิเชียร เกษประทุม, พ.ม., ศศ.บ., ค.ม., เล่าเรื่องและเรียบเรียง, เล่าเรื่องศรีธนญชัย ฉบับสมบูรณ์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พัฒนาศึกษา: ๒๕๔๗), หน้า ๒๐-๒๑. โดยผู้เขียนอ้างอิงจาก ศรีธนนไชย สำนวนกาพย์ (พระนคร: กรมศิลปากร: ๒๕๐๑):
สมภารต่อยตบ
อ้ายลูกบัดซบ ไม่รู้คุณคน
ไสหัวมึงไป กูไม่กังวล
นอกชีรู้ต้น อ้ายคนส่ำสาม

(42) พงจันทร์ ศรัทธา, ศรีธนญชัย ฉบับเชียงเมี่ยง แสนสนุก, อ้างแล้ว, หน้า ๑๗๙-๑๙๑.

(43) นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน: ๒๕๓๙), หน้า ๙๕-๙๖.

(44) นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, เพิ่งอ้าง, หน้า ๔๒๑.

(45) นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, เพิ่งอ้าง, หน้า ๔๑๒.

(46) นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, เพิ่งอ้าง, หน้า ๔๑๒-๔๑๓.

(47) นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, เพิ่งอ้าง, หน้า ๔๑๗.

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ยิ่งกว่านั้น เมื่อพิจารณาประเด็นการท้าทายอวดศักดา ในการเป็นผู้รู้เข้าใจในการตีความของพระพุทธศาสนา จนถูกลงโทษขังกรงเหล็กลอยไว้ที่ปากอ่าวพร้อมกับเครื่องประดับพระเกียรติยศ และประเด็นจีนสำเภาอยากเป็นกษัตริย์สยามนี้ ภาพลักษณ์ "ศรีธนญชัย" ที่กล่าวมานี้ ทำให้อดนึกภาพลักษณ์ของบุคคลบางคนในรอยต่อช่วงระหว่าง "กรุงศรีอยุธยาแตก" จนถึง "ต้นรัตนโกสินทร์" ไม่ได้ บุคคลที่ว่านี้คือ พระเจ้ากรุงธนบุรีหรือพระเจ้าตากสินมหาราชนั่นเอง โดยเฉพาะถ้าคนที่ได้รับฟังเรื่อง "ศรีธนญชัย" นี้เป็นคนในช่วงต้นรัตนโกสินทร์
30-04-2550

Thai Historian
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.