โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 29 April 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๓๓ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ (April, 29, 04,.2007)
R

ประวัติศาสตร์ความเสื่อม : พุทธศาสนาในประเทศไทย
พุทธศาสนาในสยาม จากหายนะสู่วัฒนะ (ตอนที่ ๒)
อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ : องค์ปาฐก
อาจารย์กิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทปาฐกถาชิ้นนี้ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และกลุ่มเสขิยธรรม ให้แสดง ณ วิหารวัดสวนดอก
จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๐ เวลา ๑๓.๐๐ น. - ๑๕.๐๐ น.
เป็นการบรรยายถึงประวัติศาสตร์ความเสื่อมของพุทธศาสนาในประเทศไทยลงตามลำดับ
และหนทางในการฟื้นฟูการพระศาสนาด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งเต็มไปด้วยเกร็ดความรู้ในอดีต
และภาพปัจจุบันของพระพุทธศาสนาที่ดำเนินไปพร้อมกับทุนนิยม บริโภคนิยมอย่างน่าเป็นห่วง
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๓๓
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๔.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ : ณ วิหารหลวงวัดสวนดอก จ. เชียงใหม่
๒๘ เมษายน ๒๕๕๐ แสดงปาฐกถาเรื่อง พุทธศาสนาในสยาม - จากหายนะสู่วัฒนะ
ภาพโดย สมเกียรติ ตั้งนโม : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

พุทธศาสนาในสยาม จากหายนะสู่วัฒนะ (ตอนที่ ๒)

(6)

การจับพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) และการออกพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ เพื่อใช้แทนที่ฉบับ ๒๔๘๔ เท่ากับเป็นการประหารความเป็นประชาธิปไตยของคณะสงฆ์อย่างรุนแรงที่สุด พระราชบัญญัติฉบับ พ.ศ. ๒๕๐๕ อ้างว่าถือเอารูปแบบของฉบับ ร.ศ. ๑๒๑ ซึ่งให้มีมหาเถรสมาคมเป็นองค์กรสูงสุด ที่ไม่ต้องรับผิดชอบกับสังฆสภา ทั้งยังไม่มีคณะพระวินัยธรคอยตัดสินอธิกรณ์ของพระภิกษุต่างๆ อีกด้วย

พระราชบัญญัติฉบับ ร.ศ. ๑๒๑ สะกดคณะสงฆ์ไว้ใต้พระราชา หรือให้อาณาจักรอยู่เหนือธรรมจักร แต่อย่างน้อยพระราชาในเวลานั้นก็เข้าใจถึงการพระศาสนาดีพอสมควร อุดหนุนจุนเจือคณะสงฆ์มิใช่น้อย แม้จะไม่ให้หือเอากับพระราชาก็ตามที เสนาบดีกระทรวงธรรมการ อย่างเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว. คลี่ สุทัศน์) นั้น ถึงกับถองพระราชาคณะเป็นว่าเล่นเอาเลย ครั้นมาถึง พ.ศ. ๒๕๐๕ จอมเผด็จการไม่มีทั้งศีล ไม่มีทั้งธรรม และไม่มีศาสนา เว้นแต่เดินตามรูปแบบเท่านั้น แม้เขาจะมีเปรียญลาพรตเป็นกุนซือที่สำคัญ ๒ คน จากวัดมหาธาตุของฝ่ายมหานิกายแปลง ๑ คือหลวงวิจิตรวาทการ และจากวัดสัมพันธวงศ์ของฝ่ายธรรมยุติอีก ๑ คือ นายปิ่น มุทุกันต์

เข้าใจว่าหลวงวิจิตรวาทการจะมองการใหญ่ ที่ช่วยจอมเผด็จการทำลายประชาธิปไตยทั้งทางรูปแบบและเนื้อหารสาระ ด้วยการเลิกรัฐธรรมนูญและล้มรัฐสภา โดยใช้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับต่างๆ ที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับจอมเผด็จการ หากอ้างว่าที่ต้องทำเช่นนี้ เพื่อเอาชนะการคุกคามของคอมมูนิสต์ โดยเราต้องมีศูนย์รวมจิตใจที่พระราชามหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๕๐๑ นับเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์กลายสภาพจากสมมติเทพ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไปเป็นเทวราชอันศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งกว่าในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังการหมอบคลานต่างๆ ที่โปรดให้เลิกแต่งานบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๕ ก็กลับมา พร้อมกับการมอมเมาผู้คนด้วยประการต่างๆ และการใช้กฎหมายในเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างรุนแรง พร้อมๆ กับกฎหมายในเรื่องคอมมูนิสต์และกบฏภายในราชอาณาจักร รวมถึงการสั่งปิดหนังสือพิมพ์ที่มีความเป็นอิสระเสรีและจับปัญญาชนที่มีความเป็นตนของตนเอง โดยไม่ต้องขึ้นศาล แม้การรวมตัวกันประชุมคราวละเกินห้าคน ก็อาจถูกจับด้วยข้อหาอันรุนแรงได้

มาตรการอันเลวร้ายเหล่านี้ รัฐบาลอเมริกันรับได้ เพราะรัฐบาลไทยเดินตามก้นสหรัฐมาแต่หลังรัฐประหาร ๒๔๙๐ แล้ว (12) หากเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นว่าตนถลำลึกเกินไปกับจักรวรรดิอเมริกัน จึงพยายามถอนออกมาเพื่อรับรองจีนคอมมูนิสต์ และนำนายปรีดี พนมยงค์กลับมาเพื่อชำระคดีสวรรคตใหม่. อเมริกันและราชสำนักจึงหนุน ส. ธนะรัชต์ให้ทำรัฐประหารในปี ๒๕๐๐ โดยที่อเมริกันถือว่า ส. ธนะรัชต์ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นแล้ว แม้จะใช้เวลาราวๆ ๒ ทศวรรษเพื่อการนี้ก็ตามที ทั้งยังอ้างได้ด้วยว่า ส. ธนะรัชต์ได้เทคโนแครตที่สามารถมารับใช้ตน จนถึงกับประกาศคำขวัญว่ารัฐบาลของเขาเป็นไปโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนำทางด้านการพัฒนา ให้ประชาชนรอดปลอดพ้นไปจากคอมมูนิสต์ ที่จะเข้ามาทำลายชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยที่ตัวเขาเองเป็นคนทำลายรัฐธรรมนูญ และการกระทำของเขาเป็นการทำลายศาสนาและสถาบันกษัตริย์ในระยะยาว มิใยต้องเอ่ยถึงการทำลายชาติ ถ้าเราหมายถึงราษฎรส่วนใหญ่ ซึ่งจะยากจนลงไปยิ่งๆ ขึ้น จากผลของการพัฒนาวัตถุ ซึ่งทำลายธรรมชาติ และอุดหนุนคนรวย โดยเปิดประเทศให้อภิมหาอำนาจจากตะวันตกปู้ยี้ปู้ยำได้สะดวกยิ่งๆ ขึ้น

คณะสงฆ์ในเมือง เมื่อขจัดอาสภเถระได้แล้ว และไม่มีมาตรการถ่วงดุลมหาเถรสมาคมแต่อย่างไร สถาบันสูงสุดของคณะสงฆ์ ก็เลยเป็นแต่ตรายางซึ่งคอยประทับให้รัฐบาล ซึ่งมีปิ่น มุทุกันต์ เป็นตัวเชื่อม พระมหาเถระที่มีบทบาทมากที่สุดจากวัดสามพระยา ก็สนใจแต่การเมืองของพระ ที่จะคอยพยุงบริษัทบริวารของตนให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ เพื่อเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นไปเรื่อยๆ โดยที่การพระศาสนาส่วนใหญ่อยู่ในมือของอนุศาสนาจารย์กองทัพบก ซึ่งกลายมาเป็นอธิบดีกรมการศาสนา ซึ่งต้องการสะกดพระให้พัฒนาความทันสมัย ในคราบของทุนนิยมและอำนาจนิยม

พระในชนบทที่เคยเป็นตัวของตัวเองมาก พระกับชาวบ้านพึ่งกันและกันมาก อย่างบรรสานสอดคล้องกับธรรมชาติ ก็ถูกการพัฒนาอย่างใหม่ทำลายไปเรื่อยๆ ถนนไปถึงไหน นายทุนไปถึงนั่น ชาวบ้านก็เลยเป็นลูกจ้างนายทุน ณ ที่เดิมซึ่งเคยเป็นของตน ไฟฟ้าไปถึงไหน เขื่อนไปถึงไหน ชาวบ้านสูญเสียทั้งที่ทำกิน สูญเสียการพึ่งตนเอง และการพึ่งพาธรรมชาติ ยิ่งชนบทขาดแคลนและเมืองกรุงขยายตัวยิ่งๆ ขึ้นในทางอุตสาหกรรม ชาวชนบทย่อมทิ้งบ้านเดิมของตนยิ่งๆ ขึ้น

ยิ่งเกิดสงครามเวียดนามขึ้น จนมีฐานทัพในเมืองไทยและทหารอเมริกันจากเวียดนามมาพักผ่อนหย่อนใจในเมืองไทย. พัฒน์พงษ์ และเพชรบุรีตัดใหม่ ตลอดไปจนพัทยา ก็เลยเป็นแม่เหล็กหลักทางด้านกามสุขัลลิกานุโยค จนสาวชนบทไปขายตัวกันอย่างแพร่หลาย ภายหลังยังขยายไปยังนานาประเทศอีกด้วย รวมถึงแรงงานผู้ชาย และโสเภณีชาย รวมถึงโสเภณีเด็ก

การขาดคนในชนบท ย่อมทำให้วัดในชนบทอยู่ได้ยาก และการศึกษาของพระ ก็รู้ไม่พอที่จะสอนตัวเองหรือสอนชาวบ้าน ให้เห็นโทษของจักรวรรดิ์อย่างใหม่ และทุนนิยม บริโภคนิยม. ปิ่น มุทุกันต์ ซึ่งเป็นคนอีสาน ที่ทนพระพิมลธรรมไม่ได้ หากอุดหนุนพระอีสานสายธรรมยุติยิ่งๆ ขึ้น แม้พระป่าก็อุดหนุนทุนนิยมยิ่งๆ ขึ้นอย่างไม่รู้ตัว โดยที่ชาวกรุงเริ่มรังเกียจความไม่สำรวมของพระบ้าน และหาสาระจากพระในเมืองกรุงไม่ได้ ก็เลยออกไปแสวงหาพระป่ากันจนเป็นแฟชั่นอย่างใหม่ หารู้ไม่ว่านั่นคือการทำลายพระป่าและวัดป่า
กฐินหลวงที่เคยมีแต่ในกรุงและพระอารามที่สำคัญนอกราชธานีจำนวนน้อย ก็ขยายไปเป็นกฐินพระราชาทานตามจังหวัดต่างๆ มากขึ้น ผู้ที่นำทางด้านนี้มักเป็นพ่อค้าคนสำคัญ หาไม่ก็แม่ทัพภาค และนายธนาคาร ซึ่งขยายสาขาออกไปยังจังหวัดต่างๆ ยิ่งขึ้น คือเงินของชาวบ้านเข้าไปสู่สถาบันอทินนาทานที่ถูกกฎหมายเหล่านี้ โดยที่ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านแทบไม่รู้จักระบบธนาคารเอาเลยด้วยซ้ำ (13)

ปิ่น มุทุกัณฑ์ เป็นคนหนึ่ง แต่ไม่ใช่คนเดียว ที่นำสถาบันกษัตริย์มาผนวกกับสถาบันสงฆ์ โดยมีธรรมยุติเป็นแกนที่สำคัญ พระพุทธรูปเริ่มมีพระปรมาภิไธยย่อติดอยู่ที่ผ้าทิพย์ การถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลมีแพร่หลายยิ่งๆ ขึ้น จนทำบุญกับเจ้า ดูจะดีกว่าทำบุญกับพระ พระเองก็เรี่ยไรกันถวายเจ้าในโอกาสต่างๆ การก่อสร้างถาวรวัตถุเป็นไปไล่ๆ กับการพัฒนา จนลานวัดกลายเป็นลานจอดรถ เมรุเผาผีเป็นศรีสง่ากับวัดกว่าอาคารอื่นๆ เพราะได้สตางค์มากกว่าอื่น และอาคารที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยมีมากยิ่งๆ ขึ้น อย่างหาสาระแทบไม่ได้ แต่ได้ผลกับบริษัทปูนซีเมนต์ บริษัทกระเบื้อง ซึ่งมีนายหน้าเข้าถึงวัดต่างๆ ซึ่งถ้าไม่พัฒนาทางวัตถุ ก็น้อยหน้าเขา ยังการเลื่อนสมณศักดิ์ ก็คิดตามตารางทางวัตถุที่เจ้ากูนั้นๆ เสกสรรขึ้นได้โดยเจ้ากูก็หาเงินบริจาคด้วยการหาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้ทายกทายิกาอีกด้วย จนเกิดการฉ้อฉลขึ้นอย่างอื้อฉาวไปหลายต่อหลายวัด

พระสังฆาธิการติดกิจนิมนต์มากกว่าภารกิจทางการคณะสงฆ์ หรือเจริญเนกขัมมปฏิปทา หาไม่ก็จัดการประชุมกันอย่างฆราวาส พระซึ่งเป็นผู้ว่าง กลายเป็นผู้วุ่น ครูบาอาจารย์ไม่มีเวลาในการฝึกปรือสัทธิวิหาริก อันเตวาสิก การอยู่ให้พ้นนิสัยห้าปีในวัดต่างๆ เลยหมดความหมาย หลายวัดไม่ปลงอาบัติ หาไม่ก็สักแต่ทำพิธีไปเท่านั้นเอง แม้มีอลัชชีในวัดก็ร่วมสังฆกรรมกันอย่างปราศจากยางอาย

ที่ร้ายแรงอย่างสุดๆ ก็คือ เกิดพุทธพาณิชย์ในทางไสยเวทยวิทยาอย่างแพร่หลาย ไม่แต่เรื่องของวัตถุมงคล ที่ร้ายยิ่งกว่าก็คือพิธีกรรมต่างๆ ของพระ มักอาราธนาพระสังฆาธิการที่เหนือขึ้นไป ให้ไปเทศน์ ไปสวด แล้วถวายเงินกันมากๆ ดังกับเป็นการติดสินบน แต่ท่านนั้นๆ ก็ไม่ปฏิเสธ แม้จนการไปถวายธูปเทียนแพในเทศกาลพรรษากับพระมหาเถระ ก็มีการสอดซองธนบัตรถวายไปเป็นพันๆ โดยที่พระสังฆาธิการนั้นๆ รับเงินทองและเปิดบัญชีในธนาคารอย่างกว้างขวาง หากปิดบังตัวเลขไว้ โดยไม่มีใครจะกล้าทำอะไรได้

พระสังฆาธิการรับทัศนคติในการพัฒนา จนไม่เห็นโทษของการฉีดยาฆ่าแมลง ไม่เห็นโทษของอาหารแดกด่วนหรือสื่อมวลชนที่มอมเมาในทางราคะ โลภะ และโมหะ อย่างน้อยก็ไม่มีมาตรการป้องกัน โดยไม่ต้องเอ่ยถึงวิธีให้การศึกษาเพื่อเอาชนะข้าศึกที่อยู่ตรงข้ามกับพรหมจรรย์นั้นๆ วัดต้องการพัฒนาที่รอบๆ วัด ไม่ต่างไปจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือพร้อมจะไล่ผู้คน ซึ่งเช่าที่วัดอยู่มาไม่รู้กี่ชั่วคนแล้ว เพื่อสร้างอาคารหรูๆ โก้ๆ จะได้เพิ่มค่าเช่าให้วัด หรือให้เจ้ากู หรือวัดครึ่งกรรมการวัดครึ่งก็สุดแท้

มีบางคนกล่าวว่าสถาบันสงฆ์กระแสหลักเป็นร่างทรงของทุนนิยมและบริโภคนิยมไปแล้ว นอกเหนือจากการสยบยอมกับขัตติยยาศักดินาธิปไตยอย่างไม่ลืมหูลืมตา แม้การพระศาสนานอกประเทศ ก็ใช่ว่าจะดีกว่าที่เป็นไปภายในราชอาณาจักร โครงการพระธรรมทูตของเราคือความล้มเหลวยิ่งกว่าความสำเร็จ (14)

แม้จะมีพระดีอยู่บ้างในบางวัด และในบางประเทศก็ตามที แต่ท่านเหล่านี้ก็เอาตัวรอดได้ยาก และบางรูปก็หาวัดอยู่ยากอีกด้วย ที่จะให้คณะสงฆ์วางแผนเพื่อเข้าถึงคนรุ่นใหม่ เพื่อหาทางสร้างพระเณรอย่างใหม่ ให้มั่นคงในพระธรรมวินัย ให้เห็นคุณค่าของพรหมจรรย์และให้รู้จักใช้ไตรสิกขาเพื่อขัดเกลาตนเอง และเพื่อชี้นำสังคมให้ไปพ้นโลกาภิวัตน์ โดยมีบรรษัทข้ามชาติกับอภิมหาอำนาจเป็นตัวสะกด อย่างแลเห็นโครงสร้างทางสังคมอันรุนแรงและอยุติธรรม ยังแลไม่เห็น

(7)

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ดูจะเป็นไปในทางหายนะยิ่งกว่าในทางวัฒนะ แต่วิญญูชนย่อมมองอะไรๆ ไปอย่างเป็นองค์รวม ให้เห็นทั้งแง่บวกและแง่ลบ ที่จริงในทางวัฒนะนั้น พุทธศาสนาในสยามก็มีอยู่มิใช่น้อย เช่น การที่พุทธทาสภิกขุประกาศเจตนารมย์ของท่านพื่อเป็นทาสของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ทาสของลาภยศหรือวัฒนธรรมที่พ่วงมากับพุทธศาสนา ที่เป็นไปในทิศทางของไสยเวทวิทยา พร้อมๆ กับการตั้งสวนโมกข์ขึ้นเมื่อปี ๒๔๗๕ นั้น ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอันโยงคันถธุระมาควบคู่ไปกับวิปัสสนาธุระ ทั้งๆ ที่นี่แยกกันมาแต่ลังกาทวีปแล้ว คามวาสีกับอรัญวาสีย่อมต้องไปด้วยกัน โดยเฉพาะก็เมื่อป่าหมดไปเรื่อยๆ และพระบ้านที่ขาดการภาวนาอย่างพระป่า ที่มัวแต่เรียนรู้ทางสมอง ย่อมไร้ผล โดยที่พระป่าส่วนใหญ่ขาดการศึกษา ไม่แต่พระปริยัติธรรม หากรวมถึงขาดความรู้ในทางโลกอีกด้วย

แม้สวนโมกข์จะอยู่ปลายอ้อปลายแขม และพุทธทาสจะจุดเทียนเล่มน้อยๆ ขึ้น แต่แสงอันกระจ่างนี้ก็มีอิทธิพลยิ่งๆ ขึ้น แม้ผู้ที่เอาแบบอย่างไปจากท่าน จะทำได้ไม่ถึงแก่น แต่แก่นสารที่ท่านสร้างสรรไว้ให้กลับไปหาพระพุทธเจ้านั้นสำคัญยิ่งนัก ทั้งท่านยังเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมพื้นบ้านว่าแนบสนิทได้กับพระพุทธธรรมที่เป็นแก่นอีกด้วย เช่น เพลงขับกล่อมเด็กในเรื่อง มะพร้าวนาฬิเก ต้นเดียวโนเน อยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกก็ไม่ต้อง ฟ้าร้องก็ไม่ถึง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญเอย นี่แสดงว่าบรรพชนของเราเข้าใจในเรื่องปรมัตถธรรมยิ่งกว่าคนรุ่นหลังเป็นไหนๆ ยังสมุดข่อยเขียนภาพปริศนาธรรมที่ไชยา พระคุณท่านก็นำมาอธิบายให้คนร่วมสมัยได้รับรู้ จากธรรมะขั้นพื้นฐานไปจนถึงพระนิพพาน แล้วมีแปลเป็นภาษาอังกฤษ Teaching Dhamma by Pictures กับภาษาเยอรมันอีกด้วย ดังฉบับภาษาอินโดนีเซียก็จะตีพิมพ์ตามออกมาในเร็วๆ นี้

งานของท่านอาจารย์พุทธทาสและที่เขียนถึงท่านมีเป็นภาษาต่างๆ มากกว่าคนไทยอื่นใดทั้งหมด นี่นับว่าเป็นคุณค่าที่สำคัญยิ่งในแวดวงของคนนอกราชอาณาจักร แม้คนไทยที่ตื่นภาษาต่างประเทศ ก็หันกลับมาหาพุทธศาสนาจากภาษานั้นๆ ด้วยมิใช่น้อย

โดยที่ปีนี้เราจะปิดงาน ๑๐๐ ปี ชาตกาลพุทธทาสครบศตวรรษ ในวันที่ ๒๗ พฤษภาคมนี้ โดยได้มีการกล่าวขวัญถึงพระคุณท่านกันมามากแล้ว จึงไม่ต้องการพูดอะไรให้มากไปกว่านี้ จะพูดถึงแต่ที่ท่านเริ่มไว้ หรือกะจะเริ่มไว้ แล้วยังไม่สำเร็จ เพียงสองสามประการคือ

() ท่านร่วมกับนายปรีดี พนมยงค์ หารือกันเรื่องใช้ธรรมสังคีตมาประยุกต์พิธีกรรมของเราให้สมสมัย ให้ใช้สันตุฏฐีธรรมและหัวข้อธรรมอื่นๆ ให้คนยากจนไม่รู้สึกด้อย ให้เกิดความอาจหาญในทางธรรมอย่างพึ่งตัวเอง อย่างพอใจในวิถีชีวิตอันเรียบง่ายและอย่างรู้ตัวทั่วพร้อม ความข้อนี้ยังเป็นไปไม่ได้จริง ฉะนั้น คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งจึงต้องการทำเรื่องนี้ให้เป็นจริงให้ได้ ดังจะเริ่มงานที่ว่านี้ เพื่อให้เข้าถึงเยาวชนเป็นอันดับแรก ตามเจตนารมย์ของพระคุณท่าน งานเปิดตัวโครงการธรรมสังคีตเพื่อเยาวชนจะมีที่อาคารภูมิพลสังคีต วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ณ วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ศกนี้ ซึ่งตรงกับชาตกาล ๑๐๑ ปี ของพระคุณท่านพอดี

() ท่านถือว่ามารดาท่านมีคุณกับท่านเป็นอันมาก ท่านอยากสนองคุณมารดา ดังที่พระบรมศาสดาเสด็จขึ้นไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อเทศนาโปรดพระพุทธมารดาฉะนั้น หากท่านพุทธทาสต้องการยิ่งกว่าการแสดงธรรม คือท่านต้องการตั้งขบวนการธรรมมาตา ให้สตรีมีค่าในทางพรหมจรรย์ ไม่แพ้บุรุษเพศ แม้โครงการนี้จะยังไม่บรรลุเป้าหมาย แต่ในเมืองไทยเราก็เกิดภิกษุณีสงฆ์ขึ้นแล้ว อย่างน่าตราเอาไว้ แม้สถาบันกระแสหลักจะไม่สนับสนุนและไม่นำพา ถึงกับต่อต้านก็มี แต่สถาบันสงฆ์อ่อนแอเกินไปในทางธรรมจริยา ย่อมห้ามไว้ไม่ได้ดอกกับความพร้อมสรรพของพุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา และถ้าเราได้ไต้หวันเป็นตัวอย่าง ภิกษุณีบริษัทที่ประเทศนั้นนำหน้าภิกษุสงฆ์ทั้งในทางปริมาณและคุณภาพ อย่างเกือบจะสมสมัยในทุกๆ ทาง ปราศจากข้อกังขาในเรื่องเงินและในเรื่องเพศ ซึ่งเกิดขึ้นกับพระภิกษุที่ไต้หวันไม่แพ้กับที่ในสยามประเทศ

() ธรรมิกสังคมนิยม ของท่านเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ซึ่งจำต้องประสานให้เกิดการเมืองการปกครองในแนวนี้ เฉกเช่นให้เกิดมีการเรียนการสอนเช่นนี้ในสถาบันการศึกษาของเรา ซึ่งควรไปพ้นการครอบงำจากตะวันตก. "ประชา หุตานุวัตร" กับ "รามู มานีวันนัน" ได้นำมาทำต่อ โดยโยงไปยังศาสนาต่างๆ ในเอเชีย ตามปณิธาน ๓ ข้อของท่านอาจารย์ จนเกิดหนังสือชื่อ The Asian Future ขึ้นแล้ว (แปลเป็นไทยแล้ว ในเรื่อง จิตสำนึกแห่งเอเชีย) และหวังว่าจะมีงานนิพนธ์ทำนองนี้ขึ้นอีก ทั้งทางปริมาณและคุณภาพ

ส่วนทางภาคปฏิบัตินั้น ขบวนการสันติอโศก ได้นำหน้าทางด้านธรรมิกสังคมนิยมอย่างแท้จริง แม้จะใช้คำว่าบุญนิยมก็ตาม ที่สถาบันสงฆ์กระแสหลักยอมรับขบวนการที่ว่านี้ไม่ได้ เพราะสถาบันดังกล่าวอยู่ฝ่ายทุนนิยมและศักดินานิยมมากเกินไป โดยไปเน้นที่ภาษาและรูปแบบทางพิธีกรรมยิ่งกว่าตีไปที่สาระ ไม่ใช่ว่าสันติอโศกไม่มีข้อบกพร่อง แต่ขบวนการนี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างยอมรับความผิดพลาดอีกด้วย โดยนำเอาพุทธธรรมมาประสานกับการเมืองและท้าทายลัทธิบริโภคนิยม ไม่แต่กับคำพูดหรือข้อเขียน หากด้วยการกระทำที่มีวัฒนธรรมอันต่างจากทุนนิยมและบริโภคนิยมในกระแสหลักอย่างน่าตราเอาไว้

เมื่อเกิดนิกายเมโทดิสต์ขึ้นในสหราชอาณาจักร (ราวๆ ค.ศ. ๑๗๒๐) นิกายอังกฤษ ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศนั้น รับนิกายใหม่ไม่ได้ ทั้งๆ ที่นิกายใหม่ไปพ้นชาตินิยม ขัตติยราชนิยม และเป็นไปในทางสังคมนิยมอย่างน่าทึ่ง แต่แล้วบัดนี้นิกายทั้งสองก็กำลังปรองดองกัน หาทางรวมตัวกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ถ้าชาวพุทธไทยมองไปที่ศาสนาอื่นและประเทศอื่น แทนที่จะอยู่แต่บนหอคอยหรือในกะลาครอบ เราคงหาทางสร้างสรรสถานะในปัจจุบันให้กลายจากหายนะเป็นวัฒนะได้ ทั้งนี้หมายความว่าสถาบันสงฆ์กระแสหลักต้องปัพพาชนียกรรมคณะพระธรรมกาย ซึ่งเป็นสัทธรรมปฏิรูปอย่างเลวร้าย และต้องหาทางหันธรรมยุติกนิกายกับมหานิกายให้สมานฉันท์กันด้วย โดยที่ต้องกล้าสลัดขัตติยาธิปไตยและทุนนิยมให้ออกไปจากคณะสงฆ์ให้ได้ด้วย นี่แหละจึงจะเป็นวัฒนะที่แท้ (15)

วัดป่าสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตนั้นมีคุณกับชาวกรุงมิใช่น้อย แต่ดูเหมือนจะให้คุณกับพวกที่หนีสังคมออกไปหาความสุขส่วนตน โดยมองไม่เห็นโทษของชนชั้นตน ซึ่งมักจะร่ำรวยหรือมีอิทธิพลกว่าคนส่วนใหญ่ อย่างน้อยก็เป็นชนชั้นกลาง ซึ่งมักจะรังเกียจหรือไม่เข้าใจชนชั้นล่าง พุทธบริษัทพวกนี้มีน้อยคนนักที่จะเข้าใจในเรื่องพุทธศาสนาเพื่อสังคม ในอันที่จะออกไปเรียนรู้จากผู้ยากไร้ ให้เข้าใจทุกขสัจทางสังคม แล้วโยงสมุทัยในทางสังคมมาใช้อริยมรรคให้เหมาะสมกับสมัย เพื่อความดับทุกข์ทั้งในทางส่วนตนและส่วนรวม

พระอาจารย์ชา สุภัทโท ซึ่งก็เป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ดูจะเผยแผ่ธรรมกับชาวต่างประเทศอย่างได้ผล จนวัดป่าสายนี้มีกระจายออกไปยังนานาประเทศ รวมถึงธรรมยุติฝรั่งสายพระอาจารย์ลี วัดอโศการาม ซึ่งดูจะมีภาษีกว่าธรรมยุติสายอื่น ส่วนพระอาจารย์วิริยังค์ วัดธรรมมงคลนั้น การขยายวัดออกไปในเมืองฝรั่งของท่าน ดูจะเป็นพระไทยพระลาวเสียมากกว่า และโทษในทางนี้ ตีประเด็นกันให้เห็นชัดหรือไม่ น่าสงสัยนัก แม้พระฝรั่งเองก็เถิด ดูจะเข้ากับคนรวยและคนมีการศึกษามากเกินพอดีไป ยิ่งกว่าเข้ากันได้กับคนยากไร้ หรือไม่มีจุดยืนทางด้านนี้เอาเลยด้วยซ้ำไป

แม้ภิกขุปยุตโต จะเป็นนักปริยัติยิ่งกว่านักปฏิบัติ แต่ข้อเขียนของพระคุณท่านนั้นปลุกมโนธรรมสำนึกของชาวพุทธร่วมสมัยดีกว่าใครๆ หมด งานของพระคุณท่านมีมากในทางปริมาณ เท่าๆ กับมีดีทางคุณภาพ ยังข้อคิดของพระคุณท่านที่ท้าทายวิทยาศาสตร์กระแสหลักนั้น ฝรั่งก็เริ่มรับฟังอย่างจริงจัง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราก็คงเลิกเห่อตามก้นฝรั่ง กลับมาหาผลงานของพระคุณท่าน และคุณค่าอื่นๆ ในทางธรรม ไม่ว่าจะวัฒนธรรมหรือศาสนธรรมที่ควบคู่ไปกับพุทธศาสนาในสยาม เพื่อหันไปทางวัฒนะยิ่งๆ ขึ้นทุกที. ยัง Mind and Life Institute ที่องค์ทะไลลามะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ ก็ช่วยประสานวิทยาศาสตร์ของฝรั่ง ให้หันมาหาวิทยาศาสตร์ในทางนามธรรมอย่างพุทธ ที่นับว่าน่าสนใจ

ที่เป็นไปในทางรูปธรรมนั้น ภิกขุปยุตโตเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดกลุ่มเสขิยธรรมขึ้น เพื่อนักบวชรุ่นใหม่ ทั้งชายและหญิง หันมาเน้นที่ไตรสิกขายิ่งๆ ขึ้น เห็นคุณค่าของพรหมจรรย์ยิ่งกว่ายศช้างขุนนางพระ และไม่แต่แสวงหาความสงบสุขส่วนตัว หากออกไปรับใช้สังคม อย่างน่าสำเหนียกอีกด้วย

เสขิยธรรม ไม่ใช่ขบวนการหนึ่งเดียวในทางสร้างสรรพุทธศาสนาจากหายนะไปสู่วัฒนะ หากมีอะไรใหม่ๆ ในสยาม ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นในรอบสองทศวรรษนี้ ที่เป็นไปในทางสร้างสรรสำหรับพุทธศาสนาในโลกสันนิวาสอย่างปัจจุบัน โดยมีทิศทางไปสู่อนาคตอย่างน่าตราเอาไว้อีกหลายโครงการ เช่น บทบาทของพุทธศาสนิกเพื่อสังคมในระดับนานาชาติ (International Network of Engaged Buddhists) หรือเสมสิกขาลัย ซึ่งใช้ไตรสิกขามาประยุกต์ใช้ให้สมสมัย ทั้งที่ในสยามประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน อย่างลาว เขมร พม่า รวมถึงลังกา และอินเดีย ตลอดจนภูฐาน ซึ่งเรามีงานร่วมกันในด้าน Gross National Happiness ซึ่งท้าทายกระแสหลักในเรื่อง Gross National Products อีกด้วย

(8)

ในโลกสันนิวาสทุกวันนี้ พุทธศาสนาในสยามจะอยู่โดดๆ อย่างแต่ก่อนไม่ได้อีกแล้ว จะติดยึดในความเป็นชาตินิยม จนทำให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาตินั้น จะนำไปสู่ความหายนะยิ่งกว่าวัฒนะ. ที่พระพิมลธรรม (อาจ) ถูกรังเกียจ เพราะส่งศิษย์ไปเรียนกัมมฐานที่พม่านั้น บัดนี้วิปัสสนาธุระตามแบบของพม่า ก็ได้เข้ามาแพร่หลายในเมืองไทยยิ่งๆ ขึ้นทุกที โดยอุบาสกโคเองก้า ซึ่งเป็นคนอินเดียที่เรียนรู้ธรรมปฏิบัติไปจากพม่า ภาวนามัยดังกล่าวไม่ได้ให้คุณแต่กับชนชั้นกลางของไทยเท่านั้น หากยังขยายไปให้คนในคุกได้มีโอกาสได้เจริญจิตสิกขาด้วย โดยที่พระพิมลธรรม (อาจ) ก็ได้นำทางด้านนี้มาแล้วแต่ก่อน พ.ศ. ๒๕๐๐ (16)

ความเป็นสยามวงศ์ของเรา ควรมีคุณค่าในทางวัฒนธรรมให้รู้ถึงอดีต ซึ่งต้องปรับตัวในปัจจุบัน เพื่อให้ไปถึงอนาคตอย่างรู้เท่าทัน ไม่ใช่เพื่ออ้าขาผวาปีกว่าของเราวิเศษ ดังเมื่อนิกายสยามวงศ์หรืออุบาลีวงศ์ฉลอง ๒๕๐ ปี แต่การรับบรรพชาอุปสมบทไปจากพระมหาเถระจากกรุงศรีอยุธยานั้น พระสังฆาธิการไทยแห่กันไปลังกา ถวายบาตร (เสตนเลส)ไตรจีวร (ผ้าโทเรโทรอน) และย่าม (ซึ่งปักอย่างโฆษณาสินค้า) และพระพุทธรูปองค์โตๆ อย่างน่าเกลียดต่างๆ โดยไม่ได้ทำสังคยานร่วมกันระหว่างสงฆ์ของสองประเทศนี้ ว่าควรปรับตนอย่างไรในทางพระธรรมวินัย ให้ไปพ้นความเป็นชาตินิยมและให้ออกพ้นไปจากทุนนิยมได้ด้วย

ความเป็นเถรวาทของเรา ก็ไม่เสียหาย ถ้าเราไม่เหยียดว่ามหายานและวัชรยานต่ำต้อยไปกว่าเรา แท้ที่จริง เราควรเรียนรู้จากสองยานนั้น ดังที่เราควรเรียนรู้จากเพื่อนของเราที่เป็นคริสต์ มุสลิม ฮินดู สิกข์ และพวกมาร์กซิสต์อีกด้วย ถ้าเราแม่นในความเป็นพุทธ อย่างใจกว้าง เราย่อมรับทัศนะต่างๆ ได้อย่างรู้เท่าทัน อย่างไม่รังเกียจเดียดฉันท์ในข้อแตกต่างใดๆ

ความข้อนี้ ปณิธาน ๓ ข้อของท่านอาจารย์พุทธทาสช่วยเตือนสติพวกเราได้มาก

() ถ้าเป็นพุทธศาสนิก ควรเข้าใจศาสนาของเราให้ดีที่สุด คือต้องไปพ้นชาตินิยม ลัทธินิกาย แม้จนไสยเวทวิทยาที่เจือปนเข้ามา กล่าวคือเรียนรู้ให้เข้าถึงความว่าง อย่างลดความเห็นแก่ตัวลงไปเรื่อยๆ เพื่อรับใช้คนอื่น สัตว์อื่น

() ควรเคารพนับถือศาสนาของเพื่อนเรา ว่าไม่ด้อยไปกว่าเรา เขาใช้ภาษาวัฒนธรรมและความเชื่อที่ต่างไปจากเรา หากเราใช้ภาษาธรรมตีความภาษาคนในคัมภีร์นั้นๆ คำสอนนั้นๆ ว่า ล้วนก็สอนให้ลดความเห็นแก่ตัว เพื่อเกื้อกูลผู้อื่น สัตว์อื่นด้วยกันทั้งนั้น

() ร่วมมือกันระหว่างศาสนิกต่างๆ รวมถึงคนที่ไม่นับถือศาสนาใดๆ เลย ให้มาช่วยกันผลักดันคนให้เป็นมนุษย์ ให้ไปพ้นวัตถุนิยม ทุนนิยม อำนาจนิยม ซึ่งก็คือรูปธรรมของความโลภ โกรธ หลง นั้นเอง

ว่าถึงนิกายเถรวาท ที่เป็นหลักของพุทธศาสนาในสยามนั้น เราต้องเข้าใจว่าแก่นอยู่ที่พระเถระ ซึ่งไม่จำต้องอ้าขาผวาปีกว่าสูงส่งกว่าญาติโยม หากหมายถึงท่านที่บวชพ้นสิบพรรษาไปแล้ว ด้วยการเรียนรู้แต่แรกบวช ทั้งทางปริยัติและปฏิบัติ โดยมีอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นกัลยาณมิตร เพื่อเติบโตในทางธรรม อย่างเข้าใจถึงสาระและปฏิบัติตามพระวินัย จนเปลี่ยนนิสัยของผู้ครองเรือนเป็นนิสัยของบรรพชิตได้ภายใน ๕ ปี พ้นพรรษาห้าไปแล้ว ท่านเรียกว่านิสัยมุตตกะ คือเป็นพระมัชฌิมะ ดูแลตัวเองได้ จนสิบพรรษาแล้วจึงจะถึงเถรภูมิ ดูแลผู้อื่นได้ โดยเฉพาะก็ผู้ที่ต้องการเป็นสมาชิกในสังคมสงฆ์

ถ้าเราถือตามเถรวาทดังกล่าว คณะสงฆ์ของเราก็จะเป็นแกน เชื่อมโยงกับฆราวาส เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน แล้วเรียนรู้ด้วยกัน เพื่อเข้าใจถึงโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรง จะได้ช่วยกัน ทั้งพระและฆราวาส รวมทั้งศาสนิกนิกายอื่น และศาสนาอื่นๆ ให้แต่ละคนมีสันติภาวะภายใน

ใช่แต่เท่านั้น เมื่อเราสมาทานลัทธิลังกาวงศ์จากสำนักมหาวิหารแห่งเมืองอนุราธปุระนั้น พระสงฆ์สยามได้บวชแปลงในสำนักดังกล่าว เวลากลับมาเมืองไทย ได้นำพระธาตุแบบลังกามาด้วย ดังประดิษฐานไว้เป็นพระบรมธาตุที่เมืองนครศรีธรรมราช แล้วนำมาสร้างเป็นวัดมหาธาตุขึ้นที่กรุงสุโขทัย ซึ่งแบ่งปันพระธาตุไปให้พระเจ้าเชียงใหม่ ดังตำนานกล่าวว่าช้างที่บรรทุกพระธาตุนั้นขึ้นไปจนถึงยอดดอยสุเทพ ดังมีพระธาตุเจดีย์อยู่ที่นั่นตราบมาจนบัดนี้

ถือกันว่าพระธาตุเป็นพระพุทธสรีระ จึงใช้คำว่าพระสารีริกธาตุ ทุกราชธานีของไทย ย่อมต้องมีวัดมหาธาตุเป็นพระอารามอันสำคัญยิ่ง แม้เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบราชาธิปไตยไปเป็นประชาธิปไตยแล้ว อังกฤษก็มอบพระสารีริกธาตุให้มาอีกจากอินเดีย เพื่อกระชับสัมพันธไมตรีกับรัฐบาลไทย ซึ่งให้สร้างวัดใหม่สำหรับประดิษฐานพระธาตุที่ได้มาใหม่ และให้ชื่อว่าวัดพระศรีมหาธาตุ โดยกำหนดไว้ด้วยว่าวัดนี้จะเป็นสถานที่ที่รวมนิกายสงฆ์ของมหานิกายกับธรรมยุติกนิกายให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ดังพระยาพหลพลพยุหเสนา อดีตนายกรัฐมนตรี ก็บวชที่วัดนี้ ในสงฆ์ทั้งสองนิกาย โดยพระภิกษุสงฆ์ที่แท้ย่อมอุทิศตนเพื่อสังคมร่วมกับญาติโยม เพื่อช่วยให้เกิดความยุติธรรมขึ้นทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม โดยการอยู่ร่วมกันอย่างบรรสานสอดคล้องกับธรรมชาติ

นิมิตดีก็ตรงที่บัดนี้มีคำสอนของฝ่ายมหายานเข้ามาแพร่หลายในเมืองไทยมาก โดยเฉพาะก็สายของท่านนัท ฮันห์ (17) ยังทางด้านวัชรยาน ก็ไม่แต่คำสอนขององค์ทะไลลามะเท่านั้น แม้ลามะองค์อื่นๆ ก็มีงานของท่านแปลเป็นไทยอย่างกว้างขวาง (18) แม้การเข้าถึงเจ้าแม่กวนอิมที่เป็นไปในทางไสยศาสตร์ หรือพุทธพาณิชย์อย่างไม่ต่างไปจากวัตถุมงคลของเราเอง จะมีปรากฏในทางหายนะอยู่ไม่น้อย รวมถึงนักฉวยโอกาสจากไต้หวันและเกาหลี (รวมถึงญี่ปุ่น) เฉกเช่นพวกมิชชันนารีของสองประเทศนั้น ซึ่งเข้ามาแทนที่ฝรั่งยิ่งๆ ขึ้น แต่ถ้ารู้เท่าทัน ก็น่าจะสะกดไว้ได้

แท้ที่จริงเจ้าแม่กวนอิมก็คือพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ซึ่งก็คือบุคลาธิษฐานของพระกรุณาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นแล ดังพระมัญชูศรีโพธิสัตว์ ก็คือบุคลาธิษฐานของพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเรากราบไหว้รูปเคารพ โดยไม่ให้รูปเคารพกางกั้นเป็นดุจภูเขา ไม่ให้เราเข้าถึงพุทธธรรม เราอาจใช้อุปายโกศล เข้าถึงพระปัญญาคุณและพระกรุณาคุณของพระพุทธเจ้าได้ โดยอาศัยบารมีทั้ง ๑๐ ของเราหรือของมหายานก็สุดแท้ แต่ต้องปรับให้สมสมัยด้วยเสมอไป

() ทาน ไม่ใช่การทำบุญทางด้านวัตถุ จนฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย หรืออุดหนุนจุนเจือเจ้ากูจนเสียคนไปตามๆ หากต้องเข้าถึงธรรมทานและอภัยทานได้ในที่สุด

() ศีล เพื่อให้เกิดความเป็นปกติของแต่ละคนและสังคมด้วย

() เนกขัมมะ ไม่จำต้องออกบวชตามรูปแบบเท่านั้น หากให้รู้เท่าทันกามกิเลสต่างๆ ซึ่งมาอย่างรุนแรงกับลัทธิบริโภคนิยม โดยเฉพาะก็โดยสื่อกระแสหลัก

() ปัญญา การรู้สภาพความจริงตามธรรมชาติ และรู้จักแก้ไขจัดการต่างๆ ทางสังคมได้ด้วยอย่างใช้อหิงสาเป็นแกน

() วิริยะ ไม่เกรงกลัวอุปสัค ไม่ทอดทิ้งธุระทั้งหลาย

() ขันติ อดทน อย่างรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว โดยตั้งตนไว้ในจุดหมายอันควร ไม่ลุแก่อำนาจกิเลส

() สัจจะ พูดจริง ทำจริง และจริงใจ ไม่ยอมรับความกึ่งดิบกึ่งดี กึ่งจริงกึ่งเท็จที่เต็มไปในโลกสันนิวาสสมัยนี้

() อธิษฐาน ตั้งใจมั่น เพื่อบรรลุประโยชน์สูงสุด ทั้งส่วนตนและส่วนรวม

() เมตตา ใช้ความรักเป็นเจ้าเรือน แทนที่ความโกรธ ความเกลียด

() อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง หลังจากผ่านการทดลองมาแล้วเป็นขั้นๆ

(๑) จากรักตนและคนที่เสมอกับเรา (เมตตา)
(๒) จากการร่วมทุกข์กับคนที่ถูกเบียดเบียน (กรุณา)
(๓) แล้วฝึกใจร่วมกันไม่ให้เกลียดคนที่กดขี่ข่มเหงเรา (มุทิตา)
(๔) จากนั่นแหละ เราจึงจะเอาชนะอคติที่เป็นตัวกำหนดให้เราคิด ทำและพูดได้อย่างปลอดไปจากความกลัว (ภยาคติ) ความเกลียดโกรธ (โทสาคติ) ความรัก (ฉันทาคติ) และความหลง (โมหาคติ)

บารมีทั้งสิบนี้ เคยอยู่ควบคู่กับชาวพุทธไทยในสยามมาแต่ไหนแต่ไร แต่ดูตอนนี้จะจางหายไปพร้อมๆ กับความหายนะของพุทธศาสนาในสยาม หากนำเอามาประยุกต์ใช้ให้สมสมัย จะช่วยให้พุทธศาสนาในสยามเกิดความวัฒนาถาวรขึ้นได้อย่างแน่นอน

ส. ศิวรักษ์ แสดงปาฐกถา ณ วิหารหลวงวัดสวนดอก วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๐เวลา ๑๓.๐๐ น.
ตามคำเชิญของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, และกลุ่มเสขิยธรรม

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ คลิกไปทบทวนตอนที่ ๑

ภาคผนวก

คำสอนนาคของสมเด็จพระวันรัต (เผื่อน ติสฺสทตฺต) แต่เมื่อยังเป็นพระธรรมปิฏก วัดพระเชตุพนฯ พุทธศักราช ๒๔๗๔ ดูจะให้อรรถาธิบายในเรื่องพระรัตนตรัยตามทางของเถรวาทอย่างกระชับ และบัดนี้หาอ่านได้ยากแล้ว จึงนำมาลงไวในที่นี้ (19)

พระพุทธเจ้านั้นมีคุณความดี คือมีพระปัญญาปรีชาฉลาดรอบรู้ในสิ่งที่ควรรู้ควรเห็น ทั้งคุณและโทษ ทั้งประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ตลอดถึงอริยสัจจ์ ๔ ไม่มีใครเป็นครูอาจารย์สั่งสอน ส่วนนี้พระปัญญาคุณฯ พระองค์ทรงละสิ่งที่เป็นโทษ คือ อาสวกิเลส เครื่องเศร้าหมองได้หมด กับทั้งวาสนา คือกิริยากายวาจาที่กิเลสอบรมมานาน ทรงบริบูรณ์ด้วยคุณธรรมเป็นแก่นสารโดยอเนก ส่วนนี้พระบริสุทธิคุณฯ พระองค์มีพระบวรสันดานเต็มไปด้วยความเมตตากรุณาในหมู่สัตว์ ซึ่งเร่าร้อนอยู่ด้วยเพลิงกิเลสและกองทุกข์ ทรงแสดงธรรมสั่งสอนให้สัตว์ได้ฟังและปฏิบัติดับเพลิงกิเลสและกองทุกข์เสียได้ มิได้ทรงเห็นแก่ความลำบากทุกข์ยากเหน็ดเหนื่อยพระองค์ ส่วนนี้พระมหากรุณาธิคุณฯ ท่านผู้ดำรงอยู่ในพระคุณทั้ง ๓ ประการนี้ เรียกว่า พระพุทธเจ้า แปลว่า ท่านผู่รู้ดี รู้ชอบฯ

เมื่อพระพุทธเจ้ารู้ดีรู้ชอบเช่นนี้แล้ว ทรงเอ็นดูกรุณาในหมู่สัตว์ จึงได้ทรงแนะนำสั่งสอนฯ ธรรมคำสั่งสอนของพระองค์นั้นแล เรียกว่า ปริยัติธรรม เพราะเป็นคุณที่ผู้ปฏิบัติจะต้องเล่าเรียน ท่องบ่น จำทรง ศึกษา ให้รู้จักเข้าใจเนื้อความฯ ใจความในปริยัตินี้ ประกาศข้อปฏิบัติ คือ ศีล สมาธิ ปัญญาฯ

ความรักษากาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ ไม่ประพฤติล่วงกิเลสอย่างหยาบที่จะพึงกระทำ ด้วยกาย วาจา ชื่อว่า ศีลฯ ความรักษาใจให้บริสุทธิ์ คือเพ่งใจไว้ในอารมณ์เดียว ไม่ให้เกาะเกี่ยวเศร้าหมองด้วยนิวรณ์ทั้ง ๕ ชื่อว่า สมาธิฯ ความทำทิฏฐิความเห็นให้ซื่อตรงตามความเป็นจริง ชื่อว่าปัญญาฯ

ศีล สมาธิ ปัญญา นี้แล เรียกว่า ปฏิบัติธรรม เพราะเป็นคุณที่ผู้ปฏิบัติจะพึงดำเนิน กาย วาจา ใจ และทิฏฐิของตนให้เป็นไปตามฯ เมื่อผู้ปฏิบัติประพฤติตามไปในศีล สมาธิ ปัญญานี้ ได้บรรลุความบริสุทธิ์ คือมรรคผลนิพพานอันใด มรรคผลนิพพานอันนั้นแล เรียกว่า ปฏิเวธธรรม เพราะเป็นคุณที่ผู้ปฏิบัติจะพึงรู้แจ้งแทงตลอดได้เฉพาะตัวด้วยปัญญาฯ ปริยัติก็ดี ปฏิบัติก็ดี ปฏิเวธก็ดี ทั้งสามนี้ รวมเรียกสั้นว่า พระธรรม เพราะเป็นสภาพที่ทรงผู้ปฏิบัติไว้ไม่ให้เป็นคนชั่ว และให้ตั้งอยู่ในที่ดี มิให้ตกไปในที่ชั่ว มีทุคติอบาย เป็นต้นฯ

หมู่ชนที่ได้สดับฟังธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ตั้งใจปฏิบัติตามศีล สมาธิ ปัญญา ทำให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ จนละอาสวกิเลสได้ขาดจากสันดาน โดยเอกเทศบ้าง โดยสิ้นเชิงบ้าง กล่าวนามตามภูมิที่ละกิเลสนั้นว่า พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ท่านทั้ง ๔ จำพวกนี้แลเรียกว่า พระสงฆ์ เพราะเป็นหมู่พวกที่ประพฤติเสมอเหมือนกันด้วยศีลและทิฏฐิฯ

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทั้ง ๓ นี้ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(12) ดู A Special Relationship: The United States and Military Government in Thailand 1947-1958 by Daniel Fineman (Honolulu: University of Hawaii Press 1997)

(13) ปริญญานิพนธ์ของ Christian Gray เรื่อง Thailand: Sotoriological State in the 1970s ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก (1986) ให้ภาพลักษณ์ทางด้านนี้ดีมาก ยัง Stanley Tambiah ก็เขียนในเรื่องนี้อย่างน่าสนใจนัก โดยเฉพาะก็ในเรื่อง Buddhism and the Spirit Cults in North-east Thailand (1970) World Conqueror and World Renouncer (1976) และ The Buddhist Saints of the Forest and the Cult of Amulets (1984)

(14) ดูตัวอย่างของความล้มเหลวอย่างมากของวัดไทยในต่างประเทศ ได้จากเรื่อง วัดพุทธธรรม (ที่ชิคาโก) ในอุ้งมือมาร ของสุนทร พรหมินทร์ เป็นตัวอย่าง ส่วนความเหลวแหลกของพระสังฆาธิการในระดับสูงที่วัดพระเชตุพน ดูได้ที่ วิธีปลุกพระสมเด็จศักดิ์สิทธิ์วัดโพธิ์ โดย พระทักษิณคณาธิกร (ดร. สิงห์ทน นราสโภ) เลขาฯ สมเด็จพระสังฆราช วัดพระเชตุพน มีความเลวร้ายมากมายในส่วนตน ทั้งยังอุดหนุนอลัชชีอย่างกิตติวุฑโฒและเจ้าสำนักวัดพระธรรมกายอย่างออกหน้าอีกด้วย อย่างน้อยพระมหาเถระองค์อื่นๆ ที่อุดหนุนจุนเจือคณะพระธรรมกาย เพราะเห็นแก่อามิสมากกว่าอะไรอื่น หากมักไม่ออกหน้ากัน

(15) ที่พระไพศาล วิสาโล เขียนเรื่อง พุทธศาสนาไทยในอนาคต : แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต ไว้นั้น นับว่าเป็นประโยชน์อยู่มิใช่น้อย

(16) กิจกรรมของขบวนการโคเอนก้านั้น น่าสนใจที่ปราศจากอัตตาของท่านอุบาสกผู้นี้เอาเลยก็ว่าได้ โดยปล่อยให้คนไทยจัดการกันเองอย่างเป็นประชาธิปไตย และไม่หวังผลกำไรใดๆ สิ้น ผู้ปฏิบัติธรรมบริจาคเงินอุดหนุนเท่าที่ศรัทธา และไม่แต่ในประเทศนี้เท่านั้นที่วิปัสสนาธุระสายนี้แพร่หลายออกไป แม้ในอินเดียเอง ก็ตั้งหลักมั่นอย่างสำคัญ รวมถึงประเทศต่างๆ ในทางตะวันตกอีกด้วย หากจิตสิกขาสายนี้ ก็ไม่มีแววในการประยุกต์สีลสิกขามาใช้เพื่อความยุติธรรมทางสังคม

(17) คำสอนของท่านน่ารับฟังมาก โดยท่านได้ตั้งสำนักปฏิบัติอย่างได้ผลที่ประเทศฝรั่งเศสและสหรัฐฯ การที่มีผู้คิดจะตั้งสำนักทำนองนั้นขึ้นในเมืองไทย ก็ขอให้ตราไว้ว่า ถ้าสำนักดังกล่าวเป็นไปในกระแสพุทธ โดยเฉพาะก็ในทางสังฆะที่ใช้หลักธรรมาธิปไตย ย่อมได้ผลแท้ทีเดียว แต่ถ้ามีวัฒนธรรมทางเวียดนามสะกดอยู่เบื้องหลัง อย่างมีโครงสร้างจากบนมาล่าง นั่นจักเป็นความล้มเหลว

(18) แม้มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป จะจัดตั้งศูนย์ศึกษาไทยธิเบตมาหลายปีแล้ว แต่นั่นก็เป็นเพียงการอุดหนุนด้านสิ่งพิมพ์เท่านั้นเอง หากบัดนี้มีมูลนิธิพันดาราเกิดขึ้นแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยได้ตั้งทากินีอาศรมขึ้นด้วยแล้ว ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมตามแนวทางของวัชรยาน และเน้นในการอุดหนุนอิตถีเพศเป็นพิเศษ นับว่าควรแก่การสนับสนุนยิ่งนัก

(19) จากทำวัตรสวดมนต์ ฉบับวัดโสธรวราราม พ.ศ. ๒๕๔๗ หน้า ๑๔๙ - ๑๕๑

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

การขาดคนในชนบท ย่อมทำให้วัดในชนบทอยู่ได้ยาก และการศึกษาของพระ ก็รู้ไม่พอที่จะสอนตัวเองหรือสอนชาวบ้าน ให้เห็นโทษของจักรวรรดิ์อย่างใหม่ และทุนนิยม บริโภคนิยม. ปิ่น มุทุกันต์ ซึ่งเป็นคนอีสาน ที่ทนพระพิมลธรรมไม่ได้ หากอุดหนุนพระอีสานสายธรรมยุติยิ่งๆ ขึ้น แม้พระป่าก็อุดหนุนทุนนิยมยิ่งๆ ขึ้นอย่างไม่รู้ตัว โดยที่ชาวกรุงเริ่มรังเกียจความไม่สำรวมของพระบ้าน และหาสาระจากพระในเมืองกรุงไม่ได้ ก็เลยออกไปแสวงหาพระป่ากันจนเป็นแฟชั่นอย่างใหม่ หารู้ไม่ว่านั่นคือการทำลายพระป่าและวัดป่า (คัดมาบางส่วนจากปาฐกถา)
29-04-2550

Reinstate Buddhism
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.