โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 28 April 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๓๒ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ (April, 28, 04,.2007)
R

ประวัติศาสตร์ความเสื่อม : พุทธศาสนาในประเทศไทย
พุทธศาสนาในสยาม จากหายนะสู่วัฒนะ (ตอนที่ ๑)
อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ : องค์ปาฐก
อาจารย์กิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทปาฐกถาชิ้นนี้ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และกลุ่มเสขิยธรรม ให้แสดง ณ วิหารวัดสวนดอก
จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๐ เวลา ๑๓.๐๐ น. - ๑๕.๐๐ น.
เป็นการบรรยายถึงประวัติศาสตร์ความเสื่อมของพุทธศาสนาในประเทศไทยลงตามลำดับ
และหนทางในการฟื้นฟูการพระศาสนาด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งเต็มไปด้วยเกร็ดความรู้ในอดีต
และภาพปัจจุบันของพระพุทธศาสนาที่ดำเนินไปพร้อมกับทุนนิยม บริโภคนิยมอย่างน่าเป็นห่วง
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๓๒
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๗ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ : ณ วิหารหลวงวัดสวนดอก จ. เชียงใหม่
๒๘ เมษายน ๒๕๕๐ แสดงปาฐกถาเรื่อง พุทธศาสนาในสยาม - จากหายนะสู่วัฒนะ
ภาพโดย สมเกียรติ ตั้งนโม : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

พุทธศาสนาในสยาม จากหายนะสู่วัฒนะ (ตอนที่ ๑)

(1)

คำว่าสยามเป็นชื่ออย่างทางราชการของประเทศนี้แต่รัชกาลที่ ๔ นี่เอง และพูดกันอย่างตรงๆ ก็ต้องบอกว่า พุทธศาสนาเข้าสู่ความหายนะพร้อมกับการเกิดขึ้นของราชอาณาจักรสยามนั้นแล ทั้งนี้ก็เพราะเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จไปทรงผนวชนั้น ทรงเห็นว่าคณะสงฆ์ไทยได้เสื่อมสลายลงไล่ๆ กับการสูญเสียพระนครศรีอยุธยาไปกับพม่าข้าศึกแต่ พ.ศ. ๒๓๑๐ ทรงคลายแคลงในความบริสุทธิ์ของคณะสงฆ์ แม้ครูบาอาจารย์ที่บอกกรรมฐานแก่พระองค์ท่านที่วัดสมอราย ซึ่งเป็นสำนักวิปัสสนาธุระที่สำคัญ ก็รับสั่งว่าอ้างตามๆ กันมา อย่างไม่แม่นยำในพระพุทธวัจนะเอาเลย จึงทรงหันกลับไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดมหาธาตุ แล้วทรงแลเห็นความวิปลาสของคณะสงฆ์ในอารามต่างๆ ว่าย่อหย่อนในทางพระธรรมวินัย จึงทรงหันไปเข้ารีตในรามัญนิกาย แล้วทรงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจนทรงตั้งธรรมยุติกนิกายขึ้นใหม่แต่ในรัชกาลที่ ๓ (พิจารณาทางจิตวิทยาได้ไหมว่า ทรงไม่ได้เป็นประมุขของอาณาจักร จึงทรงต้องการเป็นประมุขของธรรมจักรแทน)

โดยที่คณะใหม่นี้ถือว่าพระสงฆ์ในบ้านเมืองแต่ไหนแต่ไรมา มีคุณค่าเพียงที่ว่าเป็นพวกมากเท่านั้น จึงรวมเรียกว่ามหานิกาย (1) แม้ในฝ่ายมหานิกายนั้น จะต่างสำนักหรือต่างวัตรปฏิบัติกันอย่างไรก็ไม่นำพา ทั้งยังเหยียดให้พระพวกมากทั้งหมดนี้เป็นเพียงอนุปสัมบันเท่านั้นเอง คติที่ว่านี้มีมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ดังพระเจ้าอยู่หัวก็ดี พระบรมโอรสาธิราชก็ดี เมื่อทรงผนวชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยคณะสงฆ์ของทั้งสองนิกาย แล้วต้องเสด็จเข้าไปทรงทำทัฬหีกรรม ในพระอุโบสถ พระพุทธรัตนสถาน จำเพาะของคณะธรรมยุติกนิกาย จึงจะชื่อว่าเป็นอุปสัมบันภิกขุที่แท้

หัวใจของพุทธศาสนาคือพระรัตนตรัย อันได้แก่พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์. พระพุทธคือท่านผู้ซึ่งตื่นขึ้นแล้วจากความเห็นแก่ตัว จึงทรงประกอบไปด้วยพระปัญญาคุณ อย่างรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งพระธรรม ในฐานะที่แสดงออกทางธรรมชาติ และเป็นไปตามเหตุและปัจจัยอย่างธรรมดาในสากลโลก ใครก็ตามที่เข้าถึงธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง และปรับตน (ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ) ให้เป็นไปตามธรรมดา ย่อมเอาชนะความทุกข์ได้เป็นขั้นๆ ไป จนถึงที่สุด และเมื่อถึงขั้นนั้นแล้ว ปัญญาคุณก็ย่อมเป็นไปพร้อมกับกรุณาคุณ คือความรู้กับความรักย่อมควบคู่กันไป อย่างไม่มีความเห็นแก่ตัวเหลืออยู่ เพื่อเกื้อกูลสรรพสัตว์

พระสงฆ์ คือหมู่คน ผู้หญิงก็ตาม ผู้ชายก็ตาม ที่สละละบ้านเรือนและครอบครัว ออกบวช อุทิศตนเพื่อพระพุทธ ผู้เป็นบรมศาสดา ในอันที่จะได้เข้าถึงพระธรรม หรือสัจธรรม เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่เห็นพระธรรม ย่อมเห็นพระพุทธ (2)

บุคคลที่ยังเป็นปุถุชนหรือคนธรรมดาสามัญอยู่นั้น ถ้าได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะสงฆ์ ย่อมได้โอกาสให้เข้าสู่ความเสมอภาคของสงฆ์ ซึ่งมีภราดรภาพเป็นตัวเอื้ออาทรที่สำคัญ ในอันที่จะฝึกปรือให้เข้าถึงเสรีภาพจากความโลภ โกรธ หลง กล่าวคือ พระสงฆ์ผู้เป็นอนาคาริกะ มีโอกาสดีกว่าผู้ครองเรือน เพราะไม่ต้องห่วงในเรื่องการทำมาหาเลี้ยงชีพ

ศีลข้อที่ ๑๐ เป็นตัวชี้ขาดข้อแตกต่างระหว่างสมณะกับคฤหัสถ์ ซึ่งอาจสมาทานอุโบสถศีลก็ได้ ในเรื่องงดอาหารให้น้อยลง และงดเมถุนธรรมเสียอีกด้วย นอกเหนือไปจากการลดความสะดวกสบายหรือฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยอื่นๆ แต่ก็ยังจำต้องมีอาชีพ จับจ่ายใช้สอย มีเงินมีทอง ในขณะที่สมณะนั้นห้ามขาดในเรื่องนี้ ตั้งแต่สามเณรเป็นต้นไป

ผู้ชายแต่ก่อนย่อมบวชเณร เมื่อเริ่มแตกเนื้อหนุ่ม เพื่อเรียนรู้ทั้งทางพุทธิศึกษาและจริยศึกษาในขั้นประถม แม้สึกหาลาเพศออกไป ก็คงได้คุณธรรมบางประการติดตัวไป ยิ่งได้บวชพระ เมื่อบรรลุนิติภาวะแล้ว ย่อมช่วยให้มีโอกาสในทางมัธยมศึกษา ให้ได้เจริญเติบโตยิ่งๆ ขึ้น ทั้งทางศีลสิกขา (ความเป็นปกติทางกายวาจา) ทางจิตสิกขา (รู้จักอบรมใจให้สงบ) ยิ่งสงบอย่างรู้ตัวทั่วพร้อมได้เท่าไร ย่อมงอกงามทางปัญญาสิกขา จนเกิดความเข้าใจในสภาพต่างๆ ตามความเป็นจริง อย่างปราศจากอคติ เมื่อบรรลุได้ถึงขั้นนี้ ย่อมถือได้ว่าเข้าขั้นอุดมศึกษา

ก่อนยุคที่เรียกว่าเป็นความทันสมัยของสยาม การศึกษาสำหรับกุลบุตรย่อมอาศัยวัดเป็นสื่อที่สำคัญยิ่ง แม้ดิรัจฉานวิชาต่างๆ ก็มีเรียนมีสอนในวัด ตลอดจนวิชาคีตศิลป์และยุทธศิลป์ นอกเหนือไปจากอายุรเวชและการช่างต่างๆ ในทางจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม วัดและพระจึงเป็นหัวใจของแทบทุกชุมชน ไม่แต่ตามละแวกบ้าน แม้ในเมือง ตลอดจนราชธานี เจ้านายก็ต้องทรงศึกษาในวัด จากการบวชเณรและบวชพระ เฉกเช่นไพร่บ้านพลเมืองทั้งหลาย และเมื่อเข้ามาสู่สังคมสงฆ์แล้ว เจ้าและไพร่ย่อมทรงเพศสมณะอย่างเท่าเทียมกัน เพียงท่านที่แก่พรรษากว่า หรือเป็นครูบาอาจารย์เท่านั้นที่มีสถานะสูงส่งกว่าศิษย์ หรือผู้อ่อนพรรษากว่า พระย่อมเป็นกัลยาณมิตรของกันและกันในทางภราดรภาพ ทั้งยังเป็นกัลยาณมิตรกับทายกทายิกาอีกด้วย คือช่วยเตือนผู้คนดุจดังกระบอกเสียงทางมโนธรรมสำนึกฉะนั้น

แม้ในรอบแปดสิบปีมานี้ เมื่อนายเงื่อม พานิช ไปบวชพระตามประเพณี ก็ได้ไปรับทราบถึงความวิเศษมหัศจรรย์ของคณะสงฆ์สองทางด้วยกัน คือ

(๑) เมื่อพระเงื่อมออกไปบิณฑบาต ได้ถามชาวนาว่า ทำนาทำไม เขาตอบว่าเพื่อจะได้มีข้าวไว้ใส่บาตร ไว้เลี้ยงตนเองและครอบครัว และแจกจ่ายญาติมิตร เหลือจึงขาย พระเงื่อมตรัสรู้เดี๋ยวนั้นเองว่า ชาวนาเห็นว่าคณะสงฆ์สำคัญที่สุด เพราะเป็นหมู่ชนในอุดมคติที่สืบทอดมาจากพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างไม่ขาดสาย โดยที่พระสงฆ์ช่วยชาวบ้านได้อย่างดีที่สุดในการนำพระธรรมมาประพฤติปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างแก่ชาวบ้าน ทั้งยังอาจแสดงธรรมให้ผู้คนลดละโลภ โกรธ หลงลงได้ด้วย

(๒) เมื่อไปสรงน้ำกับพระอาจารย์รูปหนึ่ง ซึ่งถามพระเงื่อมว่าเป้าหมายในชีวิตเป็นไปเพื่ออะไร เมื่อพระเงื่อมตอบว่า ต้องการรับใช้เพื่อนมนุษย์ พระเถระรูปนั้นจึงบอกว่า ถ้าเช่นนั้นบวชอยู่ดีกว่าสึกออกไป เพราะไม่ต้องห่วงเรื่องครอบครัว บำเพ็ญคุณประโยชน์เพื่อคนอื่นและสัตว์อื่นได้เต็มที่

ปัจจัยทั้งสองนี้น่าจะเป็นแรงจูงใจให้พระเงื่อมไม่คิดสึก และอุทิศตนเพื่อพระบรมศาสดา จนประกาศตนเป็นทาสของพระพุทธเจ้า

ที่น่าสำเหนียกก็ตรงที่เมื่อพระมหาเงื่อม อินทปัญโญ ประกาศตนเป็นภิกขุพุทธทาส พร้อมๆ กับการตั้งโมกขพลาราม หรือสวนอันเป็นพลังแห่งการหลุดพ้นนั้น ท่านไม่ได้ตั้งนิกายใหม่ ท่านไม่ได้ติดยึดกับรูปแบบอันหยุมหยิมต่างๆ ในเรื่องที่ต้องบวชใหม่ ต้องใช้สีมาน้ำ เพราะลูกนิมิตของสีมาเดิมเล็กเกินกว่าที่อรรถกถากำหนด หรือการสวดสังวัธยาย จะต้องใช้เสียงแบบนั้นๆ จึงจะถูกต้องถ่องแท้ รวมถึงการห่มผ้าให้แผกออกไป และการไม่ใส่รองเท้าเข้าบ้าน หรือการไม่จับเงินตรา หากใช้ใบปวารณาแทน ซึ่งดูไม่สู้จะเป็นแก่นสาร แต่ก็สร้างค่านิยมให้กับผู้คนได้ไม่ยาก โดยเฉพาะก็ในหมู่ผู้ที่ไม่รู้ถึงเนื้อหาสาระ ซึ่งไปไม่พ้นพิธีกรรม และแล้วพิธีกรรมเหล่านี้ก็มีผลให้เกิดนิกายใหม่ขึ้นได้ในรัชกาลที่ ๓ ยิ่งได้รับบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ มาจนรัชกาลปัจจุบัน นิกายที่ว่านี้ก็เลยมีพรพิเศษ ถึงขั้นเป็นอภิสิทธิ์ชนในวงการสงฆ์เอาเลย

แม้นิกายใหม่นี้จะให้คุณูปการกับพุทธศาสนามิใช่น้อย แต่การเกิดนิกายใหม่พร้อมกับโลกทัศน์อย่างใหม่ ที่เกิดจากท่านที่เป็นต้นตอแห่งนิกายดังกล่าว ย่อมเหยียดโลกทัศน์เดิมว่าล้าหลัง เหลวเละ โดยที่พุทธศาสนาต้องเข้าได้กับวิทยาศาสตร์กระแสหลักของตะวันตก ซึ่งจะถือได้ว่านี่คือหายนะอันสำคัญสุดประการหนึ่งเอาเลยก็ว่าได้. แต่ถ้ารู้จักมองให้กว้างออกไปว่าวิทยาศาสตร์ของตะวันตก อาจเป็นที่ยอมรับของพุทธศาสนาก็ได้ โดยที่พุทธศาสนาครอบคลุมวิทยาศาสตร์ ทั้งทางโลกหรือวัตถุธรรมและทั้งทางนามธรรม ที่เป็นรหัสยนัยอย่างไปพ้นเหตุผลทางตรรกวิทยา หรือห้องทดลองของนักวิทยาศาสตร์กระแสหลักก็ยังได้ โดยที่พุทธศาสนาเน้นในทางโลกุตตรธรรม ที่วิทยาศาสตร์ตะวันตกเข้าถึงไม่ได้เอาเลย

ตั้งแต่เรื่องกิจจานุกิจ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ที่ปฏิเสธไตรภูมิพระร่วง หากหันไปหาโลกทัศน์ของตะวันตก โดยเห็นว่า ความเชื่อเดิมของเราเร่อร่า ล้าสมัย ไม่ใช่สาระของพุทธศาสนานั้น ในแง่หนึ่งก็นับว่าเอาชนะฝรั่งพวกมิชชันนารีได้ เพราะศาสนาคริสต์กับวิทยาศาสตร์นั้น ขัดกันเรื่อยมาตั้งแต่วิทยาศาสตร์ก้าวหน้ามาแต่เมื่อสี่ห้าร้อยปีที่แล้ว แต่การที่เราเดินตามสิ่งซึ่งเรียกว่าวิทยาศาสตร์ฝรั่งอย่างเซื่องๆ แล้วจะพิสูจน์ตามวิทยาศาสตร์ได้อย่างไรในเรื่องตายแล้วเกิด ในเรื่องผีสางเทวดา เปรต อสุรกาย เรามิต้องโยนอรรถกถาธรรมบททิ้งเสียหมดหรือ ยังวิมานวัตถุ และเปตวัตถุ ที่มาในพระไตรปิฎกเล่า โดยที่ความเชื่อตามฝรั่งอย่างนี้ ไม่ทำให้เราหันไปในทางมิจฉาทิฏฐิดอกหรือ

ยิ่งการใช้คำว่าสวรรค์ในอก นรกในใจ ที่มีแต่ชาตินี้เดี๋ยวนี้ด้วยแล้ว เราจะอธิบายในเรื่องสังสารวัฎฎ์และภวจักรได้อย่างไร และถ้าไม่แยบคายในเรื่องภาษาคน ภาษาธรรม ก็เลยปฏิเสธรหัสยนัยที่ลึกซึ้งเสียง่ายๆ แม้ในรัชกาลที่ ๔ ชนชั้นนำจะยังมีความเชื่ออย่างดั้งเดิม รวมถึงการพระราชพิธีต่างๆ ก็ยังเป็นไปในทางไสยศาสตร์ รวมถึงการสร้างพระสยามเทวาธิราชขึ้น นั่นก็ออกนอกพุทธศาสน์ไป และแล้วเมื่อแยกพุทธให้ไปพ้นไสยเสียจนหมด โดยไม่สยบไสยไว้ให้เชื่องในกำกับของพุทธ ไสยเวทวิทยาก็เลยสะกดชาวพุทธยิ่งๆ ขึ้นทุกที กล่าวคือสิ่งซึ่งอธิบายไม่ได้ กลายไปเป็นสิ่งซึ่งมีอิทธิพลเหนือสามัญมนุษย์ จนเป็นหายนะอย่างสุดๆ เอาเลย

(2)

ก่อนเกิดความทันสมัยของสยาม ซึ่งเริ่มแต่รัชกาลที่ ๔ และที่ ๕ นั้น คณะสงฆ์มีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับประชาชนพลเมือง แทบทุกละแวกบ้านมีวัด ซึ่งสร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาของราษฎรในท้องที่นั้นๆ ตามความสามารถของชาวบ้าน อย่างไม่เกินกำลังไป และต่างก็มีเอกลักษณ์ของตนตามวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ต่างกันออกไป อย่างบรรสานสอดคล้องกับธรรมชาติ

วัดเป็นสถานที่ให้การศึกษา ทั้งทางธรรมจริยาและวัฒนธรรม ตลอดจนอาชีวศึกษาและศิลปศึกษา เท่าที่จะสามารถอำนวยให้ได้ ที่สำคัญวคือ วัดช่วยสร้างค่านิยมให้ชาวบ้านมีความอ่อนน้อมถ่อมตน และมีทานการให้เป็นเจ้าเรือนที่สำคัญ แม้ศีลาจารวัตรจะบกพร่องไปบ้าง แต่ก็มักอยู่ด้วยกันอย่างเกื้อกูลกัน และอย่างเคารพธรรมชาติ แม้คนที่เข้าถึงการภาวนาขั้นสูงจะมีน้อย แต่ทาน ศีล ภาวนาในระดับทั่วๆ ไป นับว่าแพร่หลายพอสมควร ที่สำคัญ คือวัดสอนให้ทุกคนเห็นว่างานเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง และทุกงานย่อมเป็นไปด้วยความสนุกสนานในกรอบของวัฒนธรรม ไม่ว่าจะงานบุญ หรืออาชีพการงาน ย่อมมีร้องมีรำทำเพลงเกี่ยวข้องด้วยเสมอ (3) โดยที่คนส่วนใหญ่เป็นกสิกร ทัศนคติที่สำคัญในเรื่องผลิตผลทางการเกษตรคือ "นกที่มากิน ถือว่าเป็นทาน คนที่เอาไปกิน ถือว่าเป็นบุญ"

ที่สำคัญคือพระจะสอนให้คนมีสันโดษ พอใจในชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่ตะเกียกตะกาย แข่งขัน ชิงดีชิงเด่น คนรวยจะอุดหนุนจุนเจือวัดในทางวัตถุมากกว่าคนจน แต่กุศลสมาจารที่แท้ไปพ้นวัตถุธรรม แม้จะมีคนจนกับคนรวย แต่วิถีชีวิตก็ไม่ต่างกันมากนัก ทั้งพระยังสอนให้เห็นโทษของอำนาจอีกด้วย กล่าวคือ ความเป็นประชาธิปไตยของคณะสงฆ์นั้น มีอิทธิพลให้ชาวบ้านไม่หันไปนิยมชมชอบอำนาจในระบบเทวราชหรือทรราช ดังจะเห็นได้ว่า ชาดกต่างๆ ล้วนเน้นให้เห็นโทษของการปกครองโดยชนชั้นบน เช่น พระเตมียโพธิสัตว์ อธิษฐานที่จะไม่ครองราชย์ ด้วยการยอมเป็นไบ้เสียดีกว่า. พระเวสสันดรก็ถูกประชามติขับไล่ให้ไปลี้ภัยในป่า เพราะทานบารมีของท่าน ขัดกับผลประโยชน์ของราษฎร. ยังสุวรรณสังข์ชาดก ซึ่งรจนาขึ้นทางเชียงใหม่นั้น ถึงกับกลายไปเป็นพระราชนิพนธ์เรื่องสังข์ทอง แต่ก็ชี้ให้เห็นถึงความหูเบาของท้าวยศวิมล ที่เชื่อเมียน้อยจนยอมเอาลูก (ซึ่งผิดปกติ) ไปถ่วงน้ำ พระสังข์เองซึ่งเป็นชนชั้นบน แม้จะได้รับการเลี้ยงดูอย่างยอดเยี่ยมจากนางพันธุรัตน์ ซึ่งเป็นชาวป่า (อนารยะ) แต่กลับขโมยของจากแม่เลี้ยง ซึ่งรักพระสังข์ดังลูกในอุทร ตามไปร้องไห้ ขอให้กลับไปอยู่ด้วย จนอกแตกตาย ก่อนตายยังเขียนมนต์เรียกเนื้อเรียกปลาให้

ต่อมารดาเลี้ยงตายแล้ว พระสังข์จึงลงจากเขามาทำศพให้ นี่ก็ออกจะเป็นนิสัยสันดานของชนชั้นปกครองที่แท้ และมนต์เรียกเนื้อเรียกปลานี้ก็น่าสังเกต เพราะพระสังข์จะต้องการเนื้อต้องการปลาเท่าไรก็ได้ หากพระสังข์บอกกับเนื้อกับปลาว่าตัวไหนถึงที่ตาย ค่อยมาให้พระสังข์จับ เพื่อเอาไปให้พ่อตา ซึ่งก็เป็นพระราชาที่โง่เขลาเบาปัญญาอีกองค์หนึ่ง

ก่อนรัชกาลที่ ๔ ที่ ๕ ราษฎรทั่วไปไม่อยากเข้าไปอยู่ในแวดวงของอำนาจ คือรับราชการ หรืออยากเป็นเศรษฐีมีทรัพย์อย่างล้นเหลือ ปล่อยให้ชาวต่างประเทศหลงระเริงไป หาไม่ก็ให้คนมักใหญ่ใฝ่สูงจำนวนน้อยเท่านั้นที่หลงอำนาจไป (4) เพราะพระอนิจลักษณะสอนว่าสมบัติย่อมวิบัติและอำนาจก็ไม่คงทนอยู่ได้นาน ทั้งผู้มีทรัพย์และมีอำนาจมักติดอยู่กับความโลภ โกรธ หลง ยิ่งกว่าคนธรรมดาสามัญเป็นไหนๆ

ชาวบ้านส่วนใหญ่พึ่งตนเอง พึ่งกันและกัน รวมถึงพึ่งธรรมชาติ พระและภูมิปัญญาชาวบ้านสอนให้เขาเอาตัวรอดได้อย่างสมภาคภูมิ ทั้งทางอาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย และเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งแต่ละท้องถิ่นมักมีเอกลักษณ์ของตนเองอย่างงดงาม รวมถึงความไพเราะต่างๆ ทางคีตศิลป์อีกด้วย

แม้ในระดับเมือง ชนชั้นบนจะใช้สินธูธรรม (5) ในการปกครองมากกว่าพุทธธรรม คืออาณาจักรต้องใช้อำนาจ ต้องทำสงคราม ต้องจองจำผู้คน แต่คณะสงฆ์ก็เป็นธรรมจักร คอยเป็นมโนธรรมสำนึก ไม่ให้ชนชั้นบนเลวร้ายหรือโหดเหี้ยมเกินไป แม้ชนชั้นปกครองจะประพฤติตามทศพิธราชธรรมไม่ได้โดยตลอด แต่อย่างน้อยนั่นก็เป็นแนวทางอย่างกว้างๆ ให้เห็นคุณค่าของทาน (การให้) ศีล (ความประพฤติดีงาม) ปริจาคะ (เสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อมหาชน) อาชชวะ (ซื่อตรงไร้มารยา) มัททวะ (อ่อนโยน) ตปะ (ทำกิจให้บริบูรณ์) อักโกธะ (ไม่โกรธง่ายๆ) อวิหิงสา (ไม่กดขี่เบียดเบียน) ขันติ (อดทนคำวิพากษ์วิจารณ์) อวิโรธนะ (หนักแน่นในความถูกต้อง ชอบธรรม)

ยิ่งพระราชาตั้งตนเป็นพระจักรพรรดิ์ อย่างพระเจ้ากรุงสยามหรือพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาด้วยแล้ว ย่อมต้องถือตามจักรวรรดิวัตรอีกด้วย กล่าวคือ พระเจ้าเชียงใหม่ ย่อมเป็นเพียงประเทศราชา หรือเป็นประเทศราชอันเป็นอาณานิคมของพระเจ้าจักรพรรดิ์ ซึ่งย่อมต้อง

- ถือธรรมเป็นใหญ่
- ปกครองอย่างชอบธรรม
- ป้องกันแก้ไขในทางประคับประคองความเดือดร้อนต่างๆ
- ปันทรัพย์ให้ผู้ยากไร้
- ปรึกษาสมณะหรือผู้ประพฤติดีอยู่เนืองนิตย์

ในข้อ ๒ นั้น รวมถึงการดูแลประเทศราช ตลอดจนชุมชนต่างๆ ให้คงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของเขาไว้ รวมถึงดูแลมฤคปักษีและธรรมชาติต่างๆ ให้อุดมสมบูรณ์อีกด้วย

ข้อต้นในทศพิธราชธรรม หมายถึงที่ในพระราชวังย่อมมีการใส่บาตรเป็นประจำ ข้อสุดท้ายในจักรวรรดิวัตร หมายถึงพระราชาทรงสดับพระธรรมเทศนาเป็นประจำ เป็นต้น

ภายหลังราชประเพณีที่ว่านี้ มีแต่เพียงรูปแบบอย่างปราศจากเนื้อหาสาระ เมื่อสาระยังดำรงคงอยู่ พระราชาย่อมฟังคำเตือนของพระเถระที่เป็นดังมโนธรรมสำนึก เช่น พระนเรศวรฟังสมเด็จพระวันรัต วัดป่าแก้ว, พระเพทราชา ฟังสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธสวรรย์, พระนั่งเกล้าฯ ฟังสมเด็จพระญาณสังวร วัดราชสิทธิ และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดโมลีโลกย์ นอกเหนือไปจากพระธรรมกถึก ที่สามารถ เช่น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) วัดประยูรวงศ์และพระธรรมอุดม (ถึก) วัดพระเชตุพนฯ

การที่พระเถระยอมรับสมณศักดิ์ ก็เพื่อจะได้คอยเตือนสติพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านาย ตลอดจนขุนนางผู้ใหญ่ ไม่ได้รับสมณศักดิ์เพื่อไต่เต้าเอาดีอย่างขุนนาง ข้าราชการ. ขรัวโต วัดระฆัง เห็นว่าพระราชามหากัตริย์ มีพระผู้ใหญ่คอยเตือนพระสติมากพอแล้ว ท่านจึงไม่รับสมณศักดิ์ จนมาถึงยุคแห่งความทันสมัยของสยาม ท่านถึงยอมรับสมณศักดิ์ในรัชกาลที่ ๔ ที่ ๕ ทั้งนี้ก็เพราะท่านเชื่อในบุคคลิกภาพของท่านหรืออัจฉริยภาพของท่านว่า สามารถเป็นมโนธรรมสำนึกให้ชนชั้นปกครองได้ ในสมัยที่บ้านเมืองรับเอาคติใหม่ๆ มามาก โดยที่พระเถระส่วนใหญ่ไม่สู้จะรู้เท่าทันโลกทัศน์อย่างใหม่เสียแล้ว

การที่เราไปเข้าใจถึงคุณค่าของสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต วัดระฆัง ว่าเป็นไปในทางอิทธิปาฏิหารย์ต่างๆ นั้น นั่นคือความหายนะแห่งยุคสมัยโดยแท้ ทั้งนี้โดยไม่จำต้องกล่าวถึงการใช้ชื่อเสียงเกียรติคุณของพระคุณท่านในทางไสยเวทวิทยา เพื่อพุทธพาณิชย์ ตามกระแสทุนนิยมและ บริโภคนิยมในสมัยของโลกาภิวัตน์

(3)

ในยุคที่สยามถือตนว่าเริ่มเข้าสู่ความทันสมัยอย่างฝรั่งนั้น พระราชาถือว่าทรงรู้ดีกว่าพระมหาเถระ พระจอมเกล้าฯ ถึงกับตรัสกับนางในว่า แม้จะทรงลาสิกขาออกมาแล้ว ก็ยังทรงแสดงธรรมได้ดีกว่าพระภิกษุสงฆ์ (ดังพระราชนัดดาก็ทรงเอาอย่างมา ทรงพระราชนิพนธ์ "เทศนาเสือป่า" เป็นเหตุให้ราชบริพารบางคนศรัทธาออกบวช เพราะพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้ จะด้วยความจริงใจ หรือเพื่อประจบสอพลอพระราชาก็สุดแท้) โดยที่เมื่อมาถึงรัชกาลที่ ๖ ด้วยแล้ว ชนชั้นนำเห็นว่าพระเถระทั่วๆ ไปล้าสมัยไปเสียแล้ว ยิ่งแต่รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา เลิกการศึกษาจากวัดตามแบบเดิมๆ มา หากหันไปหาการศึกษาแบบตะวันตกด้วยแล้ว นั่นคือการทำลายพระพุทธศาสนาอย่างสำคัญยิ่ง ยิ่งส่งชนชั้นนำไปเรียนเมืองนอก คนที่เรียนภายในประเทศเลยเกิดปมด้อยขึ้นอย่างไม่จำเป็น ทั้งๆ ที่การเรียนเมืองนอกไม่อาจสร้างคุณค่าในทางธรรมจริยาให้ได้เลย

ในอดีต พระราชาย่อมสร้างพระอารามหลวงประจำรัชกาลเสมอมา พอมาถึงรัชกาลที่ ๖ ทรงเห็นว่าราชประเพณีที่ว่ามานี้พ้นสมัยไปแล้ว จึงโปรดให้สร้างโรงเรียนกินนอนอย่างอังกฤษขึ้นแทน แสดงว่าสาระของพระอารามหมดไปเอาเลย อย่างน้อยก็ในแง่ของราชสำนัก ทั้งๆ ที่อารามเคยเป็นทุกๆ อย่างในทางคุณธรรมและวัฒนธรรม ตลอดจนการอบรมบ่มนิสัยให้ผู้คนในทางความอ่อนน้อมถ่อมตน อย่างมีสัมมาคารวะ ไม่แต่กับพระ และฆราวาสเท่านั้น หากรวมถึงธรรมชาติทั้งหมด ดังจะเห็นได้ว่า เกยที่มีหน้าพระอารามหลวงนั้น มุ่งให้เห็นชัดว่าพระราชาจะสูงส่งเพียงใดในแผ่นดิน เสด็จโดยพระราชยาน หรือพระคชธาร ทรงพระชฎามหากฐิน ฉลองพระบาทเชิงงอน แต่พอถึงหน้าวัด ต้องเสด็จขึ้นเกย เพื่อเปลื้องเครื่องสูงออกหมด เสด็จโดยพระบาทเปล่าเข้าพระอาราม เฉกเช่นสามัญชน และประทับกับพื้น ต่ำกว่าอาสน์สงฆ์ เพื่อทรงไว้ซึ่งพระอัปปัจยนธรรม (ความอ่อนน้อมถ่อมพระองค์)

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงเห็นว่ากรุงสยามต้องศรีวิไลไม่แพ้ฝรั่ง ซึ่งใส่รองเท้าเข้าโบสถ์ของเขาได้ ทั้งๆ ที่เขาก็เคารพพระเจ้าของเขา เราก็น่าจะใส่รองเท้าเข้าโบสถ์วิหารของเราได้ ด้วยการอนุวัตรตามอารยธรรมตะวันตก ทั้งยังควรนั่งเก้าอี้ในโบสถ์ในวิหารด้วย ไม่ให้น้อยหน้าฝรั่ง แล้วนี่มิเป็นการถอนรากถอนโคนจากคติธรรมดั้งเดิมของเราดอกหรือ

คณะสงฆ์สยามได้ลดความสำคัญลงตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา เมื่อวัดมหาธาตุปลาสนาการไปจากการเป็นที่ประทับของสกลมหาสังฆปริณายก แม้ในต้นรัชกาล กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสจะทรงดำรงตำแหน่งดังกล่าวที่วัดพระเชตุพน แต่นั่นก็เพราะทรงเป็นพระบรมราชวงศ์ ซึ่งทรงสามารถในทางกวีนิพนธ์ แต่ไม่ทรงถนัดทางบริหารการพระศาสนา ดังในรัชกาลที่ ๓ ทรงเตรียมไว้แล้วที่จะอาราธนาพระพิมลธรรม (อู่) วัดสุทัศน์ ให้เป็นสมเด็จพระสังฆราช ก็เลยต้องพลาดไป แม้ประวัติศาสตร์จะเขียนว่าทรงยกย่องพระมหานิกายไม่น้อยไปกว่าพระธรรมยุติ แต่ข้อเท็จจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ และเมื่อกรมสมเด็จพระปรมานุชิต สิ้นพระชนม์ลงแล้ว ก็ว่างสกลมหาสังฆปริณายกอยู่จนสิ้นรัชกาลที่ ๔ โดยจะกล่าวว่าพระราชาทรงเป็นสังฆราชเสียเองก็ยังได้ เฉกเช่นเมื่อสิ้นสมเด็จพระสังฆราช (สา) ในรัชกาลที่ ๕ แล้ว ก็ว่างตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายกจนตลอดรัชกาล แสดงว่าพระราชาทรงเป็นสังฆราชาเองอีกเช่นกัน แม้พระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ก็ตราไว้ชัดว่า กรรมการมหาเถรสมาคมเป็นการกสงฆ์ ประชุมกันหารือเป็นมติ เพื่อถวายให้ทรงใช้พระบรมราชวินิจฉัย

กล่าวอย่างจังๆ ก็ได้ว่า ในรัชกาลที่ ๕ ทรงผนวกเอาคณะสงฆ์หรือธรรมจักรมาอยู่ในอาณัติของอาณาจักร ทั้งๆ ที่วงล้อทั้งสองเคยแยกจากกันอย่างต่างก็เป็นอิสระ หากเกื้อกูลกันและกัน และแต่นั้นเป็นต้นมา คณะสงฆ์สยามก็อ่อนแอลงเรื่อยๆ จนเกือบจะถึงที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งสยบยอมกับขัตติยาศักดินาธิปไตย และลัทธิทุนนิยม บริโภคนิยม อย่างเต็มที่

แม้ในรัชกาลที่ ๕ จะโปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส ทรงจัดการศึกษาตามหัวเมืองต่างๆ ร่วมกับกรมหลวงดำรงราชานุภาพ แต่การศึกษาอย่างใหม่นี้ แม้จะอาศัยพระและอาศัยวัด แต่ก็จัดให้เยาวชนสยบยอมกับอำนาจรัฐ และให้จงรักภักดีกับพระมหากษัตริย์อย่างที่ไม่เคยเป็นมาแต่ก่อน

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ กรมวชิรญาณ ได้ทรงเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ปกครองการคณะสงฆ์อย่างสิทธิขาด แต่ก็ทรงใช้อำนาจในทางขัตติยราชยิ่งกว่าในทางธรรมาธิปไตย นอกจากทรงยืนหยัดในทางอภิสิทธิ์ของคณะธรรมยุติแล้ว ยังโปรดให้พระมหานิกายหันมาห่มแหวกตามอย่างธรรมยุติอีกด้วย โดยที่พระมหานิกายแปลงเหล่านี้พลอยได้รับหน้าที่สำคัญทางพระสังฆาธิการ และได้เลื่อนสมณศักดิ์อย่างสูงส่งยิ่งกว่าพระมหานิกายเดิมเป็นไหนๆ และทรงใช้คณะสงฆ์นี้แล เพื่อแพร่หลายพระราชนิยมออกไปยังสังฆมณฑลต่างๆ จนแทบทั่วราชอาณาจักร พระธรรมยุติและพระมหานิกายแปลงเป็นพาหะให้ราชสำนักได้ยิ่งกว่าพระมหานิกายเดิม

อันตรายที่ร้ายแรงอย่างที่สุดก็คือการศึกษาของคณะสงฆ์อย่างใหม่ ที่เน้นเพียงการเรียนรู้ภาษาบาลีและนักธรรมตรี โท เอก ซึ่งก็ให้คุณอยู่มิใช่น้อย แต่ได้ทำลายการศึกษาดั้งเดิมของวัดให้แทบหมดไป เพราะถือว่า หลายอย่างที่มีเรียนอยู่กันตามวัด เป็นดิรัจฉานวิชา และการพระปริยัติศึกษาที่ขาดมิติทางปฏิบัติศึกษา (ซึ่งองค์สกลมหาสังฆปริณายกรับสั่งว่า ตรวจสอบความเจริญงอกงามทางด้านนี้ไม่ได้) ด้วยแล้ว นับว่าให้โทษโดยแท้ ยิ่งผนวกไปกับโลกทัศน์อย่างใหม่ พระเณรรุ่นใหม่ก็เลยอยากเป็นคนทันสมัย ที่มุ่งไปทางวัตถุธรรมอย่างหยาบ แทนที่จะเข้าถึงนามธรรมอันล้ำลึก การเรียนย่อมเป็นไปเพื่อไต่เต้าในทางสังคมสงฆ์ เพื่อสมณศักดิ์หรือการเป็นพระสังฆาธิการ หาไม่ก็เตรียมสึกออกไปรับราชการ ซึ่งเริ่มขยายตัวขึ้นแต่ต้นรัชกาลที่ ๕ กล่าวคือทางราชการพร้อมจะรับสามัญชนเข้าสู่วงการของรัฐ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างใหม่ตามแบบฝรั่ง และขยายไปทั่วราชอาณาจักร จึงต้องการคนมีการศึกษายิ่งๆ ขึ้น แม้เปรียญลาพรตก็มีการศึกษาดีพอที่จะรับใช้รัฐได้แล้ว ในขณะที่พวกซึ่งเรียนตามโรงเรียนฝรั่งของพวกมิชชันนารี พอใจไปรับจ้างกับห้างร้านฝรั่งมากกว่า

พูดอย่างไม่อ้อมค้อมก็คือ การพระปริยัติศึกษาแบบใหม่ที่จัดโดยสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสนั้น ให้โทษกับการคณะสงฆ์ยิ่งกว่าให้คุณ และการเรียนบาลีเพื่อสอบเอาประโยคสูงๆ ขึ้นไป ซึ่งไม่ใช่ราชประเพณีเดิมนั้น ทำให้นักเรียนแข่งขันกันและการสอบประโยคสูงๆ ขึ้นไป ก็เข้มงวดกวดขันยิ่งๆ ขึ้น โดยที่นักเรียนไม่มีเวลาเจริญจิตสิกขา ศีลสิกขา ก็เลยเป็นรูปแบบที่ตรึงตราเจ้ากู ยิ่งกว่าจะมีความเป็นปกติ พระนักเรียนจึงเป็นโรคประสาทตามๆ กันไป หาไม่ก็สึกหาลาเพศไปกันยิ่งๆ ขึ้น แม้ในสมัยครั้งกระโน้น อลัชชีจะยังมีน้อยก็ตาม เพราะอุปัชฌาย์อาจารย์และเพื่อนสหธรรมิกยังกวดขันกันในเรื่องพระธรรมวินัย ทั้งชาวบ้านก็ไม่แต่อุดหนุนจุนเจือพระในทางอามิสทาน หากยังคอยเอาใจดูหูใส่ในทางกำจัดเจ้ากูที่ออกนอกกรอบของพระวินัยมากเกินไปอีกด้วย

จะอย่างไรก็ตาม สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงถือว่าการพระศาสนาต้องเป็นไปตามระบอบของราชาธิปไตย เพราะพระพุทธเจ้าก็ทรงเป็นขัตติยราช เจ้านายย่อมเข้าใจพุทธศาสนาได้ดีกว่าไพร่หรือสามัญชน แม้การประกาศพระราชสงครามในรัชกาลที่ ๖ ต่อต้านฝ่ายอักษะนั้น ก็ทรงเห็นว่าเป็นธรรมาธรรมะสงคราม ดังทรงเทศนาว่าด้วยเรื่องนี้เป็นพิเศษ พระเจ้าอยู่หัวถึงกับทรงแปลพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้เป็นภาษาอังกฤษ ให้แพร่หลายออกไปยังเมืองพุทธศาสนา ซึ่งอยู่ในจักรวรรดิอังกฤษ โดยเฉพาะก็พม่าและลังกา ทั้งยังทรงพระราชนิพนธ์เป็นคำฉันท์ในเรื่องดังกล่าวอีกด้วย ผลก็คือทรงได้รับการยกย่องให้เป็นนายพลเอกกิตติมศักดิ์ของกองทัพอังกฤษ (6)

เคราะห์ดีที่เรามีพระที่ไม่หันตามไปกับชาตินิยมหรือขัตติยนิยมอย่างพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท) ซึ่งแสดงธรรมานุศาสน์ (7) ชี้ให้เห็นว่าการรบราฆ่าฟันหรือการใช้อาวุธ ถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิและเป็นการทุศีลด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะฝ่ายอักษะหรือสัมพันธมิตร ผลก็คือพระคุณท่านถูกถอด แต่ก็ต้องคืนและเลื่อนสมณศักดิ์ถวาย เพราะความเป็นสมณะที่แท้ของพระคุณท่าน

ทั้งๆ ที่พระคุณท่านบวชอยู่ในธรรมยุติกนิกาย แต่ก็มีความเป็นสมณะ ที่เห็นคุณค่าของพระรัตนตรัยยิ่งกว่าพระราชอำนาจ ทั้งๆ ที่การตั้งคณะธรรมยุติขึ้นในภาคอีสานแต่รัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมานั้น เป็นการวางแผนเพื่อกระจายพระราชอำนาจออกไปให้กว้างขวางยิ่งๆ ขึ้น เพื่อเอาชนะพระพื้นเมือง ซึ่งเพิ่งรู้ตัวว่าเป็นพระมหานิกาย ยังการที่ชาวบ้านเขาถวายสมณศักดิ์กันเองให้เป็นสมเด็จ เป็นครูบา เป็นซา ฯลฯ ต่อมาก็ถูกสมณศักดิ์จากราชสำนักบดบังจนหมด และถ้าพระคุณเจ้านั้นๆ ไม่สยบยอมกับสังฆาณัติของราชธานี ก็ถูกกักขัง ควบคุมและกีดขวางการงานด้านพระศาสนาแทบทุกๆ ทาง ดังกรณีของครูบาศรีวิชัย เป็นตัวอย่าง

(4)

ในปลายสมัยราชาธิปไตยนั้น ชนชั้นปกครองเริ่มเห็นโทษของการศึกษาอย่างใหม่แล้ว ว่ามีผลกระทบทางลบกับพุทธศาสนา ดังพระปกเกล้าฯ ถึงกับมีพระราชปรารภว่า เยาวชนเริ่มไม่เชื่อตามคำสอนของพุทธศาสนา โดยเฉพาะก็ในเรื่องกรรมและวัฏฏสงสาร โดยที่ในรัชกาลก่อนหน้านั้น ชนชั้นปกครองก็พากันเห็นว่าพระสอนคนร่วมสมัยไม่ได้แล้ว เพราะมัวแต่มุ่งให้เด็กเรียบร้อยเป็นดังผ้าพับไว้ จนในรัชกาลดังกล่าว เห็นกันว่าลูกเสือเหมาะสมกับการสร้างค่านิยมให้เยาวชน โดยเฉพาะชนชั้นสูงเริ่มไม่เห็นคุณค่าของการบวชเรียนอีกแล้ว ทั้งๆ ที่ตราบจนรัชกาลที่ ๕ ใครที่ไม่ได้บวชพระ ย่อมยากที่จะได้รับบรรดาศักดิ์ถึงขั้นเป็นหลวง แม้ ม.ร.ว. เปีย มาลากุล ได้เป็นพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์แล้ว ก็ยังต้องออกบวชพรรษาหนึ่ง ในขณะที่พระเจ้าลูกยาเธอเองแทบไม่มีใครยอมทรงผนวชกันเอาเลย

พระปกเกล้าฯ โปรดให้ราชบัณฑิตยสภาจัดการประกวดหนังสือพระพุทธศาสนาสอนเด็ก โดยหวังว่านี่จะเป็นคำตอบแทนการแสดงธรรมตามแบบเดิมๆ มา ทั้งๆ ที่โปรดให้มีวิทยุธรรมเทศนาทุกวันธรรมสวนะด้วยแล้วก็ตาม แต่แล้วความดำริริเริ่มที่ดีดังกล่าวนี้ ก็ไม่สัมฤทธิ์ผล เพื่อให้พุทธศาสนาเข้าไปเป็นเนื้อหาสาระแห่งชีวิตของคนรุ่นใหม่ ดังโรงเรียนสอนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ที่ริเริ่มกันขึ้นในรัชกาลนี้ ก็เป็นความล้มเหลวที่ยังไม่ได้รับการประเมินผลกันอย่างจริงจังนั่นเอง

พระมหาเงื่อม อินทปัญโญ ดูจะเป็นพระรูปแรกหรือรูปเดียว ที่แลเห็นว่าการพระศาสนาในราชธานีล้มเหลว โดยที่เมื่อแปดสิบปีก่อน การพระศาสนาในชนบทยังมีชีวิตชีวาอยู่ เพราะสิ่งซึ่งเรียกว่าอารยธรรมสมัยใหม่ไปไม่ถึง พระและวัดยังเป็นแกนกลางทางการสร้างคุณค่าให้กับชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งอุดหนุนวัดพร้อมๆ กับดูแลพระ ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางของพระธรรมวินัย พร้อมๆ กันนั้น เราก็ต้องตราไว้ว่า ชนบทของเราเมื่อแปดสิบปีก่อนมานี้ ยังคงเป็นสังคมกสิกรรมอยู่โดยมาก และพุทธศาสนาของเราเข้ากันได้ดีกับสังคมอันเรียบง่ายดังกล่าว

ในขณะที่ทางราชธานีนั้น เป็นสังคมเมืองที่หันไปตามฝรั่งยิ่งๆ ขึ้น แต่รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา และเกิดชนชั้นกลางขึ้น แม้ระบบอุตสาหกรรมจะยังน้อย แต่ระบบพาณิชยการ และการเป็นลูกจ้าง ตลอดจนข้าราชการอย่างใหม่ ก็ห่างไปจากพระและจากวัดยิ่งๆ ขึ้นทุกที พระเองก็ไม่มีความรู้ในเรื่องความทันสมัยพอ ที่จะประยุกต์ธรรมมาสอนคนพวกนี้ได้ ประเพณีและพิธีกรรมก็ยังเป็นแบบเดิมๆ มา โดยที่คนรุ่นใหม่ไม่เข้าใจเนื้อหาสาระของพิธีกรรมดังกล่าวยิ่งๆ ขึ้น

แม้ในรัชกาลที่ ๕ จะทรงตั้งพระหฤทัยให้การศึกษาของคณะสงฆ์นำทางโลก หรือไม่ให้น้อยหน้าไปกว่าทางโลก ดังทรงตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัย ขึ้นสำหรับคณะธรรมยุติ และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยขึ้นสำหรับมหานิกาย ก่อนเกิดสถาบันอุดมศึกษาทางโลกในสยามประเทศเสียอีกด้วยซ้ำไป แต่ราชวิทยาลัยทั้งสองก็ล้มเหลวมาแต่ในสมัยราชาธิปไตย จนเพิ่งมาฟื้นขึ้นในรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งก็ยังเป็นสถาบันอุดมศึกษาลูกเมียน้อย เมื่อเปรียบกับมหาวิทยาลัยทางโลก ยังเจ้ากูที่เรียนในมหาวิทยาลัยทั้งสอง ก็ขาดมิติทางจิตสิกขา ดังการเรียนบาลีนั้นแล ทั้งยังถูกพระปรมาภิไธยของทั้งสองรัชกาลนั้นสะกดให้สยบยอมอยู่กับขัตติยาธิปไตย อย่างน่าสมเพทอีกด้วย

ตลอดสมัยราชาธิปไตย พระสังฆาธิการฝ่ายมหานิกายที่มีมนสิการ ย่อมรู้สึกกันอยู่ทั่วไปว่าถูกฝ่ายธรรมยุติกนิกายกดเอาไว้ในแทบจะทุกๆ ทาง แม้พระมหานิกายแปลงจะได้ภาษีกว่าพระมหานิกายเดิมอยู่บ้างก็ตามที. พระจุลจอมเกล้าฯ ก็ทรงตระหนักความข้อนี้ในตอนปลายรัชกาล ดังถึงกับบริภาษพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรสในเรื่องนี้ว่า อย่างเก่งในกรมก็ทรงต้องการอุดหนุนพระมหานิกายแปลงให้เงยหน้าอ้าปากได้เพียงแค่วัดมหาธาตุและวัดอนงค์ โดยที่ทั้งสองสำนักนี้ย่อมด้อยกว่าวัดบวรนิเวศยิ่งนัก จึงทรงใช้ขัตติยมานะ หรือทรงหวังผลทางการเมืองก็แล้วแต่ ให้สร้างวัดเบญจมบพิตรเป็นวัดมหานิกายวัดแรกของพระราชวงศ์จักรี แต่เริ่มมีธรรมยุติกนิกายเป็นต้นมา ทั้งยังต้องพระราชประสงค์จะให้วัดนี้เป็นดัง Oxbridge ของอังกฤษ ทรงใช้คำว่า College ยิ่งกว่าคำว่า University โดยจะโปรดให้วัดใหญ่สุวรรณาราม ที่เพชรบุรี เป็นแบบอย่างในทาง Monastery อีกด้วย เพราะมาถึงช่วงนั้น ชนชั้นนำของเราถูกทัศนคติแบบอังกฤษสะกดเอาไว้เสียแล้ว และที่ทรงเลือกวัดใหญ่นั้น อาจเป็นเพราะทรงหวังพระราชหฤทัยจะทรงสละราชสมบัติในพระปัจฉิมวัย เพื่อเสด็จไปอยู่กับเจ้าจอมสาวๆ ก๊ก ออ ที่จังหวัดเพชรบุรีอีกด้วยก็เป็นได้

จะอย่างไรก็ตาม คณะธรรมยุติกนิกายได้รับพรพิเศษให้ขยายตัวออกไปตามหัวเมืองต่างๆ ไล่ๆ กับการขยายตัวของระบบเทศาภิบาลที่สะกดให้จังหวัดต่างๆ สยบยอมกับพระราชามหากษัตริย์นั้นแล รวมทั้งการตั้งสมณศักดิ์จากราชสำนักก็ขยายออกไป ดังวัดเจดีย์หลวงของเชียงใหม่ก็กลายเป็นวัดธรรมยุติไป ทางสงขลา พระราชาคณะที่ดำรงสมณศักดิ์สูงสุดก็อยู่ในคณะธรรมยุติ ยิ่งทางภาคอีสานด้วยแล้ว คณะธรรมยุตินำแบบแผนทางอรัญวาสีของเดิม มาให้กลายเป็นสายวัดป่า ที่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง จนถึงจำปาศักดิ์ในลาว โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่อุบลราชธานี และอุดรธานี และอาศัยการปลุกสันปั้นแต่งให้ไม่แต่เกิดพระเกจิอาจารย์ หากให้เกิดพระอรหันต์ขึ้นในสายวัดป่าดังกล่าวเอาเลย

การยกย่องพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระนั้น สังเกตกันบ้างไหมว่า ออกจะเกินเลยไป ทั้งๆ ที่พระคุณท่านก็เป็นพระเถระที่น่าเคารพนับถือยิ่งนัก ทั้งท่านยังใจกว้างนอกลัทธินิกายอีกด้วย ดังท่านรับพระอาจารย์ชา สุภัทโทไว้เป็นศิษย์อย่างสนิทใจ แต่แล้วการประกาศคุณวิเศษในทางอุตริมนุสธรรมของพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโนนั้นเล่า กลับไม่มีใครกล้าท้าทายหรือทักท้วงในทางธรรมวินัยเอาเลย ทั้งนี้โดยไม่ต้องเอ่ยถึงพระอาจารย์แหวน สุจิณโณ ซึ่งมามีอิทธิพลจนถึงเชียงใหม่ด้วยซ้ำไป

(5)

เมื่อเกิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เพื่อราษฎรจะได้ประกาศอิสรภาพจากเจ้านายซึ่งเป็นอภิสิทธิชนอยู่ในเวลานั้น ยุวสงฆ์จำนวนหนึ่งย่อมได้รับแรงบันดาลใจ จนตั้งเป็นคณะปฏิสังขรณ์ขึ้น เพื่อพระมหานิกายจะได้ประกาศอิสรภาพจากการครอบงำหรือการกดขี่ของพระสังฆาธิการฝ่ายธรรมยุติ (8)

รัฐบาลของคณะราษฎรอุดหนุนขบวนการดังกล่าวของยุวสงฆ์ โดยเฉพาะก็นายปรีดี พนมยงค์ จึงเกิดพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่ขึ้นได้ในปี ๒๔๘๔ ซึ่งกินเวลาเกือบทศวรรษ จากวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ อย่างน้อยพระราชบัญญัตินี้ ก็มีรูปแบบให้เป็นไปในทางประชาธิปไตย โดยให้มีสังฆสภาคอยควบคุมฝ่ายบริหาร (ดุจดังรัฐสภาของทางโลก) และคณะสังฆมนตรี ดุจดังคณะรัฐมนตรีและมีคณะพระวินัยธร ดุจดังศาลสถิตยุติธรรม ทั้งยังตั้งความหวังไว้ว่า อาจรวมนิกายสงฆ์ทั้งสองให้เป็นหนึ่งเดียวกันในเวลาสิบปี ต่อแต่การประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว

ผู้ซึ่งรังเกียจพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นอย่างยิ่ง คือเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติ ที่วัดบวรนิเวศ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเอาเงินของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยไปอุดหนุนการกบฏของพระองค์เจ้าบวรเดช จนแทบจะถูกถอดออกจากสมณศักดิ์ โดยที่ถ้ายังเป็นไปในระบอบราชาธิปไตยอยู่ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว. ชื่น นพวงศ์) ย่อมจะได้เป็นสกลมหาสังฆปริณายก ต่อจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ แห่งวัดราชบพิธ อย่างไม่ต้องเป็นที่พึงสงสัย แต่แล้วท่านก็ถูกข้ามไป ให้สมเด็จพระวันรัต (แพ ติสเทโว) วัดสุทัศน์ ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ตำแหน่งดังกล่าวไปตกอยู่กับฝ่ายมหานิกาย จำเดิมแต่สิ้นกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นต้นมา

อนึ่ง ขอให้พึงสังเกตว่า กรมสมเด็จพระองค์นี้ ทรงได้รับมหาสมณุตมาภิเษกในรัชกาลที่ ๔ ดุจดังที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ได้รับบวรราชาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สองในรัชกาลนั้น ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๕ กรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ จึงได้ทรงรับพระสถานะเป็นพระมหาสมณะขึ้นคล้ายๆ กัน และในรัชกาลที่ ๖ สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก็ได้ทรงรับพระสถานะเป็นพระมหาสมณะอีกด้วย กล่าวคือเจ้านายชั้นสูง มีพระสถานะเหนือสมเด็จพระสังฆราชที่เป็นคนธรรมดาสามัญ แม้เจ้านายที่ไม่สูงส่งนัก แต่ก็สูงกว่าสามัญชน ย่อมทรงได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า

แต่ในรัชกาลที่ ๖ โปรดให้เปลี่ยนฐานันดรศักดิ์ "กรมสมเด็จพระ" ให้ใช้คำนำพระนามว่า "สมเด็จกรมพระยา" แทน โดยโปรดให้อธิบดีสงฆ์วัดบวรนิเวศเป็นสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ และสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตามลำดับ ส่วนอธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพน ซึ่งทรงเป็นกรมสมเด็จพระ ฝ่ายบรรพชิตเป็นพระองค์แรก หากโปรดให้เป็นเพียงสมเด็จกรมพระ ทั้งนี้แสดงอาการกดพระมหานิกายหรือมิใช่ ทั้งๆ ที่ทรงเป็นพระญาติชั้นผู้ใหญ่ (9) ดังในรัชกาลที่ ๕ หม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันท์ วัดระฆัง เมื่อโปรดให้เป็นหม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ แล้วย้ายไปเป็นอธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพน ก็ไม่ได้รับเลื่อนพระสถานะทางราชสกุลยศให้เป็นพระองค์เจ้า ผิดกับพระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร วัดราชบพิธ ซึ่งก็ทรงเป็นหม่อมเจ้าพระมาก่อน แล้วเลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์เช่นเดียวกัน

นี่แสดงถึงความจงใจของราชตระกูลที่อุดหนุนธรรมยุติกนิกายยิ่งกว่ามหานิกาย เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ แล้ว พยายามปรับไม่ให้มหานิกายน้อยหน้าธรรมยุติ ทั้งยังมีระบอบการคณะสงฆ์ให้เป็นไปในทางประชาธิปไตยอย่างของทางโลก นับว่าน่าสำเหนียก แต่การไม่เลิกสมณศักดิ์ (แม้บรรดาศักดิ์ของฆราวาส ยังยกเลิกไปได้) และไม่ได้จัดการศึกษาให้พระรุ่นใหม่เข้าใจถึงเนื้อหาสาระของประชาธิปไตย ว่าเป็นไปเช่นเดียวกับเนื้อหาสาระของคณะสงฆ์ ทั้งไม่ได้นำเอาปริยัติศึกษามาให้ควบคู่ไปกับปฏิบัติศึกษา พระสังฆาธิการจึงยังคงนิยมความเป็นเจ้าฟ้า เจ้าคุณ หรือการเลื่อนสมณศักดิ์กัน ยิ่งกว่าสัลเลขปฏิปทา (10) มีเพียงสวนโมกขพลารามแห่งเดียวเท่านั้น ที่ประยุกต์คันถธุระให้ประสานไปกับวิปัสสนาธุระ ทั้งยังอุดหนุนการเรียนรู้คดีโลก ให้พระเท่าทันโลกสันนิวาสสมัยใหม่อีกด้วย

นับว่าน่านิยมยินดียิ่งนักที่มันสมองของคณะราษฎร ซึ่งต่อมาได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ ๘ ได้แลเห็นอัจริยภาพของพุทธทาสภิกขุ ดังได้อาราธนาพระคุณท่านไปสนทนาธรรมที่ทำเนียบท่าช้างถึง ๕ วันซ้อน วันละประมาณ ๓ ชั่วโมง เพื่อประยุกต์พุทธธรรมให้มานำสังคม เพื่อใช้สันตุษฎีธรรมเป็นตัวกำหราบตัณหา ซึ่งมากับทุนนิยมอย่างใหม่ ทั้งยังเตรียมใช้ดนตรีในพระธรรมวินัย มาประยุกต์ให้พิธีกรรมของเรา เข้าได้กับคนรุ่นใหม่อย่างสมสมัยอีกด้วย ท่านผู้สำเร็จฯ ได้ตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นก่อนแล้ว แต่ พ.ศ. ๒๔๗๗ โดยที่นักศึกษาจากสถาบันนี้มีธรรมะเป็นศาสตราอยู่หลายคน ซึ่งมารับใช้บ้านเมืองอย่างเห็นประโยชน์กับส่วนรวมยิ่งกว่าส่วนตัว ตัวท่านเองก็ต้องการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยให้เป็นไปตามแนวของคณะสงฆ์ยิ่งๆ ขึ้น ดังที่ท่านพุทธทาสใช้คำว่า ธรรมิกสังคมนิยม นั้นแล

น่าเสียดายที่กรณีสวรรคตในกลางปี ๒๔๘๙ และการรัฐประหารในปลายปี ๒๔๙๐ ได้ทำลายธรรมิกสังคมและประชาธิปไตยที่เนื้อหาสาระจนแทบหมดสิ้น นายปรีดี พนมยงค์เองก็ต้องกลายเป็นตัวเลวร้าย ที่ถูกชนชั้นปกครองแต่งสรรปั้นเรื่องขึ้น จนต้องอพยพหลบภัยไปตายในต่างแดนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ ท่านพุทธทาสเองก็เคยเกือบถูกจับในข้อหาว่าเป็นคอมมูนิสต์ แต่โดยที่ท่านไม่ได้เป็นใหญ่ในวงการพระสังฆาธิการ จึงเก็บตัวอยู่เงียบๆ ได้ แม้ในสมัยที่ไทยตามก้นอเมริกันอย่างเซื่องๆ ผู้เชี่ยวชาญอเมริกันแนะรัฐบาล ซึ่งเชื่อฝรั่งอย่างหลับหูหลับตา ว่าพุทธศาสนาเป็นภัยกับการพัฒนา โดยเฉพาะก็ระบอบตลาดเสรี หรือทุนนิยม จึงไม่ควรให้พระมีบทบาททางสังคม แม้สันตุฎฐีธรรม พระก็ไม่ควรสอน

พระสังฆาธิการส่วนใหญ่ก็เชื่อรัฐบาล ดังในสมัยราชาธิปไตยนั้นแล แม้ท่านพุทธทาสจะยังคงสอนเรื่องสันโดษอยู่ แต่ท่านก็เป็นพระหัวเมืองที่ไม่มีอิทธิพลกว้างขวาง เขาจึงปล่อยท่านไป แต่แล้ว ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ท้าทายโดยมีวิวาทะกับท่านในกรุงเทพฯ ให้ท่านแพ้ฝีปากของอธรรมคนนี้ อย่างน้อยก็ในทางโวหาร

อาสภเถระเป็นพระสังฆาธิการชั้นสูงรูปเดียว ที่กล้าท้าทายอำนาจอันอธรรมของรัฐ ท่านต้องการคณะสงฆ์ให้ไปพ้นความเป็นชาตินิยม สู่ความเป็นสากล และยอมรับความล้าหลังของคณะสงฆ์ไทย อย่างน้อยก็ในทางจิตสิกขา ดังพระคุณท่านส่งศิษย์หาไปเรียนรู้วิปัสสนาธุระที่สหภาพพม่า ซึ่งไทยถือว่าอดีตเมืองขึ้นย่อมล้าหลังกว่าไทย ทั้งท่านยังต้องการพัฒนาผู้คนในภาคต่างๆ โดยเฉพาะก็ในภาคอีสานอันเป็นถิ่นกำเนิดของท่าน ไม่ให้น้อยหน้าผู้คนในภูมิภาคอื่นๆ ท่านถือว่าวัฒนธรรมพื้นบ้านสำคัญ พุทธธรรมย่อมเข้าได้ดีกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของเรา

ข้อเด่นข้อด้อยของพระคุณท่านคือ ท่านเจริญรุ่งเรืองในทางสมณศักดิ์เร็วเกินไป และมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมากไป แม้จะมีกัลยาณมิตรมิใช่น้อย พระสังฆาธิการในภาคกลางที่กะล่อน ทนความเป็นบักหนานบักเสี่ยวที่ได้ดีกว่าตนไม่ได้ ท่านนั้นๆ โดยเฉพาะก็อธิบดีสงฆ์วัดสามพระยา จึงร่วมกับธรรมยุติ โดยเฉพาะก็อธิบดีสงฆ์วัดมกุฏกษัตริยาราม โดยปั่นหัวสกลมหาสังฆปริณายก ฝ่ายมหานิกาย ณ วัดเบญจมบพิตร ซึ่งมีพระกรรณเบา แล้วร่วมกันเข้าหาจอมเผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเห็นด้วยกับเสนียดในศาสนาจักรเหล่านี้ จนถอดยศอาสภเถระ และจับสึก ไปขังไว้ที่สันติปาลวรามเป็นเวลาถึง ๕ ปี (11)

คลิกไปอ่านต่อตอนที่ ๒

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) ดู Forest and Recollections by Kamala Tiyavanich (University of Hawaii Press) Honolulu 1997 ว่าคำมหานิกายเป็นของใหม่โดยพระราชมติของ ร. ๔

(2) ดูรายละเอียดเรื่องนี้ที่ภาคผนวก

(3) ตามความคิดของฝรั่งนั้น งาน (work) เป็นการเอาจริงเอาจัง เสร็จงานแล้วจึงเล่น หรือพักผ่อน แต่สำหรับไทยเรานั้น งานกับเล่น เป็นไปด้วยกัน คือต้องสนุก สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ตรัสว่า "ถ้าฉันทำอะไรไม่สนุก ฉันก็เป็นตุ๊กตา" การเคร่งครัดแบบธรรมยุตินั้นแล คือทำลายความสนุกของพระให้ปลาสนาการไปเรื่อยๆ

(4) ในภาษาไทย คำว่า "มักใหญ่ใฝ่สูง" เป็นวลีที่ได้รับการดูแคลน ผิดกับฝรั่ง ซึ่งถือว่า ambition เป็นของดี ดังคนไทยสมัยนี้ก็อนุวัตรตามฝรั่งไปมากแล้วด้วย

(5) ดู สินธูธรรม ของข้าพเจ้า (พ.ศ. ๒๕๔๖)

(6) แม้เราจะตื่นเต้นกับเกียรติยศที่ว่านี้ แต่ควรตราไว้ว่าอังกฤษก็ยังคงเหยียดเราอยู่นั่นเอง เพราะพระเจ้าซาห์แห่งรัสเซียก็ดี และพระเจ้าไกเซอร์แห่งเยอรมนีก็ดี ล้วนได้ทรงเป็นจอมพลกิตติมศักดิ์ของอังกฤษ ทั้งคู่ (ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งแรก) พร้อมกันนี้ก็ขอให้อ่านพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ เรื่อง พระราชาเป็นสง่าแห่งแว่นแคว้น ดังความตอนหนึ่งว่า เมืองเราซึ่งมีพระมหากษัตริย์นั้น ถ้าจะเปลี่ยนเป็นรีปับลิคเล่าจะเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าบอกได้คำเดียวว่า ถ้าเวลานี้ไทยเป็นรีปับลิค พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษคงจะไม่ได้ตั้งให้หัวหน้าคนไทยเป็นนายพลอังกฤษเป็นแน่ การที่มีพระเจ้าแผ่นดินมีประโยชน์ดังนี้ สำหรับได้รับเกียรติยศซึ่งชาติอื่นเขาจะให้แก่ชาติเรา นี่คือการโฆษณาชวนเชื่อที่พระองค์คงจะทรงเชื่อจริงๆ แต่คนอ่านที่มีวิจารณญาณจะเชื่อตามไปด้วยละหรือ

(7) หาพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้อ่านได้ในหนังสือสนุก ของข้าพเจ้า พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๔๐ หน้า ๑๗๓ - ๑๘๗.

(8) ดูเรื่อง คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนา : การเคลื่อนไหวยุวสงฆ์ไทยครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๗๗ - ๒๔๘๔ ของคนึงนิตย์ จันทบุตร

(9) ในรัชกาลที่ ๗ มีสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งสูงส่งกว่าสมเด็จกรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฐ์

(10) การพระปริยัติศึกษา มีเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียวคือให้เลิกใช้อักษรขอมในการสอบเปรียญอีกต่อไป

(11) ผู้ที่สนใจในเรื่องนี้ ควรอ่านพระธรรมเจดีย์ พระผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน ของข้าพเจ้า และผจญมาร ของอาสภเถระ

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ที่น่าสำเหนียกก็ตรงที่เมื่อพระมหาเงื่อม อินทปัญโญ ประกาศตนเป็นภิกขุพุทธทาส พร้อมๆ กับการตั้งโมกขพลาราม หรือสวนอันเป็นพลังแห่งการหลุดพ้นนั้น ท่านไม่ได้ตั้งนิกายใหม่ ท่านไม่ได้ติดยึดกับรูปแบบอันหยุมหยิมต่างๆ ในเรื่องที่ต้องบวชใหม่ ต้องใช้สีมาน้ำ เพราะลูกนิมิตของสีมาเดิมเล็กเกินกว่าที่อรรถกถากำหนด หรือการสวดสังวัธยาย จะต้องใช้เสียงแบบนั้นๆ จึงจะถูกต้องถ่องแท้ รวมถึงการห่มผ้าให้แผกออกไป และการไม่ใส่รองเท้าเข้าบ้าน หรือการไม่จับเงินตรา หากใช้ใบปวารณาแทน ซึ่งดูไม่สู้จะเป็นแก่นสาร แต่ก็สร้างค่านิยมให้กับผู้คนได้ไม่ยาก
28-04-2550

Reinstate Buddhism
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.