โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 27 April 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๓๑ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ (April, 27, 04,.2007)
R

สถานการณ์บ้านเมืองในช่วงวิกฤตการเมืองร่วมสมัย
เกษียร เตชะพีระ: จากปตานีดารุสสะลาม ถึง คำบรรยายที่ฟิลิปปินส์
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทความวิชาการชิ้นนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมมาจากงานของผู้เขียน
ซึ่งเคยเผยแพร่แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์มติชน ๕ เรื่อง ประกอบด้วย
๑. ขบวนการอันคลุมเครือ ๒. ข่าวลือจากมะนิลา ๓. รัฐประหารกับประชาธิปไตยไทย
๔. สู่รัฐประหาร 19 กันยาฯ และ ๕. กองทัพภิวัตน์กับรัฐประหาร

โดยเรื่องแรกเป็นการกล่าวถึงเหตุการณ์ความรุนแรงรายวันในภาคใต้ ซึ่งไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน
เรื่องถัดมาเป็นการพูดถึงการได้รับเชิญไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ เกี่ยวกับเหตุบ้านการเมืองในประเทศไทย
ส่วนสามเรื่องหลัง เป็นการสาธยายเกี่ยวกับเหตุการณ์ก่อนการรัฐประหาร ซึ่งมีการพัฒนาก่อรูปวิกฤตการเมืองขึ้นตามลำดับ
จนถึงขีดสุดด้วยการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๓๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๗.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


1. ขบวนการอันคลุมเครือ
"จะต้องไม่ยอมให้ใครมาแบ่งแยกดินแดนเด็ดขาด จะต้องไม่ยอมให้ใครมาแบ่งแยกดินแดนของเราไปได้"
(พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ.ผู้จัดการออนไลน์, 17 มีนาคม 2550)

"เรารู้น้อยมากเกี่ยวกับพวกผู้ก่อความไม่สงบหรือ "จูแว" อันเป็นคำท้องถิ่นที่แปลว่า"นักรบ" พวกเขาไม่เปิดเผยหลักนโยบาย รายชื่อแกนนำ หรือแม้แต่ชื่อขบวนการ รูปแบบเดียวในการสื่อสารสาธารณะของพวกเขาได้แก่ใบปลิวข่มขู่ แต่เจ้าหน้าที่ข่าวกรองไทยที่ได้สอบสวนผู้ก่อความไม่สงบที่กลับใจหรือถูกจับ บอกว่า อย่างน้อยบางกลุ่มก็ต่อสู้เพื่อรัฐอิสลามเอกราช"
(สำนักข่าวเอพี, หนังสือพิมพ์ International Herald Tribune, 10 มีนาคม 2550)

เป็นที่สังเกตกันทั่วไปนับแต่การก่อความไม่สงบชายแดนใต้ระลอกปัจจุบันปะทุขึ้นเมื่อต้นปี พ.ศ.2547 ว่ามันเป็นการรบพุ่งทางการทหารที่ "ไม่มีการเมือง"

"ไม่มีการเมือง" ในความหมายที่ว่า ด้านหนึ่ง ในช่วงปีแรกฝ่ายรัฐใช้มาตรการปราบปรามทางการทหารนำหน้าเป็นหลัก มากกว่าจะช่วงชิงชนะใจประชาชนท้องถิ่นด้วยนโยบายทางการเมือง เพิ่งจะมีความพยายามปรับเปลี่ยนไปใช้การเมืองนำการทหารบ้าง เมื่อรัฐบาลทักษิณตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ.2548

ในทางกลับกัน อีกด้านหนึ่ง ฝ่ายผู้ก่อการก็ไม่เคยเปิดตัวหรือแม้กระทั่งเอ่ยนามขบวนการหรือแกนนำออกมาอย่างเป็นทางการ ไม่เคยแถลงประกาศจุดยืนหรือเป้าประสงค์หรือหลักนโยบายทางการเมืองเศรษฐกิจสังคมของการก่อความไม่สงบที่ชัดแจ้งแต่อย่างใด ว่าสมมุติว่าถ้ายึดแล้ว แยกแล้ว จะสร้างระบบระบอบอะไรใหม่ขึ้นมาแทน? มันดีกว่าของเก่าตรงไหน อย่างไร? เอาแต่เคลื่อนไหวโจมตีทำร้ายฆ่าฟันชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รายวัน ครั้งแล้วครั้งเล่าไม่หยุดหย่อนอยู่อย่างนั้นเอง

ถ้าบอกว่าทั้งหมดนี้เพื่อกอบกู้ฟื้นฟูรัฐ "ปตานีดารุสสะลาม"เอกราชขึ้นมาแล้ว ก็ยังเป็นอุดมคติที่คลุมเครือเหลือเกิน และขาดรายละเอียดที่สำคัญต่อชีวิตทางสังคมร่วมกันมากมาย เช่น จะเอาอย่างไรกับระบอบการเมือง?
จะเป็นรัฐประชาธิปไตยหรือเทวาธิปไตยที่ผู้นำศาสนาเป็นใหญ่?

- จะเอาอย่างไรกับเศรษฐกิจ? จะเป็นแบบทุนนิยมตลาดเสรีหรือยึดหลักอิสลามอย่างเคร่งครัด? จะอนุญาตให้ประกอบธุรกิจอะไรได้บ้าง? สั่งห้ามธุรกิจประเภทไหนบ้าง?

- จะให้ผู้คนพลเมืองมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือไม่อย่างไร? จะปฏิบัติอย่างไรต่อชนส่วนน้อยทางชาติพันธุ์และศาสนา เช่น ชาวไทย ชาวจีน ชาวลาว ชาวพุทธ ชาวคริสเตียน? ผู้หญิงจะมีสิทธิเสมอภาคเท่าผู้ชายหรือไม่อย่างไร?

- ถ้าเป็นรัฐอิสลามจะเป็นแบบทาลิบันในอัฟกานิสถาน หรือแบบซาอุดีอาระเบีย หรือลิเบีย หรืออิหร่าน? หรือว่าจะไม่เอาถึงขั้นนั้น แค่เป็นประเทศมุสลิมสายกลางอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย? จะใช้ภาษาใดเป็นภาษาประจำชาติ? ระบบการศึกษาจะเป็นเช่นไร? ฯลฯ

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ไม่เคยมีคำชี้แจงแถลงไข จนเลือดนองแผ่นดินกันไปกว่า 2,000 ศพแล้ว เอาเข้าจริงยังไม่แน่ใจเลยว่านี่ฆ่ากันไปเพื่อจะเอาอะไร? ตายกันไปเพื่อจะบรรลุอะไร? และมันจะคุ้มกันหรือไม่กับชีวิตที่ถูกล้างผลาญสูญสิ้นไป? บางทีถ้าชัดเจนว่าเป้าหมายทางการเมืองของการต่อสู้คือสิ่งใด อาจพบว่าเอาเข้าจริงก็สามารถบรรลุเป้าหมายเดียวกันนั้นด้วยวิธีอื่น ที่ไม่ต้องสิ้นเปลืองเลือดเนื้อชีวิตผู้คนจนก่ายกองเกลื่อนกลาดขนาดนี้ก็เป็นได้ เช่น ด้วยการเจรจาต่อรอง เป็นต้น

บางทีกว่าจะรู้ว่าเป้าหมายของการก่อความไม่สงบที่กลืนกินชีวิตมากมายปานนี้คืออะไร? คุ้มกันหรือไม่กับที่ฆ่าที่ตายกันไป? มันก็สายเกินไป เพราะไม่อาจเรียกชีวิตเหล่านั้นกลับฟื้นคืนมาได้อีกแล้ว และความเกลียดชังโกรธแค้นก็ได้สั่งสมพอกพูนเป็นพิษร้าย ฝังใจฝังความทรงจำสืบทอดต่อไปสู่คนรุ่นลูกรุ่นหลานแล้ว พวกเขาจะอยู่ร่วมกันบนแผ่นดินผืนนี้ไม่ว่าภายใต้อำนาจใดในอนาคต ด้วยความเกลียดชังโกรธแค้นซึ่งกันและกัน ที่คนรุ่นเราปลูกฝังถ่ายทอดไว้ให้ไปอีกนานเท่านาน

มรดกบาปแห่งความเกลียดชังนี่หรือ คือเป้าหมายของขบวนการ?

เค้าลางบางอย่างของขบวนการอันคลุมเครือ
เกี่ยวกับปัญหาขบวนการก่อความไม่สงบภาคใต้อันคลุมเครือนี้ เราอาจพอหาความกระจ่างได้บ้างจากข้อเขียนของ ดร.วัน กาเดร์ เจ๊ะมัน

ดร.วัน กาเดร์ เจ๊ะ มัน เป็นชาวมลายูมุสลิมเกิดที่ปัตตานี และไปเรียนจบปริญญาเอกจาก Australian National University ณ เมือง Canberra ในราวสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม, เคยทำงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยก่อนจะเข้าร่วมเป็นผู้นำทางการของ BERSATU (เอกภาพ) อันเป็นองค์การที่รวมขบวนการมลายูมุสลิมต่างๆ ที่ต่อสู้เพื่อการปกครองตนเองของปตานี เช่น BIPP, PULO ใหม่, GMP, สภา BRN เข้าไว้ใต้ร่มเดียวกันเมื่อปี พ.ศ.2534, ตัวเขาเองกลายสภาพเป็นนักวิชาการพลัดถิ่น เปลี่ยนไปถือสัญชาติมาเลเซียและสอนหนังสืออยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติแห่งมาเลเซีย (International Islamic University Malasia, IIUM.) จนกระทั่งย้ายไปอยู่สวีเดนตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมา

ในหนังสือที่ปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาชื่อ Muslim Separatism : The Moros of Southern Philippines and the Malays of Southern Thailand (Oxford University Press, 1990) ดร.เจ๊ะ มัน ได้ตั้งข้อสังเกตบางอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับรูปการจัดตั้ง และแนวทางการเมืองเปรียบเทียบระหว่างขบวนการมุสลิมแยกดินแดนของ ชาวโมโร ในภาคใต้ ฟิลิปปินส์ กับของชาวมลายูในภาคใต้ของไทย ซึ่งอาจช่วยให้เราเล็งเห็นเค้าลางบางอย่างของขบวนการอันคลุมเครือนี้ได้บ้าง

รูปการจัดตั้ง
"...ขบวนการมุสลิมทั้งสองประกอบด้วยขบวนปลดปล่อยต่างๆ ที่จัดตั้งกันอย่างหลวมๆ ความเข้มแข็งขององค์การเหล่านี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับหลักการจัดตั้งที่ทรงประสิทธิผลตามธรรมเนียมปกติ เท่ากับความจริงที่ว่ามันล้วนอิงฐานคนชาติพันธุ์เดียวกัน, มีศาสนาเป็นพลังจูงใจ และนำโดยกลุ่มชนชั้นนำผู้ครอบงำชุมชนของตนในแต่ละกรณี อาทิ องค์การ MNLF (Moro National Liberation Front) และ BNPP (Barisan Nasional Pembebasan Patani) นั้นต่างก็เป็นขบวนที่รวมตัวกันหลวมๆ ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของบรรดากลุ่มย่อยในสังกัดหรือจัดวางสายการบังคับบัญชาที่ชัดเจนได้ คณะกรรมการกลางอันเป็นองค์กรกำหนดนโยบายของขบวนเหล่านี้ทำได้แค่ให้แนวนโยบายกว้างๆ แล้วปล่อยให้พวกผู้นำท้องถิ่นมีอำนาจตัดสินใจเอง ไม่มีบรรทัดฐานเฉพาะเจาะจงเรื่องสมาชิกภาพ และการรับสมาชิกเข้าขบวนก็ไม่มีพิธีรีตองทางการกำกับแต่อย่างใด กิจกรรมของผู้ที่สังกัดในขบวนเท่านั้นจะเป็นตัดสินว่าเขาจะเข้ามีส่วนร่วมในระดับใด

"ฉะนั้น เราจึงไม่สามารถวัดความเข้มแข็งของขบวนการเหล่านี้ เพียงด้วยการนับจำนวนหน่วยจรยุทธ์ติดอาวุธที่มีอยู่ หรือนับจำนวนครั้งของการปะทะกับกองกำลังรัฐบาล ความเข้มแข็งและกิจกรรมของขบวนการใต้ดินจำพวกนี้ยากจะคาดเดา มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์และแรงกระตุ้นภายในกับภายนอกต่างๆ ซึ่งอาจเป็นตัวจุดปะทุหรือหน่วงเหนี่ยวการพัฒนาของขบวนการให้เนิ่นช้าออกไปก็ได้"
(หน้า 175-176)

เป้าหมายทางการเมือง
"บุคลิกลักษณะอีกอย่างของขบวนการเหล่านี้คือ มีจุดมุ่งหมายที่นิยามไว้กว้างๆ ทั้งนี้โดยขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ภายในและภายนอก วัตถุประสงค์ของขบวนอาจเปลี่ยนแปลงจากเรียกร้องเอกราชไปเป็นการปกครองตนเอง หรือเรียกร้องเอาดินแดนไปรวมกับประเทศชนชาติเดียวกัน หรือการมีส่วนร่วมอย่างมีเงื่อนไขได้ สิ่งนี้บ่งชี้ว่าเอาเข้าจริงขบวนการไม่ได้มุ่งแสวงหาอธิปไตยแห่งชาติหรอก แต่ตอบโต้ความพยายามบูรณาการประเทศของส่วนกลางมากกว่า ขอบเขตการตอบโต้ของพวกเขามักสอดรับกับระดับการกดขี่ปราบปรามของนโยบายรัฐบาล กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ โดยแก่นแท้แล้วขบวนการเหล่านี้เป็นการต่อสู้เพื่ออยู่รอด เพื่อสงวนรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์และวิถีชีวิตมุสลิม"
(หน้า 176)

ลักษณะร่วมและลักษณะเฉพาะของขบวนการแยกดินแดนมุสลิม
"หากตรวจสอบดูขบวนการแยกดินแดนที่อื่นในโลกแม้เพียงผิวเผิน ก็จะเห็นได้ว่ามีลักษณะร่วมจำนวนหนึ่งอยู่ระหว่าง "ขบวนการโมโรและปตานี" กับ "ขบวนการแยกดินแดนของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ" กล่าวคือ : การยืนหยัดต่อสู้, แนวโน้มที่จะตอบโต้สิ่งที่เห็นว่าเป็นการคุกคามจากรัฐรวมศูนย์อำนาจ หรือกลุ่มชาติพันธุ์หลักที่ครอบงำ, ลักษณะหละหลวมของโครงสร้างการจัดตั้งและอุดมการณ์ และแม้กระทั่งสิ่งที่ดูเหมือนเป็นแนวโน้มชอบแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแยกกลุ่มย่อย ขณะเดียวกับขบวนการเหล่านี้ก็ยึดกุมความจงรักภักดีที่มักไม่ป่าวประกาศออกมาอย่างเด่นถนัดชัดเจน และศักยภาพที่จะก่อภัยคุกคามทางการเมืองการทหารโดยระดมพลชนชาติพันธุ์เดียวกันขึ้นมาเอาไว้ได้

"สิ่งที่อาจจะจำแนกขบวนการมุสลิมแยกดินแดนเหล่านี้ออกจากพวกที่เหลือก็คือ พวกเขาได้บูรณาการแนวคิดและสัญลักษณ์อิสลามเข้ากับหลักความเชื่อแห่งชาติ และศาสนาอิสลามกับชาตินิยมต่างก็เสริมความเข้มแข็งให้แก่กันในการต่อสู้ของพวกเขากับผู้ปกครองต่างชาติ ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงพวกเขาเข้ากับอุมมาห์อิสลาม (หมายถึงชุมชนของชาวมุสลิมทั้งปวง) ที่กว้างออกไปด้วย"
(หน้า 178)

2. ข่าวลือจากมะนิลา
ข่าวลือวงในจากกรุงมะนิลากระซิบว่า ความพยายามก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อกุมภาพันธ์ศกก่อน โดยกองกำลังนาวิกโยธิน ประสานกับการเดินขบวนของมวลชนฝ่ายซ้ายนั้น เอาเข้าจริงได้รับทุนหนุนหลังจาก "อีรัพ"

นั่นเป็นชื่อเล่นที่ชาวฟิลิปปินส์เรียกหาอดีตพระเอกหนังยอดนิยม "โจเซฟ เอสตราด้า" ผู้ชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี พ.ศ.2541 แต่แล้วก็ถูกเดินขบวนขับโค่นเนื่องจากข้อหาคอร์รัปชั่นเมื่อปี พ.ศ.2544 บัดนี้เขาถูกคุมตัวเพื่อดำเนินคดีข้อหาปล้นชาติอยู่ที่ค่ายเยาวชนอันกว้างขวางใหญ่โตของเขาเอง นอกกรุงมะนิลา ไปทางตะวันออก 56 กิโลเมตร

ทั้งที่พอรู้เลาๆ แต่รัฐบาลของ GMA - ชื่อย่อของนาง "กลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย" อดีตรองประธานาธิบดีผู้รวบตำแหน่งประธานาธิบดีสืบต่อจากอีรัพ และฉาวโฉ่ด้วยข้อหาโกงเลือกตั้งครั้งถัดมา - ก็ทำอะไรกับนายเก่าไม่ได้มากไปกว่า... ริบโทรศัพท์มือถือของอีรัพซะ แค่นั้นเอง!

แม้ พลตรี เรอนาโต้ มิรันดา อดีตผู้บัญชาการกองกำลังนาวิกโยธินกับแกนนำแผนก่อรัฐประหารคนอื่นๆ จะถูกรัฐบาลของประธานาธิบดีอาร์โรโยจับกุมคุมขัง แต่ระบบรัฐฟิลิปปินส์ก็อ่อนเปลี้ยเสียจนกระทั่งการติดต่อสื่อสารประสานงานลอดคุกยังคงดำเนินต่อไปได้หน้าตาเฉย

นิตยสาร The Economist ฉบับ The World in 2007 ถึงแก่ร้องทักประเทศฟิลิปปินส์ว่าให้ "จับตาดู : แผนก่อการให้ดี นี่อาจเป็นปีที่รัฐบาลอ่อนแอลงจนถึงจุด ที่ข่าวลือมหาอมตะนิรันดร์กาลเรื่องรัฐประหารกลายเป็นจริงในที่สุดก็ได้" (หน้า 101)

เพื่อนพ้องน้องพี่ฟิลิปปินส์แซวผมว่า พวกเขากำลังฝากความหวังตั้งตาคอย TRG เป็นพิเศษ. What the hell is TRG? ผมถาม. Oh, it used to mean a Transitional Revolutionary Government (รัฐบาลปฏิวัติระยะผ่าน-ที่คิดจะตั้งขึ้นหลังรัฐประหาร) but after the success of Thailand"s coup, หมอนั่นยิ้มทะเล้น, it now means the Thai Royal Government, ha, ha, ha..., ผมยิ้มเจื่อนพลางกลืนน้ำลายเอื๊อก นึกในใจว่าซวย...สงสัยโดนด่าทางเน็ตฟรีๆ อีกแหงล่ะว่ะ

ที่ผมมีอันต้องไปมะนิลาช่วงสัปดาห์กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็เพราะทาง University of the Philippines (UP) ณ Diliman ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สำนักอธิการบดี, สำนักรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ, คณะรัฐศาสตร์, คณะสังคมวิทยา, ศูนย์ศึกษาโลกที่สาม, ศูนย์เอเชีย, สถาบันอิสลามศึกษา, สภาสังคมศาสตร์ฟิลิปปินส์ และสถาบัน (วิจัยและรณรงค์) ประชาธิปไตยประชาชน ได้ชวนให้ไปปาฐกถาเรื่องการเมืองไทยในรายการ Violet Wurfel UP-ASEAN Lecture Series ครั้งที่ 3 ประจำปี พ.ศ.2550 นี้

รายการปาฐกถาดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2547 โดยทุนสนับสนุนของศาสตราจารย์กิตติคุณ Dr.David Wurfel ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์การเมืองเอเชียอาคเนย์และฟิลิปปินส์แห่งมหาวิทยาลัยวินด์เซอร์, มหาวิทยาลัยยอร์ค และมหาวิทยาลัยโตรอนโต ประเทศแคนาดา เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ Dr.Violet Wurfel ผู้เป็นมารดาและศิษย์เก่า UP

มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการระหว่างฟิลิปปินส์กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค, ด้วยการมอบหมายให้ทาง UP แต่งตั้งคณะกรรมการคัดสรรและเชิญองค์ปาฐกที่เป็นพลเมืองในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ไม่ใช่ชาวฟิลิปปินส์ อาจเป็นนักวิชาการ, นักหนังสือพิมพ์, ผู้นำ NGO, หรือนักการเมือง, ผู้มีประสบการณ์ในงานด้านสันติภาพ, ความเป็นธรรมทางสังคม, การปฏิรูปที่ดิน, การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม, สิทธิมนุษยชนหรือการปฏิรูปประชาธิปไตยในประเทศตน

สำหรับองค์ปาฐก 2 คนก่อนนี้ได้แก่

- ศาสตราจารย์ Dr.Faisal Basri นักเศรษฐศาสตร์และที่ปรึกษารัฐบาลด้านนโยบายเศรษฐกิจแห่ง
University of Indonesia (พ.ศ.2548) และ
- ศาสตราจารย์ Dr.Norani Othman นักสังคมวิทยาหญิง ผู้เสนอทีทรรศน์และการตีความสมัยใหม่เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม แห่ง
Universiti Kebangsaan Malaysia (พ.ศ.2549)

ไปเที่ยวนี้ผมก็ทั้งเหนื่อยและสนุกพอๆ กัน ได้เจอเพื่อนเก่าเพื่อนใหม่ชาวฟิลิปปินส์มากหน้าหลายตา ได้ร่ำดื่มเบียร์ซาน มิเกลไลท์ กับพรรคพวกยามแดดร่มลมโกรกริมอ่าวมะนิลา ได้เสวนาแลกเปลี่ยนบทเรียนประสบการณ์กับกลุ่มสหายสถาบันประชาธิปไตยประชาชนและพรรค Akbayan อย่างคร่ำเคร่งกลางหมอกควันบุหรี่จนดึกดื่นค่อนคืน ได้ร้องเพลงลอยกระทงและรำวงคู่กับอาจารย์และผู้บริหาร UP, ได้ท่องและแปลสดวิชชุมมาลาฉันท์บางตอนจากบทกวี "โคลงสรรเสริญเกียรติกรุงเทพมหานครยุคไทยพัฒนา" ของจิตร ภูมิศักดิ์. ได้ร้องและแปลสดท่อนแรกของเพลง "บูรพาแดง" พากย์ไทยให้ผู้ฟังประกอบปาฐกถา

ได้พบนักศึกษานักวิจัยชาวไทยซึ่งได้รับทุนมาที่ UP รวมทั้งเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยประจำกรุงมะนิลาที่อุตส่าห์ตามมาฟังผมบรรยายเหมือนที่กรุงเบอร์ลิน, ได้กว้านซื้อและหอบหิ้วมะม่วงตากแห้งหวานอร่อยขึ้นชื่อจากเกาะเซบูมาฝากครอบครัวรวม 10 กล่องตามคำส่งกำชับกำชาของ ผบ.ทบ. (ผู้บัญชาการทางบ้าน) ฯลฯ

และก็ได้บรรยาย และนำสัมมนาประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการเมืองไทยรวม 4 เรื่องติดกัน 4 วัน ได้แก่

1) "Democratization and the Thai Military Coup d" Etat" หรือ "กระบวนการสร้างประชาธิปไตยกับรัฐประหารโดยทหารไทย"
2) "Ethnic Conflict in Southern Thailand" หรือ "ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในภาคใต้ของไทย"
3) "Globalization, Culture and Identity" หรือ "โลกาภิวัตน์, วัฒนธรรมและเอกลักษณ์"
4) "Social Movements in Thailand" หรือ "การเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย"

ซึ่งผมจะคัดเลือกบางตอนทยอยเล่าสู่ท่านฟังในสัปดาห์ถัดๆ ไป

3. "รัฐประหารกับประชาธิปไตยไทย"
(คัดสรรเรียบเรียงจากบางตอนของคำบรรยายเรื่อง "Democratization and the Thai Military Coup d" Etat" ของผู้เขียน ณ University of the Philippines วิทยาเขต Diliman ในปาฐกถาชุด Violet Wurfel UP-ASEAN Lecture Series ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2550)

ผมใคร่เกริ่นนำเรื่อง "กระบวนการสร้างประชาธิปไตยกับรัฐประหารโดยทหารไทย" ด้วยอภิลิขิตเชิงล้อเลียน ของนักประพันธ์หัวก้าวหน้ารุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้มีฝีมือดีที่สุดของไทยคนหนึ่งคือ "ลาว คำหอม" อันเป็นนามปากกาของคุณ "คำสิงห์ ศรีนอก" (พ.ศ.2473-ปัจจุบัน) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ.2535

ในเรื่องสั้นซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2501 ภายใต้ชื่อเรื่องที่จงใจสะกดให้เพี้ยนว่า "นักกานเมือง" ตัวเอกปฏิลักษณ์ (anti-hero) ชื่ออาจารย์เขิน เขียนรัก เป็นคนสำมะเลเทเมา ตื้นเขิน ฉวยโอกาส ไร้หลักการอยู่ที่หัวเมืองแห่งหนึ่ง. อดีตเขาเคยเป็นถึงสมภารเจ้าวัด ทว่าผ้าเหลืองร้อนจนสึกตามแม่หม้ายชื่อหวานอิ่มออกมา หลังจากอยู่กินกันหลายปี เมียก็มาป่วยตายไปเสีย ความเสียดายเสียใจทำให้อาจารย์เขินหันไปกินเหล้าแก้ทุกข์อย่างจริงจัง อาศัยเงินทองที่แม่หวานอิ่มทิ้งไว้ให้เลี้ยงเหล้าบรรดาลูกน้องขี้เมาสามสี่คนเช้าจรดเย็นไปวันๆ

มาวันหนึ่งด้วยความไม่ชอบขี้หน้าหมู่หวด ตำรวจท้องที่ บวกแรงยุของพรรคพวกในวงเหล้า อาจารย์เขินก็ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรหลังเกิดรัฐประหารไล่หลวงพิบูล หลวงเผ่า ออกไป แล้วก็เวรกรรมแกดันชนะเลือกตั้งขึ้นมา อารามหวั่นวิตกกลัดกลุ้มว่าหน้าที่ ส.ส.ในกรุงเทพฯ จะเป็นชีวิตอีกแบบที่ยุ่งยากเดือดร้อนวุ่นวายเหมือนหาเสนียดให้กับตัว. แกจึงละทิ้งหน้าที่ผู้แทน แล้วเผ่นหนีหายไปเสียเฉยๆ ในที่สุด

ตอนหนึ่งในเรื่องระหว่างกำลังตั้งวงก๊งเหล้าเมาอ้อแอ้รอบสาย อาจารย์เขินก็อรรถาธิบายความสัมพันธ์ระหว่างรัฐประหารกับประชาธิปไตยในการเมืองไทย - อันเป็นหัวข้อคำบรรยายของเราวันนี้ - กับขี้เมาร่วมวงว่า :-

"ขยันยุ่งเหลือเกินนิ" ก้อยอ้อแอ้ในลำคอ "นี่ละมังที่พวกปากมากมันพูดปาวๆ ตอนเลือกผู้แทน มันว่าไงนะ อาจารย์อะไรนะ ไตไตนี่แหละ" ยื่นหน้าไปทางเขิน

"ประชาธิปไตยเว้ย ไม่ใช่ไตไต" เขินพูดอย่างเคร่งขรึม "เขาเรียกว่ารัฐประหารประชาธิปไตยน่ะ มันต้องรัฐประหารบ่อยๆ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย"
(ลาว คำหอม. "นักกานเมือง", ฟ้าบ่กั้น. 2501)

แม้จะเป็นแค่คำคุยโวของตัวละครสมมุติขี้โอ่ขี้เมา ทว่าคำกล่าวเสียดสีนี้ก็ทรงไว้ซึ่งแก่นแกนอันเป็นสัจธรรมประการหนึ่งเกี่ยวกับการเมืองไทยสมัยใหม่ นั่นคือ ใช่ว่ารัฐประหารทั้งหลายทั้งปวงจะเป็นผลเสียต่อประชาธิปไตยของไทยก็หาไม่

ความจริงแล้ว การรัฐประหารโดยข้าราชการทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนระดับกลาง (พวก "คุณหลวง") กลุ่มหนึ่งผู้เรียกตัวเองว่า "คณะราษฎร" นี่แหละที่โค่นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ลง และสถาปนาระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญขึ้นมาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475

มาในชั้นหลัง, โดยคล้องจองกันไปกับข้อเสนอและตัวแบบที่จะปรับเปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยให้มีลักษณะแบบไทยๆ, ในบรรดาการรัฐประหารโดยทหารที่ทำสำเร็จ 11 ครั้ง ถัดมาเมื่อปี พ.ศ.2476, 2490, 2491, 2494, 2500, 2501, 2514, 2519, 2520, 2534 และ 2549 นั้น ก็มีอย่างน้อย 5 ครั้ง ที่ก่อการกันขึ้นเพื่อกอบกู้หรือส่งเสริม "ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ" ได้แก่:-

1) รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ซึ่งขับโค่นฝ่ายพลเรือนปีกซ้ายของคณะราษฎร และขบวนการเสรีไทยภายใต้การนำของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ออกจากอำนาจไป

2) รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ.2500 ซึ่งรุล้างกลุ่มทหาร-ตำรวจต่อต้านคณะเจ้าใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ออกจากอำนาจไป

3) รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 ซึ่งถอนรากถอนโคนการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญทิ้ง และรื้อฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับคืนมาในรูปแบบเผด็จการทหาร อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นอัตตาธิปัตย์

4) รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ซึ่งฆ่าหมู่ปราบปรามขบวนการนักศึกษาและประชาชนในเมือง ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างขุดรากถอนโคนภายใต้อำนาจนำของคอมมิวนิสต์ลงไป และ

5) รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 ซึ่งหยุดชะงักระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาจากการเลือกตั้งไว้ เพื่อตัดตอนอำนาจนำทางการเมืองของกลุ่มธุรกิจใหญ่ที่มีรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร แห่งพรรคไทยรักไทยเป็นตัวแทน จากนั้นก็พยายามปรับโครงสร้างระบอบประชาธิปไตยเสียใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้อำนาจนำดังกล่าวโผล่กลับมาอีก

คำบรรยายความสัมพันธ์ระหว่างรัฐประหารกับประชาธิปไตยไทยข้างต้น อาจฟังดูเสมือนเป็นปฏิทรรศน์ชวนฉงน ทว่านับแต่ราวต้นพุทธทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา ประชาธิปไตยของไทยก็ไม่เคยเป็นระบอบประชาธิปไตยเฉยๆ เลย หากเป็น "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" เสมอมา หากยึดตามถ้อยคำที่ใช้ในมาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549

ทางลัดทางหนึ่งในการทำความเข้าใจลักษณะพิเศษเฉพาะของ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" แบบไทยๆ ก็คือย้อนรอยประวัติคำว่า "ประชาธิปไตย" ดู

ศัพท์ประชาธิปตัย - ประชาธิปไตย
ศัพท์ "ประชาธิปตัย" (สะกดแบบเดิม) ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบัญญัติขึ้นตั้งแต่ราวปี พ.ศ.2455 คำนี้ แรกเริ่มเดิมทีทรงใช้ในความหมายที่ตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า "republic" หรือ "สาธารณรัฐ" อันหมายถึงระบบการปกครองที่ไม่มีกษัตริย์ (a government with no king)

การเปลี่ยนย้ายความหมายของคำว่า "ประชาธิปตัย" จาก "republic" ---> ไปเป็น "democracy" แบบที่เราเข้าใจและใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นภายหลังการประนีประนอมระหว่างคณะราษฎรกับสถาบันกษัตริย์ในการอภิวัตน์ล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อปี พ.ศ.2475 เมื่อคณะผู้ปกครองใหม่เลือกใช้ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) แทนที่จะเปลี่ยนไปเป็นระบอบสาธารณรัฐเสียทีเดียว

ดังปรากฏหลักฐานว่าคำว่า "ประชาธิปไตย" ถูกใช้ในความหมายใหม่ให้หมายถึง "democracy" ในเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2475 (ปฏิทินเดิม) โน่นแล้ว

ผลพวงทางประวัติศาสตร์ของการประนีประนอมทางการเมืองครั้งนั้น จึงส่งผลสืบเนื่องมาทำให้เป็นไปได้ที่จะขนานนามระบอบการเมืองไทยปัจจุบันว่า "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หรือ "a democratic form of government with the King as Head of State" (ตามคำแปลที่ได้การรับรองเป็นทางการของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา)

ซึ่งหากเราทดลองแปลวลีไทยนี้ไปเป็นภาษาอังกฤษโดยยึดตามความหมายดั้งเดิมของคำว่า "ประชาธิปตัย" สมัยรัชกาลที่ 6 ดู ก็จะได้ความว่า :- "a Republic with the King as Head of State" !?!

นี่เป็นปฏิพจน์ (oxymoron) ที่เป็นไปได้ก็เพราะ กระบวนการทางการเมืองวัฒนธรรมที่ดลบันดาลให้ศัพท์การเมืองจากต่างชาติต่างภาษาที่มีนัยเปลี่ยนแปลงแบบขุดรากถอนโคน กลับเชื่องหรือหมดเขี้ยวเล็บพิษสงลง (taming or metathesis) ด้วยเดชานุภาพของพระราชอำนาจนำ

กล่าวให้ถึงที่สุด การกลับกลายความหมายอันน่ามหัศจรรย์นี้เป็นสัญลักษณ์แสดงความสำเร็จของพระราชอำนาจนำ ที่ทรงสร้างสมขึ้นด้วยพระราชอุตสาหะวิริยะต่อเนื่องยาวนานในรัชกาลปัจจุบัน จนสถาบันกษัตริย์กลับมีสถานะทางการเมืองโดดเด่นเป็นหลักในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ อย่างยิ่งยวดเหนือล้ำกว่าในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในบางด้านด้วยซ้ำไป

4. สู่รัฐประหาร 19 กันยาฯ
(คัดสรรเรียบเรียงจากบางตอนของคำบรรยายเรื่อง "Democratization and the Thai Military Coup d" Etat" ของผู้เขียน ณ University of the Philippines วิทยาเขต Diliman ในปาฐกถาชุด Violet Wurfel UP-ASEAN Lecture Series ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2550)

หาก "ทักษิโณมิคส์" หรือแนวทางนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทักษิณหมายถึง:-

1) การแปรกิจการภาคสาธารณะของรัฐชาติให้กลายเป็นของเอกชนไม่ถือชาติ
ตามแนวทางเสรีนิยมใหม่สำหรับคนรวยผู้มีเส้นสายทางการเมือง; ควบคู่กับ

2) ประชาบริโภคนิยมสำหรับคนจนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง

"ระบอบทักษิณ" ก็อาจหมายถึง ระบอบประชาธิปไตยอำนาจนิยมภายใต้อำนาจนำของกลุ่มทุนใหญ่

ความขัดแย้งหลักของการเมืองไทยก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 ก็คือความขัดแย้งระหว่าง [ระบอบทักษิณ + ทักษิโณมิคส์] กับ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หรือนัยหนึ่ง ระบอบเลือกตั้งธิปไตยพระราชอำนาจนำ นั่นเอง

พลังใหม่ฝ่ายแรกได้เติบใหญ่แผ่ขยายรุกคืบเข้ากระแทก โยกคลอนกรอบโครงอำนาจเก่าฝ่ายหลังอย่างแข็งกร้าวรวดเร็ว จนก่อเกิดปฏิกิริยาต่อต้านคัดค้านกว้างขวางออกไปในที่สุด

ขณะสิ่งที่กล่าวอ้างเรียกขานกันว่า "ปฏิญญาฟินแลนด์" จะจริงเท็จอย่างไรไม่ทราบชัดนั้น แต่ที่แน่ๆ ก็คือ [ท่วงทำนองการนำเดี่ยวแบบซีอีโอบรรษัทประเทศไทยของท่านนายกฯ, นโยบายทักษิโณมิคส์, และระบอบพรรคเด่นพรรคเดียวที่กำลังเติบกล้าขึ้นมา] สวนทวนกระแส [อุดมการณ์ราชาชาตินิยม, ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, และเครือข่ายข้าราชบริพาร] อย่างแจ้งชัด

ดังนั้นเอง บรรดากลุ่มพลังทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองร้อยพ่อพันแม่นานาสารพัดประเภท ที่มาสมทบกันเข้าเป็น "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ต่อต้านทักษิณเมื่อต้นปี พ.ศ.2549 จึงเลือกสอดสรวมเอกลักษณ์ทางการเมืองแบบราชาชาตินิยม และขอให้ทรงใช้พระราชอำนาจให้นายกฯทักษิณพ้นจากตำแหน่ง และขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนในลักษณะ สัมบูรณาญาสิทธิ์เฉพาะกิจ "ตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ดังระบุไว้ในมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540

กระแสคลื่นการรณรงค์ทางการเมืองเพื่อโค่นทักษิณทยอยเคลื่อนตัวซัดสาดเข้ามาเป็น 3 ระลอกด้วยกันได้แก่:-

1) ปรากฏการณ์สนธิกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (หรือขบวนการมวลชนราชาชาตินิยม) ก.ย.2548 - เม.ย.2549
2) ตุลาการภิวัตน์ เม.ย. - ก.ค.2549
3) ทหารภิวัตน์กับรัฐประหาร ก.ค. - ก.ย.2549

1) ปรากฏการณ์สนธิกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก.ย.2548 - เม.ย.2549
ขบวนการมวลชนราชาชาตินิยม ถูกจุดปะทุขับเคลื่อนเข้าปะทะรัฐบาลทักษิณโดยสนธิ ลิ้มทองกุล กับสื่อมวลชนในเครือผู้จัดการ เมื่อเครื่องติดและเริ่มเร่งแรงขึ้นแล้ว ขบวนดังกล่าวก็ผสานเข้าอยู่ใต้การนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อันเป็นเครือข่ายแนวร่วมหลวมๆ ของกลุ่มและบุคคลฝ่ายค้านสารพัดพวกคละเคล้ากัน

พันธมิตรได้ขยายตัวจากกรุงเทพฯ ไปสู่เมืองศูนย์กลางอื่นๆ ทั่วประเทศ แม้ว่าผลสะเทือนของมันจะถูกหักกลบลบล้างไปบ้างจากการเคลื่อนไหวคู่ขนานของคาราวานคนจน ผู้สนับสนุนทักษิณที่ชุมนุมสำแดงพลังตอบโต้อยู่ที่สวนจตุจักร

กล่าวโดยรวมแล้ว นับว่าขบวนการ"มวลชนราชาชาตินิยม"ประสบความสำเร็จในการกดดันให้ทักษิณยุบสภาผู้แทนราษฎร จัดเลือกตั้งใหม่ ประกาศเว้นวรรคตำแหน่งนายกฯ ทั้งที่ชนะเลือกตั้ง และลาพักราชการระยะยาวจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี กระนั้นก็ตาม พรรคไทยรักไทยก็ชนะเลือกตั้งอยู่ดีและส่อท่าทีแน่ชัดว่าจะครองอำนาจรัฐต่อไปโดยยึดกุมสภาผู้แทนราษฎรไว้เบ็ดเสร็จและยังมีทักษิณเป็นหัวหน้าพรรค

2) ตุลาการภิวัตน์ เม.ย. - ก.ค. 2549
ในระหว่างประธานศาลปกครองสูงสุดนำคณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด และต่อมาประธานศาลฎีกานำผู้พิพากษาประจำศาลสำนักงานศาลยุติธรรมทยอยกันเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล หัวหิน เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2549 นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัสขอร้องให้คณะตุลาการศาลต่างๆ พิจารณาปรึกษาช่วยกันหาทางแก้ไขวิกฤตที่สุดในโลก ที่กำลังเกิดขึ้นเนื่องจากการเลือกตั้งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและอาจเป็นโมฆะ เพื่อป้องกันไม่ให้ชาติบ้านเมืองล่มจมไป

พระองค์ยังทรงชี้แจงด้วยว่าคำขอให้ทรงใช้พระราชอำนาจพระราชทานนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทน โดยอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 นั้นทำให้พระองค์เดือดร้อนมาก เพราะผิดรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นการปกครองแบบมั่ว ไม่มีเหตุมีผล เป็นการให้พระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่ ทำตามใจชอบ

สืบเนื่องจากพระราชดำรัสนั้น คณะตุลาการแห่งศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญก็เริ่มเคลื่อนไหวปรึกษาหารือประสานกันอย่างพร้อมเพรียง เปิดเผยโดดเด่นต่อสาธารณะอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ นำไปสู่การพิจารณาไต่สวนดำเนินคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งอย่างเร่งด่วนฉับไวเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ:-

- ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เม.ย. พ.ศ.2549 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้เพิกถอนเสียและจัดเลือกตั้งใหม่

- ศาลแขวงสงขลายกฟ้องคดีประชาชนฉีกบัตรเลือกตั้งประท้วง โดยถือเป็นการใช้สิทธิต่อต้านการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยสันติวิธี

- ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ให้ใช้ตรายางประทับแทนกากบาทบัตรเลือกตั้ง

- ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องอัยการสูงสุดให้ยุบ 5 พรรคการเมืองรวมทั้งพรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์ในข้อหากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

- ศาลอาญาพิพากษาจำคุก พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ, นายปริญญา นาคฉัตรีย์, และนายวีระชัย แนวบุญเนียร คณะกรรมการการเลือกตั้ง 4 ปี โดยไม่รอลงอาญาและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี ฐานปล่อยให้มีการเวียนเทียนรับสมัครเลือกตั้งในวันที่ 23 เม.ย. 2549 อีกทั้งสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว จนในที่สุดทั้งสามยอมลาออกจากตำแหน่ง กกต.

- ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาประชุมสรรหาผู้สมควรได้รับเสนอชื่อเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง 10 คนเพื่อส่งให้วุฒิสภาคัดเหลือ 5 คนทำหน้าที่ กกต.ชุดใหม่

ฯลฯ

แต่กระนั้น ก็ดูเหมือนทักษิณจะเปลี่ยนใจและไม่ยอมวางมือทางการเมือง โดยกลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกฯอีก ประกาศจะนำพรรคไทยรักไทยลงต่อสู้ชิงชัยในการเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่ไม่ยอมเปิดเผยว่าตัวเองจะรับบทบาทการเมืองใดหลังเลือกตั้ง

ขณะเดียวกันทักษิณก็เริ่มโจมตีตอบโต้เครือข่ายข้าราชบริพารด้วยตนเองอย่างเปิดเผย นอกจากเขียนจดหมายส่วนตัวกล่าวโทษฟ้องร้องไปถึงประธานาธิบดีจอร์จ บุช ผู้ลูกแห่งสหรัฐอเมริกาแล้ว เขาก็กล่าวหาโดยไม่ระบุนาม - ต่อหน้าที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับสูงทุกกระทรวง ทบวง กรมกว่า 500 คนที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ.2549 - ถึง "บุคคลซึ่งดูเหมือนมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ" ว่าเข้ามาสั่งการวุ่นวายการบริหารราชการแผ่นดินทั้งที่ไม่มีอำนาจหน้าที่เพื่อบ่อนทำลายรัฐบาล

อันนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสื่อมวลชนว่า "บุคคลฯ" ดังกล่าวนั้นหมายถึงใคร? พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี?

ปรากฏรายงานข่าวว่า ประมาณหนึ่งเดือนให้หลัง ทักษิณได้ขอนัดรับประทานดินเนอร์หูฉลามสองต่อสองกับอดีตนายกฯบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยที่ร้านซ้ง เพื่อหาลู่ทางสมานฉันท์ทางการเมือง. ในโอกาสนั้น บรรหารได้ซักถามทักษิณว่า "บุคคลฯ" ที่เขาว่าคือใคร? พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช่ไหม?

ทักษิณปฏิเสธว่ามิได้หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
แต่ครั้นบรรหารถามใหม่ว่าป๋าเปรมหรือเปล่า? เขากลับเงียบเฉย
(ชาลินี จงจิตร, สัมภาษณ์พิเศษ "มังกรเติ้งเปิดอินไซด์ดินเนอร์หูฉลาม," มติชนรายวัน, 21 ส.ค.2549, น.11)

5. กองทัพภิวัตน์กับรัฐประหาร
กระบวนการโค่นทักษิณซึ่งเริ่มจากขั้นตอน :-

[1. ขบวนการมวลชนราชาชาตินิยม : ก.ย. 2548 - เม.ย.2549] ผ่านขั้นตอน -->
[2. ตุลาการภิวัตน์ : เม.ย.-ก.ค. 2549] ก็ได้ก้าวไปสู่ขั้นตอน -->
[3. กองทัพภิวัตน์กับรัฐประหาร : ก.ค.-ก.ย.2549] ในที่สุด รวมระยะเวลาทั้งสิ้นราว 1 ปี

หลังจากนายกฯ ทักษิณประกาศ "ไม่ยอมเด็ดขาด" แก่ "บุคคลซึ่งดูเหมือนมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ" ต่อที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการ ณ ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2549 โดยมหาชนพากันคาดเดาว่าหมายถึงใครไปต่างๆ นานาแล้ว …

ครึ่งเดือนต่อมา วันที่ 14 กรกฎาคม ศกเดียวกัน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในเครื่องแบบนายพลทหารม้าสวมหมวกเบเร่ต์ดำ ก็ได้นำคณะอดีตนายทหารชั้นผู้ใหญ่คนสนิทใต้บังคับบัญชา อาทิ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ,พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นต้น ไปบรรยายพิเศษแก่นักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ 1 - 4 และข้าราชการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ณ หอประชุม ร.ร.จปร. ต.พรหมณี อ.เมือง จ.นครนายก ในโอกาสนั้น พลเอกเปรม ได้เปรียบเทียบทหารอาชีพกับม้าแข่งไว้อย่างเฉียบคม จนเป็นที่โจษขานกันกว้างขวางว่า :-

"....จะเล่าให้ฟังอย่างนี้ก็แล้วกัน เปรียบเทียบคนที่เป็นทหารม้าถึงจะรู้เรื่องม้าดีและเรื่องการแข่งม้า การแข่งม้า ม้าจะมีคอก มีเจ้าของคอก คอกหนึ่งมีม้าหลายตัว 5 ตัว 10 ตัว 20 ตัวก็ได้ เจ้าของคอกก็เป็นเจ้าของม้า เวลาจะไปแข่ง เขาก็ไปเอาเด็กที่เราเรียกว่าจ๊อกกี้หรือเด็กขี่ม้า ไปจ้างให้เขามาขี่ม้า เขาจะขี่ม้า พอเสร็จจากการขี่ม้า เขาก็กลับไปทำงานอย่างอื่น วันนี้เขาขี่ม้าคอกนี้ พรุ่งนี้เขาขี่ม้าอีกคอกหนึ่ง เขาไม่ได้เป็นเจ้าของม้าหรอก เขาเป็นคนขี่...

"รัฐบาลก็เหมือนกับจ๊อกกี้ คือเข้ามาดูแลทหาร แต่ไม่ใช่เจ้าของทหาร เจ้าของทหารคือชาติและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐบาลเข้ามาดูแลกำหนดใช้พวกเราตามที่ประกาศนโยบายไว้ต่อรัฐสภา เด็กขี่ม้าบางคนก็ขี่ดีขี่เก่ง บางคนก็ขี่ไม่ดีขี่ไม่เก่ง รัฐบาลก็เหมือนกัน รัฐบาลบางรัฐบาลก็ทำงานดีทำงานเก่ง บางรัฐบาลก็ทำงานไม่ดีหรือไม่เก่งก็มี นี่เป็นเรื่องจริง"
(อ้างจากเว็บไซต์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ww.crma.ac.th/speech/)

ต่อมาวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2549 พลเรือเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในเครื่องแบบนายพลทหารเรือก็ได้ไปบรรยายพิเศษหัวข้อ "การเสริมสร้างการเป็นผู้นำ ด้วยหลักคุณธรรม ความพอเพียงและความเสียสละ" ให้แก่นักเรียนนายเรือ ณ โรงเรียนนายเรือ จ.สมุทรปราการ โดยกล่าวสรุปเรื่องคนดี/คนไม่ดีในแง่คุณธรรมจริยธรรมว่า :

"คนดีนั้นต้องมีคุณธรรมและจริยธรรม คนไม่ดีไม่มี และจะทำให้คนดี จะต้องทำให้เขามีคุณธรรมและจริยธรรม คนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับคนอื่นๆ ไม่ว่าจะโดยเป็นข้าราชการ เป็นอะไรก็ตาม และก็เป็นผู้บังคับบัญชา คนเป็นผู้กำหนดแนวทางให้กับหน่วยนั้นองค์กรนั้น ถ้าไม่มีคุณธรรมและจริยธรรม ทุกอย่างก็ล้มเหลวหมด จะมีการโกง การกิน การเห็นแก่พรรคพวก การเห็นแก่ญาติพี่น้อง การเห็นแก่ทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะว่าเขาไม่มีคุณธรรมและ ไม่มีจริยธรรม"
(อ้างจากวารสารรายเดือน นาวิกศาสตร์, 90 : 2 (ก.พ.2550)

สุดท้ายวันที่ 31 สิงหาคม ศกเดียวกัน พลอากาศเอกเปรม ติณสูลานนท์ในเครื่องแบบนายพลทหารอากาศได้ไปบรรยายพิเศษเรื่อง "ตามรอยพระยุคลบาทกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศของทหารอาชีพ" ที่อาคารรณนภากาศ โรงเรียนนายเรืออากาศ เขตสายไหม กรุงเทพฯ โดยเกริ่นว่าจากการบรรยายตามสถานศึกษาของทหารหลายสถาบัน บางคนชอบ บางคนไม่ชอบ วันนี้จะพูดอย่างตรงไปตรงมาในฐานะที่เป็นครอบครัวและเป็นญาติกัน จะชอบหรือไม่ชอบก็ได้ จากนั้นได้กล่าวบางตอนเกี่ยวกับคนไม่ดีแต่มีเงิน ซึ่งจะถูกพระสยามเทวาธิราชสาปแช่งว่า :-

"ผมยกพระบรมราโชวาทให้ฟัง เพื่อให้เข้าใจว่าเราต้องส่งเสริมคนดี และ รังเกียจคนไม่ดี การส่งเสริมคนดีอาจทำได้ง่ายกว่าการรังเกียจคนไม่ดี เพราะวัฒนธรรมไทยอาจเป็นอุปสรรคต่อการรังเกียจคนไม่ดี เรามักจะนับถือผู้หลักผู้ใหญ่ คนมีเงิน. ในส่วนของผู้หลักผู้ใหญ่น่าจะพอยอมรับได้ว่าเป็นผู้ใหญ่ก็ยกมือไหว้ แต่คนมีเงินจะต้องดูให้ดีว่าเขามีเงินมาได้อย่างไร มาด้วยความซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่ หรือว่ามาด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง เราควรจะต้องแยกแยะให้ได้ว่าใครที่เราควรจะเคารพนับถือ ใครคือคนที่เราควรจะต้องถอยห่างออกไป หากเราไม่ทำอย่างนั้น ถ้าเรายังเคารพนับถือคนที่ไม่ดี แต่เขามีสตางค์ มีเงิน เราก็กลายเป็นคนมีส่วนร่วมโดยทางอ้อม ในการที่ไปยกย่องนับถือคนไม่ดี...

"ชาติบ้านเมืองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใครก็ตามแม้เพียงแต่คิดจะยึดถือเป็นของตนเอง หรือของพรรคพวกของตนเอง เพื่อประโยชน์อันไม่ชอบธรรมต่อตนเอง หรือต่อพรรคพวกของตนเอง จะพบกับความหายนะในที่สุด พระสยามเทวาธิราชจะปกป้องคุ้มครองคนดีของชาติบ้านเมืองเสมอ และจะสาปแช่งคนไม่ดีให้มีอันต้องตกทุกข์ได้ยากแสนสาหัสตลอดชีวิต ผมเชื่อในสิ่งเหล่านี้ ผมเชื่อว่าชาติบ้านเมืองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผมเชื่อว่าพระสยามเทวาธิราชมีความศักดิ์สิทธิ์ มีบารมีจริงๆ ที่จะคุ้มครองคนดีและสาปแช่งคนไม่ดี..."
(เว็บไซต์ผู้จัดการ www.manager.co.th/asp-bin/PrintNews.aspx?NewsID=9490000110149)

ด้วยอิทธิพลผลสะเทือนแห่งเสียงปลุกเร้าเรียกร้องในชุดคำบรรยายพิเศษข้างต้น ของอดีตผู้บังคับบัญชา -ผู้ได้รับการเสนอให้เป็น "เสาหลักจริยธรรมของสังคม" (อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี, 22 มกราคม พ.ศ.2549)- ที่ช่วยดลบันดาลมโนธรรมสำนึกและจิตวิญญาณแก่ทหารอาชีพ ปรากฏว่าเหล่า "ทหารหาญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ได้ทยอยกันลุกขึ้นมาขานรับตอบแทนบุญคุณแผ่นดินโดยต่อแถวตบเท้าถอยห่างออกจาก "คนที่ไม่ดี แต่เขามีสตางค์ มีเงิน" อย่างคึกคักพร้อมเพรียง

ไม่ว่าจะเป็นพลโทสพรั่ง กัลยาณมิตร แม่ทัพกองทัพภาคที่สาม,พลเรือเอกบรรณวิทย์ เก่งเรียน รองปลัดกระทรวงกลาโหม,4 นายพลจาก 3 เหล่าทัพสังกัดสำนักงานรองปลัดกระทรวงกลาโหม,และพลเอกมนตรี สุภาพร จเรทหารทั่วไป - ต่างพากันประณามการเมืองที่เข้าก้าวก่ายแทรกแซงกองทัพ,ปฏิญาณจะปกป้องชาติและราชบัลลังก์ด้วยชีวิต, และเข้าชื่อกันส่งหนังสือร้องเรียนการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารอย่างไม่เป็นธรรมถึงประธานองคมนตรี เป็นต้น

แล้วจู่ๆ อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2549 ก็มีคำสั่ง "ฟ้าผ่า" แต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับผู้บังคับกองพันของกองทัพภาคที่หนึ่งระลอกใหญ่นอกฤดูกาล ลงนามโดยพลโทอนุพงษ์ เผ่าจินดา แม่ทัพกองทัพภาคที่หนึ่ง ด้วยความเห็นชอบของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการกองทัพบก โดยส่งพลเอกวิชิต ยาทิพย์ รองผู้บัญชาการกองทัพบกมาเป็นประธานการคัดเลือกผู้ถูกโยกย้าย

ปรากฏว่าบรรดาผู้บังคับกองพันที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาใกล้ชิดของเหล่านายพล อดีตนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 10 เพื่อนร่วมรุ่นเดียวกันกับนายกฯ ทักษิณ ซึ่งคุมกำลังอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ต่างถูกโยกย้ายสับเปลี่ยนแทนที่โดยนายทหารระดับนายพัน ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ได้รับความไว้วางใจจาก "ทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" นั่นเอง

ขณะเดียวกันที่หลังฉาก นายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ยังรับราชการอยู่และปลดประจำการแล้ว 5 นายก็กำลังวางแผนรัฐประหารรัฐบาลทักษิณตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2549

จากคำให้สัมภาษณ์ของ นาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ - อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรี และผู้อำนวยการกับคอลัมนิสต์นักวิจารณ์ทักษิณ "ขาประจำ" แห่งหนังสือพิมพ์แนวหน้า ซึ่งหลังรัฐประหารได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ-ที่บอกเล่าแก่นาย Rodney Tasker ผู้สื่อข่าว Asia Times Online เมื่อเดือนธันวาคมศกก่อน

เขาระบุว่าสี่ในห้านายทหารผู้ริเริ่มก่อการรัฐประหารได้แก่ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการกองทัพบก,พลโทอนุพงษ์ เผ่าจินดา แม่ทัพกองทัพภาคที่หนึ่ง (ตำแหน่งขณะนั้น), พลโทสพรั่ง กัลยาณมิตร แม่ทัพกองทัพภาคที่สาม (ตำแหน่งขณะนั้น),และตัวนาวาอากาศตรีประสงค์เอง

แม้นาวาอากาศตรีประสงค์จะมิได้แจงต่อว่านายทหารคนที่ 5 คือใคร? แต่เขาก็ยืนยันว่าพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ไม่ได้ร่วมอยู่ในคณะผู้ริเริ่มก่อการ 5 คนนี้
(ดู Rodney Tasker,"Grumbles,revelations of a Thai coup maker," Asia Times Online,22 December 2006 www.atimes.com/atimes/Southeast Asia/HL 22 Ae01.html)

ปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ.2549 เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าได้เปิดเผยและขัดขวางแผน "คาร์บอมบ์" ที่พยายามลอบสังหารนายกฯ ทักษิณไว้ก่อนจะดำเนินการสำเร็จ จากนั้นก็จับกุมนายทหารสังกัดกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจำนวนหนึ่งเป็นผู้ต้องหา

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เขม็งเกลียวร้อนแรงพลิกผันขึ้นทุกทีถึงขั้นมวลชนฝ่ายคัดค้านนายกฯ ทักษิณถูกอันธพาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสนับสนุนนายกฯ รุมกลั่นแกล้งทำร้ายจับกุมจนบาดเจ็บบอบช้ำเลือดอาบต่อหน้าสาธารณชน เพื่อนมิตรของนายกฯ ทักษิณที่หดลดน้อยลงทุกทีในกองทัพก็ได้รวมตัวแสดงพลังให้กำลังใจนายกฯ ทักษิณ และหารือวางแผนรับมือการรัฐประหารในกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ก่อนเขาออกเดินทางไปราชการต่างประเทศนานากว่าสิบวัน โดยทิ้งร่างคำประกาศภาวะฉุกเฉินและคำสั่งย้ายผู้บัญชาการกองทัพบกเข้าประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ยังไม่ได้ลงนามและลงวันที่ไว้เผื่อรับสถานการณ์พลิกผัน

อย่างไรก็ตาม คืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่นายกฯ ทักษิณจะขึ้นกล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ณ กรุงนิวยอร์ก พลเอกสนธิกับคณะก็ได้ช่วงชิงก่อการรัฐประหารตัดหน้าเป็นผลสำเร็จโดยไม่เสียเลือดเนื้อ และสยบความพยายามอันอ่อนแอระส่ำระสายของฝ่ายรัฐบาลที่จะต่อต้านการรัฐประหารลงได้ เป็นอันว่าการปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนต่อเนื่องกันนาน 15 ปีของประเทศไทยได้สิ้นสุดลง

แต่นอกเหนือจากคณะผู้ก่อการแล้ว ใช่ว่ารัฐประหารครั้งนี้จะเป็นที่แปลกใจและคาดไม่ถึงของทุกคนก็หามิได้ เพราะสี่วันก่อนหน้านั้น สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อาจารย์ประจำสถาบันราชภัฎนครราชสีมา ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน และหนึ่งในห้าแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เขียนลงคอลัมน์ "คลื่นสังคม" ประจำของเขาในนิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ โดยอ้างอิงข้อเขียนของเปลว สีเงิน แห่งหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ และอดีตเอกอัครราชทูตสุรพงษ์ ชัยนาม ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันเมื่อเร็วๆ นี้มาประกอบว่า :-

"หากตุลาการภิวัตน์เอาไม่อยู่ คงเหลือเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะจัดการได้คือกองทัพภิวัตน์...(หรือนัยหนึ่ง) การอภิวัตน์สังคมโดยกองทัพ...ให้ทหารโค่นล้มระบอบเผด็จการพลเรือน เพื่อคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชนโดยปราศจากการนองเลือด..."
(สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, "ลงจากอำนาจรอวันชำระโทษ" เนชั่นสุดสัปดาห์,15 : 746 (15 ก.ย.2549) 26-27)

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

จากคำให้สัมภาษณ์ของ นาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรี …และประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ-ที่บอกเล่าแก่นาย Rodney Tasker ผู้สื่อข่าว Asia Times Online เมื่อเดือนธันวาคมศกก่อน เขาระบุว่า สี่ในห้านายทหารผู้ริเริ่มก่อการรัฐประหารได้แก่ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการกองทัพบก,พลโทอนุพงษ์ เผ่าจินดา แม่ทัพกองทัพภาคที่หนึ่ง (ตำแหน่งขณะนั้น), พลโทสพรั่ง กัลยาณมิตร แม่ทัพกองทัพภาคที่สาม (ตำแหน่งขณะนั้น),และตัวของเขาเอง
27-04-2550

Thai Politics
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.