โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 26 April 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๓๐ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ (April, 26, 04,.2007)
R

ขบวนการผลักดันเพื่อการปฏิรูปสื่อภาคประชาชนในเกาหลีใต้
ปฏิรูปสื่อเกาหลีใต้ - เบื้องหลังความสำเร็จ K-POP
กันยา พฤกษ์ : เรียบเรียง
นักวิชาการอิสระ ผู้สนใจประเด็นเกาหลีใต้ร่วมสมัย

บทความวิชาการชิ้นนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับจาก email แนะนำ
ที่ส่งมาโดยเว็บไซต์ท้องถิ่นสนทนา หรือ www.localtalk2004.com
เป็นเรื่องเกี่ยวกับขบวนการปฏิรูปสื่อในเกาหลีใต้ โดยภาคประชาชน
ซึ่งก่อนหน้านี้ สื่อตกอยู่ภายใต้การควบคุมและการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลอย่างเข้มงวด
แต่ได้ค่อยๆ คลี่คลายการบีบรัดมาตามลำดับ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนประชาชนในการเข้าถึงสื่อ
รวมทั้งได้ให้การส่งเสริมในการผลตสื่อในรูปของงบประมาณ และการอำนวยความสะดวกต่างๆ
ทั้งหมดเป็นเพราะพลังผลักดันของประชาชนอย่างแข็งขัน
ตัวอย่างที่พบได้ในบทความชิ้นนี้ อาจเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปสื่อในประเทศไทย
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๓๐
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๒.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ปฏิรูปสื่อเกาหลีใต้ - เบื้องหลังความสำเร็จ K-POP
กันยา พฤกษ์ : เรียบเรียง
นักวิชาการอิสระ ผู้สนใจประเด็นเกาหลีใต้ร่วมสมัย

ความย่อ
ปัจจุบันกระแสการปฏิรูปสื่อในไทยกำลังมาแรง ดังนั้น Localtalk จึงนำบทเรียนและประสบการณ์ของขบวนการปฏิรูปสื่อของประชาชนชาวเกาหลีใต้มาเล่าสู่กันฟัง แม้เส้นทางของการปฏิรูปสื่อของเกาหลีใต้จะไม่ได้โรยด้วยดอกกุหลาบ ทว่าการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องและด้วยพลังที่เข้มแข็งของภาคประชาชน คงไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ "การปฏิรูปสื่อของไทย" ก็เช่นเดียวกัน

ก้าวแรก : ขบวนการปฏิรูปสื่อเพื่อประชาชน
อุตสาหกรรมสื่อของเกาหลีใต้ใต้เติบโตอย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ. 2503 ในขณะนั้นยังมีการผูกขาดระบบการแพร่ภาพและกระจายเสียง รวมทั้งยังมีการตรวจสอบและเซ็นเซอร์ภาพยนตร์โดยรัฐ การควบคุมสื่อในลักษณะเผด็จการนี้ เกิดขึ้นพร้อมกับเหตุการณ์ปราบจลาจลที่กวางจู (Gwangju Uprising) ปี 2523 ทำให้รัฐสามารถควบคุมสื่อไว้ได้ และในขณะเดียวกันก็ได้สร้างรากฐานของอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงขึ้นมา ระหว่างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และการควบคุมทิศทางสื่อของรัฐ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของประชาชน และเริ่มเข้มแข็งมากในช่วงกลางทศวรรษ 1980 (2523) ทั้งนี้เพื่อการต่อต้านกับการเผด็จการของรัฐ และพยายามจะเปลี่ยนแปลงสื่อจึงนำไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหว 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่

ขบวนการแรก คือ ขบวนเคลื่อนไหวเพื่อผลิตและเผยแพร่เนื้อหาผ่านสื่อทางเลือกที่เป็นภาพ ราวช่วงต้นปี 2523 ในชื่อขบวนการภาพยนตร์ทางเลือก โดยนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ และการดิ้นรนของชาวเกาหลีใต้ที่ไม่ได้รับความสนใจจากสื่อกระแสหลัก ผ่านภาพยนตร์สารคดี ข่าว

ขบวนการที่สอง คือ ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อวิพากษ์วิจารณ์สื่อกระแสหลักของผู้ชม เริ่มต้นจากการปฏิเสธการจ่ายค่าธรรมเนียมการรับชมระบบแพร่ภาพกระจายเสียงสาธารณะ ที่นำเสนอเนื้อหาอย่างบิดเบือนความเป็นจริง ต่อมาได้พัฒนาไปสู่การควบคุมดูแลสื่อกระแสหลักโดยประชาชน

ขบวนการที่สาม คือ ขบวนการที่ก่อตั้งโดยสหภาพแรงงานในบริษัทเอกชนที่เกี่ยวกับการแพร่ภาพกระจายเสียง ที่ต้องการความเป็นธรรมและความเป็นอิสระในการแพร่ภาพกระจายเสียง ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวได้ดำรงอยู่เป็นส่วนหนึ่งกับอุตสาหกรรมสื่อมาจนถึงปัจจุบัน

ขบวนการสุดท้าย คือ ขบวนการใหม่ล่าสุด เรียกว่า สื่อภาคประชาชน มีการรณรงค์ผลักดันให้สื่ออินเตอร์เน็ตเป็นพื้นที่สื่อที่เป็นประชาธิปไตย มีการผลิตสื่อบริการข่าวสารทางเลือกผ่านอินเตอร์เน็ต โดยเน้นประเด็นเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิส่วนบุคคล และระบบทรัพย์สินทางปัญญาฯลฯ

ด้วยเหตุนี้เอง การปฏิรูปสื่อของประชาชนในประเทศเกาหลีใต้ จึงมีทิศทางที่มุ่งพัฒนาระบบสื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีความก้าวหน้ามากขึ้น โดยมีการออกกฎหมายใหม่, การสร้างกลไกหรือสถาบันใหม่, การกำหนดวาระแห่งชาติ, และขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

ทั้งนี้สามารถออกกฎหมายวิทยุโทรทัศน์ฉบับใหม่ในปี 2542 และสามารถสร้าง KBC หรือคณะกรรมการกำกับกิจการวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ ที่แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีและรัฐสภา มีอำนาจตั้งคณะกรรมการของสถานีโทรทัศน์ MBC และ KBS และสามารถเรียกเก็บรายได้เพื่อจัดสรรเป็นกองทุน Korean Broadcasting Development Fund ใช้งบประมาณราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนผู้ผลิตสื่อเอกชนอิสระ การติดตามประเมินผลกลุ่มผู้ชม และสร้างหน่วยงานใหม่ๆ ขึ้นมาในระดับกลไกเฉพาะด้าน เช่น สภาการภาพยนตร์ มีการจัดตั้งกองทุนภาพยนตร์ โดยผ่านการจัดเก็บจากบัตรเข้าชมภาพยนตร์ เพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตอิสระเช่นเดียวกัน

ก้าวสู่ "ยุทธศาสตร์เพื่อสาธารณะ"
ประสบการณ์การผลักดันเพื่อให้เกิดการปฏิรูปสื่อของประชาชนเกาหลี ที่ต่อเนื่องยาวนานมากว่า 20 ปี ได้สร้างความเข้มแข็งให้แก่ขบวนการเคลื่อนไหวภายใต้สถานการณ์ที่มีลักษณะเฉพาะของสังคมเกาหลี รวมทั้งการผลักดันที่เชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงของขบวนการเคลื่อนไหวด้านสื่อในระดับโลก

อีกทั้งจากประสบการณ์ของเกาหลียืนยันได้ว่า การปฏิรูปสื่อเป็นสิ่งที่ต้องกระทำก่อนที่จะมีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในด้านอื่น และจากการประเมินกระบวนการที่ผ่านมา ยังสามารถกำหนดยุทธศาสตร์เชื่อมโยงขบวนการเคลื่อนไหวผลักดันสื่อได้เป็น 3 ด้าน คือ

- การป้องกันผู้ผลิตสื่ออิสระ
- การกดดันสื่อกระแสหลัก และ
- การขยายพื้นที่สาธารณะให้กว้างขวางออกไป

การป้องกันผู้ผลิตสื่ออิสระ การสร้างระบบและการปฏิบัติงานสื่อทางเลือก ต้องป้องกันกลุ่มผู้ผลิตสื่ออิสระจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของสื่อกระแสหลัก เพื่อให้ผู้ผลิตสื่ออิสระสามารถผลิตเนื้อหาและพัฒนารูปแบบส่งเสริมการเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำเป็นต้องคำนึงถึงความเป็นอิสระทั้งด้านแนวคิด อุดมการณ์ และด้านวัตถุที่ต้องเอื้อต่อกระบวนการผลิต เพราะการที่ผู้ผลิตสื่ออิสระและสื่อทางเลือกไม่ถูกอำนาจและทุนครอบงำ รวมทั้งมีความสัมพันธ์กับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

การกดดันสื่อกระแสหลัก ต่อมาคือ ต้องสร้างแรงกดดันและความตึงเครียดทางการเมืองขึ้นในสื่อกระแสหลัก และกำหนดวาระทางสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสื่อกระแสหลักมากที่สุด ในกรณีนี้สื่อทางเลือกจะเป็นผู้เสนอต้นแบบและมาตรฐานในการกำหนดลักษณะการสื่อสารที่มีความก้าวหน้า เป้าหมายสำคัญจึงต้องมุ่งทำให้สื่อทางเลือกได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมมากขึ้น

การขยายพื้นที่สาธารณะ ต้องขยายพื้นที่สาธารณะให้กว้างขวางและครอบคลุมทั้งสังคม เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการของนักเคลื่อนไหวด้านสื่อที่เป็นประชาธิปไตย ทั้งในกลุ่มผู้ผลิตสื่ออิสระและสื่อกระแสหลัก โดยต้องเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของสื่อพาณิชย์หรือสื่อของรัฐ ให้มีโครงสร้างแบบประชาธิปไตยและเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ผ่านการผลักดันให้มีพื้นที่สำหรับการทดลองนโยบายและปฏิบัติการแบบต่างๆ ซึ่งในแง่นี้สื่อทางเลือกมีข้อจำกัดทางทรัพยากรด้านวัตถุ ส่วนสื่อกระแสหลักต้องพบปัญหาและข้อจำกัดทางโครงสร้าง การผลักดันให้เกิดปฏิบัติการบนสื่อกระแสหลักจึงเป็นช่องทางที่สำคัญ

นอกจากนี้ สำหรับการเคลื่อนไหวทางสังคมของภาคประชาชน มีเครือข่ายพันธมิตรทั่วประเทศที่ร่วมผลักดันให้เกิดการเข้าถึงสื่อของสาธารณะ(Public Access) และมีศูนย์สื่อระดับชุมชน(Local Media Center) รวมทั้งสมาชิกที่เป็นนักกิจกรรมด้านสื่อ(Media Activist)จากทั่วประเทศ โดยเคลื่อนไหวใน 4 ด้านหลัก คือ ด้านภาพยนตร์, ด้านผู้ชม, ด้านสหภาพแรงงาน, และการเคลื่อนไหวทางสังคมในรูปแบบใหม่

การปฏิรูปสื่อของเกาหลีทำให้ผู้ผลิตสื่อมีเสรีภาพที่จะนำเสนอความคิดเห็นได้กว้างขวางกว่าเดิม ผู้ที่ได้รับประโยชน์มิใช่ผู้ที่อยู่ในกระบวนการเคลื่อนไหว แต่เป็นระบบการผลิตสื่อโดยรวม อีกทั้งการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการผลิตทำให้ผู้ผลิตสื่ออิสระ หรือบริษัทเอกชน ต่างได้รับโอกาสในการปรับปรุงและพัฒนาผลงาน จนเป็นที่มาของกระแส K-pop หรือ Korean Waveในปัจจุบัน. ดังนั้นกระบวนการเคลื่อนไหวผลักดันของประชาชนเกาหลี จึงสร้างพื้นฐานให้สื่อมีเสรีภาพในการนำเสนอข้อเท็จจริงและความคิดเห็น รวมทั้งการสนับสนุนการผลิตอย่างเป็นระบบเพื่อให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพ การเปลี่ยนแปลงดังที่กล่าวมาจึงก่อประโยชน์ต่อสาธารณชนในเกาหลีอย่างแท้จริง

จากการเคลื่อนไหวอย่างมีเอกภาพและทิศทางที่สอดคล้องกันของขบวนการเคลื่อนไหวทั้งสี่ด้าน ซึ่งรวมถึงขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างอิสระ สหภาพแรงงาน นักเคลื่อนไหวเพื่อสื่อทางเลือก และการวิพากษ์วิจารณ์สื่อทางเลือก ทำให้เกิดการสร้างความชอบธรรมของระบบกระจายเสียงของภาคประชาชน การระบุความรับผิดชอบของผู้ประกอบการสื่อเชิงพาณิชย์ การปกป้องสิทธิและการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อกิจกรรมของผู้ชม รวมทั้งการเน้นให้มีแนวคิดการให้บริการด้านเทคโนโลยีที่เป็นสากล

อินเตอร์เน็ต กับขบวนการทางสังคม
การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมไอทีโดยเฉพาะอินเตอร์เน็ต ตั้งแต่กลางปี 2533 (1990) ถือเป็นเงื่อนไขใหม่ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม อัตราการใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศเกาหลีมีการขยายตัวสูงมาก ปัจจุบันมีประชาชนใช้อินเตอร์เน็ตจำนวน 33 ล้านคน จากประชากรทั้งประเทศ 48 ล้านคน และ มี 13 ล้านคน จาก 14.5 ล้านครัวเรือนเข้าถึงอินเตอร์เน็ต แม้ว่าด้านสิทธิการเข้าถึงยังมีการแบ่งแยกทางเทคโนโลยีอยู่บ้าง แต่ถือได้ว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึง

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในเกาหลีให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เนื่องจากอินเตอร์เน็ตเป็นทั้งวิธีการและพื้นที่ใหม่ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล การสื่อสาร และการจัดตั้งมวลชน มีการฝึกอบรมการผลิตและเผยแพร่วีดีโอดิจิตอลอย่างแพร่หลายโดยกลุ่มอิสระต่างๆ จึงก่อให้เกิดนักเคลื่อนไหวอิสระขึ้นจำนวนมาก และกระจายตัวกันออกไปอยู่ในการรวมกลุ่มของแรงงานในสหภาพแรงงาน และเคลื่อนไหวในภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ

การผลิตสื่ออิสระที่หลากหลายเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เช่น จินโบ.เน็ต (http://www.jinbo.net) หรืองานเขียนทางเลือก เช่น โอมายนิวส์ (http://www.ohmynews.com) ที่ประชาชนสามารถนำเสนอข่าวสารด้วยตนเองได้ ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจจากการใช้ช่องทางสื่ออินเตอร์เน็ตในกรณีนี้คือ การจัดตั้งและระดมมวลชนเพื่อประณามความโหดร้ายของกองทัพสหรัฐในเกาหลี ซึ่งนำไปสู่การร่วมรณรงค์จุดเทียนเดินขบวนประท้วงหน้าสถานฑูตสหรัฐในเกาหลี ส่งผลให้เกิดภูมิทัศน์การเมืองภาคประชาชนในลักษณะใหม่ การเผยแพร่เนื้อหาข่าวสารในแบบนี้จึงเป็นวิธีการที่สามารถขยายขบวนการเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว แต่ในอีกด้านหนึ่ง การใช้อินเตอร์เน็ตก็พบปัญหาบางประการ เช่น การตรวจสอบการควบคุม ความปลอดภัย สิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญา ไปรษณีย์ขยะ

ระบบสื่อในเกาหลี (ของประชาชน)
สถานีแพร่ภาพและกระจายเสียงเพื่อสาธารณะ (Public Broadcasting) สถานีกลุ่มหลักนี้แต่เดิมเป็นสถานีของรัฐ และไม่เปิดพื้นที่การสื่อสารให้กับภาคประชาชน แต่ภายหลังมีการผลักดันให้เป็นบริการสาธารณะสำเร็จในปี 2542 จึงทำให้สถานีกลุ่มหลักเหล่านี้ เป็นช่องทางที่เอื้อให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ทั้งหมดเป็นสถานีพื้นฐานหรือสถานีระดับชาติที่เป็นระบบ Free TV เช่นเดียวกับสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 5 7 9 11 และ ITV ในประเทศไทย และในปัจจุบันยังมีสถานีโทรทัศน์ที่เป็นของเอกชนเพิ่มเข้ามา สถานีแพร่ภาพและกระจายเสียงเพื่อสาธารณะ ในกลุ่มนี้ ได้แก่

1. KBS (Korean Broadcasting Service)
2. MBC สื่อของรัฐที่นำมาทำเป็นสถานีสาธารณะ
3. EDS สถานีเพื่อการศึกษา และ
4. SDS Local Private Station สถานีของเอกชน

สำหรับสถานีโทรทัศน์ระบบ Cable ซึ่งมีประชาชนร้อยละ 90 สมัครเป็นสมาชิก มีระเบียบข้อหนึ่งที่ระบุให้มีการเข้าถึงของสาธารณะ(Public Access) คือต้องเปิด 1 ช่อง สำหรับให้ประชาชนเข้าไปดำเนินการเอง ขณะนี้จึงมีสถานีผ่านดาวเทียมแห่งหนึ่งคือสถานี RTV ที่เปิดให้ประชาชนเข้าไปผลิตรายการออกอากาศ แม้ปัจจุบันการรับชมจากสถานีผ่านดาวเทียม(Satellite)จะยังไม่กว้างขวางนัก แต่ก็มีการเตรียมการสำหรับเทคโนโลยีล่าสุดคือ DMB (Digital Mobile Broadcasting) ที่สามารถออกอากาศแพร่ภาพบนโทรศัพท์มือถือได้ โดยแบ่งเป็นสองระบบ คือ ระบบผ่านดาวเทียม(Satellite) ที่ผู้รับชมต้องจ่ายค่าสมาชิก และระบบภาคพื้นดิน (Terresttrial) ที่ออกอากาศในระบบปกติและผู้รับชมไม่ต้องเสียค่าสมาชิก

หนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ในประเทศเกาหลีส่วนใหญ่เป็นของเอกชน โดยมี 3 ฉบับที่เป็นที่นิยม มีอำนาจควบคุมและมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูง ลักษณะค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ดังนั้น รัฐจึงหาวิธีการช่วยให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นที่หลากหลาย โดยการสนับสนุนระบบสายส่งเพื่อช่วยให้หนังสือพิมพ์ฉบับเล็ก ๆ ได้รับการเผยแพร่

อินเตอร์เน็ต ประชาชนในประเทศเกาหลีมีการใช้อินเตอร์เน็ตค่อนข้างกว้างขวางเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียด้วยกัน มีการใช้งานในลักษณะที่เป็นสื่อทางเลือก มีข่าวสารหรือเนื้อหาสาระใหม่ๆ ไหลเวียนอย่างรวดเร็วต่างจากสถานีโทรทัศน์ที่ออกอากาศทั่วไป สำนักข่าวหรือสถานีข่าวทางอินเตอร์เน็ตที่รู้จักกันดีและได้รับความนิยมคือ Oh My News ซึ่งประชาชนสามารถส่งข่าวเพื่อเผยแพร่ได้ มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่และถูกยึดกุมโดยภาคธุรกิจเอกชน

ภาพยนตร์ ภาพยนตร์เกาหลีได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง และเป็นที่รู้จักทั้งภายในและภายนอกประเทศ แต่ยังมีปัญหาในเรื่องการผูกขาดเนื่องจากยังไม่มีการกำกับดูแลกิจการอย่างเป็นธรรม เช่น ภาพยนตร์เรื่อง Monster มีคนรับชมถึง 10 ล้านคน เนื่องจากสามารถยึดกุมพื้นที่ของโรงภาพยนตร์ได้มาก ส่วนปัญหาด้านการเซ็นเซอร์จากรัฐนั้น ในช่วงปี 2513 ถือว่ามีความเข้มข้นมาก มีกรณีเซ็นเซอร์ที่ถึงขั้นปรับเปลี่ยนบทภาพยนตร์โดยกรรมการเซ็นเซอร์ ทำให้มีการเคลื่อนไหวมาโดยตลอดกระทั่งปี 2523 จึงสามารถต่อสู้เรื่องการเซ็นเซอร์ได้สำเร็จ

กองทุนเพื่อการผลิตสื่อของประชาชน
การประกอบกิจการสื่อในประเทศเกาหลีขึ้นอยู่กับกระทรวงข่าวสารและการสื่อสาร โดยมีการแบ่งหน่วยงานกำกับดูแลออกเป็น 2 หน่วยงาน ตามลักษณะของกิจการ

หน่วยงานแรกคือ องค์กรกำกับกิจการโทรคมนาคม ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการและออกใบอนุญาตประกอบกิจการด้านโทรคมนาคม

หน่วยงานที่สองคือ องค์กรกำกับกิจการวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการ และออกใบอนุญาตการประกอบกิจการด้านวิทยุและโทรทัศน์ อีกทั้งยังมีการตั้งกองทุนสนับสนุนผู้ผลิตในลักษณะเพื่อให้เกิด Public Access นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนผู้ผลิตสื่อโดยตรงอีกแห่งหนึ่งคือ กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลด้านเนื้อหาโดยรวม และให้งบประมาณอุดหนุนผู้ผลิตสื่อตามทิศทางที่กระทรวงวัฒนธรรมกำหนด

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานข้างต้นในขณะนี้คือเรื่องการออกใบอนุญาต และดูแลการประกอบกิจการที่มีลักษณะร่วมกันทั้งโทรคมนาคมและการแพร่ภาพกระจายเสียง กล่าวคือความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้สามารถแพร่ภาพรายการโทรทัศน์บนโทรศัพท์มือถือได้ หรือการส่งผ่านรายการโทรทัศน์ในลักษณะ Video on demand จึงทำให้เกิดข้อโต้แย้งว่าหน่วยงานใดควรเป็นผู้ออกใบอนุญาตและกำกับดูแล ระหว่างหน่วยงานที่ดูแลด้านโทรคมนาคมและการแพร่ภาพกระจายเสียง อย่างไรก็ตาม ปัญหายิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อมีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมหรือ IPTV (Internet Protocol Television) สามารถส่งสัญญาณให้รับชมรายการโทรทัศน์ได้โดยตรง

สิ่งที่ถือว่าก้าวหน้าในการกำกับดูแลการประกอบกิจการสื่อเพื่อประโยชน์สาธารณะคือ ในปี 2543 สภานิติบัญญัติได้ออกกฎหมายการแพร่ภาพกระจายเสียงฉบับใหม่ ซึ่งกำหนดว่ารายการที่ประชาชนเข้าถึงได้ต้องอยู่ในผังรายการของเคเบิลทีวี ซึ่งหมายรวมถึง KBS และดาวเทียมด้วย สาระในมาตรา 70 (7) ระบุว่า "ผู้ควบคุมระบบ (System Operator ) และหน่วยงานแพร่ภาพกระจายเสียงผ่านดาวเทียม ควรตอบข้อเรียกร้องของผู้ชมในการออกอากาศรายการของตน (หมายถึงรายการที่ผู้ชมเป็นผู้ผลิต )ทางช่องสัญญาณท้องถิ่น หรือช่องสัญญาณของรัฐ หากไม่มีเหตุผลเฉพาะที่คัดค้านได้" ซึ่งเป็นผลมาจากการกดดันเรียกร้องอย่างต่อเนื่องของประชาชนหลากหลายกลุ่ม

ด้านกฎหมายการแพร่ภาพกระจายเสียงของเกาหลีฉบับปัจจุบันกำหนดว่า กองทุนพัฒนาการแพร่ภาพกระจายเสียงส่วนหนึ่ง ควรใช้เพื่อสนับสนุนรายการที่ประชาชนเข้าถึงและร่วมผลิตได้ ทำให้รายการโทรทัศน์หลายรายการจากสถานีทั้งภาคพื้นดินและเคเบิลทีวี ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการผลิตและค่าธรรมเนียมการออกอากาศสำหรับรายการที่มีลักษณะตามที่กล่าวมา แต่เดิมสนับสนุนการผลิตจำกัดสูงสุดไม่เกิน 500 เหรียญสหรัฐต่อรายการ แต่เมื่อเดือนมีนาคม 2548 ได้ปรับเพิ่มเป็น 40 เหรียญสหรัฐต่อนาที และสูงสุดไม่เกิน 1,000 เหรียญสหรัฐต่อรายการ

ตัวอย่างการสนับสนุนรายการที่ผ่านมา เช่น รายการ Open Chanel ทางสถานี KBS ช่องสัญญาณโทรทัศน์ภาครัฐ ซึ่งเป็นช่องระดับประเทศของเกาหลี, หรือรายการ Our TV จากสถานีเคเบิลทีวีที่ออกอากาศในภูมิภาค Gangneung หรือในภูมิภาค Buan ที่ประชาชนผลิตรายการต่อต้านขยะนิวเคลียร์ ซึ่งทั้งสองรายการออกอากาศทางสถานีเคเบิล RTV รวมทั้งสถานีโทรทัศน์สาธารณะ MBC ซึ่งเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ชุดแดจังกึมที่ได้รับความนิยม. ทั้งนี้ในปี 2546 มีรายการที่ได้รับการสนับสนุนและออกอากาศ จำนวน 150 รายการ โดยได้รับงบประมาณอุดหนุนการผลิตรายการจากกองทุนพัฒนาการแพร่ภาพกระจายเสียงโดยเฉลี่ย 7,500,000 วอน หรือประมาณ 7,500 เหรียญสหรัฐ หรือราว 300,000 บาท

การจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการผลิตสื่อ จึงทำให้ผู้ผลิตสื่ออิสระหรือบริษัทเอกชนมีช่องทางที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพเนื้อหา ที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งถือได้ว่าเป็นที่มาของกระแส K-pop หรือ Korean Wave ที่แพร่หลายในปัจจุบัน

สื่อประชาธิปไตย - การมีส่วนร่วมภาคประชาชน
การสนับสนุนประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตรายการเพื่อสื่อสารนั้น มิใช่เป็นการพัฒนาความสามารถในการผลิต ซึ่งเป็นงานทางเทคนิคเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญกับเรื่องเนื้อหาด้วย อาทิ การนำเสนอภาพหรือเรื่องราวของคนกลุ่มต่างๆ รวมถึงแรงงานต่างชาติ ทำให้ประชาชนได้เรียนรู้เรื่องอคติที่อาจจะเกิดขึ้นในการสื่อสาร รวมทั้งกระบวนการผลิตที่พยายามจะสื่อสารเรื่องราวของตนเอง

ในปีหนึ่งๆ มีการจัดฝึกอบรม 20-30 ครั้ง โดยศูนย์กลางสื่อชุมชนหรือ Community Media Center ที่ดำเนินการโดย MediaAct ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียทางธุรกิจ ศูนย์กลางสื่อชุมชนมีระบบจัดการบริหารโดยคณะกรรมการชุมชน โดยมีคณะกรรมการกระจายเสียงและโทรทัศน์แห่งเกาหลีเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ จำนวน 15 ล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 600 ล้านบาท

ระบบการแพร่ภาพกระจายเสียงแห่งเกาหลีสนับสนุนการทำรายการ ที่มาจากการมีส่วนร่วมของผู้ชมซึ่งผลิตโดยผู้ชมโดยตรง ตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในคำสั่งของนายกรัฐมนตรี มาตรา 70 (7) ในกรณีที่ผู้ชมร้องขอให้มีการแพร่ภาพกระจายเสียงรายการที่ตนผลิต ตามข้อกำหนดในข้อบังคับของกรรมาธิการ ผู้ประกอบธุรกิจแพร่ภาพกระจายเสียงผ่านเคเบิลครบวงจร และผู้ประกอบการธุรกิจแพร่ภาพกระจายเสียงผ่านดาวเทียมต้องแพร่ภาพกระจายเสียงรายการนั้น ผ่านช่องสัญญาณระดับภูมิภาคหรือช่องสัญญาณสาธารณะ เว้นแต่จะมีเหตุผลอื่นใด

Open Channel
สถานี KBS ซึ่งเป็นระบบแพร่ภาพกระจายเสียงสาธารณะรายใหญ่ของประเทศ ได้ออกอากาศรายการที่ผลิตโดยผู้ชม หลังจากรัฐมีนโยบายดังกล่าว โดยที่ภาคประชาชนได้รวมตัวกันในนาม "แนวร่วมเพื่อการมีส่วนร่วมของผู้ชม"(Coalition for Viewer Participation) เคลื่อนไหวผลักดันให้มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม สถานี KBS จึงได้จัดให้มีพื้นที่สื่อของประชาชนในรายการ Open Channel แพร่ภาพสัปดาห์ละ 25 นาที ออกอากาศทางช่อง KBS-ITV ทุกวันเสาร์เวลา 13.10 น. โดยมีคณะอนุกรรมการ 8 คน เป็นผู้คัดเลือกรายการออกอากาศประกอบไปด้วย ผู้ผลิตอิสระ, ทนายความ, นักวิชาการ, ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพร่ภาพกระจายเสียง, เจ้าหน้าที่จาก KBS, และฝ่ายผู้ชมอีก 2 คน. แม้ว่าองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการและเวลาการออกอากาศ 25 นาทีต่อสัปดาห์นั้นจะยังไม่เป็นที่พอใจของภาคประชาชนนัก แต่ถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จเนื่องจาก KBS เป็นช่องสัญญาณที่ออกอากาศครอบคลุมการรับชมของคนเกาหลี 48 ล้านคนทั่วประเทศ

ช่อง MBC ซึ่งเป็นช่องโทรทัศน์สาธารณะได้เปิดรายการโทรทัศน์ ที่ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลิตรายการสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง โดยรูปแบบจะเป็นรายการที่รายงานสถานการณ์บ้านเมืองและข่าวต่างประเทศ สามารถนำเสนอเรื่องต่างๆ ที่ความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้. ส่วนช่อง CABLE มีกฏหมายที่บัญญัติไว้ให้เป็นช่องสาธารณะ(Open access chanel) โดยกำหนดช่วงเวลาสำหรับการเผยแพร่รายการที่ประชาชนผลิตและส่งเข้ามา และสนับสนุนการผลิตรายละ 1,000 เหรียญสหรัฐต่อความยาวรายการ 1 ชั่วโมง. แต่ก็มีบางรายที่ใช้ช่องทางนี้ในการแสวงหาประโยชน์ เช่น ผลิตรายการที่ไม่มีคุณภาพหรือก่อประโยชน์ให้กับสังคมโดยตรง เช่น การผลิตรายการที่เกี่ยวกับครอบครัวของตนเอง ในที่สุดโครงการนี้จึงถูกตรวจสอบและต้องยุติไป

สำหรับช่อง RTV ซึ่งเป็นสถานีผ่านดาวเทียม (Satellite) ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากคณะกรรมการกระจายเสียงและโทรทัศน์แห่งเกาหลี(Korean Broadcasting Commission) ให้เปิดช่องสาธารณะ(Open Channel) ขึ้นมา กำหนดให้มีช่วงเวลารายการที่ผลิตและมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนหลากหลายกลุ่ม และออกอากาศเป็นประจำทุก 2 สัปดาห์ รายการจึงสะท้อนให้เห็นเนื้อหาที่หลากหลายและมีการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และที่น่าสนใจคือเป็นพื้นที่สาธารณะในการสื่อสารที่ทำให้กลุ่มผู้พิการและกลุ่มคนงานหลายชาติในแต่ละท้องถิ่น ได้เข้ามามีส่วนร่วมสื่อสารและสะท้อนเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นในมุมมองของตนเอง กลุ่มแรงงานหลายเชื้อชาติจึงมีรายการประจำของตนเอง เช่น ชาวพม่า ปากีสถาน ศรีลังกาฯลฯ

เกาหลียังให้ความสำคัญกับพื้นที่การสื่อสารของภาคประชาชน รวมไปถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติหรือแรงงานที่อพยพหลายเชื้อชาติ เนื่องจากตระหนักถึงความเป็นประชาธิปไตยในการสื่อสาร โดยมีมาตรการชัดเจนที่กำหนดให้มีช่องโทรทัศน์สาธารณะกระจายอยู่ในเครือข่ายสถานีโทรทัศน์ทุกประเภท

ปัจจุบันศูนย์สื่อชุมชนกำลังอยู่ในความสนใจของรัฐบาล และมีการสร้างศูนย์กลางสื่อชุมชนขนาดใหญ่แห่งแรกที่เมืองปูซาน และอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างแห่งที่สองที่เมืองกวางจู ขณะนี้จึงมีการผลักดันให้เกิดศูนย์กลางสื่อชุมชนขึ้นทั่วประเทศ โดยกระทรวงวัฒนธรรม และคณะกรรมการกระจายเสียงและโทรทัศน์เกาหลี การดำเนินงานขององค์กรเอกชนจึงช่วยให้การทำงานของรัฐมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าอีกด้วย

พื้นที่สื่อ ประชาชนเป็นผู้กำหนด
We Want to Work ของสหภาพแรงงาน : หลังจากสถานี KBS ได้เปิดพื้นที่ออกอากาศรายการที่ผลิตโดยผู้ชม ในรายการทีวี Open Channel จึงทำให้เกิดความร่วมมืออย่างแข็งขันจากนักเคลื่อนไหวหลายคน โดยจัดตั้งเครือข่ายการเข้าถึงของประชาชนแห่งเกาหลีขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และสนับสนุนการผลิตรายการ และทำให้รายการ We Want to Work ซึ่งผลิตโดยสหภาพแรงงานกลุ่มหนึ่งได้รับความสนใจหลังจากคณะอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือกรายการ ตัดสินใจเลื่อนการออกอากาศเนื่องจากแรงกดดันจากบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ ทำให้เกิดปฏิกิริยาอย่างกว้างขวาง องค์กรเอกชน KCTU และเครือข่ายเพื่อสื่อในเกาหลีออกมาเคลื่อนไหวกดดัน และประณามการตัดสินใจนี้อย่างรุนแรง ทำให้ต้องมีการปรับผังรายการและนำรายการ WE Want to Work มาออกอากาศในสัปดาห์ต่อมา

FTA กับสถานี MBC สถานีโทรทัศน์ MBC ซึ่งเป็นช่องโทรทัศน์สาธารณะ ที่นำเสนอเนื้อหาสาระเรื่อง FTA หรือเขตการค้าเสรีผ่านรายการกิจการบ้านเมืองปัจจุบัน ทำให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลและเรียนรู้ความคิดเห็นที่แตกต่างจากผู้คนที่หลากหลาย และนำไปสู่การสื่อสารบนอินเตอร์เน็ต ส่งผลให้ประชาชนมีความเข้าใจในเรื่องเขตการค้าเสรี (FTA) และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการเคลื่อนไหวรณรงค์บ่อยครั้ง แต่ประชาชนทั่วไปยังขาดความเข้าใจ

เมื่อมีการสำรวจประชามติในภายหลังพบว่า คนส่วนใหญ่มองว่าเขตการค้าเสรีเป็นเรื่องที่ไม่ส่งผลดีต่อประเทศ มติของสาธารณะจึงเปลี่ยนไปจากเดิม ส่งผลให้มีการเคลื่อนไหวไม่สนับสนุนการลงนามกับสหรัฐอเมริกา กล่าวคือ การเป็นช่องโทรทัศน์สาธารณะทำให้คงความอิสระได้ในระดับหนึ่ง

เสียงของพลเมืองในวิทยุชุมชนกำลังส่งต่ำ คณะกรรมการการแพร่ภาพและกระจายเสียงแห่งเกาหลี (KBC) ได้เปิดโครงการนำร่องระดับประเทศที่เรียกว่าการแพร่ภาพกระจายเสียง "วิทยุกำลังส่งต่ำ" เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2547 มีการเปิดรับสมัครและมีผู้เข้าร่วมทดลองในลักษณะจุดปฏิบัติการจำนวน 8 จุดโดยได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่น เอฟเอ็ม (FM) เช่นเดียวกับสถานีวิทยุกระจายเสียงเต็มรูปแบบ

ผู้ได้รับคัดเลือกจะได้รับคลื่นความถี่และอุปกรณ์สำหรับออกอากาศนำร่อง กิจกรรมของผู้ได้รับคัดเลือกจะเป็นพื้นฐานในการพิจารณาจัดตั้งวิทยุกระจายเสียงกำลังส่งต่ำอย่างถาวร หลังการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายภายในปี 2548 โครงการนี้จึงเป็นทั้งจุดเริ่มต้นในการจัดตั้งสถานีวิทยุในชุมชน และช่องทางที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น โดยมีผู้สมัครที่ได้รับคัดเลือก ได้แก่

- สถานีวิทยุชุมชน Sungeo สำหรับแรงงานอพยพ 5,000 คน ในศูนย์อุตสาหกรรมในเมือง Daegu,
- สถานีวิทยุชุมชนของพลเมืองที่อยู่อาศัยในเขต Kwanak-Gu ในกรุงโซล,
- สถานีวิทยุชุมชนของกสิกรใน Naju,
- สถานีวิทยุชุมชนของพลเมืองที่อยู่อาศัยในเขต Mapo ในกรุงโซล,
- หน่วยกระจายเสียงของผู้อยู่อาศัยชนชั้นกลางที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม,
- สมาคมของมหาวิทยาลัยและรัฐบาลท้องถิ่น

ซึ่งการดำเนินการข้างต้นนับเป็นก้าวสำคัญสู่การจัดตั้งและขยายการแพร่ภาพกระจายเสียงของท้องถิ่น
ในเกาหลี ทว่ายังมีสิ่งที่ต้องพิจารณาอีกหลายประการ อาทิ ความชัดเจนของแนวคิด รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานและคุณสมบัติในการกระจายเสียงลักษณะนี้ ปัญหาการสนับสนุนจากภาครัฐ การจัดสรรคลื่นความถี่และกำลังส่งซึ่งปัจจุบันจำกัดที่ 1 วัตต์ และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่จะก้าวเข้าสู่ระบบดิจิตอล

แต่ทั้งนี้ระหว่างการดำเนินการพบปัญหาสำคัญคือ การขาดความร่วมมือจากกระทรวงข่าวสารและการสื่อสาร(MIC) ที่ไม่อนุญาตให้ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการลงทะเบียนในฐานะสถานีกระจายเสียงภาคพื้นดิน ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถใช้เงินทุนรัฐบาล (Pulic Funding) ทั้งที่มีกฎหมายการกระจายเสียงและการแพร่ภาพกำหนดไว้ ข้อถกเถียงระหว่างหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ต่างกัน จึงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ต้องหาหนทางแก้ไขต่อไป

อย่างไรก็ตาม การทดลองกระจายเสียงแบบต่างๆ นี้ จะนำไปสู่การออกกฎหมายที่เป็นอิสระเพื่อสร้างการแพร่ภาพและกระจายเสียงชุมชนผ่านวิทยุและโทรทัศน์ที่ก้าวหน้าต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นการส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับประชาธิปไตยในท้องถิ่น

RTV ช่องสัญญาณผ่านดาวทียมเพื่อสาธารณะ
RTV ในฐานะที่เป็นผู้แพร่ภาพออกอากาศผ่านดาวเทียมรายแรกและรายเดียวในเกาหลี ดำเนินงานโดย Citizen's Broadcasting ซึ่งเป็นองค์กรกฎหมายที่ไม่แสวงหากำไร มีอิสระด้านการบริหารและได้รับเงินสนับสนุนส่วนแรกจากกองทุนพัฒนาการแพร่ภาพกระจายเสียง ของคณะกรรมาธิการการแพร่ภาพกระจายเสียง ปีละ 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 72 ล้านบาท เงินสนับสนุนส่วนที่สองมาจาก Skylife อีก 600,000 เหรียญสหรัฐหรือราว 24 ล้านบาท แต่ในช่วง 3 ปีแรกได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความไม่พอใจจากประชาชนในเรื่องนโยบายการจัดทำรายการ และโครงสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงการทดลองและกิจกรรมเพื่อการเข้าถึงของประชาชน

การเคลื่อนไหวและผลักดันอนาคตของ RTV เพื่อให้เป็นช่องสัญญาณที่เหมาะสมสำหรับการเข้าถึงของประชาชนครั้งนี้ เกิดจากองค์กรภาคประชาชน 57 แห่ง ร่วมกับ Media Act จัดตั้งและเคลื่อนไหวในนาม แนวร่วมของประชาชนเพื่อการปฏิรูป RTV ซึ่งภายหลังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการของ RTV ทั้งหมด โดยมีข้อตกลงและกำหนดหลักปฏิบัติที่ต้องคำถึงในการดำเนินงาน 5 ด้าน คือ

1. การมีส่วนร่วมและการเข้าถึง
2. ความหลากหลาย
3. ประชาธิปไตยและอำนาจในการตัดสินใจของประชาชน
4. การแสดงออกโดยตนเองและการเสริมอำนาจการสื่อสาร และ
5. ความเป็นอิสระ

สำหรับการบริหารจัดการที่ปรับเปลี่ยนหลังจากนั้นคือ การจัดทำผังรายการใหม่ทั้งหมด การปรับโครงสร้างพนักงาน และยืนยันวัตถุประสงค์ในการจัดทำรายการของประชาชน ซึ่งส่งผลให้ RTV ได้เข้าร่วมผลักดันให้เกิดการขยายเครือข่ายของประชาชนร่วมกับนักเคลื่อนไหวเพื่อสื่อและประชาสังคม และการเคลื่อนไหวผลักดันให้ RTV มีสถานะทางกฎหมายที่จะได้รับการสนับสนุนจากระบบเงินทุนของรัฐ ผ่านคณะกรรมการแพร่ภาพกระจายเสียงแห่งเกาหลี (KBC) รวมถึงการมีโครงสร้างบริหารที่เป็นอิสระเพื่อป้องกันการแทรกแซง RTV

ในปัจจุบัน RTV ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ และได้รับการรับรองจาก KBC ให้เป็นช่องสัญญาณเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ ซึ่งมีการออกอากาศ 14 ช่องสัญญาณ

"Our TV" ในเคเบิลท้องถิ่น
กิจการโทรทัศน์เคเบิล (Cable Television) ในเกาหลีมีขึ้นเมื่อปี 1995 ซึ่งอาจถือว่าล่าช้าเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตก ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 1970-1980 ปัจจุบันชาวเกาหลีรับชมได้ถึง 50 ช่องสัญญาณ ทำให้ในช่วงแรกประชาชนคาดหวังว่าจะมีรายการโทรทัศน์ที่หลากหลาย และการแพร่ภาพกระจายเสียงในระดับท้องถิ่นอย่างคึกคัก แต่การดำเนินงานในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็มิได้เป็นเช่นนั้น อีกทั้งการผลักดันให้มีช่องสัญญาณเพื่อการเข้าถึงของประชาชนตั้งแต่ช่วงแรกก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากการต่อต้านจากกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเคเบิลทีวี

ประกอบกับการเรียกร้องอย่างต่อเนื่องของประชาชนทำให้ในปี 2543 สภานิติบัญญัติได้ออกกฎหมายการแพร่ภาพกระจายเสียงฉบับใหม่ ซึ่งกำหนดว่า รายการที่ประชาชนเข้าถึงได้ ต้องอยู่ในผังรายการของโทรทัศน์ทุกประเภทตามข้อกำหนดของมาตรา 70 (7) ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนออกอากาศรายการที่ตนเองผลิตได้โดยความสนับสนุนของผู้ประกอบการในสถานีทุกประเภท

ถึงกระนั้นสถานการณ์การเข้าถึงและมีส่วนร่วมในเคเบิลทีวีในปัจจุบันก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก เนื่องจากปัญหาการถูกปรับออกจากผังรายการ เมื่อรายการมีเนื้อหาหรือประเด็นขัดแย้งทางการเมือง แต่สิ่งที่น่าจะถือเป็นความสำเร็จในขั้นหนึ่งนั้นคือ ในบางพื้นที่ รายการโทรทัศน์ที่ผลิตโดยประชาชนได้ออกอากาศอย่างต่อเนื่องนานกว่า 1 ปีแล้ว เช่นในภูมิภาค Gangneung ที่ออกอากาศผ่านรายการ Our TV โดยรายการในตอนแรกมีชื่อว่า "ข้าราชการก็เป็นแรงงานเช่นกัน" และมีประชาชนร่วมผลิตอีกกว่า 39 รายการ. หรืออีกตัวอย่างหนึ่งในภูมิภาค Buan ที่มีประชาชนผลิตรายการออกอากาศทางเคเบิลทีวีและนำเสนอเนื้อหาที่ถ่ายทำขึ้นระหว่างการต่อสู้ของประชาชนกับการสร้างโรงงานทิ้งขยะนิวเคลียร์ในท้องถิ่น

แม้ว่าจะต้องพบปัญหาในการออกอากาศรายการที่ต้องรอนานกว่า 5 เดือน จากความต้องการเข้าถึงการสื่อสารและร่วมผลิตรายการของประชาชนดังที่กล่าวมา ทำให้ C&M ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทเคเบิลยักษ์ใหญ่ในกรุงโซล รวบรวมรายการที่ประชาชนผลิตมาไว้ในผังรายการของตนเองในชื่อรายการว่า Hello TV ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2548 ซึ่งทำให้พื้นที่รายการแห่งนี้เป็นที่ชุมนุมและเผยแพร่ผลงานของนักเคลื่อนไหวที่ผ่านหลักสูตรการอบรมของ MediaAct นอกจากนี้ยังมีอีกหลายร้อยรายการที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการการแพร่ภาพและกระจายเสียงแห่งเกาหลี (KBC) จนถึงบัดนี้

MediaAct การปฏิรูปสื่อเพื่อเกาหลี
มีเดียแอค (MediaAct) เป็นองค์กรเอกชนที่ดำเนินงานผลักดันการปฏิรูปสื่อในประเทศเกาหลี ได้รับเงินทุนจากสภาภาพยนตร์เกาหลี (KFC) ถือเป็นรูปแบบใหม่ของโครงสร้างพื้นฐานทางวัฒนธรรมของประชาชนในยุคสื่อภาพและเสียง ที่มีความสำคัญในฐานะพื้นที่และเครื่องมือในการเรียนรู้สำหรับการสื่อสาร และแสดงออกของประชาชน ซึ่งในยุคสื่อสิ่งพิมพ์เมื่อศตวรรษที่ 19 มีเพียงห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์สาธารณะเท่านั้น ที่มีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชน ที่ดำเนินกิจกรรมที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งและสร้างพลังในการเข้าถึงสื่อของประชาชน สนับสนุนการผลิตสื่อและการสร้างเครือข่ายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตภาพยนตร์อิสระ ในประเด็นที่มีข้อถกเถียงด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งดำเนินการค้นคว้าและพัฒนาด้านนโยบาย

กิจกรรมที่กำลังดำเนินการคือการผลักดันให้เกิดสื่อศึกษาที่มีลักษณะสากลขึ้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในระดับรากหญ้า และชนกลุ่มน้อยในสังคมเกาหลี จึงมีการจัดสื่อศึกษา(media studies)สัญจรไปตามชุมชนและพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์สื่อที่ Gwanghwanum สนับสนุนให้ประชาชนได้ผลิตสื่อ ทั้งนี้โดยมีการให้บริการเครื่องมือตัดต่อและบันทึกสื่อตลอด 24 ชั่วโมง นอกจาการนี้ยังมีบริการให้เช่าอุปกรณ์ถ่ายภาพและบันทึกภาพ เช่น กล้อง, วีดีโอดิจิตอล, ไมโครโฟน, ในราคาถูกหรือไม่เสียค่าบริการ

ในฐานะผู้ผลักดันให้เกิดศูนย์สื่อแห่งแรกในเกาหลี MediaAct จึงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้เกิดการสร้างศูนย์สื่อและขยายเครือข่ายไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของเกาหลี ด้วยความร่วมมือกับองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร เพื่อเป้าหมายที่จะทำให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิในการสื่อสารและสามารถเข้าถึงสื่อได้

20 เมษายน 2550
ข้อมูลจาก คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และเครือข่ายสื่อภาคประชาชน ภาคเหนือ

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

เอกสารอ้างอิง

เอกสารประกอบการเสวนา บทเรียนจากต่างแดน: โทรทัศน์ประชาชนที่ไปไกลกว่า K-pop หรือ F-4. จัดโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ. 31 สิงหาคม 2549

เอกสารสรุปการสัมมนากลุ่มย่อย Forum on Media Reform. จัดโดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. 31 สิงหาคม - 1 กันยายน 2549, ประสบการณ์การขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปสื่อของประชาชนเกาหลีใต้

ที่มาของบทความชิ้นนี้ :
http://www.localtalk2004.com/V2005/detail.php?file=1&code=c2_20042007_01

 

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ในปี 2543 สภานิติบัญญัติได้ออกกฎหมายการแพร่ภาพกระจายเสียงฉบับใหม่ ซึ่งกำหนดว่ารายการที่ประชาชนเข้าถึงได้ต้องอยู่ในผังรายการของเคเบิลทีว โดยสาระในมาตรา 70 (7) ระบุว่า "ผู้ควบคุมระบบ (System Operator ) และหน่วยงานแพร่ภาพกระจายเสียงผ่านดาวเทียม ควรตอบข้อเรียกร้องของผู้ชมในการออกอากาศรายการของตน (หมายถึงรายการที่ผู้ชมเป็นผู้ผลิต )ทางช่องสัญญาณท้องถิ่น หรือช่องสัญญาณของรัฐ หากไม่มีเหตุผลเฉพาะที่คัดค้านได้" ซึ่งเป็นผลมาจากการกดดันเรียกร้องอย่างต่อเนื่องของประชาชนหลากหลายกลุ่ม
26-04-2550

K-pop & Korean Wave
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.