โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 15 April 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๑๕ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ (April, 15, 04,.2007)
R

Consumer guild and Film criticism
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช : ในมุมของพม่า
กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวม
รวบรวมมาจากเว็บไซต์ และบทความในหน้าหนังสือพิมพ์

บทความต่อไปนี้ กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมขึ้น
เพื่อวัตถุประสงค์ ใช้ประกอบกับบทความลำดับที่ ๑๒๑๔ เรื่อง
ประวัติศาสตร์ชาติ ที่เป็นประวัติศาสตร์ประสาชาวบ้าน
เพื่อเป็นตัวอย่างการบริโภคประวัติศาสตร์ผ่านงานภาพยนตร์
นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอเรื่องของการสงครามครั้งที่พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์
อันเป็นหลักฐานจากฝ่ายพม่า ในเชิงที่แย้งกับประวัติศาสตร์ของฝ่ายไทย

สำหรับบทความที่นำมารวมบนหน้าเว็บเพจนี้ ประกอบด้วย
๑ ภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
๒. พระนเรศวรฯ มองจากมุมพม่า ๓. สงครามไทย-พม่า กับพระนเรศวร์ของท่านมุ้ย
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๑๕
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๒.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช : ในมุมของพม่า

1. ภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
จัดจำหน่ายโดย พร้อมมิตร โปรดัคชั่น (กำหนดฉายที่ผ่านมา ๑๘ มกราคม ๒๕๔๙)
ข้อมูลรวบรวมมาจาก http://www.tonyken.com/entertain/news_dtail.php?id=210

เรื่องย่อ จากภาพยนตร์
พุทธศักราช 2106 พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ทรงกรีฑาทัพเข้าตีราชอาณาจักรอยุธยาทางด่านระแหงแขวงเมืองตาก ทัพพม่ารามัญซึ่งมีรี้พลเหลือคณานับได้เข้ายึดครองหัวเมืองฝ่ายเหนือของราชอาณาจักรอยุธยาอันมีเมืองพิษณุโลกเป็นประหนึ่งเมืองราชธานีได้เป็นผลสำเร็จ

ครั้งนั้น สมเด็จพระมหาธรรมราชา พระราชบิดาของสมเด็จพระนเรศวรหรือพระองค์ดำ ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินครองเมืองพิษณุโลก จำต้องยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนองเพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิตอาณาประชาราษฎร์มิให้ต้องมีภยันตราย และจำต้องยอมร่วมกระบวนทัพพม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยา

ศึกครั้งนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้าแผ่นดินอยุธยาทรงยอมเจรจาหย่าศึกกับพม่ารามัญ และยอมถวายช้างเผือก 4 เชือก ทั้งให้สมเด็จพระราเมศวรราชโอรส โดยเสด็จพระเจ้าบุเรงนองไปประทับยังนครหงสาวดีตามพระประสงค์ของกษัตริย์พม่า ข้างสมเด็จพระมหาธรรมราชาซึ่งได้ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนองก็ได้ถวายสมเด็จพระนเรศวรราชโอรสองค์โตให้ไปเป็นองค์ประกันประทับยังหงสาประเทศเฉกเช่นกัน ครั้งนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุได้เพียง 9 ชันษา

สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นที่รักใคร่ของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองประดุจพระราชบุตรร่วมสายสันตติวงศ์ ด้วยองค์ยุพราชอยุธยาทรงมีพระปรีชาสามารถด้านพิชัยยุทธ ทั้งยังองอาจกล้าหาญสบพระทัยกษัตริย์พม่าซึ่งก็ทรงเป็นนักการทหาร นิยมผู้มีคุณสมบัติเป็นนักรบเยี่ยงพระองค์ พระเจ้าบุเรงนองทรงมีสายพระเนตรยาวไกล แลเห็นว่าสืบไปเบื้องหน้าสมเด็จพระนเรศวรจะได้ขึ้นเป็นใหญ่ในอุษาคเนย์ประเทศ จึงทรงคิดใคร่ปลูกฝังให้สมเด็จพระนเรศวรผูกพระทัยรักแผ่นดินหงสา เพื่อจะได้อาศัยพระองค์เป็นผู้สืบอำนาจอุปถัมภ์ค้ำชูราชอาณาจักรซึ่งพระองค์ทรงสถาปนาขึ้นด้วยความยากลำบาก

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าพระเจ้าบุเรงนองนั้นหาได้วางพระทัยในพระราชโอรส คือ มังเอิน(พระเจ้านันทบุเรง) และพระราชนัดดามังสามเกียดนัก ถึงแม้ทั้งสองพระองค์จะทรงเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขโดยตรง ด้วยทรงเล็งเห็นว่าราชนิกุลทั้งสองพระองค์นั้น หาได้เป็นผู้ทรงคุณธรรมอันจะน้อมนำเป็นพื้นฐานให้เติบใหญ่เป็นบูรพกษัตริย์ ปกป้องครองแผ่นดินที่พระองค์ทรงสร้างและทำนุบำรุงมาด้วยกำลังสติปัญญาและความรักใคร่หวงแหน เหตุทั้งนี้เป็นชนวนให้พระเจ้านันทบุเรงและราชโอรส มังสามเกียดขัดพระทัย ทั้งผูกจิตริษยาสมเด็จพระนเรศวรซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองกว่าราชนิกุลข้างพม่าทั้งหลายทั้งสิ้น

พระเจ้าบุเรงนองทรงโปรดให้พระมหาเถรคันฉ่อง-พระรามัญผู้มากด้วยวิทยาคุณและเจนจบ ในตำราพิชัยสงครามเป็นพระอาจารย์ถ่ายทอดศิลปะวิทยาการแก่สมเด็จพระนเรศวร นับแต่เริ่มเข้าประทับในหงสานคร ยังผลให้ยุพราชอยุธยาเชี่ยวชาญการยุทธ กลช้าง กลม้า กลศึก ทั้งข้างอยุธยาและข้างพม่ารามัญหาผู้เสมอเหมือนมิได้ ข้อได้เปรียบตามกล่าวเป็นเสมือนทุนทางปัญญาอันส่งผลให้สมเด็จพระนเรศวรสามารถกอบกู้เอกราช แก้ทางศึกจนมีชัยเหนือพม่ารามัญในภายภาคหน้า

พุทธศักราช 2112 ปรากฏข่าวระบือไปถึงหงสาวดีว่าหัวเมืองพิษณุโลกฝ่ายเหนือ แลกรุงศรีอยุธยาราชธานีฝ่ายใต้ของราชอาณาจักรสยามครั้งนั้นเกิดขัดแย้งปีนเกลียวกัน เหตุเนื่องมาจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้าแผ่นดินอยุธยาเสด็จออกผนวช แลสถาปนาสมเด็จพระมหินทร์ราชโอรสองค์รองขึ้นเสวยราชสมบัติสืบแทน

สมเด็จพระมหินทร์ทรงคลางแคลงพระทัยในความจงรักภักดีของสมเด็จพระมหาธรรมราชา แต่ครั้งสงครามชิงช้างเผือกในปีพุทธศักราช 2106 ขณะที่เจ้าแผ่นดินพิษณุโลกก็หาได้ยำเกรงสมเด็จพระมหินทร์เช่นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อเห็นการใดมิควรก็บังคับบัญชาให้สมเด็จพระมหินทร์ปฏิบัติตามพระประสงค์จนเป็นที่ขุ่นเคืองพระราชหฤทัยกษัตริย์อยุธยาพระองค์ใหม่ ถึงกับหันไปสมคบกับสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้าง ร่วมกันแต่งกลเข้าตีเมืองพิษณุโลก แต่กระทำการมิสำเร็จ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเห็นเชิงสบโอกาสก็ยกทัพใหญ่เข้าตีกรุงศรีอยุธยาอีกคำรบ

ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรร่วมโดยเสด็จมากับทัพหงสา แต่หาได้ตามพระเจ้าบุเรงนองลงมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ทรงประทับอยู่เพียงเมืองพิษณุโลก มีเพียงสมเด็จพระมหาธรรมราชาโดยเสด็จกษัตริย์หงสาลงมาล้อมกรุงด้วย ตั้งพระทัยจะเกลี้ยกล่อมให้สมเด็จพระมหินทร์ยอมสวามิภักดิ์พระเจ้าบุเรงนอง เพราะเล็งเห็นว่าอยุธยายากจะต่อรบเอาชัยทัพพม่ารามัญซึ่งมีกำลังไพร่พลเหนือกว่าได้ หากขัดขืนต่อรบจะได้ยากแก่สมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร์ ศึกครั้งนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงลาผนวชมาบัญชาการรบด้วยพระองค์เอง แต่อยู่ได้มิช้านานก็เสด็จสวรรคตเสียระหว่างศึก. ในพุทธศักราช 2112 มะเส็งศก วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 11 ค่ำ กรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง

ข้างสมเด็จพระนเรศวรซึ่งประทับอยู่ยั้งยังนครพิษณุโลกแต่ต้นศึก หาได้ทรงเห็นงามหรือคิดครั่นคร้ามอ่อนน้อมต่อหงสา ถึงจะทรงรู้ซึ้งว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาพระราชบิดามิได้คิดคดเป็นกบฏต่อแผ่นดิน แต่ก็หาได้เห็นด้วยกับการอ่อนข้อสวามิภักดิ์พม่ารามัญ น้ำพระทัยอันมั่นคงเด็ดเดี่ยวนั้น ถึงแม้จะมิได้แพร่งพรายถึงพระกรรณพระเจ้าบุเรงนอง แต่ก็ประจักษ์อยู่ในหมู่ข้าราชบริพารใกล้ชิดผู้รักและหวงแหนในเอกราชของแผ่นดิน จึงพากันนิยมในน้ำพระทัย แลพร้อมใจถวายความจงรักภักดีแต่นั้นมา

ครั้นเสร็จศึกอยุธยาพุทธศักราช 2112 สมเด็จพระมหาธรรมราชา ทรงถวายพระสุพรรณกัลยา พระพี่นางสมเด็จพระนเรศวร แก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง แลขอตัวสมเด็จพระนเรศวรไว้ช่วยราชการข้างอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรจึงประทับยั้งอยู่ยังเมืองพิษณุโลก สืบต่อมา ครั้นลุปีพุทธศักราช 2114 สมเด็จพระมหาธรรมราชา ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากสมเด็จพระมหินทร์ ก็โปรดให้สมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์ครองเมืองพิษณุโลก เป็นใหญ่เหนือหัวเมืองเหนือทั้งปวง

เหตุการณ์ข้างพม่า หลังจากพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสิ้นพระชนม์ในปีพุทธศักราช 2124 พระเจ้านันทบุเรงได้ขึ้นเสวยราชสืบต่อ และได้สถาปนามังสามเกียดขึ้นเป็นรัชทายาทครองตำแหน่งมหาอุปราชาแห่งราชอาณาจักรหงสาวดี เมื่อแผ่นดินหงสามีอันต้องผลัดมือมาอยู่ในปกครองของ พระเจ้านันทบุเรง สัมพันธไมตรีระหว่างอยุธยาและหงสาวดีก็เริ่มสั่นคลอน ด้วยพระเจ้าหงสาวดีพระองค์ใหม่มิได้วางพระทัยในสมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระนเรศวรเองก็หาได้เคารพยำเกรงในบุญบารมีของพระเจ้าแผ่นดินพม่ารามัญเช่นกาลก่อน

มิเพียงเท่านั้น สมเด็จพระนเรศวรยังได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถให้เป็นที่ปรากฏครั่นคร้าม ดังคราวนำกำลังทำยุทธนาวีกับพระยาจีนจันตุ และศึกเมืองคังเป็นอาทิ พระเจ้านันทบุเรงทรงเกรงว่าสืบไปเบื้องหน้าสมเด็จพระนเรศวรจะเป็นภัยต่อพระราชวงศ์แลแผ่นดินหงสา จึงหาเหตุวางกลศึก หมายจะปลงพระชนม์สมเด็จพระนเรศวรเสียที่เมืองแครง

แต่พระมหาเถรคันฉ่องพระราชครูลอบนำแผนประทุษร้ายนั้นมาแจ้งให้ศิษย์รักได้รู้ความ สมเด็จพระนเรศวรจึงถือเป็นเหตุประกาศเอกราช ตัดสัมพันธไมตรีกับหงสาวดี แลกวาดต้อนครัวมอญไทยข้ามแม่น้ำสะโตงกลับคืนพระนคร ซึ่งเป็นชนวนให้พระเจ้านันทบุเรงเปิดมหายุทธสงครามสั่งทัพเข้ารุกรานราชอาณาจักรอยุธยาสืบแต่นั้นมา


นักแสดง
1. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช รับบทโดย พ.ต.วันชนะ สวัสดี
2. สมเด็จพระเอกาทศรถ รับบทโดย พ.ท.วินธัย สุวารี
3. ออกพระราชมนู รับบทโดย นพชัย ชัยนาม
4. ออกพระชัยบุรี รับบทโดย ปราบต์ปฎล สุวรรณบาง
5. ออกพระศรีถมอรัตน์ รับบทโดย พ.ต.คมกริช อินทรสุวรรณ
6. พระมหาเถรคันฉ่อง รับบทโดย สรพงษ์ ชาตรี
7. สมเด็จพระมหาธรรมราชา รับบทโดย ฉัตรชัย เปล่งพานิช
8. สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ รับบทโดย ศรัณยู วงษ์กระจ่าง
9. สมเด็จพระมหินทราธิราช รับบทโดย สันติสุข พรหมศิริ
10. พระราเมศวร รับบทโดย สถาพร นาควิไล

11. พระยาท้ายน้ำ รับบทโดย คมน์ อรรฆเดช
12. พระยาพิชัย รับบทโดย กรุง ศรีวิไล
13. พระยาสวรรคโลก รับบทโดย มานพ อัศวเทพ
14. พระยาจักรี รับบทโดย ไพโรจน์ ใจสิงห์
15. ขุนรัตนแพทย์ รับบทโดย โกวิท วัฒนกุล
16. เศรษฐี รับบทโดย ดี๋ ดอกมะดัน
17. พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง รับบทโดย สมภพ เบญจาธิกุล
18. พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง รับบทโดย จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์
19. พระมหาอุปราชา รับบทโดย นภัสกร มิตรเอม
20. มณีจันทร์ รับบทโดย ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ

21. เลอขิ่น รับบทโดย อินทิรา เจริญปุระ
22. หมอกมู รับบทโดย อภิรดี ทศพร
23. พระวิสุทธิกษัตรี รับบทโดย ปวีณา ชารีฟสกุล
24. พระเทพกษัตรี รับบทโดย ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์
25. พระสุพรรณกัลยา รับบทโดย เกรซ มหาดำรงค์กุล
26. พระนางจันทราเทวี รับบทโดย เปรมสินี รัตนโสภา
27. มเหสีพระมหินทร์ (1) รับบทโดย ปริศนา กล่ำพินิจ
28. มเหสีพระมหินทร์ (2) รับบทโดย ปรารถนา ตันติพิพัฒน์
29. ท้าววรจันทร์ รับบทโดย อำภา ภูษิต
30. แม่นมพุดกรอง รับบทโดย นัยนา จันทร์เรียง

31. แม่นมทองสุก รับบทโดย เฉลา ประสพศาสตร์
32. พระนเรศวร (เด็ก) องค์ดำ รับบทโดย ด.ช. ปรัชฌา สนั่นวัฒนานนท์ (น้องบีเจ)
33. พระเอกาทศรถ(เด็ก) องค์ขาว รับบทโดย ด.ช. กรัณย์ เศรษฐี (น้องเก้า)
34. ออกพระราชมนู (เด็ก) ไอ้ทิ้ง รับบทโดย ด.ช. จิรายุ ละอองมณี (น้องเก้า)
35. มณีจันทร์ (เด็ก) รับบทโดย ด.ญ.สุชาดา เช็คลีย์ (น้องดาด้า)
36. สุระกำมา รับบทโดย โสธรณ์ รุ่งเรือง
37. ลักไวทำมู รับบทโดย สมชาติ ประชาไทย
38. พระยาสีหราชเดโช รับบทโดย ธนา สินประสาธน์
39. พระยาราม รับบทโดย ประดิษฐ์ ภักดีวงษ์
40. พระยาพิชัยรณฤทธิ์ รับบทโดย อานนท์ สุวรรณเครือ

41. พระยาพิชิตรณรงค์ รับบทโดย พยัคฆ์ รามวาทิน
42. พระยาราชวังสรรค์ รับบทโดย ร.อ.กัมปนาท อั้งสูงเนิน
43. พระยาเสนาภิมุข รับบทโดย YANO KAZUKI

กำกับการแสดง
ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล

++++++++++++++++++++++++++++++
2. พระนเรศวรฯ มองจากมุม "พม่า"
คอลัมน์ หลากลาย (ข่าวสด, ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐)

เรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กษัตริย์ยอดนักรบของไทย ถือเป็นเนื้อหาประวัติศาสตร์ตอนที่มีเสน่ห์ชวนติดตามที่สุดตอนหนึ่ง บัดนี้ ได้กลายเป็นภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่โดย ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล. ในฐานะของหนังหรือภาพยนตร์ ย่อมจะต้องมีการดัดแปลงเนื้อหาบางตอน ให้เหมาะกับเทคนิคการเล่าเรื่องของหนัง รายละเอียดบางอย่างอาจจะมาจากการตีความของผู้สร้าง อย่างเช่น ชุดนักรบในเรื่อง ซึ่งดูจะเป็นอัศวินฝรั่งไปสักหน่อย

ในความเป็นจริง เรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยังเป็นเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่ไม่สมบูรณ์เต็มที่ ยังรอข้อมูลใหม่ๆ เข้ามาเสริมความหนักแน่น หรือหักล้างข้อมูลเก่า ตัวอย่างหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ลงตัว และคงไม่ลงตัวง่ายๆ ก็คือ ข้อขัดแย้งเรื่องสถานที่กระทำยุทธหัตถี ซึ่งขณะนี้ถือว่าอยู่ที่หนองสาหร่าย ต.พังตรุ อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี แต่ก็มีผู้เสนอข้อมูลใหม่ว่า น่าจะอยู่ทางจังหวัดกาญจนบุรี. รวมไปถึงสถานที่สวรรคตของกษัตริย์ยอดนักรบพระองค์นี้ ที่ประวัติศาสตร์ระบุว่า "เมืองหาง" แต่ยังหาข้อสรุปไม่ได้แน่ชัดว่า อยู่ในเขตจังหวัดภาคเหนือของไทย หรือในเขตพม่า

แม้แต่พระนามของสมเด็จพระนเรศวร ก็ยังมีการค้นพบว่า ในบันทึกเก่าแก่จำนวนหนึ่ง สมเด็จพระนเรศวรเป็นที่รู้จักในพระนาม "พระนเรศ" ชื่อพระนเรศวร อาจจะมาจากการออกเสียงตามๆ กันในยุคหลังๆ นี่เอง อย่างไรก็ตาม ผลดีของความสนใจในพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวร ทำให้มีผู้สนใจติดตามค้นคว้าหาหลักฐานอย่างคึกคัก ในอนาคต ประวัติศาสตร์ในส่วนนี้ น่าจะมีข้อมูลที่หนักแน่นเข้ามาเสริมมาเติม เพื่อประโยชน์ในการศึกษาของคนรุ่นหลัง

เหตุการณ์สำคัญที่สุดตอนหนึ่งในยุคสมเด็จพระนเรศวร ก็คือ สงครามยุทธหัตถี ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชา ซึ่งพบว่ายังมีการระบุรายละเอียดของเหตุการณ์ไม่ตรงกันนัก

ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ แห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักวิชาการที่ค้นคว้าประวัติศาสตร์อยุธยาอย่างจริงจัง มีผลงานตีพิมพ์จำนวนมาก รวมถึง"พม่ารบไทย-ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับพม่า" โดยสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม. ดร.สุเนตรระบุในหนังสือเล่มเดียวกัน ถึงสงครามยุทธหัตถีว่า…

เรื่องสงครามยุทธหัตถีที่เป็นที่รับรู้และแพร่หลายในหมู่คนไทยคือเรื่องที่เขียนไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ที่ชำระขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก่อนจะถูกถ่ายทอดผ่านงานเขียนที่มีอิทธิพลต่อสังคมในวงกว้าง อาทิ ลิลิตตะเลงพ่าย พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาพระนิพนธ์ไทยรบพม่า และพระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

บันทึกประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่กว่านั้น เช่น พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐฯ ที่ชำระขึ้นในสมัยอยุธยา (พ.ศ.2223) ก็มีความผิดแผกไปจากพงศาวดารและเรื่องที่ชำระหรือเขียนกันในสมัยหลัง แต่ยังมีประเด็นสำคัญยุติต้องกันอยู่ คือต่างระบุถึงการชนช้างระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระมหาอุปราชา จนพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์กับคอช้าง

แต่ถ้าไปดูพงศาวดารพม่าฉบับอูกาลาและฉบับหอแก้ว จะพบว่า ผิดแผกไปจากหลักฐานข้างฝ่ายไทยมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านสมรภูมิรบและการสิ้นพระชนม์ของจอมทัพพม่า และได้ถอดความมาลงโดยละเอียดดังนี้

๗๔. การสงครามครั้งสุดท้าย วังหน้า มหาอุปราชาสิ้นพระชนม์
ทัพมหาอุปราชานั้นเคลื่อนมาถึงกรุงศรีอยุธยา ในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2136) (ทัพเคลื่อนออกจากกรุงหงสาวดีในวันพุธ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2135) มหาอุปราชานั้นทรงพระคชาธารนาม (งะเยโซง (ฉบับหอแก้วระบุนามพระคชาธารว่า เยโปงโซงซึ่งน่าจะหมายความว่าเปี่ยมด้วยอานุภาพหาญกล้า ส่วนหลักฐานไทยระบุนามช้างทรงนี้ว่า พัทธะกอ) เบื้องขวาพระองค์ยืนด้วยพระคชาธารและกำลังไพร่พลของพระอนุชาตะโดธรรมราชา (เจ้าเมืองแปร) ส่วนเบื้องซ้ายยืนด้วยพระคชาธารและไพร่พลของนัตชินนอง (โอรสพระเจ้าตองอู) แลตัดออกไปเบื้องขวาไม่ใกล้ไม่ไกลจากพระคชาธารแห่งมหาอุปราชานั้นยืนด้วยช้างของเจ้าเมืองซามะโร (ไทยว่าเป็นพระพี่เลี้ยงชื่อจาปะโร) ซึ่งกำลังตกน้ำมันหนักถึงกับต้องใช้ผ้าคลุมหน้าช้างไว้

ข้างพระนเรศวรกษัตริย์อยุธยา ทรงพระคชาธารชื่อพระลโบง (ฝ่ายไทยว่าพระยาไชยานุภาพ) จึงนำไพร่พลทแกล้วทหารเป็นจำนวนมากออกมาจากพระนคร (หมายเผด็จดัสกร) ครั้นทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชา ก็ไสพระคชาธารเข้ายังตำแหน่งที่จอมทัพพม่านั้นประทับอยู่โดยแรงเร็ว ฝ่ายเจ้าเมืองซามะโร ครั้นเห็นพระนเรศวรขับพระคชาธารตรงรี่หมายเข้าชิงชนช้างประทับก็เปิดผ้าคลุมหน้าช้างพระหนะแห่งตนออก หมายมุ่งพุ่งสกัดช้างทรงองค์นเรศวร แต่ช้างตกน้ำมันเชือกนั้นกลับหันรีหันขวาง แลกลับตัวเข้าแทงโถมเอาช้างทรงองค์อุปราชาโดยกำลังแรง พระมหาอุปราชาจึงจำต้องขับพระคชาธารเข้ารับไว้ ซึ่งช้างทรงองค์จอมทัพพม่าถึงจามสนั่น (ด้วยบาดเจ็บสาหัส)

แลขณะนั้นข้างอยุธยาก็ระดมยิงปืนสวนทางมากระสุนถูกเอาองค์อุปราชาโดยถนัดจนสิ้นพระชนม์ซบกับคอคชาธาร คุเยงพละกลางช้างพระที่นั่งเห็นมหาอุปราชาต้องปืนใหญ่ (ปืนที่ยิงมหาอุปราชานั้นอูกาลาระบุว่า คือปืนชนิดเดียวกับที่เรียกว่า Jingal ในภาษาอังกฤษ) ก็เข้าพยุงพระศพไว้ และบังคับช้างเข้ากำบังในพุ่มไม้ ข้างพระนเรศวรยังไม่ทรงทราบว่ามหาอุปราชาหาพระชนม์ชีพไม่ จึงไม่ทรงขับพระคชาธารตามติดปะทะ เพียงยั้งรออยู่

ขณะนั้นนัตชินนองซึ่งทรงพระคชาธารนามอูบอตะกะ อยู่เบื้องซ้ายก็ไสพระคชาธารเข้าชนพระคชาธารทรงองค์นเรศวรกษัตริย์อยุธยา พระนเรศวรจำต้องถอยร่น แลตะโดธรรมราชา (เจ้าเมืองแปร) เห็นจอมทัพอยุธยาเพลี่ยงพล้ำร่นถอยก็กวัดแกว่งของ้าวขับช้างนำรี้พลตามติดเข้าตี ข้างองค์นเรศวรเมื่อถอยถึงคูพระนครก็รีบนำทัพเข้าภายในอาศัยพระนครนั้นตั้งรับ ข้างฝ่ายพม่าที่ไล่ตามติดมีเจ้าเมืองโทงโบและเจ้าเมืองเวงยอ ถลำรุกรบล่วงเลยเข้าไปมากจึงถูกจับเป็นเชลยสิ้น แต่ฝ่ายอยุธยานั้น อำมาตย์ออกญาเปะและออกญาจักรีก็ถูกทหารนัตชินนองล้อมจับได้ทั้งเป็น

เมื่อเกิดเหตุจนมหาอุปราชาถึงสิ้นพระชนม์แล้ว ตะโดธรรมราชา (เจ้าเมืองแปร) แลเหล่าทหารน้อยใหญ่ทั้งหลายต่างก็ถอยทัพไปประชุมพลอยู่ไกลว่าถึงกว่าหนึ่งตาย (คิดเป็นระยะ 2 ไมล์โดยประมาณ) จากตัวพระนครโดยประมาณ และนายทัพทั้งหมดทั้งสิ้นต่างก็หันหน้าปรึกษาราชการศึกว่าครั้งนี้ยังจะจัดการพระศพองค์อุปราชาเสียในแดนโยธยาและระดมตีกรุงต่อไป หรือจะนำพระบรมศพกลับสู่พระนคร

ครานั้น ตะโดธรรมราชาเจ้าเมืองแปรจึงว่า "มาบัดนี้ พระเชษฐามหาอุปราชา (จอมทัพ) ก็หาพระชนม์ชีพไม่แล้ว เปรียบได้ดังแขนงไผ่อันไร้ซึ่งเชือกพันธนาไว้ การจะกลับไปกระทำการตีอยุธยาต่อไปเห็นว่าไม่สมควร อีกประการนั้นเล่า การซึ่งจะจัดการพระศพในแดนอยุธยาก็ไม่เหมาะด้วยยากจะประมาณว่าหากกระทำไปแล้วจะถูกปรามาสจากองค์บพิตรและพระญาติพระวงศ์ และแท้จริงราชการสงครามครั้งนี้ก็ยังนับว่ามีชัยอยู่ใช่น้อย ครั้งนี้ถึงมีอันต้องถอยกลับ แต่ภายภาคหน้าเมื่อสิ้นวสันตฤดูก็ย่อมยกมากระทำศึกได้อีก"

ฝ่ายข้าทหารใหญ่น้อยได้ฟังความตามตรัสก็เห็นคล้อย จึงต่อโลงใส่พระศพด้วยไม้มะม่วงอย่างเลิศ แลเอาปรอทกรอกพระศพแล้วก็จัดกระบวนรี้พลเชิญพระศพองค์อุปราชากลับคืนพระนคร เดือนมีนาคมก็บรรลุถึงหงสาวดี องค์ธรรมราชามหากษัตริย์ ครั้นสดับข่าวว่าพระราชาโอรสมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ชีพ และพระศพนั้นถูกอัญเชิญกลับคืนมาก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยอัครมเหสีราชมารดาออกรับพระศพ และลุเลิกพระศพเยี่ยงพระจักรพรรดิราช ห้อมล้อมด้วยช้างม้าไพร่พลสกลไกร การพระศพกระทำท่ามกลางความโศกเศร้าโศกาดูรยิ่ง ฯลฯ

จะเห็นว่า ข้อเท็จจริงเรื่องการสิ้นพระชนม์ของพระมหาอุปราชา มองจากฝ่ายพม่าแล้ว มีความแตกต่างกัน ซึ่งดร.สุเนตรเห็นว่า ต่อปัญหาการสิ้นพระชนม์ของพระมหาอุปราชานั้น จำเป็นต้องศึกษาอย่างระมัดระวัง จะอาศัยความสอดคล้องระหว่างพงศาวดารพม่าและบันทึกฝรั่งต่างชาติที่มีอายุร่วมสมัยกับเหตุการณ์เป็นบรรทัดฐานตัดสิน คงไม่ได้

เพราะหากจะใช้หลักฐานฝรั่งต่างชาติเป็นเกณฑ์กัน ก็ยังมีหลักฐานเก่าแก่ อาทิ บันทึกของฝรั่งโปรตุเกส ที่ถอดความเป็นภาษาอังกฤษโดย A. Macgregor ในชื่อ "A Brief Account of the Kingdom of Pegu..." คาดว่ามีอายุไม่ต่ำไปกว่าปี ค.ศ.1621 (พ.ศ. 2164) ยืนยันชัดเจนว่าสงครามยุทธหัตถี เป็นการรบอย่างเป็นกิจจะลักษณะต่อหน้าทหารของทั้งสองฝ่าย โดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมีพระราชสาสน์ท้าพระมหาอุปราชาให้ออกมากระทำยุทธหัตถีอย่างสมพระเกียรติ

ดร.สุเนตรชี้ว่า ความขัดแย้งที่ปรากฏในหลักฐานต่างๆ ตามที่ได้กล่าวมา คือภาพสะท้อนของการเผชิญกันระหว่างจารีตของสงครามในรูปแบบเก่า คือการรบกันตัวต่อตัวบนหลังช้าง กับการแพร่กระจายของอาวุธสมัยใหม่คือปืนไฟ

แม้ว่าในที่สุด ปืนไฟจะได้ทำให้ธรรมเนียมนิยมของการทำยุทธหัตถีหมดไป แต่ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น ธรรมเนียมนิยมของการทำยุทธหัตถียังไม่หมดไปเสียทีเดียว มีหลักฐานปรากฏในพงศาวดารพม่าว่า พระเจ้านันทบุเรงทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าอังวะตะโดเมงสอถึงขั้นแพ้ชนะ พระเจ้าอังวะต้องหลบหนีเอาชีวิตรอด

และนี่คือสีสันของประวัติศาสตร์ ซึ่งถ้าต้องการมากกว่าความสนุกสนาน จะต้องศึกษาจากหลายๆ แหล่งข้อมูล

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

3. สงครามไทย-พม่า กับพระนเรศวร์ของท่านมุ้ย
จากหนังสือพิมพ์มติชน (๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐)

ถ้าหากยอดผู้กำกับฯหนังอิตาเลียน "เฟเดริโก เฟลลินี" ผู้ซึ่งชาวโลกนำคำ "ปาปาราซซี" จากหนัง "ลา ดอลเช วิตา" เมื่อ 46 ปีก่อนมาใช้สร้างจินตนาการต่อเติมส่วนที่ขาดหายไปในประวัติศาสตร์ชาติตนใน "เฟลลินี'ส โรมา" เมื่อ 34 ปีก่อน อย่างครื้นเครงพิสดาร ด้วยการใช้ไตเติลซึ่งเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่หลุดล่อนกะเทาะ ทำให้ภาพสีขาดๆ หายๆ ไปเป็นแห่งๆ บอกผู้ชมว่า ส่วนที่ขาดๆ หายๆ ไปนั้นเองที่ตนจะเติมภาพให้เต็มโดยหนังเรื่องนี้

ท่านมุ้ย "ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล" ก็ทรงกำลังทำเช่นเดียวกันนั้นด้วย "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ผิดกันเพียงว่า จินตนาการของเฟลลินีเป็นอย่างที่นักดูหนังทั่วโลกยอมรับทั่วกันว่า วันไหนที่เฟลลินีทำหนังดูรู้เรื่อง วันนั้นแสดงว่าเฟลลินีฝีมือตก

แต่ท่านมุ้ยมิได้ทรงต่อเติมส่วนที่ขาดหายไปในประวัติศาสตร์ ซึ่งกะเทาะล่อนหลุดไปโดยไม่มีผู้ใดเคยรู้เห็น ท่านทรงอ่านประวัติศาสตร์ที่บันทึกเหตุการณ์ทุกอย่างไว้ จากผู้จดจารทุกฝ่าย แล้วใช้จินตนาการบอกผู้ชมด้วยภาพยนตร์ว่า ระหว่างบรรทัดที่เป็นตัวอักษรเหล่านั้น เรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นได้ "อย่างไร" และ "ทำไม" จึงเป็นเช่นนั้น

บทบาทของตัวละครในภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงดำเนินไปอย่างชัดเจน ไม่คลุมเครืออย่างตำราประวัติศาสตร์ ที่ทั้งครูผู้สอนบอกนักเรียนไม่ได้ว่า "พระมหาธรรมราชา" ผู้ครองพิษณุโลก เขยของ "พระมหาจักพรรดิ" ผู้ครองพระนครศรีอยุธยา เป็นฝ่ายใดกันแน่ และนักเรียนก็ไม่เคยกล้ามีข้อยุติในใจว่า พระมหาธรรมราชาเป็นปฏิปักษ์กับอยุธยา เข้าด้วยหงสาวดีจริงหรือเปล่า เพราะถึงอย่างไร พระมหาธรรมราชาก็ครองอยุธยาต่อมา ด้วยธรรมเนียมการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย ที่ไม่เคยเห็นพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ร้าย เว้นไว้แต่ "ขุนวรวงศา" เท่านั้น ทั้งๆ ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยานั้นเอง ที่บันทึกการแย่งชิงอำนาจ ฆ่าลูก ฆ่าพี่ฆ่ าน้องกันจนแทบจะเป็นเหตุการณ์ธรรมดา

แต่เมื่อเป็นหนัง ไม่ว่าจะหนังเรื่องใดก็ตาม ย่อมมีเหตุการณ์โดยพฤติการณ์ของคน ที่คนเขียนบทและผู้กำกับฯภาพยนตร์ต้องการสื่อสารเรื่องราวให้ผู้ชมเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นสารทางบวกหรือลบ หรือแม้แต่จะจงใจทิ้งไว้เป็นคำถาม ก็ต้องมีที่มาที่ไปของคำถามซึ่งถูกทิ้งไว้นั้น

ระหว่างบรรทัดในพระประวัติ "พระนเรศวร์" ราชบุตรพระมหาธรรมราชากับ "พระศรีสุริโยทัย" จึงถูกท่านมุ้ยอ่านให้ฟังกระจ่าง ว่าเหตุใดจึงต้องเสด็จฯเป็นตัวประกันในหงสาวดี ทรงอยู่ในสถานะไหน ทรงอยู่อย่างไร และจากมาแบบไหน เช่นเดียวกับ "พระสุพรรณกัลยา" ที่เสด็จฯหงสาวดีอย่างไร ทรงถูกขนานพระนามด้วยเหตุใด และทำไมจึงไม่เสด็จฯกลับอยุธยาพร้อมพระอนุชา ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่นอกจากภาพจะต้องยืนบันทึกประวัติศาสตร์ให้ถูกต้องแล้ว ยังต้องสร้างความสอดคล้องให้เกิดขึ้นตามเหตุการณ์ ในฐานะที่เป็นภาพยนตร์ ที่ต้องสนุกสนานเพลิดเพลินเป็นเหตุเป็นผลด้วย

เช่น การเมืองภายในที่เราอาจไม่เคยสนใจเพราะไม่เข้าใจ ที่คิดเอาตลอดเวลาว่าพิษณุโลกก็ต้องเป็นฝ่ายไทยฝ่ายสยาม แต่เมืองต่างๆ ไม่ว่าสุพรรณบุรี หรือโดยเฉพาะหัวเมืองเหนือสุโขทัย เชียงใหม่ เชียงรายในล้านนา ล้วนเป็นเมืองอิสระมีการเมืองของตัวด้วยกันทั้งสิ้น พิษณุโลกจึงเข้าด้วยพม่าได้เพราะเหตุใด และอยุธยาขึ้นไปตีพิษณุโลก (ที่คนไทยคิดว่าเป็นพวกเดียวกัน) ทำไม

การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยของท่านมุ้ย ผ่านการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ (และ "สุริโยไท" ก่อนหน้านี้) จึงเป็นคุณูปการใหญ่หลวงต่อชาวไทย โดยเฉพาะผู้ซึ่งอยู่ในวัยเรียนและผู้ที่ผ่านวัยศึกษาในสถาบันมาแล้ว ให้กลับมาคิดมามองการเรียนประวัติศาสตร์ หรือการเรียนรู้ตัวเองด้วยสายตาใหม่ วิธีคิดใหม่ เพื่อสร้างรากฐานสำคัญในการเข้าถึงและเข้าใจตัวเอง ที่จะเป็นพื้นภูมิความรู้ในการใช้อดีตให้เป็นประโยชน์ต่ออนาคตได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น เดียวกับนานาอารยประเทศ ซึ่งมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเป็นของตัว มีความรักและภาคภูมิใจในชาติ ในหมู่ผู้คนอันหลากหลายที่ร่วมสร้างวัฒนธรรมอันเป็นเอกภาพเดียวกัน

เนื่องจากรูปธรรมในการศึกษาของท่านมุ้ย ที่ทรงตั้งคำถามเพื่อให้ได้คำตอบอันเป็นจริง ไม่ว่าเส้นทางการเดินทัพที่เป็นไปได้ ตรงไหนที่พระนเรศวร์ทรงข้ามแม่น้ำสะโตง ตรงไหนที่ทรงพระแสงปืนต้องสุรกรรมา และพระแสงปืนต้นที่ยาว 9 คืบนั้นยิงได้จริง ยิงได้อย่างไร ยิงข้ามแม่น้ำได้อย่างไม่มีข้อสงสัยหรือไม่ ฯลฯ

ล้วนเป็นการเรียนประวัติศาสตร์วิธีใหม่ เช่นเดียวกับที่อาจารย์ "ศรีศักร" หรือบิดาอาจารย์ "มานิต วัลลิโภดม" ข้าราชการกรมศิลปากร เคยเดินท่องทั่วอยุธยา อีสาน และแทบทุกภาคในประเทศ เพื่อเรียนรู้ข้อเท็จจริงจากตัวหนังสือมาก่อนแล้ว แต่เราไม่เคยสอนประวัติศาสตร์ให้เป็นคุณกับคน ให้เป็นคุณกับสังคม นอกจากท่องพระราชกรณียกิจในพระมหากษัตริย์

ขณะเดียวกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มิใช่คำตอบต่างๆ ของประวัติศาสตร์ไทย เพียงแต่ผู้สร้างอ่านให้ฟังเป็นตัวอย่าง คิดให้ได้ยินเป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นแนวทางศึกษาต่อไปในวันข้างหน้า ไม่ต้องเสียเวลาเถียงกับหนังว่า "จริงหรือไม่" ที่พระนเรศวร์ทรงอยู่ในฐานะเณร, "บุเรงนอง" ทรงเอ็นดูพระนเรศวร์ยิ่งกว่าผู้ใด พระสุพรรณกัลยาทรงมีส่วนสำคัญในการหนี ฯลฯ

เรื่องเครื่องต้นในพระมหากษัตริย์ซึ่งซ่อนไว้ในวัด เครื่องรบ เครื่องแต่งกาย เกราะ ฯลฯ เป็นอย่างนั้นจริงหรือ อะไรที่มีรูปธรรมเป็นบันทึกให้ศึกษาได้ ผู้สร้างย่อมพยายามทำให้ได้ใกล้เคียงที่สุด อะไรเป็นนามธรรม หรือส่วนขาดหายไปจากประวัติศาสตร์ซึ่งจับต้องไม่ได้ ก็ต้องใช้จินตนาการอ่านออกมา

ตัวละครซึ่งมีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ กับตัวละครที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมเนื้อหา ไม่เป็นปัญหากับผู้ชมส่วนใหญ่ เพียงแต่ดูหนังให้สนุกตามหนังก็คุ้มค่ากับเวลาร่วม 3 ชั่วโมง (เฉพาะตอนแรกตอนเดียว) แล้ว. เพราะหนังเรื่องนี้มีแต่คนไทยเท่านั้นที่ดูสนุก เนื่องจากเป็นเรื่องที่คนไทยเกือบทั้งหมด เรียนมาจากตำราเดียวกัน ครูสอนเหมือนๆ กัน แล้วมาดูการอ่านให้ฟังใหม่ของท่านมุ้ยพร้อมๆ กัน ทุกคนในโรงที่แน่นขนัด (ระหว่างสองทุ่มครึ่งถึงเกือบห้าทุ่มครึ่ง) จึงต่างตั้งใจดูเหตุการณ์ที่เคยรู้เคยเรียนแต่ไม่เคยกระจ่างบนจอ อย่างจดจ่อ และออกจากโรงมาพร้อมกันด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นคุณกับความคิด

แน่นอน ผู้ที่ชมแล้วต่างตั้งใจรอภาค 2 และภาค 3 ต่อไป ผู้ที่ยังไม่ได้ชมย่อมบอกได้เพียงว่า อย่าพลาดเป็นอันขาด

สนใจคลิกไปอ่านบทความที่เกี่ยวเนื่อง

 


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ข้างพระนเรศวรกษัตริย์อยุธยา ทรงพระคชาธารชื่อพระลโบง (ฝ่ายไทยว่าพระยาไชยานุภาพ) จึงนำไพร่พลทแกล้วทหารเป็นจำนวนมากออกมาจากพระนคร (หมายเผด็จดัสกร) ครั้นทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชา ก็ไสพระคชาธารเข้ายังตำแหน่งที่จอมทัพพม่านั้นประทับอยู่โดยแรงเร็ว ฝ่ายเจ้าเมืองซามะโร ครั้นเห็นพระนเรศวรขับพระคชาธารตรงรี่หมายเข้าชิงชนช้างประทับก็เปิดผ้าคลุมหน้าช้างพระหนะแห่งตนออก หมายมุ่งพุ่งสกัดช้างทรงองค์นเรศวร แต่ช้างตกน้ำมันเชือกนั้นกลับหันรีหันขวาง แลกลับตัวเข้าแทงโถมเอาช้างทรงองค์อุปราชาโดยกำลังแรง

15-04-2550

Historical Opera
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.