โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา




Update: 14 April 2007
Copyleft2007
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๒๑๔ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ (April, 14, 04,.2007)
R

เมื่อประวัติศาสตร์ถูกลดทอนลงเป็นบทละครโทรทัศน์
ประวัติศาสตร์ชาติที่เป็นประวัติศาสตร์ประสาชาวบ้าน
ดร. ฮอง ลิซ่า : เขียน
ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร : แปล

ผลงานชิ้นนี้เคยตีพิมพ์แล้วในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม
วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ปีที่ ๒๘ ฉบับที่ ๕

บทความวิชาการชิ้นนี้ได้หยิบเอาปรากฏการณ์เกี่ยวกับการบริโภคประวัติศาสตร์ประสาชาวบ้าน
มาวิเคราะห์ โดยพิจารณาจากละครโทรทัศน์และภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์
ในช่วงระยะเวลาอันใกล้ที่ผ่านมา หลายสิ่งหลายอย่างจากปฏิกริยาของผู้ชม
สะท้อนออกมาบนกระดานสนทนา ตามเว็บไซต์ต่างๆ อันเป็นวัตถุดิบที่ถูกนำมาแยกแยะ
ถอดความ และตีความในฐานะเรื่องราวอดีตที่นำเอาปัจจุบันไปรู้สึก มากกว่ารู้เรียน
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๑๔
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๒.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ประวัติศาสตร์ชาติที่เป็นประวัติศาสตร์ประสาชาวบ้าน
ดร. ฮอง ลิซ่า : เขียน
ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร : แปล

ผลงานชิ้นนี้เคยตีพิมพ์แล้วในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม

ประวัติศาสตร์ประสาชาวบ้านฟีเวอร์
ประมาณครึ่งทศวรรษที่แล้วมา ประวัติศาสตร์ไทยได้กลายเป็นประเด็นสำคัญในสายตาสื่อมวลชน พระสุพรรณกัลยาได้ปรากฏพระองค์ขึ้นมาเป็นครั้งแรก โดยหลวงพ่อโง่นได้ประกาศว่า พระนางทรงปรากฏพระวรกายในนิมิตของท่าน และคุณหมอนลินีก็กล่าวว่า พระสุพรรณกัลยาได้เสด็จมาเข้าฝันเธอด้วย และหนังเรื่องสุริโยทัยของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล (ท่านมุ้ย) ได้มีการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง และละครโทรทัศน์เรื่องกษัตริยา ได้รับพระกรุณาจากทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแสดงนำในละครโทรทัศน์เรื่องนี้ จึงได้เป็นจุดสนใจของสื่อมวลชนอย่างล้นหลาม

ความพยายามต่างๆ ที่จะเชิดชูเหล่าวีรกษัตรีย์ เกิดขึ้นหลังปรากฏการณ์ฟองสบู่แตกของไทยที่กลายเป็นวิกฤติเอเชียในปี ค.ศ. ๑๙๙๗ ซึ่งหมายถึงการสิ้นสุดลงของทศวรรษแห่งความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ กล่าวสั้นๆ คือ เป็นผลผลิตทางประวัติศาสตร์จากยุค IMF วิกฤติเศรษฐกิจได้ดำเนินเคียงคู่ไปกับการตอบสนองทางวัฒนธรรมซึ่งเรียกว่าเป็นการฟื้นฟู "ความเป็นไทย" เริ่มตั้งแต่การนิยมรับประทานอาหารแบบไทยๆ มากกว่าอาหารฟาสต์ฟู้ด จนกระทั่งถึงการแต่งกายด้วยผ้าไหมและผ้าฝ้ายที่ทอขึ้นในประเทศมากกว่าการใช้ยี่ห้อนำเข้า สัญลักษณ์ของยุคโลกาภิวัตน์เคยเป็นนักธุรกิจชายชาวไทยเชื้อสายจีน ที่สามารถเอาชนะเวทีในตลาดแห่งโลกาภิวัตน์ วีรกษัตรีย์ได้เข้ามาแทนที่วีรบุรุษสามก๊กสมัยใหม่ ซึ่งสามารถฟื้นฟูรูปแบบแห่งวัฒนธรรมดั้งเดิมและสร้างความภาคภูมิใจแห่งชาติขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง ทดแทนวัฒนธรรมความเป็นชายที่เสื่อมลงในวัฒนธรรมไทยยุค IMF

วีรกษัตริย์นักรบแห่งกรุงศรีอยุธยาในศตวรรษที่ ๑๖ ถูกสร้างขึ้นมาใหม่สู่สายตาสามัญชน ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้มีอิทธิพลต่อการสร้างประวัติศาสตร์ไทยได้แก่ นักสร้างหนัง นักเขียนนวนิยาย และนักเขียนบทโทรทัศน์มากกว่านักวิชาการในมหาวิทยาลัย ประวัติศาสตร์ประสาชาวบ้านได้เข้ามาปรากฏให้เห็นในสื่อมวลชนอย่างชัดเจนและกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศ ประวัติศาสตร์ประสาชาวบ้านมาจากข้อสมมติฐานที่ชาวบ้านมีต่อประวัติศาสตร์ ซึ่งมีข้อเท็จจริงที่ขึ้นอยู่กับความถูกต้องในการใช้ฉลองพระองค์ การใช้คำราชาศัพท์ รวมถึงตัวตนที่แท้จริงในประวัติศาสตร์ เช่น พระมหาจักรพรรดิ พระนเรศวร และพระเจ้าบุเรงนอง

ประวัติศาสตร์ประสาชาวบ้านเช่นนี้ได้มาแทนที่ประวัติศาสตร์ที่สอนในห้องเรียนและมหาวิทยาลัย นักเรียนในโรงเรียนทำข้อสอบในวิชาประวัติศาสตร์ โดยอิงข้อมูลที่ได้มาจากสิ่งที่เขาเรียนรู้ในโรงหนังและละครโทรทัศน์

ประวัติศาสตร์ประสาชาวบ้านในฐานะมรดกตกทอด
ประวัติศาสตร์ประสาชาวบ้านเหล่านี้ไม่แตกต่างไปจากประวัติศาสตร์ชาตินิยม ที่เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันได้แก่ ความสามัคคี รักชาติ เสียสละ และความสำคัญของการมีผู้นำ ประวัติศาสตร์ของชาติได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเพิ่มความสามัคคีของประชาชนต่อหน่วยทางการเมือง ทำให้พวกเขามองว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของชาติ ประวัติศาสตร์แบบนี้จึงไม่จำเป็นที่จะถูกต้องก็ได้ ที่สำคัญก็คือจะต้องได้รับความเชื่อถือจากประชาชนที่เป็นพลเมืองของชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

นี่คือสิ่งที่ต่างไปจากงานของนักประวัติศาสตร์ ที่พยายามจะอธิบายประวัติศาสตร์ให้ประชาชนในปัจจุบันฟัง โดยใช้เนื้อหาทางวิชาการและความรู้ ถึงแม้ว่าภาพยนตร์และละครโทรทัศน์จะพยายามอ้างว่าได้ใช้องค์ความรู้จากนักประวัติศาสตร์แล้ว แต่เมื่อไม่สามารถหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ จะใช้คำว่า "อิงประวัติศาสตร์" เราสามารถเรียกสิ่งนี้ว่าเป็น "มรดกตกทอด" (heritage) มากกว่าคำว่า "ประวัติศาสตร์" (history)

David Lowenthal ได้อธิบายไว้ว่า คำว่ามรดกตกทอดมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างให้อดีตเป็นสิ่งที่ถูกใจ และเป็นที่ยอมรับในรุ่นปัจจุบัน วัตถุประสงค์หลักของมรดกตกทอด "ไม่ได้ให้ประชาชนเรียนอะไรบางอย่าง, แต่ทำให้ประชาชนเปลี่ยนไปเป็นอะไรบางอย่าง" มรดกตกทอดจึงไม่ควรจะถูกมองว่าเป็นเพียงประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกต้องเท่านั้น

Lowenthal ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ประวัติศาสตร์คือมุมมองของคนในยุคหนึ่งต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกยุคสมัยหนึ่ง จากหนังสือที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขา The past is different country คนในอดีตแตกต่างจากเรา มรดกก็คือวิธีการที่มองอดีตจากฐานของปัจจุบัน มรดกสามารถเปรียบเทียบได้กับทางด่วนที่เชื่อมโยงอดีตและปัจจุบันเข้าหากัน ในการสร้างทางด่วนจะต้องมีการถากถางที่ดินระหว่าง ๒ จุด เพื่อที่จะสร้างเส้นทางตรงเชื่อมโยง ๒ จุดนั้นเข้าด้วยกัน และเมืองที่ถูกเชื่อมโยงด้วยทางด่วนนั้นจะไม่ค่อยมีความแตกต่างจากกันมากเท่าใด เนื่องด้วยราคาที่ดินจะสูงขึ้นจากการคมนาคมที่สะดวก และพัฒนาเป็นเมืองมากขึ้นเช่นเดียวกับเมืองที่ถนนตัดออกมา. มรดกตกทอดมีจุดมุ่งหมายให้ประชาชนในปัจจุบันสามารถรู้จักอดีตได้อย่างง่ายๆ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษของพวกเขา และแสดงความเป็นทายาทที่ควรค่ากับบรรพบุรุษนั้น

ในความเป็นจริงตรงกันข้าม ผู้สร้างมรดกตกทอดกลับได้สร้างบรรพบุรุษให้เหมาะสมตรงกับตัวเราในปัจจุบัน เห็นได้ชัดเจนตั้งแต่ช่วงที่ประเทศไทยเข้าไปผูกพันกับยุค IMF บันทึกทางประวัติศาสตร์ของอยุธยาในสมัยศตวรรษที่ ๑๖ เกี่ยวกับวีรกษัตรีย์พระองค์นี้แทบจะไม่มีเลย หลักฐานทางข้อเขียนเกี่ยวกับสมเด็จพระสุริโยทัยเป็นสิ่งที่บันทึกมาในภายหลังแทบทั้งนั้น พระองค์เป็นวีรสตรีตัวอย่างใน"กุลสตรี" (ค.ศ. ๑๙๐๖), และ"สตรีนิพนธ์" (ค.ศ. ๑๙๑๔) ซึ่งเป็นหนึ่งในนิตยสารของผู้หญิงฉบับแรกๆ

นักประวัติศาสตร์ยอมรับว่าพระองค์ได้ถูกกล่าวถึงในหน้าประวัติศาสตร์ แต่นามว่า "สุริโยทัย" ไม่เคยถูกกล่าวถึงในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกิดร่วมสมัยเดียวกับพระนาง ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานทางไทยหรือจากตะวันตก และไม่ได้ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุหลวงประเสริฐ ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของอยุธยาตอนกลาง

พระธิดาของสมเด็จพระสุริโยทัย ซึ่งมีพระนามว่าพระวิสุทธิกษัตริย์ ผู้ซึ่งเป็นพระมารดาของสมเด็จพระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระเอกาทศรถ ปรากฏอยู่ในหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรเพียง ๒-๓ แห่งเท่านั้น เช่นเดียวกับพระนามของพระสุพรรณกัลยา แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ปะติดปะต่อเช่นนี้ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับการสร้างมรดกแห่งชาติ เพราะไม่ได้มีหลักฐานอะไรที่จะบอกว่าพระราชประวัติของวีรกษัตริย์นั้นผิดด้วยเช่นกัน ไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้เลย

ภาพยนตร์และนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ทำให้เราได้รู้จักบุคคลในประวัติศาสตร์เหล่านั้นอย่างมีตัวตนขึ้นมา ด้วยการให้ภูมิหลังทางพระราชวงศ์ พระอิริยาบถ และพระราชอัธยาศัย และสถานการณ์วิกฤติส่วนตัว และในทางการเมือง วีรกษัตริย์เหล่านั้นเป็นคนที่เป็นไทยยิ่งกว่าคนไทยในปัจจุบัน พระองค์ทรงกล้าหาญกว่า ทรงมีพระอัจฉริยภาพกว่า ทรงอดทนกว่า ทรงทนทุกข์ทรมานได้มากกว่า และยังทรงพระสิริโฉมกว่าอีกด้วย

ละครเรื่องกษัตริยาได้ทำให้คนไทยในปัจจุบันรู้สึกเห็นใจ และเข้าใจสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น ถึงแม้ว่ากาลเวลาจะล่วงผ่านมากว่า ๕๐๐ ปีแล้ว และบุคคลในประวัติศาสตร์ทั้งหมดนี้ก็เป็นบุคคลที่เหนือกว่าผู้ชมทั้งในด้านพระอัจฉริยภาพและพระราชกำเนิด ซึ่งเป็นผลจากการที่ประวัติศาสตร์ได้เข้ามาใกล้ตัวผู้คนมากขึ้น และได้นำอารมณ์ความรู้สึกซึ่งเป็นสิ่งสากลทุกยุคทุกสมัยให้เข้ามาแทนที่ความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์. ด้วยเหตุนี้ พ่อแม่ในสมัยปัจจุบันจึงสามารถรู้สึกถึงความเจ็บปวดที่เหล่ากษัตริย์และราชินีในสมัยอยุธยาจากละครโทรทัศน์ เมื่อพระโอรสและพระธิดาของพระองค์ต้องถูกพรากไป เพราะว่าเขาได้นำความรู้สึกพ่อแม่ในปัจจุบันเข้าไปแทนที่เรื่องราวในประวัติศาสตร์นั่นเอง

หนังเรื่องสุริโยทัยมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของประชาชน ในฐานะประวัติศาสตร์ประสาชาวบ้านน้อยกว่ากษัตริยา และละครเรื่องต่อเนื่องกันคือมหาชาติกู้แผ่นดิน. สุริโยทัยได้อ้างอิงจากเอกสารทางประวัติศาสตร์มากกว่าละครอีก ๒ เรื่อง ท่านมุ้ยได้พยายามทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ จนกระทั่งแน่ใจว่าฉลองพระองค์ ปราสาทราชวัง และเครื่องภาชนะใช้สอยต่างๆ ตลอดจนพระแสงจะสามารถใกล้เคียงกับของจริงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ที่ปรึกษาของหนังเรื่องนี้ ได้เขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับการอธิบายประวัติศาสตร์ในสมัยศตวรรษที่ ๑๖ ของอยุธยา เพื่อที่จะทำให้ผู้ชมสามารถทำความเข้าใจกับการเมืองในยุคสมัยนั้นได้ดีขึ้น แต่หนังอาจจะสนุกน้อยกว่าละครทีวี หนังกลายเป็นสารคดีที่ต้องการให้ประชาชนประทับใจและสร้างความเคารพและจงรักภักดีต่อสมเด็จพระสุริโยทัย ไม่ได้พยายามที่จะเข้าถึงพระอิริยาบถของพระองค์ที่เต็มไปด้วยพระอัจฉริยภาพ และทรงเตรียมพร้อมที่จะเสียสละ พระองค์ทรงยิ่งใหญ่กว่าที่ประชาชนจะแสดงความเห็นใจได้

หนังเรื่องนี้ตรงไปตรงมา และเอาจริงเอาจังมากจนไม่มีที่ว่างให้กับความผ่อนคลาย ไม่มีพล็อตเรื่องซ้อนกัน และทุกฉากพยายามที่จะเชื่อมโยงไปยังการประลองยุทธหัตถี ผู้ชมที่ต้องการเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้เขียนวิจารณ์เรื่องความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ไปที่นิตยสารศิลปวัฒนธรรม และมีอาจารย์พิเศษคอยตอบคำถามเหล่านี้ คนที่วิจารณ์หนังเรื่องนี้ก็จริงจังพอกัน และได้พยายามวิจารณ์เกี่ยวกับความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ว่ามันไม่สมจริงพอ อย่างเช่นผู้ชมคนหนึ่งที่วิจารณ์ว่า ทำไมสมเด็จพระสุริโยทัยทรงไม่มีพระทนต์ดำ เหมือนคนในยุคสมัยนั้นที่เคี้ยวหมากจนฟันดำ

การบ้านการเมืองในเรื่องกษัตริยา
ละครโทรทัศน์เรื่องกษัตริยาจะมีความแตกต่างกันจากหนังเรื่องสุริโยทัย มาตรฐานของความเป็นจริงไม่ได้มาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และงานด้านวิชาการ แต่มาจากนวนิยายที่ประพันธ์โดยคุณทมยันตี ซึ่งแม้แต่คุณทมยันตีก็ยังวิพากษ์วิจารณ์ว่าละครเรื่องนี้ไม่ตรงตามความเป็นจริง ละครเรื่องนี้พยายามทำให้อดีตมีความคล้ายคลึงกับปัจจุบัน เพราะว่าละครโทรทัศน์มีฉาก ตัวแสดงรอง เรื่องรักๆ ใคร่ๆ พล็อตเรื่องรอง และเรื่องตลก

ละครเรื่องนี้ฉายในโทรทัศน์ประมาณครั้งละครึ่งชั่วโมงทุกวันจันทร์ถึงวันเสาร์เป็นระยะเวลากว่าปี ตัวละครได้เข้าไปอยู่ในชีวิตของคนดูเปรียบเสมือนว่าพวกเขาได้รู้จักกันเป็นอย่างดี และเหมือนกับว่าพวกเขาได้เข้าไปเห็นสภาพสังคมในสมัยศตวรรษที่ ๑๖ ด้วยตัวเองจริงๆ และถึงแม้ว่าละครกษัตริยาจะเกี่ยวข้องกับกษัตริย์และราชินีอยุธยาและพม่า แต่ในละครกลับเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชวงศ์ ซึ่งเป็นลักษณะของละครโทรทัศน์ และเมื่อพระสุพรรณกัลยาต้องกลายเป็นตัวประกันและเสด็จไปที่หงสาวดี พระองค์ได้ตรัสถึงอยุธยาว่า มีทูลกระหม่อมพ่อ สมเด็จแม่ น้ององค์ขาวและทุกๆ คน จะเห็นได้ว่าโครงสร้างหลักของกษัตริยาคือครอบครัวที่เป็นพระราชวงศ์ ซึ่งมีทั้งสมาชิกราชตระกูลที่ดีและไม่ดี กษัตริย์ที่ดีจะทรงมีพระราชวงศ์ที่อบอุ่น กษัตริย์ที่ไม่ดีคือกษัตริย์ที่ทรงสร้างปัญหาให้กับพระราชวงศ์ และในที่สุดก็จะทำให้ราชอาณาจักรล่มสลายเหมือนในละครทีวีเรื่องกษัตริยา

ถึงแม้ว่าพระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์พม่าจะทรงเป็นกษัตริย์นักรบที่มีพระอัจฉริยภาพ แต่พระราชวงศ์ของพระองค์ต้องประสบกับปัญหา พระองค์ทรงไม่หยุดรับนางบาทบริจาริกาจากเมืองขึ้นต่างๆ แม้ว่าในระยะเวลาที่ผ่านไป นางบาทบริจาริกาเหล่านั้นจะมีอายุที่ห่างจากพระองค์ขึ้นเรื่อยๆ ทำให้พระโอรสของพระองค์ทรงไม่พอพระทัย เพราะพระโอรสทรงหวังว่าจะได้รับนางบาทบริจาริกาเหล่านั้นเป็นส่วนแบ่งบ้าง

ในละครเรื่องนี้พระโอรสของพระเจ้าบุเรงนองทุกพระองค์ทรงมาจากต่างพระมารดา และต่างทรงแก่งแย่งชิงดีกันเพื่อที่จะได้รับความโปรดปรานจากพระองค์ เหล่าพระโอรสจึงพยายามประชันขันแข่งกันในทุกโอกาส มหาอุปราชนันทบุเรงและมังกะยอชวา พระโอรสของพระองค์เป็นคนโหดเหี้ยมอำมหิตและหยาบคาย พระราชวงศ์ของพระเจ้าบุเรงนองเริ่มแตกความสามัคคี เมื่อมหาอุปราชนันทบุเรงทรงอ้างสิทธิในพระราชสมบัติหลังการสวรรคตของพระราชบิดาของพระองค์ เหล่าสนมของพระเจ้าบุเรงนองพยายามหาความสนับสนุนจากบ้านเกิดเมืองนอนเดิมของเธอเพื่อที่จะทำลายหงสาวดี พระนางเจ้าจันทราซึ่งเดิมมาจากอังวะ รับสั่งว่า พระนางจะจงรักภักดีต่อหงสาวดี หากหงสาวดีจะยังมีประโยชน์ต่อพระนาง หากไม่เช่นนั้นแล้วพระนางก็จะทำลายหงสาวดี

ผู้ชมละครที่ต้องการถกเถียงและแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกที่มีต่อละครทางกระดานเสวนา จะไม่ได้เขียนจดหมายส่งไปยังนิตยสารศิลปวัฒนธรรมเหมือนในกรณีเรื่องสุริโยทัย ผู้คนส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นที่ชื่นชอบดาราที่แสดงละคร และมักจะผสมผสานตัวตนทางประวัติศาสตร์ให้เข้ากับดาราที่รับบทบาทนั้นๆ พวกเขาเข้าใจว่าประวัติศาสตร์ในสมัยศตวรรษที่ ๑๖ เป็นเรื่องเดียวกับสถานการณ์ในปัจจุบัน มีความคิดเห็นหนึ่งซึ่งเป็นตัวอย่าง ก็คือ "ครอบครัวบุเรงนองขาดความอบอุ่นเป็นอย่างแรง" ความคิดเห็นที่ ๒ บอกว่า "ไม่มีใครรักกันเลย" และ "ดูแล้วไม่มีใครมี common sense ของความเป็นครอบครัวเลย"

ส่วนความคิดเห็นอีก ๑ เสียงที่วิจารณ์สถานการณ์นี้เป็นส่วนผสมของหลักการจิตวิทยาสมัยใหม่และปัญหาครอบครัว โดยเขียนไว้ว่า "สาเหตุก็เพราะมีเมียมากนี่แหละ ไม่มีเวลาอบรมสั่งสอนลูก" และได้ตั้งเหตุผลไว้ ๑๒ ข้อ ว่าทำไมพระราชตระกูลของสมเด็จพระเจ้าบุเรงนองจึงล่มสลาย :

๑. ความมักมากในกามคุณที่ไม่รู้จักพอของพระเจ้าบุเรงนอง-นันทบุเรง และมักผูกขาดบาทบริจาริกา ทำให้พระโอรสไม่ค่อยพอพระทัย
๒. ขาดการพิจารณาและกลั่นกรองธิดาเจ้าประเทศราชก่อนตั้งเป็นเจ้านาง

๓. เจ้านางส่วนใหญ่นิสัยไม่ค่อยดี เห็นแก่ตัว นิสัยเสียสละมีน้อย อิจฉาริษยา อาฆาต
๔. เจ้านางส่วนใหญ่การศึกษาน้อย หรือไม่รู้หนังสือ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ทำให้มีข้อจำกัดในการสื่อสารกับโลกภายนอก

๕. เจ้านางส่วนใหญ่โลกทรรศน์แคบ วิสัยทัศน์น้อย คิดแต่เรื่องของตัวเอง เรื่องบ้านเมืองคิดไม่เป็น ทำให้กำหนดอนาคตของตัวเองไม่ได้ ไม่รู้ชะตากรรมตนเอง หากพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตวันใด

๖. โครงสร้างการบริหารภายในพระราชวังไม่เป็นระบบ และขาดการประสานงานที่ดี
๗. พระเจ้าบุเรงนองไม่ค่อยถนอมน้ำใจมเหสีต่างๆ และพระโอรส ดุว่าแรงๆ ต่อหน้าธารกำนัลให้ได้อาย สร้างความเจ็บแค้นและรอยร้าวในครอบครัว

๘. ขาดความสามัคคีในหมู่เจ้านาง พระราชโอรส ต่างฝ่ายต่างอิจฉา จับผิด เขม่นกันเอง ไม่มีใครไว้ใจใคร๙. พระเจ้าบุเรงนองขาดความสมดุลในการใช้พระคุณและพระเดช ทำให้เสาหลักภายนอกผุกร่อนรอวันทรุด

๑๐. พระนางตะเกงจี มีเมตตาก็จริง แต่เป็นคนพระทัยเบา พระกรรณเบา ขาดการไตร่ตรองและไม่ค่อยรอบคอบในการสั่งการฝ่ายใน ทำให้เสาหลักฝ่ายในคลอนแคลน
๑๑. นางกำนัล-ข้ารับใช้ส่วนใหญ่นิสัยไม่ดี ประจบสอพลออิจฉาริษยาไม่ต่างอะไรจากเจ้านาย
๑๒. พระเจ้าบุเรงนองนิยมแต่คนเก่ง การประลองหน้าพระที่นั่งเป็นดาบสองคม ก่อมิตรและศัตรูในขณะเดียวกัน

ในทางตรงกันข้าม พระราชวงศ์ของพระมหาธรรมราชาและพระอัครมเหสีวิสุทธิกษัตริย์มีความอบอุ่น และรักใคร่ปรองดอง พระราชธิดาและพระราชบุตรทั้งสามของพระองค์มีความรักใคร่กลมเกลียว และได้รับการเลี้ยงดูมาให้ทรงมีพระจริยวัตรที่รับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน ต่างจากพระราชบุตรและพระธิดาของพระเจ้าบุเรงนอง

ถึงแม้ว่าพระมหาธรรมราชาจะมีพระชายามากมาย แต่พระองค์ก็โปรดแต่พระวิสุทธิกษัตริย์ ทรงเชิดชูและเคารพพระนางเพียงผู้เดียว พระชายาพระองค์แรกของพระองค์ที่เป็นสามัญชนคือเจ้านางทองจันทร์ หลังจากที่เจ้านางได้หึงหวงและริษยาต่อพระวิสุทธิกษัตริย์ เจ้านางก็ไม่ได้รับพระปฏิพัทธ์จากพระองค์อีกต่อไป นอกจากนี้เจ้านางยังเป็นคนไม่มีความรับผิดชอบต่อการงาน และบุตรีของเจ้านางได้แก่เจ้าอิน ก็ยังชอบแกล้งพระสุพรรณกัลยาตั้งแต่ครั้งยังเยาว์วัย เจ้าอินเป็นคนเหลวไหลและทะเยอทะยาน ต้องการเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าบุเรงนอง และคิดว่าจะสามารถทำได้โดยการแต่งกายเป็นชาวหงสาวดี ในขณะที่พระสุพรรณกัลยาทรงรักแผ่นดิน พระนางทรงยืนยันที่จะฉลองพระองค์และทรงพระราชประเพณีในแบบอยุธยา แต่ก็ยังเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าบุเรงนอง

ที่ได้กล่าวไว้ว่า พระมหาธรรมราชาโปรดแต่พระวิสุทธิกษัตริย์พระองค์เดียว แต่ในฐานะที่เป็นกษัตริย์แห่งอยุธยา พระองค์ต้องทรงรับแม่ปิ่น (ท้าวศรีจุฬาลักษณ์) จากสายเพชรบูรณ์มาเป็นชายา เพื่อคงความเป็นพันธมิตรไว้ แต่พระองค์รับสั่งอย่างตรงไปตรงมากับพระนางว่า การแต่งงานนั้นเป็นเพียงแต่ในนาม ดังนั้นพระมหาธรรมราชาในละครโทรทัศน์จึงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระมเหสีเพียงพระองค์เดียว และทรงมีปฏิพัทธ์ให้กับพระวิสุทธิกษัตริย์เพียงพระองค์เดียว โชคดีที่ชายาทั้งสองของพระองค์ไม่ใช่คนดี และสร้างความวุ่นวายต่างๆ นานา ผู้ชมจึงไม่ต้องรู้สึกเสียใจที่พระชายาทั้ง ๒ พระองค์แต่งงานโดยปราศจากความรัก ในหนังเรื่องสุริโยทัย พระมหาจักรพรรดิเป็นพระบิดาที่แสนดี และเป็นพระสวามีของพระสุริโยทัย และหนังก็ไม่ได้กล่าวถึงว่าพระองค์มีพระชายาอื่นใดเลย

ถึงแม้ว่าพระเจ้าบุเรงนองจะเป็นอริราชศัตรูแห่งกรุงศรีอยุธยา แต่บทบาทนี้ในละครโทรทัศน์ก็ไม่ได้เป็นไปในเชิงลบมากมายนัก เพื่อที่จะดึงความสนใจจากผู้คน พระเจ้ากรุงหงสาวดีพระองค์นี้มีพระอิริยาบถที่สลับซับซ้อน ถึงที่สุดแล้วพระองค์ก็คือผู้ชนะสิบทิศผู้ห้าวหาญ วีรบุรุษผู้แสนโรแมนติคสำหรับผู้หญิงไทยรุ่นที่เติบโตมาพร้อมกับความหลงใหลในหนังสือของยาขอบ

ในละครโทรทัศน์ พระองค์เป็นตัวละครที่ทรงพระสิริโฉมที่สุดในกลุ่มตัวละครที่อายุเท่ากัน (ทรงพระสิริโฉมกว่าพระมหาธรรมราชา) พระองค์ทั้งทรงสง่างามและมีเสน่ห์ ต่างจากบทบาทของนันทบุเรงและมังกะยอชวา พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์นักรบที่ยิ่งใหญ่และนักยุทธศาสตร์ที่มีพระอัจฉริยภาพ เป็นรัฐบุรุษผู้เชี่ยวชาญและยังเป็นกษัตริย์ผู้เปี่ยมด้วยคุณธรรม พระองค์ได้ทรงสั่งสอนพระราชโอรสและพระราชนัดดาว่า อย่าใช้พระราชอำนาจเพื่อให้ประชาชนหวาดกลัวเรา แต่ต้องให้ประชาชนรักเรา

พระเจ้าบุเรงนองก็เหมือนพระมหาธรรมราชาในกรณีที่ทั้ง ๒ พระองค์ทรงให้เกียรติพระอัครมเหสีตะเกงจีที่พระองค์ทรงรักและเคารพในความยุติธรรม สติปัญญา และความใจกว้างของพระนาง แต่พระโอรสของพระองค์คือ พระเจ้านันทบุเรงมีความแตกต่างไปจากพระราชบิดาและพระราชมารดาโดยสิ้นเชิง พระองค์ทรงถือพระองค์และโหดร้าย พระเจ้านันทบุเรงทรงมีบทบาทเป็นผู้ร้ายในละครโทรทัศน์เรื่องนี้

ในขณะที่กษัตริยาได้ส่งสารว่า กษัตริย์อยุธยาต้องมีพระชายาได้หลายคน แต่กษัตริย์ที่ดีจะต้องโปรดวีรสตรีซึ่งเป็นพระมเหสีคนเดียว พระชายาคนอื่นๆ จะมีบุคลิกภาพทางลบ ซึ่งตรงกันข้ามกับความสง่างามและพระปรีชาสามารถของพระวิสุทธิกษัตริย์

พระเจ้าบุเรงนองมีบทบาทที่สลับซับซ้อน ในกระดานเสวนาหนึ่งมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า พระองค์ทรงกล้าหาญ รบเก่ง ภายนอกอ่อนหวาน ภายในเข้มแข็ง ถึงแม้ว่าพระองค์จะเป็นอริราชศัตรูต่อกรุงศรีอยุธยา แต่พระองค์ก็ทรงทำไปเพื่อการขยายพระราชอำนาจทางการทหาร พระองค์ทรงเมตตากรุณาต่อพระสุพรรณกัลยา เราเห็นความกรุณาของพระองค์ได้จากการที่พระองค์ทรงอ้อนวอนให้พระสุพรรณกัลยาทรงรับปฏิพัทธ์จากพระองค์ และลืมเรื่องราวเกี่ยวกับอยุธยาและหงสาวดีทั้งการเมืองและสงครามด้วย แต่พระราชโอรสและพระราชนัดดากลับตรงกันข้ามกับพระองค์ ดังนั้นหลักการที่ว่าพ่อเมืองและแม่เมืองประสบความสำเร็จก็จะเป็นพ่อแม่ที่ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน ก็อาจจะเป็นข้อความที่ง่ายเกินไป

แนวคิดที่ว่า ไม่จำเป็นที่พ่อแม่ที่ดีจะมีลูกที่ดีนั้นเป็นสิ่งที่ผู้คนในปัจจุบันนึกออกได้ง่ายดาย และเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ของพวกเขาเองด้วย พวกเขาเข้าใจว่าไม่มีสูตรสำเร็จใดๆ หรือหลักประกันที่ว่ารัชทายาทที่ดีและควรค่า จะทรงปกครองราชอาณาจักรด้วยความถูกต้องเหมือนพระราชบิดาของพวกเขา

ในกระดานเสวนา มีกระทู้หนึ่งที่แสดงถึงเหตุการณ์ปัจจุบันซึ่งมีความคล้ายคลึงกับสถานการณ์ในพระราชตระกูลของพม่าไว้ว่า ไม่ต่างอะไรกับสมัยนี้หรอกครับ ดูอย่างบางตระกูลสิ ลูกมากและไม่มีเวลาให้ลูกก็เป็นอย่างนี้. มีกระทู้ที่เฉียบคมกว่าอีกกระทู้หนึ่งกล่าวว่า ของแบบนี้โทษใครไม่ได้ คนจะดีไม่ได้โทษพ่อแม่ได้หรือ แล้วทำไมนันทบุเรงกับนันทวดี (พระเชษฐภคินีร่วมสายโลหิต) ไม่เห็นเหมือนกันเลย คนมันไม่ดีเอง อธิบายยาก กิเลสของคน

กระทู้ในกระดานเสวนาท้าทายต่อสารของละครโทรทัศน์ที่ว่า กษัตริย์และมเหสีที่ดีเช่นพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตริย์ก็ต้องเป็นพระบิดาและพระมารดาที่ดีด้วย อย่างไรก็ตามพระเจ้าบุเรงนองและพระมเหสีตะเกงจี ก็เป็นตัวละครที่น่ารัก แต่รัชทายาทกลับเป็นตัวละครที่ร้ายกาจมากๆ คนตอบกระทู้ที่ปลุกประเด็นนี้ขึ้นมายกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในสังคมไทยปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์ที่เป็นเรื่องบันเทิง เรื่องบันเทิงที่เป็นประวัติศาสตร์
กระดานเสวนาของกันตนาไม่ใช่กระดานเสวนาสำหรับความคิดเห็นที่ลึกซึ้ง จริงๆ แล้วตรงกันข้ามกันเลย ถึงแม้ว่ากษัตริยาพยายามที่จะ "อิงประวัติศาสตร์" โดยอ้างว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกลืมเพื่อที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนไทยในปัจจุบัน ได้พยายามสร้างบทละครประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้อย่างแน่นอน โดยเน้นฉลองพระองค์ที่ถูกต้อง ทุ่มงบประมาณมากมาย แต่ก็ไม่ง่ายที่จะทำให้ละครมีทั้งความบันเทิงและเป็นประวัติศาสตร์ไปในตัว

ประวัติศาสตร์กลายเป็นกรอบของความบันเทิง วัยรุ่นที่เข้าไปในกระดานเสวนาได้เข้าไปโหวตให้กับประวัติศาสตร์ และตอบกระทู้ในสิ่งที่พวกเขาชอบหรือไม่ชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ ประเด็นที่เรียกร้องความสนใจจากกระดานเสวนาได้มากที่สุดคือคำถามว่า : คุณอยากให้ใครเป็นอัครมเหสี มณีจันทร์หรือมณีรัตน์? พวกเขาเข้าใจอย่างชัดเจนว่านี่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่เป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว และจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เป็นละครโทรทัศน์ที่พวกเขาสามารถแสดงความคิดเห็นว่าต้องการให้ละครเป็นไปอย่างไร

เสียงส่วนใหญ่เลือกมณีจันทร์ให้เป็นอัครมเหสี ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความชื่นชมในตัวดาราที่แสดงบทบาทนี้
มีกระทู้หนึ่งได้กล่าวว่า : มณีจันทร์ เพราะชอบพี่ตวง แล้วองค์ดำก็รักกับมณีจันทร์มาตั้งนานแล้วด้วย ทำไมต้องให้คนอื่นเป็นอัครมเหสีด้วยนะ

มณีจันทร์สวยน่ารัก มณีรัตน์หัวก็ลีบ ตาก็เข ปากก็จู๋

มีกระทู้หนึ่งกล่าวเตือนกระทู้อื่นๆ ไว้ว่าไม่ควรให้น้ำหนักบุคลิกหน้าตาของนักแสดง ควรจะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ : ตกลงพวกคุณเถียงกันเรื่องตัวมณีจันทร์กับมณีรัตน์ หรือว่าเถียงกันเรื่องตวงกับแอนนากันแน่คะ

บรรดาแฟนๆ ก็ยังดื้อดึง มีกระทู้หนึ่งย้ำว่า : ยังไงก็น่ารักกว่า ไม่สมควรที่ใส่มณีรัตน์เข้ามาเลย

ความคิดเห็นอีก ๑ เสียงที่ใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์กลับไม่ได้รับความสนใจ และไม่สามารถหยุดการโต้เถียงเรื่องมณีจันทร์กับมณีรัตน์ได้ กระทู้นี้บอกไว้ว่าในบันทึกทางประวัติศาสตร์ มณีรัตน์คือชื่อที่ตั้งให้กับมณีจันทร์ ในกรณีที่ได้รับการเลื่อนขั้น ชื่อนี้ถูกพูดถึงในเอกสารแต่ก็น้อยมาก ดังนั้นผู้หญิงทั้ง ๒ คนในละครโทรทัศน์ก็คือละครตัวแสดงที่แต่งขึ้นใหม่

แน่นอนที่เรื่องราวโรแมนติคของพระนเรศวรจะเป็นที่สนใจในหมู่ผู้ชม พวกเขาพยายามแสวงหารายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ก่อนจะได้รับชมทางละครโทรทัศน์ มีกระทู้หลายข้อที่ต้องการจะทราบว่า : พระนเรศวรมีพระราชโอรสหรือพระราชธิดาไหม และเกิดจากเจ้านางองค์ไหน พระนเรศวรไม่มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดาเลย และผู้ร่วมสนทนาในกระดานเสวนารู้สึกว่า น่าจะมีคำอธิบายในเรื่องนี้ มีคนตอบปัญหาดังกล่าวมาว่า :

อาจจะไม่ ว่าสงครามศึกนาน ไม่สนใจในพระราชวัง เพราะมีแม่ดูแล ความเป็นชายของกษัตริย์แสดงออกในละครโทรทัศน์จากการมีพระชายาหลายคน และการรบอย่างกล้าหาญในสนามรบ แต่ก็ถูกตั้งคำถามเพราะพระองค์ไม่มีรัชทายาท ความเป็นชายของพระเอกาทศรถ พระอนุชาของพระองค์ก็ถูกตั้งคำถามเหมือนกัน

ตามประวัติศาสตร์แล้ว กษัตริย์แต่ละองค์มีพระชายาหลายพระองค์ รวมทั้งมีพระราชบุตรและพระราชธิดาหลายพระองค์ด้วยเช่นกัน แต่ว่านักแสดงที่รับบทบาทเป็นพระเอกาทศรถตอนวัยรุ่น คือคุณเต้ ทำให้บรรดาแฟนๆ ในละครโทรทัศน์เกิดความไม่สบายใจ เมื่อพบว่าบุคลิกลักษณะของคุณเต้ไม่เป็นแมนพอ เป็นการหมิ่นพระเกียรติว่าที่กษัตริย์ในตอนนั้น ความไม่พอใจนี้รุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อมีการพูดกันในภายหลังว่า คุณเต้ ผู้ซึ่งเป็นลูกชายของบริษัทที่อำนวยการสร้างละครเรื่องกษัตริยานั้นเป็นเกย์

อย่างไรก็ตามแฟนคลับของคุณเต้คนหนึ่งปกป้องเขาด้วยเหตุผลที่น่าประทับใจว่า อย่าเอาปัจจุบันกับอดีตไปรวมกัน ละครโทรทัศน์ก็แค่ภาพจำลองประวัติศาสตร์

เต้น่ารัก ตั้งใจทำงาน เสียงเพราะและยังร้องเพลงเพราะ เป็นไปได้ที่พระองค์ขาวจะน่ารักอย่างนี้

เพื่อที่จะทำให้ละครโทรทัศน์เรื่องนี้เป็นเรื่อง "จริง" ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ความสำคัญจึงอยู่ที่การเลือกผู้แสดงที่ให้เหมาะสมกับบทบาทที่เขาจะมาแสดง ตามกระทู้ที่อ้างข้างต้น

ตามกระทู้ต่างๆ นั้น บทบาทของบุคคลในประวัติศาสตร์ สามารถถ่ายทอดออกมาจากบทบาทของนักแสดง จริงๆ แล้วกระทู้นี้ไม่ได้ตลกอย่างที่เราเข้าใจกันในตอนแรก ผู้เขียนบทละครเป็นผู้กำหนดบทบาทในละครโทรทัศน์ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าพระเอกาทศรถมีพระอิริยาบถคล้ายคุณเต้ หรือชาวบ้านเอาบุคลิกและท่าทางของคุณเต้เป็นมาตรฐานของพระเอกาทศรถ

หรืออย่างที่คุณทมยันตีได้กล่าวไว้ว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ไม่จำเป็นต้องทรงแสดงบทบาทของสมเด็จพระวิสุทธิกษัตริย์ ขอแค่พระองค์ทรงเป็นตัวของตัวเอง เพราะทั้ง ๒ พระองค์ต่างก็เป็นเชื้อพระวงศ์เช่นเดียวกัน

ในละครเรื่องกษัตริยา เส้นที่ขีดคั่นระหว่างการแสดงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์และละครเป็นเพียงเส้นบางๆ เท่านั้น เพื่อที่จะชนะใจผู้ชมที่ติดตามละครโทรทัศน์ได้นั้น เนื้อเรื่องจะต้องมีเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ และเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ซึ่งผู้ผลิตกษัตริยาได้สร้างผู้ชมประวัติศาสตร์ของชาติที่มีจำนวนมากที่สุด ประวัติศาสตร์ของชาติได้ถูกทำให้เป็นของชาวบ้านโดยใช้โครงสร้างเป็นเนื้อหาในชีวิตครอบครัวธรรมดา และเน้นที่เรื่องอารมณ์ความรู้สึก (ความรัก ความเกลียดชัง ไม่ค่อยมีความสุข ความเศร้า) และความสัมพันธ์ระหว่างสามีกับภรรยา และลูกๆ เจ้านายกับลูกน้อง และการเชือดเฉือนคารมระหว่างเหล่าสตรีในพระราชวัง และนางกำนัลทั้งหลาย โดยใช้ถ้อยคำหมิ่นเกียรติ กระแทกแดกดัน และเยาะเย้ยถากถาง

ถึงแม้ว่าเนื้อหาจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต มันก็ดึงดูดผู้ชมโดยสร้างบริบทที่ใกล้เคียงกับผู้ชมจนพวกเขาสามารถรู้สึกคุ้นเคยได้ ก็เพราะเหตุที่ว่าผู้ชมรู้สึกได้ว่า สถานการณ์ในละครโทรทัศน์ช่างเหมือนชีวิตของพวกเขา พวกเขายังรู้สึกว่าเขาสามารถบอกได้ว่าอะไรควรเป็นอย่างไร พวกเขารู้สึกโกรธเคืององค์ดำเมื่อพระองค์มีพระชายามากกว่า ๑ พระองค์ เพราะว่าพวกเขาไม่ชอบระบบหลายเมีย และเพราะพวกเขาชอบมณีจันทร์ ผู้มีพระสิริโฉมงดงามกว่าคู่แข่งคนอื่นๆ และเป็นเพราะเธอมาก่อนใครๆ ด้วย

จะเอาใจผู้ชมที่ติดตามอย่างใกล้ชิดนั้นก็ยาก แฟนละครท่านหนึ่งที่ติดตามอย่างใกล้ชิดรู้สึกฉุนเฉียวที่มีการปลงพระชนม์พระสุพรรณกัลยา เนื่องจากองค์ดำทรงรบชนะในสงครามยุทธหัตถี และสามารถปลงพระชนม์พระมหาอุปราชของพม่าได้ และเขาก็บ่นว่า : ไม่เข้าใจว่านางเอกละครเรื่องนี้ทำไมต้องตาย กำลังดีใจว่าไทยรบชนะพม่า แต่ที่ไหนได้ต้องมาแลกกับชีวิตผู้บริสุทธิ์อีกมากมายแบบนี้ ไม่ดูดีกว่า

เนื้อเรื่องไม่ได้ดำเนินไปในทิศทางที่ผู้ชมต้องการ การสิ้นพระชนม์ของพระสุพรรณกัลยาตั้งใจจะให้หมายความถึงการเสียสละและความเป็นวีรกษัตรีย์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของตำนานเกี่ยวกับพระองค์ และจะสามารถทำให้พระองค์มีบทบาทในประวัติศาสตร์ได้ หากพระเจ้านันทบุเรงไม่ได้ปลงพระชนม์พระสุพรรณกัลยาก็จะยากลำบากที่จะใส่พระองค์ไว้เป็นส่วนหนึ่งของ "สามพี่น้อง" แต่ผู้ชมไม่อยากเสียความรู้สึก จึงนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า : ไม่ดูดีกว่า

ในการโพสต์ข้อความในกระดานเสวนา ก็มีเรื่องขี้เล่นอยู่เหมือนกัน บรรดาผู้ตอบกระทู้ต่างทราบว่าละครโทรทัศน์เรื่องนี้ ต้องการจะให้เป็นละครที่มีความจริงจังและให้เนื้อหาทางการศึกษาด้วย แต่บรรดาแฟนๆ วัยรุ่นเหล่านี้ได้ผสมผสานประวัติศาสตร์กับความสนใจส่วนตัวของตัวเอง พวกเขามองว่ามันเป็นเสมือนเกม และชอบการโต้เถียงว่ามณีจันทร์หรือมณีรัตน์ใครจะสวยกว่ากัน มีการโหวตว่าใครใจร้ายที่สุดในละครเรื่องนี้ ชอบสุโขทัยหรืออยุธยามากกว่ากัน หรือว่าพวกเขาจะทำอย่างไรหากสามารถย้อนกลับไปในอดีตได้

ตัวอย่างสุดท้ายของการผสมผสานระหว่างชาตินิยม ความสนุกออนไลน์ และความทะเล้นที่หยิบมาวิจารณ์ในที่นี้คือ มีผู้โพสต์กระทู้ในกระดานเสวนาคนหนึ่งต้องการความช่วยเหลือดังนี้ : หลังจากชมละครมหาราชกู้แผ่นดินก็เกิดความรู้สึกศรัทธาในพระนเรศวรเป็นอันมาก และตั้งใจจะไปสักการะที่จังหวัดสุพรรณบุรี จึงอยากทราบว่าปกติเขาทำอะไรไปถวายบ้าง. มีผู้ตอบกระทู้ที่ให้คำแนะนำแบบธรรมดาว่า : ที่รู้ๆ พระนเรศวรโปรดไก่ชน น่าจะนำรูปปั้นไก่ไปถวาย แต่มีอีกกระทู้หนึ่งตอบว่า เดี๋ยวพระนเรศวรเป็นหวัดนก

ชีวิตในอดีตดูเหมือนว่าจะง่ายกว่าชีวิตในปัจจุบัน ประวัติศาสตร์ของชาติคือเรื่องราวที่จริงจัง วีรกษัตริย์และวีรกษัตรีย์ที่มีความกล้าหาญและรักชาติในละครเรื่องนี้มักจะพูดคำว่า "ยอมตาย" อยู่เสมอ แต่โลกในปัจจุบันนี้ซับซ้อนเกินกว่าการฆ่าฟันศัตรูในสนามรบ หรือการยอมตายในสนามรบสำหรับคนในโลกปัจจุบันนี้ไม่ได้ช่วยเหลือประเทศชาติได้อยู่ดี แต่ประวัติศาสตร์ของชาติจากการถ่ายทอดบนหนังไม่สามารถคิดไปได้ไกลเกินกว่าคำว่า "ตาย"

ทั้งหนังเรื่องสุริโยทัย บางระจัน หรือละครโทรทัศน์เรื่องกษัตริยา ในเรื่องทวิภพ นางเอกอินเตอร์รู้สึกโดดเดี่ยวและแปลกแยกในกรุงเทพฯ ที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ไปแล้ว เธอต้องการอยู่ในอดีตที่เธอใฝ่ฝันว่าจะฆ่ากงสุลฝรั่งเศส โอบาเร่ต์ และแต่งงานกับขุนนางชั้นสูงผู้สละชีวิตในศึกปากน้ำ ในอดีตนั้นศัตรูของชาติเห็นได้ชัดเจนว่าต่างจากในปัจจุบัน ที่ไม่อาจบ่งชี้เด่นชัดว่าใครเป็นศัตรูของชาติ

หนังและละครโทรทัศน์ได้ถอยกลับเข้าสู่โลกที่ง่ายมากขึ้น และแฟนๆ ที่ชื่นชมละครเรื่องกษัตริยาที่มีมากพอจะเข้าไปมีส่วนร่วมในห้องแชทรูม และได้ปฏิบัติต่อประวัติศาสตร์ชาวบ้านนี้ราวกับว่าเป็นเพียงเกมๆ หนึ่ง ที่เขาจะสามารถพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่ชอบหรือไม่ชอบเกี่ยวกับตัวละครในประวัติศาสตร์ หรือเหตุการณ์ รวมถึงการตัดสินเรื่องราวในอดีต

ในที่นี้ประวัติศาสตร์ของชาติจึงมีความศักดิ์สิทธิ์ลดน้อยลง จนกลายเป็นสิ่งที่คุ้นเคยในหมู่ประชาชนมากขึ้น อำนาจของอดีตได้ลดน้อยถอยลงเมื่อมันได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ประสาชาวบ้าน เรียกได้ว่ากลายเป็นสิ่งบริโภคของชาวบ้านไปเท่านั้นเอง

++++++++++++++++++++++++++++++++

สนใจคลิกไปอ่านบทความที่เกี่ยวเนื่อง

 


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1200 เรื่อง หนากว่า 20000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

David Lowenthal ได้อธิบายไว้ว่า คำว่ามรดกตกทอดมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างให้อดีตเป็นสิ่งที่ถูกใจ และเป็นที่ยอมรับในรุ่นปัจจุบัน วัตถุประสงค์หลักของมรดกตกทอด "ไม่ได้ให้ประชาชนเรียนอะไรบางอย่าง, แต่ทำให้ประชาชนเปลี่ยนไปเป็นอะไรบางอย่าง" มรดกตกทอดจึงไม่ควรจะถูกมองว่าเป็นเพียงประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกต้องเท่านั้น. Lowenthal ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ประวัติศาสตร์คือมุมมองของคนในยุคหนึ่งต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกยุคสมัยหนึ่ง จากหนังสือที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขา The past is different country คนในอดีตแตกต่างจากเรา

14-04-2550

Historical Opera
Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy
and distribute verbatim copies
of this license
document, but
changing it is not allowed.