โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 21-22 March 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๑๙๕ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (March, 21,03.2007)
R

บทซ่อนเร้นว่าด้วยการใช้ไทยเป็นแหล่งกำจัดขยะของญี่ปุ่น
FTA ไทย-ญี่ปุ่น: การลดศักยภาพของแผ่นดินทองเหลือเพียงที่ทิ้งขยะ
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง : เขียน
กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม

บทความวิชาการชิ้นนี้ กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้รับมาจาก
FTA Watch โดยเนื้อหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ร่างความตกลง JTEPA ฉบับสมบูรณ์
ซึ่งประกอบไปด้วยสาระสำคัญมากมาย มีข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับการค้าและของเสียอันตรายบรรจุไว้ด้วย
ซึ่งผู้เขียนได้ยกเอาหลักฐานตารางแสดงรายละเอียดมาสนับสนุน
นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงญี่ปุ่นกับปัญหาวิกฤตขยะ และ
แผนการสร้างเครือข่ายธุรกิจรีไซเคิลขยะในเอเชีย
ซึ่งความอ่อนด้อยของไทยในการบริหารจัดการและกำกับดูแลของเสียอันตราย
ถือเป็นโอกาสทองของประเทศอุตสาหกรรมอย่างญี่ปุ่น
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๙๕
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๒.๕ หน้ากระดาษ A4)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ความเสี่ยงของสังคมไทยจากการเปิดเสรีนำเข้าของเสียอันตราย
ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น
(Japan - Thailand Economic Partnership Agreement / JTEPA)

(ฉบับปรับปรุง)

ความตกลง JTEPA กับขยะอันตราย
ของเสียอันตรายกำลังกลายเป็นเรื่องที่ถูกจับตาและมีการตั้งคำถามอย่างมาก ในท่ามกลางหลากหลายประเด็นเกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในเวลานี้

ตาม(ร่าง)ความตกลง JTEPA ฉบับสมบูรณ์ ซึ่งประกอบไปด้วยสาระสำคัญมากมาย มีข้อตกลงที่เกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับการค้าของและของเสียอันตรายบรรจุไว้ด้วย แต่การจะรู้เท่าทันความเสี่ยงหรือเพียงแค่มองเห็นประเด็นเรื่องของเสียนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เนื่องจากในร่างความตกลงฯ ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา ทว่าแอบแฝงรวมอยู่ในฐานะที่เป็นสินค้า (goods) โดยปรากฏอยู่ในบทที่ 3 ของร่างความตกลงฯ ที่กล่าวถึงกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ข้อ 28 (Chapter 3 Rules of Origin, Article 28) โดยมีรายละเอียดดังนี้

"Article 28 Originating Goods

"2. For the purposes of subparagraph 1 (a) above, the following goods shall be considered as being wholly obtained or produced entirely in a Party:

"...................

"(i) articles collected in the Party which can no longer perform their original purpose in the Party nor are capable of being restored or repaired and which are fit only for disposal or for the recovery of parts or raw materials;

"(j) scrap and waste derived from manufacturing or processing operations or from consumption in the Party and fit only for disposal or for the recovery of raw materials

"(k) parts or raw materials recovered in the Party from articles which can no longer perform their original purpose nor are capable of being restored or repaired

"(l) goods obtained or produced in the Party exclusively from the goods referred to in subparagraphs (a) through (k) above".

เนื้อความข้างต้นนี้ที่เป็นการแจกแจงถึงลักษณะของสินค้าที่จัดว่ามีแหล่งกำเนิดในประเทศภาคี ซึ่งรัฐบาลทั้งสองประเทศได้ตกลงกัน แม้ไม่มีคำว่าสิ่งปฏิกูล (garbage) กากของเสีย (waste) ของเสียอันตราย (toxic waste/hazardous waste) หรือคำใกล้เคียงอื่นใดโดยตรง ทว่าโดยความหมายก็ชัดเจนว่า สินค้าที่จัดว่ามีแหล่งกำเนิดในประเทศภาคีตามรายการ (i) ถึง (l) ตามข้อ 28 ของบทที่ 3 ของร่างความตกลงฯ นั้นไม่ใช่สินค้าในรูปแบบที่ปกติหรือสมบูรณ์

เมื่อนำนิยามข้างต้นมาเปรียบเทียบกับพิกัดศุลกากรของสินค้านำเข้า-ส่งออก และ "คำจำกัดความของสินค้า" ที่ประเทศภาคีจะต้องเปิดเสรีการค้าให้แก่กันตามที่ปรากฏอยู่ในตาราง Schedule of Thailand (Annex 1 : Trade in goods > Schedule of Thailand) ซึ่งมีการจัดเรียงลำดับตามตัวเลขพิกัดศุลกากร 4 หลัก และ 6 หลัก พบว่าพิกัดศุลกากรที่เข้าข่ายรายการสินค้าตามรายการ (i) ถึง (l) ตามข้อ 28 ของบทที่ 3 ของร่างความตกลงฯ นั้น มีจำนวนมากมายหลายประเภท เฉพาะรายการที่เข้าข่ายเป็นกากของเสียอันตรายก็มีจำนวนไม่น้อย

ตัวอย่างรายการดังกล่าวดังแสดงในตางรางข้างล่างนี้
โดยได้ค้นคว้าขยายผลเพิ่มเติมในระดับตัวเลขพิกัดศุลกากรจำนวน 10 หลัก หรือ "พิกัดรหัสสถิติ" ไว้ด้วย

รายการของเสียข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งพอจะมองเห็นได้ชัดว่าเป็นของเสียที่มีอันตราย นอกจากนั้นยังมีขยะหรือของเสียทั่วไป รวมถึงรายการประเภทที่ไม่ได้ชี้ชัด (อื่นๆ) หรือเพียงแค่ในส่วนของชิ้นส่วนจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้แล้ว (ข้อ 2 (k)) ก็มีพิกัดที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก

ตามร่างข้อตกลงได้เปิดเสรีให้มีการค้าขายของเสีย ทั้งที่ไม่อันตรายและอันตรายเหล่านี้ จริงอยู่ว่า ของเสียเหล่านี้อาจถูกนำเข้าหรือส่งออกจากประเทศญี่ปุ่นสู่ประเทศไทย เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตก็เป็นได้ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาสถานการณ์จากทั้ง 2 ด้านคือ สถานการณ์ด้านความตีบตันในการจัดการปัญหาของเสียของประเทศญี่ปุ่น กับสถานการณ์ความอ่อนด้อย หละหลวมในการจัดการและควบคุมปัญหาของเสีย โดยเฉพาะของเสียอันตรายของประเทศไทย จะพบว่า มีความเสี่ยงสูงอย่างยิ่งที่ไทยจะกลายเป็นถังขยะ หรือแหล่งลงทุนของธุรกิจกำจัดหรือแปรรูปขยะของญี่ปุ่นอีกแห่งหนึ่ง

ญี่ปุ่นกับปัญหาวิกฤตขยะ
ประเทศญี่ปุ?นกำลังประสบปัญหาวิกฤตการณ์จากการมีขยะล้นประเทศที่เกิดจากการผลิตในภาคต่างๆ และการขยายตัวของการบริโภค ทำให้รัฐบาลต้องหาวิธีการในการลดปริมาณขยะและสร้างธุรกิจการแปรรูปขยะเพื่อหมุนเวียนขยะกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการกำจัดขยะด้วยวิธีการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ

อย่างไรก็ดี แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นพยายามแก้ปัญหานี้ แต่นับจากปี 2537 - 2546 ปริมาณขยะในประเทศไม่ได้ลดลงเลย ปริมาณขยะทั่วประเทศยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ ขยะชุมชนจากพื้นที่ต่าง ๆ เฉลี่ยมีปริมาณสูงเกิน 50 ล้านตันต่อปี หรือมีการผลิตขยะเฉลี่ยเกิน 1 กก. ต่อคนต่อวัน ขณะที่ขยะอุตสาหกรรมจะสูงเกิน 400 ล?านตันต?อป?

ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะของญี่ปุ่นเริ่มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก นับตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการกำจัดขยะสูงถึง 2 ล้านล้านเยน เฉลี่ยแล้วคนญี่ปุ่นจะต้องเสียค่ากำจัดขยะประมาณ 15,000 - 20,000 เยนต่อคนต่อปี

ด้วยปริมาณขยะที่เพิ่มจำนวนมหาศาลในแต่ละปี แต่ญี่ปุ่นขาดแคลนพื้นที่สำหรับการสร้างหลุมฝังกลบอย่างยิ่ง ดังนั้นการกำจัดขยะของญี่ปุ่นจึงนิยมใช้วิธีการเผา ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีเตาเผาขยะมากที่สุดในโลก เฉลี่ยแล้วประเทศญี่ปุ่นจะใช้วิธีกำจัดด้วยการเผาประมาณร้อยละ 78 แต่สำหรับเทศบาลบางแห่งของญี่ปุ่นใช้วิธีการกำจัดขยะด้วยการเผาสูงถึงร้อยละ 98 มีโรงเผาขยะชุมชนประมาณ 1,850 โรง โรงเผาขยะอุตสาหกรรมประมาณ 10,000 โรง ทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีปัญหาการสะสมตัวของสารพิษในอากาศ โดยเฉพาะไดออกซิน ที่เกิดจากการเผาขยะเป็นอันดับหนึ่งของโลก เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศต่างๆ อย่างในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย

ปัญหาวิกฤตด้านขยะของญี่ปุ่นเกิดขึ้นหลายแห่งทั่วประเทศ นาโกยาเป็นหนึ่งในตัวอย่างรูปธรรมที่ชัดเจน โดยในปี 2541 รัฐบาลเมืองนาโกยาประกาศแผนฉุกเฉินในการแก้ปัญหาขยะชุมชนขึ้นมา เนื่องจากปีนั้นมีขยะมากถึง 1.2 ล้านตัน และรัฐบาลไม่สามารถหาพื้นที่สร้างหลุมฝังกลบในแถบอ่าวนาโกยาได้อีก แผนการแก้ปัญหานี้ทำให้ปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดทิ้งค่อยๆ ลดลง แต่ปริมาณขยะที่รอการแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่เพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งกลายเป็นปัญหาแบบใหม่คือ รัฐบาลต้องทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลลงไปในระบบการเก็บรวบรวมขยะ และการสร้างคลังเก็บขยะเพื่อรอการแปรรูป

ด้วยสภาพปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ญี่ปุ่นออกกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องขยะที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะซึ่งแพงมากตามกฎหมายที่บังคับใช้ และการส่งเสริมให้ใช้วิธีกำจัดขยะจำพวกพลาสติกด้วยวิธีการเผาเพื่อต้องการลดพื้นที่ในการฝังกลบ

อย่างไรก็ดี นโยบายภายในประเทศนี้ทำให้เกิดกรณีการประท้วงคัดค้านและการฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับขยะจากประชาชนญี่ปุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะการฟ้องร้องเพื่อคัดค้านการสร้างเตาเผาขยะและการสร้างหลุมฝังกลบขยะที่จะสร้างใกล้พื้นที่ของชุมชน เช่น การฟ้องร้องคดีกรณีการสร้างเตาเผาขยะที่มีผลกระทบต่อทะเลสาบฟูจิมิ และการฟ้องคดีการสร้างหลุมฝังกลบขยะในเมืองยามาดะ จังหวัดฟูกูโอกะ เป็นต้น

การเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นเพื่อเปิดเสรีการค้าขยะอันตราย
การผลักดันผ่านกลไกการค้าเสรี
นอกจากความพยายามแก้ไขปัญหาขยะด้วยการปรับปรุงนโยบาย, การออกกฎหมาย, และมาตรการควบคุมเกี่ยวกับการจัดการขยะต่างๆ ภายในประเทศแล้ว ญี่ปุ่นยังได้เคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบผ่านกลไกการค้าเสรีและการลงทุนระหว่างประเทศ เพื่อสร้างช่องทางในการแก้วิกฤตการณ์ขยะในประเทศ

ก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนเปิดเสรีการค้าในระดับทวิภาคีไปแล้ว โดยล่าสุดได้ลงนามกับฟิลิปปินส์ในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับญี่ปุ่น หรือที่รู้จักกันดีในนาม JPEPA เมื่อเดือนกันยายน 2549 ที่ประเทศฟินแลนด์. ในความตกลงนั้น ก็มีเนื้อหาสาระเพื่อเปิดเสรีการค้าขยะและขยะอันตรายเช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นกำลังดำเนินการกับประเทศไทยอยู่ รัฐบาลทั้งของญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ต่างยืนยันว่า การรวมเรื่องขยะเข้าไปเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเทคนิคการเจรจา และจะไม่ส่งผลกระทบต่ออนุสัญญาบาเซล ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด (เรียกสั้น ๆ ว่า อนุสัญญาบาเซล) และกฎหมายภายในของฟิลิปปินส์

อนุสัญญาบาเซลมีจุดมุ่งหมายให้ประเทศสมาชิกลดการเคลื่อนย้ายขยะข้ามประเทศ และเน้นให้แต่ละประเทศกำจัดขยะของตนเอง ไม่ใช่การผลักภาระแก่ประเทศอื่น ทั้งนี้เพื่อปกป้องประเทศกำลังพัฒนาในทวีปต่างๆ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการระบายขยะและของเสียอันตรายจากลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งมีกฎหมายควบคุมมลพิษและสิ่งแวดล้อมเข้มแข็งกว่า แต่ประสบปัญหาวิกฤตการณ์ขยะที่พุ่งสูงขึ้นอย่างน่าวิตก จากอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้สารอันตรายจำนวนมาก และกิจกรรมการบริโภคที่เน้นความสะดวกสบาย และมีอัตราการขยายตัวที่เข้มข้นมาก

การคัดค้าน Basel Ban Amendment
แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา ข้อบัญญัติในอนุสัญญาบาเซลไม่สามารถพัฒนาไปถึงขั้นของการห้ามการค้าขายขยะ ระหว่าง"ประเทศอุตสาหกรรม"และ"ประเทศกำลังพัฒนา"ก็ตาม เพราะไม่สามารถฝ่าแรงกดดันของกลุ่มชาติอุตสาหกรรมที่คัดค้านข้อบัญญัติดังกล่าวได้ อย่างไรก็ดี ในทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีความพยายามรอบใหม่ที่จะผลักดันให้อนุสัญญาบาเซลมีผลไปถึงการห้ามไม่ให้มีการค้าขายขยะ และเคลื่อนย้ายขยะข้ามพรมแดน ด้วยการแก้ไขอนุสัญญาบาเซล หรือที่เรียกว่า สัตยาบันสารการห้ามการขนส่งขยะอันตราย (Basel Ban Amendment) โดยมีสาระสำคัญคือ การห้ามการขนส่งขยะอันตรายย้ายข้ามประเทศ ซึ่งประเทศที่ให้สัตยาบันต้องปฏิบัติตามข้อบัญญัตินี้

ในปี 2538 ญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศที่เข้าร่วมการประชุมได้ลงฉันทามติเห็นชอบให้มีการแก้ไขอนุสัญญาบาเซล โดยจะห้ามการส่งออกของเสียอันตรายทุกชนิดไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ แต่ปรากฏว่าญี่ปุ่นและชาติอุตสาหกรรมอีกบางประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและแคนาดา กลับเคลื่อนไหวคัดค้านเรื่องนี้ และในที่สุดกลุ่มประเทศนี้ รวมถึง เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, และนิวซีแลนด์ ก็ปฏิเสธที่จะลงนามใน Basel Ban Amendment

จริงอยู่ว่าญี่ปุ่นไม่ได้บอกชัดเจนว่า จะไม่ส่งขยะอันตรายไปยังประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในสัตยาบันสารการห้ามขนส่งและพันธกรณีทั่วไปในอนุสัญญาบาเซล และเมื่อมีการลงนามในข้อตกลงเรื่องการค้าเสรีแล้ว ขยะและขยะอันตรายทั้งหลายจะมีสถานะกลายเป็น "สินค้า" ประเภทหนึ่งไปโดยทันที ซึ่งสามารถค้า-ขาย หรือนำเข้า-ส่งออกได้โดยเสรีตามข้อตกลงของประเทศภาคีนั้น ญี่ปุ่นจึงอยู่ในฐานะที่จะเรียกร้องให้ภาคีของตน "ต้องอนุญาต" ให้มีการนำเข้า "สินค้า" เหล่านี้ได้โดยชอบธรรม

แผนการสร้างเครือข่ายธุรกิจรีไซเคิลขยะในเอเชีย
ก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นได้ทำการศึกษาวิจัยถึงแนวโน้ม ข้อดี-ข้อเสียของการลงทุนในธุรกิจขยะรีไซเคิลในหลายประเทศในเอเชีย เมื่อไม่นานนี้สถาบันเพื่อยุทธศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อมระดับโลก (Institute for Global Environmental Strategies / IGES) ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้เผยแพร่รายงานการศึกษาทางนโยบายชุดหนึ่งชื่อ "การสร้างเครือข่ายเขตรีไซเคิลระหว่างประเทศในเอเชีย" (Networking International Recycling Zones in Asia) ส่วนหนึ่งรายงานนี้ระบุว่า

"…นโยบายที่เราเสนอขึ้นมาจะสนับสนุนให้เกิดตลาดข้ามพรมแดนสำหรับขยะรีไซเคิล ซึ่งจะดีต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

…ประเทศที่เข้าร่วมจะต้องจัดตั้งเขตรีไซเคิลระหว่างประเทศซึ่งประกอบด้วยท่าเรือและพื้นที่ทางอุตสาหกรรมที่กำหนดขึ้นมา ท่าเรือที่ว่านี้จะอำนวยความสะดวกในการค้าขยะรีไซเคิลระหว่างประเทศ โดยมีข้อแม้ว่าต้องเป็นการค้าขายระหว่างบริษัทที่ได้รับใบประกาศ

…กำแพงการค้า อย่างเช่น อัตราภาษีที่สูงขึ้น หรือกำแพงการค้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษีสำหรับขยะรีไซเคิลได้จำกัดการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบระหว่างประเทศ และขัดขวางโอกาสการพัฒนาทางเทคโนโลยีในการเปลี่ยนขยะให้เป็นขยะรีไซเคิล นโยบายที่เสนอขึ้นนี้จะจัดการกับกำแพงเหล่านี้แก่บริษัทที่ได้รับใบประกาศในพื้นที่ที่กำหนด

…จำเป็นต้องมีข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อให้นโยบายนี้ได้รับการปฏิบัติ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพีธีการศุลกากร การให้การปฏิบัติอย่างเหมาะสม และกำจัดขยะรีไซเคิลจะต้องได้รับความเห็นชอบและการลงนามร่วมกันโดยประเทศที่เข้าร่วม เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว เครือข่ายของเขตรีไซเคิลระหว่างประเทศก็จะเกิดขึ้น

…ข้อดีประการหนึ่งของนโยบายที่นำเสนอนี้คือ สามารถนำไปปฏิบัติเป็นโครงการนำร่องร่วมกับบางประเทศหรือบางภูมิภาคได้ก่อน นี่จะเป็นก้าวแรกสำหรับการทำข้อตกลงในอนาคตและเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายที่นำเสนอ

…ตั้งแต่ปี 2542/43 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประสบกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเขตการค้าเสรีระดับทวิภาคี และระดับภูมิภาค (FTA) จึงคาดการณ์ว่าบนฐานของความเคลื่อนไหวปัจจุบันในเรื่องข้อตกลงเขตการค้าเสรีทวิภาคีและภูมิภาคนั้น ประชาคมเอเชียตะวันออก (East Asia Community) จะถูกจัดขึ้นในอนาคตอันไม่ไกล การรวมเรื่องการขยายตลาดขยะรีไซเคิลข้ามพรมแดนในการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้

…มาตรการในการสนับสนุนการค้าขยะรีไซเคิลและสินค้าที่นำมาผลิตใหม่สามารถจะนำเข้าไปรวมกับเอฟทีเอบางเอฟทีเอได้ ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของมาตรการนั้น ๆ ซึ่งได้มีการทดลองใช้กับท่าเรือไม่กี่ท่าเรือที่กำหนดขึ้น"

จะเห็นได้ว่า เนื้อหาในรายงานชุดนี้กำลังเกิดขึ้นในความตกลงเรื่องการค้าเสรี หรือเอฟทีเอและกำลังมุ่งไปสู่ทิศทางเดียวกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำจัดกำแพงการค้า การยกระดับขยะชนิดต่างๆ ให้เป็น "สินค้า" ประเภทต่างๆ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นทำกับประเทศต่างๆ จึงเป็นก้าวย่างทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของญี่ปุ่นในการแก้ไขปัญหาของตน และการสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจโลกในธุรกิจตัวใหม่อย่างชาญฉลาด

ยุทธศาสตร์นี้สอดคล้องกับการปรับปรุงนโยบายและการแก้ไขกฎหมายในประเทศ ที่ดำเนินการไปล่วงหน้าก่อนหน้านี้แล้ว นั่นคือ การส่งเสริมนโยบายแนวคิด 3 R คือ ลด (reduce) นำกลับมาใช้ใหม่ (re-use) และรีไซเคิล (recycle) และนโยบายของญี่ปุ่นที่ต้องการสร้างตลาดในภูมิภาคเอเชียสำหรับขยะรีไซเคิล รวมทั้งขยะอันตราย

การจัดตั้งตลาดรีไซเคิลในเอเชียจะทำให้ญี่ปุ่นหลุดพ้นจากความเสี่ยง ภาระต่างๆ และปัญหาในการกำจัดขยะโดยเฉพาะขยะอันตรายในประเทศของตน ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็สามารถขายเทคโนโลยีไปยังประเทศกำลังพัฒนา เพื่อใช้กำจัดขยะที่มาจากประเทศของตนได้อีกต่อหนึ่ง

ความอ่อนด้อยของไทยในการบริหารจัดการและกำกับดูแลของเสียอันตราย
พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เป็นกฎหมายหลักที่ควบคุมดูแลเรื่องสิ่งของมีอันตรายทั้งหลาย ทั้งนี้รวมถึงของเสียอันตรายด้วย แม้ข้อบัญญัติตามกฎหมายดังกล่าวค่อนข้างมีความครอบคลุม แต่ในระดับของกฎหมายลูกที่เป็นกลไกในการปฏิบัติการจริงนั้น ยังคงมีจุดพร่องและความหละหลวมอยู่มาก ขณะที่กลไกการประสานงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจความรับผิดชอบตามกฎหมายนี้ก็ยังคงไม่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ถึงแม้ว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้มาเกือบ 15 ปีแล้วก็ตาม

ระบบการควบคุมตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย กำหนดตามชนิดวัตถุอันตราย กล่าวคือ
- วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 กำหนดให้ต้องแจ้งข้อมูล
- วัตถุอันตรายชนิดที่ 2 กำหนดให้ต้องขึ้นทะเบียนและแจ้งดำเนินการ
- วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 กำหนดให้ต้องขึ้นทะเบียนและขออนุญาต และ
- วัตถุอันตรายชนิดที่ 4 กำหนดห้ามประกอบการใดๆ

วัตถุอันตรายรายการใดจะเข้าข่ายได้รับควบคุมในระดับใดต้องมีการประกาศจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายกำหนดให้เป็นรายการตามชนิด 1, 2, 3 และ 4 ดังกล่าว ส่วนที่ไม่ได้ประกาศ แม้ในข้อเท็จจริงจะมีอันตรายก็ไม่มีการควบคุม สำหรับลักษณะการควบคุมตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย จะครอบคลุมทั้งกิจกรรมนำเข้า-ส่งออก, ครอบครอง, ใช้, และผลิต

ในส่วนของเรื่องการนำเข้าและส่งออกของเสียอันตราย จะมีการควบคุมตามอนุสัญญาบาเซลร่วมด้วย ซึ่งมีลักษณะการควบคุมสอดคล้องกับ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย. กรมโรงงานอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบได้ออกประกาศรายการของเสียอันตรายเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ควบคุมตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ไว้ในประกาศเรื่อง "บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย" ในส่วนบัญชี ข

ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งชิ้นส่วนที่ไม่ใช้แล้ว กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เช่นกัน ในการออกประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง "เงื่อนไขในการอนุญาตให้นำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว ที่เป็นวัตถุอันตรายเข้ามาในราชอาณาจักร" โดยประกาศให้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 29 รายการ รวมทั้งชิ้นส่วนอุปกรณ์หรือส่วนประกอบอีก 28 รายการ จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ด้วย. นอกจากนี้ยังมีประกาศควบคุมของเสียที่นำเข้ามาในประเทศชนิดต่างๆ ภายใต้มาตรการที่เข้มงวดแตกต่างกัน

อย่างไรก็ดี ในการติดตามตรวจสอบและควบคุมวัตถุอันตรายที่มีการนำเข้า ทั้งที่เป็นวัตถุอันตรายและของเสียอันตราย ยังคงมีข้อจำกัด เช่น ในส่วนของกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่มีมาตรการทางปฏิบัติชัดเจนที่สุด แม้มีข้อบังคับให้ผู้นำเข้าต้องแจ้งข้อเท็จจริงการนำเข้าวัตถุอันตรายชนิดที่ 1, 2 และ 3 แต่การติดตามหลังจากการนำเข้ากระทำเพียง 53 รายการเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง "การให้แจ้งข้อเท็จจริงของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ พ.ศ. 2547"

ดังนั้นกล่าวได้ว่า ระบบการควบคุมดูแลของเสียอันตรายของประเทศไทยยังคงไม่มีหน่วยงานที่ดูแลในภาพรวมอย่างครบวงจร หน่วยงานที่มีกลไกและมาตรการติดตาม ตรวจสอบ และควบคุมของเสียอันตรายอย่างเป็นระบบในปัจจุบันคือ "กรมโรงงานอุตสาหกรรม" ในส่วนนี้แม้จะมีระบบและกลไกการติดตามอย่างต่อเนื่อง แต่ก็จำกัดอยู่ที่การควบคุมของเสียที่มีแหล่งกำเนิดจากโรงงานอุตสาหกรรมภายในประเทศเท่านั้น

ภายใต้ระบบดังกล่าวนี้จึงมีประเด็นปัญหาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเปิดเสรีนำเข้าขยะอันตรายภายใต้ความตกลง JTEPA โดยตรงก็คือ

1) หากมีการนำเข้าวัตถุอันตรายทางอุตสาหกรรม ระบบการควบคุมของไทยจะสามารถทราบเฉพาะรายการวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ชนิดที่ 2 และชนิดที่ 3 ที่อยู่ในความดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น นอกนั้นจะไม่มีข้อมูล

2) แม้แต่รายการที่มีข้อมูลตามข้อ 1 ก็จะจำกัดอยู่เฉพาะข้อมูลการนำเข้าเท่านั้น ไม่มีระบบที่จะติดตามต่อในเส้นทางหลังจากนั้น ยกเว้นประเภทที่อยู่ใน 53 รายการ. อย่างไรก็ดี วัตถุอันตรายทางอุตสาหกรรมที่มีการควบคุม 53 รายการดังกล่าวล้วนแต่เป็นเคมีภัณฑ์ จึงไม่ใช่การควบคุมเรื่องของเสียอันตรายโดยตรง

3) การควบคุมดูแลของเสียอุตสาหกรรมในปัจจุบันเน้นที่การดูแลของเสียที่ผลิตจากโรงงานในประเทศ จึงยังมีช่องว่างของกฎข้อบังคับกรณีของเสียนำเข้า เช่น ในกรณีของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจนำเข้า-ส่งออกโดยไม่มีการผลิต หรือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจจัดเก็บ ย่อมจะไม่จัดเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ไม่ถูกบังคับตาม พ.ร.บ. โรงงาน ซึ่งเป็นกฎหมายหลักในการดูแลเรื่องของเสียจากอุตสาหกรรมของไทยในปัจจุบัน

ตัวอย่างสถานการณ์การนำเข้าของเสียช่วง พ.ศ. 2545 - 2549
ของเสียที่น่าจะเข้าข่ายรายการสินค้าตามข้อตกลง JTEPA ที่ประเทศญี่ปุ่นต้องการส่งออกคือของเสียประเภทขี้เถ้าจากเตาเผาของเสียทั้งจากอุตสาหกรรมและชุมชน ซึ่งจะตรงกับพิกัดศุลกากรที่ 2621 จากการค้นดูสถิติการนำเข้าที่ผ่านมาของพิกัดนี้พบมีการนำเข้ามายังประเทศไทย ดังตาราง

จากตัวอย่างดังกล่าวมีข้อสังเกตที่น่าสนใจดังนี้

1) จะเห็นว่ามีการนำเข้าขี้แร่และเถ้าชนิดที่ไม่ระบุประเภท (อื่นๆ) จากญี่ปุ่นในช่วงปี 2546- 2549 ประมาณ 300 ล้านกิโลกรัมต่อปี หรือประมาณ 300,000 ตัน สำหรับขี้เถ้าพิกัดนี้ มีสิ่งที่ต้องพิจารณาคือ

1.1 ขี้เถ้าในพิกัดนี้เป็นวัตถุอันตรายภายใต้ พ.ร.บ. โรงงานหรือไม่ เนื่องจากรายการในบัญชีวัตถุอันตรายแตกต่างจากรายชื่อพิกัด จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตรวจสอบ

1.2 แม้ขี้เถ้ามีสมบัติความเป็นอันตราย แต่หากไม่ถูกประกาศเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ก็จะไม่เข้าสู่การขึ้นทะเบียนขออนุญาต ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย หรือต่อให้ได้รับการประกาศเป็นวัตถุอันตรายแล้ว แต่ถ้าหากหน่วยงานควบคุมไม่แจ้งต่อกรมศุลกากร ก็จะไม่มีการตรวจสอบและติดตามที่จุดนำเข้าเช่นกัน

1.3 ในกรณีที่สินค้ารายการดังกล่าวได้รับการประกาศเป็นวัตถุอันตรายแล้ว และหน่วยงานควบคุมแจ้งต่อกรมศุลกากร ทำให้มีการตรวจสอบและติดตามการนำเข้า แต่ก็จะไม่มีการติดตามต่อ หลังจากนั้นว่ามีการขนส่งไปยังที่แห่งใด เพื่อการใด เนื่องจากสินค้ารายการนี้ไม่ได้อยู่ในรายการที่บังคับให้ต้องรายงานการครอบครอง

2) ในกรณีของประเทศออสเตรเลียจะเห็นได้ว่า ปริมาณการนำเข้าขี้แร่และเถ้าชนิดที่ไม่ระบุประเภท (อื่นๆ) นั้นมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วง 2 - 3 ปีหลังนี้ ซึ่งยังคงไม่มีการศึกษาวิเคราะห์ว่ามีความสัมพันธ์ประการใดกับการทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ออสเตรเลียหรือไม่

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการชิ้นนี้ กองบรรณาธิการ ม.เที่ยงคืนได้รับมาจาก
FTA Watch โดยเนื้อหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับ
ข้อตกลงการค้าและของเสียอันตราย ระหว่างญี่ปุ่นกับฟิลิปปินส์
นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงญี่ปุ่นกับปัญหาวิกฤตขยะ และ
แผนการสร้างเครือข่ายธุรกิจรีไซเคิลขยะในเอเชีย
(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๙๖
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๖.๕ หน้ากระดาษ A4)

แผนการเปิดเสรีขยะอันตรายของญี่ปุ่น: บทเรียนจากฟิลิปปินส์
เรียบเรียงโดย FTA Watch

"เรามีมาตรการปกป้องที่เพียงพอต่อขยะอันตราย …หนึ่งในรายการสินค้าที่เรารวม [อยู่ในข้อตกลง] คือ สิ่งที่เราเรียกว่า ขยะพิษอันตราย …ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องอนุญาตให้พวกเขาส่งขยะมาที่เรา มัน [ส่วนที่ว่าด้วยขยะ] ไม่ได้มีความหมายอะไรเลย"
ปีเตอร์ ฟาวิลา: เลขาธิการการค้าของฟิลิปปินส์

"รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดให้มีกรอบทางกฎหมายซึ่งอยู่บนพื้นฐานของอนุสัญญาบาเซล และได้มีการบังคับควบคุมการนำเข้าส่งออกอย่างเข้มงวด ซึ่งไม่อนุญาตให้มีการส่งออกขยะที่เป็นพิษและอันตรายไปยังประเทศอื่น รวมถึงฟิลิปปินส์ ยกเว้นว่ารัฐบาลของประเทศนั้นๆ จะอนุญาต"
ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ของสถานทูตญี่ปุ่นในฟิลิปปินส์

ฟิลิปปินส์ได้ลงนามในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับญี่ปุ่น หรือเป็นที่รู้จักกันดีในนาม JPEPA เมื่อเดือนกันยายน 2549 ที่ประเทศฟินแลนด์ ในความตกลงนั้น มีเนื้อหาสาระในการลดภาษีระหว่างกันในสินค้าจำนวนมาก ซึ่งรวมถึง

(i) สิ่งของรวบรวมจากประเทศภาคี ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ตามจุดประสงค์ดั้งเดิมได้ในประเทศของตน หรือไม่สามารถนำมาซ่อมได้ และที่เหมาะสำหรับการนำไปทำลายหรือนำวัตถุหรือชิ้นส่วนมาใช้ใหม่เท่านั้น

(j) ซากหรือขยะจากกระบวนการอุตสาหกรรมหรือจากการบริโภคในประเทศภาคี และที่เหมาะสำหรับการนำไปทำลายหรือนำวัตถุหรือชิ้นส่วนมาใช้ใหม่เท่านั้น

(k) ชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบที่ได้จากสิ่งของในประเทศภาคี ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ตามจุดประสงค์ดั้งเดิมได้ในประเทศของตน หรือไม่สามารถนำมาซ่อมได้"

ในทางปฏิบัติ 3 รายการข้างต้นนั้น หมายถึงขยะนั่นเอง, ซึ่งรวมถึงขยะที่เป็นพิษและอันตรายจากกระบวนการอุตสาหกรรมและการบริโภคด้วย เมื่อมีเสียงตั้งคำถามและคัดค้านจากภาคประชาสังคมถึงผลกระทบ รัฐบาลของทั้งสองประเทศยืนยันว่า การรวมเรื่องขยะเข้าไปเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเทคนิคการเจรจา และจะไม่ส่งผลกระทบต่ออนุสัญญาบาเซล ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด (เรียกสั้นๆ ว่าอนุสัญญาบาเซล) และกฎหมายภายในของฟิลิปปินส์

อนุสัญญาบาเซล มุ่งหมายให้ประเทศสมาชิกลดการเคลื่อนย้ายขยะข้ามพรมแดนระหว่างกันให้ได้มากที่สุด อนุสัญญาบาเซล มีขึ้นเพื่อปกป้องประเทศกำลังพัฒนาไม่ให้เป็นที่รองรับขยะและของเสียจากประเทศพัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตาม อนุสัญญาบาเซลโดยตัวของมันเองไม่ได้มีเนื้อหาห้ามการค้าขายขยะระหว่างประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา แต่ไม่สนับสนุน การห้ามไม่ให้มีการค้าขายขยะและเคลื่อนย้ายขยะถูกกำหนดไว้ชัดเจนในสัตยาบันสารการห้ามขนส่ง (Basel Ban Amendment) ซึ่งประเทศที่ให้สัตยาบันต้องปฏิบัติตาม

ในปี 2538 ทั้งญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ และประเทศอื่นๆที่เข้าร่วมได้ลงฉันทามติเห็นชอบให้มีการแก้ไขอนุสัญญาบาเซลโดยจะห้ามการส่งออกของเสียอันตรายทุกชนิด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ จากประเทศสมาชิกกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD ซึ่งญี่ปุ่นเป็นสมาชิก) ไปยังประเทศอื่นๆ แต่สุดท้าย ญี่ปุ่นและประเทศพัฒนาแล้วอีกหลายประเทศ (รวมถึง สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ แคนาดา ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์) ก็ปฏิเสธที่จะลงนาม

ประเด็นสำคัญคือ ญี่ปุ่นไม่ได้บอกชัดเจนว่าจะไม่ส่งขยะอันตรายไปยังฟิลิปปินส์และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในสัตยาบันสารการห้ามขนส่งและพันธะกรณีทั่วไปในอนุสัญญาบาเซล และเมื่อมีเอฟทีเอ. ญี่ปุ่นก็อยู่ในฐานะที่จะเรียกร้องให้ภาคีของตน "ต้องอนุญาต" ให้มีการนำเข้า

รายงานนี้ต้องการจะแสดงให้เห็นว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงวิธีการทางเทคนิคในการเจรจาเท่านั้นอย่างที่เจ้าหน้าที่รัฐพยายามบอก แท้จริงแล้ว การรวมขยะเข้าไว้ในเอฟทีเอ.จะสร้างกรอบทางกฎหมายชั้นดีในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ใหญ่ของญี่ปุ่น ที่จะแปลงขยะให้เป็นสินค้าที่เคลื่อนย้ายได้โดยเสรี โดยที่พันธะกรณีตามอนุสัญญาบาเซลไม่ได้มีความสำคัญอีกต่อไป

ญี่ปุ่นกับแผนการสร้างเครือข่ายรีไซเคิลระหว่างประเทศในเอเชีย
สถาบันเพื่อยุทธศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อมระดับโลก (Institute for Global Environmental Strategies- IGES) ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกเอกสารทางนโยบายชิ้นหนึ่งชื่อ "สร้างเครือข่ายเขตรีไซเคิลระหว่างประเทศในเอเชีย" (Networking International Recycling Zones in Asia) ส่วนหนึ่งรายงานนี้ระบุว่า

"…นโยบายที่เราเสนอจะสนับสนุนให้เกิดตลาดข้ามพรมแดนสำหรับขยะรีไซเคิลซึ่งดีสำหรับเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

…ประเทศที่เข้าร่วมจะต้องจัดตั้งเขตรีไซเคิลระหว่างประเทศซึ่งประกอบด้วยท่าเรือและพื้นที่ทางอุตสาหกรรมที่กำหนดขึ้น ท่าเรือที่กำหนดจะอำนวยความสะดวกในการค้าขยะรีไซเคิลระหว่างประเทศ โดยมีข้อแม้ว่าต้องเป็นการค้าขายระหว่างบริษัทที่ได้รับใบประกาศ

…กำแพงอย่างเช่น อัตราภาษีที่สูงขึ้นหรือกำแพงที่ไม่ใช่ภาษีสำหรับขยะรีไซเคิลได้จำกัดการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบระหว่างประเทศ และขัดขวางโอกาสการพัฒนาทางเทคโนโลยีในการเปลี่ยนขยะให้เป็นขยะรีไซเคิล นโยบายที่เสนอขึ้นนี้จะจัดการกับกำแพงเหล่านี้สำหรับบริษัทที่ได้รับใบประกาศในพื้นที่ที่กำหนด

…จำเป็นต้องมีข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อให้นโยบายนี้ได้รับการปฏิบัติ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพีธีการศุลกากร การให้การปฏิบัติอย่างเหมาะสม และกำจัดขยะรีไซเคิลจะต้องได้รับความเห็นชอบ และลงนามร่วมกันโดยประเทศที่เข้าร่วม เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว เครือข่ายของเขตรีไซเคิลระหว่างประเทศก็จะเกิดขึ้น

…ข้อดีประการหนึ่งของนโยบายที่นำเสนอนี้คือว่ามันสามารถนำไปปฏิบัติเป็นโครงการนำร่องร่วมกับบางประเทศหรือบางภูมิภาคได้ก่อน นี่จะเป็นก้าวแรกสำหรับการทำข้อตกลงในอนาคตและเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายที่นำเสนอ

…ตั้งแต่ปี 2542/43 ภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ได้ประสบกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเขตการค้าเสรีระดับทวิภาคี และภูมิภาค (FTA) คาดการณ์ว่าบนฐานของความเคลื่อนไหวปัจจุบันในเรื่องข้อตกลงเขตการค้าเสรีทวิภาคีและภูมิภาคนั้น ประชาคมเอเชียตะวันออก (East Asia Community) จะถูกจัดขึ้นในอนาคตอันไม่ไกล การรวมเรื่องการขยายตลาดขยะรีไซเคิลข้ามพรมแดนในการเปิดเสรีการค้า และการลงทุนในภูมิภาคเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้

…มาตรการในการสนับสนุนการค้าขยะรีไซเคิลและสินค้าที่นำมาผลิตใหม่ สามารถจะนำเข้าไปรวมกับ เอฟทีเอ.บาง เอฟทีเอ.ได้ ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของมาตรการนั้นๆ ซึ่งได้มีการทดลองใช้กับท่าเรือไม่กี่ท่าเรือที่กำหนดขึ้น"

จะเห็นได้ว่า เนื้อหาในเอกสารกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเอฟทีเอ. นั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การกำจัดกำแพงการค้าและเอฟทีเอ.ระหว่างญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์จึงเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ใหญ่นี้ ขั้นต่อไปจึงเป็นการขจัดกำแพงที่ไม่ใช่ภาษี นั่นคือ กฎระเบียบที่ว่าด้วยการควบคุมและห้ามขยะอันตราย

"ปัจจุบัน การนำเข้าและส่งออกขยะอันตรายถูกควบคุมโดยอนุสัญญาบาเซล (2532) กระบวนการนำเข้าและส่งออกปัจจุบันต้องมีการขออนุญาตจากทุกประเทศ… กระบวนการที่ยุ่งยากนี้ได้ก่อตัวเป็นกำแพงขวางการค้าระหว่างประเทศในขยะรีไซเคิล ด้วยนโยบายที่นำเสนอนี้ กระบวนการอนุญาตที่จะมีขึ้นในเขตรีไซเคิลระหว่างประเทศที่กำหนดขึ้นจะถูกปรับปรุง และลดความล่าช้าในการจัดการ"

สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ การขยายตลาดข้ามพรมแดนสำหรับขยะรีไซเคิลและการเปิดเสรีขยะอันตราย ซึ่งถูกปฏิบัติให้เหมือนกับเป็นสินค้าปกติทั่วไป

จัดตั้งตลาดขยะรีไซเคิล
ญี่ปุ่นต้องการสร้างให้มีตลาดภูมิภาคสำหรับขยะรีไซเคิล ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ สินค้าและวัตถุดิบสำหรับการรีไซเคิลก็คือ "ขยะ" ดีๆ นั่นเอง ญี่ปุ่นนำเสนอแนวคิด 3 R คือ ลด (reduce) นำกลับมาใช้ใหม่ (re-use) และรีไซเคิล (recycle) เพื่อที่จะ

"ลดกำแพงขวางกั้นการเคลื่อนย้ายสินค้าและวัตถุดิบระหว่างประเทศ สำหรับการรีไซเคิลและการผลิตใหม่ ผลิตภัณฑ์ที่รีไซเคิลและผลิตใหม่ ไปพร้อมๆ กับมีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพกว่าและสะอาดกว่า สอดรับกับพันธกรณีและกรอบแนวทางที่มีอยู่แล้วด้านการค้าและสิ่งแวดล้อม"

ในการประชุมภูมิภาคเอเชียเรื่อง 3R เมื่อเดือนมีนาคม 2549 ประธานชาวญี่ปุ่นในที่ประชุมได้สรุปข้อเสนอแนะในการ

"จัดตั้งตลาดภูมิภาคสำหรับขยะรีไซเคิล รวมทั้งขยะอันตราย ด้วยความโปร่งใสและสามารถติดต่อแหล่งที่มาได้ สนับสนุนความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับ 3R ระหว่างประเทศส่งออกและนำเข้า รวมถึงในข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTAs) และพัฒนานโยบาย 3R โดยใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบระหว่างประเทศ/ ชุมชน (เช่น ศักยภาพทางเทคโนโลยี การมีแรงงาน การเข้าถึงตลาด)"

การจัดตั้งตลาดรีไซเคิลในเอเชียจะทำให้ญี่ปุ่นหลุดพ้นจากความเสี่ยง ภาระ และปัญหาในการกำจัดขยะโดยเฉพาะขยะอันตราย ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็สามารถขายเทคโนโลยีไปยังประเทศกำลังพัฒนาเพื่อให้กำจัดขยะที่มาจากประเทศของตนได้อีกต่อหนึ่ง

ขยะพิษจากญี่ปุ่น
ปัจจุบัน ญี่ปุ่นได้ส่งออกขยะไปยังประเทศอื่นอยู่แล้ว กรีนพีซและเครือข่ายปฏิบัติการบาเซล ได้บันทึกขยะญี่ปุ่นปริมาณมหาศาลที่ถูกลักลอบเข้าไปยังท่าเรือหนึ่งของจีนทางตอนใต้ของเมืองเซี่ยงไฮ้ ในปี 2548 ยังพบว่ามีเศษชิ้นส่วนของรถยนต์และอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคถูกส่งมาจากญี่ปุ่นโดยอ้างว่าจะนำกลับมาใช้ใหม่ อย่างไรก็ตาม 75% ของการนำเข้าเหล่านั้นไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ และก็ได้แต่เพียงปล่อยทิ้งไว้ในที่ทิ้งขยะข้างทางหรือหนองน้ำ

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้ส่งออกเรือที่ใช้การไม่ได้แล้วไปทิ้งยังประเทศเอเชียใต้ ด้วยการจัดการในประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีมาตรฐาน ส่งผลให้คนงานที่มีหน้าที่แยกชิ้นส่วนเรือสัมผัสกับสารพิษโดยตรงและทนทุกข์ทรมานจากโรคมะเร็ง

ในปี 2542 บริษัทญี่ปุ่น Yugengaisah Nisso of Tochigi ได้ส่งออก ตู้คอนเทนเนอร์ 124 ตู้ บรรจุขยะทางการแพทย์ไปยังฟิลิปปินส์ทางทะเล ซึ่งลักษณะภายนอกดูเหมือนกับเป็นของเสียจากบ้านเรือน ในเวลานั้น หนังสือพิมพ์ฟิลิปปินส์ฉบับหนึ่งได้แสดงความเห็นว่า "เราออกตัวว่าเข้าข้างโลกาภิวัฒน์ แต่เราไม่เคยนึกเลยว่ามันจะรวมถึงโลกาภิวัฒน์ของขยะมูลฝอยและการส่งออกของเสียที่อาจติดเชื้อและมีพิษอย่างมากมายด้วย"

การลดภาษีขยะในเอฟทีเอ.ไม่มีความหมายจริงหรือ
ทั้งฟิลิปปินส์และญี่ปุ่นไม่ได้ให้การลงนามในสัตยาบันสารการห้ามขนส่ง นอกจากนี้กฎหมายภายในของฟิลิปปินส์ก็ไม่ได้ห้ามการนำเข้าขยะสำหรับการรีไซเคิลอย่างเคร่งครัด เพียงแต่กำหนดให้มีการขอใบอนุญาตเท่านั้น ยิ่งกว่านั้น ไม่มีสิ่งที่จะรับประกันว่า อนุสัญญาบาเซิล รวมทั้งสัตยาบันสารการห้ามขนส่ง จะมีน้ำหนักทางกฎหมายมากกว่า JPEPA

ประเด็นก็คือ หากมีความขัดแย้งในกฎหมาย เมื่อเรื่องขึ้นสู่ศาล ศาลมีแนวโน้มที่จะตีความตามข้อตกลงที่ใหม่กว่า และมีเนื้อหาเฉพาะเจาะจงมากกว่าข้อตกลงที่เก่ากว่า และมีลักษณะทั่วไปมากกว่า ในกรณีนี้ JPEPA เป็นความตกลงที่เพิ่งทำขึ้น และครอบคลุมถึงเนื้อหาที่เฉพาะเจาะจง คือ เรื่องการลดภาษีสินค้าขยะ ซึ่งจะต้องได้รับการอำนวยความสะดวก สิ่งนี้จะขัดแย้งกับกฎหมายที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ ซึ่งมีเนื้อหาในการควบคุมและจำกัดการนำเข้า

อันที่จริง การใส่ภาษาในข้อตกลงที่สร้างความขัดแย้งในการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้น ได้รับการต่อต้านจากข้าราชการด้านสิ่งแวดล้อมของฟิลิปปินส์ แต่ในที่สุดก็ไม่อาจต้านทานแรงจากฝ่ายญี่ปุ่นได้ นั่นแสดงว่าสำหรับญี่ปุ่นแล้ว การลดภาษีขยะคงไม่ใช่เพียงแค่เทคนิคการต่อรองเท่านั้น

การรวมเนื้อหาที่ว่าด้วยการลดภาษีขยะไว้ในเอฟทีเอ. จะมีผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งในระดับชาติและระดับโลก เพราะว่ามันจะไปท้าทายข้อห้ามการค้าขยะภายในฟิลิปปินส์เอง และจะท้าทายสังคมโลกซึ่งพยายามจะลดและขจัดการค้าขยะผ่านอนุสัญญาบาเซล. ในอนาคต หากฟิลิปปินส์ตัดสินใจที่จะลงนามในสัตยาบันสารการห้ามขนส่งหรือต้องการจะห้ามการนำเข้าขยะบางประเภทที่ปรากฎอยู่ในข้อตกลง สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาอย่างแน่นอน

หมายเหตุ : บทความนี้ มาจากรายงาน JTEPA as a Step in Japan's Greater Plan to Liberalize Hazardous Waste Trade in Asia (พฤศจิกายน 2549) ซึ่งจัดทำโดยเครือข่ายปฏิบัติการบาเซล (Basel Action Network) เรียบเรียงโดยกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์)

ผู้สนใจอ่านต้นฉบับสมบูรณ์ http://www.ban.org/library/JPEPA_report.pdf

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

Lawrence Henry Summers, received global criticism in 1991 after his shockingly cruel comment of "logic of economics" that "if we transport hazardous wastes and pollution industries with low cost to developing countries where the "price of life" is cheap, we can save our cost. We should accept this truth." It is clear that the current conception of Asia as industrial dumpsite is a reappearance of this shameful discussion.

21-03-2550

Garbage from Japan
The Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com