โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 07 March 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๑๘๑ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๐๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๐ (March, 07,03.2007)
R

สัมภาษณ์ นอม ชอมสกี : ว่าด้วยอิหร่าน, อิรัก และโลกที่ร้อนระอุ
ปมมาเฟีย: นโยบายของสหรัฐฯ ว่าด้วยอิหร่านและอิรัก
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปล
นักวิชาการ และ นักแปลอิสระ

งานแปลชิ้นนี้ แปลมาจากบทสัมภาษณ์ของ
Michael Shank, เรื่อง "Chomsky on Iran, Iraq, and the Rest of the World,"
(Silver City, NM & Washington, DC: Foreign Policy In Focus, February 16, 2007)
http://fpif.org/fpiftxt/3999
(ไมเคิล แชงค์ เป็นผู้อำนวยการด้านนโยบายขององค์กร 3D Security Initiative)
ซึ่งเคยเผยแพร่แล้วบนประชาไทออนไลน์ในชื่อ "สัมภาษณ์ นอม ชอมสกี : ว่าด้วยอิหร่าน, อิรัก และโลกที่ร้อนระอุ"
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์ของ นอม ชอมสกี้
เกี่ยวกับปมมาเฟียในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ที่มีต่อภูมิภาคต่างๆ ของโลก
ในฐานะผู้กระหายน้ำมัน และการธำรงไว้ซึ่งความเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่ง
ซึ่งี่ไม่อาจยอมรับให้ใครหรือประเทศใดมาท้าทายอำนาจได้

(midnightuniv(at)gmail.com)

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๘๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๐๗ มีนาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๗.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++ คลิกอ่านบทความนี้ในภาษาอังกฤษ

สัมภาษณ์ นอม ชอมสกี : ว่าด้วยอิหร่าน, อิรัก และโลกที่ร้อนระอุ
"Chomsky on Iran, Iraq, and the Rest of the World,"
สัมภาษณ์โดย Michael Shank 16 กุมภาพันธ์ 2007

คำสำคัญในบทความนี้: light water reactor, เกาหลีเหนือ, เวเนซูเอลา, อิสราเอล-ปาเลสไตน์, อาห์มาดิเนจาด, George Kennan (1904-2005), Arthur Schlesinger, Jr. (1917-2007), Monroe Doctrine, Bolivarian alternative, รายงานเบเกอร์-แฮมิลตัน (The Iraq Study Group Report: The Way Forward - A New Approach ของ Iraq Study Group), cap-and-trade, G77, เฮซบอลเลาะห์, เป็นต้น

ความนำ
นอม ชอมสกี (Noam Chomsky) เป็นนักภาษาศาสตร์, นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา. เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ไมเคิล แชงค์ สัมภาษณ์ชอมสกี เกี่ยวกับความเป็นไปล่าสุดในนโยบายที่สหรัฐฯ มีต่ออิหร่าน, อิรัก, เกาหลีเหนือ และเวเนซุเอลา นอกจากนั้น ชอมสกียังแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศ, เวทีสังคมโลก และเหตุใดการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงมีลักษณะเหมือนมาเฟีย

แชงค์: ทั้ง ๆ ที่มีการพัฒนาด้านนิวเคลียร์คล้าย ๆ กันในเกาหลีเหนือและอิหร่าน ทำไมสหรัฐอเมริกาจึงดำเนินนโยบายการทูตโดยตรงกับเกาหลีเหนือ แต่ไม่ยอมทำแบบเดียวกันกับอิหร่านบ้าง?

ชอมสกี: การกล่าวว่า สหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายการทูตกับเกาหลีเหนืออาจทำให้เข้าใจผิดไปเล็กน้อย สหรัฐฯ ใช้นโยบายการทูตในสมัยรัฐบาลคลินตัน แม้ว่าต่างฝ่ายต่างก็ไม่ได้ปฏิบัติตามพันธกรณีโดยสมบูรณ์ คลินตันไม่ได้ทำตามที่สัญญาไว้ เกาหลีเหนือก็เช่นกัน กระนั้นทั้งสองฝ่ายก็มีความก้าวหน้าเกิดขึ้น ตอนที่บุชขึ้นเป็นประธานาธิบดี เกาหลีเหนือมียูเรเนียมหรือพลูโตเนียมพอจะทำระเบิดได้ลูกสองลูก แต่มีความสามารถทางด้านขีปนาวุธจำกัดมาก ระหว่างบุชอยู่ในตำแหน่ง ทุกอย่างก็ปะทุขึ้น เหตุผลเพราะบุชยกเลิกนโยบายทางการทูตทันที มิหนำซ้ำยังขัดขวางมาตลอดด้วย

ทั้งสองฝ่ายมีข้อตกลงที่สำคัญมากในเดือนกันยายน ค.ศ. 2005 ซึ่งเกาหลีเหนือยินยอมยกเลิกโครงการเสริมสมรรถนะและการพัฒนานิวเคลียร์ทั้งหมด สหรัฐอเมริกาตกลงว่าจะตอบแทนด้วยการยกเลิกการข่มขู่ว่าจะโจมตี และเริ่มก้าวไปสู่การวางแผนว่าจะจัดหาเครื่องปฏิกรณ์ชนิด light water reactor (1) ให้ ซึ่งมีการสัญญาไว้ภายใต้กรอบของข้อตกลง แต่รัฐบาลบุชทำลายข้อตกลงนั้นทันทีที่ขึ้นสู่ตำแหน่ง

รัฐบาลบุชยกเลิกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศที่กำลังวางแผนเกี่ยวกับ light water reactor ซึ่งเท่ากับบอกว่า เราจะไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงนี้แล้ว อีกสองวันต่อมา รัฐบาลบุชก็เริ่มโจมตีธุรกรรมทางการเงินของธนาคารหลายแห่ง ทั้งหมดนี้กำหนดจังหวะเวลาเพื่อให้เป็นที่ชัดเจนว่า สหรัฐอเมริกาจะไม่ยอมผูกมัดตัวเองเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น และแน่นอน สหรัฐฯ ไม่เคยถอนการข่มขู่ นั่นเองคือจุดจบของข้อตกลงเดือนกันยายน 2005

แต่แค่ไม่กี่วันมานี้ ข้อตกลงนั้นกำลังจะกลับมาอีก ดูจากลีลาที่แสดงออกมาในสื่อกระแสหลักของสหรัฐฯ ซึ่งสอดรับเป็นลูกคู่กับนโยบายของรัฐบาลเสมอ สื่อกำลังวาดภาพว่า ตอนนี้เกาหลีเหนือชักเริ่มว่าง่ายมากพอที่จะยอมรับข้อเสนอในข้อตกลงเดือนกันยายน 2005 ดังนั้นจึงมีความหวังในทางที่ดีอยู่บ้าง

ถ้าคุณข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปอ่านใน ไฟแนนเชียลไทมส์ ในบทวิจารณ์ประเด็นเดียวกันนี้ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลบุชที่พร้อมรบทัพจับศึก --นี่เป็นสำนวนของเขาเลยนะ-- รัฐบาลบุชต้องการชัยชนะอะไรก็ได้สักอย่าง ดังนั้น บุชอาจเต็มใจหันไปใช้นโยบายทางการทูตก็ได้ ผมคิดว่าถ้าคุณพิจารณาภูมิหลังให้ดี ก็จะช่วยให้เข้าใจได้ถูกต้องมากขึ้น

แต่อย่างน้อยที่สุดก็ยังพอมีความหวังในทางที่ดีอยู่บ้าง ถ้าคุณย้อนกลับไปดูปูมหลัง เกาหลีเหนือค่อนข้างมีเหตุผลใช้ได้ในเรื่องนี้เสมอมา ถึงแม้ไม่มีใครเถียงได้ว่าเกาหลีเหนือเป็นประเทศอันเลวร้ายก็ตาม ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นเรื่องแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ถ้าสหรัฐอเมริกาอ่อน เกาหลีเหนือก็อ่อนตาม ถ้าสหรัฐอเมริกาแข็งกร้าว เกาหลีเหนือก็แข็งกร้าว คนที่แจกแจงเรื่องนี้ไว้ดีมากคือ Leon Sigal ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญแนวหน้าคนหนึ่งในเรื่องเกาหลีเหนือ เขาเขียนไว้ในวารสาร Current History ฉบับไม่นานมานี้ แต่นั่นเป็นภาพทั่ว ๆ ไปและตอนนี้เราอยู่ในจุดที่อาจมีการสะสางปัญหาเรื่องเกาหลีเหนือได้

แต่เกาหลีเหนือมีความสำคัญต่อสหรัฐอเมริกาน้อยกว่าอิหร่านมาก พูดกันตามตรงแล้ว ผมไม่คิดว่าประเด็นอิหร่านเกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์มากนัก ไม่มีใครบอกว่าอิหร่านควรมีอาวุธนิวเคลียร์ ประเทศไหนก็ไม่ควรมีทั้งนั้น แต่ประเด็นในตะวันออกกลางที่แตกต่างจากเกาหลีเหนือก็คือ ที่นี่เป็นศูนย์กลางของแหล่งพลังงานโลก แรกเริ่มเดิมทีคืออังกฤษ แล้วต่อมาก็เป็นฝรั่งเศส ที่เข้ามาครอบงำดินแดนแห่งนี้ แต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่นี่เป็นเขตสงวนของสหรัฐอเมริกา นั่นคือสัจพจน์ข้อหนึ่งในนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ

นั่นคือสหรัฐฯ ต้องควบคุมแหล่งพลังงานในตะวันออกกลาง มันไม่ใช่ปัญหาเรื่องการเข้าถึงแหล่งน้ำมันอย่างที่คนมักพูดกัน น้ำมันนั้นพอขนออกมาถึงทะเลแล้วจะส่งไปที่ไหนก็ได้ อันที่จริง ต่อให้สหรัฐอเมริกาไม่ได้ใช้น้ำมันตะวันออกกลางเลย สหรัฐฯ ก็คงมีนโยบายเหมือนเดิม ต่อให้เราหันไปใช้พลังงานแสงอาทิตย์พรุ่งนี้ สหรัฐฯ ก็คงมีนโยบายเหมือนเดิมอีกนั่นแหละ ลองดูบันทึกของคนวงในรัฐบาล หรือตรรกะของเรื่องทั้งหมด ประเด็นสำคัญคือการควบคุมเสมอมา การควบคุมเป็นแหล่งของอำนาจทางยุทธศาสตร์

ดิ๊ก เชนีย์ ประกาศไว้ที่คาซัคสถานหรือที่ไหนสักแห่งว่า อำนาจควบคุมท่อส่งน้ำมันเป็น "เครื่องมือในการคุกคามและขู่กรรโชก" ถ้าเมื่อไรสหรัฐฯ มีอำนาจควบคุมท่อส่งน้ำมัน มันก็จะกลายเป็นเครื่องมือของความดีงาม แต่ถ้าประเทศอื่นมีอำนาจควบคุมแหล่งทรัพยากรพลังงานและการจำหน่ายพลังงานแล้วล่ะก็ เมื่อนั้นมันจะกลายเป็นเครื่องมือของการคุกคามและขู่กรรโชกอย่างที่เชนีย์ว่าไว้ทันที และเรื่องนี้เป็นที่เข้าใจกันมายาวนาน

ย้อนกลับไปได้ถึงสมัยจอร์จ เคนแนน (George Kennan) (2) และยุคหลังสงครามโลกใหม่ ๆ เมื่อเคนแนนชี้ให้เห็นว่า ถ้าสหรัฐอเมริกาสามารถควบคุมแหล่งพลังงานในตะวันออกกลางไว้ได้ สหรัฐฯ ก็จะมีอำนาจวีโต้เหนือประเทศอุตสาหกรรมคู่แข่งอื่น ๆ ตอนนั้นเคนแนนเจาะจงหมายถึงญี่ปุ่น แต่ประเด็นของเขาใช้ได้กับทุกประเทศ
ดังนั้น อิหร่านจึงเป็นสถานการณ์ที่แตกต่างออกไป เพราะอิหร่านเป็นส่วนหนึ่งของระบบพลังงานสำคัญของโลก

แชงค์: ถ้าอย่างนั้น เมื่อสหรัฐอเมริกากำลังตัดสินใจเรื่องการรุกราน คุณคิดว่ามันอยู่ภายใต้สมมติฐานของการแสวงหาอำนาจควบคุมใช่ไหม? นั่นคือสิ่งที่สหรัฐอเมริกาจะได้จากการโจมตีอิหร่านหรือเปล่า?

ชอมสกี: มีเหตุผลหลายประเด็นในกรณีของอิหร่าน เหตุผลง่าย ๆ ประการหนึ่งก็คือ อิหร่านเป็นตัวของตัวเอง และความเป็นตัวของตัวเองเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ทนไม่ได้ ในบันทึกของวงใน บางทีก็เรียกสิ่งนี้ว่า การท้าทายได้สำเร็จ ลองดูคิวบาเป็นตัวอย่าง เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนอเมริกันเห็นชอบให้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับคิวบา และมีประชามติเช่นนี้มานานแล้วโดยมีตัวเลขทางสถิติขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่บ้าง แม้กระทั่งโลกธุรกิจบางส่วนก็เห็นชอบด้วยซ้ำ แต่รัฐบาลไม่ยอม รัฐบาลอ้างการลงมติในรัฐฟลอริดา (เพราะคิวบาตั้งอยู่ใกล้รัฐฟลอริดามากที่สุด-ผู้แปล) แต่ผมไม่คิดว่านั่นเป็นคำอธิบายสักเท่าไร

ผมคิดว่าเรื่องของเรื่องอยู่ที่โฉมหน้าของกิจการระหว่างประเทศที่เรายังไม่ทำความเข้าใจให้มากพอ กิจการระหว่างประเทศนั้นดำเนินไปในลักษณะที่คล้ายมาเฟียมาก เจ้าพ่อไม่มีวันยอมรับความกระด้างกระเดื่อง ต่อให้เป็นแค่เจ้าของร้านชำเล็ก ๆ ที่ไม่ยอมจ่ายค่าคุ้มครอง เจ้าพ่อต้องการให้ทุกคนเชื่อฟัง เพราะไม่อย่างนั้นทุกคนก็จะเริ่มคิดว่า เราไม่ต้องเชื่อฟังคำสั่งก็ได้ และความคิดแบบนี้อาจลามระบาดจากที่เล็ก ๆ ไปสู่ที่ต่าง ๆ ที่สำคัญ ถ้าคุณย้อนดูปูมหลัง สหรัฐฯ มีเหตุผลหลักอะไรในการโจมตีเวียดนาม?

การพัฒนาอย่างอิสระอาจกลายเป็นเชื้อไวรัสที่ระบาดไปติดประเทศอื่น นั่นแหละคือเหตุผล นี่เป็นคำพูดของคิสซิงเจอร์ เพียงแต่เขากำลังหมายถึงประธานาธิบดีอัลเยนเดแห่งประเทศชิลี ส่วนกรณีคิวบาก็มีระบุชัดเจนในบันทึกวงใน อาร์เธอร์ ชเลซิงเงอร์ (Arthur Schlesinger) (3) เขียนในรายงานของกลุ่มศึกษาละตินอเมริกาที่นำเสนอต่อเคนเนดี ซึ่งกำลังจะขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีในเวลานั้น เขาเขียนไว้ว่า อันตรายที่มีอยู่ก็คือการแพร่ระบาดของแนวคิดแบบคาสโตรว่า คุณควรจัดการปัญหาด้วยตัวคุณเอง ซึ่งชวนให้ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกันที่เผชิญปัญหาคล้าย ๆ กันคล้อยตามได้มาก. เอกสารวงในฉบับต่อ ๆ มากล่าวหาคิวบาว่า ท้าทายนโยบายของสหรัฐฯ ได้สำเร็จมา 150 ปีแล้ว โดยย้อนไปถึงยุคลัทธิมอนโร (Monroe Doctrine) (4) ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่สหรัฐฯ ทนไม่ได้ ดังนั้น มันจึงเป็นเสมือนหนึ่งพันธกิจของรัฐที่จะต้องสร้างความเชื่อฟังขึ้นมา

กลับมาที่อิหร่าน ไม่เพียงอิหร่านมีทรัพยากรมหาศาลที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบพลังงานสำคัญในโลก แต่อิหร่านยังท้าทายสหรัฐอเมริกาด้วย ดังที่เรารู้กันดี สหรัฐอเมริกาเคยล้มล้างรัฐบาลในระบบรัฐสภา ค้ำบัลลังก์ทรราชที่ป่าเถื่อน และช่วยทรราชพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โครงการที่ตอนนี้มองกันว่าเป็นการคุกคาม ความจริงก็เป็นโครงการเดียวกับที่รัฐบาลสหรัฐฯ เคยให้การสนับสนุนมาก่อนในสมัยทศวรรษ 1970 โดยกลุ่มคนที่สนับสนุนก็คือเชนีย์, วูล์ฟโฟวิทซ์, คิสซิงเจอร์ ฯลฯ ในสมัยที่พระเจ้าชาห์ยังครองอำนาจ แต่ต่อมาชาวอิหร่านโค่นล้มพระเจ้าชาห์และจับตัวประกันชาวสหรัฐฯ ไว้หลายร้อยวัน ส่วนสหรัฐอเมริกาก็รีบหันไปสนับสนุนซัดดัม ฮุสเซนและสงครามอิรัก-อิหร่าน เพื่อเป็นการลงโทษอิหร่าน. สหรัฐอเมริกาจะลงโทษอิหร่านต่อไปเพราะการทำตัวท้าทาย นี่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง

อีกนั่นแหละ เจตจำนงของประชาชนอเมริกัน และแม้กระทั่งภาคธุรกิจของสหรัฐฯ ไม่ได้รับความสนใจเลย ชาวอเมริกันถึง 75% เห็นด้วยกับการปรับปรุงแก้ไขความสัมพันธ์กับอิหร่าน แทนที่จะใช้วิธีการข่มขู่ แต่รัฐบาลไม่เคยรับฟัง เราไม่มีการสำรวจความคิดเห็นในภาคธุรกิจ แต่เห็นได้ชัดเจนว่า บรรษัทพลังงานทั้งหลายคงยินดีทีเดียวถ้าได้รับอนุญาตให้กลับเข้าไปทำธุรกิจในอิหร่าน แทนที่จะปล่อยให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับบรรษัทคู่แข่ง แต่รัฐบาลก็ไม่ยอม และตอนนี้รัฐบาลกำลังสร้างสถานการณ์เผชิญหน้าขึ้นมาอย่างชัดเจน เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเรื่องเชิงยุทธศาสตร์, ภูมิศาสตร์การเมือง, เศรษฐกิจ แต่เหตุผลอีกส่วนหนึ่งคือปมมาเฟีย ประเทศพวกนี้ต้องถูกลงโทษเพราะไม่เชื่อฟังเรา

แชงค์: เวเนซุเอลาก็ท้าทายได้สำเร็จ โดยชาเวซกำลังสร้างแรงเหวี่ยงไปสู่การเป็นสังคมนิยม เวเนซุเอลาอยู่ตรงไหนในบัญชีดำของสหรัฐฯ?

ชอมสกี: เวเนซุเอลาอยู่อันดับต้น ๆ ทีเดียว สหรัฐอเมริกาเคยยุยงและสนับสนุนการรัฐประหารเพื่อล้มล้างรัฐบาล [ชาเวซ] อันที่จริง นั่นเป็นความพยายามครั้งล่าสุดในการใช้วิธีการดั้งเดิมที่เคยใช้ในสมัยก่อน

แชงค์: แต่ทำไมสหรัฐฯ ถึงไม่หันไปเขม่นเวเนซุเอลามากขึ้น?

ชอมสกี: อ๋อ นั่นก็มีอยู่แล้ว มีการกล่าวร้ายและโจมตีจากรัฐบาลและจากสื่อกระแสหลัก ซึ่งทำตัวเป็นลูกคู่คอยประสานเสียงเรื่องเวเนซุเอลาเกือบตลอด ด้วยเหตุผลหลายประการ. เวเนซุเอลาเป็นตัวของตัวเอง มันกระจายการส่งออกออกไปในขอบเขตหนึ่ง แทนที่จะพึ่งพิงการส่งออกน้ำมันไปสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว และการที่เวเนซุเอลาริเริ่มบุกเบิกหนทางไปสู่การรวมภูมิภาคละตินอเมริกาและความเป็นอิสระ ที่เรียกกันว่า เส้นทางใหม่สายโบลิวาร์ (Bolivarian alternative) (5) สหรัฐอเมริกาย่อมไม่ชอบใจแน่

นี่ก็เช่นกัน นี่เป็นการท้าทายนโยบายของสหรัฐฯ ที่ย้อนไปจนถึงยุคลัทธิมอนโร ตอนนี้มีการตีความแนวโน้มในละตินอเมริกาออกมาแบบหนึ่ง กลายเป็นแนวนโยบายอีกแบบหนึ่ง ละตินอเมริกากำลังเลี้ยวซ้าย นับตั้งแต่เวเนซุเอลาไปจนถึงอาร์เจนตินา โดยมีข้อยกเว้นไม่กี่ประเทศ แต่มีซ้ายดีกับซ้ายไม่ดี. ซ้ายดีคือการ์เซียและลูลา ส่วนซ้ายไม่ดีคือชาเวซ, โมราเลส, และอาจรวมคอร์รีอาด้วย นั่นคือเส้นแบ่ง

เพื่อรักษาเส้นแบ่งนั้นไว้ จำเป็นต้องอาศัยลีลาสับเท้าหลอกล่อบ้าง ตัวอย่างเช่น มันจำเป็นต้องไม่รายงานข้อเท็จจริงว่า ตอนที่ลูลาได้รับเลือกตั้งสมัยที่สองในเดือนตุลาคม การเดินทางไปต่างประเทศและภารกิจอันดับแรก ๆ อันหนึ่งของเขาคือ การเดินทางไปเยือนกรุงคารากัสเพื่อสนับสนุนชาเวซ และการหาเสียงเลือกตั้งของชาเวซ รวมทั้งเปิดโครงการความร่วมมือเวเนซุเอลา-บราซิลที่แม่น้ำโอริโนโก เจรจาถึงโครงการใหม่อื่น ๆ ฯลฯ

มันจำเป็นต้องไม่รายงานข้อเท็จจริงว่า ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ในเมืองโคชาบัมบา ประเทศโบลิเวีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางของผู้ร้ายทั้งหลายทีเดียว มีการประชุมของผู้นำอเมริกาใต้ทุกประเทศ เมื่อก่อนเคยมีความร้าวฉานระหว่างชาเวซกับการ์เซีย แต่เห็นได้ชัดว่ามีการไกล่เกลี่ยกันแล้ว พวกเขาวางแผนเพื่อการรวมภูมิภาคอเมริกาใต้ในเชิงสร้างสรรค์ แต่นั่นไม่สอดรับกับวาระทางนโยบายของสหรัฐอเมริกา ดังนั้น ข่าวนี้จึงไม่เป็นข่าวในสื่อกระแสหลัก

แชงค์: ความอับตันทางการเมืองในเลบานอนส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่อาจจะเปิดฉากสงครามกับอิหร่านหรือเปล่า? มีความเกี่ยวพันกันบ้างไหม?

ชอมสกี: มีความเกี่ยวพันกันอยู่ ผมสันนิษฐานว่า เหตุผลส่วนหนึ่งที่กองทัพสหรัฐฯ-อิสราเอล รุกรานเลบานอนในเดือนกรกฎาคม --การรุกรานเป็นความร่วมมือของสหรัฐฯ-อิสราเอล, ชาวเลบานอนเข้าใจถูกต้องที่เรียกมันแบบนี้-- ผมคาดว่าเหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขามองว่า เฮซบอลเลาะห์เป็นเครื่องกีดขวางต่อการโจมตีอิหร่านของสหรัฐฯ-อิสราเอลที่อาจเกิดขึ้น เฮซบอลเลาห์มีศักยภาพในการเป็นอุปสรรคขัดขวาง เพราะพวกนี้มีจรวด และผมคาดว่าเป้าหมายคือการกำจัดสิ่งกีดมือขวางเท้าเพื่อกรุยทางให้สหรัฐอเมริกาและอิสราเอลโจมตีอิหร่านได้สะดวกมือ อย่างน้อยที่สุด นั่นน่าจะเป็นเหตุผลส่วนหนึ่ง

เหตุผลอย่างเป็นทางการที่รัฐบาลให้ในการรุกรานนั้นฟังไม่ขึ้นเลยแม้แต่นิดเดียว ที่บอกว่ามีการจับตัวทหารอิสราเอลสองคนเป็นตัวประกัน และฆ่าทหารคนอื่นตายไปอีกคนสองคน หลายทศวรรษที่ผ่านมา อิสราเอลจับตัวและลักพาตัวผู้ลี้ภัยชาวเลบานอนและชาวปาเลสไตน์ในน่านน้ำสากล จากไซปรัสถึงเลบานอน ฆ่าผู้ลี้ภัยในเลบานอน จับตัวไปอิสราเอล ขังพวกเขาไว้เป็นเชลย มันเป็นอย่างนี้มาหลายสิบปีแล้ว มีใครออกมาเรียกร้องให้บุกอิสราเอลบ้างไหม?

แน่นอน อิสราเอลไม่ต้องการมีคู่แข่งในภูมิภาค แต่มันไม่มีเหตุผลหลักการอะไรเลยในการโจมตีเลบานอนอย่างหนักหน่วงรุนแรงแบบนี้ อันที่จริง ในการรุกรานของสหรัฐฯ-อิราเอลหนล่าสุด ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากประกาศหยุดยิง แต่ก่อนที่จะทันได้บังคับใช้ เป็นการปูพรมภาคใต้ของเลบานอนด้วยคลัสเตอร์บอมบ์ มันไม่มีวัตถุประสงค์ทางการทหารเลยในการทำแบบนั้น ในเมื่อสงครามยุติลงแล้ว การหยุดยิงกำลังจะเกิดขึ้นแท้ ๆ

กลุ่มกู้ทุ่นระเบิดบกของสหประชาชาติที่กำลังทำงานอยู่ในเลบานอนกล่าวว่า มีการใช้ทุ่นระเบิดในปริมาณมากอย่างไม่เคยพบเห็นมาก่อน มันเลวร้ายกว่าทุก ๆ ที่ที่พวกเขาเคยผจญมา ไม่ว่าจะเป็นโคโซโว, อัฟกานิสถาน, อิรัก หรือที่ไหน ๆ คาดกันว่ามีระเบิดลูกเล็กทิ้งไว้ที่นั่นเกือบหนึ่งล้านลูก มีจำนวนมากที่จะไม่ระเบิดจนกว่าคุณหยิบมันขึ้นมา เด็กสักคนอาจหยิบมันขึ้นมา หรือชาวนาใช้จอบหรืออะไรสักอย่างไปโดนมันเข้า ดังนั้น สิ่งที่สหรัฐฯ-อิสราเอลจงใจทำก็คือ ทำให้ภาคใต้ของเลบานอนอยู่อาศัยไม่ได้ จนกว่าทีมกู้ระเบิดจะเก็บกู้ได้หมด ซึ่งสหรัฐฯ และอิสราเอลไม่ให้ความช่วยเหลือเลย

พื้นที่แถบนี้เป็นเขตเพาะปลูก หมายความว่าเกษตรกรกลับเข้าไปทำการเกษตรไม่ได้ หมายความว่านี่อาจเป็นการบ่อนทำลายกำลังของเฮซบอลเลาะห์ ที่อาจเป็นอุปสรรคขัดขวางสหรัฐฯและอิสราเอล ตามรายงานของสหประชาชาตินั้น พวกเขาต้องถอนตัวออกไปจากภาคใต้เป็นจำนวนมาก

ในสื่อกระแสหลักของสหรัฐฯ คุณไม่อาจเอ่ยถึงเฮซบอลเลาะห์โดยไม่ใส่สร้อยต่อท้ายว่า "เฮซบอลเลาะห์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน" นั่นเป็นชื่อของมัน ชื่อของมันคือเฮซบอลเลาะห์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน มันได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน แต่คุณสามารถเอ่ยถึงอิสราเอลได้โดยไม่ต้องใส่สร้อยต่อท้ายว่า อิสราเอลที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ดังนั้น นี่จึงเป็นวิธีการโฆษณาชวนเชื่อที่แนบเนียนกว่า

ความคิดว่าเฮซบอลเลาะห์กระทำการเป็นตัวแทนของอิหร่านนั้น เป็นเรื่องที่น่าสงสัยมาก ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอิหร่านหรือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเฮซบอลเลาะห์ไม่ยอมรับแนวความคิดนี้ แต่นี่เป็นการปั่นแนวคิดขึ้นมาอย่างเป็นทางการ หรือบางทีคุณอาจใส่ซีเรียเข้าไปแทนก็ได้ เป็น "เฮซบอลเลาะห์ที่ได้รับการสนับสนุนจากซีเรีย" แต่เนื่องจากตอนนี้ซีเรียได้รับความสนใจน้อยกว่า คุณเลยต้องเน้นไปที่การสนับสนุนของอิหร่านแทน

แชงค์: ทำไมรัฐบาลสหรัฐฯ จึงคิดว่าสามารถโจมตีอิหร่านได้ ทั้ง ๆ ที่ขัดกับกำลังของกองทัพที่มีอยู่, ขีดความสามารถของกองทัพ และความรู้สึกของสาธารณชน?

ชอมสกี: เท่าที่ผมทราบ แม้แต่กองทัพสหรัฐอเมริกาเองก็คิดว่า มันเป็นเรื่องสติแตกสิ้นดี และจากข่าวสารเท่าที่รั่วไหลออกมาจากหน่วยข่าวกรอง แวดวงหน่วยข่าวกรองก็คิดว่า นี่เป็นความคิดวิปริต แต่ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ ถ้าคุณมองดูผู้คนที่เกี่ยวข้องจริง ๆ ในการวางแผนทางยุทธศาสตร์ของเพนตากอนมาหลายปี คนอย่าง แซม การ์ดิเนอร์ (Sam Gardiner) คนพวกนี้บอกว่า มีหลายอย่างที่สามารถทำได้

อย่างน้อยที่สุดเท่าที่ผมทราบ ผมไม่คิดว่ามีผู้สันทัดกรณีที่เป็นบุคคลภายนอกคนใดเชื่อถือจริงจังกับแนวคิดว่า จะมีการทิ้งระเบิดใส่โรงงานนิวเคลียร์ พวกเขาบอกว่า ถ้าจะมีการทิ้งระเบิดเกิดขึ้น มันก็จะเป็นการทิ้งระเบิดแบบปูพรม มันคงมีการทิ้งระเบิดใส่โรงงานนิวเคลียร์แน่ แต่ก็จะทิ้งระเบิดใส่ส่วนอื่น ๆ ของประเทศด้วย โดยมีข้อยกเว้นอยู่ที่หนึ่ง ด้วยความบังเอิญของภูมิศาสตร์ แหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ของโลกอยู่ในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้เขตอิทธิพลของนิกายชีอะต์ น้ำมันของอิหร่านนั้นกระจุกตัวอยู่ใกล้อ่าวเปอร์เซีย ซึ่งบังเอิญเป็นพื้นที่ของชาวอาหรับ ไม่ใช่เปอร์เซีย คูเซสถานเป็นอาหรับ จงรักภักดีต่ออิรัก ระหว่างสงครามอิหร่าน-อิรัก คูเซสถานก็ต่อสู้กับอิหร่าน ไม่ใช่อิรัก นี่คือที่ที่มีศักยภาพในการแบ่งแยกดินแดน

ผมคงประหลาดใจมาก ถ้าตอนนี้ไม่มีความพยายามปลุกปั่นให้เกิดขบวนการแบ่งแยกดินแดนอยู่ในคูเซสถาน กองกำลังสหรัฐฯ ซึ่งตั้งอยู่ในอิรักตรงอีกฟากของพรมแดนพอดี รวมทั้งการเพิ่มกำลังทหารที่กำลังจะเกิดขึ้น ย่อมเพียงพอที่จะ "ปกป้อง" การแยกตัวเป็นอิสระของคูเซสถานออกจากอิหร่าน ซึ่งคงจะใช้ถ้อยคำแบบนี้ ถ้าทำได้สำเร็จจริง ๆ

แชงค์: คุณคิดไหมว่า นี่แหละคือเหตุผลเบื้องหลังการเพิ่มกำลังทหารเข้าไป?

ชอมสกี: นั่นก็เป็นไปได้ ในรายงานการสร้างสถานการณ์จำลองสงครามของเพนตากอน ที่เผยแพร่ออกมาอันหนึ่งในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2004 โดยมีการ์ดิเนอร์เป็นผู้นำ มันเผยแพร่และตีพิมพ์อยู่ใน Atlantic Monthly พวกเขาไม่สามารถคิดหาข้อเสนอที่ไม่ลงเอยด้วยหายะได้ แต่มีอันหนึ่งที่พวกเขาใคร่ครวญอยู่ก็คือ การคงกองกำลังทหารไว้ในอิรักด้วยกำลังพลที่มากกว่าที่ต้องใช้ในการผลัดเปลี่ยนประจำการ ฯลฯ และอาจใช้กำลังพลนั้นบุกเข้าไปในอิหร่านทางบก ซึ่งน่าจะเป็นคูเซสถานที่มีน้ำมัน ถ้าปฏิบัติการนี้ทำได้สำเร็จ สหรัฐฯ จะถล่มส่วนที่เหลือในประเทศอิหร่านให้เป็นจุณไปเลยก็ได้

อีกนั่นแหละ ผมคงประหลาดใจพิลึก ถ้าไม่มีความพยายามสนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดนในที่อื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น ในหมู่ชาวอาเซอรี. ในอิหร่านมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผสมปนเปกันอย่างซับซ้อนมาก ประชากรส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวเปอร์เซีย มีแนวโน้มของการแบ่งแยกดินแดนอยู่แล้ว และเกือบจะแน่ใจได้โดยไม่ต้องมีข้อมูลจริง ๆ เลยว่า สหรัฐอเมริกาต้องหาทางปลุกปั่นพวกเขาขึ้นมา เพื่อทำให้อิหร่านเกิดการแตกแยกภายในให้มากที่สุด เท่าที่ทำได้ ยุทธศาสตร์ดูเหมือนเป็นไปในทำนองนี้คือ จงพยายามยุยงให้เกิดความแตกแยกภายใน พยายามบีบคั้นให้ผู้นำประเทศต้องแข็งกร้าวและป่าเถื่อนโหดร้ายที่สุดเท่าที่ทำได้

นั่นเป็นผลพวงโดยตรงของการถูกคุกคามอยู่ตลอดเวลา ทุก ๆ คนรู้เรื่องนี้ดี นี่จึงเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่นักการเมืองฝ่ายปฏิรูปอย่างชิริน เอบาดี และ อักบาร์ กานจิ รวมทั้งคนอื่น ๆ พากันวิพากษ์วิจารณ์การข่มขู่คุกคามของสหรัฐฯ อย่างขมขื่นใจ. พวกเขาบอกว่าการคุกคามของสหรัฐฯ บ่อนทำลายความพยายามของพวกเขาในการปฏิรูป และสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาในอิหร่าน แต่เกรงว่านั่นแหละเป็นจุดประสงค์ของสหรัฐฯ เพราะมันเป็นผลพวงที่เห็นได้ชัดเจนมาก คุณจึงต้องสันนิษฐานทันทีว่า นั่นแหละเป็นจุดประสงค์ของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับในกฎหมาย ผลลัพธ์ที่คาดหมายไว้ถือว่าเป็นหลักฐานส่อเจตนา และในประเด็นนี้มันชัดเจนเสียจนแทบไม่มีข้อสงสัยเลย

ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่แนวทางหนึ่งของนโยบายคือ

- แนวทางแรก, คือปลุกปั่นขบวนการแบ่งแยกดินแดนขึ้นมา โดยเฉพาะในเขตที่มีทรัพยากรน้ำมันจำนวนมาก กล่าวคือ เขตของชาวอาหรับใกล้อ่าวเปอร์เซีย รวมทั้งดินแดนของชาวอาเซอรี ฯลฯ

- แนวทางที่สอง, คือพยายามบีบให้ผู้นำต้องกดขี่และป่าเถื่อนโหดร้ายที่สุดเท่าที่ทำได้ ด้วยการกระตุ้นให้เกิดความแตกแยกภายใน และอาจรวมถึงการสร้างขบวนการต่อต้านขึ้นมา และ

- แนวทางที่สาม, คือพยายามกดดันประเทศอื่น ๆ และที่ชักจูงง่ายที่สุดก็คือยุโรป ให้มาร่วมกันรัดคออิหร่านในทางเศรษฐกิจ ยุโรปอาจอิดเอื้อนอยู่บ้าง แต่ปรกติแล้วก็เดินตามสหรัฐฯ จนได้ทุกที

ความพยายามที่จะกระตุ้นให้ระบอบการปกครองของอิหร่านมีความหยาบกระด้างมากขึ้น แสดงให้เห็นในหลาย ๆ วิธีด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น ตะวันตกนั้นชมชอบอาห์มาดิเนจาดมาก คำพูดแรง ๆ อะไรก็ตามที่เขาพูดออกมา จะกลายเป็นข่าวพาดหัวและตีความผิด ๆ ทันที ตะวันตกรักเขามาก แต่ใครก็ตามที่รู้จริงในเรื่องของอิหร่าน ซึ่งบรรณาธิการข่าวก็น่าจะรู้อยู่บ้าง ย่อมรู้ว่า อาห์มาดิเนจาดไม่มีอำนาจทางด้านนโยบายต่างประเทศ นโยบายต่างประเทศอยู่ในมือของผู้มีอำนาจสูงกว่าเขา นั่นคือ คาเมเนอี ที่เป็นผู้นำสูงสุด

แต่สื่อตะวันตกไม่เคยรายงานคำพูดของคาเมเนอี โดยเฉพาะเวลาที่คำพูดของเขาค่อนข้างประนีประนอมมาก ยกตัวอย่างเช่น สื่อชอบนักเวลาอาห์มาดิเนจาดพูดว่า อิสราเอลไม่ควรดำรงอยู่ แต่สื่อไม่ชอบเลยเวลาที่คาเมเนอีพูดภายหลังในเวลาไล่เลี่ยกันว่า อิหร่านสนับสนุนจุดยืนของสันนิบาตอาหรับในประเด็นอิสราเอล-ปาเลสไตน์ เท่าที่ผมรู้ คำพูดนี้ไม่เคยเป็นข่าวในสื่อตะวันตก จริงอยู่ คุณอาจอ่านเจอจุดยืนที่ประนีประนอมกว่าของคาเมเนอีในสื่ออย่าง ไฟแนนเชียลไทมส์ แต่ไม่ใช่ที่นี่ (หมายถึงสหรัฐอเมริกา-ผู้แปล) และนักการทูตของอิหร่านก็ย้ำหลายครั้ง แต่ไม่ช่วยอะไรขึ้นมา

ข้อเสนอของสันนิบาตอาหรับเรียกร้องให้ปรับปรุงความสัมพันธ์กับอิสราเอลให้คืนสู่ระดับปรกติ หากว่าอิสราเอลยอมรับมติเอกฉันท์ของนานาประเทศเกี่ยวกับ"การสถาปนาสองรัฐ" (หมายถึงการยอมรับรัฐปาเลสไตน์ในสถานะที่เท่าเทียมกับรัฐอิสราเอล-ผู้แปล) ซึ่งสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลคอยขัดขวางมาตลอด 30 ปี นั่นไม่ใช่ข่าวที่ดี ดังนั้น สื่อจึงไม่เคยหยิบยกขึ้นมาหรือไม่ก็เขียนซ่อน ๆ ไว้ตรงไหนสักแห่ง

มันยากมากที่จะคาดเดารัฐบาลบุชในเวลานี้ เพราะพวกเขาทำอะไรไร้เหตุผลมาก พวกเขาไร้เหตุผลมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่ตอนนี้พวกเขากำลังจนตรอกด้วย พวกเขาสร้างความหายนะอย่างสุดจินตนาการขึ้นมาในอิรัก นี่ควรจะเป็นการยึดครองทางทหารที่ง่ายที่สุดในประวัติศาสตร์ และพวกเขากลับทำให้มันกลายเป็นความพินาศทางการทหารที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์. พวกเขาควบคุมอิรักไม่ได้ จะถอนตัวออกมาก็แทบเป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุผลที่คุณไม่มีทางถกเถียงได้อย่างเปิดเผยในสหรัฐอเมริกา เพราะการถกเถียงกันถึงเหตุผลว่า ทำไมถอนตัวออกมาไม่ได้ เท่ากับต้องยอมรับเหตุผลว่าทำไมถึงบุกเข้าไปตั้งแต่แรก

เราถูกกล่อมให้เชื่อว่า น้ำมันไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เราถูกกล่อมให้เชื่อว่า ถ้าอิรักส่งออกผักดองหรือเยลลี และบังเอิญศูนย์กลางการผลิตน้ำมันในโลกไปอยู่ที่เซาท์แปซิฟิกแทน สหรัฐอเมริกาก็จะเข้าไปปลดปล่อยชาวอิรักอยู่ดี น้ำมันไม่เกี่ยวเลย ช่างเป็นความคิดที่บัดซบมาก ใครก็ตามที่ยังมีศีรษะติดอยู่บนบ่าสมควรรู้ว่า นั่นไม่มีทางเป็นเรื่องจริงไปได้

การยอมให้อิรักมีความเป็นตัวของตัวเองและมีอำนาจอธิปไตย ย่อมเป็นฝันร้ายสำหรับสหรัฐอเมริกา เพราะหมายความว่า อิรักน่าจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของชาวชีอะต์ อย่างน้อยในกรณีที่อิรักมีระบอบประชาธิปไตยจริง ๆ ขึ้นมาสักนิด อิรักคงปรับปรุงความสัมพันธ์กับอิหร่านต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐอเมริกาไม่อยากเห็นทีเดียว. นอกจากนั้น ข้ามพรมแดนไปที่ซาอุดีอาระเบีย ตรงเขตที่มีน้ำมันมากที่สุด มันก็บังเอิญเป็นพื้นที่ที่มีชาวชีอะต์อยู่เป็นจำนวนมากจนน่าจะเป็นประชากรส่วนใหญ่

การก้าวไปสู่การมีอำนาจอธิปไตยในอิรัก ย่อมกระตุ้นให้เกิดแรงกดดันที่เรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชนขึ้นมาในหมู่ชาวชีอะต์ที่เคยถูกกดขี่อย่างขมขื่น แต่มันก็อาจนำไปสู่การสร้างเขตปกครองตนเองขึ้นมาในระดับหนึ่งก็ได้เช่นกัน ลองนึกภาพการรวมตัวกันเป็นพันธมิตรหลวม ๆ ของชาวชีอะต์ในอิรัก, ซาอุดีอาระเบีย และอิหร่าน. พวกเขาควบคุมแหล่งน้ำมันส่วนใหญ่ในโลก และเป็นอิสระจากสหรัฐอเมริกา ที่แย่ยิ่งกว่านั้น แม้ว่าสหรัฐอเมริกาอาจข่มยุโรปได้ แต่สหรัฐฯ ข่มจีนไม่ได้ นั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่ง เป็นเหตุผลหลักว่าทำไมจีนจึงถูกมองว่าเป็นภัยคุกคาม เราต้องย้อนกลับไปดูหลักการแบบมาเฟียอีกที

จีนเป็นชาติเก่าแก่ มีอยู่มาตั้ง 3,000 ปี จีนดูถูกชนป่าเถื่อน จีนสลัดหลุดจากการถูกครอบงำถึงหนึ่งศตวรรษได้ และตอนนี้มีแนวทางเป็นของตัวเอง จีนไม่เคยกลัวจนหงอเมื่อลุงแซมเขย่ากำปั้นใส่ นั่นเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก โดยเฉพาะมันอันตรายมากในกรณีที่เกี่ยวกับตะวันออกกลาง จีนเป็นศูนย์กลางของโครงข่ายความมั่นคงทางพลังงานของเอเชีย ซึ่งครอบคลุมประเทศต่าง ๆ ในเอเชียกลางและรัสเซีย อินเดียกำลังเต้นอยู่รอบ ๆ ขอบนอก เกาหลีใต้ก็อยู่ในนี้ด้วย และอิหร่านเป็นสมาชิกที่คบหากันในระดับหนึ่ง. ถ้าแหล่งน้ำมันในตะวันออกกลางรอบอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันหลักในโลก ถ้ามันเกิดเชื่อมเข้ากับโครงข่ายของทวีปเอเชียขึ้นมา สหรัฐอเมริกาจะกลายเป็นมหาอำนาจชั้นสองไปทันที ดังนั้น เค้าเดิมพันจึงมีสูงมากที่ทำให้ถอนตัวออกจากอิรักไม่ได้

ผมมั่นใจว่า ต้องมีการหารือถึงประเด็นเหล่านี้ในการวางแผนของวงในรัฐบาล มันเป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะคิดเรื่องพวกนี้ไม่ออก แต่มันอยู่นอกขอบเขตการถกเถียงของสาธารณชน มันไม่ปรากฏในสื่อ ไม่ปรากฏในวารสาร ไม่ปรากฏในรายงานเบเกอร์-แฮมิลตัน ผมคิดว่าคุณคงเข้าใจเหตุผลว่าทำไม การหยิบยกประเด็นพวกนี้ขึ้นมา เท่ากับเปิดคำถามว่าทำไมสหรัฐอเมริกาและอังกฤษจึงบุกอิรัก และคำถามนี้เป็นคำถามต้องห้าม

มันกลายเป็นหลักการว่า อะไรก็ตามที่ผู้นำของเราทำย่อมมีเหตุผลสูงส่ง มันอาจผิดพลาด มันอาจน่าเกลียด แต่เกิดจากพื้นฐานอันสูงส่ง ถ้าคุณไปอธิบายด้วยวัตถุประสงค์ทางด้านเศรษฐกิจ, ยุทธศาสตร์ ไม่ว่าจะอธิบายแบบอ่อน ๆ กลาง ๆ หรือหัวโบราณแค่ไหน เท่ากับคุณกำลังท้าทายหลักการนี้ หลักการนี้เป็นสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นในระดับที่น่าทึ่งมาก ข้ออ้างแรกเริ่มในการรุกรานอิรักคืออาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างและการมีส่วนพัวพันกับอัล-กออิดะห์ ซึ่งคงไม่มีใครเชื่อถือจริงจัง นอกจากวูล์ฟโฟวิทซ์หรือเชนีย์กระมัง

คำถามเดียวที่พวกเขาถามย้ำซ้ำซากในหมู่ผู้นำก็คือ ซัดดัมจะเลิกโครงการผลิตอาวุธทำลายล้างหรือไม่? คำถามเดียวนี้ได้รับคำตอบในอีกไม่กี่เดือนให้หลัง เสียแต่ตอบในทางที่ผิด ดังนั้น แนวนโยบายจึงต้องรีบเปลี่ยนไปทันที. ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2003 บุชประกาศวาระเสรีภาพ เป้าหมายที่แท้จริงของเราคือนำระบอบประชาธิปไตยมาสู่อิรัก เพื่อเปลี่ยนแปลงตะวันออกกลาง นั่นกลายเป็นนโยบายหลักไปทันที

แต่การเจาะจงกล่าวโทษตัวบุคคลไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะมันเป็นกันเกือบทั่วไป แม้แต่ในแวดวงวิชาการ อันที่จริง คุณเจอแม้กระทั่งบทความทางวิชาการที่เริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นหลักฐานว่า มันเป็นเรื่องบัดซบสมบูรณ์แบบ แต่กระนั้นก็สมควรยอมรับ ในวารสาร Current History มีนักวิชาการสองคนเขียนบทความที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับวาระเสรีภาพอย่างดีและให้ข้อมูลมากมาย ทั้งสองชี้ให้เห็นว่า วาระเสรีภาพประกาศออกมาในเดือนพฤศจิกายน 2003 หลังจากไม่สามารถค้นหาอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้าง แต่วาระเสรีภาพก็ยังเป็นของจริง ต่อให้ไม่มีหลักฐานสนับสนุนเลยก็ตาม

ความจริง ถ้าดูนโยบายของเราให้ดี มันตรงกันข้ามต่างหาก ยกปาเลสไตน์เป็นตัวอย่าง มีการเลือกตั้งเสรีในปาเลสไตน์ แต่บังเอิญผลการเลือกตั้งออกมาในทางที่ผิด ดังนั้น ในทันที ทั้งสหรัฐอเมริกาและอิสราเอล โดยมียุโรปตามมาต้อย ๆ จึงออกมาลงโทษชาวปาเลสไตน์ และลงโทษพวกเขาอย่างทารุณโหดร้าย ทั้งนี้เพราะชาวปาเลสไตน์ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งเสรีได้ไม่ถูกใจเรา เรื่องนี้เป็นที่ยอมรับกันในตะวันตกเหมือนเป็นเรื่องปรกติธรรมดามาก มันสะท้อนให้เห็นถึงความเกลียดกลัวและดูถูกประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง ซึ่งฝังอยู่ในหมู่ชนชั้นนำชาวตะวันตก มันหยั่งรากลึกจนพวกเขามองไม่เห็นแม้ว่าอยู่ทนโท่ตรงหน้าก็ตาม

คุณลงโทษประชาชนชาติหนึ่งอย่างรุนแรง เพียงเพราะพวกเขาลงคะแนนเสียงไม่ถูกใจคุณในการเลือกตั้งเสรี นอกจากนั้น ยังมีข้ออ้างที่ท่องซ้ำ ๆ ซาก ๆ ทุกวันด้วย

- หนึ่ง กลุ่มฮามาสต้องยอมรับรองอิสราเอลก่อน
- สอง กลุ่มฮามาสต้องยุติความรุนแรงทุกอย่าง
- สาม กลุ่มฮามาสต้องยอมรับข้อตกลงที่ผ่านมาทั้งหมด

ลองหาดูสิว่ามีตรงไหนบ้างที่กล่าวถึงข้อเท็จจริงที่สหรัฐอเมริกาและอิสราเอลปฏิเสธทั้งสามข้อข้างต้น สหรัฐฯ กับอิสราเอลไม่เคยยอมรับสถานะของปาเลสไตน์ ไม่เคยยุติการใช้ความรุนแรงหรือข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรง มิหนำซ้ำยังยืนกรานจะใช้ต่อไป และสหรัฐฯ กับอิสราเอลไม่เคยยอมรับข้อตกลงที่ผ่านมา รวมทั้งโรดแมปสันติภาพด้วย

ผมสงสัยว่า เหตุผลประการหนึ่งที่หนังสือของจิมมี คาร์เตอร์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างสาดเสียเทเสีย ผมคิดว่าเป็นเพราะนี่เป็นครั้งแรกในสื่อกระแสหลัก ที่เราได้อ่านเจอความจริงเกี่ยวกับโรดแมปสันติภาพ ผมไม่เคยเห็นข้อเขียนในสื่อกระแสหลักที่ถกเถียงถึงความจริงว่า อิสราเอลปฏิเสธโรดแมปนั้นทันที โดยมีสหรัฐฯ คอยหนุนหลัง. สหรัฐฯ กับอิสราเอลยอมรับมันอย่างเป็นทางการก็จริง แต่เพิ่มเงื่อนไขเข้าไป 14 ข้อ ซึ่งเท่ากับควักเอาสาระสำคัญของโรดแมปโยนทิ้งไปโดยสิ้นเชิง มันเกิดขึ้นทันที เป็นเรื่องที่รู้กันทั่วไป

ผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้ พูดถึงเรื่องนี้ รวมทั้งคนอื่น ๆ ด้วย แต่ผมไม่เคยเห็นสื่อกระแสหลักหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเอ่ยถึง เห็นได้ชัดว่า สหรัฐฯ กับอิสราเอลไม่ยอมรับข้อเสนอของสันนิบาตอาหรับหรือข้อเสนอใด ๆ ที่มีเนื้อหาจริงจัง. อันที่จริง สหรัฐฯ กับอิสราเอลคอยขัดขวางมตินานาประเทศที่ต้องการคลี่คลายปัญหาด้วยแนวทางการดำรงอยู่ของสองรัฐมาตลอดหลายทศวรรษ แต่กลับบอกว่ากลุ่มฮามาสต้องยอมรับเรื่องพวกนี้ก่อน

มันฟังไม่ขึ้นเลยแม้แต่น้อย ฮามาสเป็นพรรคการเมือง และพรรคการเมืองไม่มีหน้าที่รับรองประเทศอื่น ฮามาสเองก็ยืนยันชัดเจนมานานแล้ว ฮามาสปฏิบัติตามสัญญาหยุดยิงมาปีครึ่งแล้ว มันไม่ได้ตอบโต้การโจมตีของอิสราเอล และเรียกร้องให้มีสัญญาหยุดยิงระยะยาว ซึ่งจะเปิดทางให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยตามแนวทางของมตินานาประเทศ และข้อเสนอของสันนิบาตอาหรับ

ทั้งหมดนี้แจ่มแจ้ง มันอยู่ตรงหน้าชัด ๆ และนั่นเป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเกลียดชังอย่างลึกซึ้งของชนชั้นนำตะวันตกที่มีต่อระบอบประชาธิปไตย มันเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก แต่ยังมีตัวอย่างอื่นอีกนับไม่ถ้วน กระนั้นก็เถอะ ประธานาธิบดีของเราประกาศวาระเสรีภาพ และถ้าผู้นำที่รักยิ่งของเราพูดอะไรออกไป มันก็ต้องเป็นความจริง นี่มันสไตล์เดียวกับเกาหลีเหนือชัด ๆ ดังนั้น มันจึงมีวาระเสรีภาพ ทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานโต้แย้งเป็นภูเขาก็ตาม หลักฐานสนับสนุนเพียงอย่างเดียวที่มีคือลมปาก โดยไม่ต้องดูจังหวะเวลาด้วยซ้ำ

แชงค์: ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ค.ศ. 2008 ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งจะมีแนวทางเกี่ยวกับอิหร่านอย่างไร? คุณคิดว่าอิหร่านจะเป็นปัจจัยตัดสินในการเลือกตั้งหรือไม่?

ชอมสกี: สิ่งที่พวกเขาพูดมาจนถึงตอนนี้ยังไม่มีอะไรในแง่ดีนัก ผมยังคิดว่า แม้จะมีแนวโน้มอย่างยิ่ง แต่ไม่น่าเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะรุกรานอิหร่าน มันจะกลายเป็นความวินาศสันตะโรครั้งยิ่งใหญ่ ไม่มีใครรู้ว่าผลพวงที่ตามมาจะมีขนาดไหน. ผมคิดว่า มีแต่รัฐบาลที่จนตรอกจริง ๆ ถึงจะใช้วิธีนั้น แต่ถ้าผู้สมัครพรรคเดโมแครตมีแนวโน้มมากที่จะชนะการเลือกตั้ง คราวนี้รัฐบาลก็คงเข้าตาจน มันยังมีปัญหาอยู่กับอิรัก อยู่ก็ไม่ได้ ถอนตัวออกมาก็ไม่ได้

แชงค์: ดูเหมือนวุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตยังหาฉันทามติในประเด็นนี้ไม่ได้

ชอมสกี: ผมคิดว่ามีเหตุผลประการหนึ่ง เหตุผลนั้นก็คือ ลองคิดถึงผลที่ตามมาของการปล่อยให้อิรักเป็นอิสระและมีระบอบประชาธิปไตยในระดับหนึ่ง ผลที่ตามมาไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลย เราอาจตัดสินใจเอาหัวมุดทราย (8) และแกล้งทำเป็นนึกไม่ออก เพราะเราไม่ยอมให้มีการตั้งคำถามว่าทำไมสหรัฐอเมริกาถึงบุกเข้าไปแต่แรก แต่นั่นเป็นการทำลายตัวเองแท้ ๆ

แชงค์: มีอะไรบ้างไหมที่เชื่อมโยงการสนทนานี้กับเหตุผลว่า ทำไมเราจึงไม่สามารถสร้างเจตจำนงทางการเมือง และแรงขับเคลื่อนที่จะผลักดันกฎหมายเพื่อลดระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ วางรากฐานให้ระบบ cap-and-trade (9) ฯลฯ?

ชอมสกี: เห็นได้ชัดเจนว่าทำไมสหรัฐอเมริกาไม่ยอมลงนามในพิธีสารเกียวโต อีกนั่นแหละ มีเสียงสนับสนุนท่วมท้นจากประชาชนให้ลงนาม อันที่จริง เสียงสนับสนุนนั้นแข็งแกร่งมากจนผู้ลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่ให้บุชในการเลือกตั้ง ค.ศ. 2004 คิดว่า บุชเห็นด้วยกับพิธีสารเกียวโตเสียอีก เพราะมันเป็นเรื่องที่เห็นชัด ๆ ว่าควรสนับสนุน เสียงสนับสนุนของประชาชนให้แสวงหาพลังงานทางเลือกก็อยู่ในระดับสูงมาหลายปีแล้ว แต่มันทำร้ายกำไรของบรรษัท. ถึงที่สุดแล้ว บรรษัทนั่นแหละคือฐานเสียงที่แท้จริงของรัฐบาล

ผมจำได้ว่าเมื่อ 40 ปีก่อน ผมเคยคุยกับคนระดับผู้นำคนหนึ่งในรัฐบาลที่เกี่ยวข้องในนโยบายจำกัดอาวุธ การกดดันให้มีมาตรการควบคุมอาวุธ การผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างประเทศ ฯลฯ เขาอยู่ในระดับสูงมาก เรากำลังคุยกันว่าการจำกัดอาวุธมีโอกาสประสบความสำเร็จหรือไม่ เขาพูดขึ้นมาเป็นเชิงติดตลกว่า "มันคงประสบความสำเร็จ ถ้าอุตสาหกรรมไฮเทคสามารถทำกำไรจากการจำกัดอาวุธมากกว่าที่ทำได้จากการวิจัยและผลิตอาวุธ ถ้าเราก้าวไปถึงจุดเปลี่ยนแบบนั้นได้ การจำกัดอาวุธก็อาจประสบความสำเร็จ" เขาอาจพูดติดตลก แต่มีความจริงอยู่ทีเดียว

แชงค์: เราจะมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างไร โดยไม่เอาเปรียบซีกโลกใต้?

ชอมสกี: เคราะห์ร้ายที่กลุ่มประเทศยากจนซีกโลกใต้ จะต้องเป็นฝ่ายที่ประสบภัยพิบัติเลวร้ายที่สุดตามการคาดคะเนส่วนใหญ่ พอเป็นเช่นนั้น มันก็เลยทำลายการสนับสนุนของซีกโลกเหนือในการแก้ปัญหา ลองดูเรื่องโอโซนสิ ตราบที่เป็นปัญหาในซีกโลกใต้ มีการพูดถึงเรื่องนี้น้อยมาก แต่เมื่อไรค้นพบปัญหาเดียวกันในซีกโลกเหนือ จะต้องมีมาตรการออกมาทำอะไรสักอย่างทันที ตอนนี้มีการพูดกันว่า จะต้องใช้ความพยายามเต็มที่ในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรีย เพราะปัญหาโลกร้อนอาจทำให้โรคมาลาเรียลุกลามเข้าไปในประเทศร่ำรวย ดังนั้น จึงต้องทำอะไรสักอย่าง

ก็เหมือนกับเรื่องประกันสุขภาพ สำหรับประชาชนทั่วไป นี่เป็นประเด็นปัญหาภายในประเทศที่สำคัญที่สุดหรือเกือบที่สุดมาหลายปี และมีประชามติให้จัดตั้งระบบประกันสุขภาพแห่งชาติในรูปแบบเดียวกับประเทศอุตสาหกรรมอื่น ๆ อาจเป็นการขยายระบบ Medicare (ระบบประกันสุขภาพให้ผู้สูงอายุในสหรัฐฯ-ผู้แปล) ให้ครอบคลุมทุกคนหรืออะไรแบบนั้น แต่เรื่องนี้ไม่เคยอยู่ในวาระของรัฐบาล ไม่มีใครกล้าพูดเรื่องนี้ เพราะบริษัทประกันไม่ชอบระบบนี้ อุตสาหกรรมการเงินไม่ชอบระบบนี้ ฯลฯ

แต่ตอนนี้มีโอกาสเปิดขึ้นแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ อุตสาหกรรมการผลิตเริ่มหันมาสนับสนุนเรื่องนี้ เพราะมันได้รับผลเสียจากระบบประกันสุขภาพที่ไร้ประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิงของสหรัฐอเมริกา มันเป็นปัญหาที่แย่ที่สุดในโลกอุตสาหกรรมตอนนี้ เพราะอุตสาหกรรมต้องเป็นฝ่ายจ่ายเงินให้ เนื่องจากส่วนหนึ่งมันเป็นระบบที่นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย ต้นทุนการผลิตจึงสูงกว่าประเทศคู่แข่งที่มีระบบประกันสุขภาพแห่งชาติดีกว่า

ดู GM (General Motor)เป็นตัวอย่าง ถ้า GM ผลิตรถแบบเดียวกันในเมืองดีทรอยท์กับในเมืองวินด์เซอร์ที่อยู่ในประเทศแคนาดา มันจะประหยัดไป...ผมจำตัวเลขไม่ได้ ผมคิดว่ามากกว่า 1000 ดอลลาร์ ถ้าผลิตในวินด์เซอร์ ทั้งนี้เพราะที่นั่นมีระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ มันมีประสิทธิภาพมากกว่า ถูกกว่า ใช้ได้ผลดีกว่า

ดังนั้น อุตสาหกรรมการผลิตจึงเริ่มกดดันเพื่อเรียกร้องให้มีระบบประกันสุขภาพแห่งชาติแบบใดแบบหนึ่ง ตอนนี้มันเริ่มบรรจุเข้าไปเป็นวาระทางการเมือง ประชาชนต้องการมันหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สิ่งที่ประชาชน 90% ต้องการ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งของทุนบรรษัทรวมศูนย์ที่เป็นผู้บริหารตัวจริงในประเทศนี้ (นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่เราพูดออกมาดัง ๆ ไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องเห็นกันชัด ๆ) ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งในภาคธุรกิจเกิดเห็นชอบขึ้นมา ประเด็นนั้นก็จะถูกบรรจุเข้าไปอยู่ในวาระทางการเมืองทันที

แชงค์: ถ้าอย่างนั้น ทำอย่างไรซีกโลกใต้จึงจะส่งเสียงให้ได้ยินในวาระระหว่างประเทศบ้าง? เวทีสังคมโลกเป็นความหวังบ้างไหม?

ชอมสกี: เวทีสังคมโลกเป็นพื้นที่ที่สำคัญมาก แต่แน่ล่ะ มันไม่มีทางเป็นข่าวในโลกตะวันตก ผมจำได้ว่าอ่านอยู่บทความหนึ่ง ผมคิดว่าอยู่ใน ไฟแนนเชียลไทมส์ เป็นบทความเกี่ยวกับการประชุมใหญ่สองเวทีที่เกิดขึ้นพร้อมกัน เวทีหนึ่งคือ เวทีเศรษฐกิจโลก ในเมืองดาโวส, กับเวทีที่สองคือการประชุมในแฮร์เซลิเยาะห์ในอิสราเอล เป็นการประชุมของฝ่ายขวาในเมืองแฮร์เซลิเยาะห์ นั่นคือการประชุมสองเวทีที่เกิดขึ้น แน่นอน มีการจัดเวทีสังคมโลกในเมืองไนโรบี แต่นั่นเป็นแค่คนหลายหมื่นคนจากทั่วโลกมารวมตัวกันเท่านั้นเอง

แชงค์: ในเมื่อมีแนวโน้มที่จะสร้างภาพในเชิงลบให้แก่กลุ่ม G77 (10) ที่สหประชาชาติ จึงน่าสงสัยว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะส่งเสียงแสดงความวิตกกังวลให้ได้ยินได้อย่างไร

ชอมสกี: เสียงของโลกกำลังพัฒนาสามารถขยายให้ดังก้องได้ด้วยแรงสนับสนุนของประชาชนที่ร่ำรวย และมีอภิสิทธิ์ มิฉะนั้น เสียงของพวกเขาก็คงถูกกีดกันเหมือนทุก ๆ ประเด็นที่ผ่านมา

แชงค์: ดังนั้น มันก็ขึ้นอยู่กับพวกเรา
...................................................

เชิงอรรถ
(1) light water reactor เป็นเครื่องปฏิกรณ์ที่ใช้ผลิตพลังงานได้ แต่ใช้ผลิตอาวุธได้ยาก

(2) George Kennan (1904-2005) ชาวอเมริกันที่เป็นทั้งนักการทูต, ที่ปรึกษารัฐบาล, นักรัฐศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ เป็นบุคคลสำคัญที่วางนโยบายของสหรัฐฯ ในยุคสงครามเย็น ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของยุทธศาสตร์การปิดล้อม (containment) ที่ใช้ในการยับยั้งสิ่งที่เรียกว่า ทฤษฎีโดมิโน หรือทฤษฎีที่ว่าหากประเทศหนึ่งกลายเป็นคอมมิวนิสต์ จะมีประเทศอื่นเปลี่ยนแปลงการปกครองตามไปเหมือนการล้มของโดมิโน

(3) Arthur Schlesinger, Jr. (1917-2007) นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน เป็นผู้เขียนสุนทรพจน์ให้การรณรงค์ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครต และเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี เป็นผู้ยึดมั่นในลัทธิเสรีนิยม

(4) Monroe Doctrine นโยบายของสหรัฐฯ ที่เริ่มใช้ในสมัยประธานาธิบดีมอนโร สหรัฐฯ ประกาศว่า ประเทศมหาอำนาจในยุโรปไม่ควรล่าอาณานิคมหรือเข้ามาแทรกแซงกิจการของประเทศต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาอีก สหรัฐอเมริกาจะวางตัวเป็นกลางในสงครามระหว่างมหาอำนาจยุโรปกับอาณานิคมในที่อื่น ๆ แต่ถ้ามีสงครามเกิดขึ้นในทวีปอเมริกา สหรัฐอเมริกาจะถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐฯ

(5) Bolivarian alternative เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามซีโมน โบลิวาร์ วีรบุรุษของชาวละตินอเมริกาที่มีความใฝ่ฝันจะรวมภูมิภาคนี้เข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว

(6) อลัน การ์เซีย ประธานาธิบดี เปรู, อินาเซียว "ลูลา" ดา ซิลวา ประธานาธิบดี บราซิล, เอโว โมราเลส ประธานาธิบดี โบลิเวีย, ราฟาเอล คอร์รีอา ประธานาธิบดี เอกวาดอร์

(7) รายงานเบเกอร์-แฮมิลตัน หมายถึง The Iraq Study Group Report: The Way Forward - A New Approach ของ Iraq Study Group ที่สภาคองเกรสสหรัฐฯ มอบหมายให้จัดทำขึ้น เป็นการประเมินสภาพของสงครามอิรักมาจนถึงเดือนธันวาคม 2006 รายงานมีการเผยแพร่ทั้งในอินเตอร์เน็ตและตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม

(8) การเอาหัวมุดทรายเป็นคำเปรียบเปรยจากพฤติกรรมของนกกระจอกเทศ เวลามันตกใจกลัวจะเอาหัวมุดทราย

(9) cap-and-trade เป็นแนวคิดในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมตามแนวทางตลาดเสรี โดยคิดจะใช้แรงจูงใจทางเศรษฐกิจเพื่อลดการปล่อยมลพิษลง ตามแนวคิดนี้ จะมีการกำหนดเพดาน (cap) ของจำนวนมลพิษที่บริษัทหรือประเทศสามารถปล่อยออกมาได้ หากบริษัทหรือประเทศใดต้องการปล่อยมลพิษเกินเพดานที่กำหนดไว้ จะต้องซื้อเครดิตการปล่อยมลพิษจากบริษัทหรือประเทศอื่นที่ปล่อยมลพิษน้อย การซื้อขายเครดิตนี้เองคือการ trade

(10) G77 หมายถึงการรวมตัวกันเป็นพันธมิตรหลวม ๆ ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองในสหประชาชาติ กลุ่มประเทศที่ร่วมก่อตั้งมีทั้งหมด 77 ประเทศ แต่ปัจจุบันขยายไปเป็น 130 ประเทศ มีรูปแบบเดียวกับกลุ่ม G7 ที่ปัจจุบันมี 8 ประเทศ

+++++++++++++++++++++++++++++++

หมายเหตุ: รูปการ์ตูนข้างบนนั้น ชอมสกีกำลังยืนพิงเลข 1 เป็นภาพการ์ตูนที่เกิดมาจากการที่นิตยสาร Prospect เปิดให้มีการลงคะแนนเสียงในอินเตอร์เน็ตเมื่อปลายปี ค.ศ. 2005 เพื่อจัดลำดับปัญญาชนสาธารณะที่มีอิทธิพลต่อสังคมมากที่สุด. นอม ชอมสกี ได้รับคะแนนนำมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีอุมแบร์โต เอโก ตามมาเป็นอันดับสอง ด้วยคะแนนทิ้งห่างเกือบหนึ่งเท่าตัว. แม้ว่าการสำรวจความคิดเห็นแบบนี้อาจยังมีข้อบกพร่องหลายด้าน แต่อย่างน้อยก็สะท้อนว่า ถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าคนยุคไหนสมัยไหนก็ยังโหยหาปัญญาชนหัวแข็งที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และปัญหาสังคมบนจุดยืนของมโนธรรม


คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

อิหร่านมีทรัพยากรมหาศาลที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบพลังงานสำคัญในโลก และอิหร่านยังท้าทายสหรัฐอเมริกาด้วย ดังที่เรารู้กันดี สหรัฐอเมริกาเคยล้มล้างรัฐบาลในระบบรัฐสภา ค้ำบัลลังก์ทรราชที่ป่าเถื่อน และช่วยทรราชพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โครงการที่ตอนนี้มองกันว่าเป็นการคุกคาม ความจริงก็เป็นโครงการเดียวกับที่รัฐบาลสหรัฐฯ เคยให้การสนับสนุนมาก่อนในสมัยทศวรรษ 1970 โดยกลุ่มคนที่สนับสนุนก็คือเชนีย์, วูล์ฟโฟวิทซ์, คิสซิงเจอร์ ฯลฯ ในสมัยที่พระเจ้าชาห์ยังครองอำนาจ แต่ต่อมาชาวอิหร่านโค่นล้มพระเจ้าชาห์และจับตัวประกันอเมริกัน

07-03-2550

Chomsky on Iran, Iraq
The Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com