การเมืองภาคประชาชนและสังคมกับรัฐธรรมนูญใหม่
ข้อเสนอรัฐธรรมนูญใหม่
จากวงเล็บหนึ่งถึงวงเล็บสี่
ศ.ดร.นิธิ
เอียวศรีวงศ์
อาจารย์อาวุโส
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญชิ้นนี้
รวบรวมมาจากข้อเขียนของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์
จำนวน ๔ ชิ้น ซึ่งเคยเผยแพร่แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์มติชน
ประกอบด้วย เรื่องของผู้แทนราษฏร, พรรคการเมือง, การตรวจสอบนักการเมือง,
การประชาพิจารณ,์ สิทธิและเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร, เรื่องของสวัสดิการสังคม
ตลอดรวมไปถึงเรื่องของการออกแบบรัฐธรรมนูญที่กินได้
หรือรัฐธรรมนูญที่เป็นธรรมสำหรับประชาชน
(midnightuniv(at)gmail.com)
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๘๐
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๐๖ มีนาคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๑๔.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
ข้อเสนอรัฐธรรมนูญใหม่วงเล็บหนึ่งถึงวงเล็บสี่
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
รัฐธรรมนูญใหม่ (1)
ส.ส. พรรคการเมือง และการตรวจสอบของประชาชน
ประชาธิปไตยกับการเมืองภาคพลเมือง
ความเป็นประชาธิปไตยนั้นขึ้นอยู่กับการเมืองภาคพลเมืองมากกว่าการเมืองภาคนักการเมือง
แม้กระนั้นสองส่วนนี้ก็เชื่อมโยงกัน อย่างชนิดที่แยกออกจากกันไม่ได้ การจัดการเมืองภาคนักการเมืองในลักษณะที่พลเมืองสามารถตรวจสอบควบคุมได้
จึงเป็นแกนหลักของรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย
จริงอยู่อำนาจและสมรรถภาพที่ประชาชนจะสามารถตรวจสอบควบคุมนักการเมือง ไม่ได้มาจากรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีเครื่องมือที่ดีอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย นับตั้งแต่เข้าถึงข่าวสารข้อมูลได้รอบด้าน (มีสื่อที่ดี) ได้เรียนรู้ในชีวิตอยู่ตลอดเวลา (มีระบบการศึกษาเรียนรู้ที่ดี) และมีอำนาจจัดการทรัพยากรในระดับที่นักการเมืองต้องต่อรองอย่างจริงจังกับประชาชน (มีการกระจายอำนาจบริหารถึงมือประชาชนจริง) แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ยาก หรือถึงเกิดขึ้นได้ ก็ทำงานถ่วงดุลได้ยาก หากไม่จัดการเมืองภาคนักการเมืองให้ตอบสนองต่อภาคพลเมืองอย่างได้ประสิทธิผล
หน้าที่หลักของ ส.ส. คือผู้สะท้อนปัญหาที่เกิดในชีวิตจริง
ส.ส.ควรมีจำนวนรวมเท่าไร และควรแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างไร ไม่ควรมุ่งเป้าหมายที่ขจัดการซื้อเสียง,
ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล หรือประกันความมั่นคงของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่หน้าที่หลักของ
ส.ส.คือเป็นผู้สะท้อนปัญหาที่เกิดในชีวิตจริงของชาวบ้านให้รัฐและสังคมรับรู้
จนนำไปสู่การแก้ไข
แทบจะกล่าวได้ว่า หลังการรัฐประหาร พ.ศ.2500 เป็นต้นมา หน้าที่หลักอันนี้ของ ส.ส.หายไปหรือถูกลดความสำคัญในรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ตามมา (ด้วยเงื่อนไขที่ทำให้ ส.ส.ทำงานด้านนี้ได้ยากขึ้น เช่น ให้อำนาจพรรคในการกำหนดการทำหน้าที่ของ ส.ส.มากเกินไป เป็นต้น) ความเป็น ส.ส.หมายถึงคะแนนเสียงของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายค้าน สำหรับการชิงไหวชิงพริบกันทางการเมืองในสภาเท่านั้น และนี่คือ "ราคาและค่า" ของ ส.ส.ในการเมืองไทย ไม่ใช่ความเป็นตัวแทนของประชาชนในเขตเลือกตั้งของตน ที่จะต่อรองกับคนกลุ่มอื่นจากฐานผลประโยชน์และโลกทรรศน์ของประชาชนอีกต่อไป
ฉะนั้นจึงเป็นธรรมดาที่ ส.ส.ย่อมกลายเป็นผู้นำของเครือข่ายอุปถัมภ์ในท้องถิ่น ซึ่งสามารถคุมคะแนนเสียงในเขตเลือกตั้งของตนได้ด้วยเงินหรืออิทธิพล หาก ส.ส.ได้อยู่ฝ่ายเดียวกับรัฐบาล ย่อมสามารถดึงทรัพยากรส่วนกลางเข้ามาในท้องถิ่นได้สะดวกและมากกว่า หล่อเลี้ยงเครือข่ายอุปถัมภ์ของตนให้เติบโตเข้มแข็งขึ้น ในขณะที่ประชาชนย่อมมองไม่เห็นคุณค่าของ ส.ส.มากไปกว่า "ราคา"
น่าสังเกตว่า การเคลื่อนไหวของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านเขื่อน, โรงไฟฟ้า, นิคมอุตสาหกรรม, เอฟทีเอ, อุทยานแห่งชาติ, เหมืองโปแตช, เหมืองเกลือ, พนังกันน้ำท่วม, ฯลฯ ไม่เคยมี ส.ส.เข้าไปศึกษาเก็บข้อมูลแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประชาชนที่เคลื่อนไหวเลย (นอกจากเข้าไปในฐานะนายหน้าให้แก่โครงการ) ไม่ได้หมายความว่า ส.ส.ต้องเข้าไปร่วมเคลื่อนไหวกับชาวบ้านเสมอไป แต่ตัวแทนที่จะสะท้อนปัญหาของชาวบ้านให้แก่รัฐหายไปเช่นนี้ จะเหลือช่องทางอะไรให้แก่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ นอกจากการประท้วงสาธารณะ ในขณะที่โครงการของรัฐย่อมถูกตัดสินบนฐานผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม และมักเฉพาะกระเป๋าของบุคคลด้วย
การทำหน้าที่เช่นนี้ของ ส.ส.ไม่กระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองแต่อย่างใด เราควรมองเสถียรภาพทางการเมืองให้กว้างกว่ามือที่ยกสนับสนุนรัฐบาลในสภา ฐานของเสถียรภาพของรัฐบาลที่แท้จริงอยู่ที่การสนับสนุนของประชาชน รัฐบาลทักษิณทำได้สำเร็จเป็นรัฐบาลแรก ด้วยวิธีทางการตลาดซึ่งมุ่งที่ความนิยมในสินค้าเป็นหลัก ไม่ได้มุ่งประโยชน์สุขของผู้บริโภคเป็นธรรมดา
ถ้าอยากจะลดอิทธิพลของวิธีทางการตลาดในการเมืองลงบ้าง ก็ต้องทำให้ ส.ส.เป็นตัวแทนประชาชนทุกกลุ่ม และสามารถสะท้อนปัญหาของประชาชนกลุ่มต่างๆ เข้ามาเพื่อการต่อรองในการวางนโยบายสาธารณะได้จริง
เขตเลือกตั้งควรกว้างแค่ไหน จึงต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ ส.ส.จะสามารถเข้าไปสัมผัสกับประชาชนได้โดยตรง ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ว่าเขตเลือกตั้งจะกว้างหรือแคบแค่ไหน การสร้างและรักษาเครือข่ายอุปถัมภ์ในปัจจุบันสามารถครอบคลุมได้เกือบทั้งนั้น (ขนาดสามารถซื้อ ส.ส.ได้เป็นหลายๆ จังหวัด) จึงไม่มีเครื่องมือทางกฎหมายใดๆ ที่จะขจัดการซื้อเสียง (ทั้งโดยตรงและอ้อม) ได้จริง นอกจากทำให้นักการเมืองเป็นเครื่องมือการต่อรองที่แท้จริงของชาวบ้าน เมื่อนั้นก็ไม่มีใครอยาก "ขายเสียง" ด้วยเงินจำนวนน้อยนิดแค่นั้นอีกต่อไป
ในส่วนการควบคุมพฤติกรรมของ ส.ส.ในสภา การ "ซื้อเสียง" กับการ "ขายตัว" เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน
พรรคการเมืองคืออะไร
ตลอดเวลาที่ผ่านมาในรัฐธรรมนูญหลายฉบับ เราฝากการควบคุม ส.ส.ไว้กับพรรคการเมือง
แต่พรรคการเมืองคืออะไร สรุปก็คือเอเย่นต์ของนายทุน หรือนายทุนรวมตัวกันตั้งพรรคขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง
พรรคการเมืองนั่นแหละที่เป็นผู้รวบรวมทุนไว้สำหรับการ "ซื้อเสียง"
กับซื้อนักการเมือง และพรรคการเมืองนั่นแหละที่เป็นนายหน้าสำคัญสำหรับการ "ขายตัว"
ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะฝากการควบคุมพฤติกรรมของ ส.ส.ไว้กับพรรคการเมือง
ยิ่งให้อำนาจพรรคการเมืองมาก ก็ยิ่งกีดกันมิให้ ส.ส.น้ำดีบางคนได้ตรวจสอบฝ่ายบริหารอย่างได้ผล ในทางตรงกันข้ามไม่ได้ป้องกันมิให้นักการเมือง "ขายตัว" แต่อย่างใด หากกฎหมายบังคับให้ขายขาดในสี่ปี ก็ราคาแพงหน่อย หากกฎหมายอนุญาตให้ขายเป็นเรื่องๆ ได้ ก็ราคาถูกลงมาหน่อย
ประเด็นว่ามี ส.ส.อิสระได้หรือไม่ จึงไม่เกี่ยวกับการ "ขายตัว" โดยตรง เพราะถึงอย่างไรก็มีการ "ขายตัว" เหมือนเดิม เพียงแต่ขายเหมาหรือขายปลีกเท่านั้น ฉะนั้นการเปิดให้มี ส.ส.ที่ไม่สังกัดพรรคจึงไม่มีอะไรเสียหายมากไปกว่าที่เป็นอยู่ แต่ยังอาจได้ข้อดีบางอย่างของ ส.ส.อิสระด้วย
อำนาจของพรรคการเมืองเหนือ ส.ส.ควรมาจากของจริง ไม่ใช่บัญญัติของกฎหมายลอยๆ และของจริงที่ว่าก็คือชื่อของพรรคการเมืองต้องมีความสำคัญในการเลือกตั้งมากกว่าตัวบุคคล พรรคประชาธิปัตย์สามารถทำเช่นนั้นได้ในภาคใต้, พรรค ทรท.ทำได้ในภาคเหนือและอีสาน, แม้ว่าทั้งสองพรรคไม่ได้บริสุทธิ์จากการซื้อเสียงเสียทีเดียวนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชื่อของพรรคมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเงิน
ในระยะยาว พรรคการเมืองที่จะเหลือรอดอยู่ได้ต้องพัฒนาไปในทิศทางนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราอาจเขียนรัฐธรรมนูญสนับสนุนให้พรรคการเมืองพัฒนาไปในทางนี้ แต่ไม่ควรเขียนรัฐธรรมนูญให้อำนาจพรรคการเมืองประหนึ่งว่าพรรคการเมืองได้เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว ถ้าพรรคการเมืองเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว ก็เกิดอำนาจในการควบคุม ส.ส.ของตนได้เอง โดยไม่ต้องมีกฎหมายรับรองสักฉบับเดียว
ประชาชนควรมีส่วนในการตรวจสอบ
ส.ส.
เราไม่เคยไว้วางใจประชาชนว่าควรเข้ามามีส่วนในการตรวจสอบ ส.ส.ที่ตนเลือกเข้าไป
รัฐธรรมนูญ 2540 เปิดให้ประชาชน 50,000 คนเริ่มกระบวนการพิจารณาไต่สวน ส.ส.ได้
แต่กระบวนการพิจารณาไต่สวนหลุดจากมือประชาชนไปอยู่ในมือขององค์กรอิสระและวุฒิสภา
ซึ่งประชาชนควบคุมอะไรไม่ได้เลย
จึงควรคิดกลไกและกระบวนการอันหลากหลายที่ประชาชนจะสามารถเข้ามาคุม ส.ส.ได้โดยตรง และหนึ่งในกลไกกระบวนการดังกล่าวน่าจะเป็นการให้สิทธิการถอนคืนผู้แทน (ที่จริงควรรวมตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมด) แก่ประชาชนโดยตรง เช่นประชาชนในเขตเลือกตั้งจำนวนหนึ่ง มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ลงมติถอนคืนผู้แทนของตนได้ หากในการลงมติปรากฏว่า ส.ส.คนนั้นได้คะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง เป็นต้น
การย้ายพรรค, การ "ขายตัว", การป่วนเพื่อเรียกเงิน ฯลฯ อาจทำได้ยากขึ้น เพราะอาจถูกประชาชนหรือฝ่ายตรงข้าม จัดการให้เกิดการลงมติถอนคืนได้ ในขณะเดียวกันก็บังคับให้ ส.ส.ต้องตอบสนองประชาชนในเขตเลือกตั้งของตนหลากหลายกลุ่มมากขึ้นกว่าเครือข่ายอุปถัมภ์ของตน
ส.ส.อิสระหรือ ส.ส.สังกัดพรรคจะต้องอยู่ในความควบคุมของประชาชนมากขึ้น ส.ส.พรรคต้องมีภาระรับผิดชอบทั้งแก่ประชาชนและพรรคไปพร้อมกัน เพราะพรรคเป็นพลังช่วยให้ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง และพรรคย่อมมีพลังที่จะบั่นทอนคะแนนเสียงในการลงมติถอนคืนเหมือนกัน และนี่คืออำนาจควบคุม ส.ส.ของพรรคซึ่งโดยตัวของมันเองต้องถูกประชาชนตรวจสอบได้ตลอดเวลา ไม่ใช่อำนาจที่ได้จากกฎหมายโดยประชาชนไม่อาจตรวจสอบได้เลยว่า พรรคใช้อำนาจนั้นไปในทางฉ้อฉลหรือไม่เพียงใด
ในทางตรงกันข้าม อำนาจของพรรคในการควบคุมการลงมติของ ส.ส.ในสภาก็ไม่จำเป็น ส.ส.อาจลงมติตามมโนธรรมของตนเอง หากเป็นมโนธรรมที่ดีและมีประโยชน์ต่อประชาชนจริง ส.ส.ก็กล้าที่จะเผชิญกับการลงมติถอนคืนตำแหน่งได้
เราควรเลิกทำให้การเลือกตั้งเป็นการแจกตั๋วให้ไปปู้ยี่ปู้ยำอย่างไรก็ได้ฟรีสี่ปีเสียที ผู้ได้รับเลือกตั้งไม่มีวันขาดจากการควบคุมดูแลของประชาชนตลอดไป
รัฐธรรมนูญใหม่ (2)
ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และการตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยประชาชน
ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ
ก่อนจะตัดสินใจว่า ควรมี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อหรือไม่ น่าจะหันกลับไปดูว่า ส.ส.ร.ชุด
2539 คิดถึงเรื่องนี้อย่างไร เหตุใดจึงกำหนดให้มี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ
แม้ว่า ส.ส.ร.ชุดนั้นวิตกกังวลกับการซื้อเสียงในการเลือกตั้งมาก (เกินจำเป็นในทรรศนะของผม) แต่การกำหนดให้มี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อไม่ได้มีเจตนาจะขจัดการซื้อเสียง เท่าที่ผมตรวจดูจากคำอภิปรายของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างฯ และของสภาร่างฯ สรุปได้ดังนี้
(ก) จากการประชาพิจารณ์ในหลายจังหวัด พบว่าประชาชนต้องการจะเลือกนายกฯ โดยตรง แทนที่จะปล่อยให้มีการฮั้วกันในสภา แต่การเลือกนายกฯโดยตรง (อันเป็นข้อเสนอของนักรัฐศาสตร์ท่านหนึ่งนานมาแล้ว) ในทรรศนะของ ส.ส.ร.เห็นว่าไม่สู้จะเหมาะสมกับประเทศไทยนัก ท่านไม่ได้อภิปรายเหตุผลให้ทราบชัดว่าเพราะอะไร แต่ผมเดาเอาเองว่า หากนายกฯมีฐานะความชอบธรรมที่เป็นอิสระของตนเอง สภาจะคุมไม่อยู่, สังคมก็คุมไม่อยู่ และเท่ากับพระบรมราชโองการแต่งตั้งไร้ความหมาย
ฉะนั้น กรรมาธิการยกร่างฯจึงประนีประนอมด้วยการให้เลือก ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และย่อมเป็นธรรมดาที่ ส.ส.ซึ่งจะเป็นนายกฯ และรัฐมนตรีย่อมคัดมาจาก ส.ส.ประเภทนี้ เพราะสามารถเลื่อนผู้สมัครอันดับต่อไปขึ้นมาเป็น ส.ส.แทนได้ แน่ใจได้ว่าพรรคจะไม่เสียเสียงในสภาไปเมื่อจัดตั้งรัฐบาล และย่อมเป็นธรรมดาอีกเช่นกันที่หัวหน้าพรรคซึ่งคิดจะดำรงตำแหน่งนายกฯ ย่อมจัดตัวเองไว้ในบัญชีผู้สมัครอันดับหนึ่ง ซึ่งเท่ากับบอกประชาชนให้รู้ว่า หากเลือกพรรคนั้นพรรคนี้แล้ว โอกาสที่คนนั้นคนนี้จะเป็นนายกฯ ก็เพิ่มสูงขึ้นนอกจากนี้ ยังเท่ากับว่า นายกฯมาจากเสียงสนับสนุนของประชาชนทั่วประเทศ
(ข) เสียงข้างน้อยในการเลือกตั้ง ซึ่งพ่ายแพ้แก่ผู้สมัครเสียงข้างมาก แท้จริงแล้วมีจำนวนมากโขอยู่ แต่เขากลับเป็นผู้ไร้เสียงหรือไร้ตัวแทน ส.ส.ร.ชุดนั้นจึงหวังว่า ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่ออาจถ่วงดุลเสียงข้างมาก หรือเป็นเหมือนตัวแทนของเสียงข้างน้อย เพราะพรรคการเมืองหนึ่งอาจพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต แต่ได้คะแนนเสียงจากระบบบัญชีรายชื่อพอสมควร เป็นต้น
(ค) เปิดโอกาสให้คนดีคนเก่งได้เข้ามาทำงานให้แก่บ้านเมือง
(ง) เหตุผลที่ดีที่สุดในทรรศนะของผมก็คือ การเลือก ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อนั้น ประชาชนต้องเลือกพรรคเป็นหลัก เพราะบุคคลในบัญชีแม้เป็นผู้มีชื่อเสียง แต่ก็ไม่ได้สัมผัสโดยตรงกับประชาชนในท้องถิ่น บังคับให้พรรคการเมืองต้องมีนโยบายที่ตอบสนองปัญหาของประเทศโดยรวม ไม่ใช่เฉพาะท้องถิ่นหรือเฉพาะเรื่อง ที่ผ่านมาปัญหาระดับชาติกลับไม่ค่อยได้รับความสนใจจากพรรคการเมือง ปล่อยให้ระบบราชการและเทคโนแครตเป็นผู้จัดการตลอดมา ส.ส.ร.หวังว่าหากกำหนดเช่นนี้แล้ว พรรคการเมืองจะเข้ามาวางนโยบายตอบปัญหาระดับชาติ
และด้วยเหตุผลนี้ ที่ประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างฯ จึงลงมติไม่รับข้อเสนอของสมาชิกบางท่าน ที่ให้ซอยบัญชีย่อยลง เป็นแต่ละภาคหรือแต่ละกลุ่มจังหวัด ทั้งๆ ที่ยอมรับว่า ระบบสื่อสารมวลชนของเราย่อมทำให้ประชาชนรู้จักแต่บุคคลจากส่วนกลางเท่านั้น แต่ยอมให้เติมข้อความว่าในการจัดทำบัญชีรายชื่อนั้นให้คำนึงถึงการกระจายไปทุกภูมิภาคอย่างเป็นธรรม (น่าสังเกตว่าไม่ได้พูดถึงการกระจายตามเพศและกลุ่มอาชีพ)
ผมคิดว่าเหตุผลทั้งหมดเหล่านี้ถูกพิสูจน์ในเวลาต่อมาเมื่อใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นจริงแล้วว่า ไม่เป็นไปตามความคาดหวังสักอย่างเดียว และคนที่มองการณ์ไกลได้ทะลุปรุโปร่งคือ คุณแคล้ว นรปติ, เสือเฒ่าทางการเมือง
คุณแคล้วบอกว่า ยิ่งมี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อก็ยิ่งจะทำให้ซื้อเสียงหนักขึ้นไปอีก เพราะนายทุนและเจ้าพ่อที่อยากเป็น ส.ส.ในระบบนี้เพื่อไต่ขึ้นไปเป็น รมต.ย่อมลงทุนอย่างหนักแก่ผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขต ส.ส.ระบบบัญชีซึ่งกลายเป็น รมต.โยงใยกับ ส.ส.ในสภาในเครือข่ายอุปถัมภ์อย่างแน่นแฟ้นเช่นนี้ สภาจะเข้ามาตรวจสอบฝ่ายบริหารได้อย่างไร
ส่วนการให้ประชาชนเลือกนายกฯโดยตรงนั้น ก็ไม่ได้เป็นไปดังที่คาดหวัง คงจำได้ว่าในการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์เคลื่อนไหวเพื่อจะรวมพลังจากทุกพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเอง ทั้งๆ ที่พรรค ทรท.ได้คะแนนเสียงท่วมท้น แม้ไม่ถึงกึ่งหนึ่งก็ตาม แต่หัวหน้าพรรคคือคุณชวน หลีกภัย ปฏิเสธที่จะสนับสนุนแนวทางที่ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเช่นนั้น การเคลื่อนไหวจึงต้องยุติลง หากพรรค ทรท.ได้เสียงข้างมากไม่ถึงกับที่ได้มา ก็ไม่แน่ว่าผู้สมัครตามบัญชีรายชื่อหมายเลขหนึ่งของพรรคจะได้เป็นนายกฯ
อันที่จริง แม้ไม่มี ส.ส.ในระบบนี้ การหาเสียงของพรรคการเมืองหลังสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นต้นมา ก็ระบุชัดเจนอยู่แล้วว่า เลือกพรรคใดเพื่อจะเอาใครเป็นนายกฯ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์, ชาติไทย, หรือความหวังใหม่ ก็แสดงให้เห็นชัดอยู่แล้วว่า จะเอาคุณชวน, คุณบรรหาร หรือพลเอกชวลิต เป็นนายกฯ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อจึงไม่ได้ทำความแตกต่างในเรื่องนี้แต่อย่างใด
สิทธิของเสียงข้างน้อยอยู่ที่ภาคสังคม
ส่วนสิทธิของเสียงข้างน้อยนั้น การณ์ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง เพราะสัดส่วนของคะแนนเสียงในระบบเขตกับระบบบัญชีรายชื่อมักสอดคล้องกัน
ในขณะที่รัฐธรรมนูญกลับบัญญัติให้เสียงข้างน้อยในสภาทำอะไรได้ไม่สู้มากนัก แท้ที่จริงแล้วสิทธิของเสียงข้างน้อยนั้นมีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตยเสียยิ่งกว่าเสียงข้างมากเสียอีก
(เสียงข้างมากย่อมดังกว่าเสมอ แม้ในซ่องโจร) แต่กลไกทางการเมืองในระบบย่อมต้องอาศัยเกณฑ์เสียงข้างมากเป็นธรรมดา
เสียงข้างน้อยจะดังได้เท่าใดจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับกลไกทางการเมืองในระบบ แต่อยู่ที่กลไกทางการเมืองในภาคสังคม เช่น สิทธิการประท้วง, สิทธิเสรีภาพของสื่อ (ซึ่งต้องใช้อย่างมีกึ๋น), สิทธิการสื่อสาร, สิทธิเสรีภาพทางวิชาการ, สิทธิในการยับยั้งระดับหนึ่ง, สิทธิในการเข้าถึงระบบความยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ, ฯลฯ ฉะนั้น หากห่วงเรื่องสิทธิของเสียงข้างน้อย ต้องหันมาทำให้สิทธิเหล่านี้ (ซึ่งรับรองไว้แล้วในรัฐธรรมนูญ 2540) ได้รับการประกันอย่างแข็งแรงให้มากขึ้นไปอีกเท่านั้น
ทุกๆ คนสามารถรับใช้บ้านเมืองได้
ไม่ใช่แค่นักการเมือง
ส่วนการเปิดโอกาสให้คนดีคนเก่งเข้ามาทำงานรับใช้บ้านเมืองนั้น ก็จริงในแง่ที่ได้เป็น
ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อโดยเกาะไปกับชื่อเสียงของพรรค แต่เพราะต้องอาศัยพรรค (หรือหัวหน้าพรรค)
จนหมดตัวนี้เอง จึงไม่แน่ว่าจะสามารถใช้ความดีความเก่งของตัวไปได้สักเท่าไร ท่ามกลางการเมืองภายในพรรคที่เรารู้ๆ
กันอยู่
ข้อสำคัญกว่านั้นก็คือ ทำไมจึงมีแต่การเมืองเท่านั้นหรือที่เป็นการรับใช้บ้านเมือง ช่างตัดผมที่ฝีมือดี ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ และให้บริการที่ดีแก่ลูกค้าของตัว ไม่ได้รับใช้บ้านเมืองหรอกหรือ? นี่ยังไม่พูดถึงนายทุน, ศิลปิน, วิศวกร, ชาวนา, นักวิชาการ, นักหนังสือพิมพ์, แรงงาน, หาบเร่ ฯลฯ ซึ่งปราศจากการอุทิศตนของคนเหล่านั้นให้แก่งานการที่ตัวทำอยู่ ชาติของเราจะเป็นอย่างที่เป็นอยู่เวลานี้หรือ ผมนึกอย่างไรก็นึกไม่ออกว่า สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งไม่เคยเป็น ส.ส.ทำประโยชน์แก่บ้านเมืองน้อยกว่าเสรี สุวรรณภานนท์ อย่างไร
พรรคการเมืองกับการตอบปัญหาระดับชาติ
ส่วนเหตุผลที่ดีที่สุดคือการบังคับให้พรรคการเมืองต้องตอบปัญหาระดับชาติโดยรวมนั้น
ผมไม่แน่ใจว่าประสบความสำเร็จ พรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่กระทำประหนึ่งว่าตอบปัญหาระดับนี้คือ
ทรท. ในขณะที่พรรคคู่แข่งทุกพรรคไม่ได้พยายามแข่งขันในทำนองเดียวกัน ในขณะที่
ทรท.ถูกมองว่า "เฉพาะกิจ"บ้าง, เป็น "ปรากฏการณ์ทักษิณ"
บ้าง ซึ่งล้วนหมายถึงข้อยกเว้นที่เกิดขึ้นชั่วคราวในสถานการณ์พิเศษอย่างหนึ่งทั้งนั้น
แปลว่าไม่มีพรรคการเมืองใดจะเดินตามรอยนั้นอีก
นอกจากนี้ แม้แต่นโยบายของ ทรท.เอง ก็ไม่สู้จะชัดนักว่าเป็นการตอบปัญหาระดับชาติโดยรวม หลายนโยบายของพรรคดูประหนึ่งว่า จะหันเหประเทศไปสู่บางมิติของรัฐสวัสดิการ แต่รัฐสวัสดิการทำงานได้เพราะสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการและบริหารโครงการ (เช่น สหกรณ์ ซึ่งอาจเป็นผู้บริหารโครงการสวัสดิการบางอย่างแทนรัฐ) แต่นโยบายของ ทรท.ก็ไม่ได้เน้นการสร้างและส่งเสริมองค์กรภาคสังคมเพื่อรองรับโครงการรัฐสวัสดิการ ฉะนั้น จึงดูเหมือนตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชนระดับรากหญ้าเป็นเรื่องๆ ไป เพื่อการหาเสียงมากกว่านโยบายที่จะตอบปัญหาระดับชาติโดยรวม
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ส.ส.ร.ชุดนั้นมุ่งหวังในเรื่องนี้ อาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในการเลือกตั้งเพียงสองครั้ง แต่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานกว่านั้น ก่อนที่พรรคการเมืองจะค่อยๆ ปรับตัวไปสู่สมรรถนะที่จะตอบปัญหาระดับชาติโดยรวมได้ และแข่งขันกันเชิงนโยบายหลักใหญ่ๆ เหล่านี้ จะมีหรือไม่มี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อก็ตาม เราจึงไม่ควรลืมการวางกลไกที่จะทำให้พรรคการเมืองพัฒนาไปสู่จุดที่เป็นความคาดหวังของ ส.ส.ร.ชุดนั้นในเรื่องนี้
แม้ผมมองไม่เห็นว่า ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อจะให้คุณประโยชน์อย่างที่ ส.ส.ร.ชุดนั้นมุ่งหวังสักอย่างเดียว แต่ผมไม่แน่ใจที่จะพูดว่า เราไม่ควรมี ส.ส.ระบบนี้อีกต่อไป เพราะอาจมีคุณประโยชน์บางอย่างซึ่งผมมองไม่เห็นอยู่กับ ส.ส.ระบบนี้ด้วย เช่นไม่นานมานี้เอง มีนักวิชาการท่านหนึ่งบอกผมว่า ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่ออาจทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งขึ้น หรือทำอะไรทางการเมืองที่ดีกว่าการซื้อเสียงและระดมทุน เพราะประชาชนถูกบังคับให้เลือกพรรค จึงจำเป็นที่พรรคต้องพัฒนาตนเองให้เป็นตัวแทนของความต้องการบางอย่างของประชาชนบ้างเป็นต้น นอกจากนี้ ยังอาจมีคุณประโยชน์อื่นๆ อีก ซึ่งประสบการณ์การมี ส.ส.ระบบนี้มา 6 ปีน่าจะบอกอะไรแก่เราได้บ้าง จึงน่าจะคิดกันให้ดีก่อนจะยกเลิกไป
การตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยประชาชน
การบังคับให้ ส.ส.ลาออกก่อนรับตำแหน่งนั้น มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ฝ่ายบริหารมีเสถียรภาพมากขึ้นและเข้มแข็งมากขึ้น
พอจะกล้าตัดสินใจโดยคำนึงถึงปัจจัยทางการเมืองในระบบน้อยลง (และจากประวัติของฝ่ายบริหารภายใต้รัฐธรรมนูญ
40 ก็พิสูจน์ว่าได้ผล) เรายังอยากได้ฝ่ายบริหารแบบนั้นหรือไม่?
ผมอยากได้ แต่ก็อยากให้ฝ่ายบริหารถูกตรวจสอบถ่วงดุลได้ง่ายขึ้นด้วย แม้การตรวจสอบอาจไม่ทำลายเสถียรภาพของรัฐบาล แต่ก็ทำลายความชอบธรรมทางการเมืองลงได้ ซึ่งจะมีผลต่อสมรรถภาพการบริหารของรัฐบาลเอง (และผลการเลือกตั้ง) การแก้รัฐธรรมนูญให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลในระบบได้ง่ายขึ้นเป็นเพียงครึ่งเดียวของการแก้ปัญหา อีกครึ่งหนึ่งคือสังคม, สื่อที่มีอิสระ เสรี (และกึ๋นด้วย - อย่าลืม เพราะเสรีภาพที่ขาดกึ๋นก็ไม่ค่อยมีประโยชน์นัก), สิทธิการเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นต้น ฉะนั้น จึงไม่ควรมองแต่การตรวจสอบรัฐบาลจากฝ่ายค้านเพียงเรื่องเดียว
รัฐธรรมนูญใหม่ (3)
การตรวจสอบ ประชาพิจารณ์ และสิทธิด้านข้อมูลข่าวสาร
การตรวจสอบถ่วงดุลโดยกลไกการเมือง
และภาคประชาสังคม
ปัญหาที่วิตกกันมากในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็คือ หากฝ่ายบริหารมีความเข้มแข็ง
จะถูกตรวจสอบได้อย่างไร? รัฐธรรมนูญ 40 ได้สร้างกลไกการตรวจสอบฝ่ายบริหารเอาไว้ดีพอสมควร
คือองค์กรอิสระและวุฒิสภา ในขณะที่เปิดให้ประชาชนสามารถผลักดันการตรวจสอบได้บ้าง
เช่น ยื่นถอดถอนบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบางตำแหน่ง แต่ก็ยังต้องอาศัยมือขององค์กรอิสระและ/หรือวุฒิสภาในการถอดถอนอยู่นั่นเอง
อาจนับว่าเป็นครั้งแรกในการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ความต้องการมีฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง ไม่ได้เกิดจากความต้องการผดุงอำนาจของกลุ่มเผด็จการให้ยั่งยืน แต่เพื่อแก้ปัญหาที่ประเทศต้องเผชิญตลอดมา คือรัฐบาลขาดเสถียรภาพและกำลังพอจะริเริ่มนโยบายใหม่ๆ หรือปรับปรุงแก้ไขปัญหาอย่างถึงรากถึงโคน ต้องปล่อยให้ปัญหาหมักหมมและยุ่งเหยิงซับซ้อนมากขึ้นตลอดมา
อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญ 40 เป็นเงื่อนไขแรกของการ "ปฏิรูปการเมือง" คือวางกติกาที่จะทำให้การปฏิรูปเกิดขึ้นได้ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน และเป็นธรรมดาที่ในการปฏิรูป ย่อมมีแรงเสียดทานจากฝ่ายที่เสียผลประโยชน์อยู่ไม่น้อย รัฐธรรมนูญฉบับนั้นจึงออกแบบให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งเพื่อนำการปฏิรูป
ความหวังของผู้ร่างรัฐธรรมนูญและกลไกที่จัดวางไว้ไม่บรรลุเป้าหมาย การปฏิรูปที่แท้จริงไม่เกิดขึ้นมากไปกว่า การเบนงบประมาณไปยังคนระดับล่างมากขึ้น เพื่อสร้างฐานมวลชนสำหรับพรรคการเมือง โดยไม่แตะด้านโครงสร้างที่ทำให้คนระดับล่างเสียเปรียบเลย ในขณะที่กลไกที่จัดวางไว้เพื่อตรวจสอบฝ่ายบริหารถูกอำนาจทางการเมืองและเงินแทรกแซง จนไม่ทำงานอย่างที่ควร
วุฒิสภาซึ่งมีหน้าที่แต่งตั้งองค์กรอิสระเองก็ถูกแทรกแซง จนกระทั่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระกันตามใบสั่ง ฉะนั้น วุฒิสภาจึงเป็นเป้าสำคัญที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบันมุ่งจะแก้ไขปรับเปลี่ยนมากที่สุด ในขณะที่วางแผนจะให้สมาชิกขององค์กรอิสระมีที่มาหลากหลายทางมากขึ้น
สิ่งที่รัฐธรรมนูญ 40 จัดวางการตรวจสอบถ่วงดุลไว้อีกทางหนึ่ง แต่ก็ทำด้วยความลังเล คือภาคประชาสังคม รัฐธรรมนูญฉบับนั้นให้สิทธิแก่ประชาชนในการริเริ่มกระบวนการตรวจสอบได้ แต่เมื่อกระบวนการเริ่มขึ้นแล้ว ก็จะหลุดจากมือของประชาชนไป อีกด้านหนึ่งคือประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการปกป้องทรัพยากรท้องถิ่น, การตรวจสอบถ่วงดุลโครงการของรัฐ, สิทธิการเข้าถึงข่าวสารข้อมูล, การสื่อสารสาธารณะ
อันที่จริงกลไกการตรวจสอบขององค์กรอิสระก็ตาม ของพรรคการเมืองก็ตาม ของสื่อเชิงพาณิชย์ก็ตาม ของฝ่ายตุลาการก็ตาม ทำงานได้ผลก็ต่อเมื่อมีภาคประชาสังคมที่เป็นอิสระและเข้มแข็งในการตรวจสอบควบคู่กันไป และภาคประชาสังคมเท่านั้นที่สามารถตรวจสอบผู้ตรวจสอบได้
ในขณะที่ตระหนักถึงความล้มเหลวของกลไกการตรวจสอบในรัฐธรรมนูญ 40 แต่ความตระหนักถึงความสำคัญของภาคประชาสังคมในฐานะพลังการตรวจสอบที่สำคัญที่สุดกลับมีไม่สู้มากนัก ฉะนั้น ไม่ว่าจะวางกลไกการตรวจสอบในรัฐธรรมนูญใหม่ไว้อย่างไร หากไม่คิดสร้างพลังของภาคประชาสังคมให้เข้มแข็ง ก็แน่ใจได้เลยว่ากลไกใหม่นั้นจะล้มเหลวอีก
ฉะนั้น รัฐธรรมนูญใหม่จึงควรออกแบบให้ภาคประชาสังคมเข้มแข็งขึ้น มีบทบาทในการตรวจสอบถ่วงดุลทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ, และองค์กรอิสระต่างๆ ได้โดยตรงและใกล้ชิดขึ้น กลวิธีที่จะทำเช่นนั้นคงมีหลายประเภทซึ่งต้องร่วมกันคิดให้ดี เช่นกระบวนการตรวจสอบที่ฝ่ายประชาชนเป็นผู้ริเริ่ม ควรมีทางดำเนินไปได้หลายทาง บางเรื่องอาจสิ้นสุดลงแค่การริเริ่ม บางเรื่องก็อาจดำเนินต่อไปในกระบวนการตรวจสอบโดยตรง บางเรื่องก็อาจนำไปสู่การเรียกคืนตำแหน่ง ฯลฯ
สิทธิเสรีภาพในการเคลื่อนไหวต้องได้รับการประกันอย่างแข็งขัน การละเมิดสิทธิเหล่านี้ต้องถือว่าเป็นเรื่องอุกฉกรรจ์ เช่น กรณียกกำลังตำรวจเข้าทำร้ายประชาชนที่ต้องการยื่นหนังสือถึงนายกฯ ที่หาดใหญ่ ฝ่ายการเมืองและองค์กรอิสระอาจมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบโดยตรง และอาจตั้งข้อกล่าวหาและพิสูจน์ ซึ่งทำให้นายกฯ หรือรัฐมนตรีมหาดไทย ต้องออกจากตำแหน่งตามกฎหมาย
กระบวนการประชาพิจารณ์
การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และสิทธิการสื่อสาร
กระบวนการประชาพิจารณ์ต้องมีความโปร่งใส การตั้งกรรมการทำประชาพิจารณ์อาจไม่ใช่อำนาจเด็ดขาดของฝ่ายบริหาร
คำให้การและผลการประชาพิจารณ์ต้องเผยแพร่แก่สาธารณชนโดยเร็ว การทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมในโครงการขนาดใหญ่
รัฐต้องสนับสนุนการเงินให้ฝ่ายประชาชนในพื้นที่สามารถจ้างนักวิชาการทำอีกฉบับหนึ่งควบคู่กันไป
ฉะนั้น สัญญาโครงการก็ตาม ตัวรายละเอียดของโครงการก็ตาม จึงต้องเปิดเผยแก่สาธารณะมาแต่ต้น
รวมทั้งรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (และสุขภาพ) ก็ควรจะเปิดเผยเช่นกัน
สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน ต้องทำให้เกิดผลจริงจัง ไม่เฉพาะแต่ภาคราชการเท่านั้น ข้อมูลข่าวสารของฝ่ายนิติบัญญัติเองก็มีความสำคัญในการเพิ่มอำนาจตรวจสอบของประชาชน รายงานการประชุมสภาและการลงมติของ ส.ส.แต่ละคนต้องเผยแพร่ให้ประชาชนรู้ แม้รายงานการประชุมของคณะกรรมาธิการก็ต้องเผยแพร่
เช่นเดียวกับการบริหารงานของ อปท.(องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ต้องเปิดเผยได้ทุกเรื่อง และประชาชนในท้องถิ่นสามารถตรวจสอบได้เสมอเช่นกัน เพราะในขณะที่เราควรเพิ่มบทบาทของ อปท. โดยเฉพาะในการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น เราก็ควรเพิ่มอำนาจประชาชนท้องถิ่นในการตรวจสอบ อปท.เช่นกัน ไม่เฉพาะแต่การตรวจสอบจากข้อมูลข่าวสารเท่านั้น หากต้องรวมถึงการให้อำนาจตัดสินใจโดยตรงในเรื่องการจัดการทรัพยากรแก่ประชาชนด้วย ใช้ประชาธิปไตยทางตรงในทุกกรณีที่ทำได้ ฉะนั้น การอนุมัติให้คนภายนอกมาใช้ทรัพยากรท้องถิ่นระดับตำบล จึงต้องเป็นประชามติ ไม่ใช่ที่ประชุม อบต.เท่านั้น
สิทธิการสื่อสารสาธารณะของประชาชนต้องทำให้เกิดผลในทันที ไม่ว่าจะเป็นการทำวิทยุ (หรือแม้โทรทัศน์ ซึ่งในอนาคตก็จะต้องเปลี่ยนเป็นระบบดิจิตอลอยู่แล้ว) หรือหนังสือพิมพ์, ใบปลิว, และสื่ออินเตอร์เน็ต โดยฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวที่จะบังคับควบคุมตามใจชอบ หากต้องมีกรรมการและอนุกรรมการที่มาจากหลายฝ่ายเป็นผู้กำหนดแนวทางให้ฝ่ายบริหารปฏิบัติ
มีหนทางที่จะเพิ่มกำลังความสามารถในการตรวจสอบควบคุมภาคประชาสังคมได้อีกหลายอย่าง ซึ่งควรร่วมกันคิดให้ดี และทำให้ภาคประชาสังคมเป็นอำนาจสำคัญที่สุดในการตรวจสอบฝ่ายการเมืองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร, นิติบัญญัติ หรือองค์กรที่ทำงานสาธารณะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรในกระบวนการยุติธรรม หรือองค์กรที่ให้บริการ
ตราบเท่าที่ยังไม่ทำให้สังคมเข้มแข็งพอจะเข้ามาเป็นตัวหลักในการเมือง ไม่ว่าจะออกแบบให้องค์กรอิสระและวุฒิสภามีความสลับซับซ้อนอย่างไร องค์กรเหล่านี้ก็ไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารที่ชนะคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างเด็ดขาดได้ เพราะไม่มีชนชั้นนำในสังคมอะไรในโลกนี้ ที่จะทำงานเพื่อมวลชนข้างล่าง หากมวลชนเป็นเพียงผู้ไร้อำนาจและไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการพึ่งพิง
ปัญหาจริงๆ จึงกลับมาอยู่ที่ว่า ผู้ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในเวลานี้ มีความศรัทธาต่อประชาชนมากน้อยเพียงใด หากยังมองเห็นเขาเป็นคนอ่อนแอ, ไร้การศึกษา, โง่, ขายเสียง, ฯลฯ อย่างที่เป็นอยู่ รัฐธรรมนูญใหม่ก็จะเป็นรัฐธรรมนูญแห่งการอบรมปกป้อง (tutelage) สืบต่อระบอบอาณานิคมภายใน ซึ่งสงวนอำนาจไว้แก่คนชั้นนำส่วนน้อย ประหนึ่งว่าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ไม่เคยมีในโลก
รัฐธรรมนูญใหม่(4)
รัฐธรรมนูญที่กินได้ รัฐธรรมนูญที่เป็นธรรม
เรียกร้อง "รัฐธรรมนูญที่กินได้"
เป็นความเข้าใจผิดของผู้นำคณะรัฐประหารที่คิดว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 ดีอยู่แล้ว
เสียแต่ผู้ใช้รัฐธรรมนูญไม่ดี เพราะผู้ใช้รัฐธรรมนูญไม่ได้มีแต่นักการเมือง ประชาชนทั้ง
60 ล้านคน รวมทั้งตัวผู้นำคณะรัฐประหารด้วย ก็มีส่วนใช้รัฐธรรมนูญร่วมกันทั้งสิ้น
และในแง่นี้ ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่ประชาชนระดับล่างได้หยิบมาใช้มากเท่าฉบับ 2540 ในการต่อสู้กับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐหรือของเอกชน ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขา ประชาชนได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ ทั้งการตั้งข้อเรียกร้องต่อรัฐหลายต่อหลายครั้ง ก็ทำและอ้างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น แม้เป็นคดีในศาลก็ยังใช้รัฐธรรมนูญในการปกป้องสิทธิของตนเอง
ถ้าผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่เข้าใจประเด็นนี้ ก็จะมัวให้ความใส่ใจแต่กับการเมืองในระบบ ซึ่งมีผู้ "ใช้" อยู่ไม่ถึง 10,000 คนทั้งประเทศ ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ ก็อาจกล่าวได้ว่าอายุไม่ยืนอย่างแน่นอน เพราะไม่สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมซึ่งเกิดในประเทศไทยได้
ประชาชนระดับล่างเรียกร้อง "รัฐธรรมนูญที่กินได้" นั่นคือรัฐธรรมนูญที่เอื้อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้น อันที่จริงรัฐธรรมนูญ 2540 ก็คำนึงถึงประเด็นนี้พอสมควร แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (หากต้องการให้ดำรงอยู่ได้จริงนอกอำนาจของกองทัพ) จะต้องผลักดันประเด็นนี้ให้เด่นชัดและก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก โดยจะตราเป็นบัญญัติในรัฐธรรมนูญโดยตรง หรือตราเป็นแนวทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นเป็นเรื่องเทคนิค ซึ่งมีผู้รู้สามารถจัดการได้
สิทธิและอำนาจของประชาชน
5 ประการในรัฐธรรมนูญใหม่
ในความเห็นของผู้เขียน เมื่อคำนึงถึงสภาพที่เป็นจริงในหมู่ประชาชนระดับล่าง และความเป็นไปได้ในการปฏิบัติของประเทศไทย
มีสิทธิและอำนาจของประชาชน 5 ประการที่รัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน
และผูกมัดให้ต้องปฏิบัติ
(1) การจัดสรรทรัพยากร รัฐธรรมนูญต้องทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นพื้นฐานในการผลิตและดำรงชีวิตกันใหม่ ในปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงทรัพยากรเหล่านี้ เพราะรัฐยึดเอาไปจัดสรรแต่ผู้เดียวภายใต้อำนาจเงินของฝ่ายทุน
ที่รีบด่วนที่สุดในขณะนี้คือที่ดิน ซึ่งกระจุกตัวอยู่ในมือคนจำนวนน้อยมากๆ ขัดขวางการผลิตของคนส่วนใหญ่ แม้แต่ที่อยู่ในเศรษฐกิจสมัยใหม่ นับตั้งแต่ต้องลงทุนกับที่ดินในราคาสูงเกินกว่าจะไปแข่งขันกับใครได้ รวมทั้งต้องเสียค่าเช่าหรือครอบครองที่ดินเพื่ออยู่อาศัยในราคาที่คนจำนวนมากเข้าไม่ถึง ฉะนั้นรัฐธรรมนูญจึงต้องบังคับให้รัฐปฏิรูปที่ดินให้เกิดความเป็นธรรม และต้องเริ่มต้นทำทันทีภายในระยะเวลาหนึ่ง ที่กำหนดไว้อย่างแน่ชัดในส่วนทรัพยากรด้านอื่น เช่น น้ำและป่า ประชาชนต้องมีอำนาจในระดับหนึ่งในการจัดการดูแล ใช้ประโยชน์ และตัดสินใจในการนำไปใช้เพื่อการอื่น ทั้งนี้ควรรวมถึงทรัพยากรทางสังคมและวัฒนธรรมซึ่งท้องถิ่นต่างๆ ครอบครองอยู่ แต่ถูกแย่งยึดเอาไป เช่น วัด, โรงเรียน, ศาลปู่ตา, และพื้นที่สาธารณะที่ใช้ร่วมกันอื่นๆ, ขนบประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งกำลังถูกแย่งยื้อไปขาย นักท่องเที่ยวก็เป็นทรัพยากรท้องถิ่นที่มีความสำคัญอีกอย่างหนึ่ง
(2) สวัสดิการพื้นฐาน รัฐต้องประกันสวัสดิการพื้นฐานของชีวิตบางอย่างให้แก่ประชาชน ที่สำคัญได้แก่
สุขภาพ - ซึ่งต้องมีความหมายมากกว่าการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย แต่ต้องรวมถึงการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพด้วย (ฉะนั้น หากรัฐปล่อยให้มลพิษในอากาศสูงเกินมาตรฐาน, หรือมีสารพิษจากโรงงานปนเปื้อนในนาข้าว ฯลฯ จึงไม่ใช่เป็นเพียงความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงาน แต่เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญโดยตรง)
ความมั่นคงในด้านที่อยู่อาศัย - ไม่ว่ายากดีมีจนอย่างไร คนต้องมีความมั่นคงด้านนี้ มิฉะนั้นเขาจะไม่พัฒนาที่อยู่อาศัยของเขาเอง รัฐมีหน้าที่ต้องทำให้เกิดความมั่นคงด้านนี้ โดยใช้กฎหมาย, เศรษฐกิจ ฯลฯ หรือวิธีอื่นใดก็ตาม รวมทั้งการปฏิรูปที่ดินในข้อ 1 ก็จะช่วยผ่อนคลายการบีบคั้นด้านที่อยู่อาศัยลงไปพร้อมกัน
การศึกษาตลอดชีวิต - แม้จะต้องลงทุนเท่าไรก็ตาม (นอกจากเงินแล้ว ต้องลงทุนด้านการจัดการด้วยสติปัญญาด้วย) แต่นี่คือการลงทุนให้แก่อนาคตของคนไทย ผู้ที่ใฝ่เรียนรู้จะต้องได้รับโอกาสที่จะได้เรียนรู้ตลอดไป โดยผ่านสื่อชนิดต่างๆ หรือผ่านสถาบันการศึกษาหลายรูปแบบก็ตาม
สวัสดิการอันควรแก่ภาคแรงงาน (ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ หรือกฎหมายไทย แต่ที่สำคัญที่สุดตามมนุษยธรรม) ไม่ว่าจะเป็นสภาพการทำงาน, ความมั่นคงในงาน, ค่าตอบแทนที่ยุติธรรม, และโอกาสที่จะเพิ่มทักษะในการทำงานตลอดไป(3) การกระจายอำนาจ การกระจายอำนาจให้ถึงประชาชนในท้องถิ่น นอกจากจัดสรรงบประมาณตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ 2540 แล้ว ที่สำคัญกว่าเงินคืออำนาจในการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น ซึ่งรัฐต้องกระจายอำนาจส่วนนี้ลงมาถึงท้องถิ่นด้วย ในขณะเดียวกันต้องสำนึกด้วยว่า การกระจายอำนาจไม่ได้หมายถึงกระจายมายัง อปท.เพียงอย่างเดียว แต่ควรมุ่งไปยังองค์กรประชาชนในรูปต่างๆ ไปพร้อมกัน ทำให้องค์กรประชาชนและ อปท.เองถูกตรวจสอบจากประชาชนในท้องถิ่นได้ง่าย
(4) การเข้าถึงสื่อ รัฐต้องให้หลักประกันว่า ประชาชนย่อมมีสิทธิเข้าถึงสื่อสาธารณะได้โดยไม่ถูกขัดขวาง ไม่ว่าจะเป็นสื่อวิทยุ, แผ่นปลิว, พื้นที่สาธารณะที่สามารถใช้ในการสี่อสารกันได้, สื่ออินเตอร์เน็ตซึ่งไม่ถูกเซ็นเซอร์, ฯลฯ อำนาจไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากประชาชนไม่สามารถสื่อสารกันเองได้
(5) สิทธิในการรวมกลุ่ม รัฐธรรมนูญต้องให้หลักประกันที่มั่นคงว่า ประชาชนมีสิทธิรวมกลุ่มเพื่อกิจการสาธารณะต่างๆ เช่น สหกรณ์, กลุ่มประท้วง, กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากร, กลุ่มจัดการศึกษาทางเลือก, กลุ่มตรวจสอบ ส.ส.ประจำเขต, ฯลฯ การละเมิดสิทธิการรวมกลุ่มของประชาชนโดยรัฐ หากเกิดขึ้นจะเป็นการผิดรัฐธรรมนูญโดยตรง
รัฐธรรมนูญที่เป็นธรรม
"รัฐธรรมนูญที่กินได้" ไม่ได้หมายถึงการช่วงชิงงบประมาณมาจ่ายในรูปของโครงการเอื้ออาทรต่างๆ
แต่หมายถึงการจัดการที่ให้ความเป็นธรรมแก่คนระดับล่าง ให้โอกาสที่เท่าเทียมกันแก่คนระดับล่าง
ในการเลือกพัฒนาชีวิตของตนตามวิถีทางที่ตนมีความถนัดและความรู้ โดยอาศัยทุนทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมที่ตนมีอยู่
บวกกับทรัพยากรกลางทุกประเภทที่รัฐมีหน้าที่จัดการ
"รัฐธรรมนูญที่กินได้" จึงไม่ใช่การขอส่วนบุญจากคนชั้นกลางผู้เสียภาษีรายได้ แต่คือการเรียกร้องการจัดสรรทรัพยากรและบริการของรัฐอย่างเป็นธรรมแก่คนระดับล่าง ซึ่งเสียภาษี (มูลค่าเพิ่ม) ในสัดส่วนของรายได้ของเขาที่สูงมากกว่าผู้เสียภาษีรายได้
กล่าวโดยสรุป รัฐธรรมนูญใหม่จะเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นธรรมต่อคนส่วนใหญ่หรือไม่ ก็อยู่ตรงนี้มากกว่ามี ส.ส.กี่คน, มี ส.ว.หรือไม่, ส.ส.กี่คนจึงสามารถเปิดอภิปรายรัฐบาลได้ ฯลฯ
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
น่าสังเกตว่า การเคลื่อนไหวของชาวบ้าน
ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านเขื่อน, โรงไฟฟ้า, นิคมอุตสาหกรรม, เอฟทีเอ, อุทยานแห่งชาติ,
เหมืองโปแตช, เหมืองเกลือ, พนังกันน้ำท่วม, ฯลฯ ไม่เคยมี ส.ส.เข้าไปศึกษาเก็บข้อมูลแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประชาชนที่เคลื่อนไหวเลย
(นอกจากเข้าไปในฐานะนายหน้าให้แก่โครงการ) ไม่ได้หมายความว่า ส.ส.ต้องเข้าไปร่วมเคลื่อนไหวกับชาวบ้านเสมอไป
แต่ตัวแทนที่จะสะท้อนปัญหาของชาวบ้านให้แก่รัฐหายไปเช่นนี้ จะเหลือช่องทางอะไรให้แก่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ
นอกจากการประท้วงสาธารณะ (คัดมาจากบทความ)