ศาสตร์ของแฟชั่น
มิติทางสังคมวิทยา
Fashionsophy
: แฟชั่นศาสตร์ในฐานะสังคมศาสตร์
ทัศนัย
เศรษฐเสรี
หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความวิชาการชิ้นนี้
กองบรรณาธิการได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสตร์ของแฟชั่น ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้รับความสนใจ
ในการศึกษาทางด้านสังคมวิทยา มานุษยวิทยา
และวัฒนธรรม ซึ่งปัจจุบันได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวาง
ในฐานะนะแฟชั่นเป็นสื่อของการแสดงความหมาย สัญญะ และลักษณะทางชนชั้นทางสังคม
แฟชั่นเป็นเรื่องของวัฒนธรรมทางสายตา เป็นเรื่องของการแสดงออก
ทั้งการอยู่ในขนบจารีต และการต่อรอง คัดค้าน หรือประท้วงโดยการนำเสนอผ่านเสื้อผ้าที่สวมใส่
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๗๓
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๒๑.๕ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
แนะนำผู้เขียน
: ทัศนัย
เศรษฐเสรี ด้านหนึ่งสนใจการศึกษาเชิงวิพากย์ทางสังคม-วัฒนธรรม ที่มุ่งเน้นประเด็นเกี่ยวกับ
Media Ethnography and Visualizing Culture Study ตามแนวของสำนักคิด Chicago
ที่ตัวเองสำเร็จการศึกษา อีกด้านมีผลงานศิลปะออกสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่องในระดับนานาชาติ
ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนหนังสือในหลักสูตรร่วม Media Arts and Design บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ผลงานนี้เคยตีพิมพ์แล้วในนิตยสาร S+M : Strategy + Marketing,
NO. 49, September 2005)
1. Fashionsophy
: Fashion Study as Social Study
แฟชั่นศึกษาในฐานะการศึกษาสังคม
ความนำ : โลกปัจจุบันเป็นแฟชั่น
ในฐานะของผู้เขียน ต้องขอออกตัวก่อนว่าไม่ใช่ Designer ไม่ใช่ Fashion Designer
ผมรู้เรื่องโลกของ Fashion ไม่มากนัก อีกทั้งไม่ใช่ศิลปินแม้จะร่ำเรียนมาทางศิลปะ
ไม่ใช่นักวิชาการแม้จะเรียนในระดับอุดมศึกษา ไม่ใช่ครูทั้งๆที่สอนหนังสือ ไม่ใช่อะไรสักอย่าง
เพราะถ้าเป็นอะไรได้ทุกอย่างคงลำบาก. ชีวิตสังคมในสถานการณ์โลกปัจจุบัน มันมีกิจกรรมในการใช้ชีวิตหลากหลายเหลือเกิน
คนคนหนึ่งในหนึ่งวัน หรือในหนึ่งวินาที สามารถเป็นอะไรได้หลายๆ อย่าง ผมเป็นเพียงคนที่สนใจปรากฏการณ์ทางสังคมของโลกปัจจุบันเท่านั้น
เกิดอะไรขึ้นกับโลกแฟชั่นปัจจุบัน?
จะขอเริ่มต้นด้วย Fashion System และปรากฏการณ์แฟชั่นในโลกของ Globalization
ว่าเกิดอะไรขึ้นกับการคิดเรื่องแฟชั่นใน Segment ต่างๆ ของบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการแฟชั่น
ทั้ง Fashion Designer, Fashion Costumer, Fashion Manager, Fashion Magazine
และอีกหลายๆ Segment ของ Marketing ว่าคนเหล่านี้คิดในเรื่องแฟชั่นอย่างไร? ทำงานร่วมกันอย่างไร?
การศึกษาเรื่องแฟชั่นในวงวิชาการที่ผมถนัด คือการศึกษาเชิงสังคม ไม่ใช่การศึกษาเรื่องการออกแบบ
แฟชั่นไม่ได้ศึกษาเรื่องวัสดุ(Material)ของการตัดเย็บ แฟชั่นที่เน้นที่ตัวรูปทรงหรือรูปแบบ Catwalk , Modeling หรืออะไรก็แล้วแต่ การศึกษาเรื่องแฟชั่น สามารถบอกได้ถึงบรรยากาศของสังคมในวัฒนธรรมร่วมสมัยที่เรามีชีวิตอยู่ ฉะนั้นโดยส่วนตัวจึงจะเน้นไปที่ปรากฏการณ์ทางแฟชั่นในโลกร่วมสมัยเป็นหลัก แต่เราจะเข้าใจโลกร่วมสมัยได้ เราต้องเข้าใจโลกก่อนที่จะมาถึงยุคเรา นั่นคือ โลกของอดีต ซึ่งเป็นเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ว่าความคิดเรื่องแฟชั่นพัฒนามาอย่างไร? ผมจะเน้นหนักในโลกตะวันตก ในโซนยุโรป กับอเมริกา
Fashion คืออะไร? Fashion
คือความนิยมจริงหรือเปล่าและนิยมอย่างไร?
ภาษาอังกฤษมีอยู่ 3 คำที่คนในวงการแฟชั่น ทั้ง Designer, ผู้ประกอบการ และร้านค้า
ต่างเข้าใจตรงกัน คือ
1. Clothing คือการใส่เสื้อผ้า
2. Stylist คือสไตล์ Stylist Clothing คือการใส่เสื้อผ้าอย่างมีสไตล์ หรือ Fashionable Clothing
3. Fashion
ถามว่าเราใส่เสื้อผ้าทำไม? เพื่อปกปิดร่างกาย กันร้อนกันหนาว เสริมบุคลิกให้ดูดี หรือเพื่อความปลอดภัย Designer ควรต้องรู้ก่อนว่า คนใส่เสื้อผ้าเพราะอะไร? หรือควรคิดเล่นๆ ว่าถ้ามนุษย์ไม่ใส่เสื้อผ้าแล้วจะเป็นอย่างไร? สำหรับเหตุผลของการใส่เสื้อผ้า ไม่ใช่แค่เพียงปกปิดร่างกาย เราเลือกเสื้อผ้าใส่เพื่อบ่งบอกถึงอะไร? แล้ว Designer ควร Design ให้ถูก 3 ช่องทางที่ว่าข้างต้นนี้เป็นอย่างน้อย
แน่นอนว่ากลุ่มเสื้อผ้าทั้ง 3 กลุ่ม ไม่ได้ยืนอยู่หรือเป็นตัวของมันเองอย่างแยกขาดจากกลุ่มอื่น แต่มันมีความสัมพันธ์กันทั้งเนื้อหาและการจัดการ ในเบื้องต้น มักจะคิดว่าเมื่อจะเป็น Designer ต้องมีบริษัท ต้องมี Studio ของตัวเอง นั่นเป็น Vision ที่มุ่งเน้นไปที่การผลิตเสื้อผ้าแบบทำงานไปวันๆ ข้อสรุปเบื้องต้นก็คือ เสื้อผ้ามีความหลากหลาย ไม่ใช่หลากหลายในเชิงวัสดุหรือสไตล์ แต่มีความหมายของกลุ่มเสื้อผ้าที่หลากหลาย รวมถึงคนใส่ที่มีความสนใจในการเลือกที่หลากหลาย สอดคล้องกับบริบทของชีวิตที่ตัวเองสวมใส่
การใส่เสื้อผ้าเป็นการศึกษาทางสังคม ไม่ใช่แค่การ Design เสื้อผ้าด้วยเทคโนโลยีต่างๆ แล้วขาย แต่เบื้องหลังการผลิตเสื้อผ้านั้น มีความซับซ้อนในเนื้อหาและความหมายทางสังคมและวัฒนธรรม ประเด็นที่เปิดอยู่ คือ Fashion Study as Social Study ในวงการสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
เราไม่เชื่อว่า ทุกอย่างจะมีความหมายเชิงเดียว อย่างเช่น พื้นที่ๆ หนึ่ง มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง หรือว่าบุคคลๆ หนึ่งมีความหมายหลายอย่าง เราเชื่อว่าพื้นที่ๆ หนึ่ง นอกจากมีความหมายในบริบทเฉพาะ ยังมีความหมายอื่นๆ ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ผิวหน้า มันเป็นชั้น(layer)ของความหมายที่อาจไม่ถูกกล่าวถึง ขณะเดียวกันในบริบทของการใช้พื้นที่นั้นๆ ก็มีความหมายมากมายไปหมด ทุกอย่างมีความหมายที่ซับซ้อนอยู่ในตัวเองเสมอ
ฉะนั้น นักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาศึกษาเรื่อง Fashion ก็มักจะมอง Fashion ให้ยุ่งยากและซับซ้อน เพราะทุกอย่างมันประกอบไปด้วยชั้นของความหมายในมิติต่างๆ ทั้ง การใช้, การผลิต, ตลอดรวมทั้งความเข้าใจในชั้นต่างๆ ของชีวิตทางสังคม-วัฒนธรรม และการศึกษาเรื่อง Fashion ควรจะพิจารณาความหมายที่ทับซ้อนเหล่านี้
มันไม่ใช่ง่ายๆ ในการที่จะได้ Trend ขึ้นมา การที่จะผลิต Trend ก็ดี, การที่จะผลิต Style อะไรสักอย่างหนึ่งก็ดี, ต้องคิดจากพื้นฐานของความหลากหลายแล้ววางตำแหน่ง(Positioning) ให้ถูก
จะเห็นว่า การใส่เสื้อผ้าไม่ใช่แค่การใส่เสื้อผ้า ไม่ใช่เพื่อตอบสนองปัจจัยพื้นฐาน เช่น กันความร้อน, ความหนาว, การปกปิดร่างกาย ฯลฯ ในเชิงกายภาพหรือฟิสิกส์ หรืออะไรที่เป็นรูปธรรมของความหมายอย่างเดียวแน่ๆ แต่มีความหมายเชิงนามธรรม มีความหมายของอารมณ์ มีความหมายเชิงวัฒนธรรมกำกับอยู่ด้วย ทั้งหมดเป็นความหมายที่ต้องตีความเพื่อความเข้าใจ
จะออกแบบเสื้อผ้าให้คนใส่ ควรต้องรู้ว่าเขาหรือเธอมีมิติทางวัฒนธรรมอย่างไร? มีโลกทัศน์ต่อความเข้าใจในโลกรอบตัวอย่างไร? หมายความว่า เขาหรือเธอจะเลือกเสื้อผ้าให้ถูกต้องกับโลกทัศน์ของตนเอง เพราะเสื้อผ้าจะเป็นสัญลักษณ์ที่บอกความเป็นบุคคลที่สัมพันธ์กับโลกรอบตัวของผู้ใส่. เราอาจเห็นคนในที่ทำงานหนึ่งใส่เสื้อผ้าเรียบร้อย แต่พอไปเจอกันที่ร้านๆ หนึ่งหลังเลิกงาน เขาจะเป็นอีกคน เขาอาจจะอยู่ในเสื้อผ้าชุดเดียวกันที่ใส่ใน Office แต่เนื้อหาของเสื้อผ้านั้นเปลี่ยน เพราะบุคลิกภาพภายในเปลี่ยน ในบริบทและสิ่งแวดล้อมใหม่ อะไรที่เห็นเป็นรูปธรรมเชิงปรากฏการ ไม่อาจถูกถือว่าเป็นการปรากฏตัวที่ถูกต้องของการใส่เสื้อผ้า รูปทรง สไตล์ ที่นำไปตัดสินว่าคนๆ นั้นเขามีความเข้าใจ มีโลกทัศน์ต่อเสื้อผ้าที่เขาใส่อย่างไร มันซับซ้อนกว่านั้นแยะ
เสื้อผ้าเป็นสัญลักษณ์อันดับแรกของการศึกษาสังคมและวัฒนธรรม เพื่อที่จะเปิดประตูไขไปสู่ความเข้าใจว่า บุคคลๆ หนึ่ง, สังคมๆ หนึ่งมีการเป็นอยู่, มี Lifestyle อย่างไร? เรามักใช้เสื้อผ้าในฐานะสัญลักษณ์ เสื้อผ้ามีส่วนในการสร้างสรรค์ การกำหนดอัตลักษณ์ของบุคคล ขณะเดียวกัน อัตลักษณ์ของบุคคลก็บอกถึงอัตลักษณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม ที่บุคคลนั้นอาศัยอยู่ด้วย
สมัยก่อน การศึกษาเรื่อง fashion ไม่นับเป็นการศึกษาเชิงสังคมวิทยาและวัฒนธรรม เพราะแฟชั่นมักถูกเข้าใจว่าเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย ลุ่มล่าม และเป็นประเด็นเล็กเกินไปสำหรับนักวิชาการ แฟชั่นเป็นเรื่องที่ตัดขาดจากชีวิตที่ยืนอยู่บนความต้องการขั้นพื้นฐาน ไม่สามารถเป็นดัชนีชี้อะไรได้เลยว่า การใส่เสื้อผ้าบอกถึงสภาพทางเศรษฐกิจ บอกถึงวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ ได้
แต่หลังจากปี 1970 เป็นต้นมา ศาสตร์การศึกษาทางสังคมเริ่มตาย จึงมีมนุษย์พันธุ์หนึ่งที่พยายามลงไปหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะทำความเข้าใจพื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรมผ่านสื่อต่างๆ ด้วยวิธีการศึกษาใหม่ๆ ดังนั้นเอง เสื้อผ้า Fashion ก็คือสื่ออย่างหนึ่ง. ถ้าบอกว่า ทุกคนใส่เสื้อผ้าเพื่อที่จะสะท้อนความเป็นตัวของตัวเอง หรือความเป็นชาติของตัวเอง หรือเป็นการบอกถึง Lifestyle บอกถึงรสนิยมของบุคคล เสื้อผ้าก็เป็นประตูแรกๆ ที่จะช่วยทำให้เราเข้าใจสังคมนั้นๆ
เสื้อผ้า คือ สื่อที่แสดงความหมาย
เสื้อผ้า คือสื่อที่ส่ง Message ไปสู่คนรอบข้าง เราไม่ได้พูดถึงเสื้อผ้าที่แขวนอยู่ในตู้
เพราะว่ามันบอกอะไรไม่ได้มากนัก อาจจะบอกได้ถึงสีสัน, การตัดเย็บ, สไตล์ของเสื้อผ้าว่ามันอยู่ใน
Trend ไหน, แต่เราจะดูว่า เมื่อเสื้อผ้าถูกใส่โดยใครแล้ว นั่นถึงจะเข้าใจว่าเสื้อผ้านั้นมีความหมายอย่างไร
อย่างครบถ้วน
เวลาเราไปร้านเสื้อผ้า อย่าพึงด่วนสรุป, ถ้าไปยุโรปลองเดินสำรวจร้านขายเสื้อผ้าสัก 10 ร้าน แล้วเห็นว่าทุกร้านเสื้อผ้ามีโทนสีแบบเดียวกัน สมมติว่าเป็นโทนขาว - ดำ, สรุปได้ไหมว่า ยุโรปชอบโทนสีขาว - ดำ. เราพยายามจะแปลความหมาย พยายามที่จะถอดระหัสของสีเหล่านั้น ผ่านเสื้อผ้าที่วางอยู่ในชั้น หรือตู้ Display และอาจทึกทักว่ายุโรปตอนนี้นิยมสีขาวดำ เนื่องจากว่าอยู่ในฤดูที่มีบรรยากาศทึมๆ จึงสอดคล้องกับการใส่เสื้อผ้าที่สีทึมๆ หรือว่าอยู่ในช่วงที่พึ่งผ่านยุค 9/11 (วินาศกรรม World Trade) ทำให้โลกโศกเศร้า ทุกคนไว้ทุกข์ให้โลก นั่นเรากำลังมองเสื้อผ้าที่ปราศจากคนใส่
ฉะนั้น ประเด็นการศึกษาเรื่อง Fashion เป็นประเด็นของการทำวิจัยก่อนที่จะ Design เป็นเรื่องของคนใส่เสื้อผ้า ไม่ใช่ที่ตัวเสื้อผ้าอย่างเดียว. Fashion คือการศึกษาเรื่องคน ความเป็นคนต้องผ่านพฤติกรรม ผ่านปฏิบัติการของชีวิต ผ่านกิจกรรมที่ทับซ้อนหลากหลาย เรากำลังพูดถึงคนที่ใส่เสื้อผ้าที่แตกต่างกันในกิจกรรมนั้นๆ เรากำลังพูดถึงการศึกษากลุ่มคน ศึกษาพื้นที่ๆ หนึ่ง หรือกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งซึ่งมีคนเข้าไปอยู่ร่วมกันในช่วงเวลาหนึ่ง จึงจะเข้าใจพื้นที่ตรงนั้นว่ามีความหมายอย่างไร คนๆ นั้นหรือคนกลุ่มกลุ่มนั้นมีความเข้าใจต่อโลกและตัวเองอย่างไร มีความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ผ่านกิจกรรมนั้นๆ อย่างไร กิจกรรมนั้นมีเทศกาลอะไรบ้าง มีเพลงอะไร มีดนตรีประเภทไหน มีการละเล่นอย่างไร มีการกิน มีการอยู่ชนิดใด? ฯลฯ และเขาใส่เสื้อผ้ากันอย่างไร?
อะไรอื่นอีกที่จะต้องศึกษา เพื่อที่จะเข้าใจคนและกิจกรรมของคนเหล่านั้น มีสิ่งแวดล้อม, วิถีชีวิต, ในวิถีชีวิตมีทั้งมองเห็นได้ และมองเห็นไม่ได้อีก และยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องศึกษา เช่น โครงสร้างทางชนชั้น, โครงสร้างทางสถานะทางสังคม เช่น การงาน, ระดับของการศึกษา, ความเข้าใจต่อโลกรอบตัว, เพศ, สิ่งที่มองไม่เห็นเหล่านี้ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน อย่างมีพลวัฒน์ด้วย เพราะสิ่งต่างๆ เคลื่อนย้ายเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบัน
เราเข้าใจว่า เสื้อผ้ามารับใช้ความต้องการทางกายภาพ ปกปิดร่างกาย ทำให้ร่างกายอบอุ่น ในทางกลับกันเสื้อผ้าเปิดเผยสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ร่างกายของผู้สวมใส่ด้วย. เสื้อผ้านั้นเป็นเช่นเดียวกับ Design Item อื่นๆ ที่กำหนดกิจกรรมชีวิตของบุคคลด้วย เช่น เราไปห้องประชุมซึ่งเต็มไปด้วยเก้าอี้ เราจะนั่งพื้นหรือนั่งเก้าอี้ เนื่องจากเราถูกฝึกให้นั่งเก้าอี้จนชิน
Design Item รอบตัวเรา หรือสิ่งของที่เราใช้ นอกจากบ่งบอกถึงความเป็นยุคสมัย บ่งบอกถึงความต้องการพื้นฐานของชีวิตร่วมสมัยแล้ว สิ่งเหล่านี้ยังกำหนดกิจกรรมของชีวิตพื้นฐานอีกด้วย. การใส่เสื้อผ้าสไตล์หนึ่งกำหนดกิจกรรมชีวิตของเราให้ดำเนินไปในรูปแบบหนึ่งๆ การกำหนดเหล่านั้นทำให้รูปทรง หรือทำให้ชีวิตในกิจกรรมนั้นแตกต่างกันไป เช่น ในสังคมสมัยวิคตอเรียน(Victorian) นึกถึงงานของ Shakespeare, นึกถึงเสื้อผ้า Costume, วิถีการใส่เสื้อผ้าเหล่านั้นบอกถึงกิจกรรมในยุคสมัยนั้น
ตัดสินด้วยความรู้สึกของคนปัจจุบัน เราอาจคิดว่าใส่ชุดพวกนั้นแล้วมันเดินลำบาก แต่เขาไม่มีอุดมคติเรื่องความลำบากเหมือนเรา เขารู้สึกว่ามันเป็นราคาที่ต้องจ่าย. เสื้อผ้านอกจากบ่งบอกลักษณะ อุปนิสัยของคน ของสังคม ยังบ่งบอกถึงรูปแบบของอัตลักษณ์ที่บุคคลอยากครอบครอง และหมายถึงอัตลักษณ์ของการแต่งตัวในสังคมนั้นๆ ด้วย
วิธีการใส่เสื้อผ้ากำหนดกิจกรรมในยุคหนึ่งๆ บ่งบอกถึงเวลาในช่วงนั้นๆ เรามักจะมองข้ามเงื่อนไขเหล่านี้ เพราะมันเป็นจุลชีวะของสิ่งที่มองเห็นได้ยาก ต้องใช้การวิเคราะห์แล้วมองอย่างลึกซึ้ง สัญลักษณ์ที่มองเห็นและไม่เห็นเหล่านี้ จะทำให้เราเข้าใจว่า เสื้อผ้าคืออะไร แฟชั่นคืออะไร?
ตอนนี้การใส่เสื้อผ้า มันไม่ใช่แค่การใส่เสื้อผ้าแล้ว แต่มันมีความหมายที่ลึกซึ้งขึ้น เราจะศึกษาถึงสัญลักษณ์ของเสื้อผ้า และสัญลักษณ์ของการใส่เสื้อผ้า ในหมายความว่า "คนที่ใส่เสื้อผ้า คือคนที่ใส่สัญลักษณ์" และคนที่คิดออกแบบเรื่องเสื้อผ้า (Designer) คือคนที่คิดถึงสัญลักษณ์บนเรือนกายของผู้สวมใส่นั่นเอง
2. Fashionsophy :
in the field of spectatorship
เราเลือกใส่สัญลักษณ์ผ่านเสื่อผ้าในมิติความหลากหลายเพื่ออะไร?
เพื่อความแตกต่าง เพื่อเป็นจุดเด่น เพื่อต่อรอง. เราใส่เสื้อผ้าออกไปข้างนอกแล้วมีคนอื่นมอง
1 คน 2 คน 3 คน หรือ 100 คน รอบตัวเรา เหมือนกับว่าเรากำลังเดินอยู่ในสนามของการต่อรองเชิงสัญลักษณ์
เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งอัตลักษณ์ของเราเอง ฉะนั้น เสื้อผ้าไม่ได้ถูกใช้ในความหมายเพื่อประกาศว่าผู้ใส่เป็นใครเสมอไป
แต่ถูกใช้เพื่อต่อรองความเป็นอัตลักษณ์ของบุคคล
แน่นอนทีเดียว เวลา Designer ออกแบบเสื้อผ้า ก็ต้องออกแบบสัญลักษณ์ ขณะเดียวกันควรเข้าใจกระบวนการการต่อรองเชิงสัญลักษณ์นี้. Designer มี Authority หรือมีอำนาจเด็ดขาดในการกำหนดสัญลักษณ์ เช่น จะเอาอะไรมาห้อยคอแล้วบอกว่าเป็นสร้อย จากนั้นพยายามจะสร้าง Trend ให้คนยอมรับ เขามีอำนาจล้นมือในการสร้างสัญลักษณ์ แต่จะถูกยอมรับหรือไม่ อยู่ที่ผลสำเร็จของการต่อรองกับคนที่จะเอามันไปใช้ด้วย
จะเห็นว่าเบื้องหลัง Catwalk เต็มไปด้วยการเมืองของผลประโยชน์ ไม่ใช่แค่การต่อรองของ Organization หรือองต์กรการจัดการของผู้จัดการแฟชั่นโชว์เท่านั้น แต่กว่าจะได้ Set แฟชั่นมาเดินบน Catwalk ต้องต่อรองแล้วต่อรองอีก กับหลายๆฝ่าย. แฟชั่นบางชุดใช้เวลา 5 ปี จนบางครั้งมันล้าสมัยไปแล้วยังไม่ได้เดินบทเวทีเลย มัวแต่เจรจาเกี่ยวกับ Concept หรือแนวความคิดกันอยู่ รวมไปถึงใครได้ ใครเสีย ใครจะซื้อ ใครจะตัดชิ้นเค้กตรงไหนหลังจากแฟชั่นลงจาก Catwalk สังคมจะเอาแฟชั่น ชุดนั้นไปประยุกต์ใช้อย่างไร มันเป็นการต่อรองของนักออกแบบในเชิงสัญลักษณ์, Concept และการจัดการ, อันนี้ไม่นับว่าเป็นเรื่องง่าย ไม่มี Designer ที่นั่งอยู่ใน Studio เฝ้าฝันว่า จะให้โลกทั้งใบใส่เสื้อสีเขียว แล้วทำให้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ
จิตวิทยาทางการทูตเป็นสิ่งสำคัญ
บางครั้งสำคัญกว่าตัวเสื้อผ้าที่ดีไซน์ เสียอีก?
บางคนเคยไหม บางทีซื้อเสื้อผ้าใหม่มายังไม่เคยใส่ออกไปข้างนอกเลย ใส่ลองอยู่ในห้องนอนสามสี่รอบแล้ว
เอียงซ้ายที ขวาที อยู่หน้ากระจก แต่ไม่มีตัวชี้วัด เพื่อการเปรียบเทียบ รู้สึกไม่มั่นใจว่าจะไปเจออะไรข้างนอก
ต้องไปเจรจาต่อรองเชิงสัญลักษณ์กับใครบ้าง ต้องดูก่อนว่าคนรอบข้างเขาใช้ภาษาอะไรเพื่อการต่อรอง
แล้วเขาจะเข้าใจสิ่งที่เราใส่เชิงสัญลักษณ์ นั้นอย่างไร
เราสวมใส่สัญลักษณ์ สัญลักษณ์จะปรากฏตัวและมีความหมายเมื่อมันถูกมอง ไม่ใช่เรามองคนเดียว แต่คนอื่นๆ อีกข้างนอกนั่น ทั้งที่เดินไปเดินมาอยู่ และทั้งคนอื่นๆ ที่เราจินตนาการขึ้น การยอมรับในสัญลักษณ์ชุดนั้นอยู่ภายใต้สายตาเป็นร้อยๆ คู่ นั่นคือการได้มาซึ่ง อัตลักษณ์ของบุคคลคนนั้น ในทุ่งสนามของการเฝ้าชมจากคนอื่น (in the field of spectatorship) ซึ่งบางครั้งเราจินตนาการว่ามีตัวเราเองนั่งอยู่ท่ามกลางผู้ชมเหล่านั้นด้วยซ้ำไป
เราหยิบเสื้อผ้ามาใส่แต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย การเลือกซื้อเสื้อผ้ายิ่งยาก แฟชั่นยิ่งยากกว่า ทุกอย่างเป็นไปด้วยปัญหาซึ่ง Creative Designer หรือนักออกแบบสร้างสรรค์มองข้ามไม่ได้ ต้องเข้าใจจิตวิทยาต่างๆ เหล่านี้ เนื่องเพราะมันมีปัจจัยมากมายที่เราต้องพิจารณา ก่อนที่เราจะ ดีไซน์ Factor แต่ละตัว เราไม่ได้ยืนด้วยตัวของตัวเอง แต่สัมพันธ์กับ Factor อื่นๆ มีโลกทัศน์, มีคุณค่า, มีค่านิยม, มีกลุ่มคนที่ Share ค่านิยมเดียวกัน และมีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับค่านิยมของคนกลุ่มอื่นๆ มีการปะทะ, ยอมรับ, ผสมผสาน, มีการปฏิเสธคุณค่าในรูปทรง ชีวิตและรสนิยมหนึ่งๆ ในพื้นที่ทางวัฒนธรรมและสังคมหนึ่งๆ เสมอ ไม่มีอะไรที่ถูกยอมรับหรือถูกปฏิเสธโดยทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง
ยกตัวอย่างการขี่มอเตอร์ไซค์ ไม่ใช่แค่การนั่งคร่อมเครื่องจักรที่วิ่งได้สองล้อบนถนนเฉยๆ มันจะมีกลุ่มที่แตกต่างชองผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ด้วย เช่น กลุ่มของคนบ้าเวสป้า, กลุ่มคนบ้าฮอนด้าคลาสสิก, กลุ่มคนบ้ารถคลาสสิกอังกฤษ, และผู้ขับขี่มอเตอร์ไซด์โดยทั่วไป ถ้ามองว่าการขี่มอเตอร์ไซค์เป็นกิจกรรมทางสังคมอย่างหนึ่ง มันไม่ใช่ขี่มอเตอร์ไซค์อย่างเดียวแล้ว แต่ขี่อย่างอื่นพร้อมไปด้วยขณะนั่งอยู่บนมอเตอร์ไซค์ แต่ละกลุ่มก็ใส่เสื้อผ้าแตกต่างกัน ลักษณะ Character ก็แตกต่างกัน ทำไมมันถึงแตกต่างกัน? เพราะมีการ Share กันในเรื่องคุณค่าแบบหนึ่ง ในขณะที่เลือกปฏิเสธคุณค่าอื่นๆ
การเลือกที่จะรับหรือปฏิเสธระบบคุณค่าชุดใดๆ นำมาซึ่ง Style การแต่งตัวเฉพาะแบบ หรือหลายแบบ คือการตัดแบ่งพื้นที่ของรสนิยมออกเป็นเสี่ยงๆ นั่นคือมีการต่อรองเกิดขึ้นก่อนแน่ บางครั้งถ้ามันไม่เข้าท่าหรือไม่เวิร์ค หมายถึงต้องมีการช่วงชิง และเข้ายึดพื้นที่ทางรสนิยมนั้นเสียเลย
โลกของเรามีระบบคุณค่าถูกสร้างขึ้นใหม่ตลอดเวลา เวลาที่เราออกแบบแฟชั่น หรือว่าดีไซน์อะไรก็แล้วแต่ หลายคนมักพูดถึง Cultural Root หรือว่า"รากทางวัฒนธรรม"ที่เรามีอยู่ มีแนวโน้มที่จะพูดถึงอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมเดิม จะเห็นได้ว่า วัฒนธรรมในสังคมหนึ่งๆ มักมีกลไกที่มีพลวัต ของการสร้างสรรค์สัญลักษณ์ใหม่ๆ ขึ้นเสมอ มันนำมาซึ่งกิจกรรมใหม่ๆ ตลอดเวลาด้วย
เวสป้านี้เคยอยู่ในสังคมไทยไหม หรือฮอนด้าคลาสสิก กิจกรรมเหล่านี้เคยมีในสังคมไทยไหม? ถ้าเทียบกับ สงกรานต์ ลอยกระทง เหล่านั้นล้วนเป็นกิจกรรมที่ผลิตคุณค่าเชิงสัญลักษณ์ที่พึ่งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ แล้วก็มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งไป Share ระบบคุณค่าเดียวกัน และก็มีกิจกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ภายใต้สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมใหม่ที่มีรากฝอยหรือรากแก้วก็ตามคนละสายกับรากวัฒนธรรมไทยเดิม ซึ่งน่าจะเป็น ปัจจัย แรงบันดาลใจของการออกแบบในโลกร่วมสมัยได้
โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยกิจกรรมที่ทับซ้อนกัน แล้วมีความหลากหลายของกิจกรรมมากมายไปหมด เป็นกิจกรรมที่ถูกผลิตขึ้นมาโดยบางครั้งไม่มีพื้นฐานจากความเป็นอดีตมาเลย มีหลายกิจกรรมที่มันเป็นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องร่วมสมัยที่เพิ่งเกิดขึ้น มันบ่งบอกถึงอะไรบางอย่าง และมันน่าจะนำมาต่อยอด ติดตา ทาบกิ่ง ให้เกิดคุณค่าและมูลค่าใหม่ๆ ได้ไม่ใช่หรือ?
พื้นที่ทางสังคม ในวัฒนธรรมหนึ่งๆ เต็มไปด้วยความหลากหลายของกลุ่มคน จะออกแบบอะไร ให้ใคร ควรต้อง Position หรือวางตำแหน่งให้ถูก และการมองอย่างแหลมคมเพื่อที่จะหาปัจจัยใหม่ๆ สำหรับการออกแบบก็สำคัญเท่าๆ กัน
Vision ของการดีไซน์แฟชั่นแบบไทยๆ ที่ผ่านมาจะเห็นว่าแฟชั่นไม่ได้ถูกศึกษาในฐานะการเปลี่ยนแปลงเชิงสัญลักษณ์ อย่างนี้แล้ว เราจึงไม่เข้าใจสัมพันธภาพของการเปลี่ยนแปลงของสัญลักษณ์เชิงวัฒนธรรม และตัวโครงสร้างวัฒนธรรมนั้นๆ มันไม่สามารถถูกสรุปได้อย่างชุ่ยๆ ว่า style เสื้อผ้าเปลี่ยนก่อน สังคมจะเปลี่ยนตาม หรือสังคมเปลี่ยนก่อน แล้วเสื้อผ้าจะเปลี่ยนตาม ทั้งสองอย่างนี้สัมพันธ์กันด้วยปัจจัยร่วมสมัย
เราศึกษาเรื่องเสื้อผ้า ศึกษาเรื่องดีไซน์ เราจะไม่ศึกษาอะไรที่มันเป็นความสัมพันธ์แบบหนึ่งต่อหนึ่ง หรือแบบคู่ตรงข้าม เช่น ศึกษาหน้าตาหรือ Portrait ของตัว product design หรือไม่เช่นนั้น ก็ศึกษาสิ่งแวดล้อมของการดีไซน์ ล้วนๆ ด้านใดด้านหนึ่ง แต่ควรต้องศึกษาทั้งสองด้านว่าส่งผลซึ่งกันและกันอย่างไร?
ในโลกตะวันตกโดยไม่ต้องย้อนกลับไกลมาก ปลายคริสตศตวรรษที่ 19 มีการเปลี่ยนแปลงในอุดมคติเรื่องเสื้อผ้า การมาถึงของเทคโนโลยีเกี่ยวกับการตัดเย็บ การเกิดขึ้นของจักรเย็บผ้า ระบบเงินผ่อน ไล่ลงมาถึงต้นคริสตศตวรรษที่ 20 จนถึงยุคปัจจุบัน ปัจจัยหรือเงื่อนไขเหล่านี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานอะไร แล้วมันส่งผลต่อสไตล์เสื้อผ้าที่เปลี่ยนในรูปแบบต่างๆ อย่างไร ถูกนำมาวิเคราะห์แบบฝรั่ง แล้ววงการเสื้อผ้า แฟชั่นในบ้านเราได้เริ่มลองคิดดูบ้างหรือยังว่า อย่างไรน่าจะเป็นแบบไทยๆ ก่อนที่จะเริ่มใช้ทักษะของการดีไซน์ และก่อนที่จะเริมกำหนดแผนการจัดการ การตลาด และ Branding
เสื้อผ้าเพื่อการต่อต้าน
/ ประท้วง
มีอีกหลายกรณี ที่การใส่เสื้อผ้าถูกใช้ในฐานะพื้นที่ของการต่อรองทางสังคม ในมิติแบบยื่นหมูยื่นแมว
คุณไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงเชิงโครงสร้าง รูปแบบใดก็แล้วแต่ คุณไม่เห็นด้วยกับสิ่งอะไรรอบตัวก็แล้วแต่
เราสร้างการประท้วงผ่านการใส่เสื้อผ้า และผ่านกิจกรรมที่ดูเหมือนธรรมดาๆ ในรูปแบบอื่นๆ
และในการต่อรองผ่านกิจกรรมสามัญเหล่านี้ ซ่อนลึกลงไปในระดับการผลิตเชิงสัญลักษณ์
ตรงที่คุณไม่เห็นด้วย แต่คุณไม่ประท้วงตรงๆ
คุณอาจดื้อเงียบ แกล้งสมยอม และเล่นไปตามเกมส์ ยกตัวอย่างการสมัครงานแบบ Erotic หน่อย เวลาผู้หญิงไปสมัครงาน เขาจะดูก่อนว่าใครสัมภาษณ์ เวลาที่จะไปสมัครงานบริษัทดีๆ ต้องตรวจสอบก่อน ต้องรู้ก่อนว่าฝ่ายไหนและใครเป็นคนสัมภาษณ์ ผู้ชายหรือผู้หญิง ถ้าผู้ชายเป็นคนสัมภาษณ์ การต่อรองผ่านการใส่เสื้อผ้า อาจเกิดขึ้นในหลายกรณีทีเดียว เพื่อจะได้มาซึ่งอำนาจเชิงสัญลักษณ์ของฝ่ายหญิงผู้ให้สัมภาษณ์ (แน่นอนทีเดียว มันอยู่ที่ใครใส่ และใครดูอย่างไร?)
บรรดาพวกเด็กแนวทั้งหลาย มีหลายแนวเหลือเกิน การแต่งตัวของกลุ่มแนวเหล่านั้น ถือว่าเป็นการต่อรองต่อรสนิยมของสังคมมาตรฐานได้ไหม? การต่อรองจะเกิดขึ้นได้เมื่อมี Pattern ของความเชื่อ ของคุณค่าสังคมชุดหนึ่ง ที่พยายามจะทำให้ทุกคนปฏิบัติตาม Pattern นั้นๆ (Dominant Culture - วัฒนธรรมที่มีอิทธิพลครอบงำ) เมื่อมีกลุ่มคนที่ใช้ Brand Name, กลุ่มคนที่มีทุน, มีอำนาจทางเศรษฐกิจ, ระดับการศึกษา, ทุนทางวัฒนธรรม และมีรสนิยม ที่(อ้างว่า)สูงกว่า ประกอบกับสื่อรอบๆ ตัวที่พยายามจะตอกย้ำ มาตรฐานการใช้ชีวิตแบบนั้นๆ ผ่านละครทีวีก็ดี, การโฆษณาหรือสื่ออื่นๆ ก็ดี การวิจารณ์ต่อรสนิยมแบบสูงๆ เหล่านั้น ผ่านเสื้อผ้าหรือการเลือกสไตล์ของเสื้อผ้าแบบแนวๆ หรือแหวกแนว จะก่อตัวขึ้น
จะมีคนกลุ่มแนวต่างๆ ที่รู้สึกว่า แล้วทำไมต้องเอาอย่างการใช้ของและมีชีวิตแบบนั้นด้วย ทำไมต้องมีแบบแผน (Pattern)แบบเดียว จากนั้นก็พยายามจะดีไซน์รูปทรง หรือรูปแบบการใช้ชีวิตอีกแบบอื่น ที่เป็นแนวต่างๆ ขึ้นมา กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ยอมที่จะอยู่ภายใต้โครงสร้างของการควบคุมตามแบบแผนของการใช้ชีวิตแบบเดิมๆ หรือแบบที่ถูกยอมรับผ่านภาพของวัฒนธรรมที่อ้างว่าตัวเองเหนือกว่า
ฉะนั้นการแต่งตัวของเด็กแนวต่างๆ จึงมีระหัสของความต้องการในการผลิต และส่งสารในเชิงวิพากษ์สังคม เขาอยากมีชีวิตของเขา นี่คือการต่อรอง
ยังมีการต่อรองที่มองเห็นได้ยากแต่มีปฏิบัติการ และกิจกรรมที่มีพลังเชิงวิพากย์อีกมากมาย ที่กำลังทำงานอย่างแข็งขันใน Segment ของตัวเอง อย่างเช่นวัยรุ่นกลุ่มนักเรียนมัธยมจะเห็นได้ชัด ขอให้ได้ซอยผม ขอให้ได้ย้อมซักนิด, ขอ Tattoo สักหน่อย, ในที่ที่เขาไม่สามารถแสดงตัวตนได้ เขาก็จะซ่อนไว้ แต่เมื่อไรก็ตามที่เขาเข้าไปอยู่ในที่ของเขา ในกลุ่มคน ในกลุ่มเพื่อนที่ Share ความรู้สึก หรือ Share คุณค่าเดียวกัน เขาก็จะสามารถแสดงออกอย่างเต็มที่
คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วทำไมต้องหลบๆ ซ่อนๆ มีที่ไหนบ้างที่เป็นสาธารณะให้คนเหล่านี้ได้ทำอะไรที่ไม่ต้องหลบซ่อน หรือในที่สาธารณะคนเหล่านี้ไม่มีชีวิตอยู่จริง สาธารณะของใคร? ผ่านการดูดซับเข้าระบบทุนกระแสหลัก การต่อรองหลายรูปแบบที่เคยอยู่ในวงแคบๆ จะถูกยอมรับกว้างขวางขึ้นได้ในเวลาต่อมา
เด็กแนวแบบแท้ๆ จะถูกเปลี่ยนเป็นแนวที่ถูกยอมรับและเป็นแนวที่เอามาค้ากำไรได้ ขณะที่เจ้าของแนวเดิมๆเหล่านั้น ถูกกันออกไปและไม่มีส่วนในการแบ่งคุณค่า(รายได้) ผ่านกระบวนการผลิตซ้ำในระบบทุน ซึ่งมีกลไก ที่ Advance และซับซ้อนขึ้น
กลุ่มแนวต่างๆในปัจจุบันจึงมีชีวิตอยู่ในช่วงสั้นๆ เหตุเพราะเมื่อแนวแท้ๆ ซึ่งเคยมีชีวิตของเจ้าของแนวฝังตัวอยู่ด้วย ถูกปลิดวิญญาณออก เหลือแต่ Form ด้วยกลไกการรีด การเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นสินค้า และการแปลงทรัพย์และศิลป์ ให้เป็นทุน (ของใครหรือ?) สไตล์ในแนวต่างๆ ถูกลดทอนลงเหลือแค่ "ความนิยมชั่ววูบ" กลไกทุนที่ Advance นี้ ยอมให้สังคมผลิตสไตล์ในแนวต่างๆ มีทางเลือกของการบริโภคแนวต่างๆ มากขึ้น ในขณะที่ "การบริโภค"ด้วยตัวของมันเอง คือความจำเป็นอย่างไม่มีทางเลือก
การต่อรองจะเกิดขึ้นเมื่อมี Pattern หรือแบบแผนอะไรบางอย่างที่พยายามจะอ้างความเป็นมาตรฐานของการใช้ชีวิต มนุษย์จะไม่อยู่ในโลกแบบเชื่องๆ เขาจะแปลความหมายโลกที่เป็นอยู่ แล้วทำความเข้าใจมัน ถ้าเชื่อดังนี้แล้ว เราจะไม่สร้างสังคมของการบริโภคแนว(s)
3. Fashionsophy : History
of Taste & Style Character
ประวัติศาสตร์ของรสนิยม และอัตลักษณ์ของสไตล์
มีคนเชื่อแบบไม่รู้เรื่องว่า ศูนย์กลางแฟชั่นอยู่ที่นิวยอร์ค, ลอนดอน, ปารีส,
สมมติว่ามันจริง ทำไมเมือง 3 เมืองนี้ถึงเป็นศูนย์กลางของแฟชั่นได้? ไม่ใช่เพราะความเป็นปารีส
ไม่ใช่เพราะความเป็นนิวยอร์คหรือความเป็นลอนดอน หากแต่ความเป็นนิวยอร์ค ความเป็นลอนดอน
หรือปารีสเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากพื้นฐานอะไร อะไรที่ทำให้เมืองเหล่านี้มีอำนาจในการกำหนดการสวมใส่เสื้อผ้า?
เงื่อนไขแฟชั่นหรือการยอมรับแฟชั่น แม้กระทั่งตะวันตกมันก็มีปัจจัยอะไรหลายอย่างมากมายไปหมด มีเงื่อนไขของเศรษฐกิจ เงื่อนไขของชีวิตประจำวัน เงื่อนไขสิ่งที่เป็นปัจจัยจริงๆ ในภูมิภาคนั้น, แต่เวลา Designer ไปดูสไตล์ที่มาจากยุโรป, อเมริกา, มักจะมองข้ามหรือไม่ค่อยเห็นปัจจัยทั้งหลายเหล่านั้น เราจะไปตัดยอดมันเลย เสร็จแล้วก็ปล่อยลง Catwalk
อาจมีผู้แย้งว่า เป็นเพราะปัจจุบันอะไรๆ ก็ไม่มีราก, เร็วๆ นี้จะเห็นฝรั่งใส่เสื้อคอจีน ชอบอะไรที่เป็นญี่ปุ่น หรืออะไรที่มัน Exotic แบบบาหลีหรือไทย คนผิวดำจะชอบอะไรที่มีสัญลักษณ์ที่เป็น Icon แบบจีนๆ
ในช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ 19 การใส่เสื้อผ้าในยุโรปและอเมริกา ผู้คนมีทัศนคติต่อการใส่ การผลิต และการรักษาเสื้อผ้าไม่เหมือนกัน แม้ในยุโรปต้นตำรับทั้งลอนดอนและปารีส ก็มีทัศนคติที่ไม่เหมือนและลงรอยกัน ยิ่งในอเมริกายิ่งไม่เหมือนที่อื่นเลย ทำให้ Fashion Designer ทั้ง 3 เมืองนี้กำหนด Trend ของ Fashion ของตนเองที่แตกต่างกันไป แต่มีเหตุผลทางประวัติศาสตร์ที่ช่วยให้เข้าใจได้ว่าเกิดอะไรขึ้น
เชื่อกันว่า คริสตศตวรรษที่ 19 ซึ่งอยู่ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม นั้นทำให้อะไรทุกอย่างง่ายขึ้น ผลิตได้มากขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้น การผลิตแบบ Mass Production ในยุคต้นๆ ทำให้คนหรือผู้ใช้เข้าถึงตัว Product หรือผลผลิตได้ง่ายขึ้น
Mass Product ทำให้เกิด
Mass User จริงหรือเปล่า?
สมัยก่อนตัดเย็บเสื้อผ้าเป็นแบบมีช่างประจำ ถ้าเป็นคนที่มีตำแหน่งเป็นขุนนาง
มีฐานันดรศักดิ์ จะมีช่างตัดเสื้อผ้าหรือมีร้านตัวเสื้อของคนเองเฉพาะ แต่ในระดับครัวเรือนต้องตัดเสื้อผ้าใส่กันเอง
ไม่เพียงเท่านั้นหากต้องฉลาดที่จะปรับประยุกต์เสื้อผ้าเก่าให้ทันยุคทันสมัยด้วยตัวเอง
คนเหล่านี้จึงต้องมี Skill หรือทักษะในการตัดเย็บ
ทุกอย่างทำได้ง่ายขึ้นเมื่อการมาถึงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม, Machine Made Clothing คืออุดมคติของการผลิต แต่การใส่เสื้อผ้าที่ถูกผลิตมาจากเครื่องจักร ในระยะแรกไม่ได้เป็น Mass Production แบบที่เป็นอยู่ในเวลาปัจจุบัน เทคโนโลยีในการผลิตเสื้อผ้าในตอนแรกถูกคิดขึ้นเพื่อการใช้งานในครัวเรือน, ใน Unit เล็กๆ, หลัง จากนั้นมาจึงผลิตมาเป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ เป็นเครื่องจักรอุตสาหกรรม แล้วก็มีโรงงานที่มีเครื่องจักรเป็นร้อยๆ ที่ผลิตในเชิงปริมาณจำนวนมหาศาล
การใช้จักรเย็บผ้า ระบบการวัดตัวที่มาตรฐาน และแพทเทิร์นสำหรับการตัดเย็บที่เป็นมาตรฐาน ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในครัวเรือน ได้เปลี่ยนทัศนคติของการใส่เสื้อผ้าในยุโรปและอเมริกา ในเบื้องต้นบอกว่าการมีเครื่องจักรเพื่ออำนวยความสะดวก แต่การเป็นเจ้าของจักรเย็บผ้าซักเครื่องไม่ใช่เรื่องง่าย ใช่ว่าทุกคนจะมีได้ เครื่องจักรมีราคา มี Cost คนในสังคมหนึ่ง มีระดับของอาชีพ ระดับของรายได้ที่ไม่เท่ากัน
เทียบกับสังคมปัจจุบัน ซึ่งมีช่องว่างของรายได้เช่นกัน แต่ว่าเม็ดเงินที่ได้ไม่ขาดแคลน หรือขึ้งเครียดขนาดที่ว่าฉันหาอะไรไม่ได้เลย ฉันเป็นชนชั้นกลาง ได้เงินเดือนประมาณ 15,000 บาท ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการ ซึ่งรายได้เป็นแสนๆ แต่รายได้เงินเดือนระดับนี้ก็สามารถที่จะจับจ่าย ใช้สอย หามาได้ใน Item ต่างๆ และเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ แบบพื้นๆ ได้
แต่ในคริสตศตวรรษที่ 19 มันไม่ใช่เช่นนั้น จำนวนของคนที่ไม่มี In Come คนที่ไม่มีรายได้ มีสัดส่วนที่สูงถึง 90% การได้มาซึ่งจักรเย็บผ้าในตอนแรกจึงไม่ใช่เรื่องง่าย จะบอกว่าเครื่องจักรอำนวยความสะดวกมันไม่ใช่แล้ว เพราะมันอำนวยความสะดวกให้แค่กลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น
คำว่า Mass Production ในศตวรรษที่ 19 จึงไม่เหมือน Mass Production ในเวลาปัจจุบันซึ่งพยายามจะลด Cost หรือต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุด ให้ทุกคนเข้าถึงได้ แต่ Mass Production ในยุคแรกๆ ราคาสูง Speed ในการผลิต มีผลต่อจำนวนสินค้าในตลาด แต่ก็ไม่ใช่ในขนาดสัดส่วนที่ใหญ่โตมากมาย และมีคนอยู่แค่กลุ่มแคบๆ ที่ Afford ได้ เสื้อผ้าราคายังแพงอยู่
ก่อนที่จะถึงยุคนี้นั้นผู้คนต่างๆ ยังมีเวลามากพอที่จะผลิตเครื่องแต่งกายของตัวเอง แต่ในยุคนี้ผู้คนใช้เวลาส่วนมากไปกับการทำงานในงานอุตสาหกรรม คริสตศตวรรษที่ 19 สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมในช่วงนั้นคือ การทำงานหนัก เราลองนึกถึงภาพโรงงานหนึ่ง มีการแบ่งงานกันทำใน Section เฉพาะชัดเจน, ผู้หญิงอยู่บ้าน, ผู้ชายทำงาน, ผู้ชายที่ไปทำงานก็ทำงานในหน้าที่เฉพาะในโรงงานนั้นๆ จะเป็นเสมียน, หรือเป็น Unskill Worker (แรงงานที่ไร้ทักษะ) หรือเป็น Skill Worker (แรงงานที่มีทักษะ) หรือจะมี Skill ในด้านไหนก็ตาม
นึกถึงการผลิตแบบสายพาน ทุกคนต้องอยู่ประจำในตำแหน่งของตัวเอง, Segment ต่างๆ ของชีวิต พัวพันอยู่กับกิจกรรมเฉพาะด้าน ซึ่งกำหนดว่าวันหนึ่งต้องทำอะไรบ้าง และจำนวนเท่าใด(เป็นอย่างน้อย)
Concept หรือแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องเวลาและสถานที่เปลี่ยนไปพร้อมๆ กัน, เกิดการจัดพื้นที่อย่างเป็นระบบว่า Section นี้เป็น Section ของที่อยู่อาศัย, Section นี้สาหรับโรงงานอุตสาหกรรม, Section นี้เป็นสวนสาธารณะ, นี้เป็น Section การเกษตร ฯลฯ พื้นที่ถูกแบ่งด้วยความเข้าใจใหม่ และบุคคลจะต้องเรียนรู้ระเบียบที่จะอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ในเวลาที่ถูกต้องด้วย
ถ้ามองสังคมเป็นพื้นที่ๆ หนึ่ง ทุกอย่างถูกแบ่งเป็น Segment, เป็นชิ้นเค้ก, แล้วก็มีลักษณะเฉพาะของกิจกรรม และคนที่เข้าไปทำงานในกิจกรรมนั้นๆ ทำงานเฉพาะด้านในส่วนของตน สภาพสังคมตรงนี้มันมีผลกระทบต่อการใส่เสื้อผ้าด้วย
ปัจจุบัน Position ของการใส่เสื้อผ้าของเราอยู่ที่ไหน?
มนุษย์ต้องเข้าไปร่วมสังสรรค์กับกิจกรรมในเวลาเฉพาะ ปรากฏตัวในพื้นที่ของกิจกรรมอย่างมี
Character. ชุด ทำงานชุดหนึ่ง, อยู่บ้านชุดหนึ่ง, ออกไปกินกาแฟกินน้ำชากับเพื่อนอีกชุดหนึ่ง,
ตรงนี้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่สูงขึ้น จากสมัยก่อนที่ชุดเดียวใส่ทำงาน,
ไถนา, ไปโบสถ์ก็ได้, กลายเป็นว่าค่าใช้จ่ายสำหรับเสื้อผ้าที่สอดคล้องกับกิจกรรมเฉพาะต่างๆ
เหล่านั้นสูงขึ้น
เสื้อผ้าที่แพร่หลายอยู่ในตลาด มันแพร่หลายจริง แต่มันจะขายออกและถูกใช้จริงๆ หรือเปล่า นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง? Designer อยู่ตรงไหนและควรคิดอย่างไรตอนนี้? ช่วงนี้แหละที่มีการให้ภาพว่าต้องมีเสื้อผ้าหลายชุด ทำให้ต้นทุน ในการใช้ชีวิตสูงขึ้น ต้องจับจ่ายใช้สอย ต้องกันเงิน หรือมีเงินจำนวนหนึ่งสำหรับเสื้อผ้า จริงไหม?
มีเสื้อผ้าจำนวนมวกทีเดียวในช่วงแรกของการผลิตแบบ Mass Product ที่ไม่ได้ถูกใส่ ขายไม่ออก ในที่นี้กำลังพูดถึงปัญหาของสัดส่วนของรายได้ที่สัมพันธ์กับความจำเป็นในการบริโภคของคนระดับล่าง ในช่วงแรกของการผลิตแบบ Mass Product. สมมติว่าเสื้อผ้าในตลาดราคา 10 บาท, คนงานมีรายได้จากการทำงานในระบบการผลิต 4 บาท, อีก 6 บาทจะไปหาที่ไหนและมันไหลไปที่ไหน, ใครคือคนที่ได้ 10 บาท? ผู้ประกอบการ, คนที่มีทุน, คนที่ครอบครองทุน, แรงงาน, เครื่องจักร, ที่ดิน, การเงิน?
ในคริสตศตวรรษที่ 19 ส่วนป่องของประชากรคือคนที่อยู่ในระดับล่าง มีคนเพียงแค่หยิบมือเดียวเท่านั้นที่ครอบครองทุนตรงนี้ได้ เพราะฉะนั้นเงิน 4 บาทที่ได้จากการทำงาน ไปซื้อเสื้อผ้า 10 บาทได้ไหม, ต้องทำงานหนัก ต้องทำงาน 2 เท่าถึงจะได้ 8 บาท, ทำ 3 กะได้ 12 บาท, เหลือ 2 บาทไว้กินข้าว อีก 10 บาทซื้อเสื้อผ้า
สังคมยังมีช่องว่างเรื่องรายได้ และราคาต้นทุนของตัว Product ก็ยังสูงอยู่ ไม่ใช่แค่เสื้อผ้าเท่านั้น สินค้าทุกอย่างมีช่องว่างการเข้าถึงที่สัมพันธ์กับราคาค่อนข้างห่าง เพราะฉะนั้นความคิดของการผลิตแบบ Mass Production ที่บอกว่าทุกคนเข้าถึงได้ ทุกคนสามารถใช้ Product แบบเดียวกันได้ จึงไม่จริง มันมีแค่คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่ใช้ได้ ที่อยู่บนยอดของสังคม มีคนจำนวนมากอยู่ในโครงสร้างข้างล่างที่ไม่สามารถเข้าถึงผลผลิต เหล่านั้น
นอกจากนี้ในด้านสังคม โครงสร้างทางสังคมเปลี่ยน สังคมมีกิจกรรมมากขึ้น มีเรื่องที่ต้องทำในชีวิตประจำวันมากขึ้น เวลา 24 ชั่วโมงถูกแบ่งชัดเจนว่า 1 วันต้องทำอะไร, ต้องเลี้ยงลูกกี่ชั่วโมง, ต้องไปทำงานกี่ชั่วโมง, ต้องนอนกี่ชั่วโมง, นาฬิกามีความหมายมาก เมื่อเวลามันถูกแบ่ง ทุกอย่างต้องแน่นอน แต่การแบ่งเหล่านั้นนำมาสู่ความสับสนและความแปลกแยก
เราเห็นสินค้าอยู่ตรงหน้าเรา
แต่เราไม่สามารถครอบครองมันได้ เกิดความแปลกแยกต่อตัวสินค้า หรือเสื้อผ้าที่วางอยู่ตรงหน้า
ตรงนี้ส่งผลสะท้อนด้านกลับของทัศนคติต่อการใช้เสื้อผ้าของชนชั้นล่าง. ในตอนแรกมีความพยายามจะเอาอย่างรสนิยมสูง
ด้วยการทำงานหนักขึ้น แต่ลองอยู่สักพักไม่ได้ผล เริ่มคิดได้ว่าในเมื่อครอบครองไม่ได้
ก็ไม่เอา, ก็หา Lifestyle แบบใหม่ ไม่จำเป็นต้องไปเลียนแบบมาตรฐานที่วางไว้ว่าคนจะต้องใส่หมวกแบบไหน
จะต้องใส่สูทประเภทไหน ต้องมีเสื้อผ้าแบบไหน?
ถึงแม้ว่าผู้คนต่างฝันที่จะยกระดับสถานะทางสังคมของตนเองผ่านการแต่งกาย แต่เมื่อรสนิยมที่ถูกกำหนดเป็นรสนิยมที่ไม่สามารถที่จะครอบครองได้โดยคนจำนวนมาก
คนจำนวนนี้ก็สร้างผลสะท้อนด้านกลับต่อรูปทรงของรสนิยมอันนั้น คือการไม่เลียนแบบ
กลับไปสู่ความคิดที่ว่ากิน เที่ยว นอน ชุดเดียวกัน ของคนที่อยู่ข้างล่าง คนที่เป็นส่วนป่องทางสังคม
ความคิดนี้อธิบายได้หลายๆ มุมมองที่คนเหล่านั้นเข้าใจการใช้งานของเสื้อผ้า ใช้จนมันใช้ไม่ได้ ใช้จนถึงที่สุด เข้าใจธรรมชาติของการใช้ หรือจะมองจากมุมมองว่ามันเป็นปฏิกริยาที่สะท้อนด้านกลับของการต่อรองรสนิยมที่ครอบงำ เป็นรสนิยมที่มัน dominate สังคมอยู่ตอนนั้นก็ได้
ในยุโรปมีประเพณีว่า เมื่อหนุ่มสาวจะแต่งงาน} ของขวัญที่ผู้ชายจะได้คือสูทชุดหนึ่ง เป็นสูทเต็มยศ มีทั้งสูทข้างใน} สูทข้างนอก, มีเสื้อ, มีเน็คไท, มีรองเท้า, มีกางเกง, แล้วก็มีหมวก. และสูทชุดดังกล่าวในคู่บ่าวสาวโดยเฉพาะเจ้าบ่าวต้องรักษามันตลอดชีวิต แล้วใช้มันในทุกโอกาส ตั้งแต่ออกงานสังคม, ไปงานศพ, ไปงานแต่งงาน, ไปโบสถ์วันอาทิตย์, หรือไปติดต่อราชการอะไรก็แล้วแต่ก็จะใช้แค่ชุดเดียว
ดูจากภาพถ่ายเก่าๆ ของชาวยุโรป จะเห็นว่าคนทำงานเหมืองแร่แต่ก่อนแต่งตัวดีเหลือเกิน ใส่สูทผ้าขนสัตว์ ทำงานเหมืองแร่ เพราะมันเป็นสูทที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากคนรุ่นพ่อ ตัวเขาเองเขามีสูทอยู่แล้วชุดหนึ่งถ้าเขาแต่งงาน แต่ถ้าเขาไม่มีแน่นอนทีเดียวก็รอมีเงิน ถ้าไม่มีเงินก็รอแต่งงานได้แน่ๆ สูทของพ่อ ในกรณีที่คนมีสูท 2 ชุด ได้จากพ่อ หรือได้จากการแต่งงาน หรือมีรายได้พอที่จะซื้อชุดใหม่ ก็เอาสูทชุดเก่าใส่ทำงาน
การเอาสูทที่เป็นสัญลักษณ์ของรสนิยมมาตรฐานใส่ทำงานโดยคนระดับล่าง ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ในการโต้แย้งรสนิยมชั้นสูงในเวลานั้น
สมมติว่ามี Designer คนหนึ่งในคริสตศตวรรษที่ 19 คิดว่าคนในชนชั้นแรงงานที่มีจำนวนมาก สามารถเป็น ปัจจัยหรือเงื่อนไขในการที่จะได้มาซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจ ปัจจัยด้านประชากรตรงนี้สร้างเงินไหม? สมมติสังคมหนึ่งมีประชากร 60 คน. 10 คนเป็นชนชั้นสูง, อีก 50 ที่เหลือน่าจะเป็นเป็นเงินเนื้อๆ, เพราะจำนวนที่มากกว่า แทนที่จะผลิตให้ชนชั้นสูง 10 คน, Designer พลาดไปเอาปัจจัยประชากร 50 คนที่เป็น Population เชิงจำนวน เป็นตัวตั้ง, แล้ว Design เพื่อที่จะขายคนกลุ่มนี้ โดยไม่ดูประเพณีของเขา, ไม่ดู Custom หรือ Manner, จริยธรรมในการใช้เสื้อผ้าของเขา อันนี้จะนำมาซึ่งความผิดพลาด และประสบหายนะได้
ฉะนั้น Designer ที่เป็นนักตัดเย็บที่มีทักษะสูงๆ เขาก็จะตัดให้เฉพาะคนชั้นสูงเท่านั้น จะมีลูกค้าไม่กี่กลุ่ม ถามว่าปรากฏการณ์ตรงนั้นมันยั่งยืนตลอดไปไหม? อยู่ชั่วกัลปวสานไหม? คริสตศตวรรษที่ 19 ต้องใช้เวลาถึง 50 ปี กว่าจะเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการใส่เสื้อผ้า แต่โลกปัจจุบันมันเปลี่ยนทุก 5 นาที สังคมมันไม่อยู่นิ่ง จำเป็นอย่างยิ่งที่ Designer ควรต้องจับกระแสการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ให้ทัน ปัจจุบันต้องเร็ว แล้วก็ทำงานมากกว่า Designer ในคริสตศตวรรษที่ 19
ช่วงปลายคริสตศตวรรษที่
19 อุดมคติเรื่องการใส่เสื้อผ้าเริ่มเปลี่ยน
ไม่ได้เปลี่ยนเพราะว่าเสื้อผ้าซึ่งราคายังคงสูงอยู่ แล้วมี Designer บ้าระห่ำกล้าลงทุน
กล้าเสี่ยงที่จะขาดทุนกับคนกลุ่มที่หวังไม่ได้เลยเมื่อ 50 ปีก่อนหน้า แต่มีการเปลี่ยนเชิงความคิด,
การเปลี่ยนเชิงทัศนคติของคนกลุ่มนี้ การเปลี่ยนเหล่านี้นำมาสู่ช่วงที่ 2 ของการผลิตแบบ
Mass Production แบบเต็มรูปแบบ ทุกอย่างทุกคนเข้าถึงได้ด้วยความคิดเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่
เศรษฐกิจก่อนหน้านี้ไม่ได้พูดถึงกลไกตลาด แต่เป็นระบบ เจ้า ข้า ขุนนางเก่า ที่ยังคงตกค้างอยู่ลึกๆ ในสังคมหลังการปฏิวัติในปี 1789 ในฝรั่งเศส. คริสตศตวรรษที่ 19 เริ่มเกิดรูปแบบของการจัดการเศรษฐกิจ Management เชิงสังคม ในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่าเป็น Modern Economic เมื่อระบบทำงานไปสักพักหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เม็ดเงินที่ไหลหรือหมุนเวียนอยู่ในตลาดมากขึ้น
คนงานไม่ได้จนเหมือนเดิมแล้ว มองเงินที่มันไหลอยู่ในตลาดในขณะนั้น มีเงินสะสมมากขึ้น มีเงินจับจ่ายใช้สอยในครัวเรือนมากขึ้น พอที่จะสนองตัณหาตัวเองมากกว่าแค่ซื้อหัวมันฝรั่งมาต้มกินให้จุก เริ่มมีรสนิยม คงเถียงกันได้ว่ารสนิยมมันไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความจนหรือความรวย แต่เกิดจากการมีปัจจัยและเหตุผลทางสังคมบางประการ
ถ้าคนยังปากกัดตีนถีบ รสนิยมก็เกิดขึ้นยาก ในทางกลับกันการมีเงินเต็มกระเป๋าก็ไม่ได้เป็นหลักประกันของรสนิยมที่ดี. อย่างไรก็ดี ปัจจัยทางการตลาด การผลิต ซึ่งสัมพันธ์กับการเงินมีผลต่อคำว่า "รสนิยม" แน่ๆ เมื่อมีเงินหมุนเวียนอยู่ในตลาดมากขึ้น มีการผลิตมากขึ้น มีการเสนอนำ Product ก็คือการนำเสนอรสนิยมที่หลากหลายมากขึ้น พร้อมกับมีเงินสะสม มีเงินไหลเลื่อนในตลาดครัวเรือนมากขึ้น คนถึงเริ่มใช้รสนิยม เริ่มคิดถึงชีวิตที่มีรสนิยม
รสนิยมอย่างที่ว่าในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 19 ไม่ใช่รสนิยมที่เราเข้าใจกันอย่างในปัจจุบัน ซึ่งเป็นรสนิยมที่ต้องกินไวน์, ต้องถือกระเป๋า Louis Vuitton, อย่างเช่นรสนิยมแบบชนชั้นล่าง คือการพยายามจะสร้างอัตลักษณ์ที่มีลักษณะการโต้แย้งชนชั้นสูง บนพื้นฐานการขาดแคลน. ในช่วงเวลาเดียวกัน ไม่ใช่การบริโภครสนิยมที่ถูกขับเคลื่อนด้วยกลไกตลาดเพียงอย่างเดียว ผ่านมาช่วงระยะหนึ่ง ความคิดเชิงคุณค่าต่อโลก สังคม ของคนกลุ่มนี้เริ่มแข็งแรง เริ่มก่อขึ้นเป็นรูปทรงที่ชัดเจน เริ่มก่อเป็น Lifestyle ของชนชั้นล่างที่ชัดเจน มันสร้าง Pattern เสื้อผ้าของชนชั้นล่าง การเลียนแบบวิถีชีวิตของชนชั้นสูง ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป
เขามีวิถีชีวิตแบบของเขาเอง ชนชั้นสูงจะใส่อะไรก็ใส่ไป แต่เขาจะพัฒนาหรือ Develop รสนิยมบนพื้นฐานของเขาเอง นำมาสู่การใช้แบบราคาถูก ไม่รุ่มร่าม ไม่ฟุ่มเฟือยมากนัก. ถ้า Designer คิดจะออกแบบเสื้อผ้าให้คนกลุ่มนี้ แล้วใช้วัสดุที่มีราคาแพงซึ่งชนชั้นสูงชอบ ก็ขาดทุน เพราะคนจนๆ ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาซื้อ คนกลุ่มนี้เขายอมรับวัสดุหรือ Material ที่ราคาถูก ไม่ต้องไฮโซมากก็ใส่ได้. นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศส
ในอเมริกาจะเป็นอีกแบบหนึ่ง เป็น Clothing Reward Democratic คือการใส่เสื้อผ้าเริ่มมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่ใช่ Tripple Down Effect ไม่ใช่ Top Down Effect ไม่ใช่เป็นรสนิยมชั้นบนที่ทุกคนข้างล่างต้องเลียนแบบ มันเริ่มมีความหลากหลายอย่างน้อย 2 กลุ่ม นั่นคือ: ข้างบน กับ ข้างล่าง, โลโซ กับ ไฮโซ. เท่านั้นไม่พอ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในเวลาปัจจุบันด้วย เมื่อชนชั้นบนช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 19 เริ่มเห็นว่าชนชั้นล่างมันเท่ ก็เริ่มเลียนแบบรสนิยมข้างล่าง, เหมือนสมัยก่อนใครใส่กางเกงยีนนี่ไพร่ ปัจจุบันนี้ใครใส่กางเกงยีนไม่ได้เกี่ยวกับไพร่ แต่มันไปลดช่องว่างคำว่า Hi-Society กับ Low-Society
มีการหยิบยืมแบบแผนในการใช้ชีวิตซึ่งกันและกัน ระหว่างข้างบนและข้างล่าง คนข้างบนก็เริ่มคิดว่าเขาก็เป็นส่วนหนึ่งในสังคม เขาก็แต่งตัวกันอย่างนี้ ก็เริ่มมีการหยิบยืมรสนิยมการใช้วัสดุหรือวัตถุดิบ ของชนชั้นล่าง ฉะนั้น Gap ระหว่างข้างบนกับข้างล่างมันเริ่มเบลอๆ โดยเฉพาะในอเมริกาประเทศที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของกลุ่มคนต่างๆ พวกมาจากยุโรป ยุโรปภาคไหน ยุโรปก็เหมือนเมืองไทย มีทั้งอีสานในยุโรปก็มี คนใต้ในยุโรปก็มี คนเหนือในยุโรปก็มี คนภาคกลางในยุโรปก็มี
คนเหล่านี้เมื่อเคลื่อนย้ายมาอยู่ที่อเมริกา ก็มีทัศนคติความหลากหลายพาติดตัวมาด้วย พยายามที่จะสถาปนาสิ่งที่เป็นขนบประเพณี หรือ Tradition ที่เอามาจากยุโรป มาเริ่มใหม่ในอเมริกา เครื่องแต่งกายช่วงแรกในโลกใหม่นี้ถูกลอกเลียนแบบมาจากสไตล์ของยุโรป. เครื่องแต่งกายที่ว่านี้จะมีจำหน่ายในบางเมืองสำคัญทางฝั่งตะวันออก และบรรดาผู้บริโภคที่เป็นเศรษฐีเท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงได้
ยุโรปมีขนบจารีตที่มีความเป็นปึกแผ่น แบบมีลักษณะเฉพาะ ด้วยพื้นฐานต่างของวัฒนธรรมกรีก วัฒนธรรมโรมัน วัฒนธรรมของเมโสโปเตเมีย วัฒนธรรมของพวกแคริเบียน และชาติพันธ์อื่นๆ ในอเมริกาทุกคนใหม่หมด ทุกคนเป็นตัวของตัวเอง คุณก็เป็นคุณ เป็น Segment หนึ่งในประเทศอเมริกา ตรงนี้มันเกิดอะไรขึ้น? คำตอบคือเกิดการผสมผสาน เกิดการลดช่องว่างของความแตกต่างของประเพณีในอเมริกา ทำให้เกิดความหลากหลายด้วย
ในช่วงต้นๆ ของการสร้างประเทศ(อเมริกา) มีปัญหาการขัดแย้งสูง หลังจากนั้นมาไม่กี่สิบปีเริ่มมีการต่อรอง เริ่มมีการคุยกันว่า เราจะอยู่กันอย่างไรในโลกใหม่ ลดช่องว่างทางประเพณีลงโดยการยอมรับประเพณีอื่นๆ ที่อยู่รอบๆ ตัว ทำให้ทุกอย่างมันเบลอเข้าหากัน. รูปแบบแฟชั่นของเสื้อผ้า ก็มีการหยิบยืมสัญลักษณ์ หยิบยืมการตัดเย็บ ยืมเทคโนโลยีซึ่งกันและกัน การหยิบยืมเหล่านี้เป็นมาตรฐานอีกแบบหนึ่ง เกิดรูปแบบใหม่ของการแต่งกายแบบอเมริกัน ซึ่งไม่มีกำแพงประเพณีกั้นซึ่งพบเห็นได้ชัดเจนอีกต่อไปแล้ว
เราจะเห็นว่า ทำไมคนอเมริกันในปัจจุบันรสนิยมจึงห่วยแตก เสื้อผ้ามาจากอเมริกาไม่สวยเลย เสื้อผ้า Gap สวยไหม? เทียบกับยุโรปที่การออกแบบมีสีสัน การตัดเย็บ รูปทรง ดูแล้วมีสไตล์. ยี่ห้อจากอเมริกานี่ทื่อๆ เชยแหลก นึกถึงฝรั่งอเมริกันกับฝรั่งยุโรป เราจะเห็นคน 2 คนที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ก็เพราะอเมริกันมันไม่มีลักษณะที่มัน Distinct ที่พิเศษทางรสนิยม มันเบลอเข้าหากันหมด จะด้วยเงื่อนไขของการต้องเอาชีวิตรอดในโลกใหม่ เงื่อนไขของการต้องต่อสู้กับสภาพแวดล้อม เงื่อนไขของการเมืองภายในหลังสงครามกลางเมือง เกิดเป็นประเทศอเมริกันที่เข้มแข็ง แต่ละรัฐมีดาวของตัวเองบนธงชาติเดียวกัน ทำให้ทุกอย่างมัน Blend เข้าหากัน เป็นอเมริกัน
ในช่วงต้นๆ ของคริสตศตวรรษที่ 20 เครื่องแต่งกายเริ่มมีบทบาทน้อยลง ในฐานะที่เป็นตัวบ่งชี้ความเป็นปัจเจก หรือ "สถานะ" ทางสังคมในอเมริกา. ยุโรปจะมีความหลากหลายมากกว่า เราไปยุโรปเราจะเห็นยุโรปทางเหนือใส่เสื้อผ้าอย่างหนึ่ง มาทางยุโรปตอนกลางก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ปัจจุบันอเมริกันไม่เห็นแล้ว ทั้งที่อเมริกาเป็นประเทศของความหลากหลายทางชาติพันธุ์ หลากหลายของความสนใจ นี่เป็นประเด็นที่นำมาสู่สังคม Pop Culture สังคม Hollywood สังคม McDonald's มาจากพื้นฐานตรงนี้
เท่านั้นไม่พอ ความคิดพื้นฐานของการอยู่ในโลกใหม่ มันมาพร้อมกับการเกลียดโลกที่ทิ้งมา. เราจะไม่ย้ายบ้าน ถ้าบ้านเราไม่มีปัญหา พอมาถึงประเทศอเมริกาไม่เฉพาะคนยุโรปนะ แม้กระทั่งคนจีนอพยพที่เป็นแรงงานในเหมืองทองที่ San Francisco คนญี่ปุ่นอพยพไปทำงานเหมืองทองเช่นเดียวกัน คนมาจากเม็กซิโก คนมาจากทางเหนือของอเมริกา ทางทวีปอเมริกาเหนือ ย้ายมาอยู่ในรัฐอเมริกันใหม่ พยายามจะละทิ้งความเป็นอัตลักษณ์ ความเป็นประเพณีของตนเอง เพื่อจะมาแสวงหาร่วมกันกับคนกลุ่มอื่น เป็นอัตลักษณ์ของการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ แบบอเมริกันเอง
เพราะฉะนั้นจะไม่แปลกที่เห็นคนจีนไม่ใส่เสื้อคอจีนในอเมริกา แม้กระทั่งในตอนต้นของศตวรรษไปถึงประเทศอเมริกาปั๊บก็ใส่สูทเลย, ใส่ Overall ชุดเอี๊ยม ชุดหมีทันที. มันเกิดอะไรขึ้น? ไม่รักประเพณี ไม่รักวัฒนธรรมดั้งเดิมกระนั้นหรือ? เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ การเอาชีวิตรอด ความจำเป็นต้อง Blend ตัวเองให้เข้ากับสังคมรอบด้านให้ได้ในโลกใหม่ เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดรูปแบบทางวัฒนธรรมแบบอเมริกัน แล้วก็เสื้อผ้าแบบอเมริกันในเวลาต่อมา และเป็นสาเหตุต่อการเกิดขึ้นของชนชั้นกลางแบบอเมริกัน
ช่วงต้นของคริสตศตวรรษที่ 20 การแต่งตัวให้ดูดีเป็นกระแสที่แพร่หลายในกลุ่มผู้หญิงชนชั้นแรงงานในอเมริกามากกว่าในฝรั่งเศสหรืออังกฤษ เพื่อให้เข้ากับมาตรฐานของชนชั้นกลาง. การอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของผู้หญิงจากฝั่งตะวันตกไปยังฝั่งตะวันออก ด้วยเหตุผลที่จะไปขุดทองแถบ California สาวๆ เหล่านั้นได้ละทิ้งช่วงเวลาชีวิตที่ผ่านมาและมันก็เป็นการยากในพื้นที่ที่ห่างไกลเช่นนั้น ในการที่จะจำลองวัฒนธรรมดั้งเดิมที่พวกหล่อนเคยมีมา สาวๆเหล่านี้ไม่ได้นำลักษณะการแต่งกายแบบดั้งเดิมมาด้วย พวกเธอละทิ้งมันและสร้างแบบแผนขึ้นมาใหม่ไม่เหมือนผู้หญิงในยุโรป
นี่เป็นความพยายามที่จะเชื่อมต่อหรือทำให้ช่องว่างระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบทนั้นแคบลง ซึ่งเสื้อผ้าเป็นสัญลักษณ์บ่งชี้ถึงกระบวนการดังกล่าว และผู้หญิงคือตัวละครที่สำคัญ ประกอบกับระบบการผ่อนชำระ (ซึ่งไม่เกิดระบบนี้ขึ้นในยุโรป) ทำให้จักรเย็บผ้าแพร่หลายไปทั่วประเทศ และ Pattern กระดาษ ที่ผลิตขาย ในเวลาเดียวกัน
ขณะที่อเมริกันพยายามจะหา Style Character ใหม่ของชีวิต ในยุโรปช่วงเวลาเดียวกันยังคงรักษาไว้ซึ่งความเป็นอัตลักษณ์ดั้งเดิม คนฝรั่งเศสไม่ยอมเป็นคนเยอรมัน. ใน EU นี่ทะเลาะกันแทบตายกว่าจะใช้ EU เพราะถือว่าตัวเองมีลักษณะพิเศษทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนไม่มีใครน้อยหน้าใคร ไม่ยอม Blend กับใคร โดยเฉพาะฝรั่งเศสและอังกฤษก็พยายามที่จะรักษาประเพณีตรงนี้ ประเพณีที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ไม่ได้รักษาแค่ประเพณีเพียงอย่างเดียว ยังรักษาโครงสร้างการจัดการทางสังคมไว้ด้วย
ในอเมริกันทำไมถึงเกิดประชาธิปไตยก่อนประเทศอื่น ก็เนื่องจากปัจจัยที่ว่ามาทั้งหมด มันนำมาสู่การ Blend เข้าหากัน ว่าต้องอยู่ด้วยกัน. ในยุโรปถึงแม้ความคิดเรื่องราชสำนักจะมีลักษณะหลวมๆ และเบาบางลง ความคิดเรื่องคนชั้นสูงใหม่ยังคงเป็นประเด็นที่กำหนด Trend กำหนดรูปแบบทางวัฒนธรรม นั่นคือการทรงไว้ซึ่งอำนาจ แล้วไม่อยากสูญเสียอำนาจ ในทางกลับกันการสูญเสียอำนาจหมายถึงการสูญเสียรูปแบบทางวัฒนธรรมด้วย
ฉะนั้น สิ่งที่จะได้มาซึ่งอำนาจใหม่ ก็คือการอ้างการรักษารูปแบบทางวัฒนธรรมเดิมไว้ นั่นคือ รักษาการจัดการทางสังคมแบบเดิมไว้ ให้มันมีช่องว่างทางชนชั้นไว้นั่นเอง ไพร่ก็ยังเป็นไพร่อยู่, คนที่ใส่ Uniform ก็ยังเป็นคนที่ใส่ Uniformอยู่, แสดงถึง Sense เรื่องความเป็นคนงาน, ไปกินข้าวข้างนอกจะเปลี่ยนชุดก็ยังเป็นคนงานอยู่
ถึงมีการผลิตที่เป็น Mass Production มากขึ้น มีทางเลือกของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมากขึ้นในตลาด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งซ่อนอยู่ลึกๆ ในสังคมยุโรปก็คือ การไม่มีเสรีภาพในการเลือก เนื่องจากโครงสร้างทางสังคม, โครงสร้างการจัดการ, โครงสร้างการทำงานยังเหมือนเดิม คนก็ยังจนเหมือนเดิม
เอาเสื้อผ้าเท่ๆมาใส่ อาจเปลี่ยน Look โดยเผินๆ มันเปลี่ยนเพียงภายนอก แต่ลึกๆ ข้างใน ถ้ายังถูกมองเป็นไพร่อยู่ เสื้อผ้ามันก็ไม่ได้แสดงถึงสถานะทางสังคมจริงๆ ในยุโรปถึงมีการเลียนแบบวัฒนธรรมชั้นสูงกันมากมายเหลือเกิน คนไม่ยอมเป็นเบี้ยล่างอยู่ในชนชั้นล่าง พยายามจะเลื่อนสถานะตัวเองไปอยู่ในชนชั้นที่สูงขึ้น เลื่อนในโลกของความเป็นจริงไม่ได้ เพราะยังจนเหมือนเดิม ก็เลื่อนแบบปลอมๆ เลียนแบบวัฒนธรรมชั้นสูงเชิงสัญลักษณ์ แต่การเลียนแบบอย่างที่ว่า เป็นการเลียนแบบอย่างมีเป้าหมายเฉพาะ อย่างมี Tactic นั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคตอนปลายคริสตศตวรรษที่ 19
ในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 20 คนอเมริกันใช้จ่ายในเรื่องเครื่องแต่งกายน้อยกว่าชาวฝรั่งเศส เพราะอะไร? อเมริกันจะไม่ใช้จ่ายสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุในเรื่องของเครื่องแต่งกาย แต่จะให้น้ำหนักในของการบริโภคด้านอื่นๆ มากกว่า, ในขณะที่ชาวฝรั่งเศส ยังให้ความสำคัญกับเครื่องแต่งกายในฐานะเครื่องบ่งบอกสถานะ. ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมฝรั่งเศสจึงเป็นผู้นำโลกด้านแฟชั่นในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 20
วาทกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแต่งกายนั้น ได้ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างกลุ่มทางสังคมต่างๆ ที่นำเสนอตัวเองในมุมมองที่แตกต่างกันในพื้นที่สาธารณะ ตรงนี้จะนำมาสู่ประเด็นเรื่อง"สงครามรสนิยม" ซึ่งจะกล่าวถึงในภายหลัง รูปแบบทางรสนิยมกับผู้ใช้รสนิยมนั้นๆ มันสอดคล้องลงรอยกันแค่ไหน? อะไรก็ตามที่เป็น Item ทางวัฒนธรรม ไม่ใช่แค่เสื้อผ้าอย่างเดียว แต่มันบรรจุไปด้วยระหัสชีวิตของวัฒนธรรมและความเข้าใจ
การบริโภค การจะได้มา หรือการจะครอบครอง Item ทางวัฒนธรรมเหล่านั้น ควรมี Knowledge หรือมีความรู้ระดับหนึ่ง เพื่อที่จะใช้มันได้อย่างสมเหตุผลและมีรสนิยม ไม่ใช่การบริโภคหรือ Copy รสนิยมอย่างทื่อๆ
ระหัสทางวัฒนธรรมเหล่านั้นฝังตัวอยู่ในชนชั้นหนึ่งๆ ซึ่งมีรูปแบบของวิถีชีวิตเฉพาะ ถูกสอนผ่านครอบครัว, ผ่านโรงเรียน, ผ่านกลุ่มเพื่อนฝูง, ผ่านวงศาคณาญาติในชนชั้นของตัวเองว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร? ต้องมีความรู้อะไร? ต้องเรียนเปียโน, ต้องเรียนขี่ม้า, ต้องเรียนรู้การเล่นคริกเก็ต, ต้องเรียนเล่นโปโล, ต้องใส่หมวกประเภทไหน, ต้องเดิน ต้องนั่งอย่างไร? ต้องกินอย่างไร ต้องใช้ส้อมใช้ช้อนอย่างไร?
นั่นคือชุดของความรู้เฉพาะ ที่บ่งบอกถึงรสนิยมของชนชั้นนั้นๆ และวัฒนธรรมนั้นๆ แต่เมื่อมีความพยายามจะบริโภครสนิยมนั้นโดยปราศจากความรู้แล้ว จะเกิดอะไรขึ้น?
Designer ไทย ในปัจจุบันเป็นอย่างไร อยู่นะจุดไหน? ศูนย์กลางแห่งแฟชั่น ที่อื่นๆ เป็นศูนย์กลางที่มีพลัง เหตุเพราะมีความเข้าใจก่อนที่จะสร้าง การมีตลาดเสื้อผ้ามากขึ้น, เดิน Catwalk บ่อยๆ, มองหาแต่ช่องทางการทำตลาด และอ้างไทย, ไทย แบบ Inter อาจไม่ทำให้เกิดศูนย์กลางจริงๆ แต่ถ้าจะเอาเงินอย่างเดียว จำเป็นไหมที่ต้องเป็นศูนย์กลาง (ไปเสียทุกเรื่อง)
สนใจบทบรรยายเรื่องเดียวกันนี้ คลิกไปอ่านต่อ
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
สมัยก่อน การศึกษาเรื่อง fashion ไม่นับเป็นการศึกษาเชิงสังคมวิทยาและวัฒนธรรม เพราะแฟชั่นมักถูกเข้าใจว่าเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย ลุ่มล่าม และเป็นประเด็นเล็กเกินไปสำหรับนักวิชาการ แฟชั่นเป็นเรื่องที่ตัดขาดจากชีวิตที่ยืนอยู่บนความต้องการขั้นพื้นฐาน ไม่สามารถเป็นดัชนีชี้อะไรได้. แต่หลังจากปี 1970 เป็นต้นมา ศาสตร์การศึกษาทางสังคมเริ่มตาย จึงมีมนุษย์พันธุ์หนึ่งที่พยายามลงไปหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะทำความเข้าใจพื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรมผ่านสื่อต่างๆ ด้วยวิธีการศึกษาใหม่ๆ ดังนั้นเอง เสื้อผ้า Fashion ก็คือสื่ออย่างหนึ่ง