โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 27 Febuary 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๑๗๒ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๐ (January, 27,02.2007)
R

ระบอบทักษิณ ปรากฏการณ์สนธิ ในการเมืองไทยร่วมสมัย
บทวิเคราะห์พันธมิตรฯ ก่อนการรัฐประหาร ๑๙ กันยา
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
นักวิชาการอิสระ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น

บทความวิชาการชิ้นนี้ กองบรรณาธิการได้รับมาจากผู้เขียน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการวิเคราะห์ปรากฏการณ์สนธิ และกลุ่มพันธมิตร
ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ในการโค่นล้มระบอบทักษิณ โดยได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจถึงความสัมพันธ์ทางการเมือง
ในช่วงที่ผ่านมาก่อนการรัฐประหาร เช่น นายสนธิ ล้มทองกุล กลุ่มหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และบริวาร
รวมถึงความร่วมมือกับกลุ่มองค์กรภาคประชาชนเพื่อขับไล่ทักษิณ
ด้วยการ เรียกร้องการใช้มาตรา ๗ แห่งรัฐธรรมนูญปี ๔๐ เพื่อขอนายกพระราชทาน
ทั้งหมดนี้เป็นกิจกรรมทางการเมืองเฉพาะกิจ หรืออุดมการณ์ทางการเมืองประชาธิปไตย?
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๗๒
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๓๓ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทวิเคราะห์พันธมิตรฯ ก่อนการรัฐประหาร ๑๙ กันยา
จากบทความเดิม ชื่อ: ขบวนการประชาชนกึ่งสำเร็จรูปกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแบบพึ่งพิง
(บทประเมินขบวนแห่ของผู้ประกอบการ)

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

พระราชดำรัส
"มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งขอยืนยันว่า มาตรา 7 นั้นไม่ได้หมายถึงมอบให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำอะไรตามใจชอบไม่ใช่ มาตรา 7 นั้นพูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่าให้พระมหากษัตริย์ตัดสินใจทำได้ทุกอย่าง ถ้าทำเขาจะต้องว่าพระมหาษัตริย์ทำเกินหน้าที่ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเกิน ไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าทำเกินหน้าที่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย"

"ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมาก ที่เอะอะอะไรก็ขอพระราชทานนายกฯพระราชทาน ซึ่งไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าไปอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญเป็นการอ้างที่ผิด มันอ้างไม่ได้ มาตรา 7 มี 2 บรรทัดว่า อะไรที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญก็ให้ปฏิบัติตามประเพณีหรือตามที่เคยทำมา ไม่มี เขาอยากได้นายกฯพระราชทาน เป็นต้น จะขอนายกฯพระราชทาน ไม่ใช่เป็นเรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นการปกครองแบบ ขอโทษพูดแบบมั่ว แบบไม่ไม่ ไม่มีเหตุผล"

(พระราชดำรัสในโอกาสที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประธานศาลปกครองสูงสุดนำตุลาการศาลปกครองสูงสุด และ ให้ประธานศาลฎีกานำผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรมเผ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ 25 เมษายน 2549 ตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธุ์)

อรัมภบท
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 เป็นปรากฎการณ์ที่สังคมไทยไม่มีโอกาสจะได้เห็นบ่อยนัก ที่พระมหากษัตริย์จะทรงวินิจฉัยปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ผสกนิกรของพระองค์กำลังเผชิญอยู่ให้ทราบโดยทั่วกันโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง

ความที่ยกมาข้างต้นเป็นแต่เพียงส่วนเล็กน้อยของทั้งหมดที่พระองค์ทรงพระราชทานให้ในวันนั้น แต่กินความในปัญหาใหญ่ 2 เรื่องที่สำคัญคือ ปัญหาว่าด้วยบทบาทของมหากษัตริย์ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และ ปัญหาที่สองซึ่งเป็นประเด็นที่อยากจะอภิปรายในบทความนี้คือ บทบาทของสิ่งที่เราเรียกกันว่า ขบวนการประชาชน (1) ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ปัญหาแรกเป็นปัญหาใหญ่ที่สังคมนี้ถกเถียงกันมายืดยาว เกี่ยวกับบทบาทพระมหากษัตริย์ในการเมืองการปกครองของไทย ระหว่างฝ่ายที่ต้องการเห็นบทบาทของพระมหากษัตริย์มากในการเมืองถึงกับจะสามารถพระราชทานทุกสิ่งทุกอย่างได้ตามใจปรารถนา กับฝ่ายที่ต้องการเห็นบทบาทของพระมหากษัตริย์น้อยหรือมีตามสมควร ในฐานะองค์พระมุขของรัฐภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญเท่านั้น (2) แนวคิดทั้งสองฝ่ายผ่านการต่อสู้มายาวนานนับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในเดือนมิถุนายน 2475 ชัยชนะของอีกฝ่ายแลกด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของฝ่ายตรงข้ามมามากแล้ว

พระราชดำรัสที่ยกมาข้างต้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน ทรงเลือกที่วางฐานะของพระองค์เป็นประมุขของรัฐภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญฉบับที่มีผลบังคับใช้อยู่ตามห้วงแห่งระยะเวลา ทั้งนี้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายฉบับตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในรัชสมัยของพระองค์

การที่พระองค์เลือกที่จะวินิจฉัย มาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในห้วงเวลาที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในครั้งนี้ในทำนองที่ว่า ไม่ได้เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจแก่พระมหากษัตริย์ให้ทำอะไรทำตามแต่พระราชหฤทัยจะปรารถนา ดังเช่นที่มีบรรดาปราชญ์ราชบัญฑิตทั้งหลายพากันเพ็ดทูนแล้ว ย่อมประจักษ์ชัดว่า ในฐานะที่เป็นประมุขของรัฐพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional king) ไม่ได้มีเสรีภาพล้นเหลือพอที่จะทำอะไรก็ได้โดยไม่พิจารณาถึงขอบเขตแห่งกฎหมายที่บัญญัติเอาไว้ อำนาจและพระบารมีที่มีอยู่ตามประเพณีการปกครอง ดังที่เคยเป็นในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นสิ่งที่เอามาประยุกต์ใช้หรืออ้างอิงลอยๆไม่ได้ เพราะขาดความชอบธรรมทางกฎหมายมารองรับ

ประการที่สอง พระบรมราชวินิจฉัยในลักษณะนี้ เป็นการตบหน้าขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพวกที่อ้างว่าเป็นขบวนการฝ่ายประชาชนที่ปรารถนาจะใช้อำนาจพิเศษโค่นอำนาจของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อีกด้วยฉาดใหญ่ ซึ่งก็เป็นการปลุกให้พวกเขาตื่นจากภวังค์มาพบความจริงที่ว่า สิ่งที่พวกเขากำลังขอกันนั้นไม่ควรเรียกว่า ประชาธิปไตย ยิ่งไปกว่านั้นยังทำให้ฐานทางภูมิปัญญาของพวกนักปราชญ์ ทั้งทางด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ที่สนับสนุนแนวทางนี้พังคลืนลงอย่างไม่เป็นท่า เพราะแหล่งอ้างอิงสำคัญปฏิเสธที่จะให้คำรับรองแนวคิดของพวกเขา

ด้วยเหตุที่สิ่งที่เราเรียกกันว่าขบวนการประชาชนที่ขับเคลื่อนออกมาต่อต้านอำนาจรัฐในยุคที่ทักษิณ เป็นหัวหน้ารัฐบาลในระยะปี 2548-49 ได้เลือกที่จะใช้พระราชอำนาจ (royal power) เป็นธงนำในการเคลื่อนไหว แทนที่จะให้ความสำคัญกับพลังอำนาจของประชาชน (people power) ดังนั้นขบวนการเคลื่อนไหวแบบนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องการคำอธิบายอย่างแจ่มชัดว่าคืออะไรกันแน่ และด้วยธงประชาธิปไตยแบบราชานิยมดังกล่าวขบวนการนี้จะเคลื่อนไปสู่อะไร รวมไปถึงได้สร้างคุณูปการอะไรให้กับสังคมการเมืองไทยบ้างเมื่อขบวนการเหล่านี้สลายตัวลง

ความจริงการต่อสู้เพื่อคัดค้านอำนาจของรัฐบาลทักษิณไม่ใช่เพิ่งจะมาเกิดกันในห้วงระยะเวลาปี 2548-49 หากแต่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ต่อสู้คัดง้างในรูปแบบต่างๆมาก่อนหน้านี้นานแล้วในหมู่ประชาชนกลุ่มต่างๆที่มีปัญหาเฉพาะของตัวเอง เช่นกลุ่มบ่อนอก-หินกรูด นักวิชาการ เช่นกลุ่ม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย สมาชิกวุฒิสภาในสาย NGO และสื่อมวลชนอย่างกลุ่ม เนชั่น และไทยโพสต์ พวกนี้วิจารณ์ทักษิณอย่างตรงไปตรงมาและไม่ยั้งมือตั้งแต่วันแรกๆที่ทักษิณขึ้นสู่ตำแหน่งด้วยซ้ำไป ชี้ให้เห็นอันตรายของการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐบาล จนกระทั่งทักษิณเรียกกลุ่มนี้ว่า "ขาประจำ" เพียงแต่ว่า พวกเขาได้จำกัดการต่อสู้อยู่ในขอบข่ายวิชาชีพของพวกเขา ไม่ได้เคลื่อนไหวแบบกลุ่มกดดันทางการเมืองเพื่อล้มล้างรัฐบาลเหมือนกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวในระยะหลังที่มีสนธิ ลิ้มทองกุล นักหนังสือพิมพ์ใหญ่เป็นแกนนำ

ในฐานะสนธิ เป็นเจ้าของสื่อสารมวลชน นักวิชาการทางด้านวารสารศาสตร์ ให้เครดิตว่าขบวนการนี้เป็นการต่อสู้ของสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสนอความจริง กล่าวในแง่นี้เสรีภาพของสื่อมวลชนถูกผูกมัดเอาไว้กับประชาธิปไตยอย่างแน่นหนาพอสมควร ทำนองว่าไม่มีประชาธิปไตยโดยปราศจากเสรีภาพสื่อมวลชน

บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนผู้เอกอุเรียกว่าการเคลื่อนไหวแบบนี้ว่า "ปรากฎการณ์สนธิ" (3) ซึ่งเขาให้คำนิยามว่าคือ การท้าทายการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จแบบทักษิณ ชินวัตร ด้วยสิ่งที่อาจจะเรียกได้ว่า วารสารศาสตร์เชิงโครงสร้าง (systemic/structural journalism) นั่นคือนวตกรรมที่เน้นการวิเคราะห์ ความสัมพันธ์เชิงระบบของโครงสร้างทางสังคมต่างๆอย่างทะลุปุโปร่ง จนกระทั่งเห็นถึงโฉมหน้าที่แท้จริงของการเมืองยุคใหม่ที่อาศัยการตลาดนำ หรือ "ประชานิยม"

เป้าหมายสูงสุดของวารสารศาสตร์เชิงโครงสร้างที่สนธิเลือกนำมาใช้ ในสายตาของบุญรักษ์คือ การเสาะแสวงหารัฐธรรมนูญฉบับพระราชทานที่จะเป็นกลไกในการปรับเปลี่ยนสังคมการเมืองไทยเสียใหม่

ในขณะที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (4) นักประวัติศาสตร์ที่อธิบายปรากฎการณ์สังคมไทยได้แจ่มชัดมากคนหนึ่งได้ให้ คำอธิบายการเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่า มันเป็นขบวนการที่ปลุกความกล้าในการท้าทายอำนาจของทักษิณได้อย่างชัดเจนที่สุด หลังจากประชาชนไทยตกอยู่ในความหวาดกลัวอำนาจเบ็ดเสร็จของเขามานาน ในทัศนะของนิธิ การเคลื่อนไหวของสนธิทำให้ประชาชนโดยเฉพาะในเขตเมืองหลวงได้มีโอกาสแสวงหาความหมายใหม่ให้กับชีวิตที่แสนเซ็งของตัวเอง แม้ว่ามันจะเป็นความหมายประเภท "สำเร็จรูป" กล่าวคือ พอตกเย็นก็พากันไปนั่งฟังการบรรยายของสนธิ ที่ธรรมศาสตร์ และในเวลาต่อมาก็เป็นสวนลุมพินี หรือ สนามหลวงแต่ว่ามันก็เพื่อแสดงออกว่า ตัวเองไม่สยบยอมต่ออำนาจทักษิณ แม้ว่าคนที่ไปทั้งหมดจะไม่ได้เห็นด้วยกับสิ่งที่สนธิพูดก็ตาม

ตัวสนธิเองก็อธิบายสิ่งที่เขาทำลงไปว่า เป็นการต่อสู้ของสื่อมวลชนที่ถูกรัฐบาลรังแก เขาต้องการให้ข่าวสารข้อมูลที่เป็นจริงแก่ประชาชนแต่ถูกรัฐบาลปิดกั้น เขาต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อมวลชน สิทธิในการรับรู้ของประชาชน และไกลไปกว่านั้นเขาเห็นว่าสิทธิในการรับรู้ของประชาชนในประเทศนี้ต่ำเกินไป ดังนั้นต้องปฏิรูปการเมือง (5) แม้ว่าเขาไม่ใช่สื่อมวลชนคนแรกในประเทศไทยที่ถูกรัฐบาลทักษิณปิดกั้นดูเหมือนเขาจะเป็นคนท้ายๆ เสียด้วยซ้ำไป

แต่สนธิเลือกวิธีการต่อสู้ต่างออกไปและอ้างว่าสื่อของเขามีเนื้อหาสาระดีกว่าของเจ้าอื่นๆ ทำให้รัฐบาลต้องการปิดกั้นและนั่นทำให้มีประชาชนสนใจมาก มีคนร่วมรับฟังรายการทอว์กโชว์ของเขาในสถานที่ถ่ายทำเป็นเรือนหมื่นเรือนแสน สื่อมวลชนอื่นๆ ที่ถูกรัฐบาลรังแกก่อนหน้านี้ ไม่มีใครใช้วิธีการต่อสู้แบบเขา หรือ ส่วนมากถ้าจะว่าไปแล้วในสายตาสนธิ คนอื่นๆ ในวงการสื่อสารมวลชนออกจะแหยๆ กลัวทักษิณจนหัวหดและยอมแพ้ไปหมดแล้ว แม้จะเคยต่อสู้กับทักษิณมายาวนานนับแต่นายกรัฐมนตรีคนนี้ก้าวขึ้นสู่อำนาจเมื่อ 5 ปีก่อนหน้านี้ก็ดูไม่ค่อยมีราคาอะไร

กำเนิดขบวนการต่อต้านทักษิณ
แต่เรื่องทั้งหมดไม่ได้ง่ายๆ ตรงๆ แบบบุญรักษ์ หรือ ตัวสนธิเองได้บอกกับสาธารณะชนหากแต่มีนัยทางการเมืองและต่อสิ่งที่เราเรียกกันว่า "ขบวนการประชาชน" พอสมควร อันเป็นผลมาจากยุทศาสตร์และยุทธวิธีที่หยิบมาใช้

สนธิเป็นนักสื่อสารมวลชนที่มีความสามารถมากคนหนึ่ง โดยเฉพาะความสามารถแบบ spin doctor ของเขานับว่าไม่เป็นรองใคร คำอธิบายเรื่องเสรีภาพสื่อมวลชนเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยของเรื่องทั้งหมด เพราะเขาไม่เคยท่องคัมภีร์นี้มาก่อนเลยกว่า 3 ทศวรรษ ก่อนหน้าที่หากินอยู่ในวงการนี้ ในหลายกรณีเขามักวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นๆ ในวงการสื่อสารมวลชนด้วยกันว่าชอบอาศัย ร่มเงาของเสรีภาพเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ แน่นอนทีเดียวเขาพูดถูก เพราะเมื่อเราได้ก้าวพ้นยุคหนังสือพิมพ์กำแพงมานานแล้ว แนวความคิด (6) ชุดที่สนธิเคยใช้ในอดีตเป็นสิ่งที่ใช้อธิบายโลกสื่อสารมวลชนได้ใกล้ความจริงมากที่สุด เสรีภาพของสื่อมวลชน ถ้าพูดให้ถูกในยุคอุตสาหกรรมข่าวสารข้อมูล มันคือเสรีภาพในการทำธุรกิจและกำไรของเจ้าของสื่อนั่นเอง มันอาจจะไม่มีความหมายเท่ากับเสรีภาพในการรับรู้ของประชาชนสักเท่าใดนัก

สิ่งที่บุญรักษ์ เรียกว่า "ปรากฎการณ์สนธิ" ที่เริ่มขึ้นในเดือนกันยายน 2548 เมื่อสนธิเริ่มออกมาแฉโพยความฉ้อฉลของทักษิณจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าหากไม่มีความขัดแย้งทางธุรกิจเป็นปัจจัยผลักดันที่สำคัญ คนที่เพิ่งมาเห็นตอนเขาเกรี้ยวกราดเอากับทักษิณที่สนามหลวง อาจจะนึกไม่ออกเลยว่า เขาและสื่อในเครือ "ผู้จัดการ-ไทยเดย์" ของเขาเคยประจบประแจงทักษิณมากขนาดไหนเมื่อ 5 ปีก่อน สื่อในเครือของเขาทำตัวเป็นผู้กำหนดวาระ (agenda setting) (7) ในการสื่อสารทางการเมืองกับสังคมให้กับรัฐบาลทักษิณอย่างเอาการเอางานนับแต่ทักษิณขึ้นสู่อำนาจ

ในทางกลับกัน สนธิได้ประโยชน์จากรัฐบาลทักษิณไม่น้อย เขาใช้เครือข่ายของเขาที่เข้าไปช่วยรัฐบาลทักษิณมาเกื้อหนุนการฟื้นฟูธุรกิจที่ล้มละลายจากการลงทุนที่เกินตัว และวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ตัวอย่างเช่น ธนาคารกรุงไทย ในสมัยวิโรจน์ นวลแข เป็นผู้จัดการใหญ่ เป็นสปอนเซอร์หลักให้กับรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ และสื่อในเครือข่ายของเขามาโดยตลอด

วิโรจน์ เคยเป็นผู้สนับสนุนที่แข็งขันให้กับธุรกิจของสนธิก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ คนอื่นๆ ที่เคยมีความสัมพันธ์อันดีและทำงานกับสนธิหลายคน เช่น สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, พันศักดิ์ วิญญรัตน์, ชัยอนันต์ สมุทวานิช, กนก อภิรดี, เข้าไปดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจคอยให้การโอบอุ้มธุรกิจสนธิ อาจจะเรียกได้ว่ารัฐบาลทักษิณเป็นวัวนม (cashcow) ที่เลี้ยงธุรกิจสนธิมาตลอดสมัยแรกของรัฐบาล จนเขาทำท่าว่าจะสามารถขยายอาณาสื่อของเขาให้เป็นอย่างทีเคยก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ

แต่แล้วอยู่ๆ วัวตัวนี้กลับสลัดเขาทิ้งก่อนที่ธุรกิจจะทันเติบโต เริ่มต้นจากกรมประชาสัมพันธ์ไม่ยอมให้ทีวีของเขาเกาะสัญญาณแอบเป็น 11news1 อีกต่อไปทำให้เขาเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ทักษิณทั้งๆ ที่ยังอยู่ในทีวีขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ความพยายามที่จะให้บริษัทแมเนเจอร์มีเดียกรุ๊ป ออกจากแผนพื้นฟู และนำบริษัทไทยเดย์เข้าตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรจากรัฐบาลทักษิณ และที่สำคัญคือการที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ยอมต่ออายุให้วิโรจน์ นวลแข ผู้ที่ให้การอุ้มชูธุรกิจของสนธิมาตลอด (ทั้งก่อนและหลังวิกฤต) เป็นผู้จัดการกรุงไทยอีกต่อไป ทำให้เขากระหน่ำรัฐบาลแบบไม่ยั้งมือ ท้าทายให้องค์การสื่อสารมวลชนปลดเขาออกจากผังรายการเสียด้วยซ้ำไป การที่ช่อง 9 ปลดรายการของเขาออกจากผังรายการเป็นสิ่งที่คาดหมายได้

แม้ว่าจะเป็นที่รู้กันโดยทั่วไป แต่สนธิก็ไม่บอกกับสาธารณะตรงๆ ว่า เรื่องนี้เป็นแรงขับดันสำคัญที่ทำให้เขาคิดโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ เพราะมันทำให้เขาดูเป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้นเกินไป เขาจึงต้องเปลี่ยนตัวเองจากนักสื่อสารมวลชน และนักธุรกิจเจ้าของสื่อ มาเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง แล้วสร้างวาทกรรม ใหม่ที่มีศักยภาพที่จะดึงดูดความสนใจของคนมากพอที่จะทำให้เกิดพลังไปสร้างแรงกดดันให้กับทักษิณได้

นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ดีย่อมเข้าใจจุดเปราะบางและความอ่อนไหวของสังคมตัวเอง ประเด็นที่ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐหลายแห่งในโลกนี้ นิยมหยิบมาเป็นธงนำหรือแม้กระทั่งเป็นอุดมการณ์ในการขับเคลื่อน มักต้องเป็นประเด็นที่จี้จุดอ่อนไหวของคนหมู่มากได้ โดยทั่วไปแล้วมี 2 ประเด็นใหญ่ที่จุดติดง่ายคือ ปัญหาเรื่องชาตินิยมและปัญหาทางศาสนา "ลัทธิชาตินิยมเหมือนศาสนาตรงที่มันสามารถปลุกเร้าอารมณ์พลุ่งพล่านร้อนแรงทางการเมืองขึ้นมาได้" (9)

สนธิ ไม่มองปัญหาเรื่องความยากจน ไม่สนใจปัญหาสิทธิมนุษยชน เขาไม่เคยอภิปรายปัญหาประชาธิปไตย หรือการปฏิรูปทางการเมืองอะไรทั้งสิ้นมาเลยก่อนหน้านี้ เขาได้พุ่งตรงเข้าหาประเด็นที่เป็นจุดอ่อนไหวของสังคมไทยโดยไม่ลังเล นั่นคือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นชุดของวาทกรรมที่ผู้คนในสังคมใช้ขับเคี่ยว หรือแม้แต่ฆ่าฟันกันมาตลอดในการต่อสู้ทางการเมืองในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย

เขาหยิบปัญหา การทำบุญประเทศในวัดพระแก้ว นัยว่าเป็นการกระทบกระเทียบเปรียบเปรยว่า ทักษิณ ทำตัวตีเสมอพระมหากษัตริย์ ใช้พระบรมมหาราชวังในการทำบุญ ซ้ำยังนั่งในตำแหน่งที่ไม่เหมาะกับฐานะของตัว การแต่งตั้งผู้ทำการแทนสมเด็จพระสังฆราช เป็นต้น สนธิรู้ดีว่า การทำตัวของทักษิณให้เป็นที่นิยม (popular) ในราชอาณาจักรเป็นปัญหาที่ชนชั้นสูงในสังคมไทยจับตามองด้วยความไม่สบายใจมาโดยตลอด ในทำนองที่ว่า เขากำลังแข่งบารมีพระมหากษัตริย์

เมื่อจับประเด็นนี้ได้สนธิเริ่มต้นด้วยการสร้างคำขวัญในการเคลื่อนไหวของเขาว่า "สู้เพื่อในหลวง" (ด้วยคำขวัญแบบนี้ ขอให้สาธารณชนโปรดเข้าใจด้วยว่านี่ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อประชาชนหรือประชาธิปไตย) ใส่เสื้อสีเหลืองที่เข้าใจโดยทั่วกันว่า ไม่ใช่เป็นเพียงสีประจำศาสนาพุทธหากยังเป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันด้วย

แบรนด์เนอร์ในหัวหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน (10) ซึ่งเป็นธงนำในธุรกิจของเขา เปลี่ยนจากคาดสีแดงโฆษณาสรรพคุณหนังสือพิมพ์ว่า "แตกต่างกว่าที่นึก ลึกกว่าที่คิด" หรือ "ภูมิปัญญาตะวันออก" มาเป็นแถบสีเหลืองด้วยคำว่า "สู้เพื่อในหลวง" "ขอแค่เป็นยามเฝ้าแผ่นดิน" เกณฑ์ให้พนักงานและผู้สื่อข่าวของเขาใส่เสื้อสีเหลืองไป ในการปรากฎตัวเพื่อครอบงำผู้ร่วมฟังรายการของเขาที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ซึ่งในอดีตถูกป้ายด้วยสีแดงมากกว่าสีเหลือง แม้ว่าสีประจำมหาวิทยาลัยจะเป็นเหลืองแดงก็ตาม) และที่สวนลุมพินี จนกระทั่งผู้ร่วมรายการรู้สึกได้ถึงความจำเป็นที่จะต้องสวมเสื้อสีเหลืองไปฟังเขาเพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เสื้อสีเหลืองดังกล่าวกลายเป็นสินค้าขายดีในรายการของเขาด้วย

ตัวสนธิเองมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบราชาชาตินิยมตั้งแต่เมื่อใดไม่เป็นที่ประจักษ์ชัด ผลงานของเขาก่อนหน้านี้ ไม่ได้อธิบายพื้นฐานทางอุดมการณ์อะไรมากไปกว่าเขาเป็นพวกเสรีนิยมที่กระเดียดไปทางพวกคลั่งไคล้โลกาภิวัตร เขาอุทิศตัวให้กับความฝันที่อยากจะเป็นเจ้าพ่อสื่อสารข้ามโลก ทำโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมข้ามประเทศ ใช้อินเตอร์เนทสื่อสารกับโลก มากกว่าจะเป็นหัวแถวของพวกนิยมเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางพระราชดำริ

เขาไม่มีความคิดเอียงไปทางซ้ายหรือทางขวาอย่างชัดเจน แม้ในเวลาที่การเมืองในกระแสซ้ายขึ้นสูงช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 ใหม่ๆ เขาเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยที่ฝ่ายซ้ายครอบงำ (11) สนธิมีความคิดว่าจะทำหนังสือพิมพ์ให้ออกแนวเสรีนิยม ลดความเป็นซ้ายลงไปบ้าง (12) แต่นั่นไม่ได้มีอะไรที่แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นพวกฝ่ายขวา ที่ยึดกุมเอาสถาบันมหากษัตริย์เป็นธงนำทางการเมืองในการต่อสู้ห้ำหั่นฝ่ายซ้าย

สนธิอธิบายการใช้สีเหลืองแบบง่ายๆ หยาบๆ ว่าเป็นการสร้างอัตตาลักษณ์ของกลุ่มเคลื่อนไหวของเขาเพื่อพระมหากษัตริย์เพราะเห็นว่า "ในหลวงถูกละเมิดพระราชอำนาจไปเยอะ ก็เลยทำว่าเราจะสู้เพื่อในหลวงและต้องการให้ถวายพระราชอำนาจคืนให้ในหลวง นั่นคือ นัยยะมันมีแค่นี้เอง" (13)

วาทกรรมถวายคืนพระราชอำนาจ
แม้จะสำเร็จการศึกษาจนถึงระดับปริญญาโททางด้านประวัติศาสตร์จากต่างประเทศ แต่อาจจะกล่าวได้ว่าสนธิไม่ได้เป็นคนที่มีความคิดลึกซึ้งในเชิงประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัญหาเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ดูเหมือนเขาจะทึกทักเอาว่า ทักษิณละเมิดพระราชอำนาจเพราะทำตัวแข่งพระบารมี ดังนั้นประชาชนสามารถถวายคืนพระราชอำนาจง่ายๆ โดยเข้าชื่อกันแจ้งความประสงค์ต่อองค์พระมหากษัตริย์ แล้วพระองค์จะรู้สึกว่ามีอำนาจขึ้นมาในบัดดลเพื่อปลดทักษิณออกจากตำแหน่งไป

ในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์เขาไม่เคยอภิปรายในที่สาธารณะหรือมีเขียนไว้ที่ใดเลยว่า ถ้าถวายคืนพระราชอำนาจเยี่ยงนั้นแล้ว จะเอาประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ไปไว้ที่ไหน การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของขบวนการประชาชนในอดีตอยู่ตรงไหนในประวัติศาสตร์ไทย

คนที่ทำหน้าที่ในการผลิตวาทกรรมให้กับการเคลื่อนไหวของสนธิอย่างแข็งขัน เป็นปัญญาชนอย่าง ชัยอนันต์ สมุทวณิช (14) ปราโมทย์ นาครทรรพ และนักการเมืองอกหักในกลุ่มวังน้ำเย็นของพรรคไทยรักไทย อย่าง ประมวล รุจนะเสรี โดยเฉพาะคนหลัง ออกหนังสือขายดีเล่มหนึ่ง ชื่อ "พระราชอำนาจ" ซึ่งมีเนื้อหาที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากนักประวัติศาสตร์คนสำคัญ อย่างนิธิ เอียวศรีวงศ์ และ ธงชัย วินิจจะกูล ว่าตื้นเขินทางวิชาการและใช้ตรรกะที่บิดเบี้ยว (ภาษาของธงชัยใช้คำว่า ตรรกะวิตถารด้วยซ้ำไป) ในการอธิบายเช่น ประมวลบอกว่า พระมหากษัตริย์อยู่เหนือรัฐธรรมนูญเพราะเป็นผู้ลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ กล่าวในแง่นี้นักประวัติศาสตร์อย่างธงชัยจึงสรุปว่างานของประมวลมุ่ง "เฉลิมพระเกียรติ" มากกว่าจะอภิปรายถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง

ถึงแม้หนังสือของประมวลจะขายดี แต่มันก็ไม่ใช่หนังสือที่ดีพอจะใช้เป็นฐานทางปัญญาเพื่อชี้นำการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ ในทัศนะของธงชัยงานทางวิชาการที่เหมาะจะนำมาใช้สนับสนุนการเคลื่อนไหวในแนวทางถวายคืนพระราชอำนาจ น่าจะเป็นงานของสมเด็จกรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร หรือพระองค์เจ้าธานีนิวัต อันถือว่าเป็นงานชั้นเอกอุของกลุ่มนิยมเจ้าที่ได้สร้างวาทกรรมค้ำจุนสถานบันพระมหาษัตริย์ ให้มีบทบาทในการเมืองมากในยุคร่วมสมัย หรือ วิทยานิพนธ์ "พระราชอำนาจของพระมหาษัตริย์ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ" ของธงทอง จันทรางศุ มากกว่า

เพราะวิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าวได้รับการยกย่องว่าอธิบายความเรื่องบทบาทกษัตริย์ในแง่มุมทางกฏหมายได้ดี (15) แต่เข้าใจว่าสนธิคงไม่ได้อ่านหรือถึงอ่านคงไม่ชอบ เพราะธงทองคือ คนที่ทำหน้าที่ประธานพิจารณา ขับรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ของสนธิออกจากช่อง 9 ด้วยเหตุผลที่ว่า พูดถึงพระราชอำนาจอย่างหมิ่นเหม่ไม่เหมาะสม เพราะถ้าเรามองจากมุมของธงทอง ขบวนการถวายคืนพระราชอำนาจ ก็เปรียบเหมือนลุงเชยชอบใส่นาฬิกาโรเล็กซ์ปลอมอวดโก้ ทั้งๆ ที่ตัวเองดูเวลาไม่เป็น

ชัยอนันต์ ปัญญาชนซึ่งทำมาหากินกับสนธิมานาน กระทั่งเวลาที่สนธิเป็นกองเชียร์แถวหน้าให้ทักษิณ ชัยอนันต์ก็รับตำแหน่งสำคัญในรัฐวิสาหกิจสำคัญอย่างการบินไทยและการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เขาไม่ได้อภิปรายทางวิชาการหรือทฤษฎีที่หนักแน่นอะไรมากมายนัก ในระหว่างที่สนธิเคลื่อนไหวต่อต้านทักษิณในคราวนี้ หากแต่ทำหน้าที่เป็นกองเชียร์ให้ "ชนชั้นสูง" (ซึ่งไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่าสูงแค่ไหน) ประเมินราคาสนธิให้สูงหน่อย สร้างความชอบธรรมให้กับตัวสนธิเองว่า เป็นคนที่ชนชั้นสูงในสังคมไทยชื่นชอบอยากให้นำประชาชนเปลี่ยนแปลงการเมือง (16) ชัยอนันต์ทำหน้าที่เป็นแกนนำในการล่ารายชื่อถวายฏีกาขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีแทนทักษิณ (17) ประสานกับการเคลื่อนไหวของสนธิ

ปัญญาชนที่พยายามสร้างฐานทางปัญญาให้กับขบวนการถวายคืนพระราชอำนาจจริงๆ จังๆ จึงเป็นคนอย่างปราโมทย์ นักวิชาการที่เป็นคอลัมนิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันของสนธิเอง บทความหลายชิ้นของปราโมทย์ที่เขียนขึ้นระหว่างมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของสนธิ มุ่งสร้างความชอบธรรมให้กับแนวความคิดในการถวายคืนพระราชอำนาจ โดยพยายามเอาระบบอังกฤษมาเทียบเคียงเพื่อสมอ้างว่า สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษทรงใช้อำนาจแทรกแซงการเมืองได้อยู่เนืองๆ และเขาเห็นว่าพระมหากษัตริย์ไทยควรทำเยี่ยงเดียวกัน

เขาอธิบายว่า อำนาจพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยมี 3 แบบคือ พระราชอำนาจทั่วไป (usual power) พระราชอำนาจพิเศษ (royal prerogative) และ พระราชอำนาจสำรอง (reserve power)

- อำนาจอย่างแรก (พระราชอำนาจทั่วไป) เป็นอำนาจในการให้กำลังใจ แนะนำและตักเตือนรัฐบาล
- อำนาจที่สอง (พระราชอำนาจพิเศษ) และ
- อำนาจที่สาม (พระราชอำนาจสำรอง) เป็นอำนาจในการแต่งตั้ง ปลดหรือ ยุบ รัฐบาล

ซึ่งปราโมทย์เห็นว่า กษัตริย์ไทยไม่ได้มีเท่ากษัตริย์อังกฤษ เขาโจมตีว่า "อำนาจเหล่านี้ของพระมหากษัตริย์ถูกเบียดบังไปโดยลัทธิพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมืองแต่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญของไทย" (18) หาไม่แล้วคงปลดทักษิณและพระราชทานนายกฯใหม่ให้ได้แล้ว

ปราโมทย์เชื่อโดยสิ้นสงสัยว่า พระมหาษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันทรงพระปรีชาญาณและเข้าพระทัยในระบอบประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง พระองค์จะไม่มีทางนำการปกครองของไทยกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาสิทธิราชเด็ดขาด เขาเชื่อว่า อำนาจของพระมหากษัตริย์น่านับถือมากกว่าอำนาจของทักษิณ ในบทความของเขาท้าทายให้ประชาชนเลือกระหว่างอำนาจของทักษิณและอำนาจของพระมหาษัตริย์

แน่นอนที่เดียวปราโมทย์ย่อมมั่นใจว่าประชาชนส่วนใหญ่จะคล้อยตามเขาเพราะฐานะทางการเมืองของพระมหาษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันนั้นเหนือกว่าทักษิณหลายขุม ไม่ต้องเทียบระยะเวลาที่พระมหากษัตริย์อยู่ในการเมืองนานกว่าถึง 60 ปีในขณะที่ทักษิณแค่ 5 ปี ยังไม่นับว่าการกระบวนการยกฐานะพระมหาษัตริย์แบบลัทธิบูชาผู้นำ ได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอยู่เป็นประจำทุกค่ำคืน แนวทางประชานิยมของทักษิณนับได้ว่าเป็นละอ่อนทางการเมือง ถ้าพิจารณาว่าพวกนิยมเจ้าได้ทำให้ประเทศไทยตกอยู่อำนาจของลัทธิบูชาผู้นำ ไม่น้อยหรืออาจจะมากกว่าชาวเกาหลีเหนือเลยทีเดียว วาทกรรมที่อ้างลัทธิพราหมณ์ทำพระมหากษัตริย์ให้เป็นเทพดำรงอยู่อย่างมั่นคงในสังคมไทย

ปราโมทย์ อาจจะใช้ความประทับใจของเขาที่เคยมีสมัยการลุกฮือในเดือนตุลาคม 2516 มาใส่ลงในการเคลื่อนไหวของสนธิอย่างมาก การนิยามว่าพระมหากษัตริย์และประชาธิไตยเป็นสิ่งที่เกื้อกูลกัน เหมือนดังที่ปรากฎในวาทกรรมประเภท ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย (19) ที่แพร่หลายอยู่ก่อนและระหว่างเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 ถูกนำกลับมารับใช้การเคลื่อนไหวในการต่อต้านทักษิณอย่างเห็นได้ชัด

แต่ดูเหมือนปราโมทย์จะทำเป็นมองข้ามประวัติศาสตร์ทางการเมืองในระยะที่ผ่านมาว่า พวกนิยมเจ้าได้ใช้ความพยายามมากเพียงใด ในการสร้างฐานะทางการเมืองขึ้นมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองหลัง 2475 การต่อสู้ของพวกนี้ได้ทำลายฝ่ายที่สนับสนุนคณะราษฎรที่นับถือรัฐธรรมนูญไปเป็นจำนวนมาก. ชะตากรรมของ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส นั่นเพียงพอแล้วสำหรับยืนยันความโหดเหี้ยมของกลุ่มนิยมเจ้า วาทกรรมของพวกเจ้าและกลุ่มนิยมเจ้าเช่นที่บรรจุอยู่ในอนุสาวรีย์และแบบเรียน (20) สามารถเปลี่ยนแปลงมโนทัศน์เกี่ยวกับประชาธิปไตยของคนจำนวนไม่น้อย รวมถึงหลายคนในกลุ่ม "ถวายคืนพระราชอำนาจ" ให้เข้าใจไปว่า ประชาธิปไตยเป็นของพระราชทาน อำนาจอธิปไตยเป็นของเจ้าไม่ใช่ของปวงชนชาวไทย

วาทกรรมแบบนี้มองไม่เห็น "ปวงชนชาวไทย" แต่ให้ความสำคัญกับชนชั้นนำ ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้นำในการติดตั้งระบอบประชาธิปไตย มันไม่เพียงช่วยให้ฐานะทางการเมืองของพวกนิยมเจ้าลงรากฐานมั่นคงมากขึ้นในสังคมไทย หากยังเป็นการทำลายระบบการเมืองที่ให้ "อธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย" ลงอย่างสิ้นเชิง แนวทางนี้พยายามจะพิสูจน์ความจริงประการหนึ่งว่า เมื่อเผชิญหน้ากับคนอย่างทักษิณ ประชาชนไทยไม่มีปัญญาจะจัดการด้วยตนเอง หากแต่ต้องอาศัยอำนาจซึ่งใหญ่กว่าเข้ามากำหราบ เอาเข้าจริงแล้วประชาชนไม่มีอำนาจ หรืออาจจะไม่สมควรมีอำนาจด้วยซ้ำไป เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีใครพยายามสร้างอำนาจให้ประชาชน กลับมีทิศทางอันแจ่มชัดในการเสริมอำนาจพระมหากษัตริย์ ขบวนการถวายคืนพระราชอำนาจก็ให้ความหมายทางการเมืองในลักษณะนี้เช่นกัน

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของสนธิในระยะแรกๆ ก็สะท้อนความคิดว่าด้วยการพึงพระบารมีอย่างสม่ำเสมอ ในวันประกาศชุมนุมใหญ่ครั้งแรกของเขาที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 ก็พาประชาชนเรื่อนหมื่นเรือนแสนไปแสวงหาการพึ่งพิงแหล่งอ้างอิงทางอำนาจที่เข้าใจว่าใกล้ชิดพระมหากษัตริย์ เช่น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองค์มนตรีบ้าง, พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกบ้าง, เพื่อให้ใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ ผนวกกับการค้ำจุนของกองทัพ เพื่อกำจัดทักษิณ. การเคลื่อนไหวของสนธิ บางครั้งให้ความประทับใจแบบ ขอให้กองทัพยึดอำนาจทักษิณ ตั้งรัฐบาลพระราชทานที่ค้ำจุนโดยกองทัพ พูดง่ายๆ สามัคคี เจ้า-ราชการ ห้ำหั่น นายทุน

พันธมิตรสนธิ หรือ พันธมิตรประชาชน
ไม่มีการตอบสนองที่ชัดเจนจากวังหลวง พลเอกเปรมไม่ได้อยู่ต้อนรับสนธิในคืนวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่เขาไปยื่นฎีการ้องทุกข์, พลเอกสนธิ ให้การต้อนรับเขาตอนหลังเที่ยงคืนแต่ออกมาแสดงเหตุผลในภายหลังว่า เหตุที่ต้องออกมารับเพราะไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง เนื่องจากสนธิยืนกรานจะพบให้ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่ากองทัพเห็นด้วยหรือจะสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านทักษิณในคราวนี้

ท่าทีเย็นชาของพลเอกเปรมและกองทัพ ประกอบกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทำนองว่า การเคลื่อนไหวของสนธิสะเปะสะปะไร้ทิศทางไม่มีพลัง ทำให้เขาจำเป็นต้องมองหาพันธมิตรที่กว้างขวางขึ้น ดึงคนที่มีความจัดเจนการเมืองมวลชนเข้ามาร่วมขบวน เพื่อสร้างพลังให้กับการเคลื่อนไหว (21)

ในขณะเดียวกัน กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมที่ทำงานมวลชน และเคลื่อนไหวเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ ก็จับตาดูการเคลื่อนไหวของสนธิด้วยความตื่นตาตื่นใจ ระคนกับความทึ่ง ที่เห็นเขามีความสามารถในดึงความสนใจของคนจำนวนมากได้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นับแต่เหตุการณ์ลุกฮือขึ้นขับไล่รัฐบาลของพลเอกสุจินดา คราประยูร และคณะทหารในเดือนพฤษภาคม 2535

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้เรียกประชุมกลุ่มองค์กรทางสังคม องค์กรพัฒนาเอกชนทั้งหมด 40 องค์กร แล้วมีมติจัดตั้ง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549 เพื่อเคลื่อนไหวกดดันให้ทักษิณ ลาออกจากตำแหน่งและเปิดทางให้กับการปฏิรูปทางการเมือง (22) รวมถึงมีมติเข้าร่วมเคลื่อนไหวร่วมกับสนธิ ทำการชุมนุมทางการเมืองร่วมกันครั้งแรกในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ครั้งแรกที่ลานพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 เรียกร้องความสนใจจากประชาชนทั่วไปเข้าร่วมประมาณ 50,000 คน (23)

องค์ประกอบของพันธมิตรฯนั้นนอกจาก ครป.ซึ่งนำโดย พิทยา ว่องกุล ประธาน และสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการแล้ว ยังมีองค์กรสื่อมวลชนของสนธิ กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนที่สนใจปัญหาเฉพาะ เช่น กลุ่ม FTA Watch, กลุ่มองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค, องค์กรสตรี, องค์กรแรงงานจากรัฐวิสาหกิจ, องค์กรครู, แพทย์, นักศึกษา, และที่สำคัญคือ กองทัพธรรมมูลนิธิของพลตรีจำลอง ศรีเมือง อดีตผู้นำการเคลื่อนไหวในเดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งการประกาศเข้าร่วมเคลื่อนไหวของจำลองกลายเป็นตัวแปรสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ทักษิณตัดสินใจชิงยุบสภาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ก่อนการชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวงเพียง 2 วัน

ในเวลานั้นมีการวิเคราะห์กันว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการเปิดอภิปรายในสภา แต่อีกด้านหนึ่งทักษิณก็ให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความรุนแรงทางการเมืองอันอาจจะเกิดขึ้นได้ เมื่อพิจารณาจากชื่อเสียงของจำลองที่จัดได้ว่า เป็นคนที่ไม่ประนีประนอม และประวัติของเขาที่ผ่านมาก็ทำให้เชื่อได้ง่ายว่า การปรากฎตัวของจำลองมีผลต่อการตัดสินใจของทักษิณไม่น้อย

พันธมิตรฯ มีองค์ประกอบที่ค่อนข้างหลากหลาย และมีเครือข่ายในระดับทั่วประเทศตามกลไกการประสานงานของกลุ่ม NGOs และเครือข่ายหนังสือพิมพ์ของสนธิ แต่น่าสนใจว่ากลุ่มเหล่านี้เป็นองค์กรทางสังคมขนาดเล็ก ไม่ได้มีฐานมวลชนขนาดใหญ่สนับสนุนเท่าใดนัก เฉพาะอย่างยิ่งไม่ได้ไปไกลถึงมวลชนพื้นฐานในระดับรากหญ้าในต่างจังหวัด

บำรุง คะโยธา ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ซึ่งเป็นองค์กรประชาชนที่เคยมีประสบการณ์ในการระดมมวลชนรากหญ้าต่อสู้กับรัฐบาลมาก่อน ตั้งข้อสังเกตว่าประชาชนที่ถือว่าเป็นกลุ่มรากหญ้าส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าร่วม เพราะพวกเขายังพอใจที่จะสนับสนุนทักษิณ และมองเห็นประโยชน์จากการบริหารของทักษิณ ประชาชนรากหญ้าที่เข้ามาร่วมส่วนหนึ่งเป็นพวกที่เข้าถึงข้อมูล และรู้โฉมหน้าที่แท้จริงของรัฐบาลทักษิณเท่านั้น (24)

นักเคลื่อนไหวทางการเมืองมวลชนในรุ่นเดียวกับบำรุง หลายคนให้เหตุผลที่จะไม่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับพันธมิตรฯ ว่า ไม่ใช่เพราะพวกเขาเป็นพวกผู้สนับสนุนทักษิณ หรือไม่มีข้อมูลว่ารัฐบาลทักษิณไม่ดีอย่างไร หากแต่มองไม่เห็นประโยชน์ของการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองในลักษณะนี้ เพราะประชาชนส่วนใหญ่คงไม่ได้ผลประโยชน์อะไรด้วย ประสบการณ์ในการต่อสู้ในยุค 14 ตุลาคม 2516 และ พฤษภาคม 2535 บอกให้รู้ว่ามีเพียงชนชั้นสูงในสังคมเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากเคลื่อนไหวของประชาชน เพื่อเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองในลักษณะดังกล่าว ส่วนประชาชนที่มวลชนพื้นฐานให้กับการเคลื่อนไหวมักไม่ได้ประโยชน์อะไร นอกจากเป็นฝ่ายที่ต้องคอยเสียสละเลือดเนื้อและชีวิตไปเปล่าๆ เพื่อให้คนอื่นชุบมือเปิบ

องค์ประกอบของพันธมิตรในลักษณะนี้ ดูเหมือนจะเป็นการตอกย้ำแนวคิดประเภท "สองนคราประชาธิปไตย" ของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นักรัฐศาสตร์ที่หันมาเอาดีทางการเมืองอีกว่า คนบ้านนอกชั้นต่ำตั้งรัฐบาล (จะด้วยอามิจสินจ้างหรืออะไรก็ตามแต่) เพื่อให้คนในเมืองชั้นกลางไปจนถึงสูงล้มทิ้งครั้งแล้วครั้งเล่า พันธมิตรฯ ดูเหมือนจะเข้าใจประเด็นนี้ และคงไม่อยากเห็นสภาพแบบนี้ หากไม่ได้หาคำตอบให้ลึกซึ้งว่าทำไม แต่ใช้สมมติฐานหยาบๆ ง่ายๆ ว่า ประชาชนรากหญ้าไม่ค่อยมีความรู้และถูกทักษิณชักจูงด้วยเงิน ดังนั้นจำนวนมากจึงรวมกลุ่มกันตั้งเป็นคาราวานคนจนตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับพันธมิตรฯ แต่บรรดาพันธมิตรก็ไม่มีเวลาสำหรับการทำงานมวลชนกับประชาชนรากหญ้าเลย แกนนำส่วนใหญ่เพลิดเพลินไปกับการเดินสายโชว์ตัวพร้อมสนธิในเขตชุมชนเมือง ที่มีประชาชนซึ่งมีความเห็นอยู่ในแนวเดียวกันอยู่แล้ว

มวลชนของพันธมิตรฯ ส่วนใหญ่ คือ แฟนรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ของสนธิ ซึ่งเป็นชนชั้นกลางในเมือง รวมกับคนทำงานให้กับองค์กรแรงงานของสมศักดิ์ สมาชิกกองทัพธรรมของจำลอง และเครือข่ายของกลุ่ม NGOs อีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่มากนัก คนที่เข้าร่วมการชุมนุมและเดินขบวนด้วยในแต่ละครั้ง เป็นคนที่ติดตามการเคลื่อนไหวของสนธิมาก่อน และคนในเมืองที่รับฟังทัศนะทางการเมืองของพันธมิตรจากสื่อมวลชน ข้าวกล่องจากร้านมีชื่อ, กาแฟควันฉุยหอมกรุ่นจากหลังเวทีพันธมิตร, ประสานกับเสียงเพลงแจ๊สจากบราวน์ชูการ์บนเวที, ภาพสาวชาวกรุงผิวขาวใส่สายเดี่ยวโพกผ้าสีเหลืองลายกู้ชาติที่บั้นเอว เข้ากันดีกับเสื้อเอวลอย กางเกงเอวต่ำตามยุคสมัย อยู่ในที่ชุมนุมสนามหลวงและลานพระรูปทรงม้า บอกให้รู้ว่า งานนี้คนจนไม่เกี่ยวแน่นอน

พันธมิตรไม่มีสภาพเป็นสถาบัน แต่พยายามจะสร้างองค์กรแบบหลวมๆ เพื่อจัดขบวนให้กับการเคลื่อนไหวแบบเฉพาะกิจ ไม่ได้มุ่งขยายฐานการต่อสู้ให้กว้างไกลออกไป พวกเขาสร้างองค์กรเลียนแบบพรรคคอมมิวนิสต์ กล่าวคือ มีคณะกรรมการกลางจากผู้แทน 21 องค์กร และมีคณะกรมการเมือง 5 คน อันประกอบไปด้วย สนธิ ลิ้มทองกุล, จำลอง ศรีเมือง, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา, สมศักดิ์ โกศัยสุข ผู้นำแรงงาน, และ พิภพ ธงไชย ที่ปรึกษา ครป.นักเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีชื่อเสียง และ มีสุริยะใส เป็นผู้ประสานงานและโฆษก. แต่ที่ต่างจากพรรคคอมมิวนิสต์คือ ไม่มีแผนกจัดตั้งมวลชน เพราะชื่อมั่นว่าแผนกโฆษณาชวนเชื่อในสื่อของสนธิ จะเป็นกลจักรสำคัญในการระดมสรรพกำลัง

กระบวนการในการตัดสินใจขึ้นอยู่กับคน 5 คนเป็นหลัก ผู้แทนองค์กร 21 องค์กรทำหน้าที่ในการระดมประเด็น ความคิดเห็น เกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองและทิศทางการเคลื่อนไหว เพื่อเสนอขึ้นสู่การตัดสินใจของทั้ง 5 คน แต่ในวงในของทั้ง 5 แกนนำนั้นมีอำนาจการตัดสินใจที่ไม่เท่ากัน สนธิมักใช้อำนาจจากการลงทุนทางด้านเวทีและสื่อ รวมทั้งอภิสิทธิที่ถือว่าตัวเป็นคนเริ่มต้นต่อต้านทักษิณ ทำการทุบโต๊ะให้คนอื่นคล้อยตาม

ตัวอย่างเช่น ในคราวที่มีการเคลื่อนขบวนครั้งแรก จากสนามหลวงไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ในที่ประชุมแกนนำนั้นจำลองคัดค้านการเคลื่อนขบวนด้วยเกรงว่าจะเป็นการเดินไปสู่กับดักของรัฐบาล อีกทั้งการชุมนุมในคืนวันจันทน์เป็นการชุมนุมที่คนเข้าร่วมน้อยอาจจะทำให้ภาพดูไม่มีพลัง คนอื่นๆ ไม่ตัดสินใจ สนธิตัดสินใจสั่งเคลื่อนขบวน ในขณะที่สมาชิกกองทัพธรรมของจำลองยังนอนอยู่ในกระโจมไม่ออกมาเดินด้วย เมื่อปรากฏว่าการเคลื่อนขบวนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีความรุนแรงดังที่กังวล ยิ่งทำให้ภาวะการนำของสนธิในพันธมิตรสูงขึ้นจนไม่มีใครทัดทานได้

คนอื่นๆ ในแกนนำที่เหลือ แม้ว่าจะมีประสบการณ์การเคลื่อนไหวมวลชนมาก่อนแต่ก็ไม่ได้มีอิทธิพลอะไรในกระบวนการตัดสินใจ เช่นสมศักดิ์นั้นอาจจะกล่าวได้ว่าโชกโชนกว่าสนธิ แต่เนื่องจากพวกเขาไม่ได้นำกำลังมาด้วย (หรือนำมาไม่ได้มากพอในปริมาณที่สนับสนุนการนำของเขาในการชุมนุมได้) ทั้งกำลังทรัพย์และกำลังคน สมศักดิ์พาพนักงานรัฐวิสาหกิจส่วนหนึ่งมาช่วยงานรักษาความปลอดภัยและสวัสดิการ แต่ขบวนการแรงงานไม่ได้ปรากฎตัวชัดเจนในการเคลื่อนไหว เดินทางมาร่วมชุมนุมบ้างเป็นครั้งคราวเท่าที่ลางานได้ (25) ไม่นับพิภพและสมเกียรติ ซึ่งไม่มีมวลชนหนุนหลังมาด้วยเลย

การเคลื่อนไหวนับแต่จัดตั้งเป็นองค์กรพันธมิตรฯ มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก ผู้ประสานงานคนหนึ่งให้ข้อมูลว่า การชุมนุมในแต่ละคืนจะต้องใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 700,000-800,000 บาทหรือถึงล้านบาทในบางคืนที่ชุมนุมจนสว่าง ส่วนใหญ่หมดไปกับค่าจัดเวที ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ตกเป็นภาระของสนธิในช่วงแรกๆ กระทั่งมีเงินบริจาคเข้ามาช่วยแบ่งเบาในระยะหลังๆ แต่บริษัทของสนธิก็มีรายจ่ายค่อนข้างมาก กับการผลิตสื่อเพื่อโฆษณาให้กับการเคลื่อนไหว สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมของเขาถ่ายทอดสดการชุมนุมตลอดเวลาก็ต้องมีค่าใช้จ่ายมหาศาล

ไม่เคยมีการเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชนครั้งใดในระยะเวลาสั้นๆ ที่ผ่านมาจะมีค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินมากมายขนาดนี้ การเคลื่อนไหวมวลชนของนักศึกษา NGOs แรงงาน ชาวนา ทั้งหลาย เสียเงินค่าเครื่องไฟ พิมพ์โปสเตอร์ และข้าวกล่อง นับได้อย่างมากก็หลักหมื่นบาท ไม่ไปถึงแสนถึงล้าน หรือมีอุปกรณ์ทันสมัยแพรวพราว ประเภทจอโปรเจกเตอร์ ถ่ายทอด VTR รถเครื่องเสียงที่เชื่อมสัญญานจากเวทีใหญ่ที่ไปไกลหลายร้อยเมตร มองจากประเด็นนี้อาจจะกล่าวได้ว่านี่เป็นม๊อบ (26) ระดับเศรษฐีที่อยู่ดีกินดีที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา

แม้ว่าจะมีองค์กรพัฒนาเอกชน แรงงาน และองค์กรทางด้านสังคมเข้ามาร่วมมากขึ้น แต่ไมได้ทำให้เนื้อหา ลีลา และท่าที ของการเคลื่อนไหวต่อต้านทักษิณเปลี่ยนแปลงไปจากตอนที่สนธิเป็นผู้นำเดี่ยวเลยแม้แต่น้อย กล่าวคือ ในแง่เป้าหมายคือ การมุ่งโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ และขับไล่ตัวทักษิณเองให้ออกไปจากการเมืองไทย โดยมียุทธศาสตร์ (27) คือการดึงเอาอำนาจที่เหนือกว่าคืออำนาจพระมหากษัตริย์มากำหราบทักษิณ และใช้ยุทธวิธีการชุมนุม เดินขบวน ออกแถลงการณ์ แถลงข่าว ใช้สื่อมวลชน โดยเฉพาะที่เป็นของสนธิเพื่อทำลายภาพลักษณ์ของทักษิณ (character assassination)

เช่น แต่งเพลงคนหน้าเหลี่ยม ทำมิวสิควีดีโอล้อเลียน หยิบแง่มุมทางด้านภาพลักษณ์เพื่อแสดงให้เห็นว่าทักษิณตีตนเสมอพระมหากษัตริย์ อย่างกรณีการให้หนังสือพิมพ์ผู้จัดการลงข่าวว่า ธงชาติที่มีคำว่า "ทรงพระเจริญ" ติดอยู่ที่ประชาชนนำมาโบกเวลาต้อนรับทักษิณ เป็นการจาบจ้วงพระมหากษัตริย์ (28) ตัวสนธิเองก็พยายามเปรียบเทียบทักษิณกับพระมหากษัตริย์ตลอดเวลา ในหลายกรณีเขาจงใจกล่าวถึงพระมหากษัตริย์โดยไม่จำเป็น ซึ่งนั่นก็มีราคาที่เขาต้องจ่ายในเวลาต่อมา เมื่อถูกพวกที่ภักดีต่อทักษิณหยิบมาเป็นประเด็นฟ้องร้องเขาว่าดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

จึงกลายเป็นว่าทั้งทักษิณและสนธิ ต่างใช้พระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือห้ำหั่นซึ่งกันและกัน พยายามแสดงให้สาธารณะชนเห็นว่ามีแต่พวกตัวเองเท่านั้น ที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ แต่อีกฝ่ายหนึ่งลบหลู่พระราชอำนาจ นอกจากนี้ยังมีการใช้แง่มุมทางกฏหมายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์หลัก กล่าวคือ เรียกร้องให้มีการใช้มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เพื่อเป็นแนวทางในการขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีมาแทนทักษิณ

แม้จะปรากฎข่าวกระเซ็นกระสายว่า ผู้แทนองค์กรทางสังคมจำนวนมากที่เคยเชิดชูการเมืองภาคประชาชน หรือในกลุ่มเจ้าของวาทกรรมใหม่ว่าด้วย "การเข้าถึงอำนาจของประชาชน" (29) อย่างเช่นกลุ่ม ครป.จะไม่เห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ที่จะเรียกร้องอำนาจพระมหากษัตริย์ มาเป็นธงนำในการเรียกร้องประชาธิปไตยจากทักษิณ แต่ไม่ปรากฏว่ามีใครในบรรดาแกนนำและคนทำงานที่แสดงการทัดทานสนธิ และลูกน้องของเขาอย่างชัดเจน อย่างมากก็แค่ออกมาปล่อยข่าวพอทำให้ตัวดูดีว่า ลูกน้องสนธิแอบสอดไส้มาตรา 7 ลงในแถลงการณ์

แต่ข้อเท็จจริงคือส่วนใหญ่ก็พากันเดินตามกันไปอย่างเชื่องๆ ไม่มีใครถอนตัว เพราะถึงถอนออกมาจริงๆ ก็ไม่ได้มีผลกระทบใดๆ ต่อทิศทางการเคลื่อนไหวเลยแม้แต่น้อย คนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของสนธิส่วนใหญ่แล้ว ไม่มีอิทธิพลจริงเป็นแต่เพียงไปอาศัยเกาะขบวนแห่ของสนธิไล่ทักษิณเท่านั้น

อีกทั้งในบรรดาแกนนำก็มีปล่อยข่าวเกทับกันเองทำนองว่า สนธิ และจำลอง สามารถต่อสายตรงถึงวังหลวง ซึ่งพร้อมจะพระราชทานนายกรัฐมนตรีมาให้ทุกเมื่อ ซึ่งตอนนั้นก็ปล่อยชื่อตัวบุคคลในคณะองคมนตรี เช่น พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ และนายสุเมธ ตันติเวชกุล ขอให้พันธมิตรฯ เคลื่อนไหวกดดันให้ทักษิณลาออกได้เป็นพอ ทำให้หลายคนพลอยเคลิ้มว่ามองเห็นชัยชนะอยู่รำไรทุกทีไป

ผลจากการนั้นในทางปฏิบัติทำให้มีการออกแถลงการณ์เรียกร้องร้องให้มีการใช้มาตรา 7 ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่มีพื้นฐานทางหลักการประชาธิปไตยและหลักนิติศาสตร์ใดๆ มาสนับสนุนเลยว่า จะใช้รัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวนั้นได้อย่างไร ได้แต่พากันเรียกร้องและสรรญเสริญเยินยอพระมหากษัตริย์ว่า พระองค์ทรงปรีชาญาณจะใช้รัฐธรรมนูญดังกล่าวเยี่ยงใดก็ได้ โดยปราศจากข้อกังขาใดๆ

มาตรา 7 นั้นหากเราพิเคราะห์ให้ดีจะพบว่า มันเป็นสมบัติของเผด็จการสมัยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ที่เขียนเผื่อเอาไว้สำหรับการตีความกฎหมายใช้กฏหมายในกรณีบทบัญญัติหลักไปไม่ถึง ในตัวบทกฏหมายอื่นๆ ก็มีหลักว่าด้วยจารีตประเพณี ศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือ บางครั้งให้ใช้โดยเทียบเคียง (analogy)

สิ่งที่น่าสนใจประการแรก มาตรา 7 อยู่ในบททั่วไปของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเสมือนอรัมภบทว่าด้วยหลักการภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ และใช้สำหรับเอื้อประโยชน์ให้การตีความมาตราอื่นๆ เป็นไปโดยชอบ

ประการต่อมาองค์ประกอบของมาตรานี้มี 2 ส่วนใหญ่คือ "การไม่มีบทบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ" และ "การวินิจฉัยตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

สิ่งที่จะต้องวินิจฉัยคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบทบัญญัติว่าด้วยการสรรหานายกรัฐมนตรีหรือไม่ คำตอบคือมีอยู่มาตรา 201 ซึ่งบัญญัติไว้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและโดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

แรกๆ ที่เรียกร้องให้ใช้มาตรา 7 ตามแนวทางที่ปัญญาชนในกลุ่มของชัยอนันต์ยื่นถวายฎีกานั้น พันธมิตรฯไม่ได้เฉลียวใจเลยถึงอำนาจของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ หากแต่พากันทึกทักเอาเองว่า มาตรา 7 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจพระมหากษัตริย์อย่างล้นเหลือ และเลยเถิดไปกระทั่งว่าเป็นกุญแจสำคัญ ให้เลิกใช้รัฐธรรมนูญในอีกหลายมาตราเพื่อจะให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เรียกว่า รัฐบาลพระราชทานเหมือนดังที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมปี 2535

รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ไม่เหมือนฉบับก่อนๆ ตรงที่ได้ผูกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้อย่างเหนียวแน่น คือการกำหนดคุณสมบัติประการสำคัญของผู้ดำรงค์ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้นจะต้องมีสภาผู้แทนราษฎรอยู่เสมอจึงจะใช้มาตรานี้ได้ เพราะหากไม่มีสภาผู้แทนราษฎรก็จะทำให้การใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 7 ดังกล่าวไม่เข้าองค์ประกอบที่สอง คือประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

คำว่า ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหาษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้นมีที่มายาวนานกว่า 70 ปีแล้วและมีส่วนประกอบ 2 ส่วนสำคัญคือ พระมหากษัตริย์ และ ประชาธิปไตย ตามประเพณีนั้นเรามีพระมหากษัตริย์แน่นอน และมีมานานแล้วไม่เป็นที่สงสัย ส่วนที่สองคือประเพณีประชาธิปไตยของไทยนั้นคือประเพณีการมี สภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ถืออำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยร่วมกับวุฒิสภา รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจดังกล่าวนั้น ผ่านทางรัฐสภา (ถ้าไม่มีองค์ประกอบทั้งหมดนี้เรานิยมเรียกการปกครองนั้นๆว่า เผด็จการ)

กล่าวโดยย่นย่อ หากจะใช้มาตรา 7 ให้ได้โดยสมบูรณ์และเป็นไปโดยชอบหลักแห่งกฎหมาย ตามแนวทางนิติรัฐ (rule of law) ตามที่นักเรียนกฏหมายมหาชนนับถือแล้วไซร้ พระมหากษัตริย์จะทรงใช้อำนาจผ่านสภา มีประธานสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ประเพณีแต่เก่าก่อนก็ใช้แบบนี้มาโดยตลอด แม้หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ก็ใช้แบบนี้ เหตุการณ์ในครั้งนั้น เมื่อพลเอกสุจินดา ลาออก, นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรทูลเกล้าเสนอนายอานันท์ ปันยารชุนเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ปัญหาหญ้าปากคอกที่ปัญญาชนของพันธมิตรลืมนึกถึงคือ ในเวลานั้นมีประเพณีที่สืบทอดกันมา กล่าวคือ นายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ ซึ่งต่างจากสภาพการณ์ในปัจจุบันมาก

พิเคราะห์เช่นนี้แล้วจะเห็นว่า สิ่งที่พันธมิตรฯ เรียกร้อง คือ การขอไม่ให้ใช้มาตราใดๆ เลยในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่างหาก หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นการการฉีกรัฐธรรมนูญเสีย แล้วใช้อำนาจพระมหากษัตริย์ล้วนๆ โดยไม่สนใจใยดีว่า เป็นไปตามประเพณีแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ที่ถูกควรเรียกว่า "เว้นวรรค" ประชาธิปไตย เพื่อ "สมบูรณาญาสิทธิราชแบบเฉพาะกิจ" คงเหมาะสมกว่า

กาลต่อมาเมื่อพระมหากษัตริย์ มีพระบรมราชวินิจฉัยเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ว่าการใช้มาตรา 7 ตามแนวทางที่พันธมิตรเรียกร้องทำไม่ได้ เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญจึงทำให้ยุทธศาสตร์หลักในการเคลื่อนไหวของพันธมิตรพังทะลายลงอย่างย่อยยับ ไม่มีปัญญาชนคนใดที่เคยออกความเห็นเชียร์แนวทางนี้ของพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นชัยอนันต์, ปราโมทย์, หรือ สุรพล นิติไกรพจน์จากธรรมศาสตร์ที่เป็นหัวหอกในเรื่องนี้ออกมาให้คำอธิบายใดๆ ถึงฐานทางวิชาการที่พวกเขาคิด

แกนนำพันธมิตรฯ อย่างสนธิ และพิภพ อธิบายไปข้างๆ คูๆ ว่าเป็นยุทธวิธีที่สนับสนุนยุทธศาสตร์ใหญ่ ไม่ได้ผิดพลาดอะไรต่อระบอบประชาธิปไตยโดยรวมเพราะ มาตรา 7 อยู่ในรัฐธรรมนูญดังนั้นยังเป็นประชาธิปไตยอยู่ (30) แต่ไม่ได้อภิปรายว่าการใช้รัฐธรรมนูญแบบนั้นเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฏหมายขนาดไหน จะว่าไปแล้วทัศนะต่อกฏหมายของพันธมิตรฯ ก็ไม่ต่างจากพวกทักษิณเลยแม้แต่น้อย คือชอบดัดแปลงกฏหมายให้สมประโยชน์ของตัวเหมือนกัน

สิ่งที่พันธมิตรไม่เคยฉุกคิดตลอดระยะเวลาหลายเดือนของการเคลื่อนไหวคือ ยุทธศาสตร์ที่ดึงอำนาจพระมหากษัตริย์มาพิฆาตทักษิณนั้น เป็นการสร้างวาทกรรมที่เสริมอำนาจทางการเมืองให้กับฝ่ายนิยมเจ้า ที่ต้องการให้พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจอย่างล้นเหลือ และมองข้ามหลักใหญ่ของประชาธิปไตยคือ การมีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน พระมหากษัตริย์จะทรงใช้อำนาจนั้นได้ ก็ต่อเมื่อมีกฏหมายได้บัญญัติไว้เท่านั้น ในฐานะของประมุขของรัฐภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจได้ภายใต้กรอบแห่งกฏหมาย

ยุทธศาสตร์พระราชทาน ปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย
"ยุทธศาสตร์ขอพระราชทาน" เป็นการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยโดยตรง เพราะมันเป็นวาทกรรมของความไม่เชื่อมั่นในอำนาจของประชาชน ไม่เชื่อมั่นในระบอบการเมืองที่ให้อำนาจประชาชน แต่กลับชักพาประชาชนให้เชื่อมั่นกับอำนาจของพระมหากษัตริย์

ขบวนของพันธมิตรฯไม่ค่อยใช้ความพยายามเท่าที่ควรในการใช้เครื่องมือในระบอบประชาธิปไตย เช่นอำนาจทางกฏหมายที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีไว้ให้ก็ยังใช้ไม่หมด แต่ก็พากันด่วนสรุปว่าใช้ไม่ได้ เพราะทักษิณปิดกั้นเอาไว้หมดด้วยอำนาจเงิน ทั้งที่ในความเป็นจริงก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น กรณีที่ศาลปกครองพิพากษาให้กรณีการกระจายหุ้นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือ สามารถสั่งให้คณะกรรมการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ลงคะแนนเสียงใหม่ ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเป็นอิสระของศาล

แต่เหตุผลหลักที่ไม่พยายามที่สุด ก็ด้วยยอมจำนนอย่างสุจริตใจต่ออำนาจตามประเพณีของพระมหากษัตริย์ และอีกทั้งพยายามจะสถาปนาอำนาจนั้นให้มีฐานทางกฏหมายรองรับ เพื่อหวังให้ประชาชนได้พึ่งพิงพระองค์ตลอดไปในอนาคต เผื่อว่าวันใดไม่ชอบใจนายกรัฐมนตรีคนใด ก็จะขอให้พระองค์เปลี่ยนให้ง่ายๆ ดังใจหวัง

พันธมิตรที่ชูแนวทางนี้เป็นธงนำในการต่อสู้กับทักษิณไม่ได้อภิปรายอย่างหนักแน่นว่า หากพากันสร้างประเพณีแห่งการพึ่งพิงอำนาจพระมหากษัตริย์มาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแบบนี้แล้ว ในอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ผสกนิกรไทยทั้งหลายก็ล้วนทราบกันดีแล้วว่า พระมหากษัตริย์ในฐานะปัจเจก มิได้ทรงพระปรีชาญาณเสมอกันทุกพระองค์ ประการสำคัญ รัฐธรรมนูญในมาตรา 8 บัญญัติว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ แปลว่า ตรวจสอบ คัดค้านไม่ได้ อำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ยอมขัดกับหลักพื้นฐานของประชาธิปไตย

ถ้าหากไม่เสียเวลากับการเทิดทูลอำนาจนอกกระบวนการประชาธิปไตย พันธมิตรฯ จะมองเห็นว่า ประชาชนมีอำนาจจริงๆ ประจักษ์พยานที่ชัดเจนที่สุดคือการที่ประชาชนนับ 10 ล้านคน พากันใช้สิทธิในการเลือกตั้งแบบไม่เลือกใคร (no vote) ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ถ้าผนวกกับกลุ่มที่จงใจทำบัตรเสียก็มากถึง 12-13 ล้าน ห่างจากคะแนนที่พรรคไทยรักไทยของทักษินได้ไม่เกิน 3 ล้าน

ถ้าหากพันธมิตรให้เวลาสักนิดกับการทำงานรณรงค์ในหมู่บ้านก่อนการเลือกตั้งแทนที่จะเอาแต่ชุมนุมเฉลิมพระเกียรติคืนแล้วคืนเล่า ขีดเส้นตายหลอกๆ ให้ทักษิณลาออกวันแล้ววันเล่าอยู่อย่างนั้น ก็จะเห็นว่าพลังประชาชนก็คว่ำทักษิณได้สบายๆ ผ่านระบบการเลือกตั้งอย่างง่ายๆ ด้วยซ้ำไป (ส่วนคว่ำลงไปได้แล้วใครได้ประโยชน์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งคงต้องวิเคราะห์และอภิปรายกันอย่างมาก พอๆ กับถวายคืนพระราชอำนาจแล้วใครได้ประโยชน์)

วาทกรรมพระราชอำนาจและยุทธศาสตร์ขอพระราชทาน ไม่ได้มีคุณูปการต่อพัฒนาการประชาธิปไตยไทยในระยะยาว แต่เสริมสร้างบทบาทของพระมหากษัตริย์อย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งได้เชื้อเชิญให้ใช้อำนาจตามกฏหมายอย่างชัดแจ้งอีกด้วย เรื่องนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดในเวลาที่การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯยังไม่จบสิ้น แม้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงปฏิเสธการใช้พระราชอำนาจตามมาตรา 7 ตามแนวทางที่พันธมิตรเสนอ เพราะมันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งถ้าขืนใช้ตามแนวทางพันธมิตรฯ เสนอ ก็ดูจะเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันพระมหากษัตริย์ไปด้วยในตัวฐานที่ไม่อ้างอิงอำนาจตามกฎหมาย

การวินิจฉัยดังกล่าวมีผลแค่ทำให้พันธมิตรฯและปัญญาชนที่เสนอแนวทางนี้ได้อาย เพราะไม่เข้าใจพระราชอำนาจอย่างแจ่มแจ้งและวินิจฉัยกฏหมายรัฐธรรมนูญไม่ถูกเท่านั้น แต่หากเราพิจารณาแก่นสารของพระราชดำรัสในวันที่ 25 เมษายน ซึ่งมุ่งจะแก้ปัญหาความ "มั่ว" ทางการเมือง ซึ่งทั้งทักษิณและฝ่ายพันธมิตรฯ ช่วยกันสร้างขึ้นคนละเล็กละน้อยนั้น ในเนื้อหาสาระแล้วพระองค์ใช้อำนาจตามมาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่า "อำนาจจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้"

กล่าวคือ เมื่อทักษิณยุบสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาหมดวาระลง คณะรัฐมนตรีตกอยู่ในอำนาจของทักษิณ พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจเดียวที่ยังเหลืออยู่คือศาลเข้าไปจัดการปัญหา ความเป็นที่ปรากฎชัดว่า หากแม้นไม่มีพระราชดำรัสดังกล่าว เชื่อมั่นได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเชื่อกันว่า คณะตุลาการส่วนใหญ่นิยมชมชอบทักษิณ (ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด) คงจะไม่พิพากษาให้การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน เป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ สังเกตได้จากคำพิพากษากลางของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 นั้นมีเหตุผลทางกฏหมายสนับสนุนอย่างบางเบาที่สุด หากแต่อุดมไปด้วยเหตุผลทางการเมืองที่ล้อไปกับพระราชดำรัสอย่างมีนัยสำคัญ

ตุลาการบางคนที่ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพของตัวมากๆ เช่น มานิต วิทยาเต็ม ถึงกับบอกว่า พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้งนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่เขาเสนอให้เลือกตั้งใหม่เพื่อความเรียบร้อยทางการเมือง

ท้ายที่สุดเมื่อพระมหากษัตริย์วินิจฉัยการใช้พระราชอำนาจด้วยพระองค์เอง และลงมือใช้อำนาจอธิปไตยเพื่อแก้ปัญหาทางการเมือง สิ่งที่พันธมิตรฯ ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นขบวนการประชาชนทำได้อย่างมากก็เป็นแต่เพียงน้อมรับแนวทางพระราชดำรัส และทำตัวเป็นหางเครื่องให้กับคณะตุลาการ ซึ่งดูเหมือนในระยะหลังทำตัวราวกับเป็นคนถือโองการสวรรค์ ทำท่าจะใช้อำนาจเกินเลยขอบเขตของตัว ถึงขั้นจะจัดการเลือกตั้งด้วยตัวเอง ซึ่งนั่นก็เสี่ยงมากสำหรับความน่าเชื่อถือของศาลเองในอนาคต เพราะศาลกำลังแสดงให้สาธารณชนเห็นว่า มีความโน้มเอียงไปทางหนึ่งทางใดได้

ขบวนการประชาชนที่พึงปรารถนา
หากอาศัยความคิดเรื่องขบวนการประชาชนแบบ ประภาส ปิ่นตบแต่ง (31) ซึ่งมองเห็นการประท้วงตามท้องถนน สามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นขบวนการประชาชนได้ โดยการสร้างเครือข่ายไปในระดับทั่วประเทศ เช่นกรณีของสมัชชาคนจนที่ตั้งขึ้นมาในปี 2538 กระทั่งพัฒนาเป็นองค์กรที่สามารถรวบรวมปัญหาของประชาชน โดยเฉพาะระดับรากหญ้าได้ค่อนข้างมาก มาแปรเป็นพลังในการผลักดันเพื่อการแก้ไขปัญหาแล้วจะเห็นได้ว่า ขบวนการของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังถือว่าอยู่ในขั้นปฐม และอาจจะไม่พัฒนาไปได้ไกลมากนัก เพราะดูเหมือนยังไม่ได้แสดงเจตจำนงค์ที่จะเดินไปทางนั้น เพราะใช้เวลาส่วนใหญ่กับการเรียกร้องขอพระราชทาน สนับสนุนพระราชอำนาจ และวิพากษ์วิจารณ์การเมืองในระดับโครงสร้างส่วนบนมากกว่า

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสมัชชาคนจนอาจจะไม่พัฒนาไปเป็นขบวนการขนาดใหญ่ในเวลาต่อมา หรือ กระทั่งอาจจะกล่าวได้ว่าลดขนาดลงอย่างมาก แต่นั่นไม่ใช่ความสูญเปล่าของขบวนการประชาชน เพราะหลายประเด็นปัญหาที่เคลื่อนไหวผ่านสมัชชาคนจน ก็ได้รับความสนใจอย่างมาก เช่น กรณีเขื่อนปากมูลที่สามารถผลักดันการแก้ไขปัญหาได้ส่วนหนึ่ง แม้จะไม่ทั้งหมด ประการสำคัญเครือข่ายปัญหาต่างๆ ยังอยู่และพร้อมเคลื่อนไหวได้ตลอดเวลา

แกนนำคนสำคัญของพันธมิตรฯ อย่างสมเกียรติ ก็เคยชื่นชมพัฒนาการของขบวนการประชาชนแบบสมัชชาคนจน เขามองว่ามันเป็นสถาปนาอำนาจอย่างใหม่ที่จะเข้าไปมีส่วนแบ่งอำนาจทางการเมือง เพราะมันเป็นการหันเหความคิดของคนไม่ให้ฝากความหวังไว้กับ "ผู้แทนสัปรังเคมากนัก" (32) แต่ดูเหมือนว่า คณะพันธมิตรฯ ไม่ได้กำลังทำสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยเห็นว่าเป็นความหวังในการสร้างอำนาจใหม่ทางการเมือง

หากจะเดินตามแนวที่สมเกียรติเคยวาดเอาไว้ ตามทัศนะทางการเมืองภาคประชาชนของเขา พันธมิตรฯสมควรปรับทิศทางการเคลื่อนไหวเสียใหม่ หันหลังให้แนวทางการเคลื่อนไหวตามยุทธศาสตร์ขอพระราชทานของกลุ่มสนธิ ไปให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวปลุกเร้าประชาชนในต่างจังหวัด ในชนบท สร้างเครื่อข่ายกับองค์ประชาชนอย่างน้อยให้ได้สักส่วนหนึ่งของที่สมัชชาคนจนเคยทำได้ในอดีต การเคลื่อนไหวผ่านสื่อมวลชน ด้วยการแถลงข่าวตอบโต้พรรคไทยรักไทย อย่างที่สุริยะใส และสนธิ ปฏิบัติเป็นประจำนั้น เป็นวิถีของนักการเมืองทั่วไปไม่ได้สร้างพลังอำนาจใดๆ ให้กับประชาชน และไม่ก่อประโยชน์ใดๆ ต่อการเสริมสร้างขบวนการประชาชนหรือแม้แต่ขบวนการของตัวเองให้เข้มแข็งขึ้นมาเลย

พันธมิตรฯ สมควรทำความเข้าใจเรื่องปฏิกิริยาของประชาชนรากหญ้าต่อทักษินเสียใหม่ สมมติฐานสั้นๆง่ายๆ เพียงเพราะว่าพวกเขาโง่และเห็นแก่เงินของทักษิณ ยอมตัวให้ตกอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ของทักษิณอย่างนั้น ไม่เพียงพอสำหรับการทำความเข้าใจภาคประชาชน ไม่ใช่หนทางที่ชอบที่ควรแก่การสร้างการเมืองภาคประชาชนได้เลย เพราะมันเป็นความคิดที่ผลักดันให้ผู้คนไปอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับตัวโดยไม่จำเป็น สมควรอย่างยิ่งที่จะมีการเจรจรากับกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า คาราวานคนจน ว่าแท้จริงแล้วทำไมพวกเขาสนับสนุนทักษิณ สมาชิกและแกนนำคนสำคัญในคาราคนจนหลายคน หาใช่ใครอื่นเลย หากเป็นอดีตสมาชิกหรือไม่ก็พันธมิตรของสมัชชาคนจน ที่มีบทบาทสำคัญในการก่อสร้างขบวนการประชาชนมาแล้วทั้งสิ้น พวกเขาไม่ใช่คนที่สยบยอมต่ออำนาจง่ายๆ มาก่อนเลย

เงื่อนไขที่เป็นความสำเร็จในการสร้างขบวนการประชาชน อย่างในงานการศึกษาสมัชชาคนจนที่ประภาสมองเห็น นอกเหนือไปจากโอกาสทางการเมืองที่ขยายมากขึ้น ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ การสร้างโครงสร้างองค์กรและการขยายพันธมิตรอย่างหลวมๆ กับทุกๆ ส่วนในสังคมอย่างกว้างขวาง เฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งไปสู่รากฐานของสังคมคือ ชุมชน ถ้าหากปราศจากซึ่งความพยายามที่จะเชื่อมโยงการต่อสู้เคลื่อนไหวออกไปให้กว้างขวางมากกว่า น่าเสียดายที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทำตัวเป็นแค่การเดินขบวนของประชาชนในเมือง เรียกร้องให้พระเจ้าแผ่นดินเปลี่ยนแปลงรัฐบาลให้

ปัจฉิมลิขิต
ผู้เขียนมีความประทับใจที่ผิดๆ เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนมานาน เพราะทึกทักไปเองว่า ยิ่งประชาชนชุมนุมทางการเมืองตามท้องถนนมากเท่าไหร ยิ่งบอกระดับของความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทยมากขึ้นเท่านั้น แต่การชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อโค่นล้มทักษิณบอกความจริงอยู่ประการหนึ่งว่า ผลของมันไม่เท่ากับไปเพิ่มดีกรีของความเป็นประชาธิปไตยเสมอไป ตรงกันข้ามมันอาจจะกำลังพาเราหนีจากความเป็นประชาธิปไตย ไกลออกไปเรื่อยๆ พร้อมๆ กับลดทอนอำนาจของประชาชนลงเรื่อยๆ ก็เป็นได้

แน่นอนเดียว การคว่ำทักษิณลงไปได้ อาจเป็นเรื่องดี อย่างน้อยที่สุดได้ขจัดตัวแทนของการเมืองแบบอำนาจนิยมและนักการเมืองที่ละโมบโลภมากออกไปได้ และนอกจากนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างส่วนบนบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่เนื่องจากพันธมิตรต่อต้านทักษิณไม่ได้เสนอแนวทางใหม่มาด้วยว่า ถ้าไม่มีทักษิณแล้วโครงสร้างการเมืองจะเป็นอย่างไร ดังนั้นสิ่งที่พอจะจินตนาการได้มากที่สุดก็คือ หากปราศจากทักษิณในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว พรรคไทยรักไทยอาจจะมีขนาดเล็กลง หรือ หากทักษิณวางมือทางการเมืองไปเลย พรรคนี้อาจจะสลายไป พวกนักการเมืองจะจับกลุ่มกันใหม่ ย้ายพรรคกันไปมา พรรคที่เป็นฝ่ายค้านในเวลานี้อาจจะจับกลุ่มกันเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ทั้งหมดนั่นไม่ได้ให้ความหมายอะไรต่อประชาชนมากมายนัก

พันธมิตรฯพูดถึงการปฏิรูปการเมือง แต่ให้ภาพที่ไม่ชัดเจนนักว่า ปฏิรูปอะไร และ เพื่ออะไร มีการพูดกันเล็กน้อยว่าอยากจะให้แก้ไขกฏเกณฑ์เพื่อให้นักการเมืองไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง 90 วันก่อนการเลือกตั้ง นั่นก็เป็นปัญหาของนักการเมืองมากกว่าปัญหาของประชาชน เพราะเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า เสรีภาพของนักการเมืองไทยไม่ได้ยังประโยชน์อะไรให้กับประชาชนเลย มีบ้างที่พูดกันว่า ต้องการสร้างองค์กรอิสระให้อิสระจริงๆ ปราศจากการแทรกแซงของนักการเมือง แต่ยังมองไม่เห็นทางว่า สภาพอิสระแบบลอยๆ เช่นว่านั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งนี้พูดบนพื้นฐานความจริงประการหนึ่งว่า เราไม่มีเทวดาอยู่ในการเมือง ดังนั้นไม่ว่าจะอย่างไร นักการเมืองจะต้องหาหนทางแสดงอิทธิพลเหนือองค์กรอิสระให้จงได้ พวกเขาอาจจะไม่ใช้วิธีการแบบทักษิณ แต่เชื่อว่าเขามีวิธีอื่นๆ อีกมากมาย

ในระดับวัฒนธรรมนั้น สิ่งที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อโค่นล้มทักษิณจะทิ้งเอาไว้อีกสองอย่างซึ่งสำคัญคือ

1) วัฒนธรรมในการพึ่งพิง โดยเฉพาะพึ่งพิงอำนาจพระมหากษัตริย์ และ

2) ความไม่เชื่อมั่นในระบบการเมืองที่ปกครองด้วยกฏหมายหรือหลักนิติรัฐ ทักษิณและนักกฏหมายที่รับใช้เขาแสดงให้เราเห็นว่า พร้อมที่จะบิดพลิ้วกฏเกณฑ์ทุกอย่างเพื่อประโยชน์แห่งตน ในทำนองเดียวกันฝ่ายพันธมิตรก็แสดงให้เห็นว่า พวกเขาไม่เชื่อถือในอำนาจของกฏหมาย หากเชื่อในอำนาจพระมหากษัตริย์ ที่ใจจริงแล้วพวกเขาอยากจะทำให้มีสภาพเหนือกฎหมาย หรือเป็นดุจดั่งโองการสวรรค์ที่บันดาลอะไรให้ก็ได้ แม้แต่เสกนายกรัฐมนตรีใหม่ให้ก็ยังได้

การเคลื่อนไหวเพื่อโค่นล้มทักษิณ สร้างกำลังวังชาให้กับการเมืองภาคประชาชนที่นิยมชมชอบประชาธิปไตยทางตรงบ้างหรือไม่ คำตอบคือมีอยู่บ้าง แต่มีเงื่อนไขว่า ประชาชนใช้อำนาจของตัวเองตรงๆ ไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้วประชาชนไม่มีอำนาจ การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ แสดงให้เห็นว่า ต่อให้รวมกันได้หลายแสนบนท้องถนนก็ไม่มีอำนาจจะทำอะไรใครได้ หากไม่มีอำนาจอย่างอื่นมาช่วย การเคลื่อนไหวในคราวนี้บอกความจริงประการหนึ่งสำหรับขบวนการประชาชนคือ ประชาชนทำได้อย่างมากคือ "รวมตัวกันไปขอ" ไม่ได้สามารถสร้างอะไรได้ด้วยตนเอง

+++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

(1) คำว่าขบวนการ ตามที่บัญญัติในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้คำนิยามสั้นๆ ง่ายๆ ว่า หมายถึงกลุ่มบุคคลที่รวมกันเพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่นิยามทำนองนี้อธิบายอะไรไม่ได้มากนัก ฟังดูไม่ค่อยใหญ่โต ให้ความหมายดูไม่ค่อยต่างอะไรกับคำว่า คณะบุคคล สังคมไทยดูไม่ค่อยคุ้นเคยกับคำนี้นัก

ประภาส ปิ่นตบแต่ง ชี้ให้เห็นว่า คำนี้เพิ่งจะนำมาบรรจุในพจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถานเป็นครั้งแรกในปี 2525 ผู้เขียนใคร่ให้คำนิยามที่กว้างขึ้นไปอีกเล็กน้อยว่า เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลเพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างมีแบบมีแผน มีเป้าหมาย และวิธีการที่ชัดเจน ขบวนการประชาชนในที่นี้ขอให้คำนิยามเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มประชาชน เพื่อทำการใดการหนึ่ง ด้วยเป้าหมาย และวิธีการชัดเจน

(2) ธงชัย วินิจจะกูล ได้อภิปรายเรื่องนี้อย่างกว้างขวางในปาฐากถา 14 ตุลา ประจำปี 2548 : ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา: เมือวันที่ 14 ตุลาคม 2548 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ที่ชี้ให้เห็นว่า การเมืองของพวกนิยมพระมหาษัตริย์กำลังได้รับการสถาปนาอย่างเป็นระบบ พร้อมๆ กับการทำลายความน่าเชื่อถือของระบอบประชาธิปไตย

(3) บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา "ปรากฎการณ์สนธิในฐานะที่เป็นข่าว" Positioning Magazine (ธันวาคม 2548)
(4) สัมภาษณ์พิเศษ: คาใจม๊อบสนธิ "นิธิ เอียวศรีวงศ์" ไขข้อข้องใจ Prachatai.com. 13 ธ้นวาคม 2548
(5) สนธิ ลิ้มทองกุล : "ผมเป็นวีรบุรุษโดยอุบัติเหตุ" Positioning Magazine (ธันวาคม 2548)

(6) สิ่งที่สนธิอธิบายต่อสังคมนั้นไม่แค่เพียงโวหารของเขาเท่านั้น หากมันได้สร้างชุดความจริงบางอย่างขึ้นมาด้วย เช่นกรณีเขาอธิบายความขัดแย้งในไอทีวี ระหว่างเครือเนชั่นกับชินคอร์ปว่า เป็นความขัดแย้งทางธุรกิจแทนที่จะเป็นปัญหาเรื่องเสรีภาพสื่อมวลชน ซึงถือได้ว่ามันเป็นการผลิตความจริงอีกชุดหนึ่งมาต่อสู้กับอีกชุดหนึ่ง

(7) Noam Chomsky. Understanding Power. (London : Penguin Book, 2002) p.14 ได้อธิบายความหมายของสื่อมวลชนที่ทำตัวเป็นผู้กำหนดวาระในการสื่อสารว่า คือการที่องค์กรสื่อขนาดใหญ่ซึ่งมีสื่อหลายประเภทอยู่ในมือจะใช้สื่อทั้งหมดที่มีอยู่นำกระแสข่าว เพื่อชี้นำความเห็นสาธารณะ สื่อที่เป็นผู้กำหนดวาระนี้มักไม่สนใจผู้อ่านของตนเองว่า คิดอย่างไร? แต่สนใจว่าสปอนเซอร์ที่อุดหนุนคิดอย่างไร? ซึ่งแน่นอนว่า สปอนเซอร์รายใหญ่มักเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ด้วย ในกรณีหนังสือพิมพ์ผู้จัดการผู้อ่านคือชุมชนธุรกิจ ชนชั้นนำ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นพวกชนชั้นการเมือง (political class)

(8) วาทกรรมในที่นี้ไม่ใช่ในความหมายที่เป็นวาทะโวหาร แต่ผู้เขียนหมายถึง ระบบและกระบวนการในการสร้าง ผลิต เอกลักษณ์ และความหมาย ทำนองเดียวกันกับที่มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในวงวิชาการ เช่นในงาน ของ ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. วาทกรรมการพัฒนา (กรุงเทพฯ: วิภาษา, 2543) หรือ ของ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475 (กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์) 2533 ซึ่งขอหยิบขอยืมแนวการอธิบายนี้มาจาก Michel Foucault นักปรัชญาฝรั่งเศส

(9) เกษียร เตชะพีระ (แปล) คู่มือศึกษา การก่อการร้ายแบบไม่งี่เง่า จาก Jonathan Baker.
The No-nonsense Guide to Terrorism (กรุงเทพฯ: คบไฟ, 2548) หน้า 49

(10) ในแง่นี้ สื่อมวลของสนธิได้ เปลี่ยนฐานะจากผู้เสนอข่าวสารข้อมูลชนิดธรรมดา ไปเป็น กลจักรสำคัญในการโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda machine) รับใช้การเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย และปัญหานี้ท้าทายปราชญ์ทางด้านสื่อสารมวลชนอย่างมาก แต่โชคร้ายกระทั่งถึงเวลาที่เขียนบทความนี้ยังไม่มีปัญญาชนในสาขานี้คนใด กล้าหาญพอจะให้คำอธิบายนอกจากเขียนบทความสอพลอกันไปแบบเชื่องๆ

(11) บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา ฐานันดรที่สี่ จากระบบโลกถึงรัฐไทย (กรุงเทพฯ:คบไฟ, 2537) หน้า 258
(12) สนธิ ลิ้มทองกุล ต้องแพ้เสียก่อนจึงจะชนะได้. (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ผู้จัดการ, 2544) หน้า 24
(13) สนธิ ลิ้มทองกุล Positioning Magazine (ธันวาคม 2548)

(14) นครินทน์ เมฆไตรรัตน์ ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475. (กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์, 2533) หน้า 55 ได้จัดให้ชัยอนันต์เป็นปัญญาชนคนสำคัญที่นำเสนอว่า ระบอบประชาธิปไตยไทยนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วก่อนการปกครอง 2475 และรัชกาลที่ 7 ได้เตรียมการ "พระราชทาน" มาให้แล้ว

(15) ธงชัย วินิจจะกูล "วาทกรรมพระราชอำนาจหรือประชาธิปไตยแบบคิดส้น" ฟ้าเดียวกัน (ตุลาคม-ธันวาคม 2548) หน้า 165-167
(16) ชัยอนันต์ สมุทวณิช "ของจริงหรือของปลอม" ผู้จัดการรายวัน, 24 เมษายน 2549, หน้า 12
(17) ผู้จัดการรายวัน, 6 มีนาคม 2549
(18) ปราโมทย์ นาครทรรพ "จดหมายถึงอดีตนายกรัฐมนตรีเรื่อง อย่าบิดเบือนประชาธิปไตย" ผู้จัดการรายวัน, 6 มีนาคม 2549, หน้า 13

(19) ประจักษ์ ก้องกีรติ. และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ...(กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548) อธิบายว่า วาทกรรมชนิดนี้เป็นวาทกรรมหลักที่ครอบงำการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในช่วงนั้น แม้ว่าจะปรากฎว่ามีวาทกรรมชนิดอื่นๆ เช่น วาทกรรมของฝ่ายซ้ายในแนวสังคมนิยมปรากฏอยู่ด้วยแต่ก็ไม่ได้เป็นธงนำ

(20) นิธิ เอียวศรีวงศ์. ชาติไทย,เมืองไทยแบบเรียนและอนุสาวรีย์: ว่าด้วยวัฒนธรรม,รัฐและรูปการจิตสำนึก (กรุงเทพฯ: มติชน, 2538)

(21) ความจริงก่อนหน้าที่จะมีการชุมนุมเดี่ยวของสนธิ มีความพยายามจากกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนให้การสนับสนุนและติดต่อขอเข้าร่วม เช่น คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และพันธมิตร11 เครือข่าย ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2549 สนับสนุนการเคลื่อนไหว ผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชนบางคนได้ประชุมร่วมกับสนธิก่อนการชุมนุมใหญ่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ เครียมตัวว่าจะขึ้นเวทีกันด้วย แต่กระทั่งรุ่งสางของการชุมนุมสนธิไม่เรียกใครขึ้นเวที โปรดดู Pravit Rojanaphruk "Sondhi enjoying the limelight" The Nation, February 6, 2006. p.2 อธิบายความรู้สึกผิดหวังของผู้นำองค์กรเอกชน

(22) The Nation, February 7, 2006 p.1
(23) The Nation, February 12, 2006 p.1
(24) The Nation, March 6, 2006 p. 1

(25) ปัญหาเรื่องขบวนการแรงงานเป็นเรื่องทีต้องอภิปรายยืดยาว ผู้นำแรงงานต่างๆ แม้จะอยู่ในขบวนการแรงงานมานาน แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการนำพาคนเคลื่อนไหว อย่าว่าแต่ปัญหาเรื่องไล่รัฐบาล ซึ่งอำนวยประโยชน์โดยตรงไม่ชัดเจน แม้แต่การเคลื่อไหวเรื่องค่าแรงยังหาคนร่วมไม่ได้มากนัก

(26) ผู้เขียนขอใช้คำว่า ม๊อบตามแบบสมัยนิยมของวงการสื่อมวลชนไทย ไม่ใช่หมายความว่าฝูงชนที่บ้าคลั่งตามความหมายของฝรั่ง

(27) คำว่ายุทธศาสตร์ ผู้เขียนเลือกใช้ตามแบบของสงครามในหมายทำนองเดียวกับ เคลาส์ เซวิทส์ ซึ่งให้ความหมายยุทธศาสตร์ว่า เป็นศิลปในการยุทธเป็นเครื่องมือให้บรรลุวัตถุประสงค์ ตามที่มีการศึกษากันในวงการทหาร เช่น ใน พจน์ พงศ์สุวรรณ, พลตรี หลักยุทธศาสตร์ (กรุงเทพฯ : โอเอส พรินติ้ง เฮาส์, 2536)

(28) ผู้จัดการรายวัน 10 มีนาคม 2549 หน้า 1

(29) สุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย เคยเสนอแนวทางการต่อสู้ของประชาชนในแนวทาง เข้าถึงอำนาจ เช่นว่านั้นใน บุญแทน ตันสุเทพวีระวงศ์ (บรรณาธิการ) ความทรงจำเดือนพฤษภา กับอนาคตการเมืองภาคประชาชน (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการจัดงานทศวรรษพฤษภาประชาธรรม, 2545) ในนั้นไม่มีความตอนไหนเลยที่แสดงว่า ประชาธิปไตยต้องมาด้วยแนวทางพระราชทาน ตรงกันข้ามเขาเชื่อมั่นว่า ประชาชนมีพลังและสามารถเข้าถึงอำนาจได้เอง

(30) ไทยโพสต์ 30 เมษายน 2549, พิภพ ธงชัย ให้สัมภาษณ์เป็นครั้งแรกหลังมีพระราชดำรัส แต่ดูเหมือนว่าพิภพ สับสนระหว่าง ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี และเป้าหมาย เขาอธิบายไม่ชัดเจนว่า ยุทธศาสตร์ใหญ่ของพันธมิตรคืออะไร การขอใช้มาตรา 7 เป็นยุทธวิธีสนับสนุนยุทธศาสตร์อะไร และเพื่อเป้าหมายใด ดูเหมือนสิ่งที่พันธมิตรฯ เคลื่อนไหวที่ผ่านมา นั้นมีเป้าหมายเพื่อโค่นล้มทักษิณ ส่วนยุทธศาสตร์และยุทธวิธีนั้นใช้อะไรก็ได้

(31) ประภาส ปิ่นตบแต่ง. การเมืองบนท้องถนน: 99 วันสมัชชาคนจน และประวัติศาสตร์การเดินขบวนชุมนุมประท้วงในสังคมไทย (กรุงเทพฯ: โครงการหนังสือเล่ม อันดับที่ 14 ศูนย์วิจัยและผลิตตำรา, มหาวิทยาเกริก, 2541)

(32) บันทึกคำอภิปรายของสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ "เรื่องสู่อนาคตการเมืองภาคประชาชน" ใน บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ (บรรณาธิการ). ความทรงจำเดือนพฤษภา กับอนาคตการเมืองภาคประชาชน (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการจัดงานทศวรรษพฤษภาประชาธรรม, 2545) หน้า 264-265

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

มวลชนของพันธมิตรฯ ส่วนใหญ่ คือ แฟนรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ของสนธิ ซึ่งเป็นชนชั้นกลางในเมือง รวมกับคนทำงานให้กับองค์กรแรงงานของสมศักดิ์ สมาชิกกองทัพธรรมของจำลอง และเครือข่ายของกลุ่ม NGOs อีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่มากนัก คนที่เข้าร่วมการชุมนุมและเดินขบวนด้วยในแต่ละครั้ง เป็นคนที่ติดตามการเคลื่อนไหวของสนธิมาก่อน และคนในเมืองที่รับฟังทัศนะทางการเมืองของพันธมิตรจากสื่อมวลชน ข้าวกล่องจากร้านมีชื่อ, กาแฟควันฉุยหอมกรุ่นจากหลังเวทีพันธมิตร, ประสานกับเสียงเพลงแจ๊สจากบราวน์ชูการ์บนเวทีอภิปราย

27-02-2550

Thai Politics
The Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com