โลกาภิวัตน์
จักรภพทางเศรษฐกิจ และการคอร์รัปชั่น
การสถาปนาอภิจักรภพทางเศรษฐกิจ
: ศูนย์กลางของการคอร์รัปชั่น ่
ภัควดี
วีระภาสพงษ์ : แปล
นักวิชาการและนักแปลอิสระ
บทความวิชาการชิ้นนี้
เรียบเรียงจากงานเขียนของ
James Petras. "Economic
Empire Building: The Centrality of Corruption,"
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการส่งเสริมการคอร์รัปชั่นในประเทศชายขอบทั้งหลาย
โดยทุนนิยมตะวันตกที่เข้าไปลงทุน จนเรียกได้ว่า
การคอร์รัปชั่นเป็นน้ำมันหล่อลื่นกลไกทางเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่เลยทีเดียว
ภายใต้หน้ากากของคำที่สวยหรูว่าโลกาภิวัตน์ ของบรรษัทข้ามชาติต่างๆ
ผลก็คือ ทรัพย์ที่ควรเป็นประโยชน์ของสาธารณะได้ถูกดูดดึงไปเป็นของเอกชนจำนวนน้อยราย
midnightuniv(at)gmail.com
บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้
ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๖๑
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่
๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
๙ หน้ากระดาษ A4)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
การสถาปนาอภิจักรภพทางเศรษฐกิจ
: ศูนย์กลางของการคอร์รัปชั่น
เจมส์ เพทราส - เขียน / ภัควดี วีระภาสพงษ์ - แปล
James Petras, "Economic Empire Building: The Centrality
of Corruption,"
www.dissidentvoice.org, November 24, 2006
ความนำ
การสถาปนาอภิจักรภพทางเศรษฐกิจเป็นพลังขับดันระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ และกลายเป็นเป้าหมายสำคัญตลอดห้าปีที่ผ่านมา
ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ไม่เคยมีครั้งไหนอีกแล้วเหมือนในยุคปัจจุบัน
ที่ธนาคารใหญ่ๆ, บรรษัทน้ำมัน, ผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรม, บริษัทด้านการลงทุน,
กองทุนบำเหน็จบำนาญและกองทุนรวม ทั้งหมดล้วนพึ่งพิงการขูดรีดประเทศและประชาชาติโพ้นทะเล
เพื่อรักษาผลกำไรในอัตราสูงลิบเอาไว้ กำไรของธนาคารและบรรษัทส่วนใหญ่ที่พอกพูนขึ้นด้วยการปล้นความมั่งคั่งจากต่างแดนมีสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อการสถาปนาอภิจักรภพทางเศรษฐกิจ มีความสำคัญต่อความเติบโตของระบบเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐอเมริกา การแข่งขันกับยุโรปและเอเชียเพื่อแย่งชิงผลตอบแทนจากการลงทุน และทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่ได้กำไรงามก็ยิ่งดุเดือดมากขึ้น เนื่องจากการแข่งขันที่เข้มข้นและความสำคัญอย่างยิ่งยวดของกำไรจากต่างแดน การสร้างการคอร์รัปชั่นของบรรษัทจึงกลายเป็นปัจจัยชี้ขาดว่า ประเทศศูนย์กลางจักรวรรดิประเทศไหน บรรษัทข้ามชาติหรือธนาคารใด จะเป็นผู้มีชัยในการคว้าเอากิจการ, ทรัพยากรหรือฐานทางการเงินที่ทำกำไรงามมาไว้ในครอบครอง
เมื่อการสร้างการคอร์รัปชั่นกลายเป็นศูนย์กลางในการขยายจักรวรรดิ รวมทั้งการรักษาสถานะอันมีอภิสิทธิ์ในตลาดโลก มันก็ยิ่งชี้ให้เห็นความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของภาคการเมือง โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับรัฐต่างๆ ในการจัดระเบียบโลกใหม่ของจักรภพ สิ่งที่เรียกกันว่า "โลกาภิวัตน์" เป็นแค่คำเก๋ๆ ที่เน้นให้เห็นความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของการที่จักรวรรดิต่างๆ แข่งขันชิงดีกันเพื่อแบ่งเขตอิทธิพลในโลกเสียใหม่ ส่วนผู้ปกครองฉ้อฉลในประเทศโพ้นทะเลทั้งหลาย คือกุญแจที่ไขสู่ช่องทางอภิสิทธิ์ในการเข้าไปครอบครองทรัพยากร, ตลาด และกิจการต่างๆ
ศูนย์กลางของการสถาปนาอภิจักรภพทางเศรษฐกิจ
ทุกวันนี้ ไม่ว่าคุณหันมองไปทางไหน คุณก็จะเห็นว่า ในรายงานประจำปีของบรรษัทและสถาบันการเงิน
ล้วนแล้วแต่เน้นความจำเป็นอย่างยิ่งยวดของยุทธศาสตร์การขยายกิจการในต่างแดน เพื่อรักษาอัตรากำไรเอาไว้.
ซิตีคอร์ป (Citicorp) สถาบันการธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกาศโครงการขยายกิจการครั้งใหญ่ในต่างแดนเพื่อเพิ่มกำไรถึง
75% "นักลงทุนทั้งสถาบันและรายย่อยของสหรัฐอเมริกาต่างมุ่งหน้าไปตลาดนอกประเทศ
(offshore) เพื่อแสวงหากำไรที่สูงกว่า" คือข้อสรุปที่เขียนไว้ใน ไฟแนนเชียลไทมส์
(Financial Times, October 11, 2006, p.24)
ในช่วงปีที่แล้ว ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 2006 จากเงินจำนวน 124 พันล้านดอลลาร์ที่ไหลเข้าสู่กองทุนรวมหุ้นสามัญในสหรัฐฯ ทั้งหมด มีถึง 110 พันล้านดอลลาร์ที่ไหลไปที่กองทุนต่างๆ ที่ลงทุนในบริษัทต่างประเทศ เพียงแค่ในช่วงแปดเดือนแรกของ ค.ศ. 2006, 87% ของเงินทุนที่ซื้อขายหุ้นทั้งหมดไหลออกไปในตลาดนอกประเทศ
แรงผลักดันที่จะแสวงหากำไรในต่างแดนไม่ใช่แนวโน้มระยะสั้น แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว มันจะยืดเยื้อต่อไปอีกนาน ทั้งนี้เพราะอัตราผลตอบแทนในต่างประเทศที่สูงกว่า รวมทั้งความเชื่อว่า เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงอีก เนื่องจากการขาดดุลการค้าและดุลการคลังในระดับสูงของสหรัฐอเมริกา บรรษัทน้ำมันและบรรษัทพลังงานรายงานผลกำไรที่สูงเป็นประวัติการณ์ เอ็กซอนโมบิล (Exxon Mobil) ทำกำไรใน ค.ศ. 2006 เพิ่มมากกว่าปีก่อนหน้านั้นถึง 26% ส่วนใหญ่ได้มาจากการกอบโกยรายได้ในต่างประเทศ
ไอบีเอ็มย้ายฐานการวิจัยและออกแบบส่วนใหญ่จากนิวยอร์กไปตั้งที่ประเทศจีน ทว่ายังรักษาอำนาจควบคุมทางการเงินและการตัดสินใจทางยุทธศาสตร์ไว้ในสหรัฐอเมริกา สินค้าส่งออกของจีนกว่า 60% เป็นการผลิตหรือรับสัญญาเหมาช่วงมาจากผู้ผลิตของสหรัฐฯ กำไรในต่างแดนของฟอร์ดและจีเอ็ม โดยเฉพาะในละตินอเมริกาและเอเชีย ช่วยชดเชยการขาดทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในสหรัฐฯ ได้บ้าง
ชัยชนะของรัฐจักรวรรดินิยมสหรัฐฯ ในสงครามเย็น ตามมาด้วยการก้าวขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลที่เป็นลูกไล่ของสหรัฐฯ ทั้งในอดีตสหภาพโซเวียต, ยุโรปตะวันออก, ประเทศแถบทะเลบอลติกและคาบสมุทรบอลข่าน รวมทั้งการที่ประเทศจีนและอินโดจีนหันเหมาสู่ระบบทุนนิยม ทำให้กำลังแรงงานในระบบเศรษฐกิจของโลกทุนนิยมทวีคูณขึ้น จาก 1.5 พันล้านเป็น 3 พันล้านคน การขยายตัวของกำลังแรงงานสำรองในหลักพันล้านที่เกิดจากเกษตรกรที่พลัดถิ่นฐานและแรงงานในโรงงาน นำไปสู่การตกต่ำลงของอัตราส่วนทุนต่อแรงงานถึง 40% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน
การขยายตัวอย่างมหาศาลของกำลังแรงงานในโลก
(โดยเฉพาะในประเทศอดีตคอมมิวนิสต์) ถูกบรรษัทข้ามชาติเข้ามาฉวยโอกาสขูดรีดอย่างเต็มที่
ทั้งในการเพิ่มพูนกำไรจากต่างประเทศและจากแรงงานอพยพในตลาดภายในประเทศมหาอำนาจ.
อดัม สมิธ เคยตั้งสมมติฐานไว้ว่า แรงงานส่วนเกินในประเทศทุนนิยมเกิดใหม่ที่ยากจนจะถูกดูดออกไป
และการช่วงชิงแรงงานจะช่วยผลักดันมาตรฐานการครองชีพให้ดีขึ้น
แต่แนวโน้มที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น ใน "ประเทศเกิดใหม่" ค่าจ้างที่เป็นตัวเงินจะเพิ่มมากขึ้น
ในขณะที่ค่าจ้างที่เป็นสวัสดิการสังคมตกต่ำลง ส่วนในประเทศที่เป็นศูนย์กลางจักรวรรดิ
ทั้งค่าจ้างที่เป็นตัวเงินและเป็นสวัสดิการสังคมจะตกต่ำลงทั้งคู่. เมื่องานอาชีพจำนวนมาก
(แม้แต่ที่ใช้ทักษะสูง) ต้องตกอยู่ภายใต้การแข่งขันระดับโลกตลอดเวลา แม้กระทั่งแรงงานที่ได้รับค่าจ้างสูงก็ยังต้องเผชิญกับมาตรฐานการครองชีพที่ตกต่ำลง
ข้อเท็จจริงที่มีนัยสำคัญเกี่ยวกับการไหลของเงินทุนสหรัฐฯ ออกนอกประเทศก็คือ
การไหลออกนี้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่เศรษฐกิจภายในสหรัฐฯ "ดีดตัวขึ้น" แล้วก็ตาม
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ตลาดหุ้นและเศรษฐกิจภายในที่กระเตื้องขึ้นของสหรัฐฯ ก็ยังไม่สามารถสกัดกั้นการขยายตัวเพื่อแสวงหากำไรในต่างแดนของอภิจักรภพอเมริกันให้ย้อนกลับมาได้
เป้าหมายใหม่ที่สำคัญของบรรษัทข้ามชาติ, ธนาคาร, กองทุนบำเหน็จบำนาญและนักลงทุนสถาบันทั้งหลาย คือประเทศในกลุ่ม "BRIC" กล่าวคือ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย และจีน
- รัสเซียเป็นที่นิยมเพราะมีขุมน้ำมันและก๊าซจำนวนมาก มีตลาดด้านการขนส่งและสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนให้ผลกำไรในอัตราสูง
- บราซิลเป็นสวรรค์ของนักลงทุนตรงที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงติดอันดับโลก มีทรัพยากรวัตถุดิบและต้นทุนค่าแรงต่ำในการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์
- จีนดึงดูดนักลงทุนมาสู่ภาคการผลิตและตลาดผู้บริโภคได้ เพราะต้นทุนค่าแรงที่ต่ำติดดิน จีนยังเป็นฐานการประกอบชิ้นส่วน และศูนย์ดำเนินการที่เป็นตัวกลางระหว่างสินค้าส่งออกจากประเทศแถบเอเชียอื่นๆ ก่อนที่จะส่งออก (ผ่านบรรษัทข้ามชาติของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป) ไปสู่ประเทศตะวันตก
- ส่วนอินเดียดึงดูดเงินทุนด้วยการเป็นศูนย์กลางที่มีต้นทุนต่ำในการรับจ้าง, การบริการและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
สิ่งที่น่าสะดุดใจเกี่ยวกับประเทศกลุ่ม "BRIC" และการที่ประเทศเหล่านี้เป็นที่พิสมัยของบรรษัทข้ามชาติสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คืออันดับที่แย่มากในด้านการคอร์รัปชั่น มีสหสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่าง "ความน่าพิสมัย" ของกลุ่มประเทศ "BRIC" กับความง่ายดายในการทำธุรกิจและช่องทางการเข้าไปมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำกำไรงามหลังจากซื้อตัวผู้นำทางการเมืองได้แล้ว
การสถาปนาอภิจักรภพเดี๋ยวนี้ ไปไกลกว่าการช่วงชิงทรัพยากรวัตถุดิบและการขูดรีดแรงงานราคาถูกแบบเดิมๆ นักสถาปนาอภิจักรภพกำลังรุกเข้าไปในภาคส่วนใหม่ที่ทำกำไรอย่างยิ่ง นั่นคือ การเงิน, การประกันภัยและอสังหาริมทรัพย์ (Finance, Insurance, Real Estate - FIRE) การลงทุนที่ร้อนแรงที่สุดในจีนและรัสเซียคืออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งราคาเพิ่มขึ้นถึง 40% ต่อปีในย่านมหานครที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด ภาคการเงินและการประกันภัยในจีน การธนาคารและการเงินในบราซิล มีผลตอบแทนหลายพันล้านดอลลาร์ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ธนาคารและบรรษัทข้ามชาติสหรัฐฯ ทำสัญญาเหมาช่วงในด้านไอทีและบริการมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์กับกลุ่มนักธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่เพิ่งเกิดใหม่ของอินเดีย ซึ่งคนเหล่านี้จะไปปล่อยสัญญาเหมาช่วงให้นายจ้างในท้องถิ่นอีกทีหนึ่ง
ทุกวันนี้ กว่า 50% ของบรรษัทข้ามชาติ 500 บรรษัทแรกของสหรัฐฯ มีกำไรเกินกว่าครึ่งจากการทำธุรกรรมในต่างแดน มีบรรษัทกลุ่มน้อยอีกจำนวนหนึ่งมีกำไรเกินกว่า 75% ที่ได้มาจากอาณาจักรธุรกิจในต่างประเทศ แนวโน้มนี้จะยิ่งเด่นชัดมากขึ้น เมื่อบรรษัทข้ามชาติย้ายฐานการดำเนินงานเกือบทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งการผลิต, การออกแบบและการบริหาร ไปไว้ในต่างประเทศ บรรษัทเหล่านี้จะจ้างคนงานทั้งที่มีทักษะต่ำและสูง เพื่อความได้เปรียบในการแข่งขันและการกอบโกยกำไรในอัตราสูง
ศูนย์กลางของการคอร์รัปชั่น
ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ตลาดเสรีเคร่งคัมภีร์ทั้งหลาย พร่ำรำพันถึงบทบาทของนวัตกรรมใหม่ๆ,
ความสามารถในการบริหาร, ความเป็นผู้นำและการจัดองค์กร โดยเทศนาว่าองค์ประกอบเหล่านี้จะนำมาซึ่งความได้เปรียบในการแข่งขันและเพิ่มอัตราผลกำไร
("กลไกตลาด") ในโลกความเป็นจริง ปัจจัยทั้งหมดข้างต้นมักมีความสำคัญเป็นรองปัจจัย
ทางการเมือง กล่าวคือ การสร้างการคอร์รัปชั่นสารพัดรูปแบบเพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ
จากผลการสำรวจที่ครอบคลุม 350 บรรษัทใน 6 ประเทศ ซึ่งตีพิมพ์ออกมาโดยบริษัทด้านกฎหมายชื่อ Control Risks and Simmons and Simmons ระบุว่า "บริษัทระหว่างประเทศถึง 1 ใน 3 คิดว่า ตนไม่ได้ชัยชนะในธุรกิจใหม่ๆ ตลอดปีที่ผ่านมา เพราะบริษัทคู่แข่งใช้วิธีติดสินบน" (Financial Times, October 9, 2006, p.15) ยิ่งกว่านั้น บรรษัทข้ามชาติและธนาคารส่วนใหญ่มีส่วนพัวพัน ในการดำเนินการอย่างฉ้อฉลผ่านทางนายหน้าคนกลาง ถ้าเรารวมการสร้างการคอร์รัปชั่นโดยบรรษัททั้งในรูปแบบทางตรงและทางอ้อมเข้าด้วยกัน ผลปรากฏว่าในบางประเทศ มีถึง 9 ใน 10 บรรษัทที่พัวพันกับการสร้างการคอร์รัปชั่น จากข้อมูลของการสำรวจข้างต้น "บริษัทประมาณ 3 ใน 4 รวมทั้ง 94% ในเยอรมนี และ 90% ในอังกฤษคิดว่า บริษัทจากประเทศของตนใช้นายหน้าคนกลางเพื่อหลบเลี่ยงกฎหมายต่อต้านการคอร์รัปชั่น" (Financial Times, October 9, 2006, p.15)
อำนาจในตลาดนั้นต้องอาศัยความสัมพันธ์ทางการเมืองกับรัฐ ผ่านทางเครือข่ายอันซับซ้อนของ "นายหน้าคนกลาง" ซึ่งต้องการสินบนที่เป็นเงินหรือสิ่งอื่นๆ แลกกับการได้สัมปทานที่ทำกำไรสูง บรรษัทข้ามชาติเป็นหน่วยพื้นฐานในการค้าและการลงทุนของระบบเศรษฐกิจโลก การหล่อลื่นกงล้อของการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจด้วยการให้สินบนทางการเมือง เท่ากับบรรษัทเหล่านี้ทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับคำเทศนาเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ของบรรดานักเศรษฐศาสตร์เคร่งคัมภีร์อย่างน่าเยาะหยัน
การคอร์รัปชั่นทางการเมืองต่างหาก หาใช่ความมีประสิทธิภาพในเชิงเศรษฐกิจไม่ ที่เป็นแรงขับดันหลักของการสถาปนาอภิจักรภพทางเศรษฐกิจ ความสำเร็จนั้นเห็นได้ชัดจากการถ่ายโอนความมั่งคั่ง, กิจการและทรัพยากรจำนวนมหาศาล --เป็นมูลค่านับล้านล้านดอลลาร์-- จากภาครัฐมาอยู่ในกำมือของบรรษัทข้ามชาติสหรัฐฯ/สหภาพยุโรป ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในรัสเซีย, ยุโรปตะวันออก, คาบสมุทรบอลข่าน, ประเทศแถบทะเลบอลติกและแถบเทือกเขาคอเคซัส นับตั้งแต่การล่มสลายของค่ายคอมมิวนิสต์เป็นต้นมา
ขนาดและขอบเขตของการปล้นชิงปอกลอกที่ตะวันตกกระทำต่อตะวันออกในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์โลกระยะหลัง ในสมัยที่มีชัยชนะต่อยุโรป สตาลินหรือฮิตเลอร์ไม่เคยยึดครองและแสวงหากำไรจากกิจการมากมายหลากหลาย เหมือนที่บรรษัทข้ามชาติตะวันตกกอบโกยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นคือ การปล้นชิงนี้หนุนนำให้เกิดรัฐบาลนายทุนขุนโจรที่ "สนับสนุนตะวันตก" และ "ตลาดเสรี" ฝังลึกลงในระบบการเมือง
รัฐบาลจำพวกนี้สร้างกรอบทางกฎหมายที่เอื้ออำนวยอัตราผลตอบแทนสูงๆ ยกตัวอย่างเช่น การออกกฎหมายลดระดับค่าจ้าง ตัดทอนบำเหน็จบำนาญ ทำลายความมั่นคงในการทำงาน ยกเลิกข้อบังคับเกี่ยวกับความปลอดภัยในสถานประกอบการและสาธารณสุข นโยบายการใช้ที่ดินในประเทศอดีตคอมมิวนิสต์มีการวางกรอบเสียใหม่ให้เกิดผลกำไรสูงสุด เพื่อ "ดึงดูด" บรรษัทข้ามชาติจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป การปล้นชิงปอกลอกและการคอร์รัปชั่นทางการเมืองก่อให้เกิดมวลชนแรงงานที่มีรายได้ต่ำ ไม่มั่นคง ทำงานไม่เต็มเวลาหรือได้ค่าจ้างไม่เต็มที่ หรือไม่ก็ตกงาน ซึ่งต้องจำใจยอมให้บรรษัทข้ามชาติสหรัฐฯ และหุ้นส่วน หรือนักลงทุนสถาบันข้ามชาติที่มองเห็นแต่ผลตอบแทนสูงๆ ขูดรีดเอาตามอำเภอใจ
การสร้างการคอร์รัปชั่นมีมากเป็นพิเศษในหลายภาคส่วนของการดำเนินการในต่างประเทศของบรรษัทข้ามชาติ การค้าอาวุธ ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปี เต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น โดยที่บรรษัทอุตสาหกรรมกองทัพติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐให้ซื้ออาวุธจากสหรัฐอเมริกา การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพส่วนใหญ่ไม่มีประโยชน์ในด้านการป้องกันประเทศจริงๆ มิหนำซ้ำยังเบียดบังเงินทุนในคลังของประเทศที่มีน้อยอยู่แล้ว ในขณะที่ไปช่วยเพิ่มพูนผลกำไรให้อุตสาหกรรมอาวุธและนักลงทุนสถาบันที่พัวพันในการลงทุนข้ามชาติ
บรรษัทน้ำมันและพลังงานรักษาสิทธิ์ในการขูดรีดไว้ด้วยการคอร์รัปชั่นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเจ้าหน้าที่รัฐยกกระทรวงในรัสเซีย, ไนจีเรีย, แองโกลา, โบลิเวีย และเวเนซุเอลาในช่วงทศวรรษ 1990
การรักษาที่มั่นในภาคเศรษฐกิจใดๆ ของประเทศจีนเพื่อขูดรีดแรงงานราคาถูก ทำให้บรรษัทข้ามชาติต้องจ่ายสินบนแก่ข้าราชการที่มีมากจนเหมือนกองทัพน้อยๆ แต่ระบอบของประเทศจีนก็ชดเชยให้ค่าใช้จ่ายนี้ด้วยการบีบบังคับแรงงานราคาถูก กดขี่ปราบปรามความไม่พอใจของแรงงานและก่อตั้ง "สหภาพแรงงาน" ที่สนับสนุนต่อธุรกิจและอยู่ในความควบคุมของรัฐขึ้นมาแทน
การติดสินบนของบรรษัทข้ามชาติมีสารพัดรูปแบบ ตั้งแต่จ่ายเงินโดยตรงแก่เจ้าพนักงานการเมือง ให้ตำแหน่งในกิจการแก่ข้าราชการ, สมาชิกในครอบครัว, เพื่อนฝูง และ/หรือ พวกพ้อง หรือจ่ายให้ด้วยการไปเที่ยว, การเป็นหุ้นส่วน, การเชิญไปมหาวิทยาลัยดังๆ และทุนการศึกษาแก่ลูกๆ ฯลฯ ประเด็นสำคัญคือการติดสินบนเป็นวิธีการที่ได้ผลสำหรับบรรษัทข้ามชาติ ไม่อย่างนั้นคงไม่มีการใช้กันอย่างกว้างขวางและซ้ำซากเช่นนี้
นอกจากนี้ การสร้างการคอร์รัปชั่นของบรรษัทข้ามชาติยังมักสร้างผลร้ายแก่ประเทศ "เจ้าบ้าน" เพราะมันลดทอนความชอบธรรมและความไว้วางใจของระบอบการปกครองในสายตาประชาชน ถ่ายโอนความมั่งคั่งที่ควรเป็นสาธารณประโยชน์ของชาติไปเป็นกำไรของเอกชนต่างชาติ ทำให้การถ่วงดุลในด้านนโยบายของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอ่อนแอลงและเพิ่มอำนาจการตัดสินใจให้แก่บรรษัทข้ามชาติ ถ่ายโอนทรัพยากรที่มีค่าไปไว้ในกำมือของเอกชนต่างประเทศ ทำให้ความไม่เท่าเทียมของชนชั้นภายในประเทศถ่างกว้างและตอกลึกลงกว่าเดิม อีกทั้งยังบ่อนทำลาย "ธรรมาภิบาล" ในประการสุดท้าย มันยังสร้าง "วัฒนธรรม" ของการคอร์รัปชั่นขึ้นมา. แทนที่ทรัพยากรของส่วนรวมจะใช้ไปเพื่อบริการสังคมและการลงทุนที่งอกเงย มันกลับถูกดูดไปเป็นความมั่งคั่งส่วนบุคคล
การสร้างการคอร์รัปชั่นของบรรษัทข้ามชาติที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ย่อมไม่มีทางเกิดขึ้นได้หากปราศจากการเห็นดีเห็นงามของรัฐจักรวรรดินิยม แม้จะมีกฎหมายต่อต้านการคอร์รัปชั่น แต่การสร้างการคอร์รัปชั่นก็แพร่ระบาดไปทั่ว และกลายเป็นบรรทัดฐานในการเติบโตของบรรษัทข้ามชาติ และจักรวรรดิที่แข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน. นับวันบรรดาบรรษัทชั้นนำทั้งหลายจะเห็นว่าการคอร์รัปชั่นเป็นน้ำมันที่หล่อลื่นให้กงล้อของ "โลกาภิวัตน์" หมุนคล่อง
หากการผนวกอดีตประเทศคอมมิวนิสต์เข้ามาอยู่ในระบบทุนนิยมโลก เท่ากับเปิดช่องทางใหม่ให้จักรวรรดินิยมได้แบ่งสันปันส่วนโลกกันอีกครั้ง และการปล้นชิงปอกลอกอดีตประเทศคอมมิวนิสต์เท่ากับเปิดขุมทรัพย์ใหม่ให้แก่การสะสมทุน ถ้าเช่นนั้น การคอร์รัปชั่นที่แพร่ระบาดและฝังลึกได้กลายเป็นกลไกที่ทุนคู่แข่งทั้งหลายใช้ในการแย่งชิงอำนาจครอบงำโลก เราจึงไม่ควรมองแคบๆ ว่า การสถาปนาอภิจักรภพทางเศรษฐกิจเป็นแค่การทำงานของ "กลไกตลาด" เพราะการคอร์รัปชั่นทางการเมืองเป็น เงื่อนไขเบื้องต้น ที่ทำให้เกิดธุรกรรมในตลาด ซึ่ง เกิดขึ้นพร้อมกับ อิทธิพลทางการเมือง และ ผลพวงที่ตามมา คือการจัดระเบียบอำนาจทางการเมืองเสียใหม่
บทสรุป
ใครก็ตามที่พูดถึงระบบเศรษฐกิจโลกในวันนี้ ย่อมต้องเอ่ยถึงแง่มุมที่เด่นชัดที่สุดของความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
นั่นคือ การขยายตัวของการสถาปนาอภิจักรภพทางเศรษฐกิจ เครือข่ายอันใหญ่โตของบรรษัทข้ามชาติซึ่งกางออกเป็นตาตาข่ายครอบคลุมไปทั่วโลก
ผนึกเป็นวงล้อมทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยมีผู้นำทางการเมืองที่ฉ้อฉลเป็นรากฐานของอภิจักรภพทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน
กระบวนการสถาปนาอภิจักรภพนี้ เริ่มต้นด้วยการแปรรูปสมบัติสาธารณะ, ทรัพยากร, ธนาคารและกิจการด้านการผลิต ให้ตกเป็นของเอกชน ต่อเนื่องด้วยการเปิดเสรีตลาดการเงิน โดยอาศัยนักการเมืองบริวารว่าง่ายที่มาจากการเลือกตั้ง (และได้รับการเลือกตั้งซ้ำๆ ซากๆ) คอยสร้างความชอบธรรมให้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือการก่อเกิดแรงงานสำรองราคาถูกจำนวนมหาศาล รวมทั้งการล้มล้างกฎหมายคุ้มครองด้านสังคมและแรงงาน กระบวนการทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนการคอร์รัปชั่นทางการเมืองในทุกระดับ ในทุกประเทศ รวมทั้งในประเทศจักรวรรดินิยมเองด้วย
ท่ามกลางการเมืองแบบเลือกตั้ง, โวหารต่อต้านคอร์รัปชั่น, การพร่ำเทศนาถึงธรรมาภิบาลของบรรษัทและความรับผิดชอบ แต่การคอร์รัปชั่นก็แผ่ข้ามพรมแดนและทะลุทะลวงขึ้นลงตลอดทั้งโครงสร้างสังคม กดขี่ประเทศและแรงงานให้ค้อมหัวแก่อภิจักรภพเศรษฐกิจที่กำลังถือกำเนิดขึ้นใหม่
พรรคแรงงานอังกฤษ, พรรคคริสเตียนเดโมแครตของเยอรมนี, พรรคคอมมิวนิสต์จีน, เจ้าหน้าที่ในพรรคแรงงานของบราซิล, พรรครีพับลิกันและเดโมแครตของสหรัฐฯ แม้ว่าโดยเปลือกนอกดูเหมือนมาจากจารีตอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน แต่แท้ที่จริงแล้ว ทั้งหมดต่างพัวพันแนบแน่นอยู่กับบรรษัทข้ามชาติที่กำลังขยายตัวในระยะยาวและในขนาดใหญ่โตโดยอาศัยการคอร์รัปชั่น นักการเมืองเหล่านี้ส่งเสริมให้บรรษัทข้ามชาติรักษาตลาดและความมั่งคั่งไว้ด้วยวิธีการใดก็ได้ที่บรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งรวมถึงการคอร์รัปชั่นอย่างเป็นระบบด้วย
ทั้งๆ ที่มีตลาดแรงงานที่ไม่ยืดหยุ่น ทั้งๆ ที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ, ประสิทธิภาพในการผลิตที่ดีขึ้น, กำไรที่มากขึ้น แต่มาตรฐานการครองชีพของแรงงานในตะวันตกกลับเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ ซึ่งขัดแย้งกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์คลาสสิก สาเหตุส่วนใหญ่สืบเนื่องจากการแทรกแซงทางการเมืองที่ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์อันฉ้อฉลระหว่างทุนบรรษัทกับรัฐ ทั้งในประเทศจักรวรรดินิยมและประเทศโพ้นทะเล อุปทานและอุปสงค์ของแรงงานมีผลกระทบน้อยมากต่อค่าแรง ทั้งนี้เพราะถูกรัฐที่ฉ้อฉลเข้ามาแทรกแซง ด้วยการกดขี่แรงงาน, ดึงผู้นำสหภาพแรงงานเข้ามาเป็นพวก และตั้งเพดานค่าแรงไว้ต่ำเกินกว่าที่ขบวนการแรงงานเสรีจะสามารถรับได้
การส่งเสริมการคอร์รัปชั่นของบรรษัทเป็นส่วนสำคัญในการสถาปนาอภิจักรภพเท่าๆ กับการลงทุนในต่างประเทศ, การควบรวมกิจการและการเจาะตลาด มันไม่ใช่ปัจจัยเดี่ยวที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ เพียงเพราะการขาดจรรยาบรรณของบรรษัท แต่มันเป็นปัจจัยในเชิงระบบที่ฝังลึกอยู่ในเงื่อนไขของการแข่งขันกันอย่างดุเดือดของการสถาปนาอภิจักรภพในปัจจุบัน ยิ่งตลาดถูกดูดกลืนไปมากเท่าไร ยิ่งแหล่งแรงงานล้นเกินลดถอยลง ยิ่งแหล่งพลังงานผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว การแข่งขันกันของจักรวรรดินิยมจะยิ่งรุนแรงและการส่งเสริมคอร์รัปชั่นจะยิ่งหยั่งรากลึก
การปฏิรูปทีละเล็กทีละน้อยไม่สามารถและไม่มีวันทำให้อะไรดีขึ้น อนุสัญญาต่อต้านการติดสินบนของกลุ่มประเทศ OECD มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1999 และไม่ทำให้อะไรเปลี่ยนแปลงไปเลย บรรษัทข้ามชาติกว่าครึ่งอ้างว่า "ไม่เคยรู้ว่าประเทศของตนมีกฎหมายห้ามการคอร์รัปชั่นในต่างแดน" (Financial Times, October 9, 2006, p.15) ส่วนบรรษัทข้ามชาติอีกครึ่งหนึ่ง "หลบเลี่ยงกฎหมายด้วยการใช้สำนักงานและนายหน้าตัวแทน" (ibid). หากจะทำให้สิ่งเหล่านี้ดีขึ้น มีเพียงวิธีเดียวเท่านั้นคือ การล้มคว่ำการสถาปนาอภิจักรภพทางเศรษฐกิจ ยุติการแข่งขันของจักรวรรดินิยมและขัดขวางการแบ่งสันปันส่วนโลกครั้งใหม่นี้เท่านั้น เราจึงจะสามารถวางรากฐานให้แก่โลกที่ปราศจากการคอร์รัปชั่น, การปล้นชิงปอกลอกและการขูดรีดได้
++++++++++++++++++++++++++
ภาคผนวก
เจมส์ เพทราส เคยเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณในภาคสังคมวิทยาของมหาวิทยาลัยบิงแฮมตัน
รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา (ปัจจุบันเกษียณแล้ว) นอกจากนี้ยังเป็นที่ปรึกษาของขบวนการแรงงานไร้ที่ดินและไร้งานทำในบราซิลและอาร์เจนตินา
เขาเขียนหนังสือไว้หลายเล่ม อาทิเช่น
- Social Movements and State Power: Argentina, Brazil, Bolivia, Ecuador, with Henry Veltmeyer (2005)
- Globalization Unmasked: Imperialism in the 21st Century, with Henry Veltmeyer (2001)
- The Dynamics of Social Change in Latin America, with Henry Veltmeyer (2000)
- Empire or Republic: Global Power or Domestic Decay in the US, with Morris Morley (1995),
- Latin America in the Time of Cholera: Electoral Politics, Market Economics, and Permanent Crisis, with Morris Morley (1992)
หนังสือเล่มล่าสุดของเพทราสคือ The Power of Israel in the United States (Clarity Press, 2006) และมีเว็บไซท์อยู่ที่: www.petras.lahaine.org
ไม่นานมานี้เอง ชื่อของ เจมส์ เพทราส กลายเป็นข่าวระหว่างประเทศขึ้นมา ทั้งนี้เพราะกองกำลังจรยุทธ์ที่ใหญ่ที่สุดของโคลอมเบียที่เรียกกันว่า FARC ซึ่งจับสายลับชาวอเมริกัน 3 คนเป็นตัวประกัน ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงบุคคลที่มีชื่อเสียง อาทิเช่น เดนเซล วอชิงตัน, โอลิเวอร์ สโตน, ไมเคิล มัวร์, สาธุคุณเจสซี แจ็คสัน, นอม ชอมสกี รวมทั้ง เจมส์ เพทราส โดยขอร้องคนกลุ่มนี้ช่วยกดดันรัฐบาลอเมริกันให้ยอมเจรจาแลกตัวประกันกับนักโทษอดีตนักรบจรยุทธ์ที่กำลังจะขึ้นศาลในสหรัฐอเมริกา
การแปลบทความชิ้นนี้ได้ขออนุญาตจาก ดร.เจมส์ เพทราส แล้ว ขอขอบคุณ ดร.เพทราสไว้ ณ ที่นี้ด้วย อนึ่ง ดร.เพทราส กล่าวว่า ยินดีอย่างยิ่งหากมีผู้สนใจแปลหนังสือของเขาเป็นภาษาไทย หากสำนักพิมพ์หรือนักแปลท่านใดสนใจ สามารถติดต่อได้ที่ [email protected]
นักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
I สารบัญเนื้อหา
5 I สารบัญเนื้อหา
6
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)gmail.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้
มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก
ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด.
สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ
ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)
การส่งเสริมการคอร์รัปชั่นของบรรษัทเป็นส่วนสำคัญในการสถาปนาอภิจักรภพเท่าๆ กับการลงทุนในต่างประเทศ, การควบรวมกิจการและการเจาะตลาด มันไม่ใช่ปัจจัยเดี่ยวที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ เพียงเพราะการขาดจรรยาบรรณของบรรษัท แต่มันเป็นปัจจัยในเชิงระบบที่ฝังลึกอยู่ในเงื่อนไขของการแข่งขันกันอย่างดุเดือดของการสถาปนาอภิจักรภพในปัจจุบัน ยิ่งตลาดถูกดูดกลืนไปมากเท่าไร ยิ่งแหล่งแรงงานล้นเกินลดถอยลง ยิ่งแหล่งพลังงานผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว การแข่งขันกันของจักรวรรดินิยมจะยิ่งรุนแรงและการส่งเสริมคอร์รัปชั่นจะยิ่งหยั่งรากลึก