โครงการก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา


Update: 04 Febuary 2007
Copyleft2007
-Free Documentation License-
Copyleft : 2007, 2008, 2009
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.
บทความทุกชิ้นที่นำเสนอบนเว็บไซต์นี้เป็นสมบัติสาธารณะ และขอประกาศสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเปิดรับบทความทุกประเภท ที่ผู้เขียนปรารถนาจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยบทความทุกชิ้นต้องยินดีสละลิขสิทธิ์ให้กับสังคม สนใจส่งบทความ สามารถส่งไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com โดยกรุณาใช้วิธีการ attach file
H
บทความลำดับที่ ๑๑๔๘ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๐ (January, 04,02.2007)
R

ทฤษฎีแบ่งแยกจากข้อเท็จจริงประวัติศาสตร
ความเป็นมาของทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย (๓)
ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทความบนหน้าเว็บเพจนี้ ได้รับมาจากผู้เขียน
โดยกองบรรณาธิการจะทะยอยนำออกเผยแพร่ในลักษณะชุดบทความว่าด้วย
-ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกในภาคใต้ไทย-
เพื่อประโยชน์แห่งความรู้ และวัฒนธรรมการเรียนรู้ความเข้าใจ
ในปัญหาภาคใต้จากความจริงจากชุดคำอธิบายของนักประวัติศาสตร์
สำหรับในส่วนที่สามนี้ ประกอบด้วย
๙) ฮัจญีสุหลงกับขบวนการชาตินิยมมลายู
๑๐) การเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของรัฐไทย และทรรศนะต่อคนมลายูมุสลิม ๒๔๗๕-๒๔๙๑

๑๑) การสร้างชาติและนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม, พ.ศ. ๒๔๘๒-๒๔๘๗
midnightuniv(at)gmail.com


บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๔๘
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๙.๕ หน้ากระดาษ A4)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++
คลิกกลับไปทบทวนตอนที่ ๑
คลิกกลับไปทบทวนตอนที่ ๒


๙) ฮัจญีสุหลงกับขบวนการชาตินิยมมลายู
ฮัจญีสุหลงเกิดในปี พ.ศ.๒๔๓๘ ในหมู่บ้านกำปงอาเนาะรู มณฑลปัตตานี บิดาชื่อฮัจญีอับดุลกาเดร์ บิน มูฮัมหมัด หลานปู่ของฮัจญีไซนับ อาบีดิน บิน อาหมัด หรือ "ตวนมีนาล" ซึ่งเป็นผู้เขียนตำราศาสนาที่ชื่อว่า "กัชฟ์ อัล-ลีซาม" และ "อากีดัต อัลนายีน" อันเป็นตำราศาสนามีชื่อเสียง (1) เขาเริ่มต้นศึกษาในโรงเรียนปอเนาะ อายุได้ ๑๒ ปี บิดาส่งไปเรียนวิชาการศาสนาอิสลามที่นครมักกะห์ ปัจจุบันอยู่ในประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยได้เข้าศึกษากับครูที่มีชื่อเสียงและเป็นนักปราชญ์ทางศาสนาอิสลามในนครมักกะห์

หะยีสุหลงศึกษาภาษาอาหรับ คัมภีร์และตำราอย่างแตกฉาน จนเป็นที่ยอมรับของคนรุ่นเดียวกันและรุ่นหลัง ได้รับการขอให้เปิดสำนักสอนศาสนาอิสลามที่นครมักกะห์จนมีชื่อเสียง มีศิษย์เป็นจำนวนมากจากภูมิภาคต่างๆ ของโลก เหตุที่ทำให้ฮัจญีสุหลงตัดสินใจเดินทางกลับ ปัตตานีเพราะความตายของบุตรชายคนแรก เมื่ออายุได้ปีเศษๆ การเดินทางกลับครั้งนั้น เป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตของฮัจญีสุหลงอย่างที่เขาเอง ก็คงคาดไม่ถึง

ปัตตานีและสังคมมุสลิมภาคใต้ในปี พ.ศ.๒๔๖๙ ในสายตาใหม่ของฮัจญีสุหลง ยังคงสภาพเหมือนสังคมอาหรับ ในยุคที่ศาสนาอิสลามเพิ่งเผยแพร่ คือเป็นสังคมที่ล้าหลังและคนมุสลิมยังมีความเชื่อในไสยศาสตร์ และพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ท้องถิ่นอื่นๆ อีกมาก สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้ ฮัจญีสุหลงตัดสินใจปักหลักที่นี่ แทนที่จะเดินทางกลับไปมักกะห์ตามความตั้งใจเดิม ได้ทิ้งบ้านช่อง ทรัพย์สินและตำราศาสนามากมายไว้ที่นั้น "ด้วยความสำนึกในหน้าที่ของมุสลิมที่ดี ที่จะต้องเผยแพร่ศาสนาอิสลามให้ถูกต้องตามโองการของอัลเลาะฮ์"

ฮัจญีสุหลงเริ่มการเป็นโต๊ะครูโดยเปิดปอเนาะที่ปัตตานี เพื่อสอนหลักศาสนาแบบใหม่ ลบล้างความเชื่อผิดๆ โรงเรียนของเขามีชื่อว่า มัดราซะห์ อัล-มาอารีฟ อัล-วาตานียะห์ เป็นโรงเรียนศาสนาที่มีรูปแบบใหม่ มีการวัดความรู้และใช้ระบบมีชั้นเรียน มีการฝึกภาคสนามแก่นักเรียนทุกเช้า จุดหมายของโรงเรียนแบบใหม่จึงมีมากกว่าการสอนศาสนา หากแต่น่าจะมีวิสัยทัศน์สมัยใหม่ด้วย นั่นคือการมองถึงสังคมและกว้างกว่านั้นถึงประเทศชาติ ดังที่โรงเรียนมีคำว่า "อัล-วาตานียะห์" ซึ่งมีความหมายว่า "แห่งชาติ" ที่ป้ายชื่อโรงเรียนด้วย (2)

เขาเดินทางเทศนาไปยังที่ต่างๆ ในมณฑลปัตตานี การเผยแพร่ความคิดใหม่ของเขา ลบล้างความเชื่อเดิมที่ผิดๆ และที่ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม การกระทำดังกล่าวถูกตอบโต้ จากโต๊ะครูหัวเก่าตามปอเนาะต่างๆ จนมีผู้รายงานการเคลื่อนไหวของหะยีสุหลงต่อข้าหลวงมณฑลว่า เขาจะเป็น "ผู้ก่อความไม่สงบและจะทำให้ราษฎรก่อตัวเป็นภัยต่อแผ่นดิน" เขาถูกเรียกตัวไปสอบสวนแต่ปล่อยตัวไปเพราะไม่มีหลักฐาน

การเผยแพร่ศาสนาอิสลามของฮัจญีสุหลงประสพความสำเร็จอย่างมาก ชาวบ้าน สนับสนุนให้เปิดโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามแทนการสอนในปอเนาะที่ทำกันอยู่ โรงเรียนสร้างด้วยเงินบริจาคและร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านในการสร้าง แต่ความไม่วางใจและหวาดระแวงของกลุ่มปกครองต่อพฤติกรรมและบุคลิกผู้นำของ ฮัจญีสุหลง ทำให้เกิดข้อพิพาทขัดแย้งกับกลุ่มผู้นำท้องถิ่น คือพระยาพิพิธเสนามาตย์ เจ้าเมืองยะหริ่ง และพระพิพิธภักดี นายอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานีบุตรชาย ในเรื่องการสร้างโรงเรียน

ข้อพิพาทนี้ทำให้ฮัจญีสุหลง เกิดกินแหนงแคลงใจกับผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีขณะนั้นคือ พระวิเทศปัตตนาทร(แจ้ง สุวรรณจินดา) เพราะไม่เป็นกลาง ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยารัตนภักดี เป็นผู้ว่าฯคนสุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์. เมื่อคณะราษฎรปฏิวัติสยาม ได้ปลดพระยารัตนภักดีออก เนื่องจากเป็นฝ่ายคณะเจ้า คนนี้มีความสำคัญเพราะจะกลับมามีบทบาทอันมีผลด้านลบอย่างแรงต่อการจับกุมฮัจญีสุหลงในสมัยรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์

โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามที่ฮัจญีสุหลงดำเนินการก่อสร้างกับราษฎรมาเสร็จสมบูรณ์ และ เปิดใช้อย่างเป็นทางการก็ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ภายหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ เรียบร้อยแล้ว โดยที่พระยาพหลฯ เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้บริจาคเงินช่วยการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ ทั้งยังเดินทางไปร่วมในวันทำพิธีเปิดโรงเรียนอีกด้วย (3)

โรงเรียนที่ฮัจญีสุหลงสร้างขึ้น กลายเป็นศูนย์กลางใหม่ของคนมุสลิม ทำหน้าที่เหมือนมัสยิดแห่งหนึ่งไปด้วย จะมีคนมาทำละหมาด(นมาซ) ประจำวัน คนที่จำได้เล่าว่า "ทุกตอนเย็นจะมีชาวบ้านกลุ่มใหญ่เดินผ่านหน้าบ้านผมทุกวัน เสียงเกี๊ยะที่เดินผ่านหน้าบ้าน ผมดังกริ๊กๆๆ ลั่นไปหมด พวกนั้นเขาเดินไปทำละหมาดกันที่โรงเรียนของฮัจญีสุหลง….."

ภาพประทับและจินตนาการอันเกี่ยวกับบทบาทและความนิยมของฮัจญีสุหลงในสายตา และความรับรู้ของรัฐไทย น่าจะไม่ตรงกับความคิดและความตั้งใจของคนมุสลิมในท้องถิ่นเหล่านั้นเท่าไรนัก นอกจากไม่เข้าใจในความหมายทางศาสนาอิสลามและการปฏิบัติของคนมุสลิมเองแล้ว ปัจจัยที่ยิ่งไปเพิ่มช่องว่างระหว่างการเคลื่อนไหวมวลชนของมุสลิมภาคใต้กับรัฐไทย ได้แก่การก่อตัวและพัฒนาไปจนถึงจุดสุดยอดของความคิดว่าด้วยรัฐไทย ที่กำลังจะเดินไปบนหนทางของมหาอำนาจ ลัทธิชาตินิยมไทยภายใต้จอมพล ป. และหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งจะเป็นกงจักรปีศาจที่ร่อนไปตัดคอผู้ที่ขวางหน้าอย่างไม่ปราณี

ประเด็นที่น่าสนใจในการก่อตัวและเติบใหญ่ของขบวนการมุสลิมหัวใหม่ในปัตตานี ไม่ใช่อยู่ที่การนำไปสู่การเรียกร้องทางการเมือง ที่สำคัญคือข้อเรียกร้อง ๗ ประการ ซึ่งมีเนื้อหาใหญ่ที่การทำให้สี่จังหวัดมุสลิมภาคใต้มีการปกครองของตนเอง เพื่อทำให้หลักการปกครองอิสลามสามารถนำมาปฏิบัติได้อย่างแท้จริงเท่านั้น หากแต่จุดที่สำคัญไม่น้อยในด้านของพัฒนาการทางภูมิปัญญาของคนมลายูมุสลิมรุ่นใหม่ ได้แก่ การเกิดแนวคิดและอุดมการณ์การเมืองสมัยใหม่ ที่วางอยู่บนหลักการอิสลาม

ในแง่นี้มองได้ว่า การเคลื่อนไหวของฮัจญีสุหลงกับคณะ เป็นผลพวงของการตอบโต้ปฏิสัมพันธ์กับการเกิดและเติบใหญ่ของรัฐสมัยใหม่ ซึ่งชุมชนมุสลิมจะต้องพัฒนาและเปลี่ยนไปพร้อมกับรัฐสมัยใหม่นี้ด้วย ลัทธิอาณานิคมและความเป็นสมัยใหม่ที่ได้นำความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ เข้ามาในสังคมมุสลิม ไม่ว่าจะในรูปแบบของรัฐประชาชาติ ระบบการศึกษาแบบใหม่ การเกิดขึ้นของสิ่งพิมพ์ทุนนิยม(print capitalism) ช่วยสร้างจินตนาการของชุมชนการเมืองใหม่ให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นได้(imagined community) มาจนถึงแนวคิดว่าด้วยสิทธิอัตวินิจฉัยของรัฐ (self-determination) และสิทธิมนุษยชนของปัจเจกชน (human rights) อาจกล่าวได้ว่าการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนตามหลักการสากลภายใต้องค์การสหประชาชาตินั้น กลุ่มที่ทำการต่อสู้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็คือกลุ่มคนมลายูมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้นี้เอง

ที่สำคัญของการเคลื่อนไหวทางสังคมดังกล่าว คือการจุดประกายให้กับการเกิดจิตสำนึก การตระหนักถึงอัตลักษณ์และความเป็นตัวตน ซึ่งจำเป็นต้องการพื้นที่หรือเทศะ(space)อันใหม่ที่เอื้อต่อ การเติบใหญ่ของสำนึกทางการเมือง ดังนั้นการมองไปที่รัฐ ในฐานะที่เป็นพื้นที่และมีอำนาจอันเป็นเหตุเป็นผล ในการทำให้ปัจเจกชนสามารถก้าวไปสู่อุดมการณ์ของเขาแต่ละคนและในส่วนทั้งหมดได้ จึงกลายเป็นเป้าหมายของการเคลื่อนไหวเพื่อการไปบรรลุความเป็นอิสลามที่แท้จริงต่อไป

ประเด็นนี้จึงเรียกร้องให้เราหันกลับมาคิดถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรัฐไทยทั้งหมดด้วยว่า เราต้องให้น้ำหนักไปที่การเคลื่อนไหวและสำนึกของปัจเจกชนและกลุ่มชนในท้องถิ่นต่างๆ หลากหลาย ใหญ่บ้างเล็กบ้างทั่วราชอาณาจักรไทยด้วยว่า ในระยะที่รัฐไทยส่วนกลางพยายามสร้างและทำให้สมาชิกส่วนอื่นๆ ภายในเขตแดนตามแผนที่สมัยใหม่ ต้องคิดและจินตนาการถึงความเป็นชุมชนชาติใหม่ร่วมกันนั้น บรรดาคนและชุมชนโดยเฉพาะตามชายขอบและที่มีอัตลักษณ์พิเศษไปจากคนส่วนใหญ่นั้น ก็ควรมีสิทธิและความชอบธรรมในการมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนชาติใหม่นี้ด้วย ไม่ใช่ด้วยการถูกบังคับให้เชื่อและทำตามแต่ถ่ายเดียว นี่คือบทเรียนที่ในระยะต่อมาจะมีราคาแพงมากขึ้นเรื่อยๆ ตามความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงของสังคมที่โลกาภิวัตน์มากขึ้นๆ

๑๐) การเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของรัฐไทย และทรรศนะต่อคนมลายูมุสลิม ๒๔๗๕-๒๔๙๑
น่าสังเกตว่าในช่วงเวลา ๑๕ ปีจากปี พ.ศ. ๒๔๖๖ -๒๔๘๑ อันเป็นช่วงของสายัณห์สมัยของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และการก่อรูปขึ้นระบอบทหารภายใต้รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นช่วงเวลาที่รัฐไทยอยู่ในกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองใหม่นั้น นโยบายและการปฏิบัติที่ปราบปรามและกดขี่กระทบกระทั่งคนมลายูมุสลิมในทางวัฒนธรรมและการเมือง แทบไม่มีหรือมีก็น้อยมาก

การปะทะลุกฮืออย่างรุนแรงครั้งสุดท้ายระหว่างคนมลายูมุสลิมในอาณาจักรปตานีกับกองกำลังรัฐสยามเกิดขึ้นในปีพ.ศ. ๒๔๖๕ การกบฏปะทุขึ้นในหมู่บ้านน้ำทราย ในอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี เมื่อชาวบ้านปฏิเสธที่จะเสียภาษีและค่าเช่าที่ดินให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ มูลเหตุของความไม่สงบนี้มาจากการประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติการศึกษาภาคประถมบังคับในปี ๒๔๖๔ ตามกฎหมายนี้เด็กมลายูมุสลิมทุกคนที่ถึงเกณฑ์ต้องเข้าโรงเรียนประถม ซึ่งก็คือโรงเรียนไทยนั่นเอง

ผลจากการ "กบฏ" ครั้งนี้ทำให้รัชกาลที่ ๖ (ครองราชย์ ๒๔๕๓-๖๘) จำต้องแก้ไขนโยบายเรื่องการศึกษา และการเก็บภาษีของคนมุสลิมในภาคใต้เสียใหม่ อันเป็นที่มาของการปรับนโยบายและท่าทีต่อมลายูมุสลิมในบริเวณภาคใต้ของกระทรวงมหาดไทยเป็นครั้งแรก นักวิชาการมุสลิมกล่าวว่า "แสดงว่ารัฐบาลกรุงเทพฯ คงได้ตระหนักและรู้สึกถึงถึงการเกิดขึ้นของลัทธิชาตินิยมมลายู ในหมู่คนมลายูในรัฐตอนเหนือของมลายา และรวมถึงความตั้งใจของพวกเขาในการยื่นมือข้ามพรมแดนเข้าช่วยญาติพี่น้องของเขา" (4)

การเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อภาพลักษณ์และอุดมการณ์ของชาติไทยใหม่ กล่าวได้ว่าเริ่มก่อรูปขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ มีการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เก่า มาสู่รัฐชาติใหม่ที่เป็นระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่ลงตัวดีนัก กลุ่มผู้นำการเมืองใหม่มาจากคณะราษฎร ประกอบด้วยคนรุ่นใหม่(ไม่มีสตรีเลย) คนเหล่านั้นส่วนมากมาจากครอบครัวคนชั้นกลางในภาคกลาง และเข้าเรียนต่อในกรุงเทพฯ ในบรรดาสมาชิกคณะราษฎรรุ่นแรกนั้นมีสมาชิกเป็นมุสลิมด้วย ๔ คนที่มาจากแถวกรุงเทพฯ (5) ภารกิจหลักของคณะราษฎรและรัฐบาลคือการสร้างระเบียบและความมั่นคงให้แก่ประเทศ และนำประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าตามนโยบายหลัก ๖ ประการของคณะราษฎรในการยึดอำนาจการปกครอง (6)

การเลือกตั้งครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ทำให้ความหวังในการเลือกตั้งของคนมลายูมุสลิมจางหายไปอย่างรวดเร็ว ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสี่จังหวัดภาคใต้ ยกเว้นสตูล ล้วนตกเป็นของผู้สมัครไทยพุทธหมด การเลือกตั้งในครั้งต่อไปในปี พ.ศ.๒๔๘๐ เป็นความสำเร็จครั้งเดียวของผู้สมัครมุสลิมในปัตตานี ยะลา นราธิวาส ในขณะที่ผู้สมัครมุสลิมในสตูลและเป็นอดีต สส.กลับแพ้การเลือกตั้ง แต่การสำเร็จในการเลือกตั้งเป็นเพียงสิ่งชั่วคราวสั้นๆ เท่านั้นสำหรับคนมลายูมุสลิม หลังจากที่จอมพล ป.พิบูลสงครามขึ้นสู่อำนาจในปี ๒๔๘๑ รัฐบาลเริ่มดำเนินนโยบายชาตินิยม อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการการสร้างชาติของเขา การเลือกตั้งนับจากนั้นมาจากปี ๒๔๘๑ ถึง ๒๔๙๑ ชัยชนะตกเป็นของผู้สมัครไทยพุทธเสียเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นสตูลที่ยังสามารถรักษาเก้าอี้ของผู้แทนที่เป็นมุสลิมไว้ได้ตลอดสมัยของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม (7)

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของระบอบปกครองรัฐธรรมนูญก็ได้สร้างความหวังในระดับหนึ่งมาสู่คนมลายูมุสลิมภาคใต้ เป็นครั้งแรกที่เกิดมี "ความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งของชาติในหมู่คนมลายูมุสลิม" (8) นอกจากนี้ ตนกูมะไฮยิดดิน บุตรชายคนสุดท้องของรายาปตานีเก่า ก็เดินทางกลับจากกลันตันมาพำนักในเมืองไทย แม้การเลือกตั้งไม่อาจให้ความพอใจอย่างเต็มที่แก่คนมลายูมุสลิมก็ตาม ทว่าอย่างน้อยก็ให้พื้นที่สาธารณะแก่พวกเขาในการพูดและแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกได้ ในทางกลับกันก็เกิดการต่อต้านแบบใช้กำลังจากคนมลายูมุสลิมน้อยลง

ดังนั้นช่วงเวลาดังกล่าวจึงถือได้ว่า เป็นช่วงเดียวที่บริเวณมุสลิมภาคใต้มีสันติสุขและความเป็นระเบียบค่อนข้างมาก แม้ว่าการปฏิบัติและกระทำอย่างไม่ถูกต้องจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะตำรวจในแถบนั้นยังคงมีอยู่บ้างก็ตาม รัฐบาลสามารถพึ่งพาการทำงานของเจ้าหน้าที่ราชการในท้องถิ่นได้มากขึ้น ในการนำนโยบายและการบริหารไปยังชุมชนและท้องถิ่นเหล่านั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็สามารถลดความไม่พอใจและปัญหาของชาวบ้านลงได้ ด้วยการนำเรื่องร้องเรียนต่างๆ ไปเสนอให้กับรัฐบาลหรือรัฐมนตรีที่รับผิดชอบโดยตรงได้ทันที อย่างไรก็ตาม อำนาจในการแก้ไขและขจัดปัดเป่าปัญหาความทุกข์เหล่านั้นก็ยังอยู่กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงและในจังหวัด

จนเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติแล้ว เมื่อภาวะเศรษฐกิจขาดแคลนและความปลอดภัยในชีวิตของราษฎรไม่ค่อยมี ช่วงเวลาดังกล่าวนั้นที่ความไม่พอใจและการร้องเรียนถึงการกระทำอันไม่เป็นธรรม การคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ นำไปสู่การขาดความมั่นใจและไว้ใจในรัฐบาลจากคนมลายูมุสลิม ตอนนั้นคนเหล่านั้นเชื่อว่า แม้ ส.ส.ผู้แทนของพวกเขา ก็ไม่อาจทำงานในฐานะของตัวแทนพวกเขาได้จริงๆ แล้ว

พัฒนาการที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นภายหลังการมีระบอบรัฐธรรมนูญอย่างหนึ่งก็คือ การเกิดมีเสียงในการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและการปฏิบัติของรัฐบาลมากขึ้น บรรดาเสียงเหล่านี้ถูกถ่ายทอดผ่านการพูดในที่ชุมชนและผ่านการพิมพ์ แต่ที่มีผลกระทบต่อรัฐมากได้แก่ การพูดในที่สาธารณะที่ใครก็ได้สามารถออกมาพูดได้ในที่ต่างๆ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่และไม่เป็นที่ยอมรับของเจ้าหน้าที่รัฐบาล หลายคนเป็นข้าราชการเก่าในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ถูกโค่นล้มไป โดยเฉพาะบรรดาผู้พิพากษา

สำหรับชาวมุสลิมการพูดในที่สาธารณะเป็นเรื่องปกติของการชุมนุมปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา เช่นเดียวกับการเรียนในโรงเรียนปอเนาะ ไม่เป็นที่สงสัยว่าความสามารถในการพูดเยี่ยงนักปาฐกถาของฮัจญีสุหลง ซึ่งเริ่มสร้างความวิตกให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย

ในช่วงปลายทศวรรษ พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้มีรายงานและข่าวลือเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของฮัจญีสุหลง ฝ่ายเจ้าหน้าที่ปกครองต่างๆ ไม่แน่ใจในสถานะและบทบาทของฮัจญีสุหลงว่าทำอะไร และไม่แน่ใจด้วยว่า นัยทางการเมืองของบรรดาสานุศิษย์ของเขานั้นคืออะไร. มาตรการเพื่อความมั่นคงอันหนึ่งที่รัฐบาลคณะราษฎรใช้ในการสร้างความมั่นคงแก่รัฐบาล และระงับยับยั้งการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม (หรือฝ่ายค้านซึ่งสมัยนั้นไม่มีการยอมรับอย่างเป็นทางการให้มีได้) จึงได้แก่การใช้บรรดาตำรวจลับและสายสืบ สายลับต่างๆ คอยติดตามนักการเมืองบางคน เพื่อให้รู้ว่าอยู่ในสายตาของรัฐจะได้ยุติการกระทำที่ไม่เป็นผลดีแก่รัฐเสีย (9) ในกรณีของฮัจญีสุหลง มีการสั่งให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทำการติดตามรายงานลับๆ ในกิจกรรมและขบวนการต่างๆ ของเขา (10)

ดังกล่าวบ้างแล้วข้างต้นว่าการแข่งขันและความขัดแย้งกันเอง ระหว่างคนมุสลิมด้วยกัน ก็มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำมุสลิมหัวเก่ากับหัวใหม่ คู่ขัดแย้งแรกๆ ของฮัจญีสุหลงคนหนึ่งคือตระกูลอับดุลลาบุตร ในอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี. พระพิพิธภักดี (ตนกูมุดกา อับดุลลาบุตร) ผู้เป็นนายอำเภอมาก่อน ได้รับการแต่งตั้งในระบอบปกครองใหม่ให้เป็นข้าหลวงของจังหวัดสตูล เมื่อเขาเข้าสมัครรับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี ๒๔๘๐ ในปัตตานี ฮัจญีสุหลงสนับสนุนผู้สมัครอีกคนคือขุนเจริญวรเวชช์(เจริญ สืบแสง) สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นไทยพุทธและมีทรรศนะทางการเมืองที่ก้าวหน้ากว่า นั่นเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้นายเจริญ สืบแสงได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งตลอดมาจากปี พ.ศ.๒๔๘๑ ถึง พ.ศ.๒๔๙๑

อีกปัญหาหนึ่งของฮัจญีสุหลงที่ทำให้ทางการไทยไม่ไว้ใจเขา คือการที่เขามีการติดต่อกับตนกูมะไฮยิดดิน ผู้ซึ่งรัฐบาลไทยเชื่อว่าเป็นหัวหน้าขบวนการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้สุดของไทย ภายใต้บรรยากาศระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ และนักสู้เพื่อชาตินิยมลายูก็เคลื่อนไหวหนักในบรรดารัฐทางเหนือของมลายา จึงเป็นธรรมดาที่การเคลื่อนไหวและกิจกรรมต่างๆ ของฮัจญีสุหลง มีการครอบคลุมสองฝั่งชายแดนไทยและมลายาด้วย

หากได้อ่านรายงานลับของสายสืบไทยก็จะได้เรื่องตลกๆ สนุกๆ มากมาย เพราะข้อมูลของพวกเขามาจากบรรดาสายที่เป็นคนมลายู เนื่องจากคำว่า "มลายู" ใช้ระบุถึงคนมลายูที่อยู่ในมลายาและในสี่จังหวัดภาคใต้ เมื่อได้ยินคนตระโกนด้วยภาษามลายูว่า "เมอเดกา" (เสรีภาพ) ในที่ประชุม เจ้าหน้าที่ซึ่งรับฟังข่าวก็เกิดความตระหนก ดังนั้นในรายงานของเจ้าหน้าที่ราชการที่มีไปถึงกรุงเทพฯ จึงสรุปสถานการณ์ขณะนั้นว่า มีความรู้สึกของการ "แบ่งแยกดินแดน" เพิ่มมากขึ้นในหมู่คนมลายูมุสลิมและอาจนำไปสู่การคิดกบฏได้ หากดูจากน้ำเสียงของรายงานลับที่มีไปถึงกรุงเทพฯ สมัยนั้น เห็นได้ชัดว่า ทรรศนะของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่มีต่อฮัจญีสุหลงและคนมุสลิมทั่วไป ถูกปกคลุมด้วยอคติที่มีต่อศาสนาและวัฒนธรรมอิสลาม หรือไม่ก็มาจากความเขลาต่อพัฒนาการทางการเมืองในมลายาขณะนั้น

การสืบความลับในการเคลื่อนไหวของชาวมุสลิมภาคใต้โดยทางการไทย เป็นรายงานจากข้าหลวงตรวจการกระทรวงมหาดไทยภาค 5 ถึงข้าหลวงประจำจังหวัดชายแดนเช่นสตูล ยะลา เพื่อให้ระมัดระวังความเคลื่อนไหวแยกดินแดนของชาวมลายูมุสลิมจังหวัดสตูลและยะลา รายงานนี้ระบุว่า หัวหน้าใหญ่ชาวมลายูมุสลิมในการนี้คือ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ มีการปลุกระดมชาวมุสลิมสองฝั่งไทยและมลายา ซึ่งขณะนั้นมุ่งไปที่การจัดตั้งสหพันธรัฐมลายา สายลับไทยที่นายอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ส่งให้ไปสอดแนมฟังคำปราศรัยและติดตามท่าทีของชาวมลายูมุสลิมฝั่งไทย รายงายว่า ในงานที่มีคนมาฟังนับหมื่นคนในรัฐไทรบุรี มีการปลุกใจชาวมลายูในไทรบุรี ด้วยข้อความพาดพิงโจมตีรัฐบาลไทยด้วยว่า

"...ชาติมลายูแต่เดิมเป็นชาติที่ขาดการศึกษาและผู้อุปการะช่วยเหลือ จึงถูกรัฐบาลไทยยึดเอาเมืองมะลายู เช่นจังหวัดสตูล ยะลา นราธิวาสและปัตตานีไปประเทศสยามเสีย การกระทำของประเทศสยามที่ยึดสี่จังหวัดไปนี้ กระทำไปโดยไร้ศีลธรรม โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยใช้วิธีล่อลวงพวกพระยาเมืองต่างๆ ไปหลอกฆ่าให้ตาย ประชาชนที่ไม่พอใจจึงอพยพไปอยู่กลันตัน … เวลานี้เราควรจะระลึกว่าชาติของเราจะสูญสิ้นไปในปี 1950 (พ.ศ. 2493) ตามคำสั่งของพระอาหล่าเจ้า เพราะเวลานี้ชาวมะลายูเปลี่ยนแปลงไปเป็นชาติต่างศาสนาเสียแล้ว บัดนี้เราควรจะคิดกู้ชาติของเรา รวมเป็นชาติมะลายูขึ้น แล้วทำการต่อสู้ในทางศาสนาต่อไป เช่นครั้งโบราณพวกอิสลามได้ทำการต่อสู้กับพวกถือพุทธศาสนา ระยะนี้เราจำเป็นจะต้องทำการต่อสู้ให้จนตัวตายไปเช่นเดียวกับพระมะหะหมัด … (11)

เนื่องจากการประชุมนี้อยู่นอกแดนไทย จึงมีชาวมลายูมุสลิมฝั่งไทยไปร่วมเพียง 12 คนรวมทั้งคนที่เป็นสายลับ (ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใครแต่เดาว่าต้องเป็นคนมุสลิมด้วย) พอถึงการประชุมลับ สายลับไม่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมได้ นอกจากบรรดาหะยีทั้งหลาย จึงไม่อาจรายงานได้ว่าพูดเรื่องอะไรกันบ้าง แต่ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า "ผู้ฟังโอวาทมีจิตใจเบิกบานฮึกเหิมทั่วหน้ากัน" และทุกครั้งที่หัวหน้าการประชุมคือดะโต๊ะออน บิน จาฟฟา จบคำปราศรัยผู้ร่วมประชุมจะตะโกนคำขวัญว่า "มะลายูเป็นมะลายู" สามจบ

ผมคัดลอกรายงานของสายลับไทยมาให้ดูละเอียดเพราะต้องการให้เห็นว่า ที่มาของทรรศนะรัฐและข้าราชการไทยนั้น วางอยู่บนวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์และเป็นธรรมมากน้อยแค่ไหน ในอดีตปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวมลายูมุสลิมในสี่จังหวัดภาคใต้กับรัฐไทย ถูกกระพือให้ลุกโชนยิ่งขึ้นด้วยอคติและความหวาดระแวงไม่ไว้วางใจในวัฒนธรรมและความเชื่อแบบอิสลาม

อีกฉบับหนึ่งเป็นรายงานของทางตำรวจไทยต่อรัฐบาล หลังจากที่เริ่มมีสำนึกของชาตินิยมมลายูเกิดขึ้น กล่าวคือ "...คนมะลายูที่ได้รับการศึกษาและเป็นเทือกเถาพระยาเมืองมาแต่ก่อน อันมีจำนวนไม่กี่คน หลังจากเสร็จสงครามคราวนี้ การพินอบพิเทาต่อคนไทย…ออกจะชาเย็นไปพร้อมกับมีท่าทีค่อนข้างมีหัวสูงขึ้น แต่พลเมืองนอกๆ อันไร้ศึกษานั้น ก็ดูไม่ผิดไปจากนัยตา...ที่ร้ายกว่านี้คือ จำพวกหะยี ผู้สอนศาสนา พยายามที่ชักจูงใจไปในทางศาสนาซึ่งเป็นหนทางแยกพวก เข้ากับคนไทยไม่ได้ ศาสนานี้แหละเป็นการเมืองขั้นแรกของคนมะลายู…" (12)

รายงานชิ้นหนึ่งสมัยนั้น(๒๔๘๘- ๙๐) พยายามสร้างภาพประทับให้กับการมีคนนับถือฮัจญีสุหลงอย่างมากในหมู่คนมุสลิมปัตตานี และจังหวัดใกล้เคียงที่มีต่อฮัจญีสุหลงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ด้วยการรายงานอย่างมีสีสันดังนี้ "ปรากฏว่ามีผู้ศรัทธามากถึงขนาดก้มลงถอดรองเท้าและล้างเท้าให้กับหะยีสุหลง ก่อนที่จะเข้าไปในสุเหร่าหรือมัสยิดต่างๆ และมีสานุศิษย์คอยเดินกางกลดกันแดดให้ในขณะที่เดินทางไปชุมชนชาวมลายูในเขตสี่จังหวัดภาคใต้ และบางอำเภอของจังหวัดสงขลา" (13) รายงานดังกล่าวสร้างความรู้สึกแก่คนภาคกลางว่า ฮัจญีสุหลงกำลังทำตนประหนึ่งราชา ซึ่งเป็นสิ่งที่นักราชาชาตินิยมไทยไม่อาจรับได้ ในระยะยาวการวาดภาพด้านลบแบบนั้น กลับเป็นสิ่งดีแก่รัฐไทย เมื่อรัฐต้องการเสนอภาพของฮัจญีสุหลง ที่เป็นศัตรูของรัฐและสถาบันทั้งหลาย

๑๑) การสร้างชาติและนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม, พ.ศ. ๒๔๘๒-๒๔๘๗
ยิ่งสงครามโลกครั้งที่ ๒ เคลื่อนเข้ามาใกล้ประเทศไทยมากขึ้น ชะตากรรมของชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ก็แน่ชัดมากขึ้นว่า จะต้องผูกพันเข้ากับความเป็นไปของรัฐบาลไทยมากเท่านั้น เป้าหมายของการสร้างรัฐประชาชาติที่เป็นเอกภาพใกล้ความเป็นจริงมากที่สุด ก็ในเวลาที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม(14) ได้รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ พร้อมทั้งการคุมกองทัพไว้ได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะภายหลังการจับกุมกลุ่มนายทหารอันมี พ.อ. พระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้าในคดี "กบฏ ๒๔๘๒"

ในช่วงนั้นกล่าวได้ว่า สำนึกทางการเมืองของคนในภาคต่างๆ จากเหนือ อีสาน ถึงใต้ มีมากขึ้น. ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นระยะที่คนในประเทศ มองเห็นผู้นำการเมืองในระบอบประชาธิปไตยในจังหวัดของตนเกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นได้ ดังเห็นได้จากบทบาทและการควบคุมรัฐบาลของบรรดา ส.ส.จากต่างจังหวัดโดยเฉพาะอีสาน การก่อตัวขึ้นของลัทธิทหารในญี่ปุ่นและภยันตรายของสงครามยุโรป ทำให้รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลญี่ปุ่นมากขึ้น ในความคิดของหลวงพิบูลสงครามและที่ปรึกษาของท่าน ประเทศไทยสามารถจะเป็นประเทศเข้มแข็งและทันสมัย ซึ่งก็คือศรีวิไลซ์ ได้ด้วยการเดินตามรอยของญี่ปุ่น ซึ่งประสบความสำเร็จจนกลายเป็น "แสงสว่างของเอเชีย"

หลังจากกำหนดจุดหมายของนโยบายในการสร้างชาติไว้แน่นอนแล้ว รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามก็เริ่มการรณรงค์ประชาชนภายใต้คำขวัญของลัทธิชาตินิยมไทย นั่นคือที่มาของนโยบายการผสมกลมกลืนแบบบังคับ ซึ่งไม่มีหรือมีก็น้อยมาก ในการอดทนและยอมรับวัฒนธรรมที่แตกต่างอันเป็นเฉพาะของชนชาติกลุ่มน้อยและชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ได้อีกต่อไป. นโยบายการสร้างชาติของหลวงพิบูลสงครามพุ่งเป้าไปยังการปฏิรูปและสร้างสรรค์มิติทางวัฒนธรรมและสังคมด้านต่างๆ ของคนในประเทศเสียใหม่ นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เป็นต้นมา

แม้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกโค่นลงไปก็ตาม แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลพยายามทำการเปลี่ยนแปลง และแทนที่ความคิดการปฏิบัติเก่าๆ แบบศักดินาในหมู่ประชากรอย่างจริงจังมากที่สุด ด้วยการประกาศให้ประชาชนปฏิบัติและทำตนใหม่แบบสมัยนิยมและที่เป็นอารยะ ในคำปราศรัยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและข้าราชการผู้ใหญ่ทั้งหลาย พลตรีหลวงพิบูลสงครามกล่าวว่า

"ในความพยายามที่จะสร้างชาติให้มีพื้นฐานอันมั่นคงและคงทนนั้น รัฐบาลจำเป็นจะต้องทำการปฏิรูปและสร้างสิ่งใหม่ๆ ในด้านต่างๆ ของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวัฒนธรรม ซึ่งแสดงออกถึงความเจริญเติบโตและความงดงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความเจริญก้าวหน้าและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และจริยธรรมของชาติ" (15)

การเน้นถึงความสำคัญและการปรับปรุงทางวัฒนธรรมให้เข้มแข็งนั้น ส่วนหนึ่งเป็นความต้องการส่วนตัวของจอมพล ป.พิบูลสงครามเอง อีกส่วนหนึ่งน่ามาจากอิทธิพลของญี่ปุ่นและความสำเร็จของประเทศนั้น ในการเปลี่ยนตนเองให้เป็นมหาอำนาจหนึ่งของเอเชียได้ คนที่เชื่อในการอาศัยวัฒนธรรมและมิติด้านจิตใจเป็นเครื่องมือในการสร้างชาติ และในการต่อสู้กับมหาอำนาจตะวันตกทั้งหลายก็คือหลวงวิจิตรวาทการ (16) ผู้เป็นมันสมองคนสำคัญของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม มาโดยตลอด

การรณรงค์ทางวัฒนธรรมดังกล่าวเปิดโอกาสให้กับรัฐบาลสามารถนำสังคมไทยให้หลุดออกมาจากเครื่องรัดรึงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้บ้าง เมื่อภยันตรายจากสงครามโลกระหว่างมหาอำนาจเป็นจริงมากขึ้น ผู้นำรัฐบาลไทยถูกบังคับให้จำต้องเลือกข้าง ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน ระหว่างฝ่ายอารยะและมีกำลังเข้มแข็งหรือตกเป็นทาสและอ่อนแอ เพื่อทำให้ประเทศเข้มแข็งและเป็นอารยะประเทศ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของประเทศอารยะด้วยกันจะได้ไม่ตกเป็นเมืองขึ้น รัฐบาลจึงหาทางที่จะกำจัดบรรดา "ผู้คนที่ยังขัดสนในทางวัฒนธรรมและแสดงออกถึงความโง่เขลาในเรื่องสุขอนามัย สุขภาพ การแต่งกาย และการคิดอย่างมีเหตุผล" (17)

ด้วยความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมในจุดหมายและสถานภาพของประเทศดังกล่าวนี้ รัฐบาลพิบูลสงครามจึงดำเนินการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วย วัฒนธรรมแห่งชาติ. มาตรการที่อ่อนไหวและมีผลกระเทือนต่อผู้คนกว้างไกลกว่าที่คิดไว้(หากได้คิดก่อน) ก็คือบรรดากฎหมายประกาศที่รู้จักกันดีในนามของพระราชบัญญัติ "รัฐนิยม" ทั้งหมดมี ๑๒ ประกาศ ให้ใช้ทั่วประเทศตั้งแต่มิถุนายน ๒๔๘๒-มกราคม ๒๔๘๕ รวม๑๒ ฉบับ ตั้งแต่การเรียกชื่อประเทศอันแรกว่าด้วยการเปลี่ยนชื่อจากสยามมาเป็นไทย สัญชาติ การเคารพธงชาติ เพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมี ไปถึงภาษา การแต่งกาย ไปถึงการทำกิจประจำวันเป็นต้น ภายใต้นโยบายเหล่านี้ที่ความคิดว่าด้วยความเป็นไทยและลัทธิชาตินิยมบนเชื้อชาติไทยเป็นหลัก ได้ขยายออกมาเป็นนโยบายทางการที่เด่นชัดและเร้าใจอย่างยิ่ง

ความจริงทรรศนะในการมองว่า ชาติไทยที่เป็นรัฐชาติที่ปลอดจากพฤติกรรมล้าหลังแบบศักดินานิยมนั้น เป็นทรรศนะที่เอายุโรปเป็นศูนย์กลาง คนเชื้อชาติและภาษาต่างๆ ที่ไม่ใช่ไทยทั้งหลายต่างก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐนิยมด้วยกันทั้งนั้น แต่คนมลายูมุสลิมในทางใต้เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักมากที่สุด คำที่เคยเรียกเช่น "คนใต้" หรือ "คนอิสลามที่เป็นไทย" ไม่อาจแสดงถึงความเป็นไทยได้เต็มที่อีกต่อไป รัฐบาลโดยกรมประชาสัมพันธ์เริ่มการรณรงค์สร้างความเป็นไทยของทุกๆ ภาค โดยให้เน้นที่ความเป็นไทยเหนือกว่าลักษณะเฉพาะของภูมิภาค เช่นการเรียกคนภาคเหนือว่า "ถิ่นไทยงาม", คนอีสานว่า "ถิ่นไทยดี", น่าสังเกตว่าไม่มีวลีที่ใช้แทนคนและภาคใต้ในสมัยนั้นได้

ในกรณีของคนมุสลิมภาคใต้ คำที่มาแทนที่คือ "ไทยอิสลาม" ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อแสดงถึงความเป็นไทยของคนมลายูมุสลิม นัยของการเรียกดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าทางการยอมรับความแตกต่างในศาสนา แต่ไม่เห็นด้วยว่าควรจะมีการให้ความสำคัญและลักษณะเด่นของความแตกต่างเหล่านั้นในหมู่พลเมืองที่เป็นคนไทยของประเทศไทย

ผลก็คือการที่รัฐต้องเข้ามาบังคับและควบคุมการประพฤติปฏิบัติในชีวิตของพลเมืองตามวิสัยทัศน์ของรัฐ เช่นเดียวกับนโยบายชาตินิยมที่อื่นๆ รัฐมักขุดและรื้อฟื้นความเก่าแก่ยิ่งใหญ่ของอดีตแต่กำเนิดของตนเอง (ซึ่งมักเป็นนิทานที่ไม่มีความเป็นจริงมากนัก) เพื่อเอามากล่อมเกลาและปลุกระดมคนในชาติให้เชื่อและตายในอุดมการณ์ใหญ่เดียวกัน. ในกรณีนโยบายรัฐนิยม, รัฐบาลพิบูลได้สร้างผีตัวใหม่ขึ้นมา นั่นคือ(เชื้อ)ชาตินิยมไทย แล้วบังคับให้ทุกคนในเมืองไทยปฏิบัติและแสดงออกให้พร้อมเพรียงกัน จะได้เป็น "วีรธรรม" ของชาติ

ภายใต้ประกาศกฎหมายวัฒนธรรมเหล่านี้ มีการลงโทษและมีการเรียกร้องให้ประพฤติปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่อย่างเคร่งครัด ในเรื่องการแต่งกาย มารยาท และความประพฤติอันเหมาะสมในวาระและสถานที่ต่างๆ เป็นต้น เช่น การเรียกร้องให้ผู้หญิงสวมหมวกและนุ่งกระโปรงแบบตะวันตก ห้ามกินหมากและพลู ให้รู้จักใช้ช้อนและส้อมในฐานะที่เป็นเครื่องมือการกินของชาติอย่างถูกต้อง

ในขณะนั้น กล่าวได้ว่าด้านหลักของปัญหาความขัดแย้งนี้ ได้แก่นโยบายและการปฏิบัติด้านลบของรัฐไทยที่ได้กระทำต่อชุมชนและคนมุสลิมภาคใต้ ซึ่งก็เป็นมูลเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การเรียกร้องความเป็นตัวของตัวเองในทางการปกครองด้วย. สมัยนั้นศัพท์การเมืองว่า "แบ่งแยกดินแดน" ยังไม่เกิด ในช่วงปี ๒๔๘๒-๒๔๙๐ ความไม่พอใจของชาวมุสลิมมาจากนโยบายสร้างชาติภายใต้รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามมีอยู่อย่างมาก หัวใจของปัญหาอยู่ที่ลัทธิชาตินิยมไทย ที่รัฐบาลปลุกระดมให้คนทั้งชาติต้องทำตัวให้เป็นไทย จึงจะถือว่ารักชาติ

ภาพที่ปรากฏออกมาก็คือคนมุสลิมถูกห้ามไม่ให้สวมหมวกแบบอิสลาม ส่วนผู้หญิงก็ไม่ให้ใช้ผ้าคลุมหัว อันเป็นธรรมเนียมของคนมุสลิม ภาษามลายูก็ห้ามใช้ โสร่งก็ห้ามนุ่งสำหรับผู้ชาย แต่ให้นุ่งกางเกง สวมเสื้อเชิ้ร์ต ที่ตลกคือเครื่องแต่งกายที่เป็นไทยนั้น แท้จริงแล้วเป็นชุดฝรั่งในทศวรรษ ๑๙๔๐-๕๐ ทั้งสิ้น. จากการแต่งกายก็มาถึงการให้เปลี่ยนชื่อที่ไม่เป็นไทยเสีย ที่เป็นผลทางลบต่อรัฐบาลอย่างมากคือ มีการจับและปรับลงโทษผู้ฝ่าฝืนรัฐนิยม จึงมีการวิ่งไล่จับชาวบ้าน ทำร้ายทุบตีดึงตัวมาโรงพัก ผู้หญิงมลายูก็ถูกดึงกระชากผ้าคลุมหัวทิ้ง กระทั่ง "ผู้กลับมาจากเมกกะใหม่ๆ ใช้ผ้าสารบันไม่ได้ (คือผ้าพันศีรษะ พันไว้นอกหมวกกูเปี๊ยะห์ แสดงให้ทราบว่าเป็นฮัจญี) ที่นราธิวาส ตำรวจถอดออกจากหัวทำเป็นลูกตะกร้อเตะเสียเลย" (18) แม่ค้าที่ขายของในตลาดก็โดนตำรวจตีด้วยพานท้ายปืน เพราะเธอสวมเสื้อกะบายาและมีผ้าคลุมศีรษะ เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อคนมลายูมุสลิมอย่างมากได้แก่ การประกาศยกเลิกในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ไม่ให้มีกฎหมายและศาลอิสลาม เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ และ๖ ว่าด้วยครอบครัวและมรดก แทนที่การใช้กฎหมายอิสลามในสี่จังหวัดภาคใต้มาก่อน ต่อมายังยกเลิกตำแหน่งดะโต๊ะยุติธรรม ที่ตัดสินคดีมรดกและครอบครัวของคนมุสลิมไปด้วย นัยของการบังคับดังกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจว่า ศาสนาก็ต้องเป็นศาสนาพุทธอย่างเดียวเท่านั้น ทางการห้ามชาวมลายูเรียนคัมภีร์อัล-กุรอาน ภาษามลายูและภาษาอาหรับ ซึ่งการห้ามดังกล่าวขัดต่อการปฏิบัติกิจทางศาสนาของชาวบ้าน ความไม่พอใจและความตึงเครียดเพิ่มทวีคูณขึ้น

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามประกาศพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ พุทธศักราช ๒๔๘๖ โดยให้เหตุผลว่า "โดยที่เห็นเป็นการสมควรขยายการใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้ทั่วถึง เพื่อความมั่นคงและวัฒนธรรมแห่งชาติ" (19) ที่สำคัญคือในมาตรา ๓ ให้ยกเลิกมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.๒๔๗๗ ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลพระยาพหลฯ ได้ออกกฎหมายให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ ทั่วประเทศ แต่ในมาตรา ๔ ระบุว่าให้ยกเว้น "บริเวณเจ็ดหัวเมืองซึ่งมีกฎข้อบังคับ ร.ศ. ๑๒๐ ในส่วนที่เกี่ยวด้วยครอบครัว" (20) นั่นคือการยอมรับประเพณีปกครองบริเวณ ๔ จังหวัดมุสลิมภาคใต้ซึ่งมีลักษณะพิเศษของตนเองมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๕

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสะท้อนถึงอุดมการณ์ของรัฐไทยที่เปลี่ยนไปด้วยอย่างน่าสนใจยิ่ง การประกาศบทบัญญัติใหม่นี้มีผลให้รัฐบาลต้องยกเลิกตำแหน่งผู้พิพากษาอิสลาม ที่เรียกว่า "ดะโต๊ะยุติธรรม" ซึ่งทำหน้าที่ในการพิพากษาคดีครอบครัวและมรดกของคนมุสลิม ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลยังทำให้รู้สึกว่า ไม่ต้องการประกาศใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยการแต่งงานและทรัพย์สินมรดก ที่ได้มีการแก้ไข และจัดทำขึ้นระหว่างผู้เชี่ยวชาญศาสนาอิสลามและฝ่ายกฎหมายไทย โครงการจัดทำกฎหมายอิสลามนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เพื่อทำให้กฎหมายอิสลามและกฎหมายไทยมีความเป็นเอกภาพและเข้าใจอันดีต่อกัน แต่ในกระบวนการจัดทำกฎหมายอิสลามดังกล่าวนั้นมีความยากลำบากพอสมควร และไม่ค่อยคืบหน้าไปเท่าที่ควร ยิ่งมาประสบภาวการณ์ที่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามประกาศใช้กฎหมายแพ่งฯ ฝ่ายไทยให้ครอบคลุมไปหมดทุกคนทุกภาค จึงยิ่งทำให้ความพยายามดั้งเดิมในการสร้างกฎหมายที่ร่วมกันได้ทั้งสองศาสนา ห่างไกลจากความเป็นจริงมากขึ้น

น่าสนใจว่าการกระทำดังกล่าวนี้ของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะการยุติศาลศาสนาในปัญหาครอบครัวและทรัพย์สินมรดกนั้น ได้ผลักดันให้ชาวมลายูมุสลิมในสี่จังหวัดไม่มีทางออก นอกจากออกไปหาความยุติธรรมในอีกฝั่งของพรมแดนไทย นั่นคือพวกเขาไปให้ศาลศาสนาในรัฐไทรบุรี ปะลิศ กลันตัน และตรังกานู ช่วยตัดสินปัญหาพิพาทในเรื่องดังกล่าวแทน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๖-๒๔๙๐ ไม่ปรากฏว่ามีสำนวนคดีศาสนาในศาลสี่จังหวัดภาคใต้เลย คิดในมุมกลับเมื่อมองย้อนกลับไป นั่นคือการผลักดันให้เกิดการ "แยกดินแดน" ขึ้นโดยรัฐไทยเอง

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาอีกข้อที่มีนัยอันสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของปัตตานี คือการนำไปสู่การเลือกตั้ง "กอฏี" หรือผู้พิพากษาคดีครอบครัวและมรดกโดยอิหม่าม หรือผู้ปกครองที่เป็นมุสลิมในเขตจังหวัดปัตตานี เนื่องจากปัตตานีไม่มีพรมแดนติดต่อกับรัฐมุสลิมในมลายา การเดินทางไปมากับรัฐมุสลิมในมลายูจึงไม่อาจทำได้เหมือนคนในจังหวัดมุสลิมอื่นๆ คนที่ได้รับเลือกให้เป็น "กอฏี" อย่างเป็นเอกฉันท์คือ ฮัจญีสุหลง เนื่องจากเป็นที่ยกย่องและนับถือมาอย่างล้นหลาม และปัญหาการแต่งตั้งดะโต๊ะยุติธรรมก็จะเป็นปมเงื่อนใหญ่อันหนึ่ง ที่ทำให้ฮัจญีสุหลงกลายเป็นหัวหน้าฝ่ายต่อต้านรัฐบาลไป เขานำการต่อสู้เพื่อรักษาความเป็นอิสระของกฎหมายอิสลามในจังหวัดมุสลิมภาคใต้ ฮัจญีสุหลงได้รับการเลือกตั้งในวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ภายใต้ประกาศและบรรยากาศรัฐนิยม คนมลายูมุสลิมถูกห้ามไม่ให้หยุดการทำงานและการเรียนในวันศุกร์ดังแต่ก่อนอีกต่อไป แต่ที่กระเทือนในด้านลึกคือ มีความพยายามของคนไทยพุทธที่จะทำการชักจูงให้คนมุสลิมเปลี่ยนศาสนาด้วย (21)

นัยของปฏิกิริยาและการตอบโต้ของผู้คนในบริเวณดังกล่าวแปลได้หลายอย่าง แต่อย่างหนึ่งที่เห็นได้ก็คือ แสดงว่าชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ได้ประท้วงบอยคอตปฏิเสธอำนาจศาลไทยอย่างเรียบร้อยไปแล้วนั่นเอง โดยไม่ต้องเดินขบวนเรียกร้อง ร้องเรียนไปยังอำนาจรัฐไทยที่ไหนเลย นัยอีกข้อก็คือแสดงว่าอำนาจศาลไทยไม่อาจบังคับจิตใจของคนมุสลิมได้ ดังนั้นอำนาจอธิปไตยเมื่อพิเคราะห์ให้ถึงที่สุดแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความคิดจิตใจที่มีสำนึกของพลเมืองของตนด้วย ไม่เช่นนั้นอำนาจอธิปไตยก็ไร้ความศักดิ์สิทธิ์ไปได้เหมือนกัน เมื่อถึงขั้นนั้นการกล่าวโทษว่าประชาชนไม่เคารพเชื่อฟังอำนาจรัฐก็ไร้ประโยชน์เช่นกัน

+++++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ

(1) อาหมัด ฟัตฮี อัล-ฟาตานี เขียน, นิอับดุลรากิ๊บ ศิริเมธากุล แปลเรียบเรียง, ประวัติศาสตร์ปัตตานี (Pengantar Sejarah patani) (ปัตตานี, โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, ๒๕๔๓), หน้า ๖๙.

(2) อาหมัด ฟัตฮี อัล-ฟาตานี เขียน, นิก อับดุล รากิบ ศิริเมธากุล แปล, ประวัติศาสตร์ปัตตานี, หน้า ๖๙.

(3) อาหมัด ฟัตฮี อัล-ฟาตานี เขียนว่าโรงเรียนของฮัจญีสุหลงถูกผู้มีอำนาจสั่ง "ปิด" หลังจากเปิดสอนได้ ๒ ถึง ๓ ปี และเล่าว่าหลังจากนั้นฮัจญีสุหลงก็ไปเปิดสอนที่สุเหร่าหน้าบ้านของเขา ไม่ทราบว่าอันนี้คือปอเนาะหรือโรงเรียน ข้อมูลเรื่องโรงเรียนจึงขัดกับของเฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร

(4) Wan Kadir Che Man, Muslim Separatism, p. 64.

(5) สมาชิกทั้ง ๔ ท่านประกอบไปด้วย ๑) นายบรรจง ศรีจรูญ หรือ ฮัจญีอับดุลวาฮับ ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ๒) นายแช่ม พรหมยงค์ หรือ ฮัจญีซัมซุดดีน มุสฏอฟา ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรี ๓) นายประเสริฐ ศรีจรูญ ๔) นายการิม ศรีจรูญ ดูศุขปรีดา พนมยงค์, "ชาวไทยมุสลิมในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕" ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๘ (มิถุนายน ๒๕๔๗), หน้า ๑๐๖-๙.

(6) หลัก ๖ ประการของคณะราษฎรมีดังต่อไปนี้ ๑) จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลายเช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง ๒) จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก ๓) จะต้องบำรุงความสุขของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก ๔) จะต้องให้ราษฎรได้สิทธิเสมอภาคกัน ๕) จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวแล้วข้างต้น ๖) จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

(7) Surin Pitsuwan, Islam and Malay Nationalism…, p. 45.

(8) Che Man, Muslim Separatism, p. 64.

(9) ดูแถมสุข นุ่มนนท์ ละครการเมือง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ (กรุงเทพฯ สมาคมประวัติศาสตร์ฯ, ๒๕๓๕)

(10) เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร, หะยีสุหลง…, หน้า ๑๑๗-๒๗.

(11) กย. หนังสือลับ-เฉพาะ ที่ ๔๔๐/๒๔๘๙, ๙ สิงหาคม ๒๔๘๙ ข้าหลวงตรวจการกระทรวงมหาดไทยภาค ๕ ถึงข้าหลวงประจำจังหวัดสตูล เรื่อง "ความเคลื่อนไหวของชาวอิสลาม" อ้างใน เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร, ๒๕๒๙, หน้า ๕๑.

(12) กย. หนังสือลับที่ ๑๗๙๙/๒๔๘๙, ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูล ถึงผู้บังคับบัญชาตำรวจภูธรเขตต์ ๙ เรื่อง "สดับตรับฟังท่าทีของมลายูที่มีต่อคนไทย", เพิ่งอ้าง, หน้า ๕๓.

(13) หจช. แฟ้มสำนักเลขานุการคณะรัฐมนตรี เรื่อง "คดีหะยีสุหลงฯ กับพวก พ.ศ. ๒๔๙๖ อ้างในเฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร หน้า ๒๑.

(14) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ เป็นหลวงพิบูลสงคราม ถือศักดินา ๘๐๐ เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ และลาออกจากบรรดาศักดิ์เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ และเป็นพลตรี เมื่อ ๑ เมษายน ๒๔๘๒ ในที่สุดเป็น จอมพล(บกเรือและอากาศ) เมื่อ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๘๔. โปรดดู อ.พิบูลสงคราม, จอมพล ป. พิบูลสงคราม เล่ม ๑ (พิมพ์ครั้งที่ ๒, กรุงเทพฯ, บริษัทพริกหวานกราฟฟิคจำกัด, ๒๕๔๐)

(15) Thinaphan Nakhata, "National Consolidation and Nation-Building (1939-1947)", in Thak Chalermtiarana, ed., Thai Politics, 1932-1957: Extracts and Documents. (Bangkok: Social Science Association of Thailand, 1978), p. 89.

(16) คุณธรรมของประชาชนผู้รักชาติที่หลวงวิจิตรวาทการเรียกร้องได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญความอดทนสุภาพ ความรักในเกียรติ ในหน้าที่ และการควบคุมตนเองนั้น ทั้งหมดนั้นนำมาจากหนังสือของ Inazo Nitobe เรื่อง Bushido เขาเป็นคนที่หลวงวิจิตรฯ พบขณะอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ดู Scott Barme, Luang Wichit Wathakan and the Creation of a Thai Identity (Singapore: Institute of Southeast Asian Studies, 1993), p. 87.

(17) Thinaphan Nakhata, "National Consolidation…, p. 90.

(18) ความเห็นชาวบ้านจากสมัยโน้น ในเฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร "การต่อต้านนโยบายรัฐบาลในสี่จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย โดยการนำของหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ พ.ศ. ๒๔๘๒-๒๔๙๗" วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. ๒๕๒๙, หน้า ๓๐-๓๑

(19) ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๓ หน้า ๑๐๙๒ ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๖ อ้างใน ณรงค์ ศิริปะชะนะ, ความเป็นมาของกฎหมายอิสลามและดาโต๊ะยุติธรรม (กรุงเทพฯ, บริษัทบพิธจำกัด, ๒๕๑๘), หน้า ๙๗-๙๘.

(20) ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ หน้า ๕๒๙ ลงวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๘ อ้างใน ณรงค์ ศิริปะชะนะ, ความเป็นมาของกฎหมายอิสลามและดาโต๊ะยุติธรรม (กรุงเทพฯ, บริษัทบพิธจำกัด, ๒๕๑๘), หน้า ๙๔-๙๕.

(21) เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร, หะยีสุหลง..., หน้า ๓๒.

 

คลิกกลับไปทบทวน ตอนที่ ๑
คลิกกลับไปทบทวน ตอนที่ ๒
คลิกไปอ่านต่อ ตอนที่ ๔

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.

บรรณาธิการแถลง: บทความทุกชิ้นซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมุ่งทำหน้าที่เป็นยุ้งฉางเล็กๆ แห่งหนึ่งสำหรับเก็บสะสมความรู้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบฉวยไปใช้ได้ตามสะดวก ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของชุมชน สังคม และสมบัติที่ต่างช่วยกันสร้างสรรค์และดูแลรักษามาโดยตลอด. สำหรับผู้สนใจร่วมนำเสนอบทความ หรือ แนะนำบทความที่น่าสนใจ(ในทุกๆสาขาวิชา) จากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก สามารถส่งบทความหรือแนะนำไปได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com (กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน: ๒๘ มกาคม ๒๕๕๐)

ปรากฏการณ์ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยที่ว่านี้ เป็นเพียงผลอันเกิดแต่มูลเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "มูลเหตุ" จากแบบแผนวิธีคิดและประพฤติปฏิบัติ ซึ่งอาจเรียกรวมๆ ว่า "วัฒนธรรมการเรียนรู้" อันเป็นสมบัติแนบเนื่องอยู่กับสังคมวัฒนธรรมหนึ่งๆ สมบัติทางวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ว่านี้ นับเป็นผลพวงของเหตุผลและความจำเป็นตามเงื่อนไขสถานการณ์แห่งยุคสมัย ครั้นเมื่อเงื่อนไขสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป วัฒนธรรมการเรียนรู้ชุดเดียวกันนั้นเอง ก็มักกลายเป็นโทษสมบัติและมิจฉาทิฐิ บั่นทอนความมั่นคงและการดำรงคงอยู่ของสังคม (คำนำ โดยเสน่ห์ จามริก)

04-02-2550

Thai History
The Midnight University

 

H
R
ทุกท่านที่ประสงค์จะติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาจดหมายไปยัง email address ใหม่ midnightuniv(at)gmail.com