บทความวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนบนไซเบอร์สเปซทุกเรื่องไม่สงวนลิขสิทธิ์ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ









Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim
copies of this license
document,
but changing it is not allowed.
บทความลำดับที่ ๑๑๓๕ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๐
24-01-2550

 

 

 

 

 

 

H
power-sharing formulas, options for minority rights, and constitutional safeguards.
R
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น



Reforming Thailand
The Midnight University

การปฏิรูปการเมืองไทยโดยภาคประชาชน
ข้อเสนอรัฐสวัสดิการ - รัฐธรรมนูญคู่ขนาน
พรรคแนวร่วมภาคประชาชน
(Peoples coalition party)
สมานฉันท์ สันติภาพ เสมอภาค

บทความข้างล่างนี้เป็นข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปสังคม การเมือง และร่างรัฐธรรมนูญคู่ขนาน
จากการประชุมเชิงปฏิบัติการของพรรคแนวร่วมภาคประชาชน
ได้มีข้อเสนอออกมา ๑๐ ข้อด้วยกัน อาทิเช่น เสนอให้มีรัฐสวัสดิการ
เสนอเรื่องการปฏิรูปการศึกษา เสนอให้มีกรรมสิทธิส่วนรวม เสนอให้มีการการปฏิรูประบบราชการ การยุติธรรม
และการสร้างพลังประชาชนผ่านการตั้งพรรคการมืองอย่างอิสระ
เป็นต้น
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้มีการแก้ไขและตัดแต่งไปจากต้นฉบับบางส่วน
เพื่อความเหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับเว็บไซต์แห่งนี้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๑๓๕
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๐
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๒.๕ หน้ากระดาษ A4)



ข้อเสนอรัฐสวัสดิการ - รัฐธรรมนูญคู่ขนาน
พรรคแนวร่วมภาคประชาชน - สมานฉันท์ สันติภาพ เสมอภาค

ข้อเสนอจากการประชุมเชิงปฏิบัติการของพรรคแนวร่วมภาคประชาชน
เพื่อการปฏิรูปสังคมและร่างรัฐธรรมนูญคู่ขนาน

พรรคแนวร่วมภาคประชาชน มองว่าการปฏิรูปสังคมไทย ควรกระทำไปเพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยและสร้างความเป็นธรรมในสังคม ดังนั้นกระบวนการนี้ต้องพยายามเปลี่ยนดุลอำนาจในสังคม โดยลดอำนาจข้าราชการ, ทหาร, อภิสิทธิ์ชน, และนายทุน ด้วยการเพิ่มอำนาจของกรรมาชีพ, เกษตรกรรายย่อย, และคนที่ถูกกดขี่ในสังคม เรามีข้อเสนอเฉพาะกาลทั้งหมด 10 ประเด็น ดังนี้

1. รัฐสวัสดิการ
2. การปฏิรูประบบการศึกษา
3. กรรมสิทธิ์ส่วนรวมสาธารณะ
4. การบริหารสังคมรูปแบบใหม่
5. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และตำรวจ/ทหาร
6. ชาตินิยม พรมแดนรัฐชาติ และนโยบายระหว่างประเทศ
7. สิทธิเสรีภาพของประชาชน
8. สื่อสารมวลชน
9. ปกป้องสิ่งแวดล้อมและสร้างระบบยั่งยืน
10. การสร้างพลังภาคประชาชนผ่านพรรคและขบวนการเคลื่อนไหว

1. รัฐสวัสดิการ
พรรคแนวร่วมภาคประชาชน เสนอว่า หัวใจของการปฏิรูปสังคมและการเมืองในยุคนี้ ต้องเป็นการสร้างรัฐสวัสดิการ และการเก็บภาษีก้าวหน้า

ในยุคปัจจุบัน ไม่มีประเทศไหนที่ไม่มีสวัสดิการสำหรับคนจนบางคน ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่แล้วระบบสวัสดิการที่พบในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย มีลักษณะที่ไม่ครอบคลุม, แยกส่วน, และไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนได้ เรียกว่าเป็น "สวัสดิการรัฐ"

แต่รัฐสวัสดิการ (Welfare State) เป็นระบบสวัสดิการรูปแบบที่พัฒนาไปถึงระดับสูงสุดสำหรับระบบทุนนิยม และถูกสร้างขึ้นภายใต้แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democrat) รัฐสวัสดิการมีลักษณะพิเศษคือ

- เป็นระบบครบวงจร ที่ดูแลพลเมือง "จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิต
- เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า คือพลเมืองทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับ โดยไม่เจาะจงว่าต้องเป็นคนจนสุดเท่านั้น
- เป็นระบบสวัสดิการเดียวสำหรับพลเมืองทุกคน ที่อาศัยรัฐเป็นผู้บริหาร ไม่ใช่ว่ามีหลายระบบซ้ำซ้อนกัน
- เป็นระบบสวัสดิการที่อาศัยงบประมาณจากการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า คือคนรวยจ่ายมาก คนจนจ่ายน้อย

รัฐสวัสดิการเป็นระบบครบวงจรและถ้วนหน้า ดังนั้นจะมีองค์ประกอบสำคัญๆ ดังนี้

1. สวัสดิการในรูปแบบเงิน คือสวัสดิการที่ประชาชนสามารถเบิกจากรัฐในกรณี ลาป่วย, บำเหน็จบำนาญเกษียณ, สวัสดิการว่างงาน, สวัสดิการลาคลอด, สวัสดิการเลี้ยงดูบุตร, และสวัสดิการเพิ่มรายได้สำหรับคนที่มีรายได้ต่ำแต่มีงานทำ ฯลฯ

2. ระบบรักษาพยาบาลและยาฟรี ที่ไม่ต้องจ่ายล่วงหน้า ซึ่งรวมถึงสถานดูแลคนชรา และโรงพยาบาลโรคจิตด้วย ระบบการศึกษาฟรีจากอนุบาลถึงระดับมหาวิทยาลัยพร้อมทุนศึกษาแบบ "ให้เปล่า" เพื่อไม่ให้นักศึกษาเป็นภาระกับครอบครัว

3. ความมั่นคงและมาตรฐานในการมีที่อยู่อาศัย ที่สร้างโดยรัฐในราคาถูกแต่มีคุณภาพ ซึ่งจัดให้ประชาชนเช่า

4. มาตรการเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่นระบบการคมนาคมขนส่งมวลชนในราคาถูกที่รัฐอุดหนุน ซึ่งช่วยเสริมประสิทธิภาพในการเดินทาง การสนับสนุนกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมต่างๆ โดยรัฐ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้และมีคุณภาพชีวิต และนอกจากนี้อาจมีสื่อมวลชนประเภทวิทยุหรือโทรทัศน์ ที่เป็นของรัฐซึ่งไม่มุ่งหากำไรอีกด้วย

5. ระบบนักสังคมสงเคราะห์ ที่ให้คำแนะนำกับผู้มีปัญหา ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในครอบครัว และช่วยคนจนเข้าถึงบริการในด้านต่างๆ

6. รักษามาตรฐานความเป็นอยู่ของทุกคน ที่พักอยู่ในประเทศ ดังนั้นสวัสดิการต่างๆ สามารถใช้ได้โดยคนต่างชาติที่มาพักชั่วคราว ศึกษา หรือทำงานในประเทศได้ ในกรณีแรงงานที่มาจากต่างประเทศ สิทธิในสวัสดิการดังกล่าวจะต้องไม่ถูกละเลย เพราะเขาเข้ามาทำงานสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจ และจ่ายภาษีอีกด้วย

เป้าหมายรัฐสวัสดิการ
นอกจากนี้รัฐสวัสดิการมีเป้าหมายชัดเจนสองเป้าหมายคือ

1. เน้นผลในการสร้างความเท่าเทียม (Equality of Outcome) แทนการ "ให้โอกาสเท่าเทียม" (Equality of Opportunity) เพราะการ "ให้โอกาส" บ่อยครั้งไม่ได้สร้างความเท่าเทียมจริง เนื่องจากพลเมืองมีจุดเริ่มต้นที่ต่างกัน เช่นเด็กต่างจังหวัดเข้ามหาวิทยาลัยปิด ยากกว่าเด็กกรุงเทพฯ และในระหว่างเรียนก็อาจตามไม่ทันเพื่อน เพราะโรงเรียนต่างจังหวัดขาดทรัพยากรในการพัฒนานักเรียน. การให้โอกาสเท่าเทียม เช่นการเปิดให้ทุกคนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ โดยไม่สนใจการตรวจผลในโลกของความเป็นจริง เป็นแนวคิดเสรีนิยม และแนวนี้มองว่าการที่บางคน "ใช้โอกาสไม่เท่ากัน"กลายเป็น "ข้อบกพร่องส่วนตัวของบุคคล" โดยแนวคิดนี้ไม่ได้มองโครงสร้างของสังคม

2. เป้าหมายในการสร้างรัฐสวัสดิการคือการเพิ่มเสรีภาพในสังคม โดยเฉพาะเสรีภาพในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่ปราศจากความกลัว เช่น ความกลัวว่าการเจ็บป่วยจะนำไปสู่ความยากจน หรือความกลัวว่าจะไม่มีงานทำ และเลี้ยงครอบครัวไม่ได้. ผู้ที่ออกแบบรัฐสวัสดิการมองว่าเสรีภาพสูงสุดที่จะเกิดขึ้นคือ เสรีภาพที่จะมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมที่มีรัฐสวัสดิการ คือมีการขยายเสรีภาพดังกล่าวอย่างแท้จริง เช่นมีการกำจัดความกลัวในความมั่นคงของชีวิต ทำให้พลเมืองมองว่าเขาไม่ด้อยกว่าผู้อื่นเป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ประชาชนในรัฐสวัสดิการมักหวงแหนระบบนี้อย่างถึงที่สุด

ยิ่งกว่านั้นจากการสำรวจระบบการปกครองทั่วโลก เราจะพบว่าระบบที่มีสวัสดิการดีที่สุดมักมีประชาธิปไตยสูงสุด และระบบที่มีสวัสดิการแย่ที่สุด มักต้องใช้เผด็จการในการกดขี่ประชาชน. แนวคิดเสรีนิยมมักอ้างตลอดว่า รัฐสวัสดิการจำกัดเสรีภาพ ซึ่งอาจจริงถ้ามองจากจุดยืนคนส่วนน้อยที่เป็นอภิสิทธิ์ชนและร่ำรวยจากการทำงานของคนอื่น แต่สำหรับคนส่วนใหญ่กลับเป็นไปในทิศทางตรงข้าม

สวัสดิการทั้งหมดที่ประชาชนผู้ทำงานได้จากรัฐสวัสดิการ ไม่ใช่การกุศล หรือสิ่งที่คนรวย ผู้อุปถัมภ์ หรือกลุ่มทุน "ให้" กับคนจนแต่อย่างใด เพราะมูลค่าทั้งปวงที่ผลิตขึ้นในโลก มาจากการทำงานของมนุษย์เพื่อดัดแปลงทรัพยากรธรรมชาติ. สวัสดิการถือว่าเป็น "ค่าแรงทางสังคมที่ประชาชนร่วมกันบริโภค" (Collectively Consumed Social Wage) ซึ่งแปลว่า การเรียกร้องรัฐสวัสดิการเป็นเพียงการเรียกคืนมูลค่าที่ควรจะเป็นของประชาชนอยู่แล้วตั้งแต่แรก ไม่ใช่การปล้นทรัพย์สินหรือเงินทองจากผู้อื่นแต่อย่างใด

ระบบภาษี
เราไม่สามารถกล่าวถึงรัฐสวัสดิการได้ตามลำพัง เพราะหลายคนกังวลว่าจะนำเงินมาจากไหน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ต้องพิจารณาระบบภาษีด้วย รัฐสวัสดิการต้องอาศัยระบบการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าโดยตรง ซึ่งเก็บจากรายได้, กำไร, มรดก, และทรัพย์สิน(รวมถึงที่ดิน) โดยมีเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำ (Wealth Distribution) เพราะเก็บจากคนรวยในอัตราสูง และนอกจากนี้เป็นแหล่งทุนสำหรับงบประมาณของรัฐสวัสดิการด้วย (Welfare Income Generation)

โดยทั่วไปแล้วสำนักความคิดเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberal) และสำนักความคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democrat) จะมีมุมมองต่อภาษีต่างกัน จุดเริ่มต้นคือ มุมมองเกี่ยวกับบทบาทของรัฐ และบทบาทของธุรกิจเอกชน

ฝ่ายเสรีนิยมมองว่า รัฐควรมีบทบาทน้อยและไม่ควรสร้างภาระให้เอกชนจากการเก็บภาษี สำนักนี้มองว่านักธุรกิจและคนรวยเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเขาควรมีแรงจูงใจในการประกอบธุรกิจ ดังนั้นควรมีโอกาสแสวงหากำไรหรือรายได้สูงสุดโดยไม่มีการจำกัด ถ้าจะเก็บภาษีก็ควรลดภาระให้กับคนรวยและเพิ่มภาระให้คนจนแทน สำนักเสรีนิยมจึงสนับสนุนการเก็บภาษี "ล้าหลัง" (Regressive Taxation) ในรูปแบบ "ภาษีทางอ้อม" (Indirect Taxation) ซึ่งเป็นภาษีที่คนจนจ่ายโดยอาจไม่รู้ตัว เช่นภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) ที่เราจ่ายทุกครั้งที่ซื้อของ หรือภาษีสุรา/บุหรี่ ซึ่งทำให้คนจนรับภาระสูงกว่าคนรวย (เราจึงเรียกว่าภาษีแบบ"ล้าหลัง")

ถ้าดูผิวเผินเราอาจคิดว่าภาษีทางอ้อมเป็นภาษีที่คนรวยจ่ายมาก เพราะคนรวยซื้อของมากกว่าคนจน แต่ในความเป็นจริง เมื่อตรวจสอบดูว่าคนจนกับคนรวยจ่ายภาษีทางอ้อมเป็นสัดส่วนเท่าไรของรายได้และทรัพย์สิน จะพบว่าคนจนจ่ายมากกว่าคนรวย การเก็บภาษีจากคนจนไม่ใช่สิ่งใหม่ ในยุคก่อนทุนนิยมมีการเก็บส่วยจากไพร่และบังคับให้ทำงานโดยไม่มีค่าตอบแทน และทุกวันนี้รัฐไทยยังเก็บภาษีส่วนใหญ่จากภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีทางอ้อมอื่นๆ ในรูปแบบ "ทำนาบนสันหลังคนจน"

ระบบการเก็บภาษีรูปแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย
เป็นระบบภาษีที่เก็บในลักษณะ "ก้าวหน้า" (Progressive Taxation) ภาษีก้าวหน้าเป็นภาษีที่เก็บโดยตรง (Direct Taxation) จากคนรวยและบริษัท ในอัตราสูง โดยที่คนจนจ่ายน้อยหรือไม่จ่ายเลย, บางครั้งมีการเก็บจากคนรวยในอัตราสูงเป็นพิเศษ (Super Tax) เพราะระบบภาษีแบบนี้มี 2 วัตถุประสงค์

1- การหาเงินเข้าคลังเพื่อเป็นงบประมาณรัฐสวัสดิการ และ
2- เพื่อลดระดับความเหลื่อมล้ำ ภายใต้แนวคิดว่าไม่ควรมีใครรวยเกินไปหรือจนเกินไปในสังคม

ตัวอย่างภาษีทางตรงคือภาษีรายได้, ภาษีจากการขายหุ้น, ภาษีมรดก, ภาษีจากกำไรบริษัท, ภาษีทรัพย์สิน, และภาษีที่ดิน เป็นต้น. แต่อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีทางตรงแบบก้าวหน้าเป็นส่วนน้อยของภาษีทั้งหมดที่รัฐไทยเก็บ เพราะประมาณ 66% ของรายได้ภาษีของรัฐไทยมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) และภาษีทางอ้อมอื่นๆ เช่นโภคภัณฑ์ภายใน (รวมภาษีสุราหรือบุหรี่ ฯลฯ)[1] ซึ่งถือได้ว่าเป็น "ภาษีทางอ้อมแบบล้าหลัง" (Indirect Regressive Taxation)

นโยบายภาษีแบบเสรีนิยมของรัฐไทย สะท้อนผลประโยชน์ของชนชั้นนำมาตลอด และทุกวันนี้นักวิชาการอย่าง อัมมาร์ สยามวาลา ก็สนับสนุนภาษีรูปแบบนี้ เช่นในกรณีที่มีการพูดกันว่าโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคขาดเงินงบประมาณ. อัมมาร์ เสนอว่าควรเพิ่มการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยไม่พูดถึงการขึ้นภาษีที่เก็บจากคนรวย[2]
จะเห็นได้ว่า ถ้าจะลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมไทย และระดมรายได้ในการสร้างรัฐสวัสดิการ ต้องมีการปฏิรูประบบภาษีไทย เพื่อเน้นภาษีทางตรงในอัตราก้าวหน้า ในขณะเดียวกันควรมีการยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีทางอ้อมอื่นๆ ที่เป็นภาระกับคนจน

จริงๆ แล้วถ้าเทียบประเทศไทยกับประเทศสิงคโปร์ หรือเกาหลีใต้ จะเห็นว่าไทยมีการเก็บภาษีก้าวหน้าทางตรงน้อย และโดยส่วนใหญ่แล้วรัฐบาลไทยไม่ค่อยนิยมการเก็บภาษีเพื่อบริการประชาชน แต่จะเน้นการเก็บค่าบริการ หรือการใช้กองทุนที่ลูกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบมากกว่า ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ถ้ามีการปฏิรูปภาษีจะนำไปสู่การเพิ่มรายได้สำหรับการสร้างรัฐสวัสดิการในประเทศไทย

2. การปฏิรูประบบการศึกษา
นอกจากประเด็นการสร้างสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงการศึกษาด้วยรัฐสวัสดิการแล้ว เราต้องปฏิรูปการเรียนการสอนเพื่อให้การศึกษามีคุณภาพ และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งแปลว่าเราต้องนำมหาวิทยาลัยและโรงเรียนเข้ามาอยู่ในระบบรัฐ แทนที่จะออกนอกระบบ แต่ในรูปแบบใหม่คือ

- ควรส่งเสริมระบบการศึกษาแบบ Montessori ที่มองว่าเด็กควรเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยมีผู้ใหญ่ช่วย และการเรียนการสอนควรเป็นเรื่องการสำรวจ ในบรรยากาศความสนุกสนานและความตื่นเต้น ควรยกเลิกระบบการสอบคัดออกคือ ระบบแอดมิสชั่น (Admission). สำหรับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ต้องยกเลิกวัฒนธรรมที่คลั่งการสอบและเน้นการท่องจำเพื่อตอบข้อสอบ เพราะเป็นการประเมินให้สอบตก คิดเองไม่เป็น แทนที่จะพัฒนาสร้างมนุษย์ให้มีความหลากหลาย และความคิดสร้างสรรค์

- ห้องเรียนจะต้องมีผู้เรียนเหมาะสม ไม่ควรมีจำนวนผู้เรียนมากเกินไปอย่างในปัจจุบัน เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนมากขึ้นแทนการนั่งฟังและจดบันทึก ต้องเน้นการคิด การตั้งคำถาม การค้นคว้า และการยอมรับแนวความคิดอย่างหลากหลาย ซึ่งแปลว่าต้องจ้างผู้สอนมากขึ้น และเพิ่มอุปกรณ์การเรียนและหนังสือมากขึ้น

- ควรส่งเสริมการศึกษาทางเลือก การศึกษาที่ส่งเสริมวัฒนธรรมในท้องถิ่นนั้นๆ เช่น เปิดสอนภาษาท้องถิ่น เพื่อสร้างความเคารพในความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม

3. กรรมสิทธิ์ส่วนรวมสาธารณะ
ต้องมีการสนับสนุนการถือครองกรรมสิทธิ์แบบส่วนรวม แทนการเน้นการถือครองแบบปัจเจก เช่น กรณีทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ที่ดิน ป่าไม้ ทะเล คลื่น จะต้องส่งเสริมให้เป็นกรรมสิทธิ์ของสาธารณชน ถือครองโดยคนในชุมชนเพื่อให้มีอำนาจในการตัดสินใจร่วมกัน และปกป้องเพื่อประโยชน์ของสังคม เช่น ป่าชุมชน ไม่ให้เอกชนเข้ามาถือครองเพื่อเก็งกำไร ควรมีการส่งเสริมระบบสหกรณ์ด้วย

การปฏิรูปที่ดิน ที่ดินที่เป็นของเอกชนในขณะนี้จะต้องคืนให้แก่รัฐ เพื่อให้มีการแบ่งสรรกันใหม่อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อนำไปใช้ในการผลิตอย่างแท้จริง รวมทั้งการจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการถือครอง ซึ่งรวมอยู่ในข้อเสนอเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการ. ส่วนเรื่องของสาธารณูปโภคควรเป็นทรัพย์สินส่วนรวม ต้องยกเลิกการขายให้เอกชน

4. การบริหารสังคมรูปแบบใหม่
ทรัพยากรสาธารณะ ไม่ควรอยู่ภายใต้อำนาจข้าราชการและรัฐบาลเท่านั้นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ต้องมีการสร้างรูปแบบการบริหารสถาบันสาธารณะแบบใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย เพื่อครอบคลุม รัฐวิสาหกิจ โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ฯลฯ

- การบริหารราชการแผ่นดิน ควรลดให้มีเพียง 2 ส่วนคือ การปกครองส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น ซึ่งทั้งสองควรมาจากการเลือกตั้ง ควรยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาคที่เป็นเครื่องมือของส่วนกลาง เพื่อกระจายอำนาจให้แก่ประชาชน

- ควรนำระบบบริหาร "ไตรภาคี" เข้ามาใช้ในองค์กรสาธารณะ ประกอบด้วย คนจากรัฐบาลส่วนกลางที่มาจากการเลือกตั้ง คนที่ได้รับการเลือกตั้งจากชุมชนที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลได้ผลเสีย และคนที่เป็นตัวแทนผู้ที่ทำงานในองค์กรเหล่านั้น โดยเฉพาะผู้แทนของสหภาพแรงงาน

- ต้องมีการเพิ่มอำนาจให้แก่ชุมชนในการตัดสินใจในเรื่องทรัพยากร โครงการของรัฐ เช่น เขื่อน, โรงไฟฟ้า, ท่อก๊าซ, ถนน ฯลฯ โดยใช้ระบบไตรภาคีดังกล่าว

โดยรวมแล้ว การบริหารสังคมต้องถือหลักว่า ผู้ที่ดำรงตำแหน่งในทุกองค์กรและสถาบันสาธารณะ ต้องมาจากการเลือกตั้ง

5. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และตำรวจ-ทหาร
ควรมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ประชาชนเข้ามาควบคุมตามหลักการประชาธิปไตย ควรลดอำนาจของผู้พิพากษา ตุลาการ และเพิ่มอำนาจให้ประชาชนเพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน โดย

- สำหรับคดีที่มีโทษจำคุก ให้มีระบบใหม่คือ คณะลูกขุนที่มาจากทะเบียนรายชื่อประชากรในเขตนั้นๆ หมุนเวียนกันมาดำรงตำแหน่งคณะลูกขุน เพื่อเป็นผู้ตัดสินคดี โดยที่ผู้พิพากษาเป็นเพียงผู้ชี้แจงประเด็นทางกฎหมายให้กับคณะลูกขุนเท่านั้น

- สำหรับคดีย่อยๆ เกี่ยวกับยาเสพติด และคดีลักขโมยย่อยๆ ควรใช้ระบบผู้พิพากษา แต่ไม่มีการจำคุก ควรใช้นักสังคมสงเคราะห์เข้ามาช่วยให้การชี้แนะให้ผู้ผิดสามารถปรับตัวผ่านการทำงานสาธารณะ

- ประธานผู้พิพากษา และคณะผู้พิพากษาต้องมาจากการคัดเลือกโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของผู้พิพากษาได้ เพื่อให้ผู้พิพากษาเชื่อมโยงกับประชาชนอย่างเหนียวแน่นยิ่งขึ้น

- ให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกกรณี

- ปฏิรูประบบคุกเพื่อเพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักโทษ ลดจำนวนนักโทษในคดีย่อย และเน้นการปกป้องสังคมจากผู้ร้าย
แทนการลงโทษผู้กระทำความผิด

- เน้นการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมผ่านการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน โดยการสร้างรัฐสวัสดิการขึ้น

- นำเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เคยทำผิดในคดีทำความรุนแรงกับประชาชน เช่น ในเหตุการณ์ ๑๔ตุลา, ๖ตุลา, พฤษภาทมิฬ, กรณีตากใบ ฯลฯ มาลงโทษ และให้อำนาจแก่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นผู้ฟ้องอาชญากรของรัฐ พร้อมทั้งนำคัวขึ้นศาล อดีตอาชญากรของรัฐควรถูกกีดกันไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกต่อไป

- ควรยกเลิกการบังคับบัญชาโดยตรงจากส่วนกลาง นั่นคือ ยกเลิกการรวมศูนย์อำนาจการสั่งการ ตำรวจจะต้องเป็นตำรวจของชุมชนอย่างแท้จริง แต่เราต้องปกป้องไม่ให้ตำรวจตกเป็นเครื่องมือของเจ้าพ่อหรือโจรท้องถิ่น ต้องมีการควบคุมโดยชุมชน. ควรส่งเสริมอาสาสมัครในชุมชนให้สามารถเป็นตำรวจอาสาดูแลชุมชนได้

- ประชาชนต้องสามารถตรวจสอบการทำงานของทหารได้ ควรลดงบประมาณทหารให้เหลือน้อยที่สุด เน้นกองกำลังอาสาสมัครของประชาชนแทนอุปกรณ์ในการทำสงคราม. นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งควรเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด

- ตำรวจและทหารไม่ควรมีสิทธิ์ตั้งด่านตรวจคนบนท้องถนนอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบที่กระทำอยู่ในขณะนี้ เพราะนำไปสู่การรีดไถ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน

- ควรเปิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนในสังคมเกี่ยวกับบทบาทตำรวจ เช่น ตำรวจควรปลอดอาวุธหรือไม่ งานบางอย่างเช่นการควบคุมจราจรและการดับเพลิง ควรโอนไปหน่วยงานพลเรือนหรือไม่ ฯลฯ เป็นต้น

- ต้องมีการยกเลิกกฎหมายจากยุคเผด็จการ หรือคำประกาศต่างๆ ของคณะปฏิวัติหรือรัฐประหารที่หลงเหลืออยู่จากอดีตทุกฉบับ

6. ชาตินิยม พรมแดนรัฐชาติ และนโยบายระหว่างประเทศ
กรอบคิดคับแคบแบบชาตินิยม ที่รัฐบังคับกล่อมเกลาประชาชน เป็นอุปสรรคต่อการสร้างสังคมที่ยอมรับความหลากหลายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ควรถูกยกเลิกไป และนำอุดมการณ์ที่เคารพศักดิ์ศรีมนุษย์เข้ามาใช้แทน

ควรส่งเสริมการใช้ภาษาราชการหรือภาษาทางการที่หลากหลาย เช่นการใช้ภาษาพื้นเมืองในส่วนต่างๆ นอกจากนี้ในเขตไหนที่มีประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก หน่วยราชการควรอำนวยความสะดวกโดยใช้ภาษาของประชาชนเหล่านั้น เช่น ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดต่างๆ หรือที่อื่นๆ เป็นต้น ผู้ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยจะต้องได้รับสิทธิและสวัสดิการเหมือนประชาชนสัญชาติไทย

ควรยกเลิกการควบคุมการเข้าออกของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านใน ASEAN ซึ่งหมายความว่าไม่ต้องจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ไม่ต้องควบคุมการเดินทาง และเลิกการเลือกปฏิบัติที่นำไปสู่การทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ควรมีการร่างกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิและสวัสดิการของผู้ลี้ภัย ซึ่งเข้ามาในดินแดนไทย, ผู้ลี้ภัยควรได้รับสวัสดิการสาธารณสุขและการศึกษา ผู้ลี้ภัยไม่ควรต้องถูกกักกันในค่ายตามชายแดนหรือที่อื่น หรือถูกห้ามไม่ให้ประกอบอาชีพเลี้ยงตนเอง นอกจากนี้ผู้ลี้ภัยต้องไม่ถูกบังคับส่งกลับโดยเฉพาะในกรณีที่ประเทศของตนมีสงครามหรือปกครองด้วยระบบเผด็จการ

นโยบายการต่างประเทศ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่เป็นผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ ได้แก่ การทำสนธิสัญญาการค้าเสรีกับต่างประเทศ, การก่อสงคราม, หรือการส่งทหารไปสนับสนุนมหาอำนาจตะวันตก เป็นต้น

ในกรณีสามจังหวัดภาคใต้ ควรมีการถอนทหารและตำรวจออกจากพื้นที่ ยกเลิกกฎหมายฉุกเฉิน และสร้างบรรยากาศสันติภาพและความมั่นใจ เพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาโดยประชาสังคมของคนในพื้นที่ซึ่งมีความคิดหลากหลาย. การแก้ปัญหาภาคใต้ทำไม่ได้ ถ้ามีการตั้งเงื่อนไขรูปแบบการปกครองไว้ล่วงหน้าโดยรัฐ ต้องมีเสรีภาพเต็มที่ ที่จะปกครองตนเองตามระบบประชาธิปไตยในรูปแบบใดๆ ก็ได้

นอกจากนี้การปกครองตนเองในรูปแบบหลากหลายควรเป็นสิทธิของพื้นที่อื่นๆ ในภาคอื่นๆ อีกด้วย เช่นในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น ชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ควรมีสิทธิออกกฎหมายเองตามประเพณีและความเชื่อที่หลากหลาย ถ้าไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

การปฏิรูปการเมือง ต้องเปิดพื้นที่สาธารณะให้มีการถกเถียงกันตามระบอบประชาธิปไตย และพัฒนาสิทธิของคนชายขอบ หรือคนที่มีมุมมองต่างจากกระแสหลัก เพื่อสร้างเสรีภาพในสังคม ต้องมีการเคารพสิทธิในความเชื่อและวัฒนธรรม รวมถึงภาษา. สังคมไทยควรจะให้ความเท่าเทียมกับวันสำคัญของศาสนาอื่นนอกเหนือจากศาสนาพุทธ และภาษาไทยไม่ควรจะเป็นภาษาประจำชาติภาษาเดียว

ในโรงเรียนต่างๆ ควรจะมีการปฏิรูปหลักสูตรเพื่อสร้างความหลากหลาย และเพื่อสนับสนุนการคิด การตั้งคำถาม การโต้แย้ง แทนการท่องจำ ควรสอนภาษาท้องถิ่นควบคู่กับภาษาไทย และไม่ควรจะมีการชี้นำทางศาสนาในโรงเรียน ศาสนาควรเป็นเรื่องส่วนตัว นอกจากนี้จะต้องมีการปฏิรูปการเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์และที่มาในกระบวนการสร้างชาติ เพื่อสะท้อนความหลากหลายและความเป็นจริง. เราต้องบังคับให้รัฐบาลยกเลิกความพยายามที่จะนิยาม "ความเป็นไทย" เพื่อให้มีการยอมรับความหลากหลาย นอกจากนี้ความเป็นธรรมและมนุษยธรรมควรสำคัญกว่า ข้ออ้างเรื่อง"ผลประโยชน์ของชาติ" เสมอ

7. สิทธิเสรีภาพของประชาชน
จะต้องลดอำนาจรัฐในการเข้ามาก้าวก่าย และครอบงำการตัดสินใจของปัจเจกบุคคลในเรื่องดังต่อไปนี้

- รัฐไม่ควรใช้แนวคิดคับแคบเรื่องสถาบันครอบครัว จารีตประเพณี มากำหนดนโยบายหรือกฎหมาย ทุกคนควรมีสิทธิ์ที่จะมีวิถีชีวิตตามความสมัครใจ ซึ่งจะช่วยลดการเลือกปฏิบัติทางเพศในสังคม

- ร่างกาย, ผู้หญิงควรมีสิทธิทำแท้งได้อย่างเสรีและปลอดภัย และวัยรุ่นควรมีสิทธิในการป้องกันตัวผ่านการเข้าถึงระบบคุมกำเนิดที่ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ

- การใช้ยาเสพติด ควรเน้นนโยบายลดความเสี่ยงต่างๆ ให้แก่ผู้ใช้ยาเสพติด เช่น ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ยาเสพติด แจกเข็มฉีดยาสะอาดฟรี ยกเลิกบทลงโทษผู้ใช้ยา เพื่อป้องการแอบซ่อน และก่อให้เกิดการเสี่ยงอันตรายยิ่งขึ้น รวมไปถึงการรณรงค์ป้องกันโรคเอดส์อย่างทั่วถึง ควรมีการทำความเข้าใจว่าการติดยามีหลายมิติ ไม่ใช่แค่มิติเคมี และควรมีการเปรียบเทียบภัยจากการใช้ยาชนิดต่างๆ เช่นสุรา บุหรี่ กาแฟ ยาอี กัญชา เฮโรอีน ฯลฯ ด้วยหลักการวิทยาศาสตร์

- ศาสนาต้องเป็นเรื่องส่วนบุคคล ทุกคนมีสิทธิจะนับถือศาสนาหรือไม่นับถือศาสนาได้ หรือก่อตั้งนิกายใหม่ขึ้นมาอย่างเสรีได้ รัฐไม่ควรเข้ามาควบคุมเรื่องศาสนา

- ในกรณีเชื้อชาติ และภาษา ต้องเคารพในความแตกต่างในวัฒนธรรม เพื่อไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรง การดูถูกเหยียดหยาม โดยส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นเรียนรู้ภาษาของตนเองและของถิ่นอื่นๆ ได้

- พลเมืองควรมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกความสัมพันธ์ทางเพศตามรสนิยมส่วนตัว คนรักเพศเดียวกันควรมีสิทธิ์แต่งงาน

- ควรยกเลิกกฎหมายค้าประเวณีทั้งหมด เพื่อไม่ให้ผู้บริการเพศถูกมองว่าเป็นอาชญากร

8. สื่อสารมวลชน
ควรตั้งสถาบันสื่อสาธารณะ ไม่ให้อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาล กองทัพ และบริษัทเอกชน. ควรใช้เงินภาษีของประชาชนเพื่อเป็นงบประมาณการทำงานของสถาบันสื่อสาธารณะนี้ โดยไม่มีการโฆษณา เพราะในอดีตการใช้งบประมาณโฆษณา เป็นวิธีคุมสื่อของกลุ่มทุนวิธีหนึ่ง และต้องมีการบริหารโดยใช้ระบบไตรภาคีที่กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น คือ ประกอบด้วยตัวแทนของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง, ตัวแทนของผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ศิลปิน, ผู้ทำรายการ, ผู้แทนชุมชน ฯลฯ และตัวแทนของสหภาพแรงงาน

สื่อทุกประเภทไม่ควรมีการเซ็นเซอร์จากรัฐแต่อย่างใด และต้องส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึง และมีส่วนร่วมในการสร้างสื่อทุกรูปแบบ เช่น วิทยุชุมชน อินเตอร์เน็ท สิ่งตีพิมพ์ โทรทัศน์ ฯลฯ สังคมต้องสามารถพูดถึงและตรวจสอบทุกสถาบันในสังคมได้ ดังนั้น ต้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

9. ปกป้องสิ่งแวดล้อมและสร้างระบบยั่งยืน
ระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน และความเหลื่อมล้ำทางอำนาจได้สร้างปัญหาจากการทำลายสิ่งแวดล้อม เราอยู่ในสังคมที่ไม่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน การปฏิรูปสังคมต้องเน้นการผลิตพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบทางเลือกใหม่ ที่ไม่สร้างหนี้สินกับประเทศ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ทำกินของประชาชน, ต้องมีการอุดหนุนพลังงานแสงแดดและพลังงานจากลม โดยมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งเหล่านี้ในปริมาณที่มากขึ้นเท่าใด ภายในระยะเวลานานเท่าใด

ต้องมีการอุดหนุนระบบขนส่งมวลชนคุณภาพดี เช่นระบบรถไฟ แทนที่จะเน้นยานยนต์ส่วนตัวที่สร้างอันตรายบนท้องถนนและทำลายสิ่งแวดล้อม การคมนาคมระหว่างเมืองต่างๆ ต้องเน้นรถไฟสมัยใหม่แทนรถบรรทุกหรือเครื่องบิน ซึ่งเปลืองทรัพยากรและทำลายระบบนิเวศน์

ประชาชนในท้องที่ต่างๆ ต้องเป็นศูนย์กลางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้หรือทะเล ประชาชนต้องกำหนดว่าเขตใดควรอนุรักษ์ และการอนุรักษ์ควรกระทำในรูปแบบไหนด้วย ไม่ใช่ว่ากรมป่าไม้หรือรัฐบาลกลางประกาศเขตอนุรักษ์โดยไม่ฟังเสียงประชาชน

พืชและสัตว์ GMO ควรมีการควบคุมอย่างเคร่งครัดโดยประชาชน โดยเฉพาะขบวนการเกษตรกรและองค์กรอื่น ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการผูกขาดอำนาจโดยบริษัทใหญ่และการทำลายสิ่งแวดล้อม ภัยจากไข้หวัดนก โรควัวบ้า และปัญหาสารพิษ ชี้ให้เห็นว่าการผลิตอาหารในระบบอุตสาหกรรมของกลุ่มทุนใหญ่ในภาคเกษตร ได้สร้างปัญหาให้ประชาชน ดังนั้นต้องมีการพัฒนาเกษตรทางเลือก

10. การสร้างพลังภาคประชาชน ผ่านพรรคและขบวนการเคลื่อนไหว
ถ้าจะผลักดันการปฏิรูปสังคม เราต้องเสริมสร้างพลังของภาคประชาชน ซึ่งเป็นพลังเดียวที่สามารถขยายพื้นที่ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม เราต้องมีการขยายสิทธิในการรวมตัวกันของภาคประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ต้องมีการลดข้อจำกัดในการก่อตั้งสหภาพแรงงานในสถานที่ทำงาน เช่นกฎหมายที่ระบุว่า สหภาพแรงงานต้องจดทะเบียน กฎหมายที่ห้ามการตั้งสหภาพแรงงานในภาคเกษตร ในแวดวงข้าราชการ ในมหาวิทยาลัยเอกชน และกฎหมายที่กีดกันสิทธิการตั้งสหภาพของแรงงานข้ามชาติ หรือผู้บริการทางเพศ, เราต้องสนับสนุนอำนาจการต่อรองกับนายจ้างของสหภาพแรงงาน ซึ่งรวมถึงสิทธิในการนัดหยุดงานอย่างเสรีด้วย เพราะถ้าขาดสิทธิการนัดหยุดงานก็จะไม่มีอำนาจต่อรอง

ประชาชนในชนบทต้องมีสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกัน และต้องสามารถสร้างขบวนการเคลื่อนไหวโดยปราศจากการข่มขู่ ปราบปราม หรือการสกัดกั้นโดยภาครัฐ และที่สำคัญพอๆ กัน เราต้องต่อสู้เพื่อสิทธิที่จะประท้วงอย่างเสรีตามท้องถนน ซึ่งเป็นรูปแบบการมีส่วนร่วมที่มีความชอบธรรม

ในเรื่องการเมืองต้องมีการยกเลิกการจำกัดสิทธิในการตั้งพรรคการเมืองของภาคประชาชน ซึ่งทุกวันนี้กระทำผ่านการกำหนดคุณสมบัติต่างๆ ไม่ควรจะมีการจดทะเบียนพรรคการเมือง แค่แจ้งเจตนาก็เป็นการเพียงพอแล้ว. กฎหมายเลือกตั้งต้องมีการแก้ไข โดยยกเลิกการลงคะแนนเสียงตามทะเบียนบ้าน และเปลี่ยนไปลงคะแนนเสียงในเขตที่อยู่อาศัยประจำวัน ซึ่งจะสะท้อนลักษณะความเป็นจริงของการอยู่อาศัยของคนเมือง

นอกจากนี้ต้องยกเลิกกฎหมายที่ระบุว่า สส. ต้องจบปริญญาตรี และ สส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง. ถ้าจะมีวุฒิสภา(ซึ่งอาจไม่จำเป็น) ควรเปลี่ยนกฎหมายให้ผู้ลงสมัครหาเสียงและสังกัดพรรคได้อย่างเปิดเผย แทนที่จะสร้างนิยายว่าวุฒิสภา "ปลอดการเมือง" นอกจากนี้ผู้แทนของประชาชน เช่น ส.ส.ควรได้รับเงินเดือนและสวัสดิการเท่ากับเงินเดือนและสวัสดิการเฉลี่ยในสังคม ไม่ใช่ให้ สส.เป็นอภิสิทธิ์ชน

องค์กรอิสระหลายองค์กรอาจจะยกเลิกไปได้เพราะไม่เคยสะท้อนเสียงของประชาชน และไม่สามารถทำหน้าที่อย่างที่กล่าวอ้างไว้ แต่ถ้าจะคงไว้ในกรณีองค์กรสิทธิมนุษยชน หรือองค์กรเลือกตั้ง ต้องประกอบไปด้วยผู้แทนของสาขาอาชีพต่างๆ ตามความเป็นจริงในสังคมไทย ดังนั้นประมาณ 40% ต้องเป็นกรรมาชีพ 40% ต้องเป็นเกษตรกร เป็นต้น

บทส่งท้าย
การเรียนรู้จากภาคประชาชนสากล
พรรคแนวร่วมภาคประชาชนมองว่า ในการผลักดันการปฏิรูปสังคมและการเมืองของภาคประชาชนในประเทศไทย เราควรศึกษากระบวนการในประเทศอื่นด้วย เช่น

1. ข้อเสนอเรื่อง "รัฐบาลปฏิวัติชั่วคราว" (Transitional Revolutionary Government) ของ Laban ng Masa (แนวร่วมมวลชนต่อสู้) ประเทศฟิลิปปินส์

2. "กรรมการชุมชน" ในประเทศ Venezuela ภายใต้กระบวนการปฏิวัติสังคมของ ฮูโก ชาเวส ซึ่งประกอบไปด้วยสามส่วนคือ คณะกรรมการที่ออกกฎระเบียบในชุมชน, ธนาคารชุมชนซึ่งใช้เงินรัฐในการพัฒนาชุมชน, และคณะกรรมการควบคุมสังคมซึ่งดูและตรวจสอบสององค์กรแรก. ทั้งสามส่วนประกอบไปด้วยผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง และผู้แทนของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งกระบวนการนี้มีเป้าหมายเพื่อลดอำนาจของข้าราชการในรัฐเก่า

3. การบริหารชุมชนของ Zapatista ใน Mexico

4. การสร้างรัฐสวัสดิการในยุโรปตะวันตกหลังสงครามโลก

5. การสร้างพรรคการเมืองของภาคประชาชนแบบใหม่ในอังกฤษ เยอรมัน บราซิล และเกาหลีใต้

พรรคแนวร่วมภาคประชาชน ธันวาคม ๒๕๔๙
(แก้ไขล่าสุด 19 ธันวาคม 2549)

+++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถ

[1] สำนักงบประมาณสำนักนายกรัฐมนตรี(๒๕๔๘)
"เอกสารงบประมาณฉบับที่2 งบประมาณรายรับประจำปีงบประมาณ ๒๕๔๙" ทีเอลิฟฟิงจำกัด กทมฯ

[2] Bangkok Post 31/01/06

 

คลิกไปที่ กระดานข่าวธนาคารนโยบายประชาชน

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ก่อนหน้านี้ สามารถคลิกไปอ่านได้โดยคลิกที่แบนเนอร์




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1100 เรื่อง หนากว่า 18000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 


 

 

เป้าหมายในการสร้างรัฐสวัสดิการคือการเพิ่มเสรีภาพในสังคม โดยเฉพาะเสรีภาพในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่ปราศจากความกลัว เช่น ความกลัวว่าการเจ็บป่วยจะนำไปสู่ความยากจน หรือความกลัวว่าจะไม่มีงานทำ และเลี้ยงครอบครัวไม่ได้. ผู้ที่ออกแบบรัฐสวัสดิการมองว่าเสรีภาพสูงสุดที่จะเกิดขึ้นคือ เสรีภาพที่จะมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมที่มีรัฐสวัสดิการ คือมีการขยายเสรีภาพดังกล่าวอย่างแท้จริง เช่นมีการกำจัดความกลัวในความมั่นคงของชีวิต ทำให้พลเมืองมองว่าเขาไม่ด้อยกว่าผู้อื่นเป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ประชาชนในรัฐสวัสดิการมักหวงแหนระบบนี้อย่างถึงที่สุด ยิ่งกว่านั้นจากการสำรวจระบบการปกครองทั่วโลก เราจะพบว่าระบบที่มีสวัสดิการดีที่สุดมักมีประชาธิปไตยสูงสุด และระบบที่มีสวัสดิการแย่ที่สุด มักต้องใช้เผด็จการในการกดขี่ประชาชน