Free Documentation License
Copyleft : 2006, 2007, 2008
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of this license
document, but changing it is not allowed.

หากนักศึกษา และสมาชิกประสงค์ติดต่อ
หรือส่งบทความเผยแพร่บนเว็บไซต์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรุณาส่ง email ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง
ภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการค้นหาความจริง อธิบายความจริง ตีความความจริง และสืบค้นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความจริง
บทความวิชาการทุกชิ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างถาวรเพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังเปิดรับงานแปลทุกสาขาวิชาความรู้ ในโครงการแปลตามอำเภอใจ และยังเปิดรับงานวิจัยทุกสาขาด้วยเช่นกัน ในโครงการจักรวาลงานวิจัยบนไซเบอร์สเปซ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน สนใจส่งผลงานแปลและงานวิจัยไปที่ midnightuniv(at)yahoo.com

The Midnight University

postmodernism vs. modernism
Postmodernism : วิจารณ์ยุคสว่างและการใช้เหตุผลที่ผิดพลาด ๑
ทัศนัย เศรษฐเสรี
คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทบรรยายชิ้นนี้เป็นโครงการเสวนาคณะวิจิตรศิลป์ ครั้งที่ ๑/๒๕๔๙
หัวเรื่องที่พูดคือ Postmodern ideas
บรรยายที่หน้าคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิททยาลัยเชียงใหม่
วันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๙ เวลา ๑๗.๐๐ - ๑๙.๐๐ น.
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 975
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 17.5 หน้ากระดาษ A4)




Postmodernism : วิจารณ์ยุคสว่างและการใช้เหตุผลที่ผิดพลาด ๑
ทัศนัย เศรษฐเสรี : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
6 กรกฎาคม 2549 เวลา 17.00-19.00 น.

ความนำ : Postmodern ideas
สิ่งที่จะพูดวันนี้เป็นเรื่อง Postmodern ideas อันที่จริงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างกว้าง ในส่วนที่เตรียมมาเป็นเรื่องในทางทฤษฎี และประเด็นเฉพาะที่บรรดานักคิดได้ถกเถียงกันในบรรยากาศของหลังสมัยใหม่ เช่นในเรื่องภาพตัวแทน(representation), ในเรื่องภาษากับความจริง, และจะมีการอ้างอิงต่างๆ ในส่วนของนักวิชาการหลังสมัยใหม่ ซึ่งจะอ้างอิงถึงบ้าง แต่ไม่ได้ลงไปในรายละเอียดสำหรับในที่นี้

เวลาที่เราพูดถึง Postmodern เพื่อจะไม่ทำให้เกิดความสับสนและทำให้พูดและเข้าใจง่ายขึ้น ในที่นี้จะแบ่งออกเป็น 3 ช่องด้วยกัน เวลาที่เราพูดถึง postmodern ดังนี้

1. postmodernism
2. postmodernity
3. the postmodern

Postmodernism
คำว่า postmodernism ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องของกรอบคิด, ทฤษฎี, ปัญหา, ข้อถกเถียงเชิงตรรก, ปัญหาพูดคุยกันเชิงปรัชญา อันเกี่ยวโยงกับระบบคิด วิธีคิด ที่มีต้นเค้ามาจากแนวคิดสมัยใหม่ ย้อนกลับไปถึง the Enlightenment ซึ่งถ้าเป็นกองหนังสือก็ถือว่าเป็นหนังสือกองใหญ่ ของบรรดานักวิชาการที่เราค้นเคยกันอยู่ เช่น Foucault, Derrida, Habermas, Lyotard, Guy Deluze, เป็นต้น

Postmodernity
ถ้าเราพูดถึง postmodernity จะเป็นปรากฏการณ์ของ postmodern สิ่งที่เขาถกเถียงกันก็คือว่า mode of production, วิธีการผลิตที่เปลี่ยนไป จากการผลิตแบบสายพาน สู่การผลิตแบบแยกส่วน การไหลบ่าของแรงงาน ภาวะโลกาภิวัตน์ ประดิษฐกรรมทางเทคโนโลยี การเดินทาง สิ่งพิมพ์และสื่อต่างๆ ที่ทำให้วิถีชีวิตทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป สำหรับคำว่า Postmodernisty นี้ จะพูดถึงชีวิตทางสังคม เทคโนโลยีและเศรษฐกิจ รวมถึงปรากฏการณ์ทางสังคม วัฒนธรรม และศาสนาที่เปลี่ยนไป

The Postmodern
สำหรับคำว่า the Postmodern ใช้คำว่า the นำหน้า ทำให้คำนี้เป็นคำนาม แต่ถ้าตัดเอา the ออกก็จะใช้ในฐานะคุณศัพท์ อย่างเช่น postmodern style, postmodern art, postmodern architecture, postmodern marketing, postmodern business เป็นต้น

สำหรับคำว่า the postmodern นี้ จะพูดถึงปรากฏการณ์หรือสไตล์ร่วมสมัย สไตล์แบบหลังสมัยใหม่ ซึ่งก็คือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม-เศรษฐกิจแบบ postmodernity และภายใต้กรอบของวิธีคิดและตรรกวิทยา หรือการถกเถียงกันทางปรัชญาแบบ postmodernism

เพราะฉะนั้น เวลาเราพูดถึง postmodern art ก็จะนึกถึงสไตล์ทางศิลปะว่า ศิลปะแบบ postmodern มีลักษณะอย่างไร พูดถึงสไตล์ทางด้านสถาปัตยกรรมว่า สถาปัตยกรรมแบบ postmodern มีลักษณะอย่างไร ? มีการเชื่อมโยง มีการหยิบยืม มีการทำให้มันไร้ราก สัญลักษณ์ที่นำมาประกอบต่างๆ อันนี้เป็นการพูดถึงปรากฏการณ์(appearance)ที่เป็นสไตล์

แต่ถ้าเราไม่เข้าใจ postmodernity คือการเปลี่ยนแปลงทางสังคม-เศรษฐกิจ-และวัฒนธรรมแบบ postmodernity ซึ่งเชื่อมโยงกับระบบคิดที่เปลี่ยนไปแบบ postmodernism เราก็จะไม่เข้าใจคำว่า postmodern style เราก็จะไปวิเคราะห์เพียงแค่ อาคารหลังนี้ประกอบไปด้วยประตูหน้าต่างอย่างไร? ทาสีอะไร? เอาหลังคามาจากไหน? ซึ่งเราก็จะไม่เข้าใจว่า ภายใต้องค์ประกอบเหล่านั้น มันมีวิธีคิดอะไรอยู่เบื้องหลัง ภายใต้เงื่อนไขอะไรทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

เพราะฉะนั้น คำ 3 คำที่ยกมานี้จะต้องแยกว่าเราจะพูดถึงเรื่องอะไร สำหรับเรื่องที่จะพูด

สาระสำคัญของคำว่า Postmodernism
สำหรับสาระของวันนี้ จะเน้นหนักไปในเรื่องของ postmodernism ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงวิธีคิด โดยปรกติแล้ว คำรวมๆ คือคำว่า postmodern ที่ม่มี the, ไม่มี nity, ไม่มี ism, เวลาเราพูดถึง postmodern ส่วนใหญ่แล้วก็จะอ้างอิงถึงงานเขียนหรือทฤษฎี และปฏิบัติการ หรือการฝึกฝนทางสุนทรีย์ศาสตร์และทางศิลปะ หรืองานเขียนทางวรรณกรรม ฯลฯ เพราะฉะนั้น postmodern จึงไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่หลายคนมักจะวิจารณ์ว่า ไม่เห็นจะมีอะไร ? มันก็เป็นแค่ช่องว่างของการพัฒนาจาก modern อันที่จริงแล้ว มันเชื่อมโยงอยู่กับสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา

เวลาเราพูดถึง postmodern ขึ้นมาเมื่อใด หลายคนมักจะเบือนหน้าหนี เพราะมันค่อนข้างกว้าง และค่อนข้างจะให้คำนิยามที่ชัดเจนได้ยาก ไปๆมาๆคำนิยามเหล่านี้ก็ไม่นำไปสู่เป้าหมายอะไรสักอย่างหนึ่ง เหมือนกับหมาเห่าใบตองแห้ง ไม่เกิดอะไรขึ้น ไม่มีทางออก ไม่เห็นจะมี action ไม่เห็นจะมีปฏิบัติการหรือกิจกรรมอะไรเกิดขึ้นมาเลยหลังจากการพูด แล้วพูดไปพูดมาก็งง หลายคนจึงไม่อยากจะพูดถึง หลายคนก็เป็นเพียงแค่บริโภคทฤษฎีแบบหลังสมัยใหม่ เพื่อเอาไว้ประดับความรู้ และรู้สึกว่าอ่านแล้วรู้สึกชอบแต่ว่าไม่ได้ไปถึงไหน อีกทั้งยังทำให้หลายคนอึดอัด

อันนี้รวมทั้งวิธีคิด วิธีพูด และวิธีการบรรยายต่อปรากฏการณ์แบบ postmodern มันใช้ภาษาและศัพท์แสงที่ค่อนข้างแปลก หมายความว่า แตกต่างและไม่คุ้นเคย ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่เคยชินกับสิ่งที่เรามีประสบการณ์มาจากโครงสร้างของความเป็นสมัยใหม่ อย่างเช่น อาจารย์ที่สอนผม Homi Bhabha เวลาพูดถึงแนวคิดแบบ postmodern ผ่านงานเขียน อาจารย์จะใช้ศัพท์แสงที่รุ่มร่าม ยุ่งยาก อ่านแล้วไม่เข้าใจ อ่านแล้วต้องเปิดพจนานุกรม 10 เล่ม เพราะใช้คำศัพท์แบบที่มนุษย์ทั่วไปไม่ใช้ คืออันนี้เป็น tactics (กลยุทธ์) ที่จะวิจารณ์วิธีคิดแบบ modern วิธีคิดแบบ narrative วิธีคิดแบบที่มีจุดเริ่มต้น วิธีคิดที่มีบทสรุปของปัญหา

อาจารย์ Homi Bhabha นอกจากจะวิจารณ์เชิงเนื้อหาแล้ว การแสดงออกก็เป็น tactics และการแสดงออกของ postmodern ส่วนใหญ่ จะสร้างปัญหาแก่การทำความเข้าใจ แม้กระทั่งศิลปินเอง เวลาศิลปินที่ถูกพิจารณาว่าร่วมกระแสกับ postmodern หลายคนก็จะรู้สึกว่าดูงานของคนเหล่านี้ไม่รู้เรื่อง ดูๆ แล้วเป็นเรื่องที่ไร้สาระ ไม่เห็นเข้าใจ ไม่เห็นถึงเนื้อหาเชิงลึกอะไร แตะแต่เพียงพื้นผิวของปรากฏการณ์เล่นๆ ไปวันๆ ไม่ได้คิดแบบ grand narrative หรือคำอธิบายที่มันเป็นอภิปรัชญาขนาดใหญ่ หรือเป็นมหากาพย์แต่อย่างใด ? ศิลปินบางคนไม่ให้คำอธิบายอะไรด้วยซ้ำ บ้าๆบอๆ เลอะๆเทอะๆ ยิ่งกว่าศิลปินในยุค modern แรกๆ เสียอีก อันนี้จึงทำให้เกิดความยุ่งยากแก่การทำความเข้าใจ ทำให้หลายคนอยากเบือนหน้าหนี

เริ่มแรกทีเดียว เวลาพูดถึง postmodern มีคน 3 กลุ่มที่อยู่ร่วมขบวนการปลุกกระแสแบบ postmodern คือ

1. คนที่ทำงานอยู่ในด้านมนุษยศาสตร์ อย่างเช่นพวกที่อยู่ในภาควิชาปรัชญา ภาควิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาการการจัดการข้อมูล เป็นต้น

2. ส่วนกลุ่มต่อมาคือคนที่ทำงานอยู่ในด้านสังคมศาสตร์ เกิดอะไรขึ้นกับปัญหาทางสังคม เกิดอะไรขึ้นกับปรากฏการณ์ร่วมสมัยใหม่ๆ, mobile life style, ปรากฏการณ์อะไรที่มันไม่เคยเป็นมาก่อน ที่ดูแล้วไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ และ

3. คือคนที่ทำงานทางด้านศิลปะ(artistic practice) คือคนที่ปฏิบัติการและฝึกฝนมาทางด้านศิลปะ เช่น นักวรรณกรรม คนทำงานทางด้านทัศนศิลป์ อย่างเช่น จิตรกร ประติมากร หรือพวก new media installation รวมทั้งสถาปัตยกรรม และงานออกแบบต่างๆ ด้วย

อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์แบบ postmodern ซึ่งอีกสักครู่ถ้าเราดูกันดีๆ มันก็ไม่ได้ใหม่อะไร แต่ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเปลี่ยนแปลง และสำนึกของบุคคลทางสังคมรวมถึงวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง คือเราเถียงไม่ได้ว่างานของนักคิดแบบ postmodern มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงโลกอะไร ? นั่นคือ ปัจจุบันเรามีการพูดถึงคนชายขอบ เราให้ที่ยืนกับคนนอกทั้งหลาย คนหัวล้าน คนอ้วน คนที่น่าเกลียด รวมทั้งผู้หญิง ทั้งหมดเหล่านี้ได้มีที่ยืนทางสังคมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง คนด้อยโอกาส เริ่มมีที่ทางของตนเองมากขึ้น

อันนี้เถียงไม่ได้ต่อมาว่า ส่วนหนึ่งที่เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นเป็นผลกระทบมาจาก แนวความคิดที่เปลี่ยนไป โดยการปลุกกระแสความคิดของบรรดานักคิดแบบ postmodern อันนี้ไม่ได้หมายความว่านักคิดแบบ postmodern ตกมาจากฟ้า แล้วก็มาปลุกกระแสโลก อันที่จริงนักคิดก็คือผลผลิตทางสังคมและวัฒนธรรม ร่วมกระแสประวัติศาสตร์อย่างเดียวกันกับเรานี่เอง เวลาอ่านงานพวกนี้ก็ต้องเชื่อมโยงกันให้ได้

postmodernism ในฐานะทฤษฎีก็เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์. postmodernity ในฐานะปรากฏการณ์ทางสังคม อย่างไรก็ดี มันเปลี่ยนวิธีคิดและสำนึกทั้งหลาย ซึ่งก่อนหน้านี้เคยคิดว่ามันมั่นคง เป็นกรอบ เป็นกฎ แล้วเถียงไม่ได้ อันนี้เริ่มถูกสั่นคลอน

การโต้แย้งกับ Modernism
สิ่งที่เป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันหนักๆ และถกเถียงกันอย่างรุนแรง เป็นเป้าที่บรรดานัก postmodern กำลังโต้แย้งก็คือ แนวคิดแบบ modernism หรือแนวคิดแบบสมัยใหม่ ซึ่งคำถามในที่นี้คือ ทำไมต้องเป็นแนวคิดสมัยใหม่ถึงเป็นเป้าหมาย(ของการโต้แย้ง) ?

ง่ายๆ คือ หลังจากที่เกิดการทดลองแนวคิดสมัยใหม่มาช่วงเวลาหนึ่ง ตั้งแต่ปลายคริสตศตวรรษที่ 19 มาจนถึงกลางๆ คริสตศตวรรษที่ 20 จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ที่เป็นปัญญาชนทางสังคมในที่ต่างๆ ของโลก เริ่มเห็นว่า project หรือโครงงานที่เคยได้รับการรับรองและเป็นความหวังของสมัยใหม่ มันไม่ทำงาน มันไม่ได้ผล

นอกจากนี้มันยังไม่ได้ทำให้เกิดอะไรใหม่ขึ้นมาด้วย มันไม่ก่อให้เกิดการคิดซ้ำ การคิดทบทวน และการคิดใหม่ที่จะแก้ปัญหา ซึ่งเป็นแนวคิดที่พวก postmodern เห็นว่า เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะเป็นไปในลักษณะจารีต เป็นประเพณีนิยม(conventional)มากเกินไป ไม่มีการปรับตัว และมันแย้งกับความคิดแบบ modernism เอง ที่เน้นถึงเรื่องการเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว modern มันหยุดนิ่ง ไม่เคลื่อนไหว ไม่มีการพัฒนา ไม่ก่อให้เกิดการคิดซ้ำหรือคิดใหม่ หรือคิดทบทวนในสิ่งที่เดินผ่านมา อันนี้ทำให้ไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานศิลปะ หรือความก้าวหน้าทางแนวคิดสังคมวิทยา มานุษยวิทยา

Robert Rauschenberg และ Charles Olson
postmodern ที่ถูกใช้อย่างกว้างขวางในปีแรกๆ คือ ในช่วงทศวรรษที่ 1950 โดยแนวคิด postmodern ได้รับการอ้างอิงถึงในงานของคน 2 คน คือ Robert Rauschenberg ซึ่งเป็นศิลปิน, และกวีอีกคนหนึ่งคือ Charles Olson ซึ่งเป็นชาวอเมริกัน งานเขียนอย่างเช่น หนังสือเล่มแรกของ Olson ก็คือ Call it's a man และเล่มที่ 2 คือ Perspective Worst ซึ่งถือเป็นหนังสือที่มีอิทธิพลอย่างกว้างขวางต่อวงการวรรณกรรม อย่างน้อยที่สุดในสหรัฐอเมริกา

สิ่งที่ Olson พูดก็คือ การเขียนกวี เขาบอกว่า ภาษาคือลมหายใจของกวี, สาระของกวีไม่ได้อยู่ที่ Syntax หรือ logic แต่อย่างใด. Syntax ก็คือการประกอบกันของคำ ไวยกรณ์ หรือตรรกวิทยา เป็นเรื่องความหมายว่ากวีว่าจะพูดอะไร ซึ่งอันนี้ไม่สำคัญมากเท่ากับ tone ของกวี เช่นน้ำเสียงของกวี

กวีเหมือนตัวโน้ต มนุษย์มีประสบการณ์จากการอ่านงานเขียนที่เป็นตัวบท(text) ผ่านบทกวี ไม่ใช่เพื่อที่จะได้ความหมายแบบ dictionary เช่น กวีหมายถึงอะไร ศิลปะชิ้นนี้หมายถึงอะไร ต้องตีความให้ได้ ต้องเข้าใจมันให้ได้ ต้องกระจ่างต่อสิ่งที่มองเห็น สำหรับ Olson แล้วไม่ใช่ โดยเฉพาะในการเขียนกวี กวีไม่ได้ทำหน้าที่อย่างนั้น

และประสบการณ์ที่ได้จากการอ่านกวีไม่ใช่ syntax ไม่ใช่เรื่องไวยากรณ์ ไม่ใช่ความถูกต้องของกฎระเบียบของการเรียงลำดับตัวอักษร และไม่ใช่เรื่องเนื้อหาเชิงตรรก แต่มันเป็น ryhthm (จังหวะ) และ tone (ท่วงทำนองเสียงสูงต่ำ) มันเป็นเรื่องของ feeling (ความรู้สึก) เป็นเรื่องของ emotion (อารมณ์) นั่นคือสิ่งสำคัญที่สุดซึ่งกวีต้องทำหน้าที่ดังกล่าว. Charles Olson มีอิทธิพลอย่างมากต่อบรรดากวีกลุ่ม New York School หรือ Black Mountain School ในสหรัฐฯ ในช่วงปี 1950 เช่นเดียวกับ Robert Rauschenberg ในทางทัศน์ศิลป์

จากช่วงทศวรรษ 1950, 1960, 1970, คำว่า postmodern เริ่มแพร่หลาย ครั้งแรกในชุมชนของนักคิดสร้างสรรค์ทางด้านต่างๆ เช่นศิลปิน นักเขียน นักกวี และนักวิจารณ์วรรณกรรม เช่นเดียวกัน ในเวลานั้นสถาปนิก 2 คน ที่เป็นกำลังสำคัญในการพูดถึงหรือทำให้คำว่า postmodern ถูกใช้ก็คือ Robert Venturi และ Charles Jencks

Robert Venturi และ Charles Jencks
วิธีคิดของ Robert Venturi กับ Charles Jencks น่าสนใจต่อความคิดทางด้านสถาปัตยกรรม สำหรับ Venturi สถาปัตยกรรมไม่ใช่ทำหน้าที่เพียงแค่เป็นที่อยู่อาศัยตามแนวคิดของ modern อย่างเช่น สถาปัตยกรรมแบบ Bauhaus หรือ สถาปัตยกรรมแบบที่เราเข้าใจทั่วไป เป็นกล่อง เป็นเหลี่ยม นึกถึง function มากกว่าเรื่องอื่นใดทั้งหมด

สำหรับ Venturi แล้ว สถาปัตยกรรมก็เหมือนตัวบท(text) สถาปัตยกรรมก็เหมือนหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งหน้าที่ของมันก็คือเพื่อที่จะส่งสาร(message) ส่งแนวคิดไปให้ผู้อ่านให้สำนึกรู้ว่า การอยู่อาศัยในสถาปัตยกรรมคืออะไร ? ก็คือทำให้เกิดการทบทวน ทำให้คนที่อยู่ในสถาปัตยกรรม หรือคนที่คิดงานสถาปัตยกรรมได้ทบทวนว่า เราอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมอะไร มากกว่าเพียงแค่อยู่ๆ ไป มีห้องน้ำก็ใช้ มีห้องนั่งเล่นก็ใช้ มีห้องนอนก็นอน และแต่ละห้องก็มีหน้าที่หรือ function ของมัน สำหรับ Charles Jencks และ Venturi แล้ว สถาปัตยกรรมไม่ได้ทำหน้าที่อย่างนั้น

สถาปัตยกรรมทำหน้าที่เหมือนกับหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งมันต้องมีเนื้อหาอะไรที่ทำให้เกิดการคิด เกิดการทบทวนต่อการใช้ชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนของแนวคิด เป็นท่าทีของการเกิดแนวคิด postmodern ในช่วงแรก ซึ่งเขาเรียกว่า เอาเท้าของตัวเองเหยียบบนการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่เรียกว่าเป็น textual turn หรือเป็น linguistic turn คือการเปลี่ยนแปลงเชิงภาษาศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันนี้มันเป็น visual turn มันเป็น simulacrum turn แต่เอาช่วงนี้ก่อน คือคิดทุกอย่างภายใต้ตัว text หรือตัวบท และวิจารณ์ตัวบทด้วย

แรงสำคัญที่ทำให้เกิด linguistic turn หรือ Textual turn ก็คือนักคิดชาวสวิสส์ที่ชื่อว่า Ferdinand de Saussure ซึ่งได้ให้อิทธิพลต่อกรอบคิดที่เรียกว่าพวก structuralism หรือพวกโครงสร้างนิยม เช่นโครงสร้างนิยมในสายต่างๆ อย่าง มานุษยวิทยา เช่น Claud Levi-Strauss หรือโครงสร้างนิยมทางสังคมวิทยา Emile Durkheim โครงสร้างนิยมทางจิตวิทยา Freud, Lacan, ก็ร่วมอยู่ในกระแสนี้ โครงสร้างนิยมทางการศึกษา เรื่องวัฒนธรรมสื่อ อย่างเช่น Roland Barthes และ Foucault ในช่วงแรกๆ

Marshall McLuhan
แม้กระทั่ง Marshall McLuhan หลายคนเห็นเขาเป็นเพียงแค่นักวิจารณ์ปรากฏการณ์ทางด้าน mass media (สื่อสารมวลชน) การใช้สื่อในฐานะภาพกว้าง อย่างเช่น ทีวี วิทยุ โปสเตอร์ แผ่นป้ายขนาดใหญ่ หลายคนมองว่าเขาเป็นเพียงแค่นักวิจารณ์ แต่อันที่จริงแล้ว McLuhan มองว่า สื่อไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่หน้าที่ของสื่อเท่านั้น แต่ต้องทำหน้าที่อย่างอื่นด้วย

สิ่งที่ McLuhan พูดคือ เวลาไปศึกษาสื่อ ไม่ได้ไปศึกษาว่า สื่อมีเนื้อหาอย่างไร แต่ต้องไปดูกิจกรรมของการใช้สื่อ อย่างเช่น ถ้าเป็นนักศึกษา mass media แบบเดิม เน้นว่า"แบบเดิม"จะไปดูว่า… เช่น ไปศึกษาทีวีก็จะไปดูว่า ทีวีมีโปรแกรมอย่างไร มีรายการทีวีอย่างไร และในโปรแกรมทีวีนั้นมีความหมายอย่างไร แล้วรายการเหล่านั้นสร้างผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อการใช้ชีวิต เป็นต้น

สำหรับ McLuhan แล้ว ไม่ใช่! เขาบอกว่าจะต้องไปดูกิจกรรมของการดูทีวี เช่น ทำไม เหตุผลอะไร ภายใต้เงื่อนไขอะไรที่ทำให้คนนั่งดูทีวี ไม่ใช่ไปดูที่ตัวทีวีหรือรายการทีวี ดูกิจกรรมของผู้รับหรือคนดูทีวี และการนั่งดูทีวีของคนในห้องนั่งเล่น มันเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทำให้เกิดผลกระทบต่อกิจกรรมของคนเราอย่างไรบ้าง ? เมื่อนั่งดูทีวีแล้ว เราก็จะไม่ไปทำอย่างอื่น นั่งดูทีวีแล้วมันมีความหมายอย่างไร ?

ดังนั้นแล้ว ในช่วง 1970 คำว่า postmodernism คือบรรยากาศของการถกเถียงเชิงแนวคิดเริ่มมีอิทธิพล และถูกพัฒนาถึงขนาดว่า postmodernism ก็คือ การท้าทายปัญหาทางสังคมและมีความหวังที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม อันนี้สำเร็จหรือไม่ เป็นสิ่งที่ถกเถียงกันได้ แต่ว่าเหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1970 ซึ่งปัจจุบันนี้คำว่า postmodernism ความหมายของมันได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

Daniel Bell
นักคิดอีกคนหนึ่งคือ Daniel Bell เขียนหนังสือเรื่อง The Coming of Post-Industrial Society (1973) เป็นคนที่ใช้ศัพท์คำว่า the postmodern สิ่งที่ Bell วิจารณ์ก็จะไปอีกทางหนึ่ง สิ่งที่เขาถนัดก็คือการวิจารณ์สังคมสมัยใหม่ ในมุมมองของพัฒนาการปฏิวัติอุตสาหกรรม พัฒนาการทำให้ชีวิตของบุคคลหรือหน่วยต่างๆ ทางสังคม ถูกแยกขาดจากกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้ายุคสมัยใหม่ก็คือ ทุกอย่างมีความเชื่อมโยงกัน ศิลป ศาสนา พิธีกรรม ชุมชน หน่วยต่างๆ ทางสังคม มีความเชื่อมโยงกันเชิงโครงสร้าง ซึ่งนักโครงสร้างนิยมพยายามที่จะมาอธิบายว่า ปัจเจกบุคคล ไม่เคยเป็นบุคคลเชิงเดี่ยว ไม่เคยเป็นเอกบุคคล เอกบุคคลต้องเชื่อมโยงกับเอกบุคคลอื่นๆ ไม่มีอะไรที่เป็น function เฉพาะ ไม่มีอะไรที่มี domain หรืออาณาเขตเฉพาะ

ผมเคยพูดในวิชาปรัชญาศิลป์ครั้งหนึ่งว่า เช่นการจัดพื้นที่ในบ้านแบบสมัยใหม่ เราจะมีการจัดโดยแยก domain หรือ function ของอาณาเขตเฉพาะ เช่น ห้องน้ำก็เอาไว้อาบน้ำ แปรงฟัน หรือทำกิจกรรมเกี่ยวกับน้ำ ห้องนอนเอาไว้นอนอย่างเดียว กินข้าวไม่ได้ ห้องนั่งเล่น ห้องอ่านหนังสือ ห้องสมุด เหล่านี้มีหน้าที่เฉพาะ แสดงว่ามีการกำหนดขอบเขตกันลงไป ซึ่งดูเหมือนว่าไม่ค่อยเชื่อมโยงกัน

ในระดับของบุคคลก็เช่นเดียวกัน แนวคิดสมัยใหม่ให้คุณค่าของความเป็นบุคคล ซึ่งเป็นบุคคลที่มีอาณัติพิเศษของการตัดสินใจ ซึ่งดูเหมือนว่าไม่เชื่อมโยงกับใคร ทุกอย่างถูกตัดแบ่งเป็นชิ้น เป็นส่วน ซึ่ง Bell เห็นว่า postmodernism กำลังเป็นกระแสที่บอกว่า สิ่งเหล่านี้เริ่มถูกท้าทาย เริ่มถูกเชื่อมโยงเข้าหากันใหม่ สิ่งที่เคยตัดขาดหรือเคยแยกขาดจากกัน เริ่มถูกนำมาเชื่อมกันใหม่, ไม่มี autonomous domain หรืออาณาเขตที่เป็นเอกเทศซึ่งมีลักษณะเฉพาะอีกต่อไป

ในความคิดของ Daniel Bell ปรากฏการณ์ของ postmodernism ความหมายลึกของมันก็คือ การละลายแนวคิดเรื่อง ego. ตัวของ Daniel Bell ไม่ใช่นักปรัชญา เขาเป็นนักศึกษาทางด้านปรากฏการณ์สังคมวิทยา แต่เขาเชื่อมโยงเรื่องนี้ว่า การทำให้อาณาเขตทั้งหลายที่เคยถูกแยกขาดออกจากกันเริ่มถูกท้าทาย. Postmodern ก็คือกระแสที่ทำให้ domain ทั้งหลายอ่อนตัวลง แม้กระทั่งระดับบุคคล คำว่า self คำว่า ego คำว่า boundary ทั้งหลายเหล่านี้ มันเริ่มถูกละลาย

Claud Levi Strauss : โครงสร้างนิยม
แนวคิดนี้ ถ้าเราอ่านงานโครงสร้างนิยม เราก็จะเห็นว่า สิ่งที่นักทฤษฎีโครงสร้างนิยมพูดถึงก็คือ โลกของปรากฏการณ์ระดับบุคคล ระดับชุมชน ระดับจักรวาล มันมีโครงสร้างอยู่ข้างล่างที่เชื่อมโยงต่อกัน ข้างบนพื้นผิวของปรากฏการณ์ เป็นแค่หน่วยต่างๆ ที่ดูเหมือนว่าไม่เชื่อมโยงต่อกัน แต่จริงๆแล้ว ลึกๆ มันมีความเชื่อมโยงกัน สิ่งเหล่านี้ถูกอธิบายชัดเจนในวิธีคิดเรื่องระบบเครือญาติ โดย Claud Levi Strauss

เหมือนอย่างปัจจุบันนี้ เรายังเรียกคนที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพ่อเราว่าพ่อ แก่กว่าพ่อเราเรียกว่าลุง โดยที่ไม่ได้เป็นเครือญาติเดียวกันแต่อย่างใด ศัพท์แสงเหล่านี้กำลังอธิบายว่า จริงๆ ลึกๆแล้วเราเป็นเครือญาติกัน จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม เอาเป็นว่านักโครงสร้างนิยมไม่เชื่อว่าทุกอย่างมีอาณัติหรืออาณาจักรเฉพาะตัว แม้แต่ปัจเจกเอง ปัจเจกเชื่อมโยงกับปัจเจกอื่นๆ เสมอ โดยโครงสร้างที่อยู่ข้างล่าง

แนวคิดดังกล่าวโต้แย้งนักปรัชญาสมัยใหม่คนหนึ่งที่สำคัญคือ Rene Descartes "I think therefore I am" ฉันคิด ฉันจึงมีอยู่" ถ้าไม่มีฉัน ก็ไม่มีทางเกิดระบบคิด ทำให้ฉันในที่นี้เป็นฉันที่มีความสามารถในการคิดได้ เพราะฉะนั้น ฉันต้องมีก่อน และเป็นฉัน(คนเดียว)ที่มีความคิด ไม่เกี่ยวกับความคิดคนอื่น แนวคิดปรัชญาสมัยใหม่อันเป็นอิทธิพลของ Descartes ได้พัฒนาต่อมาเป็นยุคแห่งการใช้เหตุผลแบบเอกบุคคล แบบ Enlightenment

ก็คือ นักโครงสร้างนิยมไม่เชื่อแล้ว และโดยเฉพาะนักคิดหลังโครงสร้างนิยม โดยเฉพาะนักคิด postmodern จะไม่เอาแล้ว Descartes คือเหยื่อของการวิจารณ์ ถือว่าเขาไปสร้างบาปกรรมให้กับประเพณีการคิดเชิงปรัชญาในโลกตะวันตก แล้วมันกลายเป็น dogma การเป็นความเชื่อที่ไม่เคยถูกโต้แย้ง

Daniel Bell เห็นว่าปรากฏการณ์แบบ postmodernism เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้ domain ของความเป็นบุคคลมันอ่อนตัวลง คนเริ่มเชื่อมโยงกันมากขึ้น ด้วยวิถีชีวิต ด้วยเทคโนโลยี เราเล่น MSN เรามีระบบการขนส่ง ทำให้โลกเชื่อมโยงกันมากขึ้น อันนี้มองแบบ postmodernity เพราะฉะนั้น สิ่งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เริ่มรู้จักกัน เริ่มเชื่อมโยงกันอีกครั้งหนึ่ง

Grand Theory - Grand Narrative และ Marx
อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของกฎ reduction ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า โลกทั้งหลายล้วนอยู่ภายใต้กฎเดียวกัน อันนี้เป็นการอธิบายเชิงทฤษฎีขนาดใหญ่ เป็น grand theory ยกตัวอย่างเช่น แนวคิดของ Marx ที่เชื่อว่า โลกจะต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางเดียวกัน พัฒนาการจากยุคเกษตรกรรม เป็นยุคอุตสาหกรรม ไปสู่ความเป็นสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ ตามลำดับไปเรื่อยๆ ตาม progression ที่ไปข้างหน้า

อันนี้เป็นความคิดภายใต้ทฤษฎีขนาดใหญ่ ซึ่งอันนี้เริ่มถูกท้าทาย และพวกโครงสร้างนิยมไม่เชื่อ แม้กระทั่งพวก postmodern ไม่เชื่อว่า grand theory หรืออุดมคติขนาดใหญ่เหล่านั้น มันจะทำให้บุคคลหรือชีวิตทางสังคมดีขึ้น และความหวังที่รับรองโดย grand narrative อย่างกรณีตัวอย่างดังเช่นที่ Marx ให้ไว้ว่า มนุษย์จะสมบูรณ์ขึ้น สังคมโลกจะดีขึ้น บ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ อันนี้มันไม่บรรลุเป้าหมายอย่างที่ว่า มันเป็นความผิดพลาด

ในช่วงหลังสงครามเย็นเป็นข้อพิสูจน์ว่า โลกทั้งหลายที่แบ่งเป็นขั้ว แบ่งเป็นอาณาเขต เป็นซ้ายเป็นขวามันเริ่มยุบตัวลง และความหวังแบบ Grand Narrative หรืออุดมคติขนาดใหญ่มันไร้เหตุผล และมันไม่ทำงานตามนั้น แนวคิดอุดมคติขนาดใหญ่เหล่านี้ได้ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานแบบแนวคิดเหตุผลนิยม อันนี้มันไม่ทำงาน ถูกสั่นคลอนและถูกท้าทาย ประวัติศาสตร์หรือประเพณีการคิดเชิงปรัชญาแบบโลกตะวันตกเริ่มถูกท้าทายและเปลี่ยนแปลง อันนี้คือกระแสแบบ postmodern

เวลาพูดถึง postmodernism อย่างที่บอกไว้แล้วว่า เราจะต้องเชื่อมโยงถึงแนวคิดเชิงทฤษฎี ซึ่งมีนักคิดที่เป็นคุรุ ซึ่งมีความคิดและทัศนคติที่แตกต่างกันบ้าง ลงรอยกันบ้าง ถกเถียงกันบ้าง เป็นผัวเมียกันบ้างก็มี ในที่นี้จะพูดถึงนักคิดกลุ่มหนึ่งซึ่งมีแนวคิดฝ่ายซ้าย เป็นพวก neo-marxist ยกตัวอย่างเช่น Jean Baudrillard, Michel Foucault, Fredric Jameson, Jean-Francois Lyotard, Zygmund Bauman, และ Guy Deluze คนที่ไม่ได้กล่าวถึง อาจมีอีกมากมาย อย่าง postmodern ที่เป็น feminist หรืออย่าง Habermas ที่เป็นกลางๆ อยู่ระหว่าง modern กับ postmodern หรือใครก็แล้วแต่ที่ผมไม่ถนัดพอที่จะพูดถึงได้ เอาเป็นว่า postmodernism คือการท้าทาย modernism ในช่วงแรกๆ มันเป็นกระแสของนักวิชาการมาร์กซิสท์ฝ่ายซ้ายปรากฎในชื่อเหล่านี้

Bernard Iddings Bell วิจารณ์ Immanuel Kant
ลากลึกลงไปจริงๆ คำว่า postmodernism ปรากฏอยู่ในงานของนักเทววิทยานิกายคาธอลิก คือ Bernard Iddings Bell, เขียนหนังสือในปี 1920 ชื่อว่า Postmodernism and Other Essays สำหรับ Bell คิดต่อจากสถานการณ์ postmodern อย่างไร เขาเป็นนักเทววิทยาซึ่งเชื่อว่า ความสามารถมนุษย์ สามารถที่จะละลายหลักการอะไรก็แล้วแต่ ที่มันมาควบคุมธรรมชาติและสังคมมนุษย์ได้ด้วยการใช้เหตุผลที่ถูกต้อง อันนี้ต้องฟังดีๆ เพราะมันไม่เหมือนกับยุคของเหตุผล(the age of reason)

Bell คิดอีกอย่างหนึ่ง ในชีวิตทางศาสนาเขาเชื่อว่า ความสามารถของมนุษยชาติคือ "การใช้เหตุผลที่ถูกต้อง" และการใช้เหตุผลที่ถูกต้องนี้ มนุษย์สามารถก้าวข้ามพลังทางธรรมชาติ หรืออะไรที่เราเชื่อว่าเป็นกฎระเบียบของสังคมได้ และนำพาชีวิตของบุคคลไปสู่อีกระดับหนึ่ง แนวคิดของเขาเป็นการวิจารณ์นักปรัชญา Immanuel Kant ที่เชื่อว่าหน้าที่ของปรัชญา หน้าที่ของมนุษย์คือการใช้เหตุผล และเหตุผลที่ว่านี้ต้องเป็นเหตุผลบริสุทธิ์(pure reason) เมื่อมันเป็นเหตุผลบริสุทธิ์จึงไม่จำเป็นที่จะต้องเชื่อมโยงกับปัจจัยอื่นๆ ในโลกของความเป็นจริง มนุษย์มีหน้าที่เข้าใจเหตุผลบริสุทธิ์เท่านั้น

Kant เป็นผลผลิตของยุค the Enlightenment ได้อิทธิพลเกี่ยวกับการใช้เหตุผลแบบยุคสว่าง ซึ่งแยกเรื่องของเหตุผลออกจากปฏิบัติการต่างๆ ของชีวิต อันนี้เช่นเดียวกับการแยก domains ต่างๆ ของชีวิตแบบยุคสมัยใหม่ ซึ่งใช้ไม่ได้. Kant แยกเหตุผลบริสุทธิ์ออกไปอีกชุดหนึ่ง เขาเป็นคนที่ให้อิทธิพลต่อแนวคิดการใช้เหตุผลแบบ modern ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ เป็นเหตุผลที่พวกเราเถียงไม่ได้ เป็นเหตุผลของเหตุผล เป็นตรรกวิทยาของการคิด คุณท้าทายไม่ได้ กฎคือกฎ กฎอยู่เหนือปฏิบัติการของชีวิต กฎอยู่เหนือสภาพการณ์หรือเงื่อนไขต่างๆ กฎอยู่เหนือสภาพแวดล้อม ไม่มีคำว่าบริบทของกฎ กฎก็คือกฎ เหมือนกับคำว่า pure reason อันนี้ให้อิทธิพลต่อแนวคิดของ modernism

Bell เชื่อว่าวิธีคิดแบบนี้ มันแย่งชิงเสรีภาพของบุคคลไป ต่อการปลดปล่อยตัวเอง ทำให้มนุษย์เป็นทาสของตรรกะการใช้เหตุผล เป็นทาสของเหตุผลของเหตุผล เราจะใช้เหตุผลได้จะต้องมีกรอบของการใช้เหตุผลอยู่ ยุคหนึ่งที่มีความเชื่อเรื่องผี ก็จะมีกรอบของความเชื่อผีสาง หรือความสัมพันธ์เชิงชุมชน เมื่อวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นเครื่องมือหรือผลผลิตของยุคสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ เราก็จะคิดอะไรก็ตามในกรอบของวิทยาศาสตร์ ซึ่งมันแยกขาดและเราไม่เคยถามเลยว่ามันเชื่อมโยงกับชีวิตเราได้อย่างไร ? เหมือนกับที่เราเข้ามาเรียนในสถาบันการศึกษา เราเรียนเคมี ฟิสิกส์ ชีวะ ก็ไม่เคยถามเลยว่าจะเอาไปใช้ในบ้านหนองวัวควายของเราได้อย่างไร ? ผมอยู่รามอินทรา ก็ไม่รู้ว่าจะเอาวิชา biology ไปใช้ทำอะไร ?

อันนี้เพราะเชื่อว่า ทฤษฎีหรือความรู้มันอยู่นอกเหนือปฏิบัติการของชีวิต หน้าที่ของเราคือเรียน ให้เราเรียนรู้ไปก่อน ส่วนการเชื่อมโยงให้ไปเชื่อมกันเอาเอง สำหรับแนวคิดเช่นนี้ บรรดานักคิด postmodern ไม่เชื่อ เพราะพวกเขาเชื่อว่ามันต้องเชื่อมโยงกันก่อน ต้องดูว่าปฏิบัติการของการใช้ชีวิตมันมีความจำเป็นต้องการใช้เหตุผลหรือความรู้แบบไหน ความรู้ถึงจะถูกพัฒนา ไม่ใช่ไปวางกรอบของความรู้ไว้ แล้วเรามีหน้าที่ไต่บันไดขึ้นไปจับหรือคว้ามัน และก็ไม่รู้ว่าเอามาแล้วจะนำไปใช้ทำอะไร เหมือนกับหลายคนตั้งคำถามว่า ได้ปริญญามาแล้วเอาไปทำอะไร ? เพราะปริญญาไม่ได้เชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตร่วมสมัย ปัจจุบันนี้มีหลายหลากอาชีพที่ไม่ต้องใช้ปริญญา

Modernism พรากชีวิตไปจากเสรีภาพและพัฒนาการทางจิตวิญญาน
Bell เชื่อว่า แนวคิดแบบกระแส modernism มันพรากชีวิตของบุคคลไปจากเสรีภาพของความคิด และทำให้คนไม่คิด ต่างก็เชื่อและเชื่องตามๆ กันไป ตรงนี้เขาเชื่อว่ามันเป็นข้อบกพร่อง เป็นกระบวนการที่ไปกีดกันการพัฒนาเชิงจิตวิญญาน ซึ่งบุคคลต้องมีเสรีภาพในการพัฒนาก่อน จึงจะสามารถนำชีวิตตัวเองไปสู่ภาวะของจิตวิญญานได้

ถ้าบุคคลไม่สามารถมีเสรีภาพ บุคคลไม่สามารถมีชีวิตทางจิตวิญญาน ก็จะทำให้บุคคลอยู่ภายใต้กรอบอำนาจรัฐ, อย่างที่เคยพูดไว้ในวิชาปรัชญาศิลป์ จำได้หรือไม่ว่า modernism มันสัมพันธ์กับคำว่ารัฐ คำว่าชาตินิยม คำว่าราชการนิยม ทำให้บุคคลอยู่ภายใต้กรอบของการจัดการและการจัดวางโดยรัฐ โดยเศรษฐกิจแบบ modern หรืออะไรก็ตาม ทำให้บุคคลไม่มีเสรีภาพ เพราะฉะนั้นชีวิตทางจิตวิญญาน บุคคลจึงไม่สามารถมีได้

อันนี้เพราะว่าแนวคิดแบบ modern คือการทำให้เกิดภววิสัยเชิงวิทยาศาสตร์ คือทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ข้างนอกนั่น ทุกอย่างไม่เชื่อมโยงกับเรา หน้าที่ของเราคือไปค้นหา ไปค้นพบมัน

พวกเราทั้งหลายคงจำได้ว่า เวลาที่เราเรียนวิชาชีววิทยา หรือฟิสิกส์ หน้าที่ของเราคือการไปเข้าใจกฎธรรมชาติ เหมือนกับว่ามีกฎธรรมชาติตั้งอยู่ข้างนอก หน้าที่ของเราคือผ่ากฎธรรมชาติ พิสูจน์มัน เอามันเข้ามาในห้องแล็ป เพื่อจะดูว่าอะไรที่อยู่เบื้องหลังสิ่งที่นำมาศึกษา เราเอากบมาผ่า เอาก้อนหินมาทุบ ดูว่ามันประกอบด้วยเนื้อเยื่อหรือสสารอะไร ความจริงอยู่ข้างนอกนั่น หน้าที่ของมนุษย์คือไปค้นหามันให้เจอ

ความจริงจะไม่สามารถถูกค้นพบได้ ถ้าความจริงไม่ถูกทำให้เป็นภววิสัยก่อน คือถูกกรอบเอาไว้ ถูกทำให้เป็นรูปร่างเสียก่อน แล้วอันนี้ทำให้เราเชื่อว่ามันมีความเป็นรูปร่างของความจริง ซึ่งมันอยู่ข้างนอก เหมือนกับที่เราเข้ามาเรียนในสถาบันการศึกษา เราไม่เคยถามว่าความรู้คืออะไร หน้าที่ของเราก็คือไปจับความรู้ที่ถูกกรอบเอาไว้เรียบร้อยแล้ว เป็นองค์ความรู้ หน้าที่ของพวกเราคือพัฒนาตัวเองให้ได้ไปถึงจุดสูงสุดขององค์ความรู้นั้นๆ คือ ความรู้หรือโลกของความจริงถูกทำให้เป็นภววิสัย เป็นวัตถุ ตามแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์

สิ่งนี้แหละที่ทำให้มนุษย์ไม่คิดต่อ มนุษย์เลิกคิดเกี่ยวกับคำว่าอภิปรัชญา ถือว่ามันล้าสมัย เป็นแนวคิดที่จับต้องไม่ได้ ไม่มีรูปร่าง ไม่เป็น object ไม่เห็นได้อย่างชัดเจน อันนี้ถือว่าอยู่นอกขอบข่ายของความรู้ ถือว่าไม่เป็นภววิสัย. ความคิดเชิงปรัชญาที่เป็นอภิปรัชญา ความคิดเรื่องสิ่งลี้ลับ ความคิดในเรื่องสิ่งที่เลื่อนไหลต่างๆ ไม่เป็นรูปร่าง เป็น liquid ถือว่าไม่ใช่ความรู้หรือควรให้ความใส่ใจ เนื่องจากว่ามันพิสูจน์ไม่ได้ สิ่งที่พิสูจน์ได้จะต้องเป็นรูปร่างชัดๆโต้งๆ

St. Augustine วิจารณ์ความผิดพลาดของปรัชญาตะวันตก
แนวคิดของ Bell แน่นอนทีเดียวเป็นการวิจารณ์สมัยใหม่ การวิจารณ์นี้ที่จริงแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากว่ามันได้ถูกพัฒนามาโดยเริ่มก่อเค้ามาตั้งแต่ St. Augustine. ความพลาดพลั้งหรือความบกพร่องของประเพณีการสร้างสรรค์งานทางปรัชญาในโลกตะวันตก เริ่มต้นมาตั้งแต่ Plato กับ Aristotle ที่เชื่อว่าความรู้เป็นเรื่องที่สามารถถกเถียงหรือหาข้อสรุปได้เชิงตรรกวิทยา

สำหรับ Plato ได้ไปสร้างอาณาเขตที่อยู่ของความรู้ในอีกโลกหนึ่ง นั่นคือ"โลกของแบบ" ส่วน Aristotle เชื่อว่าความรู้อยู่ในโลกของเรานี้ เป็นเรื่องของปรากฏการณ์ เป็นเรื่องของ object ต้องมีรูปร่างที่พิสูจน์ได้ นักปรัชญาทั้ง 2 คนดูเหมือนไม่ลงรอยกันต่อรูปแบบหรือที่อยู่ของความรู้ แต่มันมีการเชื่อมโยงของวิธีคิดเชิงโครงสร้างเหมือนกัน คือเชื่อว่าความรู้ ความจริง มีที่อยู่ และสามารถทำความเข้าใจให้กระจ่างชัดได้

สำหรับ St. Augustine อันนี้คือความผิดพลาดของขนบจารีตทางความคิดเชิงปรัชญาในโลกตะวันตกทั้งหมด เมื่อมนุษย์อยู่ภายใต้กรอบโครงสร้างความคิดเหล่านี้ ที่เชื่อว่ามีอะไรที่สามารถพิสูจน์ได้ ไม่ว่าจะโลกของแบบหรือโลกของปรากฏการณ์ก็ตาม ทำให้มนุษย์รู้สึกภูมิใจในตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองสามารถควบคุมสิ่งเหล่านั้นได้ ถ้าเราเจอมันสำหรับความรู้เหล่านี้ คุณสามารถใช้มันได้ หาประโยชน์กับมันได้ สำหรับนักเทววิทยาแล้วอันนี้เป็นการท้าทายพระเจ้า มันเป็นการท้าทายพลังอำนาจความเคลื่อนไหวที่เราพิสูจน์ไม่ได้

มนุษย์ท้าทายพระเจ้า มนุษย์ภูมิใจในตนเองมากเกินไป มนุษย์เป็นเอกบุคคล เป็น Subject ที่แข็งแรงเกินไป และไม่เชื่ออะไรที่มันอยู่นอกกรอบ มนุษย์พยายามที่จะหยั่งลึกถึงการทำงานของจักรวาล นอกจากนี้มนุษย์ยังมีความหวังที่จะไปกำหนดฐานะตัวเองในจักรวาล เช่นเดียวกับการจัดวางผังเมือง กำหนดโซนนิ่ง การจัดการปกครอง กำหนดการอยู่อาศัย คือนอกจากไปหยั่งลึกถึงการทำงานของจักรวาลแล้ว มนุษย์ยังพยายามที่จะไปกำหนดสถานะ หรือใช้ประโยชน์จากการค้นพบอันนั้นเพื่อไปจัดการกับพื้นที่ของจักรวาล

Spiritual Isolation และ Dehumanized
สิ่งเหล่านี้ การทำให้ทุกอย่างกลายเป็นเป็นวัตถุ การทำให้ทุกสิ่งแยกขาดจากกัน ไม่เชื่อในสิ่งที่ลี้ลับ ไม่เชื่อในสิ่งที่อธิบายได้ยากหรือมันเลื่อนไหล สำหรับ Bell แล้วเชื่อว่ามันเป็น spiritual isolation คือความโดดเดี่ยวทางจิตวิญญาน ยกตัวอย่างเช่น ในมิวสิกวิดีโอปัจจุบัน มนุษย์อยู่ในท่ามกลางฝูงชนคนอื่นๆ แต่ก็ยังเปลี่ยวเหงา โดดเดี่ยว อันนี้อธิบายเชิงสังคมวิทยา ซึ่งอธิบายเชิงเทววิทยา Bell บอกว่า มันทำให้มนุษย์ขาดความเชื่อมโยงทางจิตวิญญาน นั่นหมายความว่า Bell เชื่อว่า จิตวิญญานของมนุษย์ โลก จักรวาล มันต้องเชื่อมโยงต่อกัน

ตรงนี้สำหรับ Bell แล้ว มนุษย์ในความหมายของมนุษย์สมัยใหม่ มันไม่ใช่มนุษย์ และบรรยากาศของความเป็นสมัยใหม่ ยุคแห่งเหตุผลหรือ the Age of Reason, Rationalization, กระบวนการใช้เหตุผลแบบสมัยใหม่ ตั้งแต่ Rene Descartes เป็นต้นมา มันเป็นกระบวนการ dehumanize คือลดทอนความเป็นมนุษย์ มนุษย์เริ่มไม่เป็นมนุษย์แล้ว เป็นมนุษย์จักรกล เชื่อว่าตนเองเท่านั้นที่เป็นมนุษย์ ส่วนคนอื่นๆไม่ใช่ คนอื่นเป็นอะไรไม่รู้ เช่นเป็นลูกจ้าง เป็นคนกระจอก เป็นแขนขาของเราให้ใช้ได้ คนอื่นเป็นฐานของการผลิต คนอื่นเป็นแรงงานราคาถูก คนอื่นเป็นเมียที่มีไว้ร่วมเพศและเป็นตู้เอทีเอ็ม คนอื่นเป็นคนหัวล้านที่มีไว้สำหรับการดูถูกดูแคลน ตัวเราคนเดียวเท่านั้นที่เป็นคนสมบูรณ์แบบ (perfect man)

Bell เชื่อว่า มนุษย์จะเป็นมนุษย์ได้ ต้องมีความเชื่อ มีความศรัทธา และจากโลกของความเป็นสมัยใหม่ที่มันไปทำลายศรัทธาของมนุษย์ อย่างน้อยในโลกของจิตวิญญาน มนุษย์จึงไม่สามารถปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระได้เพราะขาดศรัทธา เมื่อไม่สามารถปลดปล่อยตัวเองได้จากกรอบต่างๆ ไม่ว่าจะมาจากเงื่อนไขทางวัตถุ เงื่อนไขจากภววิสัยที่อยู่นอกตนเอง มนุษย์จึงขาดเสรีภาพ และเขาเชื่อว่ากระแสแบบ postmodernism ได้ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง มนุษย์เริ่มโหยหาชีวิตทางจิตวิญญาน มนุษย์เริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรในจักรวาล เริ่มเข้าใจถึงตัวเองว่าเชื่อมโยงกับมนุษย์และสรรพสิ่งอื่นๆ ทั้งธรรมชาติและจักรวาล

ปรากฏการณ์เช่นนี้ อย่างน้อยในสหรัฐอเมริกา มีลัทธิความเชื่อทางศาสนาที่เรียกว่า cults เต็มไปหมด ซึ่งเปิดโอกาสให้มนุษย์ได้สำรวจ หรือพยายามที่จะเข้าไปสู่ภาวะทางจิตวิญญานในแนวทางที่แตกต่างกัน เช่น ลัทธิดมธูป เลี้ยงแมว นอนบนพรม กินอาหารชีวจิต แนวคิดนิเวศวิทยาแนวต่างๆ เช่น นิเวศวิทยาแนวลึก แนวสตรีนิยมทั้งหลายแหล่ คืออันนี้น่าจะเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นได้ชัดว่า มนุษย์ยุคหลังสมัยใหม่ เริ่มกลับไปสู่การทบทวนว่า"ชีวิตทางจิตวิญญาน"มีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน ซึ่งที่ผ่านมาในยุคสมัยใหม่(modern)ไม่พูดถึง กลับเห็นว่ามนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจ มนุษย์คือคนเมือง หรือมนุษย์เงินเดือนที่ต้องทำงาน

Arnold Toynbee
อีกคนหนึ่ง Arnold Toynbee เขาเป็นนักประวัติศาสตร์ ที่ได้เขียนหนังสือเรื่อง A Study of History (1954) โดยมีการใช้คำว่า postmodern. สิ่งที่เขาไปวิจารณ์ modern ก็คือ พัฒนาการของ modern เป็นผลผลิตของแนวคิดเรื่องอุตสาหกรรมนิยม และแนวคิดเรื่องรัฐชาติ ชาตินิยม ราชการนิยม อันเป็นผลผลิตของแนวคิดสมัยใหม่ ภายใต้การขับเคลื่อนของลัทธิอุตสาหกรรมนิยม โดยมีเครื่องมือคือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นตัวนำ

Arnold Toynbee บอกว่า จากพัฒนาการตรงนี้ทำให้เกิดภาพของความเป็นโลกสมัยใหม่ ซึ่งทำให้มนุษย์สิ้นหวัง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เขาได้ไปสำรวจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเส้นทางของประวัติศาสตร์แบบอารยธรรม การเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2

การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน ถือเป็นสัญลักษณ์ของการหมดยุคของสงครามเย็น ซึ่งนั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่ชัดเจนของการเกิดยุค postmodern และเป็นจุดที่ท้าทายคำว่าอารยธรรม เวลาเราพูดถึงคำว่า "อารยธรรม" เราจะพูดถึงมันในแนวที่มีการพัฒนามาแบบ linear จากสิ่งที่หยาบสู่สิ่งที่ละเอียดละออมากขึ้น นึกถึงแนวคิดของดาร์วิน แนวคิดของมาร์กซ์ มันมีเส้นทางที่ต้องเดินหน้าไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งมนุษย์จะถึงจุดที่สมบูรณ์ที่สุดของความเป็นอารยธรรม

การเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 1-2 เป็นตัวอย่างที่สำคัญว่า อารยธรรมที่ว่านั้น มันเกิดจุดสะดุด มันไม่ไปต่อ ไม่มีความต่อเนื่อง เป็นการใช้เหตุผลที่ผิดพลาด ด้วยกรอบของพัฒนาการแบบสมัยใหม่ กรอบพัฒนาการของวิทยาศาสตร์ เหล่านี้ทำให้แนวคิดเรื่องอารยธรรมหรือความเชื่อแบบเดิมที่กล่าวไปแล้ว เรื่อง progress เรื่อง linear ถูกท้าทาย, สำหรับ Arnold Toynbee การเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 1-2 แล้วเป็นการล่มสลายของอารยธรรม

เขาไม่ได้บอกว่ามันแย่ แต่นี่คือการทบทวนว่าเราเดินทางผ่านอะไรมาบ้าง ? ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่เคยทบทวนเลย เป็นเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมา เราดำเนินต่อมาเรื่อยๆ และเราเชื่อว่านั่นคืออารยธรรมที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมา Arnold Toynbee บอกว่า นี่คือจุดที่เราต้องทบทวน(rethink), ต้องวิจัย(research), ทบทวน-วิจัยใหม่ หันกลับไปดูว่าเราผ่านอะไรมา อะไรคือข้อผิดพลาด ? แนวความคิดนี้ postmodern ก็คือการทบทวน การหวนกลับไปพิจารณา ไม่เชื่อว่าเป็นพัฒนาการที่สำเร็จ

การเกิดขึ้นของชนชั้นกลางและการปฏิเสธชาชั้นนำ
Arnold Toynbee ได้ไปดูอีกเรื่องหนึ่งคือการเกิดขึ้นมาของ bourgeoisie (ชนชั้นกลาง) ในปลายศตวรรษที่ 19 ในยุโรป ที่เชื่อว่าเป็นผู้นำทางสังคม เป็นพวกที่ยืนอยู่จุดสูงสุดของสังคม เป็นคนที่กำหนดทุกอย่างแม้กระทั่งรสนิยมทางสังคม การใช้ชีวิต การบริโภคงานศิลปะ วัฒนธรรม การพัฒนาของเทคโนโลยีภายใต้กรอบต่างๆ เป็นไปภายใต้กรอบของชนชั้นใหม่นี้ และเชื่อว่าพวกคนกลุ่มนี้เป็นคนนำสังคมในทุกด้าน

เขาบอกว่าหลังทศวรรษที่ 1970 มา ความเชื่อว่า เราเป็นไพร่ต้องเชื่อชนชั้นนำ เริ่มถูกท้าทาย เราไม่เชื่อต่อไปแล้ว ชนชั้นนำไม่สามารถนำได้อีกต่อไป แนวคิดเรื่องชนชั้นนำเป็นคนที่รู้ทุกอย่าง เป็นคนกำหนดทุกอย่างและเรามีหน้าที่ทำตาม เช่นกำหนดการศึกษา กำหนดการใช้ชีวิต แนวคิดเหล่านี้ไม่มีชนชั้นนำอีกแล้ว

ก่อนหน้านั้นเคยเชื่อกันว่า ชนชั้นนำคือปัจจัยตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม และพัฒนาเชิงอุตสาหกรรม อันนี้ Arnold Toynbee บอกว่ามันเป็นปัญหา มันทำให้เกิดสงครามโลกมิใช่หรือ ? ถ้าเราไปดูประวัติศาสตร์ของสงครามโลกครั้งที่ 1-2 มันเป็นการแย่งชิงทรัพยากร แย่งชิงทางด้านอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้เกิดปัญหา เป็นการใช้เหตุผลที่ผิดพลาด และชนชั้นนำเป็นปัจจัยตัวหนึ่งที่นำสังคมไปทางด้านนั้น

เมื่อชนชั้นนำไม่ได้เป็นผู้นำอีกต่อไป เทคโนโลยีที่ถูกผลิตโดยชนชั้นนำก็ไม่ถูกเชื่ออีกต่อไป ก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร ? Arnold Toynbee มองว่า มนุษย์เป็นพวกที่เสพติดเครื่องมือ เป็นทาสของเทคโนโลยี กลายๆก็คือเป็นทาสของชนชั้นนำ ชนชั้นนำเป็นผู้กำหนดว่าอะไรเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญ เรารู้จักกันในฐานะเทคโนแครตที่วางแผนนโยบาย และนโยบายนั้นนำไปสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรม การใช้เทคโนโลยี จะพัฒนาเทคโนโลยีอย่างไร มหาวิทยาลัยไทยต้องมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาที่เกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีมากกว่าแนวคิดทางด้านมนุษยศาสตร์ หรือปรัชญา อันนี้กำหนดขึ้นมาจากชนชั้นนำทั้งสิ้น

และสิ่งเหล่านี้ Arnold Toynbee บอกว่าทำให้มนุษย์ติดกับดักเครื่องมือ ติดกับเทคโนโลยี อันนี้พูดอย่างเดียวกันกับ Bernard Iddings Bell นักเทววิทยาว่า มนุษย์ไม่สามารถคิด มนุษย์ไม่มีเสรีภาพ เสรีภาพของมนุษย์ถูกจำกัดด้วยกรอบ แต่สำหรับกรอบของ Arnold Toynbee คือ กรอบทางเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมนิยม

ภาพประกอบ Arnold Toynbee

คลิกไปอ่านต่อตอนที่ ๒

 

 




สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม



มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 950 เรื่อง หนากว่า 15000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com


สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 



170749
release date
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทุกสาขาวิชาความรู้ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรทางความคิดในการส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นธรรม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตแผ่นซีดี-รอม เพื่อการค้นคว้าที่ประหยัดให้กับผู้สนใจทุกท่านนำไปใช้เพื่อการศึกษา ทบทวน และอ้างอิง สนใจดูรายละเอียดท้ายสุดของบทความนี้




นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน สามารถ
คลิกอ่านบทความก่อนหน้านี้ได้ที่ภาพ
หากสนใจดูรายชื่อบทความ ๒๐๐ เรื่อง
ที่ผ่านมากรุณาคลิกที่แถบสีน้ำเงิน
A collection of selected literary passages from the Midnightuniv' s article. (all right copyleft by author)
Quotation : - Histories make men wise; poet witty; the mathematics subtile; natural philosophy deep; moral grave; logic and rhetoric able to contend.... There is no stond or impediment in the wit, but may be wrought out by fit studies: like as diseases of the body may have appropriate exercise. Bacon, of studies
ประวัติศาสตร์ทำให้เราฉลาด; บทกวีทำให้เรามีไหวพริบ; คณิตศาสตร์ทำให้เราละเอียด; ปรัชญาธรรมชาติทำให้เราลึกซึ้ง; ศีลธรรมทำให้เราเคร่งขรึม; ตรรกะและวาทศิลป์ทำให้เราถกเถียงได้… ไม่มีอะไรสามารถต้านทานสติปัญญา แต่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการศึกษาที่เหมาะสม เช่นดังโรคต่างๆของร่างกาย ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง
สารานุกรมมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อการค้นหาความรู้ โดยสามารถสืบค้นได้จากหัวเรื่องที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ให้คลิกที่อักษร G และหาคำว่า globalization จะพบบทความต่างๆตามหัวเรื่องดังกล่าวจำนวนหนึ่ง
The Midnight University
the alternative higher education
postmodernism vs. modernism
บทความลำดับที่ ๙๗๕ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๙
H
home
back home
R
related

ข้อความบางส่วนจากบทความ
สำหรับ Venturi แล้ว สถาปัตยกรรมก็เหมือนตัวบท(text) สถาปัตยกรรมก็เหมือนหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งหน้าที่ของมันก็คือเพื่อที่จะส่งสาร(message) ส่งแนวคิดไปให้ผู้อ่านให้สำนึกรู้ว่า การอยู่อาศัยในสถาปัตยกรรมคืออะไร ? ก็คือทำให้เกิดการทบทวน ทำให้คนที่อยู่ในสถาปัตยกรรม หรือคนที่คิดงานสถาปัตยกรรมได้ทบทวนว่า เราอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมอะไร มากกว่าเพียงแค่อยู่ๆ ไป สำหรับ Charles Jencks และ Venturi แล้ว สถาปัตยกรรมไม่ได้ทำหน้าที่อย่างนั้น

สถาปัตยกรรมทำหน้าที่เหมือนกับหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งมันต้องมีเนื้อหาอะไรที่ทำให้เกิดการคิด เกิดการทบทวนต่อการใช้ชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนของแนวคิด เป็นท่าทีของการเกิดแนวคิด postmodern ในช่วงแรก ซึ่งเขาเรียกว่า เอาเท้าของตัวเองเหยียบบนการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่เรียกว่าเป็น textual turn หรือเป็น linguistic turn คือการเปลี่ยนแปลงเชิงภาษาศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันนี้มันเป็น visual turn มันเป็น simulacrum turn แต่เอาช่วงนี้ก่อน คือคิดทุกอย่างภายใต้ตัว text หรือตัวบท และวิจารณ์ตัวบทด้วย

อีกคนหนึ่ง Arnold Toynbee เขาเป็นนักประวัติศาสตร์ ที่ได้เขียนหนังสือเรื่อง A Study of History (1954) โดยมีการใช้คำว่า postmodern. สิ่งที่เขาไปวิจารณ์ modern ก็คือ พัฒนาการของ modern เป็นผลผลิตของแนวคิดเรื่องอุตสาหกรรมนิยม และแนวคิดเรื่องรัฐชาติ ชาตินิยม ราชการนิยม อันเป็นผลผลิตของแนวคิดสมัยใหม่ ภายใต้การขับเคลื่อนของลัทธิอุตสาหกรรมนิยม โดยมีเครื่องมือคือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นตัวนำ. Toynbee บอกว่า จากพัฒนาการตรงนี้ทำให้เกิดภาพของความเป็นโลกสมัยใหม่ ซึ่งทำให้มนุษย์สิ้นหวัง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เขาได้ไปสำรวจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเส้นทางของประวัติศาสตร์แบบอารยธรรม การเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2