นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็บไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

 

The Midnight University



หมิ่นพระบรมเดชานุภาพในสังคมไทย
"คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ :
พิทักษ์สถาบันหรือเครื่องมือคุกคามประชาชน (ตอนที่ ๑)

ศ.ดร.คณิต ณ นคร และ ไพโรจน์ พลเพชร
จัดโดย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

บทความที่ปรากฏบนหน้าเว็บเพจนี้ เป็นการถอดเทปมาจากการสัมนาทางวิชาการเกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ซึ่งจัดขึ้นที่ สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
เนื่องจากข้อความที่ถอดเทปมีความยาวพอสมควร จึงได้แบ่งการนำเสนอออกเป็น ๒ ตอน
ตอนที่ ๑ นำเสนอเนื้อหาทางวิชาการโดย คณิต ณ นคร และ ไพโรจาน์ พลเพชร
ตอนที่ ๒ นำเสนอเนื้อหาทางวิชาการโดย สมเกียรติ พ่วงทรัพย์ และ โสภณ สุภาพงษ์
midnightuniv(at)yahoo.com

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 899
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 15.5 หน้ากระดาษ A4)




"คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ : พิทักษ์สถาบันหรือเครื่องมือคุกคามประชาชน (ตอนที่ ๑)
เวทีสัมนาและอภิปราย ณ สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
วันเสาร์ที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๙ ตั้งแต่ ๙.๓๐ - ๑๖.๓๐ น.
จัดโดย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


เหตุผลในการจัดงาน
แม้ตามกฎหมายอาญาจะได้บัญญัติฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไว้ในมาตรา 112 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องไม่ให้มีการกระทำอันเป็นการล่วงละเมิด หรือทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ข้อกล่าวหาดังกล่าวได้กลายมาเป็นเครื่องมือในการคุกคามต่อบุคคลต่างๆ ในสังคมอย่างต่อเนื่องกว้างขวาง นับตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบัน กระทั่งในการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการใช้ข้อกล่าวหาในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับบุคคลและสื่อมวลชน

การกระทำเช่นนี้ ทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาตกอยู่ในสถานะยากลำบากในการชี้แจงต่อสาธารณะ เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนอย่างมาก จนสังคมไทยไม่มีโอกาสจะได้เรียนรู้ข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ

ที่ผ่านมา การใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ล้วนแต่เป็นการดำเนินการโดยคู่ขัดแย้งในทางการเมือง หรือจากนักการเมือง และในหลายครั้งก็ปรากฏว่าได้มีคำตัดสินให้ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากความผิดไป จึงเห็นได้ชัดเจนว่า การดำเนินการที่เกิดขึ้นเป็นการใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง มากกว่าการมุ่งหมายปกป้องสถาบันกษัตริย์ดังเป็นที่เข้าใจกัน

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เห็นว่า ประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญต่อสังคมการเมืองไทยอย่างยิ่งจึงได้ร่วมกับ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดการสัมมนาในหัวข้อ "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพในสังคมไทย" ขึ้น ในวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๙ โดยมีกำหนดการดังนี้

วันเสาร์ที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๙
9.30 - 12.00 น. "คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ : พิทักษ์สถาบันหรือเครื่องมือคุกคามประชาชน?"

ศ. ดร. คณิต ณ นคร คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
คุณไพโรจน์ พลเพชร สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
พล.ต.ท. สมเกียรติ พ่วงทรัพย์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล
คุณโสภณ สุภาพงษ์ รักษาการสมาชิกวุฒิสภา
อาจารย์ไพสิฐ พานิชย์กุล มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, ดำเนินรายการ

13.00 - 15.00 น. อภิปราย " ทางออก : ถึงเวลาปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ?"

คุณวสันต์ พานิช คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ผศ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รศ. ดร. เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ บรรณาธิการอาวุโส หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
รศ. สมเกียรติ ตั้งนโม มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, ดำเนินรายการ


"คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ : พิทักษ์สถาบันหรือเครื่องมือคุกคามประชาชน?" (ตอนที่ ๑)

วิทยากร : คณิต ณ นคร, ไพโรจน์ พลเพชร

ไพสิฐ พาณิชย์กุล : พิธีกรดำเนินรายการ
ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่รายการสนทนาทางวิชาการในเรื่อง "คดีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในสังคมไทย" สำหรับในช่วงเช้าจะเป็นเรื่องของ "คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ : พิทักษ์สถาบันหรือเครื่องมือคุกคามประชาชน?" ซึ่งกำลังเป็นประเด็นที่น่าจับตามอง เพราะเรื่องดังกล่าวควรจะได้รับการทบทวนเกี่ยวกับการใช้กฎหมายในเรื่องนี้ว่าควรจะเป็นอย่างไร ในการสนทนากันวันนี้ขอให้เป็นบรรยากาศแบบวิชาการ และทุกท่านสามารถที่จะร่วมสนทนาได้ เหตุที่เน้นเป็นเรื่องวิชาการเพราะว่า ในลักษณะของการพูดคุยวันนี้ อาจมีบางประเด็นที่ถูกนำไปสู่การขยายผลในทางการเมือง ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดบรรยากาศอย่างนั้น

ในแง่กฎหมายก็ดี ในแง่วิกฤตปัจจุบันที่เกิดขึ้นก็ดี จริงๆ แล้วเราควรจะมองเรื่องนี้อย่างไร และในอนาคตควรจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นการพูดคุยกันวันนี้ ขอให้ผู้ร่วมสนทนาช่วยกันระดมความคิด และอยากจะฝากกับเพื่อนๆ สื่อมวลชนว่า พวกเราไม่แน่ใจเหมือนกันว่าการพูดคุยในวันนี้ มันจะนำไปสู่รูปแบบบรรยากาศอย่างไร จึงขอใหสื่อมวลชนช่วยรายงานข่าวและบรรยายกาศในการพูดคุยที่เป็นจริงรอบด้านด้วย เนื่องจากการสนทนากันวันนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องที่ใหม่ และเป็นเรื่องที่อ่อนไหวในทางสังคม ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนช่วยกันมอง ช่วยกันระดมความคิด อันดับแรกผมขอเรียนเชิญท่านอาจารย์ คณิต ณ นคร ครับ

คณิต ณ นคร
ผมขอขอบคุณผู้จัดที่กรุณาเชิญมาพูดวันนี้ ผมอยากจะเริ่มต้นอย่างนี้ครับว่า การพูดวันนี้เป็นเรื่องของกฎหมายอาญา กฎหมายอาญาก็จะแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ อันนี้เป็นความหมายอย่างกว้าง

ลักษณะแรก คือกฎหมายอาญาสารบัญญัติ
ลักษณะที่สอง คือกฎหมายที่มาทำให้กฎหมายสารบัญญัติมีมรรคมีผลได้ก็คือ ก็คือกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ลักษณะที่สาม คือกฎหมายบังคับโทษ ซึ่งมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศเรายังไม่ได้มีการศึกษากันเลย

สำหรับผมให้ความสนใจกฎหมายทั้งหมดเหล่านี้ในขณะที่ศึกษาอยู่ในต่างประเทศ เคยอ่านผลงานวิจัยซึ่งเขาบอกว่า เป็นกฎหมายบังคับโทษที่ดีที่สุด บังคับโทษหมายความว่าศาลตัดสินลงโทษแล้ว… ผมได้ซื้อหนังสือติดมือมาเล่มหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ใช้จนกระทั่งผมไปเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุริกจบัณฑิตย์ จึงได้บรรจุเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอน

กฎหมายวิธีสบัญญัติหรือกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มันไปสิ้นสุดเมื่อคำพิพากษานั้นถึงที่สุด พอถึงที่สุดแล้วก็จะมีการบังคับคดี ก็คือการที่จะมีคำสั่งหรือมีหมายให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลซึ่งถึงที่สุดแล้ว ในประเทศเราคนที่จะออกหมายบังคับคดี หรือเสียค่าปรับ ของเราเป็นหน้าที่ของศาล แต่ในต่างประเทศเป็นหน้าที่ของอัยการ เพราะศาลจะให้ความเอาใจใส่ในเรื่องของการพิพากษา และหลังจากศาลพิพากษาจนถึงที่สุดแล้ว สำนวนคดีก็จะไหลมาที่อัยการ อัยการก็จะออกหมายบังคับคดี

สมมุติว่าศาลพิพากษาจำคุกนาย ก. เป็นเวลา 3 ปี อัยการก็จะออกหมายส่งตัวนาย ก. ไปยังเรือนจำ หลังจากที่เข้าไปอยู่ในเรือนจำแล้ว อันนั้นเรียกว่าเป็นการบังคับโทษ ในสังคมไทยเรายังไม่เข้าใจ ผมเคยติดตามผู้ใหญ่ของกรมอัยการไปยังประเทศอินโดนีเซีย แล้วได้ไปเยี่ยมหน่วยงานของกระทรวงยุติธรรมของที่นั่น พวกเราได้รับคำถามว่า ใครเป็นผู้ execution judgement (การบังคับคดีตามกฎหมาย) อัยการที่ไปด้วยกันก็ตอบเป็นเสียงเดียวว่าราชทัณฑ์ ผมก็ต้องแก้ว่าของเราเป็นศาล ศาลเป็นคนออกหมายจำคุก แต่ของเขานั้นเป็นอัยการ

กฎหมายลักษณะเหล่านี้มีความสำคัญต่อระบบของเราอย่างมาก องค์การสหประชาชาติเขาออก standard minimum rule ในส่วนนี้ก่อน แต่ของเราก็ยังต้วมเตี้ยมๆ อยู่ จึงขอฝาก อ.สมชาย (ปรีชาศิลปกุล) ช่วยไปบรรจุเข้าไว้ในหลักสูตรนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย ส่วนคนสอน ผมจะช่วยหาให้สำหรับเรื่องนี้

หลังจากที่ท่านรู้จักกฎหมายอาญาแล้วในความหมายอย่างกว้าง ต่อมาผมจะพูดถึงกฎหมายอาญาในความหมายอย่างแคบ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความผิดลหุโทษ ว่ามีปัญหาอะไรตรงไหนบ้าง ก่อนที่จะลงมาสู่ความคิดใกล้เคียง

ตอนที่ผมศึกษาอยู่ในประเทศเยอรมัน มีผู้หญิงคนหนึ่งในประเทศฮอลแลนด์เธอเป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย เจ็บป่วยทุกข์ทรมานมาก ผู้หญิงคนนี้มีลูกเป็นหมอ หมอก็ไปเยี่ยมแม่ แม่ก็รบเร้าให้ลูกช่วยสงเคราะห์ให้แม่พ้นไปจากความทรมานสักทีเถิด อันนี้ก็ธรรมดาไม่ว่าสังคมไหนสำหรับการที่ต้องตัดสินใจเกี่ยวกับพ่อแม่ไม่ใช่เรื่องง่าย เขาก็ไม่กล้า จนกระทั่งสุดท้ายทนคำขอร้องของแม่ไม่ไหว จึงฉีดมอร์ฟีน overdose แม่ก็เลยถึงแก่ความตาย

สังคมฮอลแลนด์ได้ debate กันว่า หมอคนนี้ที่เป็นลูก กระทำความผิดหรือเปล่า? ควรรับผิดไหม? ในส่วนของกฎหมายของภาคพื้นยุโรปในความผิดฐานฆ่านั้น เขาจะมี 4 ฐานคือ

ฐานหนึ่ง คือการฆ่าธรรมดา ถ้าจะเทียบกับของเรา ใครที่เรียนกฎหมายคงจะพอนึกออกว่าเหมือนกับมาตรา 488. และความผิดอีกประการหนึ่งคือ ฆ่าโดยไต่ตรองไว้ก่อน ของเราก็มาตรา 289 อันนี้ของเขากับของเราเหมือนกัน. แต่ของเขามีเพิ่มเข้ามาอีก 2 ความผิด เพื่อจะแก้ปัญหาสังคมนั่นเอง ความผิดฐานฆ่าอันที่ 3 คือ การฆ่าโดยผู้ถูกฆ่ายินยอมให้ทำอย่างแท้จริง ก็คือกรณีแม่ของหมอคนนี้ แล้วการลงโทษก็จะต่ำ พอโทษต่ำถ้าคิดในแง่เปรียบเทียบกับเราก็สามารถที่จะรอการลงโทษได้. มีความผิดฐานฆ่าอีกประเภทหนึ่งคือ หญิงใดที่ฆ่าบุตรนอกสมรสในระหว่างการคลอด หรืออันใดหลังการคลอด มีความผิดสถานเบา ซึ่งความจริงทารกนั้นก็เป็นมนุษย์แล้ว

แต่สำหรับกฎหมายเราแล้ว จะเห็นว่าเนื่องจากเราไม่มี 2 ฐานความผิดหลัง ถ้าสมมุติว่าเกิดกรณีที่ฮอลแลนด์นั้นปรากฏขึ้นในสังคมเรา เป็นอย่างไรครับ? ของเราฆ่าบุพการีโทษสถานเดียวคือประหารชีวิต แล้วเราจะทำอย่างไรต่อกรณีนี้ เราจะเอาคนที่เป็นหมอไปเข้าคุกแล้วนำไปประหารชีวิตไหม? อันนี้เราไม่มีคำตอบ เนื่องจากเรามีโทษฆ่าบุพการีสถานเดียวคือ ประหารชีวิต หรืออย่างเก่งก็รับสารภาพ ลดลงมาเหลือจำคุกตลอดชีวิต

ของไทยเราหากจะแก้ปัญหา แสดงว่ากฎหมายอาญาของเราตีบตันแล้ว ถ้าเราตีบตันอย่างนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร? ก็ต้องไปใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การที่บุคคลกระทำผิดไม่ได้หมายความว่าอัยการจะต้องสั่งฟ้องทุกเรื่อง ถ้าสั่งฟ้องทุกเรื่อง อัยการก็ไม่ต่างอะไรจากบุรุษไปรษณีย์ ดังนั้นอัยการจึงต้องพิจารณาว่าการฟ้องคดีมีประโยชน์ไหม? มีอะไรที่สมควรจะไม่ฟ้องได้ไหม? อันนี้ก็มีบางคดีเหมือนกันที่อัยการสั่งไม่ฟ้องในบางคดี เช่น กรณีแม่ไปขโมยซาละเปามาเลี้ยงลูก กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้าจะแก้ปัญหาในกระบวนการยุติธรรม ก็มีทางหนึ่งคืออัยการอาจจะสั่งไม่ฟ้องผู้หญิงคนนี้ ผมก็ไม่ทราบว่าสังคมเรารับได้มากน้อยแค่ไหน เพราะอัยการจะกล้าทำหรือเปล่า ผมก็ไม่แน่ใจ

อันนี้ก็เป็นตัวอย่างซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในกฎหมายเราเนื่องจากค่อนข้างจะแข็งกระด้างไปหน่อย มันอาจจะถูก มันอาจจะไม่มีลักษณะนี้เกิดขึ้นในบ้านเรา แต่ถ้าเกิดขึ้นก็แสดงว่ากฎหมายอาญาไม่ได้มีส่วนในการแก้ปัญหา และดังที่ผมได้เรียนแล้วว่า กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีปัญหา ถ้าเราสั่งไม่ฟ้องหมอคนนี้ สังคมรับได้หรือเปล่า? อันนี้ผมทำให้เห็นว่ากฎหมายอาญาในส่วนนี้ของเรายังมีปัญหา

ตลอดเวลาที่ผ่านมา นักกฎหมายคงทราบดี เวลาเราแก้กฎหมายอาญา เราแก้อย่างเดียวคือ "การเพิ่มโทษ" เช่น โทษ 5 ปี ก็เพิ่มเป็น 10 ปี. คือกฎหมายอาญาจริงๆ แล้วมันไม่มีพิษสงอะไร ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษตลอดชีวิต หรือ 20 ปีอะไรต่างๆ ถ้าวิธีพิจารณาของเรายังไม่มีประสิทธิภาพ เราคิดแต่จะแก้การลงโทษให้สูงขึ้นแล้วคนจะกลัว อันนี้ไม่เป็นความจริงครับ

คนไม่ได้กลัวโทษ แต่เขากลัวประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม ถ้ากระบวนการยุติธรรมไม่มีประสิทธิภาพ

ยกตัวอย่างให้เห็นชัดได้ เช่น นายทานากะ ซึ่งเคยเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เขามีคดีคอร์รัปชั่นเรื่องล็อกฮีด อัยการของเขาเอานายทานากะเข้าคุก ระหว่างที่ดำเนินคดี นายทานากะยุบสภา ไปเลือกตั้งแล้วก็ได้รับเลือกตั้งเข้ามาใหม่ ในที่สุดก็เข้าคุกจนได้ แต่ว่าโชคดีนายทานากะตายเสียก่อน เลยรับโทษไม่เท่าไหร่ ซึ่งเมื่อนำมาเทียบกับของเรา คดีล็อกฮีดต้องเปรียบกับคดี CTX (คดีนี้เกี่ยวข้องกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม พรรคไทยรักไทย) จะเห็นว่ายังไม่มีอะไรเกิดขึ้นจนกระทั่งวันนี้ อันนี้คือประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นคนไม่กลัวหรอกครับในการกระทำความผิด เขากลัวประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมมากกว่า

กฎหมายอาญาของเราอีกประเภทหนึ่งซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจก็คือ ตามกระบวนกฎหมายอาญาหรือระบบกฎหมายอาญาของเรา มีความผิดอยู่ 2 ประเภทคือ ความผิดที่ยอมความได้ กับความผิดอาญาแผ่นดิน. ความผิดที่ยอมความได้ อย่างเช่น ความผิดทำให้เสียทรัพย์ คือถ้าผู้เสียหายเขาไม่ร้องทุกข์ ตำรวจก็ทำอะไรไม่ได้ อัยการก็ทำอะไรไม่ได้ ศาลก็ทำอะไรไม่ได้ …

แต่มีบางกรณีได้ใช้กระบวนการยุติธรรมในความผิดที่ยอมความได้อย่างเสียหาย เช่น คดีพวกหมิ่นประมาท ที่ลงหนังสือพิมพ์กระจายไปทั่วราชอาณาจักร ผู้เสียหายก็ไปร้องทุกข์ที่ฝาง ที่เบตง ที่น้ำยืน ที่สังขละ ไปที่ไหนก็โดนจับ ตอนที่ผมเป็นอัยการสูงสุดก็ได้ออกระเบียบไว้ว่า คดีประเภทนี้ต้องส่งมาดำเนินการที่กรุงเทพ เพราะมันเป็นกรรมเดียว แต่ผมไม่แน่ใจว่าทางตำรวจรับเรื่องราวไว้เหมือนกันหรือเปล่า เราก็แก้ได้เฉพาะของอัยการ เพราะกระบวนการยุติธรรมเราไม่เป็นขบวน เนื่องจากต่างคนต่างอยู่ เป็นอาณาจักรใครอาณาจักรมัน อันนี้ก็พูดถึงความผิดที่ยอมความได้

ความผิดอาญาแผ่นดิน ผมคิดว่าก็รู้กันอยู่แล้ว แต่ในภาคพื้นยุโรปโดยเฉพาะในประเทศเยอรมัน เขามีความผิดอีกประเภทหนึ่ง คือความผิดที่ยอมความได้ เจ้าพนักงานจะดำเนินการได้ต่อเมื่อมีการร้องทุกข์ เพราะฉะนั้นถอนการร้องทุกข์ก็จบเลย. แต่ของเขายังมีความผิดอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า "ความผิดที่ผู้เสียหายต้องให้อำนาจ" เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน. แต่ความผิดประเภทนี้ผู้เสียหายต้องให้อำนาจ ขอยกตัวอย่าง…

ในประเทศเยอรมัน การดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทประธานาธิบดี หรือนายกรัฐมนตรี หรือคนในคณะรัฐมนตรี หรือบุคคลใดในฝ่ายนิติบัญญัติ ถ้าคนที่ถูกดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทไม่เปิดไฟเขียว หมายความว่าต้องให้อำนาจแก่รัฐที่จะจัดการ ถ้าไม่เปิดไฟเขียวก็ทำอะไรไม่ได้ ทั้งๆที่เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ถ้าประธานาธิบดีเยอรมันเขาไม่มอบอำนาจให้ตำรวจจัดการ ตำรวจจะมาทำอะไรไม่ได้

ทำไมเขาถึงมีกฎหมายลักษณะนี้ ก็เพราะเหตุว่า ประเทศที่เจริญแล้วที่เป็นระบอบประชาธิปไตย คนที่อยู่ในสถานะที่เป็น public figure หรือบุคคลสาธารณะ เช่นเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีอะไรต่างๆ เขาจะพิจารณา 2 อย่างประกอบกัน คือดูว่าถ้าเขาจะดำเนินคดีกับคนที่มาด่าเขา กับการที่เขาจะให้อภัยทาน อันไหนมันจะเกิดผลดีกับเขามากกว่า จะทำให้เขาสูงกว่า

ยกตัวอย่างให้เห็นในบ้านเรา อย่างกรณีคุณอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นนักเรียนนิติศาสตร์รุ่นเดียวกับผม ท่านก็เจริญก้าวหน้าไปดี ตอนนี้ก็ได้รับเลือกเป็น สว. ท่านอุทัย พิมพ์ใจชน ตอนที่ท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ท่านก็โดยปาระเบิด(หมายถึงอุจจาระ) อย่างนี้ในประเทศที่เขาเจริญแล้ว ที่เขามีความเป็นประชาธิปไตยสูง ผมไม่ได้ว่าท่านไม่ดีนะครับ ท่านก็จะต้องมาชั่งดูว่า ถ้าท่านจะดำเนินคดีกับคนที่ปาระเบิด กับการที่ท่านอภัย สังคมเขาจะคาดหวังอะไรมากกว่า ดังนั้นในจุดนี้ครับ ประเทศเราก็ขาด เมื่อขาดมันก็เป็นปัญหา สิ่งนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ

บ้านเรานี้รู้สึกว่า ถ้าเป็นเรื่องที่ไปกระทบกระทั่งกับรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี ผมมีความรู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมของเรา รู้สึกว่ามันใจเต้น เนื้อเต้น แต่ถ้ามาดูหมิ่นผู้ดำเนินการอภิปรายจะเนื้อเต้นหรือเปล่า อันนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ของเราที่ยอมความได้ก็ไม่ทำ แต่ของเขาเรื่องอาญาแผ่นดินแยกออกเป็น 2 ประเภท ดังที่ยกตัวอย่างให้ฟังกันแล้วคือ ความผิดที่ผู้เสียหายต้องให้อำนาจ

อีกเรื่องก็ได้คือว่า ท่านคงจำได้ว่า นายกรัฐมนตรีพลเอกเปรม ตอนที่ท่านไปที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง แล้วโดนนักศึกษารามคำแหงทำร้ายท่าน ถ้าในสังคมประชาธิปไตย ท่านนายกฯเปรม ท่านต้องคิดนะครับว่า ท่านจะดำเนินคดีกับนักศึกษาคนนี้หรือท่านจะให้อภัย "กลับบ้านไปเถอะนะลูก" อันไหนจะดีกว่า… ซึ่งอันนี้ผมได้ชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของกฎหมายอาญาของเรา

ทีนี้ผมขอกลับมาสู่กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบ้าง กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาผมเรียนว่าเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิ์ ไม่ใช่เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าพนักงาน ไม่ใช่ให้อำนาจพนักงานสอบสวน ให้อำนาจพนักงานอัยการ ให้อำนาจศาล อันนี้ไม่ใช่เลย เป็นกฎหมายที่วางกรอบการใช้อำนาจ และกรอบการใช้อำนาจของเรา ปัจจุบันถ้าว่าโดยตัวบทกฎหมายแล้ว ไม่ได้เลวกว่ากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศใดในโลก อันนี้ผมกล้ายืนยัน เพราะว่าหลังจากที่เราปฏิรูปการเมือง การออกหมายจับ หมายค้น การไปสู่ศาลนั้น เพื่ออะไรครับ? เพื่อให้ศาลทำการตรวจสอบการทำงานของตำรวจว่ามีเหตุมีผลที่จะขอหมายไหม? ถ้าไม่ตรวจสอบแล้วก็จะไม่ต่างอะไรกับสมัยก่อนที่ตำรวจดำเนินการ ซึ่งน่าห่วง

อย่างเรื่องที่เกิดขึ้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ไปค้นบ้านในเวลากลางคืน ยิงตู้เย็นเขาเสียพังยับเยิน แล้วพอเขาโวยวายมากขึ้นก็เอาตู้เย็นหนี พอเขาโวยวายอีกก็เอากลับมา ผมคิดว่าการออกหมายมันไม่ถูกมาตรฐาน การปฏิบัติก็ไม่มีมาตรฐาน คือคิดเป็นเรื่องในเชิงอำนาจ แล้วความจริงสิ่งที่เกิดขึ้นผมอยากจะพูดในฐานะที่เป็นนักวิชาการว่า มันเป็นความรับผิดชอบของคณะนิติศาสตร์ของสถาบันการศึกษา เพราะอะไรครับ เพราะในอดีตเราเรียนกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เราเรียนในฐานะเรื่องของอำนาจหน้าที่ เราคุยกันแต่เรื่องอำนาจ พนักงานตำรวจมีอำนาจ พนักงานสอบสวนมีอำนาจ อัยการมีอำนาจ ศาลมีอำนาจ แล้วถามว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยมีอะไร? คำตอบคือมีสิทธิ์ต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ แต่ไม่ได้อธิบายให้เขาฟังแบบนี้ อันนี้ก็เป็นปัญหาของเรา

เพราะฉะนั้น กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของเรา ผมเรียนว่าดีและไม่แพ้ของประเทศใดในโลก แต่การใช้ยังเป็นปัญหาอยู่ ทำไมถึงเป็นปัญหา ก็เพราะเหตุว่าความคิดของคนในสังคมเรายังเหมือนเดิม และนักกฎหมายที่เป็นผลิตผลออกมาก็ตีความกฎหมายจนกระทั่งเนติบริกรเต็มบ้านเต็มเมือง ดังนั้นกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีปัญหาในด้านการปฏิบัติ

การสอบสวนไม่ว่าคดีใด จะต้องเริ่มต้นด้วยการรวบรวมพยานหลักฐาน จนถึงระดับที่จำเป็นจะต้องเอาตัวคนมาสอบปากคำ แต่ของเรานี่นะครับ พอแจ้งความก็จับแล้ว จับแล้วก็หาหลักฐาน คือหลักในการดำเนินคดีอาญาจริงๆ แล้ว เป็นหลักการตรวจสอบความจริงแท้ของเรื่อง เรียกเป็นภาษาต่างด้าวว่า examination doctrine หรือ examination principle คือการตรวจสอบความจริงให้สมบูรณ์ที่สุด กฎหมายของเราก็เขียนว่าให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริง เพื่อเป็นผลดีต่อรัฐ แล้วมาชั่งดูว่าเป็นอย่างไร เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานและชั่งดูแล้ว ก็ส่งมายังพนักงานอัยการ อัยการก็มีหน้าที่ต้องรวบรวมพยานหลักฐานเหมือนกัน สามารถที่จะสั่งสอบสวนเพิ่มได้ จนกระทั่งมั่นใจว่าทำผิดจริง พยานหลักฐานมากพอ จึงยื่นฟ้อง. และถ้าอัยการยื่นฟ้อง โดยปฏิบัติตามหลักกฎหมายดังที่ผมกล่าวมา เปอร์เซ็นต์ที่จะยกฟ้องจะน้อยมาก

ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งได้ชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมของเขามีประสิทธิภาพมากที่สุด สามารถเอานายกรัฐมนตรีเข้าคุกได้ การลงโทษของคดีที่อัยการยื่นฟ้องมีถึง 99.6% คือไม่ถึง 1% ที่ยกฟ้อง จะเห็นว่าเขารวบรวมพยานหลักฐานอย่างมาก แต่ของเรานี่ยังไม่มีใครทำวิจัย ผมก็เชื่อว่าในบ้านเรา ถ้าจำเลยปฏิเสธ 50/50 ลงโทษเพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น ก็แสดงว่าเราทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ตรงไปตรงมาตามกฎหมาย แล้วเป็นอย่างไร ก็ทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนเดือดร้อน เพราะกว่าเขาจะถูกยกฟ้องโดยศาล ต้องถูกกัก ถูกอะไรต่อมิอะไร เสียเงินเสียทองจ้างทนาย

ดังนั้น ผมเรียนว่าในขณะนี้ เราเพียงปฏิบัติให้ถูกหลักกฎหมาย ทุกอย่างก็จะแก้ปัญหาได้ แต่เนื่องจากเราบางทีก็อาจจะประจบบ้าง ของเราก็เลยกลายเป็นปัญหา แล้วปัญหามันก็จะลุกลามไป ผมก็เลยเขียนบทความเรื่องหนึ่ง โดยได้เตือนกระบวนการยุติธรรม โดยใช้ชื่อเรื่องว่า"กระบวนการยุติธรรมต้องนิ่ง" หลายคนคงได้อ่านในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันไปแล้ว(ฉบับวันที่ 19 เมษายน 2549) อันนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งผมอยากจะเตือนสังคมว่า โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมของเรา ทุกฝ่ายต้องนิ่ง ทำงานให้ดี ทำงานให้มีประสิทธิภาพ ทำงานให้รอบคอบ ทำงานให้ตรงไปตรงมา แล้วปัญหาทั้งหลายมันก็จะคลี่คลาย

แต่ถ้าเราใช้กฎหมายแบบแสดงอำนาจ ปัญหาสังคมก็จะเกิด และผมรู้สึกเป็นห่วงว่ากระบวนการยุติธรรมไม่มีความนิ่ง นี่จะเป็นปัญหา แล้วในนี้ผมก็พูดว่า คนที่ไม่นิ่งที่สุดก็คือตำรวจ ถัดมาก็คืออาชีพที่ผมเคยเป็น อัยการ เพราะ 2 อาชีพนี้อิทธิพลภายนอกแทรกเข้ามาได้ ตำรวจนั้นในภาษาต่างประเทศเขาเรียกว่า political officer คือเป็นเจ้าพนักงานที่ถูกแทรกแซงโดยการเมืองมากที่สุด เพราะฉะนั้นต้องระวัง และอัยการเองแม้ว่าจะมีเกราะป้องกันไม่ให้อิทธิพลภายนอกเข้ามา แต่บางทีก็ลำบากเหมือนกัน

ท่านก็คงได้ทราบว่าสมัยที่ผมเป็นอัยการสูงสุด ผมก็ได้ต่อสู้พอสมควร และก็รอดตัวมาได้อย่างนี้แหละครับ แต่ของเราผมคิดว่าศาลนี้ยังนิ่ง เพียงแต่ว่าการใช้อำนาจในการออกหมาย น่าจะต้องทบทวน ในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายบังคับโทษ

ไพโรจน์ พลเพชร
เรียนท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน จริงๆการพูดในวันนี้สำหรับสังคมไทยค่อนข้างจะอ่อนไหว อย่างไรก็ตามผมคิดว่า นัยการต่อสู้ทางการเมืองในระยะเวลา 6-7 เดือนที่ผ่านมา ประเด็นนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่สังคมไทยได้เรียนรู้เรื่องนี้กว้างขวางมากขึ้น ผมใคร่จะถอดบทเรียนตรงนี้ว่าเกิดอะไรขึ้น

ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แท้จริงไม่มีอยู่ในกฎหมายของไทย เพียงแต่ว่าคำๆ นี้ถูกใช้อยู่ทั่วไปในสังคมไทย ถ้าเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วก็เรียกว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ซึ่งจริงๆ คือกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท การดูหมิ่นและการอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ต่อราชินี ต่อรัชทายาท ต่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ว่าความเข้าใจตรงนี้พอพูดถึงหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มันไม่ใช่เป็นเพียงโทษทางกฎหมายอย่างเดียว มันมีนัยโทษทางสังคมและการเมืองอยู่ด้วย ถามว่ามันมีโทษทางสังคมการเมืองอย่างไร?

ประเด็นแรก คือ ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจะไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องที่ว่า เราจะสามารถเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถาบันฯ หรือรับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถาบันฯเรื่องอะไรได้บ้าง ในมิติใดบ้าง ในเรื่องอะไรที่สามารถรู้ได้ เรื่องอะไรรู้ไม่ได้ ในเรื่องอะไรที่เรียกว่าหมิ่นประมาท เรื่องอะไรที่เรียกว่าดูหมิ่น ในเรื่องอะไรที่เรียกว่าอาฆาตมาดร้าย สังคมไทยไม่ชัดเจนในประเด็นตรงนี้

เช่นเราจะเรียนรู้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ได้ไหม? เราจะเรียนรู้สถาบันกษัตริย์ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองได้ไหม? เราจะเรียนรู้สถาบันกษัตริย์ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ สังคม การเมืองได้แค่ไหน? ในมิติไหน ในขอบเขตไหน? ถ้าในขอบเขตทางวิชาการได้ไหม? สังคมไทยไม่มีคำตอบ

แท้จริงบทบาทสถาบันกษัตริย์มีบทบาทในทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม เพราะฉะนั้นสังคมควรจะเรียนรู้ รับรู้ในเรื่องเหล่านี้ได้ในทางวิชาการ ควรจะรับรู้เกี่ยวข้องได้ เพราะว่าการรับรู้เกี่ยวข้องจะนำไปสู่การเข้าใจสังคมไทยได้ลึกซึ้งมากขึ้น แต่พอมาพูดถึงหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มันทำให้ขอบเขตถูกจำกัด เรื่องเหล่านี้ถูกปิดกั้นโดยทันที ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปล่วงรู้ ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปเข้าใจ ไม่มีสิทธิ์ที่จะเสนอใดๆ อันนี้เป็นประเด็นที่สำคัญ

เพราะฉะนั้น ประเด็นที่ว่าเราจะรับรู้ หรือแสดงความรู้ หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ มีขอบเขตแค่ไหน? ซึ่งอันที่จริงในทางกฎหมายได้พูดไว้ชัด ถ้าข้อความใดไม่ดูหมิ่น ไม่หมิ่นประมาท ไม่อาฆาตมาดร้านต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็นำเสนอได้ ซึ่งชัดเจนทางกฎหมาย

ประเด็นที่สอง ซึ่งสำคัญก็คือว่า เมื่อข้อหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่เป็นเพียงข้อหาทางกฎหมาย กลับเป็นข้อหาทางสังคมและการเมือง ทำไมจึงเป็นข้อหาทางสังคมและการเมือง เพราะข้อหานี้เป็นข้อหาที่สามารถใช้ในการต่อสู้ทางการเมืองอยู่เสมอๆ ในสังคมไทย และเป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุดในการกำจัดความแตกต่างทางการเมือง หรือการต่อสู้ทางการเมือง

ทำไมจึงเป็นข้อหาที่ทรงประสิทธิภาพ
มิติแรก คือเวลาพูดถึงข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จะเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทยมีนัยอยู่หลายมิติมากในสังคมไทย อย่างแรกคือ ในตัวสถาบันพระมหากษัตริย์มีความผูกพันในเชิงวัฒนธรรมสังคมอย่างลึกซึ้ง เป็นศูนย์กลางของความจงรักภักดีและศูนย์รวมแห่งจิตใจ อันนี้เป็นความเข้าใจของคนทั่วไป เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิด หรือ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็เป็นความท้าทายของความจงรักภักดีของคนทั้งประเทศ

มิติที่สอง สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกสถาปนาเป็นสถาบันหนึ่งของชาติไทย ในยุคหนึ่งเราพูดถึง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ดังนั้นสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นสถาบันที่เกี่ยวข้องกับรัฐไทย เป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย เพราะฉะนั้นใครพูดถึงการดูหมิ่น หรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็เท่ากับกำลังคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐไทย อันนี้เป็นมิติที่สองของสถาบันพระมหากษัตริย์

มิติที่สาม สถาบันพระมหากษัตริย์เกี่ยวข้องกับระบบประชาธิปไตยของประเทศไทย จะเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยของไทยพูดถึง ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่บังอาจหรือถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็เหมือนกับการไปคุกคามระบอบประชาธิปไตยด้วย ดังนั้นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งมีการกล่าวหากัน มันจึงเป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพในการที่จะทำลายกันในทางการเมือง

ถามว่าในอดีตเป็นอย่างไรบ้าง ผมคิดว่า ปรากฏการณ์ที่สังคมไทยได้เรียนรู้และรู้สึกเจ็บปวดที่สุดคือ เหตุการณ์เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519. เหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถใช้เรื่องนี้มาเป็นเครื่องมือ ในการทำลายความขัดแย้งและความแตกต่างในทางการเมือง คำถามมีว่าในปัจจุบันมีการใช้อีกหรือไม่ จะเห็นว่าในการต่อสู้ทางการเมืองช่วงนี้ มีการใช้ข้อหาดังกล่าวกันทั้ง 2 ฝ่าย ทีนี้พอใช้ในมิติทางการเมืองมันจึงมีคุณลักษณะอยู่ 2-3 อย่างในทางการเมือง

อย่างแรกแรกก็คือว่า จะหยิบคำเขียน คำพูด ข้อกล่าวหาบางคำที่สามารถโน้มน้าวให้สังคมเห็นได้ว่า คนๆ นี้กำลังหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะฉะนั้นคำพูด คำเขียนบางประโยคก็เลยถูกหยิบขึ้นมา แล้วก็ไม่รู้ว่าคำพูดคำเขียนบางประโยคเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร อยู่ในเรื่องอะไรบ้าง ไม่รู้หรอกว่ามันมาจากไหน พูดกันอย่างไร เกี่ยวข้องกับเรื่องราวสาระจริงๆนั้นประเด็นอะไร แต่หยิบขึ้นมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อโฆษณาว่า อย่างนี้เป็นการเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ข้อความบางข้อความ อย่างพรรคประชาธิปปัตย์หยิบเรื่องพระราชดำรัสในการหาเสียงเลือกตั้งคราวที่แล้วขึ้นมาเป็นคำพูดเรื่องทุจริต วิจารณ์เรื่องทุจริต ต้องการมุ่งหมายวิจารณ์อีกพรรคการเมืองหนึ่ง พรรคนั้นก็ใช้เป็นเครื่องมือว่านี่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะจริงๆ คำที่หยิบมาไม่รู้ยาวทั้งหมดว่า เรื่องอะไร พูดในวาระไหน เรื่องอะไรบ้าง แต่หยิบขึ้นมา

แท้จริงข้อความนั้นพอนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถ้าจำไม่ผิดอัยการสั่งไม่ฟ้อง เพราะข้อความไม่ได้เป็นการดูหมิ่นตรงไหน ดูหมิ่นไม่มี หมิ่นประมาทไม่มี อาฆาตมาดร้ายไม่มี แต่มันสามารถทำลายการต่อสู้ในทางการเมืองได้ ซึ่งไม่ทราบว่ามีผลต่อการลงคะแนนเสียงในคราวนั้นไหม? หรือเหตุการณ์ล่าสุดซึ่งมีการไปปิดล้อมหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ก็หยิบคำพูดบางคำขึ้นมาแล้วบอกว่า นี่ใช่! หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และคำที่หยิบขึ้นมาใช้ก็สามารถโน้มน้าวใจได้

อย่างที่สอง นอกจากบางคำพูดที่หยิบขึ้นมาโดยไม่สามารถนำเอาสาระทั้งหมดของมันมาดูแล้ว ก็คือการใช้สื่อแบบการโฆษณาชวนเชื่อ อันนี้สำคัญมาก เช่นมีการพูดกันปากต่อปาก พูดกันในกลุ่มสายสัมพันธ์กลุ่มต่างๆ หรือมีการสื่อสารกันอย่างเป็นสาธารณะ การสื่อสารแบบนี้ผลคืออะไร? ก่อให้เกิดความเกลียดชัง และพอก่อให้เกิดความเกลียดชัง สิ่งที่ตามมาคือว่า ก่อให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างบุคคลขึ้นมา ระหว่างคนที่จงรักภักดีและคนที่ไม่จงรักภักดี คือกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญ

ในเรื่องของการใช้ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีการใช้เป็นเครื่องมือกันทั้ง 2 ฝ่าย เพราะการใช้ข้อกล่าวหานี้จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้ทำลายอีกฝ่ายหนึ่งลงได้ ทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมืองได้ และมีผลถึงขั้นปิดปากให้ฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถต่อสู้ได้อีกต่อไป จนถึงขั้นที่การคัดค้านทางการเมือง ถ้าสามารถเอาเรื่องนี้มาหยุดได้ ก็หยุดได้ทันที ไม่สามารถใช้สิทธิทางการเมืองได้ต่อไป

ความพยายามที่จะจับคุณสนธิ ลิ้มทองกุลด้วยข้อหานี้ มีมาตลอดตั้งแต่ก่อน 4 ธันวาคม 2548 ในหลวงก็ทรงตรัสถึงเรื่องดังกล่าว แล้วก็หยุดไป ตอนนี้ก็ถูกนำมาใช้ใหม่ ขณะเดียวกันฝ่ายนี้ก็ใช้เป็นประโยชน์เพื่อที่จะทำให้เกิดความไม่ชอบธรรม นี่คือสิ่งที่ดำรงอยู่ แล้วถามว่าถ้าดำรงอยู่แบบนี้ ผลของมันคืออะไร? ผลก็คือว่าจะทำให้บางฝ่ายที่ออกมาคัดค้านด้วยข้อกล่าวหานี้ ในทางการเมืองก็จะพูดอะไรไม่ได้ ก็จะหยุดบทบาทในทางการเมืองไป ไม่สามารถที่จะแสดงออกในทางการเมืองที่จะคัดค้าน แสดงความเห็น หรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้

ดังนั้นจะเห็นว่า ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นเรื่องซึ่งถึงที่สุดแล้ว ไม่ใช่เป็นข้อกล่าวหาทางกฎหมายในสังคมไทย แต่เป็นข้อกล่าวหาอะไรไม่รู้ ที่เชื่อกันว่ามันทำอะไรไม่ได้ และคนที่มักจะโดนก็คือคนที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐ โดยส่วนใหญ่จะโดนข้อหานี้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น

ถามว่า แล้วเราจะทำอย่างไรกับสภาวการณ์แบบนี้
ประเด็นที่หนึ่ง คิดว่า จะเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายหยุดใช้ข้อกล่าวหานี้ได้ไหม? ไม่แน่ใจว่าจะเรียกร้องได้อย่างไร? เพราะฝ่ายต่างๆ เวลาใช้เรื่องนี้ ก็เพราะคิดว่ามันเป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพ จะเรียกร้องอย่างไรให้สองฝ่ายหยุดใช้ เนื่องจากว่าถ้าไม่หยุดใช้มันจะกระทบกระเทือนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมอย่างกว้างขวางที่สุด และทุกครั้งถ้านำเอาข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาใช้เมื่อไร ก็จะก่อให้เกิดความแตกแยกขัดแย้งในสังคม ดังนั้นจะหยุดมันได้อย่างไร?

ประเด็นที่สอง ซึ่งคิดว่าสำคัญก็คือ สื่อจะเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างไร ที่จะไม่สื่อสารอันจะก่อให้เกิดความขัดแย้งที่บานปลาย อันนี้เป็นประเด็นที่สำคัญเพราะว่า ถ้าสื่อก่อให้เกิดความขัดแย้งเป็นเรื่องบานปลายออกไปเรื่อยๆ มันก็เท่ากับไปทำให้การโฆษณาชวนเชื่อของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นจริงขึ้นเรื่อยๆ เพราะการโฆษณาที่เป็นจริงขึ้นเรื่อยๆ มันก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นตามมา อันนี้ทำให้ฝ่ายหนึ่งใช้ประโยชน์ได้ เป็นประโยชน์ต่อการต่อสู้ทางการเมืองได้เรื่อยๆ ซึ่งตรงนี้ไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรให้สื่อจึงจะตระหนักถึงตรงนี้

ประเด็นที่สาม ซึ่งมีความสำคัญคือ เราเองจะเรียนรู้เรื่องนี้ได้อย่างไร ผมคิดว่าสังคมไทยเราเข้าใจโทษทางการเมืองและโทษทางกฎหมายแยกกันได้อย่างไร เหมือนกับว่าเราเข้าใจโทษทางการเมืองอยู่เป็นประจำ แต่เราไม่เข้าใจโทษทางกฎหมาย แท้จริงโทษทางกฎหมายของการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ในทางกฎหมายก็เหมือนกับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา เพียงแต่ว่ามีลักษณะพิเศษ มีโทษมากกว่า แต่พูดถึงองค์ประกอบความผิดอื่นๆ เหมือนกัน เช่นต้องมีเจตนาที่ชัดเจนในการใส่ร้าย ใส่ความต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อบุคคลที่สามให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ให้ถูกเกลียดชังหรือดูหมิ่น อันนี้ชัดเจนในทางกฎหมาย ก็เหมือนดูหมิ่นบุคคลธรรมดา เพียงแต่ว่ามีโทษมากขึ้น

นอกจากนั้น ขอหาอาฆาตมาดร้าย ซึ่งหมายความว่า อันนี้ที่ไม่มีในบุคคลธรรมดา เพราะว่าเกี่ยวข้องกับการปกป้องสถาบันฯให้มั่นคงที่สุด ตรงนี้จะแยกแยะอย่างไร จะเรียนรู้กับมันอย่างไร? จริงๆคือว่า จะเรียนรู้เรื่องนี้ได้อย่างไรเพราะมันไม่ใช่โทษทางกฎหมาย แต่เป็นโทษทางสังคม โทษทางการเมือง เป็นโทษที่เข้าใจแล้วทำให้เกิดความวิตก ทำให้เกิดความกลัว จนถึงการปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ปิดกั้นการแสดงออกทางการเมือง ผมคิดว่านี่เป็นประเด็นที่สำคัญในสังคมไทยจะต้องเรียนรู้ ซึ่งถามว่าจะเรียนรู้ได้อย่างไร? เพราะมันดูเหมือนว่าเวทีจะถูกจำกัด เวลามีการต่อสู้ทางการเมืองแล้ว จะจำกัดมาก เพราะมันจะก่อให้เกิดความเป็นฝักฝ่ายขึ้นมาทันที อันนี้เป็นประเด็นที่ทำให้หลายๆ เรื่องมันเปิดเผยไม่ได้

ผมคิดว่าประเด็นที่เราจะต้องเรียนรู้ร่วมกันต่อไปก็คือว่า อย่างที่อาจารย์คณิตพูดถึงคือ เรื่องของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่จริงถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นต้นทางในการนำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถ้าใช้สามัญสำนึกในการวินิจฉัยสักหน่อย ไม่เป็นเครื่องมือทางการเมืองของใคร คิดว่าเรื่องทั้งหลายจะไม่บานปลาย เพราะมันจะยุติในขั้นต้น เนื่องจากว่าบางเรื่องมันเป็นไปไม่ได้เลย แต่ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ เนื่องจากว่าเจ้าหน้าที่บางส่วน เป็นเครื่องมือทางการเมืองเสียเองในการจะดำเนินการในเรื่องนี้ อย่างกรณีที่เกิดขึ้นใน 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผมคิดว่านี่เป็นประเด็นที่จะต้องเรียนรู้ร่วมกันในสังคมต่อไป

จากเหตุผลที่เรียน เมื่อมันเป็นข้อหาทางสังคมการเมือง มันจึงจะทำอย่างไรที่จะสร้างให้คนได้เข้าใจว่าจริงๆแล้ว ข้อหาทางสังคมการเมืองกับข้อหาทางกฎหมาย ในเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งที่จริงไม่มีในกฎหมายไทย แต่ว่ามันถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยตลอด และการใช้เครื่องมือทางการเมืองแบบนี้ นอกจากกระทบกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรงแล้ว ยังกระทบกับผู้คนในสังคม ซึ่งทำให้เกิดการใช้เสรีภาพทางการเมืองได้ไม่เต็มที่ และนี่เป็นประเด็นทั้งหมดซึ่งอยากจะเรียนท่านทั้งหลายในวันนี้ครับ

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ภาคผนวก

แถลงการณ์ ปกป้องระบบกฎหมายในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
(โดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

กฎหมายเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญานั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและลงโทษบุคคลที่ได้กระทำการใดๆ อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

แต่ในสังคมการเมืองไทย ข้อกล่าวหาเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้กลายมาเป็นเครื่องมือในทางการเมือง เพื่อที่จะกำจัดบุคคลหรือกลุ่มบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับผู้มีอำนาจในทางการเมือง ซึ่งได้มีบุคคลตกเป็นผู้ต้องหา จำเลย ในข้อกล่าวหานี้มาเป็นจำนวนไม่น้อยนับจากอดีต และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ที่มีการดำเนินคดีกับผู้ที่เคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ก็มีลักษณะที่ไม่แตกต่างกัน เช่น การดำเนินคดีกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ และสื่อมวลชน

เมื่อผู้ใดตกอยู่ในฐานะของผู้ถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็จะอยู่ในฐานะที่เสมือนถูกปิดปากไม่ให้มีโอกาสชี้แจง หรือโต้แย้งการกระทำของตนได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนและทั้งบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าสื่อมวลชน กระบวนการยุติธรรม ต่างก็ปล่อยให้เหตุการณ์ดำเนินไปโดยไม่มีการทักท้วง แม้ว่าการกระทำที่ถูกกล่าวหาอาจไม่เข้าข่ายต่อการกระทำที่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ตาม โดยปล่อยให้ศาลเป็นผู้ทำการตัดสินในขั้นสุดท้าย ซึ่งได้สร้างความยากลำบากแก่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นอย่างมาก เพราะในหลายคดี ก็ได้มีการตัดสินที่เป็นการตีความ ให้ความผิดฐานนี้กินความไปถึงการกระทำหลายอย่าง ที่อาจห่างไกลต่อความผิดฐานหมิ่นประมาท

สำหรับข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ควรจะต้องแยกแยะระหว่างการกระทำที่เป็นการหมิ่น หรือเป็นเพียงแค่การใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม ซึ่งในความผิดนี้ต้องปรากฏอย่างชัดเจนว่าเป็นการกระทำหรือคำพูดที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะถ้าหากมีการตีความให้คำพูดที่ไม่เหมาะสมเป็นความผิด ก็อาจมีการใช้ข้อหากันอย่างพร่ำเพรื่ออันจะนำมาซึ่งผลเสียต่อสถาบันฯ และระบบกฎหมาย
เนื่องจากเป็นการใช้กฎหมายโดยไม่สุจริตเพื่อมุ่งปิดปากหรือเล่นงานฝ่ายตรงกันข้าม โดยมิได้มีเจตนาที่จะปกป้องสถาบันฯแม้แต่น้อย

เพื่อมิให้เกิดการใช้คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือในการคุกคามประชาชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาและเป็นกลาง โดยไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด การกระทำใดที่ไม่เข้าข่ายความผิดก็ต้องกล้าที่จะสั่งไม่ฟ้อง โดยไม่จำเป็นต้องปล่อยให้คดีดำเนินต่อไปในชั้นศาล

2. เพื่อไม่ให้เกิดการใช้คดีนี้เป็นเครื่องมือในทางการเมือง ต้องจำกัดไม่ให้มีการริเริ่มดำเนินคดีเกิดขึ้นโดยเพียงบุคคลทั่วไป แต่ต้องให้คณะรัฐมนตรีมาเป็นผู้ตัดสินใจต่อการที่จะดำเนินคดีหรือไม่ เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบในทางการเมือง หากเป็นการกลั่นแกล้งต่อบุคคลบางคน

3. ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นความผิดที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอาญา การจะลงโทษบุคคลในความผิดนี้ ต้องปรากฏอย่างชัดเจนทั้งตัวการกระทำและเจตนา มิใช่เป็นการตีความกว้างขวางให้ครอบคลุมการกระทำอื่นๆ เช่น การไม่เคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี การทะเลาะวิวาทโดยมีคำด่าเปรียบเปรย ซึ่งมิใช่เป็นการหมิ่นประมาท หากเป็นเพียงการกระทำที่ไม่เหมาะสมต่อสถาบันกษัตริย์ อีกทั้งการตีความให้ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้ขยายออกไป
ก็จะเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักของการใช้กฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
๒๒ เมษายน ๒๕๔๙

 

(คลิกไปอ่านตอนที่ ๒)

 

 



บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 895 เรื่อง หนากว่า 12000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์
R
related topic
220449
release date
เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
ขนาด medium จะแก้ปัญหาได้
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานไปที่ midarticle(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work
and immediately places it in the public domain... [copyleft]
กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
เว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอพระขอบคุณในการอนุเคราะห์ให้ใช้พื้นที่ฟรี เพื่อการเผยแพร่ความรู้ต่อสังคมจาก www.thaiis.com
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างถาวร โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิง ความผิดพลาดใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่ อาจเป็นของผู้เขียนหรือกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่เจตนา
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีการเสนอบทความใหม่ทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้สนใจที่คลิกเข้ามาหาความรู้เป็นประจำ

ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจะไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องที่ว่า เราจะสามารถเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถาบันฯ หรือรับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถาบันฯเรื่องอะไรได้บ้าง ในมิติใดบ้าง ในเรื่องอะไรที่สามารถรู้ได้ เรื่องอะไรรู้ไม่ได้ ในเรื่องอะไรที่เรียกว่าหมิ่นประมาท เรื่องอะไรที่เรียกว่าดูหมิ่น ในเรื่องอะไรที่เรียกว่าอาฆาตมาดร้าย สังคมไทยไม่ชัดเจนในประเด็นตรงนี้ เช่นเราจะเรียนรู้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ได้ไหม? เราจะเรียนรู้สถาบันกษัตริย์ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองได้ไหม? เราจะเรียนรู้สถาบันกษัตริย์ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ สังคม การเมืองได้แค่ไหน? ในมิติไหน ในขอบเขตไหน? ถ้าในขอบเขตทางวิชาการได้ไหม? สังคมไทยไม่มีคำตอบ

The Midnightuniv website 2006