The Midnight University
นิติเศรษฐศาสตร์และนิติรัฐศาสตร์
ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป
(๕)
มายาภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณ
ชินวัตร กรณีการขายหุ้นชินคอร์ป
จรัล มานตรี : รายงาน
น.ศ.ปริญญาเอก คณะวารสารศาสตร์ฯ ม.ธรรมศาสตร์
หมายเหต
บทความชิ้นนี้ได้รับมาจากผู้รายงานผ่านทางจดหมายอีเล็คทรอนิค
และได้รับการบรรจุไว้ในส่วนของถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป
ซึ่งรวบรวมโดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความนี้เดิมเจ้าของรายงานตั้งชื่อว่า
Adam Smith กับมายาภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กรณีการขายหุ้นชินคอร์ป
พร้อมบทรายงานฉบับนี้
ทางกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ได้รวบรวมบทวิเคราะห์สภาวการณ์การเมืองไทยโดย
แผนกวิจัยหลักทรัพย์เอเชียแปซิฟิกของเจพี มอร์แกน บริษัทหลักทรัพย์ระดับโลกประจำประเทศไทย
ที่เผยแพร่ใน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย มาลำดับไว้ในส่วนภาคผนวก
midnightuniv(at)yahoo.com
(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 831
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ
17.5 หน้ากระดาษ A4)
Adam Smith กับมายาภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
กรณีการขายหุ้นชินคอร์ป
จรัล มานตรี : น.ศ.ปริญญาเอก คณะวารสารศาสตร์ฯ ม.ธรรมศาสตร์
หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ตกเป็นจำเลยทางสังคมอีกครั้งหนึ่งในข้อหาเกี่ยวกับหุ้น
ครั้งนี้ สังคมกล่าวหาว่าเขาและบุคคลในครอบครัวหลบเลี่ยงไม่เสียภาษี จากการขายหุ้นชินคอร์ปให้แก่บริษัทต่างชาติ
เป็นเงินก้อนมหาศาลกว่า 7.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีของทางการ
ต่างพากันออกมายืนกรานถึงความชอบธรรม ในอันที่ไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่บาทเดียว
อย่างไรก็ดี
แม้วิธีวิทยาในการขายหุ้น "ชินคอร์ป" จะไม่ผิดกฎหมาย ทว่าสาธารณชนกลับพุ่งเป้าไปที่ตัวนายกรัฐมนตรีอย่างหนักหน่วงในเรื่องของการขาดจริยธรรมที่ผู้นำประเทศจะพึงมี
โดยมีสมมติฐานความผิด ดังนี้
ประการแรก ความฉลาดในการใช้ช่องโหว่และการตีความของกฎหมาย เพื่อทำให้ไม่ต้องเสียภาษี
ประการที่สอง ทุจริตเชิงนโยบาย แก้กฎหมายปูทางให้ต่างชาติเข้าซื้อหุ้นได้ 49 % และ
ประการสุดท้าย ผลกระทบจากการขายหุ้น : สัมปทานของชาติที่ต้องตกไปเป็นของต่างชาติ
ความฉลาดในการใช้ช่องโหว่และการตีความของกฎหมาย
เพื่อทำให้ไม่ต้องเสียภาษี
จากกรณีที่บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้ง (พีทีอี) จำกัด ธนาคารไทยพาณิชย์ และกลุ่มนักลงทุนไทยในนามของ
"บริษัทกุหลาบแก้ว" ได้บรรลุข้อตกลงกับตระกูลชินวัตร และตระกูลดามาพงศ์
ซื้อหุ้นของทั้ง 2 ตระกูลในบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น (บริษัทโฮลดิ้งผู้ถือหุ้นในบริษัทโทรศัพท์มือถือเอไอเอส,
สายการบินแอร์เอเชีย, บริษัทการเงินแคปปิตอลโอเค, ดาวเทียมชินแซท และไอทีวี)
จำนวน 1,487.7 ล้านหุ้น หรือ 49.6 เปอร์เซ็นต์ของหุ้นทั้งหมด ในราคาหุ้นละ
49.25 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 73,000 ล้านบาท
โดยหุ้นที่ซื้อออกมานั้นเป็นหุ้นของ
- นางสาวพิณทองทา ชินวัตร 604.6 ล้านหุ้น (20.15%)
- นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ 404.43 ล้านหุ้น (13.48%)
- นายพานทองแท้ 458.55 ล้านหุ้น (15.29%)
- นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 20 ล้านหุ้น (0.67%) และ
- นางบุษา ดามาพงศ์ 159,600 หุ้น (0.05%)
การซื้อหุ้นครั้งนี้
เทมาเส็กไม่ได้ซื้อโดยตรง แต่ซื้อผ่าน 2 บริษัท คือ
1. บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้ง จำกัด จำนวน 1,158 ล้านหุ้น คิดเป็น 38.6 เปอร์เซ็นต์
และ
2. ซื้อผ่านบริษัท แอสแพน โฮลดิ้ง จำกัด 329.2 ล้านหุ้น คิดเป็น 11 เปอร์เซ็นต์
(1) โดยเทมาเส็กถือหุ้นอยู่ใน "ซีดาร์" ร้อยละ 49, อีกร้อยละ 51 เป็นของธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทกุหลาบแก้ว โดยธนาคารไทยพาณิชย์ถือร้อยละ 9.9 และบริษัทกุหลาบแก้ว ถือร้อยละ 41.1 ของทุนจดทะเบียน
(2) เทมาเส็กถือหุ้น 100 % ในบริษัทแอสแพน โฮลดิ้ง
ซึ่งในการซื้อขายดังกล่าวได้รับการยกเว้นการเสียภาษี โดยอาศัยวิธีวิทยาบางอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับข้อกฎหมายที่เปิดช่องเอาไว้ให้
นอกจากนี้ ในเหตุการณ์เดียวกัน นายกรัฐมนตรียังถูกกล่าวหาว่าทำการ "ซุกหุ้นรอบ 2" ตามคำกล่าวหาของนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้จัดตั้งบริษัท Ample Rich Investments Ltd ไว้ที่หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ไอร์แลนด์ และบริษัทที่พ.ต.ท.ทักษิณเป็นเจ้าของนี้ได้ซื้อหุ้น SHIN จำนวน 329,260,000 หุ้น จากตัวเอง เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542
ต่อมาในวันที่ 23 มกราคม 2549 ที่ผ่านมาหุ้นจำนวน 329,260,000 หุ้น ในวันนั้น ได้มาปรากฏในบิ๊กดีลที่บริษัท ชินคอร์ป ทำกับเทมาเส็ก แห่งสิงคโปร์ ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วัน หุ้นจำนวนดังกล่าวได้มาอยู่ในจำนวนหุ้นของ น.ส.พิณทองทา ที่ขายหุ้นไป 604,600,000 หุ้น มีหุ้นเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 164,600,000 หุ้น ขณะที่นายพานทองแท้ ก็ขายหุ้นไป 440,000,000 หุ้น เพิ่มจากที่มีอยู่เดิม 164,600,000 หุ้นเช่นกัน
สิ่งนี้แสดงว่าบุตรชายและบุตรสาว ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ได้ซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นในจำนวนเท่า ๆ กันคือ 164,600,000 หุ้น มูลค่ารวมประมาณ 12,600 ล้านบาทเศษ ซึ่งเชื่อได้ว่า จำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นมาของทั้งสองได้ซื้อมาจากบริษัทแอมเพิล ริช ในราคาหุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาในตลาดฯ มีราคาหุ้นละ 49 บาท
นายอมรศักดิ์ พงษ์พศุตม์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายภาษี และคอลัมนิสต์เจ้าของนามปากกา "หมอภาษี" ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ บิซวีค กล่าวถึงปัญหาการขายหุ้นชินคอร์ปของคนในตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ ซึ่งสาธารณชนมองว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษีว่า หลักการในเรื่องนี้ก็คือ การซื้อขายหุ้นจะยกเว้นภาษีเพียงกรณีเดียว คือเป็นการซื้อขายหุ้นของบุคคลธรรมดาในตลาดหลักทรัพย์ ถ้านอกเหนือจากกรณีนี้ ต้องเสียภาษีทั้งหมด
สำหรับกรณีการขายหุ้นชินคอร์ปของครอบครัวนายกรัฐมนตรี โดยความเห็นส่วนตัวมองว่า ไม่มีปัญหาเรื่องการเสียภาษีใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเข้าข่ายเงื่อนไขบุคคลธรรมดาขายในตลาดหลักทรัพย์
ส่วนที่มีการพูดกันถึงการโอนหุ้นของคนในตระกูลนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ และนำมาสู่การขายหุ้นล็อตใหญ่ (กรณีบริษัท Ample Rich Investments Ltd ที่หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ไอร์แลนด์) นายอมรศักดิ์กล่าวว่า ไม่ทราบข้อเท็จจริง ทราบแต่เพียงข่าวว่ามีการโอนหุ้นส่วนหนึ่งแบบให้เปล่า หรือให้โดยเสน่หา หรือที่เรียกว่า ให้ตามธรรมจรรยา โดยขายให้ในราคาหุ้นละ 1 บาท อย่างไรก็ตาม สามารถอธิบายในหลักการได้ว่า การขายหุ้นนอกตลาดให้กับบุคคลอื่น โดยคิดราคาต่ำกว่าราคาซื้อขายในตลาด สมมุติว่าราคาพาร์หุ้นละ 100 บาท แต่ขายให้เพียง 1 บาท เท่ากับว่าเป็นการขายขาดทุน กรณีนี้ไม่ต้องเสียภาษี ยิ่งผู้รับโอนเป็นบุคคลธรรมดาด้วยแล้ว ตามประมวลรัษฎากรไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ไปประเมินภาษีจากมูลค่าตามราคาตลาดได้ ฉะนั้นกรณีนี้ไม่ต้องเสียภาษีแน่นอน
ถ้อยแถลงดังกล่าวของนายอมรศักดิ์สอดคล้องกับคำกล่าวของ ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร โฆษกตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ที่ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ว่า เมื่อมีรายการขายหุ้นชินคอร์ปในราคาทุน 1 บาท จำนวน 329.2 ล้านหุ้นระหว่างแอมเพิล ริช ผู้ขายกับนายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทา ผู้ซื้อ ซึ่งเป็นการขายนอกตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 เกิดขึ้น ก็เป็นการขายในราคาทุนที่ไม่มีกำไรเกิดขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องเสียภาษี
หลังจากนั้น
เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 นายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทา ได้ขายหุ้นให้พันธมิตรใหม่ในราคาหุ้นละ
49.25 บาท แต่เป็นการขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งตรงจุดนี้มีกฎหมายรองรับชัดเจนว่า
บุคคลธรรมดาที่มีกำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไม่มีภาระต้องเสียภาษี
วิธีการดังกล่าวเป็นการอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อทำให้ไม่ต้องเสียภาษีนั่นเอง
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ได้เขียนบทความเรื่อง "ตีความเอื้ออาทร?:
ว่าด้วยเรื่องส่วนต่างราคาหุ้น กับการเสียภาษี" ตีพิมพ์ใน มติชน ฉบับวันที่
23 มกราคม 2549 โดยพุ่งประเด็นไปที่ กรมสรรพากรมีการตีความเอื้อต่อการขายหุ้นของครอบครัวนายกรัฐมนตรีเพื่อจะไม่ต้องเสียภาษี
มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
[ก่อนปี
2544] ผู้ที่เคยซื้อหุ้นมาราคาพาร์เพียงหุ้นละ 1 บาท จาก พ.ต.ท.ทักษิณ-คุณหญิงพจมาน
ได้แก่ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่บุญธรรมคุณหญิงพจมาน จำนวน 268 ล้านหุ้น (แตกพาร์แล้ว)
นายพานทองแท้ ชินวัตร 733 ล้านหุ้น, นางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 20 ล้านหุ้น หรือแม้แต่
น.ส.พิณทองทา ชินวัตร ซื้อหุ้นต่อมาจากนายพานทองแท้ 367 ล้านหุ้น
ตอนนั้นก็เกิดคำถามคล้ายกับตอนนี้ คือ การซื้อหุ้นมาในราคา 1 บาท จะต้องเสียภาษี
"ส่วนต่าง" ระหว่างราคาหุ้นที่ซื้อ กับราคาตลาดหรือไม่ เมื่อปรากฏ
เป็นข่าวอื้อฉาวขึ้นมา กรมสรรพากรได้ยืนยันหลายครั้งว่า การซื้อขายหุ้นกันระหว่างเครือญาติชินวัตรในราคาต่ำกว่าราคาตลาดนั้น
ไม่ต้องเสียภาษีดังนี้
ครั้งแรก นายวิชัย จึงรักเกียรติ รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร
(นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล-ปัจจุบันเป็นปลัดกระทรวงการคลัง) ทำหนังสือ ลงวันที่
15 กรกฎาคม 2545 (ที่ กค.0811/6312) ระบุว่า การซื้อขายหุ้นดังกล่าว ถือไม่ได้ว่า
ผู้ซื้อได้รับประโยชน์จากการโอนหุ้นซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน
ซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (4) (ช) ตามประมวลรัษฎากร
เนื่องจากยังมิได้ก่อให้เกิดรายได้แก่ผู้ซื้อแต่ประการใด จนกว่าผู้ซื้อจะได้ขายหุ้นดังกล่าวไปโดยได้รับผลประโยชน์ซึ่งตีราคาเป็นเงิน
ได้เกินกว่าเงินที่ลงทุน
ต่อมา
เมื่อนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นักบัญชีหุ้น บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ ซื้อจากบิดาในราคา
10 บาท จากราคาตลาด 21 บาท มีส่วนต่างประมาณ 55,000 บาท ปรากฏว่าถูกกรมสรรพากรคำนวณเป็นภาษีเงินได้
จึงมีการร้องเรียนว่า กรมสรรพากรเลือกปฏิบัติ ไม่ยอมเก็บภาษี "ส่วนต่าง"
ราคาหุ้น SHIN ทำให้นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงในการพิจารณาร่าง
พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2549 ว่าเป็นความผิดพลาดและเข้าใจผิด กรมสรรพากรพร้อมที่จะคืนเงินภาษีที่เก็บไปจากนายเรืองไกรไป
นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่กรมสรรพากรคืนเงินให้ผู้เสียภาษีโดยผู้เสียภาษีมิได้ขอคืน
ครั้งที่สอง บันทึกคำให้การของนายเรืองไกร (ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2548) ที่นายพิชเยนทร์ กองทอง นิติกร 8 กรมสรรพากรเขียนขึ้นระบุว่า สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นผลประโยชน์จากการซื้อหุ้น ยังคงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี เพราะเงินได้ในส่วนนี้ยังมิได้มีการก่อให้เกิดรายได้ต่อท่าน (นายเรืองไกร) ท่านจะเสียภาษีเงินได้ในส่วนนี้ก็ต่อเมื่อ ท่านได้ขายหุ้นดังกล่าวไปโดยได้รับผลประโยชน์ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินที่ลงทุน ทั้งนี้ ตามมาตรา 40 (4) (ช)
ครั้งที่สาม นายสุเทพ พงษ์พิทักษ์ สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 3 ทำหนังสือ ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2548 (ที่ กค.0709.03 (ภค.) / 12123) ถึงนายเรืองไกร เรื่องแจ้งคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2546 โดยระบุว่า ในกรณีดังกล่าว ยังไม่อาจถือได้ว่าท่านมีเงินได้พึงประเมินเพราะเป็นเพียงขั้นลงทุน หาใช่ผลประโยชน์ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินลงทุน ตามมาตรา 40 (4) (ช) ท่าน (นายเรืองไกร) จึงยังคงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับตัวเลขผลประโยชน์จากการซื้อหุ้น จนกว่าท่านจะได้ขายหุ้นดังกล่าวไปโดยได้รับผลประโยชน์ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้ เกินกว่าเงินลงทุน
สรุปแล้วทั้ง
3 ครั้งกรมสรรพากรยืนยันว่า การที่บุคคลธรรมดาซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่าราคาตลาด
ยังไม่ต้องเสียภาษีที่เกิดขึ้นจาก "ส่วนต่าง" ราคาดังกล่าว จนกว่าบุคคลผู้นั้นจะขายหุ้นออกไปในราคาสูงกว่าราคาที่ซื้อมา
จึงจะนำ "ส่วนต่าง" ดังกล่าวมาคำนวณภาษี ซึ่งคำวินิจฉัยของกรมสรรพากรนั้น
ใช้ทั้งกับกรณีนายเรืองไกรที่ซื้อหุ้นมาจากบิดามูลค่ากว่า 50,000 บาท หรือกรณีครอบครัวชินวัตรซื้อหุ้นจาก
พ.ต.ท.ทักษิณ-คุณหญิงพจมาน มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท (ราคาหุ้น SHIN หุ้นละ
1 บาท)
ดังนั้น นายเรืองไกรขายหุ้นไปได้กำไร 50,000 บาท ก็ต้องนำ "ส่วนต่าง"
50,000 บาท ดังกล่าวมาคำนวณเป็นภาษีเงินได้ประจำปี
เช่นเดียวกับถ้าครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์นำหุ้น SHIN ที่ซื้อมาในราคาหุ้นละ 1 บาท ไปขายให้ Temasekได้ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท เป็นเงินรวมเกือบ 70,000 ล้านบาท หรือมีส่วนต่างกว่า 60,000 ล้านบาท ก็ต้องนำ "ส่วนต่าง" กว่า 60,000 ล้านบาท ไปคำนวณภาษีเงินได้ประจำปี ซึ่งแน่นอนว่าต้องเสียภาษีสูงสุด 37% ซึ่งเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 25,000 ล้านบาท
การที่ทั้งนายทนง
พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนางไพฑูรย์ เกสร รองอธิบดีกรมสรรพากร
รีบออกมารับหน้าว่า การขายหุ้น SHIN ของครอบครัวชินวัตรให้ Temasek ครั้งนี้
ไม่ต้องเสียภาษีใน "ส่วนต่าง" ที่เกิดขึ้น (จากที่ซื้อมาราคาหุ้นละ
1 บาท) ด้วยเหตุผลเป็นการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้ว
ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า เป็นการรักษาผลประโยชน์ของใครกันแน่ และให้ดูกันต่อไปว่า
จะมีข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลังรายใดจะได้รับการปูนบำเหน็จเหมือนที่ผ่านๆ
มา
แต่ดูเหมือนว่า กรมสรรพากรจะยังไม่แน่ใจว่าจะปิดช่องการเสียภาษีของการซื้อขายหุ้นชินหมดหรือยัง
จึงมีหนังสืออีกฉบับหนึ่งลงวันที่ 29 ธันวาคม 2548 (ที่ กค. 0709.31/18325
ลงนามโดย นางจิตรมณี สุวรรณพูล สรรพากรภาค 1 ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร)
ชี้แจงเรื่องนี้ต่อนายเรืองไกรซึ่งเป็นการพลิกคำวินิจฉัยเดิมทั้งหมดว่า การซื้อขายทรัพย์สิน
(หุ้น) ราคาต่ำกว่าราคาตลาด "ส่วนต่าง" ดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน
ตามมาตรา 39 ของประมวลรัษฎากรตั้งแต่ต้น
หนังสือดังกล่าวพยายามอธิบายว่า การซื้อทรัพย์สินโดยปกติจะมีราคาตลาดสำหรับซื้อทรัพย์สินนั้น
โดยราคาตลาดจะมีหลายราคา หากเป็นการซื้อเพื่อนำไปใช้เองหรือเป็นผู้บริโภค ผู้ซื้อจะซื้อตามราคาของผู้ขายปลีก
หากเป็นการซื้อเพื่อนำไปขายซึ่งต้องซื้อเป็นจำนวนมาก ผู้ซื้อจะต้องซื้อในราคาต่ำโดยอาจซื้อราคาตลาดที่เป็นของผู้ผลิตหรือผู้ขายส่ง
ดังนั้น ทรัพย์สินชนิดเดียวกัน อาจมีราคาซื้อแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานะของผู้ซื้อ
ซึ่งเป็นเรื่องปกติทั่วๆ ไปของการซื้อขายตามมาตรา 453 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ป.พ.พ.)
นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่นๆ
ที่ทำให้ราคาซื้อดังกล่าวถูกกว่าราคาตลาด เช่น การส่งเสริมการขาย สินค้าตกรุ่น
เลหลังสินค้า เลิกกิจการ ขายทอดตลาด ความพอใจ ความสัมพันธ์ส่วนตัว ฯลฯ ซึ่งเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
อันเป็นเรื่องปกติทั่วๆ ไป ตามมาตรา 453 ป.พ.พ.
"การซื้อทรัพย์สินในลักษณะดังกล่าว จะเป็นเรื่องของทุนซึ่งกระทบต่อจำนวนเงินของผู้ซื้อที่มีอยู่
ทั้งจำนวนเงินที่เหลืออยู่และที่ได้จ่ายไป ดังนั้น ไม่ว่าการซื้อทรัพย์สินผู้ซื้อจะซื้อตามราคาตลาดหรือซื้อในราคาถูกกว่าตลาด
ผู้ซื้อต้องเสียเงินสำหรับการซื้อตามจำนวนมากน้อยตามราคาที่ตกลงกัน..การที่
ซื้อทรัพย์สินราคาถูกจะทำให้เหลือเงินมากกว่าซื้อทรัพย์สินในราคาปกติ เงินที่เหลือดังกล่าวไม่ว่าจะเหลือมากน้อยเท่าใด
ก็เป็นเงินของผู้ซื้อเอง เป็นเรื่องของทุน มิใช่เงินที่ผู้ซื้อได้รับหรือเข้าลักษณะเป็นประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับจาก
ผู้อื่นแต่อย่างใด ด้วยเหตุผลข้างต้น การซื้อทรัพย์สินในราคาถูก ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ
อันเข้าลักษณะเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 เช่นเดียวกับส่วนลดปกติและส่วนลดพิเศษที่จะลดให้ทันที
เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าตามเกณฑ์ที่กำหนด" หนังสือของกรมสรรพากรระบุ
จากนั้นสรุปว่า กรณีของนายเรืองไกรซึ่งซื้อหุ้นบริษัท ทางด่วนกรุงเทพจากบิดาต่ำกว่าราคาตลาดที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
เป็นการซื้อขายทรัพย์สินกันระหว่างนายเรืองไกรกับบิดาซึ่งเป็นการซื้อขายอัน
เป็นเรื่องปกติในทางการค้า ส่วนราคาที่ตกลงซื้อขายกันต่ำกว่าราคาตลาด ผู้ขายและผู้ซื้อมีสิทธิตกลงกันได้โดยผู้ซื้อต้องใช้ราคาทรัพย์สินตามที่ตกลงกันนั้นตามมาตรา
453 แห่ง ป.พ.พ.
"ดังนั้น กรณีท่าน (นายเรืองไกร) ซึ่งเป็นผู้ซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่าราคาตลาด
ส่วนต่างของราคาซื้อกับราคาตลาด ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ
อันเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 39 ตามเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น"
หนังสือระบุ
จากคำชี้แจงดังกล่าวสรุปได้ว่า การซื้อขายหุ้นต่ำกว่าราคาตลาด "ส่วนต่าง"
ที่เกิดขึ้น มิได้เป็นผลประโยชน์ที่ได้รับมาตั้งแต่ต้น จึงไม่เข้าลักษณะเงินได้พึงประเมินมาตั้งแต่ต้น
เพราะเป็นการซื้อขายทรัพย์สินตามปกติ โดยมีเงื่อนไข เช่นความสัมพันธ์ส่วนตัว
ความพอใจ ดังนั้นต่อไปไม่ว่า ผู้ซื้อจะขายหุ้นนั้นไปในราคาสูงเท่าใด ก็ไม่ต้องเสียภาษีที่เกิดขึ้นจาก
"ส่วนต่าง" มาตั้งแต่ต้น
เป็นการพลิกแนวคำวินิจฉัย 3 ครั้งแรก ที่ระบุว่า ถ้าขายหุ้นไปแล้วมีกำไร เกิด
"ส่วนต่าง" เกินกว่าที่ได้ลงทุน (ซื้อมา) ต้องเสียภาษี "ส่วนต่าง"
ดังกล่าว
การที่กรมสรรพากรเปลี่ยนคำวินิจฉัยดังกล่าวแบบกลับหลังหัน ช่างสอดคล้องกับห้วงเวลาการขายหุ้นชิน
ให้กับ Temasek มูลค่าเกือบ 70,000 ล้านบาท ซึ่งมีส่วนต่างกว่า 60,000 ล้านบาทเป็นการปิดทางเรียกร้องมิให้เก็บภาษี
"ส่วนต่าง" ดังกล่าวกว่า 25,000 ล้านบาท!!
ทุจริตเชิงนโยบายแก้กฎหมายปูทางให้ต่างชาติเข้าซื้อหุ้นได้
49 %
ในอดีตกิจการโทรคมนาคมถือเป็นกิจการที่กระทบความมั่นคงของประเทศอย่างสูง ถือเป็นธุรกิจต้องห้ามสำหรับต่างชาติ
จึงมีกฎหมายกำหนดสัดส่วนการถือครองหุ้นและความเป็นเจ้าของไว้เป็นการเฉพาะแตกต่างจากบริษัททั่วไป
หากพิจารณาการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปจะพบว่ามีรายละเอียดของการถือครองหุ้นที่น่าสนใจ
ดังนี้
1. บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ชินคอร์ปถือหุ้นอยู่ร้อยละ 42.8 บริษัท สิงเทล สเตรติจิก อินเวสเมนท์ ของสิงคโปร์ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 19.2
2. บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) บริษัทชินคอร์ปถือหุ้นอยู่ร้อยละ 51.38
3. บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) บริษัทชินคอร์ปถือหุ้นอยู่ร้อยละ 53
ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 (กฎหมายเดิม) ได้บัญญัติเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งในที่นี้มีผลบังคับใช้กับบริษัท เอไอเอสและชินแซทว่า
"ต้องมิใช่คนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และต้องมีสัดส่วนการถือหุ้นของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของทุนทั้งหมดในนิติบุคคลนั้น รวมทั้งต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด และผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันนิติบุคคลนั้นต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยด้วย ในการนี้คณะกรรมการ (กทช.) อาจกำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตสำหรับการประกอบกิจการบางลักษณะ หรือบางประเภทที่เป็นนิติบุคคลจะต้องกำหนดข้อห้ามการกระทำอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยอีกด้วยก็ได้"
ดังนั้น บริษัท เอไอเอส บริษัท ชินแซทฯ จะมีบุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นต่างด้าวถือหุ้นเกินร้อยละ 25 ไม่ได้ และยังถูกจำกัดด้วยสัดส่วนกรรมการที่เป็นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ต้องมีสัญชาติไทยอีกด้วย
เมื่อมีข้อจำกัดดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ซึ่งด้วยเสียง 375 เสียงของพรรคไทยรักไทยในสภาผู้แทนราษฎร และเสียง ส.ว.ในวุฒิสภาที่เกินครึ่งเทให้กับพรรคไทยรักไทย จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะแก้ไขกฎหมายฉบับนี้
ดังนั้น พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 (ฉบับใหม่) พ.ศ.2549 จึงได้แก้ไขเงื่อนไขซึ่งเป็นข้อจำกัดดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเมื่อเดือนธันวาคม 2548 รอแต่เพียงนำร่าง พ.ร.บ.ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธยประกาศ (ในราชกิจจานุเบกษา) ใช้เป็นกฎหมายต่อไป
เป็นที่น่าสังเกตว่า พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมฉบับใหม่ได้ตัดเงื่อนไขที่จำกัดการถือครองหุ้นไว้ที่ร้อยละ 25 เป็นเพิ่มให้ต่างด้าวถือหุ้นในบริษัทด้านกิจการโทรคมนาคมได้ถึงร้อยละ 49 และตัดเงื่อนไขสัดส่วนกรรมการบริษัทที่ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ออกทั้งหมด
ในหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ยังได้แสดงเจตจำนง ในนโยบายการเปิดรับบุคคลต่างชาติให้เข้ามาฮุบกิจการในประเทศไทยได้อย่างสะดวกสบาย โดยระบุได้ดังนี้
"โดยที่กิจการโทรคมนาคมบางลักษณะหรือบางประเภท เป็นกิจการที่ต้องใช้ทุนเป็นจำนวนมากในการดำเนินการและต้องใช้เทคโนโลยีสูง ซึ่งปัจจุบันการพึ่งพาทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศยังมีความจำเป็น การกำหนดคุณสมบัติของผู้รับใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคม... โดยให้มีสัดส่วนการถือหุ้นของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้านั้น เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการระดมทุนจากผู้ลงทุนต่างประเทศ หรือหากจะร่วมทุนกับต่างประเทศก็จะติดขัดปัญหาสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าวดังกล่าว ส่งผลให้ผู้รับใบอนุญาตทั้งรายเดิมและรายใหม่ ไม่สามารถพัฒนาโครงข่ายหรือเทคโนโลยีโทรคมนาคม เพื่อจัดการให้บริการแก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพได้เท่าที่ควร สมควรแก้ไขสัดส่วนการถือหุ้นเสียใหม่ เอื้อต่อการระดมทุนจากนักลงทุนจากต่างประเทศ.."
อย่างไรก็ตาม กว่า พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมฉบับใหม่ ซึ่งมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ กว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาต้องรอถึงวันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2549 และมีผลบังคับใช้วันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2549 เหตุผลสำคัญที่ทำให้การซื้อขายหุ้นที่มีมูลค่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ต้องเลื่อนมาจนถึงวันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2549
ในส่วนของบริษัทไอทีวีซึ่งทำธุรกิจด้านสื่อสารมวลชน อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรคห้า บัญญัติไว้ว่า "เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ" ซึ่งหมายความว่า ผู้ถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านสื่อสารมวลชนต้องมีต่างด้าวไม่ถึงร้อยละ 50"
บริษัทชินคอร์ป ก่อนที่ขายหุ้นให้แก่กองทุนเทมาเส็กนั้น มีนิติบุคคลหรือบุคคลต่างด้าวถือหุ้นอยู่กว่าร้อยละ 40 ขณะที่ครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ถือหุ้นร้อยละ 49.59 ทำให้บริษัทชินคอร์ปยังคงมีฐานะเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยอยู่เพราะผู้ถือหุ้นกว่าครึ่งยังเป็นบุคคลสัญชาติไทย แต่ถ้าครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ ขายหุ้นทั้งหมดให้แก่กองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์โดยตรง จะทำให้บุคคลต่างชาติถือหุ้นอยู่ในชินคอร์ปถึงกว่าร้อยละ 90 บริษัทชินคอร์ปจะกลายเป็นนิติบุคคลต่างด้าวทันที ทำให้การถือหุ้นของชินคอร์ปในเอไอเอสและชินแซทฯ ขัดต่อ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมทันที แม้จะมีการขยายสัดส่วนการถือหุ้นให้ต่างด้าวเข้าไปถือหุ้นได้ถึงร้อยละ 49 แล้วก็ตาม
กล่าวคือ เอไอเอสจะมีบุคคลต่างด้าวถือหุ้นอยู่กว่าร้อยละ 62 (ชินคอร์ป 42%+สิงเทล 19.2%) ขณะที่ชินแซทจะมีบุคคลต่างด้าวถืออยู่ร้อยละ 51.38 และบริษัท ไอทีวี จะมีต่างด้าวถืออยู่กว่าร้อยละ 53 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 39
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ทำให้กองทุนเทมาเส็กไม่สามารถซื้อหุ้นจากครอบครัวชินวัตร- ดามาพงศ์โดยตรง ต้องตั้งบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์- สัญชาติไทยขึ้นมารับซื้อหุ้นแทนเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้บริษัทชินคอร์ปกลายเป็นนิติบุคคลต่างด้าว
วิธีการหลีกเลี่ยงมิให้บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ไม่เป็นนิติบุคคลต่างด้าวก็ให้บริษัท ไซพรัส โฮลดิ้งส์ บริษัทในเครือเทมาเส็กสัญชาติสิงคโปร์ถือหุ้นในบริษัทซีดาร์ฯ เพียงร้อยละ 48.99 และจัดตั้งบริษัทสัญชาติไทยคือ บริษัท กุหลาบแก้ว ถือหุ้นสูงถึงร้อยละ 41.1 และให้ธนาคารไทยพาณิชย์ถือหุ้นอีกร้อยละ 9.9 รวมแล้วร้อยละ 51.1 เพียงเท่านี้บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ ก็แปลงสัญชาติเป็นนิติบุคคลไทยเรียบร้อย แม้บริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นบริษัทที่รับซื้อหุ้น ชินคอร์ปอีกบริษัทหนึ่งจะเป็นต่างด้าวก็ตาม แต่คงถือหุ้นในสัดส่วนที่ไม่มากนัก
น.พ.เหวง โตจิราการ ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตยได้แสดงความวิตกกังวลว่าการแก้ไขกฎหมายเช่นนี้ เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ทุนขนาดยักษ์ของต่างชาติเข้ามาครอบงำประเทศไทย
"สิ่งที่น่าเป็นห่วง ก่อนหน้าที่จะขาย(หุ้นชินคอร์ป) เท่าที่ทราบ ได้ข่าวมาร่วมเดือนแล้ว แต่กลายเป็นว่า มาขายได้สำเร็จในวันนี้ (23 ม.ค. 49) ถ้าไปดูในเนื้อหา จะเห็นได้ชัดเจนว่า มันเกี่ยวข้องกับการแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2549 ซึ่งได้ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 49 แปลว่า สามารถบังคับใช้ในวันที่ 23 ม.ค. 49 ที่สำคัญที่สุดคือ ใน พ.ร.บ.เก่า เขาคำนึงถึงอธิปไตยและความเจริญรุ่งเรืองหรือผลประโยชน์ของคนไทยไว้มาก ระบุไว้เลยว่า ต้องมีสัดส่วนการถือหุ้นของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของทุนทั้งหมดในนิติบุคคล รวมทั้งต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของกรรมการทั้งหมด
คือ ถ้าจะอ้างบอกว่า ต้องลบตรงนี้ไป เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ทุนภายนอกเข้ามาลงทุนได้ เพื่อจะได้อาศัยทุนของเขาและใช้เทคโนโลยีของเขาเนี่ย ไอ้นี่คุณมองด้านเดียว แต่คุณต้องมองอีกด้าน คือ ในฐานะที่เป็นประเทศ ในฐานะที่เป็นรัฐ ในฐานะที่มีคนไทยอยู่ในประเทศและในรัฐนี้ และจะต้องคำนึงต่อไปอีกยาวไกลด้วยว่า ประเทศไทยคงยังต้องดำรงอีกยาวนาน กว่าที่คุณจะคิดว่า ประเทศไทยมันจะหมดเขตพรมแดนไปแล้วหมดความเป็นประเทศไปแล้ว มันคงอีกยาวนานมากเลย ไม่รู้อีกร้อยกี่พันกี่หมื่นปี ดังนั้นคนไทยมีผลประโยชน์ที่ต้องรักษา รัฐไทยมีผลประโยชน์ที่เราต้องรักษา
ดังนั้นการที่ พ.ร.บ.ฉบับเก่าเขียนไว้อย่างนั้น ถูกต้องแล้ว คือ ต้องมีสัดส่วนของผู้ถือหุ้นของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 และมีกรรมการไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของกรรมการทั้งหมด และผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันนิติบุคคลต้องมีสัญชาติไทยด้วยนะ
แต่ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ซึ่งมีการประกาศในราชกิจจาฯ เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 49 ที่ผ่านมา ลบข้อความนี่ทิ้งไปเลยนะ ไม่มีเลย เพียงแต่เขียนไว้กว้างๆ เลยว่า "ในการนี้คณะกรรมการอาจจะกำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาต สำหรับการประกอบกิจการบางลักษณะหรือบางประเภทที่มีนิติบุคคลจะต้องกำหนดขึ้น กำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการต่างด้าวด้วยก็ได้" คือเขียนกว้างอย่างนี้ ก็เท่ากับเปิดช่องให้ทุนขนาดยักษ์ของต่างชาติเข้ามาครอบงำประเทศไทยได้ ซึ่งมันยิ่งทำให้ทุนนิยมประเทศไทย ขณะนี้ประเทศไทยเป็นทุนนิยมนะ กลายเป็นทุนนิยมสมุนบริวารไปโดยชัดเจนยิ่งขึ้น ... แล้วเอาผลประโยชน์ของประเทศเป็นเครื่องสังเวย ผมว่าอันนี้เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง"
ด้านนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้จะมีความพยายามที่แก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2549 อนุญาตให้บริษัทคนไทยสามารถขายหุ้นให้ต่างชาติเข้ามาถือครองได้มากถึง 49% แต่พบว่ายังคงมีการกระทำผิดในเรื่องนี้อยู่ดี กล่าวคือ
การที่กลุ่มเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ของสิงคโปร์ ตั้งบริษัทลูกขึ้นมา และถือหุ้นในบริษัทลูกเพียง 49% เพื่อให้บริษัทลูกแห่งนั้นเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย ก่อนเข้าซื้อหุ้นชินคอร์ป ถือเป็นการเลี่ยงกฎหมาย แม้ในทางนิตินัย ชินคอร์ป จะยังถือว่าเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยอยู่ แต่ในทางพฤตินัย เมื่อนับเม็ดหุ้นกันจริงๆ ย่อมไม่ใช่อีกแล้ว ทั้งนี้เพราะเดิมชินคอร์ปก็มีต่างชาติถือหุ้นอยู่ราว 40% เมื่อรวมกับหุ้นของเทมาเส็ก ที่ถือผ่านบริษัทลูกอีก 49% ก็เท่ากับเทมาเส็ก เป็นเจ้าของหุ้นชินคอร์ปราว 24% เมื่อรวมกับที่ต่างชาติถืออยู่เดิม 40% ก็เกิน 49% อยู่ดี
นายปริญญา กล่าวต่อด้วยว่า ทั้งหมดนี้เป็น"การทำผิดกฎหมายโดยถูกกฎหมาย" เป็นการตั้งบริษัทลูกซ้อนขึ้นมา เพื่อให้ซื้อหุ้นได้โดยไม่ติดขัดข้อกฎหมาย ที่ห้ามชาวต่างชาติถือหุ้นในกิจการโทรคมนาคมเกิน 49% (พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมฉบับใหม่) ซึ่งจะเรียกว่านอมินีหรือไม่ ก็แล้วแต่จะตีความ
"สิ่งสำคัญที่ผมอยากจะย้ำก็คือ
การที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติห้ามเอาไว้ ไม่ได้แปลว่าทำได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพยากรของชาติและผลประโยชน์ของมหาชน
ฉะนั้นต้องตีความตามหลักกฎหมายมหาชน ด้วยการดูเจตนารมณ์ของกฎหมายประกอบด้วย
ซึ่งเจตนารมณ์ก็คือ ห้ามต่างชาติถือหุ้นในกิจการโทรคมนาคมเกิน 49% ฉะนั้นในกรณีนี้
ขอยืนยันว่าทำไม่ได้ และผิดกฎหมายแน่นอน ซ้ำยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิดๆ
ต่อชาติบ้านเมืองอีกด้วย" นายปริญญา กล่าวในที่สุด
ขณะเดียวกัน บทความเรื่อง "ชินคอร์ป : ร่างทรงของสิงคโปร์" ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
เมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่ผ่านมาได้ระบุถึงโครงสร้างสัดส่วนของผู้ถือหุ้นต่างด้าว
ที่สอดแทรกเข้าในกลุ่มบริษัทที่เข้ามาซื้อหุ้นของชินคอร์ปและได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้ถือหุ้นชินคอร์ปในที่สุด
ดังนี้
จากโครงสร้างผู้ถือหุ้นของชินคอร์ปข้างต้นที่ดูซับซ้อนซ่อนเงื่อน ทำให้เห็นว่าสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติ (เทมาเส็ก) น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง หรือน้อยกว่า 50% ในทางกฎหมายจึงยังถือว่าชินคอร์ป เป็นบริษัทสัญชาติไทย แต่ในความเป็นจริงบริษัทซีดาร์ โฮลดิ้ง บริษัทเอสเปน โฮลดิ้ง และในชินคอร์ป เอง อาจจะมีผู้ถือหุ้นไทยที่ทำตัวเป็นร่างทรง (Nominee) ของเทมาเส็ก(สิงคโปร์) กล่าวคือถือหุ้นในนามคนไทย แต่เงินและหัวใจเป็นเทมาเส็ก (สิงคโปร์) ดังนั้น ชินคอร์ป ซึ่งดูเหมือนเป็นบริษัทไทย แต่เงินและหัวใจอาจจะเป็นเทมาเส็กเกิน 50% ถ้าเป็นอย่างนี้ ชินคอร์ปก็เป็นบริษัทไทยที่เป็นร่างทรงของสิงคโปร์
นอกจากนี้ในบทความดังกล่าว ยังได้ชี้ให้เห็นอีกด้วยว่า ชินคอร์ปเป็นบริษัทสัญชาติไทย หรือ เป็นเพียงร่างทรงของต่างชาติคือสิงคโปร์ เพราะอาจจะมีผู้ถือหุ้นไทยที่เป็นร่างทรง(Nominee) ของสิงคโปร์ โดยพิจารณาโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทเอไอเอส ดังนี้
จากภาพอธิบายได้ว่าจากโครงสร้างผู้ถือหุ้น เอไอเอส ที่ดูซับซ้อนซ่อนเงื่อนที่เรียกว่า Financial Engineering เหมาะที่ร่างทรง (Nominee) จะเข้าไปแฝงร่างอยู่ในกลุ่มผู้ถือหุ้นไทยได้ ทำให้ดูเหมือนว่าเอไอเอสมีผู้ถือหุ้นต่างชาติ (สิงคโปร์) เพียง 20% คือ สิงเทล แต่ในความเป็นจริง ถ้ามีผู้ถือหุ้นไทยในชินคอร์ปเป็นร่างทรงของต่างชาติสิงคโปร์ ก็จะทำให้ชินคอร์ปเป็นบริษัทสัญชาติไทยแต่เพียงร่างกาย.... เพราะเงินและหัวใจเป็นสิงคโปร์ ถ้าชินคอร์ปสวมหัวใจสิงเทล (สิงคโปร์)... แล้วเอไอเอสจะเหลือความเป็นไทยได้อย่างไร ?
ผลกระทบจากการขายหุ้น
: สัมปทานของชาติที่ต้องตกไปเป็นของต่างชาติ
นอกจากประเด็นต่างๆ ที่ว่ามาแล้ว...กระแสลบอื่นๆ ที่พุ่งเข้าใส่ พ.ต.ท.ทักษิณ
ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และครอบครัว-เครือญาติ ในกรณีการ "ขายหุ้นชินคอร์ป"
หรือหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้กับเทมาเส็ก บริษัทสัญชาติสิงคโปร์
นอกจากนี้ยังมีประเด็นในเรื่องการสูญเสียอธิปไตยทางเศรษฐกิจคือ "สัมปทานของชาติตกไปเป็นของต่างชาติ"
หรือเป็นกระบวนการหนึ่งของ "ทุน" ในประเทศที่ต้องสูญเสียให้กับ "เทมาเส็ก"
อันเป็น "ทุน" จากต่างประเทศอีกด้วย ทั้งนี้เนื่องจากกิจการในเครือชินคอร์ปครอบคลุมไปถึง
"โทรศัพท์มือถือ" "สถานีโทรทัศน์ไอทีวี" และ "ดาวเทียม"
ที่ใช้ชื่อ "ไทยคม" ทุกดวง ก็ติดอยู่ในกลุ่มถูกขายให้บริษัทสิงคโปร์ไปด้วยเช่นกัน
สำหรับ"ดาวเทียมไทยคม" นั้น มีจุดกำเนิดในปี 2534 เมื่อบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับสัมปทาน "โครงการดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ" ของกระทรวงคมนาคมเป็นเวลา 30 ปี (2534-2564) โดยได้รับการคุ้มครองสิทธิเป็นเวลา 8 ปี
กลุ่มชินคอร์ปได้จัดตั้งบริษัท ชินแซท เทลไลท์ จำกัด เพื่อดำเนินการโครงการดาวเทียมไทยคม ทำหน้าที่จัดสร้าง จัดส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร ให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียม และบริหารโครงการดาวเทียมไทยคมตลอดอายุสัมปทาน ต่อมาเมื่อ 18 ม.ค. 2537 บริษัทนี้ได้จดทะเบียนเข้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ชินแซท เทลไลท์ จำกัด (มหาชน) มีการส่งดาวเทียม "ไทยคม" ต่างๆ ขึ้นสู่วงโคจร นับตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา
สำหรับ "ดาวเทียมไทยคม 4 ไอพีสตาร์" ที่เพิ่งส่งขึ้นไปเมื่อปีที่แล้ว และถูกใช้ในการถ่ายทอดสด "เรียลลิตี้นายกฯ ทักษิณ" ที่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด เมื่อเร็ว ๆ นี้ ข้อมูลจำเพาะคือ เป็นดาวเทียมรุ่น LS1300-SX สร้างโดยบริษัท สเปซ ซิสเต็ม ลอรัล ประเทศสหรัฐอเมริกา มีจำนวนช่องสัญญาณรวม 94 บีม สมรรถนะในการส่งสัญญาณ 45 กิกะบิตต่อวินาที มีพื้นที่บริการครอบคลุมพื้นที่เอเชียและแปซิฟิก ให้บริการรับ-ส่งสัญญาณดิจิตัลความเร็วสูงในรูปแบบอินเทอร์เน็ตโปรโตคอล โดยสามารถรับส่งสัญญาณได้ทั้งข้อมูล ภาพ และเสียง ในเวลาเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น เมื่อมีการขายหุ้นของบริษัทชินคอร์ปไปให้กับกองทุนเทมาเส็ก สัมปทานดังกล่าวก็จะตกไปเป็นของสิงคโปร์ไปโดยปริยาย เช่นเดียวกันกับ ระบบโทรศัพท์มือถือและสถานีโทรทัศน์ไอทีวี นอกจากนี้ อีกทั้งยังจะส่งผลให้ประเทศไทยต้องเสียวงโคจรของดาวเทียมไทยคม ซึ่งถือเป็นโควตาของประเทศไทยอันเป็นสมบัติที่สำคัญของชาติไปอีกด้วย
ตามปกติแล้ว ดาวเทียมทุกดวงที่ถูกส่งขึ้นไปบนอวกาศต้องมีที่จอดดาวเทียม ซึ่งต้องขออนุญาตต่อองค์กรอวกาศ และสิทธินั้นขอในนามของประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการมองไปถึงด้วยว่าเมื่อเกิดเหตุสงคราม กิจการดาวเทียม วิทยุ โทรทัศน์ ใครจะควบคุมได้ ที่สำคัญ "ไทยคม" เป็น "ชื่อพระราชทาน" ซึ่งในส่วนของข้อมูลของชินแซทเทลไลท์เองก็ระบุไว้ว่า "...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามดาวเทียมของโครงการอย่างเป็นทางการว่า "ไทยคม" (THAICOM) มาจากคำว่า Thai Communications หรือ ไทยคมนาคม เพื่อเป็นสัญลักษณ์เชื่อมโยงประเทศไทยกับเทคโนโลยีสื่อสารใหม่" ดังนั้นจึงเป็นความเหมาะสมหรือไม่ ที่ไทยคมจะตกไปอยู่ในความครอบครองของชาติอื่น
ในส่วนของกิจการโทรศัพท์มือถือของเอไอเอส
ซึ่งเป็นบริษัทประกอบกิจการเกี่ยวกับการสื่อสารด้วยโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
ครอบครองส่วนแบ่งการตลาดเกินกว่าครึ่งหนึ่งของการสื่อสารด้วยโทรศัพท์มือถือของประเทศไทย
มีการวิตกกันว่า ข้อมูลความลับต่าง ๆ ของการบริหารประเทศ โรงกลั่น น้ำมันที่เป็นคู่แข่งของสิงคโปร์
การเงินและการธนาคาร ฯลฯ ที่สื่อสารกันผ่านโทรศัพท์ มือถืออาจจะถูกดังฟังหรือรั่วไหลได้
การดักฟังข้อมูลเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายแต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะถูกดักฟัง
ดังนั้น ในการที่สิงคโปร์ใช้เงินเพียง เจ็ดหมื่นล้านบาท เพื่อมาสร้างโอกาสในการรับรู้ข้อมูลความลับของประเทศ
ที่เป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจอย่างประเทศไทย จึงถือว่าเป็นเงินที่ถูกมาก
บทสรุป
หลักการสำคัญของทุนนิยมเสรีใหม่อยู่ที่การทำลายล้างกฎเกณฑ์ทุกอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการทำการค้าอย่างเสรี
โดยมีผลกำไรสูงสุดเป็นที่ตั้ง หากพิจารณาจากเหตุการณ์การขายหุ้นชินคอร์ป จะเห็นได้ว่า
ทุกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ดำเนินการภายใต้หลักการดังกล่าวนี้อย่างไม่ผิดเพี้ยน
เริ่มต้นจากการที่บริษัทชินคอร์ปที่ทราบกันดีว่า อยู่ภายใต้อุ้งมือของนายกรัฐมนตรี พยายามที่จะใช้ช่องว่างของกฎหมาย รวมทั้งการตีความช่วยเหลือของกรมสรรพากร มาใช้เป็นเครื่องมือในการไม่ต้องจ่ายภาษีให้กับทางการ ซึ่งก็ตรงกับหลักการที่ว่า เพื่อผลกำไรสูงสุด เพราะการขายหุ้นครั้งนี้ ไม่ต้องจ่ายภาษีเข้ากองคลังของประเทศแม้แต่สักบาทเดียว สิ่งนี้แม้จะดูเหมือนชอบด้วยกฎหมายแต่ก็มีเงื่อนงำในความรู้สึกของสาธารณชน เนื่องจากเกิดกระบวนการบิดเบือนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ในลักษณะที่ไม่ชอบด้วยคุณธรรม ไม่โปร่งใส ไม่ตรงไปตรงมา ตามหลักการธรรมาภิบาล
ยิ่งไปกว่านั้น ยังปรากฎด้วยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้อาศัยฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ผู้กุมเสียงข้างมากในสภา 375 เสียง ในสภาผู้แทนราษฎร และเสียง ส.ว.ในวุฒิสภาเกินครึ่ง แก้ไขพ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาเป็น พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 ตัดเงื่อนไขที่จำกัดการถือหุ้นของคนต่างด้าวที่ถือหุ้นในบริษัทด้านกิจการโทรคมนาคมไว้ที่ร้อยละ 25 ให้เป็นร้อยละ 49 พร้อมกันนี้ยังได้ตัดเงื่อนไขสัดส่วนกรรมการบริษัทที่ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ออกทั้งหมด เพื่อเป็นการเปิดทางให้เทมาเส็กเข้ามาถือหุ้นในบริษัทชินคอร์ปได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ จากผลการขายหุ้นชินคอร์ปทั้งหมดซึ่งครอบคลุมไปถึงกิจการสัมปทาน"โทรศัพท์มือถือ" "สถานีโทรทัศน์ไอทีวี" และ "ดาวเทียม" ส่งผลให้เกิดความหวั่นวิตกในเรื่องความมั่นคงของชาติทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในหมู่ประชาชน
และจากทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คงจะไม่มีถ้อยคำใดสะท้อนพฤติกรรมของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ดีเท่ากับถ้อยคำของ Adam Smith ปรมาจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมชาวสก๊อตแลนด์ (1723-1790) ที่ได้เคยกล่าวโจมตีพวกนายทุนเอาไว้ว่า
"พฤติกรรมใดๆ
ของการลงทุน พฤติกรรมใดๆ ของนายทุน ล้วนแล้วแต่ทำไปเพื่อสนองผลประโยชน์ของตัวเองทั้งสิ้น
(Self Interest) นายทุนทำทุกอย่างด้วยแรงจูงใจเพื่อกำไรของตัวเอง ไม่ใช่กำไรของประเทศชาติ
กำไรของประเทศชาตินั้นเป็นเรื่องผลพลอยได้ ไม่ใช่ความตั้งใจ"
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
ภาคผนวก
สภาวการณ์การเมืองไทย
ในทรรศนะ"เจพีมอร์แกน"
แผนกวิจัยหลักทรัพย์เอเชียแปซิฟิกของเจพี
มอร์แกน บริษัทหลักทรัพย์ระดับโลกประจำประเทศไทย เผยแพร่รายงานวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทยออกมาเพื่อทำความเข้าใจและวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทยซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุนในประเทศสำหรับลูกค้าผู้รับบริการของบริษัท
รายงานชิ้นเดียวกันนี้เผยแพร่อีกอย่างน้อยใน 3 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์
และมาเลเซีย อีกด้วย
สำหรับเนื้อหาสาระของรายงานดังกล่าวที่เผยแพร่มาตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 โดยสังเขปมีดังนี้
สถานการณ์ทางการเมืองของไทยจะเป็นจุดศูนย์กลางที่ถูกจับตามองจากตลาดต่อไปอีกหลายสัปดาห์ หลังจากกรณีการซื้อขายหุ้นระหว่างเทมาเส็ก บริษัทเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์กับชิน คอร์ป บริษัทที่ก่อตั้งโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปลี่ยนประเด็นจากเรื่องภาษีมาเป็นเรื่องการปกปิดข้อมูล และมีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าว รวมถึงการแสดงท่าทีของกลุ่มวังน้ำเย็นว่าจะให้การสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการลาออกจากตำแหน่งประธานบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) นายชัยอนันต์ สมุทวณิช นักวิชาการคนสำคัญก็ถือเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อ พ.ต.ท.ทักษิณให้มากขึ้นด้วย
เจพี มอร์แกนมองว่า โอกาสที่นายกรัฐมนตรีจะลาออกจากตำแหน่งนั้นยังคงอยู่ห่างไกล แรงเหวี่ยงจากกลุ่มนายสนธิ ลิ้มทองกุล อาจค่อยๆ ลดระดับลง และการแสดงท่าทีชัดเจนของกลุ่มวังน้ำเย็นก็อาจเป็นผลดีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะเป็นการเปิดทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณนำกลุ่มอื่นที่เคยไม่ได้รับความสนใจก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีแทน
เจพี มอร์แกนเชื่อว่าในกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณลาออกจากตำแหน่ง ตัวแทนที่ไว้วางใจได้ของนายกรัฐมนตรีจะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งจะส่งให้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายจากที่เป็นอยู่มากมายนัก
ความเป็นไปได้ประการถัดมา ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลสะเทือนมากกว่าก็คือ การที่นายกรัฐมนตรีตัดสินใจยุบสภา เพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหาของฝ่ายตรงกันข้ามว่า มีผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณน้อยลง แต่การดำเนินการแนวทางนี้ก็เชื่อว่าจะไม่ก่อให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงมากมายนักเช่นกัน เพราะพรรคไทยรักไทยมีกำลังเงินเหนือกว่าฝ่ายค้านแบบเทียบกันไม่ได้
แนวทางสายกลางระหว่างแนวทางทั้ง
2 ข้างต้น ซึ่งมีความเป็นไปได้มากกว่าในความเห็นของเจพี มอร์แกนก็คือ รัฐบาลจะใช้โอกาสนี้ปรับคณะรัฐมนตรีอีกครั้งเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในพรรคเสียใหม่
และบรรยากาศแวดล้อมทางการเมืองจะค่อยๆ ลดอุณหภูมิลง อย่างไรก็ตาม การต่อต้านจากประชาชนในกรุงเทพฯ
และการจับผิดจากสื่อที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็จะนำไปสู่การคาดหวังถึงการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล,
การชะลอช้าของการดำเนินการโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองสูง
เช่น โครงการเมกะโปรเจ็คต์ เป็นต้น (กรอบบ่าย)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์ทุกฉบับและทุกแหล่งข้อมูล
ข้อมูลเกี่ยวเนื่องที่มีอยู่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
823.
ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป(๑)
(กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวมและเรียบเรียง)
824.
ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป(๒)
(รายการวิทยุ - ทักษิณคุยกับประชาชน - ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙)
825. ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป(๓)
(บทวิเคราะห์ 20 ประเด็นหลัก ในดีลเทคโอเวอร์กลุ่มชินคอร์ป)
826. ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป(๓)
(ต่อ) (บทวิเคราะห์
20 ประเด็นหลัก)
828.
ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป(๔)
(แก้วสรร อติโพธิ,
คำสารภาพกลางเมืองของนายกฯทักษิณ)
831.
ถังความรู้เกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป(๕)
(มายาภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กรณีการขายหุ้นชินคอร์ป)
บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3 I สารบัญเนื้อหา
4
ประวัติ
ม.เที่ยงคืน
สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง
e-mail :
midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด
กว่า 800 เรื่อง หนากว่า 11500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com
สมเกียรติ
ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ
ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
"พฤติกรรมใดๆ
ของการลงทุน พฤติกรรมใดๆ ของนายทุน ล้วนแล้วแต่ทำไปเพื่อสนองผลประโยชน์ของตัวเองทั้งสิ้น
(Self Interest) นายทุนทำทุกอย่างด้วยแรงจูงใจเพื่อกำไรของตัวเอง ไม่ใช่กำไรของประเทศชาติ
กำไรของประเทศชาตินั้นเป็นเรื่องผลพลอยได้ ไม่ใช่ความตั้งใจ"
Adam Smith : Scottish economist who advocated private
enterprise and free trade (1723-1790)