ค้นหาบทความที่ต้องการ ด้วยการคลิกที่แบนเนอร์ midnight search engine แล้วใส่คำหลักสำคัญในบทความเพื่อค้นหา
โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน: จากชายขอบถึงศูนย์กลาง - Media Project: From periphery to mainstream
Free Documentation License - Copyleft
2006, 2007, 2008
2009, 2010, 2011
2012, 2013, 2014
Everyone is permitted to copy and distribute verbatim copies of
this licene document, but changing
it is not allowed. - Editor

อนุญาตให้สำเนาได้ โดยไม่มีการแก้ไขต้นฉบับ
เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษาทุกระดับ
ข้อความบางส่วน คัดลอกมาจากบทความที่กำลังจะอ่านต่อไป
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยบทความทุกชิ้นที่นำเสนอได้สละลิขสิทธิ์ให้เป็นสาธารณะประโยชน์

1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

56

 

 

 

 

57

 

 

 

 

58

 

 

 

 

59

 

 

 

 

60

 

 

 

 

61

 

 

 

 

62

 

 

 

 

63

 

 

 

 

64

 

 

 

 

65

 

 

 

 

66

 

 

 

 

67

 

 

 

 

68

 

 

 

 

69

 

 

 

 

70

 

 

 

 

71

 

 

 

 

72

 

 

 

 

73

 

 

 

 

74

 

 

 

 

75

 

 

 

 

76

 

 

 

 

77

 

 

 

 

78

 

 

 

 

79

 

 

 

 

80

 

 

 

 

81

 

 

 

 

82

 

 

 

 

83

 

 

 

 

84

 

 

 

 

85

 

 

 

 

86

 

 

 

 

87

 

 

 

 

88

 

 

 

 

89

 

 

 

 

90

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Media Project: From periphery to mainstream
The Midnight University 2009
Email 1: midnightuniv(at)gmail.com
Email 2: [email protected]
Email 3: midnightuniv(at)yahoo.com
บทความวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๒ : Release date 25 December 2009 : Copyleft

การประกอบการทางสังคมถูกนำเสนอขึ้นมาในฐานะทางออกสำหรับปัญหาความเจ็บป่วยของสังคมสมัยใหม่ เครื่องมืออย่างเช่นธุรกิจทางสังคมในฐานะเครื่องมือสนับสนุนที่รัฐบาลมี ได้รับการยอมรับในประ เทศอังกฤษ โดยการจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคม (The Economist, 2005) ที่จะเป็นแนวทางที่จะทำสัญญารับเหมาช่วงการบริการสาธารณะ หรือในฐานะแนวทางที่จะพัฒนาบริการเหล่านี้ โดยรัฐไม่ต้องเพิ่มงบประมาณ ล้วนแต่ได้ทำให้การประกอบการทางสังคมมีจำนวนมากขึ้นและมีความสำคัญมากขึ้น แต่โชคไม่ดีที่ในมุมมองทางวิชาการ งานวิจัยในสาขาการประกอบการทางสังคมยังคงเป็นเรื่องของการใช้สำนวนโวหารและบางครั้งก็ยังขาดความเป็นกลาง (ข้อความบางส่วนนนี้ คัดลอกมาจากบทความฯ)

H



25-12-2552 (1792)

การประกอบการทางสังคมหลายแนวทาง - ทฤษฎีและปฏิบัติการหลายแนวทาง
การประกอบการทางสังคมจากปฏิบัติการสู่กรอบกฎหมาย : บททบทวนวรรณกรรม
วีรบูรณ์ วิสารทสกุล : แปล
ภาควิชาพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสาตร์ ท่าพระจันทร์
ต้นฉบับเขียนโดย Sophie BACQ และ Frank JANSSEN

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

บทความต่อไปนี้แปลจากเอกสารต้นฉบับชื่อ From Social Entrepreneurship as a practice to
legitimate field of research : Literature review and classification เอกสารหมายเลข 06/2008
ของ Center for Research in Entrepreneurial Cange & Innovative Strategies

สำหรับบทความแปลนี้ ได้ลำดับหัวข้อและประเด็นที่สำคัญดังต่อไปนี้...
- สาเหตุการขยายตัวในเรื่องการประกอบการทางสังคม
- การประกอบการทางสังคม มีความหมายว่าอะไร?
- รากฐานแนวคิดทางทฤษฎีและการปฏิบัติการ
- ฟอร์เรน ไนติงเกล - โรชาเน่ ซาฟา: การประกอบการทางสังคม
- สำนักคิดนวตกรรมทางสังคม
- สำนักคิดธุรกิจเพื่อสังคม
- ปัจเจกบุคคล : ผู้ประกอบการทางสังคม
- กระบวนการ : การประกอบการทางสังคม
- องค์กร : ธุรกิจเพื่อสังคม
- ความต่างระหว่าง"การประกอบการทางธุรกิจ" - "ผู้ประกอบการทางสังคม"
(บทความนี้จัดอยู่ในหมวด "เศรษฐศาสตร์สังคม-สังคมสงเคราะห์")

สนใจส่งบทความเผยแพร่ ติดต่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน:
midnightuniv(at)gmail.com

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด
เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงตรวจสอบตัวสะกด
และปรับปรุงบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ รวมทั้งได้เว้นวรรค
ย่อหน้าใหม่ และจัดทำหัวข้อเพิ่มเติมสำหรับการค้นคว้าทางวิชาการ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งนี้ ยินดีสละลิขสิทธิ์เพื่อมอบเป็นสมบัติ
ทางวิชาการแก่สังคมไทยและผู้ใช้ภาษาไทยทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไขลิขซ้าย (copyleft)
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๗๙๒
เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๒
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๒๔ หน้ากระดาษ A4 โดยไม่มีภาพประกอบ)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

การประกอบการทางสังคมหลายแนวทาง - ทฤษฎีและปฏิบัติการหลายแนวทาง
การประกอบการทางสังคมจากปฏิบัติการสู่กรอบกฎหมาย : บททบทวนวรรณกรรม
วีรบูรณ์ วิสารทสกุล : แปล
ภาควิชาพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสาตร์ ท่าพระจันทร์
ต้นฉบับเขียนโดย Sophie BACQ และ Frank JANSSEN
บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

บทคัดย่อ
ตลอดปีที่ผ่านมา การประกอบการทางสังคม (social entrepreneurship) ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากภาครัฐ พอๆ กับนักวิชาการ (Stryjan, 2006; Weerawardena&Sullivan Mort, 2006) อย่างไรก็ตามการยังไม่มีกรอบแนวคิดร่วมกันอย่างชัดเจน นั่นทำให้ การนิยามความหมายได้เพิ่มขยายออกไป ดังนั้น

วัตถุประสงค์แรก ของเอกสารชิ้นนี้ คือ การทำความชัดเจนต่อแนวคิดเรื่อง การประกอบการทางสังคม (social entrepreneurship) ผู้ประกอบการทางสังคม (social entrepreneur) และธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ผ่านการทบทวนเอกสารของฝั่งอเมริกากับฝั่งยุโรป

วัตถุประสงค์ที่สอง คือพยายามจะชี้ให้เห็นความต่างในประเด็น การประกอบการทางสังคม (social entrepreneurship) ผู้ประกอบการทางสังคม (social entrepreneur) และธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ระหว่างฝั่งอเมริกากับฝั่งยุโรปและพยายามจะชี้ให้เห็นความแตกต่างของสำนักคิดและวิถีปฏิบัติ

วัตถุประสงค์ที่สามของเอกสารนี้ เพื่ออธิบายว่า แนวคิดนี้มีความแตกต่างมากแค่ไหนจากการประกอบการโดยทั่วไปหรือในทางธุรกิจ / การทำธุรกิจ

คำนำ
ไม่นานนี้ การประกอบการทางสังคมเริ่มได้รับความสนใจอย่างมากทั้งจากภาครัฐและนักวิชาการ (Stryjan, 2006; Weerawardena & Sullivan Mort, 2006) การสนับสนุนการดำเนินการทางสังคมของรัฐบาลก็เพิ่งเริ่มมาไม่นานนี้ ผู้กำหนดนโยบายของทางยุโรปอ้างถึงความสำคัญของธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ว่า "มิใช่มีนัยยะตัวแสดงทางเศรษฐกิจ แต่ยังเล่นบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมของพลเมืองในสังคม และในการสร้างและผลิตทุนทางสังคมโดยการจัดตั้ง อาทิ โอกาสสำหรับการทำงานอาสาสมัคร" (European Commission, 2003)

ประโยชน์จากการดำเนินการทางสังคมยังเป็นผลจากการสร้างสรรค์ของสมาคม องค์กรพัฒนาเอกชน หรือมูลนิธิจำนวนมากที่ส่งเสริมการประกอบการทางสังคม อย่าง อโชก้า มูลนิธิสคอล์ (Skoll Foundation) และ Ewing Marion Kauffman Foundation ในอเมริกา หรือ Canada Social Entrepreneurship Foundation ในประเทศแคนาดา หรือ the School for Social Entrepreneur ในประเทศอังกฤษ หรือ the Schwab Foundation for Social Entrepreneurs ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เป็นต้น

ในอีกด้านหนึ่ง คณะวิชาธุรกิจที่มีชื่อเสียงทั่วโลก จาก Oxford จรด Harvard, Stanford ถึง Columbia ต่างผุดศูนย์เพื่อการวิจัยและแผนการศึกษาในด้านการประกอบการทางสังคม จำนวนนักศึกษาที่มีความสนใจการดำเนินการทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้น (Tracey & Phillips, 2007) ก็เป็นผลสืบเนื่องจากจำนวนการแข่งขันประกวดแผนธุรกิจในการประกอบทางสังคม (Brock, 2006) ท้ายสุด รัฐต่างๆ ในยุโรปก็เริ่มสร้างกรอบกฎหมายเพื่อการประกอบการทางสังคม

สาเหตุการขยายตัวในเรื่องการประกอบการทางสังคม
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความสนใจที่ขยายตัวในเรื่องการประกอบการทางสังคม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาทางสังคมที่นับวันยิ่งมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น (Johnson, 2000) นักวิชาการบางส่วนมองว่า นี่คือหนทางที่จะสร้างชุมชนที่เป็นสุข (Wallace, 1999) ในขณะที่บางท่านเสนอว่า เป็นหนทางที่จะบรรเทาทุกข์ภัยจากสังคมทันสมัย (Thompson et al., 2000) อย่าง การว่างงาน การไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงการบริการสุขภาพ และการบริการทางสังคม (Catford, 1998) ความเสื่อมโทรม ความยากจน อาชญากรรม การขาดแคลน การถูกกีดกันทางสังคม (Blackburn & Ram, 2006) รวมถึงยังถูกพิจารณาว่าเป็นแนวทางรับจ้างทำงานบริการทางสังคม ที่จะทำให้งานมีคุณภาพมากขึ้นโดยไม่เพิ่มค่าใช้จ่ายของรัฐ (Cornelius et al., 2007) ยิ่งไปกว่านั้น การปฏิบัติการของการประกอบการชนิดนี้ ยังช่วยทำให้ภาพการเชื่อมต่อระหว่างภาคธุรกิจกับภาครัฐชัดเจนมากขึ้น (Johnson, 2000; Wallace, 1999) โดยเป็นการประกอบธุรกิจสายพันธ์ผสมที่ให้ความสำคัญของมิติทั้งสังคมและเศรษฐกิจ (Alter, 2004)

การประกอบการทางสังคม มีความหมายว่าอะไร?
ความเห็นรวมๆ ข้างต้น ดูเหมือนจะเข้าใจว่าการเกิดขึ้นของการประกอบการทางสังคม (social entrepreneurship) และธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ (Dee, 1998) อย่างไรก็ตาม แต่แนวคิดนี้ก็ยังคงไม่มีความชัดเจนในความหมาย และคลุมเครือข่ายในขอบเขตของการศึกษา (Mair & Marti, 2006) การประกอบการทางสังคม มีความหมายว่าอะไร? การดำเนินการทางสังคมแบบใดที่เป็นการประกอบการทางสังคม? แบบใดไม่ใช่?

โดยข้อเท็จจริง การดำเนินการทางสังคมทั้งหมดไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าเป็นการประกอบการ ตัวอย่างเช่น การแบ่งเงินรายได้จากองค์กรมาเพื่อทำงานทางสังคม โดยตัวมันเองไม่ถือเป็นกิจกรรมของการประกอบการ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับที่องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรใช้เป็นแนวทางในการทำงาน (Mair & Marti, 2004)

เอกสารฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ

1) ทำความชัดเจนกับแนวคิดเรื่อง การประกอบการทางสังคม (social entrepreneurship) ผู้ประกอบการทางสังคม (social entrepreneur) และธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) บนฐานการวิเคราะห์และทบทวนวรรณกรรมทั้งจากทวีปอเมริกาและยุโรป สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับการประกอบการทางสังคม (social entrepreneurship) ก็คือ การมีมิติทางสังคมเป็นแกนกลางของการดำเนินการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างไรก็ตาม แนวคิดหลายอย่างดูเหมือนจะผุดขึ้นตามภูมิศาสตร์ทั้งสองฝั่งของแอตแลนติค ที่ซึ่งมีสำนักคิดของตนเอง มากกว่านั้นผู้เขียนยังเชื่อว่าสำนักคิดแต่ละแห่งก็มีประเด็นที่ให้ความสนใจแตกต่างกัน เช่น บางสำนักให้น้ำหนักกับเรื่องความคิดสร้างสรรค์ในการประกอบการ บางสำนักให้น้ำหนักในเรื่องกฎหมาย ดังนั้นในวัตถุประสงค์ประการต่อมาคือ

2) การระบุให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างสำนักคิด ทั้งในเรื่องแนวคิดและแนวปฏิบัติ

3) เพื่ออธิบายว่า แนวคิดนี้มีความแตกต่างมากแค่ไหนจากการประกอบการโดยทั่วไปหรือในทางธุรกิจ / การทำธุรกิจ

ในส่วนแรกของเอกสาร ผู้เขียนจะนำเสนอรากฐานทฤษฎีและแนวปฏิบัติของการประกอบการทางสังคมในฐานะประเด็นการวิจัย ในส่วนที่สอง ผู้เขียนจะนำเสนอวิธีวิทยา ที่จะใช้ในการจำแนกสิ่งพิมพ์ตามเงื่อนไขต่างๆ ส่วนที่สามประกอบด้วย 2 ส่วนย่อย ส่วนย่อยที่ 1 จะนำเสนอและอภิปรายผลของการทบทวนวรรณกรรม โดยเฉพาะจุดยืนของแต่ละสำนักคิด ว่าอะไรคือผู้ประกอบการทางสังคม (social entrepreneurship) ผู้ประกอบการทางสังคม (social entrepreneur) และธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ใน 3 มิติ กล่าวคือ ปัจเจก, กระบวนการ, องค์กร ส่วนย่อยที่ 2 จะตอบคำถาม ถึงความแตกต่างของแนวคิดการประกอบการทางสังคม กับการประกอบในแบบทั่วๆ ไป (commercial entrepreneurship/entrepreneur/enterprise)

1. รากฐานแนวคิดทางทฤษฎีและการปฏิบัติการ
ถ้าการประกอบการทางสังคมนั้นเพิ่งได้รับความสนใจจากนักวิจัยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การประกอบการทางสังคมในฐานะที่เป็นการปฏิบัติการก็ย่อมมิใช่ของใหม่แต่อย่างใด (Dearlove, 2004) ก่อนหน้านี้งานวิจัยในประเด็นการประกอบการทางสังคม (Waddock & Post, 1991; Young, 1996 in Light, 2005) เกิดขึ้นในแวดวงนักวิชาการในปลายทศวรรษ 1990 ในสหรัฐอเมริกา (Drayton, 2002; Thompson et al.,2000; Dee, 1998) และในอังกฤษ (SSE, 2002; Leadbeater, 1997)

ในยุโรป การทำธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ก็เพิ่งเริ่มอยู่ในความสนใจของรัฐบาล แท้จริงแล้ว ธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ปรากฏเป็นครั้งแรกในอิตาลี ในปลายทศวรรษ 1980 (Defourny, 2001) นับตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 แนวคิดนี้ก็ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุโรป โดยเฉพาะต้องขอบคุณการทำงานของ เครือข่ายวิจัยยุโรป (European research network : EMES )(*) แต่อย่างไรก็ดี นักปฏิบัติการด้านการประกอบการทางสังคมก็มีอยู่แล้วในทุกๆ แห่งทั่วโลก (Robert & Woods, 2005)

(*) ในปี 1996 ศูนย์วิจัยในมหาวิทยาลัย และนักวิจัยจาก 15 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ได้จัดตั้งเครือข่ายวิทยาศาสตร์ในนาม "EMES" ซึ่งได้ทำงานแผนงานวิจัยชิ้นแรกในเรื่องการกำเนิดของธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ในยุโรป

ฟอร์เรน ไนติงเกล - โรชาเน่ ซาฟา: การประกอบการทางสังคม
ฟอร์เรน ไนติงเกล นักบุกเบิกชาวอังกฤษผู้พัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลในช่วงสงคราม Crimean ในศตวรรษที่ 19 ที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง จาก 40% เหลือ 20% , โรชาเน่ ซาฟา (Roshaneh Zafar) ผู้ก่อตั้ง Kashf Foundation ที่ต่อสู้เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ในแก่ผู้หญิงในปากีสถานโดยการเปิดสถาบันสินเชื่อระดับย่อย(microcredit) นับพันแห่ง (Dearlove, 2004) Fundacian Social ในโคลัมเบีย ก่อตั้งเมื่อปี 1911 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างและนำรายได้มาใช้เพื่อสร้างคุณค่าทางสังคม (social value) (Fowler, 2000) ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการประกอบการทางสังคมในฐานะ การปฏิบัติการทางสังคมไม่ได้เป็นสิ่งที่เพิ่งเริ่มทำกัน การประกอบการทางสังคมทุกวันนี้ ล้วนได้รับอานิสงค์จากมรดกจากอดีตและการดำรงอยู่ของสถานการณ์ที่เป็นอยู่

จากมุมมองเชิงวิชาการ มีผู้เห็นด้วยจำนวนมากว่าการผุดขึ้นของงานวิจัยในประเด็นการประกอบการทางสังคม แสดงให้เห็นว่า มีความเหมือนกับงานด้านการประกอบการ (entrepreneurship) ในช่วงที่ผ่านมา 3 อย่าง ได้แก่

หนึ่ง การวิจัยทางการประกอบการทางสังคมยังคงเป็นแบบ phenomenon-driven (Mair & Matri, 2006) ทั้งที่ความจริง การดำเนินการการประกอบการทางสังคมปรากฏขึ้นก่อนหน้าท่ามกลางนักปฏิบัติและการวิจัย โดยมืออาชีพที่มีประสบการณ์

สอง สาขาการประกอบการนั้น เคยได้รับการค่อนแคะจากคนอื่นๆ [Bruyat and Julien (2001), Shane and Venkataraman (2000)] ว่าไม่มีความชัดเจนในกระบวนทัศน์ ในเอกสารการสัมมนา ชื่อ "พวกเรากำลังคุยอะไรกัน เมื่อเราพูดถึงการประกอบการ" (what are we talking about when we talk about entrepreneurship) Gartner (1988) ตั้งคำถามสำคัญ อย่างเช่น "การประกอบการได้กลายมาเป็นป้ายที่ถูกใช้สะดวก แต่มีความหมายในตัวเองน้อยมากใช่หรือไม่" หรือ "การประกอบการเป็นแค่คำฮิตใช่หรือไม่ หรือ มีลักษณะเฉพาะที่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนและศึกษาได้ ใช่หรือไม่" เหล่านี้นำเรากลับไปสู่ประเด็นที่ว่า การประกอบการมีความเฉพาะของตัวเองในงานวิจัยหรือมีหลักวิชาเป็นฐานในการวิจัย (Acs & Audretsch, 2003) หรือไม่

คำถามในทำนองเดียวกันนี้ ก็มีต่อการประกอบการทางสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเช่นกัน ดังนั้นด้านหนึ่งก็น่าเสียดายกับการขาดกระบวนทัศน์ที่เด่นชัดในสาขาการประกอบการทางสังคม ซึ่งนำไปสู่การนิยามความหมายมากมาย (Dee, 1998) ขอบเขตของสาขาการประกอบการทางสังคม กับสาขาวิจัยอื่นๆ อย่าง เศรษฐกิจสังคม (social economy) หรือ ภาคประชาชน/ภาคสาธารณะ (third sector) ก็ยังเป็นที่คลุมเครือ (Mair & Matri, 2006, p.36) ความคลุมเครือนี้นำมาซึ่งคำถามที่ Acs et Audretsch (2003) ถามมาแล้วว่า การประกอบการ (ทางสังคม) ได้สถาปนาตัวเองจนมีความชัดเจนในฐานะสาขาการวิจัยแล้วหรือ? (Mair & Matri, 2006) หรือ ยังอยู่บนฐานคิดในสาขาวิชาอื่น? Dees และ Battle Anderson (2006) ได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า มุมมองแบบข้ามศาสตร์ (interdisciplinary) น่าจะเป็นกุญแจสำคัญในการศึกษาพัฒนาการของการประกอบการ

สาม การวิจัยในสาขานี้ยังคงอยู่ในขั้นเริ่มต้น (infancy stage) (Dees and Battle Anderson, 2006; Dorado, 2006) คล้ายกับสาขาการประกอบการในหลายปีที่ผ่านมา (Brazael et Herbert, 1999) การประกอบการในศาสตร์ว่าด้วยการจัดการนั้น ถูกจัดให้มีลักษณะของการเป็นสาขาก่อนการมีกระบวนทัศน์ (pre-paradigmatic field) (Verstraete & Fayolle, 2004) ปัจจุบันการประกอบการทางสังคมไม่ได้แสดงให้เห็นว่า มีคำอธิบายและมุมมองทางทฤษฎีที่มีความเด่นชัดในฐานะของการเป็นสาขาหนึ่งของการวิจัย (Dees and Battle Anderson, 2006)

เมื่อพิจารณาการประกอบการทางสังคมในฐานะสาขาย่อยของการประกอบการ ก็แสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนเช่นเดียวกันกับการประกอบการในระยะเริ่มต้น นั่นทำให้พวกเราคิดว่า ประการแรกงานวิจัยในสาขาการประกอบการทางสังคมสามารถทำซ้ำจนพัฒนาเป็นทฤษฎีได้เช่นเดียวกับการประกอบการ ดังนั้นแม้ว่าขณะนี้ยังมีปัญหาเรื่องขาดความชัดเจนในด้านกระบวนทัศน์ที่สมบูรณ์ แต่งานวิจัยก็มีความก้าวหน้า และปัจจุบันก็มีกระบวนทัศน์บางอย่างอยู่แล้ว อย่าง การประกอบการในปัจจุบันก็ได้รับการยอมรับในสาขาวิชาการ (Bruyat & Julien, 2001) มีชุมชนวิชาการที่มีความสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ (Ace & Audretsch, 2003; McGrath, 2003) ซึ่งทำให้ สาขาการประกอบการมีความก้าวหน้าไปกว่าขั้นเริ่มต้นไปสู่ขั้นกำลังเติบโต

ด้วยความก้าวหน้าในสาขาการวิจัยใหม่ การมีความหมายที่ชัดเจน คือ หนึ่งในคำถามสำคัญ (Christie & Honig, 2006) ดังได้กล่าวในข้างต้น การประกอบการทางสังคมในฐานะแนวคิดที่ซับซ้อน และซ้อนทับกับความเชื่อที่หลากหลายและความหมายที่แตกต่างจนขาดความเห็นร่วมในคำนิยาม ในส่วนถัดไป ผู้เขียนจะอธิบายว่าเราได้จำแนกการทบทวนวรรณกรรมอย่างไร

2. เงื่อนไขการเลือกเอกสารมาทบทวน
เพื่อให้การทบทวนวรรณกรรมด้านการประกอบการทางสังคมมีความเป็นระบบ ผู้เขียนใช้เงื่อนไข 2 ประการในการจำแนกผู้แต่งกับสำนักคิดของแต่ละท่าน

- เงื่อนไขประการแรก คือ เงื่อนไขทางกายภาพที่งานวิจัยนั้นดำเนินการ และ
- เงื่อนไขที่สอง คือ ประเด็นหลักที่แต่ละสำนักให้ความสำคัญ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

2.1 เงื่อนไขทางภูมิศาสตร์
จากมุมมองทางด้านภูมิศาสตร์ การประกอบการทางสังคมในแนวทางของยุโรปที่มีรากฐานมาจากภาคประชาชน/ภาคสาธารณนั้น มีความแตกต่างอย่างชัดเจนจากฝั่งอเมริกา ในฝั่งอเมริกานั้นประกอบด้วย 2 แนวทางการปฏิบัติการที่มีความเป็นอิสระต่อกัน ตามสำนักคิดที่เน้นทำงานวิจัยที่ต่างกัน หนึ่งนั้นเน้นไปทางด้าน"ธุรกิจเพื่อสังคม" (social enterprise) อีกสำนักหนึ่งเน้นไปทางงานสร้างสรรค์หรือ"นวตกรรมทางสังคม" (social innovation) (Dees & Battle Anderson, 2006) แม้ว่าพวกเขาพยายามจะผสาน 2 สำนักคิดเข้าด้วยกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็มีลักษณะเฉพาะตามสำนักคิด

สำนักคิดนวตกรรมทางสังคม ให้น้ำหนักกับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่หรือปรับปรุงของที่มีอยู่ให้ดีขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหา หรือตอบสนองความต้องการทางสังคม แม้ว่าหลายคนจะมีส่วนในการผลักดันให้เกิดสำนักคิดนวตกรรมทางสังคม แต่ Bill Drayton และ อโชก้า (ashoka) คือ บุคคลและองค์กร ที่มีส่วนอย่างมากในการผลักดันงานนวตกรรมทางสังคม (Dees & Battle Anderson, 2006) อย่างไรก็ดีคำว่า "ผู้ประกอบการทางสังคม" ไม่ได้ถูกใช้ก่อนกลางทศวรรษ 1990 ในฐานะคำที่ใช้แทน "นวตกรสำหรับภาครัฐ" (innovator for the public sector) หรือ "ผู้ประกอบการภาครัฐ" (public entrepreneur) ซึ่งใช้มาก่อนหน้านี้ จนกระทั่งมีองค์กรสนับสนุนจำนวนมากเกิดขึ้น (*) องค์กรเหล่านี้ยังคงให้การสนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการทางสังคม และสร้างโครงสร้างเพื่อเอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

(*) ท่ามกลางองค์กรที่สำคัญๆ จำนวนมาก ขอยกตัวอย่างได้แก่ "Echoing Green" (1987), "The Schwab Foundation for Social Entrepreneurs" (1998), "The Skoll Foundation" (1999), และ "The Manhattan Institute's Social Entrepreneurship Initiative" (2001)

สำนักคิดธุรกิจเพื่อสังคม นั้น ให้น้ำหนักไปที่การสร้างรายได้เพื่อทำให้ภารกิจทางสังคมประสบความสำเร็จ ท่ามกลางการริเริ่มบุกเบิกในขบวนการเคลื่อนไหวนี้ "การลงทุนใหม่" (New Venture) บริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในภาคประชาชนกำเนิดขึ้นในปี 1980 แนวทางนี้ได้รับแรงกระตุ้นจากการเติบโตของรายได้ขององค์กรไม่หวังผลกำไรสำหรับแหล่งเงินทุนใหม่ๆ (แบบเดิมๆ คือเงินจากการขอโครงการ หรือเงินสนับสนุนจากรัฐ) คล้ายกันนี้ การเคลื่อนไหวอีกทางหนึ่ง คือ การจัดตั้ง ศูนย์ผู้การประกอบการทางสังคมแห่งชาติ (National Center for Social Entrepreneur) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการทำงานบริการทางสังคมในรูปแบบที่เป็นการประกอบการเพื่อสร้างกำไร โดยมีจุดแข็งร่วมกันในการทำธุรกิจเพื่อสังคมที่มีการจ้างผู้พิการทำงาน การริเริ่มอีกอย่างที่สำคัญที่เกิดขึ้นมาด้วยเป้าหมายเพื่อพัฒนาความเป็นมืออาชีพ ในการจัดการธุรกิจชุมชนผ่านการแลกเปลี่ยนการปฏิบัติที่ดีที่สุด

แม้ว่าจะมีช่องว่างที่แตกต่างเล็กๆ น้อยๆ ในกลุ่มประเทศยุโรปอยู่บ้าง ในเรื่องของกิจกรรม กฎระเบียบของธุรกิจเพื่อสังคม ในเอกสารนี้ ผู้เขียนจะไม่นำเสนอกลุ่มประเทศยุโรปเป็นรายประเทศแต่จะพัฒนาต่อยอดจากแนวทางที่ EMES ได้ทำไว้ก่อน

จากมุมมองที่มีความสำคัญ สามารถจำแนกประเด็นของการประกอบการทางสังคมได้ 3 ประเด็น กล่าวคือ ประเด็นแรกเน้นไปที่ ปัจเจกบุคคล ประเด็นที่สอง เน้นไปที่กระบวนการ และประเด็นที่สาม เน้นไปที่ชนิดขององค์กร

2.2 เงื่อนไขทางประเด็นที่ทำงาน
Peredo & McLean (2006) ตั้งสมมติฐานว่า ความหมายของการประกอบการทางสังคม ถูกเชื่อมโยงอย่างเป็นเหตุผลกับความของหมายของผู้ประกอบการ ในความเข้าใจที่ว่า การประกอบการนั้น "เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทำเมื่อพวกเขาเป็นผู้ประกอบการ" นี่คือเงื่อนไขประการที่หนึ่ง ผู้เขียนจะใช้ ความเหมือนและความแตกต่างระหว่างสำนักคิด โดยเฉพาะความหมายของผู้ประกอบการทางสังคมและบทบาทของเขาและเธอในการประกอบการทางสังคม

ตามลักษณะข้างต้น (Wtterwulghe, 1998) นักวิชาการบางคนให้น้ำหนักไปที่สิ่งกระตุ้นต่างๆ ของผู้ก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม พอๆ กับลักษณะเฉพาะที่เด่นชัด อย่างกรณีการวิจัยในสาขาการประกอบการ นักวิชาการเหล่านี้ได้นิยามการประกอบการในลักษณะ "ผู้ประกอบการ คือ ใคร" (Venkataraman, 1997) ตรงข้ามกับ Gartner (1998) ที่ไม่ได้ให้ความสนใจต่อคำถามนี้เลย แต่กลับถามว่า "ผู้ประกอบการ ประกอบการอย่างไร" นั่นย่อมทำให้เห็นความแตกต่างของการประกอบการทางสังคมที่ก่อตัวมาจากการริเริ่มทางสังคม (Dees,1998b) นี่คือ ประเด็นเชิง "กระบวนการ" ที่ครอบคลุม 2 มิติ

(1) เป้าหมายองค์กร ที่แสดงออกมาในรูปของความเข้มข้นของพันธกิจทางสังคม และ
(2) ความเข้มข้นของความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุประสงค์หลักขององค์กร และกิจกรรมที่ดำเนินการ

สุดท้าย ตามแนวทางการปฏิบัติงาน นักวิจัยบางส่วนให้ความสนใจไปที่ผลลัพธ์รูปธรรมของการประกอบการทางสังคม: ธุรกิจเพื่อสังคมในฐานะองค์กร และเช่นกันในแนวทางนี้ก็มี 3 มิติที่ได้จากการทบทวนเอกสาร

(1) แกนหลักของแนวคิดเชิงธุรกิจของแต่ละแนวทาง
(2) กรอบทางกฎหมายของธุรกิจเพื่อสังคม และ
(3) ข้อจำกัดหรือไม่กระจายกำไรของธุรกิจเพื่อสังคม

ในส่วนถัดไปของเอกสาร จะนำเสนอและอภิปรายผลจากการทบทวนเอกสารทั้งจากฝั่งอเมริกาและยุโรปเกี่ยวกับการประกอบการทางสังคม

3. การวิเคราะห์เอกสาร
ในส่วนที่ 3 นี้ ผู้เขียนได้ตรวจสอบเอกสารของแต่ละสำนักคิดอย่างเป็นระบบ โดยจำแนกจากเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ 3 กลุ่มของการประกอบการทางสังคม
กับ 6 เงื่อนไขที่กล่าวถึงข้างต้น

3.1 ปัจเจกบุคคล : ผู้ประกอบการทางสังคม
ผู้เขียนรวบรวมเรียบเรียง ความหมายหลักของผู้ประกอบการทางสังคมออกมาเป็น 4 ประเด็นหลัก

- ผู้ประกอบการทางสังคม ในฐานะบุคคลทิ่ดำเนินโครงการทางสังคม ซึ่งแต่ละสำนักคิดได้ให้น้ำหนักมากน้อยต่างกัน โดย สำนักนวตกรรมทางสังคมนั้นมีความแตกต่างอย่างชัดเจนจากอีก 2 สำนัก

- ดูเหมือนจะมีความเห็นร่วมท่ามกลางนักวิชาการในสำนักนวตกรรมสังคมต่อความหลากหลายของคุณลักษณะของผู้ประกอบการทางสังคม ต้อง

๐ ยอมรับ แนวทางการสร้างวิสัยทัศน์และนวตกรรม (Roberts & Woods, 2005; Skoll in Dearlove, 2004; Sullivan Mort et al., 2002; De Leeuw, 1999; Catford, 1998; Dees, 1998a; Drayton in Bornstein, 1998; Schuyler, 1998; Schwab Foundation, 1998)

๐ มีคุณลักษณะเข้มแข็งทางคุณธรรม (Catford, 1998; Drayton in Bornstein, 1998)

๐ แสดงออกถึงความสามารถในการตรวจจับอนาคต (Sullivan Mort et al., 2002; Thompson et al., 2000; Catford, 1998; Dees, 1998a)

๐ เล่นบทบาทหลักในฐานะ "ผู้เปลี่ยนแปลงทางสังคม" (Sharir & Lerner, 2006; Skoll in Dearlove, 2004; Thompson et al., 2000; Dees, 1998a; Schuyler, 1998) ความหมายของผู้ประกอบการของ ชุม ปีเตอร์ คือพื้นฐานของความคิดของสำนักคิดนี้ ผู้ประกอบการทางสังคม เป็นบุคคลที่ปฏิรูป หรือ ปฏิวัติสินค้าแบบเดิมๆ ให้นำไปสู่การสร้างคุณค่าทางสังคม ที่เป็นประโยชน์สำหรับสังคมวงกว้าง (Dees & Battle Anderson, 2006)

๐ ไม่มีข้อจำกัดในด้านทรัพยากร หรือมิเช่นนั้นก็สามารถรวบรวมทรัพยากรต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อสร้างความแตกต่าง (Peredo & Mc Lean, 2006; Sharir & Lerner, 2006; Thompson et al., 2000; Dees, 1998a; Schuyler, 1998)

โดยทั่วไป ผู้ประกอบการทางสังคมทำงานเพื่อแก้ปัญหาช่องว่างทางสังคม โดยการสร้างองค์กรที่ไม่หวังผลกำไรหรือองค์กรที่ทำการค้า

- อย่างไรก็ตาม การกล่าวว่า การประกอบการเป็นแกนกลางความคิดของสำนักคิดนวตกรรมสังคม ก็มิได้หมายความว่า สำนักคิดอื่นๆ ไม่มีแนวคิดเรื่องผู้ประกอบการเป็นของตนเอง สำหรับสำนักธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise school) และเครือข่าย EMES การประกอบการทางสังคมนั้นเป็นกิจกรรมที่ต้องร่วมกันทำ สำหรับสำนักธุรกิจเพื่อสังคมนั้น การดำเนินการต้องมาจากองค์กรไม่หวังผลกำไร (ไม่ใช่ธุรกิจเอกชน) หรือจากรัฐ ไม่ว่าผู้ดำเนินการจะเป็น บุคคลหรือกลุ่มบุคคล ผู้ประกอบการนั้นก็เล่นบทบาทรองในฐานะผู้ที่จัดตั้ง จัดระบบและจัดการกิจกรรมเพื่อเป้าหมายทางสังคม : สำนักคิดธุรกิจเพื่อสังคมให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ใน 2 ด้าน (กำไร + สังคม แต่ในบางครั้งก็ 3 ด้านโดยรวม สิ่งแวดล้อม ด้วย) ผู้ประกอบการทางสังคม คือ ผู้ที่สร้างดุลยภาพระหว่างความจำเป็นที่ต้องรับผิดชอบทางศีลธรรมกับแรงจูงใจทางกำไร (Boshee, 1995) หรือ เชื่อมต่อ ทฤษฎีทางผลกระทบทางสังคมกับรูปแบบทางธุรกิจและวัตถุประสงค์ทางการค้า สำหรับเครือข่าย EMES ธุรกิจเพื่อสังคมเป็นการริเริ่มมาจากกลุ่มของพลเมือง (Defourny, 2004)

ผู้ประกอบการทางสังคมนั้นมีหลากหลายลักษณะ แต่การจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกหรือไม่ ขึ้นกับสำนักคิดแต่ละสำนัก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรต้องถาม ก็คือ ลักษณะเหล่านี้ เป็นลักษณะเฉพาะของการประกอบการทางสังคมหรือไม่ สิ่งที่นิยามเป็นองค์ประกอบพื้นฐานจะเป็นลักษณะเฉพาะที่แยกให้เห็นว่าต่างจากการประกอบการทางการค้าหรือกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ ที่ไม่ใช่เป็นการประกอบการทางสังคม ดังนั้น สำหรับพวกเราแล้ว การเปรียบเทียบคือสิ่งสำคัญในกระบวนการให้ความหมายแ ละสาระหลักของความหมาย

ความต่างระหว่าง"การประกอบการทางธุรกิจ" - "ผู้ประกอบการทางสังคม"

- ทั้งๆ ที่มีความพยายามที่จะนิยามความหมายของผู้ประกอบการทางสังคม แต่ดูเหมือนว่าลักษณะหลายอย่างก็เหลื่อมซ้อนกับการประกอบการการค้า เพราะต่างให้น้ำหนักไปที่ วิสัยทัศน์และโอกาส และความสามารถในแบบเดียวกันที่ต้องชักชวนและหนุนเสริมให้คนอื่นทำความคิดของเขาให้กลายเป็นความจริงขึ้นมา (Catford, 1998) ผู้เขียนเห็นด้วยกับ Dees (1998a) ที่ว่า ผู้ประกอบการทางสังคมเป็น ส่วนย่อยของตระกูลผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตามถ้ามีส่วนที่ซ้อนเหลื่อมระหว่างการประกอบการทางสังคม กับการประกอบการทางธุรกิจ สิ่งแตกต่างที่สำคัญ คือ

- วิธีคิด ในการประกอบการทางธุรกิจนั้นมองไปที่ปัญหาจากมุมมองทางเศรษฐกิจล้วนๆ
- ส่วน ผู้ประกอบการทางสังคมมักมีวิสัยทัศน์ที่มุ่งแก้ไขปัญหาสังคม (Skoll in Dearlove, 2004)

การกระทำของผู้ประกอบการทางสังคม จะต้องเชื่อมเข้ากับวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างคุณค่าทางสังคม (Sharir & Lerner, 2006; Sullivan Mort et al., 2002; Dees, 1998a; Schwab Foundation, 1998) เมื่อเปรียบเทียบกับการประกอบการทางธุรกิจที่เน้นกำไร การประกอบการทางสังคมจะมีความต่างอยู่ 4 ประการ ได้แก่ : จุดแข็ง, จุดที่ให้ความสำคัญ, พันธกิจ และมองกำไรอย่างไร

- การประกอบการทางสังคมจะมีจุดแข็งอยู่ที่ ความรู้และประสบการณ์ของกลุ่ม มากกว่าความสามารถและความรู้ส่วนบุคคล
- ให้น้ำหนักไปที่ความสามารถระยะยาว มากกว่ารายได้ระยะสั้น
- ความคิดของเขาถูกจำกัดไว้ด้วยพันธกิจ และ เขามองผลกำไรในฐานะเครื่องมือในการบริการผู้คน มากกว่าเป็นผลสุดท้ายที่สามารถนำไปลงทุนต่อเพื่อกำไรในอนาคต (Thalhuber, 1998)

นักวิจัยบางส่วนพยายามให้ความหมายของการประกอบการทางสังคม โดยไม่ได้อ้างอิงกับบุคคลหรือความเป็นองค์กร แต่เน้นไปที่กระบวนการ ซึ่งในส่วนถัดไปผู้เขียนจะกล่าวถึงกระบวนการในการประกอบกิจการทางสังคม

3.2 กระบวนการ : การประกอบการทางสังคม
ผู้เขียนได้สรุปประเด็นสำคัญของความหมายจำนวนหนึ่งของการประกอบการทางสังคมออกเป็น 3 ประการ

- พันธกิจทางสังคม (social mission) ซึ่งครอบคลุมถึง การเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเปลี่ยนสภาพสังคม การสร้างคุณค่าทางสังคม หรือผลกระทบทางสังคม พันธกิจทางสังคมเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับทุกสำนักคิด กล่าวให้ชัดเจนมากขึ้น

- สำหรับสำนักคิด"นวตกรรมทางสังคม" แนวคิดเรื่องผู้ประกอบการทางสังคมจะหมายถึง คุณภาพของนวตกรรม (Austin et al., 2006; Mair & Mart?, 2004) และ ความสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการทางสังคมของเธอหรือเขาเพื่อให้ได้มาซึ่งโอกาส (Weerawardena & Sullivan Mort, 2006; Roberts & Woods, 2005) ขณะที่ Dees (1998a) กล่าวว่า การประกอบการทางสังคมได้รวมเอาความต้องการของพันธกิจทางสังคมกับภาพลักษณ์ของวิธีการทำธุรกิจเข้าไว้ด้วยกัน ยิ่งกว่านั้นนักวิชาการบางท่านยังเพิ่มเติมลักษณะของความยั่งยืนในการดำเนินการทางสังคมด้วย (Weerawardena & Sullivan Mort, 2006; Mair & Mart?, 2004) นัยยะนี้ การสร้างคุณค่าทางสังคม และการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน มีความสำคัญมากกว่าการสร้างกำไรและความมั่งคั่ง

- กล่าวสำหรับสำนักคิด"ธุรกิจเพื่อสังคม" (social enterprise school) ผลที่ได้ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม (อาจรวมถึงสิ่งแวดล้อม) ต้องเป็นเป้าหมายแรกของการประกอบการทางสังคม และโดยทั่วไปธรรมชาติของกิจการทางสังคมจะดำเนินการโดยไม่แสวงผลกำไร ซึ่งพันธกิจทางสังคมนี้ได้หมายรวมถึง กิจกรรมทางสังคมทั้งหมดที่ไม่แสวงหาผลกำไรอยู่ด้วย

- ในขณะที่ เครือข่าย EMES ระบุว่า การประกอบการทางสังคมต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจนเพื่อการบริการชุมชน เพื่อคลี่คลายปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

ทั้งๆ ที่ทั้ง 3 สำนักมีความแตกต่าง แต่จากการพิจารณาในเอกสารนี้พบว่า มีจุดร่วมคล้ายกัน นั่นคือ การกระทำของผู้ประกอบการทางสังคมและธุรกิจเพื่อสังคมที่เป็นอยู่ ล้วนมีเป้าหมายในการสร้างคุณค่าทางสังคม

- ความเข้มข้นของความสัมพันธ์ระหว่างพันธกิจทางสังคมขององค์กรกับกิจกรรมขององค์กร ซึ่งพบว่า สำนักนวตกรรมสังคมและเครือข่าย EMES ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ Defourny and Nyssens (2006) ระบุว่า โดยทั่วไปกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องเชื่อมโยงกับพันธกิจทางสังคม ในทางตรงข้าม สำนักคิดธุรกิจเพื่อสังคม มิได้ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างเป้าหมายทางสังคมขององค์กรกับกิจกรรม หรืออาจกล่าวได้ว่า กิจกรรมเพื่อการสร้างผลกำไรอาจจะเชื่อมโยงกับพันธกิจทางสังคมขององค์กรประเภทไม่แสวงหาผลกำไรหรือไม่ก็ได้

- ประเด็นสุดท้าย นักวิชาการบางท่าน (Roberts & Woods, 2005; Marc, 1988) ให้ความเห็นว่า ความต่างของการประกอบการทางสังคมกับการประกอบการทางการค้าอยู่ที่ นวตกรรมที่มีลักษณะของกลุ่ม (collective) การใช้และการผสมผสานทรัพยากร การประเมินผลและการค้นหาโอกาสเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม สำหรับ Austin et al. (2006) ความแตกต่างระหว่างการประกอบการทั้งสองรูปแบบไม่ได้มีลักษณะเป็นคู่ตรงข้าม แต่เป็นความต่อเนื่อง เขาเสนอการพิจารณาที่เป็นระบบในการเปรียบเทียบการประกอบการทั้งสองรูปแบบบนตัวแปร 4 ตัว ได้แก่ ความล้มเหลวของตลาด, พันธกิจ, การระดมทรัพยากร และการวัดความสามารถในการดำเนินการ แทนที่จะแบ่งแยกรูปแบบการประกอบการทั้งสองออกจากกัน นักวิชาการบางท่าน (Mair & Mart?, 2004; Dees, 1998a) เสนอให้มองปัจจัยที่เหมือนกัน ในส่วนถัดไปจะได้กล่าวถึงมุมมองเชิงองค์กร

3.3 องค์กร : ธุรกิจเพื่อสังคม
ธุรกิจเพื่อสังคมนั้น มีส่วนสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น รวมถึงการจัดสินค้าและบริการ ซึ่งตลาด หรือภาครัฐ ไม่สามารถจัดให้ได้ การพัฒนาทักษะ การสร้างการจ้างงาน (โดยเฉพาะกลุ่มคนด้อยโอกาส) การสร้างและจัดการสถานที่ การให้ทุนกู้ยืมและการสนับสนุนภาคประชาชนในฐานะอาสาสมัคร การมีส่วนเอื้อประโยชน์แก่สังคมวงกว้างยังรวมถึงปฏิบัติการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และถ่ายทอดประสบการณ์การศึกษาและการทำงานให้แก่เยาวชน (Smallbone et al.,2001, p.5)

องค์ประกอบหลัก 2 ประการ ที่เป็นลักษณะของธุรกิจเพื่อสังคมนั้นได้รวมเอาวัตถุประสงค์ทางสังคม การสร้างคุณค่าสังคม ด้วยกลยุทธของการประกอบการ การประยุกต์ความเชี่ยวชาญทางธุรกิจและทักษะทางการตลาดสำหรับการไม่หวังผลกำไร แม้ว่าจะมีความแตกต่าง แต่ความหมายทั้งจากฝั่งอเมริกาและจากฝั่งยุโรปก็มีความเหมือนกัน ซึ่งผู้เขียนได้ดึงองค์ประกอบ 3 ประการมาเปรียบเทียบกัน

ประเด็นแรก ทั้งสำนักนวตกรรมสังคม และสำนักคิดธุรกิจเพื่อสังคม มีความเห็นต่อจุดยืนในเรื่องของธุรกิจ/กิจการในแนวคิดของตัวเอง สำนักนวตกรรมสังคมให้ความสำคัญต่อผู้ประกอบการทางสังคมตลอดจนคุณภาพของผู้ประกอบการ มากกว่าองค์กรและคุณสมบัติขององค์กร ตามความเห็นนี้ ธุรกิจเพื่อสังคมจึงไม่ใช่อะไรอื่น หากแต่คือกิจกรรมที่ดำเนินการโดยผู้ประกอบการทางสังคม ซึ่งตรงข้ามกับ สำนักคิดธุรกิจเพื่อสังคม ที่ให้ความหมายของธุรกิจเพื่อสังคม ในลักษณะการเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรที่สามารถสร้างกิจกรรมการหากำไรเพื่อความอยู่รอดทางการเงิน เพื่อให้มีความเป็นอิสระจากการบริจาคหรือการสนับสนุนจากรัฐหรือองค์กรทุน เป้าหมายของสำนักคิดนี้มุ่งไปที่ความยั่งยืนของธุรกิจเพื่อสังคมและสนับสนุนการพึ่งตนเองที่พอเพียงโดยไม่หวังผลกำไร ซึ่งจะสามารถสำเร็จได้ด้วยการหารายได้ ไม่ใช่จากการพึ่งพิงจากรัฐหรือภาคเอกชน (Boschee & McClurg, 2003) ซึ่ง Boschee (2001) เสนอว่า ความคิดเพื่อแก้ปัญหาทางสังคม คือคำตอบโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องรอความเห็นของผู้ถือหุ้น

นักวิจัยจากเครือข่าย EMES ที่มาจากหลากหลายประเทศในยุโรป ได้ร่วมกันกำหนดความหมายร่วมของธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อที่จะวิเคราะห์ความเป็นจริงของประเทศต่างๆ ความหมายนี้อยู่บนพื้นฐานของชุดตัวชี้วัด 2 ชุด ชุดแรกมี 4 ตัวชี้วัด ซึ่งเป็นมิติด้านเศรษฐกิจและลักษณะธรรมชาติของการประกอบการที่เป็นการดำเนินการทางสังคม ประกอบด้วย

1) ความต่อเนื่องของกิจกรรมในการผลิตสินค้าและบริการ
2) มีความเป็นอิสระ
3) มีความสามารถในการจัดการความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ และ
4) รายจ่ายค่าจ้างคนทำงานอยู่ในสัดส่วนต่ำ

ส่วนชุดที่สอง ประกอบด้วย 5 ตัวชี้วัดที่เป็นมิติด้าน สังคม ได้แก่

1) เป้าหมายชัดเจนเพื่อการบริการชุมชน
2) เป็นการริเริ่มจากกลุ่มพลเมือง
3) พลังในการตัดสินใจ ไม่ขึ้นกับเจ้าของร่วม
4) พลวัตรการมีส่วนร่วมที่ครอบคลุมกิจกรรมของผู้มีส่วนได้เสีย และ
5) จำกัดการคืนผลกำไร

ในความหมายของคำว่าธุรกิจเพื่อสังคมที่ได้รับการกล่าวอ้างมากที่สุดในโลกวิชาการเป็นงานของ Defourney และ Nyssens (2006 หน้า 2) ซึ่งให้ความหมายว่า "เป็นองค์กรที่มีเป้าหมายชัดเจนที่จะทำประโยชน์ให้แก่ชุมชน ซึ่งริเริ่มและดำเนินการโดยกลุ่มของพลเมืองและจำกัดผลกำไร"

ประเด็นสำคัญถัดมา จากการทบทวนเอกสารคือ คำถามต่อกฎหมายรูปแบบองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม พันธกิจทางสังคมของธุรกิจเพื่อสังคมมีนัยยะที่บ่งว่า ไม่สามารถใช้กฎหมายรูปแบบองค์กรอื่นใด ที่ไม่ใช่รูปแบบองค์กรไม่หวังผลกำไรหรือไม่? ในสำนักคิดนวตกรรมทางสังคม เห็นว่าธุรกิจเพื่อสังคมสามารถปรับให้เข้าได้กับทั้งองค์กรไม่หวังผลกำไร หรือรูปแบบองค์กรที่หวังผลกำไร สำหรับ Austin et al (2006) และ Mair and Marti (2004) เห็นว่า ธุรกิจเพื่อสังคม ไม่ควรถูกจำกัดด้วยรูปแบบกฎหมายเฉพาะใดๆ ซึ่งนั่นหมายถึง ทางเลือกในการก่อตั้งธุรกิจควรจะถูกกำหนดโดยธรรมชาติของความต้องการทางสังคม และจำนวนทรัพยากรที่ต้องการ

สำหรับ Mair and Marti (2004) เน้นว่านี่เป็นจิตวิญญาณของการประกอบการที่เอื้อให้เกิดการดำเนินการทางสังคมซึ่งนั่นเป็นสิ่งสำคัญ ตัวอย่างที่โด่งดังคือ การ์มีน แบงค์ ในบังคลาเทศ ที่ดำเนินการโดยองค์กรพันธ์ผสม กล่าวคือ มีอิสระ, สามารถสร้างกำไร, จ้างงานและมีอาสาสมัคร และใช้ยุทธศาสตร์ที่สร้างสรรค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม สำหรับ Dees et Battle Anderson (2006) แล้ว ข้อดีขององค์กรเหล่านี้ ประกอบด้วยอัตราการตอบสนองทางการตลาดสูง, ประสิทธิภาพและอัตราการเกิดนวตกรรมสูง และมีศักยภาพในการระดมทุนได้มาก (Haugh, 2005)

ตรงข้ามกับสำนักคิดธุรกิจเพื่อสังคมมองว่า ธุรกิจเพื่อสังคมนั้นเป็นการประกอบที่ไม่หวังผลกำไร แต่ใช้แบบแผนปฏิบัติด้านธุรกิจ ดังนั้นธุรกิจเพื่อสังคมจึงควรเป็นเรื่องของเอกชน มีกฎหมายเฉพาะต่างหากที่ชัดเจนว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการกระจายผลกำไร

สุดท้ายควรกล่าวไว้ด้วยว่า บางประเทศในยุโรปมีการออกกฎหมายเฉพาะเพื่อหนุนเสริมและสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคม อย่างในอิตาลี รัฐบาลเองได้มีส่วนอย่างมากในการผลักดันให้ธุรกิจเพื่อสังคมเติบโตด้วยการมีกฎหมายเฉพาะ (Borzaga & Santuari, 2001) ด้วยการออกกฎหมายสหกรณ์สังคม (social co-operative) มาตั้งแต่ปี 1991 ซึ่งมีผลให้จำนวนสหกรณ์เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ 10 ปีหลังจากการส่งเสริมของรัฐบาลอิตาลี รัฐบาลอังกฤษให้ความหมายของ "บริษัทที่สร้างผลประโยชน์ชุมชน" (community interest company) เป็น องค์กรอิสระที่มีวัตถุประสงค์ทางสังคมและเศรษฐกิจด้วยการทำบทบาททางสังคมและการทำธุรกิจ (DTI, 2001) โดยเฉพาะประเทศอังกฤษมีการระดมทรัพยากรที่เข้มแข็งเพื่อส่งเสริมและทำให้เกิดความเป็นมืออาชีพของการเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Degroote, 2008) ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในยุโรปก็เริ่มมีการแนะนำกฎหมายใหม่ๆ ที่สะท้อนให้เห็นว่า ได้ยอมรับแนวทางการประกอบการทางสังคม ซึ่งทำให้องค์กรไม่หวังผลกำไรมีมากขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้ใช้คำว่า "ธุรกิจเพื่อสังคม" มาตั้งแต่ต้น

ปี 1995 ประเทศเบลเยี่ยมได้ใช้คำว่า "บริษัทเพื่อเป้าหมายทางสังคม" (social purpose company) ในโปรตุเกส พูดกันถึง "สหกรณ์เพื่อความเป็นหนึ่งของสังคม" (social solidarity cooperatives) ในฝรั่งเศส ปี 2001 ใช้คำว่า "สมาคมสหกรณ์เพื่อประโยชน์ร่วม" (cooperative society of collective interest) และในฟินแลนด์ ปี 2003 ใช้คำว่า "การงานในธุรกิจเพื่อสังคม" (work insertion social enterprises) (Defourny & Nyssens, 2006)

ท้ายสุด การกระจายผลประโยชน์ ดูจะเป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับธุรกิจเพื่อสังคม

สำนักคิดนวตกรรมสังคม
มิได้มีข้อจำกัดใดๆ ที่จะกระจายผลประโยชน์อันเกิดจากกิจกรรมของธุรกิจเพื่อสังคมกลับไปยังผู้ถือหุ้น ตามหลักข้างต้น ถ้ากิจการธุรกิจเพื่อสังคมสามารถสร้างกำไร ก็ชอบที่จะนำไปลงในกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์ทางสังคม แต่ก็มิใช่ข้อกำหนดที่ตายตัว

สำนักคิดธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งตรงข้าม กลับห้ามที่จะกระจายผลประประโยชน์ อันเนื่องมาจากนิยามว่านี่คือองค์กรไม่แสวงหากำไร จึงไม่สามารถกระจายกำไรให้แก่สมาชิกและผู้บริหารได้ กำไรทั้งหมดต้องนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางสังคม

Alter (2004) ได้เสนอรูปแบบที่เรียกว่า Hybrid Spectrum Model ที่นำเสนอทางเลือกที่หลากหลายสำหรับยุทธศาสตร์ทางสังคมขององค์กรลูกผสม โดยมีตัวแปรกำหนดที่เป็นคุณค่าทางสังคม และมูลค่าทางเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์เหล่านี้ขึ้นอยู่กับตัวแปร 3 ตัว ได้แก่ วัตถุประสงค์การประกอบการ, ขอบเขตความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น และเป้าหมายปลายทางสำหรับผลกำไร

ระหว่างทางเลือก 2 ทางเลือก (ไม่หวังผลกำไร และหวังผลกำไร) Alter (2004) จำแนกองค์กรลูกผสมออกเป็น 4 รูปแบบ ในด้านหนึ่ง ธุรกิจเพื่อสังคมและไม่หวังผลกำไร มีกิจกรรมที่สร้างรายได้ ที่พยายามสร้างผลกระทบทางสังคม ในอีกด้าน เป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบทางสังคมและมีกิจกรรมที่รับผิดชอบทางสังคมเป็นวัตถุประสงค์พื้นฐานที่แสวงหาผลกำไร ดังนั้นในรูปแบบเช่นนี้ ธุรกิจเพื่อสังคมจะถูกกำหนดโดยพันธกิจทางสังคม, มีความรับผิดชอบสูงต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง และการลงทุนเพิ่ม หรือนำรายได้มาใช้ในแผนงานทางสังคมหรือเป็นค่าดำเนินการ

สุดท้าย ในแนวทางของประเทศยุโรปสนับสนุนเรื่องการจำกัดการกระจายกำไร สำหรับเครือข่าย EMES แล้ว ธุรกิจเพื่อสังคมมีทางเลือกในการกระจายผลกำไรแต่ต้องระวังพฤติกรรมที่จะนำไปสู่การสร้างกำไรมากที่สุด ตามแนวทางนี้ ธุรกิจเพื่อสังคมสามารถกระจายผลกำไรแต่เป็นไปอย่างจำกัด

4. อภิปรายและบทสรุป
การประกอบการทางสังคมถูกนำเสนอขึ้นมาในฐานะทางออกสำหรับปัญหาความเจ็บป่วยของสังคมสมัยใหม่ เครื่องมืออย่างธุรกิจทางสังคมในฐานะเครื่องมือสนับสนุนที่รัฐบาลมี ได้รับการยอมรับในประเทศอังกฤษ โดยการจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคม (The Economist, 2005) ที่จะเป็นแนวทางที่จะทำสัญญารับเหมาช่วงการบริการสาธารณะ หรือในฐานะแนวทางที่จะพัฒนาบริการเหล่านี้ โดยรัฐไม่ต้องเพิ่มงบประมาณ ล้วนแต่ทำให้การประกอบการทางสังคมมีจำนวนมากขึ้นและมีความสำคัญมากขึ้น แต่โชคไม่ดีที่ในมุมมองทางวิชาการ งานวิจัยในสาขาการประกอบการทางสังคมยังคงเป็นเรื่องของการใช้สำนวนโวหารและบางครั้งก็ยังขาดความเป็นกลาง

จากการทบทวนเอกสาร มีสำนักคิดเกี่ยวกับการประกอบการทางสังคม 3 สำนัก อยู่ในสหรัฐอเมริกา 2 สำนัก

หนึ่ง คือ"สำนักนวตกรรมทางสังคม" ให้ความสำคัญต่อการประกอบการทางสังคมในฐานะงานของปัจเจกชนและคุณลักษณะของเขาและเธอในลักษณะต่างๆ
สอง คือ"สำนักคิดธุรกิจเพื่อสังคม" ที่สนับสนุนว่า องค์กรในรูปแบบนี้จะสามารถอยู่รอดได้โดยการสร้างกำไรและนำผลกำไรมาสร้างกิจกรรมทางสังคม

ส่วนการประกอบการทางสังคมอีกสำนักในแนวทางของยุโรปนั่น ได้สร้างกรอบกฎหมายเพื่อธุรกิจเพื่อสังคมโดยเฉพาะขึ้นมา นอกจากนี้ในการทบทวนงานของเรายังพบประเด็นสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ปัจเจกชน, กระบวนการและธุรกิจ ซึ่งทำให้เราสร้างกรอบการพิจารณาได้เป็น 6 เกณฑ์ (ผู้ประกอบการ, พันธกิจทางสังคม, ชนิดของความเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมขององค์กรและเป้าหมาย, ความสำคัญของธุรกิจในฐานะโครงสร้างขององค์กร, รูปแบบของกฎหมาย, การจำกัดการกระจายผลกำไร) ที่ใช้พิจารณาความเหมือนและความแตกต่างระหว่างสำนักคิดทั้ง 3

ตารางข้างต้น ช่วยทำให้เราเห็นจุดยืนที่ชัดเจนมากขึ้นของแต่ละสำนักคิด กล่าวโดยสรุป เอกสารที่ทบทวนทั้งจากสำนักคิดทางฝั่งอเมริกาและฝั่งยุโรปเห็นร่วมกันในข้อเท็จจริงแรกที่ว่า เป้าหมายสำคัญของการประกอบการทางสังคมที่ต้องสร้างคุณค่าทางสังคม (social value) เป็นสิ่งหนึ่งที่ใช้จำแนกความแตกต่างระหว่าง สำนักคิดบนพื้นฐานเรื่องบทบาทการดำเนินการที่สนับสนุนโดยนโยบายสาธารณะและหลักการประชาธิปไตยในแบบยุโรปกับอเมริกา ยิ่งไปกว่านั้น ยังควรตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า พันธกิจทางสังคม เป็นวัตถุประสงค์สำคัญของการประกอบการทางสังคมที่ยอมรับในทั้ง 3 สำนัก

อย่างไรก็ตาม ในส่วน ภาพลักษณ์ของการเป็นผู้ประกอบการ นั้นกลับเด่นชัดอยู่ในสำนักคิดนวตกรรมทางสังคม ในขณะที่สำนักคิดธุรกิจเพื่อสังคมและสำนักคิดจากฝั่งยุโรป กลับเด่นชัดในเรื่องกิจการเพื่อสังคม และ สำนักคิดนวตกรรมทางสังคมและเครือข่าย EMES จากยุโรปเรียกร้องการเชื่อมสัมพันธ์โดยตรงระหว่าง พันธกิจทางสังคมของการประกอบการและกิจกรรม ส่วนสำนักธุรกิจเพื่อสังคมนั้น ให้น้ำหนักความสัมพันธ์ระหว่าง พันธกิจทางสังคมกับกิจกรรมการสร้างรายได้ สุดท้ายในการกระจายผลกำไรที่สัมพันธ์กับรูปแบบกฎหมายนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับสำนักคิดธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งยอมรับเรื่องไม่หวังผลกำไร ขณะที่เครือข่าย EMES ของฝั่งยุโรปยอมรับเรื่องนี้เพียงบางส่วน โดยพยายามหลีกเลี่ยงวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกำไรให้มากที่สุด


เอกสารอ้างอิง

ACS, Z.J., & D.B. AUDRETSCH. (2003) "Introduction to the Handbook of Entrepreneurship
Research." In Handbook of Entrepreneurship Research: An Interdisciplinary Survey and
Introduction, eds. Z.J. ACS, & D.B. AUDRETSCH, 3-20. Dordrecht: Kluwer Academic
Publishers.

ALTER, K., ed. (2004) Social Enterprise Typology. Virtue Ventures LLC.
AUSTIN, J., H. STEVENSON, & J. WEI-SKILLERN. (2006) "Social and Commercial
Entrepreneurship: Same, Different, or Both?" Entrepreneurship Theory and Practice 31(1):
1-22.

BLACKBURN, R., & M. RAM. (2006) "Fix or Fixation? The Contributions and Limitations of
Entrepreneurship and Small Firms to Combating Social Exclusion." Entrepreneurship and
Regional Development 18(1): 73-89.

BORNSTEIN, D. (1998) "Changing the world on a shoestring." The Atlantic Monthly 281(1): 34-39.

BORZAGA, C., & J. DEFOURNY, eds. (2001) The Emergence of Social Enterprise. London:
Routledge.

BORZAGA, C., & A. SANTUARI. (2001) "Italy: From Traditional Co-Operatives to Innovative
Social Enterprises." In The Emergence of Social Enterprise, eds. C. BORZAGA, & J.
DEFOURNY, 166-181. London: Routledge.

BOSCHEE, J. (2001) "Eight Basic Principles for Nonprofit Entrepreneurs." Nonprofit World 19(4):15-18.

BOSCHEE, J. (1995) "Social Entrepreneurship: Some Nonprofits Are Not Only Thinking Aboutthe Unthinkable, They're Doing It - Running a Profit." Across the board, The ConferenceBoard Magazine 32(3): 20-25.

BOSCHEE, J., & J. MCCLURG. (2003) "Toward a Better Understanding of Social
Entrepreneurship: Some Important Directions." Working Paper. See htpp://www.sealliance.
org/better_understanding.pdf.

BRAZAEL, D.V., & T. HERBERT. (1999) "The Genesis of Entrepreneurship." Entrepreneurship
Theory and Practice 23(3): 29-45.

BROCK, D.D., ed. (2006) Social Entrepreneurship Teaching Resources Handbook. Kentucky:
Entrepreneurship for the Public Good, Berea College.

BRUYAT, C., & P.A. JULIEN. (2001) "Defining the Field of Research in Entrepreneurship."
Journal of Business Venturing 16(2): 165-180.

CATFORD, J. (1998) "Social Entrepreneurs Are Vital for Health Promotion - But They Need
Supportive Environments Too." Health Promotion International 13(2): 95-97.
CHRISTIE, M.J., & B. HONIG. (2006) "Social Entrepreneurship: New Research Findings." Journal of World Business 41(1): 1-5.

CORNELIUS, N., M. TODRES, S. JANJUHA-JIVRAJ, A. WOODS, & J. WALLACE. (2007) "Corporate Social Responsibility and the Social Enterprise." Journal of Business Ethics 76(1): 117-135.

DEARLOVE, D. (2004) "Interview: Jeff Skoll." Business Strategy Review 15(2): 51-53.

DEES, G. (1998a) "The Meaning of 'Social Entrepreneurship'." Kauffman Foundation: 1-5.

DEES, G. (1998b) "Enterprising Nonprofits." Harvard Business Review 76(1): 54-56. 15

DEES, G., & B. BATTLE ANDERSON. (2006) "Framing a Theory of Social Entrepreneurship:
Building on Two Schools of Practice and Thought." ARNOVA Occasional Paper Series -
Research on Social Entrepreneurship: Understanding and Contributing to an Emerging
Field 1(3): 39-66, ed. R. MOSHER-WILLIAMS.

DEFOURNY, J. (2004) "L'?mergence du Concept d'Entreprise Sociale." Reflets et Perspectives de la Vie ?conomique 43(3): 9-23.

DEFOURNY, J. (2001) "From Third Sector to Social Enterprise." In The Emergence of Social
Enterprise, eds. C. BORZAGA, & J. DEFOURNY, 1-28. London-NY: Routledge.

DEFOURNY, J., & M. NYSSENS. (2006) "Defining Social Enterprise." Chapter 1 In Social
Enterprises, At the Crossroads of Market, Public Policies and Civil Society, ed. M.
NYSSENS, 1-18. Londres: Routledge.

DEGROOTE, N. (2008) "L'Entreprise Sociale aux ?tats-Unis et en Europe: Analyse Comparative de Cinq Approches.", Master's Thesis in Development, Environment and Societies, Universit? de Li?ge. Supervisor:

DEFOURNY, J. DE LEEUW, E. (1999) "Healthy Cities: Urban Social Entrepreneurship for Health." Health Promotion International 14(3): 261-269.

DORADO, S. (2006) "Social Entrepreneurial Ventures: Different Values So Different Process of Creation, No?" Journal of Developmental Entrepreneurship 11(4): 319-343.

DRAYTON, W. (2002) "The Citizen Sector: Becoming as Entrepreneurial and Competitive as
Business." California Management Review 44(3): 120-132.

DTI. (2001) "Researching Social Enterprise." Final Report to the Small Business Service.

EUROPEAN COMMISSION. (2003) The Social Situation in the European Union.

FOWLER, A. (2000) "NGDOs as a Moment in History: Beyond Aid to Social Entrepreneurship or Civic Innovation?" Third World Quarterly 21(4): 637-654.

GARTNER, W. (1988) "Who is the entrepreneur? Is the wrong question." American Journal of
Small Business 2(4): 11-32.

HAUGH, H. (2005) "A Research Agenda for Social Entrepreneurship." Social Enterprise Journal 1(1): 1-12.

JOHNSON, S. (2000) "Literature Review on Social Entrepreneurship." Working Paper. CANADIAN CENTRE FOR SOCIAL ENTREPRENEURSHIP, 1-16.

LEADBEATER, C., ed. (1997) The Rise of the Social Entrepreneur. London: Demos.

LIGHT, P. (2005) "Searching for Social Entrepreneurs: Who They Might Be, Where They Might Be Found, What They Do." Paper presented at the Association for Research on Nonprofit and Voluntary Associations annual conference, November 17-18.

MAIR, J., & I. MART?. (2006) "Social Entrepreneurship Research: A Source of Explanation,
Prediction and Delight." Journal of World Business 41(1): 36-44.

MAIR, J., & I. MART?. (2004) "Social Entrepreneurship: What Are We Talking About? A
Framework for Future Research." Working Paper. IESE Business School - University of
Navarra, 1-14.

MARC, F. (1988) "Nouvel Entrepreneuriat et Mission Sociale de l'Entreprise." Paper presented at the International Conference, Montpellier.

MCGRATH, R.G. (2003) "Connecting the Study of Entrepreneurship and Theories of Capitalist Progress: An Epilogue." In Handbook of entrepreneurship research, eds. Z.J. Acs, & D.B. Audretsch, 515-531. Boston-Dordrecht-London: Kluwer Academic Publishers.

PEREDO, A.M., & M. MCLEAN. (2006) "Social Entrepreneurship: A Critical Review of the
Concept." Journal of World Business 41(1): 56-65. 16

ROBERTS, D., & C. WOODS. (2005) "Changing the World on a Shoestring: The Concept of Social Entrepreneurship." University of Auckland Business Review, Autumn: 45-51. SCHOOL FOR SOCIAL ENTREPRENEURS (SSE). (2002)

SCHUYLER, G. (1998) "Social Entrepreneurship: Profit as Means, Not an End." KAUFFMAN
CENTER FOR ENTREPRENEURIAL LEADERSHIP CLEARINGHOUSE ON ENTREPRENEURSHIP
EDUCATION (CELCEE), Digest 98(7), November 30: 1-3. SCHWAB FOUNDATION. (1998)

SHANE, S., & S. VENKATARAMAN. (2000) "The Promise of Entrepreneurship as a Field of
Research." Academy of Management Review 25(1): 217-226.

SHARIR, M., & M. LERNER. (2006) "Gauging the Success of Social Ventures Initiated by
Individual Social Entrepreneurs." Journal of World Business 41(1): 6-20.

SMALLBONE, D., M. EVANS, I. EKANEM, & S. BUTTERS. (2001) "Researching Social Enterprise." CENTRE FOR ENTERPRISE AND ECONOMIC DEVELOPMENT RESEARCH, Middlesex University.
STEYAERT, C., & D. HJORTH, eds. (2006) Entrepreneurship as Social Change: A Third
Movements in Entrepreneurship Book. Cheltenham: Edward Elgar Publishing.

STRYJAN, Y. (2006) "The Practice of Social Entrepreneurship: Notes Toward a Resource-
Perspective.", In Entrepreneurship as Social Change: A Third Movements in
Entrepreneurship Book, eds. C. STEYAERT, & D. HJORTH, 35-55. Cheltenham: Edward Elgar
Publishing.

SULLIVAN MORT, G., J. WEERAWARDENA, & K. CARNEGIE. (2003) "Social Entrepreneurship:
Towards Conceptualization." International Journal of Nonprofit and Voluntary Sector
Marketing 8(1): 76-88.

THALHUBER, J. (1998) "The Definition of Social Entrepreneur." NATIONAL CENTRE FOR SOCIAL ENTREPRENEURS, 1-3.

THE ECONOMIST (2005) "Good For Me, Good For My Party." The Economist, November 26, p.47-48.

THOMPSON, J.L., G. ALVY, & A. LEES. (2000) "Social Entrepreneurship - A New Look at the
People and the Potential." Management Decision 38(5): 328-338.

TRACEY, P., & N. PHILLIPS. (2007) "The Distinctive Challenge of Educating Social
Entrepreneurs: A Postscript and Rejoinder to the Special Issue on Entrepreneurship
Education." Academy of Management Learning and Education 6(2): 264-271.

VENKATARAMAN, S. (1997) "The Distinctive Domain of Entrepreneurship Research", In
Advances in Entrepreneurship, Firm Emergence and Growth 3, ed. J. KATZ, 119-138.
Greenwich (CT): JAI Press.

VERSTRAETE, T., & A. FAYOLLE. (2004) "Quatre Paradigmes pour Cerner le Domaine de
Recherche en Entrepreneuriat." Paper presented at the 7th Congr?s International
Francophone en Entrepreneuriat et PME, Montpellier, October 27-29.

WALLACE, S.L. (1999) "Social Entrepreneurship: The Role of Social Purpose Enterprises in
Facilitating Community Economic Development." Journal of Developmental
Entrepreneurship 4(2): 153-174.

WEERAWARDENA, J., & G. SULLIVAN MORT. (2006) "Investigating Social Entrepreneurship: A Multidimensional Model" Journal of World Business 41(1): 21-35.

WTTERWULGHE, R., ed. (1998) La P.M.E. Une Entreprise Humaine. Louvain-la-Neuve: De Boeck Universit?.

Websites

ASHOKA: http://www.ashoka.org/ consulted April 2, 2008.

CANADIAN CENTRE FOR SOCIAL ENTREPRENEURSHIP (CCSE): http://www.ccsecanada.org/
consulted April 2, 2008.

CANADIAN SOCIAL ENTREPRENEURSHIP FOUNDATION (CSEF): http://www.csef.ca/ consulted
April 2, 2008.

CENTER FOR THE ADVANCEMENT OF SOCIAL ENTREPRENEURSHIP (CASE):
http://www.fuqua.duke.edu/centers/case/ consulted March 30, 2008.

DTI: http://www.dti.gsi.gov.uk/ consulted March 20, 2008.

SCHOOL FOR SOCIAL ENTREPRENEURS (SSE): http://www.sse.org.uk/network/index.shtml
consulted April 2, 2008.

SCHWAB FOUNDATION: http://www.schwabfound.org/ consulted April 2, 2008.

SKOLL CENTRE FOR SOCIAL ENTREPRENEURSHIP:
http://www.sbs.ox.ac.uk/skoll/about/About+the+Skoll+Centre.htm consulted April 2, 2008.

SKOLL FOUNDATION: http://www.skollfoundation.org/ consulted April 5, 2008.

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

บทความวิชาการนี้ สามารถ download ได้ในรูป word

 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I
สารบัญเนื้อหา 3
I สารบัญเนื้อหา 4 I สารบัญเนื้อหา 5 I สารบัญเนื้อหา 6
สารบัญเนื้อหา 7 I สารบัญเนื้อหา 8
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)gmail.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
[email protected]

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทั้งหมด กว่า 1700 เรื่อง หนากว่า 35000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)gmail.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็บไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com